ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส
ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส
การตรวจสอบกิเลสตั้งแต่ในระดับ 1-4 ที่ผ่านมานั้น จะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าหากว่าเราขาด “ความจริงใจ”
ความจริงใจในที่นี้คือความจริงใจต่อตนเอง คือความจริง ที่เกิดขึ้นในใจ หรือการมองความจริงตามความเป็นจริงนั่นเอง ยอมรับความจริงว่าเกิดความอยากขึ้นในใจ มันอยากกินก็ยอมรับได้ มันอยากกินมากขึ้นก็ยอมรับได้ หรือความอยากกินมันลดลงไปก็รับรู้ได้
ความจริงใจคือคุณสมบัติที่จำเป็นมากในการเรียนรู้เรื่องของกิเลส เพราะกิเลสเป็นเรื่องภายในใจ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน จึงต้องอาศัยความจริงใจนี่แหละเป็นตัวที่จะเปิดเผยหน้าตาของกิเลสให้เราเห็น
…อัตตาบังความจริงใจ
สิ่งที่จะบดบังความจริงใจได้อย่างดีที่สุดก็คืออัตตาของเรานี่เอง เพราะในส่วนกามมันชัดเจนอยู่แล้วว่าเรายังกินเนื้อ แต่ถ้าเราเลิกกินเนื้อแล้วมันมักจะมีอัตตาก้อนใหญ่ติดมาด้วย
อัตตานั้นเกิดจากอะไร? การเกิดจากอัตตานั้นมักจะเกิดมาในระหว่างที่เราจะออกจากความชั่ว การออกจากชั่วเราต้องยึดดี เช่นในกรณีของการจะมากินมังสวิรัติเราต้องเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งชั่ว เป็นสิ่งที่เบียดเบียน ไม่เมตตา ฯลฯ จึงจะสามารถทำให้เราออกจากชั่วได้สบายใจ นั่นหมายถึงย้ายอัตตาจากฝั่งกินเนื้อมาฝั่งเกลียดการกินเนื้อ เพียงแค่ย้ายฝั่งของอัตตาเท่านั้นแต่อัตตาก็ยังอยู่กับเราไม่ไปไหน
ทีนี้ถ้ามีคนมาถามกับเราว่า “ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม” ด้วยความยึดดีของเรา จะตอบเขาได้ในกรณีเดียวว่าไม่อยาก แต่ในใจนั้นอยากหรือไม่อยากก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าตอบว่า “อยาก” ไม่ได้ เพราะความยึดดีมันมีมาก เราจะไม่ยอมเปิดใจไม่ยอมมองไปที่ความอยาก เพราะความชั่วความไม่ดีของการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ เราจึงใช้อัตตานี้เองบังความจริงที่เกิดขึ้นในใจไว้
ความจริงว่ากิเลสหรือความอยากยังอยู่นั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย แม้จะกินมังสวิรัติได้เป็นสิบยี่สิบปีก็ไม่ได้มีความหมายอะไรในเชิงของโลกุตระ เป็นเพียงแค่การสร้างกุศลโลกียะเท่านั้น เป็นความดีแบบโลกๆ ซึ่งเรื่องของการล้างกิเลสเป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการกินมังสวิรัติ แต่การกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุกนั้นเป็นผลจากการล้างความอยากในเนื้อสัตว์
ดังนั้นอัตตาที่เรามีนี่เองที่จะกั้นไม่ให้เราเข้าใจกิเลส ไม่เข้าใจธรรม แม้เราจะกินมังสวิรัติได้ทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้เรื่องกิเลสอย่างถ่องแท้ เพราะไม่เคยเปิดใจยอมรับความอยากด้วยความจริงใจ
…สมถะวิธีกับการดับโดยอัตโนมัติ
สมถะวิธีนั้นเป็น วิธีการกินมังสวิรัติที่ใช้กันเป็นสากล การทำสมถะไม่ใช่แค่การนั่งสมาธิ เดินจงกรม แต่หมายถึงการกดข่มจิตให้เข้าไปอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่นเรา ถือกรรมฐานว่า เนื้อสัตว์ไม่ดี มังสวิรัติดี เนื้อสัตว์เบียดเบียน ไม่เมตตา ทำร้ายสัตว์ โหดร้าย ทารุณ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นตรรกะ เป็นความรู้ เป็นเหตุผล ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกดข่มความชั่วหรืออาการอยากกินเนื้อสัตว์ไปได้ ลักษณะเหล่านี้เองคือการกดข่มด้วยสมถะ
เช่นเราไปกินข้าวกับเพื่อน เพื่อนสั่งเนื้อสัตว์มา เป็นเนื้อย่าง กลิ่นหอมน่ากิน ด้วยจิตใจที่เราฝึกกดข่มไว้มากแล้ว ทันทีที่เห็นเนื้อสัตว์เราจะสร้างความรังเกียจขึ้นมา สร้างความรู้สึกเหม็นเมื่อได้กลิ่น สร้างความรู้สึกว่ามันชั่วร้ายเบียดเบียนขึ้นมาโดยอัตโนมัติ กระบวนการเหล่านี้ผู้ที่ฝึกสติมาน้อยจะไม่รู้ตัว บางครั้งจะหลงไปด้วยว่ามีสติ
ลักษณะของความคิดอัตโนมัติเหล่านั้นเกิดจากเรามีสัญญาว่าเนื้อสัตว์ไม่ดี พอเห็นเนื้อสัตว์ก็ปรุงแต่งความคิดขึ้นมาทันทีว่ามันไม่ดีอย่างนั้น ชั่วอย่างนั้น เบียดเบียนอย่างนั้น เราจึงสามารถ “ตัด” หรือ “กดข่ม” ความอยากที่เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ เป็นปกติ ทำได้โดยไม่รู้ตัว ทำได้อย่างธรรมชาติ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นเพียงวิธีที่ทำให้ความอยากสงบลงได้แต่ไม่สามารถทำให้ความอยากตายหรือสลายหายไปได้
…ความหลงผิดในสมถะวิธี
เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากจริงๆ หากจะต้องบอกว่าการกินมังสวิรัติโดยปกติทั่วไปส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้สมถะวิธี การบอกกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อการข่มหรือต้องการอวดโอ้แต่อย่างใด แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่ามันเป็นแค่วิธีหนึ่งในการกดข่มความชั่วเท่านั้น และวิธีเหล่านี้ไม่สามารถกดข่มได้ตลอดไป ถึงแม้ว่ามันจะเข้าใจง่ายและปฏิบัติได้ง่ายแต่ก็ไม่ใช่วิธีการล้างกิเลสแต่อย่างใด
สมถะวิธีกับการล้างกิเลสหรือที่เรียกว่าวิปัสสนานั้นเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อวิธีการต่างกันผลที่ได้ก็จะต่างกันไปด้วย แต่เป็นเรื่องยากที่จะสังเกตเพราะผลที่เห็นได้ด้วยตาจะออกมาคล้ายๆกัน สุดท้ายแล้วไม่ว่าคนที่ใช้สมถะหรือวิปัสสนาก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกัน คนทั่วไปก็จะมองและแยกออกได้ยากมาก
แต่ผลทางจิตใจของสมถะกับวิปัสสนาจะต่างกันออกไป เหมือนกับว่าทั้งสองวิธีถึงเป้าหมายเหมือนกันคือกินมังสวิรัติได้ตลอดแต่สภาพของจิตใจนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง การกดข่มด้วยสมถะวิธีจะทำให้เกิดความไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย อึดอัด กดดัน บีบคั้น ขุ่นมัว ลักษณะเหล่านี้ถ้าไม่สังเกตให้ดีหรือไม่ได้มีญาณปัญญาตรวจวัดก็จะไม่สามารถรับรู้ได้เลย นักมังสวิรัติที่ใช้สมถะวิธีจะบอกว่าชีวิตตนเองดีมีความสุข ทั้งหมดนี้เพราะอัตตามันมาบังไว้ มันจะตอบได้แบบเดียวคือมีความสุข เพราะอัตตามันสั่งให้คิดแบบนั้น ให้เชื่อมั่นแบบนั้น
สิ่งที่ต่างออกไปทางด้านผลของวิปัสสนาที่อยู่ในระดับผลสำเร็จก็คือ ความโปร่ง โล่ง เบาสบาย มีจิตผ่องใส ผุดผ่อง โดยเฉพาะความแววไว ไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ใช้สมถะวิธีคือมีรูปแบบ ยึดมั่นถือมั่น อึดอัด กดดัน แข็ง ไม่ปรับตัวตามสถานการณ์ ยอมหักไม่ยอมงอ
