ข้อคิด

สมรสคือภาระ

May 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,215 views 0

สมรสคือภาระ

สมรสคือภาระ

แต่เดิมแล้วคนเรานั้นมีอิสระที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้อย่างมากมาย ซึ่งต่อมาอิสระเหล่านั้นก็จะถูกทำลายไปด้วยพลังแห่งราคะ เป็นสิ่งที่เข้ามาสร้างสุขลวงและทิ้งภาระให้ชีวิตและจิตวิญญาณได้ใช้หนี้กรรมไปอีกนานแสนนาน

เมื่อเราอยู่เป็นคนโสด เราสามารถใช้เวลาและโอกาสเหล่านั้นในการเรียนรู้ชีวิต ค้นหาความหมายในการเกิดมาในครั้งนี้ ว่าเราเกิดมาทำไม เพื่ออะไร เรียนรู้และค้นหาไปจนกระทั่งสามารถเข้าถึงความรู้ที่เป็นที่สุดของโลก คือได้เรียนรู้ทุกข์ เรียนรู้เหตุแห่งทุกข์ เรียนรู้ความดับทุกข์ และเรียนรู้วิธีปฏิบัติสู่การดับทุกข์ทั้งปวง

ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ที่ทุกคนควรจะเรียนรู้ให้กระจ่างให้เร็วที่สุด เพราะในโลกนี้แท้จริงแล้วก็ไม่มีใครอยากทุกข์ ไม่มีใครชอบทุกข์ รักสุขเกลียดทุกข์ แต่น้อยคนนักที่จะได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับความจริงที่พาพ้นทุกข์นี้

นั่นเพราะพลังของกิเลส คือราคะหรือความใคร่อยากเสพจะเป็นตัวสกัดกั้นความเจริญในธรรมและพาให้เราไปหาภาระ หรือสิ่งที่เบนความสนใจของเราให้ห่างออกไปจากทางพ้นทุกข์ ให้ไปเสพสุขลวง ให้หลงมัวเมาอยู่ในโลก

ในขั้นเริ่มต้น ก็จะเริ่มแสวงหาคนรัก คนที่จะมาบำเรอกิเลสตนได้ คนที่ถูกใจ คนที่วาดฝันไว้ แม้มีเพียงความอยากระดับนี้ ก็มีพลังมากพอจะทำให้เรา เลิกเรียนรู้ความหมายของชีวิต หันมาหาวิธีสนองตัณหาตนเองแทน แต่ในขั้นนี้ก็สามารถหลุดออกมาได้เร็ว เพราะการผิดหวังในขั้นนี้ก็ถือว่าเป็นบทเรียนที่ไม่ทุกข์นัก จึงสามารถถอนตัวกลับมาเรียนรู้ชีวิตได้

ในขั้นปานกลางพอกิเลสมากเข้า และวิบากกรรมส่งผลก็จะได้คนโชคร้ายหนึ่งคนมาคบหา ภาษาธรรมะเรียกว่า “ตัวเวรตัวกรรม” ภาษาทั่วไปเรียกกันว่า “แฟน” เขาเหล่านั้นจะคอยสนองกิเลสเรา ยั่วกิเลสเรา ทั้งกิน ทั้งโกรธ ทั้งกาม ผสมปนเปกันไปจนไม่ต้องพูดถึงธรรมะ เวลาคนมันเสพสุขจากกิเลสนี่ก็มัวเมาจนมืดบอดไปหมด ระยะนี้ถือว่าสร้างภาระให้กับตัวเองในระดับหนึ่งแล้ว เพราะการรับเข้ามาเป็นแฟน มันก็ใช่ว่าเลิกกันได้ง่ายๆ แทนที่จะได้เอาเวลาในชีวิตไปเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็มาเมากันอยู่แค่ตรงนี้

ในขั้นหนัก พอกิเลสสุกงอมกันทั้งคู่ ก็จะแต่งงานกัน การแต่งงานเป็นการผูกภาระที่สมบูรณ์ คนเรามักจะสัญญาว่าจะดูแลคู่ครองกันไปจนตาย นั่นหมายความว่าเราต้องเสียประโยชน์ตนเองไปเพื่อบำเรอกิเลสของคู่ครองไปจนตาย เป็นภาระที่หนัก และยังมีของแถมให้เป็นภาระอีกมากมาย เมื่อครอบครัวของทั้งสองฝ่ายรวมเข้าหากัน เวลาที่จะเอาศึกษาธรรมเพื่อแสวงหาความดับทุกข์นั้นเรียกได้ว่าไม่ต้องพูดถึง เพราะถ้าทิ้งหน้าที่สามีหรือภรรยาหนีไปศึกษา ก็มักจะโดนกล่าวหาว่าไม่ทำหน้าที่คู่ครองที่ดี

