Tag: อุปาทาน
บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )
บทขยายธรรม ( ผ่าน พบ จบ จาก )
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าในชีวิตหนึ่งของคนเรานั้นผ่านผู้คนมากมาย พบกันคบหากันจนกระทั่งความสัมพันธ์นั้นจบลง แต่เรามักจะไม่ยอมให้มันจากไป ยังกอดเก็บมันไว้ตลอดมา
ในบทความนี้จะขยายธรรมเพิ่มเติมไว้สองเรื่องคือ
- ปฏิจจสมุปบาทแบบย่อและประยุกต์มาอธิบายผ่านเรื่องความรัก
- การเริ่มต้นหาทางแก้ไขสภาพความยึดมั่นถือมั่นในแบบของพุทธ
= = = = = = = = = = = = = =
1). เหตุของการเกิดไปจนกระทั่งดับ
เนื้อหาหลักของบทความผ่าน พบ จบ จาก นั้นได้สื่อถึง “สภาพที่กิเลสเข้ามาแต่ไม่สามารถสะบัดให้หลุดได้” สภาพเช่นนี้สามารถยกตัวอย่างมาอธิบายได้มากมาย แต่เพื่อความต่อเนื่องจะขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันด้วยเรื่องของความรัก
จิตเดิมแท้ของเรานั้นแม้ว่าจะผ่องใส แต่ก็ไม่มีปัญญา เวลาได้เสพสุขอะไรบางอย่าง เมื่อเกิดสุข ทุกข์ จึงติดใจหรือผลักไสสิ่งนั้น ซึ่งสุดท้ายจะรวมลงไปที่อุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) กลายเป็นภพ (ที่อาศัย) และชาติ (การเกิดของกิเลสและการเกิดขึ้นในโลกแบบทั่วๆไป)
เช่นเมื่อเราได้รับความสุขจากสิ่งที่เราเหมาเรียกว่าความรัก ไม่ว่าคำหวานพูดเอาใจ ไม่ว่าการสัมผัสลูบไล้ ไม่ว่าอารมณ์ที่สาสมใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะติดสุข เกิดเป็นอุปาทาน กลายเป็นภพคือเราติดสภาพว่าต้องเสพเช่นนั้นเสมอ จึงกลายเป็นชาติ คือการเกิดความรู้สึกว่าจะต้องไขว่คว้าหาสภาพนั้นๆมาเสพ
ถ้าได้เสพสมใจก็เพิ่มความอยาก(ตัณหา)และความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปอีก สะสมลงไปจนกลายเป็นภพและชาติที่จัดจ้านขึ้นไปอีก คืออยากได้เสพสิ่งที่ทำให้สุขมากกว่านี้อีก ก็เพิ่มกิเลสกันไปเช่นนี้
จนกระทั่งวันหนึ่งวิบากกรรมดลให้เกิดสภาพของการ “จบ” จะออกอาการเริ่มจากชรา คือความแก่ ในเรื่องความรักไม่ได้หมายถึงคนแก่ แต่หมายถึงสภาพของรักนั้นได้แก่และเสื่อมลง คือมันเสพก็ไม่สุขเหมือนก่อน ในระยะของความชรานี้เอง คือสภาพที่คนรักเริ่มเอือมระอา ทะเลาะกัน ไม่เข้าใจกัน งอนแต่ไม่ง้อ เป็นต้น
พอชราแล้วก็จะจบความรักนั้นที่สภาพของมรณะ คือตาย หรือ “จบ” ส่วนจะตายจากกันจริงๆ หรือความรักตายจนเลิกรากันนั้นก็คือจบเช่นกัน มรณะเช่นกัน คือสภาพที่เคยได้เสพนั้นได้ตายจากเราไปแล้ว
ทีนี้มัน “จบ” แต่มันไม่ “จาก” ก็ตรงที่กิเลสมันยังมีอยู่ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ มันยังมีครบอยู่ แต่ไม่ได้เสพสิ่งที่เคยได้เสพ ก็จะเกิดอาการ โศกเศร้า คร่ำครวญรำพัน เสียใจ คับแค้นใจ ความทุกข์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ด้วยเหตุเช่นนี้
ดังที่ได้กล่าวขยายธรรมะที่สอดแทรกอยู่ในบทความ ผ่าน พบ จบ จาก ด้วยการสรุปบางส่วนจากปฏิจจสมุปบาทมาอธิบายได้ดังนี้
2).การหาหนทางแก้ไขสภาพ ผ่าน พบ จบ แต่ไม่ยอมจาก
จะเห็นแล้วว่าทุกข์นั้นเกิดจากสภาพหลงสุขจนยึดมั่นถือมั่น เราไม่ต้องใช้ปัญญาใดๆในการหลงสุข แต่การจะออกจากความหลงสุขเหล่านั้นจำเป็นต้องใช้ปัญญา ในระดับของวิชชาหรือวิมุตติซึ่งเป็นแก่นแท้ของศาสนาพุทธเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่นนั้นเสีย
คนที่ทุกข์จากความรักจะพยายามสะบัด หลีกหนี กลบเกลื่อน ปัดทิ้ง กดข่ม โดยทั่วไปแล้วก็มักจะใช้วิธีสมถะ คือกดไม่ให้มันฟุ้งซ่าน ไม่ให้มันออกอาการ พยายามไม่ให้ทุกข์ด้วยหลากหลายวิธี แต่นั่นก็ยังเป็นวิธีทั่วไป ใช้กดภพ กดชาติได้ แต่ไม่สามารถทำให้ดับอย่างสิ้นเกลี้ยงได้
การแก้ไขสภาพจึงต้องใช้กระบวนการตามหลักใหญ่คืออริยสัจ ๔ คืออันดับแรกต้องเห็นทุกข์ สองคือต้องรู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่เห็นเหตุก็แก้ทุกข์ไม่ได้ สามคือจะกระทำความดับเช่นไร สี่คือกระบวนการสู่ความดับทุกข์นั้นกระทำอย่างไร ผู้ที่พยายามจะหาทางออกจากทุกข์อย่างถาวรจึงจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ธรรมให้กระจ่างแจ้ง
แล้วจะเรียนรู้อย่างไร เรียนอย่างไหน แบบไหนถึงจะถูก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอวิชชาสูตรว่า การเรียนสัจจะของพุทธนั้นต้องเริ่มจากพบสัตบุรุษ (คนผู้มีธรรมแท้) จึงจะได้ฟังสัจธรรม (ธรรมที่พาพ้นทุกข์) เมื่อฟังด้วยจิตที่ไม่ลำเอียงไม่ผลักไส จึงจะเกิดศรัทธา เป็นศรัทธาที่เห็นพ้องด้วยปัญญา ไม่ใช่แค่เชื่อตามๆกันมา เมื่อเกิดศรัทธาจึงทำใจในใจโดยแยบคาย พิจารณาลงไปถึงที่เกิด ด้วยความมีสติสัมปชัญญะคือความรู้ตัวทั่วพร้อม จนสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้เจริญถึงความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ จึงจะเจริญต่อไปได้ถึงสติปัฏฐาน นำไปสู่โพชฌงค์ จนกระทั่งถึงวิชชาและวิมุตติก็ถือเป็นการจบภารกิจในกิเลสเรื่องนั้นๆ
ดังจะเห็นได้ว่า การปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้อย่างแท้จริงนั้น ไม่ใช่สภาพที่จะคิดเอาได้ ไม่ใช่จะนึกเอาเองได้ ไม่ใช่จะกดข่มเอาได้ ไม่ใช่ว่าไปฟังเสียงนกร้องไก่ขันแล้วจะบรรลุธรรมหลุดพ้นได้ แต่ต้องเริ่มจากเรียนรู้สัมมาทิฏฐิ การเรียนสัมมาทิฏฐิก็ต้องเรียนจากคนที่มีสัมมาทิฏฐิ
จากอวิชชาสูตรนั้นจะเห็นได้ว่ากว่าจะบรรลุธรรมตามกระบวนการของพุทธนั้นยากแสนยาก ไม่ใช่ว่าจะไปกดข่มเข้าภพแล้วบรรลุธรรมกันง่ายๆแบบฤๅษี กว่าจะพบสัตบุรุษต้องใช้เวลาเท่าไหร่ และถ้าเจอแล้วเราจะมีโอกาสได้ฟังหรือเรียนรู้สัจธรรมไหม ได้ฟังแล้วจะเชื่อไหม จะเห็นตามได้ไหม เข้าใจได้ไหม จะศรัทธาไหม ศรัทธาแล้วจะโยนิโสมนสิการได้ไหม(ทำใจในใจโดยแยบคายพิจารณาลงไปถึงที่เกิด) จะยอมพิจารณาตามไหม จะยอมค้นลงไปไหม หรือจะฟังผ่านๆแล้วไม่เอาไปย่อยต่อ ไม่ทบทวนต่อเลย โยนิโสมนสิการได้แล้วจะสามารถมีสติสัมปชัญญะให้ถึงพร้อมได้ไหม ทำให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเป็นปกติ(เมื่อเจอผัสสะ)ได้ไหม ทำให้เกิดกาย วาจา ใจ สุจริตได้ไหม เจริญไปถึงสติปัฏฐาน ๔ เป็นไหม เข้าใจโพชฌงค์ไหม จะถึงวิชชาและวิมุตติไหม
การจะยอมจากได้จริงๆ มันไม่ได้ง่ายแค่ว่าเอาบทโพชฌงค์มาสวด เอาสติปัฏฐานมาแยกทำ หรือเอาธรรมะมาท่องจำนะ ถ้าทำได้อย่างนั้นจริงคนก็พ้นทุกข์กันหมดแล้ว แต่เพราะความจริงแล้วมันมีกระบวนการและขั้นตอนที่ละเอียดซับซ้อน และเป็นไปตามลำดับ
