ข้อคิด

แด่วันสุดท้ายของเธอ…

September 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,210 views 0

แด่วันสุดท้ายของเธอ…

แด่วันสุดท้ายของเธอ…

ในชีวิตหนึ่งที่เกิดขึ้นมา เราคงมีโอกาสตายกันได้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่การพลัดพรากจากกันนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่วันใดก็วันหนึ่งที่เราจะต้องพรากไปจากหลายสิ่งหลายอย่างที่เรารักและหวงแหน ไม่ว่าจะเป็น วัตถุสิ่งของ คนรอบข้าง ชื่อเสียงเกียรติยศ กระทั่งความรู้สึกนึกคิดบางอย่างได้เสื่อมสลายและตายจากเราไปทีละน้อยทีละน้อย

คงจะมีหลายครั้งที่เราได้มีโอกาสเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ที่กำลังจะจากไป ผู้ที่กำลังจะทิ้งร่างกายนี้ไป ผู้ที่กำลังจะตายไป… แต่โอกาสเหล่านั้นมักมีอยู่ในช่วงสั้นๆ เป็นช่วงเวลาที่เราเองก็มักจะก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ไม่รู้จะพูดอย่างไร และไม่รู้ว่าจะคิดอะไรจึงจะดี… ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับการวางขันธ์ หรือการส่งผู้ที่กำลังจะจากไปนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรเรียนรู้ไว้ เพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้ที่กำลังจะจากไป

คิด พูด ทำ อย่างไรดี…

แต่ถ้าหากเราไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร ก็ขอให้นึกไว้ว่า พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ทำบรรยากาศให้ดีที่สุด คือการคิด พูด ทำ ให้ตนเองและผู้ป่วยเกิดความรู้สึกที่ดี

ผู้ดูแลควรจะมีทักษะในการพูดให้เป็นกุศล พูดให้เกิดความรู้สึกดี รู้จักประคองความรู้สึกของผู้อื่น ช่างสังเกตและแววไวในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ซึ่งอาจจะใช้วิธีใดก็ได้ตามเหตุและปัจจัย แต่ก็มีเป้าหมายเดียวคือทำให้จิตใจของทุกคนเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นความรู้สึกดีๆ ก่อนจะจากกันไป และแม้ว่าจะไม่เกิดดีตามที่ได้คาดหวังไว้ ก็สามารถปล่อยวางความยึดดีเหล่านั้นได้

การพาผู้ที่กำลังจะจากไป ย้อนกลับไปสู่อดีต คือพากลับไปสู่ความทรงจำดีๆ เรื่องราวดีๆ ที่เคยมีร่วมกัน โดยให้ระลึกไปถึงความคุ้มค่าที่ได้เกิดมาไม่ใช่รำพึงรำพัน บุญกุศลต่างๆที่เคยทำมา การขอโทษและให้อภัยในความผิดพลาดของกันและกัน เพื่อลดการผูกมัดกับสิ่งที่ฝังใจในอดีต

การพาผู้ที่กำลังจากไป เดินทางไปสู่อนาคต อ้างอิงจากอดีตคือบุญกุศลที่เคยทำมา เมื่อทำกรรมดีมา ยังไงกรรมก็ต้องพาไปพบเจอสิ่งที่ดี ทางข้างหน้าไม่ได้เลวร้าย เพียงแค่ทิ้งร่างกายที่เก่าและทรุดโทรมไปเอาร่างใหม่เท่านั้น เพียงแค่หลับไปตื่นขึ้นมาก็เป็นอีกโลกหนึ่ง อีกภพหนึ่ง อีกตอนหนึ่งของเราแล้ว เหมือนดั่งในจุดเริ่มต้นตอนเราเกิดมาชาตินี้ ก็เป็นเพียงไปเล่นละครในบทใหม่เท่านั้น โดยพูดไปในทางบวกให้คลายกังวล เพราะความกลัวมักจะเกิดจากความไม่รู้ แต่ถ้ารู้เรื่องกรรมและผลของกรรม จะโลกนี้หรือโลกหน้าก็ไม่มีอะไรน่ากลัวอีกต่อไป

การพาผู้ที่กำลังจากไป อยู่กับปัจจุปัน หลังจากดับความกังวลในอดีตและอนาคตได้พอสมควรแล้ว ก็กลับมาอยู่กับปัจจุบันซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่จะสร้างกุศลได้อย่างแท้จริง แม้ผู้ที่กำลังจะจากไปจะคิดเรื่องดีๆที่ตัวเองทำไม่ออก แต่ถ้าสามารถพาให้เขาได้คิดดี พูดดี ทำดี ในช่วงเวลานี้ ก็จะสามารถสร้างทั้งอดีตที่ดีและอนาคตที่ดีในเวลาเดียวกัน