เพราะสมถะวิธีนั้นจะใช้วิธีในการเร่งอัตตาฝ่ายยึดดี ให้ยึดมั่นในความดี สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนติดดี ติดดีทั้งๆที่ยังมีกามอยู่นั่นแหละ คือยังมีความอยากอยู่ สรุปแล้วความอยากก็ไม่ได้ล้างแถมยังติดดีอีก นี่คืออันตรายของความหลงยึดในสมถะวิธี
ผู้ที่ใช้สมถะวิธีจะเข้าใจว่าทุกอย่างจบที่การกินมังสวิรัติได้ และสร้างอัตตามาครอบไว้ว่าฉันสำเร็จแล้ว ฉันทำได้แล้ว แล้วยึดมั่นปักมั่นตัวเองไว้ที่จุดที่ตนเองนั้นคิดว่าดี สรุปก็คือสามารถกินมังสวิรัติได้แต่ก็มีอัตตาก้อนใหญ่เพิ่มมาด้วย
…หลงผิดกลับไปกินเนื้อสัตว์
มีผู้ที่ใช้สมถะวิธีจำนวนหนึ่ง ที่หันกลับไปกินเนื้อสัตว์ ตามที่เราได้รู้แล้วว่าสมถะวิธีนั้นคือการกดข่มความชั่ว เชิดชูความดี แต่กิเลสที่มีมันไม่ตาย ทีนี้วันหนึ่งกิเลสก็สะสมกำลังไปเรื่อยๆจนฝ่าด่านมังสวิรัติได้
ผู้ที่ใช้สมถะวิธีในการกินมังสวิรัติจะไม่สามารถทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อกิเลสกำเริบจึงกลับไปกินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี และมักหลงไปว่านี่แหละคือความพอดี ไม่ทรมาน ไม่ลำบากตัวเองจนเกินไป เข้าใจผิดว่าเป็นทางสายกลาง แล้วก็ปักมั่นอยู่ที่ตรงนั้น ยึดดีอยู่แบบนั้น หลงว่าภาวะนั้นแหละคือการบรรลุธรรม ทั้งๆที่เป็นเพียงสภาวะของการตึงเกินไปแล้วปรับมาหย่อนเท่านั้นเอง เป็นเพียงระหว่างทางที่ไกลแสนไกลสู่เป้าหมายที่เรียกว่าการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์
แต่ผู้หลงผิดจะมีความเชื่อความเข้าใจว่าเขาเหล่านั้นถึงเป้าหมายแล้ว ทั้งๆที่ยังเดินมาไม่ถึงครึ่งทางก็ปักมั่นที่ตรงนั้นเป็นจุดหมายแล้วไม่เดินทางต่อ กลับไปเสพกาม คือกลับไปกินเนื้อสัตว์ พร้อมกับอัตตาก้อนใหญ่อีกก้อนว่าต้องแบบนี้สิถึงจะพอดี ถึงจะเป็นทางสายกลาง
นี้เองคือลักษณะของผู้หลงผิดว่าบรรลุธรรม ซึ่งในความจริงแล้วจะค่อนข้างตกต่ำกว่าคนธรรมดาที่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เพราะคนที่กินเนื้อสัตว์ทั่วไปยังไม่ได้ปักมั่นว่านี่คือทางบรรลุธรรมหรือทางสายกลางอะไร คนกินเนื้อเขาก็รู้และเข้าใจว่าเนื้อเบียดเบียน แต่ก็ห้ามความอยากไม่ได้ แต่คนที่หลงผิดนี่จะกินเนื้อสัตว์ไปด้วยอัตตาที่หลงผิดยึดติดเข้าไปอีก ทำให้ต้องอยู่กับความหลงนั้นอีกนานแสนนาน
…มังสวิรัติกับศาสนาพุทธ
การตั้งกลุ่มมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น ตั้งมาเพื่อการศึกษาเรื่องกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึก ไม่ใช่เพื่อการกินมังสวิรัติโดยตรง การกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องเป็นพุทธก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ หรือไม่มีศาสนา ก็สามารถกินมังสวิรัติหรือเลิกกินเนื้อสัตว์ได้
ดังนั้นศาสนาจึงไม่มีผลต่อความสามารถในการเลิกกินเนื้อสัตว์เลย เพียงแค่ใช้สามัญสำนึกของมนุษย์ทั่วไปก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว เพราะมนุษย์มีความยึดดี ถือดี มีจิตใจดี เมตตา สงสาร เพียงใช้ข้อมูลที่เผยแพร่โดยทั่วไปเกี่ยวกับการทรมานสัตว์ ข้อมูลทางสุขภาพ หรือภาพที่กดดันทางจิตวิญญาณ ก็สามารถทำให้คนหันมากินมังสวิรัติได้โดยไม่ต้องไปโยงเรื่องศาสนาให้มันลำบาก
ทุกวันนี้ศาสนาถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมืออ้างอิงถึงความดี เพื่อให้คนหันมากินมังสวิรัติเท่านั้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็ยังอยู่ในลักษณะของสมถะวิธี คือใช้ข้อมูล ใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้ความดี มากดข่มความชั่ว หากถามว่าดีไหม? ก็ตอบได้ว่าดีเยี่ยม แต่ก็ยังไม่ดีที่สุดเท่านั้นเอง
ศาสนาพุทธนั้นไม่ใช่ศาสนาที่เน้นสมถะวิธี แต่ก็มีการใช้สมถะวิธีเป็นเครื่องมืออยู่บ้าง ในส่วนสิ่งที่เน้นก็คือการทำลายกิเลส โดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติ ซึ่งจะประกอบด้วยธรรมะย่อยๆอีกมากมาย ซึ่งในทำลายกิเลสนี้จำเป็นต้องเห็นตัวตนของกิเลสเสียก่อน การเห็นกิเลสนั้นจะต้องค้นให้เจอเหตุแห่งทุกข์ จากที่สุดแห่งทุกข์ ในกรณีของการเข้าถึงมังสวิรัติอย่างผาสุกก็คือการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์
ความอยากกินเนื้อสัตว์นี้เป็นคือรากที่ควรใช้เพื่อพิจารณากิเลส เพราะไม่ตื้นเกินไปเหมือนการใช้เมตตาหรือใช้ความดี และไม่ลึกเกินไปเหมือนกับการจะไปพิจารณาอวิชชาตั้งแต่แรก คือมีความเหมาะสมพอดีในการเริ่มต้น ส่วนหนึ่งเพราะ “ความอยาก” เป็นสาเหตุที่แท้จริงในการพาเราให้ไปกินเนื้อสัตว์ ส่วนเราจะสามารถขยายหรือขุดค้นเหตุอื่นๆที่ซ้ำซ้อนกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำต่อไป
ดังนั้นหากไม่ได้เริ่มต้นที่ “ความอยาก” ก็ไม่มีวันที่จะทำลายกิเลสได้ หากไม่หยุดชั่วก็ไม่มีวันที่จะเกิดความดีที่แท้จริง ศาสนาพุทธนั้นไม่ได้เน้นการทำดีเท่ากับการหยุดทำชั่ว เพราะรู้ดีว่าการหยุดชั่วแล้วก็จะเกิดผลดีขึ้นเองไม่น้อยก็มาก
…ความจริงใจคือคุณสมบัติสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน
การจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขนั้น จึงจำเป็นต้องเพ่งเล็งไปที่การทำลาย “ความอยาก” ด้วย “ความจริงใจ” ในทุกๆขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม ก็จะสามารถข้ามผ่านความอยากไปได้ในวันใดวันหนึ่ง
หากผู้ที่มองว่าเพียงเมตตาแล้วสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขก็แล้วแต่จะพิจารณา แต่จะสรุปไว้ตรงนี้เพียงแค่ว่า มังสวิรัติทั่วโลกก็ใช้ความเมตตาหรือความดีนี่แหละในการเข้าถึงการเป็นมังสวิรัติ แต่ศาสนาพุทธจะทำลายกิเลสหรือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ และสุดท้ายเมื่อไม่มีความอยากก็เลยกลายเป็นมังสวิรัติไปเองโดยไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องบังคับตัวเอง ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องทรมาน และไม่ต้องมีอัตตาไว้ยึดให้มันหนัก
สุดท้ายนี้หากผู้ใดอยากลองเห็นความอยาก ก็ลองดูตัวเองอย่างจริงใจ ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจโดยไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวเองไปตามธรรมชาติและรับรู้ด้วยสัญชาติญาณแบบซื่อๆว่ายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม ไม่ต้องมีความดี ไม่มีความชั่ว มีเพียงเรากับเนื้อสัตว์ตรงหน้าเท่านั้น เราจะยังอยากกินอยู่ไหม เราจะรู้สึกอะไรกับเนื้อสัตว์เหล่านั้นไหม เราจะเป็นอย่างไร
