Tag: ตัณหา
ทำไมไม่ลงเอย
ถาม : มีความรักแล้วจบลงด้วยการเลิกราทุกครั้ง คนที่รักไปแต่งงานกับคนอื่น มีวิบากกรรมอะไร ทำไมถึงไม่ได้ลงเอย
ตอบ : เพราะไม่ได้มีกรรมร่วมกัน ก็เลยไม่ได้ลงเอย คนที่ไม่ได้ร่วมเวรร่วมกรรมกันมาจนมีพลังงานที่พอเหมาะ คือไม่มีนามธรรมที่สมเหตุสมผล จึงไม่เกิดรูปธรรม คือไม่เกิดเหตุการณ์นั้นๆขึ้น
ถ้าตอบตามแบบทั่วไปก็จะตอบได้ว่าสะสมบุญบารมีร่วมกันมาไม่มากพอ แต่จริงๆแล้วการคู่กันจนกระทั่งได้แต่งงานนั้นคือ “บาปและอกุศล” ดังนั้นถ้ามองตามความจริง คนที่ได้คบหาดูใจกัน จนกระทั่งแต่งงานมีลูกด้วยกันนี่แหละคือคนที่มีเวรมีกรรมต่อกันจะต้องมาใช้หนี้กันและกัน แต่ในระหว่างใช้หนี้เก่าก็สร้างหนี้ใหม่เพิ่ม ดังนั้นจึงต้องมีครอบครัวผูกมัดไว้เพื่อใช้หนี้กรรมอย่างไม่จบไม่สิ้น
จะขอตอบขยายเพิ่มเติมเพื่อไขข้อข้องใจอื่นๆดังนี้
1). กรรม
ผลของกรรมเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน ส่วนเราไปทำกรรมอะไรไว้ ในชาตินี้ก็คงพอจะนึกย้อนได้ แต่ของเก่าก็อย่าไปเดาให้เสียเวลา ให้รู้ชัดๆแค่ว่าสิ่งนี้แหละ ฉันทำมาเอง ฉันเป็นคนทำแบบนี้มา ก็แค่รับสิ่งที่ตัวเองทำมาก็เท่านั้นเอง
กรรมที่เห็นนั้นมีความซ้อนของกรรมดีและกรรมชั่วปนกันอยู่ หลายคนอาจจะมองว่าการไม่ได้แต่งงานเกิดจากกรรมชั่ว ซึ่งนั่นก็ไม่แน่เสมอไป แต่ที่แน่นอนคือกรรมชั่วทำให้เกิดความทุกข์ ส่วนการไม่ได้แต่งงานนั่นแหละคือกรรมดี เพราะทำให้เราแคล้วคลาดจากการผูกมัดด้วยบ่วงกรรมถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตามที
ในความไม่ดีมันก็มีสิ่งดีซ่อนอยู่ ดังนั้นหากจะเหมาว่าเป็นกรรมชั่วทั้งหมดก็คงจะไม่ใช่
2). ทุกข์จากการเสียของรัก
เมื่อสูญเสียสภาพของคู่รัก หรือคนที่หมั้นหมายว่าจะแต่งงานไป ก็คือการเสียของรัก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของโลกที่เราทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักและหวงแหน
ถึงจะได้คบหาหรือแต่งงานไป สุดท้ายก็อาจจะต้องเสียไปในวันใดวันหนึ่งอยู่ดี ไม่ตายจากไป ความรักนั้นก็อาจจะตายจากไปแทนก็ได้ ซึ่งการยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆก็ตาม แม้ว่าจะรักและดูแลดีแค่ไหน แต่สุดท้ายเราก็จะต้องเสียมันไป
ความทุกข์ที่เกิดขึ้น นั้นเกิดจากสภาพที่ไม่ได้เสพของรักอย่างเคย ซึ่งเกิดจากการเสพติดหรือการยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นมาเป็นของตนแล้วหมายว่าจะได้เสพสิ่งนั้นตลอดไป พอโดนกรรมของตัวเองแย่งของรักไปก็ทุกข์ใจ โวยวาย ร้องห่มร้องไห้กันไปไม่ต่างอะไรจากเด็กโดนแย่งของเล่น
3). คุณค่าในตน
ความทุกข์จากการสูญเสียแท้จริงแล้วมาจากความพร่อง เราจึงใช้สิ่งอื่น หรือคนอื่นเข้ามาเติมเต็มความพร่องในชีวิตจิตใจของเราเอง อย่างเช่นว่าเราเหงา เราก็เลยอยากหาใครสักคนมาอยู่เป็นเพื่อน หรือว่าเราอยากสบายเราก็เลยอยากหาใครสักคนที่จะฝากชีวิตไว้ฯลฯ
ซึ่งความพร่องเหล่านี้เองทำให้เราพยายามหาสิ่งอื่นมาเติมเต็มตัวเอง แต่ความจริงแล้วไม่มีวันที่จะหาใครที่พอเหมาะพอดีกับอัตตาของตัวเองได้ เว้นแต่ตนเองเท่านั้น ไม่มีใครสามารถทำให้เรามีความสุขได้ตลอดไป แม้จะหาคนที่หมายมั่นได้ดั่งใจ แต่สุดท้ายวันหนึ่งเสียไปก็ต้องเสียใจอยู่ดี
ดังนั้นการแก้ปัญญาจึงควรเพิ่มคุณค่าในตนเอง สรุปง่ายๆเลยว่าใช้การเพิ่มอัตตาเข้ามาบดบังพื้นที่ ที่เคยว่างเว้นให้คนอื่นเข้ามาเติมเต็มชีวิต คือทำให้ชีวิตตนเองนั้นเต็มไปด้วยคุณค่าและความเป็นตัวของตัวเองเสียก่อน ดังคำว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” อย่าไปหาคนอื่นมาเป็นที่พึ่งของเรา อย่าเอาเขามาสนองกิเลสของเรา ใช้อัตตาของเรานี่แหละทำเราให้เป็นคนที่เต็มคน
และต่อมาเมื่ออัตตาเต็มก็จะกลายเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง แข็งแกร่ง อดทน แล้วตอนนั้นก็ค่อยจัดการกับอัตตาในตัวเองต่อ จนกระทั่งกำจัดอัตตาหมดก็ถือว่าจบภารกิจในเรื่องคู่
4). อย่าหลงตามสังคม