ในขั้นหนักที่สุด คือแต่งงานกันแล้วยังสร้างสิ่งผูกมัดในชีวิตไม่พอ ก็จะสร้างลูกขึ้นมาด้วย เมื่อสร้างลูกขึ้นมาก็เหมือนกลายเป็นทาสที่ต้องใช้เวลาคอยดูแลลูกเข้าไปอีก ไหนจะต้องบำเรอคู่ ไหนจะต้องบำรุงลูก ไหนจะการงาน ในจะกิจกรรมในครอบครัว ไหนจะสุขภาพ ไหนจะเรื่องการสนองกิเลสตัวเอง กว่าจะเอาเวลาไปศึกษาธรรมะ ก็คงต้องรอลูกโตหรือไม่ก็ตายกันไปข้างหนึ่ง จะหนีไปบวชหรือหนีไปปฏิบัติธรรมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ใช่ว่าเขาจะยอมกันง่ายๆ รับเขามาในชีวิต ไปบำเรอกิเลสจนเขากิเลสอ้วนแล้วจะทิ้งกันง่ายๆนี่ไม่มีทาง ครอบครัวจะรั้งเราไว้ มันจะมีเหตุการณ์ประหลาดที่กั้นขวางไม่ให้เราสามารถเข้าใกล้ธรรมได้มากมาย

สุดท้ายกว่าจะได้โอกาส ได้อิสระไปค้นหาความหมายของชีวิตอีกครั้งก็คงจะใกล้วัยชราแล้ว มีเวลาเหลือน้อยแล้ว สุขภาพไม่เอื้ออำนวยเหมือนตอนวัยรุ่นแล้ว ครูบาอาจารย์ก็ตายไปหมดแล้ว สุดท้ายก็ไม่รู้จะทำอะไร เลยสนองกิเลสแล้วก็รอวันตายไปเปล่าๆอีกหนึ่งชาติ ถือว่าเกิดมาเสพกิเลสฟรีๆ เป็นโมฆะบุรุษไป เสียกุศลที่สร้างมา แถมยังต้องรับอกุศลคือกรรมชั่วที่ทำไว้มากมายในชาตินี้อีก

เกิดมาเป็นคนใหม่ก็พยายามจะค้นหาความหมายของการมีชีวิตเหมือนเดิม แต่ไม่นานกิเลสเพื่อนเก่าก็เข้ามาทักทาย สุดท้ายก็แพ้กามราคะเหมือนเดิม ไปแต่งงานมีลูก ผูกครอบครัวเหมือนเดิม กว่าจะหลุดได้ก็แก่เหมือนเดิม แก่แล้วก็ขี้เกียจเหมือนเดิม สุดท้ายก็ตายไปเปล่าๆเหมือนเดิม

ถ้าอย่างแย่ที่สุดคือหักห้ามใจไม่ไปแต่งงานเสีย ถ้าคบอยู่ก็ให้เป็นแค่เพื่อน ถ้ารักกันจริงก็อย่าให้เสียประโยชน์ตนเอง ก็อาจจะทำให้พ้นจากนรกที่ไม่มีวันจบสิ้นแบบนี้ได้เร็วขึ้น แต่ถ้าเผลอพลาดไปแต่งงานแล้วล่ะก็ ตัวใครตัวมัน ตอนแก้มันไม่ง่ายเหมือนตอนผูกนะ เงื่อนกรรมมันพันแน่นซับซ้อนมาก

ใครอยากมีความสุขในชีวิตก็ไม่ต้องไปผูกเงื่อนกรรมพ่วงชีวิตกับใครไว้ เพราะเพียงแค่ชีวิตเราเองก็เป็นภาระที่ต้องจัดการมากพอแล้ว ยังจะเอาคนมีกิเลสมาผูกไว้ด้วยอีกคน แถมกิเลสของบรรดาญาติมิตรสหายของเขาอีก นี่มัน “ อภิมหากองกิเลส “ ใครคิดว่าแน่จะไปลองลิ้มชิมนรกเช่นนี้ดูก็ได้ เพราะถ้าปัญญามันไม่เต็มรอบ ยังไงมันก็ไม่เข็ด มันจะไปเสพอยู่นั่นแหละ มันจะโง่ไปเอาภาระ วิ่งไปหาเหามาใส่หัว แกว่งเท้าหาเสี้ยนอยู่นั่นเอง