เมื่อเราคลายทุกข์ในจิตใจที่เกิดขึ้นในอดีต อนาคต และปัจจุบันได้แล้ว ก็ให้ประคองจิตอันเป็นกุศลเหล่านั้นไปเรื่อยๆ โดยใช้ความอดทนเสียสละ เข้าใจและเห็นใจ ตั้งสติของตัวเองให้มาก โดยไม่ให้เหตุแห่งความเสียใจของตนนั้นไปสร้างจิตอกุศลให้เกิดขึ้น เช่น ถ้าเราเผลอร้องไห้เสียใจฟูมฟาย ก็อาจจะสร้างทุกข์ใจให้กับผู้ที่กำลังจะจากไปเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นการประคองสภาพจิตที่เป็นกุศลจนถึงวินาทีสุดท้าย จำเป็นต้องใช้ความตั้งมั่นอย่างมาก

เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่น ก่อนหน้านี้เราพูดไปแล้วเขาก็ดีขึ้น แต่พอผ่านไปสักพักเขาก็คิดกังวลอีกครั้ง เราก็ต้องประคองให้เขาคิดเป็นกุศลอีกครั้ง โดยไม่คิดโกรธ รำคาญ ย่อท้อ หดหู่ เพราะภาวะของคนใกล้ตายนั้นจะมีความรุนแรง สับสน ซับซ้อน แปรผันตามกิเลสและวิบากบาปที่เขาเหล่านั้นสะสมมา

ทุกข์จากใจ…

ความกลัว ความกังวลของผู้ที่กำลังจากไปนั้นมาจากกิเลสที่ยึดมั่นถือมั่นฝังลึกอยู่ข้างในจิตใจ แม้ว่าจะเคยแสดงบทเป็นคนเข้มแข็งมาทั้งชีวิต แต่ในช่วงสุดท้ายก็อาจจะแสดงความอ่อนแอทั้งหมดที่เก็บไว้ออกมาก็เป็นได้ การจะพาให้ผู้ที่กำลังจากไปนั้นล้างกิเลสเหล่านั้นคงจะทำได้ยาก เพราะเวลาคงมีไม่มากพอและเราเองก็คงจะไม่รู้วิธีล้างกิเลสเหล่านั้น ดังนั้นจะไปคิด หรือไปบอกให้เขาว่า อย่ากังวล อย่ากลัว อย่ายึดมั่นถือมั่น ก็คงจะเป็นไปได้บ้างสำหรับบางคน ที่คงไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถปรับใจให้ปล่อยวางได้ ดังนั้นแม้สุดท้ายเราจะพยายามเต็มที่แล้ว แต่เขาก็ยังต้องทนทุกข์เพราะใจของเขาเอง เราก็คงต้องปล่อยวางด้วย

แม้แต่ความกังวลของเราเองนั้น ก็ควรจะต้องตัดไปให้ได้ก่อน เพราะการที่เรายังคิดมาก กังวล เครียด กลัว นั้นจะสร้างบรรยากาศที่ขุ่นมัว แม้จะสามารถแสดงออกว่าสดชื่นแต่คนอื่นก็ยังจะสามารถรู้สึกถึงความทุกข์ข้างในได้ การทำใจของตัวเองให้ยอมรับการจากไปของเขาหรือเธอนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามทำให้ได้เสียก่อน ยอมรับว่าทุกคนก็ต้องเจ็บป่วย ทุกคนก็ต้องตาย และเราเองก็ต้องจากและพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ไม่มีสิ่งใดที่จะตั้งอยู่อย่างคงทนถาวรเลย

หน้าที่ของเรานั้นคือทำใจให้เป็นหลักให้เขายึดเกาะ ก่อนที่เราจะส่งให้เขาไปยึดอาศัยในสิ่งที่เป็นกุศลมากกว่าเรา ดังนั้นถ้าคนที่คอยประคองอย่างเรา มีจิตใจหวั่นไหวดังไม้ปักเลน ทั้งเขาและเราก็คงจะร่วงหล่นสู่อกุศลจิตได้ง่าย ดังนั้นการทำตนให้หนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหว จะช่วยพาเขาไปสู่สิ่งกุศลอื่นๆที่เราจะนำพาไปได้อย่างราบรื่น

