Tag: ยึดมั่นถือมั่น

คนบ้ากินมังฯ ๒

December 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,159 views 1

คนบ้ากินมังฯ ๒

คนบ้ากินมังฯ ๒

…บ้าจริง บ้าหลอกหรือหายบ้า มาอ่านกัน ฉบับไขข้อข้องใจทุกประเด็นเกี่ยวกับบทความ “คนบ้ากินมังฯ”

*(คำเตือน !! ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ควรจะอ่านบทความ”คนบ้ากินมังฯ”ก่อน ….และหากอ่านจบแล้วยังรู้สึกไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจอย่างรุนแรงหลังจากอ่านก็อย่าพึ่งอ่านบทความนี้ รอให้รู้สึกว่าตัวเองสงสัย ข้องใจ หรือเหลืออารมณ์ไม่พอใจเพียงเล็กน้อยค่อยอ่านจึงจะเหมาะ)

**ในบทความนี้ขออนุญาตใช้ธรรมะเข้ามาร่วมอธิบาย อาจจะเป็นสิ่งไม่คุ้นเคยสำหรับบางท่านให้ลองอ่านผ่านๆไปก่อนและเนื้อหาจะเป็นไปในเชิงไขกิเลส กรรมและขยายเนื้อหาในบทความคนบ้ากินมัง หากสนใจที่จะไขข้อข้องใจก็มาอ่านกันต่อ

เริ่มกันเลย!

1). อัตตา

หลังจากที่ได้เผยแพร่บทความคนบ้ากินมังฯออกไปนั้นก็มีเสียงตอบรับเข้ามามากมาย และส่วนใหญ่เป็นไปในทางลบ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่สามารถเข้าใจได้แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

สำหรับคนที่ติดตามเพจนี้มาก่อนจะขอยกไว้ในฐานที่เข้าใจ ส่วนคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนอาจจะแบ่งได้หลายส่วนเช่น เห็นแย้งในทันที , สงสัย , ต่อว่า , ด่า , ส่งเสริมเชิญชวนหรือช่วยอธิบายเรื่องมังสวิรัติ ,พยายามปรับความเข้าใจ, เข้าใจที่สื่อสาร …เหตุอันใดที่ทำให้คนเข้าใจสื่อเดียวกันต่างกัน ถ้าสื่อนั้นผิดพลาดจริงๆคนทั้งหมดก็ควรจะเข้าใจผิด แต่ทำไมยังมีคนที่เข้าใจตามที่ได้สื่อสาร ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญของบทความนี้

การที่เราเข้าใจต่างกันนั้นมีเหตุมาจากทิฏฐิที่ต่างกัน บางคนตัดสินตั้งแต่เห็นหัวเรื่อง บางคนตัดสินหลังจากอ่านจบ บางคนตัดสินแต่ไม่ต่อว่าและกลับชวนให้ลองกินมังสวิรัติ จะบอกว่าเรามีทิฏฐิที่ต่างกัน คนเราต่างกันนั้นมันก็เป็นคำพูดที่ตีรวมๆ เข้าใจแต่ไม่เข้าใจ ไม่ลึกถึงเหตุ มองไม่ขาด เพราะเหตุจริงๆที่ทำให้เรามีทิฏฐิที่ต่างกัน คือกิเลส หรือในที่นี้ก็คือ “อัตตา

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ในกรณีของมังสวิรัติก็คือ “อรูปอัตตา” เป็นอัตตาที่ไม่มีรูปร่างให้เห็นให้หยิบจับแล้ว เป็นความเชื่อ ความเห็น ความเข้าใจ นั่นคือเรายึดความเชื่อความเห็นความเข้าใจในมังสวิรัติมาเป็นตัวเราของเรา พอเรายึดแล้วเราก็กอดมันไว้ รัดมันไว้ รักมัน หวงมันโดยไม่รู้ว่าอัตตานี่คือกิเลสที่ทำให้เราเป็นทุกข์

คนมีอัตตาหลายคนแม้จะไม่ได้ไปยุ่งกับคนอื่น แต่ถ้าใครเข้ามาแตะในพื้นที่หวงห้ามเช่นมาด่าว่าคนกินมังสวิรัติว่าบ้าว่าโง่ เหมือนกับเข้ามาเขย่าบ้านของตนเอง ก็จะรีบออกมาปกป้องบ้านของตนทันที ปกป้องสิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่น ปกป้องกิเลส

เราจะเริ่มมีอัตตาก็เพราะเรามีศรัทธาในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ศรัทธาในการกินมังสวิรัตินั้นดี แต่การที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในความดีนี้ไม่ดี คนกินมังสวิรัติหรือศรัทธาในมังสวิรัติส่วนมากจะมองว่าตัวเองเป็นคนดี เป็นคนมีปัญญา เป็นคนละบาปบำเพ็ญบุญ จึงมีอาการยึดดีหรือยึดความดีเป็นตัวตนหรือมีอัตตา ซึ่งพอมีใครมาเห็นแย้งว่าที่เราทำมันบ้า มันโง่ คนที่ยึดว่าเรามีปัญญา เป็นคนดี ก็จะทุกข์ร้อนเพราะไม่ได้เสพคำชื่นชมอย่างที่ตัวเองเคยได้แถมยังโดนด่าอีก อันนี้ไม่ได้ผิดตรงมังสวิรัติแต่มันผิดตรงที่เราหลงยึดว่าเราเป็นคนดี เป็นคนมีปัญญาแล้วเราเข้าใจว่าคนอื่นจะต้องเข้าใจว่าเราเป็นเช่นนั้น

เมื่อมีคนมาพูดกระทบอัตตา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่ามังสวิรัติต้องเป็นคนดี ต้องเป็นคนมีปัญญา ต้องเรียกว่าฉลาดสิเพราะเว้นจากการเบียดเบียน พวกเขาจึงได้ออกมาแสดงทัศนคติตามกิเลสของแต่ละคนกิเลสมากก็แรงมาก กิเลสน้อยก็แรงน้อย กระทบกระทั่งกันไปเพราะความอยากเอาชนะ อยากให้คนที่ต่อว่าคนกินมังสวิรัติบ้าและโง่นั้นแพ้ นั้นย่อยยับ นั้นสลายหายไป เพราะเราไม่อยากให้ใครมาคิดต่างหรือเข้ามาลุกล้ำอัตตาซึ่งเป็นกิเลสที่เราหวงสุดหวง ทั้งหมดนั้นก็เพื่อเสพสมอัตตาของเขาคือมังสวิรัติดี มีปัญญา ฉลาด เป็นบุญ เป็นความเจริญ ใครคิดตามได้แต่ถ้าคิดต่างไม่ต้องมาคุยกัน ถ้าคุยกันก็จะตอบโต้ไปตามปริมาณความยึดดีที่มี

มังสวิรัตินั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การยึดมั่นถือมั่นในความดีของมังสวิรัติเป็นคนละเรื่องกัน ขึ้นชื่อว่ากิเลสมันก็ไม่ดีอยู่แล้ว แต่คนส่วนมากมักจะกอดเก็บมันไว้ เมื่อวันใดวันหนึ่งที่มีใครเข้ามาท้าทายอัตตา เขาเหล่านั้นก็พร้อมที่จะท้าทายกลับด้วยความคิด ด้วยวาจา ด้วยท่าทาง แล้วแต่ว่าใครจะปรุงกิเลสไปได้แค่ไหน ปรุงแต่งคำด่าคำพูดได้เท่าไหร่ก็บาปเท่านั้น เพราะความโกรธ ความไม่พอใจก็ขึ้นชื่อว่ากิเลส ดังนั้นจะหาประโยชน์จากความไม่พอใจนี้ไม่มีเลย

ในบทของกำลัง 8 พระพุทธเจ้าตรัสว่า บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ส่วนคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่ามีคนอ่านบทความนี้มากมายหลายคน แต่ก็มีคนที่คิดเห็นแตกต่างกันไป คนที่เจริญในธรรมมีอัตตาน้อย ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็จะไม่เพ่งโทษใครแม้เขาจะมาด่ามาว่า ในทางกลับกันคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง กำลังคืออะไร ก็คือพลังในการทำบาป ทำอกุศล ยิ่งเพ่งโทษแรงเท่าไหร่ กำลังก็ยิ่งแรง บาปก็ยิ่งแรง อกุศลก็ยิ่งแรง กรรมก็ยิ่งมากขึ้นไปด้วย

คนมีอัตตานั้นจะรู้สึกว่าตนไม่ผิดที่เพ่งโทษใครหรือด่าใคร “ในนามแห่งความถูกต้องข้าขอประหารเจ้า” เขาจะลงดาบในทันที และในวินาทีนั้นมโนกรรม วจีกรรม กายธรรมก็ได้เกิดขึ้นกับเขาแล้ว จิตนั้นสังเคราะห์อารมณ์ไม่พอใจ วจีนั้นเกิดการปรุงแต่งขึ้นในใจ จนกระทั่งมือพิมพ์คีย์บอร์ดส่งข้อความที่เต็มไปด้วยอัตตาเผยแพร่สู่สาธารณะ กระตุ้นให้คนอื่นที่ได้อ่านเกิดความโกรธเกลียดตามกันไป เป็นวิบากบาปที่จะเกิดซ้ำซ้อนส่งต่อเนื่องกันไปมา

ชีวิตเราอาจจะรีบเกินไปก็ได้ เรารีบทุกอย่าง รีบอ่าน รีบตัดสิน แล้วก็รีบทำบาป มันจะมาซวยตรงรีบทำบาปนี่แหละ จะขยันทำอะไรก็ตามแต่ ถ้าขยันทำบาปนี่ก็อย่าทำเสียเลยจะดีกว่า หยุดไว้ก่อนจะดีกว่า เพราะทำไปมันก็ไม่คุ้ม ไปตำหนิติเตียนใครด้วยความไม่พอใจมันก็เท่านั้น ยิ่งสมัยนี้เครื่องมือสื่อสารมันก็เร็วเฟสบุคก็เข้าถึงได้ทุกคน การช่วยกันสะสมบาปก็ง่ายขึ้น เช่นมีคนหนึ่งพิมพ์ข้อความตำหนิต่อว่า เราก็ดันไปร่วมวงกดถูกใจในคำปรุงแต่งจากกิเลสของเขาก็ถือเป็นการทำบาปที่สะดวกและรวดเร็วเหมาะกับยุคนี้มากๆ ทีนี้พอกดถูกใจเข้ามากๆ เจ้าของข้อความนั้นเลยเหมือนขึ้นหลังเสือกันเลยทีเดียว พอกอัตตากันใหญ่ขึ้นไปอีก ทีนี้เวลาจะลงมันลงยาก เหมือนกิเลสมันขึ้นมาแล้วมันก็ไม่ได้ลงไปง่ายๆ

หลายคนไม่ได้อ่านถึงบทความนี้ ไม่ได้อ่านแม้บทชี้แจง ก็ไม่มีโอกาสรู้ตัวแล้วก็หอบบาปหอบกรรมที่ตัวเองทำไว้เป็นสมบัติต่อไป ส่วนคนมีอัตตามากๆถึงจะอ่านมาถึงตรงนี้ก็ยังหงุดหงิดติดอัตตาอยู่ บางอ่านไปก็ไม่เข้าใจเพราะใจมันไม่เปิด มันจำได้แค่อารมณ์แรกที่ได้ประทับไว้ในใจแล้วยึดมั่นถือมั่นเป็นอัตตาซ้อนอีกชั้นหนาเข้าไปอีก แต่บางคนสามารถรอดพ้นไปได้ด้วยเมตตา คืออ่านแล้วเห็นใจจึงแนะนำด้วยจิตเมตตาตรงนี้เป็นกุศล เป็นบุญ ก็ถือว่าสามารถสร้างสิ่งดีให้กับตัวเองบนกองกิเลสได้ แต่ถ้าคนอ่านด้วยอุเบกขาจึงจะสามารถเข้าถึงสาระแท้ของสารนั้นๆได้

