ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

September 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 23,527 views 0

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

ถาม: ผมสงสัยว่าคนที่ทำดีมาตลอดชีวิตแต่มาเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ คนกลุ่มนี้ไม่แม้แต่จะรู้ว่าตัวเองกำลังจะเสียชีวิต วิญญาณพวกเค้าจะไปสู่ภพภูมิที่ดีหรือไม่ เพราะเค้าไม่มีโอกาสคิดเรื่องดีๆที่เค้าทำมาทั้งชีวิต

ตอบ: การเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุนั้น ภาพที่เราเห็นอาจจะดูไม่ดีนัก แต่ในความเป็นจริงสิ่งนั้นอาจจะไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น คนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง ต้องทนทุกข์อยู่นานหลายปี อยากจะตายไปให้พ้นๆก็ไม่ตายสักที กับอีกคนเดินๆอยู่ก็มีรถพุ่งเข้ามาชนจากด้านหลัง ตายไม่รู้ตัว ถามว่าสองคนนี้ คนไหนทุกข์มากกว่ากัน? คนไหนที่เกิดอกุศลจิตมากกว่ากัน? คนไหนที่มีโอกาสทำบาปทางกาย วาจา ใจ มากกว่ากัน?

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ตายดีหรือตายร้าย แต่อยู่ที่ว่าทุกข์หรือไม่ทุกข์ต่างหาก เพราะไม่ว่าจะตายช้าตายเร็ว เราก็ต้องตายอยู่ดี จะตายดีตายร้ายเราเลือกไม่ได้ แต่ทุกข์หรือไม่ทุกข์นี่เราเลือกที่จะทำได้

ทำไมทำดีแล้วตายไม่ดี…

บางครั้งเราอาจจะสงสัย ว่าทำไมคนที่ทำดีต้องตายในสภาพที่ไม่ดี ทำไมตายไว ทำไมต้องพบทุกข์ทรมานมากแม้ว่าเขาจะทำดีมาทั้งชีวิต

เหตุของความเจ็บความตายเหล่านั้นไม่ได้มาจากการทำดีของเขา แต่มาจากกรรมชั่วที่เขาเคยทำมาเมื่อสมัยที่เขายังไม่ได้ทำดี อาจจะในชาตินี้หรือชาติก่อนก็ได้ เมื่อเขาทำดีเข้ามากๆ เขาก็อาจจะได้รับกรรมชั่วที่เขาได้ทำมาได้ไวขึ้น เพราะกรรมชั่วจะมาให้เราได้ชดใช้และเพื่อสะท้อนให้คนดีได้เข้าใจว่าตนเองนั้นเคยทำบาปกรรมอะไรลงไป จะได้เข็ดขยาดและเลิกทำบาปนั้นๆเขาใช้กรรมชั่วไปแล้วกรรมนั้นก็หมดไป เกิดใหม่ก็ได้ร่างที่ดีกว่าเดิม ภพภูมิที่ดีกว่าเดิม

ในกรณีคล้ายๆกัน คนชั่วเองก็อาจจะตายด้วยอุบัติเหตุก็ได้ นั่นก็เพราะกรรมชั่วมันมีมากพอที่จะส่งผล หรือไม่ก็อาจจะทำบาปมากเกินไป จนกระทั่งเกินกว่าพลังของบุญบารมีที่เขาเคยทำจะปกป้องเขาไว้แล้วก็ได้ แต่เราก็มักจะเห็นคนชั่วหลายคนยังมีชีวิตเสพสุขปลอดภัย นั่นก็เกิดจากความดีที่เขาทำมาเมื่อก่อนหรืออาจจะเป็นชาติก่อนภพก่อนก็ได้ เมื่อเขายังได้รับกุศลที่เขาทำมายังไม่หมด ก็ยังไม่ถึงเวลาที่เขาจะต้องตายแต่เมื่อกุศลที่เขาทำมานั้นหมดลงเมื่อไหร่ ชั่วที่เขาทำในชาติก่อนและชาตินี้ก็จะส่งผล ไม่ว่าเขาจะต้องเกิดอีกกี่ครั้ง ไม่ว่าจะเกิดในภพไหน เขาก็ต้องได้รับทุกข์จากชั่วที่เขาเคยทำมาจนกว่าจะหมด

ความตายนั้นไม่ใช่จุดสิ้นสุด เพียงแต่เป็นการดับเพื่อเกิดใหม่เท่านั้น เพื่อทิ้งร่างเก่าที่มีวิบากร้าย เช่น ป่วย มีโรคมาก หรือกระทั่งหมดบุญ หมดกุศลที่ทำมา ก็ต้องทิ้งร่างนั้นไป เช่น บางคนมีชีวิตที่ดี ครอบครัวดี สังคมดี แต่ก็ต้องมาจากไปด้วยอุบัติเหตุ นั่นเพราะเขาได้รับดีที่เขาทำมามากพอแล้ว ในขณะเดียวกันเขาเองก็ไม่ได้ทำดีใหม่ขึ้นมา ใช้ชีวิตโดยการกินบุญเก่า พอกรรมดีเก่าที่เคยทำมาหมดลง ความชั่วที่เคยทำมาก็ส่งผลนั่นเอง

