Tag: ญาณปัญญา

ทำไมถึงเลือกพิมพ์บทความเกี่ยวกับความรัก

January 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 530 views 0

เมื่อปีก่อนมีคนถามคำถามนี้มา ก็ตอบไปว่า “เพราะมันเป็นเหตุแห่งทุกข์ที่ร้ายมากขนาดที่คนฆ่ากันตายได้” ก็ตอบไปสั้น ๆ ประมาณนี้

ก็คงจะมาพิมพ์ขยายกันเพิ่มว่าทำไม ผมจึงเลือกพิมพ์บทความความรักมากมายในช่วงนี้

ช่วงหลายปีก่อนเป็นช่วงที่มีบทความหลากหลาย การไม่กินเนื้อสัตว์ ชีวิตความเป็นอยู่ การปฏิบัติธรรม ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ แต่มาช่วงสุดท้ายของปี 62 จนมาถึงวันนี้ กลับดูเหมือนเน้นแต่เรื่องความรัก

นั่นก็เพราะผมเลือกว่าถ้าเราสังเคราะห์สิ่งนี้น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด เพราะมีคนทำน้อย เรื่องไม่กินเนื้อสัตว์เขาก็ทำกันเยอะแยะ ก็ไม่ต้องไปปรุงกันมากนัก เราก็เลือกที่เราทำได้เด่น ๆ อันนี้มันเป็นความถนัดเฉพาะทางด้วย มันพิมพ์แล้วมันไปได้ มีคนอ่าน ถือว่าทำออกมาแล้วขายออก ก็ทำอันนี้ แม้จะมีแบบอื่นที่ทำได้อีก แต่ก็เอาอันนี้แหละ เรื่องความรักแบบนี้แหละ ไม่ค่อยมีคนทำเลย มาลดโลภ โกรธ หลง ในความรัก หาอ่านไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่ก็มีแต่จะพาเพิ่ม โลภ โกรธ หลงในความรักเสียมากกว่า

มีคนเขาถามว่าสิ่งที่เราพิมพ์นั้นมาจากความคิดหรือประสบการณ์ ก็จะตอบว่าทั้งสองอย่าง

ถ้าจะนิยาม ความคิด ว่าคือการคิดด้นเดาเอาเอง อันนั้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะความลึกซึ้งในธรรมะนั้นคิดหรือเดาเอาเองไม่ได้ นั่งเทียนเขียนก็เขียนไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาวะมันจะเขียนไม่ออก เก่งภาษาแค่ไหน ก็จะสื่อสารไม่มาไม่ไป มันจะวน ๆ งง ๆ ไม่แม่นเป้า ไม่ตรงประเด็น ไม่ตรงกิเลส

ไม่เชื่อลองดูก็ได้ มีหัวข้อให้ เป็นเรื่อง ๆ ใช่ว่าคนปฏิบัติธรรมเขาจะเขียนออก หรือถ่ายทอดได้กันทุกคนเสียที่ไหน มันต้องมีผลจากการปฏิบัติเป็นหลัก แล้วปรุงตามเหตุปัจจัยของโลก สังเคราะห์ความคิดขึ้นมาว่าถ้าเหตุแบบนี้เราจะทำอย่างไร จะแก้ไขปัญหาอย่างไร อันนี้เป็นความคิดที่มีหลักว่าต้องพาไปสู่ความพ้นทุกข์ พ้นโลภ โกรธ หลงในความรัก

ก็มีอยู่บ้าง ที่เขาอาจจะจำมา เรียนมา ศึกษามา แต่ถึงเวลาใช้จริงมันจะแข็ง ขาดความพริ้ว หรือขาดมุทุธาตุ ที่เป็นความแววไวของจิต มันจะเป็นบล็อก ๆ เป็นความรู้ชุด ๆ เหมือนนักรบที่ฝึกกระบวนท่าเป็นชุด ๆ แต่ประยุกต์ไม่ได้