พอมีคู่มาผูกนี่มันออกไม่ได้ง่ายๆนะ แม้เราจะมีครูบาอาจารย์ที่มีวิชชาสอนให้พ้นทุกข์ได้ แต่วิบากกรรมมันจะกั้นไม่ให้เราออกมาง่ายๆ เขาจะขวาง เขาจะห้าม ถึงเขาไม่ห้าม เราก็ห่วง เราก็ระแวง มันจะมีอะไรสักอย่างมาดลบันดาลทำให้ออกไม่ได้ ทีนี้เวลาวิบากกรรมชั่วชุดใหญ่มันมาแล้วตนเองไม่มีธรรมที่กล้าแกร่งพอ มันจะทุกข์และทุกข์หนักมาก แต่ถึงแม้จะทุกข์สุดทุกข์ก็จะออกจากนรกแห่งความทุกข์นั้นไม่ได้ มันจะผูก จะเหนี่ยว จะรั้งไว้ ให้ทนทุกข์อยู่นั่นแหละ สิ่งที่ทำให้ต้องทนทุกข์แม้ว่าเหมือนจะออกได้แต่ออกไม่ได้ก็คือ ผลของกรรมที่ไปผูกเขาไว้นี่เอง

ตอนได้เสพกัน ได้สนองกิเลสกัน ได้สมสู่กันมันก็ดูเหมือนจะมีความสุขดีอยู่หรอก แต่ตอนที่วิบากกรรมชั่วมาถึงนี่มันไม่สุข ไม่สนุกเลยนะ ใครจะลองศึกษาชีวิตด้วยทางนี้ก็ได้เหมือนกัน ทางเส้นนี้ทุกข์มากสุขน้อย แต่คนเขลาจะเห็นว่าทุกข์น้อยสุขมาก จะบอกยังไงก็คงไม่เชื่อ ก็คงต้องลองกันดูเอง แต่ถ้ารู้แล้วไม่ไปลองก็ถือว่าเอาตัวรอดเป็น

สุดท้ายนี้ก็ขอสรุปว่าการมีคู่นี่มันเป็นการผูกพันให้ต้องมารับภาระ รับทุกข์ รับวิบากกรรมกันชั่วกัปชั่วกัลป์ไม่จบไม่สิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

1.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เรื่องลดเนื้อกินผัก

May 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,397 views 0

ปกติผมจะไม่ค่อยได้พิมพ์เกี่ยวกับวิธีการเลิกกินเนื้อสัตว์สักเท่าไหร่ ส่วนมากจะพิมพ์ในแนวทางของการลดอัตตา เพราะอยู่ในกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติ กินเจกันได้บ้างแล้ว

จริงๆแล้วเรื่องการลดเนื้อกินผัก จนกระทั่งเลิกกินได้เลยนั้น เป็นปัญญาระดับทั่วไป เป็นเรื่องง่ายๆ เพราะมันเป็นเหตุของการเบียดเบียนกันอย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้ว

ในคลิปนี้ จะเห็นได้ว่าการมีความกรุณาช่วยเหลือผู้อื่นนี่เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย จะกระชากก็กลัวมันจะเจ็บ ก็ต้องระวังและค่อยๆทำ ผู้ที่มีความเจริญทางจิตใจ มีหิริ ดูเพียงเท่านี้ก็จะสำนึกได้เองว่าการเบียดเบียนสร้างทุกข์ให้กับผู้อื่น อย่างไร

เรียกว่าใช้เชื้อเพียงเล็กน้อยก็สามารถขยายผลไปที่การเบียดเบียนแบบองค์รวม ได้ ส่วนคนที่ยังไม่เจริญนัก ก็ขยันดูที่มาที่ไปของเนื้อสัตว์ที่ซื้อบ่อยๆก็จะพอ สำนึกได้

ในส่วนคนที่ดูยังไงมันก็ยังไม่เกิดความรู้สึกผิด ไม่รู้สึกว่าอยากลดละเลิกการเบียดเบียน ก็สามารถใช้วิธีทำชั่วไปจนกรรมชั่วนั้นมากระทบให้ได้ซึ้งถึงทุกข์ของการ เบียดเบียนได้เช่นกัน (เช่น พระเทวทัต)