จิตสุดท้าย ก่อนตาย…

เรามักจะเข้าใจว่า ควรให้ความสำคัญกับจิตสุดท้ายก่อนตาย แต่จริงๆแล้วเราควรจะให้ความสำคัญกับทุกขณะจิตที่เรายังมีลมหายใจอยู่

ยกตัวอย่างง่ายๆ เรามีโอกาสอยู่ในร่างนี้ได้ 100 วัน ตั้งแต่เกิดถึงวันที่ 99 เราหยุดชั่ว ไม่ทำชั่ว ทำดีมาตลอด แต่วันสุดท้าย คือวันที่ 100 เรากลับมีความคิดวิตก กลัว ยึดมั่นถือมั่น ฟุ้งซ่าน โวยวาย ทุกข์ใจ ถ้าจะถามว่ามันดีไหม ก็ต้องตอบว่าไม่ดี แต่กรรมไม่ได้มองแค่เรื่องจิตสุดท้าย แต่หมายถึงทุกๆการกระทำใน 100 วันนั้น หากแม้เราเผลอพลาดทำจิตให้หม่นหมองในวันสุดท้ายก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราทำดีมาตั้ง 99 วัน เราแค่ได้รับกรรมชั่ว 1 วัน แต่เราจะได้รับกรรมดี 99 วันเชียวนะ

ในกรณีคนที่ตายโดยไม่รู้ตัวในวันที่ 100 เมื่อเขาหยุดชั่ว ทำดี มาตลอด และก่อนตายก็ไม่ได้มีจิตวิตก มีทุกข์ มีความกังวลใดๆ เมื่อไม่มีทุกข์จากกิเลสก็ไม่เป็นบาป ก็ไม่ต้องกังวลเลยว่าเขาจะได้รับบาปนั้น ถึงจะตายในสภาพที่ดูไม่ดี แต่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ เช่น ไปเกิดใหม่ในร่าง สังคม สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น ไม่ไปเกิดในช่วงกลียุค แต่ข้ามไปเกิดยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปเลย

ดังนั้น การไม่ได้ทบทวนสิ่งที่ดีก่อนตายในคนที่ประสบอุบัติเหตุตายกะทันหัน ไม่ใช่สิ่งสำคัญเลยเมื่อเทียบกับกรรมที่ทำมาทั้งหมดในชีวิต และก่อนที่เขาจะตายนั้น เขาก็อาจจะมีจิตที่ตั้งไว้ดีแล้ว มีความสุข มีสติ มีสมาธิดีแล้ว นั่นคือเขากำลังอยู่ในปัจจุบันที่ดีที่สุดแล้ว

สู่สุคติ สู่ภพภูมิใหม่ที่จะไป..

ดังที่มีคำกล่าวไว้ว่า “ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” ใครจะไปที่ไหน ทำอะไรอย่างไร ก็เป็นไปตามกรรมที่เราได้ทำมา เช่นในชาตินี้ เราเห็นคุณค่าของการทำบุญทำกุศล เราก็มักจะเข้าวัด ทำทาน ฟังธรรม พบปะครูบาอาจารย์ของเราอยู่เป็นประจำ เพราะเรามีกรรมที่จะต้องเข้าใจคุณค่าของการทำบุญทำกุศลซึ่งเราได้ทำสะสมมาหลายชาติแล้ว ทำให้เราสามารถเข้าถึงคุณค่าของการทำบุญทำกุศลในชาตินี้ได้ง่าย นี่คือ เราเป็นไปตามกรรมที่เราเคยทำมา แม้ในขณะที่เรายังมีชีวิตเราก็ยังต้องดำเนินไปตามกรรมที่เราทำมา

เมื่อเราต้องเสียชีวิตนี้ ทิ้งร่างกายนี้ไป กรรมก็จะพาเราไปที่ที่เราเคยทำมา ใครทำอะไรมาก็จะไปอยู่ที่นั่น คนที่ทำบุญทำกุศลก็จะได้เกิดในที่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำบุญทำกุศล มีสังคมสิ่งแวดล้อม ที่ผลักดันให้เขาเข้าไปสู่การทำบุญทำกุศล เพราะนั่นคือกรรมของเขา

ส่วนคนที่มัวเมาในอบายมุข ทำบาป โลภ เบียดเบียนคนอื่น เขาก็ต้องไปเกิดในที่ที่จะเอื้อให้เขาได้รับกรรมที่เขาทำมา ยกตัวอย่างเช่น คนที่กินเหล้า ติดยาเสพติด เมามายอยู่ในสิ่งลวงต่างๆ เขาก็ต้องได้รับกรรมที่เขาทำมาคือมีสังคม คนรอบข้างที่กินเหล้า ติดยาเสพติด เมามายในอบายมุข เพื่อให้เขาได้รับทุกข์จากกรรมนั้นๆที่เขาทำมา วนเวียนอยู่ในกองทุกข์ กองกิเลส จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งที่เขาทุกข์เกินทน ดังคำตรัสที่ว่า “ เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม ” เขาจะเข้าใจถึงทุกข์โทษภัยของการทำบาปและอกุศลกรรม จึงเริ่มพยายามที่จะสร้างกรรมดีขึ้นมาใหม่ พยายามจะพาตัวเองหลุดจากกรรมชั่วเหล่านั้น