ก็ขอเชิญให้ทบทวนในการตรวจระดับ 1-4 ที่มีมาก่อนหน้านี้อีกครั้ง เพื่อให้เห็นกิเลสในตนเองอย่างแท้จริง เพื่อที่จะเริ่มต้นกันใหม่กับการล้างกิเลสอย่างแท้จริง
ติดตามต่อได้ที่
Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)
อดีต อนาคต ปัจจุบัน: ตรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุกช่วงเวลา
อดีต อนาคต ปัจจุบัน: ตรวจความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุกช่วงเวลา
หลังจากที่เราได้ผ่านการทดสอบจิตใจตัวเองตั้งแต่ระดับ 1-3 มาแล้ว ก็ยังเหลือการทดสอบอีกขั้นหนึ่งซึ่งเรียกว่าการตรวจเวทนา ๑๐๘ ซึ่งจะขออธิบายโดยย่อสำหรับการตรวจกิเลสในระดับนี้
การตรวจเวทนา ๑๐๘ เป็นการตรวจสภาวะ ทุกข์ สุข เฉยๆ ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่ต่างกันสองแบบคือแบบเคหสิตะหรือแบบชาวบ้าน และแบบเนกขัมมะหรือแบบนักบวช โดยตรวจผ่านสามช่วงเวลาคืออดีต อนาคต และปัจจุบัน
อธิบายกันให้ง่ายขึ้นคือการที่เรานึกย้อนไปในอดีตในสิ่งที่เราเคยยึดติด เคยชอบใจ เคยถูกใจแล้วเรายังเหลือสุข ทุกข์อยู่อีกไหม และนึกไปถึงอนาคตต่อว่าถ้าเราได้เสพสิ่งนั้นสิ่งนี้เราจะเป็นสุขอยู่ไหม ถ้าเราไม่ได้เสพเราจะเป็นทุกข์ไหม นี่คือลักษณะของการตรวจเวทนาในอดีตและอนาคต
เมื่อเราคิดถึงอดีตและอนาคต สภาวะของความสุข ทุกข์ เฉยๆ จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่นเราคิดถึงเมนูที่เราชอบในอดีต เราก็ไม่ได้กินในปัจจุบันนะ แต่น้ำลายมันอาจจะไหล มันเกิดความอยากขึ้นในปัจจุบัน ในอนาคตก็เช่นกันหากเราคิดถึงเมนูอาหารที่เราติดยึดมากๆ อาจจะทำให้เรามีน้ำลายไหล เกิดอาการอยากกินขึ้นในปัจจุบันนี้เลย
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นของจริง สุข ทุกข์ที่เกิดนั้นเป็นของจริง ไม่ใช่สิ่งลวง เป็นกิเลสจริงๆที่แสดงตัวออกมา แม้จะคิดย้อนไปในอดีตหรือจินตนาการไปในอนาคตแต่สุข ทุกข์ เฉยๆที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน
1.1) วิธีการตรวจอดีต
จากที่ยกตัวอย่างมา เราก็สามารถคิดย้อนไปในเหตุการณ์ต่างๆสมัยที่เรายังกินเนื้อสัตว์ เมนูที่เคยชอบ เหตุการณ์ที่เคยกินต่างๆ ทุกเมนูเนื้อสัตว์ที่เคยอยู่ในความทรงจำ เราก็คิดถึงมันและตรวจอาการตัวเองด้วยสติปัฏฐาน ๔ ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็จะมีอาการเกิดขึ้นเอง เช่นตอนนี้เราเลิกเนื้อสัตว์ได้ 100% แล้วนะ แต่พอคิดย้อนไปถึงตอนกินหมูกระทะกับเพื่อนแล้วมันน้ำลายไหล พอคิดไปถึงเนื้อสัตว์ที่จิ้มน้ำจิ้มเข้าปากแล้วมันก็ยังรู้สึกมีความสุข อันนี้ก็ถือว่ายังมีกิเลสซ่อนอยู่ พอเห็นกิเลสเราก็ใช้สติปัฏฐาน ๔ นี่แหละเป็นตัวพิจารณาหาสาเหตุของกิเลสนั้นๆต่อไป
1.2) วิธีการตรวจอนาคต
ในอนาคตก็จะคล้ายๆอดีต แต่จำเป็นต้องใช้การจินตนาการออกไปล่วงหน้าโดยใช้ข้อมูลในอดีตหรือหาใหม่ในปัจจุบันเป็นวัตถุดิบในการปรุงแต่ง เช่นเราไปดูกระทู้พาชิมอาหาร เราจะได้ข้อมูลในปัจจุบัน หากปัจจุบันมีอาการสุขขึ้นมาจากการได้เห็นเมนูเนื้อสัตว์ก็พิจารณาหากิเลสไป แต่หากยังไม่เจอเราก็ใช้การจินตนาการต่อไปว่าถ้าเราได้กินเนื้อสัตว์แบบเขานะ ถ้าเราได้ลิ้มรสจานนั้นจานนี้นะ ถ้าจินตนาการไปแล้วอาการสุขมันออกนั่นแหละกิเลสมันแสดงตัวออกมาแล้ว นี้คือการหากิเลสในอนาคต
….วิธีการตรวจเวทนาเหล่านี้เป็นวิธีของผู้ที่ต้องการบรรลุธรรมไว ต้องการจะหลุดพ้นจากความอยากไว เป็นวิธีของคนขยัน และมักจะมีคนเข้าใจวิธีนี้ผิดว่าเป็นการคิดฟุ้งไปไกลโดยไม่จำเป็น แต่แท้ที่จริงแล้ววิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้กันอย่างปกติในคนที่เข้าใจเรื่องล้างกิเลส เพราะสุดท้ายการล้างกิเลสใดๆก็ต้องมาจบด้วยตรวจสอบเวทนา ๑๐๘ กันอยู่ดี
เราสามารถใช้เวทนา ๑๐๘ ได้ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยทำไปพร้อมๆกับแบบทดสอบระดับที่ 1-3 เลยก็ได้ คือไปเจอเหตุการณ์เหล่านั้นมาแล้วก็กลับมาใช้เวลาคิดย้อนกลับไปอีก ตรวจหากิเลสซ้ำไปอีกหลายๆครั้ง นี่เองคือลักษณะนิสัยที่ต้องใช้ความเพียรมาก ถ้าคนทั่วไปก็จะปล่อยให้มันผ่านไปเพราะถือว่ามันจบไปแล้ว แต่ผู้มีความเพียรนอกจากจะไม่ปล่อยให้ผัสสะหายไปแล้วยังสามารถนำผัสสะเหล่านั้นกลับมาใช้ตรวจกิเลสของตัวเองได้ใหม่อีกครั้งด้วย
2) สรุปเรื่องเวทนา ๑๐๘
คนที่ตรวจเวทนา ๑๐๘ ตรวจ อดีต อนาคต ปัจจุบันดีแล้ว ตรวจหลายรอบแล้ว ไม่ว่าจะหาเมนูเนื้อสัตว์น่ากินแค่ไหนก็เฉยๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข แม้จะลองกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ไม่สุข รู้สึกเฉยๆ แถมยังมีปัญญารู้ด้วยว่ากินเนื้อเป็นอกุศลอย่างไร แม้ว่าจะไม่ทุกข์แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รู้คุณรู้โทษ ผู้ซึ่งหมดความรู้สึกสุขทุกข์จากความอยากจะอยู่ในสภาพที่เป็นอิสระจากกิเลส
เนกขัมมสิตอุเบกขานั้นคือเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมหรือการล้างกิเลสเป็นการปล่อยวางกิเลสอย่างนักบวช หมายถึงผู้ปฏิบัติธรรมที่รู้และเข้าใจกระบวนการล้างกิเลสอย่างถ่องแท้ รู้แจ้งทุกขั้นตอนในการล้างกิเลส รู้ว่ากิเลสลดอย่างไร และหมดไปอย่างไรได้อย่างชัดเจน
2.1) อดีตและอนาคต
เมื่อเข้าถึงภาวะอุเบกขา ก็จะจบเรื่องของอดีตและอนาคต คือไม่ต้องไปคิดเรื่องความอยากย้อนไปในอดีตหรือไม่ต้องคิดต่อไปแล้วว่าหลังจากนี้จะมีเมนูเนื้อสัตว์ใดๆที่จะมาทำให้เกิดความอยากได้อีก มีคนเขาว่าอร่อยแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะกลับไปอยากกินอีกต่อไปแล้ว คือจะเป็นคนที่ไม่มีทั้งอดีตและอนาคตของกิเลสในเรื่องของความอยากกินเนื้อสัตว์ อยู่กับปัจจุบันที่ไม่มีกิเลส จึงกลายเป็นผู้อยู่กับปัจจุบันเป็นปกติ โดยไม่ต้องพยายามใดๆ
2.2) อดีต
รู้ในส่วนของอดีตคือรู้ว่าอดีตเราทำบาปมาเท่าไหร่ ทำอกุศลมาเท่าไหร่ ตรงนี้ก็จะรับรู้และยอมรับวิบากกรรมเหล่านี้ไว้ ในส่วนของอดีตนี้เองก็มีความไม่เที่ยงในตัวของมัน คือมีอกุศลกรรมเก่าที่เราทำไว้ และมันจะค่อยๆถูกชดใช้ไปเรื่อยๆ จะถูกเปลี่ยนมาสร้างเป็นทุกข์ โทษ ภัยให้เราเรื่อยๆ และที่มันไม่เที่ยงนั้นก็หมายถึงว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง เช่นวันที่เราเลิกกินเนื้อสัตว์เรามีอกุศลอยู่ 100% แต่พอเวลาผ่านไปเราก็ใช้ชีวิตไปพร้อมกับใช้วิบากกรรมไปเรื่อยๆ มันก็จะลดลงมาโดยลำดับ
2.3) อนาคต