แท้จริงแล้วมันไม่เกี่ยวเลยว่าคู่สนทนาหรือคนที่เราไม่ชอบใจนั้นเขาจะถูกหรือจะผิด โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่วันใดก็วันหนึ่งกรรมก็จะส่งคนที่ทำให้เราไม่พอใจ ไม่ถูกใจ ขัดใจเข้ามาในชีวิตเราอยู่ดี แล้วเรายังต้องโกรธเขา ไม่พอใจเขา ชิงชังรังเกียจเขา ทะเลาะเบาะแว้งกับเขาไปตลอดเช่นนั้นหรือทั้งๆที่ศัตรูตัวร้ายนั้นคือตัวเราเอง คืออัตตาของเราเอง คือความยึดมั่นถือมั่นของเราเอง

สิ่งที่ทำให้เราไม่พอใจคือสิ่งที่เรายึดไว้ พอเรายึดไว้ถือไว้ คนอื่นจะมาแย่ง มารบกวน มาทำลาย เราก็จะไม่พอใจ ก็จะออกอาการไปตามพลังของกิเลสของแต่ละคนตามกรรมที่ทำมา ตามกิเลสที่สะสมมา

เรามักคิดว่าคนกินมังสวิรัตินั้นมีเมตตา จิตใจดี เห็นใจสัตว์โลก แต่ความเมตตาเหล่านั้นก็ยังไม่ครอบคลุมถึงสัตว์โลกทั้งหมด เขายังเบียดเบียนมนุษย์คนอื่นด้วยถ้อยคำแห่งความดี เยอะเย้ยถากถาง ด้วยสารพัดประโยคที่จะปรุงแต่งได้ตามความสะใจ นี้หรือคือผู้ไม่เบียดเบียน นี้หรือคือผู้มีเมตตา เราจะมั่นใจได้อย่างไรหากเรายังมีความโกรธความเกลียดในสิ่งอื่นที่เห็นต่างไปจากเรา

การที่ชาวมังสวิรัติไปเถียง ไปด่า ไปเยอะเย้ยถากถาง ก็คือการเบียดเบียนอยู่นั่นเอง แม้ไม่ได้ฆ่าแต่ก็เบียดเบียนด้วยวาจาไปที่ใจและกระบวนของกิเลสทั้งหมดนี้สร้างบาปสะสมให้กับตัวเองด้วย นั่นหมายถึงเบียดเบียนคนอื่นและเบียดเบียนตัวเองไปด้วยในทีเดียวกัน

ผู้กินมังสวิรัติที่สามารถล้างกิเลสได้จริง จะสามารถตั้งตนอยู่ได้บนความสงบ พูดแต่สัจจะ พูดแต่ความจริง ยกตัวอย่างเช่นคนที่เข้ามาช่วยพิจารณาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติก็ถือว่าสามารถเอาตัวรอดจากบาปนี้ได้ ส่วนคนที่ไม่พิมพ์ไม่ตอบโต้ไม่ใช่ว่าจะไม่สร้างบาปเวรภัย เพียงแค่คิดร้ายก็เป็นมโนกรรมที่มากพอที่จะทำให้ชีวิตและจิตใจได้รับทุกข์จากกรรมนี้ได้เช่นกัน

ดังนั้นคนที่กินมังสวิรัติแล้วไม่ล้างกิเลส ไม่ล้างอัตตาก็จะสร้างบาปเวรภัยไปในตัว ทำกุศลปนบาปโดยไม่รู้ตัว ไม่ผ่องใส่ ไม่ปลอดโปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย เช่นตอนมีคนมาว่าร้ายชาวมังสวิรัติ คนที่ไม่ล้างกิเลสก็จะร้อนรน โกรธ ไม่พอใจ จนเป็นเหตุให้เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นได้ ดังนั้นจะเรียกตัวเองว่าผู้ไม่เบียดเบียนย่อมเป็นคำโกหก ผิดศีลข้อ ๔ ซ้ำเข้าไปอีก สร้างบาปเวรภัยให้กับตัวเองเข้าไปอีก กินมังสวิรัติว่าได้กุศลแล้ว ยังโดนวิบากบาปลากไปให้ทำชั่วให้ทำทุกข์อีก มันจะคุ้มไหม?

จะดีไหมหากเราจะกินมังสวิรัติไปด้วยล้างกิเลสไปด้วย ล้างความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เรายึดไว้ไปด้วย จะดีไหมหากเราจะรู้สึกเฉยๆถ้ามีคนมาต่อว่าในสิ่งที่เราเป็น ในสิ่งที่เราชอบ จะดีไหมถ้าเราไม่ต้องทำทุกข์ทับถมตัวเองเพราะเราเลี้ยงกิเลสไว้

กิเลสไม่ใช่ตัวเรา ความยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติไม่ใช่เรา เราไม่จำเป็นต้องยึดไว้ เราเพียงแค่ยึดอาศัย อาศัยให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตนี้ เรากินมังสวิรัติแต่เราไม่ยึดติด ไม่ยึดติดไม่ได้หมายถึงกินเนื้อบ้างกินผักบ้าง แต่หมายถึงว่าไม่ยึดติดกับความเป็นมังสวิรัติ เพราะถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นมังสวิรัติแล้วมีคนมาว่าเราก็ทุกข์ แต่ถ้าเรายึดอาศัยเราก็กินของเราไป แต่ถ้าใครมาว่าเราก็ไม่ทุกข์ เพราะเราไม่ได้ถือ เราไม่ได้มีตัวตน เราเลยไม่ต้องทุกข์

สุดท้ายของบทไขอัตตานี้ก็ให้ผู้อ่านได้ทบทวนตนเองว่าเกิดอะไรขึ้นในใจของเรา มันเกิดตั้งแต่เมื่อไหร่ มันเกิดเพราะอะไร มันดับไปเพราะอะไร แล้วมันจะเกิดอีกไหม จะดีกว่าไหมถ้ามันจะไม่เกิดอีกเลย ก็ขอให้ท่านลองพิจารณาดู

2).กรรม

กรรมอันใดหนอที่ทำให้ต้องมีคนเข้าใจผิด ต้องผิดใจ ต้องทะเลาะเบาะแว้ง ในบทนี้ผมจะลองไขกรรมของตัวเองอย่างคร่าวๆเพื่อให้เห็นภาพของวิบากบาปหรือผลของบาปที่เคยทำไว้ในอดีตกาล

ผมเองตั้งใจพิมพ์บทความด้วยความคิดว่าจะลองสื่อสารในอีกมุม เป็นมุมของคนกินเนื้อสัตว์ที่ข้องใจในมังสวิรัติ ซึ่งก็เป็นคนที่มีการกระทบกระทั่งกันให้เห็นกันตามกระทู้มังสวิรัติทั่วไปนั่นเอง ทีนี้เราก็คิดว่าขัดเกลาบทความดีแล้ว เรียบเรียงใส่คำใบ้ ใส่นัยสำคัญ ใส่เฉลยไว้เรียบร้อย กะว่าเพื่อนอ่านจบคงจะเข้าใจได้เอง แต่มันก็ผิดคาดไป ตรงนี้เป็นการประมาณผิดไม่ได้มีอะไรมาก แต่กรรมนั้นเองดลให้ได้ข้อมูลเท่านี้ ให้เขียนแบบนี้ ให้ประมาณผิดเช่นนี้ ซึ่งเราดูได้จากผลที่เกิดขึ้นคือมีคนเข้าใจผิดเป็นจำนวนมากและมีคนเข้ามาต่อว่ามากมาย อันนี้ในชาติใดชาติหนึ่งผมคงเคยไปยุแยงใครให้เกลียดให้เข้าใจคนอื่นผิดทั้งๆที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด ก็เลยต้องมารับวิบากนี้ ซึ่งรับแล้วก็หมดไป มีคนมาด่าชีวิตผมก็ดีขึ้นเพราะได้ใช้กรรม กรรมชั่วหมดไปก็เปิดโอกาสให้กรรมดีที่ทำไว้ได้ส่งผลมากขึ้น สรุปแล้วทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นผมมองว่าดีทั้งหมด

เมื่อกรรมชั่วได้ถูกชำระหนี้ไปแล้วกรรมดีก็ได้เกิดขึ้น มีคนที่เข้าใจในเนื้อหาสาระของบทความมาช่วยขยายความให้ ช่วยให้หลายคนได้คลายสงสัย ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงนี้จะเริ่มเป็นจุดเปลี่ยนที่เห็นพลังของกรรมดีที่ทำไว้อย่างชัดเจน ถ้าผมไม่เคยทำดีไว้ ก็คงจะไม่มีใครมาช่วยแบบนี้ สิ่งนี้เองเป็นผลจากการที่เราทำกรรมดีสะสมไว้บ้าง

แต่กรรมชั่วที่หมดไปนั้นเอง จะหมดไปไม่ได้หากไม่มีคนเข้ามาช่วย มีคนที่เสียสละยอมทำบาปจำนวนมากที่เป็นสะพานให้ผมได้ใช้กรรมชั่วที่เคยทำมาในอดีต เขาเหล่านั้นคือผู้รับวิบากบาปต่อในส่วนที่เขาทำและส่วนอื่นที่เขาได้ขยายต่อไป ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะผลกรรมชั่วของเขาก็ลากเขามาให้เขาทำกรรมนี้เช่นกัน เพราะถ้าไม่มีอัตตาขนาดนี้เขาคงไม่ด่า ถ้าเขาล้างอัตตาได้เขาก็ไม่ต้องมารับบาป ในส่วนนี้ก็เห็นใจเพื่อนๆจริงๆ จะมีสักกี่คนที่ได้อ่านมาถึงบทความนี้ ในร้อยคนที่อ่านจะมีสักกี่คนที่เขาด่าแล้วจากไป พวกเขาเหล่านั้นจากไปพร้อมของฝากชิ้นใหญ่คือกรรมที่เขาต้องรับไว้ เหมือนกับชีวิตผมที่มีกองบาปกรรมทับอยู่ แล้วมีคนมาหอบกองบาปกรรมเหล่านั้นกลับบ้านไปเพราะหลงว่าเป็นของดี หากใครยังรู้สึกติดใจ ขุ่นเคืองใจอยู่ก็อยากจะให้พิจารณาดีๆว่ามันคุ้มไหมที่จะเอาบาปนี้กลับไปเป็นสมบัติของตัวเอง

ทั้งหมดนี้ไขให้เห็นกระบวนการของกรรมในภาพกว้างๆ ให้พอรู้ว่ากรรมชั่วกรรมดีมันมีผล

3). เกี่ยวกับบทความคนบ้ากินมัง

ในบทความนี้ผมได้วางเนื้อหาสาระสำคัญไว้หลายจุดด้วยกัน หากใครยังไม่เห็นหรือมองผ่านไปก็ลองอ่านกันดูได้

3.1). คนเกิดมาก็กินเนื้อแต่บ้าเปลี่ยนมากินผัก

อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ เพราะคนส่วนมากที่มีจิตเจริญขึ้นก็จะเบียดเบียนผู้อื่นน้อยลง ทุกคนเริ่มมาจากการกินเนื้อสัตว์เหมือนกันหมดแต่ทำไมบางคนหันมากินมังสวิรัติ มันเป็นไปได้อย่างไร จิตใจมันเจริญขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์

3.2 ) ด้วยสติปัญญาที่พวกเขามี เขาจึงไปเชื่อลัทธิหนึ่ง

คำว่าลัทธิในที่นี้หมายถึงกลุ่ม ถ้ามองจากคนนอกที่เขาไม่กินเนื้อ เขาไม่รู้หรอกว่าเราไปอยู่กลุ่มไหนเขาก็มองเป็นกลุ่มก้อนเป็นลัทธินั่นแหละ ซึ่งลัทธิในที่นี้อาจจะเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นอิสลาม หรือศาสนา นิกาย กลุ่มคน กลุ่มสังคม กลุ่มในเฟสบุคก็ได้ที่มีลักษณะกลุ่มก้อนที่เสนอสื่อ ให้ความรู้ ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกินมังฯ และด้วยสติปัญญาที่มี คือมีปัญญารู้คุณรู้โทษจึงเชื่อและพยายามกินมังสวิรัติ