เกิดและตาย วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร…

เมื่อทำกรรมดีไปมากๆ ก็จะสะสมความดี กลายเป็นคนดีมากขึ้นเรื่อยๆในทุกชาติที่เกิดใหม่ เมื่อเป็นคนดีที่เต็มไปด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็จะมีกิเลสพอกพูนหนาขึ้นเรื่อยๆ อยากได้โลกธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเบียดเบียน เริ่มแย่งชิงอำนาจ เริ่มสะสม จนเริ่มทำชั่วอีกครั้ง เพาะเชื้อชั่วอีกครั้ง จนความชั่วกลายเป็นกรรมที่ฝังแน่น จนกระทั่งชั่วสุดชั่ว ทีนี้วิบากกรรมก็จะดลบัลดาลเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ทุกข์ทรมานแสนสาหัส จนทนทุกข์ไม่ไหว พอเห็นทุกข์ก็เห็นธรรม กลับมาเป็นคนดีอีกครั้ง พอเป็นคนดี มีทรัพย์มีอำนาจแต่ล้างกิเลสไม่เป็น วันหนึ่งก็จะวนกลับไปชั่วอีกครั้ง พอชั่วมากก็เวียนกลับมาเป็นคนดี วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอยู่แบบนี้ไม่มีวันจบสิ้น

จนกระทั่งวันหนึ่งมีพระพุทธเจ้ามาบังเกิด คนผู้มีบุญบารมีเหล่านั้นจึงได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของท่าน พากเพียรจนกระทั่งบรรลุธรรม รู้แจ้งเหตุปัจจัยของทุกสิ่ง นำมาซึ่งการไม่ต้องวนเวียนว่ายตายเกิดเหมือนคนทั่วไป เป็นผู้มีอิสระ เป็นผู้ไกลจากกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

12.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

หิริ โอตตัปปะ : กรณีศึกษาขนมจีนน้ำยา

September 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,500 views 1

หิริ โอตตัปปะ : กรณีศึกษาขนมจีนน้ำยา

หิริ โอตตัปปะ : กรณีศึกษาขนมจีนน้ำยา

ในบทความนี้ เราจะมากล่าวถึงหิริโอตตัปปะ คือความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ในมุมมังสวิรัติกันว่าจะเป็นอย่างไร…

เป็นเหตุการณ์เมื่อประมาณกลางปี ๒๕๕๖ ในงานรวมญาติครั้งหนึ่ง เมื่อเราตั้งใจที่จะกินมังสวิรัติแล้ว เราก็จะพยายามบังคับให้กาย วาจา ใจ ของเรานั้นเป็นไปในทางที่เราตั้งไว้ ด้วยกำลังสติและความตั้งมั่นเท่าที่เราพอมี ในขณะนั้น

ในตอนนั้นก็ถือว่าตัวเองนั้นลดความอยากได้ดีพอประมาณแล้ว สามารถกินผักกลางวงเนื้อสัตว์ ที่มีเนื้อย่าง มีปูนึ่ง มีกุ้งเผา มีปลาย่าง ได้สบายๆโดยไม่เกิดความอยากจนกลับไปกินเนื้อสัตว์แล้ว ตรงนี้เราประมาณไว้ดีแล้วว่าเราไหว ถ้าเป็นช่วงแรกๆ เราอาจจะไม่ไหวก็แยกกันกินให้อิ่มไปก่อน หรืออยู่ห่างเข้าไว้ เพราะเห็นเข้านานๆ ได้กลิ่นที่ลอยมา ก็อาจจะหลงกลับไปกินได้

ทีนี้เราก็เดินไปตักขนมจีนที่ญาติทำมา เป็นขนมจีนน้ำยาทั่วไป เราก็เห็นว่ามีลูกชิ้น แต่เราไม่ตักเอาลูกชิ้นนะ เราเอาแต่น้ำยา พอตักขึ้นมาใส่จานราดลงบนเส้นขนมจีน น้าก็ทักว่า “กินได้หรอ มันมีปลา” !! เราก็หยุดในทันที ยืนนิ่งๆถือจานขนมจีนที่ราดน้ำยามาแล้ว ตอนนั้นตอบน้าไปในความหมายประมาณว่า “ กินไปก่อน ไม่ได้เคร่งขนาดนั้น” แต่จริงๆ คือตอนตักก็ไม่ได้นึกถึงเนื้อปลาในน้ำยานั้นเลย อาจจะเพราะมันไม่เหลือรูปของปลาแล้วก็ได้ อีกอย่างเราก็ไม่ใช่คนทำอาหารก็เลยไม่รู้ สรุปคือไม่รู้จริงๆไม่ได้นึกจริงๆว่ามีเนื้อปลา

