พ่อครัวแม่ครัว จะกินมังสวิรัติได้อย่างไร?

October 8, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,352 views 0

พ่อครัวแม่ครัว จะกินมังสวิรัติได้อย่างไร?

พ่อครัวแม่ครัว จะกินมังสวิรัติได้อย่างไร?

หลายคนที่คิดจะมากินมังสวิรัตินั้นมักจะประสบปัญหาเกี่ยวกับความไม่สอดคล้องในด้านของอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นพ่อครัวแม่ครัว พ่อบ้าน แม่บ้าน หรือในสายงานใดที่เกี่ยวกับอาหารที่ต้องอยู่กับเนื้อสัตว์ก็ตาม

เราจะเห็นได้ว่าอาชีพเหล่านี้ต้องทำอาหารเพื่อไปเลี้ยงคนอื่น จึงจำเป็นต้องสัมผัสกับเนื้อสัตว์อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ตนรู้สึกว่าไม่สามารถกินมังสวิรัติได้ แต่ในความจริงนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ในสาขาอาชีพใด เราก็สามารถที่จะกินมังสวิรัติได้

การถือศีลกินมังสวิรัตินั้นเราไม่ได้ถือเพื่อให้เราได้กุศลเพียงอย่างเดียว แต่เราถือไว้เพื่อขัดเกลากิเลสของเรา ดังนั้นประเด็นอยู่ที่ว่าในแต่ละคำที่เราชิม ในแต่ละครั้งที่เราปรุง ในแต่ละเมนูเนื้อสัตว์ที่เราทำ เรามีความอยากเสพในสิ่งนั้นหรือไม่ ถ้าคนจับประเด็นหลักของการถือศีลไม่ได้ ก็จะถือศีลอย่างยึดมั่นถือมั่น ยึดศีลจนเป็นทุกข์ จนกระทั่งเลิกถือศีลเพราะไม่เข้าใจแก่นสารสาระในการถือศีล

อาชีพพ่อครัวแม่ครัว ถือเป็นอาชีพที่จะได้สู้กับกิเลสในหมวดของมังสวิรัติ คือความอยากกินเนื้อสัตว์บ่อยกว่าคนอื่น โดยทั่วไปตามปกติแล้วเราจะกินวันละ 3 มื้อ ก็จะได้มีโอกาสเจอกับกิเลสอย่างน้อยวันละ 3 ครั้งด้วยกัน แต่พ่อครัวแม่ครัวจะต้องเจอกับกิเลสในทุกๆเมนูที่ทำ ในทุกเมนูที่ชิม ให้เราหมั่นสังเกตุว่าทุกครั้งที่เราชิม เราอร่อยกับมันหรือไม่ เราติดใจในรสชาตินั้นหรือไม่ เราเอาเนื้อสัตว์มาเคี้ยวแล้วเราอยากกินคำต่อไปหรือไม่ เราเคี้ยวแล้วเราคายทิ้งไปได้หรือไม่ (เอาไปให้หมาแมวกินต่อก็ได้) เรายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่หรือไม่

เป็นการดำรงชีวิตที่มีการกระทบกับกิเลสบ่อยครั้งกว่าคนทั่วไปมาก หากพ่อครัวแม่ครัวใช้โอกาสนี้ในการปฏิบัติศีลมังสวิรัติ ก็จะสามารถก้าวหน้าได้ไวกว่าคนทั่วไป เพราะคนเรานั้นจำเป็นต้องมีการกระทบหรือ “ผัสสะ” เป็นอาหารเพื่อความเจริญทางด้านจิตใจ เมื่อมีผัสสะมาก ก็มีโอกาสที่ผัสสะเหล่านั้นจะช่วยขุดคุ้ย ล้วงกิเลสออกมาให้เราได้เห็นแต่บางทีถ้ามากเกินไปจนเกินทนไหวก็อาจจะต้องแพ้พ่ายให้กับกิเลสเหมือนกัน ดังนั้นสมถะหรือพลังในการกดข่ม หรือพลังในการตัดความอยากจึงจำเป็นต้องมีให้มากในเบื้องต้น

