ข้อคิด

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

January 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,346 views 0

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

…ทำอย่างไรถึงเรียกว่ารักตัวเอง เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ไม่ทำร้ายตัวเอง

รักตัวเอง” เป็นประโยคสั้นๆ ที่เข้าใจกันได้อย่างหลากหลาย เรามักจะใช้ประโยคนี้ในการปลอบใจตัวเอง เยียวยาจิตใจที่กำลังเศร้าหมองด้วยการให้คุณค่ากับตัวเอง

การรักตัวเองนั้นสามารถแสดงออกได้หลายลีลาท่าทาง แน่นอนว่าหลายคนก็ต่างพูดว่าตนนั้นรักตัวเอง ทำเพื่อตนเอง หรือกระทั่งทำเพื่อผู้อื่นเพื่อให้ตนเองมีความสุข และอื่นๆอีกมากมาย

ทำไมทุกคนที่บอกว่ารักตัวเองถึงมีวิถีชีวิตต่างกัน มีวิธีคิดต่างกัน มีเป้าหมายที่ต่างกัน แล้วรักตัวเองแบบไหนถึงจะเรียกว่ารักจริง เราจะลองมาเรียนรู้ที่จะรักตัวเองกันได้อย่างแท้จริงเสียที จาก 3 ลีลาความรักตัวเอง รักด้วยกาม รักด้วยอัตตา รักด้วยอนัตตา จะเป็นแบบไหนลองมาอ่านกัน

1). รักตัวเอง (กาม)

ความรักตัวเองในมุมของกามหรือการหา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จนกระทั่งหา คน สัตว์ สิ่งของมาเสพ จะเป็นมุมที่เห็นได้ทั่วไปเช่น คนที่คิดว่าเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้มันสุดๆ กิน เที่ยว เล่น ให้มันสุขสุดๆ เพราะเข้าใจว่ารักตัวเองเลยพยายามหาสิ่งมาบำเรอความสุขให้กับตัวเอง เข้าใจว่าต้องทำให้ตัวเองเป็นสุขจากการเสพจึงจะเรียกว่ารักตัวเอง

ความรักตัวเองในมุมของกามเช่นนี้ ยังอยู่ในลักษณะที่เห็นแก่ตัวอยู่มาก เช่น เราชอบกินเนื้อสัตว์ เรารักตัวเองมากจึงพยายามหาเนื้อสัตว์มาเสพสุข พร้อมทั้งหาข้อมูลอ้างอิงว่าเนื้อสัตว์นั้นดี มีคุณค่า ให้ความสุข หาธรรมะมาอ้างว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ผิด ยึดมั่นถือมั่นเนื้อสัตว์เป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งจำเป็น เป็นของสำคัญ จะให้ตัดเนื้อสัตว์ออกจากชีวิตก็ไม่ได้ เพราะรักตัวเอง กลัวอด กลัวไม่ได้เสพสุข กลัวขาดสารอาหาร เมื่อเรารักตัวเองมากๆ จนเข้าขีดของความเห็นแก่ตัว จึงยินดีที่จะเบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ตัวเองได้เป็นสุข

แม้แต่การรักผู้อื่นก็เช่นกัน ในมุมของการเอาใจผู้อื่น บางครั้งก็เกิดจากความรักตัวเองมาก จนสามารถใช้การล่อลวง ใช้คำหวาน ใช้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เข้าไปทำให้ผู้อื่นหลงงมงายจนยอมตกลงปลงใจกับเรา จนกระทั่งเราได้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเหล่านั้นมาเสพ นั่นเพราะเรารักตัวเองมาก เราจึงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้คนอื่นมาเสพ

การรักตัวเองแล้วบำเรอสุขจากการเสพให้ตัวเองนั้น ไม่ใช่ความรักตัวเองเลย แต่เป็นความหลงในกิเลส หลงว่ากิเลสเป็นตัวเราก็เลยเอาอาหาร ทรัพย์สินเงินทอง เวลา สุขภาพ ฯลฯ ไปให้กับกิเลสโดยหลงเข้าใจว่านั่นคือตัวเรา หลงไปว่าตัวเราชอบกินเนื้อสัตว์ ตัวเราชอบเที่ยว ตัวเราชอบแต่งตัว ตัวเราอยากได้รถโก้และบ้านหลังโต ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นคำสั่งจากกิเลส

การรักตัวเองแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรก็ได้ แค่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกิเลสนำพา ตรงไหนสุขก็ไปเสพ ตรงไหนทุกข์ก็หนี แสวงหาที่เสพสุขวนเวียนสะสมบาปสะสมอกุศลอยู่เรื่อยไป เพราะความรักตัวเองเช่นนี้ คือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง นำวิบากบาปมาให้ตนเองอย่างแท้จริงเป็นทางแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

การจะบอกว่ารักตัวเองแล้วยังแสวงหาสุขลวงจากกิเลสมาเสพ นั่นหมายถึงการทำทุกข์ทับถมตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วจะเรียกว่ารักตัวเองได้อย่างไร

2). รักตัวเอง (อัตตา)

ความรักตัวเองในมุมของอัตตา เป็นอีกมุมหนึ่งที่เห็นได้เป็นประจำ กามและอัตตาจะยังมีผสมปนเปอยู่ในจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่เสมอ ไม่ได้หมายความว่ามีอัตตาแล้วจะไม่มีกาม ทางโต่งทั้งสองด้านนี้จะเติมพลังให้แก่กันอยู่เสมอ ผลัก-ดูด, รัก-ชัง, ชอบ-ไม่ชอบ สลับกันไปมาเช่นนี้เสมอ

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่น คือมีตัวเราของเรา เห็นกิเลสเป็นตัวเป็นตนของเรา เช่นเรารักตัวเองมาก เห็นว่าตัวเองเป็นคนดี เข้าวัด ทำบุญ แต่พอมีคนมานินทา เหน็บแนม ก็รู้สึกโกรธนั่นก็เพราะว่าเรารักตัวเองมากเกินไป รักจนยึดเป็นตัวเป็นตน รักจนไม่ยอมให้ใครมาแตะต้องได้

หรือการที่เรามีความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ความเชื่อความเข้าใจแบบใดแบบหนึ่ง เราก็จะรักและยึดมั่นสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวเรา กอดมันไว้กับเรา ถ้ามีใครเห็นด้วยเราก็จะยินดีกับเขา แต่พอมีคนที่ไม่เห็นด้วยพร้อมทั้งการแสดงท่าทีหรือความเห็นที่แตกต่าง ความเห็นเหล่านั้นก็กระทบกับเกราะแห่งรัก(อัตตา,รักลวง) ก่อนที่จะเข้ามาถึงใจเรา นั่นคือเมื่อเรารักตัวเองมาก เราก็จะ”ไม่ฟัง” ไม่ยินดีรับฟัง ไม่อยากฟังอะไรที่ขัดกับความเห็นของเรา เขาพูดอะไรก็จะไม่สนใจ คิดแต่เพียงว่า ฉันก็เชื่อของฉันแบบนี้, ฉันได้ของฉันแบบนี้, ของเธอไม่ดีหรอก หรือถ้าหนักๆเข้าก็อาจจะถล่มอีกฝ่ายด้วยความรักตัวเองจนเกินจะระงับไว้ได้นั่นเอง

คนที่มีความเห็นผิดก็มักจะยึดเอาความเห็นผิดไว้เป็นที่พึ่ง เป็นหลักยึด เป็นคติ เป็นข้อปฏิบัติ และเห็นสิ่งที่ผิดเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะควรอยู่แล้ว นั่นคือเกิดสภาพยึดไปแล้ว และเป็นการยึดความเห็นผิดอีกต่างหาก อัตราส่วนของคนที่ยึดความเห็นผิดต่อความเห็นที่ถูกต้องก็ราวๆ จำนวนเส้นขนวัวทั้งตัวเมื่อเทียบกับ 2 เขาวัว ซึ่งนั่นหมายความว่าโอกาสที่จะได้รับฟังความเห็นที่ถูกก็น้อยยิ่งกว่าน้อย และเมื่อคนที่ยึดความเห็นผิดเป็นตัวเป็นตน เมื่อได้ฟังความเห็นที่ต่างจากที่ตัวเองยึดไว้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกแต่ก็จะเป็นผิดทั้งหมด

ความรักตัวเองในมุมของอัตตาจะส่งผลให้กลายเป็นคนที่ติดอยู่ในภพ ติดอยู่ในความเชื่อหนึ่งๆ ตัวตนหนึ่งๆ สภาพหนึ่งๆ รูปแบบหนึ่งๆ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว คือเห็นแต่เรื่องของตัวเองเป็นสำคัญ เรื่องของคนอื่นไม่สำคัญ ของตนสำคัญที่สุด คนอื่นผิด ฉันถูก หรือคนอื่นอาจจะผิดไม่มาก แต่ฉันถูกเสมอ