ที่มาของคุณค่าลวงๆก็มาจากคำลวงในสังคมนี่แหละ ที่หลอกกันต่อๆมาว่าคนมีครอบครัวถึงจะมั่นคง คนมีคู่ถึงจะมีคุณค่า เรามักจะได้ยินคำว่า “ไม่มีใครเอา” หรือเข้าใจโดยสามัญว่าคนที่มีอายุสัก 30 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ได้แต่งงานคือคนที่กำลังจะขึ้นคานเพราะไม่มีใครเอา
ความเห็นความเข้าใจแบบโลกๆนี้เป็นความเข้าใจที่มาจากกิเลส มาจากความไม่รู้ มาจากความหลงผิด มาจากความโง่ ในความจริงแล้วเราควรจะสรรเสริญความโสด แต่คนผู้หนาไปด้วยกิเลสจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะความโสดจะทำให้ไม่ได้เสพ ไม่ได้สมสู่ ซึ่งเขาเหล่านั้นก็จะบอกว่าการแต่งงานมีคู่นี่แหละดี เพราะตนเองจะได้เสพอย่างไม่ต้องรู้สึกผิดเพราะใครๆก็ทำกัน
สังคมอุดมกิเลสแบบนี้ก็จะมีความคิดไปในทางสะสมกิเลส สนองกิเลส สร้างวิบากบาป พาลงนรก ถ้าเรายังตามสังคมไปโดยไม่มีปัญญาก็จะเสื่อมไปตามเขาเป็นแน่ แต่ถ้ายึดพระรัตนตรัยเป็นหลักไม่ปล่อยให้ชีวิตตกร่วงไปตามสังคมก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ
5). ความเบื่อแบบโลกๆ
ความรู้สึกเบื่อกับปัญหา หรือเบื่อความรักจนไม่ยอมหาความรัก อย่าคิดว่านั่นคือกิเลสตาย เพราะความเบื่อนั้นก็แค่ความเบื่อแบบโลกๆ ที่มีเหตุผลอื่นเป็นตัวกดข่มความอยากหรือยังไม่ถึงเวลาที่ควรของกิเลสนั้นๆ
ตัณหา(ความอยาก)เมื่อไม่ได้แสดงอาการจะสั่งสมลงไปเป็นอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) เก็บเป็นพลังบาปไว้อย่างนั้น เมื่อเจอคนที่ถูกใจจากคนที่เคยเบื่อๆก็อาจจะอยากมีความรักก็เป็นได้
ซึ่งในสภาพของการทำลายกิเลสนั้น จะต้องทำลายตอนที่มีความอยาก ไม่ใช่ปล่อยให้ความอยากสงบจนเป็นอุปาทานแล้วบอกว่าเบื่อหรือบอกว่ากิเลสตาย สภาพนี้เองที่ทำให้คนที่เจ็บจากความรัก คนป่วย คนแก่ ฯลฯ ดูเหมือนว่าจะไม่สนใจความรักทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นเป็นความเบื่อแบบโลกๆเท่านั้นเอง
คนที่แต่งงานแล้วเบื่อครอบครัวก็เช่นกัน เพราะมันได้เสพจนเบื่อแล้วมันก็เลยเกิดอาการเบื่อแบบโลกๆ บางครั้งอาจจะทำให้เราหลงไปว่าเราไม่ได้ยึดติดกับความรักแล้ว เลยทำให้ไม่ศึกษาเรื่องกิเลสให้ถ่องแท้ เกิดมาชาติหน้าก็มีคู่อีกแล้วก็เบื่ออีกเป็นแบบนี้วนไปมาเรื่อยๆ
6). ขอบคุณความโสด
ความโสดดำรงสภาพได้จนทุกวันนี้ ต้องขอบคุณทุกคนที่ผ่านมานะ คนที่เข้ามาคบหา คนที่เข้ามาบอกว่าจะแต่งงานกัน แม้ว่าสุดท้ายเลิกราหรือหนีไปแต่งงานกับคนอื่นก็ตาม
นั่นคือโอกาสที่เราจะไม่ต้องไปรับเวรรับกรรม ไม่ต้องไปทำบาป ไปสะสมบาป คอยสนองกิเลส ไม่ต้องเอาใครมาผูกเวรผูกกรรมกันอีกไม่ต้องมีสิ่งไม่ดีร่วมกันอีกเลย
แต่ที่เราไม่ขอบคุณความโสดเพราะเรามีกิเลสมาก กิเลสจะบังคุณค่าของความโสดจนมิด เรียกว่าโสดไร้ค่าไปเลยทีเดียว ถ้าได้ลองล้างกิเลสของความอยากมีคู่จนหมดจะรู้ได้เองว่า ความโสดนี่แหละคือคุณค่าแท้ๆที่เหลืออยู่ ส่วนความรู้สึกสุขของคนมีคู่นี่มันของเก๊ มันคือสุขลวงๆ ที่เอามาหลอกคนโง่ให้ทุกข์ชั่วกัปชั่วกัลป์
– – – – – – – – – – – – – – –
30.3.2558
วิธีพิสูจน์รักแท้
วิธีพิสูจน์รักแท้
…รักนั้นแท้จริงหรือ? เป็นกุศลจริงหรือ? นำมาซึ่งความสุขจริงหรือ?
ความต้องการที่จะมีใครสักคนเข้ามาอยู่ข้างกาย เข้ามาเป็นคู่ชีวิตนั้นเป็นความต้องการที่ยากจะต้านทานได้ แม้ว่าจะได้ยินคำบอกเล่าเรื่องจริงของความรักมามากมาย แต่เราก็มักจะเลือกเชื่อในมุมที่เราต้องการ เลือกที่จะเชื่อว่าความรักนั้นคือสิ่งที่สวยงาม เชื่อว่าความรักของเราคือความสุข คือความยั่งยืน เคียงคู่กันสร้างกุศลร่วมกันตลอดไป
การสร้างกุศลร่วมกันนั้นดูจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่ทำให้เราคิดว่าการมีคู่นั้นดี เพราะเป็นไปในแนวทางร่วมกันทำดี ร่วมกันเจริญ คงเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถต้านทานความดีความเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบทั้งหน้าตา ฐานะ นิสัยของคู่รัก เราจึงสร้างเหตุผลต่างๆนาๆขึ้นเมื่อเพื่อให้เราได้มีคู่อย่างมั่นใจ เต็มใจ ภาคภูมิใจ เพื่อให้เราได้เสพสมใจในความรัก ในความมั่งคั่ง ในความสมบูรณ์ตามแบบที่โลกเข้าใจ
…รักแท้นั้นคืออะไร?