ถึงแม้เราจะหมดความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นไปแล้ว แต่รสชาติที่เราได้รับมันก็ยังเหมือนเดิม มันจะยังมีเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม เผ็ด ฯลฯ อยู่เหมือนเดิม แต่ความอยากกินจะไม่มี จะชิมเมนูเนื้อสัตว์แต่ไม่กินก็ได้ หรือจะกินแค่คำเดียวเลิกก็สามารถทำได้โดยที่ใจไม่กลับไปโหยหวนดังนั้นไม่ต้องกังวลว่ารสชาติอาหารของเราจะเปลี่ยนไปเมื่อเรากินมังสวิรัติ

ผู้ประกอบอาชีพพ่อครัวแม่ครัวหลายคนก็มักจะเป็นผู้ออกแบบอาหารในตัวเองด้วย การทดลองทำอาหารใหม่ๆนั้นเป็นคุณสมบัติทั่วไปของพ่อครัวแม่ครัวอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงควรเฝ้าศึกษาเมนูมังสวิรัติ ทดลอง สร้างสรรค์เมนูมังสวิรัติที่ทำให้คนอื่นเข้าถึงการลดเนื้อกินผักได้ง่าย ซึ่งจะเป็นบุญกุศลทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ตัวเองก็ไม่ต้องทำอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ ไม่ต้องมาชิมเนื้อสัตว์ คนอื่นเขาก็มีทางเลือกในการลดเนื้อกินผักมากขึ้น เป็นการเกื้อหนุนตนเองและสังคมไปสู่ความเจริญร่วมกัน

มาถึงแม่บ้านพ่อบ้าน ที่ต้องทำอาหารเลี้ยงคนในครอบครัว ก็มักจะบอกว่ากินมังสวิรัติไม่ได้ เพราะคนในครอบครัวยังกินเนื้อสัตว์ ในส่วนนี้เราจะสามารถบริหารจัดการอาหารการกินได้ดีกว่าคนอื่นในบ้านมากเพราะเราเป็นคนทำอาหาร เราก็ทำอาหารจานเนื้อสัตว์ให้คนในครอบครัวตามเดิม แต่ก็ใส่ผักเพิ่ม หรือมีเมนูผักเพิ่มสำหรับตัวเราเอง แต่ละวัตถุดิบที่ใส่ลงไปในแต่ละเมนูอาหาร เราต้องหมั่นเฝ้าดูตัวเองว่าเราอยากกินหรือคนอื่นเขาอยากกิน ถ้าคนอื่นอยากกิน เราก็ใส่ไปโดยค่อยๆลดปริมาณเนื้อสัตว์ลงทีละน้อย และเพิ่มผักให้เป็นทางเลือกของเขาถ้าเขาไม่ไหวอยากกินเนื้อเราก็ซื้อมาทำให้เขากิน ขัดเกลาเขาพอประมาณ ไม่ตามใจมากเกินไป และไม่ทำให้เขาลำบากใจมากเกินไปจึงจะเจริญ

คนในครอบครัวจะมากินผักตามเราก็ได้ ไม่กินก็ได้ แต่เราก็ไม่ต้องไปทุกข์กับการที่เขาไม่มากินมังสวิรัติ เราก็กินของเราไปคนเดียว กินร่วมโต๊ะกันไปเหมือนปกติ มีเมนูเนื้อสัตว์ เราก็เขี่ยเนื้อสัตว์ออก ตักผักเข้ามากินแทน หรือใช้วิธีการกิน “มังเขี่ย” ไปเรื่อยๆ

เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าการถือศีลกินมังสวิรัตินั้น เป็นการปฏิบัติที่ใจ ที่ใช้ความพยายามสู้กับกิเลส ปฏิบัติใจจนเจริญไปสู่การสำรวมกายไปไม่เสพเนื้อสัตว์ ดังนั้นไม่ว่าจะอาชีพไหนก็ไม่เห็นว่าเราจะมีข้ออ้างในที่จะไม่กินมังสวิรัติที่ดีได้เลย แม้แต่คนที่เขาทำอาชีพชำแหละเนื้อสัตว์ก็สามารถที่จะกินมังสวิรัติได้

