Tag: ไตรลักษณ์
เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง
เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง
…ทำอย่างไรถึงเรียกว่ารักตัวเอง เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ไม่ทำร้ายตัวเอง
“รักตัวเอง” เป็นประโยคสั้นๆ ที่เข้าใจกันได้อย่างหลากหลาย เรามักจะใช้ประโยคนี้ในการปลอบใจตัวเอง เยียวยาจิตใจที่กำลังเศร้าหมองด้วยการให้คุณค่ากับตัวเอง
การรักตัวเองนั้นสามารถแสดงออกได้หลายลีลาท่าทาง แน่นอนว่าหลายคนก็ต่างพูดว่าตนนั้นรักตัวเอง ทำเพื่อตนเอง หรือกระทั่งทำเพื่อผู้อื่นเพื่อให้ตนเองมีความสุข และอื่นๆอีกมากมาย
ทำไมทุกคนที่บอกว่ารักตัวเองถึงมีวิถีชีวิตต่างกัน มีวิธีคิดต่างกัน มีเป้าหมายที่ต่างกัน แล้วรักตัวเองแบบไหนถึงจะเรียกว่ารักจริง เราจะลองมาเรียนรู้ที่จะรักตัวเองกันได้อย่างแท้จริงเสียที จาก 3 ลีลาความรักตัวเอง รักด้วยกาม รักด้วยอัตตา รักด้วยอนัตตา จะเป็นแบบไหนลองมาอ่านกัน
1). รักตัวเอง (กาม)
ความรักตัวเองในมุมของกามหรือการหา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จนกระทั่งหา คน สัตว์ สิ่งของมาเสพ จะเป็นมุมที่เห็นได้ทั่วไปเช่น คนที่คิดว่าเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้มันสุดๆ กิน เที่ยว เล่น ให้มันสุขสุดๆ เพราะเข้าใจว่ารักตัวเองเลยพยายามหาสิ่งมาบำเรอความสุขให้กับตัวเอง เข้าใจว่าต้องทำให้ตัวเองเป็นสุขจากการเสพจึงจะเรียกว่ารักตัวเอง
ความรักตัวเองในมุมของกามเช่นนี้ ยังอยู่ในลักษณะที่เห็นแก่ตัวอยู่มาก เช่น เราชอบกินเนื้อสัตว์ เรารักตัวเองมากจึงพยายามหาเนื้อสัตว์มาเสพสุข พร้อมทั้งหาข้อมูลอ้างอิงว่าเนื้อสัตว์นั้นดี มีคุณค่า ให้ความสุข หาธรรมะมาอ้างว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ผิด ยึดมั่นถือมั่นเนื้อสัตว์เป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งจำเป็น เป็นของสำคัญ จะให้ตัดเนื้อสัตว์ออกจากชีวิตก็ไม่ได้ เพราะรักตัวเอง กลัวอด กลัวไม่ได้เสพสุข กลัวขาดสารอาหาร เมื่อเรารักตัวเองมากๆ จนเข้าขีดของความเห็นแก่ตัว จึงยินดีที่จะเบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ตัวเองได้เป็นสุข
แม้แต่การรักผู้อื่นก็เช่นกัน ในมุมของการเอาใจผู้อื่น บางครั้งก็เกิดจากความรักตัวเองมาก จนสามารถใช้การล่อลวง ใช้คำหวาน ใช้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เข้าไปทำให้ผู้อื่นหลงงมงายจนยอมตกลงปลงใจกับเรา จนกระทั่งเราได้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเหล่านั้นมาเสพ นั่นเพราะเรารักตัวเองมาก เราจึงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้คนอื่นมาเสพ
การรักตัวเองแล้วบำเรอสุขจากการเสพให้ตัวเองนั้น ไม่ใช่ความรักตัวเองเลย แต่เป็นความหลงในกิเลส หลงว่ากิเลสเป็นตัวเราก็เลยเอาอาหาร ทรัพย์สินเงินทอง เวลา สุขภาพ ฯลฯ ไปให้กับกิเลสโดยหลงเข้าใจว่านั่นคือตัวเรา หลงไปว่าตัวเราชอบกินเนื้อสัตว์ ตัวเราชอบเที่ยว ตัวเราชอบแต่งตัว ตัวเราอยากได้รถโก้และบ้านหลังโต ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นคำสั่งจากกิเลส
การรักตัวเองแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรก็ได้ แค่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกิเลสนำพา ตรงไหนสุขก็ไปเสพ ตรงไหนทุกข์ก็หนี แสวงหาที่เสพสุขวนเวียนสะสมบาปสะสมอกุศลอยู่เรื่อยไป เพราะความรักตัวเองเช่นนี้ คือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง นำวิบากบาปมาให้ตนเองอย่างแท้จริงเป็นทางแห่งทุกข์อย่างแท้จริง
การจะบอกว่ารักตัวเองแล้วยังแสวงหาสุขลวงจากกิเลสมาเสพ นั่นหมายถึงการทำทุกข์ทับถมตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วจะเรียกว่ารักตัวเองได้อย่างไร
2). รักตัวเอง (อัตตา)
ความรักตัวเองในมุมของอัตตา เป็นอีกมุมหนึ่งที่เห็นได้เป็นประจำ กามและอัตตาจะยังมีผสมปนเปอยู่ในจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่เสมอ ไม่ได้หมายความว่ามีอัตตาแล้วจะไม่มีกาม ทางโต่งทั้งสองด้านนี้จะเติมพลังให้แก่กันอยู่เสมอ ผลัก-ดูด, รัก-ชัง, ชอบ-ไม่ชอบ สลับกันไปมาเช่นนี้เสมอ
อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่น คือมีตัวเราของเรา เห็นกิเลสเป็นตัวเป็นตนของเรา เช่นเรารักตัวเองมาก เห็นว่าตัวเองเป็นคนดี เข้าวัด ทำบุญ แต่พอมีคนมานินทา เหน็บแนม ก็รู้สึกโกรธนั่นก็เพราะว่าเรารักตัวเองมากเกินไป รักจนยึดเป็นตัวเป็นตน รักจนไม่ยอมให้ใครมาแตะต้องได้
หรือการที่เรามีความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ความเชื่อความเข้าใจแบบใดแบบหนึ่ง เราก็จะรักและยึดมั่นสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวเรา กอดมันไว้กับเรา ถ้ามีใครเห็นด้วยเราก็จะยินดีกับเขา แต่พอมีคนที่ไม่เห็นด้วยพร้อมทั้งการแสดงท่าทีหรือความเห็นที่แตกต่าง ความเห็นเหล่านั้นก็กระทบกับเกราะแห่งรัก(อัตตา,รักลวง) ก่อนที่จะเข้ามาถึงใจเรา นั่นคือเมื่อเรารักตัวเองมาก เราก็จะ”ไม่ฟัง” ไม่ยินดีรับฟัง ไม่อยากฟังอะไรที่ขัดกับความเห็นของเรา เขาพูดอะไรก็จะไม่สนใจ คิดแต่เพียงว่า ฉันก็เชื่อของฉันแบบนี้, ฉันได้ของฉันแบบนี้, ของเธอไม่ดีหรอก หรือถ้าหนักๆเข้าก็อาจจะถล่มอีกฝ่ายด้วยความรักตัวเองจนเกินจะระงับไว้ได้นั่นเอง
คนที่มีความเห็นผิดก็มักจะยึดเอาความเห็นผิดไว้เป็นที่พึ่ง เป็นหลักยึด เป็นคติ เป็นข้อปฏิบัติ และเห็นสิ่งที่ผิดเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะควรอยู่แล้ว นั่นคือเกิดสภาพยึดไปแล้ว และเป็นการยึดความเห็นผิดอีกต่างหาก อัตราส่วนของคนที่ยึดความเห็นผิดต่อความเห็นที่ถูกต้องก็ราวๆ จำนวนเส้นขนวัวทั้งตัวเมื่อเทียบกับ 2 เขาวัว ซึ่งนั่นหมายความว่าโอกาสที่จะได้รับฟังความเห็นที่ถูกก็น้อยยิ่งกว่าน้อย และเมื่อคนที่ยึดความเห็นผิดเป็นตัวเป็นตน เมื่อได้ฟังความเห็นที่ต่างจากที่ตัวเองยึดไว้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกแต่ก็จะเป็นผิดทั้งหมด
ความรักตัวเองในมุมของอัตตาจะส่งผลให้กลายเป็นคนที่ติดอยู่ในภพ ติดอยู่ในความเชื่อหนึ่งๆ ตัวตนหนึ่งๆ สภาพหนึ่งๆ รูปแบบหนึ่งๆ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว คือเห็นแต่เรื่องของตัวเองเป็นสำคัญ เรื่องของคนอื่นไม่สำคัญ ของตนสำคัญที่สุด คนอื่นผิด ฉันถูก หรือคนอื่นอาจจะผิดไม่มาก แต่ฉันถูกเสมอ
การรักตัวเองแบบมีอัตตาก็จะสามารถรักและเมตตาคนอื่นได้เช่นกัน แต่จะเป็นสภาพที่ซับซ้อนของกิเลส นั่นคือไปยึดเหตุการณ์ รูปแบบ ลักษณะแทน เช่น ฉันจะต้องเป็นคนมีเมตตา ฉันจะต้องมีน้ำใจ ฉันจะต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ ซึ่งอาจจะมีความซ้อนตรงที่แอบเสพความสุขจากการได้เป็นผู้ให้เหล่านั้นเช่น เสพติดการได้รับคำชม ได้ชื่อเสียง ได้ความเคารพ ลักษณะเหล่านี้จะซับซ้อนและสังเกตได้ยาก เป็นอัตตาที่ซ่อนตัวอยู่ในโลกธรรม
ความรักตัวเองในมุมของอัตตา แม้ว่าจะไม่ได้หาวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของภายนอกมาเสพเหมือนกาม แต่ก็ยังเสพเหตุการณ์อยู่ ยังติดดียึดดีอยู่ รักความเป็นตัวของตัวเอง รักนิสัย รักศักดิ์ศรี รักลาภ ยศ สรรเสริญ รักความสุข จึงหาเหตุการณ์เหล่านี้มาบำเรอสุขให้ตนอยู่
แม้จะสามารถรักตัวเองจนดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นผู้มีรายได้มาก มีตำแหน่งใหญ่โต มีคนยกย่องนับถือ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการรักตัวเองอย่างแท้จริง เพราะการหาเหตุการณ์ใดๆมาเสพให้สมใจตัวเอง ไม่ว่าจะความสำเร็จ ความมั่งคั่ง ความนิยม ซึ่งมักจะต้องแลกมาด้วยการทำบาป
“บาป” นั้นหมายถึงการสะสมกิเลส เสริมกิเลส บำรุงกิเลส ซึ่งจะตรงข้ามกับ “บุญ” ที่หมายถึงการชำระกิเลส ลดกิเลส ล้างกิเลส ทำลายกิเลส
หากเราได้สิ่งเหล่านั้นมาเสพจนกระทั่งเกิดความสุขจากสิ่งนั้น เหตุการณ์นั้น สภาพนั้น และเมื่อไม่ได้เสพสมดังใจหมายก็ผิดหวังเป็นทุกข์เศร้าโศกเสียใจ ก็ให้รู้ไว้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เหตุการณ์ที่มาโดยกุศลกรรม แต่หากเป็นผลจากพลังของกิเลสที่ผลักดันเราให้ยึดมั่นถือมั่นในการจะได้เหตุการณ์ใดๆจนแสวงหามาเพื่อให้ได้เสพสมใจให้สมกับอัตตาที่มีนั่นเอง
3). รักตัวเอง (อนัตตา)