แล้วยังไงล่ะทีนี้ ทั้งยากทั้งซับซ้อนขนาดนี้ก็เลยศึกษาเอง สุดท้ายมันก็จะไปไม่รอดนั่นแหละ เพราะผิดจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เว้นเสียแต่ว่าท่านมีปัญญานั้นอยู่แล้ว มีของจริงอยู่แล้ว มันก็สามารถจะรู้ได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครสอน แต่ถ้ายังไม่เคยเรียน ยังไม่เคยรู้ ยังไม่เคยฟังใครสอน ยังไม่เคยพบสัตบุรุษ แล้วมันจะพ้นทุกข์ได้อย่างไรถ้าไม่เคยมีเหตุ(การเรียนรู้ที่ถูก) แล้วผล(การพ้นทุกข์ที่ถูก)มันจะเกิดได้อย่างไร
ในสัมมาทิฏฐิข้อหนึ่งว่าด้วยการเห็นสมณะ (ผู้สงบจากกิเลส) การเห็นสัตบุรุษหรือสมณะนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ เพราะต้องเห็นด้วยปัญญา ไม่ใช่เขาว่าคนนั้นอรหันต์คนนี้พระอริยะก็เชื่อตามเขาโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้อะไรเลย คนที่สัมมาทิฏฐิแม้จะยังมีกิเลสหมักหมมในสันดานแต่ก็จะมีญาณปัญญารู้ได้ เน้นคำว่าว่าญาณ “ปัญญา” มันไม่ใช่มั่วๆนะ มันมีเหตุมีผล มันต้องมีมรรคผล มันไม่ลึกลับ มันอธิบายได้ มันจึงเชื่อ ไม่ใช่แค่ว่าเขาปฏิบัติตามที่เราเชื่อว่าแบบนี้ใช่แล้วมันจะใช่นะ ระวังหลงอุปาทานกันไป บางทีมันพาไปลงนรกทั้งศิษย์และอาจารย์เลย ศิษย์ก็โง่ อาจารย์ก็เมาลาภ ยศ สรรเสริญ (โง่กว่า) ก็เลยเมาแต่งตั้งพระอริยกันในกลุ่มเต็มไปหมด แบบนี้ก็เป็นได้เช่นกัน
สรุปแล้วท่านที่พยายามทำแต่ไม่มั่นใจว่าทำถูกทางก็ให้หยุดเสีย เดินไปในทางตัน ถึงจะเดินไปจนสุดทางก็ต้องเดินวนกลับมาอยู่ดี วิธีแก้ทุกข์ที่เข้าใจนั้น ถ้ามันแก้ไม่ได้ เป้าหมายมันไม่มี มรรคผลมันไม่ชัดเจน มันไม่เห็น มันลังเลสงสัย ก็แนะนำให้เรียนรู้กันเพิ่มเติม เรียนรู้ให้มากอย่าเพิ่งไปยึดมั่นถือมั่นทางใดทางหนึ่ง เพราะถ้าไปยึดทางผิดมันก็เสียเวลาหลงทางเท่านั้นเอง เดินให้มันถูกทางถึงจะช้าแต่มันก็ถึง ดีกว่ารีบเดินเข้าป่า เข้ารกเข้าพง ยิ่งเดินยิ่งหลง
แล้วเราจะมีสัมมาทิฏฐิขึ้นมาได้อย่างไร? พระพุทธเจ้าตรัสเหตุแห่งสัมมาทิฏฐิไว้สองข้อ นั่นคือปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ คือการเปิดใจและตั้งใจรับฟังสิ่งที่ต่างกับที่ตนเองเชื่อและยึดมั่นถือมั่น และการทำใจในใจโดยแยบคายลงไปถึงที่เกิด การทำใจในใจโดยแยบคายนี้ถ้าเป็นการฟังธรรมก็คือเอาธรรมนั้นมาย่อย มาพิจารณาว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น สรุปให้เข้าใจง่ายก็เหมือนการทำความเข้าใจโดยไม่มีอคติ (แต่จริงๆล้ำลึกกว่านั้นมาก แต่อธิบายค่อนข้างยาก ขออภัยไว้ ณ ที่นี้)
จะสมมุติเหตุการณ์ดังเช่นว่า ตอนแรกเราไม่สัมมาทิฏฐิหรอก แต่บังเอิญว่าเจอพระอริยะ เราก็ไม่รู้จริงๆหรอกนะว่าใช่ไม่ใช่ ทีนี้ด้วยความที่เห็นรูปท่านสวยดูมีศีลมีธรรมก็เลยอยากลองของ หรือได้ยินว่าคนนี้มีดีนักหนา หรือได้ยินคนนี้อ้างว่าตนเองเป็นพระอริยะบ้าง พระอรหันต์บ้าง เลยชวนสนทนาธรรม แต่ด้วยจิตที่มีอติมานะเช่นนั้นเอง (ชอบข่มหรือดูหมิ่นผู้อื่น) พอเขาพูดอะไรมาเราก็ตั้งแง่ เพ่งโทษฟังธรรม จ้องจับผิด ฟังนะแต่ไม่ฟัง พยายามจะคิดหาข้อแย้ง เพราะไม่ตรงกับที่ตนเองเรียนรู้มา (คือที่รู้มามันมิจฉาทิฏฐิอยู่แล้ว เพราะถ้าสัมมาจริงมันจะรู้ทั้งมิจฉาและสัมมา มันจะไม่สงสัย)
พอตนเองมิจฉาแล้วยึดมั่นมิจฉาอยู่อย่างนั้นก็ทำได้แค่เถียงเอาชนะ เพราะที่เขาพูดนั้นไม่ตรงกับที่ตนเลย(มันไม่มีทางตรงอยู่แล้ว) และไม่มีใครที่จะยอมรับว่าตนมิจฉาง่ายๆเป็นแน่ จึงพลาดการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย สุดท้ายแม้ว่าจะเถียงชนะหรือจะจำนนด้วยหลักฐานแต่ไม่เชื่อ ยังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนเชื่ออยู่ ก็จะได้รับมิจฉาทิฏฐิเพิ่มขึ้นพร้อมกับได้รับวิบากกรรมจากการเพ่งโทษพระอริยะไปเป็นสมบัติอีก ซวยไปสองต่อ
อันนี้แค่ขั้นปรโตโฆสะนะ โยนิโสมนสิการจะลึกลงไปอีก แต่จะยกไว้เพียงเท่านี้ก่อน ส่วนคนที่ยังมิจฉาทิฏฐิแต่เขามีปรโตโฆสะ คือตั้งใจฟังคนอื่น และมีโยนิโสมนสิการ คือเอาที่ได้ฟังนั่นไปพิจารณาในใจโดยแยบคาย เขาก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้สัมมาทิฏฐิ และนี้เองคือจุดเริ่มต้นของสัมมาทิฏฐิ มันไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่มันมีเหตุมีผลตามธรรมของมัน ไม่ใช่สิ่งบังเอิญ ไม่ใช่เรื่องเร้นลับอะไร
สรุปคือ คนที่ฟังคนอื่นและนำไปพิจารณาต่อก็จะเจริญไปถึงสัมมาทิฏฐิในสักวันหนึ่ง เพราะถ้าหยุดชั่ว ทำดีไปเรื่อยๆ มันก็จะวนเวียนไปเจอแต่คนดี ซึ่งก็คงมีบ้างหากจะมีพระอริยะวนเวียนผ่านไปผ่านมาในชีวิตโดยที่เราไม่รู้ แต่เพียงแค่เราไม่มีอัตตาที่จัดนัก ไม่มีความยึดมั่นถือมันที่มากนัก เราก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้ในวันใดวันหนึ่ง
ต่างจากคนที่เก่งแล้ว เข้าใจแล้ว แต่ยังมิจฉาทิฏฐิ คนพวกนี้จะไม่มีวันเปิดใจฟังหรือตั้งใจฟังสิ่งที่ต่างจากตัวเองคิดเลย เพราะหลงว่าตนรู้แล้ว เข้าใจแล้ว ของตนนี่แหละแท้ ตนนี่แหละแน่ มันก็เลยหลงมิจฉาทิฏฐิกันเช่นนี้ แล้วโลกนี้อะไรมันจะมากกว่ากัน คนถูกหรือคนผิด
ทีนี้คนที่สัมมาทิฏฐิก็ต้องยืนยันว่าตนถูก มิจฉาทิฏฐิเองก็ยืนยันว่าตนถูก แล้วยังไงล่ะ เราจะมีปัญญาแยกอย่างไร จะจบบทความนี้ด้วยกาลามสูตรว่าด้วยเรื่องการอย่าเชื่อสิ่งใดๆง่ายเพียงแค่ได้ยินได้ฟังมา หรือเพราะเขามีชื่อเสียง หรืออีกหลายๆเหตุผล พระพุทธเจ้าได้ตรัสกำชับในตอนสุดท้ายว่า พึงพิจารณาเอาเองว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงสิ่งนั้น ส่วนอกุศลให้ละเสีย
นั่นหมายถึง มันจะไม่รู้แต่แรกหรอก ก็ให้ลองปฏิบัติดู ถ้ามันถูกจริงชีวิตมันจะดีขึ้น มีแต่ความสุขความเจริญแม้ไม่ได้เสพอย่างเคย แต่ถ้าปฏิบัติแล้วชีวิตมันแย่ลงก็ให้ถอยออกมาแค่นั้นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
5.4.2558
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)
ทำไมไม่ลงเอย
ถาม : มีความรักแล้วจบลงด้วยการเลิกราทุกครั้ง คนที่รักไปแต่งงานกับคนอื่น มีวิบากกรรมอะไร ทำไมถึงไม่ได้ลงเอย
ตอบ : เพราะไม่ได้มีกรรมร่วมกัน ก็เลยไม่ได้ลงเอย คนที่ไม่ได้ร่วมเวรร่วมกรรมกันมาจนมีพลังงานที่พอเหมาะ คือไม่มีนามธรรมที่สมเหตุสมผล จึงไม่เกิดรูปธรรม คือไม่เกิดเหตุการณ์นั้นๆขึ้น
