Tag: มังสวิรัติ

มังสวิรัติง่ายๆ

January 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,712 views 0

มังสวิรัติง่ายๆ

มังสวิรัติง่ายๆ

…วิธีกินมังสวิรัติแบบง่ายๆด้วยการใช้หลักการของอิทธิบาท ๔

ในบทความนี้เราก็จะมาแนะนำวิธีกินมังสวิรัติที่ง่ายสุดง่ายโดยใช้ธรรมในบทของอิทธิบาท ๔ หรือธรรมที่นำมาซึ่งความสำเร็จ ใครที่ได้ลองทำตามกระบวนการของอิทธิบาท ๔ ก็จะสามารถสิ่งที่ตั้งใจไว้สำเร็จได้โดยไม่หลงทาง มาเริ่มกันเลย

1). ฉันทะ

คือความยินดี เต็มใจ พอใจที่จะกินมังสวิรัติ เมื่อเราอยากจะกินมังสวิรัติได้เป็นประจำ เราก็ต้องขยันพิจารณาประโยชน์ เมื่อเราเห็นประโยชน์เราก็จะพอใจที่จะทำสิ่งนั้น คือการหาข้อดีต่างๆของมังสวิรัติเช่น ดีต่อสุขภาพ ไม่เบียดเบียน ประหยัด ได้กุศล ฯลฯ เมื่อพิจารณาประโยชน์ดังนี้ซ้ำๆจะทำให้เข้าถึงมังสวิรัติได้ง่ายขึ้น

2). วิริยะ

คือความเพียรพยายามที่จะกินมังสวิรัติ ลดเนื้อกินผักให้ได้ตามที่จะทำไหว แม้จะหากินได้ยากและลำบากก็จะพยายามลองหาเมนูที่ผักเยอะเนื้อสัตว์น้อยดูก่อน หรือในอีกกรณีหนึ่งคือรู้สึกว่าการกินแต่ผัก แป้ง ฯลฯ โดยไม่มีเนื้อสัตว์นี่มันยากและลำบาก แต่ก็ให้อดทนฝืนกล้ำกลืนกินไปก่อน พยายามสร้างนิสัยแห่งความเพียรไปก่อน

3). จิตตะ

คือความตั้งมั่นในเรื่องที่จะทำ มีจิตใจจดจ่อกับสิ่งนั้นๆ ทุ่มเทใจทั้งหมดในสิ่งนั้น เมื่อเราสร้างความชอบ และรักษาความเพียร และจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำเช่น เรากินมังสวิรัติเราก็ต้องหาเมนูมังสวิรัติ ร้านขายวัตถุดิบมังสวิรัติ หาความรู้เกี่ยวกับมังสวิรัติ หรือวิธีการกินมังสวิรัติต่างๆ จดจ่ออยู่กับการลดเนื้อกินผัก เพื่อที่จะลดเนื้อสัตว์ได้ดียิ่งขึ้น กินผักได้อย่างมีความสุขยิ่งขึ้น

การที่เรามีความจดจ่อกับสิ่งที่ทำนี้เอง จะทำให้เราเกิดปัญญาแก้ปัญหาที่เจอได้ เช่นการประยุกต์เมนูอาหารขึ้นใหม่ ในร้านอาหารตามสั่งที่ไม่มีแม้แต่ผัดผัก เพราะเราจดจ่ออยู่กับการลดเนื้อกินผัก ไม่เผื่อใจเหยาะแหยะกลับไปกินเนื้อ เราจึงสามารถหาทางออกเพื่อที่จะลดเนื้อกินผักให้ได้มากที่สุดได้ โดยไม่ทำให้ตนเองลำบากจนถึงขั้นทุกข์ทรมาน

4). วิมังสา

คือการพิจารณาทบทวน เนื้อหาสาระและผลในสิ่งที่ทำ เช่นกินมังสวิรัติแล้วชีวิตดีขึ้นอย่างไร สุขภาพดีขึ้นอย่างไร จิตใจดีขึ้นอย่างไร การพิจารณาทบทวนผลที่ได้มาจากการปฏิบัติ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ซึ่งการมีวิมังสานั้นจะเพิ่มกำลังของกระบวนการทั้งหมดให้มากขึ้น หากเรากินลดเนื้อกินผักและพิจารณาผลที่ได้บ่อยๆและละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้เรามีปัญญามากขึ้น ซึ่งจะต่างกับการที่เรากินมังสวิรัติเฉยๆ กินผักกินหญ้าเฉยๆ เพื่อดำรงชีวิตโดยไม่พิจารณาทบทวนในสิ่งที่ทำ ไม่หาสาระประโยชน์ใดๆ ถือว่าไม่ครบองค์แห่งอิทธิบาท

สรุป

…ด้วยหลักสั้นๆเพียงเท่านี้ก็จะทำให้เราสามารถลดเนื้อกินผัก หรือกินมังสวิรัติได้ตลอดชีวิตแล้ว เพราะใช้การเข้าถึงประโยชน์ในการกินมังสวิรัติเข้ามาเป็นเครื่องชี้นำ แต่ถึงอย่างนั้นวิธีเหล่านี้ก็เป็นเพียงการใช้ธรรมะมานำชีวิตไปสู่จุดที่ต้องการแบบโลกๆ เป็นรูปแบบของโลกียะ เป็นแบบทั่วไป ซึ่งวิธีเหล่านี้ก็ถูกดัดแปลงไปใช้ในตำราเกี่ยวกับการทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จมากมาย

การกินมังสวิรัติได้ ลดเนื้อกินผักได้ หรือไม่กินเนื้อสัตว์ตลอดชีวิตนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะพ้นจากความอยาก ไม่ได้หมายความว่ากิเลสลด ไม่ได้หมายความว่าลดกิเลสเป็น ไม่ได้เกี่ยวกับการทวนกระแสหรือโลกุตระใดๆเลยด้วยซ้ำ การกินมังสวิรัตินั้นยังเป็นการทำความดีแบบโลกๆ เข้าใจกันได้โดยทั่วไปว่านี่คือความดี ไม่ต้องเป็นพุทธ ไม่ต้องมีศาสนาก็กินมังสวิรัติได้

แต่ความดีโลกุตระนั้นจะต่างออกไป ซึ่งโจทย์ในการเริ่มต้นจะไม่เหมือนกันเลย การลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจทั่วไปนั้นคือการเอาเหตุผลภายนอกเข้ามาเป็นฉันทะ แต่การที่เราจะสวนกระแสโลกได้นั้นเราต้องมีฉันทะในการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดและเข้าใจยากกว่าการเข้าถึงชีวิตมังสวิรัติอย่างมาก

ดังนั้นใครที่พอใจจะเข้าถึงเพียงมังสวิรัติ อยากกินมังสวิรัติ ไม่อยากเบียดเบียน อยากมีสุขภาพดี ฯลฯ ก็ทำตามอิทธิบาท ๔ ดังที่ยกตัวอย่างในตอนต้นเรื่อง ส่วนคนที่อยากเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลสของตนเองในเรื่องมังสวิรัติก็จะมีทางเลือกให้ศึกษากันในกลุ่ม Buddhism Vegetarian เป็นกลุ่มที่ตั้งไว้เพื่อปฏิบัติธรรมโดยใช้มังสวิรัติมาเป็นโจทย์ในการฝึกและปฏิบัติ

– – – – – – – – – – – – – – –

3.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

วิธีพิสูจน์รักแท้

December 24, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 17,266 views 0

วิธีพิสูจน์รักแท้

วิธีพิสูจน์รักแท้

…รักนั้นแท้จริงหรือ? เป็นกุศลจริงหรือ? นำมาซึ่งความสุขจริงหรือ?

ความต้องการที่จะมีใครสักคนเข้ามาอยู่ข้างกาย เข้ามาเป็นคู่ชีวิตนั้นเป็นความต้องการที่ยากจะต้านทานได้ แม้ว่าจะได้ยินคำบอกเล่าเรื่องจริงของความรักมามากมาย แต่เราก็มักจะเลือกเชื่อในมุมที่เราต้องการ เลือกที่จะเชื่อว่าความรักนั้นคือสิ่งที่สวยงาม เชื่อว่าความรักของเราคือความสุข คือความยั่งยืน เคียงคู่กันสร้างกุศลร่วมกันตลอดไป

การสร้างกุศลร่วมกันนั้นดูจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่ทำให้เราคิดว่าการมีคู่นั้นดี เพราะเป็นไปในแนวทางร่วมกันทำดี ร่วมกันเจริญ คงเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถต้านทานความดีความเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบทั้งหน้าตา ฐานะ นิสัยของคู่รัก เราจึงสร้างเหตุผลต่างๆนาๆขึ้นเมื่อเพื่อให้เราได้มีคู่อย่างมั่นใจ เต็มใจ ภาคภูมิใจ เพื่อให้เราได้เสพสมใจในความรัก ในความมั่งคั่ง ในความสมบูรณ์ตามแบบที่โลกเข้าใจ

…รักแท้นั้นคืออะไร?