ส่วนประสบการณ์นี้ก็ต้องตอบว่ามีพอหากิน การเรียนรู้ของคนนั้นวัดด้วยเวลาเท่าที่เห็นได้ยาก คนแต่ละคนมีความไวในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่สะสมมาข้ามภพข้ามชาติ จะลองให้คนแก่ที่ผ่านรักมามากมายหลายครั้งมา เล่าเรื่องแจกแจงกิเลสอย่างผมก็ได้ ผมไม่เชื่อหรอกว่า คนที่ผ่านเวลามามากมาย ผ่านรักมาหลายครั้ง จะมีความชัดเจนแจ่มแจ้งในเรื่องกิเลสได้โดยที่ไม่ได้ปฏฺิบัติธรรมอย่างถูกตรง

ญาณปัญญาคือผลจากการปฏิบัติ การเรียนรู้ในมิติที่มีปัญญาจะต่างไปจากมิติของคนที่จมอยู่กับกิเลส ทุกเรื่องราว เหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาจะถูกแปรสภาพเป็นปัญญา เป็นการรู้โลกที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ต่างจากคนที่ยังจมอยู่กับกิเลส เมื่อมีเรื่องราวหรือสิ่งกระทบ ก็จะไหลไปทางใดทางหนึ่ง ไม่ชอบก็ชัง ไม่รักก็เกลียด พอไปทางโต่งสองด้าน ปัญญามันก็ทึบ ถึงจะผ่านเวลาไปนานเท่าไหร่ แต่ถ้ากิเลสยังครอบงำอยู่ การเรียนรู้ที่ถูกตรงก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

ส่วนถ้าถามว่าได้สิ่งเหล่านี้มาได้อย่างไร ที่ได้ความรู้เหล่านี้มาเพราะมีครูบาอาจารย์ที่ดี ที่ท่านปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างให้เราได้พึ่งพาอาศัยเรียนรู้จากท่าน พอตั้งใจปฏิบัติตาม มันจะได้ความรู้ชุดหนึ่งมาจากท่าน และความรู้อีกชุดหนึ่งจากผลการปฏฺิบัติของเรา บวกกับความรู้ที่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จากการที่เราสังเคราะห์กับผู้คน เหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกนี้

ผมพิมพ์เรื่องความรักมานานหลายปี การทบทวนธรรม การแสดงธรรมนั้นเป็นวงจรที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายรอบ พระพุทธเจ้าตรัสว่าการทบทวนธรรม และการแสดงธรรมนั้น เป็นองค์ประกอบในเหตุแห่งการหลุดพ้นจากกิเลส ๒ ใน ๕ ประการ ดังนั้น ยิ่งทบทวน ยิ่งพิมพ์ ยิ่งเผยแพร่ มันจะมีปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันก็ยังไม่หยุด ก็ยังคิดว่าตนเองยังไม่เก่งหรอก มันก็มีเหลี่ยมมุมใหม่ ๆ มาให้เรียนรู้เพิ่ม ก็ฝึกย่อ ฝึกขยายกันไป บางทีมันต้องย่อให้มันกระชับ ก็ต้องฝึก บางทีมันสั้นไปมันก็จะเข้าใจยาก ก็ต้องขยายกัน ก็ฝึกไปเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวผมเอง ส่วนคนมาอ่านแล้วเขาได้ประโยชน์ ก็เป็นความลงตัวของความดีที่ได้ทำร่วมกันอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเขาเห็นว่าดี เดี๋ยวเขาก็เอาไปลองทำเอง ถ้าเขาทำแล้วดี ก็คงจะเหมือนกับผมที่ทำตามอาจารย์แล้วผลมันออกมาดี พ้นทุกข์ เราก็เลยเอาไปบอกคนอื่นต่อว่ามันดี นั่นเอง

พระปลอม

December 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,185 views 0

สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งเรือง นักบวชนอกพุทธค่อยๆเสื่อมจากลาภสักการะ จึงปลอมเข้ามาบวชในพุทธศาสนาเพื่อแสวงหาลาภสักการะเหล่านั้น ซึ่งสุดท้ายก็โดนจับสึกไปในที่สุด

ในยุคนั้นยังดีที่ยังกำราบความชั่วไว้ได้ แต่ยุคนี้ดูเหมือนจะหนักหนา และยากต่อการกำจัดผู้ที่เข้ามาปลอมปนเพราะหวังจะได้ลาภสักการะเหล่านั้น