หิริ คือความละอายต่อบาป ในตอนที่ถูกน้าทัก ก็เกิดความละอายต่อบาป รู้สึกไม่ดี แต่ก็ตักมาแล้ว จะเอาไปคืนก็ยังไงอยู่ สุดท้ายก็เลยกินไป แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอร่อยอะไร เพราะยังมีความรู้สึกผิดอยู่ในใจ ว่าไม่น่าเลย ไม่น่าเลยเรา พลาดไปแล้ว

โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป ในตอนนั้นผมไม่ได้มีสภาวะของโอตตัปปะ ถ้าเป็นคนที่มีภาวะถึงขั้นโอตตัปปะก็จะหาวิธีที่จะไม่กินขนมจีนจานนั้นได้ แต่โอตตัปปะของผมเกิดหลังจากนั้น ขนมจีนน้ำยาจานนั้นเป็นจานสุดท้ายนับตั้งแต่วันนั้น และขนมจีนน้ำยาทุกจานต่อจากนี้ ถ้าผมรู้สึกยังไม่แน่ใจ มีความลังเลสงสัยว่าขนมจีนน้ำยาที่อยู่ตรงหน้านั้นทำจากเนื้อสัตว์หรือไม่ ผมก็จะไม่กินขนมจีนน้ำยาจานนั้นอย่างแน่นอน

หลังจากทีได้ทำพลาดไป คือพลาดไปกินน้ำยาที่มีเนื้อปลาเป็นส่วนประกอบโดยไม่รู้ ก็ไม่ได้รู้สึกดี หรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น แต่กลับทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้นว่าอาหารนี้มีปลา ทำให้เราได้คิดว่าครั้งหน้าเราจะปฏิเสธอย่างไร ปัญญานั้นจะเกิดตรงนี้ เกิดเพราะเราเรียนรู้ที่จะไม่ตามใจกิเลส หาทางออกที่ดีกว่าที่เราจะไปเสริมกิเลส

จะเห็นได้ว่าความเจริญหรือปัญญานั้น เกิดจากการที่เราตั้งศีล มีศีล คือตั้งใจไว้ว่าจะละเว้นอาหารที่มีเนื้อสัตว์ ประกอบด้วยสัตว์ ลดเนื้อกินผัก ก็นี่เป็นศีล เป็นตบะที่ผมตั้งไว้ ประกอบด้วยสติและสมาธิที่จะพยายามคงสภาพของการสำรวม ตา หู ลิ้น จมูก ปาก กาย ใจ เอาไว้ ไม่ให้กลับเข้าไปเสพเนื้อสัตว์อีก เมื่อเราตั้งมั่นในศีลและสมาธิอย่างมีปัญญารู้ว่าการตั้งมั่นในศีลนั้นจะมีคุณค่าและประโยชน์อย่างไร เมื่อถึงวันหนึ่งปัญญาที่เคยเป็นมรรค(การตั้งข้อสังเกต ข้อปฏิบัติ) จะเจริญเป็นปัญญาที่เป็นผล( ข้อสรุป ความเจริญที่ได้)

คือได้ผลในเรื่องนั้นๆ เกิดปัญญาในขนมจีนน้ำยา จบกิเลสเรื่องขนมจีนน้ำยาเพราะรู้แจ้งชัดแล้วว่ามีเนื้อปลาเป็นส่วนประกอบหลักในน้ำยา ก็ถือว่าได้ปัญญามาอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนรสอร่อยในขนมจีนน้ำยา หรือความชอบในขนมจีนนั้นเป็นกิเลสอีกตัวหนึ่งซึ่งคล้ายๆกัน ก็ต้องไปตั้งศีล ตั้งตบะ จับกิเลสมาฆ่าล้างกันอีกที

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือเมื่อเราได้ประกาศศีล ตบะ หรือความตั้งใจที่จะเลิกเนื้อสัตว์ไปแล้ว ผู้หวังดีรอบข้างก็จะช่วยแนะ ทัก ตรวจสอบเรา ว่าเรายังปฏิบัติดีดังที่หมายมั่นอยู่หรือไม่ ผู้หวังดีหรือกัลยาณมิตรเหล่านี้เอง คือผู้ที่คอยชี้ขุมทรัพย์ ชี้จุดบกพร่องในตัวเราให้เราเห็น ดังนั้นการปฏิบัติไปสู่การลด ละ เลิกการกินเนื้อสัตว์ ควรจะมีมิตรดีสหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี ช่วยกันแนะ ติ ชม เพื่อไปสู่ความเจริญ

– – – – – – – – – – – – – – –

11.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

แด่วันสุดท้ายของเธอ…

September 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,077 views 0

แด่วันสุดท้ายของเธอ…

แด่วันสุดท้ายของเธอ…

ในชีวิตหนึ่งที่เกิดขึ้นมา เราคงมีโอกาสตายกันได้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่การพลัดพรากจากกันนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่วันใดก็วันหนึ่งที่เราจะต้องพรากไปจากหลายสิ่งหลายอย่างที่เรารักและหวงแหน ไม่ว่าจะเป็น วัตถุสิ่งของ คนรอบข้าง ชื่อเสียงเกียรติยศ กระทั่งความรู้สึกนึกคิดบางอย่างได้เสื่อมสลายและตายจากเราไปทีละน้อยทีละน้อย