…ถ้าใจของเขานั้นไม่ได้อยากกินเนื้อสัตว์

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เมื่อของสะสมกลายเป็นภาระ

October 4, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 10,319 views 6

เมื่อของสะสมกลายเป็นภาระ

เมื่อของสะสมกลายเป็นภาระ

เมื่อใช้ชีวิตกันมาจนถึงวันนี้ หลายคนก็คงจะมีของสะสมที่ตนเองรักและหลงใหลกันไม่มากก็น้อย เรามักจะใช้เวลาเสพสุขอยู่กับการสะสมรวบรวมสิ่งที่เราชอบ จนกระทั่ง….ความตายได้มาถึง

ความตายในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเสียชีวิตไปเท่านั้น แต่หมายถึงสภาพที่พรากจากความรู้สึกนั้น พรากจากสิ่งนั้น หรือกิเลสนั้นได้ตายไปจากเราก็ได้

แต่ก่อนผมเองก็เป็นคนที่ชอบสะสมของอยู่มากเหมือนกัน ที่พอจะนำมายกตัวอย่างได้ก็คงจะเป็นกระบองเพชร หรือที่เรียกกันว่า แคคตัส ผมเองเคยชอบกระบองเพชรมาก ชอบทดลองใช้วิธีต่างๆในการเลี้ยง ดูแล ผสมพันธุ์ ขยายพันธุ์ จนสร้างความรู้ใหม่ๆมากมายให้กับตัวเองและนำความรู้ไปพิมพ์บทความเผยแพร่ได้อีกด้วย

ผมเคยฝัน เคยหวังไว้ว่าวันหนึ่งจะประกอบธุรกิจด้วยกระบองเพชร และไม้ประดับชนิดอื่นๆที่ได้ศึกษามา ใช้เวลากับการขายสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญ สิ่งที่ตัวเองถนัด และสิ่งที่ตัวเองชอบ ดูไปแล้วก็เหมือนจะเป็นงานในอุดมคติ เป็นงานในฝัน เป็นงานที่ดูเหมือนจะไม่ต้องทำงานอีกเลยตลอดชีวิต เพราะทำงานอยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบ และตลาดก็มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความรู้ทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว ขาดแต่ปัจจัยคือสถานที่ปลูก

ต่อมาไม่นานนัก ชีวิตผมก็มีโอกาสศึกษาธรรมะมากขึ้น ปฏิบัติธรรมมากขึ้น จนเข้าใจชีวิตมากขึ้น ความฝันในวันวานที่พึ่งผ่านมาไม่กี่ปี กลับกลายเป็นสิ่งไร้ค่าไปในทันที ความรู้สึกรักหรือสนใจ ในการทำธุรกิจไม้ประดับนั้นค่อยๆ จางคลาย ถอยห่างจากชีวิตผมไปอย่างช้าๆ จนกระทั่งความรู้สึกยินดีในธุรกิจเหล่านั้นได้ตายลงอย่างสนิท ผมไม่มีความรู้สึกอยากจะขายต้นไม้อีกเลยแม้ว่าในตอนนี้ผมจะได้รับพื้นที่ปลูกที่กว้างใหญ่ แต่ผมกลับเลือก…ที่จะไม่ทำสิ่งนั้นอีก

…แล้วต้นไม้ที่เพาะไว้มากมายทำอย่างไร…

เมื่อความอยากนั้นได้จางคลายและตายจากไป สิ่งที่เคยสะสมไว้กลับกลายเป็นภาระในที่สุด จากที่เคยเป็นของมีค่า แต่ตอนนี้กลับไร้ค่าในสายตาของผม ปริมาณของมันมากเหลือเกิน ผมปล่อยมันตายไปตามธรรมชาติบ้าง เอาไปขายแบบลดแลกแจกแถมบ้าง เอาไปทำปุ๋ยบ้าง เอาไปปลูกที่ต่างจังหวัดบ้าง หาวิธีให้มันกระจายออกจากบ้านที่กรุงเทพฯเพื่อที่จะให้ภาระนี้ได้หมดไป