จากโดยไม่ได้ลา…

ในหลายๆครั้ง เรามักจะต้องพบกับการจากโดยที่ไม่มีโอกาสลา อาจจะเป็นคนที่ไม่ได้พูดคุยพบเจอกันมานานแล้ว หรืออาจจะเป็นที่คนที่พึ่งบอกลาแยกย้ายกันไปได้ไม่นานนี้เอง เมื่อไม่ได้ลาก็ไม่เป็นไร… แต่ก็ให้ความรัก หลง โกรธ ชัง นั้นตายตามไปกับเขาด้วย ไม่ต้องเก็บเอาไว้กับเรา เมื่อเขาจากไปแล้วก็จะไม่มี “เรื่องระหว่างเราสองคน” อีกต่อไปดังนั้นความรู้สึกผูกพัน ยึดมั่นถือมั่น ยึดว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะไปในทางดีหรือร้ายนั้น ก็ขอให้ปล่อยลอยหายไปพร้อมกับชีวิตที่หายไปด้วย เหลือทิ้งไว้แต่เรื่องราว ประสบการณ์ เท่านั้น เราจะไม่ลืมเขา และเราจะไม่เสียใจ เพราะเรารู้ดีว่า…จากกันไม่ตลอดไป

อย่ากังวลไปเลย แล้วเราจะพบกันใหม่…ไม่มีสิ่งใดจากไปอย่างถาวร และไม่มีสิ่งใดอยู่กับเราตลอดไป เราต้องเจอกับการพบพรากจากลาอยู่อย่างนี้เสมอ เป็นแบบนี้ตลอดมาไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ ตราบใดที่เรายังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้ เราก็ต้องวนกลับมาพบกันอยู่เรื่อยๆ กลับมาร่วมบุญกุศลกัน กลับมาร่วมใช้กรรมต่อกันและกัน เหมือนอย่างที่เราเป็นในชาตินี้นี่เอง

– – – – – – – – – – – – – – –

10.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

สรณะ..เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง

September 8, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,908 views 0

สรณะ..เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง

สรณะ…เรายึดสิ่งใดเป็นที่พึ่ง

ในสังคมที่สับสนวุ่นวายทุกวันนี้ แม้ว่าจะมีความสะดวกสบาย มากมายไปด้วยสิ่งบำรุงบำเรอกิเลส แต่มันก็ไม่เคยจะทำให้ใครมีความสุขได้อย่างยั่งยืน เพราะการสนองกิเลสนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้อย่างยั่งยืน แต่คนก็มักจะหลงมัวเมาไปพึ่ง ไปยึดว่าการสนองกิเลสนั้นดี ต้องใช้ชีวิตให้เต็มที่ สนองกิเลสให้เต็มที่ เพราะหลงผิดคิดไปว่าเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้ได้เสพสุขมากที่สุด

ความสุขจากกิเลสนั้นเหมือนความสุขลวงๆ เหมือนฟองคลื่น เหมือนพยับแดด สุขอยู่ได้ไม่นานแล้วก็หายไป แต่ทิ้งทุกข์ไว้ให้นานแสนนาน เหมือนกับนายทาสที่เอาของกินมาล่อมาเลี้ยงไว้ แล้วถึงเวลาใช้งานก็เอาแส้ฟาดให้เราลากของ ให้เราทำงาน ให้เราพาไปยังที่ที่เขาหมายเพียงเพื่อที่จะได้เสพเศษแห่งความสุขเพียงน้อยนิด

แต่โลกในยุคนี้ก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น ยังมีมหาบุรุษที่รู้ทุกอย่างในมหาจักรวาลที่บังเกิดขึ้นเมื่อกว่า ๒๖๐๐ ปีก่อนและส่งต่อคำสั่งสอนมาให้ ผ่านอริยสาวกของท่านจากรุ่นสู่รุ่น

แม้สังคมและชีวิตทุกวันนี้จะมีแต่ความทุกข์จากความสับสนวุ่นวาย แต่ถ้าเรายึดพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ยึดพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ยึดพระสงฆ์ อริยสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ชีวิตก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ เป็นไปในแนวทางที่ถูกที่ควร เป็นไปในทางลดการสะสมกิเลส เพื่อความสุขอย่างยั่งยืน

ชาวพุทธที่จะมีปลายทางสู่การพ้นทุกข์ จะยึดพระรัตนไตร คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีสามสิ่งนี้เป็นที่พึ่งเท่านั้น ที่พึ่งอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่มี

การไปพึ่งพาสิ่งอื่นนั้นนอกจากจะไม่เกิดความสุขแล้วยังจะสร้างความทุกข์ความฉิบหายได้อีก บางคนมีวิบากกรรมที่ต้องไปเชื่อ ไปหลง ไปงมงาย ไปมัวเมา ในเดรัจฉานวิชา เช่น การทายใจ ทำนายฝัน ปลุกเสก หมอผี ดูดวง ดูฤกษ์ ดูโหงวเฮ้ง หมอดูต่างๆ การบนบาน ทำพิธีบวงสรวง รดน้ำมนต์ พยากรณ์ทำนายทายทักต่างๆ และอื่นๆอีกมากมาย ( สามารถหาข้อมูลเพิ่มได้จากการศึกษามหาศีล ซึ่งเป็นศีลแบบกว้าง ครอบคลุมการเลี้ยงชีพ ไปจนถึงประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิต ที่เป็นไปในเชิงสังคม)

