ความฝันสีชมพู

September 28, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,766 views 0

ความฝันสีชมพู

ความฝันสีชมพู

ถ้าคนเราเลือกได้ ก็คงอยากจะมีความฝันดีๆทุกคืน และอยากให้ฝันเหล่านั้นกลายเป็นจริงเข้าสักวัน จึงได้เฝ้าฝันทั้งในยามหลับตาและยามลืมตา เฝ้ารอว่าวันใดวันหนึ่ง ฝันที่เคยหวังจะเป็นจริงดังที่เฝ้าฝันไว้

แต่ในความเป็นจริง เราไม่สามารถฝันดีได้ทุกวัน บางวันเราก็ฝันร้าย หรืออาจจะไม่ได้ฝันอะไรเลย เหมือนกันกับชีวิตจริงที่อะไรก็ไม่เป็นไปดังฝัน แม้จะได้ดังใจหวัง ความสุขสมใจก็จะอยู่กับเราสักพักแล้วก็จะจางหายและจากไป

เหมือนกันกับความรัก เรามักเฝ้าฝันว่าเราจะได้พบกับคนที่ดี พบกันวันเวลาที่ดี พบกับรักที่ดี เราเชื่อเสมอว่าเราจะเจอสิ่งที่ดี เหมือนกับเรากำลังอยู่ในความฝัน แม้ว่าความจริงที่เกิดขึ้นรอบกายนั้นจะแสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของความรักให้เห็นอย่างชัดเจน มีคู่รักหลายคนต้องเจ็บปวดทรมานความรักนั้นไม่สมหวัง มีคู่แต่งงานมากมายที่ต้องจบเรื่องราวความรักของพวกเขาไป เป็นความจริงที่ดูเหมือนจะโหดร้าย ทำไมมันต้องจบแบบนั้นทั้งที่ในตอนแรก ใครๆก็คิดว่าความรักของตนนั้นสวยงามที่สุด

คนที่คบหากัน เคียงข้างกัน แต่งงานกันด้วยความยินยอมต่อกัน ไม่มีใครสักคนที่จะคิดไปว่ารักของพวกเขานั้นจะพังทลายลงไปในวันใดวันหนึ่ง เรามักพูดกันแต่ในมุมของความเจริญ แต่กลับมองข้ามความเสื่อม ทำให้คู่รักหลายคนจมอยู่ในภาวะของความฝัน ความหวัง และอุดมคติจนกระทั่งวันหนึ่งความจริงได้พรากความฝันเหล่านั้นจากเขาหรือเธอไป

แต่นักฝันมักไม่เคยเห็นภาพเหล่านี้ ถึงเห็นก็ทำเป็นไม่เห็น และแม้จะเห็นก็ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง ยังคงเฝ้าฝันถึงวันที่จะได้เจอกับคนที่เหมาะสมกับตน คนที่มอบความรักให้กับตนคนที่จะเข้ามาเติมเต็มกิเลสให้กับตนได้เขาจึงเฝ้าฝันอย่างไม่สนใจความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เหมือนกับคนที่เดินเล่นอย่างเพลิดเพลินใจอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยสงคราม

ยังมีนักฝันจำนวนมากที่เคยข้ามผ่านความเจ็บช้ำจากความรัก การพบรัก การจากลา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เขาและเธอเหล่านั้นก็ยังมีความฝัน ที่จะได้เจอกับรักแท้เข้าสักวัน โดยลืมไปว่ารักที่ผ่านมาทั้งหมดนั้นก็เริ่มด้วยความรู้สึกที่คิดว่ารักเหล่านั้นเป็นรักแท้ทั้งสิ้น ลืมไปว่าเคยมั่นใจกับสิ่งเหล่านั้น เคยมั่นใจว่ารักนั้นดีจึงได้คบหาผูกพัน จนกระทั่งทุกอย่างจบลง นักฝันกลับกลบเรื่องในอดีตไว้อย่างมิดชิด เพื่อไม่ให้แผลในอดีตไปทำลายฝันใหม่ที่ตนเองกำลังสร้างขึ้น

ซึ่งเขาเหล่านั้นก็มักจะพบกับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่ไม่รู้ว่าสาเหตุของความผิดพลาดนั้นมาจากอะไร ได้แต่เฝ้าฝันว่าใครสักคนที่แสนดี ที่เพียบพร้อมอย่างใจต้องการ และพร้อมจะเข้าใจความคิดของเราจะมาเข้ามาในชีวิต

เหมือนกับคนที่ปิดตาตัวเองเดินเข้าไปในป่าเพื่อหาใครสักคน พอไปเดินไปเจอกับต้นไม้ก็เผลอไปกอดเพราะคิดว่าเป็นคน แล้วก็เปิดตามาดูจึงพบว่าไม่ใช่ เก็บความผิดหวังนั้นไว้ ว่าแล้วก็ปิดตาเดินหาใครสักคนต่อไป ในป่ากว้างใหญ่…ซึ่งไม่มีคน

วิธีการที่จะเจอใครสักคนที่ดี ไม่ใช่การเฝ้าฝัน หลับหูหลับตาหาไปอย่างงมงาย แต่เป็นการเปิดตา เปิดโลกให้กว้างขึ้นว่าการที่เราจะได้สิ่งใดมาสักอย่างนั้น ต้องเกิดจากการที่เราทำอะไรสักอย่างที่เหมาะสมเช่นกัน ถ้าเราทำดีเข้ามากๆ ทำดีอย่างไม่หวังผล กุศลจะผลักดันให้เราเปลี่ยนจุดที่ยืนอยู่ จากป่าที่ไม่มีคน ก็อาจจะพบเจอใครได้บ้าง บางคนเข้าวัดทำบุญทำทาน แต่ไหว้พระทีไรก็เอาแต่ร้องขอในสิ่งที่ตนอยากได้เป็นการแลกเปลี่ยนทุกที ถ้าทำแบบนี้การจะได้เจอใครที่ดีก็คงจะเป็นไปได้ยาก