การรักตัวเองแบบมีอัตตาก็จะสามารถรักและเมตตาคนอื่นได้เช่นกัน แต่จะเป็นสภาพที่ซับซ้อนของกิเลส นั่นคือไปยึดเหตุการณ์ รูปแบบ ลักษณะแทน เช่น ฉันจะต้องเป็นคนมีเมตตา ฉันจะต้องมีน้ำใจ ฉันจะต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ ซึ่งอาจจะมีความซ้อนตรงที่แอบเสพความสุขจากการได้เป็นผู้ให้เหล่านั้นเช่น เสพติดการได้รับคำชม ได้ชื่อเสียง ได้ความเคารพ ลักษณะเหล่านี้จะซับซ้อนและสังเกตได้ยาก เป็นอัตตาที่ซ่อนตัวอยู่ในโลกธรรม

ความรักตัวเองในมุมของอัตตา แม้ว่าจะไม่ได้หาวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของภายนอกมาเสพเหมือนกาม แต่ก็ยังเสพเหตุการณ์อยู่ ยังติดดียึดดีอยู่ รักความเป็นตัวของตัวเอง รักนิสัย รักศักดิ์ศรี รักลาภ ยศ สรรเสริญ รักความสุข จึงหาเหตุการณ์เหล่านี้มาบำเรอสุขให้ตนอยู่

แม้จะสามารถรักตัวเองจนดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นผู้มีรายได้มาก มีตำแหน่งใหญ่โต มีคนยกย่องนับถือ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการรักตัวเองอย่างแท้จริง เพราะการหาเหตุการณ์ใดๆมาเสพให้สมใจตัวเอง ไม่ว่าจะความสำเร็จ ความมั่งคั่ง ความนิยม ซึ่งมักจะต้องแลกมาด้วยการทำบาป

บาป” นั้นหมายถึงการสะสมกิเลส เสริมกิเลส บำรุงกิเลส ซึ่งจะตรงข้ามกับ “บุญ” ที่หมายถึงการชำระกิเลส ลดกิเลส ล้างกิเลส ทำลายกิเลส

หากเราได้สิ่งเหล่านั้นมาเสพจนกระทั่งเกิดความสุขจากสิ่งนั้น เหตุการณ์นั้น สภาพนั้น และเมื่อไม่ได้เสพสมดังใจหมายก็ผิดหวังเป็นทุกข์เศร้าโศกเสียใจ ก็ให้รู้ไว้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เหตุการณ์ที่มาโดยกุศลกรรม แต่หากเป็นผลจากพลังของกิเลสที่ผลักดันเราให้ยึดมั่นถือมั่นในการจะได้เหตุการณ์ใดๆจนแสวงหามาเพื่อให้ได้เสพสมใจให้สมกับอัตตาที่มีนั่นเอง

3). รักตัวเอง (อนัตตา)

เมื่อเห็นแล้วว่าการรักตัวเองด้วยการหามาเสพด้วยวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ หรือแม้กระทั่งสร้างเหตุการณ์ต่างๆที่ทำให้สมใจนั้น เป็นการทำตามกระแสของกิเลสทั้งนั้น กิเลสจะพาให้เราเสพสิ่งต่างๆ ให้เรายึดมั่นถือมั่นและหามาเสพไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนหลงว่าเป็นความสุข เป็นการให้รางวัลชีวิต เป็นเป้าหมายในชีวิต เป็นคุณค่าของชีวิต เป็นความหมายของการเกิดมา เป็นตัวเป็นตน เป็นการรักตัวเองโดยการสนองตัวเองให้เสพสุขไปกับสิ่งเหล่านั้น

สิ่งที่จะกล่าวกันต่อไปนี้ อาจจะขัดใจกันสักหน่อย นั่นคือสิ่งที่คนแสวงหาทั้งหมดไม่ว่าจะกามหรืออัตตา ต่างก็เป็นการทำทุกข์ทับถมตนทั้งสิ้น สร้างอกุศลคือความชั่ว สะสมไปเป็นอกุศลกรรม คือกรรมชั่วที่จะส่งผลให้เราทุกข์ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ในวันใดวันหนึ่ง นั่นก็เพราะเรามีการสะสมกิเลสซึ่งเป็นเชื้อทุกข์ที่ร้ายสุดร้ายเข้าไปในจิตวิญญาณ

ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์จากทั้งกามและอัตตา ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะสะสมกิเลสไปเรื่อยๆ ได้เสพก็ติดสุข ไม่ได้เสพก็ทุกข์จนต้องหามาเสพ นั่นหมายถึงว่าทุกๆวันของชีวิตการคือสะสมบาป เวร ภัย ทุกข์ให้กับตัวเอง ดังนั้นจึงเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าการรักตัวเองไม่ได้

ไม่ว่าจะกามหรืออัตตา ต่างก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน หลายคนบอกว่าที่ฉันเสพมันก็สุขนะ ได้กินของอร่อย ได้ท่องเที่ยว ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ฯลฯ ซึ่งมันก็สุขจริง แต่เป็นสุขลวงแถมด้วยความทุกข์แท้ๆ ได้เสพก็สุขนิดหน่อยแต่สุดท้ายก็จะทุกข์มาก ทุกข์เพราะความอยากเสพ ทุกข์เพราะวิบากบาปในการหามาเสพ เหมือนยาเสพติดหยุดไม่ได้ ถึงจะรู้ว่ามีโทษแต่ก็สุขจนหยุดเสพไม่ได้ จึงกลายเป็นทุกข์แท้ๆเลยทีเดียว

ความไม่เที่ยงนั้นคือสภาพสุขที่ได้เสพ โอกาสที่จะได้เสพ หรือความสุขเหล่านั้นต่างไม่เที่ยง ไม่คงที่ สุขไม่นานก็จางคลาย เช่นเรากินอาหารที่อร่อย ความอร่อยนั้นอยู่ตรงไหน เรากินทุกวันมันจะอร่อยเหมือนวันแรกไหม สุขที่เกิดขึ้นมันไม่เที่ยงเลย มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา

และความไม่มีตัวตน นั่นหมายถึงสภาพสุขจากการเสพนั้นแท้จริงไม่มีตัวตน มันไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้สุขจากการเสพนั้น แต่กิเลสทำให้เราสุข แต่เป็นสุขลวงๆ แล้วเราก็หลงยึดสุขน้อยทุกข์มากนั้นเป็นตัวเราของเรา ยึดกิเลสเป็นตัวเรา ทั้งที่มันไม่ใช่ตัวเรา เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ เราไม่จำเป็นต้องกินสามมื้อ เราไม่จำเป็นต้องแต่งหน้าแต่งตัว เราไม่จำเป็นต้องกินเหล้า เราไม่จำเป็นต้องมีบ้านใหญ่โต เราไม่จำเป็นต้องมีคู่ครอง เราไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งใหญ่โต เราไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียง เราไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมั่งคั่ง เราไม่จำเป็นต้องมีคนนับหน้าถือตา แต่เพราะเรามีตัวตนของกิเลสเป็นของเรา เราจึงเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจำเป็น เชื่อว่าเป็นสาระของชีวิต เชื่อว่าเป็นความสุข ความเจริญ ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นมันไม่มีตัวตน ไม่มีสาระอะไรเลย

ความรักตัวเองในมุมของอนัตตา คือความรักแบบไม่มีตัวตน นั้นคือไม่มีตัวตนของกิเลสในจิตวิญญาณ ไม่มีกาม ไม่มีอัตตา เพราะทำลายทั้งกามและอัตตาจึงเข้าสู่สภาวะของอนัตตา แต่ไม่ได้หมายถึงแค่ไม่มีตัวเรา ไม่ใช่อนัตตาแบบท่องจำที่ทำกันโดยทั่วไป “ทุกสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป,ทุกสิ่งไม่ใช่ตัวเราของเรา” ท่องแบบนี้มันก็ท่องได้ เป็นสมถะ เอาไว้กดอาการของจิตได้ดีแต่ทำลายกิเลสไม่ได้

การปฏิบัตินั้นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สภาวะของอนัตตานั้นเป็นผลของการปฏิบัติ ไม่ใช่วิถีทางปฏิบัติ(มรรค) ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดเอาอนัตตามาเป็นตัวปฏิบัติ เพราะการจะรักตัวเองได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องเว้นจากทางโต่งสองด้าน คือกามและอัตตา โดยปฏิบัติยึดหลักทางสายกลาง จนเกิดเป็นผลที่เรียกว่า “อนัตตา

ความรักตัวเองด้วยอนัตตานี้เองจะเป็นความรักที่สร้างแต่กุศลอยู่ฝ่ายเดียว ทำแต่กุศลกรรม มีแต่การสร้างอนาคตที่ดี ไม่มีการสะสมบาป หรือสะสมอกุศลกรรมใดๆให้ตัวเองต้องได้รับทุกข์ โทษ ภัย ในอนาคตทั้งในชาตินี้และชาติหน้า นี่คือความรักตัวเองอย่างแท้จริงเพราะได้ส่งต่อสิ่งที่ดีให้กับตัวเองในอนาคต สร้างกรรมดีให้กับตัวเองในอนาคต จึงจะมีแต่เจริญไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่มีถอยหลัง ไม่ตกต่ำ ไม่กลับมาชั่ว ปิดนรก ปิดทางฉิบหายได้สนิท ไม่ว่าจะในชาตินี้หรือชาติหน้าจนกระทั่งชาติอื่นๆต่อไป