เดรัจฉานนั้นคือความโง่ เดรัจฉานวิชาก็คือวิชาที่คนโง่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้หลอกคนโง่กว่าอีกที ก็หลงโง่กันไปทั้งคนใช้คนเสพ…

คนที่ไปพึ่งพาสิ่งที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้น จะไม่มีทางพ้นทุกข์ เพราะยังหลงอยู่กับสิ่งมัวเมาในระดับหยาบ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่ทางสู่ความเจริญ ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ยิ่งไปพึ่งพาก็ยิ่งจะพาให้ทุกข์ แต่ผู้มีวิบากบาปก็จะมองไม่เห็น ไม่เข้าใจ และหลงมัวเมาอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ชาวพุทธผู้มีปัญญา พึงระลึกว่ามีเพียงพระรัตนไตรเท่านั้นเป็นที่พึ่ง แม้แต่เทพเจ้า ตำนาน หรือคำกล่าวอ้างใดๆ ก็ไม่ใช่ที่พึ่งทางใจของเรา

ผู้ที่ยังบูชา เทวดา เทพเจ้า หรือเทพต่างๆ อยู่นั้น คงยากที่จะพ้นทุกข์ ยกเว้นเสียแต่เทพเจ้าที่บูชาเคารพและยึดเป็นที่พึ่งนั้นจะเป็นอริยสาวกคือพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ ถ้าไม่จัดอยู่ในหมวดของพระรัตนไตร บูชาไป พึ่งพาไปก็มีแต่จะหลงทาง แต่ถึงจะบูชาถูกตรงแต่บูชาเพียงรูปคือขอแค่กราบไหว้ ขอแค่ได้เคารพ ขอแค่ได้ร่วมบุญ ขอแค่มีที่ระลึกติดไว้ที่บ้าน นั้นก็เป็นเพียงความเข้าใจที่ยังตื้นเขินนักไม่ทำให้พ้นทุกข์อีกเหมือนกันเพราะไม่ได้นำมาปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าในยุคของเรานี้มีพระโคดมพระองค์เดียว และท่านก็ได้ตรัสไว้ว่า ทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียวทางอื่นไม่มี ประกอบกับธรรมในข้อ วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย ผู้ที่ยังไม่มั่นใจก็จะลังเลสงสัย จะเหมารวมว่าศาสนาอื่นๆก็ปฏิบัติได้เหมือนกัน เข้าใจว่าทำให้พ้นทุกข์ได้เหมือนกัน เข้าใจว่าทางพ้นทุกข์มีหลายทาง… แต่ในความเป็นจริงคือ การพ้นทุกข์ในระดับการดับกิเลสนั้น มีในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น ลัทธิอื่นนอกศาสนาพุทธไม่มี

ทีนี้เราก็มักจะเข้าใจตามที่คนอื่นว่า ท่านนี้ท่านนั้นเป็นอรหันต์บ้างละ ตำนานเขาว่ากันอย่างนั้นบ้างละ มีหลักฐานว่าอย่างนั้นบ้างละ แต่จริงๆคือเราเชื่อตามเขาเท่านั้น เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณสมบัติของพระอริยะมีอะไรบ้าง ถึงจะรู้ก็ดูไม่ออกอยู่ดี แต่ก็มีที่เขาว่าหลงเข้าใจผิดว่าตนเองบรรลุธรรมก็มีมากเหมือนกัน เอาเป็นว่าถ้าเราไปเชื่อตามเขากล่าวอ้างกันมานั้นก็คงจะไม่ดีแน่ เรื่องนี้เรายกไว้ก่อนจะดีกว่ารอดูไปก่อนจะดีกว่า อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขากล่าวอ้าง อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเขาเป็นครูบาอาจารย์ อย่าเพิ่งเชื่อเพราะคนเขาพูดกันมา สังคมเขาเชื่อกันมา ให้ลองดูก่อน ลองนำแนวทางคำสั่งสอนมาปฏิบัติดู ถ้าชีวิตไม่ดีขึ้น ทุกข์หนักขึ้นก็ให้ถอยออกมา แต่ถ้านำคำสั่งสอนมาปฏิบัติแล้วชีวิตดีขึ้น ตัวเราและคนรอบข้างเป็นสุขมากขึ้น ความยึดมั่นถือมั่นน้อยลง ความอยากได้อยากมีน้อยลง ก็ให้ปฏิบัติตามต่อไปเรื่อยๆ