หลายคนเข้าใจว่ากินมังสวิรัติด้วยตัวเอง อยู่ๆก็ไม่อยากกินเนื้อสัตว์เอง มองว่าในชาตินี้ไม่ได้มีสื่อใดกระตุ้นเลย ถ้ามองแค่ในชาตินี้มันก็เข้าใจถูกตามนี้ ดูว่าเป็นคนเก่ง แต่แท้ที่จริงแล้วความเบื่อหน่ายเนื้อสัตว์นี้เป็นสิ่งที่สะสมมาหลายภพหลายชาติ ซึ่งการจะออกจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงนั้นจะคิดเอาเองไม่ได้ นึกเอา เดาเอา มั่วเอาเองไม่ได้เลย ต้องมีสัตบุรุษหรือผู้รู้สัจจะเป็นผู้บอก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวเก่าแก่ในชาติปางก่อนก็ได้ เพราะทุกอย่างมาแต่เหตุ แล้วเหตุใดที่เราไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆที่ในชาตินี้เราก็ไม่ได้เพียรพยายามใดๆเลย แต่กลับเห็นคนอื่นเขาเพียรพยายามกันอย่างยากลำบากตกแล้วตกอีก พลาดแล้วพลาดอีก นั่นเพราะเราทำมามาก ฟังมามาก เลยมีผลส่งมามาก ในส่วนนี้ที่ขยายไว้เพิ่มเพราะคนที่ทำอะไรได้ด้วยตัวเองมักจะมีอัตตาแรง คนเก่งมักมีอัตตาจัดเสมอ ก็ขอให้พิจารณาไว้

3.3 ฟังแล้วมีแต่ข้อดี จึงใช้ความเพียรพยายามในการลดละเลิก

ตรงนี้คือการพิจารณาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติ เมื่อจิตเข้าถึงประโยชน์แล้วจึงใช้ความเพียร คนที่กินมังสวิรัติได้สมบูรณ์จริงๆจะรู้ว่าต้องใช้ความเพียรอย่างมากในการตัดกิเลส ในการห้ามใจไม่คิดถึงเนื้อสัตว์ ในการอยู่กลางวงเนื้อสัตว์โดยไม่กิน ในการยอมถูกบ่นถูกด่าจากผู้ที่ไม่เห็นดีกับการกินเนื้อสัตว์โดยไม่โกรธ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ความเพียรมาก ไม่ได้มากันง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เป็นสิ่งที่สั่งสมข้ามภพข้ามชาติมา

3.4 ให้กินเนื้อฟรีก็ไม่กิน แถมเงินก็ไม่กิน

เป็นสภาพของคนที่พ้นจากความอยากแล้วเท่านั้นจึงจะเข้าใจความสบายใจที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ คนที่กินมังสวิรัติแต่ไม่ได้ล้างกิเลสจะเหลืออาการอยาก เขาไม่กินแล้วนะแต่เห็นแล้วก็ยังอยากกิน แม้จะสามารถข่มใจไว้ได้แต่กิเลสก็จะโตขึ้นเรื่อยๆดังที่เห็นคนกินมังสวิรัติมานานแต่กลับไปกินเนื้อสัตว์ เพราะกิเลสมันโตจนกดไว้ไม่ไหว

3.5 มีเนื้อให้กินดีๆไม่กิน จะกินผัก

คนกินมังสวิรัตินั้นเป็นคนที่ยอมอดทน แม้จะต้องกดข่มก็ยังเจริญกว่าคนที่กินเนื้อสัตว์ตามกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนจะบรรลุธรรมได้เพราะความเพียร ถ้าหากเราอยากพ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นกิเลสที่ผลักดันให้เราไปกินเนื้อสัตว์แล้วเราต้องใช้ความเพียรที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์ โดยมีความเชื่อที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์เป็นหางเสือควบคุมทิศทางเช่นกัน

3.6 ชอบทวนกระแสโลก

คนที่สู้กับกิเลส ไม่ยอมทำตามกิเลสนั้นก็ถือว่าได้พยายามทวนกระแสโลก หรือกระแสของกิเลสแล้ว ส่วนจะถึงฝั่งฝันไหมก็คงต้องเพียรต่อไป คำว่าทวนกระแสโลกนั้นในทางธรรมก็เป็นที่เข้าใจอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของโลกุตระ เป็นเรื่องของอีกโลกที่ไม่เหมือนโลกียะ ไม่เหมือนปลาตายที่ลอยตามน้ำ

3.7 ชอบมาเผยแพร่ลัทธิ

พอเราสามารถกินมังสวิรัติจนเห็นผลดีกับชีวิตและจิตใจตัวเองแล้ว เราก็จะเริ่มทำการเผยแพร่สิ่งดีให้กับคนรัก คนใกล้ชิด และบางครั้งก็ต้องพบกับความไม่ยินดี ไม่เอาด้วย หรือเอาด้วยแต่เอานิดเดียวนะ ซึ่งพอมีการสื่อสารหรือการแลกเปลี่ยนความเห็นความเข้าใจที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้เกิดความคิดเห็นไม่ตรงกัน นำมาซึ่งความผิดใจกันและการทะเลาะเบาะแว้งได้

3.8 บ้าในโลกส่วนตัว

คนกินมังสวิรัติที่อยู่ในโลกส่วนตัวนั้นมีให้เห็นกว้างๆอยู่สองพวก หนึ่งคือพวกที่ติดโลกธรรมเลยไม่ถือสาคนอื่น กลัวเขาไม่คบ กลัวเขาว่า กลัวเขาเกลียด กลัวเขานินทา เกรงใจเขา อีกส่วนหนึ่งคือพวกที่สามารถลดกิเลสลดอัตตาได้ ก็จะไม่ถือสาคนอื่นเช่นกัน จะกินมังไปได้อย่างปกติ แม้จะมีคนมาด่าหรือต่อว่าก็จะไม่ไปทำร้ายจิตใจใคร

3.9 บ้าระรานชาวบ้าน

เป็นคนกินมังสวิรัติที่มีอัตตามาก มักจะพยายามยัดเยียดสิ่งดีคือมังสวิรัติให้ผู้อื่น ยัดเข้าไปจนเขาอ้วก จนเขาเอือมระอา จนเขาเกลียดมังสวิรัติไปเลยก็มี และอัตตายังส่งผลให้ปกป้องตัวเองเช่นกัน ดังเช่นเมื่อมีคนมาเห็นต่างเห็นแย้ง พวกเขาก็พร้อมจะหยิบอาวุธขึ้นมาปกป้องความเชื่อของตัวเอง ฟาดฟันผู้อื่นด้วยความคิด คำพูด การกระทำต่างๆ

ถามว่าทำไมถึงเรียกว่าระรานชาวบ้าน ทั้งๆที่ถูกโจมตี เพราะแท้จริงชาวมังสวิรัตินั้นคือผู้มีเมตตา ไม่เบียดเบียนสัตว์โลก นั้นหมายถึงสัตว์และมนุษย์ด้วย แม้ว่าเขาจะมาด่า กล่าวหาว่าร้าย มาโจมตีใดๆก็ตาม ก็ไม่ใช่เหตุที่เราจะต้องไปเบียดเบียนเขากลับเลย

คนมีอัตตาจะมองไม่เห็นตรงนี้เพราะกิเลสจะบังตาทันทีที่มีคนพูดแล้วขัดกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อหรือมาด่าต่อว่า เมื่อมองไม่เห็นกิเลสตัวเองก็โทษว่าคนอื่นผิด ว่าแล้วก็โกรธเขาแล้วเข้าใจว่ามันถูกต้อง คือเขาผิดเราจึงโกรธ อันนี้มันความเห็นของคนมีกิเลส มันก็ชั่วอยู่ดีนั่นเอง เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นอยู่ดีนั่นเอง

3.10 ดูสิพวกกินมังฯทั้งโง่ทั้งบ้า

มีเนื้อให้กินก็ไม่กิน กินฟรีก็ไม่กิน กินแต่ผัก ไม่ไปตามกระแสโลก ไม่ไปตามกิเลส คนทั่วไปเขามองเราแบบนี้มันก็ถูกของเขา เพราะเขาเห็นว่าทำแบบเรามันลำบาก มันทรมาน มันบ้า ไม่มีใครเขามาล้างกิเลส ลดกิเลสกันหรอก เขามีแต่จะพากันเพิ่มกิเลส

ในประโยคสุดท้ายนี่ทิ้งไว้โดยสื่อสารอย่างชัดเจนว่าคนที่เลือกกินเนื้อนั้นกินตามกิเลส ส่วนคนคิดจะกินมังสวิรัตินั้นคือคนทวนกระแสกิเลส หากผู้ใดได้พิจารณาบทความ คนบ้ากินมัง ดีๆจนกระทั่งในตอนจบก็จะไม่มีความสงสัยใดในบทนี้ ยกเว้นตัวท่านเองกินมังสวิรัติโดยไม่รู้เรื่องกิเลส ซึ่งก็ขอให้ท่านค่อยๆศึกษาและติดตามจากบทความอื่นๆที่ผมได้นำเสนอมาแล้วและจะนำเสนอต่อไปอีกเรื่อยๆ

…สุดท้ายนี้ขอยืนยันว่าถ้าคนล้างกิเลสเรื่องมังสวิรัติได้จริงจะสามารถอ่านบทความ “คนบ้ากินมังฯ” ได้ฉลุย ผ่านตลอด ไม่มีแม้ความขุ่นเคืองใจใดๆในทุกวินาทีที่อ่าน เพราะเขาเหล่านั้นได้ล้างอัตตาหรือความยึดดีในมังสวิรัติซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ เหตุที่ทำให้ไม่พอใจ ทำให้ขุ่นเคือง หรือทำให้โกรธออกไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนผู้ที่เห็นอัตตาของตัวเอง และเริ่มเห็นว่านี่แหละคือศัตรูตัวร้ายที่แอบซ่อนและฝังอยู่ในจิตใจของเรามานาน เป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ทุกครั้งเมื่อต้องเจอกับประเด็นต่างๆที่ไม่พอใจในเรื่องมังสวิรัติ ก็แนะนำให้เรียนรู้เรื่องกิเลส เรียนรู้เกี่ยวกับการล้างกิเลส ท่านจะศึกษากับครูบาอาจารย์หรือใช้วิธีอื่นก็ได้ตามที่ชอบหรือเห็นควรก็ได้

ซึ่งในส่วนของผมเองนั้นจะสร้างกลุ่มที่คุยเรื่องมังสวิรัติกับกิเลสที่ Buddhism Vegetarian

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

อกหัก

November 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,628 views 0

อกหัก

อกหัก

…เมื่อความผิดหวังมาเยี่ยมเยียนความรัก

ความรัก การมีคู่ การครอบครอง เป็นสิ่งที่หลายคนใฝ่หา เฝ้าฝันว่าวันใดวันหนึ่งจะได้พบคู่รักดังที่เคยฝันไว้ จนกระทั่งวันหนึ่งได้เจอคู่ที่เหมาะสม คู่ที่ยินดีจะมอบกายมอบใจมอบชีวิตให้เขาครอบครอง แต่สุดท้ายความฝันทั้งหมดก็พังทลายลงเมื่อเผชิญกับความจริง เหลือทิ้งไว้เพียงแค่คนที่ถูกดับความหวังหมดสิ้นความฝันหรือที่เรียกกันว่า “คนอกหัก

ในบทความนี้จะมาไขเรื่องราวของการอกหักอย่างละเอียดเท่าที่จะเกิดประโยชน์กับใครสักคนที่กำลังอกหักหรือเตรียมตัวที่จะอกหักมาสรุปเป็นหัวข้อได้ 7 หัวข้อด้วยกัน ลองอ่านกันเลย

1….ทำไมต้องอกหัก

เมื่อมีการเกิด ก็ต้องมีการดับ อย่างที่เรารู้กันว่าสิ่งใดๆในโลกล้วนไม่เที่ยง มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เหมือนกันกับความรัก มันเกิดขึ้น มันดำเนินอยู่คงสภาพอยู่ และสุดท้ายมันก็ต้องจบลงไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ตอนที่เรากำลังไขว่คว้าหาความรักแสวงหาคู่ครองมาคบหาดูใจนั้น น้อยคนนักที่จะคิดว่าทุกอย่างจะต้องจบลง ยากนักสำหรับคนที่หลงไปกับความรักจะคิดได้ว่าเมื่อมีรักก็ต้องมีวันหมดรัก หรือจะเรียกได้ว่าเมื่อตกลงรักไปแล้วก็ยากนักที่ใครจะเตรียมพร้อมทำใจรอรับวันอกหัก เมื่อเขาเหล่านั้นได้รับความรัก ได้รับคนรักเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ก็มักจะมัวแต่เมามายประมาทในกาลเวลามองว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปดังที่หวังไว้ เมื่อได้คบหาแล้วก็วางแผน วาดฝัน สร้างสวรรค์วิมานไปตามที่จะคิดจะจินตนาการได้