เป็นงานใหญ่ของผู้มีหน้าที่สานต่อศาสนาที่จะต้องชี้ผิดชี้ถูก แยกดีแยกชั่วให้ชัดเจน จำเป็นต้องเอาภาระทั้งนักบวชและผู้ครองเรือนผู้มีศรัทธาอันมั่นคงไม่หวั่นไหวในศาสนา

ญาณปัญญาหนึ่งของสาวกแท้ๆ ของพระพุทธเจ้าคือการเอาภาระของหมู่มิตรดีสหายดี จะไม่ปลีกตัว ขี้เกียจทำงาน ตัดขาดจากโลก เพื่อความสงบสุขของตนแต่ผู้เดียว

ความผิดเพี้ยนที่เห็นได้ง่ายที่สุดคือเรื่องของลาภสักการะ ผู้ใดบวชเข้ามาปลอมปนเพื่อลาภสักการะเหล่านั้น ผู้มีปัญญาย่อมเห็นได้ชัดเจน ไม่สงสัยว่าสิ่งใดจริง สิ่งใดปลอม

ส่วนความผิดเพี้ยนในทิฏฐิอื่นๆอีก ๖๒ ประการนั้นเป็นเรื่องยากที่ต้องใช้เวลา

โสดอย่างไร ให้ใจเป็นสุข

July 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,389 views 1

Download ภาพขนาดเต็ม กดที่นี่

โสดอย่างไร ให้ใจเป็นสุข

ความโสดนั้นมีมิติที่หลากหลายแตกต่างกันไป หากเรามองความโสดด้วยมุมมองทั่วไปในสังคม ก็มักจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครให้คุณค่าหรือใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นโสดกันสักเท่าไหร่

ในบทความนี้ก็จะแบ่งความโสดออกเป็นระยะกว้างๆด้วยกันสามระยะ คือโสดที่ยังมีความอยากมีคู่ โสดที่ไม่อยากมีคู่ และความโสดที่ไม่มีทั้งความอยากและไม่อยากมีคู่ มาเริ่มกันที่ความโสดแบบแรกกันเลย

โสดอยู่ไม่เป็นสุข (นรกคนโสด)

คือความโสดที่ยังเต็มไปด้วยความอยาก มีความต้องการ แสวงหาคู่ครอง แม้ว่าจะแสดงอาการหรือไม่ก็ตาม หากใจนั้นยังไม่ปิดประตูของการมีคู่ ก็ยังเรียกได้ว่า โสดแบบอยู่ไม่เป็นสุข การที่ความอยากนั้นยังไม่แสดงอาการ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส ซึ่งอาจจะยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่นเด็กทารก เขายังไม่มีความอยากมีคู่ แต่ไม่ได้หมายความเขาจะไม่มีกิเลส

คนโสดที่อยู่ไม่เป็นสุข ก็เหมือนอยู่ในนรกคนโสด ต้องทุกข์กับความอยากมีคู่ พอหาคู่ได้ก็เปลี่ยนไปอยู่ในนรกคนคู่ พอเลิกคบหากันแต่ยังมีความอยากอยู่ ก็เวียนกลับมานรกคนโสด ซึ่งไม่ว่าจะโสดหรือจะมีคู่ก็ต้องถูกเผาด้วยไฟราคะ คือทุกข์จากความอยากเสพรสสุขใดๆก็ตามในการมีคู่ วนเวียนโสดบ้างมีคู่บ้าง แต่ก็หนีไม่พ้นความทุกข์จากกิเลสอยู่ดี

โสดบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ (อยู่ในโลก)

คือความโสดที่เกิดจากความไม่อยาก ด้วยการสร้างคุณค่าให้ตนเอง เติมช่องว่างในใจที่เคยเผื่อไว้ให้ใครสักคนให้เต็มด้วยอัตตาของตน จนกลายเป็นคนที่เต็มคน แข็งแกร่ง พึ่งตนเองได้ มีศักดิ์ศรี ไม่ยอมกลับไปมีคู่เพราะความยึดดี ซึ่งอาจจะเกิดจากความเจ็บช้ำ ความผิดหวังเมื่อตอนมีคู่ ผ่านประสบการณ์ที่ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการมีคู่นั้นทำให้ต้องประสบทุกข์อย่างมาก