การยึดพระรัตนไตรเป็นสรณะ…

ในอีกแง่มุมหนึ่งของการยึดพระรัตนไตรเป็นที่พึ่งพา ที่อาศัย คือการทำตัวเองให้ความเป็นในสิ่งนั้นๆ คือการเรียนรู้ธรรม (ปริยัติ) การปฏิบัติธรรม(ปฏิบัติ) จนกระทั่งเกิดภาวะที่สามารถเข้าใจถึงธรรมนั้นๆได้อย่างถ่องแท้ (ปฏิเวธ) เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ดังนั้นสุดท้ายการพึ่งพระรัตนไตรก็ต้องน้อมเข้ามาสู่ตัวเอง

เราจะไม่รอให้ใครหรืออะไรมาดลบันดาลความสุขให้ เราไม่รอให้วิบากกรรมส่งผลให้เราทุกข์เกินทนจนเลิกทำชั่ว แต่เราจะพาตัวเองให้พ้นทุกข์เอง โดยการศึกษาพระธรรม ควบคู่ไปกับการปฏิบัติ คือการลด ละ เลิก การยึดมั่นถือมั่นกิเลสเป็นของตน จนกว่าจะถึงสภาพของการหลุดพ้นจากกิเลส เบื่อหน่ายคลายจากกิเลส มีปัญญารู้แจ้งถึงกิเลสนั้นๆ รู้ไปจนถึงว่ากิเลสนั้นดับสนิทแล้ว

เมื่อยึดพระรัตนไตรมาสู่ตนเองอย่างแท้จริงแล้ว ก็เหมือนว่าเส้นทางชีวิตของเราจะถูกขีดไว้ให้เดินไปแต่ในทางเจริญทางด้านจิตใจ แม้ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างคนปกติทั่วไป ทำงานออฟฟิศ มีธุรกิจส่วนตัว ไม่ว่าจะมีวิถีชีวิตแบบใด ถ้ามีการนำพระรัตนไตรเป็นที่พึ่งเป็นที่ยึดอาศัยแล้ว เราก็จะมีโอกาสเข้าถึงความสุขแท้กันได้ทุกคน

– – – – – – – – – – – – – – –

8.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

การวางใจก่อนนาทีสุดท้าย : กรณีศึกษา คุณยายเป็นมะเร็ง

September 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,251 views 0

การวางใจก่อนนาทีสุดท้าย : กรณีศึกษา คุณยายเป็นมะเร็ง

การวางใจก่อนนาทีสุดท้าย : กรณีศึกษา คุณยายเป็นมะเร็ง

ในบทความนี้ ผมตั้งใจเรียบเรียงให้กับทั้งผู้ที่ระลึกถึงวาระสุดท้ายของตนเอง และผู้ที่ยังประมาท ใช้ชีวิตอย่างเพลิดเพลินในกิเลส หลงมัวเมาในโลกธรรม จนหลงลืมว่าวาระสุดท้ายของเราเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ…

ผมมีประสบการณ์จากคุณยายของผมเอง ท่านเป็นมะเร็ง ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยม ไปพูดคุย ไปดูแลท่านอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลครั้งแรก จนกระทั่งอาการดีขึ้นก็กลับมาอยู่ที่บ้านสักพัก สุดท้ายก็อาการกำเริบต้องกลับไปนอนโรงพยาบาลและจากไปในที่สุด

ผมจำแววตาสุดท้ายของคุณยาย ก่อนที่ท่านจะไม่รู้สึกตัวได้ดี เราเข็นเตียงพาท่านไปตรวจแสกนอะไรสักอย่าง ท่านได้แต่นอนอยู่บนเตียง ผมมองหน้าท่านแล้วยิ้มให้ แต่แววตาของท่านนั้นเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ความกังวล น้ำตาคลอที่เบ้า ผมรู้ดีว่าท่านกลัวผลที่จะออกมาจากการตรวจ กลัวที่จะรับรู้ความจริงที่โหดร้าย กลัวว่าจะต้องจากไป… ผมยังจำแววตานั้นได้ดี

คุณยายเป็นผู้หญิงแกร่งที่ต่อสู้มาทั้งชีวิต ซึ่งคุณตาก็เสียไปตั้งแต่ยายยังสาว ทำให้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เลี้ยงลูกมา 5 คนด้วยตัวคนเดียว ทั้งยังสวดมนต์ ทำบุญตักบาตร ทำทานอยู่เป็นประจำ แต่ความแข็งแกร่งและบุญบารมีเหล่านั้นกลับกลายเป็นเพียงผงธุลี เมื่อเจอกับการบดขยี้ของความทุกข์จากมะเร็งและความตายที่กำลังจะคืบคลานเข้ามาเยือน