ถ้าตอบตามแบบทั่วไปก็จะตอบได้ว่าสะสมบุญบารมีร่วมกันมาไม่มากพอ แต่จริงๆแล้วการคู่กันจนกระทั่งได้แต่งงานนั้นคือ “บาปและอกุศล” ดังนั้นถ้ามองตามความจริง คนที่ได้คบหาดูใจกัน จนกระทั่งแต่งงานมีลูกด้วยกันนี่แหละคือคนที่มีเวรมีกรรมต่อกันจะต้องมาใช้หนี้กันและกัน แต่ในระหว่างใช้หนี้เก่าก็สร้างหนี้ใหม่เพิ่ม ดังนั้นจึงต้องมีครอบครัวผูกมัดไว้เพื่อใช้หนี้กรรมอย่างไม่จบไม่สิ้น
จะขอตอบขยายเพิ่มเติมเพื่อไขข้อข้องใจอื่นๆดังนี้
1). กรรม
ผลของกรรมเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน ส่วนเราไปทำกรรมอะไรไว้ ในชาตินี้ก็คงพอจะนึกย้อนได้ แต่ของเก่าก็อย่าไปเดาให้เสียเวลา ให้รู้ชัดๆแค่ว่าสิ่งนี้แหละ ฉันทำมาเอง ฉันเป็นคนทำแบบนี้มา ก็แค่รับสิ่งที่ตัวเองทำมาก็เท่านั้นเอง
กรรมที่เห็นนั้นมีความซ้อนของกรรมดีและกรรมชั่วปนกันอยู่ หลายคนอาจจะมองว่าการไม่ได้แต่งงานเกิดจากกรรมชั่ว ซึ่งนั่นก็ไม่แน่เสมอไป แต่ที่แน่นอนคือกรรมชั่วทำให้เกิดความทุกข์ ส่วนการไม่ได้แต่งงานนั่นแหละคือกรรมดี เพราะทำให้เราแคล้วคลาดจากการผูกมัดด้วยบ่วงกรรมถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตามที
ในความไม่ดีมันก็มีสิ่งดีซ่อนอยู่ ดังนั้นหากจะเหมาว่าเป็นกรรมชั่วทั้งหมดก็คงจะไม่ใช่
2). ทุกข์จากการเสียของรัก
เมื่อสูญเสียสภาพของคู่รัก หรือคนที่หมั้นหมายว่าจะแต่งงานไป ก็คือการเสียของรัก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของโลกที่เราทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักและหวงแหน
ถึงจะได้คบหาหรือแต่งงานไป สุดท้ายก็อาจจะต้องเสียไปในวันใดวันหนึ่งอยู่ดี ไม่ตายจากไป ความรักนั้นก็อาจจะตายจากไปแทนก็ได้ ซึ่งการยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆก็ตาม แม้ว่าจะรักและดูแลดีแค่ไหน แต่สุดท้ายเราก็จะต้องเสียมันไป
ความทุกข์ที่เกิดขึ้น นั้นเกิดจากสภาพที่ไม่ได้เสพของรักอย่างเคย ซึ่งเกิดจากการเสพติดหรือการยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นมาเป็นของตนแล้วหมายว่าจะได้เสพสิ่งนั้นตลอดไป พอโดนกรรมของตัวเองแย่งของรักไปก็ทุกข์ใจ โวยวาย ร้องห่มร้องไห้กันไปไม่ต่างอะไรจากเด็กโดนแย่งของเล่น
3). คุณค่าในตน
ความทุกข์จากการสูญเสียแท้จริงแล้วมาจากความพร่อง เราจึงใช้สิ่งอื่น หรือคนอื่นเข้ามาเติมเต็มความพร่องในชีวิตจิตใจของเราเอง อย่างเช่นว่าเราเหงา เราก็เลยอยากหาใครสักคนมาอยู่เป็นเพื่อน หรือว่าเราอยากสบายเราก็เลยอยากหาใครสักคนที่จะฝากชีวิตไว้ฯลฯ
ซึ่งความพร่องเหล่านี้เองทำให้เราพยายามหาสิ่งอื่นมาเติมเต็มตัวเอง แต่ความจริงแล้วไม่มีวันที่จะหาใครที่พอเหมาะพอดีกับอัตตาของตัวเองได้ เว้นแต่ตนเองเท่านั้น ไม่มีใครสามารถทำให้เรามีความสุขได้ตลอดไป แม้จะหาคนที่หมายมั่นได้ดั่งใจ แต่สุดท้ายวันหนึ่งเสียไปก็ต้องเสียใจอยู่ดี
ดังนั้นการแก้ปัญญาจึงควรเพิ่มคุณค่าในตนเอง สรุปง่ายๆเลยว่าใช้การเพิ่มอัตตาเข้ามาบดบังพื้นที่ ที่เคยว่างเว้นให้คนอื่นเข้ามาเติมเต็มชีวิต คือทำให้ชีวิตตนเองนั้นเต็มไปด้วยคุณค่าและความเป็นตัวของตัวเองเสียก่อน ดังคำว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” อย่าไปหาคนอื่นมาเป็นที่พึ่งของเรา อย่าเอาเขามาสนองกิเลสของเรา ใช้อัตตาของเรานี่แหละทำเราให้เป็นคนที่เต็มคน
และต่อมาเมื่ออัตตาเต็มก็จะกลายเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง แข็งแกร่ง อดทน แล้วตอนนั้นก็ค่อยจัดการกับอัตตาในตัวเองต่อ จนกระทั่งกำจัดอัตตาหมดก็ถือว่าจบภารกิจในเรื่องคู่
4). อย่าหลงตามสังคม
ที่มาของคุณค่าลวงๆก็มาจากคำลวงในสังคมนี่แหละ ที่หลอกกันต่อๆมาว่าคนมีครอบครัวถึงจะมั่นคง คนมีคู่ถึงจะมีคุณค่า เรามักจะได้ยินคำว่า “ไม่มีใครเอา” หรือเข้าใจโดยสามัญว่าคนที่มีอายุสัก 30 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ได้แต่งงานคือคนที่กำลังจะขึ้นคานเพราะไม่มีใครเอา
ความเห็นความเข้าใจแบบโลกๆนี้เป็นความเข้าใจที่มาจากกิเลส มาจากความไม่รู้ มาจากความหลงผิด มาจากความโง่ ในความจริงแล้วเราควรจะสรรเสริญความโสด แต่คนผู้หนาไปด้วยกิเลสจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะความโสดจะทำให้ไม่ได้เสพ ไม่ได้สมสู่ ซึ่งเขาเหล่านั้นก็จะบอกว่าการแต่งงานมีคู่นี่แหละดี เพราะตนเองจะได้เสพอย่างไม่ต้องรู้สึกผิดเพราะใครๆก็ทำกัน
สังคมอุดมกิเลสแบบนี้ก็จะมีความคิดไปในทางสะสมกิเลส สนองกิเลส สร้างวิบากบาป พาลงนรก ถ้าเรายังตามสังคมไปโดยไม่มีปัญญาก็จะเสื่อมไปตามเขาเป็นแน่ แต่ถ้ายึดพระรัตนตรัยเป็นหลักไม่ปล่อยให้ชีวิตตกร่วงไปตามสังคมก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ
5). ความเบื่อแบบโลกๆ
ความรู้สึกเบื่อกับปัญหา หรือเบื่อความรักจนไม่ยอมหาความรัก อย่าคิดว่านั่นคือกิเลสตาย เพราะความเบื่อนั้นก็แค่ความเบื่อแบบโลกๆ ที่มีเหตุผลอื่นเป็นตัวกดข่มความอยากหรือยังไม่ถึงเวลาที่ควรของกิเลสนั้นๆ
ตัณหา(ความอยาก)เมื่อไม่ได้แสดงอาการจะสั่งสมลงไปเป็นอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) เก็บเป็นพลังบาปไว้อย่างนั้น เมื่อเจอคนที่ถูกใจจากคนที่เคยเบื่อๆก็อาจจะอยากมีความรักก็เป็นได้
ซึ่งในสภาพของการทำลายกิเลสนั้น จะต้องทำลายตอนที่มีความอยาก ไม่ใช่ปล่อยให้ความอยากสงบจนเป็นอุปาทานแล้วบอกว่าเบื่อหรือบอกว่ากิเลสตาย สภาพนี้เองที่ทำให้คนที่เจ็บจากความรัก คนป่วย คนแก่ ฯลฯ ดูเหมือนว่าจะไม่สนใจความรักทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นเป็นความเบื่อแบบโลกๆเท่านั้นเอง
คนที่แต่งงานแล้วเบื่อครอบครัวก็เช่นกัน เพราะมันได้เสพจนเบื่อแล้วมันก็เลยเกิดอาการเบื่อแบบโลกๆ บางครั้งอาจจะทำให้เราหลงไปว่าเราไม่ได้ยึดติดกับความรักแล้ว เลยทำให้ไม่ศึกษาเรื่องกิเลสให้ถ่องแท้ เกิดมาชาติหน้าก็มีคู่อีกแล้วก็เบื่ออีกเป็นแบบนี้วนไปมาเรื่อยๆ
6). ขอบคุณความโสด
ความโสดดำรงสภาพได้จนทุกวันนี้ ต้องขอบคุณทุกคนที่ผ่านมานะ คนที่เข้ามาคบหา คนที่เข้ามาบอกว่าจะแต่งงานกัน แม้ว่าสุดท้ายเลิกราหรือหนีไปแต่งงานกับคนอื่นก็ตาม
นั่นคือโอกาสที่เราจะไม่ต้องไปรับเวรรับกรรม ไม่ต้องไปทำบาป ไปสะสมบาป คอยสนองกิเลส ไม่ต้องเอาใครมาผูกเวรผูกกรรมกันอีกไม่ต้องมีสิ่งไม่ดีร่วมกันอีกเลย
แต่ที่เราไม่ขอบคุณความโสดเพราะเรามีกิเลสมาก กิเลสจะบังคุณค่าของความโสดจนมิด เรียกว่าโสดไร้ค่าไปเลยทีเดียว ถ้าได้ลองล้างกิเลสของความอยากมีคู่จนหมดจะรู้ได้เองว่า ความโสดนี่แหละคือคุณค่าแท้ๆที่เหลืออยู่ ส่วนความรู้สึกสุขของคนมีคู่นี่มันของเก๊ มันคือสุขลวงๆ ที่เอามาหลอกคนโง่ให้ทุกข์ชั่วกัปชั่วกัลป์