รักนั้นคือความต้องการ คือตัณหา คือความอยาก ส่วนคำว่าแท้นั้นหมายถึง เที่ยง ไม่แปรเปลี่ยน ไม่แปรปรวน ไม่หวั่นไหว ความรักแท้ก็คือความรู้สึกต้องการที่ไม่หวั่นไหว ในเรื่องของคู่รักนั้นก็หมายถึงความรู้สึกที่มีต่อคู่ของตนอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
คนเรานั้นมีความพยายามที่จะทำสิ่งต่างๆเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีหรือร้ายก็จะพยายามไขว่คว้าให้ได้มาเสพสมใจ คนรักก็เช่นกัน เป็นหนึ่งในเรื่องที่เราต้องพยายาม ในมุมของผู้ชายก็ต้องดูแลเอาใจ เลี้ยงดู ป้อนคำหวานให้คำสัญญา ในมุมของผู้หญิงก็คล้ายๆกันแต่ก็มักจะมีเรื่องของความงามเข้ามาเกี่ยวมากหน่อย คือต้องทำตัวให้งาม ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ว่าง่ายๆก็คือต้องพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ เพื่อที่จะให้ชายสักคนมาหลงใหลได้ปลื้ม
เราจึงพยายามเร่งและบำรุงบำเรอกิเลสของอีกฝ่ายให้ตกลงปลงใจเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ ถาวร มั่นคง ซึ่งในระยะนี้หลายคนจะเรียกว่า “ช่วงโปรโมชั่น” เป็นช่วงที่แต่ละฝ่ายจะพยายามให้ว่าที่คู่รักได้เห็นภาพที่ดีที่สวยงามของตนเอง เพื่อที่จะได้อีกฝ่ายมาเสพสมใจ ชายก็เสพหญิง หญิงก็เสพชาย เสพในตัวตนของกันและกัน
ทีนี้ช่วงโปรโมชั่นนั้นจะสั้นจะยาวก็ขึ้นอยู่กับกิเลส ถ้ากิเลสมากก็จะสั้น ถ้ากิเลสน้อยก็จะยาว ยกตัวอย่างเช่นพ่อบุญทุ่ม ที่ดูแลเทคแคร์เอาใจ เลี้ยงดูทั้งกายและใจของอีกฝ่ายหมายจะให้เขาหลงรัก ลักษณะนี้ก็มักจะเป็นแบบสั้น แต่ถ้าคบกันเป็นเพื่อนช่วยเหลือกันดูแลกันไปแบบนี้ก็มักจะยาวหน่อย
แต่เมื่อปัจจัยต่างๆได้เปลี่ยนไป เช่น เปลี่ยนจากคนที่คบหาเป็นแฟน จากที่เคยมีระยะห่างก็จับมือถือแขนกอดจูบใกล้ชิด จากที่ไม่เคยมีอะไรกันก็มีอะไรกัน จากแฟนมาเป็นสามีภรรยา จากที่เคยเต่งตึงกลับหย่อนยาน จากที่เคยมีกันสองคนก็มีคนเพิ่มมาหลายคนจากที่เคยไม่มีภาระก็มีภาระ จากที่เคยสนองกิเลสกันได้ก็เริ่มจะไม่สามารถสนองกันได้จนเต็มอิ่ม
ปัจจัยเหล่านี้เองที่จะมาทดสอบความรักแท้ คนที่อ้างนักอ้างหนาว่าตนเองมีรักแท้ รักที่ตนมีเป็นของแท้ คนที่ตนเองเลือกคือเนื้อคู่ คือคนที่ฟ้าส่งมาให้ คือคนที่จะร่วมชีวิตไปจนตาย หลังจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ “ความรัก” ยังจะสามารถคง “ความแท้” ได้หรือไม่
เราจะเห็นได้ว่าความจริงมักจะเปิดเผยหลังการเปลี่ยนแปลง ว่าความรักนั้นแท้หรือไม่แท้ เอาของปลอมมาหลอกขายเป็นของแท้หรือไม่ โดยการดูจากเหตุการณ์เหล่านี้ หลายคู่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากได้กัน หลายคนเปลี่ยนไปหลังจากเป็นแฟนกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากแต่งงานกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากมีลูกด้วยกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากผ่านไปเป็นสิบยี่สิบปีก็มี
และหลายคู่เหล่านั้นทำได้แค่ประคองชีวิตคู่ต่อไปแบบที่ทั้งรักทั้งชัง หวานอมขมกลืน ใช้ชีวิตแบบน้ำท่วมปาก จะพูดว่าชีวิตดีก็พูดได้ไม่เต็มปาก แต่จะบอกทุกข์มันก็มีสุขร่วมด้วยอยู่บ้าง สุขทุกข์ปนกันไป ทุกข์มากหน่อย สุขนิดเดียว แต่ก็ยอมทนต่อไป บางคู่ทนไม่ได้ก็เลิกราหย่าร้างกันไป ทิ้งไว้เพียงคนที่อกหักผิดหวังกับความรัก รังเกียจความรัก ประณามความรัก
ทั้งหมดนั้นเกิดก็เพราะว่า “ความรักมันไม่แท้ตั้งแต่แรก” ไม่ใช่ว่าตอนแรกแท้แล้วตอนหลังมันไม่แท้ อันนี้มันเล่นคำ ของแท้จริงๆมันต้องไม่แปรเปลี่ยน ไม่เวียนกลับ ไม่เปลี่ยนจากรักเป็นเมินเฉย ไม่เปลี่ยนจากความต้องการเสพเป็นต้องการให้ออกไปจากชีวิต
การพิสูจน์ความรักแท้โดยรอการทดสอบจากกาลเวลาและกรรมนั้นช้าและเสี่ยง เพราะบางคู่กว่าจะรู้ตัวก็มีลูกเป็นเครื่องผูกมัดไปแล้ว หนีไม่ได้แล้ว ยังไงก็ต้องแบกไว้แบกทั้งลูกแบกทั้งความขมขื่นที่ได้รับ เราจึงควรศึกษาวิธีพิสูจน์รักแท้ในหัวข้อต่อไป
…การสร้างกุศลร่วมกันคืออะไร?