เมื่อเรารักตัวเอง เราจึงควรเรียนรู้ที่จะรักตัวเองด้วยการเว้นขาดจากทางโต่งสองด้านคือกามและอัตตา จนกระทั่งทำลายกิเลสที่เป็นตัวผลักให้เราไขว้เขวไปในทางโต่งทั้งสองด้านจนสิ้นเกลี้ยง ทีละเรื่อง สองเรื่อง เริ่มจากกิเลสที่ไม่ยากมาก ให้โอกาสตัวเองได้เรียนรู้ความรักที่แท้จริง ความรักที่ไม่มีกาม ไม่มีอัตตา รักที่เป็นอนัตตาอย่างเที่ยงแท้ แน่นอน ไม่มีหลอกลวง เป็นประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้อื่นตลอดไป สะสมอนัตตาในแต่ละเรื่อง เจริญขึ้นไปเรื่อยๆตามลำดับโดยการศึกษาเรียนรู้ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อก้าวข้ามภพของกิเลสทั้งหมด ไปจนกระทั่งเป็นผู้ที่มีแต่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

การรักตัวเองได้อย่างแท้จริง จะทำให้เราไม่ยอมเปิดโอกาสให้ตัวเองไปทำบาป ไม่ชักชวนให้คนอื่นทำบาป ไม่ส่งเสริมให้คนทำบาป ไม่ยินดีในบาปเหล่านั้น ไม่ทำอกุศลกรรมใดๆ ที่จะกลายเป็นสิ่งที่ผูกมัดตัวเองไว้กับทุกข์

– – – – – – – – – – – – – – –

26.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

January 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 18,180 views 2

กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ

เป็นประโยคที่สั้นและกระชับที่สุดที่ใช้ในการพิจารณาธรรม หากเราเข้าใจและยอมรับในความจริงของประโยคนี้ได้ เราก็จะไม่ต้องทุกข์ใจจากเหตุการณ์ใดๆที่เกิดขึ้นเลย

การที่เรายังมีอาการทุกข์ใจเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สมดังใจ สิ่งที่หวังไว้ก็ไม่เกิด สิ่งที่เกิดก็ไม่ได้หวัง ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาต่อว่า, หกล้ม, รถชน, ยืนจนเมื่อยก็ไม่มีใครลุกให้นั่ง, โบกแท็กซี่แล้วเขาไม่ไป, ซื้อของแล้วโดนโกง, ให้เงินเขายืมแล้วเขาไม่คืน, เจอแต่คนที่ไม่ชอบ, ขโมยเข้าบ้าน,, ทำเงินหาย, โดนขโมยผลงาน, เงินเดือนไม่ขึ้น, โบนัสไม่มี, โดนใส่ร้าย, ถูกนินทา, โดนไล่ออก, กลายเป็นคนพิการ, คนใกล้ชิดเจ็บป่วยจนเดือดร้อน, คนที่รักจากไป ฯลฯซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นผลจากกรรมของเราทั้งนั้น

ในส่วนของทุกข์ที่เกิดขึ้นเมื่อเรากระทบกับเหตุการณ์เหล่านั้น ทุกข์นั้นเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจในเรื่องของกรรม ถึงแม้คำว่า “กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ” จะเป็นประโยคสั้นๆที่ใครก็ท่องได้ จำได้ พูดได้ แต่กลับเป็นประโยคที่เข้าใจและเข้าถึงได้ยากที่สุดในโลก

คนที่เข้าใจเรื่องกรรมอย่างถ่องแท้จะไม่มีเรื่องอะไรให้ทุกข์ใจเลย เพราะรู้ดีว่าสิ่งที่ได้รับคือสิ่งที่เราทำมา เราไม่มีทางได้รับในสิ่งที่เราไม่ได้ทำ การที่เราได้รับสิ่งที่ทำมานั้นมันก็ยุติธรรมดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเรื่องดีหรือร้ายที่เข้ามาในชีวิต มันก็มาจากผลของการกระทำของเราทั้งสิ้น แล้วเรายังจะโทษใครอีก ยังจะเรียกร้องจากใครอีก ยังจะกล้าคิดอีกหรือว่าเรากำลังถูกโชคชะตาเล่นตลก

เหล่าคนผู้มีความเห็นผิดมักจะสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไม่มีเหตุผล เช่น เพราะโชคดี เพราะดวงตก เพราะปีชง เพราะคนนั้นเขาไม่ดี เพราะเจ้านายลำเอียง เพราะเศรษฐกิจไม่อำนวย อะไรต่อมิอะไรที่จะอ้างขึ้นมาได้ให้ตัวเองได้สบายใจ โดยป้ายความผิดหรือโยนความรับผิดชอบของเหตุการณ์เหล่านั้นให้พ้นตัว

เขาเหล่านั้นมักจะมีแนวโน้มที่จะไม่เชื่อเรื่องกรรม มักจะคิดว่าฉันไม่ควรได้รับสิ่งร้ายเหล่านั้น แต่เวลาได้รับสิ่งดีที่ไม่ได้ทำมาในชาตินี้กลับไม่เคยตระหนักหรือทักท้วงอะไร อะไรที่ดีก็ยินดีรับทั้งหมดโดยไม่เคยหาเหตุผล ไม่เคยคิดว่าได้มาอย่างไร แต่เวลาเจอสิ่งร้ายก็จะหาคนผิดทันที มองไปที่คนอื่นทันที คนนั้นไม่ดีอย่างนั้น คนนี้ไม่ดีอย่างนี้ ไอ้นั่นก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็ไม่ดี ขัดหูขัดตาไปหมด

คนมันเห็นผิดแบบนี้ มันไม่เชื่อกฎแห่งกรรมแบบนี้ ถ้าเราเชื่อจริงๆเราจะไม่สงสัยเลยว่าเราได้รับสิ่งร้ายนั้นเพราะอะไร แม้จะไม่รู้สาเหตุแน่ชัด แต่จะชัดเจนในใจว่าฉันทำมาเอง แล้วก็จะสงบใจ ไม่ทุกข์ สงบเสงี่ยมเจียมตัวรับกรรมที่ตัวเองทำไว้ด้วยความยินดี

การที่เราสามารถมีจิตยินดีแม้ว่าจะได้รับสิ่งร้ายอยู่นั้น ก็เพราะรู้ว่ารับกรรมนั้นแล้วก็หมดไป สิ่งร้ายก็หมดไป สิ่งดีที่ทำไว้ก็มีโอกาสส่งผลได้เร็วขึ้น กรรมไม่มีวันหมดไปได้เองอยู่แล้ว ต้องสนองจนเกิดผลเท่านั้นถึงจะหมด ดังนั้นเมื่อเรารู้ชัดแล้วว่าสุดท้ายยังไงก็ต้องโดน เราก็ควรจะรับผลกรรมด้วยจิตใจที่เป็นสุข ดีกว่าที่จะต้องมาคอยรับกรรมอย่างทนทุกข์

เมื่อไหร่ก็ตามที่เรากำลังรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นไม่น่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ ไม่สมใจเราหวัง ให้รู้ไว้เถิดว่า เรากำลังเริ่มที่จะไม่ยุติธรรมแล้ว เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนั้นคือความยุติธรรมที่สุดแล้ว และนั่นก็คือกฎแห่งกรรม

– – – – – – – – – – – – – – –

10.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ชีวิตฟุ่มเฟือย

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,930 views 0

ชีวิตฟุ่มเฟือย

ชีวิตฟุ่มเฟือย

… เมื่อชีวิตที่มีถูกใช้ไปเพื่อสนองกิเลส

ชีวิตในสังคมเมืองปัจจุบันนั้นดูรีบเร่งและกดดัน คงมีไม่น้อยที่ต้องลำบากตั้งแต่เช้า ขึ้นรถสาธารณะที่คนแน่นจนขยับแทบจะไม่ได้ รถติดอยู่นานทั้งที่ลงทุนตื่นเช้า ทำงานอยู่กับความกดดันและน่าเบื่อจนหมดวันก็ต้องหอบชีวิตฝ่ามวลชนผสมรถติดกว่าจะถึงบ้านเพื่อที่จะได้เงินมาดำรงชีวิตและ…สนองกิเลส

เราใช้เงินในการดำรงชีวิตจริงๆไปเท่าไร เราเสียเงินให้กับกิเลสไปเท่าไร หากเราได้ลองทำบัญชีอาจจะพบว่าเรามักจะยินดีเสียเงินให้กับสิ่งฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นในชีวิตมากมาย แน่นอนว่าเรามักจะยอมแลกเงินและความเหนื่อยยากเหล่านั้นไปเพื่อการเสพสุข เรามักจะมีเหตุผลที่ดูดีมากมายในการใช้เงินมาสนองกิเลสตัวเอง เรามักจะปลอบตัวเองว่าไม่ผิดหรอกถ้าฉันจะใช้เงินที่ฉันหามาเพื่อสนองกิเลสของตัวเอง

ชีวิตที่เป็นทาสของกิเลสมันก็ต้องวิ่งวนหาเงิน ทำบาป ทำอกุศลเพื่อไปบำรุงบำเรอกิเลสแบบนี้ เพราะหลงว่าต้องเสพจึงจะเป็นสุข เข้าใจว่าความสุขเกิดได้จากการเสพเท่านั้น กิเลสจะไม่ปล่อยให้เราเข้าใจคำว่า “สุขกว่าเสพ” เป็นเหมือนคำในอุดมคติที่ไม่มีจริง เพราะเห็นกันอยู่เต็มๆตาว่าการกินของที่ชอบ ไปเที่ยวที่ที่อยากไป ได้ของที่ใฝ่ฝันนี่มันรู้สึกสุขอยู่จริงๆ