เช่นเดียวกับการทำชั่ว ถ้าเราทำชั่วมากๆ อกุศลก็อาจจะผลักดันให้เราเปลี่ยนจุดที่ยืนอยู่ จากป่าที่ไม่มีคน ก็อาจจะพบใครได้บ้างบางคนเข้าผับเข้าบาร์ หวังว่าจะเจอใครสักคน อันนี้ก็พอจะเป็นไปได้ เพราะถ้าเราขยันทำชั่ว ขยันเข้าไปในที่อโคจร เราก็อาจจะได้พบกับคนที่เหมาะสมกับความชั่วกับเราในวันใดวันหนึ่งก็ได้

การพบใครสักคนไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่ควรสนใจคือใครคนนั้นจะเข้ามาทำให้เกิดสิ่งใดในชีวิตเรา การมีใครสักคนเข้ามาในชีวิตทำให้เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง สิ่งที่เราได้จากความรักที่เคยผ่านมานั้นเป็นอย่างไร แล้วรักใหม่นั้นจะดีจริงหรือ เขาจะบำรุงบำเรอกิเลสให้เราได้ตลอดไปจริงหรือ หรือเขาแค่จะมาหาผลประโยชน์จากเราแล้วจากไป

เราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความฝันและความจริงในเรื่องความรักกันอีกหลายภพหลายชาติ บางคนเจอความผิดหวังไปกี่ครั้งก็ยังไม่เข็ด ยังเฝ้าฝันปิดหูปิดตาตามหาความรักต่อไป บางคนแค่ได้ยินเรื่องของคนอื่นก็ถึงกับขยาดกับความรัก บางคนได้พบเจอเรียนรู้และผิดหวังในความรักก็สามารถที่จะเข้าใจคุณค่าและสาระของความรักได้

คนผู้มีปัญญาจะเข้าใจแก่นแท้ของความรักได้ เขาก็จะไม่วิ่งหา ไม่แสวงหา ไม่ยึดไว้เป็นของตน ไม่เหนี่ยวรั้ง ในขณะที่นักฝัน ก็ยังคงวิ่งตามหาความรัก แสวงหาใครสักคนที่จะพอให้ตนได้เสพสมใจ พอได้มาก็ยึดเขาไว้เป็นสมบัติของตน พอเขาจะจากไปก็พยายามจะเหนี่ยวรั้งไว้ และสุดท้ายจึงต้องพบเจอกับการจากพราก เกิดเป็นทุกข์ เป็นความเศร้าโศก คร่ำครวญรำพัน เสียใจ คับแค้นใจ วนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยไป อย่างไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

September 28, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,400 views 0

นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

ทุกข์เกิดมาจากอะไร ทำไมเราจึงต้องทุกข์ ยิ่งใช้ชีวิตนานวันไปยิ่งพบกับทุกข์มากขึ้น ยิ่งค้นยิ่งหาก็ยังไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ แล้วมันทุกข์จากอะไร เพราะเราอยากได้ อยากมี อยากเป็น ใช่ไหมเราจึงต้องทุกข์

ความอยากหรือตัณหานั้นเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ทุกชีวิต ตื่นลุกออกจากเตียงก้าวออกไปเผชิญชีวิตในสังคมเมือง ออกไปทำงานตามล่าหาเงิน หาความสำเร็จ หาความมั่งคั่ง มาบำเรอความอยาก ที่เรามักจะเรียกให้มันดูดีว่า “ความฝัน

อารมณ์ต่างๆในชีวิต เช่น ความโกรธ ขุ่นเคือง ไม่พอใจ ฯลฯ อารมณ์เหล่านี้เกิดจากการที่เราไม่ได้สมใจอยาก บางคนสามารถใช้วิธีทางสมถะตบความทุกข์เหล่านี้ออกจากใจได้ สามารถดับความโกรธ ความขุ่นเคือง ความไม่พอใจได้ เขาเหล่านั้นเชื่อว่านี่คือทางแห่งการพ้นทุกข์ แต่จริงๆแล้ว เพียงแต่ตบความคิด ดับความคิด หยุดฟุ้งซ่าน แค่ทำใจให้โล่ง โปร่งสบายได้ ยังมาไม่ถึงคำว่า “พุทธ” เลย

วิถีแห่งสมถะ มีมาก่อนพระพุทธศาสนาจะกำเนิดอยู่แล้ว เป็นวิถีแห่งฤาษี พราหมณ์ ในอดีตสมัยพุทธกาลก็มีกันอยู่มาก พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ทดลองแล้วและพบว่ามันไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีคนที่หลงทางอยู่มากมาย เข้าใจว่าการทำสมถะ ดับความคิด ตบความคิดได้ นั่นคือทางแห่งพุทธะ ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ใกล้เคียงเลย…

แม้เราจะสามารถดับความคิดขุ่นเคือง เศร้าหมอง โกรธ ฯลฯ ได้ แม้เราจะบอกว่ามันเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปได้ แม้จะรู้ว่ามันเป็นอนิจจัง ความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ในระดับทั่วไป แน่นอนว่าศาสนาพุทธก็สอนให้ดับปัญหาเหล่านั้นที่ปลายเหตุด้วยส่วนหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันเราก็มุ่งเน้นมาที่ต้นเหตุ คือสมุทัย เหตุแห่งทุกข์

ทุกข์มันเกิดจากตรงไหน เกิดจากการที่เราโกรธ ขุ่นเคืองใจอย่างนั้นหรือ? ผู้มีปัญญาตื้นเขินก็จะมองเห็นได้เพียงแค่นั้น และดับความคิดเพียงแค่นั้น จนสุดท้ายหลงเข้าใจผิดว่าการบรรลุธรรมก็มีแค่นั้น ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น เพราะเหตุแห่งทุกข์จริงๆเราต้องขุดค้นลงไป ว่าเราโกรธเพราะอะไร ที่เราโกรธเพราะเราไม่ได้เสพสมใจในเรื่องใด