แต่ถึงจะวางแผนชีวิตคู่ไว้อย่างดีแค่ไหน สัจธรรมย่อมไม่เปลี่ยนแปลง คือเราจะต้องมีความพลัดพรากเป็นเรื่องธรรมดา นั่นหมายถึงเราจะต้องเสียคู่รักของเราไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อาจจะเลิกคบหากัน อาจจะตายจากกัน หรืออาจจะอยู่ด้วยกันโดยที่ความรักนั้นได้ตายไปแล้วก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องมาถึงในวันใดวันหนึ่ง

เมื่อเราอกหัก เรามักจะมองหาคนผิด คนที่ได้ชื่อว่าอกหักมักจะดูเหมือนเป็นผู้ถูกกระทำ ซึ่งก็มักจะคิดว่าตนนั้นถูกกระทำ และคิดว่าตนนั้นมีสิทธิ์ที่จะเสียใจ มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้อง มีสิทธิ์ที่จะทุกข์ ทั้งที่คนผิดจริงๆนั้นคือตัวเราเอง

ไม่ว่าอดีตคู่ครองจะทำอะไรและไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหนกับเราก็ตาม ให้รู้และเข้าใจไว้อย่างหนึ่งคือทั้งหมดที่เขาทำนั้นคือกรรมของเราเอง เราทำมาเองเราเลยต้องรับเอง ไม่มีสิ่งใดที่เราได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับ เราทำมาแล้วทั้งนั้น ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราจึงเป็นเหมือนกระจกสะท้อนให้เห็นว่าเราเคยทำกรรมอันน่ารังเกียจแค่ไหน ยิ่งเราเกลียดคนที่หักอกเรามากเท่าไหร่ นั่นแหละคือเราทำมามากกว่านั้น เราเลวร้ายมากกว่านั้น เพราะกรรมเขาแบ่งมาให้เรารับในชาตินี้ส่วนหนึ่ง ชาติหน้าส่วนหนึ่ง และชาติต่อๆไปอีกจนกว่าจะหมด

นั่นหมายความว่าเรากำลังได้รับเศษกรรมที่เราเคยทำไว้ ดังนั้นเหตุที่ว่าทำไมต้องอกหัก จึงมีส่วนของกรรมเก่าส่วนหนึ่งและกรรมใหม่ที่เราทำในชาตินี้อีกส่วนหนึ่ง กรรมใหม่ก็เช่น เราดูแลเขาดีไหม เราสนองกิเลสเขาได้ไหม เราตามใจเขามากเกินไปหรือไม่ หรือเรามัวแต่สนองกิเลสตัวเองโดยไม่สนใจเขา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นกรรมใหม่ในชาตินี้ที่ส่งผลมากที่สุด ถ้าถามว่าทำไมอกหัก ก็สรุปสั้นๆได้ว่า “เราทำมา

2….ทำไมต้องทุกข์ ทำไมต้องทรมาน

ความทุกข์นั้นคือผลของกรรม และผลของกิเลส ในส่วนของกรรม กรรมที่เราทำมาจะทำหน้าที่ให้เกิดความทุกข์ ทรมาน กระวนกระวาย และอาจจะมีผลไปถึงร่างกาย เช่นไม่หิวข้าว ไม่สบาย เซื่องซึม ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่จิตใจสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดทุกข์ซ้ำซ้อนกับเราวนเวียนไปจนกว่ากรรมนั้นๆจะหมด

การที่กรรมนั้นจะหมดได้คือเราต้องยอมรับกรรมเสียก่อน ยอมรับว่าทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่เราทำมา คนที่มัวแต่โทษคนอื่น โทษอดีตคู่ครอง โทษมือที่สาม โทษดินฟ้าอากาศ โทษดวงชะตา ฯลฯ คือคนที่ไม่ยอมรับกรรมที่ทำมา เมื่อไม่ยอมรับกรรมก็ยากที่จะพ้นทุกข์ เพราะมีการโกหกซ้ำซ้อนเข้าไปอีกว่าฉันไม่ได้ทำมา ทั้งที่ทำมาแท้ๆกลับไม่ยอมรับ มองเพียงแค่ตื้นๆ เห็นเพียงแค่ผิวเผินก็ตัดสินไปแล้วว่าไม่ใช่กรรมของฉัน สิ่งที่เราได้รับนั่นแหละคือกรรมของเราแน่ๆ ไม่ต้องโทษใครที่ไหน

ในส่วนของกิเลสนั้นซ้อนเข้าไปในเรื่องกรรมอีกที แต่จะเป็นส่วนที่สามารถจะแก้ไขได้ การที่เราทุกข์ทรมานจากการอกหักนั้น เกิดจากความผิดหวัง ที่ผิดหวังเพราะว่าเรามีหวัง แต่มีความหวังนั้นไม่ผิด ผิดตรงที่เราไปยึดมั่นถือมั่นกับความหวังนั้น

เราสามารถวาดฝัน คาดหวัง หรือวางแผนชีวิตคู่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อมันไม่เกิดดังที่เราคาดหวัง เราก็มักจะไม่สามารถปรับใจตัวเองได้ทัน เพราะยังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเดิมที่เคยคาดหวังไว้ อาการเหล่านี้เรียกว่ามีอัตตา มีความยึดมั่นถือมั่น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราคาดหวังว่าแฟนจะพาไปกินข้าวเย็นสุดหรูในวันสำคัญของเรา แต่สุดท้ายกลับต้องมากินข้าวแกงถุงกัน…

กระบวนการทั้งหมดเริ่มจากเราหวังว่าจะได้กินของอร่อยดูดี แต่เมื่อกรรมได้นำพาเหตุการณ์บางอย่างเข้ามา คือบทที่ไม่สมหวังต้องมานั่งกินข้าวแกงถุง ณ ขณะนี้มีให้เลือก 2 ทางเลือกใหญ่ๆ 1. ทุกข์เพราะผิดหวัง 2.ปล่อยวางความหวัง

ถ้าเรามีทิศทางไปทางที่หนึ่งก็คือกิเลสเต็มๆ คือสิ่งที่เรียกว่าความยึดมั่นถือมั่น ส่วนอาการทุกข์เพราะผิดหวังนั้นจะแสดงออกอย่างไรก็แล้วแต่โทสะ ซึ่งเป็นกิเลสอีกตัวที่จะโผล่มาเมื่อไม่สมหวัง คนเรารักกันเลิกกันก็ไม่พ้นเรื่องของกิเลสหรอกมันก็มีอยู่แค่นี้ ถ้าดับกิเลสได้ก็ไม่มีทางทุกข์ที่มีทุกข์เพราะมีกิเลส

ส่วนของทางเลือกที่สองนั้น คือสิ่งที่เรียกว่าอุเบกขา หรือปล่อยวางความคาดหวังเสีย แล้วมีความสุขไปกับสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า ผู้สามารถอุเบกขาหรือปล่อยวางได้อย่างแท้จริงจะมีจิตผ่องใส โปร่งสบาย และมีไหวพริบเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์

แต่การจะอุเบกขาได้อย่างแท้จริงแล้ว จำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจธรรมะในระดับที่ล้างกิเลสเป็น ดังนั้นยากนักที่จะสามารถหนีออกจากเหตุแห่งทุกข์และความทรมานนี้ได้ พวกเขาจึงต้องจมอยู่กับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าซึ่งความทุกข์นั้นก็ไม่ได้เกิดจากใครที่ไหนก็เป็นเขาเองที่ยึดมั่นถือมั่นทุกข์นั้นไว้ กอดทุกข์นั้นไว้ กอดความหวังที่ไม่มีจริงเอาไว้ เมื่อไม่ปล่อยวาง จึงต้องทุกข์ทรมานอยู่เรื่อยไป

3….อยากลืมกลับจำ อยากจำกลับลืม

คงเป็นเรื่องยากที่ใครจะลืมฉากรักอันแสนหวานและฉากทุกข์ทรมานที่แสนขมขื่น สิ่งที่เราจำได้นั้นเรียกว่า “สัญญา” คือการจำได้หมายรู้ทั่วไป และการที่เราคิดเรียกว่า “สังขาร” หรือการปรุงแต่งความคิด

สัญญาคือเราจำเรื่องราวจำสิ่งต่างได้ เช่น เราคบกันวันแรกที่ไหน ของขวัญชิ้นแรกคืออะไร เราพูดอะไรออกไป เราทะเลาะกันเรื่องอะไร สิ่งเหล่านี้คือความจำ ความจำนั้นไม่ใช่ตัวทำให้ทุกข์ แต่สิ่งที่ทำให้ทุกข์นั่นคือความคิดหรือสังขารที่ปนเปื้อนด้วยกิเลส

คนทั่วไปมักจะมองหาทางลืม แต่สุดท้ายก็พบว่าอยากลืมกลับจำ อยากจำสิ่งดีใหม่ๆแต่กลับลืม พยายามสร้างเรื่องราวใหม่เพื่อมาทดแทนแต่ก็ไม่สามารถทำให้ลืมได้ นั่นเพราะสิ่งที่ทำให้เราจำได้ก็เพราะความคิดของเราที่ปรุงแต่งเรื่องราว คำพูด ฉากเหตุการณ์ต่างๆย้อนหลังซ้ำไปซ้ำมาในความคิดของเรา เมื่อคิดอยู่อย่างนั้นมันก็บันทึกเรื่องใหม่ไปด้วย นอกจากจะจำเรื่องเก่าได้แม่นขึ้น ยังมีเรื่องใหม่ที่ปรุงแต่งขึ้นมาเองอย่างฟุ้งซ่านลงไปด้วย

บางครั้งอาจจะทำให้เกิดอาการ สัญญาวิปลาสได้ คือ ความจำสับสน จำสิ่งที่ตัวเองคิดขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริงทับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง เช่น เคยเลิกกับแฟนด้วยคำพูดประโยคหนึ่ง แต่พอเวลาผ่านไปกิเลสได้ปรุงแต่งความคิดให้ฟุ้งซ่านเป็นทุกข์ จึงเริ่มปรุงแต่งเรื่องราวเดิมซ้ำอีกครั้ง ซ้ำไปซ้ำมาจนประโยคเดิมนั้นกลายเป็นประโยคใหม่ ซึ่งมีน้ำหนักมีความรุนแรงมากกว่าเดิม เหตุการณ์นี้หลายคนก็คงจะเคยเจอ ภาษาทั่วไปเขาเรียกกันว่า “มโนไปเอง” หรือคิดไปเองนั่นเอง คือความคิดใหม่มันไปอัดทับของเก่าไปแล้ว เหมือนกับบันทึกข้อมูลทับข้อมูลเดิมโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งปัญหาจริงๆมันไม่ได้อยู่ที่จำหรือลืม มันอยู่ที่ทุกข์หรือไม่ทุกข์ คนที่ล้างกิเลสได้จริงมันจะไม่ลืม แต่มันจะไม่ทุกข์ มันจะยินดีกับทุกเรื่องราวที่ผ่านมาไม่ว่าจะดีหรือร้าย คิดเรื่องดีก็ยินดี คิดเรื่องร้ายก็ยินดี ยินดีที่ได้รับกรรมที่ทำไปแล้วก็จบไป ยินดีที่ได้เห็นว่าตัวเรานั้นมีกิเลสขนาดไหนยินดีที่ได้ใช้เหตุการณ์นั้นมาล้างกิเลสในใจเรา

4….อกหักทำอย่างไร

ความผูกพันที่เกิดขึ้นมานั้นไม่ได้ทำลายได้ง่ายๆเพียงแค่กดข่ม หรือพยายามเปลี่ยนเรื่องโดยหาสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ บางครั้งเราอาจจะหลงคิดไปว่าชีวิตเราเปลี่ยนไปแล้ว คิดว่าเราลืมไปแล้ว แต่จริงๆชีวิตที่เปลี่ยนแปลงนั้นเกิดมาจากการอกหักที่เกิดขึ้นนั่นแหละ กิเลสที่มีจะพยายามทำให้เราผลักจากสภาพทุกข์ที่เป็นอยู่ซึ่งโดยมากจะไปในทางอกุศล