ความสุขที่ได้รับจากการเสพนั้นเป็นของจริง เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ใช่สุขจริง เพราะมันคือ “สุขลวง” เป็นสุขที่กิเลสสร้างขึ้นเพื่อให้เราหลงเสพไปเรื่อยๆ ให้ขยันทำงานหามรุ่งหามค่ำประหยัดอดออมไว้เพื่อสนองกิเลส

เรามาดูลีลาของกิเลสที่สามารถเห็นได้ทั่วไป ซึ่งกลายเป็นเรื่องทั่วไปเสียแล้วหากคนจะยอมรับกิเลสเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต แต่กิเลสนั้นทำอะไรกับเราบ้าง ถ้าเราไม่มีกิเลสจะดีอย่างไร ลองมาอ่านกัน

!เนื้อหาหลังจากนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านระมัดระวังความรู้สึกดังเช่นว่า ฉันก็สุขของฉัน, มันเรื่องของฉัน, ความสุขของฉัน, สิทธิของฉัน, คนเราไม่เหมือนกัน, คนอื่นเขาก็ทำกัน, คนเราเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้คุ้ม ฯลฯ เพราะความเข้าใจเหล่านี้คือ “กิเลสของฉัน” ทั้งสิ้น ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายระวังอาการกลัวของกิเลส ซึ่งมันจะร้อนตัว ต่อต้าน ไม่ยอมให้เราพิจารณาเรื่องของมัน พึงระวังกันไว้ให้ดี

1). อบายมุข

ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ เหล้า เบียร์ การพนันต่างๆ ล้วนเป็นความอยากที่เป็นภัยมาก ซึ่งจริงๆแล้วชีวิตเราไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งเหล่านี้เลย มันไม่จำเป็นเลย แต่เราก็ไปยึดมันมาเป็นของเรา ทำให้ต้องเสียทั้งเงิน เสียเวลา เสียสติ หรือกระทั่งเสียชีวิต เพราะต้องวนเวียนอยู่ในสถานที่และเวลาที่ไม่สมควร

เราใช้เงินจากการทำงานหนักมาเพื่อเสพสิ่งไร้สาระเหล่านี้ นอกจากจะไม่มีประโยชน์ยังเป็นโทษอย่างมาก แต่เรากลับมองแต่ด้านประโยชน์ สูบบุหรี่แล้วโล่ง มีความสุข…แต่คนไม่สูบเขาก็สุขนะ กินเหล้าแล้วสบายใจได้ปลดปล่อย…แต่คนไม่กินเขาก็สบายใจนะ เป็นลักษณะของคนที่ต้องเสพจึงจะเป็นสุข แถมยังหลงไปอีกว่าคนอื่นไม่รู้หรอกว่าสุขเพราะเสพอย่างตนดีอย่างไร กลายเป็นทาสผู้จงรักภักดีต่อกิเลสแม้ว่ามันจะผลาญทรัพย์สิน สุขภาพ เวลา และชีวิตไปก็ตาม

2). สิ่งบันเทิง

การมัวเมาเสพสิ่งบันเทิงนั้นก็เป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ไม่ต่างกับอบายมุขเท่าไรนัก เช่นการดูละครน้ำเน่า การดูกีฬา เทศกาลดนตรี ละครเวทีที่นำเสนอเรื่องราวบันเทิงต่างๆ หลงคลั่งไคล้ดารานักแสดง สิ่งเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นในชีวิตเลยสักนิดเดียว ไม่มีสาระอะไร ถึงจะไม่ได้เสพก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือแย่ลง

แต่คนที่หลงมัวเมายึดสิ่งเหล่านี้ไว้จะมีความสุขความทุกข์ไปกับมัน เช่นเชียร์กีฬา พอฝ่ายที่เราเชียร์ทำแต้มได้ก็ดีใจ แต่พอเสียแต้มก็เสียใจ พอเขาทำไม่ถูกใจก็ขุ่นใจ มันหลงเอาตัวไปผูกกับเรื่องเล่นๆแบบนี้ ทั้งหมดนั้นมันเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ใช่เรื่องจริง เขาแข่งกันให้เราดู ให้เราบันเทิง มันเป็นสิ่งบันเทิงใจแบบหนึ่ง เป็นกิเลสแบบหนึ่ง ถึงเขาจะชนะหรือแพ้มันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชีวิตของเราเลย

ด้วยความที่เราหลงไปยึดมันหนักเข้าจนมัวเมา จึงกลายเป็นการทะเลาะกันระหว่างคนที่ชอบคนละฝ่าย มีการเย้ยหยัน กดดัน ดูถูกกัน ข่มกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่หลงมัวอย่างมาก จนกระทั่งมีการอวดกัน เอาชนะกัน ทะเลาะกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากันก็มีให้เห็นมาแล้ว ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกิดจากเรื่องเล่นๆ ไม่มีสาระ จะมีเรื่องเหล่านั้นหรือไม่มีก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชีวิตเรา แต่เราก็กิเลสหนา กิเลสเลยพาหาเรื่องเข้าไปเกี่ยวจนได้

3). อาหารการกิน

มีคนมากมายเสียเงินให้กับการกิน กินของเดิมๆก็ไม่พอใจ กิเลสมันไม่ยอม ต้องไปกินของอร่อยที่เขาว่าดีว่ายอด ต่อให้ต่างประเทศก็จะบินตามไปกิน มันหลงในการกินแบบนี้ หลงว่าการติดรสมันสุขมาก จึงยินดีลำบากเอาเงินที่มาจากการทำงานไปสนองกิเลสในเรื่องกิน เริ่มที่จะอยู่เพื่อกิน ไม่ได้กินเพื่ออยู่อีกต่อไป

สิ่งที่เรียกว่า “รสอร่อย” นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้คนหลงมัวเมากันมากที่สุด ไม่ว่าจะอาหารหรือเครื่องดื่ม ต่างก็มัวเมาคนด้วยกามคุณ ๕ คือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ในสมัยนี้ยังไม่พอ ยังล่อเราด้วยโลกธรรม เช่นกินอาหารแพงๆ อาหารหรูๆ อาหารที่คนธรรมดาไม่มีปัญญาจะกิน กลายเป็นคนที่หลงงมงายอยู่กับการกิน ชีวิตมีแต่เรื่องกิน

ทรัพย์ที่หามาก็ไปหมดกับเรื่องกิน ขอให้ได้กินของดี ของที่เขาว่าอร่อย ดูดี มีคุณค่า มีรสนิยม มีประโยชน์ แต่จริงๆจะมีคุณค่าหรือประโยชน์หรือเปล่าก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ความอร่อย ดูดีและรสนิยมนี่มันของลวงแน่นอน เป็นกิเลสแท้ๆ

4). ท่องเที่ยว

เป็นที่นิยมของคนในยุคนี้ มักจะเก็บเงินที่ทำงานหามาได้ยากลำบาก แลกกับการไปลำบากที่อื่น เพียงเพื่อจะได้เห็นดิน น้ำ ลม ไฟ ที่มีหน้าตาต่างไปจากบ้านตัวเอง

บางคนลงทุนไม่มากเที่ยวในประเทศก็ไม่เท่าไหร่ แต่บางคนเที่ยวในประเทศแล้วก็ยังไม่พอใจ มันเสพไม่อิ่ม กิเลสมันบอกไม่ให้พอ มันต้องไปเสพที่บ้านอื่นเมืองอื่นต่อ มันต้องไปที่นั้นที่นี้ กลายเป็นชีวิตเดินตามความฝันของกิเลสไปโดยไม่รู้ตัว เอาเงิน สุขภาพ และความเสี่ยงภัย ไปแลกกับการเสพอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

หลายคนมีข้ออ้างในการเรียนรู้ชีวิต แน่นอนว่าประโยชน์นี้ก็มีอยู่ แต่การเรียนรู้ชีวิตนั้นสามารถทำได้หลากหลาย สุดท้ายถ้าไล่กันจนจนมุมก็จะสรุปว่าชอบท่องเที่ยว จริงๆมันก็ติดเที่ยวนั่นเอง อยากไปเสพรสเสพเหตุการณ์บางอย่างที่แตกต่างออกไปจากที่ตัวเองเคยเสพ กิเลสมันก็อยากแบบนี้แหละ ต่อให้ไปทั่วโลกมันก็ไม่หยุดหรอกมันจะไปนอกโลกต่อแล้วก็กลับมาเจาะรายละเอียดในโลกต่อ วนเวียนไปมาหาเรื่องเที่ยวอยู่แบบนั้นแหละ

5). แต่งตัว

แต่งตัวนี่เป็นความฟุ่มเฟือยที่เป็นภัยอย่างลับๆ ภัยที่มาในรูปของสิ่งที่ดูดี หลายคนใช้เงินที่หามาทุ่มเทไปกับการทำร่างกายและเครื่องนุ่งห่มให้ดูดี ดูเด่น ดูน่าสนใจ เพราะต้องการสนองทั้งอบายมุข กาม โลกธรรม และอัตตาของตัวเอง มันก็เสพทุกอย่างในเวลาเดียวกันนั่นแหละ ติดกิเลสอยู่หลายเหลี่ยมหลายมุมซึ่งก็คงจะไม่ไขกันทั้งหมดในบทความนี้