หลายคนที่คิดจะมีคู่ก็มักจะใช้เหตุผลเรื่องของการสร้างกุศล ร่วมบุญ สร้างความเจริญทั้งทางโลกทางธรรมไปด้วยกัน การที่คนเราจะเจริญไปพร้อมๆกับคู่รักได้นั้น ต้องมี ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาที่เสมอกัน (สมชีวิสูตร) ความเสมอกันนี้จะทำให้ได้พบเจอกันในชาติภพต่อๆไป ชาติในที่นี้ไม่ใช่แค่ชีวิตหน้า แต่เป็นชีวิตนี้ที่จะเกิดความรู้สึกต่างๆในอนาคตต่อไป
คู่รักที่ประคองคุณสมบัติสี่ข้อนี้ให้เสมอกันได้จะทำให้ชีวิตรักเป็นไปอย่างราบรื่น ได้อยู่ด้วยกันนานตราบเท่าที่ยังเสมอกัน แต่ความเสมอกันนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ความดีเท่านั้น อาจจะหมายถึงความเลวเสมอกันก็ได้ เช่นไม่มีศรัทธาในความดีเหมือนกัน ไม่ถือศีลเหมือนกัน ไม่เสียสละเหมือนกัน ไม่มีปัญญาเหมือนกัน คู่ที่เสมอกันเหล่านี้ก็สามารถร่วมภพร่วมชาติกันสร้างบาป เวร ภัยไปได้กันทุกภพทุกชาติเช่นกัน
ดังเป้าหมายของเราที่ตั้งไว้ว่าเราจะครองคู่กันเพื่อร่วมกันสร้างกุศล ร่วมบุญ สร้างความเจริญต่างๆ เราจึงไม่มีทางที่จะเลือกวิธีที่ทำให้ชีวิตตกต่ำอย่างแน่นอน เช่นเดียวกันกับคำว่าการสร้างกุศลนั้นคือการเพิ่มความดี นั่นหมายถึงเราต้องพากันทำดี เร่งทำความดีและจะไม่หยุดอยู่ที่เดิมแล้วใช้ชีวิตเสพสุขไปวันๆอย่างแน่นอน
การสร้างกุศลร่วมกันนั้นหมายถึงการยกระดับศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ไปด้วยกันกับคู่รัก ในบทนี้จะขอยกตัวอย่างในกรณีของศีลเพราะเห็นภาพได้ชัดเจน
ความเจริญของคนนั้นเริ่มต้นจากการมีศีล มีศีลก็มีธรรม มีศีลก็มีปัญญา จริงๆแล้วทั้งสี่ข้อนี้ไม่ได้แยกกันแต่เชื่อมโยงกันร้อยเรียงผูกพันกันอย่างน่ามหัศจรรย์ เมื่อหยิบยกข้อใดข้อหนึ่งมาอธิบาย ก็สามารถขยายไปถึงข้ออื่นๆได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราตั้งใจจะยกระดับการทำกุศลของชีวิตคู่ เราจึงตัดสินใจถือศีลในข้อที่ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์อื่น เราจึงเลือกที่จะกินมังสวิรัติ การเลือกที่จะถือศีลนี้ต้องมีศรัทธา และมีความเสียสละความอยากเพื่อละเว้นการเบียดเบียน รวมถึงมีปัญญาที่จะทำให้การถือศีลเป็นไปในแนวทางที่พาพ้นทุกข์ได้
เมื่อเราถือศีลดังนี้ ก็จะเป็นกุศล เป็นความดีในชีวิตเรา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคู่ของเราจะสามารถถือศีลตามได้ด้วย เช่นเรากินมังสวิรัติ แต่เขากลับยินดีในการกินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีจะเป็นมังสวิรัติ เท่านี้ศีลก็เริ่มไม่เสมอกันแล้ว เพราะศรัทธาไม่เสมอ จาคะไม่เสมอ และปัญญาไม่เสมอ จึงไม่ยินดีที่จะถือศีลร่วมกัน
เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำขององค์ประกอบทั้งสี่ข้อนี้แล้ว ก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตคู่เกิดขึ้น เหมือนเทวดากับมารอยู่ด้วยกัน วิธีที่จะทำให้กลับมาเป็นคู่กันแบบปกติมีสองทาง ทางหนึ่งคือทำให้เป็นเทวดาทั้งคู่ ทางที่สองคือกลับไปเป็นมารเหมือนกันทั้งคู่
แต่ในเมื่อเราบอกว่าเรามีคู่เพื่อทำกุศลไปร่วมกัน เพื่อความเจริญทั้งทางโลกทางธรรมไปด้วยกัน หากคำตอบของเราที่ว่าจะยอมลดศีลไปเพื่อให้ชีวิตได้เคียงคู่กันอย่างปกตินั้น ก็สามารถเป็นเหตุผลได้แล้วว่าจริงๆเราไม่ได้อยากมีคู่เพราะจะทำกุศลร่วมกันหรอก เราแค่อยากมีคู่เฉยๆและอยากมีเพื่ออะไรก็มีกิเลสมากมายมารองรับในผลนี้ ส่วนการทำกุศลนั้นก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างให้เราได้เสพคู่อย่างดูมีเหตุมีผลเท่านั้นเอง
คนที่มีปัญญาก็จะไม่รีบแต่งงาน จะดูกันไปคบกันไป เพิ่มอธิศีล คือกระทำศีลให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ดูว่าคนที่เราเรียกว่าเนื้อคู่นั้นจะตามศีลเราไหวไหม เขามีอินทรีย์พละมากพอไหม เขามั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงไหม ถ้าเรายกระดับศีลเรื่อยๆแล้วเขาตามไม่ทัน นั่นไม่ใช่เนื้อคู่ของเราอย่างแน่นอน เพราะถ้าเราสามารถถือศีล ปฏิบัติศีลยากๆได้ แต่เขาทำไม่ได้ ก็คือศีลไม่เสมอกัน ดังนั้น ศรัทธา จาคะ ปัญญา ก็จึงไม่เสมอกัน คนที่มีบุญบารมีไม่พอเหมาะกับเราก็ไม่มีทางเป็นเนื้อคู่เราได้อย่างแน่นอน
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ศีลจะเป็นสิ่งที่ทดสอบความแท้ของคน ทดสอบบุญบารมีของคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนจะสนใจทดสอบคู่ของตน ในทางกลับกันก็ยังยอมยินดีลดศีลของตนเพื่อให้ตัวเองได้มีคู่อีกด้วย เช่นบางคนกินมังสวิรัติได้ แต่เพื่อให้ได้มีสามีหรือภรรยาเป็นตัวเป็นตน ก็ยอมเลิกกินมังสวิรัติกลับไปกินเนื้อสัตว์เพราะคู่คนนั้นเขาไม่กินมังสวิรัติ ความจริงที่เกิดในโลกมันก็แบบนี้ ใครจะยอมเพิ่มศีลเพื่อคัดคนที่ตัวเองหลงออกจากชีวิตได้ เวลาคนหลงแล้วธรรมะก็ไม่เกิด กิเลสมันชั่วแบบนี้เพราะมันทำให้เราทิ้งศีลธรรม ยอมลดคุณงามความดีกลับไปชั่วเพื่อไปเสพให้สมใจตามที่กิเลสต้องการ
…ความสุขในการมีคู่คืออะไร?