แต่แม้จะเป็นความโสดที่แข็งแกร่งเพียงใด ความไม่อยากนั้นก็ยังเป็นทุกข์อยู่ดี ซึ่งเกิดจากอาการผลักการมีคู่อย่างรุนแรง ไม่อยากมีคู่เพราะเหตุผลบางอย่าง แต่กิเลสนั้นเป็นพลังงานที่เติบโตได้ ขยายได้ ปรับเปลี่ยนขั้วได้ เพราะไม่ว่าอยากหรือไม่อยากก็คือตัณหาเหมือนกัน อยากในสิ่งหนึ่งก็เกลียดอีกสิ่งหนึ่ง ไม่อยากในสิ่งหนึ่งก็ชอบอีกสิ่งหนึ่ง เช่นอยากมีคู่ก็เกลียดความโสด อยากเป็นโสดก็เกลียดการมีคู่

เมื่อยังมีความอยากและไม่อยาก มันก็จะสร้างทุกข์ให้กับตัวเองอยู่เรื่อยๆ ซ้ำร้ายวิบากกรรมอาจจะดึงสิ่งที่ไม่อยากได้คือการมีคู่ให้มาเข้าใกล้ พอโดนยั่วกิเลสเข้ามากๆก็อาจจะเวียนกลับไปมีคู่ได้ สุดท้ายก็ต้องเจอกับทุกข์แล้ววกกลับมาโสดแบบเกลียดการมีคู่อีก เปลี่ยนภพไปมาแบบนี้จนกว่าจะทำลายความอยากและไม่อยากจนสิ้นเกลี้ยง

โสดอย่างเป็นสุข (อยู่เหนือโลก)

คือความโสดที่ข้ามพ้นจากความอยากและไม่อยาก แล้วเลือกเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่มีโทษ มีทั้งประโยชน์ตนเองและประโยชน์ต่อผู้อื่น นั่นก็คือการเลือกเป็นโสด

ความโสดที่อยู่เหนือโลก นั้นคือโสดแบบโลกุตระ ไม่ไปเสพอย่างโลกีย์ และไม่ยึดดีอย่างโลกีย์ ไม่มีทั้งความอยากมีคู่ และความไม่อยากมีคู่ เพราะตัณหานั้นคือเหตุสู่ความทุกข์ สภาวะของความโสดเช่นนี้จึงเป็นสุขที่สุดในสภาพโสดทั้งหมด เป็นโสดที่ไม่มีทุกข์เจือปนอยู่แม้น้อย ที่ไม่มีทุกข์เพราะไม่มีกิเลสใดๆในเรื่องคู่ที่ผลักดันให้ต้องไปเสพ หรือต้องไปมีคู่กันให้ลำบาก

ความโสดเช่นนี้ไม่ใช่สภาพที่จะเลือกเอาได้ แต่สามารถเลือกที่จะปฏิบัติจนถึงผลเช่นนี้ได้ โดยจะต้องใช้ความเพียรในการชำระล้างกิเลสในเรื่องของคนคู่ให้หมดสิ้นไป จึงจะเกิดสภาพของความโสดที่ไม่มีทุกข์ใดๆเจือปนอยู่เลย

การพัฒนาจิตใจอย่างถูกตรงนั้นจะมีผลให้เกิดการหลุดพ้นอย่างถูกตรงเช่นกัน สภาพของความโสดอย่างเป็นสุข จะไม่มีการเวียนกลับไปมีคู่อีก ไม่กำเริบ ไม่แปรปรวน ยั่งยืน ยาวนาน ตลอดกาล ไม่เป็นอื่นใดอีก จะคงความโสดที่ไม่มีทุกข์ใดๆอยู่เช่นนั้นไปตลอดกาล