และขุดค้นลงไปอีกว่า การที่เราอยากเสพในเรื่องนั้นๆ เราอยากเสพเพราะอะไร เราอยากได้อยากมีอะไร เราติดสุขอะไรในรสชาติ ติดอะไรในอารมณ์ของสิ่งนั้น พิจารณาลึกลงไปเรื่อยๆ ลึกกระทั่งจนไปถึงเหตุเกิด หรือที่เกิดของความทุกข์ นั่นคือสมุทัย ไม่ใช่ปลายเหตุคือความโกรธที่เราเห็นได้ทั่วไป

เพราะเหตุแห่งทุกข์นั้นมักจะซ่อนอยู่ภายในลึกๆ แม้ว่าจะค้นเจอแล้วครั้งหนึ่งอาจจะไม่ได้หมายความว่าจะเจอทั้งหมด และไม่ได้หมายความว่าที่เราเจอคือต้นเหตุจริงๆ เราต้องเฝ้าพิจารณาหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า หารากที่เหลือของมันและขุดรากถอนโคนมันออกมาด้วยวิธี …นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

หลังจากที่เราได้เจอกับกิเลสของเราแล้ว วิธีการที่จะดับกิเลสนั้น ไม่ใช่การทำลายมันด้วยการตบทิ้ง หรือการกดข่ม หรือการดับใดๆ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเราได้เจรจากับกิเลส ได้ใช้เวลาคุยกับกิเลสให้มาก ให้ตัวเราและกิเลสได้ทำความเข้าใจว่า ฉันไม่ใช่เธอ และเธอก็ไม่ใช่ฉัน เราไม่ใช่กันและกัน เธอไม่จำเป็นต้องอยู่กับฉันตลอดไปก็ได้ เราจะใช้เวลาเจรจานานตราบเท่าที่กิเลสจะยอมใจอ่อน เดินจากเราไป อาจจะใช้เวลา 1 วัน 1 เดือน 1 ปี 1 ชาติ 1 กัป หรือ 1 อสงไขยก็เป็นได้

ยกตัวอย่างเช่น เราโกรธเพื่อน เพราะว่าเพื่อนพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบ ถ้าสายสมถะหรือสายฤาษีก็จะตบความโกรธทิ้งไป ดับความคิดที่โกรธทิ้งไป แล้วเข้าใจไปเองว่าตนบรรลุธรรม แต่ในทางพุทธ เราจะย้อนกลับมาที่ใจตัวเองว่า… ทำไมเราถึงโกรธเพื่อน

เพราะเขาพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใช่ไหม?

แล้วเราไม่ชอบคำพูดเหล่านั้น

หรือเราไม่ชอบเรื่องราวในคำพูดเหล่านั้น?

หรือเรื่องราวเหล่านั้นมันทำร้ายทำลายใจเรา?

แล้วเรามีเรื่องอะไรให้ต้องเจ็บ?

เพราะเราเคยมีแผลเก่าในใจใช่ไหม?

แผลเก่าในใจนั้นคืออะไร?

เป็นเพราะมีใครคนหนึ่งเคยฝากแผลใจให้กับเราไว้ใช่ไหม?

แล้วเราเจ็บปวดเพราะอะไร

เพราะเราคาดหวังว่าเขาจะต้องทำดีกับเราใช่ไหม?

พอเขาไม่ทำดีกับเรา ทำร้ายเรา เราก็ผิดหวังใช่ไหม?

นั่นเป็นเพราะเราหวังมากเกินจริงใช่ไหม?

เขาก็เป็นของเขาแบบนั้นแล้วเราจะไปหวังอะไรกับเขา

เราหวังเพราะเราอยากเสพดีใช่ไหม?

อยากเสพดีเพราะเราติดว่าดีเป็นสุขใช่ไหม?

….

สมมุติว่าเราหยุดตรงนี้ เราหยุดตรงที่เราติดว่า “เกิดดีจึงจะเป็นสุข” เราก็คุยกับกิเลส ก็คือพิจารณาโทษของการติดดี และประโยชน์ของการไม่ไปติดดี พิจารณากรรมและผลของกรรมว่าถ้าเรายังติดดีอยู่ อนาคตเราต้องรับอะไรบ้าง รวมทั้งพิจารณาว่าการติดดีนั้นเป็นทุกข์อย่างไร ถึงจะติดดีอย่างไรในความจริงมันก็ไม่เที่ยง ไม่สามารถเกิดดีหรือเป็นดังใจเราได้เสมอไป รวมถึงความดีที่เรายึดไว้ แท้จริงมันก็ไม่ได้มีตัวตนอยู่อย่างที่เราคิด เราคิดไปเองว่าความติดดีคือเรา เราคือความติดดี จริงๆแล้วมันไม่ใช่ของกันและกัน เราและความยึดว่าต้องเกิดดีนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกันกับเราเลย

แล้วเราก็ใช้เวลาของเรานั่งจับเข่าคุยกับกิเลสในตัวเองต่อไป คุยไปเรื่อยๆ คุยไปทุกครั้งที่เจอกัน เจอกิเลสเมื่อไหร่เราก็เจรจา หาเหตุผล หาความจริงตามความเป็นจริงมาเรื่อยๆ พิจารณาไปแม้ว่าเราจะพ่ายต่อกิเลส โดยไม่ลดความพยายาม หน้าด้านคุยกับกิเลสไปจนถึงวันหนึ่งกิเลสก็จะยอมถอย เก็บกะเป๋าออกจากจิตใจเรา วันนั้นคือวันที่ปัญญาของเรามากพอที่จะไล่กิเลส ทำลายกิเลส หรือที่เรียกว่าฆ่ากิเลสนี้ลงได้