คนส่วนมากก็มักจะใช้วิธีหากิจกรรมใหม่ เปลี่ยนวิถีชีวิต เช่นไปเที่ยวคนเดียว ไปดูหนังคนเดียว ไปทำอะไรที่ไม่เคยทำ ปลดปล่อยตัวเอง ไประบายความเครียดความบ้าคลั่งที่ไหนสักที่ มันก็พอทำได้ในลักษณะของโลกียะ แต่จริงๆแล้วบางกิจกรรมมันก็ทำทุกข์ซ้อนเข้าไปอีกถ้าจะให้ดีเราควรเลือกกิจกรรมที่เป็นกุศล เช่น พบเจอเพื่อนฝูง ศึกษาธรรมะ นั่งสมาธิ สวดมนต์ ล้างจาน กวาดบ้าน จัดห้อง เก็บของบริจาค จัดสวน หรืองานจิตอาสาช่วยคนอื่น ฯลฯ และเว้นขาดจากกิจกรรมที่จะมีโอกาสเพิ่มไปกิเลสอีก เช่น ไปเที่ยวกลางคืน ดูหนังคนเดียว ฟังเพลงคนเดียว กินเหล้าของมึนเมา เสพยาเสพติด ฯลฯ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์อื่นๆตามมา

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอีกวิธีที่คนนิยมคือหาแฟนใหม่หาคนใหม่มาดามอก ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้ยิ่งแย่เพราะเรื่องเก่ายังทุกข์ไม่หมดยังจะไปหาทุกข์ใหม่มาซ้ำตัวเองอีก จริงอยู่ว่าแรกรักนั้นเหมือนจะหวานแต่สุดท้ายก็ขมเหมือนกันหมด การที่เราได้โอกาสกลับมาโสดนี่คือสิ่งที่วิเศษที่สุดที่เขาหรือเหตุการณ์ใดๆมาดลให้เราต้องพลัดพรากก่อนเวลาที่เราคิด ซึ่งความโสดนี่แหละดีที่สุด

เมื่อเราได้ความโสดแล้วยังกลับไปหาการมีคู่ก็มักจะต้องกลับไปพบทุกข์เหมือนเดิม วนกลับไปที่หัวข้อแรก ทำไมต้องอกหัก? อกหักก็เพราะอยากมีคู่ อยากมีคู่มันก็เกิดจากกิเลส ถ้าไม่ดับกิเลสมันก็ทุกข์วนเวียนไปเรื่อยๆ ดังนั้นวิธีหาคู่มาดับทุกข์จึงเป็นวิธียอดแย่ที่คนกลับนิยมใช้มากและเข้าใจว่าเป็นวิธีที่ดีทั้งๆที่นั่นคือวิธีสร้างนรกซ้อนขึ้นมาอีกขุม เพราะกิเลสในนรกขุมเดิมก็ยังไม่ได้แก้ ยังเพิ่มกิเลสไปหานรกขุมใหม่เพิ่มให้ตัวเองอีก

วิธีแก้ไขอาการอกหักเบื้องต้นในทางโลกก็ทำให้พอดี ไม่ให้ฟุ้งซ่านเกินไป ไม่ให้มัวเมาจนเลอะเทอะ เพราะวิธีแก้เหล่านั้นไม่ใช่วิธีแก้ที่ยั่งยืน ไม่ได้ดับที่เหตุ เมื่อไม่ได้ดับที่เหตุ ทุกข์ก็ไม่มีวันดับ อาจจะกดไว้ ข่มไว้ ฝังไว้แต่มันจะไม่ดับ มันจะเหลือเชื้อให้กลับมาเป็นทุกข์ได้เสมอ ดังนั้นเราจะเข้าสู่เนื้อหาสาระจริงๆของวิธีแก้ไขการอกหักกันเสียที

อย่างที่เกริ่นกันตอนต้นว่าอาการทุกข์จากการอกหักนั้นเกิดจากกิเลส ซึ่งกิเลสนี้คือความยึดมั่นถือมั่นมาเป็นของตน เมื่อเรารักใคร คบใคร ผูกพันกับใคร หรือแต่งงานกับใครเราก็จะยึดมั่นถือมั่นเขามาเป็นตัวเราของเรา เป็นอัตตาของเรา แต่ก่อนสมัยเรายังโสด คำว่า “อัตตา” นั้นมีแค่ตัวเราของเรา แต่พอเรามีคู่อัตตาของเราก็จะกลายเป็น “ตัวฉันและตัวเธอ” การเอาคนอื่นมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเองนั้นเรียกว่าโอฬาริกอัตตา คือเอาวัตถุแท่งก้อน คนสัตว์ สิ่งของมาเป็นของตัว

ตอนแรกมันอยู่คนเดียวก็ปกติดี แต่พอมีคู่แล้วต้องกลับมาอยู่คนเดียวมันไม่ปกติเหมือนเก่า เพราะว่ากิเลสมันเพิ่มขึ้น แต่ก่อนอัตตามันมีแค่ฉัน พอมีคู่กลายเป็นฉันกับเธอ ก็ยึดมันไว้อย่างนั้น ยึดว่าเราต้องมีกันและกัน ต้องคู่กัน ชีวิตของฉันจะเป็นไปเมื่อมีฉันกับเธอ ฉันจะอยู่ไม่ได้ถ้าขาดเธอ ตามที่หนังรักมากมายได้หลอกให้เราเชื่อว่าความรักมันเป็นแบบนั้น คนเลยต้องทนทุกข์เพราะยึด เมื่อยึดแล้วโดนจับแยกก็เลยเจอสภาพขาด เพราะหลงเข้าใจไปว่าเขาหรือคู่ของเรานั้นเป็นตัวเราของเรา ทั้งๆที่จริงแล้วเขาไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับทุกข์กับสุขของเราเลย ความทุกข์ ความสุขที่เราได้รับนั้น เราปั้นปรุงแต่งขึ้นมาเองทั้งนั้น เราสุขจากการได้เสพสมใจในกิเลสโดยใช้เขาเป็นตัวบำเรอกิเลสของเรา สุดท้ายพอโดนพรากไปเราก็ไม่มีที่บำเรอกิเลสเหมือนเดิม อัตตามันไม่ถูกสนองให้เต็มเหมือนเก่ามันก็เลยต้องทุกข์

การจะออกจากอัตตาแบบยึดคนอื่นมาเป็นตัวเราได้นั้น ในระยะแรกนั้นต้องกลับมาเป็นตัวเองให้ได้ ต้องทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวเองเชื่อมั่นว่าฉันอยู่คนเดียวได้ ฉันอยู่คนเดียวก็มีคุณค่า เติมอัตตาตัวเองให้เต็มด้วยความเป็นตัวเอง เติมช่องว่างที่เคยขาดหายด้วยคุณค่าของตัวเอง หรือจะใช้วิธีเติมคุณค่าด้วยการช่วยเหลือคนอื่นก็ได้ เช่นงานจิตอาสาจะสามารถถมช่องว่างของอัตตาที่เคยขาดหายไปได้ง่าย เสมือนว่าเอาคนอื่นมาแทนแฟนเก่าใช้ระงับทุกข์ได้ดีระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงรากแค่ระงับอาการทุกข์

เมื่ออัตตาได้เต็มกลับมาเป็นตัวของตัวเองได้แล้ว ยืนด้วยตัวเองได้แล้ว ไม่เสียใจ ไม่ทุกข์อีกแล้ว จะเกิดการยึดดี ความยึดดีนี้เองจะสร้างความเกลียด เมื่อเราเจอแฟนเก่าเราจะไม่ทุกข์เพราะเสียเขาไป แต่จะทุกข์เพราะเกลียดเขา จะเกิดอาการรังเกียจ ไม่อยากเห็นหน้า ไม่อยากร่วมโลก ไม่อยากสนใจ อันนี้เพราะเรามีอัตตาจัด

แน่นอนว่าเราเติมอัตตาให้เต็มมาเอง แต่สุดท้ายมันต้องทำลายอัตตาอีกที หลักตรงนี้คือ ต้องออกจากความทุกข์จากการอกหักด้วยการกลับมาอยู่กับตัวเองและทำลายความหลงติดหลงยึดกับตัวเองในตอนท้ายอีกที จึงจะสามารถพบกับความสุขแท้ที่เรียกได้ว่าพ้นจากทุกข์ของการเลิกราอย่างสิ้นเชิง

เมื่อเรามีอัตตามาก ยึดดีมาก มั่นใจในตัวเองมาก จะไม่สนใจแฟนเก่า แม้ว่าเขาจะดีเพียงใดก็จะไม่ใยดี รังเกียจ ความรู้สึกตรงนี้เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้น การล้างทุกข์ตรงนี้ต้องล้างอัตตา ความยึดดีนั้นคือสภาพของการผลัก ผลักเขาออกจากชีวิต ไม่เอาเขาอีกต่อไปแล้ว หรือเรียกว่าเกลียด บางคนถึงกับไม่เผาผีกันเลย

ซึ่งการจะล้างการผลักนั้นต้องดูดกลับไปอีกที คือการพิจารณาคุณค่าของเขาเช่น เขาก็มาให้เราเรียนรู้ทุกข์นะ ถ้าไม่มีเขาเราจะเข้าใจความทุกข์ของคนมีคู่ได้อย่างไร ไม่มีเขาแล้วใครจะมาสะท้อนกิเลสเรา เขาเสียสละมาทำกรรมกับเราเพื่อให้เราชดใช้กรรมเชียวนะ ถ้าเขาไม่ทิ้งเราจะได้เจอกับความโสดที่แสนสุขไหม จริงๆเมื่อก่อนนั้นมันก็ดีนะ เราเองผิดเองที่เรามีกิเลส ฯลฯ

เมื่อพิจารณาไปมากๆความเกลียดเขาจะลดลง แต่ตรงนี้ต้องระวังให้มาก เพราะบางครั้งเราอาจจะออกด้วยอัตตาไม่เต็ม คือตอนมีอัตตามันยังมีเขาแทรกอยู่ในตัวเรา ในกิเลสเรา ทีนี้พอพิจารณาดูดเขากลับมันก็จะเลยเถิดกลับไปรักเขาเหมือนเดิม กลับไปคิดถึงเขาเหมือนเดิม ดีไม่ดีก็กลับไปคบเขาเหมือนเดิม นี่คือลักษณะของการล้างกิเลสที่ไม่เป็นลำดับทำให้พลาดหล่นลงนรกไปเหมือนเดิม ให้สังเกตดูดีๆว่าคิดถึงเขาแล้วเรายังแอบดีใจ แอบมีความสุข แอบคิดถึงบรรยากาศดีๆที่เคยมีให้กันอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีอยู่อย่าเพิ่งคิดไปพิจารณาดูดหรือไปพิจารณาประโยชน์ของเขา ให้พิจารณาโทษให้ติดดี ให้เกลียดการมีคู่ให้มันเต็มๆก่อนแล้วค่อยว่ากันอีกที

เมื่อปรับระหว่างรักกับเกลียดผลักกับดูดได้แล้ว สุดท้ายมันจะสำเร็จลงที่ความเป็นกลาง กลางในที่นี้คือไม่กลับไปเสพเรื่องคู่ หรือไม่คิดกลับไปคบหากับแฟนคนก่อนอีก และไม่ทรมานตัวเองด้วยอัตตาคือไม่ถือดี ไม่ยึดดี ไม่เกลียดใครจนตัวเองทุกข์ จึงจะพ้นสภาพของความทุกข์ไม่ว่ากรณีใดๆ ไม่ว่าเขาจะเดินผ่าน ไม่ว่าเขาจะยิ้มให้ ไม่ว่าเขาจะเข้ามาคุย ไม่ว่าเขาจะพาแฟนใหม่มาเย้ย ไม่ว่าเขาจะต้องทุกข์ทนมานจากวิบากกรรมใดของเขา หรือไม่ว่าเขาจะต้องตายจากไปก็ตาม เราก็จะยังมีความยินดี ที่ครั้งหนึ่งเราเคยได้รักกันแม้ว่าทุกอย่างจะจบไปแล้วก็ตาม โดยไม่มีทุกข์ใดๆเข้ามาเจือปนในจิตใจให้หม่นหมองเลย