รักนั้นคือความต้องการ คือตัณหา คือความอยาก ส่วนคำว่าแท้นั้นหมายถึง เที่ยง ไม่แปรเปลี่ยน ไม่แปรปรวน ไม่หวั่นไหว ความรักแท้ก็คือความรู้สึกต้องการที่ไม่หวั่นไหว ในเรื่องของคู่รักนั้นก็หมายถึงความรู้สึกที่มีต่อคู่ของตนอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

คนเรานั้นมีความพยายามที่จะทำสิ่งต่างๆเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีหรือร้ายก็จะพยายามไขว่คว้าให้ได้มาเสพสมใจ คนรักก็เช่นกัน เป็นหนึ่งในเรื่องที่เราต้องพยายาม ในมุมของผู้ชายก็ต้องดูแลเอาใจ เลี้ยงดู ป้อนคำหวานให้คำสัญญา ในมุมของผู้หญิงก็คล้ายๆกันแต่ก็มักจะมีเรื่องของความงามเข้ามาเกี่ยวมากหน่อย คือต้องทำตัวให้งาม ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ว่าง่ายๆก็คือต้องพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ เพื่อที่จะให้ชายสักคนมาหลงใหลได้ปลื้ม

เราจึงพยายามเร่งและบำรุงบำเรอกิเลสของอีกฝ่ายให้ตกลงปลงใจเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ ถาวร มั่นคง ซึ่งในระยะนี้หลายคนจะเรียกว่า “ช่วงโปรโมชั่น” เป็นช่วงที่แต่ละฝ่ายจะพยายามให้ว่าที่คู่รักได้เห็นภาพที่ดีที่สวยงามของตนเอง เพื่อที่จะได้อีกฝ่ายมาเสพสมใจ ชายก็เสพหญิง หญิงก็เสพชาย เสพในตัวตนของกันและกัน

ทีนี้ช่วงโปรโมชั่นนั้นจะสั้นจะยาวก็ขึ้นอยู่กับกิเลส ถ้ากิเลสมากก็จะสั้น ถ้ากิเลสน้อยก็จะยาว ยกตัวอย่างเช่นพ่อบุญทุ่ม ที่ดูแลเทคแคร์เอาใจ เลี้ยงดูทั้งกายและใจของอีกฝ่ายหมายจะให้เขาหลงรัก ลักษณะนี้ก็มักจะเป็นแบบสั้น แต่ถ้าคบกันเป็นเพื่อนช่วยเหลือกันดูแลกันไปแบบนี้ก็มักจะยาวหน่อย

แต่เมื่อปัจจัยต่างๆได้เปลี่ยนไป เช่น เปลี่ยนจากคนที่คบหาเป็นแฟน จากที่เคยมีระยะห่างก็จับมือถือแขนกอดจูบใกล้ชิด จากที่ไม่เคยมีอะไรกันก็มีอะไรกัน จากแฟนมาเป็นสามีภรรยา จากที่เคยเต่งตึงกลับหย่อนยาน จากที่เคยมีกันสองคนก็มีคนเพิ่มมาหลายคนจากที่เคยไม่มีภาระก็มีภาระ จากที่เคยสนองกิเลสกันได้ก็เริ่มจะไม่สามารถสนองกันได้จนเต็มอิ่ม

ปัจจัยเหล่านี้เองที่จะมาทดสอบความรักแท้ คนที่อ้างนักอ้างหนาว่าตนเองมีรักแท้ รักที่ตนมีเป็นของแท้ คนที่ตนเองเลือกคือเนื้อคู่ คือคนที่ฟ้าส่งมาให้ คือคนที่จะร่วมชีวิตไปจนตาย หลังจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ “ความรัก” ยังจะสามารถคง “ความแท้” ได้หรือไม่

เราจะเห็นได้ว่าความจริงมักจะเปิดเผยหลังการเปลี่ยนแปลง ว่าความรักนั้นแท้หรือไม่แท้ เอาของปลอมมาหลอกขายเป็นของแท้หรือไม่ โดยการดูจากเหตุการณ์เหล่านี้ หลายคู่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากได้กัน หลายคนเปลี่ยนไปหลังจากเป็นแฟนกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากแต่งงานกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากมีลูกด้วยกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากผ่านไปเป็นสิบยี่สิบปีก็มี

และหลายคู่เหล่านั้นทำได้แค่ประคองชีวิตคู่ต่อไปแบบที่ทั้งรักทั้งชัง หวานอมขมกลืน ใช้ชีวิตแบบน้ำท่วมปาก จะพูดว่าชีวิตดีก็พูดได้ไม่เต็มปาก แต่จะบอกทุกข์มันก็มีสุขร่วมด้วยอยู่บ้าง สุขทุกข์ปนกันไป ทุกข์มากหน่อย สุขนิดเดียว แต่ก็ยอมทนต่อไป บางคู่ทนไม่ได้ก็เลิกราหย่าร้างกันไป ทิ้งไว้เพียงคนที่อกหักผิดหวังกับความรัก รังเกียจความรัก ประณามความรัก

ทั้งหมดนั้นเกิดก็เพราะว่า “ความรักมันไม่แท้ตั้งแต่แรก” ไม่ใช่ว่าตอนแรกแท้แล้วตอนหลังมันไม่แท้ อันนี้มันเล่นคำ ของแท้จริงๆมันต้องไม่แปรเปลี่ยน ไม่เวียนกลับ ไม่เปลี่ยนจากรักเป็นเมินเฉย ไม่เปลี่ยนจากความต้องการเสพเป็นต้องการให้ออกไปจากชีวิต

การพิสูจน์ความรักแท้โดยรอการทดสอบจากกาลเวลาและกรรมนั้นช้าและเสี่ยง เพราะบางคู่กว่าจะรู้ตัวก็มีลูกเป็นเครื่องผูกมัดไปแล้ว หนีไม่ได้แล้ว ยังไงก็ต้องแบกไว้แบกทั้งลูกแบกทั้งความขมขื่นที่ได้รับ เราจึงควรศึกษาวิธีพิสูจน์รักแท้ในหัวข้อต่อไป

…การสร้างกุศลร่วมกันคืออะไร?

หลายคนที่คิดจะมีคู่ก็มักจะใช้เหตุผลเรื่องของการสร้างกุศล ร่วมบุญ สร้างความเจริญทั้งทางโลกทางธรรมไปด้วยกัน การที่คนเราจะเจริญไปพร้อมๆกับคู่รักได้นั้น ต้องมี ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาที่เสมอกัน (สมชีวิสูตร) ความเสมอกันนี้จะทำให้ได้พบเจอกันในชาติภพต่อๆไป ชาติในที่นี้ไม่ใช่แค่ชีวิตหน้า แต่เป็นชีวิตนี้ที่จะเกิดความรู้สึกต่างๆในอนาคตต่อไป

คู่รักที่ประคองคุณสมบัติสี่ข้อนี้ให้เสมอกันได้จะทำให้ชีวิตรักเป็นไปอย่างราบรื่น ได้อยู่ด้วยกันนานตราบเท่าที่ยังเสมอกัน แต่ความเสมอกันนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ความดีเท่านั้น อาจจะหมายถึงความเลวเสมอกันก็ได้ เช่นไม่มีศรัทธาในความดีเหมือนกัน ไม่ถือศีลเหมือนกัน ไม่เสียสละเหมือนกัน ไม่มีปัญญาเหมือนกัน คู่ที่เสมอกันเหล่านี้ก็สามารถร่วมภพร่วมชาติกันสร้างบาป เวร ภัยไปได้กันทุกภพทุกชาติเช่นกัน

ดังเป้าหมายของเราที่ตั้งไว้ว่าเราจะครองคู่กันเพื่อร่วมกันสร้างกุศล ร่วมบุญ สร้างความเจริญต่างๆ เราจึงไม่มีทางที่จะเลือกวิธีที่ทำให้ชีวิตตกต่ำอย่างแน่นอน เช่นเดียวกันกับคำว่าการสร้างกุศลนั้นคือการเพิ่มความดี นั่นหมายถึงเราต้องพากันทำดี เร่งทำความดีและจะไม่หยุดอยู่ที่เดิมแล้วใช้ชีวิตเสพสุขไปวันๆอย่างแน่นอน

การสร้างกุศลร่วมกันนั้นหมายถึงการยกระดับศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ไปด้วยกันกับคู่รัก ในบทนี้จะขอยกตัวอย่างในกรณีของศีลเพราะเห็นภาพได้ชัดเจน

ความเจริญของคนนั้นเริ่มต้นจากการมีศีล มีศีลก็มีธรรม มีศีลก็มีปัญญา จริงๆแล้วทั้งสี่ข้อนี้ไม่ได้แยกกันแต่เชื่อมโยงกันร้อยเรียงผูกพันกันอย่างน่ามหัศจรรย์ เมื่อหยิบยกข้อใดข้อหนึ่งมาอธิบาย ก็สามารถขยายไปถึงข้ออื่นๆได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราตั้งใจจะยกระดับการทำกุศลของชีวิตคู่ เราจึงตัดสินใจถือศีลในข้อที่ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์อื่น เราจึงเลือกที่จะกินมังสวิรัติ การเลือกที่จะถือศีลนี้ต้องมีศรัทธา และมีความเสียสละความอยากเพื่อละเว้นการเบียดเบียน รวมถึงมีปัญญาที่จะทำให้การถือศีลเป็นไปในแนวทางที่พาพ้นทุกข์ได้