ไม่ใช่เพราะหาคู่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีใครเอา ไม่ใช่เพราะว่าแก่เกินวัย ไม่ใช่เพราะไม่เหมาะสมกับใคร ไม่ใช่เพราะไม่มีใครดีพอ แต่เป็นเพราะเกิดญาณปัญญารู้ว่าความโสดนี่แหละเป็นสุขที่สุดแล้ว ที่สุขที่สุดเพราะมันไม่มีทุกข์ใดๆเลย และนี่คือสิ่งที่ประเสริฐที่สุดแล้ว จะต่างกันกับชาวโลกีย์ที่มองว่าการมีคู่นั้นเป็นสุข หรืออย่างดีก็จะเห็นว่ามีสุขมีทุกข์ปนกันไป

แต่สำหรับชาวโลกุตระนั้นจะมองเห็นว่ามีเพียงแค่ทุกข์กับทุกข์เท่านั้น และเห็นว่าสุขที่เคยเข้าใจว่าเป็นสุขนั้น คือสุขลวงทั้งสิ้น ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่มีตัวตน เป็นของว่างเปล่า ดังนั้นจึงไม่มีข้อกังขาใดๆ ในเรื่องของการมีคู่อีก ไร้ซึ่งความลังเลสงสัยแม้แต่น้อยนิดในใจว่าทำไมต้องเลือกความโสด เพราะรู้แน่ชัดในตนแล้ว เกิดปัญญารู้ในตนแล้ว จึงไม่มีสิ่งใดจะมาลบล้างได้อีก

ไม่ว่าจะถูกเสนอด้วยคู่ครองรูปงาม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขโลกีย์อีกเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจที่หลุดพ้นจากกิเลสในเรื่องคู่นี้ได้ เพราะไม่ว่าจะได้อะไรมาแลกก็จะไม่ยอมสละความโสดนี้ไป ไม่มีอะไรมีคุณค่ากว่าความโสดนี้ ไม่มีการตั้งเงื่อนไข ไม่มีข้อแม้ ไม่มีช่องว่างใดๆเหลือไว้ให้จิตใจคิดถึงการมีคู่อีก

….สรุปบทความนี้กันด้วยหลักทางสายกลาง ความโสดที่ยังแสวงหาอยู่นั้นคือความโต่งไปในด้านของกาม ส่วนความโสดที่เกลียดการมีคู่นั้นคือความโต่งไปในด้านอัตตา และความโสดอย่างเป็นสุขที่ไม่แสวงหาคู่ ไม่ต่อต้านการมีคู่ แต่ก็ไม่สนับสนุนการมีคู่ คือทางสายกลางอย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ฤๅษีกึ่งพุทธกาล

March 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,575 views 0

ฤๅษีกึ่งพุทธกาล

ในยุคปัจจุบันนี้ ภาพของฤๅษีในอดีตก็มีแต่จะเลือนรางไปทุกที ยิ่งฤๅษีที่สงบๆงดเว้นการสนองกามทั้งเรื่องอาหาร การแต่งตัว ชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ ก็แทบจะหาได้ยากยิ่งในสังคมไทย

แต่แท้ที่จริงแล้วฤๅษีไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เปลี่ยนรูปจากในอดีตจนแทบไม่เหลือรูปแบบของฤๅษีดังที่ใครหลายคนจินตนาการไว้

แล้วฤๅษีนั้นเป็นใคร? อยู่ที่ไหน? ก็เป็นคนที่ปฏิบัติธรรมด้วยสมถะจนติดอยู่ในภพนั่นแหละ แม้ว่าสภาพทางรูปธรรมของฤๅษีในความทรงจำของเราจะเปลี่ยนไปจนสังเกตเห็นได้ยาก แต่ลักษณะทางนามธรรมยังเหมือนเดิมคือการใช้สมถะเข้ามากดข่มจิต ใช้ควบคุมจิต ใช้อุบายต่างๆมาบริหารจิต กดข่มอย่างตั้งมั่นจนเกิดสมาธิกลายเป็นฌานในที่สุด แต่นั่นก็เป็นฌานโลกีย์ทั่วไป วิธีเหล่านี้มีมาตั้งแต่ก่อนจะมีพุทธศาสนา มีมาจนกระทั่งปัจจุบัน และจะมีไปจนตราบโลกแตก