การที่เราไปมีคู่นั้น ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากความหลงสุข หลงว่ามีคู่แล้วจะเป็นสุข หลงว่าชีวิตสมบูรณ์แล้วจะเป็นสุข ถ้าถามว่าความสุขของการมีคู่คืออะไรก็มักจะได้คำตอบแบบอุดมคติว่าอยู่ด้วยกัน ดูแลกัน พึ่งพากัน ฯลฯ ซึ่งจริงๆความสุขเหล่านี้มีอยู่แล้วในครอบครัว ในพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มิตรสหาย เราสามารถใช้คำเหล่านี้ได้กับคนใกล้ตัวของเราทุกคน
สิ่งเดียวที่ต่างออกไปจากสิ่งที่ได้รับจากพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มิตรสหายก็คือการสมสู่หรือเซ็กส์ (sex)…เรามักจะปิดบังความจริงไว้ใต้เหตุผลสวยหรูต่างๆให้ดูว่าความรักของตนนั้นสวยงามเลิศเลอและสูงค่า แต่สุดท้ายก็มาติดตรงเรื่องเซ็กส์ เรื่องการสมสู่ เป็นเรื่องลับๆที่ไม่มีใครเคยบอกกล่าว ว่าจริงๆแล้วฉันมีคู่และฉันแต่งงานก็เพราะอยากมีเซ็กส์นี่แหละ เรื่องเซ็กส์จึงเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำ เป็นปัญหาที่หลายคนสงสัยว่าทำไมหลายคนหลายคู่จึงทะเลาะเลิกรากัน หรือจนกระทั่งมีปัญหา ชู้ กิ๊ก เมียน้อย ฯลฯ เรื่องราวต่างๆเหล่านี้มักจะมีเรื่องเซ็กส์เป็นเบื้องหลังเสมอ
โดยปกติแล้วเรามักจะไม่ยอมรับในเรื่องเซ็กส์หรอก มันเป็นกิเลสที่เก็บไว้ลึกๆ เก็บไว้สนองกันในคู่ของตน ไม่มีใครกล้าพูดออกมาเพราะเป็นเรื่องน่าอาย แต่เราสามารถเห็นภาพสะท้อนได้จากสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น มีการผลิตยาปลุกเซ็กส์ หรือยาที่ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว หรือเมื่อมีกระแสสมุนไพรกระชับช่องคลอดหรือทำให้หน้าอกใหญ่ก็มีแต่คนตามหา ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเรื่องเพศนั้นเป็นตลาดที่มีการเจริญเติบโตอย่างลับๆแม้ว่าจะไม่เปิดเผย แต่ก็มี supply & demand มากจนสังเกตได้ถึงขนาดที่ว่าในยุคสมัยนี้มีการศัลยกรรมเพื่อให้มีหน้าอกใหญ่กลายเป็นเรื่องปกติ หรือมีดารานักน้องที่แต่งตัวโป๊ เต้นด้วยท่าเต้นที่ยั่วยวนจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่ามากเกินไปจนอุจาดตา ซึ่งเป็นเจตนาที่ชัดเจนในการกระตุ้นทางเพศ
ถ้าเราสามารถตัดเรื่องเพศ เรื่องการสมสู่ออกไปจากชีวิตคู่ได้ เราจะไม่รีบแต่งงาน เราจะไม่มีรู้สึกว่าต้องการ การกอด การจูบ หรือแม้แต่การถูกเนื้อต้องตัวกัน ไม่รีบเสียตัวให้กันและกันเพียงเพราะความใคร่อยาก เราจะคบกันไปเรื่อยๆ ดูกันไปเรื่อยๆ เพราะหวังคบกันอย่างเพื่อนชีวิต เมื่อเซ็กส์ไม่ใช่คำตอบในชีวิต การแต่งงานหรือการคบหาในลักษณะแฟนก็ไม่ใช่คำตอบในชีวิตเช่นกัน คนที่รักกันอย่างจริงใจจะไม่รีบหรือผูกมัดกันและกันด้วยการสมสู่หรือการแต่งงาน
นอกจากเรื่องการสมสู่แล้วคนทั่วไปก็ยังคบหากันด้วยผลประโยชน์ต่างๆ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ในเรื่องลาภก็คบกันเพราะเขามีเงิน เพราะเขารวย มีกำลังปรนเปรอกิเลสของเรา เราจึงมีความสุข ในเรื่องยศเพราะเขามีหน้าที่มีตำแหน่งมีอำนาจเราจึงเสพสุขด้วยผลพวงแห่งอำนาจของเขา ในเรื่องสรรเสริญเพราะเขาเป็นคนที่ได้รับความนิยม เป็นคนที่สังคมยอมรับเราจึงพลอยหลงใหลได้ปลื้มไปกับเขาด้วย ในเรื่องโลกียสุขคือเราได้เขามาปรนเปรอกิเลสต่างๆ มาดูแลเอาใจ มาบำรุงกาม มาบำเรออัตตาของเรา เราจึงเป็นสุขและหลงในสุขเหล่านั้น
มีหลายต่อหลายคู่ที่คบหากันด้วยผลประโยชน์ทางโลกเหล่านี้ ไม่ว่าอย่างไรความสุขของคนมีกิเลสก็หนีไม่พ้นอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา แม้จะมีเหตุผลมากมายที่ยอมรับได้ในทางโลกแค่ไหน ก็เป็นเพียงข้ออ้างที่สวยหรูที่ใช้กันในสังคมอุดมกิเลส เพื่อที่จะทำให้การเสพกิเลสเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เป็นเรื่องปกติ เช่น ถึงคนคนนี้จะดีแสนดีแค่ไหนแต่ถ้าจนฉันก็ไม่แต่งงานด้วยถึงแม้เขาจะเป็นคนดีแต่ถ้าเลี้ยงดูบำรุงบำเรอกิเลสฉันไม่ได้ก็ไร้ค่าและสังคมอุดมกิเลสก็จะเออออตามไปด้วย ในทางตรงกันข้ามถึงแม้คนคนนี้จะเลวทรามแค่ไหนแต่ถ้ารวยฉันก็ยอมได้ฉันพร้อมจะหาข้อดีของเขาแม้จะยากปานงมเข็มในมหาสมุทรก็จะหาและสังคมอุดมกิเลสก็จะเออออตามไปด้วย เหล่านี้เองเรียกว่าการเสพสุขทางโลกซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม มีให้เห็นกันเป็นประจำตามข่าวสารประจำวัน
ในความเจริญสูงสุดตามหลักการของพุทธ สุดท้ายคู่รักก็จะกลายเป็นเสมือนญาติคนหนึ่ง เหมือนเพื่อนคนหนึ่ง ไม่มีเซ็กส์ ไม่มีการกอดจูบลูบคลำ ไม่มีการสนองกิเลสใดๆแก่กันและกัน สรุปแล้วก็เหมือนได้ญาติเพิ่มมาคนหนึ่ง แล้วจะเอาเขามาเพิ่มทำไมในเมื่อจริงๆแล้วเราก็มีญาติพี่น้องมิตรสหายให้ดูแลมากอยู่แล้ว
คนที่อยากจะรักใคร ดูแลใครสักคนตราบชั่วชีวิตจริงๆ มีรักแท้จริงๆ เขาจะไม่ไปหาคู่ให้เสียเวลาหรอก เพราะเขามีพ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนมิตรสหายที่พร้อมจะให้เขาดูแลอยู่ตั้งมากมายแล้ว ทำไมยังต้องเอาคนที่ไม่รู้จักกันเข้ามาในชีวิตเพียงเพราะอยากเสพกิเลสบางอย่างแค่นั้นเอง