กิเลสจะไม่มีวันกลับมาได้อีกต่อไป ไปแล้วก็ไปเลย ถึงกิเลสจะวนกลับมา เพียงแค่เราพูดหรือใช้การพิจารณาเพียงเล็กน้อย กิเลสก็ยอมล่าถอย ไม่เข้าใกล้เราอีกต่อไปนั่นคือเรามีปัญญามากพอที่จะพ้นภัยจากกิเลสนั้นๆ

ทั้งหมดนี้คือลักษณะของการวิปัสสนา ซึ่งถ้าใครทำวิปัสสนาอย่างถูกตรงก็จะเข้าใจกระบวนการนี้ได้ดี แต่ถ้าใครหลงผิดไปว่าสมถะของตนนั้นคือวิปัสสนา อาจจะไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะเขาเข้าใจได้เพียงแค่ว่า แค่ดับความคิดก็จบแล้ว ทำไมต้องคิด ทำไมต้องทำขนาดนี้ ซึ่งเขาเองอาจจะไม่ได้สังเกตว่า วิธีที่เขาทำนั้น ความอยากมันไม่ได้หายไป ความอยากมันไม่ได้ตาย มันดับ แล้วมันก็เกิดใหม่ เกิดและดับไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น อย่างเก่งก็ดับได้แบบอัตโนมัติ กดดับไปแบบไม่รู้ตัว กดข่มดับจิตไปทั้งชาติ เกิดมาชาติหน้าก็ต้องมาเจอกิเลสใหม่อยู่ดีเพราะยังตัดตัณหาไม่ขาด กิเลสไม่ตาย ก็ต้องเจอกันใหม่อยู่ดี

ด้วยวิธีนี้เราจะสามารถดับตัณหา หรือความอยากที่มีกิเลสปนเปื้อนได้ และสามารถรู้ได้เองว่ากิเลสของตนนั้น “ลด” ไปเท่าไหร่ กิเลสลดก็รู้ กิเลสเพิ่มก็รู้ กิเลสดับก็รู้ เป็นลักษณะของความรู้แจ้ง ไม่ใช่แบบมั่ว คิดเอาเอง หรือคาดเอาไปเอง ไม่รู้อะไรเลย ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ ผู้ไม่รู้ ผู้หลับใหลมัวเมา ผู้เฉยๆ

หากเราได้ใช้เวลาในชีวิตประจำวัน เฝ้าคุยกับกิเลสของตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องขุ่นเคืองใจใดๆ ที่เข้ามาในชีวิตเรา เราจะจับเข่าคุยกับกิเลสทุกครั้งที่ว่างจากการทำงาน หรือกระทั่งพิจารณาสอดร้อยไปในกิจกรรมการงาน เราก็มีโอกาสที่จะเป็นผู้พ้นทุกข์จากกิเลส เพราะเราได้กำจัดเหตุแห่งทุกข์นั้นสิ้นไปแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เทศกาลกินเจ

September 27, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,677 views 0

เทศกาลกินเจ

เทศกาลกินเจ

เข้าช่วงเทศกาลกินเจแล้ว ก็มักจะเป็นช่วงที่สังคมหยิบยกเอาเรื่องของการกินเจ สาระความรู้ แม้แต่ข้อคิดเห็นความเข้าใจในเรื่องของการกินเจออกมาแชร์กัน

สารภาพตรงๆว่าผมเอง ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยกินเจเลย ไม่เคยสนใจ ไม่เคยรับรู้ พึ่งจะมากินมังสวิรัติมาได้ปีกว่าๆ ในปีนี้ก็เลยลองไปเดินดูบรรยากาศที่เยาวราชกันสักหน่อย และแวะเข้าไปซึมซับบรรยากาศในช่วงเทศกาลกินเจที่วัดมังกรฯกันสักนิด เพื่อที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มากกว่าอ่านบทความในอินเตอร์เน็ตและดูจากทีวี

เรามักจะได้เห็นการวิวาทะเกี่ยวความเชื่อเรื่องการกินเจอยู่บ่อยๆในสังคมออนไลน์ ว่ากินเจดี หรือไม่ดี ต้องกินหรือไม่ กินอย่างไร แบบไหนจึงจะดี แล้วต้องคิดต้องทำอย่างไรถึงจะดี บ้างก็ยกหลวงปู่หลวงพ่อที่ตนนับถือมาอ้าง บ้างก็ยกพระไตรปิฏกมาอ้าง ว่าสิ่งที่ตนคิด สิ่งที่ตนเข้าใจนั้นดี กลายเป็นเทศกาลที่มักจะเห็นคนห้ำหั่นกันด้วยอัตตากันอยู่บ่อยๆ

จะขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกินเจ เพราะเรื่องกินนั้นเป็นประเด็นหลักที่สังคมรับรู้และให้ความสำคัญมาก

คนกินเจ…

ผมคิดว่าการที่คนเราลองเปลี่ยนมากินเจนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว มีโอกาสได้ลดเนื้อกินผักหรือกินอะไรแทนเนื้อสัตว์ก็กินไปเถอะ ไม่เบียดเบียนคนอื่นก็ดีแล้วส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่เราไปกินเจแล้วรู้สึกว่าเราดีกว่าคนอื่นนั้น ยังไม่ดี อันนี้ควรจะแก้ไข คนกินเจบางคนมักจะสำคัญตัวเองว่าฉันใจบุญ ฉันดี ฉันมีศีล ซึ่งความติดดียึดดีเหล่านี้แหละ คือสิ่งที่ไปทำร้ายทำลายใจคนที่เขาไม่กินเจ