การกำจัดภาระนี้กลายเป็นเรื่องยาก เพราะถ้าแจกแบบไม่ดูตาม้าตาเรือก็จะกลายเป็นการเพิ่มกิเลสให้คนอื่น จะขายก็ลำบากลำบน เพราะใจมันไม่เอาแล้ว ใจมันไม่ได้รักเหมือนก่อน ทำไปก็มีแต่ความรู้สึกทุกข์ที่เกิดจากการกำจัดภาระเหล่านี้ กว่าที่ผมจะคิดวิธีแจกจ่ายออกไปได้อย่างเหมาะสมก็ใช้เวลาหลายเดือน

ความรู้สึกมันเหมือนกับคนที่หมดรัก ให้ดีอย่างไร แม้จะเคยชอบ เคยหลงอย่างไรก็ไม่เอาแล้ว แต่ก่อนมันหลงด้วยกิเลส แต่ตอนนี้กิเลสมันจางหาย และตายลงไป พอเห็นความจริงตามความเป็นจริงก็เลยรักมันไม่ลง เพราะรู้แล้วว่ายิ่งทำ ยิ่งเก็บ ยิ่งสะสม ปล่อยไว้ต่อไปก็จะกลายเป็นภาระ เป็นโทษ เป็นภัยกับตัวเองมากขึ้น

กระบองเพชรได้เข้ามาสอนให้ผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง หลายขั้นตอนเป็นงานที่ละเอียด เช่นการต่อกิ่ง ซึ่งทำให้ผมได้พัฒนาทั้งสมาธิ และวิธีการคิดว่าควรจะทำอย่างไร การรู้จักกับกระบองเพชรนั้นทำให้ผมเป็นคนละเอียด รอบคอบ และประณีตขึ้นมาก

แต่ในตอนสุดท้าย ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงแค่การเรียนรู้ครั้งหนึ่งในชีวิตเท่านั้น หลังจากนี้เราก็จะได้เรียนรู้อีกสิ่งคือวิธีการปลดเปลื้องภาระนี้ออกไป เราเรียนรู้ที่จะสะสมจนกระทั่งเลิกที่จะสะสมและแจกจ่ายมันออกไป แต่ผมก็ยังมีความรู้ที่สามารถแจกจ่ายออกไปได้ถ้าใครสนใจ แต่ถ้าจะให้เลือก ผมก็อยากจะเลือกที่จะไม่พูดดีกว่า เพราะความรู้เหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พ้นทุกข์ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์เลย

การสะสมมีแต่จะสร้างภาระ สร้างทุกข์ให้กับชีวิต ไม่ว่าเราจะสะสมอะไรก็ตาม เราต้องลำบากหามันมา ลำบากบริหารมัน ลำบากในการรักษามันไว้ แถมยังต้องเอาเวลาในชีวิตไปเสียให้กับสิ่งนั้น ไม่ว่าเราจะสะสมเงิน หนังสือ ต้นไม้ ของเล่น ตุ๊กตา หุ้น ฯลฯ หรือแม้แต่ความรู้ที่ไม่ได้พาพ้นทุกข์ ที่ยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งพาให้หลงมัวเมา ยิ่งพาให้สะสมกิเลส นอกจากจะเป็นภาระแล้วยังเป็นภัยอีกด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการสะสมเชิงรูปธรรมหรือนามธรรมก็เป็นภาระให้กับชีวิตของเราได้

แต่ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราจะเห็นสิ่งนั้นเป็นภาระหรือไม่ เห็นมันเป็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่อชีวิตหรือไม่ ถ้าเรายังมอมเมาตัวเองไปด้วยความอยาก ยอมปิดตาเพื่อที่จะได้เสพสมใจกับสิ่งที่เราสะสม เราจะไม่มีวันเห็นมันเป็นภาระเลย