– – – – – – – – – – – – – – –
30.3.2558
กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น
กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น
เป็นระดับที่สองต่อจาก “กินร่วมโต๊ะ” แต่ก็จะยากขึ้นกว่าเดิมมาก ยังคงต้องใช้พื้นฐานเดิมคือ ”สติสัมปชัญญะ”ความรู้ตัวพร้อมแบบทั่วไป และ “สติปัฏฐาน ๔” คือรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม
ซึ่งสติทั่วไปนั้นเอาไว้รู้ตัวเพื่อไว้ใช้ในกรณีที่จะตัดสินใจใช้ขันติในการกดสภาพความอยากหรือใช้ธรรมอื่นใดเข้ามากด ลด ข่ม ตบอาการอยากนั้นๆก็ตามแต่เหตุการณ์ ส่วนสติปัฏฐานนั้นมีไว้เพื่อตรวจสอบและพิจารณาล้างกิเลส ทั้งนี้ทั้งนั้นการพิจารณาธรรมต้องมีสติที่สมบูรณ์พร้อมตลอดสายไม่ปัดอาการอยากทิ้งจนหายหมดเกลี้ยง ไม่ตบทิ้งด้วยตรรกะหรือเหตุผลใดๆจนไม่เหลือเชื้อให้พิจารณาธรรมได้ต่อ ถ้ามีสติไว้ตัดอาการอยากนั้นถือว่าเป็นสมถะวิธี แต่ถ้ามีสติตลอดจนถึงจบการพิจารณาธรรมถือว่าเป็นวิปัสสนาวิธี
ในกรณีของเราจะใช้ทั้งสมถะและวิปัสสนา แต่จะใช้วิปัสสนาเป็นตัวหลักและสมถะเป็นตัวเสริมในบางกรณี ซึ่งจะไม่ยกขึ้นมากล่าว แล้วแต่ว่าใครจะทนความอยากไหว ใครทนไหวก็ไม่ต้องกด ใครทนไม่ไหวก็ใช้สมถะกดไว้ก็ได้
ขั้นตอนที่ 1).คำเตือน!!
ในขั้นตอนนี้จะเริ่มมีความยากในการวิเคราะห์กิเลสขึ้นมา ผู้ที่ไม่เห็นว่ากิเลสคือเชื้อร้ายที่เป็นตัวผลักดันให้เรากินเนื้อสัตว์ ผู้ที่ไม่เห็นว่าการล้างกิเลสเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่ไม่เห็นว่าการล้างกิเลสสำคัญต่อการกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืนควรละเว้นการอ่านต่อไปเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง
จะไม่มีประโยชน์ใดเกิดขึ้นหากท่านไม่มีคุณสมบัติเบื้องต้นดังที่กล่าวเมื่อตอนต้นของบทความหรือไม่มีความต้องการในการเรียนรู้กิเลส หากท่านยังคงยินดีในการที่ท่านกินมังสวิรัติได้โดยไม่สนใจความอยาก ข้อความต่อจากนี้จะเริ่มเป็นภัยต่อทิฏฐิของท่านอย่างมาก
ขอให้ท่านประมาณกำลังสติของตัวเองให้พอดี เพราะไม่มีใครที่จะต้องรับผิดชอบความขุ่นเคืองใจของท่านนอกจากตัวท่านเอง จะขอย้ำอีกครั้งว่าบทความนี้ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการจะกินมังสวิรัติ แต่เหมาะกับคนที่ต้องการเรียนรู้การลดกิเลสโดยใช้การกินมังสวิรัติมาเป็นโจทย์ หากท่านพิจารณาดีแล้วว่าเหมาะควรที่ตนเองจะเรียนรู้เรื่องกิเลสก็สามารถอ่านต่อไปได้ แต่หากพิจารณาเห็นว่าเรื่องราวอันยุ่งยากเหล่านี้ไม่เหมาะกับท่าน ท่านต้องการเพียงแค่กินมังสวิรัติเท่านั้น ก็ขอแนะนำให้ปิดบทความนี้เสีย
ขั้นตอนที่ 2).กินร่วมจาน
การกินร่วมจานนั้นหมายถึงเราต้องกินอาหารที่มีทั้งเนื้อสัตว์และผักในจาน ซึ่งโดยปกติแล้วเราก็จะใช้การเขี่ยผักเข้ามา เขี่ยเนื้อสัตว์ออกไปดังที่เรียกกันว่า”มังเขี่ย” หรือไม่ก็เป็นการที่เราต้องกินอาหารร่วมหม้อกับคนอื่นเช่นกรณีของต้มยำ ต้มจืด สุกี้ ชาบู หรืออะไรก็ตามที่มีเนื้อและผักร่วมกันโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในกรณีแยกหม้อจะขอยกไว้ในการกินร่วมโต๊ะแทนเพราะไม่ถือว่าเป็นการกินร่วมจาน ผลของการตรวจกิเลสออกมาจะไม่เหมือนกันเพราะวัตถุดิบคือเหตุการณ์ที่มีนั้นต่างกันออกไป จุดสังเกตในการตรวจสอบนี้คือเรารู้สึกอย่างไรเมื่อต้องไปข้องแวะกับเนื้อสัตว์หรือมีเนื้อสัตว์อยู่ในหม้อเดียวกัน เราแยกความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากการกินมังสวิรัติได้ไหม หรือเรายังคิดว่าการกินร่วมจานนั้นหมายถึงยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์
เราจะใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวขุดคุ้ยกิเลสของเรา หากผู้ใดที่ไม่มีสังคม ไม่มีโอกาสทดสอบในสถานการณ์เหล่านี้ ก็ขออภัยจริงๆที่ต้องบอกว่าท่านอาจจะกำลังมาผิดทาง เพราะการปฏิบัติธรรมของเราไม่ใช่การแยกตัวกับสังคม ยังคงต้องปฏิบัติไปพร้อมกับอยู่ในสังคม ให้ปนแต่ไม่เปื้อน หากท่านไม่มีกลุ่ม ไม่มีโอกาสในการทดสอบในด่านนี้ ก็ให้กลับไปทดสอบตัวเองในด่านก่อนในตอน “กินร่วมโต๊ะ” ท่านจะไปหาวิธีใดให้เกิดการกินร่วมโต๊ะโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็ได้ ในโรงอาหารหรือในร้านค้าที่เป็นที่นิยมที่ต้องเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์อย่างใกล้ชิด
หากว่าขาดผัสสะหรือสิ่งกระทบในการกระตุ้นกิเลสเหล่านี้ บทความทั้งหมดนี้จะกลายเป็นแค่นิยายบทหนึ่งที่ไม่มีความหมายอะไร เราจำเป็นต้องไปเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่จำมาหรือท่องมา แต่เป็นการสัมผัสทุกความอยากของตัวเองด้วยร่างกายและจิตใจของตัวเองซึ่งจะเป็นปราการด่านแรกที่จำเป็นต้องผ่านหากจะเรียนรู้การล้างกิเลส
ขั้นตอนที่ 3). ตรวจสอบกาม
หากว่าเรากินร่วมหม้อหรือร่วมจานกับผู้อื่นแล้ว เรายังมีอาการเขี่ยเนื้อเข้าตัว แอบควานเนื้อสัตว์เข้าหาตัว หรือพยายามกินผสมโรงให้รู้สึกว่าเหมือนไม่ผิดในการกินเนื้อสัตว์ ท่านกำลังอยู่ในกามภพที่ลึกลับซับซ้อนกว่าเดิม เพราะในแบบตรงไปตรงมาก็คือทนความอยากไม่ไหวแล้วลองกินเลย แต่คนที่ไม่จริงใจกับตัวเองก็จะทำเป็นเนียนกินไป แบบนี้ยากจะบรรลุธรรมเพราะมีการกลบเกลื่อนไม่ให้ตัวเองและผู้อื่นเห็นความอยากแม้ว่าจะตักกินอยู่อย่างชัดเจน
ผู้ที่อยู่ในรูปภพ จะไม่ทำเนียนกินหรือพยายามจะกินอีกต่อไป แต่จะพยายามกดข่มอาการอยากไว้ในภพ ในสภาวะที่ตัวเองไม่กิน เพื่อให้ตัวเองไม่ไปกิน ใจนั้นอยากกินอยู่ เห็นเนื้อสัตว์ที่ปนกันก็ยังอยากกินอยู่ แต่ด้วยความยึดว่าต้องมังสวิรัติจึงหักห้ามใจได้ดีกว่าผู้ที่อยู่ในกามภพ ซึ่งแม้ว่าจะหักห้ามใจให้ไม่ไปหยิบกินได้นั้น ก็ยังมีความอยากอยู่เต็มใจ อยากชัดเจนจนได้ยินเป็นคำพูดปรุงแต่งอยู่ในใจว่า น่ากินนะ อยากกินนะ น่าอร่อยนะ
ผู้ที่อยู่ในอรูปภพ หรือภพที่ไม่มีรูปของความอยากให้เห็นเป็นตัวตนชัดๆแล้วก็จะไม่มีอาการอยากใดๆแสดงออกมา มีแต่อาการไม่ใส ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย เพราะลึกๆในใจมันอยากกิน แต่มันไม่มีคำปรุงแต่งใดๆแล้ว กินชาบูมีเนื้ออยู่ในหม้อเต็มไปหมดก็สามารถลวกผักกินได้ หรือกินเมนูผักกับเนื้อก็สามารถเขี่ยผักมากินได้ แต่ในใจมันยังวนเวียนอยู่กับเนื้อสัตว์ มันยังมอง ยังจ้อง ยังรู้สึกเสียดาย มันไม่โล่ง ไม่ยอมทิ้งเนื้อสัตว์อย่างเต็มใจ ยังมีความอาลัยอาวรณ์อยู่