เรามีวิธีเข้าถึงธรรมได้มากมายหลายวิธี ใครชอบวิธีเบาๆสบายๆก็ขยันทำดีไป ใครชอบหนักๆ โหดๆ ก็ขยันทำชั่วไป สุดท้ายก็จะมีปัญญาเห็นโทษชั่วของการเบียดเบียนอยู่ดี

ศึกษาธรรม

May 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,394 views 0

ช่วงนี้ผมใช้เวลาอ่านพวกเว็บบอร์ดและกลุ่มธรรมะค่อนข้างมาก มีประเด็นมากมายที่เขาถกเถียงกันอย่างไม่ลงตัว ในความเห็นความเข้าใจที่ต่างกัน

ซึ่งผมเองก็เคยโดนเห็นแย้งในความเห็นที่ผมมีเช่นกัน ซึ่งก็มีทั้งที่ผมเลือกตอบและไม่ตอบ

เพราะถ้าตอบไปแล้วทะเลาะกันผมก็ไม่ตอบ จะเลือกตอบในเฉพาะประเด็นที่เป็นกุศลเท่านั้น

ผมจึงเริ่มเล็งเห็นว่าหลายท่านที่เข้ามาในเพจนี้ต่างมาจากหลายสาย หลายแนวทางปฏิบัติ หลายความเชื่อ หลายครูบาอาจารย์ ซึ่งมีโอกาสที่จะท่านจะเห็นแย้งแต่ก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นออกมา

ซึ่งความเห็นนั้น ยากนักที่ตัดสินว่าใครเห็นถูกหรือเห็นผิด วิธีที่จะไม่ทำให้ผิดใจกันหรือทะเลาะกันก็คือพิสูจน์สัจจะของตนด้วยการ ปฏิบัติตามที่ตนเองศรัทธา ถ้าปฏิบัติแล้วกิเลสมันลดได้จริง ดับได้จริง กิเลสไม่เกิดอีกเลย มันก็จริงของมัน

แต่ถ้าเชื่อแล้วยังปฏิบัติไม่ได้ผล ก็ให้ศึกษาและปฏิบัติไปก่อน ปฏิบัติจนได้มรรคผลอย่างใดอย่างหนึ่งค่อยมาพิสูจน์กันก็ยังไม่สาย อย่าพึ่งรีบตัดสิน อย่าพึ่งรีบวิเคราะห์เพื่อจับผิด เพราะถ้าฝืนพยายามเข้าใจทั้งที่ยังไม่มีสภาวธรรมนั้นในตนมันก็เสียเวลาอยู่ ดี สู้เอาเวลาไปศึกษาและปฏิบัติจะเป็นประโยชน์กว่า

ผมเห็นหลายท่านที่เล่นพวกเว็บบอร์ดหรือกลุ่มธรรมะต่างๆแล้ว รู้สึกกังวลกับความเสี่ยงต่อชีวิต นั่นเพราะในการถกเถียง เรามีโอกาสไปปรามาสใครต่อใครเต็มไปหมด และนั่นเองคือการสร้างนรกของเราด้วยความยึดดีถือดีของเรา

อย่าไปสำคัญตนว่าเราถูกคนอื่นผิด แล้วไปข่มเขาเสียหมด บางทีเราอาจจะไม่ถูกก็ได้ หรือเข้าใจผิดไปเองก็ได้

อุปกิเลส ๑๖ แจงอาการของกิเลสไว้ เช่น โอ้อวด ,แข่งดีเอาชนะ, ยกตนข่มท่าน, ดูหมิ่นผู้อื่น ,ถือดี … ถ้ายังมีอาการนี้แล้วประมาทไม่รู้ตัว ถึงจะเป็นผู้รู้ข้อธรรมมาก แต่ก็ยังชั่วอยู่นั่นเอง

กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

May 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,486 views 0

กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

ความเห็นผิดที่พาตนไปในทางฉิบหายเมื่อเห็น… กิเลสเป็นมิตร บัณฑิตเป็นศัตรู

ในกึ่งพุทธกาลดังเช่นทุกวันนี้ กระแสของความหลงผิดนั้นรุนแรงและมีปริมาณมาก เป็นยุคที่ตกอยู่ภายใต้สภาวะของการเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นดอกบัวเป็นกงจักร