และรู้ในส่วนของอนาคต คือรู้ว่าต่อจากนี้ไม่มีการสะสมบาปต่อไปอีกแล้ว ไม่มีการล้างกิเลสต่อไปอีกแล้ว สิ้นบุญสิ้นบาปกันไป เหลือแต่กุศลและอกุศล ในสองส่วนนี้ก็ไม่เที่ยงเช่นกัน กุศลก็สามารถเพิ่มได้เรื่อยๆ เช่นวันนี้เรามีกุศล 100% แต่ผ่านไปหนึ่งปีเราละเว้นเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆกุศลก็เพิ่มโดยลำดับ
และอกุศลก็เป็นส่วนที่ไม่เที่ยงเช่นกัน ในบางครั้งบางโอกาสอาจจะมีเหตุที่จำเป็นให้เราต้องอนุโลมกลับไปกินเนื้อ แต่การอนุโลมนั้นก็อยู่บนพื้นฐานของกุศลและอกุศล เช่นถ้าเรากินเนื้อเราจะรอดชีวิต สามารถไปสร้างกุศลได้อีก 100 หน่วย แต่ถ้าต้องกินเนื้อจะเป็นอกุศล 10 หน่วย ถ้าปล่อยตายก็ไม่ได้อะไรเลย อันนี้ผู้ที่พ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ก็จะสามารถกินได้โดยไม่มีบาป เพราะไม่ได้อยากกิน แต่กินเพราะพิจารณาดีแล้วว่าถ้ารอดตายไปจะทำกุศลได้มากกว่า เป็นกุศลมากกว่า ในกรณีนี้ก็จะคล้ายกับอรหันต์จี้กงที่กินเหล้าสอนคน เพราะท่านได้ประเมินแล้วว่ามันมีกุศลมากกว่าหากใช้วิธีนี้
คนที่สามารถรู้แจ้งในอดีต รู้แจ้งในอนาคต รู้แจ้งในเรื่องอดีตและอนาคตได้ จะพ้นความกังวลหลายอย่างในชีวิตไปได้ เพราะคนที่ตั้งใจจะเลิกตลอดชีวิต จะเลิกนับเวลาว่าตัวเองกินมังสวิรัติมาตั้งแต่เมื่อไหร่และไม่สนใจว่าจะต้องกินไปถึงเมื่อไหร่ เพราะไม่มีทั้งอดีตและอนาคต มีแต่ปัจจุบันคือไม่กิน และจะเป็นปัจจุบันแบบนี้ไปเรื่อยๆ คือไม่กินเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน
ซึ่งจะเป็นสภาพผลของการปฏิบัติศีล หรือที่เรียกกันว่ามีศีลเป็นปกติในชีวิต นั่นคือสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างปกติ และมีความสุขโดยไม่ต้องระวังและเคร่งเครียดมาก เพราะรู้ชัดแจ้งว่าตนเองไม่ได้อยากกินเนื้อสัตว์ ส่วนจะเผลอไปกินโดยไม่รู้นั้นก็แค่เลิกกินหรือถอยออกมาตามที่เห็นสมควร แต่จะไม่ทุกข์ ไม่กลับไปจมในอัตตาใดๆ เพราะรู้ดีว่าการกินเนื้อสัตว์ด้วยความอยากกับการกินแต่ไม่อยากนั้นต่างกันอย่างไร
ผู้ที่บรรลุธรรมจะมีสภาพเหมือนคนธรรมดาที่ไม่ได้เคร่งเครียด เหมือนไม่ได้ถือศีล แต่จะมีศีลไว้ยึดอาศัย ไม่ใช่ว่าสำเร็จวิชาเข้าใจธรรมแล้วทิ้งศีลกลับไปกินเนื้อ ที่ต้องยกตัวอย่างนี้เพราะมีบุคคลบางพวกมักตีกิน ใช้สภาวะสุดท้ายเข้ามาหลอกคนอื่นว่าตนเองนั้นบรรลุธรรมแล้วเลยไม่ยึดมั่นถือมั่นจึงถือว่ากลับไปกินเนื้อสัตว์ได้
ดังนั้นหากจะยืนยันว่าคนที่เข้าใจเรื่องความอยาก รู้แจ้งเรื่องกิเลสจริงนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ยาก ดูได้ยาก สังเกตได้ยาก และเข้าใจได้ยาก ไม่สามารถใช้ตรรกะทั่วไปเข้ามาอธิบายสภาวะของจิตใจได้อย่างชัดเจน ทำได้เพียงอธิบายด้วยภาษาเท่าที่ทำได้เท่านั้น การที่เข้าใจและเข้าถึงได้ยากนั้นไม่ใช่ว่าอธิบายธรรมไม่ได้ แต่หมายถึงยากที่คนทั่วไปจะเข้าถึงธรรมที่เป็นโลกุตระ คนที่บรรลุธรรมจริงๆจะสามารถพูดได้ ขยายได้ ชี้แจงได้ แสดงธรรมให้เข้าใจได้ง่ายได้ แต่ปัญหาคือคนฟังจะไม่เข้าใจหรือเข้าใจได้ยากเพราะไม่มีสภาพของธรรมนั้นในตนเอง จึงเกิดช่องว่างแบบนี้ให้คนเอาไปตีกินว่าตนเองบรรลุธรรมนั่นเอง
สรุป
การตรวจเวทนานี้เองคือด่านสุดท้ายของการตรวจสอบกิเลสทั้งหมด ซึ่งเราจำเป็นต้องแม่นยำในเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ไม่เช่นนั้นเราก็จะตรวจหากิเลสไม่เจอ ถึงกิเลสจะแสดงอาการอยู่ก็มองไม่เห็น เพราะกิเลสนั้นมีสามระดับ คือหยาบ กลาง ละเอียด และอยู่ในลักษณะสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ การจะเห็นกิเลสที่ละเอียดก็ต้องผ่านชั้นของกิเลสกลางมาก่อน และก่อนจะเห็นกิเลสกลางก็ต้องผ่านกิเลสหยาบมาก่อน และกิเลสที่อยู่ในระดับความละเอียด ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะของอรูปภพ คือไม่มีรูปมีร่างให้เห็นแล้ว บางครั้งก็แทบจะไม่มีอาการใดๆให้เห็นเด่นชัดเลย มีเพียงอารมณ์ขุ่นมัวเล็กน้อยเท่านั้น
ผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาถูกทางก็จะมีอินทรีย์พละแกร่งกล้าขึ้นเรื่อยๆ และสามารถเรียนรู้ถึงกิเลส หยาบ กลาง ละเอียดได้ตามลำดับกำลังของตน การที่เราจะเริ่มต้นจากกิเลสละเอียดนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีไว้เพื่อขัดเกลากิเลสไปตามลำดับ คือ หยาบ กลาง ละเอียด มีความลาด ลุ่ม ลึกไปตามลำดับเหมือนมหาสมุทร ไม่ชันเหมือนเหว
ผู้ที่เรียนรู้การล้างกิเลสก็ให้ทบทวนไปตามลำดับของการตรวจสอบ 1-3 จนกระทั่งใช้การตรวจเวทนา ๑๐๘ นี้เป็นเครื่องมือในการตรวจหากิเลส ถ้าเจอก็พิจารณาโทษไป ถ้าไม่เจอก็ค้นหาต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันหนึ่งจะมั่นใจได้เอง จะรู้ได้เองว่าเราพ้นจากความอยากแล้ว ไม่มีอดีตและอนาคตใดทำร้ายเราได้อีกแล้ว เราพ้นจากกิเลสทั้งสามภพแล้ว
เมื่อมั่นใจได้เช่นนี้ก็อาจจะมีผัสสะมาทดสอบบ้าง ซึ่งก็ตรวจใจซ้ำเข้าไปอีก ถ้าตรวจแล้วตรวจอีกยังไงก็ไม่เจอความอยากก็ขอแสดงความยินดีด้วย
ติดตามต่อได้ที่
Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)
กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์
กินร่วมใจ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องทดลองกินเนื้อสัตว์
การตรวจสอบระดับที่ 3 ที่จะกระทุ้งให้เห็นกิเลสอย่างเด่นชัด แบบชัดแจ้งอยู่ในใจกันเลยทีเดียว การจะมาถึงระดับนี้ได้เราจำเป็นต้องผ่านในระดับ 1 และ 2 ด้วยใจที่โปร่งโล่งสบายมาก่อน หากอ่านและทดสอบตัวเองในระดับ 1,2 แล้ว ยังมีอาการขุ่นเคืองใจไม่ว่าจากกามหรืออัตตา ก็ถือว่ายังไม่ผ่าน
การที่เรายังไม่ผ่านด่านง่ายแล้วจะกระโดดมาเล่นด่านยากนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากจะไม่สามารถจัดการกับกิเลสแล้วยังจะโดนกิเลสเล่นงานซ้ำอีก เพราะในด่านนี้ก็จะเข้าไปคลุกวงในกับกิเลสมากขึ้น เข้าไปใกล้มากขึ้น จนเรียกได้ว่าหลายคนคงจะไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้
สติปัฏฐานยังคงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นมากสำหรับการตรวจจับสภาวะของกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจ ใครที่มาถึงขั้นตอนนี้แบบกดข่มก็จะยิ่งเป็นภัยกับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ธรรมะนั้นเหมือนดาบสองคมยิ่งลึกก็จะยิ่งเข้าใจยาก พอไม่สามารถเข้าใจได้ก็อาจจะเกิดการเพ่งโทษกันเกิดขึ้น แต่จริงๆแล้วเพราะเราไม่เข้าใจนัยสำคัญของธรรมนั้นต่างหาก
ขั้นตอนที่ 1).คำเตือน!!