การพ้นสามภพนี้ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ในโจทย์นี้นั้นไม่ง่าย เพราะความที่เราเคยติดเนื้อสัตว์มามาก ความอยากมันยังมีอยู่มาก การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายถึงไม่อยากกินเนื้อสัตว์มันคนละเรื่องกัน ถ้าคนตีความผิดไปว่ากินมังสวิรัติได้คือไม่อยากกินเนื้อสัตว์ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดจากความจริงไปหลายขุม เพราะการกินมังสวิรัติได้กับการดับความอยากในการกินเนื้อสัตว์เป็นคนละเรื่องกัน แม้ผลจะออกมาเหมือนกันคือไม่กินเนื้อสัตว์ แต่จิตใจข้างในจะต่างกันโดยสิ้นเชิง
ผู้ที่ยังวนเวียนอยู่ในสามภพนี้จะต้องทุกข์ทรมานจากความอยากเสพ แม้ได้เสพก็ทุกข์ แม้ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ต้องกดข่มนั่งเขี่ยกินผักอย่างเศร้าหมอง หดหู่ เป็นมังสวิรัติที่ไม่สดใส ไม่เบิกบาน ไม่สดชื่น ไม่ใช่ทางบรรลุธรรม เป็นเพียงการใช้สมถะวิธีเข้ามากดข่มความอยากแล้วติดอยู่ในรูปภพ หรืออรูปภพเท่านั้นเอง
ขั้นตอนที่ 4). ตรวจสอบอัตตา
คนที่มีอัตตาแรงจะออกอาการรังเกียจตั้งแต่แรก คือตั้งแต่อ่านบทความนี้เลยว่าทำไมตัวเองต้องไปกินร่วมกัน มันมีน้ำซุป น้ำมันหอย น้ำปลา ฯลฯ คนพวกนี้จะกินมังสวิรัติได้แต่ไม่เห็นความอยาก ไม่มีปัญญารู้ในเรื่องของกิเลส เขาแค่กินมังสวิรัติได้ก็พอใจแล้ว และหลงยึดว่าต้องมังสวิรัติ 100% นั่นถึงจะเรียกว่าดีที่สุด
ซึ่งการที่สัตว์ใดจะกินแต่ผักทั้งชีวิตได้นั้นเป็นเรื่องธรรมดา วัวควายมันก็กินหญ้าทั้งชีวิตไม่เห็นมันจะบรรลุธรรมตรงไหน มันก็ยังเป็นวัวเป็นควายอยู่เหมือนเดิม เช่นเดียวกับคนกินมังสวิรัติโดยไม่มีปัญญา เขาก็กินกันไปได้นะ เพียงแต่ว่าไม่รู้เรื่องกิเลส แต่ก็จะรู้เกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปที่ใช้กดข่มความอยากเช่น สุขภาพ การเบียดเบียน เมตตา บุญ(กุศล) กรรม หรืออะไรก็ว่ากันไป การถือศีลแบบไม่มีปัญญาหรืองมงายนี่เองที่เรียกว่า ถือศีลอย่างอุปาทาน คือถือไว้อย่างยึดมั่นถือมั่น เป็นลักษณะของคนกินมังสวิรัติที่เคร่งและเครียด แต่ก็ไม่รู้สาระข้างใน รู้แต่มันไม่ดี มันเบียดเบียน ฯลฯแล้วก็ใช้ความรู้เหล่านั้นกดข่มความชั่วคือกดข่มการไปกินเนื้อสัตว์เอาไว้ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นการกดข่ม ไม่ใช่การล้างกิเลส
ดังนั้นคนที่มีอัตตาแรงก็จะไม่เห็นด้วยกับการทดสอบนี้ตั้งแต่แรก เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น เขาเข้าใจเพียงแค่ว่ากินมังสวิรัติก็พอแล้วทำไมต้องมาทดสอบกิเลสกัน เขาจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นและยังไร้สาระ นั่นเป็นเพราะจุดประสงค์ของคนไม่เหมือนกัน ใครที่อยากกินมังสวิรัติเพราะไม่อยากเบียดเบียนก็ไม่จำเป็นต้องทดสอบจิตใจแบบใดๆเลยก็ได้ ก็เพียงแค่กินมังสวิรัติไปก็เท่านั้น ส่วนคนที่อยากเรียนรู้เรื่องกิเลสนั้นก็จำเป็นจริงๆที่จะต้องมีโจทย์ในการขัดเกลากิเลสของเขาเหล่านั้น
คนที่มีอัตตาผ่อนลงมาบ้างก็จะยังมีความยินดีที่จะอ่าน แต่ก็ไม่ยินดีที่จะกินร่วมกับคนอื่น ไม่ยินดีที่จะกินมังเขี่ย หรือไม่ยินดีที่จะกินร่วมหม้อกับคนกินเนื้อสัตว์ จะมีอาการรังเกียจ ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ถ้าเป็นไปได้ก็จะขอแยกหม้อหรือไม่ไปกินร่วมกันหรือหาร้านที่กินแยกจานกันเลยก็จะดีกว่าจะพยายามผลักตัวเองเข้าสู้การกินร่วมโต๊ะดีกว่าต้องมากินร่วมจาน
ทั้งนี้เป็นเพราะอัตตาหรือความยึดดีในมังสวิรัติผลักให้เกิดอาการรังเกียจทั้งเนื้อสัตว์และคนกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น ซึ่งคนกินมังสวิรัติจะหลงว่าอัตตาเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาของคนดี แต่ความจริงแล้วมันเรียกว่านรกคนดี เป็นนรกขุมที่หลอกให้คนที่นึกว่าตัวเองเป็นคนดียินดีที่จะเดินเข้าสู่นรกอันคือความเดือดเนื้อร้อนใจด้วยความยินดี
การที่เรายังมีอัตตาหรือความรังเกียจในเนื้อสัตว์หรือรังเกียจคนที่กินเนื้ออยู่ จะผลักดันให้เราสร้างบรรยากาศกดดัน ขุ่นมัว แสดงออกได้ทั้งทางกาย วาจา ใจ การคิดในใจเพียงว่าไม่ชอบไม่ยินดีที่จะร่วมจานก็สร้างทุกข์ให้กับตัวเองแล้ว มันเห็นทุกข์กันอยู่ชัดๆแต่คนมีอัตตาก็จะยินดีแบกทุกข์นี้ไว้เพราะหลงเข้าใจว่าฉันเป็นคนดี ฉันต้องทุกข์เมื่ออยู่กับคนที่ยังกินเนื้อ
ในมุมของการล้างกิเลส คนดีที่ติดดีนั้นก็ยังชั่วอยู่ดี มองไปก็ยังเป็นนรกเหมือนกับคนกินเนื้อสัตว์อยู่ดี แต่เป็นนรกคนละขุม อย่าไปแบ่งเลยว่าใครต่ำกว่าใครสูงกว่า เพราะนรกของใครก็ของมัน คนที่ติดดีอาจจะสร้างบาปเวรภัยได้มากกว่าก็ได้ อาจจะไปกดดันหรือระรานชีวิตคนอื่นได้มากกว่าคนกินเนื้อก็ได้ใครจะรู้
ถ้ายังรู้สึกว่าตนเองไม่พอใจที่จะต้องกินร่วมจาน ร่วมชาม ร่วมหม้อกับคนกินเนื้อแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลย เรากำลังติดอยู่ในอัตตา
ขั้นตอนที่ 5). สรุปผล
ในด่านนี้จะค่อนข้างยากขึ้นมาทั้งในด้านการตรวจใจและยากที่จะผ่านความอยากที่ละเอียดขึ้นและเข้ามากระแทกใกล้ขึ้น จากโจทย์ที่แล้วคือการกินร่วมโต๊ะ เนื้อสัตว์ก็ยังห่างออกไปคนละจาน แต่ครั้งนี้เราต้องกินร่วมจาน ตัวเราจะต้องเข้าใกล้เนื้อสัตว์เข้าไปอีก เป็นการบีบให้ตัวเองได้เห็นกิเลสอันคือกามและอัตตาที่ซ่อนอยู่ข้างใน
ผู้ที่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติธรรมมาหรือไม่มีญาณปัญญาจะไม่สามารถจับสภาวะใดๆของจิตที่เกิดขึ้นได้เลย อยากก็ไม่รู้ ไม่อยากก็ไม่รู้ เรียกว่าไม่ละเอียดเรื่องจิตวิญญาณ การทดสอบนี้จึงไม่มีประโยชน์ใดๆกับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ฝึกและเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลสมา
จริงอยู่ที่ว่าการกินมังสวิรัตินั้นดี แต่คนที่กินมังสวิรัติอาจจะไม่ได้ดีเสมอไป เรามักจะเห็นคนกินมังสวิรัติที่อุดมไปด้วยอัตตา ยึดดีถือดี ไปขัดแย้งกับชาวบ้านที่ยังกินเนื้ออยู่เป็นประจำ ชอบแสดงทัศนคติ เผยแพร่ความรู้โดยที่คนอื่นเขาไม่ต้องการ ไปยัดเยียด กดดัน บีบคั้นให้เขาเห็นดีในมังสวิรัติโดยใช้สมถะวิธี