แม้ว่าเราจะใช้เงินมากมายในการทำให้เกิดความสวยความหล่อความงามเหล่านั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประโยชน์กับชีวิต ถึงเราจะมองว่าความงามเหล่านั้นจะทำให้ชีวิตง่าย ทำงานสะดวก มีคนมาคบหา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความสิ่งที่เข้ามาในชีวิตเหล่านั้นจะดี

เมื่อเราแต่งตัวเพิ่มความงาม นั่นหมายถึงเรากำลังเพิ่มกำลังในการกระตุ้นกิเลสผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราไม่แต่งตัวโป๊ เขาคงไม่มองเรา พอเราแต่งโป๊เข้าหน่อยผู้คนก็เข้ามาจีบเราจนต้อนรับกันไม่ทัน นั่นเพราะเราไปกระตุ้นกิเลสเขา ไปทำให้เขาอยากเสพเรา ทีนี้แล้วยังไง? มันก็มีแต่ผีกิเลส มีแต่คนกิเลสหนาเข้ามาเท่านั้นแหละ ความคิดประมาณว่าเข้ามาเยอะๆแล้วคัดนี่มันใช้ไม่ได้นะ เพราะที่มาทั้งหมดนั่นก็พวกกิเลสหนาทั้งหมดนั่นแหละ เพียงแค่แสดงลีลาต่างกัน บางคนก็แอบไว้ บางคนก็เปิดเผย ใช่ว่าจะรู้กันง่ายๆ แต่ที่รู้ได้คือคนดีเขาไม่เข้ามาใกล้หรอก

สรุปก็คือเราฟุ่มเฟือยแต่งตัว ลงทุนไปเสริมความงาม ทั้งหญิงและชายก็มีมุมความงามในแบบของตัวเอง แต่สุดท้ายก็เหมือนกับการเสียเงิน เสียเวลาไปเพื่อลากสิ่งไม่ดีเข้ามาในชีวิตของตัวเองเท่านั้นเอง

6). การสะสม

การใช้เงินที่มีไปเพื่อการสะสม การได้รับนั้น แม้เป็นสิ่งที่สร้างสุขให้เมื่อได้รู้สึกครอบครอง แต่สุดท้ายจะกลายเป็นทุกข์ที่ขังให้หลงวนอยู่ในทุกข์ซ้ำทุกข์ซ้อนกับสิ่งเหล่านั้นไม่จบไม่สิ้น

ไม่ว่าเราจะสะสมตุ๊กตา ของชำร่วย ต้นไม้หายาก รถราคาแพง บ้านหลายหลัง ธุรกิจมากมาย รวมไปถึงลูกและคู่ครอง ฯลฯ การเพิ่มจำนวนของสิ่งที่สะสมหมายถึงเงินที่ต้องจ่ายไปและภาระในการดูแลที่มากขึ้น แต่ด้วยความหลง เราก็จะยินดีแลกเงินกับการครอบครองสิ่งเหล่านั้น ขอแค่ให้เรารู้สึกว่าได้มี ได้ครอบครอง แล้วเราก็จะเป็นสุข

เป็นลักษณะของความโลภ ที่ต้องหามาครอบครองจึงจะเป็นสุข แต่ครอบครองชิ้นเดียวก็ไม่พอ พอได้แล้วก็อยากได้มากขึ้น อยากสะสมมากขึ้น อยากได้สิ่งที่ยอดกว่ามาครอบครอง หลงใหลอารมณ์สุขของการได้ครอบครอง ได้มี ได้อวด แม้จะไม่ได้ประกาศก็แอบภูมิใจอยู่ในตนเอง ที่สามารถครอบครองสิ่งเหล่านี้ได้

และเมื่อสะสมมากภาระก็มากและทุกข์ก็จะมากตามไปด้วย ของเสียก็ต้องมาดูแล ของหายก็ต้องหา กลัวใครเขาจะมาขโมยแย่งเอาไป เป็นภาระเป็นทุกข์ให้กระวนกระวายอยู่ตลอดการสะสมนั่นเอง

7). ลาภยศและชื่อเสียง

สมัยนี้คนก็เอาลาภแลกลาภกันมาก เอาแบบหยาบๆก็การพนัน หวย หุ้นต่างๆ ยศก็ใช้เงินซื้อกันได้ ชื่อเสียงก็ใช้เงินแลกมาได้ แต่เมื่อเราแลกสิ่งเหล่านี้มาด้วยความโลภ แลกมาเพื่อที่เราจะได้เสพในลาภ ยศ สรรเสริญที่มากขึ้น นั่นหมายถึงการสะสมบาปและสร้างอกุศลกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ

ในมุมยศและสรรเสริญนี้ อาจจะไม่เห็นภาพเหล่านี้ในชีวิตประจำวันชัดเจนมากนัก แต่ถ้าลองมองให้ใหญ่ขึ้นเป็นในมุมขององค์กร บริษัท ธุรกิจ การลงทุน การเมืองการปกครองก็จะสามารถเห็นภาพเหล่านี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การเอาโลกียทรัพย์ไปแลกสิ่งเหล่านี้ก็เป็นธรรมดาของคนกิเลสหนาที่ยังวนอยู่ในเรื่องโลก เมื่อใช้กิเลสเป็นเป้าหมาย แม้ว่าในตอนแรกจะได้เสพสุข แต่ในท้ายที่สุดก็จะทุกข์ และจะทุกข์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการใช้ความโลภและอำนาจที่มีเข้าไปแย่งชิงโลกธรรมนั้นหมายถึงการไปเบียดเบียนผู้อื่น ทำให้เกิดการแย่งชิง แข่งขัน ทำร้ายหรือฆ่ากันได้

เมื่อเรามัวเมาไปกับลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขเหล่านี้ เราก็จะพยายามรักษาและประคองไม่ให้มันเสื่อม ใช้ทรัพยากรและสิ่งที่มีเข้าไปอุดรูรั่วของความเสื่อม แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ต้องเสื่อม เพราะโลกธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่สลับหมุนวนสับเปลี่ยนขั้วกันอยู่เสมอ

แม้ว่าโลกธรรมที่ได้มาโดยธรรมเช่น เราเป็นคนดีเขาจึงให้ ลาภ ยศ สรรเสริญ แต่ก็ไม่ได้หมายความสิ่งที่ได้มาโดยธรรมเหล่านี้จะไม่เสื่อมไป แม้เราจะไม่ได้หามาแต่ถ้าเรายึดติดและเสพสุขกับสิ่งเหล่านี้ มันก็จะทำให้เราแสวงหาในวันใดก็วันหนึ่ง

8). อัตตา

จริงๆแล้วการที่คนเราแสวงหาเงิน ทำงานเหนื่อยยากสุดท้ายก็ใช้เงินเหล่านั้นมาสนองกิเลส ก็คือการสนองอัตตาของตัวเองนั่นแหละ เพราะเรามีตัวตนให้ยึดว่าฉันจะต้องเสพสุขแบบนั้น ฉันจะต้องได้อันนี้ ฉันจะต้องเที่ยวแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้ กินแบบนี้ ใช้ชีวิตแบบนี้ มันก็เป็นอัตตาทั้งนั้น

อัตตานั้นยังมีการยึดในหลายระดับ ในระดับหยาบๆคือการยึดวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ ระดับกลางก็ยึดจิตที่ปั้นสุขขึ้นมาเอง หลงว่าเสพสิ่งนั้นแล้วมันจะสุข เช่นรสอร่อย รสสุขตอนเชียร์กีฬา ความสุขเมื่อได้เห็นพระอาทิตย์ยามเช้า เป็นความสุขที่จิตของเราปั้นขึ้นมาลวงเราเอง และในระดับละเอียดที่สุดนั้นจะเป็นการเสพสภาพสุขในอรูปภพ เช่นความมีศักดิ์ศรี เกียรติ ความเชื่อ ความเข้าใจ เช่นเข้าใจว่าคนระดับสูงอย่างเราต้องให้ทิปร้านอาหารเสมอ แบบนี้มันก็เป็นอัตตาที่พาเสียเงินได้แบบโง่ๆเหมือนกัน

สรุป

เมื่อเราเข้าใจว่าเรากำลังใช้ชีวิตของเรา ไม่ใช่ให้กิเลสใช้ชีวิตของเรา เราจึงควรพิจารณากิจกรรมส่วนเกินของชีวิตที่จะสร้างภาระและภัยให้กับตัวเอง

การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้หมายถึงการจะต้องเลิกทำงาน ละเว้นหน้าที่แต่อย่างใด หรือหมายเพียงแค่การที่เราเจียดเวลาเสาร์อาทิตย์ไปทำกุศล เข้าวัด ฟังธรรม ศึกษาธรรม สนทนาธรรมเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงการใช้ชีวิตไป ทำงานไป ล้างกิเลสไป สิ่งใดที่เป็นสิ่งที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเราก็ค่อยๆลด ค่อยๆเลิกไปตามกำลังที่ทำไหว