ถ้ายังไม่ผ่านบททดสอบใจตัวเองในระดับที่ 1 , 2 ก็ไม่ควรจะอ่านบทความนี้ต่อ เพราะบทความนี้จะเป็นภัยมากถึงมากที่สุดต่อผู้ที่ยังไม่สามารถจัดการกับกิเลสได้
อีกประการหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการกินมังสวิรัติ บทความนี้อาจจะไม่เหมาะกับท่านเลย หากท่านต้องการให้บทความนี้สอนกินมังสวิรัติ เนื้อหาเหล่านั้นไม่มีอยู่ในบทความนี้ เพราะในบทความนี้เราจะสอนเฉพาะเรื่องกิเลสโดยใช้มังสวิรัติมาเป็นเครื่องมือในการขัดเกลากิเลส ซึ่งอาจจะไม่มีประโยชน์กับท่านที่ไม่ได้แสวงหาหนทางลด ละ เลิกการยึดมั่นถือมั่น
การทดสอบต่อไปนี้ทำเพื่อตรวจสอบให้เห็นว่ายังคงมีกิเลสเหลืออยู่ในจิตใจเท่านั้นไม่ใช่การกระทำที่ทำโดยทั่วไป ไม่ใช่ทำเป็นประจำ แต่กระทำเฉพาะผู้ที่ต้องการความมั่นใจว่าตนเองนั้นไม่ได้มีความอยากในเนื้อสัตว์จริงๆ เพื่อสร้างความมั่นใจอย่างแท้จริงแบบไม่ต้องคิดเอาเอง จินตนาการไปเอง เพราะทดสอบกันอยู่ตรงหน้า ถ้ากามและอัตตายังเกิดอยู่ก็ไปพิจารณาธรรมใหม่ แต่ถ้าไม่เกิดอะไรขึ้นรู้สึกเฉยๆก็จบกันไป
ขั้นตอนที่ 2).กินร่วมใจ
ในการกินที่ร่วมไปกับใจนั้นเป็นคำที่ยกมาเพื่อเปรียบเทียบกับการกินที่ใกล้ใจมากที่สุด เมื่อเรามั่นใจว่าเรารู้สึกว่าไม่อยากกินเนื้อสัตว์อย่างเต็มที่แล้ว จะมีอะไรมาทดสอบใจเราได้ดีเท่ากับ “การทดลองกิน” เมนูที่ชอบ สิ่งที่เคยติดในอดีต หรือสิ่งที่เคยฝันไว้ ที่เขาว่าดีว่าเลิศคือสิ่งไหน ถ้ามีโอกาส มีทุน มีปัจจัยที่เหมาะสม ก็ทดลองดูเลย ไม่ใช่สิ่งเสียหายที่เราจะลองทดสอบ
จะลองเคี้ยวให้ละเอียดสุดละเอียด สูดดมทุกกลิ่นที่มี สัมผัสทุกคำที่เคี้ยว ลิ้มรสทุกอย่างที่มีแล้วก็คายทิ้งไปก็ได้ เพียงแค่ได้สัมผัสสิ่งที่เคยยึด เคยติด เคยเป็นตัวเป็นตนของเรา เราสามารถจะรับมันเข้ามาและปล่อยมันทิ้งอย่างสบายใจได้หรือไม่ ทำโดยไม่ฝืน ไม่ลำบาก ให้รู้ดีในใจว่าจะทำอีกกี่ครั้งผลก็เหมือนเดิม ยังเฉยๆอยู่เหมือนเดิม ก็ถือว่าผ่านบททดสอบนี้
ขั้นตอนที่ 3). ตรวจสอบกาม
เมื่อเราได้ลองกินเนื้อไป หากเรายังไม่ผ่านพ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ อาการจะออกตั้งแต่ก่อนจะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปากอย่างรู้สึกได้ ให้ค่อยๆสังเกตตัวเองว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าคิดว่าไม่ไหวรู้ดีว่าในใจนั้นอยากกินก็ไม่ต้องไปกินให้เสียเวลา เพราะมันเห็นกิเลสชัดๆอยู่แล้ว ถือว่าสอบตกตั้งแต่ยังไม่เริ่ม
ส่วนผู้ที่ยังเฉยๆจนกระทั่งกินเข้าปากไปแล้วเคี้ยว ก่อนกินก็ไม่รู้สึกอะไรนะ แต่พอเคี้ยวกลับมีความสุข จะเริ่มเสียดายที่ต้องทิ้ง เสียดายรส อยากจะกลืนลงคอ อยากกินอีกคำ อยากกินอีกเรื่อยๆ แม้ว่าจะคายทิ้งไม่กลืนแต่ความอยากจะยังคงอยู่ มันจะหลอกหลอนให้จิตวนเวียนกลับไปคิดถึงเมนูเนื้อจานนั้น ไม่สามารถตัดให้ขาดไปจากใจได้
ความสุขนี่แหละคือตัววัดว่ายังเหลือความอยากอยู่เท่าไหร่ ถ้ารู้สึกสุขก็คือกามขึ้น ถ้าทุกข์ก็คืออัตตาขึ้น มันจะมีอยู่สองอย่างที่มักจะเกิดขึ้น ในกรณีที่ไม่เกิดทั้งสองอย่างก็คือภาวะของอุเบกขา คือเฉยๆ ในกรณีนี้ต้องมาตรวจกันอีกทีว่าเป็นอุเบกขาแบบเคหสิตเวทนา หรือเนกขัมมเวทนา ถ้าให้คนทั่วไปมากินก็อาจจะรู้สึกเฉยๆได้ เพราะตรวจใจตัวเองไม่เป็น รับรู้ความรู้สึกไม่ได้ ปากก็บอกว่าเฉยๆ แต่ในใจก็รู้สึกสุขอยู่เล็กๆ เช่นในกรณีที่เรากินจนอิ่มแล้ว ให้ของที่เราชอบมากินต่อเราก็ไม่อยากกิน เฉยๆ แบบนี้มันคือความเฉยๆแบบชาวบ้าน ไม่ใช่การบรรลุธรรมหรือพ้นความอยากอะไรเลย
ขั้นตอนที่ 4). ตรวจสอบอัตตา
เราสามารถเห็นอัตตาได้ตั้งแต่ยังไม่กินเนื้อสัตว์นั้นๆ คือจะมีความรังเกียจถ้าจะต้องกลับไปกิน แม้ใครจะบอกให้ลองกลับไปกินก็จะไม่ยินดีทดลองเพราะทั้งรังเกียจเนื้อสัตว์ รังเกียจการกินเนื้อสัตว์ และรังเกียจการที่ตัวเองจะได้ชื่อว่าเป็นมังสวิรัติที่ไปกินเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์ใจตั้งแต่เริ่มคิด อันนี้ก็เป็นลักษณะของอัตตา
ความยึดมั่นถือมั่นยังเกิดได้ในระหว่างกินและหลังกิน แม้ว่าจะทำเพียงแค่เคี้ยวแต่ไม่กลืน แต่จะรู้สึกขยะแขยง ขุ่นใจ กระวนกระวายใจ ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบายใจ ให้ลองอีกก็ไม่อยากลอง หรือถ้าอัตตาแรงจัดๆก็จะรังเกียจวิธีนี้ไปเลย