เมื่อเห็นแล้วว่าการรักตัวเองด้วยการหามาเสพด้วยวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ หรือแม้กระทั่งสร้างเหตุการณ์ต่างๆที่ทำให้สมใจนั้น เป็นการทำตามกระแสของกิเลสทั้งนั้น กิเลสจะพาให้เราเสพสิ่งต่างๆ ให้เรายึดมั่นถือมั่นและหามาเสพไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนหลงว่าเป็นความสุข เป็นการให้รางวัลชีวิต เป็นเป้าหมายในชีวิต เป็นคุณค่าของชีวิต เป็นความหมายของการเกิดมา เป็นตัวเป็นตน เป็นการรักตัวเองโดยการสนองตัวเองให้เสพสุขไปกับสิ่งเหล่านั้น
สิ่งที่จะกล่าวกันต่อไปนี้ อาจจะขัดใจกันสักหน่อย นั่นคือสิ่งที่คนแสวงหาทั้งหมดไม่ว่าจะกามหรืออัตตา ต่างก็เป็นการทำทุกข์ทับถมตนทั้งสิ้น สร้างอกุศลคือความชั่ว สะสมไปเป็นอกุศลกรรม คือกรรมชั่วที่จะส่งผลให้เราทุกข์ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ในวันใดวันหนึ่ง นั่นก็เพราะเรามีการสะสมกิเลสซึ่งเป็นเชื้อทุกข์ที่ร้ายสุดร้ายเข้าไปในจิตวิญญาณ
ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์จากทั้งกามและอัตตา ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะสะสมกิเลสไปเรื่อยๆ ได้เสพก็ติดสุข ไม่ได้เสพก็ทุกข์จนต้องหามาเสพ นั่นหมายถึงว่าทุกๆวันของชีวิตการคือสะสมบาป เวร ภัย ทุกข์ให้กับตัวเอง ดังนั้นจึงเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าการรักตัวเองไม่ได้
ไม่ว่าจะกามหรืออัตตา ต่างก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน หลายคนบอกว่าที่ฉันเสพมันก็สุขนะ ได้กินของอร่อย ได้ท่องเที่ยว ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ฯลฯ ซึ่งมันก็สุขจริง แต่เป็นสุขลวงแถมด้วยความทุกข์แท้ๆ ได้เสพก็สุขนิดหน่อยแต่สุดท้ายก็จะทุกข์มาก ทุกข์เพราะความอยากเสพ ทุกข์เพราะวิบากบาปในการหามาเสพ เหมือนยาเสพติดหยุดไม่ได้ ถึงจะรู้ว่ามีโทษแต่ก็สุขจนหยุดเสพไม่ได้ จึงกลายเป็นทุกข์แท้ๆเลยทีเดียว
ความไม่เที่ยงนั้นคือสภาพสุขที่ได้เสพ โอกาสที่จะได้เสพ หรือความสุขเหล่านั้นต่างไม่เที่ยง ไม่คงที่ สุขไม่นานก็จางคลาย เช่นเรากินอาหารที่อร่อย ความอร่อยนั้นอยู่ตรงไหน เรากินทุกวันมันจะอร่อยเหมือนวันแรกไหม สุขที่เกิดขึ้นมันไม่เที่ยงเลย มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา
และความไม่มีตัวตน นั่นหมายถึงสภาพสุขจากการเสพนั้นแท้จริงไม่มีตัวตน มันไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้สุขจากการเสพนั้น แต่กิเลสทำให้เราสุข แต่เป็นสุขลวงๆ แล้วเราก็หลงยึดสุขน้อยทุกข์มากนั้นเป็นตัวเราของเรา ยึดกิเลสเป็นตัวเรา ทั้งที่มันไม่ใช่ตัวเรา เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ เราไม่จำเป็นต้องกินสามมื้อ เราไม่จำเป็นต้องแต่งหน้าแต่งตัว เราไม่จำเป็นต้องกินเหล้า เราไม่จำเป็นต้องมีบ้านใหญ่โต เราไม่จำเป็นต้องมีคู่ครอง เราไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งใหญ่โต เราไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียง เราไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมั่งคั่ง เราไม่จำเป็นต้องมีคนนับหน้าถือตา แต่เพราะเรามีตัวตนของกิเลสเป็นของเรา เราจึงเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจำเป็น เชื่อว่าเป็นสาระของชีวิต เชื่อว่าเป็นความสุข ความเจริญ ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นมันไม่มีตัวตน ไม่มีสาระอะไรเลย
ความรักตัวเองในมุมของอนัตตา คือความรักแบบไม่มีตัวตน นั้นคือไม่มีตัวตนของกิเลสในจิตวิญญาณ ไม่มีกาม ไม่มีอัตตา เพราะทำลายทั้งกามและอัตตาจึงเข้าสู่สภาวะของอนัตตา แต่ไม่ได้หมายถึงแค่ไม่มีตัวเรา ไม่ใช่อนัตตาแบบท่องจำที่ทำกันโดยทั่วไป “ทุกสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป,ทุกสิ่งไม่ใช่ตัวเราของเรา” ท่องแบบนี้มันก็ท่องได้ เป็นสมถะ เอาไว้กดอาการของจิตได้ดีแต่ทำลายกิเลสไม่ได้
การปฏิบัตินั้นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สภาวะของอนัตตานั้นเป็นผลของการปฏิบัติ ไม่ใช่วิถีทางปฏิบัติ(มรรค) ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดเอาอนัตตามาเป็นตัวปฏิบัติ เพราะการจะรักตัวเองได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องเว้นจากทางโต่งสองด้าน คือกามและอัตตา โดยปฏิบัติยึดหลักทางสายกลาง จนเกิดเป็นผลที่เรียกว่า “อนัตตา”
ความรักตัวเองด้วยอนัตตานี้เองจะเป็นความรักที่สร้างแต่กุศลอยู่ฝ่ายเดียว ทำแต่กุศลกรรม มีแต่การสร้างอนาคตที่ดี ไม่มีการสะสมบาป หรือสะสมอกุศลกรรมใดๆให้ตัวเองต้องได้รับทุกข์ โทษ ภัย ในอนาคตทั้งในชาตินี้และชาติหน้า นี่คือความรักตัวเองอย่างแท้จริงเพราะได้ส่งต่อสิ่งที่ดีให้กับตัวเองในอนาคต สร้างกรรมดีให้กับตัวเองในอนาคต จึงจะมีแต่เจริญไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่มีถอยหลัง ไม่ตกต่ำ ไม่กลับมาชั่ว ปิดนรก ปิดทางฉิบหายได้สนิท ไม่ว่าจะในชาตินี้หรือชาติหน้าจนกระทั่งชาติอื่นๆต่อไป
เมื่อเรารักตัวเอง เราจึงควรเรียนรู้ที่จะรักตัวเองด้วยการเว้นขาดจากทางโต่งสองด้านคือกามและอัตตา จนกระทั่งทำลายกิเลสที่เป็นตัวผลักให้เราไขว้เขวไปในทางโต่งทั้งสองด้านจนสิ้นเกลี้ยง ทีละเรื่อง สองเรื่อง เริ่มจากกิเลสที่ไม่ยากมาก ให้โอกาสตัวเองได้เรียนรู้ความรักที่แท้จริง ความรักที่ไม่มีกาม ไม่มีอัตตา รักที่เป็นอนัตตาอย่างเที่ยงแท้ แน่นอน ไม่มีหลอกลวง เป็นประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้อื่นตลอดไป สะสมอนัตตาในแต่ละเรื่อง เจริญขึ้นไปเรื่อยๆตามลำดับโดยการศึกษาเรียนรู้ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อก้าวข้ามภพของกิเลสทั้งหมด ไปจนกระทั่งเป็นผู้ที่มีแต่ความผาสุกอย่างยั่งยืน
การรักตัวเองได้อย่างแท้จริง จะทำให้เราไม่ยอมเปิดโอกาสให้ตัวเองไปทำบาป ไม่ชักชวนให้คนอื่นทำบาป ไม่ส่งเสริมให้คนทำบาป ไม่ยินดีในบาปเหล่านั้น ไม่ทำอกุศลกรรมใดๆ ที่จะกลายเป็นสิ่งที่ผูกมัดตัวเองไว้กับทุกข์
– – – – – – – – – – – – – – –
26.1.2558
จิตว่าง
จิตว่าง
…ว่างจากอะไร?
จิตว่างเป็นคำที่ในยุคสมัยนี้นิยมกันมาก เพราะเป็นคำที่สั้น จำง่าย เหมาะกับยุคที่รวดเร็วร้อนแรงเช่นนี้อย่างยิ่ง แต่หลายคนมักจะมีนิยามของจิตว่างในใจที่ต่างกันออกไป มีการแตกประเด็นออกไปมากมายจากคำนี้ตามแต่ใจคน
เรื่องที่มาของคำนี้จะขอยกไว้ จะกล่าวแต่เพียงความเห็นที่ได้พบและประสบมาในปัจจุบัน เราอาจจะได้ยินคำว่าจิตว่างบ่อยครั้ง แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันว่างจากอะไร? แล้วมันว่างยังไง? ว่างแบบไหน? ต้องขนาดไหนถึงเรียกว่าว่าง? ว่างจริงๆมันเป็นอย่างไร?
จริงอยู่ที่ว่าสภาวธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบอกกล่าวไม่ได้ เพียงแค่บอกแล้วอาจจะไม่เข้าใจกันเท่านั้นเอง แต่การไขสภาพหรือบอกกล่าวกันไว้ให้เป็นหลักอ้างอิงก็ยังดีกว่าไม่ได้ชี้แจงอะไร เพราะหากเราจะเหมารวมทุกอย่างเป็นปัจจัตตังแล้วเก็บอมไว้ แล้วใครล่ะจะรู้ว่าสิ่งที่คิดและเข้าใจนั้นมันถูกต้องจริงไหม บางครั้งเราอาจจะไปยึดสภาพที่ยังไม่ถูกตรงนักมาเป็นผลก็ได้ใครจะรู้…
1). จิตว่างจากความทุกข์
จิตว่างจากทุกข์นี้เป็นประโยคที่ตีความได้ทั้งทางโลกและทางธรรม แต่น้ำหนักส่วนใหญ่น่าจะเป็นไปทางโลก เพราะการจะว่างจากทุกข์นั้นทำได้ไม่ยากนัก ไม่ต้องใช้ธรรมะ ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นเรากำลังทุกข์เพราะหิว การไปกินอาหารก็ทำให้ทุกข์นั้นหายไป จิตก็ว่างจากทุกข์แล้ว
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง กำลังรู้สึกหงุดหงิดใจเพราะทำเงินหาย แต่พอเดินไปดูละครมันก็ลืมเรื่องทุกข์ไปแล้ว มันก็กลายเป็นจิตว่างจากทุกข์ อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น กำลังอกหักแฟนที่รักและผูกพันมาทิ้งไป ก็ไปทำให้จิตว่างจากทุกข์ด้วยการเสพสุขอื่นๆให้มัวเมาจนลืมทุกข์
สภาพของจิตว่างจากทุกข์นั้นโดยทั่วไปก็สามารถใช้วิธีวิ่งไปหาสุขก็สามารถออกจากสภาวะทุกข์ได้แล้ว หรือถ้าจะใช้สมถะเข้ามาช่วยก็ได้เช่นกัน ความเข้าใจว่าจิตว่างจากทุกข์จะพาลให้เฉโก(ฉลาดในเรื่องสะสมกิเลส)พาชีวิตไปเสพแต่สุขโลกีย์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเข้าใจว่าต้องทำชีวิตให้สุข ต้องอยู่อย่างมีความสุข ไม่จมทุกข์
จริงๆแล้วจิตว่างจากทุกข์นั้นก็หมายถึงการคิดบวก การคิดในแง่ดี มองโลกในแง่ดีทั่วไป แม้ทางภาษาอาจจะต่างกันแต่สภาวะนั้นเป็นแบบเดียวกัน
ในส่วนจิตว่างจากทุกข์ในระดับทางธรรมนั้นจะต่างออกไป คำว่าว่าง คือไม่มี ว่างจากทุกข์คือไม่มีทุกข์เลย ทุกข์ในที่นี้คือทุกข์ทางใจเท่านั้น และผู้ที่จะเกิดสภาพนี้ได้คือผู้มีสภาวะของพระอรหันต์เท่านั้น เข้าใจง่ายๆแค่ว่าไม่มีกิเลสก็ไม่ต้องทุกข์ ดังนั้นมันจึงว่างจากทุกข์
