รู้ตัวชัดแล้วหรือยัง คนพาล/บัณฑิต

February 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 813 views 0

แนะนำหนังสือครับ เล่มนี้อ่านแล้วรู้ชัดเลยว่าไหนคนพาล ไหนบัณฑิต รู้ทั้งตัวเองและคนที่ใกล้ชิดว่าที่เขาเรียกว่ามิตรนั่นน่ะมิตรแท้หรือมิตรเทียม

เล่มใหญ่ ๆ ราคา 70 บาท ลองค้น ๆ หา ๆ กันดู ถ้าหาไม่ได้ที่ธรรมทัศน์สมาคมที่สันติอโศกมีขาย จริง ๆ น่าจะมีขายอยู่ในหลาย ๆ เครือข่ายนั่นแหละ

เล่มนี้เขาคัดข้อมูลมาจากพระไตรปิฎก มีอ้างอิง ตามไปสืบค้นพระสูตรฉบับเต็มกันได้ อ่านง่าย เหมาะกับคนที่ต้องการความชัดเจน ไม่คลุมเครือ ถ้าเวลาเหลือ ผมยกมานำเสนอกันเป็นบท ๆ

ไม่รักคนอื่นแล้วไม่รักตัวเองล่ะ จะพ้นทุกข์ไหม?

February 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 619 views 0

มีคำถามในประเด็นของ “การไม่รักใครคือที่สุดของความสุข ไม่มีความเศร้า” ว่า มันต่างอย่างไรกับคนที่รักหรือไม่รักตัวเอง เขาน่าจะหมายความว่า “แล้วทีนี้คนไม่รักตัวเองจะพ้นทุกข์ไหม” ล่ะนะ ก็เดา ๆ เอา

คำของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก

คำว่า อันเป็นที่รักนั้น คือสภาพของอุปาทาน เป็นความยึดมั่นถือมั่น สำคัญมั่นหมายว่านี่คือฉัน นี่ของฉัน เพราะหลงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นประโยชน์แท้

ถ้าเรายึดไปว่าสัตว์ เช่นสัตว์เลี้ยงจะเชื่องกับเราตลอด แล้ววันหนึ่งเขากัดเรา เราก็เจ็บ และเราก็ยังจะต้องเป็นทุกข์จากความผิดหวังอีกด้วย ถ้าเราไม่ยึดอะไร โดนกัดก็แค่เจ็บ แต่จะไม่ผิดหวัง เพราะไม่ได้ตั้งความหวัง

เช่นกันกับคนที่เรารัก ถ้าเราไปยึดว่าเขาจะดีกับเราตลอด แล้ววันหนึ่งมันมีเหตุปัจจัยให้เขาฉุนเฉียวใส่เรา เราก็จะผิดหวัง เศร้าหมอง เพราะเราไปยึดว่าเขาจะดีกับเราตลอด เราจะผิดหวัง เพราะเราไปตั้งความหวังไว้ผิด

เรื่องสังขารร่างกาย เช่น เราไปยึดว่าเรามีสุขภาพดี เราไม่เคยป่วย เรารักสังขารนี้ แต่พอวันหนึ่งมันป่วยขึ้นมา มันจะทุกข์มากกว่าที่ควรจะเป็นเพราะใจมันผิดหวัง มันไม่เป็นไปตามความยึดที่มี ใจมันก็ดิ้น ปฏิเสธความจริงในปัจจุบัน รำพึงรำพัน เช่นว่า เนี่ย เราไม่เคยป่วยเรา เราก็แข็งแรงมาตลอด ฯลฯ

เรื่องสังขารความคิดเช่น เรารักความเห็นนี้ของเรา เราชอบใจที่ว่าไม่กินเนื้อสัตว์นี่มันดี ไม่เบียดเบียนสัตว์ แต่พอมีคนมาพูดกระทบสิ่งที่เรารัก ทำให้สิ่งที่เรารักลดค่า โดนดูถูก เหยียดหยาม เหน็บแนม เราก็จะขุ่นเคืองใจ เพราะเราไม่อยากให้สิ่งที่เรารักเป็นอย่างอื่น อยากให้เราคิดแบบนั้น อยากให้คนอื่นเคารพในความคิดเรา อยากให้เขาคิดแบบเรา เราก็ทุกข์