คนที่กินเนื้อเองก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นคนไม่ดีไปเสียทุกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ทั้งชีวิตที่ผ่านผมเองก็กินเนื้อมาตลอดและต้องบอกตรงๆเลยว่า สมัยก่อนก็ชอบเนื้อมาก ถึงขั้นเสพติดเนื้อกันเลยทีเดียว แต่ทุกอย่างก็ไม่เที่ยง…แปรผันได้ตลอดเวลา ติดได้ก็เลิกได้ บางทีคนที่เขายังกินเนื้อในวันนี้ แต่ปีหน้าเขาอาจจะลดเนื้อกินผักได้มากกว่าคนที่กินเจปีละครั้งก็ได้ ดังนั้นคนกินเจก็อย่าไปปรามาส อย่าไปสบประมาทคนที่เขายังกินเนื้ออยู่ เพราะเขาแค่ยังไม่รู้ถึงโทษของการกินเนื้อ เราไม่รู้หรอกว่าใครมีบุญบารมี มีวาสนาสะสมมาเท่าไหร่ คนที่กินเจก็ควรจะมุ่งมั่นกินเจของตนไป ขยายขอบเขตการลดการเบียดเบียนให้ได้มากขึ้น เป็นเดือน เป็นปี อย่าให้ใครเขาว่าเอาได้ว่าถือศีลตามเทศกาล ถือตามชาวบ้าน ถือศีลแบบไม่มีปัญญา

ดังนั้นการเพ่งโทษคนที่ไม่กินเจ หรือกินเจไม่เคร่งครัด จึงไม่ใช่วิสัยที่คนถือศีลกินเจควรทำ เพราะสิ่งที่เราควรทำคือขัดเกลาจิตใจตนเอง ไม่ใช่จิตใจของผู้อื่น

คนไม่กินเจ…

ส่วนคนที่ไม่ได้กินเจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การที่เราเห็นคนกินเจ เราก็ควรจะยินดีกับเขา เห็นคนที่เขาคิดจะทำดี แม้ว่ามันจะยังไม่ดีเลิศอะไร แต่เขาก็ยังคิดจะทำสิ่งที่ดีเท่าที่เขาจะทำได้ แม้เราจะยังไม่เห็นว่าสิ่งนั้นดี เราไม่ยินดีทำตามก็ไม่เป็นไร แต่การที่เราไปเพ่งโทษคนที่เขาทำดี อันนี้ก็ไม่ดี เขาตั้งใจทำดีเรายังไปว่าเขาไม่ดี เรานั่นแหละไม่ดี เขาทำดีเราควรจะช่วยเป็นกำลังใจ ช่วยสนับสนุนให้เขาทำดี ไม่ใช่ไปคอยไปจับผิดเขา คอยแสดงท่าทีเขาให้เลิกทำดี กลับมากินเนื้อเป็นปกติเหมือนอย่างเรา

การกินเจหรือลดเนื้อกินผักนั้น เป็นเรื่องที่ยาก เพราะต้องเดินสวนกระแสแห่งความอยาก ถ้าหากเรายังไม่เคยท้าทายตัวเอง เอาแต่ลอยไปตามสายน้ำแห่งความอยาก ก็ยากที่จะเข้าใจจิตใจของผู้ที่กินเจ ดังนั้นเพื่อการศึกษา คนที่ไม่กินเจ ก็อาจจะลองมากินเจดูบ้างก็ได้ ว่าสิ่งที่เขาว่ายากนั้นยากอย่างไร แล้วสิ่งที่เขาว่าดีนั้นดีจริงอย่างไร

จริงอยู่ที่ว่าการกินเจไม่ได้ทำให้ใครเป็นคนดี และคนดีทุกคนไม่จำเป็นต้องกินเจ แต่เราเองก็ควรจะรับรู้ด้วยว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นก่อให้เกิดการเบียดเบียน ซึ่งเราผู้กินเนื้อแต่ละคนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการอุ้มชูและพัฒนาอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั้งในทางตรงและทางอ้อม การค้าขายสัตว์เป็นหรือสัตว์ตายนั้น เป็นการค้าขายที่ผิดในทางของพุทธอยู่แล้ว ดังนั้นการที่เรายังไปสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ เราก็ควรจะรับรู้ด้วยว่า เราเองก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองแห่งบาปนี้เช่นกัน

การกินเจที่ปนเปื้อนด้วยกิเลส

ทุกวันนี้มีผลิตภัณฑ์ปรุงแต่ง คล้ายเนื้อสัตว์ออกมามากมาย เป็ดเจ ไก่เจ หมูเจ ฯลฯ ทำให้หลายคนสงสัยว่าการกินเจจะดีจริงหรือในเมื่อใจเรายังติดในรสชาติของสัตว์นั้น

ในความเป็นจริงแล้ว การที่จะให้คนกิเลสหนาหักดิบมากินผักเลยมันเป็นไปไม่ได้ โปรตีนเกษตรหรือเนื้อสัตว์เทียมจึงได้ผลิตออกมาเพื่อตอบโจทย์กับผู้ที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นใหม่ หัดใหม่ หรือยังตัดความอยากไม่ได้ ซึ่งจริงๆแล้วก็เป็นการลดการเบียดเบียนที่ดีวิธีหนึ่ง ถ้าเรากินกันได้แบบนี้ทุกคนบนโลก ก็จะไม่มีสัตว์ใดตายเพราะความอยากของเรา จริงไหม?

แต่เชื่อเถอะว่าเนื้อสัตว์เทียมเหล่านั้นก็ไม่สามารถหยุดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้หรอก ไม่วันใดก็วันหนึ่งเขาเหล่านั้นก็จะกลับไปหาเนื้อสัตว์จริงๆกิน เพราะความหิวกระหาย เพราะความอยาก เพราะกิเลสที่ถูกกดข่มไว้นานนั้นได้เพิ่มปริมาณและทะลักออกมา หรือที่เรียกว่าตบะแตก

ไม่มีสังคมใดที่จะมีคนดีคนเก่งไปเสียทั้งหมด คนที่กินเจได้แบบบริสุทธิ์ต่อเนื่องทั้งชีวิตก็คงจะมีอยู่ แค่เราอาจจะไม่เคยเห็น และถึงจะมีจริง เขาเองก็ไม่ได้สามารถที่จะสอนหรือแนะนำให้ทุกคนกินเจได้บริสุทธิ์ได้เหมือนเขา เพราะคนส่วนมากนั้นมีกิเลสที่หนาในระดับที่แตกต่างกันไป ทุกวันนี้ก็เลยมีผลิตภัณฑ์อาหารเจ เนื้อสัตว์เจขายกันอยู่ทั่วไป