2). จิตว่างจากความคิด
เป็นอีกความหมายหนึ่งของจิตว่างที่ได้ยินบ่อย หลายคนตีความว่า “สุขก็เพราะความคิด ทุกข์ก็เพราะความคิด” ก็เลยหาวิธีดับความคิดเสียเลย
การทำให้จิตว่างจากความคิดปรุงแต่งหรือการสังขารนั้น โดยทั่วไปมักจะใช้วิธีการสมถะเข้ามาจัดการกับความคิด ใช้อุบายทางใจที่สารพัดจะคิดขึ้นมา ตบ ดับ กดข่ม เมินเฉย ดูเฉยๆ รอจนดับไป หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้เราไม่ต้องไปยุ่งกับความคิดเหล่านั้นซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นวิธีของสมถะ
ในสมัยนี้วิธีสมถะนั้นมีมากมาย ที่รู้กันโดยทั่วไปก็จะมีนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพ่งกสิณ จดจ่ออยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ก็มีการพัฒนาวิธีขึ้นให้เหมาะกับจริตของคนที่หลากหลายขึ้นเช่นการขยับตัวไปในท่าต่างๆ ย้ายจิตไปจดจ่อกับสิ่งอื่น ทิ้งผัสสะที่เกิดขึ้นแล้วไปสนใจสิ่งอื่น จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำโดยไม่คิด ไม่ปรุงแต่งใดๆ
การฝึกสมถะจะได้ผลเป็นฌานอยู่เหมือนกันแต่จะเป็นฌานฤๅษี เกิดจากการทำให้จิตจมไปอยู่ในภพใดภพหนึ่งและจมลึกไปเรื่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ ดับตั้งแต่สังขาร(ความคิด) ดับสัญญา(ความจำได้หมายรู้) จนเกิดเป็นสภาพที่จิตว่างจากความคิด เกิดความสงบ เป็นความสุขที่เกิดจากความทุกข์ที่ถูกดับทิ้งจากการคิดฟุ้งซ่านนั่นเอง
การทำสมถะในสมัยนี้ก็มีรูปแบบให้เห็นอย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น “สมถะลืมตา” คือทำสมถะทั้งที่ลืมตาและใช้ชีวิตนั่นแหละ ใช้ชีวิตได้แบบคนปกติเลย ไม่ต้องไปนั่งสมาธิ แต่ก็ใช้วิธีของสมถะดับความคิดไปด้วย จนบางครั้งมีหลายคนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา ซึ่งจริงๆแล้วมักจะไม่ได้เกี่ยวกับการวิปัสสนาเลย เป็นสมถะแท้ๆเพียงแค่ไม่ได้ทำเหมือนที่เข้าใจโดยทั่วไป
เมื่อสามารถทำจิตว่างจากความคิดได้แล้วเกิดความสุขความสงบ หลายคนจึงปักมั่นในสภาวะนั้นว่าคือผลเจริญของพุทธ จริงๆแล้วไม่ใช่เพราะการปฏิบัติแบบสมถะหรือแบบฤๅษีก็มีผลเจริญและสงบแบบฤๅษีเช่นกัน มันมีความสุขจริง มันว่างจริง ซึ่งมักจะพาให้เข้าใจผิดกันไปได้
หลายคนพอใจที่ตัวเองทำจิตว่างจากความคิดได้ จนสามารถควบคุมความคิดได้ แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าวิธีนั้นคือวิธีพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นความประมาทที่ค่อนข้างมาก เพราะลืมพิจารณาไปว่าความคิดเหล่านั้นมันเกิดขึ้นเพราะอะไร อะไรคือตัวการที่ทำให้คิด ทำไมมันจึงทุกข์เมื่อคิด สิ่งเหล่านี้มักจะถูกมองข้ามไป เพราะหลงเสพหลงยึดเพียงความสงบด้วยความว่างจากความคิดนั่นเอง
3). จิตว่างจากตัวตน
เป็นอีกลักษณะความเข้าใจที่มักจะพบเห็นได้โดยทั่วไป เพราะเขาเหล่านั้นเห็นว่าการมีอัตตาเป็นทุกข์ ก็เลยทำให้เป็นอนัตตาเสียเลย ปราศจากตัวตนเสียเลย ว่างจากตัวตนเสียเลยก็น่าจะดี
จริงๆแล้วการใช้ตรรกะหรือความคิดเข้าไปกำหนดสภาวะมันก็ดูจะเป็นอะไรซื่อๆไปสักหน่อย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนยึดมั่นถือมั่นการใช้ภาษาเข้ามากำหนดสภาวธรรม เพราะจริงๆแล้วการทำลายอัตตาจนกลายเป็นอนัตตานั้นไม่ได้ง่ายเพียงแค่คิด เพียงแค่กำหนดจิต เพียงแค่หมั่นกระทำจิตให้ไม่ถือตัวถือตน มีอะไรมากระทบก็วางเฉย เห็นว่าเป็นเช่นนั้นเองมันก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเช่นนั้นเอง สิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของเราก็เท่านั้นเอง มันคิดและท่องจำเอาแบบนี้ไม่ได้
การกระทำเหล่านั้นแท้จริงก็อยู่ในลักษณะของสมถะ เป็นการทำสมถะที่ใช้ธรรมะเข้ามาเป็นกรรมฐาน ใช้เป็นบทบริกรรมแทนพุท-โธทั่วไป ซึ่งจะดูซับซ้อนกว่าวิธีสมถะทั่วไปอยู่บ้าง แต่การคิดพิจารณาเป็นรูปแบบเดิมๆ ซ้ำแบบเดิมๆ เพื่อให้จิตเข้าสู่ภพใดภพหนึ่ง หรือสภาพใดสภาพหนึ่งก็เป็นสมถะอยู่ดี ยังไม่ได้เข้าวิปัสสนาแต่อย่างใด
ความเห็นเช่นนี้มักจะมีคนสนใจมาก แม้คนที่เชื่อเช่นนี้ก็จะดูดีมาก ดูเหมือนคนไม่ยึดมั่น ไม่มีอัตตา ดูเหมือนสามารถปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ จริงๆแล้วก็เหมือนฤๅษีที่ทำสมถะ ทำสมาธิจนเป็นฌานทั่วไปนั่นแหละ มันก็จะมีความสุข ความสงบที่เกิดขึ้นเช่นกัน
แต่การเข้าใจว่าจิตว่างจากอัตตาแล้วใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้การตรึกตรองในความไม่มีอัตตาแล้ว อาจจะให้ผลเสียที่ร้ายสุดท้ายก็ได้ เพราะการที่เราคิดหรือหมายมั่นว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือการไม่มีอัตตาตั้งแต่แรกคือการเอาตอนจบมาทำตั้งแต่แรก ซึ่งขัดกับหลักของพุทธ เพราะศาสนาพุทธนั้นต้องปฏิบัติไปโดยลำดับ จากหยาบ กลาง ละเอียด
แน่นอนว่าก่อนจะไปถึงการไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือไม่มีอัตตานั้น จะต้องทำลายทางโต่งไปทางด้านกามเสียก่อนถึงจะมีผลเจริญจริงๆ แต่ในเมื่อเราใช้ความเห็นผิดเข้ามาเป็นตัวปฏิบัติ ใช้กรรมฐานเข้ามากดข่มให้เกิดสภาพอนัตตาหลอกๆ ก็เหมือนเราข้ามขั้นตอน เหมือนข้อสอบที่มีคำถามสองหน้า แต่เราพลิกไปทำหน้าหลังแล้วส่งเลย
ธรรมะก็เช่นกัน กามนั้นมีภัยมาก หลายคนที่ทำตัวให้รู้สึกว่าเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่แรกก็จะหลงกลายเป็นว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในการละกามเสียเลย มองว่าการไปละกามนั้นคือตัวตนก็ว่าได้ กลายเป็นมองว่าไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนให้ยึดมั่นถือมั่น
สุดท้ายก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย จริงๆแล้วก็เหมือนคนธรรมดาที่ยังเสพกามนั่นแหละ แต่แย่กว่าตรงที่หลงผิด หลงผิดทั้งลำดับการปฏิบัติ หลงผิดทั้งสมถะวิปัสสนา หลงผิดทั้งอัตตา-อนัตตา คือไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย มาถึงก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น สุดท้ายก็เสพกามแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำชั่วแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็เพี้ยนไปอย่างนั้นเอง
จิตว่างจากตัวตนแท้นั้นก็มีผลอยู่แต่จะอธิบายอยู่ในหัวข้ออื่นต่อไป…
4). จิตว่างจากปัญญา
จิตว่างแบบนี้ที่จริงแล้วไม่มีอยู่หรอก ไม่มีใครบัญญัติไว้ สร้างขึ้นมาใหม่ในบทความนี้เพื่อเป็นตัวสรุปของความผิดพลาดในการปฏิบัติธรรมจนหลงผิด
วิธีการปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนั้นมีมาก หลายคนแม้จะเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดมรรคผลตามหลักศาสนาพุทธ แน่นอนว่าการปฏิบัติที่เพียรพยายามนั้นต้องการผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนก็จะนำมาซึ่งผลที่ผิดเพี้ยนเช่นกัน
ผู้มีมรรคผลที่ผิดเพี้ยนมักจะไม่รู้ตัว เพราะคนที่มิจฉาทิฏฐิจะไม่มีทางรู้ตัวอยู่แล้ว ก็จะเชื่อว่าตนเองนั้นสัมมาทิฏฐิ เชื่อว่าการปฏิบัติของตนนั้นถูกต้อง พ้นทุกข์ได้จริง ปฏิบัติได้จริง มีผลจริงๆ สภาพที่เห็นจะเหมือนกับการปฏิบัติแบบพุทธเลย แต่นามธรรมภายในจะต่างกัน เรียกว่าสัญญาเดียวกันกายต่างกัน
คือจะใช้ศัพท์ ภาษา สมมุติเหมือนกันหมด เรียกสภาวะอย่างเดียวกัน สงบก็สงบเหมือนกัน ว่างก็ว่างเหมือนกัน ดับก็ดับเหมือนกัน ดังนั้นเวลาคุยกันก็จะเหมือนว่าบรรลุธรรมพ้นทุกข์กันจริงๆ แต่ไม่มีใครรู้จริงหรอกว่าสภาพจิตใจที่เกิดนั้นถูกจริงหรือผิดเพี้ยนไป ใครจะรู้ในเมื่อมิจฉาทิฏฐิก็หลงว่าตัวเองสัมมาทิฏฐิ จึงมีผู้บรรลุธรรมเต็มประเทศไปหมด แล้วคนไหนของจริง คนไหนของปลอม ใช้อะไรแยก จะรู้ได้อย่างไร คนนั้นก็อวดว่าตนจริง แล้วก็ชี้ว่าคนอื่นปลอม มันก็มีให้เห็นแบบนี้บ่อยๆ
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สัมมาอริยมรรคนั้นเป็นทางเอกทางเดียวที่พาพ้นทุกข์ เราสามารถใช้มรรคที่ถูกตรงนี้เป็นตัววัดได้คร่าวๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีหลายสำนักหลายกลุ่มที่อ้างว่ามรรคของตนถูก แน่นอนว่ามีทั้งถูกและผิด มิจฉาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรค สัมมาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรคและเกิดสภาพจิตว่างเหมือนกันด้วย
กลับมาที่หัวข้อ ในหัวข้อนี้คือ “จิตว่างจากปัญญา” ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่มีปัญญา ดังนั้นจิตที่ว่างจากปัญญาจึงไม่ใช่พุทธ ปัญญาในทีนี้นั้นไม่ใช่ปัญญาที่เพียงแค่ทำให้มีความสงบ ความสุข ความว่างจากความคิด ความว่างจากตัวตนโดยใช้ความคิด แต่เป็นปัญญาที่ทำให้สงบจากกิเลส ชำระกิเลส ดับกิเลส