ในความจริงแล้วเราต้องเข้าใจว่าปัญญาบารมีของคนเราไม่เท่ากัน เราบำเพ็ญมาไม่เท่ากัน บางคนใช้แค่สมถะวิธี เอาความดีไปกดข่ม แค่เห็นภาพสัตว์ตายก็สามารถหลุดออกมากินมังสวิรัติได้ บางคนต้องให้ข้อมูลวิจัย บางคนแม้จะมีทุกอย่างแต่เขาก็ยังไม่เลิกกินเนื้อสัตว์ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันจะจบตรงเรื่องของกิเลสเพราะกิเลสนี่เองคือรากแห่งความอยาก เป็นตัวสร้างทุกข์แท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบมาตั้งแต่กว่า ๒๖๐๐ ปีมาแล้ว
ดังนั้นถ้าชาวมังสวิรัติไม่เรียนรู้เรื่องกิเลสก็จะไม่ฉลาดในการสอนคนให้ถูกกับฐานะ ไม่สอนให้ถูกกับจริต จะพยายามยัดความรู้ตามที่ตัวเองได้เรียนมา ได้เห็นมา ใครหลุดมาได้จากภาพสัตว์ถูกทรมานก็ประกาศด้วยภาพสัตว์ตายอยู่แบบนั้น ใครหลุดมาด้วยข้อมูลทางการวิจัยก็แสดงข้อมูลทางการวิจัยอยู่อย่างนั้น ใครหลุดมาได้ด้วยเมตตาก็ประกาศเชิญชวนให้เมตตาอยู่แบบนั้น ยัดไปตามที่ตัวเองเห็นว่าดี พยายามจะเปรียบเทียบ อัดกระแทกให้เกิดจิตสำนึก ยัดข้อมูลเข้าไปเรื่อยๆ แต่จะไม่ฉลาดในการปรับข้อมูลตามจริตของผู้รับสาร ไม่รู้กาลเทศะ จะเป็นมังสวิรัติแบบแข็งๆ รู้อย่างเดียวว่าเนื้อหาสาระนี้ดี ฉันหลุดพ้นจากการสื่อสารแบบนี้ “ดังนั้นถ้าฉันทำแบบนี้เธอก็ต้องรับได้ ไม่อย่างนั้นเธอก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนไม่ฉลาดเป็นคนจิตใจต่ำทราม” จากฉัน เพื่อนร่วมโลกผู้มีอัตตาหนาเตอะ
สรุปแล้วเรื่องกามมันก็เห็นไม่ยากเท่าไหร่ เพราะในส่วนของ ”ความอยาก” ถ้าได้พิจารณาตัวเองอย่างจริงใจมันก็จะเห็นชัด ส่วนอัตตาเป็นเรื่องยากสุดยากที่จะเห็น เพราะใครเล่าจะยอมรับว่าตัวเองมีอัตตา ใครจะยอมรับว่าตัวเองยึดดีถือดีในมังสวิรัติ หากไม่ได้เจอแบบทดสอบก็คงจะไม่รู้ และหลายคนถึงแม้จะมีบททดสอบมากมายในชีวิตก็ไม่รู้ เพราะไม่เคยเรียนเรื่องกิเลสมาก่อน จึงปล่อยเหตุการณ์ที่เข้ามาทดสอบเหล่านั้นให้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย
จึงขอหยิบยกพุทธพจน์บทหนึ่งมากล่าวไว้ “ วันคืนล่วงไปล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ”
ติดตามต่อได้ที่
Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)
ปล่อยเธอไป
ปล่อยเธอไป
…เพราะรักจึงเข้าใจและยอมรับ
ในวันที่การพลัดพรากได้มาถึง วันที่ต้องห่างกายหรือในวันที่ต้องห่างใจและคงจะห่างออกไปเรื่อยๆอย่างไม่มีวันกลับมา เราพร้อมจะรับมันไหมหากว่าวันเวลาเหล่านั้นได้มาถึงโดยที่เราไม่ได้คาดคิดไว้ว่ามันจะมาถึงเร็วขนาดนี้
คู่รักหลายคู่ที่คบกันอย่างจริงใจ ไม่มีคู่ไหนที่คิดว่าความสัมพันธ์นั้นจะต้องเสื่อมต้องสลาย ซ้ำยังเชื่อมั่นว่าเราและเขาจะต้องเจริญไปด้วยกัน จะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน จะต้องร่วมสุขร่วมทุกข์ไปด้วยกัน เป็นคู่ชีวิตของกันและกัน
ความเชื่อเหล่านี้เป็นชุดความเชื่อทั่วไปของคนที่คิดจะรักกัน ผูกพันกัน สร้างครอบครัว ดำรงชีวิตร่วมกันมองชีวิตข้างหน้ามีเพียงความสวยงาม แต่กลับกลบความจริงไว้ใต้จิตสำนึกและไม่คิดจะยอมรับมัน
ความจริงนั้นก็คือเราต้องจากคนที่รักคนที่ชอบใจเป็นเรื่องธรรมดา ไม่จากเป็นก็จากตาย ถ้าจากตายนี่มันก็ง่ายหน่อย เพราะว่าไม่ซับซ้อน ตายแล้วก็จบไป เรื่องต่อจากนั้นก็ให้เป็นเรื่องของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนจากเป็นนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น จากเพราะหมดรัก จากทั้งที่ยังรัก ฯลฯ
1).ตายจาก
ในวันใดวันหนึ่งเราก็ต้องตายจากโลกนี้ไป ตายจากสภาพเหล่านี้ไป เหลือไว้เพียงความทรงจำกับกรรมที่ได้ทำไว้ หากเราเป็นผู้ที่จากไปก็คงจะไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ถ้าเราเป็นผู้ที่ยืนมองคนที่รัก มองคนที่หวงแหนกำลังจะจากไป หรือจากไปแล้วไม่ว่าด้วยอุบัติเหตุ ด้วยโรคร้าย ด้วยกรรมบันดาลต่างๆ เราจะสามารถยอมปล่อยวางได้ไหม เราจะวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวเขาได้หรือไม่
ยามเมื่อที่คนรักจากไป ความเศร้าโศกเสียใจนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมชาติ หลายคนร้องให้คร่ำครวญ หลายคนกินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นเวลานาน หลายคนมีอาการซึมเศร้าและวิถีชีวิตเปลี่ยนไปหลังจากเสียคนที่รัก อาการทั้งหมดเหล่านี้เป็นธรรมชาติที่เห็นได้ในโลกแต่กลับไม่ใช่ธรรมชาติของธรรมะ
การที่เราเศร้าโศกเสียใจหรือมีอาการอื่นๆ โดยรวมเรียกว่าเป็นทุกข์ เมื่อเป็นทุกข์เราก็ต้องค้นหาเหตุแห่งทุกข์ เมื่อค้นลงไปแล้วก็จะเจอกิเลส คือความยึดมั่นถือมั่น การที่เราทุกข์เพราะเราต้องพรากคนที่เรายึดมั่นถือมั่นไป ไม่ว่าจะยึดไว้ในสถานะใดก็ตาม เช่น ผู้นำครอบครัว คู่ชีวิต เพื่อนชีวิต ฯลฯ เราจะต้องเจ็บปวดและทุกข์ทรมานมากเท่าที่เรายึดไว้
แต่ถึงจะทุกข์เท่าไร การจากพรากกันด้วยความตายนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย ยอมรับได้ง่าย แม้ว่าเหตุการณ์จะดูบังเอิญและซับซ้อนเพียงใด แต่ในท้ายที่สุดก็คงต้องยอมรับว่าคนตายไม่มีวันฟื้นคืนกลับมาอย่างแน่นอน
การจะยอมปล่อยยอมวางความยึดมั่นถือมั่นในคนที่ตายจากไปแล้วนั้น เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่หลายคนสามารถทำได้ไม่ยากไม่ลำบากเท่าไรนัก แต่ก็ยังมีบางคน บางความเชื่อ บางวัฒนธรรมที่หลงติดหลงยึดไม่ยอมปล่อยยอมวางแม้ร่างนั้นจะเป็นซากที่ไร้วิญญาณไปแล้วก็ตาม
2).จากเป็น
สิ่งที่เข้าใจและยอมรับยากกว่าการจากตายก็คือการจากทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังเห็นกันอยู่ ยังวนเวียนอยู่ในชีวิตของกันและกัน แต่ความสัมพันธ์นั้นได้ตายจากไปแล้ว สถานะของคู่รักนั้นได้ยุติลงไปแล้ว อาจจะเกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายหมดรักต่อกัน หรือความจำเป็นบางอย่างก็ได้
ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายหมดรักหมดความอยากในการเสพกิเลสร่วมกัน หมดความหมายในการร่วมเคียงคู่กัน นั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะปล่อยวาง เพราะทั้งสองรู้ดีว่าคู่ของตนในตอนนี้สนองกิเลสให้ตนไม่ได้ ทำให้ตนไม่พอใจ จึงไม่ยินดีที่จะเคียงคู่กัน ดังนั้นการเลิกรากันอย่างเต็มใจนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้นำมาซึ่งความทุกข์ใดๆ เพราะไม่ได้ยึดไว้ตั้งแต่แรกก็เลยไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้ถือก็เลยไม่ต้องวาง อาจจะเพราะความสัมพันธ์ที่ไม่ตรงใจนั้นทำให้เขาทั้งคู่ได้เรียนรู้และยินดีที่จะไม่ยึดมั่นในคู่ของตน