เห็นกิเลสเป็นมิตร

ยุคที่เรายินดีกับการเป็นทาสของกิเลส ยินดีเต็มใจให้มันบงการชีวิต มันบอกให้ไปเสพอะไรก็ไปเสพ มันบอกหาอะไรก็หา มันบอกให้รักอะไรก็รักตามใจมัน แล้วหลงในความสุขที่มันมอบให้ว่านั่นคือของดี แต่ที่ร้ายที่สุดคือเห็นว่ากิเลสนั้นคือตัวเรา สุดท้ายก็เลยแยกตัวเรากับกิเลสไม่ออก เรากับกิเลสเลยกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นตัวตนของกันและกัน ขาดกิเลสเราตาย

สุดท้ายเราก็มีกิเลสเป็นมิตรแท้ กินด้วยกัน เที่ยวด้วยกัน พากันไปเสพสุขลวงได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร หรือไม่ต้องไปสนใจว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นเหตุให้เกิดกรรมชั่ว ต้องหลงวนทนทุกข์อยู่ในโลกนี้อีกนานเท่าไหร่ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญของผู้ที่เห็นกิเลสเป็นมิตร เพียงแค่มีฉัน(ทาส)และมีเธอ(กิเลส) บำเรอสุขกันไปชั่วนิรันดร

หนักเข้าก็กลายเป็นผู้ที่มีกิเลส แต่ไม่รู้ว่ามีกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนที่เห็นเช่นนี้ “เป็นผู้ไม่เจริญ” หรือเรียกว่า ยังเลวอยู่ และถึงแม้จะเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นกิเลส แต่ไม่รู้จักพิษภัยของกิเลส ยังยินดีเลี้ยงกิเลส ก็เรียกได้ว่าไม่รู้จักกิเลส

ศัตรูของกิเลส คือศัตรูของผู้เห็นผิด

การเห็นกิเลสเป็นมิตรก็ไม่ได้สร้างความเสียหายเพียงแค่เสพสุขลวงและทำทุกข์ทับถมตนเองไปวันๆเท่านั้น เมื่อยังมีความเห็นว่าศัตรูของมิตรนั้นก็คือศัตรู และสิ่งใดที่เป็นศัตรูของกิเลส นั่นหมายถึงสิ่งนั้นก็เป็นศัตรูของตนด้วยเช่นกัน

ผู้ที่มีความเห็นผิดจะมีอาการหวงกิเลสของตน ไม่ยอมให้ใครมาแตะกิเลสในตน ไม่ยอมให้คนอื่นมาว่าการที่ตนหลงเสพหลงสุขเพราะกิเลสเป็นสิ่งผิด หนักเข้าก็นิยามสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าความรักบ้าง สไตล์บ้าง วิถีชีวิตบ้าง เป็นความชอบส่วนบุคคลบ้าง คนเราไม่เหมือนกันบ้าง ทั้งหมดนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปก้าวก่ายกับเรื่องกิเลสของตนเอง

เรียกได้ว่ายิ่งกว่างูหวงไข่ ถ้าใครไปวิจารณ์หรือแนะนำ คนที่เห็นกิเลสเป็นมิตรว่า “กิเลสนั่นแหละคือศัตรู” พวกเขาก็จะมีอาการต่อต้านขึ้นมา เบาหน่อยก็ทางใจ หนักขึ้นมาก็ทางวาจา หนักสุดก็ทางกายกรรมกันเลย คือใครมาว่าสิ่งที่ฉันชอบเป็นกิเลส ฉันจะด่ามัน ฉันจะทำร้ายมัน มันจะต้องพินาศ

เห็นบัณฑิตเป็นศัตรู

ทีนี้ผู้เป็นบัณฑิตโดยธรรมนั้นคือผู้ที่ปฏิบัติตนเพื่อการลดล้างทำลายกิเลส และชักชวนผู้อื่นให้ทำลายกิเลสด้วยเช่นกัน ถ้อยคำของบัณฑิตนั้นจะมีแต่คำพูดที่ข่ม ด่า ประณามกิเลส เรียกได้ว่ากิเลสนั้นไม่มีค่าในสายตาของบัณฑิตทั้งหลาย ซ้ำร้ายยังเป็นมารของชีวิตที่ต้องเพียรกำจัดไปให้สิ้นเกลี้ยง