จากการเรียนรู้จากเรื่องราวของคุณยายทำให้ผมได้เข้าใจว่า เราจะมาคิดที่จะวางใจในนาทีสุดท้ายไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่ามันจะถึงเมื่อไหร่ และบุญบารมีที่ทำมาเพียงแค่ทำบุญตักบาตร บริจาคทานและสวดมนต์นั้น คงไม่เพียงพอที่จะทำให้จิตใจเป็นสุขได้ในสภาวะที่ใกล้ตาย

การวางใจก่อนนาทีสุดท้าย…

การวางใจก่อนนาทีสุดท้ายนั้นสามารถทำได้ แต่จะมีสักกี่คนที่จะทำใจให้วางได้จริงๆ ในเมื่อเรายังยึดสิ่งต่างๆอยู่ ยึดบ้าน ยึดตำแหน่ง ยึดหน้าที่การงาน ยึดครอบครัว ยึดบทบาทของตัวเอง ยึดมั่นถือมั่นทุกอย่างเป็นตัวเป็นตน จะให้คนนั้นทำอย่างนั้นจะให้คนนี้ทำอย่างนี้ คนนั้นต้องมาเยี่ยมไม่เยี่ยมฉันจะทุกข์ ถ้าคนนี้ไม่มาดูแลเอาใจฉันจะทุกข์ ถ้าครอบครัวไม่มาอยู่ร่วมกันในนาทีสุดท้ายฉันจะทุกข์

เรากำลังจะต้องโดนบังคับให้ทิ้งร่างนี้ไปอยู่แล้ว แต่เรายังไปสร้างภพ สร้างเงื่อนไข สร้างการยึดไว้ แล้วเราจะวางได้อย่างไร? เรายังไม่ยอมถอดหัวโขน ไม่ยอมถอดความเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นอะไรของใครหลายๆคน ยึดมันเอาไว้แบบนั้น ก็คงจะจะเป็นไปได้ยากหากจะปล่อยวาง เพราะวางแค่ปากกับกายก็คงจะไม่ไหว เพราะสุดท้ายแล้วใจคือประธาน จะเป็นตัวที่กำหนดทุกข์ กำหนดที่ไปของเรา

ไม่ต้องกลัวหรือกังวลไปว่า ถ้าตายในขณะที่จิตเป็นทุกข์จะทำให้ไปนรก เพราะกรรมใดที่ทำมาแล้วให้ผลทั้งนั้น ถ้าชีวิตนี้ดีมาตลอด ชั่วไม่ทำ ทำแต่ดี ก็ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะไปที่ไหน ประตูนรกมันปิดไปหมดแล้ว มันก็มีแต่ดีน้อย ดีมาก ก็แค่นั้นเองส่วนคนที่ทำชั่วมามาก ชีวิตมีแต่อบายมุข มัวเมาในการเที่ยวกินเล่น หลงลาภยศสรรเสริญสุข ยึดมั่นถือมั่น จนเบียดเบียนตัวเองและคนอื่น ก็อย่าไปหวังเลยว่าถ้าไปตั้งจิตให้มันเป็นกุศลในนาทีสุดท้ายแล้วมันจะไปดี มันก็อาจจะไปดีได้สักพัก พอหมดบุญกุศลที่ทำมาก็วนกลับไปใช้กรรมชั่วที่ทำมาอยู่ดี

อีกอย่างคือ เราเองก็ไม่ได้เกิดมาชาตินี้กันชาติเดียว เราตายกันมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็แค่จำกันไม่ได้ การตายไม่ใช่การจากไปอย่างถาวร อีกไม่นานเราจะกลับมาเจอกันใหม่เหมือนที่เราเจอในชาตินี้ ในเมื่อยังมีกิเลส มีตัณหา มันก็จะพาเรากลับมาเกิดใหม่อีกที อย่ากังวลเรื่องตายเลย เพราะสุดท้ายไม่ว่ายังไงช้าหรือเร็วก็ต้องไปเกิดมาใหม่อยู่ดี มาแบกทุกข์แบกสุขกันแบบที่เกิดกันในชีวิตนี้อยู่ดี

ความทรมานนั้น คือทุกข์จากวิบากกรรมที่เราได้ทำมา เป็นสิ่งเลวร้ายที่เราเคยทำมา หน้าที่ของมันไม่ใช่เพียงทำให้เราเจ็บปวด ทุกข์ ทรมาน สลด หดหู่ ฯลฯ แต่ยังทำให้เราได้ระลึกถึงสิ่งเลวร้ายที่เราได้ทำมา ว่าสิ่งนั้นมันได้ส่งผลถึงเราแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้เบียดเบียนย่อมเจ็บป่วยและมีโรคมาก

จากวันที่เราเกิดจนถึงวันนี้ เรามีส่วนในการฆ่าสัตว์มาเพื่อเป็นอาหารของเรามาเท่าไหร่ การมีชีวิตอยู่ของเราไปเบียดเบียนคนอื่นมากเท่าไหร่ ความเจริญในหน้าที่การงานของเราไปขัดขาใครไปสร้างทุกข์ให้ใครมาเท่าไหร่ ความฟุ่มเฟือยของเราทำลายทรัพยากรโลกมากเท่าไหร่ เราเคยได้ระลึกถึงมันไหม?