5….อกหักดีอย่างไร

ข้อดีของการอกหักมีมากมาย ตั้งแต่เราได้ใช้กรรม เราได้เห็นกิเลสตัวเองทำให้เรากลับมาสำรวจตัวเองว่าเรายังบกพร่องในเรื่องใดบ้าง เราได้เห็นกิเลสของคนอื่นทำให้เราได้เห็นว่าการบำรุงบำเรอกิเลสให้ใครนั้นทำเท่าไรก็ไม่พอ เราได้เห็นทุกข์ เราได้เห็นธรรม เราได้เข้าใจชีวิตมากขึ้น การอกหักครั้งหนึ่งสร้างการเรียนรู้ให้เราได้มากมาย และสิ่งที่ดีที่สุดของการอกหักก็คือ “ความโสด

คนที่ไม่อกหักก็จะไม่มีวันเข้าใจความทุกข์ของความโสด และไม่มีวันเข้าใจความสุขของการโสด ทั้งสองอย่างคือสิ่งที่เราต้องพบเจอไม่วันใดก็วันหนึ่ง ความทุกข์จากความโสดหรือโสดแล้วทุกข์เศร้าหมองนั้นเรามักจะเห็นกันเป็นประจำดังคำเรียกที่ว่า “คนอกหัก” แต่ความสุขของการโสด หรือ “โสดอย่างเป็นสุข” นั้นคือสภาพที่ใครหลายๆคนไม่ค่อยจะได้พบเห็นมากนัก แต่ถ้าจะยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพกันได้บ้างก็คือคนที่หลุดจากนรกหรือเลิกคบกับคนที่นิสัยไม่ดี ตอนแรกก็หลงรักเขาอยู่พอเขาจะทิ้งก็ไม่ยอมนะ แต่สุดท้ายพอเขาทิ้งจริงๆ ก็กลับมีความสุขขึ้น แบบนี้ก็น่าจะมีเหมือนกัน

แต่โสดอย่างเป็นสุขนั้นเป็นขั้นกว่าเป็นสิ่งที่เหนือกว่า เพราะคำว่าโสดอย่างเป็นสุขนั้นหมายถึงการยินดีในความโสดจนเกิดเป็นความสุข เพราะรู้ดีแล้วว่าไม่มีสิ่งใดจะมีความสุขเท่าความโสด ไม่มีอิสระใดจะยิ่งใหญ่เท่าความโสด เป็นความสุขแท้ที่มีเพียงผู้ที่ล้างกิเลสได้อย่างแท้จริงเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงได้ ถ้าถามว่ามันสุขแบบไหน ก็คงจะตอบสั้นๆได้ว่า มีความสุขและความยินดีที่จะโสดตลอดชีวิต โสดทั้งชาตินี้และชาติหน้าและชาติอื่นๆสืบไป

6…ความรักหลังจากอกหัก

ความรักหลังจากอกหักของคนมีกิเลส ก็คงจะหาคนมาเติมเต็มช่องว่างของกิเลสที่ขาดหายไป ถมแล้วก็หาย เติมแล้วก็พร่อง แล้วก็ต้องหามาเติมอย่างนี้เริ่มไปไม่จบไม่สิ้น วนเวียนอยู่กับการมีรัก คบกัน อกหัก นานแสนนานตราบเท่าที่กิเลสนั้นจะดับไป

แต่คนที่อกหักแล้วสามารถล้างกิเลสได้จะต่างออกไป ความรักของคนที่ล้างกิเลสได้จริงจะเปลี่ยนชีวิตของเขาและเธอไปอย่างไม่มีวันกลับไปทุกข์เหมือนเดิม ความรักที่มีหลังจากนั้นจะมีความใสบริสุทธิ์กว่าที่เคย จะกลายเป็นรักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น แม้ว่าจะมีการให้การเกื้อกูลดูแลการเอาใจใส่ แต่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่เอาตัวเขามาเป็นตัวเรา ไม่เอาใครเข้ามาเป็นกิเลสร่วมกับเรา และไม่มีตัวเรา ไม่มีคนหลงรัก ไม่มีใครให้รักจนหลง มีแต่ความรักที่พร้อมจะให้ ให้กับใครก็ได้ พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน มิตรสหาย ฯลฯ เพราะรู้ว่ารักแท้จริงนั้นเกิดจากการให้โดยไม่ยึดติด เมื่อไม่ยึดติดว่าต้องให้กับใครก็เลยยินดีที่จะให้ความรักกับทุกคน โดยไม่หวังอะไรตอบแทน

7….อกหักครั้งต่อไป

โดยทั่วไปคนที่เคยอกหักแล้ว มักจะเข้าใจว่าตัวเองได้เรียนรู้ข้อผิดพลาด ก็เลยมักอยากจะกลับไปลองของ เพราะความที่ตัวเองมีกิเลสอยากมีคู่ อาจจะด้วยความเหงาหรือความหื่นกระหายในสิ่งใดก็ตามแต่ เขาเหล่านั้นมักจะมั่นใจว่าครั้งต่อไปจะต้องไม่พลาด…แต่แล้วมันก็จะพลาดอีกอย่างเคย เพราะที่ใดมีรักที่นั่นก็มีทุกข์ ของมันคู่กันแบบนี้เราจะเลือกรับแต่ความสุขอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรับความทุกข์ไปด้วย แต่ที่สำคัญก็คือความสุขที่ได้รับนั้น “เป็นความสุขลวง”ที่จะล่อให้เราหลงติดอยู่ในการมีคู่ต่อไป ให้เราตามหารักแท้ไปเรื่อยๆ ให้เราอกหักไปเรื่อยๆ ผิดหวังไปเรื่อยๆ

ชีวิตนั้นยังมีเรื่องอีกตั้งมากมายให้เราผิดหวัง รอคอยให้เราล้างกิเลส หากเรายังมัวยินดีที่จะผิดหวังกับเรื่องเดิมๆ เราก็จะไม่มีวันพบกับความสุขแท้ได้ คงจะมีแต่สุขลวงๆที่กิเลสนั้นใช้ล่อเราไว้กับโลกนี้ ล่อเราไปกับการมีรัก การคบหา การเลิกรา ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงแค่ละครฉากหนึ่งที่กิเลสจัดฉากให้เราเล่น ให้เรารัก ให้เราหลง ให้เรายึด ให้เราทุกข์ ทรมาน เศร้าโศก คร่ำครวญ รำพัน เสียใจ คับแค้นใจ อยู่เรื่อยไป

อ่านบทความมาถึงตรงนี้แล้วอกหักครั้งต่อไปจะมีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับกิเลสในใจของเรา หากเรายังมีความยินดีที่จะกลับไปเสพสุขจากการมีคู่รักและพร้อมจะรับทุกข์ ก็ให้เรียนรู้ทุกข์ไปเรื่อยๆ เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็ต้องบรรลุธรรมในชาติใดชาติหนึ่งอยู่ดีอาจจะชาตินี้หรือชาติต่อไปนานแสนนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ แต่คนเรานั้นจะสามารถทำทุกข์ได้เท่าที่จะทนทุกข์ได้ เมื่อทุกข์สุดทนก็จะเลิกทำทุกข์ให้กับตัวเอง ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

– – – – – – – – – – – – – – –

24.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เพ่งโทษฟังธรรม

October 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,958 views 0

เพ่งโทษฟังธรรม

เพ่งโทษฟังธรรม

การที่คนเราจะสามารถเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นั้นจำเป็นต้องมีการเปิดใจรับฟัง มีการนำมาพิจารณาถึงเนื้อหานั้นๆ ไม่ว่าสิ่งที่ได้ฟัง ได้เรียนรู้มานั้นจะเป็นความรู้ทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม

เมื่อคนเรานั้นได้เรียนรู้โลกจนได้ความรู้มาหนึ่งชุด ก็มักจะยึดมั่นถือมั่นความรู้ชุดนั้นเป็นอัตตา เช่นไปศึกษากับครูบาอาจารย์ท่านใดก็จะยึดคำสอนนั้นเป็นหลักยึดทันที เมื่อได้ฟังธรรมใหม่ๆก็จะนำมาตรวจเทียบกับความรู้เดิมของตน เมื่อสิ่งใดไม่เหมือนสิ่งที่ตนเคยเรียนรู้มาก็มักจะมองว่าสิ่งนั้น “ผิด” โดยที่ตนเองก็ไม่ได้ปฏิบัติจนเข้าใจในคำสอนนั้น สักแต่ว่าฟังมาแล้วเอามายึด เอามาถือ เอามาพูดต่อ เอามาประดับเป็นยศของตัวเองว่าเป็นผู้รู้ธรรมมาก ใช้ความรู้ที่ฟังมาคอยเพ่งโทษเอาผิดผู้อื่น โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้มีการปฏิบัติหรือเข้าใจธรรมใดๆด้วยตนเองเลย

ทำให้คนที่ติดยึดเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง แม้จะนั่งฟังอยู่แต่ก็เพ่งโทษฟังธรรม แล้วก็จะไม่เข้าใจสาระแท้ในสิ่งที่ผู้พูดได้สื่อสาร พอไม่ฟังก็ไม่สามารถบรรเทาความสงสัยได้กลายเป็นยิ่งฟังก็ยิ่งสงสัย เพราะไม่ได้ตั้งใจฟัง เมื่อเป็นดังนั้นจึงไม่มีโอกาสทำความเห็นให้ถูกต้องตามที่ความจำเป็น เช่นเขาพูดอีกอย่าง เราฟังเป็นอีกอย่างกลายเป็นคนจับประเด็นไม่เป็น สุดท้ายจิตของผู้เพ่งโทษฟังธรรมนั้นก็จะขุ่นมัว ไม่เลื่อมใส ไม่ศรัทธา มีจิตคอยคิดเพ่งโทษ และไปปรามาสในธรรมได้ในที่สุด ถ้าธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แท้ เป็นธรรมที่ปนเปื้อนด้วยกิเลสก็ยังพอจะเรียกว่าเสมอตัวได้บ้าง แต่หากธรรมนั้นเป็นธรรมแท้ เป็นธรรมที่พาลดกิเลส ธรรมลดความยึดมั่นถือมั่น การเพ่งโทษฟังธรรมครั้งนี้จะกลายเป็นผลเสียอย่างมากต่อความสุขความเจริญเลยทีเดียว

ในบทของกำลัง๘ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลังและคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง” จึงจะเห็นได้ว่าผู้ที่จะก้าวเป็นบัณฑิตจึงไม่เพ่งโทษใครๆเลย แม้ว่าจะได้ยินธรรมที่แสดงอยู่นั้นไม่ตรงตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ก็จะไม่ไปเพ่งโทษใดๆทั้งยังมีจิตมีเมตตา หากบอกสิ่งที่ถูกได้ก็บอก ถ้าบอกไม่ได้ก็ปล่อยวางได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะบอกสิ่งที่ถูกจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกจริง หากผู้ใดหลงตนว่าเป็นบัณฑิตหยิบเอาธรรมที่ได้ยินได้ฟังมากล่าวอ้างโดยไม่มีความรู้ในตนเอง ก็อาจจะกลายเป็นภัยต่อตัวเองได้เช่นกัน

ส่วนคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง กำลังนี้เองที่จะพาให้คนพาลคอยจ้องจับผิดผู้อื่น แม้ว่าจะอยู่ในคราบของนักบวช นักบุญ ผู้ถือศีล บุคคลที่มีชื่อเสียงน่าเคารพนับถือ แต่หากยังมีการเพ่งโทษผู้อื่นอยู่เสมอก็เรียกได้ว่าเป็นคนพาล พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมงคล ๓๘ เป็นข้อแรกว่าให้ห่างไกลคนพาลนี้เสีย เพราะคนพาลนั้นมักจะมีการเพ่งโทษว่าร้ายผู้อื่น นำพาไปสู่เรื่องเสื่อมทรามอยู่เสมอ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็มักจะคอยชี้นำให้คนอื่นเพ่งโทษคนที่คิดเห็นไม่ตรงกับที่ตนเข้าใจ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มักจะทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน ซึ่งเป็นกรรมหนัก คนที่เชื่อในคนพาลก็จะพากันลงนรกด้วยกันกับคนพาล ดังนั้นท่านจึงว่าให้ห่างไกลคนพาลเข้าไว้