ถ้าเราไม่ถูกกิเลสจูง เราก็ไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินให้กับกิจกรรมสนองกิเลสเหล่านั้น เพราะแม้ไม่ได้เสพก็ยังเป็นสุขอยู่ เพราะสุขที่มีนั้นสุขกว่าเสพ การทำลายกิเลสจะให้ผลเช่นนี้ คือยินดีที่จะไม่เสพด้วยใจที่เป็นสุข อธิบายแบบนี้ก็คงจะงงกันไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องเร้นลับอะไร เพราะเป็นความจริงที่ปฏิบัติได้จริง ทำได้จริง ไม่ว่าความหลงติดยึดในสิ่งใดก็สามารถชำระล้างได้จริง

เมื่อเราไม่มีกิเลสมาเป็นตัวผลักดัน เราจะใช้ชีวิตอย่างประหยัด มีความสุขเพราะไม่ต้องหาเงินด้วยความโลภ ไม่เอาเงินเป็นเป้าหมาย สามารถเลือกงานได้มากขึ้น ผ่อนคลายมากขึ้น มีเงินเหลือเยอะขึ้น มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น ชีวิตโดยรวมดีขึ้นเมื่อปราศจากกิเลสไปโดยลำดับ ลดกิเลสได้บ้างก็ลดทุกข์ได้บ้าง ลดกิเลสได้มากก็ทุกข์น้อยมาก ทำลายกิเลสได้หมดเลยก็ไม่ต้องทุกข์จากกิเลสอีกเลย

ในชีวิตที่เราต้องหาเพื่อให้กิเลสกินใช้นี่ยังเรียกว่ามีภาระอยู่มาก แม้จะรู้ว่ากิเลสนั้นสร้างสุขลวงให้เราเสพแต่หลายคนก็กลับยินดีพอใจในรสสุขเพียงแค่นั้น หลงว่าสุขเท่านั้นคือสุขที่เลิศ ทั้งที่จริงมันมีสุขที่มากกว่า มากจนอธิบายไม่ได้

โดยนิยามแล้วเรียกว่า “สุขกว่าเสพ” คือไม่ต้องเสพก็ยังเป็นสุข แถมยังเป็นสุขมากกว่าคนที่ยังเสพ มันเป็นยังไง มันจะดีแค่ไหน มันมีด้วยหรือ โม้หรือเปล่า คิดไปเองรึไม่ ถ้าอยากรู้ก็ต้องลองปฏิบัติดูเอง เริ่มจากสิ่งหยาบๆเช่นอบายมุข การเที่ยวกลางคืน การท่องเที่ยว ฯลฯ สิ่งที่ทำให้เสียทรัพย์มาก เสียแรงงานมาก เสียเวลามาก เพียงแค่ลดกิเลสเหล่านี้ได้ก็สุขมากแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าถ้าทำลายกิเลสได้หมดจะสุขขนาดไหน

– – – – – – – – – – – – – – –

18.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

จิตว่าง

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,821 views 0

จิตว่าง

จิตว่าง

…ว่างจากอะไร?

จิตว่างเป็นคำที่ในยุคสมัยนี้นิยมกันมาก เพราะเป็นคำที่สั้น จำง่าย เหมาะกับยุคที่รวดเร็วร้อนแรงเช่นนี้อย่างยิ่ง แต่หลายคนมักจะมีนิยามของจิตว่างในใจที่ต่างกันออกไป มีการแตกประเด็นออกไปมากมายจากคำนี้ตามแต่ใจคน

เรื่องที่มาของคำนี้จะขอยกไว้ จะกล่าวแต่เพียงความเห็นที่ได้พบและประสบมาในปัจจุบัน เราอาจจะได้ยินคำว่าจิตว่างบ่อยครั้ง แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันว่างจากอะไร? แล้วมันว่างยังไง? ว่างแบบไหน? ต้องขนาดไหนถึงเรียกว่าว่าง? ว่างจริงๆมันเป็นอย่างไร?

จริงอยู่ที่ว่าสภาวธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบอกกล่าวไม่ได้ เพียงแค่บอกแล้วอาจจะไม่เข้าใจกันเท่านั้นเอง แต่การไขสภาพหรือบอกกล่าวกันไว้ให้เป็นหลักอ้างอิงก็ยังดีกว่าไม่ได้ชี้แจงอะไร เพราะหากเราจะเหมารวมทุกอย่างเป็นปัจจัตตังแล้วเก็บอมไว้ แล้วใครล่ะจะรู้ว่าสิ่งที่คิดและเข้าใจนั้นมันถูกต้องจริงไหม บางครั้งเราอาจจะไปยึดสภาพที่ยังไม่ถูกตรงนักมาเป็นผลก็ได้ใครจะรู้…

1). จิตว่างจากความทุกข์

จิตว่างจากทุกข์นี้เป็นประโยคที่ตีความได้ทั้งทางโลกและทางธรรม แต่น้ำหนักส่วนใหญ่น่าจะเป็นไปทางโลก เพราะการจะว่างจากทุกข์นั้นทำได้ไม่ยากนัก ไม่ต้องใช้ธรรมะ ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นเรากำลังทุกข์เพราะหิว การไปกินอาหารก็ทำให้ทุกข์นั้นหายไป จิตก็ว่างจากทุกข์แล้ว

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง กำลังรู้สึกหงุดหงิดใจเพราะทำเงินหาย แต่พอเดินไปดูละครมันก็ลืมเรื่องทุกข์ไปแล้ว มันก็กลายเป็นจิตว่างจากทุกข์ อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น กำลังอกหักแฟนที่รักและผูกพันมาทิ้งไป ก็ไปทำให้จิตว่างจากทุกข์ด้วยการเสพสุขอื่นๆให้มัวเมาจนลืมทุกข์

สภาพของจิตว่างจากทุกข์นั้นโดยทั่วไปก็สามารถใช้วิธีวิ่งไปหาสุขก็สามารถออกจากสภาวะทุกข์ได้แล้ว หรือถ้าจะใช้สมถะเข้ามาช่วยก็ได้เช่นกัน ความเข้าใจว่าจิตว่างจากทุกข์จะพาลให้เฉโก(ฉลาดในเรื่องสะสมกิเลส)พาชีวิตไปเสพแต่สุขโลกีย์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเข้าใจว่าต้องทำชีวิตให้สุข ต้องอยู่อย่างมีความสุข ไม่จมทุกข์

จริงๆแล้วจิตว่างจากทุกข์นั้นก็หมายถึงการคิดบวก การคิดในแง่ดี มองโลกในแง่ดีทั่วไป แม้ทางภาษาอาจจะต่างกันแต่สภาวะนั้นเป็นแบบเดียวกัน

ในส่วนจิตว่างจากทุกข์ในระดับทางธรรมนั้นจะต่างออกไป คำว่าว่าง คือไม่มี ว่างจากทุกข์คือไม่มีทุกข์เลย ทุกข์ในที่นี้คือทุกข์ทางใจเท่านั้น และผู้ที่จะเกิดสภาพนี้ได้คือผู้มีสภาวะของพระอรหันต์เท่านั้น เข้าใจง่ายๆแค่ว่าไม่มีกิเลสก็ไม่ต้องทุกข์ ดังนั้นมันจึงว่างจากทุกข์

2). จิตว่างจากความคิด

เป็นอีกความหมายหนึ่งของจิตว่างที่ได้ยินบ่อย หลายคนตีความว่า “สุขก็เพราะความคิด ทุกข์ก็เพราะความคิด” ก็เลยหาวิธีดับความคิดเสียเลย

การทำให้จิตว่างจากความคิดปรุงแต่งหรือการสังขารนั้น โดยทั่วไปมักจะใช้วิธีการสมถะเข้ามาจัดการกับความคิด ใช้อุบายทางใจที่สารพัดจะคิดขึ้นมา ตบ ดับ กดข่ม เมินเฉย ดูเฉยๆ รอจนดับไป หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้เราไม่ต้องไปยุ่งกับความคิดเหล่านั้นซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นวิธีของสมถะ

ในสมัยนี้วิธีสมถะนั้นมีมากมาย ที่รู้กันโดยทั่วไปก็จะมีนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพ่งกสิณ จดจ่ออยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ก็มีการพัฒนาวิธีขึ้นให้เหมาะกับจริตของคนที่หลากหลายขึ้นเช่นการขยับตัวไปในท่าต่างๆ ย้ายจิตไปจดจ่อกับสิ่งอื่น ทิ้งผัสสะที่เกิดขึ้นแล้วไปสนใจสิ่งอื่น จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำโดยไม่คิด ไม่ปรุงแต่งใดๆ

การฝึกสมถะจะได้ผลเป็นฌานอยู่เหมือนกันแต่จะเป็นฌานฤๅษี เกิดจากการทำให้จิตจมไปอยู่ในภพใดภพหนึ่งและจมลึกไปเรื่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ ดับตั้งแต่สังขาร(ความคิด) ดับสัญญา(ความจำได้หมายรู้) จนเกิดเป็นสภาพที่จิตว่างจากความคิด เกิดความสงบ เป็นความสุขที่เกิดจากความทุกข์ที่ถูกดับทิ้งจากการคิดฟุ้งซ่านนั่นเอง