เมื่อเราถือศีลดังนี้ ก็จะเป็นกุศล เป็นความดีในชีวิตเรา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคู่ของเราจะสามารถถือศีลตามได้ด้วย เช่นเรากินมังสวิรัติ แต่เขากลับยินดีในการกินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีจะเป็นมังสวิรัติ เท่านี้ศีลก็เริ่มไม่เสมอกันแล้ว เพราะศรัทธาไม่เสมอ จาคะไม่เสมอ และปัญญาไม่เสมอ จึงไม่ยินดีที่จะถือศีลร่วมกัน

เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำขององค์ประกอบทั้งสี่ข้อนี้แล้ว ก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตคู่เกิดขึ้น เหมือนเทวดากับมารอยู่ด้วยกัน วิธีที่จะทำให้กลับมาเป็นคู่กันแบบปกติมีสองทาง ทางหนึ่งคือทำให้เป็นเทวดาทั้งคู่ ทางที่สองคือกลับไปเป็นมารเหมือนกันทั้งคู่

แต่ในเมื่อเราบอกว่าเรามีคู่เพื่อทำกุศลไปร่วมกัน เพื่อความเจริญทั้งทางโลกทางธรรมไปด้วยกัน หากคำตอบของเราที่ว่าจะยอมลดศีลไปเพื่อให้ชีวิตได้เคียงคู่กันอย่างปกตินั้น ก็สามารถเป็นเหตุผลได้แล้วว่าจริงๆเราไม่ได้อยากมีคู่เพราะจะทำกุศลร่วมกันหรอก เราแค่อยากมีคู่เฉยๆและอยากมีเพื่ออะไรก็มีกิเลสมากมายมารองรับในผลนี้ ส่วนการทำกุศลนั้นก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างให้เราได้เสพคู่อย่างดูมีเหตุมีผลเท่านั้นเอง

คนที่มีปัญญาก็จะไม่รีบแต่งงาน จะดูกันไปคบกันไป เพิ่มอธิศีล คือกระทำศีลให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ดูว่าคนที่เราเรียกว่าเนื้อคู่นั้นจะตามศีลเราไหวไหม เขามีอินทรีย์พละมากพอไหม เขามั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงไหม ถ้าเรายกระดับศีลเรื่อยๆแล้วเขาตามไม่ทัน นั่นไม่ใช่เนื้อคู่ของเราอย่างแน่นอน เพราะถ้าเราสามารถถือศีล ปฏิบัติศีลยากๆได้ แต่เขาทำไม่ได้ ก็คือศีลไม่เสมอกัน ดังนั้น ศรัทธา จาคะ ปัญญา ก็จึงไม่เสมอกัน คนที่มีบุญบารมีไม่พอเหมาะกับเราก็ไม่มีทางเป็นเนื้อคู่เราได้อย่างแน่นอน

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ศีลจะเป็นสิ่งที่ทดสอบความแท้ของคน ทดสอบบุญบารมีของคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนจะสนใจทดสอบคู่ของตน ในทางกลับกันก็ยังยอมยินดีลดศีลของตนเพื่อให้ตัวเองได้มีคู่อีกด้วย เช่นบางคนกินมังสวิรัติได้ แต่เพื่อให้ได้มีสามีหรือภรรยาเป็นตัวเป็นตน ก็ยอมเลิกกินมังสวิรัติกลับไปกินเนื้อสัตว์เพราะคู่คนนั้นเขาไม่กินมังสวิรัติ ความจริงที่เกิดในโลกมันก็แบบนี้ ใครจะยอมเพิ่มศีลเพื่อคัดคนที่ตัวเองหลงออกจากชีวิตได้ เวลาคนหลงแล้วธรรมะก็ไม่เกิด กิเลสมันชั่วแบบนี้เพราะมันทำให้เราทิ้งศีลธรรม ยอมลดคุณงามความดีกลับไปชั่วเพื่อไปเสพให้สมใจตามที่กิเลสต้องการ

…ความสุขในการมีคู่คืออะไร?

การที่เราไปมีคู่นั้น ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากความหลงสุข หลงว่ามีคู่แล้วจะเป็นสุข หลงว่าชีวิตสมบูรณ์แล้วจะเป็นสุข ถ้าถามว่าความสุขของการมีคู่คืออะไรก็มักจะได้คำตอบแบบอุดมคติว่าอยู่ด้วยกัน ดูแลกัน พึ่งพากัน ฯลฯ ซึ่งจริงๆความสุขเหล่านี้มีอยู่แล้วในครอบครัว ในพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มิตรสหาย เราสามารถใช้คำเหล่านี้ได้กับคนใกล้ตัวของเราทุกคน

สิ่งเดียวที่ต่างออกไปจากสิ่งที่ได้รับจากพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มิตรสหายก็คือการสมสู่หรือเซ็กส์ (sex)…เรามักจะปิดบังความจริงไว้ใต้เหตุผลสวยหรูต่างๆให้ดูว่าความรักของตนนั้นสวยงามเลิศเลอและสูงค่า แต่สุดท้ายก็มาติดตรงเรื่องเซ็กส์ เรื่องการสมสู่ เป็นเรื่องลับๆที่ไม่มีใครเคยบอกกล่าว ว่าจริงๆแล้วฉันมีคู่และฉันแต่งงานก็เพราะอยากมีเซ็กส์นี่แหละ เรื่องเซ็กส์จึงเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำ เป็นปัญหาที่หลายคนสงสัยว่าทำไมหลายคนหลายคู่จึงทะเลาะเลิกรากัน หรือจนกระทั่งมีปัญหา ชู้ กิ๊ก เมียน้อย ฯลฯ เรื่องราวต่างๆเหล่านี้มักจะมีเรื่องเซ็กส์เป็นเบื้องหลังเสมอ

โดยปกติแล้วเรามักจะไม่ยอมรับในเรื่องเซ็กส์หรอก มันเป็นกิเลสที่เก็บไว้ลึกๆ เก็บไว้สนองกันในคู่ของตน ไม่มีใครกล้าพูดออกมาเพราะเป็นเรื่องน่าอาย แต่เราสามารถเห็นภาพสะท้อนได้จากสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น มีการผลิตยาปลุกเซ็กส์ หรือยาที่ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว หรือเมื่อมีกระแสสมุนไพรกระชับช่องคลอดหรือทำให้หน้าอกใหญ่ก็มีแต่คนตามหา ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเรื่องเพศนั้นเป็นตลาดที่มีการเจริญเติบโตอย่างลับๆแม้ว่าจะไม่เปิดเผย แต่ก็มี supply & demand มากจนสังเกตได้ถึงขนาดที่ว่าในยุคสมัยนี้มีการศัลยกรรมเพื่อให้มีหน้าอกใหญ่กลายเป็นเรื่องปกติ หรือมีดารานักน้องที่แต่งตัวโป๊ เต้นด้วยท่าเต้นที่ยั่วยวนจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่ามากเกินไปจนอุจาดตา ซึ่งเป็นเจตนาที่ชัดเจนในการกระตุ้นทางเพศ

ถ้าเราสามารถตัดเรื่องเพศ เรื่องการสมสู่ออกไปจากชีวิตคู่ได้ เราจะไม่รีบแต่งงาน เราจะไม่มีรู้สึกว่าต้องการ การกอด การจูบ หรือแม้แต่การถูกเนื้อต้องตัวกัน ไม่รีบเสียตัวให้กันและกันเพียงเพราะความใคร่อยาก เราจะคบกันไปเรื่อยๆ ดูกันไปเรื่อยๆ เพราะหวังคบกันอย่างเพื่อนชีวิต เมื่อเซ็กส์ไม่ใช่คำตอบในชีวิต การแต่งงานหรือการคบหาในลักษณะแฟนก็ไม่ใช่คำตอบในชีวิตเช่นกัน คนที่รักกันอย่างจริงใจจะไม่รีบหรือผูกมัดกันและกันด้วยการสมสู่หรือการแต่งงาน

นอกจากเรื่องการสมสู่แล้วคนทั่วไปก็ยังคบหากันด้วยผลประโยชน์ต่างๆ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ในเรื่องลาภก็คบกันเพราะเขามีเงิน เพราะเขารวย มีกำลังปรนเปรอกิเลสของเรา เราจึงมีความสุข ในเรื่องยศเพราะเขามีหน้าที่มีตำแหน่งมีอำนาจเราจึงเสพสุขด้วยผลพวงแห่งอำนาจของเขา ในเรื่องสรรเสริญเพราะเขาเป็นคนที่ได้รับความนิยม เป็นคนที่สังคมยอมรับเราจึงพลอยหลงใหลได้ปลื้มไปกับเขาด้วย ในเรื่องโลกียสุขคือเราได้เขามาปรนเปรอกิเลสต่างๆ มาดูแลเอาใจ มาบำรุงกาม มาบำเรออัตตาของเรา เราจึงเป็นสุขและหลงในสุขเหล่านั้น