– – – – – – – – – – – – – – –

27.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

September 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,945 views 1

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

การดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะในทางโลก หรือทางธรรมนั้น สิ่งที่จำเป็นประการหนึ่งก็คือผู้ชี้นำที่ดี…

เพราะคนนั้นเรามีขอบเขตการเรียนรู้ที่จำกัด มีสติที่จำกัด มีปัญญาที่จำกัดการที่เราจะสามารถขยายข้อจำกัดเหล่านั้นได้คือการพัฒนาตัวเอง แต่เราจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไรในเมื่อเราไม่รู้วิธีที่จะเพิ่มหรือขยายสติปัญญาเหล่านั้น ดังนั้นการที่เรามีผู้ชี้นำ หรือครูบาอาจารย์ที่ดีนั้น จะสามารถนำพาเราไปสู่ความเจริญได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

1.คบหาผู้รู้

พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุแห่งการหลุดพ้นไว้ในอวิชชาสูตร ว่าการที่เราหลงงมงายไปในสิ่งไร้สาระ หลงไปในกิเลสนั้นเกิดจากอวิชชา เป็นความโง่ เป็นความไม่รู้ ซึ่งเหตุแรกสุดของอวิชชานั่นก็คือการไม่คบหาสัตบุรุษ

สัตบุรุษ คือ คนผู้รู้สัจจะ รู้ความจริง รู้วิธีพ้นทุกข์ ท่านเหล่านั้นได้ร่ำเรียนมาจากพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ สะสมบารมีมาหลายภพหลายชาติ จนเกิดความรู้แจ้งในตนเอง เมื่อมีสัจจะ ก็สามารถสอนสัจธรรมได้ เป็นธรรมที่พาไปสู่การพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด เพื่อความไม่สะสม เพื่อความมักน้อย เพื่อความสงบจากกิเลส เพื่อการละกิเลส ฯลฯ

ดังนั้นเมื่อเราไม่ได้คบหาสัตบุรุษ ก็ไม่มีทางที่จะทำลายอวิชชาได้ หรือเรียกได้ว่าไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้เลย

2.ลักษณะของผู้รู้

ผู้ที่เป็นสัตบุรุษนั้น จะสามารถแสดงธรรมอย่างแกล้วกล้าอาจหาญ ไม่ประหม่า ไม่เขินอาย ไม่ลังเล ไม่สับสน เพราะรู้แน่ชัดว่าธรรมที่ตนมีนั้นเป็นของจริง พาพ้นทุกข์ได้จริง สามารถสอบถาม พร้อมทั้งให้ตรวจสอบกันได้ และยังเชื้อเชิญให้มาลองพิสูจน์ธรรมะนั้น เพราะรู้ว่าผู้ใดที่ศรัทธาและปฏิบัติจะเห็นและเข้าใจได้ ไม่ใช่สิ่งเร้นลับ ไม่ใช่เวทมนต์ ไม่ใช่เดรัจฉานวิชา เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ตลอดกาลไม่ว่ายุคใดสมัยใด และเป็นสิ่งที่ควรกระทำให้เกิดธรรมเหล่านั้นขึ้นในวิญญาณของตน

สามารถเล่า ชี้แจ้ง สภาวะ การปฏิบัติ ขั้นตอนต่างๆได้อย่างมีศิลปะ คือมีทั้งสาระและสุนทรียะ ปรับเปลี่ยนร้อยเรียงธรรมให้เข้าใจได้ง่ายอย่างวิจิตรพิสดารให้เหมาะกับผู้ฟังได้ โดยแสดงธรรมไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด โดยมีเหตุผล มีที่อ้างอิง และมีความเอ็นดูเข้าใจต่อผู้อื่น ไม่พูดให้เกิดการกระทบ กดดัน บีบคั้น ทำร้ายทำลายใจ ไม่กักขังหรือผลักไส ไม่ได้สอนเพื่อให้คนมาศรัทธา ไม่สอนเพื่อแลกมาซึ่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ บริวาร บารมีต่างๆ แต่สอนเพื่อให้คนลดกิเลส ให้คนพ้นทุกข์

ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น ไม่ได้อยากสอนและไม่ได้ไม่อยากสอน เพียงแต่มีเมตตาให้กับเพื่อนมนุษย์ผู้ยังมีทุกข์อยู่ จึงใช้ความรู้ที่มีสร้างประโยชน์ให้กับตนคือสร้างกุศลและประโยชน์ของผู้อื่น คือช่วยชี้นำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

สัตบุรุษนั้นไม่จำเป็นต้องมีพรรษาที่มาก ไม่จำเป็นต้องเป็นเพศนักบวช ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย มีชื่อเสียง มีคนนับหน้าถือตา มีคนยกย่อง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เพียงแค่มีโลกุตระธรรม คือธรรมที่พาสวนกระแส พาล้างกิเลส เป็นธรรมที่ไม่พาไปตามโลก ขัดกับโลก ขัดใจ แต่ไม่ขัดกับสัจจะ

3.คุณสมบัติของผู้รู้

คุณสมบัติหรือธรรมที่สัตบุรุษพึงมี (สัปปุริสธรรม ๗) ก็คือ ความเป็นผู้รู้ธรรม รู้ทั้งโลกียะธรรมและโลกุตระธรรม ,เป็นผู้รู้สาระประโยชน์ว่าทำสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ,เป็นผู้รู้ตน คือรู้ว่าตนเองมีศักยภาพเท่าไหร่ แค่ไหน อย่างไร, เป็นผู้รู้ประมาณ สามารถประมาณ คาดคะเน สิ่งต่างๆให้พอดี ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ,ผู้รู้เวลาอันควร รู้ว่าเวลาใดควรทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร, เป็นผู้รู้หมู่คน รู้ว่าคนหมู่นี้ต้องพูดอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ,เป็นผู้รู้บุคคล รู้ว่าบุคคลนั้นควรจะสอนอย่างไร ควรจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเกิดความเจริญ

4.การตามหาผู้รู้

การตามหาผู้รู้หรือสัตบุรุษนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตามหาเจอ ไม่ว่าจะเดินทางไปทั่วทั้งแผ่นดิน ทั่วฟ้า ใต้มหาสมุทรก็ไม่มีทางเจอ ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “กรรม

เรามักจะคิดกันไปว่าต้องหาอาจารย์ถูกจริต หาอาจารย์ที่ใช่ เราจะเลือกอาจารย์เอง หรืออาจารย์จะเลือกศิษย์เอง ความเข้าใจเหล่านี้ไม่เที่ยงทั้งนั้น เพราะบางทีก็เลือกได้ บางทีก็เลือกไม่ได้ บางทีที่เลือกมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ ไอ้ที่ไม่เลือกกลับกลายเป็นดี ไม่มีอะไรแน่นอน จะยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ นอกจากจะเชื่อใน “กรรม

กรรมจะเป็นผู้ที่เลือกให้เราได้พบกับใคร ได้พบกับอาจารย์ท่านไหน และอาจารย์ท่านไหนจะได้พบกับเรา เพราะการที่เราจะได้พบกับครูบาอาจารย์ท่านนั้น เป็นเพราะเราบำเพ็ญเพียร เรียนรู้ ศึกษาและปฏิบัติร่วมกันมาหลายภพหลายชาติแล้ว ดังนั้นแม้ว่าเราจะไปเจอครูบาอาจารย์ที่ใครเขาแนะนำว่าดีว่าเยี่ยมเพียงใด แต่ถ้าเราไม่เคยเกื้อกูลกันมา ก็มักไม่ถูกใจ ไม่เข้าใจ ถึงจะพยายามก็จะอยู่กันได้ไม่นาน หรือที่เรียกว่าไม่ตรงจริตนั่นเอง

ผู้ที่ไม่มีกรรมดีมาหนุนนำ แม้จะพบสัตบุรุษอยู่ตรงหน้า ได้พูดคุยสนทนากันนานหลายชั่วโมง ก็อาจจะไม่เข้าใจ ไม่รับรู้ ไม่ถูกใจก็ได้ เพราะวิบากบาปหรือบาปกรรมที่เขาเหล่านั้นได้กระทำไว้ ได้บังไม่ให้เขาได้เข้าถึงสิ่งที่ดี สิ่งที่มีประโยชน์คอยขัดขวางไม่ให้เขาเจอกับผู้รู้ธรรม ให้เขาได้ทนทุกข์นานเท่าที่กรรมจะยังมีผล

5.การจะได้พบผู้รู้

การได้เกิดมาพบพระพุทธเจ้านั้นยากเสียยิ่งกว่ายาก หากไม่เคยทำกุศลมามากพอ ก็จะไม่มีวันได้พบกับสัตบุรุษใดๆเลย ถึงแม้จะพบ ก็เหมือนไม่ได้พบ แม้จะใกล้ชิดก็เหมือนไม่ได้ใกล้ชิด

การที่เราจะได้พบผู้รู้นั้น จำเป็นต้องสร้างกุศลกรรม หรือการสะสมบุญบารมีที่มากพอเราจึงต้องทำดีไปเรื่อย ช่วยเหลือคนไปตามที่ทำได้ แบ่งปัน เสียสละ ทำทาน ถือศีล อดทนฝืนข่มสู้กับกิเลสเท่าที่จะทำได้ ในวันใดวันหนึ่งเมื่อเราทำกุศลไปเรื่อยๆ เมื่อสะสมบุญบารมีที่มากพอ กรรมจะจัดสรรให้เราได้เข้าถึงกุศลที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

เช่น เมื่อเราทำบุญทำทานไปเรื่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งก็บังเอิญไปทำทานให้กับพระอริยะ ซึ่งก็เป็นทานที่ทำให้เกิดอานิสงส์มากกว่าทำทานกับ สัตว์ คน หรือพระทั่วไป เมื่อได้ทำสิ่งที่เป็นกุศลมากขึ้น ก็จะผลักดันให้เราได้เจอกับผู้รู้ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกรรม เมื่อเราสะสมกรรมดีมากๆ กรรมดีก็จะผลักดันเราให้ทำกรรมดีที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากจากหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสจากความเศร้ามองซึ่งมีที่มาจากกิเลส

ใครที่ยังรู้สึกว่าตามหาผู้รู้หรือครูบาอาจารย์ ที่ตอบได้ทุกคำถามที่สงสัยไม่เจอ เป็นเพราะเรายังทำดีไม่มากพอ เหมือนเรายืนอยู่บนบันไดขั้นที่ 5 แล้วการจะได้พบผู้รู้นั้นต้องขึ้นบันไดไปขั้นที่ 100 การขึ้นบันไดต้องอาศัยพลังกุศลเป็นตัวผลักดัน เมื่อเราทำกุศลมากๆ วันหนึ่งเราก็จะได้พบเจอเอง

ในทางกลับกัน ถ้าเราอยู่บันไดขั้นที่ 5 แล้วมีผู้ไม่รู้ ผู้หลงผิดเข้าใจว่าตนเป็นครูบาอาจารย์ อยู่ในบันไดขั้นที่ 3 เมื่อเราเผลอทำอกุศลหรือสิ่งชั่ว ทำสิ่งไม่ดีมากๆ อกุศลก็อาจจะพลักดันให้เราไปเจอกับอาจารย์ที่เป็นผู้มัวเมา หลอกลวง หรือพระอลัชชี พระนอกรีต ก็เป็นได้