ผู้ที่คอยเพ่งโทษเวลาฟังผู้อื่น ก็จะฟังผู้อื่นไม่เข้าใจ ฟังเด็กพูดก็ไม่เข้าใจเด็ก ฟังผู้ใหญ่พูดก็ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ ฟังคนแก่พูดก็ไม่เข้าใจคนแก่ ฟังพระพูดก็ไม่เข้าใจพระ ถึงแม้จะดูเหมือนเข้าใจ แต่ก็จะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่งได้

สัมมาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับปัจจัยแห่งการเกิดสัมมาทิฏฐิไว้สองประการ สัมมาทิฏฐินั้นคือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วสิ่งใดคือสัมมาทิฏฐิ เชื่ออย่างใดจึงจะเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง เราเพียงแค่รู้จักกับคำนี้เพียงแค่ว่า “ความเห็นชอบ” แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าเห็นชอบในอะไร ได้แต่เดาไปเอง เข้าใจไปเองตามปัญญาที่มี โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ค้นหาความจริงเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิ

ความเห็นที่ถูกต้องนั้นต้องพาให้ลดกิเลส พาให้ไม่สะสม รู้ว่าการลดกิเลสมีผลเจริญ เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เชื่อว่ากรรมยุติธรรมเสมอ รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง และรู้ว่าอริยสาวกนั้นก็มีอยู่จริง รู้ว่าโลกียะมีและโลกุตระก็มี คือรู้ว่าเรายังมีกิเลสอยู่และรู้ว่าความสุขกว่าการมีกิเลสก็มีอยู่ รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดใหม่ทางวิญญาณมีจริง คือคนที่เลวก็สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ และเชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่สอนธรรมะอย่างถูกตรงในโลกนี้ยังมีอยู่ รู้ว่าเป็นใครและรู้ด้วยว่าหากปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นก็จะสามารถพ้นทุกข์ได้จริง

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ

การจะนำตัวเราไปสู่ความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงนั้นมีเหตุปัจจัยอยู่ด้วยกันสองประการ นั่นคือ ๑.ปรโตโฆสะ ๒.โยนิโสมนสิการ

ปรโตโฆสะ

คือการตั้งใจรับฟัง เปิดใจฟังสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนคิดโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปปน ฟังอย่างลึกซึ้งให้เข้าใจว่าผู้สื่อสารนั้นกำลังตั้งใจสื่อสารอะไร ผู้ที่ไม่มีปรโตโฆสะก็มักจะฟังไปด้วยคิดแย้งไปด้วย เช่นพอผู้พูดกล่าวมาหนึ่งประโยค เขาก็จะมีความคิดเห็นแย้งต่อประโยคนั้นทันที คือไม่เชื่อ อันเกิดจากความไม่รู้ ยึดมั่นถือมั่น หรือลังเลสงสัย ถ้าค้านแย้งหนักๆก็จะกลายเป็นการเพ่งโทษฟังธรรม ฟังไปก็จับผิดไป คิดแย้งไป พูดไม่เหมือนที่ฉันเรียนมา พูดไม่เหมือนที่ฉันเข้าใจ มันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ปรโตโฆสะคือใช้ความไม่มีอัตตา ฟังด้วยอนัตตาคือไม่ถือตัวถือตน

กลายเป็นผู้ฟังที่ไม่ดีในที่สุด นอกจากจะฟังไม่รู้เรื่องแล้วยังทำให้เกิดวิบากกรรมอีกด้วย ผู้ฟังที่ดีมีหน้าที่แค่ฟัง ฟังอย่างตั้งใจ ไม่รีบคิดตีความใดๆ ก่อนเวลาอันควร ยอมให้ความรู้อื่นที่เราไม่เข้าใจ เข้ามาเพิ่มในความรู้เดิมของเราเสียก่อน ยินดีที่จะรับฟังเสียก่อนค่อยตัดสินใจ

โยนิโสมนสิการ

เมื่อเปิดใจรับฟังแล้ว เราก็จะนำข้อความ เรื่องเล่า ความรู้เหล่านั้นพิจารณาไปถึงแก่นสารสาระของธรรมที่สอดแทรกอยู่ในนั้นๆ หรือที่เรียกกันว่าการทำใจในใจให้แยบคาย คือเมื่อฟังแล้วก็มีการพิจารณาสิ่งเหล่านั้นตามไปด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ฟังจบแล้วก็ลืมไป แต่การมีโยนิโสมนสิการจะทำให้สามารถเข้าใจในสิ่งที่ฟังได้มากขึ้น สิ่งที่ฟังนั้นเข้าไปในใจ ไปในความรู้สึก ไม่ใช่แค่ในความคิด เมื่อพิจารณาลงสู่ใจจะได้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่งจะ “เข้าใจ” ลึกซึ้งขึ้น

….เมื่อเรามีสองปัจจัยนี้แล้ว ไม่ว่าเราจะฟังหรือเรียนรู้เรื่องทางโลกหรือทางธรรม การฟังหรือเรียนรู้นั้นๆก็จะเกิดประสิทธิภาพที่สูงที่สุด จะฟังเรื่องทางโลกก็สามารถเข้าใจแก่นสารสาระของสิ่งนั้น จะฟังเรื่องทางธรรมก็สามารถเข้าใจธรรมนั้นๆได้โดยลำดับตามฐานของตน

ความเสื่อมของชาวพุทธ

การเพ่งโทษฟังธรรมนั้นเป็นหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ ความเสื่อมนี้เกิดในคนที่เสื่อม ไม่ใช่ศาสนาเสื่อม เพราะเขาเหล่านั้น ขาดการเยี่ยมเยียนครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ ถึงแม้จะไปเยี่ยมก็กลับละเลยการฟังธรรมสนใจเอาแต่กุศลน้อยๆเช่นทำทาน บริจาค กวาดลานวัด ฯลฯ พอไม่ได้ฟังธรรมก็เลยไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติในอธิศีล ไม่เรียนรู้เรื่องศีล ไม่รู้วิธีทำให้ตัวเองเจริญในศีลนั้น เพราะเมื่อไม่มีผู้รู้สอนก็ไม่สามารถรู้และปฏิบัติด้วยตนเองได้ พอไม่ศึกษาและปฏิบัติอธิศีลก็เริ่มจะไม่เข้าใจคุณค่าของศีล เริ่มเห็นช้างเป็นมด ไม่ให้ค่ากับคนผู้มีศีล มองเห็นทุกคนเทียบเท่ากันหมด ไม่ศรัทธาในครูบาอาจารย์ไม่ว่าจะแก่หรือเด็ก จะเห็นว่าเท่ากันหมด

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา” คนมีปัญญาจึงถือศีล คนไม่มีปัญญาก็ไม่ถือศีล คนมีปัญญาจึงเคารพในผู้มีศีล ส่วนคนไม่มีปัญญาจึงไม่สนใจผู้มีศีล ในชาดกตอนหนึ่งท่านว่า หากกลุ่มชนใดไม่สามารถแยกแยะคนดีกับคนชั่วได้ เห็นว่าคนมีศีลกับคนไม่มีศีลเสมอกัน ท่านให้พรากจากสังคมหรือกลุ่มชนนั้นเสีย จะเห็นได้ว่าท่านให้พรากจากคนผู้ไม่มีปัญญา

เมื่อไม่มีปัญญาแยกแยะคนผู้มีศีลกับคนทั่วไป สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนพาลในที่สุดเพราะไม่มีความเคารพในผู้ปฏิบัติดีทั้งผู้ปฏิบัติมาก่อนและปฏิบัติใหม่ เมื่อได้ฟังธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มักจะมีจิตตำหนิติเตียน “เพ่งโทษฟังธรรม” หากธรรมที่แสดงอยู่นั้นเป็นธรรมที่พาลดกิเลสและพาพ้นทุกข์ ผู้เพ่งโทษฟังธรรมก็จะเดินย้อนไปอีกทางคือไปทางนรก

เมื่อไม่เชื่อตามธรรมที่ผู้ปฏิบัติดีสอนสั่ง คอยเพ่งโทษฟังธรรม ก็จะไม่เข้าใจธรรม แม้จะทำบุญทำทานก็จะกลายเป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธศาสนา คือไปทำบุญตามประเพณีที่สังคมเข้าใจ แต่ไม่เกิดบุญกุศลตามหลักของศาสนาพุทธ และจะมีความเข้าใจในเรื่องบุญกุศลที่ผิดเพี้ยน

เมื่อเข้าใจการทำบุญที่ผิดไปจากพุทธก็จะเริ่มไปศรัทธาลัทธิที่อ้างว่าตนเองเป็นพุทธแต่ปฏิบัติไม่ถูกตามหลักพุทธ เช่นการเอาสวรรค์วิมานมาเป็นเครื่องล่อ การเอาลาภยศสรรเสริญมาเป็นเครื่องลวง การนำหลักปฏิบัติของศาสนาอื่นมาปนเช่น พราหมณ์ ฤาษี หรือลัทธิอื่นนอกพุทธ ไปเคารพบูชาเทพเจ้า เคารพบูชาคนผู้อวดอ้างเป็นเจ้าลัทธิ สุดท้ายจะเลิกนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็จะหลุดจากพุทธไปศาสนาอื่นเลย

นี่เองคือกระบวนการแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เป็นชาวพุทธเองที่เสื่อมไปจากธรรมที่แท้ ไม่ใช่ธรรมนั้นเสื่อม แต่เป็นคนที่เสื่อมไปจากธรรม ธรรมะคือสิ่งที่มีอยู่เช่นนั้น เป็นอยู่แบบนั้นไม่มีวันเสื่อมสลาย หากแต่คนผู้มีความเสื่อมศรัทธาในการลดกิเลส จะค่อยๆพาตัวเองเสพกิเลสและเสื่อมจากธรรมไปเอง นี้เองคือเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ( ความเสื่อมของชาวพุทธ๗ )

– – – – – – – – – – – – – – –

11.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล : สมถะและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน

September 18, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,396 views 1

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล : สมถะและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน

สังคมทุกวันนี้ พอพูดกันว่าปฏิบัติธรรม ก็ต้องนึกกันไปว่าต้องไปที่วัด หรือสถานปฏิบัติธรรม เข้าใจกันไปว่าต้องไปที่นั่นถึงจะได้ทำอย่างนั้น เหมือนกับว่าไปดูหนังก็ต้องไปโรงหนัง ไปกินข้าวก็ต้องไปร้านอาหารยังไงอย่างงั้น

ทีนี้พอกลับมาพูดกันว่าปฏิบัติธรรมภายในตัวเอง ก็ยังเข้าใจกันแบบงงๆอยู่อีก บ้างก็ว่านั่งสมาธิที่บ้าน เดินจงกรม บ้างก็ว่าเจริญสติไปในการกระทำต่างๆ ดับความคิด ทำจิตให้สงบ ก็เข้าใจกันไปว่าปฏิบัติธรรม ซึ่งจะว่าใช่มันก็ใช่บางส่วน นั่นเพราะมันอยู่ในขีดของการทำสมถะเท่านั้นเอง

การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ได้มีความหมายแค่ การทำสมาธิ เดินจงกรม ดับความคิด ทำจิตให้นิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน แต่หมายถึงการทำชีวิตให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้น ในทุกๆเหตุการณ์ในชีวิต

การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ในแต่ละวันเราจะมีเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบกระแทก หรือที่เรียกว่า “ผัสสะ” ผัสสะ คือ เหตุที่ทำให้จิตของเราเกิดอาการไม่ปรกติ เกิดเป็นอาการได้ทั้งทุกข์ สุข หรือเฉยๆ เรียกว่า “เวทนา” ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรากำลังต่อแถวซื้ออาหารอยู่นั้น มีคนเข้ามาแทรกแถวข้างหน้าเรา ผัสสะที่เกิดคือเห็นคนเข้ามาแทรก ด้วยความที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าต้องเข้าแถวสิ ก็เลยเกิดความเป็นทุกข์ เราทุกข์เพราะว่าเขาทำไม่ทำดีตามที่เราหมาย ตามที่เราเข้าใจ ตามที่เราตั้งกฎไว้