การดำเนินตามสัมมาอริยมรรคนั้นหมายถึงทางที่พาไปสู่ความเจริญเพียงอย่างเดียว ทางที่พาลดละกิเลส สวนกระแสโลก ทางที่พาให้คิดดี พูดดี ทำดี ทำงานดี ดังนั้นการไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำนั้นไม่ใช่วิธีปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ การที่จะเดินทางไปสู่ความผาสุกจะต้องคิด พูด ทำ
แล้วมันต้องคิด พูด ทำอะไร? ก็คือคิดไปในทางลดกิเลส พูดแต่เรื่องลดกิเลส ทำแต่สิ่งที่พาลดกิเลส
แล้วมันจะคิด พูด ทำ อย่างไร? แบบนี้มันก็ต้องมีปัญญา คนที่ปฏิบัติยังไม่ถูกทางก็จะไม่มีปัญญา จิตก็เลยว่างจากปัญญา กลายเป็นคนไม่มีปัญญา แม้จะมีความสุข ความสงบ ความไม่มีตัวตน แต่กลับไม่มีปัญญารู้ในเรื่องลดกิเลส ไม่มีปัญญาจัดการกับกิเลส ไม่รู้แจ้งเรื่องกิเลส ก็เรียกได้ว่า “จิตว่างจากปัญญา”
5). จิตว่างจากกิเลส
มาถึงประเด็นหลักกันเสียที ถ้าจะให้คำว่าจิตว่างมันถูกตรง ถูกตามพุทธนี่มันก็ต้องว่างจากกิเลสนี่แหละ แต่สภาวะว่างจากกิเลสนั้นก็ยังมีคนหลงผิดกันไปมาก ก็จะขอขยายตรงนี้กันให้เข้าใจกันเสียก่อน
เรามักจะเข้าใจว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นคือกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความโลภ ฯลฯ ซึ่งก็ถูกต้องเช่นนั้น แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นกิเลสปลายเหตุ หลายคนสามารถดับความโกรธที่เกิดขึ้นได้แล้วหลงเข้าใจไปว่า เรานี่ว่างจากกิเลสแล้ว ซึ่งจริงๆมันก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้นเสียทีเดียว
การดับความโกรธ ความคิด ความฟุ้งซ่านต่างๆได้ ถ้าเราใช้วิธีสมถะก็สามารถดับทิ้งไปได้แล้ว ยังไม่ได้เข้าหลักการลดกิเลสแต่อย่างใด เป็นเพียงการใช้สมถะเข้ามาตบกิเลสที่ฟุ้งขึ้นมาให้ดับลง ทำให้กิเลสที่แสดงตัวนั้นดับลงเท่านั้น จริงๆแล้วคนที่ทำได้แบบนี้ก็ถือว่าดีแล้ว เก่งแล้ว แต่ก็มักจะหลงเข้าใจว่า สิ่งนี้เรียกกว่าการดับกิเลส หรือจิตว่างจากกิเลส ซึ่งจริงๆเรื่องกิเลสมันไม่ได้ตื้นเขินแบบนั้น มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น
การที่จะจิตว่างจากกิเลสได้ ต้องปราศจากกิเลสใดๆในเรื่องนั้นๆเลย ถ้าว่างได้หมดก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้นเอง แต่การจะว่างได้ก็ไม่ได้ว่างเพียงแค่ดับปลายเหตุ แต่ต้องขุดลึกลงไปถึงต้นเหตุที่เรียกว่าสมุทัย
โดยทั่วไปเรามักจะมองง่ายๆ แบบตื้นๆว่า ทุกข์เกิดเพราะเราโกรธเพราะเรามีตัวตน พอเราดับความโกรธดับตัวตนก็ไม่ต้องทุกข์ แบบนี้ใช้สมถะก็ได้ ฤๅษีก็ทำได้ยังไม่ต้องเข้าพุทธ ซึ่งหมายความว่าวิธีดับที่เหตุนี่ยังไม่ใช่พุทธนั่นเอง
แต่ถ้าวิธีของพุทธจะมองสมุทัยลึกลงไปอีก เช่น เราเกิดทุกข์เพราะเราโกรธ แล้วเราทำไม่จึงโกรธ เพราะเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพสมใจใช่ไหม แล้วเราอยากเสพสิ่งนั้นไปทำไม เราติดสุขอะไร …. การหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีรูปแบบแน่ชัดนัก ขึ้นอยู่ว่าใครสะสมกิเลสมาหนาขนาดไหน ซับซ้อนขนาดไหน แต่ละคนก็จะมีเหลี่ยมมุมในการวิเคราะห์กิเลสที่แตกต่างกัน เพราะเราชอบต่างกัน ยึดติดต่างกัน เรามีตัวตนที่ต่างกันไปตามกรรมของแต่ละคน
ดังนั้นการปฏิบัติธรรมนั้นจึงไม่มีสูตรสำเร็จใดๆให้ท่องจำแล้วทำตามจึงจะบรรลุธรรม แต่เป็นการปฏิบัติไปเพื่อล้างกิเลสที่เป็นของตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเอาเอง ทำเอาเอง ตามรูปแบบของกิเลสตัวเอง จะมีก็เพียงหลักพื้นฐานเพื่อให้พิจารณาเช่น ไตรลักษณ์ ประโยชน์และโทษ กรรมและผลของกรรม
แต่การพิจารณานี้ไม่ได้พิจารณากันที่ผลที่เกิด แต่ต้องพิจารณาไปที่สมุทัย ที่กิเลสที่ซ่อนอยู่ลึกๆ เหมือนกับการแก้ปัญหาให้ถูกจุด ถ้าเราไปใช้ไตรลักษณ์ ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน กับความโกรธที่เป็นผลปลายเหตุ มันก็จะเข้าลักษณะของสมถะเท่านั้นเอง
เพราะแท้จริงแล้วการจะได้มาซึ่งจิตว่างจากกิเลสไม่ใช่ด้วยการท่องจำ หรือใช้กรรมฐานต่างๆ พอเราเจอตัวกิเลสจริงๆ มันจะพิจารณาไตรลักษณ์ไม่ออก เมื่อเรายึดติดเราจะรู้สึกว่ามันเที่ยง ไม่เป็นทุกข์ มันเป็นตัวตนของเรา กิเลสจะไม่ยอมให้เราเห็นต่างจากนี้ ถึงแม้เราจะท่องด้วยภาษา แต่จิตเราไม่ได้ลดกิเลสจริง มันก็จะติดจะยึดอยู่แบบนั้นเอง นี่แหละคือความจริงของการปฏิบัติธรรม รู้จริง เห็นจริง ในทุกเหลี่ยมมุมของกิเลสกันเลย
ทีนี้พอปฏิบัติเพื่อชำระล้างกิเลสเป็นแล้ว เข้าใจอริยสัจ ๔ ,สัมมาอริยมรรคแล้ว ก็จะเดินหน้าลุยล้างกิเลสลูกเดียว มีกิเลสไหนสู้ไหวก็จะสู้ ไม่ปล่อยทิ้งให้เวลาเสียเปล่า จนเกิดเป็นผลจริง เกิดความว่างจากกิเลสจริง
แล้วว่างจากกิเลสในเรื่องไหน? ก็ว่างจากกิเลสในเรื่องที่ตั้งศีลเพื่อปฏิบัติ แล้วปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ใช้ไตรสิกขาเพื่อข้ามสามภพคือ กามภพ รูปภพ อรูปภพของกิเลสนั้นๆ จนกระทั่งกิเลสตาย
เมื่อกิเลสตายจึงว่างจากทุกข์ ว่างจากความคิดที่เจือปนด้วยกิเลส ว่างจากอัตตาตัวตนเพราะไม่ยึดมั่นทั้งกามและอัตตา จิตว่างที่แท้จริงมันว่างแบบนี้ มันว่างจากกิเลสเช่นนี้
6). สรุป
จริงๆแล้วคำว่า “จิตว่าง” คือสภาพของผล คือผลที่เจริญแล้ว คือการปฏิบัติที่เห็นผลแล้ว แต่หลายคนที่หลงผิดกลับเอา “จิตว่าง” มาเป็นมรรค คือใช้จิตว่างมาเป็นตัวปฏิบัติ พยายามให้จิตที่มีนั้นว่าง โดยมากก็ใช้วิธีสมถะทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อใช้มรรคที่ผิดจากทางพุทธ ผลก็ผิดจากทางพุทธไปด้วยเช่นกัน
– – – – – – – – – – – – – – –
12.1.2558
กิเลสนอนก้น
กิเลสนอนก้น
…เมื่อการปฏิบัติธรรม ไม่ได้ทำให้เจริญไปถึงข้างในจิตใจ
เคยคิดสงสัยกันหรือไม่ ว่าแท้จริงแล้วผลของการปฏิบัติธรรมนั้นจะเป็นเช่นไร ที่เขาว่ายิ่งกว่าสุขเป็นแบบไหน แล้วแบบที่ทำอยู่จะให้ผลเช่นไร การปฏิบัติของพุทธแท้จริงแล้วเป็นอย่างไรในเมื่อมีหลากหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีนั้นก็มีเหตุผลมีที่อ้าง แล้วเราจะปฏิบัติตามแบบไหน ทางไหนคือทางที่พาพ้นทุกข์
ก่อนจะเข้าเรื่องก็มาเรียนรู้เรื่องกิเลสกันก่อน ซึ่งจะขอเปรียบกิเลสดังโคลนในแก้วน้ำ โดยปกติเราก็จะมีโคลนและมีน้ำที่เปรียบดังจิตอยู่ในแก้ว เมื่อมีการกระทบจนเกิดการสั่นไหว โคลนที่นอนก้นอยู่ก็จะกระจายตัวทำให้น้ำขุ่นเหมือนดังจิตที่ขุ่นมัว
วิธีที่จะทำให้โคลนเหล่านั้นสงบนิ่ง คือใช้วิธีของการทำสมถะ หรืออุบายทางใจเข้ามากดข่มจิตใจด้วยวิธีต่างๆมากมาย ในกรณีนี้ก็คือทำให้น้ำที่ขุ่นนั้นใสนั่นเอง และเรามักจะได้ยินคำเรียกน้ำที่ใสจากตะกอนโคลนนั้นว่า “จิตว่าง” ว่างจากอะไร? ว่างจากความคิด ว่างจากการปรุงแต่งหรือสภาพที่โคลนนั้นฟุ้งไปทั่วแก้ว เมื่อจิตว่างจากโคลนที่ฟุ้งแล้วจึงค่อยคิด นี่คือวิธีที่พบเห็นและปฏิบัติกันโดยทั่วไป
วิถีทางของสมถะจะให้ความสนใจโคลนที่ฟุ้งอยู่ในน้ำ มุ่งประเด็นไปที่ความฟุ้งซ่าน ความคิดต่างๆ ดังนั้นการใช้สมถะในวิถีทางต่างๆเช่นเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือแบบประยุกต์เช่น ขยับตัวเพื่อรู้ ใช้ธรรมะเข้ามาตบความคิด ใช้ไตรลักษณ์เข้ามาตบความฟุ้งซ่าน กำหนดรู้ รู้ตามจิต รู้ตามความคิด รู้นามรูปโดยใช้ตรรกะ หรือวิธีใดๆที่วนอยู่ในรูปแบบหนึ่งๆ เพื่อให้หลุดพ้นออกจากจิตที่เป็นทุกข์นั้นๆ เป็นวิธีการฝึกสมถะทั้งแบบหลับตาและลืมตาที่ใช้กันโดยทั่วไป จนบางครั้งอาจจะทำให้หลงเข้าใจไปว่าการฝึกสมถะเหล่านั้นคือการวิปัสสนา
! ต้องขออภัยจริงๆ ที่บทความนี้อาจจะดูเหมือนไปข่มการทำสมถะด้วยวิธีต่างๆ แต่ก็จำเป็นจะต้องชี้ให้เห็น เพราะจะมีผลไปถึงการปฏิบัติ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสมถะไม่ดี มันดีและเป็นสิ่งที่เพิ่มกำลังให้กับการวิปัสสนาด้วย แต่การนำสมถะขึ้นมาเป็นการปฏิบัติหลักเพื่อการพ้นทุกข์จากกิเลสนั้นจะทำให้หลงติดภพ
และเมื่อเข้าใจว่า “ความว่าง “คือ “จิตที่ว่างจากความคิด” หรือสภาพที่โคลนสงบ ไม่ฟุ้ง น้ำใส เหมือนจิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิด ไม่กังวล ไม่โกรธ มีสติ สงบ ฯลฯ เป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกกับหลักของพุทธเสียทีเดียว เพราะอยู่ในขีดของสมถะหรือการปฏิบัติแบบฤๅษีทั่วไปเท่านั้น
เพราะถึงแม้น้ำในแก้วจะใส แต่ถ้ามีกิเลสนอนก้นอยู่แล้วเราจะเรียกว่าจิตว่างได้อย่างไร ความคิดที่ออกมาตอนฟุ้งหรือตอนสงบก็ปนเปื้อนไปด้วยกิเลสอยู่ดี แม้น้ำนั้นจะใสแต่ก็จะมีโคลนปนอยู่ในน้ำอยู่ดี สภาพที่ไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง แม้จะดูเหมือนว่าสงบแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส
ศาสนาพุทธเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลสจนดับกิเลส ไม่ใช่เพียงแค่การดับความคิด หยุดปรุงแต่งหรือดับสัญญาใดๆทิ้งอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว แต่หากเป็นการชำระกิเลสที่ปนเปื้อนอยู่ในความคิด ในสัญญา ในจิตวิญญาณนั้นให้หมดไป เปรียบดังผู้ที่สามารถนำโคลนออกจากแก้วได้ เมื่อโคลนน้อยลงก็จะฟุ้งกระจายน้อยลง ขุ่นน้อยลง จนกระทั่งเอาโคลนออกได้หมด แม้แก้วจะถูกเขย่าแรงเพียงใดก็จะไม่มีอะไรฟุ้ง ไม่ขุ่น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เป็นน้ำใสๆอยู่เช่นเดิม
1). การปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน
วิถีทางปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนั้นมีมากมายหลากหลายวิธี แม้ว่าจะมีรายละเอียดต่างกันไปในการปฏิบัติแต่ละแบบ แต่โดยส่วนมากนั้นจะมีทิศทางไปในทางเดียวกันคือการใช้สมถะ หรือการใช้อุบายเข้ามาบริหารใจให้เกิดสภาพจิตนิ่ง จิตว่าง สงบ หยุดคิด หยุดตัดสิน หยุดทุกข์ ฯลฯ
กิเลสนั้นเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก เข้าใจได้ยาก และทำลายได้ยาก แม้ว่าเราจะเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นกิเลส การที่เราสามารถดับทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการดับความคิดที่ปรุงแต่งใดๆ ให้เกิดจิตที่สงบหรือที่เขาเรียกกันว่า”จิตว่าง”ได้ แต่นั่นไม่ใช่ความสงบหรือความว่างแบบพุทธ เพราะนั่นคือความสงบจากสมถะ
การดับสภาพทุกข์หรือสุขที่เกิดขึ้นในใจด้วยอุบายใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพ่งกสิณ อยู่กับปัจจุบันใช้การพิจารณาไตรลักษณ์ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เข้ามากระทำต่อความฟุ้งซ่านนั้นคือการวิถีของสมถะทั้งสิ้น
แม้การปฏิบัติเหล่านั้นจะสามารถควบคุมร่างกายไม่ให้แสดงอาการ ควบคุมวาจาไม่ให้เปล่งออกมา หรือแม้กระทั่งควบคุมใจไม่ให้คิด ไม่ให้ปรุงแต่งใดๆโดยใช้สติควบคุมไว้ ก็ยังไม่ใช่วิถีทางปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เพราะต้องมาคอยควบคุม คอยกด คอยข่ม คอยดับ สิ่งปรุงแต่งทั้งกาย วาจา ใจเอาไว้เสมอ
ซึ่งโดยทั่วไปสมถะจะเน้นการฝึกสติ เพิ่มกำลังสติ ให้มีสติตลอดเวลา ฝึกสติจนมีสติอัตโนมัติ การฝึกสติเหล่านั้นเป็นการฝึกสติความรู้ตัวทั่วพร้อมทั่วไป และใช้สติเหล่านั้นไปกระทำต่อความคิด ความทุกข์ ความสุขที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการ รู้ ดับ ตบ กดข่ม ฯลฯ เพื่อให้เกิดความสงบ
แต่ถ้าหากเราสามารถปฏิบัติอย่างถูกตรงจนสามารถชำระล้างกิเลสได้ด้วยปัญญา ก็ไม่ต้องมาคอยกด ข่ม ดับ หรือต้องรู้ตัวทั่วพร้อมตลอด เพราะไม่มีกิเลสเกิดขึ้น เมื่อไม่มีกิเลสเกิด ก็ไม่มีตั้งอยู่ และไม่มีดับไป เพราะมันดับสิ้นเกลี้ยงไปตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นเมื่อสามารถทำลายกิเลสเรื่องใดๆได้จริงจะไม่มีสภาพเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของกิเลสเรื่องนั้นๆอีก
2). ธรรมไม่ถึงธรรม
เมื่อหลงเข้าใจไปว่าวิธีฝึกสติแบบสมถะคือวิธีการพ้นทุกข์ อาจจะหลงเข้าใจไปอีกว่า เมื่อฝึกสติได้ถึงระดับหนึ่งจะบรรลุธรรมระดับนั้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นความเห็นความเข้าใจที่ผิดไปจากหลักของพุทธ เพราะการบรรลุธรรมนั้นจะเกิดจากการตัดสังโยชน์ คือกิเลสที่ผูกมัดไว้ทั้ง ๑๐ ระดับ แม้ว่าจะสะสมสติแบบสมถะมากเท่าไหร่ ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการตัดกิเลสเหล่านี้เลย เพราะสังโยชน์แต่ละตัวนั้นมีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างกันไป มีความซับซ้อนต่างกัน มีความยากต่างกัน ไม่ได้ใช้วิธีเดียวกัน
แต่ด้วยความเห็นความเข้าใจตามวิบากกรรมที่แตกต่างของแต่ละคน ทำให้ความเข้าใจในธรรมนั้นต่างกันออกไป บางคนพอใจที่สามารถทำให้แก้วที่ขุ่นไปด้วยโคลนนั้นใสในพริบตา บางคนพอใจที่ดูและรู้การขุ่นและตกตะกอนของโคลน แล้วก็เข้าใจว่าเหล่านั้นคือวิธีพ้นทุกข์ที่ถูกต้อง เมื่อเขาเชื่อและหลงยึดเช่นนั้น ใจก็จะไม่แสวงหาทางอื่น มองวิธีนั้นเป็นวิธีหลัก ไม่สนใจจัดการกับโคลนที่อยู่ข้างใต้ เหมือนกับว่ามองไม่เห็นโคลน หลายครั้งเราได้ยินคำว่ากิเลส แต่ไม่มีใครพูดถึงวิธีทำลายกิเลส แม้จะได้ยินได้ฟังแต่ก็ไม่สามารถเอาไปปฏิบัติได้จริง ยิ่งปฏิบัติยิ่งหลง ยิ่งทำยิ่งงง ไปๆมาๆจะเพี้ยนไปเสียอีก
3). ปฏิบัติธรรมผิดทาง หลงทางจนตาย (ไปอีกหลายชาติ)
คาดเคลื่อนของความเข้าใจเกี่ยวกับการเริ่มต้นปฏิบัติและปริยัตินั้นมีอยู่ไม่มากก็น้อย การเข้าใจว่าปริยัติหรือเรียนรู้ธรรมมาก่อนนั้นก็ไม่ถูกเสียทีเดียว แต่การเข้าใจว่าปฏิบัติมาก่อนนั้นจะผิดไปค่อนข้างมาก เหมือนกับคนที่ไม่มีแผนที่ ไม่รู้ทาง แต่ก็จะเดินเข้าป่า ปฏิบัติไปก็จะหลง มัวเมา หนักเข้าก็หลงว่าบรรลุธรรม
หลายคนเข้าใจว่าตนเองมีอาจารย์ แต่ก็ไม่ได้ดูให้ดีว่าอาจารย์ของตนนั้นเคยเดินทางหรือเปล่า เข้าใจการปฏิบัติธรรมจริงหรือเปล่า พอติดตามคนผิดก็เข้าป่าเข้ารกเข้าพงหลงทางกันทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์ กลายเป็นกลุ่มก้อนมิจฉาทิฏฐิให้เห็นกันอยู่โดยทั่วไป
หลักตัดสินพระธรรมวินัยก็มีอยู่ ลักษณะผู้ที่บรรลุธรรมในศาสนาก็มีอยู่ แต่ครูบาอาจารย์บางพวกจะหลีกเลี่ยงการอ้างอิงจากตำรา สร้างลัทธิ สร้างชุดความเชื่อขึ้นมาใหม่ ถึงแม้จะเป็นเช่นนี้เราก็สามารถใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าตรวจสอบได้ เช่น ธรรมเหล่านั้นเป็นไปเพื่อลดกิเลสหรือไม่ เป็นไปเพื่อการพรากหรือไม่ เป็นไปเพื่อการมักน้อย ไม่สะสม กล้าที่จะจนหรือไม่ เป็นไปเพื่อสะสมบริวาร ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขหรือไม่ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนหรือไม่ เป็นคนประหยัดหรือฟุ้งเฟ้อ เป็นคนขี้เกียจหรือขยัน ฯลฯ (สามารถหาดูได้เพิ่มเติมจาก หลักตัดสินธรรมวินัย ๘ ,เป้าหมายการประพฤติพรหมจรรย์ ๙ ,วรรณะ๙)
การเข้าถึงธรรมะนั้นไม่ได้เริ่มจากการปฏิบัติก่อน พระพุทธเจ้าไม่เคยตั้งเงื่อนไขให้ใครมาปฏิบัติก่อน ท่านมักจะเทศน์โปรดก่อนเสมอทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น และท่านยังได้ตรัสสอนไว้ว่า คนจะสามารถถึงวิมุตหรือสภาพหลุดพ้นจากกิเลสได้ ต้องเริ่มต้นจากการคบหาสัตบุรุษที่บริบูรณ์ นั่นคือต้องหาครูบาอาจารย์ที่รู้จริงเสียก่อน เป็นผู้มีธรรมนั้นในตนจริงๆ เมื่อมีธรรมที่พาพ้นทุกข์ได้จริง ก็สามารถสอนให้เราพ้นทุกข์ได้จริง ลดกิเลสได้จริง ทำลายกิเลสได้จริง
เมื่อได้เจอสัตบุรุษแล้วเราจึงจะได้ฟังสัจธรรม หลังจากเราได้ฟังสัจธรรมและเข้าใจ จึงจะเกิดศรัทธา ซึ่งศรัทธาตรงนี้เกิดจากปัญญา เพราะรู้ได้เองว่าธรรมที่ได้ฟังนั้นเป็นของจริง พาพ้นทุกข์ได้จริง พาลดกิเลสได้จริง เมื่อเกิดศรัทธาก็จะเริ่มปฏิบัติตาม เกิดการทำใจในใจที่แยบคาย คือการพิจารณาธรรมที่ได้ฟังนั้นเข้าสู่ใจ ไม่ใช่ฟังหูซ้ายทะลุหูขวาหรือฟังธรรมแบบผ่านๆ แต่จะนำไปคิดพิจารณาในใจตามสภาวะของตัวเองได้ และจะเกิดสติสัมปชัญญะต่อไป เกิดการสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ ต่อไปจนกระทั่งเกิดสติปัฏฐาน ๔ ดำเนินต่อไปที่โพชฌงค์ ๗ และถึงวิชชาและวิมุตติโดยลำดับ(อวิชชาสูตร)
จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติธรรมสู่การพ้นทุกข์ต้องเริ่มจากการหาสัตบุรุษที่บริบูรณ์เสียก่อน ไม่อย่างนั้นปฏิบัติไปก็ฟุ้งเฟ้อ เนิ่นช้า ติดอยู่ในกิเลส ในภพ ในอัตตา สารพัดทางจะติดได้ เพราะคนที่เห็นผิด ก็จะพาเราไปแวะที่นั่น หลงที่นี่ ก็หลงกันไปทั้งหมู่คณะ เป็นมิจฉาทิฏฐิกันไปทั้งก้อน ซึ่งความหลงมันอาจจะไม่ได้เกิดแค่ชาติเดียว มันจะหลงตามกันไปเรื่อยๆ ตามกรรมที่ก่อไว้
คนที่หลงจะไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวเองหลงหรือเห็นว่าตนเองมิจฉาทิฏฐิ ด้วยความหลงนั้นก็จะดลให้เขาได้เชื่อและปฏิบัติในทางที่เขาหลงอยู่เช่นนั้น เมื่อเขาสอนธรรมที่ไม่ได้พาให้ลดกิเลส กล่าวแต่ธรรมที่พาเพิ่มกิเลส ให้เสพสุข ให้ร่ำรวย ให้ยึดมั่นถือมั่น เขาเหล่านั้นก็จะสะสมพลังแห่งมิจฉาทิฏฐิที่จะบดบังความจริงสู่การพ้นทุกข์เข้าไปอีก