และถ้าหากวันใดที่เราได้ลองเรียนรู้เกี่ยวกับความอยากของตัวเอง ได้รู้จักกิเลสของตัวเอง ได้ขุดค้นไปถึงรากของกิเลสของตัวเองและเรียนรู้ที่จะลด ละ เลิกที่จะครอบครองกิเลสนั้น หรือฆ่ากิเลสเหล่านั้นเสีย เราก็มีสิทธิ์ที่จะเห็นบางสิ่งตามความเป็นจริง เห็นและเข้าใจมันอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เห็นถึงคุณค่าในการมีอยู่ของมันโดยที่ไม่ได้รักเหมือนก่อน แต่ก็ไม่ได้เกลียดหรือผลักไสสิ่งนั้น

สุดท้ายเราจะพิจารณาได้เองว่าการสะสมหรือครอบครองสิ่งเหล่านั้น เป็นกุศลหรืออกุศล เป็นความสุขแท้หรือความสุขลวงๆ เป็นสิ่งที่โลกมอมเมาพาให้หลงหรือเป็นสาระแท้ในชีวิตที่ควรยึดอาศัย เราจะสามารถเลือกได้ตามความเป็นจริง ใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไม่มีอคติหรือลำเอียง ไม่ชอบไม่ชัง ไม่รักไม่เกลียด

เมื่อถึงภาวะนี้แล้วก็จะรู้เองว่าสิ่งใดคือ…ภาระ

– – – – – – – – – – – – – – –

3.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

วัตถุบูชา เครื่องรางของขลัง

October 3, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,829 views 0

วัตถุบูชา เครื่องรางของขลัง

วัตถุบูชา เครื่องรางของขลัง

ในยุคที่ดูเหมือนจะมีแต่ภัยอันตรายรอบด้าน คงจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดกังวลใจ และคงจะมีผู้คนจำนวนหนึ่งมองหาวัตถุบูชาเครื่องรางของขลังมายึดไว้ถือไว้ เพื่อเป็นหลักให้จิตใจของเขาได้พึ่งพิง

วัตถุบูชาเครื่องรางของขลังนั้นมีตั้งแต่ที่เกี่ยวกับศาสนา เช่น พระเครื่อง พระพุทธรูป รูปหล่อเกจิอาจารย์ต่างๆ รูปภาพครูบาอาจารย์ และไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาเช่น หิน หยก เหล็กไหล อัญมณี เขาสัตว์ ซากชิ้นส่วนของสัตว์ ไปถึงเครื่องประดับต่างๆ

เรามักจะให้คุณค่าวัตถุกันที่ความหายาก คุณค่าที่เล่าต่อกันมาว่าถ้ามีสิ่งนี้ไว้ จะดีอย่างนั้นอย่างนี้ เอาโลหะ เอาดิน เอาหินมาปั้น ปรุงแต่งกันจนมีราคามากกว่าทอง โดยใช้กิเลสและอุปทานของคนเป็นเครื่องมือ

คนเขลามักเข้าใจไปว่าคุณค่าของเครื่องรางของขลังอยู่ในวัตถุชิ้นนั้นๆ จึงมัวเมาหลงให้ค่ากันไปมากมายเกินจริง กลายเป็นธุรกิจการค้าบนความเชื่อและความงมงายของคน ใช้โอกาสในการมัวเมากิเลสกับคนที่ด้อยปัญญา เป็นเครื่องมือหากิน เป็นหนึ่งในอาชีพที่มีลักษณะของการล่อลวง ล่อให้หลง ล่อให้เห็นในคุณค่าลวง ล่อให้เข้าใจว่าเป็นสิ่งดี ซึ่งการค้าขายความเชื่อเหล่านี้ เป็นอาชีพที่ผิด เป็นมิจฉาอาชีวะ ชาวพุทธไม่ควรทำ

คนที่เข้าใจคุณค่าที่แท้จึงไม่ได้เคารพด้วยคุณค่าของวัตถุ เช่น ไม่ว่าจะพระพุทธรูปที่บ้านหรือพระพุทธรูปที่วัดไหน ไม่ว่าจะพระเครื่องแจกฟรีหรือองค์ละสิบล้าน ก็ศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน มีคุณค่าเท่ากัน ไม่ต่างกัน เพราะทำให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าเหมือนกัน และในเมื่อเขาเหล่านั้นรู้ดีว่าความศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้อยู่ในวัตถุ แต่อยู่ในศรัทธาที่เกิดมาจากปัญญา จึงไม่จำเป็นต้องเสาะแสวงหาวัตถุบูชาเครื่องรางของขลัง พระเครื่องชื่อดังหรือสิ่งของที่ใครเขาว่าศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเพียงแค่จิตระลึกถึงสิ่งที่ควรเคารพบูชา ก็มีคุณค่าและความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอแล้ว