ปฏิบัติแบบสมถะ…

ทีนี้นักปฏิบัติสายสมถะ ก็จะรู้ว่าจิตได้เกิดแล้ว จึงใช้สมถะที่ได้ฝึกมา เช่นบริกรรมพุทโธ ยุบหนอพองหนอ นับ 1 2 3… สร้างความรู้สึกที่ตัว ย้ายจุดสนใจของจิตไปไว้ที่จุดอื่น สุดท้ายก็ตบจิต หรือความคิดนั้นๆดับไป เป็นวิถีแห่งสมถะ ถ้าทำได้ก็ถือว่าดี เก่งพอประมาณแล้ว

แต่จริงๆ อกุศลได้เกิดขึ้นไปแล้ว จิตได้เกิดไปแล้ว เวทนาเกิดทุกข์ไปเรียบร้อยแล้ว และการดับแบบนี้เป็นการดับที่ไม่ถาวร เป็นการกดข่ม กดทับไว้ เกิดทีหนึ่งก็ต้องดับทีหนึ่ง ถ้าใครฝึกสมถะเก่งๆก็จะสามารถดับได้โดยไม่รู้ตัวเลย จะว่าดีไหมมันก็ดี แต่ไม่พ้นทุกข์กลายเป็นเหมือนฤาษีที่ต้องติดภพติดสุขอีกนานกว่าจะหลุดพ้นนรกแห่งความสุข

หรือแม้แต่การพิจารณาแบบสมถะ คือการใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามาตบ มาทำลายความคิดนั้นทิ้ง เช่น เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น ,โลกก็เป็นอย่างนี้ ,จิตเราเกิดมันก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ดับไป แม้เราจะพิจารณาไปตามไตรลักษณ์ แต่พิจารณาไปตามเหตุปัจจัยภายนอกก็ยังไม่สามารถเข้าไปแก้เหตุแห่งทุกข์ได้ การเพ่งพิจารณาในปัจจัยภายนอกก็สามารถแก้ปัญหาได้แค่ภายนอกเท่านั้น ดับแค่ปลายเหตุ ดับได้แค่ทุกข์ที่เกิดไปแล้ว

เมื่อตบความคิด ความทุกข์เหล่านั้นทิ้งไป นักสมถะก็จะสามารถวางเฉย ปล่อยวางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ ไม่ถือสา ไม่เข้าไปยุ่ง ไม่เข้าไปแตะ เพราะได้วางเฉยแล้ว

ปฏิบัติแบบวิปัสสนา…

การวิปัสสนาจะต่างออกไป คือเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังที่ยกตัวอย่าง จะมีทางให้เราเลือกตัดสินใจเพียงชั่วครู่ หากเขาเหล่านั้นมีสติมากพอ จะสามารถจับได้ว่า เมื่อมีคนมาแทรก เขารู้สึกอย่างไร ทุกข์ สุข หรือเฉยๆ เพราะอะไร เมื่อมีผัสสะนั้นๆเป็นเหตุเกิด แล้วมันเกิดจากอะไร ทำไมเราถึงต้องไปทุกข์ ไปสุข กับการที่เขาคนนั้นเข้ามาแทรก เป็นเพราะเรายึดมั่นถือมั่นในกฎใช่ไหม เป็นเพราะเราติดว่าดีเราจึงเป็นทุกข์ใช่ไหม เมื่อค้นเข้าไปอีกก็อาจจะเจอว่า จริงๆแล้วเพราะเราไม่อยากให้ใครมาแทรกเราใช่ไหม, เราหิวใช่ไหม ,ความหิวทำให้เรากลายเป็นคนโกรธง่ายแบบนี้ใช่ไหม, หรือเราโกรธเพราะอ้างความหิว , ที่เราโกรธเพราะเราหวงที่ของเราต่างหาก ไม่อยากให้ใครมาแย่งไป….

พอค้นเจอเหตุที่เกิดหรือสมุทัยได้ดังนี้ จึงพิจารณาธรรมที่ควรแก่การแก้อาการยึดมั่นถือมั่นนี้ต่อไปเช่น เราจะกินช้าสักหน่อยก็ไม่เป็นไรหรอก , เขามาแทรกเพราะเราเคยไปแย่งของใครมาชาติในชาติหนึ่ง ฯลฯเมื่อเห็นทุกข์ที่เกิด เห็นเหตุแห่งทุกข์ รู้ถึงวิธีที่ควรที่จะดับทุกข์นั้น และดับทุกข์นั้นด้วยวิธีที่ถูกที่ควร จะได้ภาวะสุดท้ายคือการปล่อยวางจากกิเลสนั้น

การวิปัสสนา จะมีหลักอยู่ตรงที่ล้วงลึกเข้าไปที่เหตุแห่งการเกิดทุกข์นั้นๆ เพื่อดับทุกข์จากต้นเหตุ ไม่ใช่ดับที่ปลายเหตุแบบสมถะ แต่ก็ใช่ว่าเราจะสามารถค้นเจอเหตุแห่งทุกข์ได้ทุกครั้งเสมอไป บางครั้งต้องทำเท่าที่ทำได้ บางครั้งก็ต้องใช้วิธีพิจารณาแบบสมถะร่วมด้วย ในกรณีที่ผัสสะนั้นแรงเกินไป เช่น นอกจากเขามาแทรกแล้วเขายังเอาเพื่อนเข้ามาแทรกและคุยเสียงดังไม่เกรงใจเราด้วย เมื่อผัสสะนั้นแรงเกินกว่าที่เราจะทนรับไหว เราก็ควรจะใช้การพิจารณาแบบ กดข่ม อดทน ตบทิ้ง เข้ามาร่วมด้วย

การวิปัสสนานั้น จะสามารถดับได้ทั้งทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว และทุกข์ที่จะเกิดต่อๆไปจากเหตุการณ์นั้นๆ หากเราพิจารณาถึงรากของกิเลสจริงๆว่าเรายึดมั่นถือมั่นในเรื่องใดได้ เมื่อล้างได้ถูกตัวถูกตนของกิเลสนั้นจริง ไม่ว่าจะมีคนมาแทรกอีกสักกี่ครั้ง จะแทรกลีลาไหน ยียวนเพียงใด เราก็จะไม่รู้สึกทุกข์อีกเลย เพราะเราได้กำจัดเหตุแห่งทุกข์ในใจเราไปแล้ว

และเรายังสามารถที่จะเตือนเขาโดยที่ไม่ปนเปื้อนไปด้วยจิตที่ขุ่นมัวอีกด้วย ส่วนเขาจะสวนมาในลีลาไหนก็ต้องรอรับผัสสะอีกชุด ซึ่งก็คงจะเป็นกิเลสอีกตัวหนึ่งที่เราจะได้เห็นจากการที่เขาอาจจะไม่ยอมรับว่าเขาแทรก ถ้าเรายังทุกข์อยู่เราก็ล้างทุกข์ไป แต่ถ้าเราไม่รู้สึกอะไรแล้วและเขาไม่เชื่อที่เราแนะนำ ไม่ยอมไปต่อท้ายแถว ถ้าเขายินดีที่จะทำบาปนั้น เราก็ปล่อยเขาไปตามกรรมที่เขาทำ

การสร้างบุญกุศลในชีวิตประจำวัน

เมื่อปฏิบัติธรรมกันแล้วเราก็มาต่อกันที่ผลของการปฏิบัติธรรมว่า เกี่ยวกับ บุญ บาป กุศล อกุศล อย่างไร เช่น ในกรณีที่ยกตัวอย่างมา ถ้าเกิดว่า….

ถ้า…เราสามารถใช้สมถะกดข่มจิตใจที่รู้สึกเคือง ขุ่นใจ ไม่ชอบใจนั้นได้ จนเป็นเหตุให้เราไม่ไปต่อว่าเขาเพิ่ม สร้างบาปเพิ่ม เพราะบาปคือการสั่งสมกิเลส เมื่อเราไม่สั่งสมกิเลสคือความโกรธ กดข่มมันไว้ ก็ถือว่าเป็นบุญ เป็นกุศลระดับหนึ่งแล้ว

ถ้า…เราสามารถ ใช้วิปัสสนา พิจารณาลงไปถึงที่เกิด จนสามารถทำลายกิเลสได้บางส่วน หรือสามารถฆ่าล้างกิเลสได้ทั้งหมด ก็ถือว่าเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่มาก ได้กุศลมาก เพราะอยู่ในระดับอภัยทาน ซึ่งเป็นทานที่ยอมล้างโทสะ สละเหตุแห่งโทสะ คือรากแห่งความโกรธนั้นออกจากวิญญาณของเรา จึงมีกุศลมาก มีอานิสงส์มาก

แต่ถ้า…เราใช้สมถะข่ม แต่ก็กดไม่อยู่ จึงมีอาการขุ่นใจ รำคาญใจ คิดแค้น อาฆาต จ้องจะเอาผิด เพ่งโทษ เราก็จะสั่งสมกิเลสภายในใจตัวเองเพิ่ม เป็นบาป เป็นอกุศล

แต่ถ้า…เราปล่อยใจไปตามกิเลส โดยไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้ง เราจึงกล่าววาจาแห่งความติดดี ประณามผู้ที่มาแทรกด้วยใจที่เต็มไปด้วยความโกรธ และชวนให้คนอื่นโกรธคนที่มาแทรกอีกด้วย ถ้าผู้แทรกละอายถอยหนีก็จบเรื่องไป แต่ถ้าเขาหน้าด้านหน้าทน ทำเนียนไม่ยอมไป ก็อาจจะบานปลาย จนอาจจะเกิดเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง ลงไม้ลงมือ เรื่องราวใหญ่โต กลายเป็นบาปมาก เพราะเพิ่มกิเลสคนเดียวไม่พอ ยังชวนคนอื่นเพิ่มกิเลสคือความโกรธอีก อกุศลก็มากตามความเลวร้ายที่เกิดนั่นแหละ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าการที่เราไปตำหนิคนที่เข้ามาแทรกนั้นผิดตรงไหน คำตอบก็คือผิดตรงที่มีความโกรธปนเข้าไปด้วย คนเราเมื่อติดดียึดดีแล้วมีความโกรธ จะสามารถคิดทำลายผู้อื่นได้โดยไม่ทันระวังตัว เพราะเห็นว่าตนถูกคนอื่นผิด เพราะมีความยึดดีถือดีบังหน้า เห็นว่าดีแล้วคิดว่าสามารถโกรธได้ ทั้งที่จริงเราก็สามารถที่จะเตือนเขา บอกเขาด้วยใจที่ปกติไม่ต้องมีความโกรธไปปนก็ได้การที่เราโกรธคนที่เขาทำไม่ดี มันก็ยังมีความไม่ดีในตัวเราอยู่นั่นเอง จริงๆแล้วเราก็ไม่ควรจะโกรธใครเลย

ความโกรธยังทำให้เรื่องราวใหญ่โตมากกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆที่ในตอนแรกเราโกรธเพราะเราจะได้กินข้าวช้าไป 1 คิว แต่สุดท้ายเราก็ต้องมาทะเลาะเบาะแว้ง ความโกรธมันก็เพิ่มขึ้น แถมยังได้กินข้าวช้าลงไปอีก เต็มไปด้วยการสะสมกิเลส สะสมบาป สะสมอกุศล และเป็นทุกข์

แต่ละเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบเรานี่แหละ คือการปฏิบัติธรรม ทำให้เกิดบุญบาป กุศลอกุศลในชีวิตประจำวัน เป็นการปฏิบัติสมถะวิปัสสนาที่สอดร้อยเข้าไปในชีวิตประจำวัน ในทุกวินาทีของชีวิต โดยไม่ต้องรอไปวัด

การไปวัดเพื่อหาพระหรือครูบาอาจารย์ ก็คือการไปรับฟังคำสั่งสอน ไปร่วมกุศลกับท่านบ้าง ไปตรวจสอบตัวเอง ไปส่งการบ้าน ไปถามคำถาม ไปปรึกษา การเข้าหาครูบาอาจารย์นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำ แต่ไม่ใช่ว่าไปหาท่านแล้วจะได้บุญ เพราะเรื่องบาปบุญ กุศลอกุศลนั้น เราต้องทำเอาเอง ทำกันในชีวิตประจำวันนี่แหละ

– – – – – – – – – – – – – – –

18.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์