ดังนั้นถ้าเราไปไม่ใส่ความรัก คือไม่ไปยึดสิ่งใดมาเป็นของตน ไม่พยายามทำให้สิ่งใดเป็นดั่งใจตน ไม่นิยมชมชอบสิ่งใดเป็นพิเศษ มันก็จะไม่ทุกข์ อันนี้อธิบายเหตุกันก่อน

ส่วนการที่ว่าคนไม่รักตนเองจะพ้นทุกข์ เป็นสุขไหม? อันนี้มันเป็นปัญหาของการสื่อภาษา จะอธิบายได้ทั้งสองแบบก็ได้ คือพ้นทุกข์กับไม่พ้นทุกข์

เช่น ถ้าไม่รักตนเอง ไม่หลงตน ไม่สำคัญตนในความเป็นตน ยังไงก็พ้นทุกข์ เป็นสุข คือสภาพของการสลายอัตตาทิ้ง จะเหลือแต่ปัญญา ก็ใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

หรือ ถ้าไม่รักตนเอง ทำแต่บาปและอกุศลกรรม ใช้ชีวิตเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น อันนี้มันก็มีแต่ทุกข์และนรกเป็นที่ไป

รักตัวเองก็เช่นกัน มันก็รักได้ทั้งแบบเพิ่มกิเลสและแบบลดกิเลส ถ้ารักให้ถูกต้องลดกิเลส ทำประโยชน์แก่ตน แต่คนทั่วไปเขาจะเข้าใจว่ารักตัวเอง คือการบำเรอตนเอง หาอาหารแพง ๆ อร่อย ๆ มาให้ตนเสพ พาตนเองไปเที่ยว ไปเสพสุขที่ต่าง ๆ อันนี้เขาก็เรียกว่ารักตนเอง

ภาษามันก็ดิ้นกันได้ มันต้องดูว่าเขามีเจตนาทางกาย วาจาใจอย่างไร ทำแล้วหมายให้เกิดอะไร แต่การจะไม่รักตัวเองให้ได้นั้น จะต้องเลิกรักสิ่งอื่น สัตว์อื่น คนอื่นให้ได้ก่อน เพราะตัวเรานี่เป็นสิ่งที่เรารักที่สุด มันต้องมีลำดับของการถอยออกมา คือเลิกรักสิ่งรอบตัวก่อน แล้วมันจะเหลือแต่ความรักตัว รักในความเห็นตัวเอง สุดท้ายจะไปติดแถว ๆ “มานะ” ซึ่งเป็นสังโยชน์เบื้องสูง นั่นคืออาการรักในความเห็นตน มันรัก มันยึด มันก็เลยไม่ไปไหน ไม่เจริญไปมากกว่านั้น

คนไหนไม่ใช่มิตร คนไหนเป็นมิตร

February 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 996 views 0

อ่านเจอในหนังสือครับ จากหนังสือ “รู้ชัดตัวเองแล้วหรือยัง คนพาล/บัณฑิต” เป็นหนังสือสรุปเนื้อหาจากพระไตรปิฎกครับ เห็นว่าข้อนี้เอามาใช้ได้ครอบคลุมดี จึงทำภาพมาแบ่งกันครับ

อ่านเจอวิธีจำแนกมิตรและคนที่ไม่ใช่มิตรออกจากกัน บางทีมีคนเข้ามาในชีวิตเยอะแยะ เราก็ไม่รู้จะคัดอย่างไร ไม่รู้จะใช้หลักอะไร แต่พอมาศึกษาจากพระไตรปิฎก ก็จะมีจุดให้สังเกตได้ง่ายขึ้น

หลัก ๆ ของชีวิตนี่มันต้องมีมิตรดีไว้ก่อน แต่ก็ต้องดูด้วย บางคนเหมือนจะเป็นคนดีแต่ก็ไม่ใช่มิตร บางคนดูเหมือนจะเป็นมิตรแต่ก็ไม่ใช่คนดี ถ้าทุกคนมีความจริงใจ มันจะดูกันง่าย ไม่น่ากลัว