การใช้สมถะหรืออุบายทางใจเข้ามาบริหารจิตใจนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแค่กำหนดจิตให้นิ่ง อยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่ง คำใดคำหนึ่ง ภพใดภพหนึ่ง อิริยาบถหนึ่งๆ หรือใช้ธรรมะ คำพูด คำคม คติสอนใจ เหตุผล ความคิดบวกเข้ามาตบความคิดที่ฟุ้งซ่านเหล่านั้นให้สงบลง กดไปจนกระทั่งเกิดสภาพสงบต่อเนื่องหรือเป็นสมาธิ วิธีเหล่านี้เป็นการทำสมถะที่เป็นการปฏิบัติหลักเดียวของฤๅษี ซึ่งในปัจจุบันมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา

วิธีปฏิบัติที่ทำแต่สมถะอย่างเดียว จะมีปลายทางคือกลายเป็นคนที่ติดอยู่ในภพ ติดความสงบ ติดในสิ่งที่ตนเชื่อ นั่นเพราะพอสามารถใช้สมถะจนทำให้เกิดความสงบได้ก็มักจะเข้าใจว่าวิธีนี้คือการปฏิบัติแบบพุทธ แล้วหลงไปยึดมั่นถือมั่นในวิถีสมถะเหล่านี้ว่าเป็นทางพ้นทุกข์ จึงทำให้ติดสุข ติดสงบ ติดภพไปอีกนานแสนนาน

นั่นเพราะเมื่อเรายึดมั่นถือมั่นสิ่งใดแล้ว เราก็จะไม่สนใจสิ่งอื่น แม้มีธรรมอื่นเราก็จะไม่ศึกษา มองไม่เห็นคุณค่าเพราะได้ยึดมั่นถือมั่นแนวทางปฏิบัติของตนเป็นสำคัญ นี่คือความซวยของการปฏิบัติแต่สมถะรวมถึงผู้ที่หลงปฏิบัติแต่สมถะแล้วเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา

ดังนั้นสภาพของฤๅษีก็จะเกิดในคนปฏิบัติธรรมทั่วไปนี่เอง รูปที่เห็นภายนอกเราอาจจะรู้ได้ยาก แต่ถ้าได้ขยายวิธีปฏิบัติกันก็จะรู้ได้ชัดแจ้งซึ่งสมัยนี้ก็จะมีลูกครึ่ง คือครึ่งผีครึ่งคน จะเอาดีทางสมถะก็ทำไม่เต็มที่ ยังวนเวียนอยู่ในกามไม่ยอมตัด หรือไม่ยอมกดข่มให้ดับไปเสียที กลายเป็นคนปฏิบัติธรรมที่กามก็ยังไม่ละ อัตตาก็หนาเตอะแล้วก็ปฏิบัติสมถะไปแบบครึ่งๆกลางๆเช่นนั้นเอง หรือที่มักจะคิดไปเองดังคำว่า ”สมดุลทั้งทางโลกและทางธรรม” คือกามก็ยังเสพอยู่ แล้วเข้าวัดหรือปฏิบัติธรรมตามสมัยนิยม

คนปฏิบัติที่หลงทางจะออกอาการดังที่กล่าวมา แท้จริงแล้วทางสายกลางของพุทธ คือ กามก็ไม่เสพ และไม่ทรมานตัวเองด้วยอัตตา อธิบายกันโดยสรุปก็คือไม่ไปทำตามใจกิเลสและไม่มีความติดดีนั่นเอง

การทำสมถะนั้นจะหลับตา ลืมตา ขยับตัว เคลื่อนไหว หรือนั่งนิ่ง มันก็ทำสมถะได้ทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับอิริยาบถ แต่เกี่ยวกับกระบวนการว่ากระทำสิ่งนั้นอย่างไร เพื่ออะไร

การทำสมถะนั้นจริงๆแล้วเป็นสิ่งที่ดี เพราะเพิ่มพลังให้กับการวิปัสสนาได้ นั่นเพราะพลังกดข่มที่ได้จากการฝึกฝนสมถะนั้นจะมาช่วยกด และยับยั้งกิเลสไม่ให้กำเริบนั่นเอง แต่การที่เราหมายเอาสมถะเป็นแนวทางหลักในการพ้นทุกข์นั้นจะทำให้หลงไปไกล สุดท้ายก็จะกลายเป็นฤๅษีกึ่งพุทธกาล

เรากำลังจะเป็นฤๅษีหรือไม่?