การจะตามหาผู้รู้นั้น เพียงแค่ทำกุศลให้ถึงรอบ เมื่อถึงเวลาที่ควรเมื่อไหร่ก็จะได้พบเอง การตั้งจิตโดยไม่ได้ทำกุศลนั้น ก็เหมือนเรายืนอยู่ที่บันไดขั้นที่ 5 แต่เฝ้าฝันว่าจะไปถึงบันไดขั้นที่ 100 โดยที่ไม่ก้าวขาออกไป ดังนั้นในชีวิตนี้คงจะไม่มีวันเจอ

เมื่อไม่เจอก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ เกิดมาตายไปเปล่าๆ หนึ่งชาติ แล้วก็ต้องเกิดมาหลงทางใหม่อีกหนึ่งชาติและเกิดต่อไปอีกหลายชาติ ถ้าจังหวะพอเหมาะวิบากบาปส่งผลก็อาจจะได้ไปเกิดในช่วงกลียุคที่ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐๐ ยามที่พุทธศาสนาสูญสิ้น มีแต่คนบาปเต็มโลก ไม่สามารถทำกุศลได้ มีแต่อกุศล ก็เป็นโอกาสที่คนชั่วจะได้สะสมบาป สะสมอกุศลเพื่อเก็บไว้ทรมานในนรกกันต่อไป

6. แล้วเป็นผู้รู้จริงรึเปล่า

เมื่อเราไปคบคุ้นคบหากับผู้ที่กล่าวอ้างว่าเป็นครูบาอาจารย์ อ้างว่าตนนั้นเป็นผู้รู้ อ้างว่ารู้ธรรมของพระพุทธเจ้า อ้างว่าเป็นอรหันต์ อ้างว่าเป็นผู้ไม่กลับมาเกิดอีก

พระพุทธเจ้าท่านไม่สอนให้เชื่ออะไรง่ายๆ ท่านได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า อย่าได้เชื่อถือตามที่ได้ยินมา ตามที่เขาเล่ามา ตามที่เป็นข่าวลือ ตามตำเรา ตามที่เดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง นึกคิดเอาเอง อย่าเชื่อเพราะท่านเหล่านั้นคิดตรงกับเรา หรือเพราะเขาดูน่าเชื่อถือ หรือแม้กระทั่งคนผู้นั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเราก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ ท่านให้พิจารณาเอาว่าสิ่งนั้นหรือธรรมที่กล่าวอ้างนั้นปฏิบัติแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ปฏิบัติให้เข้าถึงที่สุดแห่งกุศลนั้น แต่ถ้าเป็นอกุศลก็ให้ถอยห่างออกมา

ในสมัยพุทธกาลก็มีพระที่หลงผิดอยู่มาก หลงเข้าใจว่าตัวเองบรรลุอรหันต์ก็มี ทำให้อัครสาวกต้องคอยตามแก้มิจฉาทิฏฐิกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าในสมัยนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ความเสื่อมของพุทธนั้นได้มาถึงครึ่งทางแล้ว ความหลงผิด ความมัวเมาย่อมจะรุนแรงและขยายตัวมากกว่าในสมัยพุทธกาลอย่างแน่นอน

ถ้าอยากรู้ก็ลองปฏิบัติตามท่านที่เราศรัทธาดู ถ้าทำเต็มที่แล้ว ถามท่านก็แล้ว ยังคงสงสัย ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้วก็ยังรู้สึกว่า กิเลสไม่ลด ชีวิตยังเหมือนเดิม ปีที่แล้วชอบกินน้ำอัดลม ปีนี้ก็ยังชอบกินน้ำอัดลมเหมือนเดิม ก็ให้ลองถามท่านดูว่าจะกำจัดความอยากนี้ได้อย่างไร ถ้าเราคอยปรึกษาและทำตามท่านอย่างเต็มที่แล้ว ปฏิบัติไม่มาไม่ไป ไม่เจริญ ก็มีสองอย่าง 1.เรามีวิบากบาปที่จะกั้นไม่ให้เราบรรลุธรรม ให้ทำดีให้มากๆ 2. ท่านไม่ได้รู้จริง … ให้ลองแก้ที่ข้อ 1 ให้เต็มที่ก่อน คือปฏิบัติตามท่านแล้วทำดีให้มากๆ ก็จะรู้เองว่าสุดท้ายคำคอบคืออะไร

7.ไม่ต้องพบสัตบุรุษแล้วบรรลุธรรมได้ไหม?

เราทุกคนไม่ว่าจะเกิดมาอีกสักกี่ครั้งก็จะมีบาปบุญ ภูมิเก่า และกรรมสะสมมาด้วยเสมอ ถ้าหากท่านบำเพ็ญเพียรจนเป็นพระอรหันต์มีหลายภพหลายชาติแล้ว เก็บสะสมปัญญาบารมี สะสมโลกะวิทู คือการรู้โลกนี้(โลกียะ)และโลกหน้า(โลกุตระ)อย่างแจ่มแจ้ง มากพอที่จะทำให้จิตตั้งมั่นว่าจะบำเพ็ญเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่จำเป็นต้องพบสัตบุรุษในชาตินั้นๆ ดังจะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ได้เองโดยไม่มีใครสอนธรรมะแท้ของพุทธให้กับท่านเลยในชาตินั้น นั่นเกิดมาจากการที่ท่านสะสมบุญบารมีมานานนับ 4 อสงไขย กับแสนมหากัป

ในสมัยนี้ก็มีมาก ที่มีผู้มัวเมา ตีขลุม ตีกิน ทึกทักเอาเอง อวดอ้างเอาเอง ว่าตนนั้นบรรลุธรรมมีบุญบารมีมาก ก็ขอให้ท่านใช้ปัญญาพิจารณากันเอาเองว่าท่านเหล่านั้นมีลักษณะและคุณสมบัติของสัตบุรุษหรือไม่

– – – – – – – – – – – – – – –

25.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์