เมื่อคนที่เห็นกิเลสเป็นมิตร มาเจอถ้อยคำที่กล่าวถึงการหลงติดหลงยึด สะสมกิเลสนั้นเป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องชั่ว เป็นเรื่องที่ผู้เจริญแล้วไม่พึงปรารถนา และควรจะพยายามออกห่างจากกิเลสเหล่านั้น เมื่อได้ยินดังนั้นด้วยความที่ตนเองก็เสพสมใจกับการมีกิเลสในตน เห็นกิเลสเป็นมิตร จึงเห็นบัณฑิตเหล่านั้นเป็นศัตรู เป็นข้าศึกต่อการเสพสุขของตน

จนกระทั่งคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในใจ กล่าวถ้อยคำที่ดึงผู้มีศีลมีธรรมให้ต่ำลง ประณามธรรมที่พาให้ลดกิเลสดูไร้ค่า(เมื่อเทียบกับการสนองกิเลส) หรือกระทั่งเกิดการไม่พอใจที่มาบอกว่ากิเลสของตนไม่ดีจนถึงขั้นทำร้ายกันก็สามารถทำได้

แม้ในขั้นที่ละเอียดที่สุดคือคิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นในใจ คือคิดไปในทางตรงข้ามกับการลดกิเลส คือการสะสมกิเลส ก็เรียกได้ว่าพาตนให้ห่างไกลจากการพ้นทุกข์เข้าไปอีก นับประสาอะไรกับผู้ที่สร้างวจีกรรม และกายกรรม ในเมื่อเพียงแค่มโนกรรมก็พาให้ไปนรกได้แล้ว

ผู้ที่ยังไม่หลงผิดขนาดหน้ามืดตามัว จะพิจารณาจนเห็นว่าสิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ แม้ตนเองจะยังติดสุขลวงที่กิเลสมอบให้ แต่เมื่อได้ฟังว่ากิเลสนั้นแหละคือตัวสร้างทุกข์แท้ และสร้างสุขลวงมาหลอกไว้ ก็จะพึงสังวรระวังไม่ให้กิเลสของตนกำเริบ และยินดีในธรรมที่บัณฑิตได้กล่าวไว้

ส่วนผู้ที่หลงผิดจนมัวเมา ก็มีแต่หันหน้าไปทางนรกด้านเดียว เพราะเมื่อไม่เห็นด้วยกับทางที่พาให้พ้นทุกข์อย่างยั่งยืน ก็ต้องเดินไปในทิศทางที่ตรงข้าม ถ้าบัณฑิตไปสู่ทางพ้นทุกข์ ผู้ที่หลงผิดเหล่านั้นก็จะไปสู่ทางแห่งทุกข์ ยิ่งไปก็ยิ่งทุกข์ กลายเป็นผู้ที่ก้าวไปสู่นรกด้วยความยินดี เพียงเพราะเหตุจากความหลงผิด

เหตุนั้นเพราะคนที่หลงมัวเมาในกิเลสจะสร้างอัตตาขึ้นมา หลอมรวมตนเองเข้ากับกิเลส กลายเป็นความยึดชั่ว เห็นความชั่วเป็นความสุข เห็นสุขลวงเป็นสุขแท้ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว และเมื่อมีอัตตา ก็จะไม่ยอมให้ใครมาดูถูก มาบอกว่าสิ่งที่ตนทำนั้นผิด เพราะเข้าใจไปเองว่า สิ่งที่ตนทำนั้นดีแล้ว, ไม่ได้เบียดเบียนใคร, ไม่ใช่เรื่องของใคร, ใครๆเขาก็ทำกัน, ความสุขของใครของมัน, มันคือชีวิตฉัน, เกิดมาครั้งเดียวใช้ชีวิตให้เต็มที่ ฯลฯ

สุดท้ายแล้ว เมื่อเห็นกิเลสเป็นมิตร และหลงผิดขนาดว่าเห็นบัณฑิตเป็นศัตรู ก็จะมีทิศทางที่ไปทางชั่ว และจะยิ่งเพิ่มความชั่วและมัวเมาขึ้นเรื่อยๆด้วยความหลงผิดที่สะสมมากขึ้น และวิบากกรรมชั่วที่ได้ทำก็จะพาให้เกิดความฉิบหายในชีวิตได้อีกหลายประการ

– – – – – – – – – – – – – – –

1.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)