ในบางครั้งอัตตาคือตัวบังไม่ให้เห็นกามคือเรามีอัตตามากจนไปกดข่มกาม ไปกลบกามไว้ จริงๆเราอาจจะรู้สึกสุขที่ได้กินได้เคี้ยวนะ แต่ความยึดดีมันไม่ยอม มันจะสร้างเหตุผลขึ้นมาทันทีที่เรารู้สึกสุข ตบความสุขทิ้งไปโดยไม่รู้ตัว เรียกว่าไม่มีสติไม่รู้รับกิเลสตามความเป็นจริง การมีอัตตามากๆจะบังทุกสิ่งทุกอย่างและกลบมันไว้ภายใต้ภาพของคนดีเหมือนการกวาดฝุ่นเข้าไปซุกในพรม แน่นอนว่าในเวลาปกติเราจะไม่เห็นฝุ่นนั้น แต่ถ้าเปิดพรมออกมาก็คงจะฝุ่นคลุ้งกันเลยทีเดียว
อัตตาก็เหมือนกับพรมที่สามารถเอากามเข้าไปซุกข้างในได้อย่างแนบเนียน เราสามารถซ่อนความอยากไว้ในความยึดดีได้ ลักษณะเหล่านี้คือลักษณะเด่นของสมถะวิธี เป็นวิธีของฤๅษี ที่ใช้การกดข่มเข้าไปในภพ ใช้อัตตามากดกาม ไม่ให้กามได้แสดงอาการ ดังนั้นผู้ที่ใช้วิธีนี้จะทำให้การตรวจสอบความอยากทั้งหมดที่ทำมาไร้ประโยชน์ในทันที
ขั้นตอนที่ 5). สรุปผล
ในการตรวจสอบนี้จะได้ผลที่ค่อนข้างชัดว่าเรายังอยากกินอยู่หรือไม่ เรายังมีอัตตามากอยู่หรือไม่ ผู้ที่เรียนรู้กิเลสต้องทำลายกามไปพร้อมๆกับอัตตา ถ้าถามว่าทำลายกามหรือความอยากกินทั้งหมดก่อนแล้วค่อยมาทำลายอัตตาได้ไหมก็ต้องตอบว่าได้ แต่มันไม่ง่ายที่จะมาทำลายอัตตาทั้งหมดตอนท้าย ถ้าเราไม่ทยอยล้างตั้งแต่แรก อัตตานี่แหละจะเป็นตัวกั้นไม่ให้เราล้างอัตตา มันจะยึดดีถือดี ไม่ยอมให้เราทำอะไรกับมันง่ายๆ ใครมาสอนก็ไม่ฟัง ใครมาบอกก็ไม่เชื่อ เชื่อแต่ตัวเองเท่านั้น ฉันทำได้ ฉันเก่งที่สุด ฉันกินมังสวิรัติมาแล้วกว่า … ปี มันจะมีข้ออ้างและเหตุผลมากมายที่จะไม่ล้างอัตตา
ก็เหมือนกันกับคนที่ติดเนื้อสัตว์นั่นแหละ มันจะมีเหตุผลและข้ออ้างมากมายที่จะไม่ออกจากความอยากกินเนื้อสัตว์ แต่อัตตาจะต่างออกไปเพราะมีความยากมากกว่า นั่นเพราะโดยรวมมันอยู่ฝั่งดี เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์แล้ว แต่ถ้าสังเกตให้ดีคนที่มีอัตตามากๆจะก็จะไปเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ มักจะทำให้เกิดบรรยากาศที่กดดัน อึดอัด เพราะความยึดดีถือดีนั่นเอง
ผู้ปฏิบัติธรรมพึงทบทวนตนเองอยู่เสมอว่าเรานั้นอ่อนน้อมถ่อมตนหรือไม่ เรากำลังทำตัวใหญ่คับฟ้าหรือไม่ เพียงแค่กินมังสวิรัติได้เราถึงกับยกหางตัวเองว่าเป็นคนดีแล้วอย่างนั้นหรือ มีคนดีอีกมากมายที่เสียสละเพื่อสังคมและโลกแต่เขาไม่ได้กินมังสวิรัติและเขาก็ไม่เคยอวดตนว่าเขาเป็นคนดี แล้วเราทำดีได้เพียงเล็กน้อยยังกล้าอวดแบบนี้มันก็เหมือนที่เขาว่าแมงป่องมีพิษน้อยแต่อวดโอ้ชูหาง ส่วนงูมีพิษมากแต่ไม่แสดงออกง่ายๆ
อัตตาก็เช่นกัน จะทำให้เราภูมิใจในความดีอยู่ลึกๆ ถ้าใครชมก็จะฟูใจตาม แต่ถ้าใครด่าก็จะร้อนรน จากสภาพของเทวดาตกไปเป็นเดรัจฉานทันที คนดีที่ไม่ล้างอัตตาก็มีแต่จะเป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่น แต่ก็เป็นเรื่องยากสุดยากที่จะยอมรับว่าตัวเองมีอัตตา ใครเล่าจะยอมทิ้งคราบคนดี จะยอมลอกคราบแห่งความดีทิ้ง เมื่อไม่ยอมทิ้งมันก็ติดดียึดดีอยู่แบบนั้น มันก็เป็นความดีที่ไม่ดีที่สุดอยู่นั่นเอง
ติดตามต่อได้ที่
Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)
กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น
กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น
เป็นระดับที่สองต่อจาก “กินร่วมโต๊ะ” แต่ก็จะยากขึ้นกว่าเดิมมาก ยังคงต้องใช้พื้นฐานเดิมคือ ”สติสัมปชัญญะ”ความรู้ตัวพร้อมแบบทั่วไป และ “สติปัฏฐาน ๔” คือรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม
ซึ่งสติทั่วไปนั้นเอาไว้รู้ตัวเพื่อไว้ใช้ในกรณีที่จะตัดสินใจใช้ขันติในการกดสภาพความอยากหรือใช้ธรรมอื่นใดเข้ามากด ลด ข่ม ตบอาการอยากนั้นๆก็ตามแต่เหตุการณ์ ส่วนสติปัฏฐานนั้นมีไว้เพื่อตรวจสอบและพิจารณาล้างกิเลส ทั้งนี้ทั้งนั้นการพิจารณาธรรมต้องมีสติที่สมบูรณ์พร้อมตลอดสายไม่ปัดอาการอยากทิ้งจนหายหมดเกลี้ยง ไม่ตบทิ้งด้วยตรรกะหรือเหตุผลใดๆจนไม่เหลือเชื้อให้พิจารณาธรรมได้ต่อ ถ้ามีสติไว้ตัดอาการอยากนั้นถือว่าเป็นสมถะวิธี แต่ถ้ามีสติตลอดจนถึงจบการพิจารณาธรรมถือว่าเป็นวิปัสสนาวิธี
ในกรณีของเราจะใช้ทั้งสมถะและวิปัสสนา แต่จะใช้วิปัสสนาเป็นตัวหลักและสมถะเป็นตัวเสริมในบางกรณี ซึ่งจะไม่ยกขึ้นมากล่าว แล้วแต่ว่าใครจะทนความอยากไหว ใครทนไหวก็ไม่ต้องกด ใครทนไม่ไหวก็ใช้สมถะกดไว้ก็ได้
ขั้นตอนที่ 1).คำเตือน!!