เราไม่เคยระลึกถึงกรรมที่เราเคยทำมาเลย แต่พอเจ็บป่วย ทุกข์ ทรมาน กลับมองหาคนผิด มองหาโจร มองหาผู้ร้าย คิดไปว่าฉันทำแต่ความดี ทำไมฉันต้องเจอเรื่องแบบนี้ …ถ้าคิดแบบนี้มันก็ทุกข์ เพราะในความจริงแล้ว เราไม่มีทางได้รับสิ่งที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับนั้น เราทำมาทั้งนั้น เราทำอะไรก็ต้องรับอย่างนั้น สัจจะมีอย่างเดียวและเป็นจริงตลอดกาล ไม่มีทางดิ้น ไม่มีทางหนีได้เลย

เมื่อเราสามารถทำใจให้ยอมรับทุกอย่างที่ได้ทำมาไม่ว่าจะในชาตินี้หรือชาติก่อนได้แล้ว ทุกข์ทางใจก็จะเบาบางจางคลายลง เราจะไม่หาคนผิด เมื่อเรายอมรับทุกอย่างด้วยความเข้าใจว่า นี่คือสิ่งที่เราทำมา เราก็จะเริ่มมาพิจารณานำจิตใจเราไปสู่สิ่งที่ดีงาม สิ่งดีที่เราเคยทำมา สิ่งดีที่เรายังพอจะทำได้

ในตอนนี้แม้เราจะเหลือเวลาอีกไม่มาก เรายังสามารถพูดดีกับคนรอบข้างได้ไหม? สามารถทำให้คนรอบข้างสบายใจได้ไหม? เพราะเวลาที่สำคัญที่สุดคือเวลาปัจจุบัน ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต การทำความดีในขณะที่ยังมีลมหายใจนั้นสำคัญที่สุด เมื่อมีสติระลึกได้ว่าควรจะอยู่ปัจจุบัน ควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำกุศลเท่าที่เวลาจะเหลืออยู่ การทำกุศลก็เพียงแค่ คิดดี พูดดี ทำดี ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องลำบากไปนิมนต์พระดังวัดไหนมาทำบุญหรอก เพราะการทำให้พระลำบากก็เป็นการเบียดเบียนพระไปอีก ถ้าไม่รู้จะทำอะไรก็ทำสมถะ บริกรรม พุท-โธ ไปก็ได้ เตรียมตัวเดินทางไปสู่ภพใหม่ด้วยใจที่ไม่คาดหวังอะไร ไปไหนก็ได้แล้วแต่กรรมจะพาไป

สิ่งหนึ่งที่ควรจะยึดอาศัยตลอดเวลาที่ยังมีลมหายใจและพาไปยังอีกภพหนึ่งด้วยนอกจากกรรมแล้วนั่นก็คือผู้ชี้ทาง ซึ่งก็คือการมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจ ไม่ว่าจะรู้สึกท้อแท้ ท้อถอย หดหู่ เจ็บปวดกี่ครั้งก็ตาม เราก็ยังจะยึดพระรัตนไตรเป็นที่พึ่ง เราไม่พึ่งสิ่งอื่นนอกจากนี้

ผู้ที่หวังการบรรลุธรรมในช่วงนาทีสุดท้าย ขออย่าได้หวังไกลไปเลย เพราะไม่มีใครรู้ว่านาทีสุดท้ายนั้นจะเป็นอย่างไร ทำปัจจุบันให้ดีจะดีกว่า ตราบเท่าที่ยังมีสติและลมหายใจ แม้ร่างกายจะกลายเป็นแค่พืชผักก็ยังสามารถที่จะคิดดีได้ ซึ่งนั่นก็เป็นกุศลมากพอแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

7.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทานนี้เพื่อให้

September 7, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,749 views 0

ทานนี้เพื่อให้

 

ทานนี้เพื่อให้

การทำบุญทำทาน หรือการสละให้ออกไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนทุกคนบนโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นการลดความอยากได้อยากมี เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ควรให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่ ” ดังนั้นการให้ทานจึงเป็นสิ่งที่ควรพึงกระทำอย่างสม่ำเสมอ