มีหลายต่อหลายคู่ที่คบหากันด้วยผลประโยชน์ทางโลกเหล่านี้ ไม่ว่าอย่างไรความสุขของคนมีกิเลสก็หนีไม่พ้นอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา แม้จะมีเหตุผลมากมายที่ยอมรับได้ในทางโลกแค่ไหน ก็เป็นเพียงข้ออ้างที่สวยหรูที่ใช้กันในสังคมอุดมกิเลส เพื่อที่จะทำให้การเสพกิเลสเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เป็นเรื่องปกติ เช่น ถึงคนคนนี้จะดีแสนดีแค่ไหนแต่ถ้าจนฉันก็ไม่แต่งงานด้วยถึงแม้เขาจะเป็นคนดีแต่ถ้าเลี้ยงดูบำรุงบำเรอกิเลสฉันไม่ได้ก็ไร้ค่าและสังคมอุดมกิเลสก็จะเออออตามไปด้วย ในทางตรงกันข้ามถึงแม้คนคนนี้จะเลวทรามแค่ไหนแต่ถ้ารวยฉันก็ยอมได้ฉันพร้อมจะหาข้อดีของเขาแม้จะยากปานงมเข็มในมหาสมุทรก็จะหาและสังคมอุดมกิเลสก็จะเออออตามไปด้วย เหล่านี้เองเรียกว่าการเสพสุขทางโลกซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม มีให้เห็นกันเป็นประจำตามข่าวสารประจำวัน

ในความเจริญสูงสุดตามหลักการของพุทธ สุดท้ายคู่รักก็จะกลายเป็นเสมือนญาติคนหนึ่ง เหมือนเพื่อนคนหนึ่ง ไม่มีเซ็กส์ ไม่มีการกอดจูบลูบคลำ ไม่มีการสนองกิเลสใดๆแก่กันและกัน สรุปแล้วก็เหมือนได้ญาติเพิ่มมาคนหนึ่ง แล้วจะเอาเขามาเพิ่มทำไมในเมื่อจริงๆแล้วเราก็มีญาติพี่น้องมิตรสหายให้ดูแลมากอยู่แล้ว

คนที่อยากจะรักใคร ดูแลใครสักคนตราบชั่วชีวิตจริงๆ มีรักแท้จริงๆ เขาจะไม่ไปหาคู่ให้เสียเวลาหรอก เพราะเขามีพ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนมิตรสหายที่พร้อมจะให้เขาดูแลอยู่ตั้งมากมายแล้ว ทำไมยังต้องเอาคนที่ไม่รู้จักกันเข้ามาในชีวิตเพียงเพราะอยากเสพกิเลสบางอย่างแค่นั้นเอง

การเพิ่มใครสักคนเข้ามาในชีวิตจะทำให้เราเสียเวลาในการดูแลคนสำคัญในชีวิตไปเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เรามีแฟนเพิ่มมาหนึ่งคนก็ลดเวลาที่เราจะพูดคุยและดูแลพ่อแม่ไปส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเรามีแต่งงานมีลูกเราก็แทบจะไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่เลย นี่หรือสิ่งที่เราเรียกว่าความรัก นี่หรือคือสิ่งที่เราตอบแทนคนที่รักเรามากที่สุด กับคนที่ห่วงใยเรามาทั้งชีวิตเรายังให้ค่า ให้ความสำคัญไม่เท่าใครก็ไม่รู้ที่เข้ามาในชีวิตเรา เพียงเพราะเขามาบำเรอสุขให้เรา เพียงเพราะต้องการสมสู่ เพียงเพราะแค่อยากมีลูก จึงทำให้เราเห็นแก่ตัวเอาความสุขนั้นไว้คนเดียวแล้วทิ้งให้คนที่รักเรารอคอยอย่างเดียวดายหรือ

ความสุขในการมีคู่ของคนมีกิเลสก็จะเยอะแยะมากมายไปหมด ให้พูดกันทั้งวันก็ไม่จบ มีหลักฐานมีที่อ้างตามแต่กิเลสจะพาไป แต่ถ้าได้ลองล้างกิเลสกันดูจะพบว่ามันไม่เห็นว่าจะมีความสุขตรงไหน คบกันเป็นเพื่อนก็ได้ เป็นคู่กันไปก็มีแต่ภาระ พาชั่ว พาจน ยากนักที่จะพาให้เจริญในศีลในธรรมร่วมกัน แต่การพากันเสพกิเลสไม่ว่าจะเรื่องอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตานั้นเป็นเรื่องง่ายสุดง่าย

แต่ก็อย่างว่า ขึ้นชื่อว่าคนมีกิเลสก็คือคนที่หลงมัวเมาในสุขลวง หลงมัวเมาในเรื่องโลก ไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นกุศลอกุศลได้ ไม่สามารถแยกแยะความดีความชั่วจริงๆได้ ก็จะวนเวียนต่อไปในเรื่องคู่เพราะหลงว่าเป็นสุข มีความสุข สามารถบำเรอสุขให้ตนได้ ที่จริงแล้วมันก็กิเลสแท้ๆ กิเลสบริสุทธิ์ เป็นทุกข์แท้ๆ เพราะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เพียงแค่ได้สุขลวงมาเสพ ก็ยินยอมที่จะทุกข์ทรมานไปชั่วกัปชั่วกัลป์

– – – – – – – – – – – – – – –

24.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,646 views 0

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

การที่เราจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุก ปราศจากธุลีละอองความอยากใดๆในจิตวิญญาณนั้นหากเราไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถ่องแท้และไม่ได้เข้าถึงธรรมนั้นด้วยใจตัวเองก็คงยากที่จะพบกับความสุขแท้

สติปัฏฐานคือช่วงหนึ่งของเส้นทางสู่ความผาสุกที่เราจำเป็นต้องเดินผ่าน เป็นขั้นตอนของการตรวจจับและพิจารณาธรรมเพื่อทำลายกิเลส เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากและจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไว้ หากไม่มีกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วการทำลายกิเลสก็จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันเท่านั้น

สติปัฏฐานนั้นคือกระบวนการที่ต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มจนจบ ตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ครบองค์ประกอบเหมือนเครื่องจักรที่ตัด พับ ต่อ ประกอบ กล่องให้สมบูรณ์เพียงแค่ใส่วัตถุดิบเข้าไป สติปัฏฐานนั้นก็เช่นกันมีการทำงานเป็นองค์รวมไม่แยกกันปฏิบัติ ต้องปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นระบบที่มีกระบวนการที่สอดคล้องกันไป

สติปัฏฐานนั้นต่างจากสติสัมปชัญญะหรือความรู้ตัวทั่วพร้อมโดยทั่วไป เพราะทำหน้าที่คนละแบบ สติปัฏฐานไม่ใช่เพื่อความรู้ตัว แต่เป็นการนำความรู้ตัวที่เกิดจากสติสัมปชัญญะเข้ามาเป็นอาหารสู่การรู้กิเลส จับกิเลส วิเคราะห์กิเลส และทำลายกิเลส ดังนั้นหากใครยังเข้าใจความต่างของสติทั้งสองอย่างไม่ได้และไม่เข้าใจการทำงานของสติปัฏฐาน ก็ยากที่จะเข้าใจธรรมะที่เกิดในตน เพราะสติปัฏฐานนี่เองคือกระบวนการที่จะทำให้เห็นธรรมะที่เกิดในตนเองอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

สติปัฏฐานนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ไปรวดเดียวจนจบครบกระบวน ไม่ใช่การแยกปฏิบัติทีละตัว จำเป็นต้องเรียนรู้ทุกตัวแต่ไม่ได้หมายความว่าต้องค่อยๆเรียนรู้ไปตามลำดับทีละขั้น เพราะสติปัฏฐานไม่ใช่การฝึกวิชา ไม่ใช่ระดับชั้น จึงไม่ต้องฝึกทีละขั้นแล้วเลื่อนชั้นไปศึกษาตัวต่อไป แต่ต้องเข้าใจองค์รวมทั้งหมดเพราะธรรมแต่ละตัวนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลส

สติปัฏฐาน ๔

ธรรมนี้คือทางเอกเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งการหลุดพ้นจากกิเลส ในบทความนี้ก็จะขยายและประยุกต์ให้กับผู้ฝึกกินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสโดยเฉพาะ แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิเลสตัวอื่นๆได้เช่นกัน

ในกรณีนี้จะยกตัวอย่างเพื่อผู้ที่ยังติดในรสชาติของเนื้อสัตว์ ยังหลงในเนื้อสัตว์ ยังคงมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ ทั้งในกรณีที่เราตั้งใจกินมังสวิรัติและไม่ได้กินมังสวิรัติอย่างจริงจัง

1). กายในกาย

เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ เราก็จะรับรู้ได้ถึงอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เป็นอาการที่จิตวิญญาณสังเคราะห์ขึ้นมาเช่น น้ำลายไหล ตัวสั่น มือสั่น กลืนน้ำลาย น้ำย่อยไหล หายใจผิดจังหวะ อาการเหล่านี้คืออาการของความอยากที่สะท้อนให้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะนามหรือพลังงานข้างในจิตใจเปลี่ยนแปลง จึงสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปคือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เราจึงจำเป็นต้องมีสติให้พร้อมเพื่อจับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนี้เพื่อให้เห็นใจที่เปลี่ยนไปแม้จะเป็นการสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อยก็ตาม