ดังนั้นจะสรุปได้ว่า โดยทั่วไปเราไม่มีทางปฏิบัติเองจนถึงผลได้ ต้องเจอครูบาอาจารย์ที่รู้ทางจริงๆเท่านั้น การหาของจริงในของลวงนั้นยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร การจะเจอสัตบุรุษที่บริบูรณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย การจะได้ฟังสัจธรรมนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และการปฏิบัติจนถึงผลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากเรายังต้องเสียเวลากับการปฏิบัติที่พาให้หลงทางอีกมันจะช้าเข้าไปใหญ่
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้น ไม่ใช่ของเราคถาคต” คำว่าช้าในที่นี้คือไปหลงวนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ เมื่อเราติดอยู่ในความเห็นผิด ยิ่งปฏิบัติก็จะยิ่งไกลจากพุทธ ยิ่งขยันก็จะยิ่งโง่ขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งยึดมั่นถือมั่นขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้ต้องเสียเวลาไปชาติหนึ่ง เป็นโมฆะบุรุษ เกิดมาตายไปเปล่าๆไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
4). สติ แท้จริงคืออะไร
ดังที่เห็นในอวิชชาสูตร จะเห็นได้ว่า สติสัมปชัญญะ และสติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งเดียวกัน นี่ยังไม่รวมสติรู้ตัวแบบทั่วไปด้วยนะ หลงฝึกสติผิดเพี้ยนกันไปใหญ่
สติไม่ใช่เครื่องเตือน แต่เป็นเครื่องมือที่ทำให้เรารู้ตัว ซึ่ง สติสัมปชัญญะคือการทำให้มีการรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ตัวว่าอะไร รู้ตัวว่ามีกิเลส รู้ตัวว่าโกรธ สตินี้ทำหน้าที่แค่นี้
ส่วนเครื่องเตือนใจนั้นคือ หิริ โอตตัปปะ หิรินั้นคือความละอายต่อบาป เมื่อเราโกรธแล้วมีหิริ สติจะทำงานต่อให้เราละอายต่อความโกรธของตัวเอง ส่วนโอตตัปปะคือความเกรงกลัวต่อบาป เมื่อมีโอตตัปปะซึ่งจะเหนือกว่าหิริ เราจะมีอาการสะดุ้งกลัวต่อบาป พอมีสติรู้ตัวว่าโกรธเราจะไม่กล้าโกรธ กลัวว่าจะสะสมบาป เพราะความโกรธคือบาป มันจะสงบลงแบบนี้ ผลเหล่านี้ไม่ใช่การทำงานของสติ แต่เป็นการทำงานของหิริโอตตัปปะ
ถ้ามีสติเฉยๆ แต่ไม่มีหิริโอตตัปปะมันจะไม่เกิดอะไรขึ้น เช่นรู้ว่ากำลังกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่มีความละอายต่อบาปหรือความเกรงกลัวต่อบาป มันก็กินไปแบบนั้นแหละ ไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดีอะไร กินไปมันก็มีความสุขตามกิเลสไปแบบนั้นเอง รู้ตัวว่ากินนะ แต่ก็แค่รู้ตัว ไม่เกี่ยวกับการพ้นทุกข์ใดๆ
หิริโอตตัปปะไม่ได้เริ่มจากสติ แต่เริ่มจากศีล ผู้มีศีลจะมีสติ แต่คนมีสติไม่จำเป็นต้องมีศีลนั้นๆ การเกิดหิริโอตตัปปะนั้นเป็นความเจริญที่งอกเงยมาจากการปฏิบัติศีลอย่างถูกตรง
สติปัฏฐาน ๔ นั้นจะทำงานต่างจากสติที่รู้ตัวทั่วพร้อม ซึ่งจะทำงานเป็นเครื่องมือ ตรวจจับ วิเคราะห์ วิจัยแยกแยะกิเลส จนถึงหาธรรมมาทำลายกิเลสนั้นๆ
ส่วนสติทั่วไปเป็นความรู้ตัวแบบสัญชาติญาณไม่ต้องฝึกก็ได้ แค่สงบๆแล้วให้ร่างกายจับการเปลี่ยนแปลงของภายในหรือภายนอกเช่น มีลมพัดมากระทบหน้า มีเหงื่อออกเล็กน้อยที่หลัง สติแบบนี้เหมือนเวลาที่วัวกำลังกินหญ้าแล้วเราเดินเข้าไป วัวจะหยุดกินและมองเรา เป็นสติระดับทั่วไปที่มีคนหลงไปฝึกปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์กันมากอยู่ในลักษณะของการทำสมถะ ซึ่งสติแบบนี้ไม่จัดอยู่ในกระบวนการเพื่อบรรลุธรรมแต่อย่างใด สรุปง่ายๆว่าฝึกไปก็ไม่พ้นทุกข์
5). สติมาปัญญาเกิด
ความเข้าใจที่ว่า “สติมาปัญญาเกิด” นั้น จะเป็นไปได้ในกรณีเดียวคือ ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ อย่างถูกตรงเท่านั้น ปัญญาจึงจะเกิด นอกเหนือจากนี้เป็นไปไม่ได้ ปัญญาที่หมายถึงในที่นี้คือปัญญาสู่การพ้นทุกข์ ไม่ใช่ปัญญาแบบโลกีย์ ไม่ใช่แค่โคลนตกตะกอนน้ำใสจึงเห็นความจริง ปัญญาของพุทธไม่ใช่ปัญญาแค่นั้น
ส่วนสติมาปัญญาเกิดแบบทั่วๆไป ปัญญาที่จะเกิดได้นั้นก็จะเกิดได้เท่าที่ระดับที่มีกิเลสอยู่ มีกิเลสเท่าไหร่ก็ส่งผลให้มีปัญญาได้เท่านั้น ไม่สามารถมีได้มากกว่านั้น เหมือนกับคนที่คิดตอนโกรธกับคิดตอนไม่โกรธมันก็ต่างกันเป็นธรรมดา แต่ก็จะมีขอบเขตของปัญญาที่จำกัดเพราะยังมีกิเลสมาบงการอยู่
คำว่า”สติมาปัญญาเกิด”นั้นเป็นธรรมสั้นๆที่สามารถตีความได้หลากหลาย หากไม่ได้ถูกขยายเพื่อเป็นไปในทางลดกิเลสแล้ว ธรรมนั้นย่อมผิดเพี้ยนจากทางพ้นทุกข์ไปได้ เรามักจะชอบอ่านหรือจำธรรมสั้นๆ เพราะไม่ต้องใช้ความเพียรมาก ไม่ต้องทำความเข้าใจมาก แต่สิ่งที่อันตรายคือการตีความที่ผิดซึ่งจะส่งผลมาสู่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนไป
การเข้าใจว่า สติมาปัญญาเกิด ส่งผลให้คนพยายามฝึกสติ สะสมสติ หรือมุ่งเน้นผลแห่งการเพิ่มสติอย่างมัวเมา ทั้งที่จริงแล้วการฝึกสติแบบสมถะ หรืออาจจะไปถึงขั้นมิจฉาทิฏฐินั้นไม่สามารถทำให้กิเลสลดลงได้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ศีลคือแม่ ปัญญาคือพ่อ” นั่นหมายถึงศีลคือตัวขัดเกลา เลี้ยงดูจิตวิญญาณของเราให้เข้ารูปเข้ารอยไม่หลงไปในกิเลสมากจนเกินไป และปัญญานั้นหมายถึงปัญญาในการเข้าสู่มรรค คือปัญญารู้ว่าควรจะถือศีลนั้นๆ เมื่อปฏิบัติศีลด้วยสัมมาอริยมรรคถึงที่สุดแล้วจึงจะกลายเป็นปัญญาที่เป็นผล คือปัญญาในระดับที่หลุดพ้นจากกิเลสของศีลในเรื่องนั้นๆ
เรามักได้ยินว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หรือถ้าเป็นในไตรสิกขาก็จะเป็น อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา หมายความว่าเมื่อเราปฏิบัติศีลด้วยความตั้งมั่น(สมาธิ)จึงจะถึงปัญญาได้ หรือถ้าอธิบายในมุมไตรสิกขาก็คือเมื่อเราปฏิบัติศีลที่ยากขึ้น ก็ต้องมีพลังใจที่มากขึ้น และใช้ปัญญาที่มากขึ้น เพื่อที่จะได้ปัญญาที่เป็นผลเจริญ(ภาวนา)
สตินั้นเป็นสิ่งที่เราควรจะมีตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนสติปัฏฐาน ๔ จะทำงานในระหว่างที่เริ่มกระบวนการถือศีล และปฏิบัติจนกระทั่งเกิดปัญญา เป็นเครื่องมือในการทำให้เกิดปัญญา และเมื่อปฏิบัติศีลจนเกิดผลในเรื่องนั้นๆแล้วก็ไม่ต้องใช้สติปัฏฐานกับเรื่องนั้นต่อ เพราะทำได้เจริญถึงผลแล้วแบบนี้จึงจะเรียกได้ว่าสติมาปัญญาเกิด
แต่การฝึกสติในทุกวันนี้มักจะเป็นเป็นไปในแนวทางสมถะ แม้จะตั้งชื่อว่าฝึกสติปัฏฐาน ๔ แต่ก็กลับกลายเป็นการฝึกสมถะ ทั้งนี้เพราะสมถะนั้นเข้าใจได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เห็นผลได้ง่าย แถมยังมีทางแวะให้หลงกันไปตามกิเลสอีก เช่นไปเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นผี เห็นเทวดา ก็เห็นกันไปตามที่กิเลสของใครจะปรุงเอาได้ เป็นสิ่งที่กิเลสหลอกให้ถือเป็นจริงเป็นจัง
6). ปัญหาของสติที่ไม่มีศีลและปัญญา
และการฝึกแต่สติโดยไม่สนใจที่จะศึกษาศีลและปัญญา มีปลายทางคือนักสมถะที่เก่ง กดข่มได้เก่ง แม้ว่าแก้วน้ำจะขุ่นไปด้วยโคลน แต่ก็สามารถทำให้โคลนนั้นตกตะกอนได้ในพริบตา แต่จะให้เอาโคลนออกจากแก้วนั้นทำไม่ได้ เพราะวิถีแห่งสมถะไม่ได้สอนวิธีเอาโคลนออกจากแก้วไว้ ได้แค่เพียงทำเป็นมองไม่เห็นโคลน มองเพียงว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วแบบนี้มันจะเป็นผู้ไกลจากกิเลสไหม? จะหมดกิเลสได้อย่างไร? ในเมื่อยังไม่มีวิธีจัดการกับกิเลส
ความซวยของการการฝึกแต่สตินี้ มันเริ่มจากการยึดมั่นถือมั่น พอเรายึดแล้วก็จะเริ่มไม่ฟังวิธีอื่น เริ่มไม่อยากทำความเข้าใจและพิจารณาหนทางอื่น เพราะยึดมั่นถือมั่นไปแล้วว่าการฝึกสติ หรือการมีสตินี้คือทางพ้นทุกข์ ถ้ายึดในสิ่งที่ถูกคงไม่มีปัญหา แต่มายึดในสิ่งที่ไม่ถูกเสียทีเดียว แถมยังยึดถือจนมั่นใจว่าใช่แน่ๆ จึงเกิดอัตตาขึ้นมา เริ่มจะมีความถือตัว ยกตนข่มท่าน ไม่ฟังธรรมอื่น ปิดประตูเข้าภพไปอย่างน่าเสียดาย และจะติดสุขในอารมณ์ของสมถะไปอีกนานแสนนาน
การมีสติแต่ไม่มีศีลและปัญญานี่มันจะมึนๆนะ พอเข้าเรื่องธรรมก็จะไม่รับ พอเข้าเรื่องศีลก็จะไม่รับ คือไม่รับทั้งปัญญาทั้งศีล ตีทิ้งหมด สรุปก็คือพอเห็นว่าการมีสติรู้ตัวคือทุกสิ่งทุกอย่างก็จะไม่รับสิ่งอื่น ทั้งที่ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องสติแต่ก็ยึดมั่นถือมั่นไปแล้ว ถ้าเราเข้าใจเรื่องสติจริงๆ เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นเรื่องสติเลย คนที่เข้าใจเรื่องอะไรจริงๆจะไม่มีอัตตาในเรื่องนั้น แต่คนที่ไม่เข้าใจจริงๆจะมีอัตตาเพราะความหลง
7). การแก้ปัญหากิเลสนอนก้น
การชำระกิเลส หรือทำลายกิเลสที่ปนเปื้อนอยู่ในจิตวิญญาณนั้น ไม่สามารถใช้สมถะในการทำลายได้ เพราะสมถะนั้นทำได้แค่เพียงกด ข่ม ดับ อย่างเก่งก็ดับไปโดยไม่รู้ตัว แต่ก็แค่ดับอาการปลายเหตุที่เกิดมาเท่านั้น กิเลสที่นอนก้นนั้นยังมีอยู่ ยังกองอยู่ แต่จะทำอย่างไรล่ะ?