คงจะมีหลายครั้งที่เราได้มีโอกาสเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ที่กำลังจะจากไป ผู้ที่กำลังจะทิ้งร่างกายนี้ไป ผู้ที่กำลังจะตายไป… แต่โอกาสเหล่านั้นมักมีอยู่ในช่วงสั้นๆ เป็นช่วงเวลาที่เราเองก็มักจะก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ไม่รู้จะพูดอย่างไร และไม่รู้ว่าจะคิดอะไรจึงจะดี… ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับการวางขันธ์ หรือการส่งผู้ที่กำลังจะจากไปนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรเรียนรู้ไว้ เพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้ที่กำลังจะจากไป

คิด พูด ทำ อย่างไรดี…

แต่ถ้าหากเราไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร ก็ขอให้นึกไว้ว่า พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ทำบรรยากาศให้ดีที่สุด คือการคิด พูด ทำ ให้ตนเองและผู้ป่วยเกิดความรู้สึกที่ดี

ผู้ดูแลควรจะมีทักษะในการพูดให้เป็นกุศล พูดให้เกิดความรู้สึกดี รู้จักประคองความรู้สึกของผู้อื่น ช่างสังเกตและแววไวในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ซึ่งอาจจะใช้วิธีใดก็ได้ตามเหตุและปัจจัย แต่ก็มีเป้าหมายเดียวคือทำให้จิตใจของทุกคนเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นความรู้สึกดีๆ ก่อนจะจากกันไป และแม้ว่าจะไม่เกิดดีตามที่ได้คาดหวังไว้ ก็สามารถปล่อยวางความยึดดีเหล่านั้นได้

การพาผู้ที่กำลังจะจากไป ย้อนกลับไปสู่อดีต คือพากลับไปสู่ความทรงจำดีๆ เรื่องราวดีๆ ที่เคยมีร่วมกัน โดยให้ระลึกไปถึงความคุ้มค่าที่ได้เกิดมาไม่ใช่รำพึงรำพัน บุญกุศลต่างๆที่เคยทำมา การขอโทษและให้อภัยในความผิดพลาดของกันและกัน เพื่อลดการผูกมัดกับสิ่งที่ฝังใจในอดีต

การพาผู้ที่กำลังจากไป เดินทางไปสู่อนาคต อ้างอิงจากอดีตคือบุญกุศลที่เคยทำมา เมื่อทำกรรมดีมา ยังไงกรรมก็ต้องพาไปพบเจอสิ่งที่ดี ทางข้างหน้าไม่ได้เลวร้าย เพียงแค่ทิ้งร่างกายที่เก่าและทรุดโทรมไปเอาร่างใหม่เท่านั้น เพียงแค่หลับไปตื่นขึ้นมาก็เป็นอีกโลกหนึ่ง อีกภพหนึ่ง อีกตอนหนึ่งของเราแล้ว เหมือนดั่งในจุดเริ่มต้นตอนเราเกิดมาชาตินี้ ก็เป็นเพียงไปเล่นละครในบทใหม่เท่านั้น โดยพูดไปในทางบวกให้คลายกังวล เพราะความกลัวมักจะเกิดจากความไม่รู้ แต่ถ้ารู้เรื่องกรรมและผลของกรรม จะโลกนี้หรือโลกหน้าก็ไม่มีอะไรน่ากลัวอีกต่อไป

การพาผู้ที่กำลังจากไป อยู่กับปัจจุปัน หลังจากดับความกังวลในอดีตและอนาคตได้พอสมควรแล้ว ก็กลับมาอยู่กับปัจจุบันซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่จะสร้างกุศลได้อย่างแท้จริง แม้ผู้ที่กำลังจะจากไปจะคิดเรื่องดีๆที่ตัวเองทำไม่ออก แต่ถ้าสามารถพาให้เขาได้คิดดี พูดดี ทำดี ในช่วงเวลานี้ ก็จะสามารถสร้างทั้งอดีตที่ดีและอนาคตที่ดีในเวลาเดียวกัน

เมื่อเราคลายทุกข์ในจิตใจที่เกิดขึ้นในอดีต อนาคต และปัจจุบันได้แล้ว ก็ให้ประคองจิตอันเป็นกุศลเหล่านั้นไปเรื่อยๆ โดยใช้ความอดทนเสียสละ เข้าใจและเห็นใจ ตั้งสติของตัวเองให้มาก โดยไม่ให้เหตุแห่งความเสียใจของตนนั้นไปสร้างจิตอกุศลให้เกิดขึ้น เช่น ถ้าเราเผลอร้องไห้เสียใจฟูมฟาย ก็อาจจะสร้างทุกข์ใจให้กับผู้ที่กำลังจะจากไปเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นการประคองสภาพจิตที่เป็นกุศลจนถึงวินาทีสุดท้าย จำเป็นต้องใช้ความตั้งมั่นอย่างมาก

เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่น ก่อนหน้านี้เราพูดไปแล้วเขาก็ดีขึ้น แต่พอผ่านไปสักพักเขาก็คิดกังวลอีกครั้ง เราก็ต้องประคองให้เขาคิดเป็นกุศลอีกครั้ง โดยไม่คิดโกรธ รำคาญ ย่อท้อ หดหู่ เพราะภาวะของคนใกล้ตายนั้นจะมีความรุนแรง สับสน ซับซ้อน แปรผันตามกิเลสและวิบากบาปที่เขาเหล่านั้นสะสมมา

ทุกข์จากใจ…

ความกลัว ความกังวลของผู้ที่กำลังจากไปนั้นมาจากกิเลสที่ยึดมั่นถือมั่นฝังลึกอยู่ข้างในจิตใจ แม้ว่าจะเคยแสดงบทเป็นคนเข้มแข็งมาทั้งชีวิต แต่ในช่วงสุดท้ายก็อาจจะแสดงความอ่อนแอทั้งหมดที่เก็บไว้ออกมาก็เป็นได้ การจะพาให้ผู้ที่กำลังจากไปนั้นล้างกิเลสเหล่านั้นคงจะทำได้ยาก เพราะเวลาคงมีไม่มากพอและเราเองก็คงจะไม่รู้วิธีล้างกิเลสเหล่านั้น ดังนั้นจะไปคิด หรือไปบอกให้เขาว่า อย่ากังวล อย่ากลัว อย่ายึดมั่นถือมั่น ก็คงจะเป็นไปได้บ้างสำหรับบางคน ที่คงไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถปรับใจให้ปล่อยวางได้ ดังนั้นแม้สุดท้ายเราจะพยายามเต็มที่แล้ว แต่เขาก็ยังต้องทนทุกข์เพราะใจของเขาเอง เราก็คงต้องปล่อยวางด้วย

แม้แต่ความกังวลของเราเองนั้น ก็ควรจะต้องตัดไปให้ได้ก่อน เพราะการที่เรายังคิดมาก กังวล เครียด กลัว นั้นจะสร้างบรรยากาศที่ขุ่นมัว แม้จะสามารถแสดงออกว่าสดชื่นแต่คนอื่นก็ยังจะสามารถรู้สึกถึงความทุกข์ข้างในได้ การทำใจของตัวเองให้ยอมรับการจากไปของเขาหรือเธอนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามทำให้ได้เสียก่อน ยอมรับว่าทุกคนก็ต้องเจ็บป่วย ทุกคนก็ต้องตาย และเราเองก็ต้องจากและพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ไม่มีสิ่งใดที่จะตั้งอยู่อย่างคงทนถาวรเลย

หน้าที่ของเรานั้นคือทำใจให้เป็นหลักให้เขายึดเกาะ ก่อนที่เราจะส่งให้เขาไปยึดอาศัยในสิ่งที่เป็นกุศลมากกว่าเรา ดังนั้นถ้าคนที่คอยประคองอย่างเรา มีจิตใจหวั่นไหวดังไม้ปักเลน ทั้งเขาและเราก็คงจะร่วงหล่นสู่อกุศลจิตได้ง่าย ดังนั้นการทำตนให้หนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหว จะช่วยพาเขาไปสู่สิ่งกุศลอื่นๆที่เราจะนำพาไปได้อย่างราบรื่น

จากโดยไม่ได้ลา…

ในหลายๆครั้ง เรามักจะต้องพบกับการจากโดยที่ไม่มีโอกาสลา อาจจะเป็นคนที่ไม่ได้พูดคุยพบเจอกันมานานแล้ว หรืออาจจะเป็นที่คนที่พึ่งบอกลาแยกย้ายกันไปได้ไม่นานนี้เอง เมื่อไม่ได้ลาก็ไม่เป็นไร… แต่ก็ให้ความรัก หลง โกรธ ชัง นั้นตายตามไปกับเขาด้วย ไม่ต้องเก็บเอาไว้กับเรา เมื่อเขาจากไปแล้วก็จะไม่มี “เรื่องระหว่างเราสองคน” อีกต่อไปดังนั้นความรู้สึกผูกพัน ยึดมั่นถือมั่น ยึดว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะไปในทางดีหรือร้ายนั้น ก็ขอให้ปล่อยลอยหายไปพร้อมกับชีวิตที่หายไปด้วย เหลือทิ้งไว้แต่เรื่องราว ประสบการณ์ เท่านั้น เราจะไม่ลืมเขา และเราจะไม่เสียใจ เพราะเรารู้ดีว่า…จากกันไม่ตลอดไป

อย่ากังวลไปเลย แล้วเราจะพบกันใหม่…ไม่มีสิ่งใดจากไปอย่างถาวร และไม่มีสิ่งใดอยู่กับเราตลอดไป เราต้องเจอกับการพบพรากจากลาอยู่อย่างนี้เสมอ เป็นแบบนี้ตลอดมาไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ ตราบใดที่เรายังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้ เราก็ต้องวนกลับมาพบกันอยู่เรื่อยๆ กลับมาร่วมบุญกุศลกัน กลับมาร่วมใช้กรรมต่อกันและกัน เหมือนอย่างที่เราเป็นในชาตินี้นี่เอง