เมื่อเรากินเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ อาการที่เกิดกับร่างกายชัดๆเลยคือจะยังมีความอร่อย จะยังมีรสอร่อยอยู่ รสอร่อยนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นรสชาติของวิญญาณที่มีกิเลสของเราสังเคราะห์ขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอง จิตของเราปั้นรสอร่อยเหล่านั้นขึ้นมาเองให้ร่างกายของเราได้สัมผัสแล้วหลอกเราซ้อนอีกทีว่าเนื้อสัตว์อร่อย

เมื่อเราคิดถึงเนื้อสัตว์ หากเรายังมีความอยากอยู่ จะเกิดอาการกับร่างกายคือมีอาการหิวกระหายเนื้อสัตว์ โหยหวนคิดถึงเนื้อสัตว์ มีอาการน้ำย่อยหลั่ง กลืนน้ำลาย น้ำลายไหล หิว หมดแรง ออกอาการต่างๆเพื่อให้กระตุ้นให้เรากลับไปกินเนื้อ

อาการที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ คืออาการภายนอกที่สะท้อนให้เห็นภายในคือจิตใจที่เปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะเมื่อผัสสะเข้ามากระทบกระแทกแล้วจิตใจของเราให้หวั่นไหวจนสั่งร่างกายให้หวั่นไหวตาม ผู้ที่มีสติจับอาการของร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงได้จะนำผลนี้ไปสู่ขั้นตอนต่อไป

2). เวทนาในเวทนา

เมื่อเราจับอาการของจิตใจที่เกิดจากการกระทบร่างกายได้จะพบว่าอาการที่เปลี่ยนแปลงนั้น เกิดได้สามลักษณะคือ สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ นั่นคือเกิดเวทนาอย่างไรนั่นเอง แต่เวทนาเพื่อการล้างกิเลสนั้นถูกแบ่งเป็นสองลักษณะใหญ่ๆที่ต้องเรียนรู้หากว่าเราต้องการความผาสุกอย่างยั่งยืน

เคหสิตเวทนา

หรือความมีเวทนาอย่างชาวบ้าน หมายถึงการเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แบบทั่วไป ไม่ว่าชาวบ้าน นักบวช ผู้ทรงศีลก็สามารถเกิดเวทนาแบบชาวบ้านได้ เช่นเมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แล้วไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เราก็จะเกิดทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป คือทุกข์เพราะไม่ได้กินของที่อยากกิน หรือการที่เราได้ไปกินเนื้อสัตว์แล้วเกิดสุข ก็เป็นความสุขแบบชาวบ้านทั่วไป หรือแม้กระทั่งอาการเฉยๆแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์อย่างที่หลายคนเข้าใจว่าตัวเองกินมังสวิรัติได้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความเฉยๆแบบชาวบ้าน คือตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีในเนื้อสัตว์ เกลียดเนื้อสัตว์แล้วไม่ไปกินก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร

ประเด็นนี้เองที่ทำให้คนกินมังสวิรัติหลายคนเข้าใจผิดว่าตนเองล้างกิเลสได้หรือบรรลุธรรม เพียงเพราะความเฉยๆ แต่ทั้งหมดนี้มันเป็นความเฉยหรืออุเบกขาแบบชาวบ้าน เหมือนกับคนที่ไม่กินผัก ถ้าไม่มีผักในมื้ออาหารก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ชาวมังสวิรัติที่ใช้การกดข่มก็เช่นกัน เมื่อทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกว่าเนื้อสัตว์ไม่ใช่อาหาร แม้จะไม่มีเนื้อสัตว์อยู่ในมื้ออาหาร หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์เป็นสิบยี่สิบปีก็จะไม่เกิดทุกข์อะไร เพราะรู้สึกเฉยๆกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งหมดนี้เป็นเวทนาแบบชาวบ้าน เป็นเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้

คนกินมังสวิรัติแบบไม่เข้าใจเรื่องล้างกิเลสหากยังมีความอยากในเนื้อสัตว์มากอยู่ เมื่อได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดทุกข์ หรือในกรณีคนที่ยึดติดในมังสวิรัติมากๆ ถ้าได้กินผักก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินผักก็จะเกิดทุกข์ เป็นความรู้สึกสุข ทุกข์แบบทั่วไป แบบเป็นชาวบ้าน เป็นสามัญ เป็นเรื่องธรรมของโลก

เนกขัมมสิตเวทนา

คือการมีเวทนาแบบนักบวช นักบวชในที่นี้ไม่จำเป็นต้องโกนผมห่มผ้า แต่หมายถึงคนที่ใช้ศีลในการขัดเกลากิเลส บวชใจให้อยู่ในธรรม นั่นหมายถึงจะเป็นใครก็ได้ ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนา ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือเป็นนักบวชก็มีสิทธิ์ที่จะศึกษาธรรมด้วยกันทั้งนั้น อนึ่งการมีเวทนาแบบเนกขัมมะนี่เองคือทางสู่การพ้นทุกข์

การที่เราจะมีเนกขัมมสิตเวทนานั้นจะต้องเริ่มต้นจากการถือศีล การยึดอาศัยศีลมาเพื่อขัดเกลากิเลส ใช้ศีลมาเป็นเครื่องมือตรวจจับกิเลส ผู้ที่ไม่มีศีล ไม่ตั้งตบะ ไม่มีความตั้งใจที่จะลด ละ เลิกความยึดมั่นถือมั่นจะไม่มีวันเข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนาได้เลย เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะเป็น ความสุข ทุกข์ เฉยๆในอีกมิติหนึ่งซึ่งต่างออกไปจากเคหสิตเวทนา แม้จะได้ชื่อว่าเฉยๆหรืออุเบกขาเหมือนกัน แต่สภาพภายในจิตใจนั้นก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง นี้เองคือนัยสำคัญว่าทำไมศีล สมาธิ ปัญญาต้องปฏิบัติไปพร้อมกันเป็นองค์รวม ไม่แยกกันปฏิบัติ

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นหลังจากเราถือศีลก็คือ เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์เพราะว่าต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกิน แม้จะมีมาวางตรงหน้าเราก็ต้องทน ซึ่งยิ่งเรามีความอยากมากเท่าไหร่ เราก็จะทุกข์มากเท่านั้น การถือศีลนี้เองจะทำให้เราเป็นทุกข์และเห็นทุกข์ไปเรื่อยๆ แต่นี่เองคือการ “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เราจะใช้ความทุกข์นี้แหละในการพิจารณาหาสาเหตุแห่งทุกข์ต่อไปในขั้นตอนของจิตในจิต

ความสุขที่เกิดจากเนกขัมมสิตเวทนา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปราศจากกิเลส ในส่วนของความสุขที่เกิดขึ้นตอนทนไม่ไหวกลับไปกินเนื้อสัตว์นั้นก็เป็นเคหสิตเวทนาซึ่งจะต่างกันออกไป เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะมีสุขแม้จะไม่ได้เสพและจะเกิดขึ้นในจังหวะของการทำลายกิเลสได้

เมื่อทำลายกิเลสได้ความสุขจะสงบลงเป็นอุเบกขา ลักษณะของเนกขัมมสิตอุเบกขาจะแตกต่างกับเคหสิตอุเบกขาอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ จะเรียกว่าคนละโลกก็ว่าได้ โลกหนึ่งเป็นโลกียะ อีกโลกหนึ่งคือโลกุตระ เนกขัมมสิตอุเบกขาเป็นมิติของโลกุตระ ซึ่งจะเป็นความปล่อยวางจากความอยาก สงบเย็น โปร่ง โล่ง สบาย แม้ว่าจะไม่ได้กินผักก็ไม่ทุกข์ แม้จะต้องกินเนื้อก็ไม่ทุกข์ สภาพที่มองเห็นโดยทั่วไปจะคล้ายๆกับคนธรรมดา แต่จะไม่ธรรมดาตรงที่ว่าจะไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในใจอีกเลย แม้จะต้องกินผักไปตลอดชีวิตก็ไม่ทุกข์ เห็นเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ เห็นคนกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ มันจะไม่มีเรื่องอะไรให้ใจเป็นทุกข์หรือขุ่นมัวได้เลย นี่คือสภาวะของเนกขัมมสิตอุเบกขา

การที่เราจะถึงเป้าหมายคือเนกขัมมสิตอุเบกขาได้นั้นต้องเริ่มจากศีล ศีลนั้นคือการเพ่งเล็งเข้าไปที่ความอยากกินเนื้อสัตว์ เข้าไปที่ความติดยึดในเนื้อสัตว์ เพื่อที่เราจะได้ออกจาความอยากกินเนื้อสัตว์ด้วยปัญญา ศีลที่ควรตั้งไว้นั้นคือละเว้น “ความอยาก” ในการกินเนื้อสัตว์ นั้นหมายถึงไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้นทั้งในกาย วาจา ใจ แม้จะเล็กน้อยเพียงเสี้ยวธุลีก็ไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้น นั่นหมายถึงการดับกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างสิ้นเกลี้ยง