การมีพระเครื่อง พระพุทธรูป หรือวัตถุที่สื่อถึงครูบาอาจารย์ไว้บูชานั้นสามารถทำได้ หากเราใช้สิ่งนั้นในการช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของเรา บูชาในคุณความดี บูชาในธรรม มีไว้เพื่อระลึกถึง ไว้เตือนใจเตือนสติ ไม่ให้ตัวเองหลงไปทำชั่ว ไม่ให้ตัวเองประพฤติออกนอกลู่นอกทาง ให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มากขึ้น นั่นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี

แต่ไม่ใช่การยึดถือบูชาเพื่อที่จะได้รับ บุญกุศล โชค บารมี ลาภ ยศ สรรเสริญ ความแคล้วคลาดปลอดภัย หรือเหตุผลและคำชวนเชื่อทั้งหลายที่มีคนบางพวกได้อวดอ้างสรรพคุณ การบูชาวัตถุอย่างไม่มีปัญญา ไม่ต่างอะไรกับการไหว้ก้อนหิน ไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระ ทั้งยังเสียเวลาที่ต้องใช้ในการเสาะแสวงหาของดีมาไว้กับตัวอีก

บางคนถึงกับหลงไปสะสมเครื่องรางของขลังเหล่านี้ แสวงหาจนมีห้องพระใหญ่โต หลงเข้าใจไปว่ายิ่งมีเยอะยิ่งมีพลัง ยิ่งมีเยอะยิ่งศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งมีเยอะยิ่งมีสิ่งคุ้มครองเยอะ หลงเข้าใจผิดไปแบบนั้น จริงๆแล้วยิ่งมีเยอะนั่นแหละภาระ ต้องมาคอยทำความสะอาด ปัดฝุ่น แถมยังต้องมาคอยระแวงระวังกลัวคนจะมาขโมยของรักของหวงกันอีก ก็โง่แบกวัตถุกันไป หลงเข้าใจว่าจะพาไปนิพพานด้วยได้ จริงๆแล้วการสะสมนี่ก็ขัดกับหลักของการพ้นทุกข์แล้ว ยิ่งสะสมก็จะยิ่งทุกข์ ยิ่งเพิ่มกิเลส เพิ่มภาระ ไม่ไปไหนสักที เพราะมัวแต่กอดวัตถุอยู่นั่น ไม่ไปถึงแก่นสารสาระของศาสนาสักที บูชาแต่เปลือกภายนอก บูชาแต่วัตถุ แต่ไม่บูชาธรรม เป็นศรัทธาที่งมงาย พาให้หลงวนอยู่ในโลกนี้

การหลงมัวเมาบูชาวัตถุ แล้วเข้าใจว่าวัตถุเหล่านั้นจะให้คุณแก่ตนได้ เป็นความหลงมัวเมาในระดับที่หยาบ ไม่ตรงกับคำสอนของศาสนา เพราะการที่เราไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งของวัตถุมงคลเหล่านั้น และหลงเชื่อว่าการมีสิ่งนั้นจะทำให้เกิดสิ่งดีต่างๆ จะทำให้เราไม่เชื่อในเรื่องกรรม ไม่เชื่อในเรื่องผลของกรรม ไม่เชื่อว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่เชื่อในหลักของศาสนา