ในตอนจบของความสัมพันธ์แบบนี้อาจจะจบด้วยความเข้าใจก็ได้ หรือจะจบด้วยการทะเลาะเบาะแว้งก็ได้เช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่มีการยึดซึ่งกันและกัน ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง บางครั้งเราอาจจะต้องทะเลาะกันด้วยเหตุที่ว่าเรายึดในตัวเองมากเกินไป
แต่ในกรณีการจากกันทั้งที่ยังรักกันหรือการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังคงรักยังคงผูกพันอยู่โดยที่อีกฝ่ายไม่ยินดีจะเคียงคู่กันอีกต่อไป จึงนำมาซึ่งปัญหาทางจิตใจมากมายไปจนถึงสุขภาพและสังคม หน้าที่การงาน กระทั่งในทุกองค์ประกอบของชีวิต
2.1).หมดรักจึงจากไป
เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรักโดยที่อีกฝ่ายยังคงรักและผูกพันอยู่ ผู้ที่ถอนตัวจากความรักความหลงได้ก่อนก็เป็นผู้ที่เอาตัวรอดไปได้ เหลือทิ้งไว้แต่คนซึ่งยึดมั่นถือมั่นในความรัก เหมือนกับคนสองคนดึงหนังยางคนละฝั่ง คนที่ปล่อยทีหลังก็จะเป็นคนที่เจ็บ เราเจ็บเพราะเราไม่ปล่อย แต่เราจะปล่อยได้อย่างไรในเมื่อเรายังรักและผูกพันอยู่
ไม่ว่าจะถูกเลิกราไปด้วยกรณีใดๆก็ตาม เรามักจะเห็นคนที่ถูกทิ้งเป็นทุกข์โดยมีอาการคร่ำครวญ เศร้าโศกเสียใจ คับแค้นใจ เหตุนั้นเพราะหลงติดหลงยึด รากปลายสุดสายของความหลงผิดก็คืออวิชชา เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท คือ มีสังขาร มีวิญญาณ มีนามรูป มีสฬายตนะ มีผัสสะ ต่อเนื่องกันไล่มาจนถึงมีเวทนา มีตัณหา มีอุปาทาน จึงเกิดเป็นภพเป็นชาติ จึงมีความตายซึ่งหมายถึงการพลัดพรากจากความรักนั้น และเกิดความทุกข์ต่างๆต่อมาเรื่อยๆนั่นเอง
การจะไปแก้ที่อวิชชานั้นเป็นเรื่องที่ทำทันทีไม่ได้ หลายคนเข้าใจผิด เข้าใจไปเพียงว่าแค่เรา”รู้”ก็สามารถดับทุกข์นี้ได้แล้ว เพราะเข้าใจด้วยภาษาว่าอวิชชาคือ “ความไม่รู้” จึงแก้ด้วยภาษาซึ่งนำคำว่า “รู้” เข้ามาคิดจะแก้อวิชชา จึงเกิดการฝึกสติให้เกิดการรู้ตัวทั่วพร้อมโดยเข้าใจว่าการรู้ตัวคือตัวดับทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เลย เป็นการเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะความรู้นั้นหมายถึงวิชชา คือความรู้แจ้งในกิเลสนั้นๆอย่างถ่องแท้ ดังนั้นการจะดับทุกข์ได้ต้องดับที่กิเลส ไม่ใช่ดับจิตให้นิ่ง แต่เป็นการขุดค้นเหตุแห่งทุกข์ แล้วดับมันด้วยสัมมาอริยมรรค
กลับมายกตัวอย่างอาการของคนที่ยึดไว้(อุปาทาน)เสียก่อน เมื่อเรามีความยึดในคู่ครองของตนแล้วต้องถูกพรากจากไปแบบเป็นๆนั้น จะมีอาการแสดงออกมาได้หลากหลาย ทั้งซึมเศร้าเหงาหงอย กินไม่ได้นอนไม่หลับ โวยวายตีโพยตีพาย เป็นบ้า ฆ่าตัวตาย อาการทำร้ายตัวเองเบียดเบียนตนเองเหล่านี้เป็นผลมาจากความยึดทั้งสิ้น
และยังสามารถแสดงอาการทำร้ายคนอื่นได้ เช่นการหึงหวง แม้จะถูกเลิกราไปแล้ว แต่ก็ยังตามรังควานอดีตคนรักที่เขาหมดรักไป ในมุมที่ไม่รุนแรงก็คือการตามง้อ ไปขอร้องให้มอบความเห็นใจ ขอให้กลับมารักกัน ร้องไห้ฟูมฟายเรียกร้องความสนใจ ไปวนเวียนอยู่ในชีวิตเขา ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในระดับหนึ่ง เราเบียดเบียนเพราะเราอยากได้เขามาเสพเหมือนก่อน เพราะเรายึดว่าถ้าได้เสพจึงจะเป็นสุข และต้องเสพคนเดิมด้วยนะ เพราะเรายึดมั่นถือมั่นคนเดิมไว้
ความหึงหวงแม้ยุติความสัมพันธ์ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่มักเห็นได้ตามข่าวในหนังสือพิมพ์ คือฝ่ายหนึ่งเลิกราไปแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งยังจองเวร ประมาณว่า “ถ้าข้าไม่ได้ก็ไม่ต้องมีใครได้คนนี้ไป” จึงตามรังควาน กดดัน บีบคั้น ใส่ร้าย จนกระทั่งมีการทำร้ายตบตี จนถึงฆ่ากันก็มีให้เห็นกันเป็นเหมือนเรื่องปกติ ลักษณะนี้เกิดจากความยึดที่รุนแรง พอตนเองโดนพรากสิ่งที่รักไปก็ไม่ยอมให้ใครได้ไป มันจะเอามาเป็นของตนอยู่ฝ่ายเดียว จนถึงขั้นฆ่าเพื่อไม่ให้ใครมาเสพก็ยังได้ ฆ่าทั้งที่ยังรักยังยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละ แต่เพราะความโกรธมันมากกว่า โทสะมันแรง พอเราไม่ได้เสพสมใจโทสะมันก็ขึ้น ถ้ามันขึ้นไปเหนือความรัก เหนือหิริโอตตัปปะ เหนือศีลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็จะมีการกระทบกระทั่งจนถึงการทำร้ายกันฆ่ากันก็เป็นเรื่องธรรมดาของกิเลส
ไม่ว่าจะทำอย่างไร คนที่ยึดมั่นถือมั่นก็ยังคงต้องทนทุกข์ จะบอกให้ปล่อยวาง ไม่ไปทุกข์ ไม่เอาตัวเองไปทุกข์โดยใช้ความคิด ความเห็น ความเข้าใจเดิมมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันยึดไปแล้ว กิเลสมันเกิดไปแล้ว อัตตามันสร้างไปแล้ว เราจะมาดูสรุปในข้อ 4. ตอนท้ายบทกัน
2.2).จากกันทั้งที่ยังรัก
การจากกันโดยที่เขาไม่ได้รักเราอีกต่อไปแล้วนั้นก็ยังทำใจได้ง่าย เมื่อเทียบกับการที่ต้องจากกันทั้งที่ยังรักกัน เขาก็รักเรา และเราก็รักกัน แต่ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆทั้งหลายนั้นอาจจะไม่เอื้ออำนวยให้ดำเนินชีวิตคู่ต่อไป อาจจะเป็นไปได้จากสาเหตุทั้งเรื่องส่วนตัว ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและกรรม
การจากกันโดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดรัก อาจจะทำให้คนที่ต้องถูกทิ้งเสียใจ เสียดาย หรือกระทั่งโกรธได้ หมายถึงเกิดได้ทั้งดูดและผลัก คือพยายามจะดูดดึงเขาเข้ามาในชีวิตเหมือนเดิม และสภาพผลักด้วยความโกรธ ความน้อยใจ ความผิดหวัง หรือการงอน ทำให้ผลักเข้าออกจากชีวิต
แต่การจากทั้งที่สองฝ่ายยังรักกันนั้น ยากนักที่จะเกิดสภาพผลัก เพราะไม่ได้ทำผิดอะไรต่อกัน ยังคงรู้สึกดีต่อกัน ยังคงต้องการกันและกัน ดังนั้นการดูดดึงย่อมมีพลังรุนแรงเพราะไม่มีพลังผลักมาต้านหรือมาลดแรงของการดึงดูดกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากแสนยากที่ตัดใจได้ ยากที่จะปล่อยวางได้
จะขอยกทศชาติของพระพุทธเจ้าบทหนึ่งมาเป็นตัวอย่างในกรณีนี้ ในมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นชาติที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญทานบารมี ในชาตินั้นท่านเองก็มีลูกและภรรยาที่ทั้งรักและผูกพันแต่ก็ต้องตัดใจมอบทั้งลูกและภรรยาให้ผู้อื่นทั้งๆที่ยังรักอยู่และภรรยาท่านเองก็ยังรักท่านอยู่ เป็นเรื่องยากสุดยากที่สุดจะจินตนาการ ยากจะเข้าใจ เป็นเรื่องที่คนธรรมดาไม่มีทางทำได้ต้องบารมีระดับพระพุทธเจ้าเท่านั้นถึงจะทำได้