ในขั้นตอนนี้จะเริ่มมีความยากในการวิเคราะห์กิเลสขึ้นมา ผู้ที่ไม่เห็นว่ากิเลสคือเชื้อร้ายที่เป็นตัวผลักดันให้เรากินเนื้อสัตว์ ผู้ที่ไม่เห็นว่าการล้างกิเลสเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่ไม่เห็นว่าการล้างกิเลสสำคัญต่อการกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืนควรละเว้นการอ่านต่อไปเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง
จะไม่มีประโยชน์ใดเกิดขึ้นหากท่านไม่มีคุณสมบัติเบื้องต้นดังที่กล่าวเมื่อตอนต้นของบทความหรือไม่มีความต้องการในการเรียนรู้กิเลส หากท่านยังคงยินดีในการที่ท่านกินมังสวิรัติได้โดยไม่สนใจความอยาก ข้อความต่อจากนี้จะเริ่มเป็นภัยต่อทิฏฐิของท่านอย่างมาก
ขอให้ท่านประมาณกำลังสติของตัวเองให้พอดี เพราะไม่มีใครที่จะต้องรับผิดชอบความขุ่นเคืองใจของท่านนอกจากตัวท่านเอง จะขอย้ำอีกครั้งว่าบทความนี้ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการจะกินมังสวิรัติ แต่เหมาะกับคนที่ต้องการเรียนรู้การลดกิเลสโดยใช้การกินมังสวิรัติมาเป็นโจทย์ หากท่านพิจารณาดีแล้วว่าเหมาะควรที่ตนเองจะเรียนรู้เรื่องกิเลสก็สามารถอ่านต่อไปได้ แต่หากพิจารณาเห็นว่าเรื่องราวอันยุ่งยากเหล่านี้ไม่เหมาะกับท่าน ท่านต้องการเพียงแค่กินมังสวิรัติเท่านั้น ก็ขอแนะนำให้ปิดบทความนี้เสีย
ขั้นตอนที่ 2).กินร่วมจาน
การกินร่วมจานนั้นหมายถึงเราต้องกินอาหารที่มีทั้งเนื้อสัตว์และผักในจาน ซึ่งโดยปกติแล้วเราก็จะใช้การเขี่ยผักเข้ามา เขี่ยเนื้อสัตว์ออกไปดังที่เรียกกันว่า”มังเขี่ย” หรือไม่ก็เป็นการที่เราต้องกินอาหารร่วมหม้อกับคนอื่นเช่นกรณีของต้มยำ ต้มจืด สุกี้ ชาบู หรืออะไรก็ตามที่มีเนื้อและผักร่วมกันโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในกรณีแยกหม้อจะขอยกไว้ในการกินร่วมโต๊ะแทนเพราะไม่ถือว่าเป็นการกินร่วมจาน ผลของการตรวจกิเลสออกมาจะไม่เหมือนกันเพราะวัตถุดิบคือเหตุการณ์ที่มีนั้นต่างกันออกไป จุดสังเกตในการตรวจสอบนี้คือเรารู้สึกอย่างไรเมื่อต้องไปข้องแวะกับเนื้อสัตว์หรือมีเนื้อสัตว์อยู่ในหม้อเดียวกัน เราแยกความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากการกินมังสวิรัติได้ไหม หรือเรายังคิดว่าการกินร่วมจานนั้นหมายถึงยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์
เราจะใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวขุดคุ้ยกิเลสของเรา หากผู้ใดที่ไม่มีสังคม ไม่มีโอกาสทดสอบในสถานการณ์เหล่านี้ ก็ขออภัยจริงๆที่ต้องบอกว่าท่านอาจจะกำลังมาผิดทาง เพราะการปฏิบัติธรรมของเราไม่ใช่การแยกตัวกับสังคม ยังคงต้องปฏิบัติไปพร้อมกับอยู่ในสังคม ให้ปนแต่ไม่เปื้อน หากท่านไม่มีกลุ่ม ไม่มีโอกาสในการทดสอบในด่านนี้ ก็ให้กลับไปทดสอบตัวเองในด่านก่อนในตอน “กินร่วมโต๊ะ” ท่านจะไปหาวิธีใดให้เกิดการกินร่วมโต๊ะโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็ได้ ในโรงอาหารหรือในร้านค้าที่เป็นที่นิยมที่ต้องเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์อย่างใกล้ชิด
หากว่าขาดผัสสะหรือสิ่งกระทบในการกระตุ้นกิเลสเหล่านี้ บทความทั้งหมดนี้จะกลายเป็นแค่นิยายบทหนึ่งที่ไม่มีความหมายอะไร เราจำเป็นต้องไปเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่จำมาหรือท่องมา แต่เป็นการสัมผัสทุกความอยากของตัวเองด้วยร่างกายและจิตใจของตัวเองซึ่งจะเป็นปราการด่านแรกที่จำเป็นต้องผ่านหากจะเรียนรู้การล้างกิเลส
ขั้นตอนที่ 3). ตรวจสอบกาม
หากว่าเรากินร่วมหม้อหรือร่วมจานกับผู้อื่นแล้ว เรายังมีอาการเขี่ยเนื้อเข้าตัว แอบควานเนื้อสัตว์เข้าหาตัว หรือพยายามกินผสมโรงให้รู้สึกว่าเหมือนไม่ผิดในการกินเนื้อสัตว์ ท่านกำลังอยู่ในกามภพที่ลึกลับซับซ้อนกว่าเดิม เพราะในแบบตรงไปตรงมาก็คือทนความอยากไม่ไหวแล้วลองกินเลย แต่คนที่ไม่จริงใจกับตัวเองก็จะทำเป็นเนียนกินไป แบบนี้ยากจะบรรลุธรรมเพราะมีการกลบเกลื่อนไม่ให้ตัวเองและผู้อื่นเห็นความอยากแม้ว่าจะตักกินอยู่อย่างชัดเจน
ผู้ที่อยู่ในรูปภพ จะไม่ทำเนียนกินหรือพยายามจะกินอีกต่อไป แต่จะพยายามกดข่มอาการอยากไว้ในภพ ในสภาวะที่ตัวเองไม่กิน เพื่อให้ตัวเองไม่ไปกิน ใจนั้นอยากกินอยู่ เห็นเนื้อสัตว์ที่ปนกันก็ยังอยากกินอยู่ แต่ด้วยความยึดว่าต้องมังสวิรัติจึงหักห้ามใจได้ดีกว่าผู้ที่อยู่ในกามภพ ซึ่งแม้ว่าจะหักห้ามใจให้ไม่ไปหยิบกินได้นั้น ก็ยังมีความอยากอยู่เต็มใจ อยากชัดเจนจนได้ยินเป็นคำพูดปรุงแต่งอยู่ในใจว่า น่ากินนะ อยากกินนะ น่าอร่อยนะ
ผู้ที่อยู่ในอรูปภพ หรือภพที่ไม่มีรูปของความอยากให้เห็นเป็นตัวตนชัดๆแล้วก็จะไม่มีอาการอยากใดๆแสดงออกมา มีแต่อาการไม่ใส ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย เพราะลึกๆในใจมันอยากกิน แต่มันไม่มีคำปรุงแต่งใดๆแล้ว กินชาบูมีเนื้ออยู่ในหม้อเต็มไปหมดก็สามารถลวกผักกินได้ หรือกินเมนูผักกับเนื้อก็สามารถเขี่ยผักมากินได้ แต่ในใจมันยังวนเวียนอยู่กับเนื้อสัตว์ มันยังมอง ยังจ้อง ยังรู้สึกเสียดาย มันไม่โล่ง ไม่ยอมทิ้งเนื้อสัตว์อย่างเต็มใจ ยังมีความอาลัยอาวรณ์อยู่
การพ้นสามภพนี้ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ในโจทย์นี้นั้นไม่ง่าย เพราะความที่เราเคยติดเนื้อสัตว์มามาก ความอยากมันยังมีอยู่มาก การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายถึงไม่อยากกินเนื้อสัตว์มันคนละเรื่องกัน ถ้าคนตีความผิดไปว่ากินมังสวิรัติได้คือไม่อยากกินเนื้อสัตว์ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดจากความจริงไปหลายขุม เพราะการกินมังสวิรัติได้กับการดับความอยากในการกินเนื้อสัตว์เป็นคนละเรื่องกัน แม้ผลจะออกมาเหมือนกันคือไม่กินเนื้อสัตว์ แต่จิตใจข้างในจะต่างกันโดยสิ้นเชิง
ผู้ที่ยังวนเวียนอยู่ในสามภพนี้จะต้องทุกข์ทรมานจากความอยากเสพ แม้ได้เสพก็ทุกข์ แม้ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ต้องกดข่มนั่งเขี่ยกินผักอย่างเศร้าหมอง หดหู่ เป็นมังสวิรัติที่ไม่สดใส ไม่เบิกบาน ไม่สดชื่น ไม่ใช่ทางบรรลุธรรม เป็นเพียงการใช้สมถะวิธีเข้ามากดข่มความอยากแล้วติดอยู่ในรูปภพ หรืออรูปภพเท่านั้นเอง
ขั้นตอนที่ 4). ตรวจสอบอัตตา
คนที่มีอัตตาแรงจะออกอาการรังเกียจตั้งแต่แรก คือตั้งแต่อ่านบทความนี้เลยว่าทำไมตัวเองต้องไปกินร่วมกัน มันมีน้ำซุป น้ำมันหอย น้ำปลา ฯลฯ คนพวกนี้จะกินมังสวิรัติได้แต่ไม่เห็นความอยาก ไม่มีปัญญารู้ในเรื่องของกิเลส เขาแค่กินมังสวิรัติได้ก็พอใจแล้ว และหลงยึดว่าต้องมังสวิรัติ 100% นั่นถึงจะเรียกว่าดีที่สุด