– – – – – – – – – – – – – – –

10.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

สรณะ..เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง

September 8, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,763 views 0

สรณะ..เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง

สรณะ…เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง

ในสังคมที่สับสนวุ่นวายทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีความสะดวกสบาย มากมายไปด้วยสิ่งบำรุงบำเรอกิเลส แต่มันก็ไม่เคยจะทำให้ใครมีความสุขได้อย่างยั่งยืน เพราะการสนองกิเลสนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้อย่างยั่งยืน แต่คนก็มักจะหลงมัวเมาไปพึ่ง ไปยึดว่าการสนองกิเลสนั้นดี ต้องใช้ชีวิตให้เต็มที่ สนองกิเลสให้เต็มที่ เพราะหลงผิดคิดไปว่าเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้ได้เสพสุขมากที่สุด

ความสุขจากกิเลสนั้นเหมือนความสุขลวงๆ เหมือนฟองคลื่น เหมือนพยับแดด สุขอยู่ได้ไม่นานแล้วก็หายไป แต่ทิ้งทุกข์ไว้ให้นานแสนนาน เหมือนกับนายทาสที่เอาของกินมาล่อมาเลี้ยงไว้ แล้วถึงเวลาใช้งานก็เอาแส้ฟาดให้เราลากของ ให้เราทำงาน ให้เราพาไปยังที่ที่เขาหมายเพียงเพื่อที่จะได้เสพเศษแห่งความสุขเพียงน้อยนิด

แต่โลกในยุคนี้ก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น ยังมีมหาบุรุษที่รู้ทุกอย่างในมหาจักรวาลที่บังเกิดขึ้นเมื่อกว่า ๒๖๐๐ ปีก่อนและส่งต่อคำสั่งสอนมาให้ ผ่านอริยสาวกของท่านจากรุ่นสู่รุ่น

แม้สังคมและชีวิตทุกวันนี้จะมีแต่ความทุกข์จากความสับสนวุ่นวาย แต่ถ้าเรายึดพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ยึดพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ยึดพระสงฆ์ อริยสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ชีวิตก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ เป็นไปในแนวทางที่ถูกที่ควร เป็นไปในทางลดการสะสมกิเลส เพื่อความสุขอย่างยั่งยืน

ชาวพุทธที่จะมีปลายทางสู่การพ้นทุกข์ จะยึดพระรัตนไตร คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีสามสิ่งนี้เป็นที่พึ่งเท่านั้น ที่พึ่งอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่มี

การไปพึ่งพาสิ่งอื่นนั้นนอกจากจะไม่เกิดความสุขแล้วยังจะสร้างความทุกข์ความฉิบหายได้อีก บางคนมีวิบากกรรมที่ต้องไปเชื่อ ไปหลง ไปงมงาย ไปมัวเมา ในเดรัจฉานวิชา เช่น การทายใจ ทำนายฝัน ปลุกเสก หมอผี ดูดวง ดูฤกษ์ ดูโหงวเฮ้ง หมอดูต่างๆ การบนบาน ทำพิธีบวงสรวง รดน้ำมนต์ พยากรณ์ทำนายทายทักต่างๆ และอื่นๆอีกมากมาย ( สามารถหาข้อมูลเพิ่มได้จากการศึกษามหาศีล ซึ่งเป็นศีลแบบกว้าง ครอบคลุมการเลี้ยงชีพ ไปจนถึงประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิต ที่เป็นไปในเชิงสังคม)

เดรัจฉานนั้นคือความโง่ เดรัจฉานวิชาก็คือวิชาที่คนโง่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้หลอกคนโง่กว่าอีกที ก็หลงโง่กันไปทั้งคนใช้คนเสพ…

คนที่ไปพึ่งพาสิ่งที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้น จะไม่มีทางพ้นทุกข์ เพราะยังหลงอยู่กับสิ่งมัวเมาในระดับหยาบ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่ทางสู่ความเจริญ ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ยิ่งไปพึ่งพาก็ยิ่งจะพาให้ทุกข์ แต่ผู้มีวิบากบาปก็จะมองไม่เห็น ไม่เข้าใจ และหลงมัวเมาอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ชาวพุทธผู้มีปัญญา พึงระลึกว่ามีเพียงพระรัตนไตรเท่านั้นเป็นที่พึ่ง แม้แต่เทพเจ้า ตำนาน หรือคำกล่าวอ้างใดๆ ก็ไม่ใช่ที่พึ่งทางใจของเรา