การเพิ่มใครสักคนเข้ามาในชีวิตจะทำให้เราเสียเวลาในการดูแลคนสำคัญในชีวิตไปเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เรามีแฟนเพิ่มมาหนึ่งคนก็ลดเวลาที่เราจะพูดคุยและดูแลพ่อแม่ไปส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเรามีแต่งงานมีลูกเราก็แทบจะไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่เลย นี่หรือสิ่งที่เราเรียกว่าความรัก นี่หรือคือสิ่งที่เราตอบแทนคนที่รักเรามากที่สุด กับคนที่ห่วงใยเรามาทั้งชีวิตเรายังให้ค่า ให้ความสำคัญไม่เท่าใครก็ไม่รู้ที่เข้ามาในชีวิตเรา เพียงเพราะเขามาบำเรอสุขให้เรา เพียงเพราะต้องการสมสู่ เพียงเพราะแค่อยากมีลูก จึงทำให้เราเห็นแก่ตัวเอาความสุขนั้นไว้คนเดียวแล้วทิ้งให้คนที่รักเรารอคอยอย่างเดียวดายหรือ
ความสุขในการมีคู่ของคนมีกิเลสก็จะเยอะแยะมากมายไปหมด ให้พูดกันทั้งวันก็ไม่จบ มีหลักฐานมีที่อ้างตามแต่กิเลสจะพาไป แต่ถ้าได้ลองล้างกิเลสกันดูจะพบว่ามันไม่เห็นว่าจะมีความสุขตรงไหน คบกันเป็นเพื่อนก็ได้ เป็นคู่กันไปก็มีแต่ภาระ พาชั่ว พาจน ยากนักที่จะพาให้เจริญในศีลในธรรมร่วมกัน แต่การพากันเสพกิเลสไม่ว่าจะเรื่องอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตานั้นเป็นเรื่องง่ายสุดง่าย
แต่ก็อย่างว่า ขึ้นชื่อว่าคนมีกิเลสก็คือคนที่หลงมัวเมาในสุขลวง หลงมัวเมาในเรื่องโลก ไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นกุศลอกุศลได้ ไม่สามารถแยกแยะความดีความชั่วจริงๆได้ ก็จะวนเวียนต่อไปในเรื่องคู่เพราะหลงว่าเป็นสุข มีความสุข สามารถบำเรอสุขให้ตนได้ ที่จริงแล้วมันก็กิเลสแท้ๆ กิเลสบริสุทธิ์ เป็นทุกข์แท้ๆ เพราะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เพียงแค่ได้สุขลวงมาเสพ ก็ยินยอมที่จะทุกข์ทรมานไปชั่วกัปชั่วกัลป์
– – – – – – – – – – – – – – –
24.12.2557
เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ
เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ
คำว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักกันอยู่แล้ว ไม่มีใครเกิดมาไม่พบกับทุกข์ ทุกคนที่อยู่บนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องพบกับทุกข์ เป็นสัจจะ เป็นความจริงแท้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ทุกข์นั้นมีอยู่สองส่วน หนึ่งทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ และสองคือทุกข์ที่เลี่ยงได้นั่นก็คือทุกข์จากกิเลสนั่นเอง เราจะมากล่าวถึงทุกข์จากกิเลสกัน
ทุกข์นั้นจะเกิดได้ก็เพราะมีเหตุ เหตุแห่งทุกข์ นั้นพระพุทธเจ้าเรียกว่า “สมุทัย” และเหตุแห่งทุกข์นั้นแท้จริงแล้วอยู่ข้างในตัวเรา
(1). ด่านแรก ทุกข์อยู่ข้างใน…
ด่านแรกของการเห็นเหตุแห่งทุกข์เลยก็คือมันอยู่ที่ตัวเรา ใครที่พบเจอกับความทุกข์แล้วมัวแต่มองหาคนผิด มองหาผู้ที่ทำให้ตนทุกข์ มองหาคนรับผิดชอบในทุกข์นั้น เป็นคนที่มองไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะทุกข์นั้นเกิดจากใจของตัวเอง เกิดจากกิเลสของตน เกิดจากกรรมของตน การจะรู้เหตุแห่งทุกข์ได้จึงต้องยอมรับว่าทุกข์นั้นเกิดจากตนเองก่อนเป็นอันดับแรก
(2). ด่านที่สอง ทุกข์ที่เห็นอาจจะไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์
ทุกข์ที่เห็นนั้น มักจะเป็นผลสุดท้ายของการไม่ได้เสพสมใจ แต่หลายคนไปเข้าใจผิดว่าความทุกข์นั้นคือเหตุแห่งทุกข์ เช่นเราถูกเพื่อนสนิทนินทา เราโกรธเพื่อน แล้วเรารู้สึกว่าโกรธเป็นทุกข์ เราจึงเห็นว่าความโกรธคือเหตุแห่งความทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วความโกรธนั้นเป็นผลที่ปลายเหตุแล้ว จะไปดับความโกรธนั้นก็ได้ก็เรียกว่าดี แต่ก็ถือว่าไม่ได้ดับเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง
มีหลายลัทธิพยายามที่จะดับความคิด ดับเวทนา ดับความสุข ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการได้กระทบสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน โดยพยายามทำการดับสิ่งที่เกิดขึ้น ดับจิตที่เป็นทุกข์ ซึ่งก็เป็นการดับปลายเหตุที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ก็เหมือนมองเหตุที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียวไม่ได้เข้าไปค้นที่ต้นเหตุ มองเพียงว่าจิตใจที่สั่นไหวนั้นคือเหตุเท่านั้น เหมือนกับเกิดแผ่นดินไหว เขาเหล่านั้นมักมองปัญหาคือแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายคือปัญหา เขาต้องหยุดการพังทลายหรือพยายามสร้างบ้านที่ป้องกันแผ่นดินไหวได้ แต่ผู้ที่ค้นหาเหตุจริงๆ คือเข้าไปค้นหาว่าแผ่นดินไหวจากสาเหตุใด แผ่นดินเคลื่อนเพราะอะไร อากาศร้อนเย็นมีผลหรือไม่ ค้นหาไปถึงนามที่ทำให้เกิดรูปคือแผ่นดินนั้นเคลื่อนไหวได้ และดับเหตุนั้นจึงจะเป็นการดับทุกข์ที่เหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง
มีหลายลัทธิที่มองว่าทุกข์นั้น เป็นเพียงสิ่งที่ผ่านมาผ่านไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง จริงอยู่ว่าทุกข์ที่เกิดนั้น มันเกิดขึ้นมา มันตั้งอยู่ และมันก็ดับไป เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผู้ที่เข้าใจเช่นนี้จะสามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในทุกข์ที่เกิดได้ดีระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถดับเหตุแห่งทุกข์ได้ เสมือนกับผู้ที่มองแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายด้วยจิตใจว่างๆ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ เกิดดับ เกิดดับเช่นนี้ตลอดไป ด้วยพวกเขาเหล่านั้นไม่รู้วิธีดับทุกข์ที่เหตุ เมื่อไม่ได้เข้าไปดับเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสก็ต้องเกิดขึ้นอยู่เรื่อยไป แม้จะดับไปตามกฎ แต่ก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
(3). ด่านที่สาม ขุดค้นเหตุแห่งทุกข์
เมื่อเราเห็นได้ว่า การค้นหาเหตุแห่งทุกข์โดยการดูแค่ผิวเผินนั้นไม่สามารถทำลายเหตุแห่งทุกข์ได้อย่างแท้จริง เราจึงต้องมาค้นหาว่าเหตุแห่งทุกข์นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่
ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนนินทาเรา เราก็โกรธเพื่อน ความเข้าใจทั่วไปจะดับความโกรธที่เกิดตรงนี้ แต่ในความจริงแล้ว ความโกรธ (โกธะ)คือกิเลสปลายทาง เป็นสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ครอบครองสมใจ ไม่ได้มาอย่างใจหมาย เราจึงแสดงอาการโกรธเหล่านั้นออกไป อันเกิดจากความโลภ ความอยากได้ อยากครอบครองเกินความจำเป็นจริง เกินจากความจริง(โลภะ) คือเราอยากให้เพื่อนทุกคนพูดดีกับเรา การที่เราอยากให้ทุกคนพูดดีกับเรานั้นเพราะเราเสพติดคำพูดดีๆอยากฟังสิ่งดีๆ (ราคะ) ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความหลง(โมหะ) หลงไปว่าการได้เสพคำพูดดีๆ จะนำมาซึ่งความสุขให้ตน เป็นต้น
ลำดับของกิเลสที่จะเห็นได้จากละเอียดไปหยาบคือ…
โมหะ เพราะเราหลงติดหลงยึดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราจะอยากเสพสิ่งนั้น เป็นรากที่ละเอียดที่สุด แก้ยากที่สุด
ราคะ เราอยากเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดจากเราหลงชอบหลงยึดสิ่งนั้น พอเสพก็ติด ยิ่งเสพก็ยิ่งจะอยากเสพเพิ่มอีก
โลภะ เมื่อเราชอบสิ่งนั้นอยากเสพสิ่งนั้น ก็จะพยายามหามาปรนเปรอกิเลสตัวเอง จนเกิดการสะสม หามามากเกินความจำเป็น หวง ไม่ยอมให้ใครเพราะกลัวตัวเองจะไม่ได้เสพ
โกธะ เป็นกิเลสปลายเหตุ เกิดขึ้นเมื่อไม่ได้เสพสมใจอยาก เมื่อมีคนพรากสิ่งที่อยากเสพไปรุนแรง เป็นไฟที่ทำลายได้ทุกอย่าง
การวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุแห่งทุกข์นี้ ต้องใช้กระบวนการของสติปัฏฐาน๔ คือกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เข้ามาวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้ ซึ่งสติปัฏฐาน๔ นี้ต้องปฏิบัติทุกองค์ประกอบไปพร้อมกัน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นก้อนเดียวกัน เป็นกระบวนการเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาใช้เป็นตัวๆอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจได้
เมื่อปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน๔ อย่างถูกต้องจึงจะมีสิทธิ์ได้เห็นไปถึงเหตุแห่งทุกข์อันคือความหลงติดหลงยึดในกิเลสใดๆได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพิจารณาครั้งเดียวก็เห็นได้ทุกอย่าง เพราะกิเลสนั้นลึกลับซับซ้อน จนบางครั้งเราอาจจะต้องให้เหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นหลายที หรือพิจารณาซ้ำๆในจิตใจอย่างหนักเพื่อที่จะทำให้เห็นเข้าไปถึงเหตุแห่งทุกข์นั้น
การวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้บางครั้งสติปัญญาที่เรามีอาจจะไม่สามารถทำเหตุแห่งทุกข์ให้กระจ่างได้ การมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี คือมีครูบาอาจารย์ที่คอยชี้แนะ มีเพื่อนกัลยาณมิตรที่คอยแนะนำ ก็จะช่วยให้สติ ช่วยให้เกิดปัญญาที่มากขึ้นกว่าขอบเขตที่เราเคยมีได้
(4). ด่านที่สี่ เหตุแห่งทุกข์เกิดจากการหลงในกิเลส
ความหลงในกิเลสนั้นมีมิติที่หลากหลาย หากเราเข้าใจเพียงแค่ว่าหลง แต่ไม่รู้ว่าหลงในอะไร ก็ยากที่จะแก้ไปถึงเหตุได้ เพราะถ้าไม่รู้สาเหตุว่าหลงในอะไร ก็คงจะไม่สามารถดับทุกข์ได้ เพราะการดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ เมื่อดับไม่ถูกเหตุ ทุกข์ก็ไม่ดับ เราจะมาลองดูเหตุแห่งทุกข์ อันคือความหลงยึดในกิเลสสี่ตัวนี้กัน
(4.1). อบายมุข
คือกิเลสขั้นหยาบที่พาให้คนหลงไป สามารถหลงจนไปนรก ไปเดรัจฉานได้เลย คือความหลงในอบายมุขต่างๆ เช่นเที่ยวเล่น เที่ยวกลางคืน เล่นพนัน หวย หุ้น เสพสิ่งมึนเมาทั้งหลายไม่ว่าจะสุรา บ้าดารา กิจกรรมหรือสิ่งต่างๆที่ทำให้จิตใจมัวเมา เที่ยวดูการละเล่น ดูละคร ดูหนัง ดูทีวี เพื่อความบันเทิงใจ คบคนชั่ว พาไปทางเสื่อม พาให้เล่นพนัน พาให้มัวเมา พาให้เป็นนักเลง พาให้หลอกลวงผู้อื่น พาให้คดโกง และความเกียจคร้านการงาน