ในเมื่อไม่เชื่อในเรื่องกรรม ก็ยากแท้ที่จะพ้นทุกข์ คนที่ไม่เข้าใจในเรื่องกรรมจะต้องทนทุกข์เรื่อยไป เพราะไม่รู้ว่าสิ่งดีสิ่งร้ายที่เกิดกับตนเกิดจากสาเหตุอะไร พอไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไรก็ไม่รู้ว่าจะสร้างเหตุอย่างไรให้อนาคตนั้นดีขึ้น ก็ได้แต่ทำดีทำชั่วไปตามความเห็นที่ตนมี ทำไปตามกระแสสังคมที่กำลังหลงทางบอกมา โดยไม่รู้จริงๆว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว แล้วที่ว่าดีต้องดีแค่ไหน ที่ว่าชั่วมันต้องถึงขนาดไหนจึงเรียกว่าชั่ว

สุดท้ายไม่ว่าใครจะมีพระดี เครื่องราง ของขลังดีแค่ไหน หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้มีอะไรไว้บูชาเลย ทุกคนก็จะต้องแก่ ต้องเจ็บป่วย ต้องตายอยู่ดี สุดท้ายมันก็เหมือนกันอยู่ดี แต่คนที่เขาไม่ได้งมงายก็จะมีเวลาไปเรียนรู้สิ่งอื่นมากกว่า ส่วนคนที่มัวเมาหลงสะสมเครื่องรางของขลังก็จะเสียเวลาไปกับการมัวเมาในวัตถุสิ่งของสร้างกิเลส บาป เวร ภัย ให้กับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

….พระพุทธเจ้าท่านทำให้เราดูเป็นตัวอย่างแล้ว กับชีวิตที่ไม่สะสม มีเพียงเครื่องบริขารนิดหน่อย ไม่หวังพึ่งสิ่งใดนอกจากบุญกุศลที่ท่านได้ทำมาเอง ท่านก็ยังแคล้วคลาดจากวิบากบาปที่ท่านเคยทำมา นั่นก็เพราะบุญบารมี กุศล ความดีที่ท่านได้ทำมา ได้เป็นกำแพงป้องกัน ลดทอนกำลังของสิ่งเลวร้ายที่จะเข้ามาทำร้ายท่าน เป็นบุรุษซึ่งไม่มีใครสามารถที่ปลงพระชนม์ชีพได้ เหตุเพราะพลังแห่งความดีนั้นเอง

หากอยากจะมีความสุข โชคดี พบเจอแต่คนดี สังคมดี แคล้วคลาดปลอดภัย ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็ลองพิสูจน์สัจจะตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนดู ลด ละ เลิกการทำสิ่งที่ไม่ดี ทำดีไปเรื่อยๆ ทำทาน ถือศีล ทำให้จิตใจตัวเองเจริญขึ้น ล้างกิเลสไปเรื่อยๆ ก็จะสามารถรับรู้ได้ด้วยตัวเองว่า การหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสนี่แหละ คือข้อปฏิบัติที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแล้ว นำความสุขความเจริญให้ชีวิตได้มากที่สุดแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

3.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

คุณค่าของความรัก

October 2, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 10,403 views 0

คุณค่าของความรัก

คุณค่าของความรัก

ความรักนั้นเป็นสิ่งที่ทรงพลานุภาพเป็นแรงผลักดันให้ทุกชีวิตขับเคลื่อนออกไปแสวงหาไขว่คว้า เพื่อให้ได้มาในสิ่งซึ่งสามารถตอบสนองต่อความรักเหล่านั้น

ความรักสามารถดึงคนให้ขึ้นสวรรค์หรือผลักลงนรกได้ เพราะความรักนั้นคือความอยาก คือตัณหา คือแรงผลักดันให้คนเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างบางสิ่งบางอย่าง

คุณค่าของความรักนั้น ไม่ได้อยู่ที่ชื่อ คำเรียกขาน หรือแม้แต่นิยามของมันแต่อยู่ที่รักเหล่านั้นพาเราไปพบกับอะไร…

หลายคนมักจะนิยามความรักอย่างสวยหรู ใช้คำว่ารักเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนอยากได้อยากเสพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคู่ครอง การงาน ทรัพย์สมบัติ หรือกระทั่งชื่อเสียงและคำสรรเสริญต่างๆ