…หลักการรับรู้เวทนา

การที่เราจะสามารถรับรู้เวทนาได้ชัดเจนเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองทุกอย่างตามความเป็นจริงแค่ไหน เรามีความจริงใจกับตัวเองมากเท่าไร อยากกินก็รู้สึกว่าอยากกิน เกลียดก็รู้ว่าเกลียด ยอมรับตามตรงว่ายังมีกิเลสเหลืออยู่ตามจริง มีมากก็ยอมรับว่ามาก มีน้อยก็ยอมรับว่าน้อย ไม่ใช่ว่ามีมากแล้วพยายามกดข่มบอกตัวเองไว้ว่าฉันไม่อยาก ฉันไม่อยากแบบนี้จะบรรลุธรรมช้าจนถึงไม่สามารถเข้าใจธรรมใดได้เลยเพราะหากไม่มีความจริงใจต่อตัวเองก็ยากที่จะได้เห็นหน้าตาจริงๆของกิเลส

คนกินมังสวิรัติที่ยึดดีหลายคนมักจะกดข่มความอยากไว้ ทำเป็นมองไม่เห็น ทำเหมือนไม่มี ยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองยังอยาก รู้สึกรังเกียจหากต้องยอมรับการมีอยู่ของความอยากในตัวเอง แต่ถึงจะกดข่มด้วยความคิดเช่นนั้นก็ตาม กิเลสที่มีอยู่ก็ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้ลดลงหรือสลายไปแต่อย่างใด มันจะซ่อนตัวแล้วแอบไว้จนกว่าวันที่จิตใจจะกล้าค้นหามันจริงๆ หรือจนกระทั่งวันที่มันคิดว่าความอยากนั้นแข็งแกร่งพอจะทำลายความเป็นมังสวิรัติได้ วันนั้นแหละคือวันที่มันจะออกมา แม้ว่าจะกดข่มไว้เท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็จะแพ้พลังกิเลสอยู่ดี

ดังนั้นเราจึงควรรับรู้ความทุกข์ สุข เฉยๆ ตามความเป็นจริงโดยไม่เอาความคิด ความรู้ หรือตรรกะใดไปกดข่มความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เองคือกุญแจที่จะไขประตูสู่ร่างจริงของกิเลสเพื่อให้เราได้ต่อสู้และเพียรพยายามต่อไป

3). จิตในจิต

เมื่อเราตั้งศีลและเกิดเวทนาขึ้นในใจแล้ว เช่นเราเกิดความทุกข์เพราะความอยากกินเมนูเนื้อสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า มันเป็นเมนูที่เราเคยชอบ กลิ่นมันช่างเย้ายวนใจ สัมผัสที่เคยเคี้ยว รสที่เคยลิ้มลองมันยังอยู่ในใจ เมื่อเราไม่ได้กินสิ่งที่อยากกินเราจึงเกิดทุกข์

ในขั้นตอนของจิตในจิตคือเอาทุกข์ สุข เฉยๆนั้นมาชำแหละว่าเราเกิดเวทนานั้นเพราะกิเลสตัวไหน เราไม่สามารถทำลายกิเลสได้ด้วยการบอกว่ามันคือกิเลสแล้วตบมันทิ้งด้วยสมถะวิธี แต่ต้องแยกกิเลสออกมาเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ธรรมที่เหมาะกับกิเลสนั้นๆพิจารณาให้ถูกตัวถูกตน

ในกรณีที่ยกตัวอย่างมานั้นจะเห็นว่าเรามีกิเลสหลายตัวรวมอยู่ในความทุกข์นั้นๆ เราทุกข์เพราะเราไม่ได้เสพ แต่ต้องตั้งสติดีๆให้เห็นว่าเรายึดติดกิเลสตัวใดมากที่สุด กิเลสตัวไหนที่อันตรายที่สุด เช่นเห็นหน้าตาของเมนูเนื้อสัตว์ก็ยังเฉยๆ ได้กลิ่นก็ยังเฉยๆ แต่พอคิดถึงรสที่เคยลิ้มลองเท่านั้นแหละ สติหลุดลอยไปเลย เกิดความอยากแล้วก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะอยากกินแต่ฝืนไม่กิน ดังนั้นในกรณีนี้ตัวรสชาติและรสสัมผัสคือกิเลสที่เราควรจะแยกมาจัดการก่อนเป็นอันดับแรก

การที่เราติดรสชาติและรสสัมผัสนั้นเกิดจากกิเลสในหมวดของกามคุณ ๕ การติดรสสัมผัส เช่น ติดความเย็น ร้อน อ่อน แข็งของวัตถุที่เอาเข้าปาก ในกรณีของเนื้อสัตว์ก็จะเป็นความเหนียวนุ่มของเนื้อนั้นๆ และติดรสชาติ เช่น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม เผ็ด ฯลฯ ของเนื้อสัตว์นั้น

เมื่อเราเห็นกิเลสและค้นไปในรากของความยึดมั่นถือมั่นจนเป็นที่มั่นใจแล้วว่า ความรู้สึกนี่แหละคือกิเลสที่เราติดยึด เราก็จะนำสิ่งที่ได้มานั้นไปสังเคราะห์ต่อในกระบวนการของธรรมในธรรม

4). ธรรมในธรรม

เมื่อเราจับตัวกิเลส หรือตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์มาได้แล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดในรสสัมผัสและรสชาติ เราก็จะหาธรรมะที่ถูกที่ควรมาเจรจากับกิเลสเหล่านี้ ให้ตัวเราได้ยอมละหน่ายคลายจากความยึดมั่นถือมั่นจากกิเลสเหล่านี้

เช่นเราอาจจะเลือกเน้นไปในรสสัมผัสก่อนว่า ความอยากกินอยากสัมผัสเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร มีประโยชน์อะไรบ้างถ้าเราจะออกจากสิ่งนี้หรือไม่ติดในสิ่งนี้ ความติดในรสสัมผัสนี่มันก็ไม่เที่ยงใช่ไหม เรากินบ่อยๆมันก็เบื่อใช่ไหม มันไม่ได้สุขทุกครั้งที่กินใช่ไหม แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวตนของเราอีกด้วยเพราะจริงๆแม้เราจะไม่ต้องสัมผัสเนื้อนั้นๆเราก็ยังสามารถได้ความสุขจากการขบเคี้ยวสิ่งอื่นๆ (ในกรณีนี้ใช้เฉพาะต้องการเบี่ยงออกไปหาสิ่งที่เป็นภัยน้อยกว่า) เราติดรสสัมผัสเราไม่ได้ติดเนื้อสัตว์ เพียงแค่เราหาอย่างอื่นคล้ายๆกันมาแทนแล้วพิจารณาประโยชน์ไปเรื่อยๆก็จะทำให้ลดเนื้อสัตว์ได้

รวมทั้งการพิจารณาข้อมูลอื่นๆเสริมไปก็ได้เช่น เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเสริม เอาข้อมูลทางการวิจัยมาเสริม เอาอสุภะหรือภาพจำพวกสัตว์ถูกทรมานหรือสัตว์ตายมาเสริมก็จะเพิ่มพลังในการพิจารณาออกจากกิเลส เพราะตอนนี้เราจับตัวกิเลสได้คาหนังคาเขาแล้ว และมั่นใจว่าเป็นตัวนี้แน่ๆ เราก็ใช้ธรรมะนี่แหละเข้าถล่มสู้กับความยึดมั่นถือมั่นอย่างไม่ต้องยั้งมือได้เลย

ในมุมของการติดรสชาติก็ทำคล้ายๆกันจะขอยกตัวอย่างการเห็นธรรมของการติดรสชาติในกรณีหนึ่ง คือปลาหมึกปิ้งกับเห็ดออรินจิปิ้ง เราอาจจะเป็นคนที่ชอบกินปลาหมึกปิ้ง พอพิจารณากิเลสดีแล้วก็รู้ได้ว่า เราติดใจในรสชาติของปลาหมึกปิ้ง ถ้าปลาหมึกไม่ราดน้ำจิ้มก็ไม่อร่อย ปลาหมึกจะอร่อยหรือไม่อร่อยอยู่ที่ความสดและน้ำจิ้ม และร้านค้าปลาหมึกมักโฆษณาว่าน้ำจิ้มรสเด็ด ตอนนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับความติดรสของตัวเองเท่านี้

จนกระทั่งเมื่อเราได้ลองกินเห็ดออรินจิย่างจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด เราจึงเริ่มไม่แน่ใจว่าเราติดรสน้ำจิ้มหรือติดรสปลาหมึกที่จิ้มน้ำจิ้ม เราจึงลองเปลี่ยนจากปลาหมึกมาเป็นเห็ดออรินจิแล้วจิ้มน้ำจิ้มรสเดิม แล้วเราก็พบว่าเรายังมีความสุขอยู่เหมือนเดิม เราจึงได้ค้นพบว่าเราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องกินปลาหมึกปิ้ง ไม่ต้องเบียดเบียนปลาหมึก แค่ใช้เห็นออรินจิปิ้งมาแทน