การทำสมถะในสมัยนี้ก็มีรูปแบบให้เห็นอย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น “สมถะลืมตา” คือทำสมถะทั้งที่ลืมตาและใช้ชีวิตนั่นแหละ ใช้ชีวิตได้แบบคนปกติเลย ไม่ต้องไปนั่งสมาธิ แต่ก็ใช้วิธีของสมถะดับความคิดไปด้วย จนบางครั้งมีหลายคนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา ซึ่งจริงๆแล้วมักจะไม่ได้เกี่ยวกับการวิปัสสนาเลย เป็นสมถะแท้ๆเพียงแค่ไม่ได้ทำเหมือนที่เข้าใจโดยทั่วไป

เมื่อสามารถทำจิตว่างจากความคิดได้แล้วเกิดความสุขความสงบ หลายคนจึงปักมั่นในสภาวะนั้นว่าคือผลเจริญของพุทธ จริงๆแล้วไม่ใช่เพราะการปฏิบัติแบบสมถะหรือแบบฤๅษีก็มีผลเจริญและสงบแบบฤๅษีเช่นกัน มันมีความสุขจริง มันว่างจริง ซึ่งมักจะพาให้เข้าใจผิดกันไปได้

หลายคนพอใจที่ตัวเองทำจิตว่างจากความคิดได้ จนสามารถควบคุมความคิดได้ แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าวิธีนั้นคือวิธีพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นความประมาทที่ค่อนข้างมาก เพราะลืมพิจารณาไปว่าความคิดเหล่านั้นมันเกิดขึ้นเพราะอะไร อะไรคือตัวการที่ทำให้คิด ทำไมมันจึงทุกข์เมื่อคิด สิ่งเหล่านี้มักจะถูกมองข้ามไป เพราะหลงเสพหลงยึดเพียงความสงบด้วยความว่างจากความคิดนั่นเอง

3). จิตว่างจากตัวตน

เป็นอีกลักษณะความเข้าใจที่มักจะพบเห็นได้โดยทั่วไป เพราะเขาเหล่านั้นเห็นว่าการมีอัตตาเป็นทุกข์ ก็เลยทำให้เป็นอนัตตาเสียเลย ปราศจากตัวตนเสียเลย ว่างจากตัวตนเสียเลยก็น่าจะดี

จริงๆแล้วการใช้ตรรกะหรือความคิดเข้าไปกำหนดสภาวะมันก็ดูจะเป็นอะไรซื่อๆไปสักหน่อย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนยึดมั่นถือมั่นการใช้ภาษาเข้ามากำหนดสภาวธรรม เพราะจริงๆแล้วการทำลายอัตตาจนกลายเป็นอนัตตานั้นไม่ได้ง่ายเพียงแค่คิด เพียงแค่กำหนดจิต เพียงแค่หมั่นกระทำจิตให้ไม่ถือตัวถือตน มีอะไรมากระทบก็วางเฉย เห็นว่าเป็นเช่นนั้นเองมันก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเช่นนั้นเอง สิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของเราก็เท่านั้นเอง มันคิดและท่องจำเอาแบบนี้ไม่ได้

การกระทำเหล่านั้นแท้จริงก็อยู่ในลักษณะของสมถะ เป็นการทำสมถะที่ใช้ธรรมะเข้ามาเป็นกรรมฐาน ใช้เป็นบทบริกรรมแทนพุท-โธทั่วไป ซึ่งจะดูซับซ้อนกว่าวิธีสมถะทั่วไปอยู่บ้าง แต่การคิดพิจารณาเป็นรูปแบบเดิมๆ ซ้ำแบบเดิมๆ เพื่อให้จิตเข้าสู่ภพใดภพหนึ่ง หรือสภาพใดสภาพหนึ่งก็เป็นสมถะอยู่ดี ยังไม่ได้เข้าวิปัสสนาแต่อย่างใด

ความเห็นเช่นนี้มักจะมีคนสนใจมาก แม้คนที่เชื่อเช่นนี้ก็จะดูดีมาก ดูเหมือนคนไม่ยึดมั่น ไม่มีอัตตา ดูเหมือนสามารถปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ จริงๆแล้วก็เหมือนฤๅษีที่ทำสมถะ ทำสมาธิจนเป็นฌานทั่วไปนั่นแหละ มันก็จะมีความสุข ความสงบที่เกิดขึ้นเช่นกัน

แต่การเข้าใจว่าจิตว่างจากอัตตาแล้วใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้การตรึกตรองในความไม่มีอัตตาแล้ว อาจจะให้ผลเสียที่ร้ายสุดท้ายก็ได้ เพราะการที่เราคิดหรือหมายมั่นว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือการไม่มีอัตตาตั้งแต่แรกคือการเอาตอนจบมาทำตั้งแต่แรก ซึ่งขัดกับหลักของพุทธ เพราะศาสนาพุทธนั้นต้องปฏิบัติไปโดยลำดับ จากหยาบ กลาง ละเอียด

แน่นอนว่าก่อนจะไปถึงการไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือไม่มีอัตตานั้น จะต้องทำลายทางโต่งไปทางด้านกามเสียก่อนถึงจะมีผลเจริญจริงๆ แต่ในเมื่อเราใช้ความเห็นผิดเข้ามาเป็นตัวปฏิบัติ ใช้กรรมฐานเข้ามากดข่มให้เกิดสภาพอนัตตาหลอกๆ ก็เหมือนเราข้ามขั้นตอน เหมือนข้อสอบที่มีคำถามสองหน้า แต่เราพลิกไปทำหน้าหลังแล้วส่งเลย

ธรรมะก็เช่นกัน กามนั้นมีภัยมาก หลายคนที่ทำตัวให้รู้สึกว่าเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่แรกก็จะหลงกลายเป็นว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในการละกามเสียเลย มองว่าการไปละกามนั้นคือตัวตนก็ว่าได้ กลายเป็นมองว่าไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนให้ยึดมั่นถือมั่น

สุดท้ายก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย จริงๆแล้วก็เหมือนคนธรรมดาที่ยังเสพกามนั่นแหละ แต่แย่กว่าตรงที่หลงผิด หลงผิดทั้งลำดับการปฏิบัติ หลงผิดทั้งสมถะวิปัสสนา หลงผิดทั้งอัตตา-อนัตตา คือไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย มาถึงก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น สุดท้ายก็เสพกามแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำชั่วแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็เพี้ยนไปอย่างนั้นเอง

จิตว่างจากตัวตนแท้นั้นก็มีผลอยู่แต่จะอธิบายอยู่ในหัวข้ออื่นต่อไป…

4). จิตว่างจากปัญญา

จิตว่างแบบนี้ที่จริงแล้วไม่มีอยู่หรอก ไม่มีใครบัญญัติไว้ สร้างขึ้นมาใหม่ในบทความนี้เพื่อเป็นตัวสรุปของความผิดพลาดในการปฏิบัติธรรมจนหลงผิด

วิธีการปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนั้นมีมาก หลายคนแม้จะเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดมรรคผลตามหลักศาสนาพุทธ แน่นอนว่าการปฏิบัติที่เพียรพยายามนั้นต้องการผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนก็จะนำมาซึ่งผลที่ผิดเพี้ยนเช่นกัน

ผู้มีมรรคผลที่ผิดเพี้ยนมักจะไม่รู้ตัว เพราะคนที่มิจฉาทิฏฐิจะไม่มีทางรู้ตัวอยู่แล้ว ก็จะเชื่อว่าตนเองนั้นสัมมาทิฏฐิ เชื่อว่าการปฏิบัติของตนนั้นถูกต้อง พ้นทุกข์ได้จริง ปฏิบัติได้จริง มีผลจริงๆ สภาพที่เห็นจะเหมือนกับการปฏิบัติแบบพุทธเลย แต่นามธรรมภายในจะต่างกัน เรียกว่าสัญญาเดียวกันกายต่างกัน

คือจะใช้ศัพท์ ภาษา สมมุติเหมือนกันหมด เรียกสภาวะอย่างเดียวกัน สงบก็สงบเหมือนกัน ว่างก็ว่างเหมือนกัน ดับก็ดับเหมือนกัน ดังนั้นเวลาคุยกันก็จะเหมือนว่าบรรลุธรรมพ้นทุกข์กันจริงๆ แต่ไม่มีใครรู้จริงหรอกว่าสภาพจิตใจที่เกิดนั้นถูกจริงหรือผิดเพี้ยนไป ใครจะรู้ในเมื่อมิจฉาทิฏฐิก็หลงว่าตัวเองสัมมาทิฏฐิ จึงมีผู้บรรลุธรรมเต็มประเทศไปหมด แล้วคนไหนของจริง คนไหนของปลอม ใช้อะไรแยก จะรู้ได้อย่างไร คนนั้นก็อวดว่าตนจริง แล้วก็ชี้ว่าคนอื่นปลอม มันก็มีให้เห็นแบบนี้บ่อยๆ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สัมมาอริยมรรคนั้นเป็นทางเอกทางเดียวที่พาพ้นทุกข์ เราสามารถใช้มรรคที่ถูกตรงนี้เป็นตัววัดได้คร่าวๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีหลายสำนักหลายกลุ่มที่อ้างว่ามรรคของตนถูก แน่นอนว่ามีทั้งถูกและผิด มิจฉาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรค สัมมาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรคและเกิดสภาพจิตว่างเหมือนกันด้วย