วิธีตรวจว่าเราติดการใช้สมถะกดข่มหรือไม่ ก็ให้สังเกตว่าเวลากระทบกับเหตุการณ์ใดๆ แล้วเราใช้กระบวนการใดมาต่อกรกับเหตุนั้นๆ ถ้าเราใช้วิธีเช่น ใช้คำบริกรรมต่างๆ กำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง เลิกคิดเรื่องนั้นแล้วกำหนดรู้เรื่องอื่น คิดบวก ใช้ธรรมะ ข้อคิด คำคม ฯลฯ เข้ามากดข่ม ”ผล” ที่เกิดขึ้นจากเหตุนั้นๆ

ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาแซงคิวระหว่างเรารอซื้ออาหาร เราก็เกิดความรู้สึกโกรธขึ้น ถ้าเรากำหนดจิต ให้เลิกคิด, ให้รู้ตัว, หยุดปรุงแต่ง, โดนแซงก็แค่โดนแซง, การโดนแซงก็เป็นเช่นนั้นเอง, ความโกรธเกิดขึ้นเดี๋ยวก็ดับไป, ความโกรธไม่ใช่เรา, เขาก็เป็นของเขาแบบนั้นเราไปเปลี่ยนเขาไม่ได้, ปล่อยวาง, ช่างมัน หรืออื่นๆในแนวทางนี้ ก็จะเป็นการใช้สมถะเข้ามาแก้ปัญหา

ซึ่งโดยสาระสำคัญก็คือการใช้เหตุผลภายนอกหรือตรรกะเข้ามากระทำต่อจิตที่สั่นไหวให้สงบ การใช้วิธีสมถะจะเป็นการดึงองค์ประกอบอื่นๆหรือองค์ประกอบภายนอกมาใช้ในการใช้พิจารณาเพื่อดับสภาวะของจิตที่เกิดกิเลสนั้นๆ

แต่การวิปัสสนาจะมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาภายในคือ ทำไมเราจึงโกรธ เราโกรธเพราะอะไร คือขุดค้นไปที่เหตุที่ทำให้อาการโกรธนั้นเกิด และค้นต่อไปในกิเลสนั้นๆจนกว่าจะเจอรากของปัญหา แล้วค่อยพิจารณาธรรมแก้ให้ตรงจุด สกปรกตรงไหนก็ขัดตรงนั้น จะเป็นการแก้ปัญหาจากภายใน ไม่ใช่การใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามากดไว้แบบสมถะวิธี

ผลที่ได้จะแตกต่างกัน การใช้สมถะจะได้ความสงบจากการใช้อุบายหลอกจิต กดข่มจิต ชักนำจิตให้หยุดฟุ้งซ่าน แต่การวิปัสสนาที่ถูกต้องจะทำให้เกิดญาณปัญญารู้แจ้งในกิเลสนั้นๆไปตามลำดับจนกระทั่งเกิดความสงบขึ้นมาซึ่งจะไม่ได้เกิดความสงบในทันทีเหมือนวิธีสมถะ แต่ความสงบจากกิเลสด้วยปัญญาที่รู้แจ้งในกิเลสนั้น จะมั่นคง ยั่งยืน ยาวนาน ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เวียนกลับ ไม่มีการเกิดดับในกิเลสนั้นๆอีกต่อไป ซึ่งต่างจากสมถะวิธีที่ต้องคอยกดทุกครั้งที่จิตเกิดอาการสั่นไหวเพราะกิเลส และจะมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และเกิดขึ้นใหม่วนเวียนไปไม่จบไม่สิ้น