ผู้ที่ยังบูชา เทวดา เทพเจ้า หรือเทพต่างๆ อยู่นั้น คงยากที่จะพ้นทุกข์ ยกเว้นเสียแต่เทพเจ้าที่บูชาเคารพและยึดเป็นที่พึ่งนั้นจะเป็นอริยสาวกคือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ถ้าไม่จัดอยู่ในหมวดของพระรัตนไตร บูชาไป พึ่งพาไปก็มีแต่จะหลงทาง แต่ถึงจะบูชาถูกตรงแต่บูชาเพียงรูปคือขอแค่กราบไหว้ ขอแค่ได้เคารพ ขอแค่ได้ร่วมบุญ ขอแค่มีที่ระลึกติดไว้ที่บ้าน นั้นก็เป็นเพียงความเข้าใจที่ยังตื้นเขินนักไม่ทำให้พ้นทุกข์อีกเหมือนกันเพราะไม่ได้นำมาปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าในยุคของเรานี้มีพระโคดมพระองค์เดียว และท่านก็ได้ตรัสไว้ว่า ทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี ประกอบกับธรรมในข้อ วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย ผู้ที่ยังไม่มั่นใจก็จะลังเลสงสัย จะเหมารวมว่าศาสนาอื่นๆก็ปฏิบัติได้เหมือนกัน เข้าใจว่าทำให้พ้นทุกข์ได้เหมือนกัน เข้าใจว่าทางพ้นทุกข์มีหลายทาง… แต่ในความเป็นจริงคือ การพ้นทุกข์ในระดับการดับกิเลสนั้น มีในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น ลัทธิอื่นนอกศาสนาพุทธไม่มี

ทีนี้เราก็มักจะเข้าใจตามที่คนอื่นว่า ท่านนี้ท่านนั้นเป็นอรหันต์บ้างละ ตำนานเขาว่ากันอย่างนั้นบ้างละ มีหลักฐานว่าอย่างนั้นบ้างละ แต่จริงๆคือเราเชื่อตามเขาเท่านั้น เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณสมบัติของพระอริยะมีอะไรบ้าง ถึงจะรู้ก็ดูไม่ออกอยู่ดี แต่ก็มีที่เขาว่าหลงเข้าใจผิดว่าตนเองบรรลุธรรมก็มีมากเหมือนกัน เอาเป็นว่าถ้าเราไปเชื่อตามเขากล่าวอ้างกันมานั้นก็คงจะไม่ดีแน่ เรื่องนี้เรายกไว้ก่อนจะดีกว่ารอดูไปก่อนจะดีกว่า อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขากล่าวอ้าง อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขาเป็นครูบาอาจารย์ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคนเขาพูดกันมา สังคมเขาเชื่อกันมา ให้ลองดูก่อน ลองนำแนวทางคำสั่งสอนมาปฏิบัติดู ถ้าชีวิตไม่ดีขึ้น ทุกข์หนักขึ้นก็ให้ถอยออกมา แต่ถ้านำคำสั่งสอนมาปฏิบัติแล้วชีวิตดีขึ้น ตัวเราและคนรอบข้างเป็นสุขมากขึ้น ความยึดมั่นถือมั่นน้อยลง ความอยากได้อยากมีน้อยลง ก็ให้ปฏิบัติตามต่อไปเรื่อยๆ

การยึดพระรัตนไตรเป็นสรณะ…

ในอีกแง่มุมหนึ่งของการยึดพระรัตนไตรเป็นที่พึ่งพา ที่อาศัย คือการทำตัวเองให้ความเป็นในสิ่งนั้นๆ คือการเรียนรู้ธรรม (ปริยัติ) การปฏิบัติธรรม(ปฏิบัติ) จนกระทั่งเกิดภาวะที่สามารถเข้าใจถึงธรรมนั้นๆได้อย่างถ่องแท้ (ปฏิเวธ) เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดังนั้นสุดท้ายการพึ่งพระรัตนไตรก็ต้องน้อมเข้ามาสู่ตัวเอง

เราจะไม่รอให้ใครหรืออะไรมาดลบันดาลความสุขให้ เราไม่รอให้วิบากกรรมส่งผลให้เราทุกข์เกินทนจนเลิกทำชั่ว แต่เราจะพาตัวเองให้พ้นทุกข์เอง โดยการศึกษาพระธรรม ควบคู่ไปกับการปฏิบัติ คือการลด ละ เลิก การยึดมั่นถือมั่นกิเลสเป็นของตน จนกว่าจะถึงสภาพของการหลุดพ้นจากกิเลส เบื่อหน่ายคลายจากกิเลส มีปัญญารู้แจ้งถึงกิเลสนั้นๆ รู้ไปจนถึงว่ากิเลสนั้นดับสนิทแล้ว

เมื่อยึดพระรัตนไตรมาสู่ตนเองอย่างแท้จริงแล้ว ก็เหมือนว่าเส้นทางชีวิตของเราจะถูกขีดไว้ให้เดินไปแต่ในทางเจริญทางด้านจิตใจ แม้ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างคนปกติทั่วไป ทำงานออฟฟิศ มีธุรกิจส่วนตัว ไม่ว่าจะมีวิถีชีวิตแบบใด ถ้ามีการนำพระรัตนไตรเป็นที่พึ่งเป็นที่ยึดอาศัยแล้ว เราก็จะมีโอกาสเข้าถึงความสุขแท้กันได้ทุกคน

– – – – – – – – – – – – – – –

8.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์