การเห็นธรรมในกรณีนี้คือความมั่นใจว่าเราติดน้ำจิ้มไม่ได้ติดปลาหมึก เราจึงเต็มใจที่จะเลิกกินปลาหมึกและหาเห็ดมาแทนปลาหมึกและใช้น้ำจิ้มรสเดิมโดยไม่ต้องพิจารณาธรรมอะไรให้มากมาย นี่เป็นลักษณะการวิเคราะห์จิตในจิตต่อเนื่องมาธรรมในธรรมอีกนิดหน่อยก็จบกระบวน เลิกกินปลาหมึกปิ้งได้อย่างสบายใจ เพราะรู้ชัดแจ้งในวิญญาณว่าไม่ได้ติดปลาหมึกปิ้งแต่ติดน้ำจิ้ม ก็เลยไม่ต้องไปฆ่าความอยากกินปลาหมึกปิ้ง แต่ก็ต้องกลับไปทำโจทย์ของความอยากในรสชาติของน้ำจิ้มอีกทีหนึ่ง หรือจะเก็บความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดก่อนแล้วค่อยกลับมาจัดการเรื่องการติดรสชาติก็ยังไม่สาย เพราะการกินเนื้อสัตว์นั้นบาปกว่าและหยาบกว่าการติดรสของอาหาร

ในเรื่องของความติดยึดในเนื้อสัตว์นั้นยังมีการติดได้ในกิเลสอีกหลายมิติ เช่น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา และในหลายลีลาของกิเลสเช่น โลภ โกรธ หลง การวิเคราะห์หรือหาสาเหตุในขั้นตอนจิตในจิตก็จะต่างกันออกไป การใช้ธรรมมาแก้ในขั้นตอนของธรรมในธรรมก็จะต่างออกไปเช่นกัน

….แต่ถึงแม้ว่าเราจะทุ่มเทสุดชีวิตสุดปัญญาก็ตาม กิเลสอาจจะไม่ได้ตายหรือสลายหายไปง่ายๆ ซึ่งการพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็เป็นเรื่องธรรมดา ถึงเราจะเพียรอย่างเต็มที่ก็แค่อาจจะทำให้กิเลสลดกำลังหรืออ่อนแอลงไปบ้างเท่านั้น แต่เราก็จะไม่ยอมแพ้ เพียรพยายามต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ใช้สติปัฏฐานตั้งแต่กาย เวทนา จิต ธรรม นี่แหละ ตรวจจับกิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งกิเลสจะยอมถอยและตายไปเอง

ผู้ที่เข้าใจกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วจะไม่กลัวการกระทบของกิเลส จะไม่ผลักไส ไม่กดข่ม ไม่ตบกิเลสให้ดับลงในทันทีเพราะรู้ดีว่าการดับด้วยสมถะวิธีนั้นไม่ยั่งยืน เป็นเพียงการกดข่มเท่านั้น แต่จะบุกตะลุยเข้าสู้กับกิเลส เจอกิเลสที่ไหนก็จับมาพิจารณาได้หมด แสวงหาผัสสะที่จะมาเป็นอาหารของตนเอง ถ้ายิ่งเก่งก็จะยิ่งกล้าในการเข้าไปรวมหมู่รวมกลุ่มกับสังคม เป็นนักมังสวิรัติที่ชำแหละและล้างกิเลสเป็น จึงต้องใช้สังคมและมิตรสหายเป็นเครื่องมือหรือเหตุการณ์ที่จะเข้ามากระทุ้งให้เห็นกิเลส ด้วยสติปัฏฐาน จับกาย ดูเวทนา วิเคราะห์จิต สังเคราะห์ธรรม ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะเก็บสะสมความเจริญไปได้เรื่อยๆจนวันหนึ่งกิเลสหมดก็จะสามารถรู้ได้เองจากการทดสอบความอยาก หรือการทดสอบการหลุดพ้นจากกิเลสด้วยใจของตัวเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

December 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,054 views 0

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

…เมื่อการกินมังสวิรัติไม่ได้ทำให้คลายกิเลส

การกินมังสวิรัติหรือการลดเนื้อกินผักนั้น หลายคนอาจจะมีเส้นทางการเริ่มต้นที่ต่างกันไป บางคนกินเพราะสุขภาพ บางคนกินเพราะเข้าใจว่าได้บุญ บางคนกินเพราะเขานิยม บางคนกินเพราะเมตตาสัตว์ บางคนกินเพราะทำให้ดูเป็นคนดี บางคนกินเพราะประหยัด บางคนกินเพราะคนในครอบครัวกิน หลายเหตุผลนี้อาจจะทำให้หลายคนเข้าถึงที่สุดแห่งการลดเนื้อกินผักได้ แต่อาจจะไม่ถึงที่สุดของใจ

ด้วยเหตุต่างๆที่กล่าวอ้างมาสามารถจูงใจให้คนเข้ามากินมังสวิรัติได้ทั้งสิ้นและสามารถทำให้เป็นนักมังสวิรัติขาประจำได้ด้วยเช่นกัน เพราะในความจริงแล้วการกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องยากนั้นคือการไม่กินเนื้อสัตว์เพราะความอยาก

เราสามารถกินมังสวิรัติได้ง่ายๆเพียงแค่อยู่ใกล้แหล่งอาหารมังสวิรัติ มีแม่ครัวรู้ใจ ทำอาหารเอง หรือแม้แต่รู้วิธีไปกินมังสวิรัตินอกสถานที่ ด้วยความรู้เหล่านี้ทำให้เราสามารถกินมังสวิรัติได้ไม่ยาก กินไปทั้งชีวิตก็ได้ ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังได้เพราะเมนูมังสวิรัติหรือเมนูเนื้อสัตว์ที่มีทั่วไปนั้นก็ปรุงรสจัด รสที่ทำให้เรารู้สึกอร่อยหรือรสชาติที่เราคุ้นเคยเหมือนๆกัน

มันไม่ใช่เรื่องยากเลยหากคนทั่วไปที่ชอบกินเนื้อต้องเผชิญกับเหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่มีเนื้อสัตว์ให้กินแล้วต้องกินมังสวิรัติเป็นเวลานาน เพราะสุดท้ายมนุษย์ก็จะต้องกินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ดี

ศีลหรือการละเว้นสิ่งที่เป็นภัย

การกินมังสวิรัติหรือการถือศีลละเว้นนั้น หากเราตั้งไว้แค่การละเว้นเนื้อสัตว์ เมตตาสัตว์ เราก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้แล้ว แต่ทว่าศีลระดับนั้นอาจจะไม่สามารถดับความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ให้สิ้นเกลี้ยงได้เพราะเพียงแค่ดับกามภพหรือแค่เพียงไม่ไปเสพก็สามารถบรรลุผลของศีลนั้นได้แล้ว การตั้งศีลที่สูงกว่าหรืออธิศีลในมังสวิรัติคือการดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยงจากกามภพไปจนถึงรูปภพและอรูปภพ ศีลนี้ต่างจากการกินมังสวิรัติหรือการกินเจของคนทั่วไปอยู่มาก เพราะโดยส่วนมากเขาจะกินเพราะเมตตาสัตว์ เพราะสงสาร ทำให้เกิดกุศล

หากจะตั้งจิตตั้งศีลไว้ที่ไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์ การกินมังสวิรัติได้ 100% ก็เป็นที่สุดแห่งศีลนั้นแล้ว แต่ก็ยังมีศีลที่เจริญกว่าเข้าถึงผลยากกว่านั่นคือทำลายความอยากนั้นเสีย การตั้งศีลสองอย่างนี้ต่างกันเช่นไร การไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์นั้น เพียงแค่คุมร่างกายหรือกระทั่งคุมวาจาได้ก็ไม่ไปเบียดเบียนเนื้อสัตว์ได้แล้ว คุมร่างกายไว้ไม่ให้ไปหยิบกิน กดไว้ไม่ให้หิวไม่ให้อยาก คุมวาจาไว้ไม่ให้พูดถึง ไม่ให้เอ่ยถึงการกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงในส่วนของใจทั้งหมดเพียงแค่คุมใจไว้ เป็นการปฏิบัติจากนอกเข้ามาหาใน คือคุมร่างกายวาจาแล้วไปกดที่ใจในท้ายที่สุด

ศีลที่ตั้งไว้เพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นจะปฏิบัติกลับกันนั่นคือจากในออกไปหานอก ปฏิบัติที่ใจให้คุมวาจา และคุมไปถึงร่างกาย เป็นการพุ่งเป้าหมายไปที่การล้างกิเลสอย่างชัดเจน ให้เห็นตัวเห็นตนของกิเลสอย่างชัดเจน ถือศีลขัดเกลาเฉพาะกิเลสอย่างชัดเจน ไม่หลงไปในประเด็นอื่น