ซึ่งการที่สัตว์ใดจะกินแต่ผักทั้งชีวิตได้นั้นเป็นเรื่องธรรมดา วัวควายมันก็กินหญ้าทั้งชีวิตไม่เห็นมันจะบรรลุธรรมตรงไหน มันก็ยังเป็นวัวเป็นควายอยู่เหมือนเดิม เช่นเดียวกับคนกินมังสวิรัติโดยไม่มีปัญญา เขาก็กินกันไปได้นะ เพียงแต่ว่าไม่รู้เรื่องกิเลส แต่ก็จะรู้เกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปที่ใช้กดข่มความอยากเช่น สุขภาพ การเบียดเบียน เมตตา บุญ(กุศล) กรรม หรืออะไรก็ว่ากันไป การถือศีลแบบไม่มีปัญญาหรืองมงายนี่เองที่เรียกว่า ถือศีลอย่างอุปาทาน คือถือไว้อย่างยึดมั่นถือมั่น เป็นลักษณะของคนกินมังสวิรัติที่เคร่งและเครียด แต่ก็ไม่รู้สาระข้างใน รู้แต่มันไม่ดี มันเบียดเบียน ฯลฯแล้วก็ใช้ความรู้เหล่านั้นกดข่มความชั่วคือกดข่มการไปกินเนื้อสัตว์เอาไว้ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นการกดข่ม ไม่ใช่การล้างกิเลส
ดังนั้นคนที่มีอัตตาแรงก็จะไม่เห็นด้วยกับการทดสอบนี้ตั้งแต่แรก เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น เขาเข้าใจเพียงแค่ว่ากินมังสวิรัติก็พอแล้วทำไมต้องมาทดสอบกิเลสกัน เขาจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นและยังไร้สาระ นั่นเป็นเพราะจุดประสงค์ของคนไม่เหมือนกัน ใครที่อยากกินมังสวิรัติเพราะไม่อยากเบียดเบียนก็ไม่จำเป็นต้องทดสอบจิตใจแบบใดๆเลยก็ได้ ก็เพียงแค่กินมังสวิรัติไปก็เท่านั้น ส่วนคนที่อยากเรียนรู้เรื่องกิเลสนั้นก็จำเป็นจริงๆที่จะต้องมีโจทย์ในการขัดเกลากิเลสของเขาเหล่านั้น
คนที่มีอัตตาผ่อนลงมาบ้างก็จะยังมีความยินดีที่จะอ่าน แต่ก็ไม่ยินดีที่จะกินร่วมกับคนอื่น ไม่ยินดีที่จะกินมังเขี่ย หรือไม่ยินดีที่จะกินร่วมหม้อกับคนกินเนื้อสัตว์ จะมีอาการรังเกียจ ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ถ้าเป็นไปได้ก็จะขอแยกหม้อหรือไม่ไปกินร่วมกันหรือหาร้านที่กินแยกจานกันเลยก็จะดีกว่าจะพยายามผลักตัวเองเข้าสู้การกินร่วมโต๊ะดีกว่าต้องมากินร่วมจาน
ทั้งนี้เป็นเพราะอัตตาหรือความยึดดีในมังสวิรัติผลักให้เกิดอาการรังเกียจทั้งเนื้อสัตว์และคนกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น ซึ่งคนกินมังสวิรัติจะหลงว่าอัตตาเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาของคนดี แต่ความจริงแล้วมันเรียกว่านรกคนดี เป็นนรกขุมที่หลอกให้คนที่นึกว่าตัวเองเป็นคนดียินดีที่จะเดินเข้าสู่นรกอันคือความเดือดเนื้อร้อนใจด้วยความยินดี
การที่เรายังมีอัตตาหรือความรังเกียจในเนื้อสัตว์หรือรังเกียจคนที่กินเนื้ออยู่ จะผลักดันให้เราสร้างบรรยากาศกดดัน ขุ่นมัว แสดงออกได้ทั้งทางกาย วาจา ใจ การคิดในใจเพียงว่าไม่ชอบไม่ยินดีที่จะร่วมจานก็สร้างทุกข์ให้กับตัวเองแล้ว มันเห็นทุกข์กันอยู่ชัดๆแต่คนมีอัตตาก็จะยินดีแบกทุกข์นี้ไว้เพราะหลงเข้าใจว่าฉันเป็นคนดี ฉันต้องทุกข์เมื่ออยู่กับคนที่ยังกินเนื้อ
ในมุมของการล้างกิเลส คนดีที่ติดดีนั้นก็ยังชั่วอยู่ดี มองไปก็ยังเป็นนรกเหมือนกับคนกินเนื้อสัตว์อยู่ดี แต่เป็นนรกคนละขุม อย่าไปแบ่งเลยว่าใครต่ำกว่าใครสูงกว่า เพราะนรกของใครก็ของมัน คนที่ติดดีอาจจะสร้างบาปเวรภัยได้มากกว่าก็ได้ อาจจะไปกดดันหรือระรานชีวิตคนอื่นได้มากกว่าคนกินเนื้อก็ได้ใครจะรู้
ถ้ายังรู้สึกว่าตนเองไม่พอใจที่จะต้องกินร่วมจาน ร่วมชาม ร่วมหม้อกับคนกินเนื้อแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลย เรากำลังติดอยู่ในอัตตา
ขั้นตอนที่ 5). สรุปผล
ในด่านนี้จะค่อนข้างยากขึ้นมาทั้งในด้านการตรวจใจและยากที่จะผ่านความอยากที่ละเอียดขึ้นและเข้ามากระแทกใกล้ขึ้น จากโจทย์ที่แล้วคือการกินร่วมโต๊ะ เนื้อสัตว์ก็ยังห่างออกไปคนละจาน แต่ครั้งนี้เราต้องกินร่วมจาน ตัวเราจะต้องเข้าใกล้เนื้อสัตว์เข้าไปอีก เป็นการบีบให้ตัวเองได้เห็นกิเลสอันคือกามและอัตตาที่ซ่อนอยู่ข้างใน
ผู้ที่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติธรรมมาหรือไม่มีญาณปัญญาจะไม่สามารถจับสภาวะใดๆของจิตที่เกิดขึ้นได้เลย อยากก็ไม่รู้ ไม่อยากก็ไม่รู้ เรียกว่าไม่ละเอียดเรื่องจิตวิญญาณ การทดสอบนี้จึงไม่มีประโยชน์ใดๆกับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ฝึกและเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลสมา
จริงอยู่ที่ว่าการกินมังสวิรัตินั้นดี แต่คนที่กินมังสวิรัติอาจจะไม่ได้ดีเสมอไป เรามักจะเห็นคนกินมังสวิรัติที่อุดมไปด้วยอัตตา ยึดดีถือดี ไปขัดแย้งกับชาวบ้านที่ยังกินเนื้ออยู่เป็นประจำ ชอบแสดงทัศนคติ เผยแพร่ความรู้โดยที่คนอื่นเขาไม่ต้องการ ไปยัดเยียด กดดัน บีบคั้นให้เขาเห็นดีในมังสวิรัติโดยใช้สมถะวิธี
ในความจริงแล้วเราต้องเข้าใจว่าปัญญาบารมีของคนเราไม่เท่ากัน เราบำเพ็ญมาไม่เท่ากัน บางคนใช้แค่สมถะวิธี เอาความดีไปกดข่ม แค่เห็นภาพสัตว์ตายก็สามารถหลุดออกมากินมังสวิรัติได้ บางคนต้องให้ข้อมูลวิจัย บางคนแม้จะมีทุกอย่างแต่เขาก็ยังไม่เลิกกินเนื้อสัตว์ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันจะจบตรงเรื่องของกิเลสเพราะกิเลสนี่เองคือรากแห่งความอยาก เป็นตัวสร้างทุกข์แท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบมาตั้งแต่กว่า ๒๖๐๐ ปีมาแล้ว
ดังนั้นถ้าชาวมังสวิรัติไม่เรียนรู้เรื่องกิเลสก็จะไม่ฉลาดในการสอนคนให้ถูกกับฐานะ ไม่สอนให้ถูกกับจริต จะพยายามยัดความรู้ตามที่ตัวเองได้เรียนมา ได้เห็นมา ใครหลุดมาได้จากภาพสัตว์ถูกทรมานก็ประกาศด้วยภาพสัตว์ตายอยู่แบบนั้น ใครหลุดมาด้วยข้อมูลทางการวิจัยก็แสดงข้อมูลทางการวิจัยอยู่อย่างนั้น ใครหลุดมาได้ด้วยเมตตาก็ประกาศเชิญชวนให้เมตตาอยู่แบบนั้น ยัดไปตามที่ตัวเองเห็นว่าดี พยายามจะเปรียบเทียบ อัดกระแทกให้เกิดจิตสำนึก ยัดข้อมูลเข้าไปเรื่อยๆ แต่จะไม่ฉลาดในการปรับข้อมูลตามจริตของผู้รับสาร ไม่รู้กาลเทศะ จะเป็นมังสวิรัติแบบแข็งๆ รู้อย่างเดียวว่าเนื้อหาสาระนี้ดี ฉันหลุดพ้นจากการสื่อสารแบบนี้ “ดังนั้นถ้าฉันทำแบบนี้เธอก็ต้องรับได้ ไม่อย่างนั้นเธอก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนไม่ฉลาดเป็นคนจิตใจต่ำทราม” จากฉัน เพื่อนร่วมโลกผู้มีอัตตาหนาเตอะ
สรุปแล้วเรื่องกามมันก็เห็นไม่ยากเท่าไหร่ เพราะในส่วนของ ”ความอยาก” ถ้าได้พิจารณาตัวเองอย่างจริงใจมันก็จะเห็นชัด ส่วนอัตตาเป็นเรื่องยากสุดยากที่จะเห็น เพราะใครเล่าจะยอมรับว่าตัวเองมีอัตตา ใครจะยอมรับว่าตัวเองยึดดีถือดีในมังสวิรัติ หากไม่ได้เจอแบบทดสอบก็คงจะไม่รู้ และหลายคนถึงแม้จะมีบททดสอบมากมายในชีวิตก็ไม่รู้ เพราะไม่เคยเรียนเรื่องกิเลสมาก่อน จึงปล่อยเหตุการณ์ที่เข้ามาทดสอบเหล่านั้นให้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย
จึงขอหยิบยกพุทธพจน์บทหนึ่งมากล่าวไว้ “ วันคืนล่วงไปล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ”
ติดตามต่อได้ที่
Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)