อย่างแรกคือต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนว่าเรากำลังปฏิบัติสมถะหรือวิปัสสนา อย่าให้ชื่อมาเป็นตัวทำให้เราสับสนเพราะบางทีเขาก็เรียกสมถะเป็นวิปัสสนา บางคนปฏิบัติสมถะแล้วเข้าใจว่าตนเองเป็นวิปัสสนาก็มี บางคนหลงเข้าใจไปอีกว่าบรรลุธรรมทั้งที่ทำแค่สมถะ มันต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังทำให้ได้ก่อนแล้วจึงตั้งหลักใหม่
ไม่ใช่ปฏิบัติไปผิดทางแล้วหวังว่าจะมีแสงสว่างปลายทาง หากเราปฏิบัติไปอย่างมิจฉาทิฏฐิ ปลายทางเหล่านั้นมันก็เป็นทางตันเท่านั้นเอง สุดท้ายถึงจะเพียรพยายามแค่ไหนก็ไปได้แค่สุดทางตันแล้วก็ต้องเดินกลับมาอยู่ดี กว่าจะรู้ตัวก็เสียเวลาไปกี่ภพกี่ชาติก็ไม่รู้
มันไม่ได้อยู่ที่ปฏิบัติธรรมไปถึงขั้นไหน อย่างไร แต่มันอยู่ที่ปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูก เพราะถ้าปฏิบัติผิดมันก็มีสภาพบรรลุธรรมผิดๆหลอกเราอยู่เหมือนกัน หน้าตาอาจจะดูดี ดูสงบ น่าเคารพ แต่กิเลสนอนก้นหนาเตอะก็มี คนที่ปฏิบัติแต่สมถะจะไม่สามารถตรวจใจได้ละเอียดนัก อย่างมากก็ไปติดที่อรูปภพ แม้จะละกามภพ คือไม่ไปเสพ ละรูปภพคือไม่คิดไม่ปรุงแต่ง แต่การละอรูปภพนั้นต่างออกไป ไม่สามารถทำลายกิเลสนี้ได้เพียงแค่กดข่มอย่างแน่นอน สุดท้ายก็จะค้างเติ่งอยู่ที่ฤๅษีนั่นแหละ รูปสวยแต่กิเลสหนา จะเอาไหมแบบนั้น?
ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือกลับมามองตัวเองตามความเป็นจริงเสียก่อน แล้วค่อยแสวงหาสัตบุรุษ ถ้าคิดว่าชีวิตนี้มันหายากหาเย็นหาไม่เจอก็ลองละเว้นความชั่วให้มาก ทำความดีเพิ่มขึ้น ทำจิตใจให้ผ่องใสอย่าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดมากนัก สิ่งใดที่คิดแล้วเป็นอกุศลมากๆก็พยายามปล่อยวาง ละทิ้งหรือจะกดข่มไปก่อนก็ได้
วันหนึ่งเมื่อเจอกับสัตบุรุษ เจอครูบาอาจารย์ที่ถูกที่ควร เจอคนที่รู้ทางมีแผนที่ ค่อยขยับเดินหน้าเพียรปฏิบัติอย่างจริงจังก็ยังไม่สาย เพราะถึงจะช้า แต่ก็ยังดีกว่าเดินหลงทาง เพราะการเดินหลงทางนั้นหมายถึงต้องเสียเวลามากขึ้นไปอีก
– – – – – – – – – – – – – – –
5.1.2558
เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ
เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ
คำว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักกันอยู่แล้ว ไม่มีใครเกิดมาไม่พบกับทุกข์ ทุกคนที่อยู่บนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องพบกับทุกข์ เป็นสัจจะ เป็นความจริงแท้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ทุกข์นั้นมีอยู่สองส่วน หนึ่งทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ และสองคือทุกข์ที่เลี่ยงได้นั่นก็คือทุกข์จากกิเลสนั่นเอง เราจะมากล่าวถึงทุกข์จากกิเลสกัน
ทุกข์นั้นจะเกิดได้ก็เพราะมีเหตุ เหตุแห่งทุกข์ นั้นพระพุทธเจ้าเรียกว่า “สมุทัย” และเหตุแห่งทุกข์นั้นแท้จริงแล้วอยู่ข้างในตัวเรา
(1). ด่านแรก ทุกข์อยู่ข้างใน…
ด่านแรกของการเห็นเหตุแห่งทุกข์เลยก็คือมันอยู่ที่ตัวเรา ใครที่พบเจอกับความทุกข์แล้วมัวแต่มองหาคนผิด มองหาผู้ที่ทำให้ตนทุกข์ มองหาคนรับผิดชอบในทุกข์นั้น เป็นคนที่มองไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะทุกข์นั้นเกิดจากใจของตัวเอง เกิดจากกิเลสของตน เกิดจากกรรมของตน การจะรู้เหตุแห่งทุกข์ได้จึงต้องยอมรับว่าทุกข์นั้นเกิดจากตนเองก่อนเป็นอันดับแรก
(2). ด่านที่สอง ทุกข์ที่เห็นอาจจะไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์
ทุกข์ที่เห็นนั้น มักจะเป็นผลสุดท้ายของการไม่ได้เสพสมใจ แต่หลายคนไปเข้าใจผิดว่าความทุกข์นั้นคือเหตุแห่งทุกข์ เช่นเราถูกเพื่อนสนิทนินทา เราโกรธเพื่อน แล้วเรารู้สึกว่าโกรธเป็นทุกข์ เราจึงเห็นว่าความโกรธคือเหตุแห่งความทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วความโกรธนั้นเป็นผลที่ปลายเหตุแล้ว จะไปดับความโกรธนั้นก็ได้ก็เรียกว่าดี แต่ก็ถือว่าไม่ได้ดับเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง
มีหลายลัทธิพยายามที่จะดับความคิด ดับเวทนา ดับความสุข ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการได้กระทบสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน โดยพยายามทำการดับสิ่งที่เกิดขึ้น ดับจิตที่เป็นทุกข์ ซึ่งก็เป็นการดับปลายเหตุที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ก็เหมือนมองเหตุที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียวไม่ได้เข้าไปค้นที่ต้นเหตุ มองเพียงว่าจิตใจที่สั่นไหวนั้นคือเหตุเท่านั้น เหมือนกับเกิดแผ่นดินไหว เขาเหล่านั้นมักมองปัญหาคือแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายคือปัญหา เขาต้องหยุดการพังทลายหรือพยายามสร้างบ้านที่ป้องกันแผ่นดินไหวได้ แต่ผู้ที่ค้นหาเหตุจริงๆ คือเข้าไปค้นหาว่าแผ่นดินไหวจากสาเหตุใด แผ่นดินเคลื่อนเพราะอะไร อากาศร้อนเย็นมีผลหรือไม่ ค้นหาไปถึงนามที่ทำให้เกิดรูปคือแผ่นดินนั้นเคลื่อนไหวได้ และดับเหตุนั้นจึงจะเป็นการดับทุกข์ที่เหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง
มีหลายลัทธิที่มองว่าทุกข์นั้น เป็นเพียงสิ่งที่ผ่านมาผ่านไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง จริงอยู่ว่าทุกข์ที่เกิดนั้น มันเกิดขึ้นมา มันตั้งอยู่ และมันก็ดับไป เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผู้ที่เข้าใจเช่นนี้จะสามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในทุกข์ที่เกิดได้ดีระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถดับเหตุแห่งทุกข์ได้ เสมือนกับผู้ที่มองแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายด้วยจิตใจว่างๆ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ เกิดดับ เกิดดับเช่นนี้ตลอดไป ด้วยพวกเขาเหล่านั้นไม่รู้วิธีดับทุกข์ที่เหตุ เมื่อไม่ได้เข้าไปดับเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสก็ต้องเกิดขึ้นอยู่เรื่อยไป แม้จะดับไปตามกฎ แต่ก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
(3). ด่านที่สาม ขุดค้นเหตุแห่งทุกข์
เมื่อเราเห็นได้ว่า การค้นหาเหตุแห่งทุกข์โดยการดูแค่ผิวเผินนั้นไม่สามารถทำลายเหตุแห่งทุกข์ได้อย่างแท้จริง เราจึงต้องมาค้นหาว่าเหตุแห่งทุกข์นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่
ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนนินทาเรา เราก็โกรธเพื่อน ความเข้าใจทั่วไปจะดับความโกรธที่เกิดตรงนี้ แต่ในความจริงแล้ว ความโกรธ (โกธะ)คือกิเลสปลายทาง เป็นสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ครอบครองสมใจ ไม่ได้มาอย่างใจหมาย เราจึงแสดงอาการโกรธเหล่านั้นออกไป อันเกิดจากความโลภ ความอยากได้ อยากครอบครองเกินความจำเป็นจริง เกินจากความจริง(โลภะ) คือเราอยากให้เพื่อนทุกคนพูดดีกับเรา การที่เราอยากให้ทุกคนพูดดีกับเรานั้นเพราะเราเสพติดคำพูดดีๆอยากฟังสิ่งดีๆ (ราคะ) ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความหลง(โมหะ) หลงไปว่าการได้เสพคำพูดดีๆ จะนำมาซึ่งความสุขให้ตน เป็นต้น
ลำดับของกิเลสที่จะเห็นได้จากละเอียดไปหยาบคือ…
โมหะ เพราะเราหลงติดหลงยึดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราจะอยากเสพสิ่งนั้น เป็นรากที่ละเอียดที่สุด แก้ยากที่สุด
ราคะ เราอยากเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดจากเราหลงชอบหลงยึดสิ่งนั้น พอเสพก็ติด ยิ่งเสพก็ยิ่งจะอยากเสพเพิ่มอีก
โลภะ เมื่อเราชอบสิ่งนั้นอยากเสพสิ่งนั้น ก็จะพยายามหามาปรนเปรอกิเลสตัวเอง จนเกิดการสะสม หามามากเกินความจำเป็น หวง ไม่ยอมให้ใครเพราะกลัวตัวเองจะไม่ได้เสพ
โกธะ เป็นกิเลสปลายเหตุ เกิดขึ้นเมื่อไม่ได้เสพสมใจอยาก เมื่อมีคนพรากสิ่งที่อยากเสพไปรุนแรง เป็นไฟที่ทำลายได้ทุกอย่าง
การวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุแห่งทุกข์นี้ ต้องใช้กระบวนการของสติปัฏฐาน๔ คือกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เข้ามาวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้ ซึ่งสติปัฏฐาน๔ นี้ต้องปฏิบัติทุกองค์ประกอบไปพร้อมกัน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นก้อนเดียวกัน เป็นกระบวนการเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาใช้เป็นตัวๆอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจได้