การให้ทานจะมีผลมากนั้นก็ขึ้นอยู่กับทานนั้นลดกิเลสหรือไม่? เราได้สละออก ได้ให้ไปจริงหรือไม่? บางครั้งเรามักจะเห็นคนที่ให้หรือบริจาคทาน ไม่ได้ให้อย่างแท้จริง เมื่อให้ไปแล้วแต่ยังมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ยังคาดหวัง ยังแลกเปลี่ยนอยู่

เช่น เราให้ขนมกับเพื่อน เราให้ไปแล้วนะ แล้วเพื่อนเอาขนมที่เราให้ไปให้หมากิน เรากลับโกรธเพื่อน อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เมื่อเราทำบุญบริจาค เราให้ไปแล้วนะ แต่เราไปตั้งจิตขอให้สมหวังอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เราแนะนำ เราบอกสิ่งดีๆให้กับเพื่อนไปแล้ว แต่เพื่อนกลับไม่ทำตามที่เราแนะนำ ตามที่เราเห็นว่าดี กลับไปทำตรงข้าม แล้วเราไม่พอใจที่เขาไม่ทำตามเรา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

เช่น เราบอกคนที่ทำให้เราโกรธว่า “เอาเถอะ…ให้อภัยไม่ถือโทษกัน” เราบอกด้วยปาก ท่าทีของเราก็ดูปกติ คนนั้นเขาก็เชื่อนะ แต่ในใจเรายังโกรธ ยังเคือง ยังไม่พอใจอยู่ ยังไม่อยากเจอ ไม่อยากคบหา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ

การให้ทานที่ยังมีความหวังว่าจะได้อะไรกลับมาตอบแทนหรือยังยึดมั่นถือมั่นเป็นเจ้าของอยู่นั้น เป็นการให้ทานไม่ถูกไม่ควรสักเท่าไรนัก

การให้ทานที่จะเกิดกุศลมาก ต้องเป็นทานที่ให้เพื่อที่จะให้ ให้เพื่อที่จะไม่ได้รับอะไรเลย ให้เพื่อหมดตัวหมดตน ให้เพื่อหมดความอยากได้ ให้เพื่อที่จะไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากจะเอาอะไรอีก ให้จนไม่มีอะไรจะเอา…

ในชีวิตของเราในแต่ละวันนั้น มีการให้ทานอยู่ในหลายรูปแบบ ทั้งวัตถุทาน ธรรมทาน อภัยทาน ถ้าเราพิจารณาให้ดีว่าการให้ทานที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น เราได้ให้ไปจริงหรือไม่ ยังคิดจะเอาอะไรอยู่หรือไม่ ก็จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำทานที่ให้ผลเจริญ เป็นกุศล ที่ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องรอไปทำบุญทำทานที่วัด ไม่ต้องรอตักบาตรตอนเช้า

วัตถุทาน เช่น เราสามารถแบ่งขนมให้เพื่อนกินได้หรือไม่ แบ่งของให้เพื่อนยืมได้หรือไม่ มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่นได้หรือไม่

ธรรมทาน เช่น เราแนะนำสิ่งดีให้กับคนอื่น พูดสิ่งที่ดี ที่พาลดกิเลสให้กับคนอื่น เมื่อมีปัญหาในกลุ่ม เราพูดเพื่อลดความบาดหมาง ลดโลภ โกรธ หลง หรือกระทั่งสอนให้เขาเข้าใจวิธีการทำให้ชีวิตไม่ทุกข์ก็เป็นธรรมทาน

อภัยทาน เช่น มีคนทำไม่ถูกใจเรา รถคันหน้าขับปาดแซงเรา คันหลังเปิดไฟสูงไล่เรา คันข้างๆเบียดเข้ามา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เพื่อนร่วมงานนินทาเรา เจ้านายว่าเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เห็นข่าวไม่ดีไม่งาม คนทำผิด ทำชั่ว ทำเลว เราให้อภัยเขาได้ไหม , มีคนพูดไม่ถูกใจเรา ทำไม่ถูกใจเรา คิดไม่ตรงใจเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม

ดังจะเห็นได้ว่า การทำทานนั้นสอดร้อยไปในทุกจังหวะชีวิตของเรา หากคนมีปัญญารู้จักเก็บเกี่ยวกุศลสูงสุดของทุกๆเหตุการณ์ในแต่ละวัน ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท รู้จักทำทานอยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่ได้มีภาพลักษณ์เหมือนคนที่ใจบุญ ทำบุญตักบาตรนุ่งขาวห่มขาวไปวัดเป็นประจำอย่างที่สังคมเข้าใจ แต่เขาก็จะได้รับแต่สิ่งที่ดีในชีวิต เพราะผลแห่งทานเหล่านั้นนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

7.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์