กลับมาที่หัวข้อ ในหัวข้อนี้คือ “จิตว่างจากปัญญา” ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่มีปัญญา ดังนั้นจิตที่ว่างจากปัญญาจึงไม่ใช่พุทธ ปัญญาในทีนี้นั้นไม่ใช่ปัญญาที่เพียงแค่ทำให้มีความสงบ ความสุข ความว่างจากความคิด ความว่างจากตัวตนโดยใช้ความคิด แต่เป็นปัญญาที่ทำให้สงบจากกิเลส ชำระกิเลส ดับกิเลส

การดำเนินตามสัมมาอริยมรรคนั้นหมายถึงทางที่พาไปสู่ความเจริญเพียงอย่างเดียว ทางที่พาลดละกิเลส สวนกระแสโลก ทางที่พาให้คิดดี พูดดี ทำดี ทำงานดี ดังนั้นการไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำนั้นไม่ใช่วิธีปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ การที่จะเดินทางไปสู่ความผาสุกจะต้องคิด พูด ทำ

แล้วมันต้องคิด พูด ทำอะไร? ก็คือคิดไปในทางลดกิเลส พูดแต่เรื่องลดกิเลส ทำแต่สิ่งที่พาลดกิเลส

แล้วมันจะคิด พูด ทำ อย่างไร? แบบนี้มันก็ต้องมีปัญญา คนที่ปฏิบัติยังไม่ถูกทางก็จะไม่มีปัญญา จิตก็เลยว่างจากปัญญา กลายเป็นคนไม่มีปัญญา แม้จะมีความสุข ความสงบ ความไม่มีตัวตน แต่กลับไม่มีปัญญารู้ในเรื่องลดกิเลส ไม่มีปัญญาจัดการกับกิเลส ไม่รู้แจ้งเรื่องกิเลส ก็เรียกได้ว่า “จิตว่างจากปัญญา

5). จิตว่างจากกิเลส

มาถึงประเด็นหลักกันเสียที ถ้าจะให้คำว่าจิตว่างมันถูกตรง ถูกตามพุทธนี่มันก็ต้องว่างจากกิเลสนี่แหละ แต่สภาวะว่างจากกิเลสนั้นก็ยังมีคนหลงผิดกันไปมาก ก็จะขอขยายตรงนี้กันให้เข้าใจกันเสียก่อน

เรามักจะเข้าใจว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นคือกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความโลภ ฯลฯ ซึ่งก็ถูกต้องเช่นนั้น แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นกิเลสปลายเหตุ หลายคนสามารถดับความโกรธที่เกิดขึ้นได้แล้วหลงเข้าใจไปว่า เรานี่ว่างจากกิเลสแล้ว ซึ่งจริงๆมันก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้นเสียทีเดียว

การดับความโกรธ ความคิด ความฟุ้งซ่านต่างๆได้ ถ้าเราใช้วิธีสมถะก็สามารถดับทิ้งไปได้แล้ว ยังไม่ได้เข้าหลักการลดกิเลสแต่อย่างใด เป็นเพียงการใช้สมถะเข้ามาตบกิเลสที่ฟุ้งขึ้นมาให้ดับลง ทำให้กิเลสที่แสดงตัวนั้นดับลงเท่านั้น จริงๆแล้วคนที่ทำได้แบบนี้ก็ถือว่าดีแล้ว เก่งแล้ว แต่ก็มักจะหลงเข้าใจว่า สิ่งนี้เรียกกว่าการดับกิเลส หรือจิตว่างจากกิเลส ซึ่งจริงๆเรื่องกิเลสมันไม่ได้ตื้นเขินแบบนั้น มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น

การที่จะจิตว่างจากกิเลสได้ ต้องปราศจากกิเลสใดๆในเรื่องนั้นๆเลย ถ้าว่างได้หมดก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้นเอง แต่การจะว่างได้ก็ไม่ได้ว่างเพียงแค่ดับปลายเหตุ แต่ต้องขุดลึกลงไปถึงต้นเหตุที่เรียกว่าสมุทัย

โดยทั่วไปเรามักจะมองง่ายๆ แบบตื้นๆว่า ทุกข์เกิดเพราะเราโกรธเพราะเรามีตัวตน พอเราดับความโกรธดับตัวตนก็ไม่ต้องทุกข์ แบบนี้ใช้สมถะก็ได้ ฤๅษีก็ทำได้ยังไม่ต้องเข้าพุทธ ซึ่งหมายความว่าวิธีดับที่เหตุนี่ยังไม่ใช่พุทธนั่นเอง

แต่ถ้าวิธีของพุทธจะมองสมุทัยลึกลงไปอีก เช่น เราเกิดทุกข์เพราะเราโกรธ แล้วเราทำไม่จึงโกรธ เพราะเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพสมใจใช่ไหม แล้วเราอยากเสพสิ่งนั้นไปทำไม เราติดสุขอะไร …. การหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีรูปแบบแน่ชัดนัก ขึ้นอยู่ว่าใครสะสมกิเลสมาหนาขนาดไหน ซับซ้อนขนาดไหน แต่ละคนก็จะมีเหลี่ยมมุมในการวิเคราะห์กิเลสที่แตกต่างกัน เพราะเราชอบต่างกัน ยึดติดต่างกัน เรามีตัวตนที่ต่างกันไปตามกรรมของแต่ละคน

ดังนั้นการปฏิบัติธรรมนั้นจึงไม่มีสูตรสำเร็จใดๆให้ท่องจำแล้วทำตามจึงจะบรรลุธรรม แต่เป็นการปฏิบัติไปเพื่อล้างกิเลสที่เป็นของตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเอาเอง ทำเอาเอง ตามรูปแบบของกิเลสตัวเอง จะมีก็เพียงหลักพื้นฐานเพื่อให้พิจารณาเช่น ไตรลักษณ์ ประโยชน์และโทษ กรรมและผลของกรรม

แต่การพิจารณานี้ไม่ได้พิจารณากันที่ผลที่เกิด แต่ต้องพิจารณาไปที่สมุทัย ที่กิเลสที่ซ่อนอยู่ลึกๆ เหมือนกับการแก้ปัญหาให้ถูกจุด ถ้าเราไปใช้ไตรลักษณ์ ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน กับความโกรธที่เป็นผลปลายเหตุ มันก็จะเข้าลักษณะของสมถะเท่านั้นเอง

เพราะแท้จริงแล้วการจะได้มาซึ่งจิตว่างจากกิเลสไม่ใช่ด้วยการท่องจำ หรือใช้กรรมฐานต่างๆ พอเราเจอตัวกิเลสจริงๆ มันจะพิจารณาไตรลักษณ์ไม่ออก เมื่อเรายึดติดเราจะรู้สึกว่ามันเที่ยง ไม่เป็นทุกข์ มันเป็นตัวตนของเรา กิเลสจะไม่ยอมให้เราเห็นต่างจากนี้ ถึงแม้เราจะท่องด้วยภาษา แต่จิตเราไม่ได้ลดกิเลสจริง มันก็จะติดจะยึดอยู่แบบนั้นเอง นี่แหละคือความจริงของการปฏิบัติธรรม รู้จริง เห็นจริง ในทุกเหลี่ยมมุมของกิเลสกันเลย

ทีนี้พอปฏิบัติเพื่อชำระล้างกิเลสเป็นแล้ว เข้าใจอริยสัจ ๔ ,สัมมาอริยมรรคแล้ว ก็จะเดินหน้าลุยล้างกิเลสลูกเดียว มีกิเลสไหนสู้ไหวก็จะสู้ ไม่ปล่อยทิ้งให้เวลาเสียเปล่า จนเกิดเป็นผลจริง เกิดความว่างจากกิเลสจริง

แล้วว่างจากกิเลสในเรื่องไหน? ก็ว่างจากกิเลสในเรื่องที่ตั้งศีลเพื่อปฏิบัติ แล้วปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ใช้ไตรสิกขาเพื่อข้ามสามภพคือ กามภพ รูปภพ อรูปภพของกิเลสนั้นๆ จนกระทั่งกิเลสตาย

เมื่อกิเลสตายจึงว่างจากทุกข์ ว่างจากความคิดที่เจือปนด้วยกิเลส ว่างจากอัตตาตัวตนเพราะไม่ยึดมั่นทั้งกามและอัตตา จิตว่างที่แท้จริงมันว่างแบบนี้ มันว่างจากกิเลสเช่นนี้

6). สรุป

จริงๆแล้วคำว่า “จิตว่าง” คือสภาพของผล คือผลที่เจริญแล้ว คือการปฏิบัติที่เห็นผลแล้ว แต่หลายคนที่หลงผิดกลับเอา “จิตว่าง” มาเป็นมรรค คือใช้จิตว่างมาเป็นตัวปฏิบัติ พยายามให้จิตที่มีนั้นว่าง โดยมากก็ใช้วิธีสมถะทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อใช้มรรคที่ผิดจากทางพุทธ ผลก็ผิดจากทางพุทธไปด้วยเช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

12.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)