เมื่อปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน๔ อย่างถูกต้องจึงจะมีสิทธิ์ได้เห็นไปถึงเหตุแห่งทุกข์อันคือความหลงติดหลงยึดในกิเลสใดๆได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพิจารณาครั้งเดียวก็เห็นได้ทุกอย่าง เพราะกิเลสนั้นลึกลับซับซ้อน จนบางครั้งเราอาจจะต้องให้เหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นหลายที หรือพิจารณาซ้ำๆในจิตใจอย่างหนักเพื่อที่จะทำให้เห็นเข้าไปถึงเหตุแห่งทุกข์นั้น
การวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้บางครั้งสติปัญญาที่เรามีอาจจะไม่สามารถทำเหตุแห่งทุกข์ให้กระจ่างได้ การมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี คือมีครูบาอาจารย์ที่คอยชี้แนะ มีเพื่อนกัลยาณมิตรที่คอยแนะนำ ก็จะช่วยให้สติ ช่วยให้เกิดปัญญาที่มากขึ้นกว่าขอบเขตที่เราเคยมีได้
(4). ด่านที่สี่ เหตุแห่งทุกข์เกิดจากการหลงในกิเลส
ความหลงในกิเลสนั้นมีมิติที่หลากหลาย หากเราเข้าใจเพียงแค่ว่าหลง แต่ไม่รู้ว่าหลงในอะไร ก็ยากที่จะแก้ไปถึงเหตุได้ เพราะถ้าไม่รู้สาเหตุว่าหลงในอะไร ก็คงจะไม่สามารถดับทุกข์ได้ เพราะการดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ เมื่อดับไม่ถูกเหตุ ทุกข์ก็ไม่ดับ เราจะมาลองดูเหตุแห่งทุกข์ อันคือความหลงยึดในกิเลสสี่ตัวนี้กัน
(4.1). อบายมุข
คือกิเลสขั้นหยาบที่พาให้คนหลงไป สามารถหลงจนไปนรก ไปเดรัจฉานได้เลย คือความหลงในอบายมุขต่างๆ เช่นเที่ยวเล่น เที่ยวกลางคืน เล่นพนัน หวย หุ้น เสพสิ่งมึนเมาทั้งหลายไม่ว่าจะสุรา บ้าดารา กิจกรรมหรือสิ่งต่างๆที่ทำให้จิตใจมัวเมา เที่ยวดูการละเล่น ดูละคร ดูหนัง ดูทีวี เพื่อความบันเทิงใจ คบคนชั่ว พาไปทางเสื่อม พาให้เล่นพนัน พาให้มัวเมา พาให้เป็นนักเลง พาให้หลอกลวงผู้อื่น พาให้คดโกง และความเกียจคร้านการงาน
คนส่วนมากมักจะติดในอบายมุขจนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่พยายามทำตัวกลืนไปกับสังคมโดยใช้ค่ามาตรฐานของสังคมเป็นตัววัดความดี จะถูกกิเลสมวลรวมของคนส่วนใหญ่ลากไปลงนรก หรือที่เรียกว่าอุปาทานหมู่ คือสังคมคิดไปเองว่ากิเลสเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องที่ใครๆก็เสพกัน ทั้งๆที่เป็นอบายมุข เป็นกิเลสหยาบที่พาให้ชีวิตเดือดร้อน เมื่อเสพอบายมุขก็จะยิ่งนำพากิเลสตัวอื่นที่หยาบเข้ามา เสพมากๆก็ติด พอไม่เสพก็โกรธไม่พอใจ เป็นทุกข์
(4.2). กามคุณ
คือความหลงในกิเลสที่พาให้อยากเสพใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นชอบแต่งตัวสวย ชอบคนหน้าตาดี อาหารอร่อย กลิ่นที่หอม เสียงไพเราะ เตียงที่อ่อนนุ่ม หรือกระทั่งเรื่องการเสพเมถุน ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของการหลงในกาม เมื่อเราหลงติดในกามเหล่านี้ ก็จะพาให้เราอยากเสพกามตามที่เราติด พอเสพมากๆก็พาสะสม พอไม่ได้เสพสมใจก็โกรธเป็นทุกข์
(4.3). โลกธรรม
โลกธรรมคือกิเลสที่ละเอียดที่ฝังอยู่ในคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็เป็นสภาพของโลกธรรม เมื่อคนหลงในลาภก็จะสะสมมาก หลงในยศก็จะไต่เต้าเพื่อหายศหาตำแหน่ง หลงในสรรเสริญก็จะพยายามทำตัวให้เป็นที่น่าสนใจ อยากให้คนยอมรับ เชิดชูบูชา หลงในโลกียะสุขก็จะแสวงหาสุขในทางโลก สุขที่วนอยู่ในโลก เมื่อเสพสิ่งเหล่านี้มากเข้า ก็จะเริ่มสะสม เริ่มหวงลาภ ยศ สรรเสริญ สุข พอไม่ได้หรือเกิดสภาพของความเสื่อมทั้งหลายก็จะโกรธ เป็นทุกข์ เสียใจ
(4.4). อัตตา
อัตตาคือกิเลสที่ละเอียดที่สุดที่คนหลงยึดไว้ ไม่ว่าจะอบายมุข กามคุณ โลกธรรม สุดท้ายก็ต้องมาจบที่อัตตา เป็นเสมือนรากของกิเลส ส่วนที่เหลือนั้นเหมือนกิ่งก้านใบของกิเลสเท่านั้น ผู้ที่ดับอัตตาได้ก็จะเข้าสู่อนัตตา เป็นภาษาที่พูดกันได้ง่ายแต่ทำได้ยากยิ่ง
อัตตานั้นคือความยึดมั่นถือมั่น เรายึดมั่นถือมั่นตั้งแต่คน สัตว์ วัตถุสิ่งของ หรือสิ่งที่เป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้ เรายึดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของเรา เราอยากครอบครอง วัตถุ คน สัตว์ สิ่งของเหล่านี้มาเป็นตัวตนของเราซึ่งจะสะท้อนออกไปอีกทีในรูปของ อบายมุข กาม โลกธรรม เช่นเราอยากคบหาคนผู้นั้นไว้เพราะเขารวย เพราะเขามีชื่อเสียง เพราะเขามีอำนาจ หรือเรายึดว่าคนต้องกินเนื้อสัตว์ คนเป็นสัตว์กินเนื้อเพราะเราหลงในกาม หลงติดในรสชาติรสสัมผัส เมื่อเราจะกำจัดกามเหล่านั้นแล้วก็ต้องมากำจัดอัตตาไปพร้อมๆกันด้วย
เรายังสามารถที่จะติดรูปที่สำเร็จด้วยจิตของตัวเองได้อีก เช่นการคิดฝัน ปั้นจินตนาการไปเองว่าคนนั้นพูดแบบนั้นคนนั้นพูดแบบนี้ คนนั้นเขาคิดกับเราแบบนั้น เขาจะทำกับเราแบบนี้ หลงไปว่าการเสพอบายมุขนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพกามนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพโลกธรรมนั้นเป็นสุข เป็นสภาพที่จิตสร้างความสุขหลอกๆขึ้นมาหลอกตัวเอง หรือถ้าหนักๆก็จะเป็นพวกเห็นผี เข้าทรงกันไปเลย ทั้งหมดนั้นเป็นสภาพที่จิตนั้นปั้นขึ้นมาเป็นรูปให้เราได้เห็น จึงเรียกว่ารูปที่สำเร็จด้วยจิตเป็นกิเลสของเราเองที่สร้างความรู้สึกสุข ชอบใจ พอใจ สร้างเป็นภาพ เป็นเสียงขึ้นมาให้เราได้ยิน ทั้งๆที่จริงแล้วมันไม่มี แต่เราไปยึดไว้และหลงเสพสิ่งที่ไม่มีเหล่านั้น ในเมื่อสิ่งนั้นไม่มีจริง ไม่ใช่ของจริง ไม่เที่ยง สุดท้ายเมื่อไม่ได้เสพสมใจก็จะเป็นทุกข์
อัตตายังอยู่ในสภาพไร้รูป หรือที่เรียกว่า อรูปอัตตา เช่น ความเห็น ความเข้าใจ ศักดิ์ศรี ความรู้ ฯลฯ เราก็ไปหลงยึดสิ่งเหล่านี้ไว้ เช่น เราเข้าใจธรรมแบบนี้ เราก็ยึดสิ่งนี้เป็นตัวตนของเรา พอใครมาพูดไม่เหมือนที่เราคิด ไม่เหมือนที่เราเข้าใจ เราก็จะมีอาการขัดข้องใจ ไม่พอใจ โกรธ เพราะเราไม่ได้เสพสมอัตตา คือต้องการให้คนอื่นมาทำให้ได้ดังใจเราหมาย หรือทำตามอัตตาเรานั่นเอง
….เมื่อได้รู้กิเลสทั้งหมดนี้แล้ว เราจึงควรใช้เวลาพิจารณากิเลสในตัวเองอย่างแยบคาย ทำให้เห็น ทำให้ชัดเจนว่าเราติดในกิเลสตัวไหน ปนกับตัวไหน มีรากมาจากตัวไหน การค้นหารากของกิเลสไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย กิเลสบางตัวอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือทั้งชีวิตอาจจะไม่สามารถเห็นเลยก็ได้ถ้าไม่พากเพียร และไม่คบมิตรที่ดี
(5). ด่านที่ห้า ดับเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย
เมื่อเห็นเหตุแห่งทุกข์แน่ชัดแล้ว เห็นตัวการของกิเลสแน่ชัดแล้ว ก็ให้เพียรพยายามทำให้ถึงความดับ โดยใช้มรรควิธี ก็คือการปฏิบัติมรรคทั้ง ๘ นั่นแหละ จะใช้สมถะ วิปัสสนาก็ได้ จะใช้สัมมัปปธาน ๔ ก็ได้ จะใช้โพชฌงค์๗ ก็ได้ จะใช้จรณะ๑๕ ก็ได้ จะใช้ทั้งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ได้ หรือจะใช้ธรรมใดตามที่ถนัดก็ได้ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อการละกิเลส เพื่อการล้างกิเลส เพื่อการดับกิเลสอยู่แล้ว
การจะค้นเจอเหตุแห่งทุกข์นั้นว่ายากแล้ว การดับทุกข์ที่เหตุนั้นยากยิ่งกว่า เพราะต้องใช้ความเพียรพยายาม ใช้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำที่สุดแห่งทุกข์ คือการดับทุกข์นั้นอย่างสิ้นเกลี้ยงโดยการดับกิเลสนั้นนั่นเอง
สรุป…
การที่เราต้องมาหาเหตุแห่งทุกข์อย่างยากลำบากนี้ เพราะพระพุทธเจ้าได้ชี้ขุมทรัพย์ไว้ว่า ดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ แต่บางครั้งเรามักจะมองเหตุแห่งทุกข์นั้นตื้นเกินไป เหมือนกับเราที่เราอยากกำจัดหญ้า แต่ก็ทำแค่เพียงตัดหญ้าที่มันยาวพ้นดินออกมา บ้างเก่งกว่าก็ว่าขุดรากถอนโคนหญ้านั้นไปเลย แต่สุดท้ายหญ้าก็จะขึ้นมาใหม่ เหมือนกับกิเลสนั้นกลับมาโตใหม่อีกครั้ง
ผู้มีปัญญาย่อมขุดรากถอนโคนกิเลสทั้งหมด ทั้งตัดหญ้า ขุดรากถอนโคน และนำดินมาเผา ทำลายเมล็ดหญ้าที่ยังหลงเหลืออยู่ในฝืนดินซึ่งเป็นเมล็ดนี้เองเป็นแหล่งเกิดของหญ้า เหมือนกับตัณหา ถ้าเรายังดับตัณหาคือความอยากไม่ได้ ความอยากเหล่านั้นก็จะค่อยๆเติบโต เหมือนกับผืนดินที่เต็มไปด้วยเมล็ดหญ้า หากไม่กำจัดเมล็ดออก ก็มีแต่จะต้องมาคอยตัดหญ้า ขุดรากถอนโคนหญ้ากันทุกชาติไป
ดังนั้นผู้มีปัญญาพึงกำจัดทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ เผากิเลสเหล่านั้นด้วยไฟแห่งฌาน ให้ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสนั้นสลายไป ทำลายกามภพ ทำลายรูปภพ ทำลายอรูปภพของกิเลสนั้น ไม่ให้มีแม้เสี้ยวอารมณ์ความอยากที่เกิดภายในจิต แม้จะตรวจด้วยอรูปฌานสักกี่ครั้งก็ไม่พบความอยากในจิตอีก เมื่อนั้นแหละที่เขาเหล่านั้นจะได้พบกับสภาวะที่เรียกว่า “สัญญาเวทยิตนิโรธ” คือการดับกิเลสที่อยู่ในสัญญาอย่างสิ้นเกลี้ยง ถือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้กับกิเลสนั้น ได้รับชัยชนะที่ทำได้ยาก เป็นสิ่งที่บัณฑิตต่างสรรเสริญ
– – – – – – – – – – – – – – –
13.10.2557