การตั้งเป้าหมายไว้ที่กิเลสนั้นดีอย่างไร นั่นก็คือเมื่อเราสามารถปฏิบัติจนละหน่ายคลายกิเลสหรือกระทั่งดับกิเลสได้แล้ว จะดับไปถึงวจีสังขาร คือไม่ปรุงแต่งคำพูดอะไรในใจอีกแล้ว ไม่มีแม้เสียงกิเลสดังออกมาจากข้างใน จนไปถึงร่างกายไม่สังขาร คือไม่ขยับเพราะแรงของกิเลส ไม่ออกอาการอยากใดๆทางร่างกาย ไม่ไปกินเพราะว่ากิเลสสั่งให้กินเนื้อ

ผู้ที่ตั้งศีลไว้ที่การชำระกิเลสภายในนั้น เมื่อปฏิบัติจนสุดทางแล้วจะไม่ต้องเคร่งเครียดไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องกดดัน ไม่มีรูปแบบมากนัก ไม่เกลียดคนกินเนื้อ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมโต๊ะ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมจาน และไม่รังเกียจแม้จะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปาก แต่ถึงแม้จะกินเนื้อก็ไม่มีอาการอยากใดๆ เคี้ยวเสร็จแล้วคายทิ้งได้และยังสามารถทิ้งที่เหลือได้โดยไม่มีการทุกข์ใจใดๆเกิดขึ้น ไม่มีความอยากเกิดขึ้นแม้ตอนเคี้ยวหรืออึดกดดันถ้ารู้สึกจะต้องกินเนื้อ ในกรณีลองกินเนื้อนี้เราใช้เพื่อทดสอบกามและอัตตาเท่านั้น

นั่นเพราะการถือศีลนี้เป็นการดับความอยาก ไม่ใช่แค่การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่แค่การกินมังสวิรัติ แต่เป็นการทำลายเหตุแห่งการกินเนื้อสัตว์ ดับทุกข์ที่เหตุ จึงเกิดสภาพแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ทรมานจากกาม ถึงแม้จะจำเป็นต้องกินก็ไม่ทุกข์ทรมานจากอัตตา ซึ่งจะพ้นจากทางโต่งทั้งสองด้านในท้ายที่สุด

การปฏิบัติที่ใจ

การปฏิบัติไปถึงใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องใช้หลักปฏิบัติของศาสนาพุทธเข้ามาเป็นส่วนร่วม ในการตรวจทุกสภาวะของจิตใจ ซึ่งจะลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต เดาไม่ได้ คิดเอาเองไม่ได้ เป็นสภาพของญาณที่ใช้ตรวจกิเลส เป็นสภาพรู้ถึงกิเลส ชัดเจนในใจว่ากิเลสยังเหลืออยู่ไหม เหลือมากน้อยเท่าไหร่ เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง ในผู้ที่กินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสจะได้รับญาณเหล่านี้มาด้วยเมื่อพัฒนาการปฏิบัติไปเรื่อยๆ

การปฏิบัติเพื่อล้างกิเลสนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เมตตาสัตว์ ไม่สงสารสัตว์ แต่การจะถึงผลได้นั้น ต้องนำทุกวิถีทางที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นบทความเข้ามาเป็นตัวพิจารณาธรรม ซ้ำยังต้องพิจารณาไปถึงกรรมและผลของกรรม พิจารณาไตรลักษณ์ ให้ตรงเข้ากับกิเลสนั้นๆ ในกรณีนี้ก็คือการพิจารณากรรมและผลของกรรมของความอยากเสพ และพิจารณาความเป็นทุกข์ของความอยากเสพ ความไม่เที่ยงของความอยากว่ามันเพิ่มได้มันลดได้ และความไม่มีตัวตนของความอยากนี้อย่างแท้จริง

การพิจารณาล้างกิเลสนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่ตั้งใจแล้วจะทำได้แต่ยังต้องมีกำลังที่มาก เรียกได้ว่าต้องมีอินทรีย์พละที่แกร่งกล้าพอที่จะต้านทานพลังของกิเลสได้ ดังที่กล่าวว่าโจทย์ของเราคือความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยใช้การตรวจวัดไปที่ใจ ดังนั้นการเห็นใจอย่างละเอียดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากคนที่ปฏิบัติน้อยมองผ่านๆก็จะเหมือนยืนมองฝุ่นที่พื้นซึ่งอาจจะไม่เห็นฝุ่น คนที่ปฏิบัติเก่งขึ้นมาก็จะใช้แว่นขยายดูฝุ่นนั้น ส่วนขึ้นที่เก่งขึ้นมาอีกก็เหมือนใช้กล้องจุลทรรศน์ดูฝุ่นนั้น

การเห็นกิเลสนั้นจะเป็นไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ต้องทำลายกิเลสหยาบจึงจะสามารถเห็นกิเลสกลาง ทำลายกิเลสกลางถึงจะเห็นกิเลสละเอียด นั่นเพราะในระหว่างปฏิบัติศีลไปเรื่อยๆ เราก็จะได้มรรคผลมาเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถรู้และเห็นกิเลสที่เล็กและละเอียดนั้นได้มากขึ้น

เราปฏิบัติโดยทำลายความอยากที่จิตสำนึก ทำลายไปจนถึงจิตใต้สำนึก และล้วงไปจนถึงจิตไร้สำนึก ละเอียดลงไปเรื่อยๆดำดิ่งลึกลงไปให้เห็นกิเลสที่ฝังอยู่ข้างในจิตใจทำลายไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดสิ้น

แต่ถ้าหากว่าเรายังยินดีในศีลเพียงแค่ละเว้นการฆ่าสัตว์ ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์ พอใจและมั่นใจแล้วว่าสิ่งนี้ดีที่สุดแล้วจะถือศีลนั้นไปเรื่อยๆก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายเท่าไรนัก เพราะพ้นภัยจากกรรมแห่งการเบียดเบียนได้บ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การกดความรู้สึกจากร่างกายเข้าไปหาใจนั้นไม่ใช่ทางดับทุกข์ที่เหตุ แต่เป็นการดับที่ปลายเหตุซึ่งนั่นหมายความว่า ความอยากนั้นอาจจะกลับกำเริบขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งก็ได้ หรือชาติใดชาติหนึ่งก็ได้เช่นกัน ถึงแม้ในชาตินี้เราจะสามารถกดข่มความอยากไว้ด้วยความเมตตาได้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะไม่เติบโต

กินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าล้างกิเลสเป็น

การกินมังสวิรัติได้ ถึงแม้จะกินได้ตลอดชีวิตแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถล้างกิเลสได้หรือล้างกิเลสเป็นเพราะการกินมังสวิรัติได้นั้น สามารถใช้เพียงสัญชาติญาณความเมตตาทั่วๆไปกดความชั่วนั้นไว้ได้แล้ว นั่นเพราะการเบียดเบียนสัตว์เป็นบาปที่เห็นได้ชัดเจน เหมือนกับการที่เรารู้ว่าการฆ่าสัตว์ไม่ดี เราจึงไม่ตบยุง แต่ความโกรธ ความรำคาญ ความแค้นยุงยังมีอยู่ ถึงเราจะไม่ตบไปทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะตาย มันเพียงแค่ถูกฝังกลบไว้ในความดี ไว้ในจิตลึกๆเพียงแค่ยังไม่แสดงตัวออกมา

…สรุปข้อแตกต่าง

ข้อแตกต่างของผลในการกินมังสวิรัติแบบกดข่มกับแบบล้างกิเลสคือ การกดข่มจะใช้พลังความดีและใช้ธรรมะในการกดความชั่วเอาไว้ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ไม่ให้หลุดออกมาทั้งทางกายวาจาใจ แต่เมื่อทำไปนานวันเข้าจะมีความกดดันและจะเครียดหรือสร้างบรรยากาศที่ตึงเครียด เป็นสภาพของการยึดมั่นถือมั่น เพราะทำจากข้างนอกเข้ามาข้างใน

ส่วนแบบล้างกิเลสคือการใช้พลังปัญญาเข้าไปล้างเชื้อชั่วข้างในจิตวิญญาณเลย เมื่อทำไปนานวันเข้าจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ สติ ปัญญา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จะขยายขอบเขตมากขึ้น ความโปร่งโล่งสบายจะแผ่กระจายออกไปจนคนอื่นรับรู้ได้และมีพลังที่จะส่งต่อสิ่งดีๆให้ผู้อื่นอย่างมีศิลปะ มีไหวพริบ มีการประมาณที่จะยิ่งเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นสภาพของการปล่อยวาง เพราะทำจากข้างในแผ่ออกไปข้างนอก

การค้นหากิเลสและทำลายกิเลสอย่างถูกวิธีนั้นต้องดำเนินไปตามขั้นตอนของวิปัสสนาญาณ ๑๖ ซึ่งจะเป็นทั้งเป้าหมายและเป็นตัวตรวจสอบสภาพว่าเราได้ดำเนินการผ่านกิเลสนั้นมามากน้อยเท่าไร ถึงระดับไหน และอีกไกลเท่าไร ผลคือแบบไหนเราจึงจะไม่หลงไปในกิเลส ไม่ต้องหลงทางวนเวียนอยู่กับการหลอกหลอนของกิเลสอีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์