ในบางกรณีเมื่อปฏิบัติสมถะไปจนเก่งจะพบว่าอาการสุข ทุกข์ เฉยๆ ซึ่งเป็นอาการที่จะต้องใช้สะท้อนให้เห็นกิเลสจะดับไปโดยอัตโนมัติ เรียกว่ากดข่มอย่างอัตโนมัติโดยที่สติไม่ได้มีการทำงาน แต่จิตทำงานด้วยตัวเองไปตามสัญชาติญาณของผู้ที่ฝึกสมถะมามาก จนบางคนหลงไปว่านั่นคือสติอัตโนมัติ ทั้งๆที่สภาพของการตัดรอบของจิต หรือการกดข่มอัตโนมัตินั้นไม่มีสติเสียด้วยซ้ำ และนี่เองคือความยากในการศึกษาวิปัสสนาของผู้ติดสมถะ เพราะจะมีสภาพเหมือนจะจัดการกิเลสได้ตลอดเวลาทั้งๆที่เป็นการกดข่มโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการปฏิบัติสมถะนั้นไม่ได้เป็นการสร้างญาณในการรับรู้กิเลสให้เจริญขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้นักสมถะจำนวนมากหลงผิดว่าบรรลุธรรม ติดภพไปในที่สุด กดข่มกันได้ยาวนานข้ามภพข้ามชาติ

แนวปฏิบัติของการสมถะคือการควบคุมการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปของจิต จะเข้าใจว่าธรรมะมีแค่การเกิดดับเท่านั้น จึงหมายเอาการดับอย่างต่อเนื่องเป็นการบรรลุธรรม เหมือนเข้าใจว่าปิดสวิตช์ทั้งหมดก็เข้านิพพานได้แล้ว เป็นความหยาบที่มองแต่ผลโดยข้ามการปฏิบัติที่ถูกตรงไป เพราะสมถะนั้นปฏิบัติได้ง่าย มีแค่กดข่มได้กับกดข่มไม่ได้เท่านั้น เหมือนกับการเปิดปิดนั่นเอง แต่การวิปัสสนาไม่ได้มีมิติเช่นนั้น การปฏิบัติธรรมตามหลักศาสนาพุทธจะต้องทำไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด พัฒนาไปทีละน้อย ไม่ใช่ทำความดับในทันที แต่กระทำไปเพื่ออธิปัญญาจนกระทั่งถึงวิมุตติที่จะเข้ามาทำให้กิเลสนั้นตายจนการเกิดของกิเลสในจิตนั้นดับไปเอง

โดยหลักของสมถะมักจะมองไปที่การดับความคิด ดับความฟุ้งซ่าน หรือกระทั่งการดับสัญญา แต่วิปัสสนานั้นจะมุ่งไปที่ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ แล้วดับทุกข์นั้นๆด้วยวิธีการดับทุกข์ที่ถูกทางของพุทธ กล่าวโดยย่อคือสมถะมุ่งเน้นไปที่ความไม่ทุกข์เพื่อการหลุดพ้น ส่วนวิปัสสนานั้นกระทำที่สุดแห่งทุกข์เพื่อการหลุดพ้น

อธิบายสรุปรวมในทางธรรมก็คือ สมถะปฏิบัติให้จิตเป็นสมาธิจนเกิดฌาน แต่วิปัสสนาปฏิบัติฌานจนจิตเกิดเป็นสมาธิ สภาพสมาธิที่หมายนั้นก็ต่างกัน ฌานที่หมายนั้นก็ต่างกัน การปฏิบัติสมถะจนเกิดสมาธิก็คือการนั่งสมาธิหรือการฝึกสติกำหนดรู้ทั่วไปจนพัฒนาเป็นฌานโลกีย์ไปตามลำดับ แต่การวิปัสสนานั้นจะใช้ฌานในการเพ่งเผากิเลสจนกระทั่งเกิดเป็นสภาพของสัมมาสมาธิที่เป็นผลเจริญของการปฏิบัติ

ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิธีทางสมถะและวิปัสสนานั้นจะกลับหัวกลับหางกัน คนที่เข้าใจวิปัสสนาจะสามารถใช้สมถะเป็นอุปการะได้ แต่คนที่เข้าใจเพียงสมถะจะทำให้ติดอยู่ในวิธีการปฏิบัติแบบโลกียะ ทำให้ผลที่ได้นั้นเป็นโลกียะไปด้วย แม้จะได้ผลคือความสงบ เกิดสมาธิ แต่สมาธินั้นไม่ใช่สัมมาสมาธิในแบบของพุทธ เป็นสมาธิแบบฤๅษีทั่วไป กลายเป็นฤๅษีกึ่งพุทธกาลนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

5.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)