ลดลงมาเป็นระดับที่เห็นได้โดยทั่วไปบ้าง ดังเช่นคนที่ครอบครัวห้ามไม่ให้คบกัน โดนสังคมกีดกันไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้เพราะหากคบกันต่อแล้วจะมีคนอื่นทุกข์อีกมากมายหรือเกิดทุกข์ที่คู่รักคู่นั้นเอง มีบางคู่ที่มีความยึดมั่นถือมั่นมากไม่สามารถยอมรับสภาพการที่ต้องถูกพรากทั้งที่ยังรักกันได้จนกระทั่งเลือกที่จะหนีตามกันหรือตัดสินใจอื่นๆเพื่อหนีจากทุกข์นั้น ถึงแม้คู่ที่ต้องถูกพรากขณะที่ยังรักกันจะสามารถยอมรับการพลัดพรากนั้นได้แต่ถึงกระนั้นก็ยังจะต้องทนทุกข์ทรมานจากความยึดมั่นถือมั่นอยู่เช่นกัน
3). มากกว่ารัก
ดูเหมือนว่าความรักนั้นจะมาพร้อมกับความทุกข์เสมอ แต่ความรักนั้นก็ยังมีมิติที่ล้ำลึกกว่ารักที่เราเห็นและเข้าใจ เป็นมากกว่ารักทั่วไป เป็นรักที่ไม่มีการผูกมัด ไม่มีความทุกข์ มีความหวังดีและจิตเมตตาอยู่ แต่ไม่มีความผิดหวัง เพราะไม่ยึดสิ่งใดไว้ให้ผิดหวัง เราจึงต้องเรียนรู้ในเรื่องที่มากกว่ารัก
ในส่วนของผู้ที่ต้องการความเจริญในทางธรรม เช่นเดียวกับตัวอย่างของพระพุทธเจ้า เราเองก็ต้องทำเช่นนั้นเหมือนกัน แต่จะไม่ยากเท่า ไม่ลำบากเท่า ผู้ที่จะต้องการทำลายกิเลสเพื่อข้ามพ้นสู่ความผาสุกที่แท้จริง จะต้องทำลายกิเลสทิ้งในขณะที่มีความรัก ในขณะที่ยังรักยังผูกพัน ในขณะที่ความรู้สึกว่ารักนั้นยังคงอยู่ ยังเหลือเยื่อใยต่อกันอย่างเต็มที่เท่านั้น
การทำลายกิเลสหรือการทำลายความยึดมั่นถือมั่นนั้นไม่ใช่การทำลายความรัก แต่เป็นการยกระดับของความรักจากรักแบบโลกีย์ ให้กลายเป็นรักในแบบโลกุตระ เป็นรักที่ยิ่งใหญ่ มีแต่ความเมตตา มีแต่การให้ ไม่คิดจะเอาอะไรกลับมา เป็นเพราะรักมากจนกระทั่งยอมปล่อยยอมวาง รักมากเสียจนยินดีสละทุกอย่างให้ มากจนยอมทนทรมานเพียรทำที่สุดแห่งทุกข์เพื่อที่จะได้มาซึ่งรักที่ใสบริสุทธิ์จากกิเลสและนำรักที่บริสุทธิ์นั้นมาให้กับคนที่รักและคนอื่นๆอีกมากมาย
เพราะรักมากและเห็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของความรักมากกว่าการครองคู่ มากกว่าการยึดมั่นถือมั่น มากกว่าการจองเวรจองกรรมกันข้ามภพข้ามชาติ มากกว่าการกอดทุกข์ไว้ คือการปลดปล่อยตัวเราและผู้อื่นออกจากการจองเวรจองกรรม เป็นโอกาสเดียวที่เราจะสามารถเข้าถึงความสุขแท้ได้คือยอมรับและเข้าใจทุกสิ่ง
เพราะรักจึงเข้าใจและยอมรับ ไม่ว่าจะถูกทิ้งหรือจำใจจะต้องเลิกราก็ตาม สุดท้ายการปล่อยวางจะเกิดจากการเข้าใจทุกเหตุปัจจัยและยอมรับในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ
ผู้ที่ยอมปล่อยสิ่งที่รักได้อย่างเป็นสุข ปล่อยวางได้อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น จะได้รับปัญญาใหม่ ได้รับความรู้เกี่ยวกับความรักชุดใหม่ ได้รักใหม่ที่ดีกว่าเก่า สุขกว่าเก่า สบายกว่าเก่า สงบเย็นกว่าเก่า เมตตากว่าเก่า รักมากกว่าเก่า
4).เหตุเกิดของความยึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่าความรัก
เหตุทั้งหมดของเรื่องเหล่านี้คือการยึด แล้วมันยึดอย่างไร ยึดมาตั้งแต่ตอนไหน เราจะมาลองอธิบายปฏิจจสมุปบาทไปกับการยึดของความรักกัน
จิตเดิมแท้ของเรานั้นเป็นจิตใสไม่มีกิเลส แต่ด้วยความไม่รู้คืออวิชชา ไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นกิเลส จึงหลงสร้างสภาพปรุงแต่งทั้งกายวาจาใจ เมื่อมีการปรุงแต่งจึงเกิดวิญญาณคือธาตุรู้ เมื่อมีวิญญาณจึงมีนามรูปคือตัวรู้แล้วตัวที่ถูกรู้ เมื่อมีนามรูปจึงมีสฬายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนถึงขั้นตอนนี้อาจจะเข้าใจยากสักหน่อยด้วยภาษาด้วยพยัญชนะ ซึ่งเป็นการเกิดของร่างกายและจิตใจเรานี่เอง
เมื่อเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจึงเกิดมีผัสสะ คือมีสิ่งกระทบ เช่นตากระทบรูปเห็นคน จำได้ว่าคนแบบนี้เรียกว่าคนสวยเป็นที่นิยม จึงเกิดเวทนาคือมีความสุขที่ได้เห็นคนสวย เมื่อมีความสุขจึงเกิดตัณหาคือความอยากเสพคนสวยหรือความสวยนั้น เมื่อมีตัณหาจึงมีอุปาทานคือการยึดมั่น ว่าฉันชอบคนสวย ฉันอยากได้คนสวย ฉันสุขใจเมื่อมีคนสวย มันยึดเข้าตรงนี้เอง กิเลสกลายมาเป็นตัวเราของเราตรงนี้เอง
ความรักหรือการยึดมั่นถือมั่นในคู่ครองก็เช่นกัน เมื่อเขาล่อลวงเราด้วยอบายมุข บำเรอเราด้วยกามคุณ สนองเราด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกีย์สุข ทำให้เราเสพสมในอัตตาของเรา ทำให้เราได้รับผัสสะต่างๆ ได้กระทบกับสิ่งต่างๆเกิดเป็นความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ในส่วนของคนคู่นั้นก็มักจะเกิดการเป็นสุขมากกว่า เมื่อเป็นสุขก็เลยมีตัณหาคือความอยากเสพความสุขนั้นอีก อยากเสพไปเรื่อยๆจึงเกิดความยึดหรืออุปาทาน มันยึดคู่รัก คนรัก อดีตคนรักไว้ก็ตรงนี้ เพราะได้เสพสมใจในกิเลสจึงยึดมั่นถือมั่นไว้ เกิดความยึดในการเสพสุขนั้นไว้ แต่มันไม่จบเพียงเท่านี้
การยึดนั้นทำให้เกิดภพ หรือที่อาศัย ในที่นี้คือสภาพที่จิตใจได้ดำรงอยู่ เช่นติดอยู่ในภพที่ว่าเขาจะเป็นของฉันเช่นนี้ตลอดไป เมื่ออาศัยอยู่ในภพเช่นนี้จึงมีชาติ คือการเกิด เกิดกิเลสซ้ำ เกิดความอยากได้อยากมีอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่จะเกิดต่อจากความยึดว่าสิ่งนั้นเป็นสุข
แต่เมื่อมีการเกิดก็ต้องมีการดับเป็นธรรมดา คือเมื่อเกิดแล้วก็จะค่อยๆแก่ลงไปชราลงไป หมายถึงรักนั้นไม่ได้สดใสเหมือนเมื่อก่อน มันเสื่อมลง มันน้อยลง แม้ได้เสพก็สุขน้อยลง เมื่อแก่แล้วก็ต้องตาย ความตายอาจจะตายจากกันจริงๆหรือหมายถึงความรักนั้นตายจากใจก็ได้ มันหายไปสลายไปไม่มีเหลือ ที่นี้คนที่ติดสุข ติดภพ ยึดมั่นถือมั่นในคู่รักก็จะเกิดเป็นความเศร้าโศก คร่ำครวญรำพัน เสียใจ สร้างความคับแค้นใจ และความทุกข์ทั้งหมดทั้งมวลในความรักที่มีกิเลสย่อมเกิดด้วยเหตุเช่นนี้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งนั้นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” ดังนั้นการจะดับปัญหาที่เกิดขึ้นคือต้องดับที่ความยึดมั่นถือมั่น การจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริงต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่การจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ง่ายเพียงแค่ท่องว่าปล่อยวาง แต่เป็นการทำลายกิเลสซึ่งเป็นรากแห่งความยึดมั่นถือมั่นโดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นพระเอกในภารกิจนี้ต่อไป
– – – – – – – – – – – – – – –
6.12.2557