แต่ด้วยความที่คนสมัยนี้มีกิเลสมาก มีมารยามาก ยากที่จะดูได้ สมัยพุทธกาล ก็ยังมีพระเทวทัตปนมาในหมู่นักบวช สมัยนี้ย่อมมีเยอะกว่าเพราะไม่มีพลังความดีมาต้านคนชั่ว คนชั่วก็ปนเข้ามาเสพประโยชน์ของศาสนาเยอะมาก เพราะโลกธรรมในงานศาสนานั้นหอมหวาน

วิธีคัดคือเราปฏิบัติธรรมให้ได้ผลชัดเจนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วเราจะรู้จักคนชัดเจนยิ่งขึ้น มันจะมีคน 3 พวกคือ คนที่เห็นด้วยกับเรา คนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา และคนที่ไม่ได้สนใจใยดีเราหรือไม่รู้จักเรา เราก็เลือกที่เป็นธาตุใกล้ ๆ กันนี่แหละ เพราะเอาธาตุไม่เข้ากันมาอยู่ด้วยมันจะมีแต่เรื่องปวดหัว ก็ให้เขาอยู่ของเขาไป เราก็อยู่ของเรา

ยิ่งเราได้ เราชัดในวิธีการปฏฺิบัติของเราแล้ว เราไม่ต้องกลัวหรอก ที่เหลือก็แค่คัดศพออกจากทะเล คัดคนที่เป็นคนพาลออกจากชีวิต คัดผู้ไม่ใช่มิตรออกไปให้ห่างใจ

พระไตรปิฎกคือคลังปัญญาวุธ

February 7, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 642 views 0

ปัญญาวุธ = ปัญญา + อาวุธ น่าจะอยู่ในลักษณะของคำสนธิ

สมัยก่อนผมไม่อ่านหนังสือเลยนะ พอเรียนจบมานั่นแหละ จึงได้หัดอ่านหนังสือบ้าง แต่ก็เป็นพวก how to เรียนรู้ต่าง ๆ ก็เป็นคนรักการอ่านมากขึ้น พอมาอ่านพระไตรปิฎกนี่รู้ได้เลยว่านี่คือ “คลังแสง”

พระไตรปิฎก คือคลังปัญญาวุธ เป็นสิ่งที่พระเถระได้ทำทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้ ผ่านมากว่า 2500 ปี แม้จะมีฝุ่นอยู่บ้าง แต่อาวุธในคลังนี้ยังคมกริบเหมือนเดิม

เป็นอาวุธที่เอาไว้ประหารกิเลสได้เป็นอย่างดี และเอาไว้ใช้ปกป้องศาสนาจากคนเห็นผิดได้อีกด้วย เรียกว่าใช้ได้ทั้งภายในตนเองและภายนอก

ตัวผมนี่ค่อนข้างได้ประโยชน์มาก เพราะเข้าไปศึกษาแล้วเอามาใช้ได้เยอะ พวกอาวุธเบา ๆ นี่ใช้ได้เยอะ กลาง ๆ ก็พอได้ แต่หนัก ๆ ก็ไม่ไหวเหมือนกัน มีหลายบทหลายสูตรที่ยากเกินภูมิไปเหมือนกัน ต้องให้ระดับครูบาอาจารย์ท่านขยายให้ฟัง

แม้แต่บทเดียวกัน มีดเล่มเดียวกัน ผมก็จะใช้ได้เก่งไม่เท่าครูบาอาจารย์ ในแต่ละบทแต่ละสูตรจะสามารถตีความลึกซึ้งขึ้นได้ตามปัญญาญาณของแต่ละท่าน สรุปคือฝึกมามากก็เก่งมาก

ส่วนคนไม่มีสภาวะ ก็จะเอามีดไปตอกตะปู อะไรแบบนี้ คือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งนี้คือมีด ดังนั้นพระไตรปิฎกจึงไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะใช้ได้เท่าเทียมกันทั้งหมด จึงเป็นเครื่องอาศัยในการศึกษา ไม่ใช่เครื่องยึดมั่นถือมั่น

เพราะสุดท้ายคนสัมมากับคนมิจฉาก็จะตีความหมายของคำหรือประโยคต่าง ๆ ในพระไตรปิฎกต่างกันอยู่ดีนั่นเอง