หากความรักคือความอยากที่ปนเปื้อนไปด้วยกิเลส รักนั้นจะพาเราไปเสพและสะสมกิเลส ไปทำร้ายและเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกลวิธีต่างๆ เพื่อที่จะให้เราได้เสพสมใจในกิเลสแม้จะเป็นสิ่งชั่วเช่นนี้ แต่เราก็ยังเรียกมันว่า “ความรัก

ถ้าความรักคือเจตนาที่มีแต่ความเมตตา เพื่อให้ผู้อื่นได้รับสิ่งดี เพื่อให้เขาได้พ้นทุกข์ เราก็จะพาตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมไปในทิศทางที่พากันลดกิเลส ลดความอยากได้อยากมี ลดการสะสม ลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งนี้เราก็เรียกมันว่า “ความรัก” เช่นกัน

แต่ไม่ว่าเราจะมีความรักแบบไหน รักด้วยกิเลส รักด้วยความเมตตา หรือกระทั่งเป็นความเมตตาที่สอดไส้ไว้ด้วยกิเลสก็ตาม เราก็จะใช้เวลาเรียนรู้ถึงคุณค่า ทุกข์ โทษภัย ผลเสีย จากความรักที่ดีและร้ายเหล่านั้นจากการเดินทางผ่านจำนวนภพจำนวนชาติที่นับไม่ถ้วน ผ่านความผิดหวังและสมหวังมากมาย จนความรักที่เคยหยาบ เห็นแก่ตัว และไร้คุณค่านั้น ได้ถูกขัดเกลาจากการเรียนรู้จนเกิดปัญญา เปลี่ยนเป็นรักที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นรักที่ยินดีแม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้ดีดังใจเราหมาย เป็นรักที่ไม่ครอบครอง ไม่ยึดไว้ทั้งร่างกายและจิตใจของใครๆ เป็นรักที่เสียสละ ปล่อยวางจากการเป็นเจ้าของ ไม่การทำร้ายกันด้วยคำหวานและคำสัญญาใดๆ ปล่อยวางจากจองเวรจองกรรมกันและกันด้วยความยินดี เต็มใจ พอใจ สุขใจ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นนี่เอง คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถทำให้คนที่เรารักได้

ดังนั้น คุณค่าของความรัก ก็คือ… การทำให้เราได้เรียนรู้ ตั้งแต่การพบเจอความรัก การยึดมั่นถือมั่นในความรัก การพิจารณาคุณค่าของความรัก จนกระทั่งถึงวันที่เราสามารถปล่อยวางความรัก และสุดท้ายเราก็จะได้ปัญญาที่รู้แจ้งชัดว่าควรจะเมตตาอย่างไรจึงจะสามารถรักได้อย่างมีคุณค่า เป็นรักที่เป็นไปเพื่อความสุขแท้ ยั่งยืน ตลอดกาล

เมื่อเข้าใจในคุณค่าของความรัก ก็จะสามารถขยายความรักเหล่านั้นออกไปได้กว้างขึ้น จากคู่รัก คนที่รัก ของที่รัก ไปถึงครอบครัว ไปถึงสังคม ชุมชน ไปถึงประเทศชาติ ไปจนทั่วโลกใบนี้ จนกระทั่งรักได้อย่างข้ามภพข้ามชาติ รักที่เสียสละ ยอมเหน็ดเหนื่อย ยอมทนทุกข์ ยอมทรมาน ด้วยความรักและเมตตาแก่สรรพสัตว์ผู้ยังหลงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ

และนั่นคือความรักของพระพุทธเจ้า ด้วยความรักความเมตตาที่เหลือประมาณ ยากที่จะเข้าใจ บำเพ็ญเพียรอยู่กว่าสี่อสงไขยกับแสนมหากัป เพื่อที่จะสร้างศาสนาแห่งความรักความเมตตา ส่งต่อพลังแห่งรักแท้ผ่านสาวกผู้มีศรัทธาอันไม่หวั่นไหว เพื่อสืบสานส่งต่อความรักความเมตตาเหล่านี้ให้กับบรรดาสรรพสัตว์ผู้ยังหลงมัวเมาในกิเลส

…และทั้งหมดนี้ คือคุณค่าของความรัก

– – – – – – – – – – – – – – –

30.9.2557(แก้ไข 12.2.2559)

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)