คนส่วนมากมักจะติดในอบายมุขจนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่พยายามทำตัวกลืนไปกับสังคมโดยใช้ค่ามาตรฐานของสังคมเป็นตัววัดความดี จะถูกกิเลสมวลรวมของคนส่วนใหญ่ลากไปลงนรก หรือที่เรียกว่าอุปาทานหมู่ คือสังคมคิดไปเองว่ากิเลสเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องที่ใครๆก็เสพกัน ทั้งๆที่เป็นอบายมุข เป็นกิเลสหยาบที่พาให้ชีวิตเดือดร้อน เมื่อเสพอบายมุขก็จะยิ่งนำพากิเลสตัวอื่นที่หยาบเข้ามา เสพมากๆก็ติด พอไม่เสพก็โกรธไม่พอใจ เป็นทุกข์
(4.2). กามคุณ
คือความหลงในกิเลสที่พาให้อยากเสพใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นชอบแต่งตัวสวย ชอบคนหน้าตาดี อาหารอร่อย กลิ่นที่หอม เสียงไพเราะ เตียงที่อ่อนนุ่ม หรือกระทั่งเรื่องการเสพเมถุน ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของการหลงในกาม เมื่อเราหลงติดในกามเหล่านี้ ก็จะพาให้เราอยากเสพกามตามที่เราติด พอเสพมากๆก็พาสะสม พอไม่ได้เสพสมใจก็โกรธเป็นทุกข์
(4.3). โลกธรรม
โลกธรรมคือกิเลสที่ละเอียดที่ฝังอยู่ในคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็เป็นสภาพของโลกธรรม เมื่อคนหลงในลาภก็จะสะสมมาก หลงในยศก็จะไต่เต้าเพื่อหายศหาตำแหน่ง หลงในสรรเสริญก็จะพยายามทำตัวให้เป็นที่น่าสนใจ อยากให้คนยอมรับ เชิดชูบูชา หลงในโลกียะสุขก็จะแสวงหาสุขในทางโลก สุขที่วนอยู่ในโลก เมื่อเสพสิ่งเหล่านี้มากเข้า ก็จะเริ่มสะสม เริ่มหวงลาภ ยศ สรรเสริญ สุข พอไม่ได้หรือเกิดสภาพของความเสื่อมทั้งหลายก็จะโกรธ เป็นทุกข์ เสียใจ
(4.4). อัตตา
อัตตาคือกิเลสที่ละเอียดที่สุดที่คนหลงยึดไว้ ไม่ว่าจะอบายมุข กามคุณ โลกธรรม สุดท้ายก็ต้องมาจบที่อัตตา เป็นเสมือนรากของกิเลส ส่วนที่เหลือนั้นเหมือนกิ่งก้านใบของกิเลสเท่านั้น ผู้ที่ดับอัตตาได้ก็จะเข้าสู่อนัตตา เป็นภาษาที่พูดกันได้ง่ายแต่ทำได้ยากยิ่ง
อัตตานั้นคือความยึดมั่นถือมั่น เรายึดมั่นถือมั่นตั้งแต่คน สัตว์ วัตถุสิ่งของ หรือสิ่งที่เป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้ เรายึดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของเรา เราอยากครอบครอง วัตถุ คน สัตว์ สิ่งของเหล่านี้มาเป็นตัวตนของเราซึ่งจะสะท้อนออกไปอีกทีในรูปของ อบายมุข กาม โลกธรรม เช่นเราอยากคบหาคนผู้นั้นไว้เพราะเขารวย เพราะเขามีชื่อเสียง เพราะเขามีอำนาจ หรือเรายึดว่าคนต้องกินเนื้อสัตว์ คนเป็นสัตว์กินเนื้อเพราะเราหลงในกาม หลงติดในรสชาติรสสัมผัส เมื่อเราจะกำจัดกามเหล่านั้นแล้วก็ต้องมากำจัดอัตตาไปพร้อมๆกันด้วย
เรายังสามารถที่จะติดรูปที่สำเร็จด้วยจิตของตัวเองได้อีก เช่นการคิดฝัน ปั้นจินตนาการไปเองว่าคนนั้นพูดแบบนั้นคนนั้นพูดแบบนี้ คนนั้นเขาคิดกับเราแบบนั้น เขาจะทำกับเราแบบนี้ หลงไปว่าการเสพอบายมุขนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพกามนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพโลกธรรมนั้นเป็นสุข เป็นสภาพที่จิตสร้างความสุขหลอกๆขึ้นมาหลอกตัวเอง หรือถ้าหนักๆก็จะเป็นพวกเห็นผี เข้าทรงกันไปเลย ทั้งหมดนั้นเป็นสภาพที่จิตนั้นปั้นขึ้นมาเป็นรูปให้เราได้เห็น จึงเรียกว่ารูปที่สำเร็จด้วยจิตเป็นกิเลสของเราเองที่สร้างความรู้สึกสุข ชอบใจ พอใจ สร้างเป็นภาพ เป็นเสียงขึ้นมาให้เราได้ยิน ทั้งๆที่จริงแล้วมันไม่มี แต่เราไปยึดไว้และหลงเสพสิ่งที่ไม่มีเหล่านั้น ในเมื่อสิ่งนั้นไม่มีจริง ไม่ใช่ของจริง ไม่เที่ยง สุดท้ายเมื่อไม่ได้เสพสมใจก็จะเป็นทุกข์
อัตตายังอยู่ในสภาพไร้รูป หรือที่เรียกว่า อรูปอัตตา เช่น ความเห็น ความเข้าใจ ศักดิ์ศรี ความรู้ ฯลฯ เราก็ไปหลงยึดสิ่งเหล่านี้ไว้ เช่น เราเข้าใจธรรมแบบนี้ เราก็ยึดสิ่งนี้เป็นตัวตนของเรา พอใครมาพูดไม่เหมือนที่เราคิด ไม่เหมือนที่เราเข้าใจ เราก็จะมีอาการขัดข้องใจ ไม่พอใจ โกรธ เพราะเราไม่ได้เสพสมอัตตา คือต้องการให้คนอื่นมาทำให้ได้ดังใจเราหมาย หรือทำตามอัตตาเรานั่นเอง
….เมื่อได้รู้กิเลสทั้งหมดนี้แล้ว เราจึงควรใช้เวลาพิจารณากิเลสในตัวเองอย่างแยบคาย ทำให้เห็น ทำให้ชัดเจนว่าเราติดในกิเลสตัวไหน ปนกับตัวไหน มีรากมาจากตัวไหน การค้นหารากของกิเลสไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย กิเลสบางตัวอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือทั้งชีวิตอาจจะไม่สามารถเห็นเลยก็ได้ถ้าไม่พากเพียร และไม่คบมิตรที่ดี
(5). ด่านที่ห้า ดับเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย
เมื่อเห็นเหตุแห่งทุกข์แน่ชัดแล้ว เห็นตัวการของกิเลสแน่ชัดแล้ว ก็ให้เพียรพยายามทำให้ถึงความดับ โดยใช้มรรควิธี ก็คือการปฏิบัติมรรคทั้ง ๘ นั่นแหละ จะใช้สมถะ วิปัสสนาก็ได้ จะใช้สัมมัปปธาน ๔ ก็ได้ จะใช้โพชฌงค์๗ ก็ได้ จะใช้จรณะ๑๕ ก็ได้ จะใช้ทั้งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ได้ หรือจะใช้ธรรมใดตามที่ถนัดก็ได้ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อการละกิเลส เพื่อการล้างกิเลส เพื่อการดับกิเลสอยู่แล้ว
การจะค้นเจอเหตุแห่งทุกข์นั้นว่ายากแล้ว การดับทุกข์ที่เหตุนั้นยากยิ่งกว่า เพราะต้องใช้ความเพียรพยายาม ใช้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำที่สุดแห่งทุกข์ คือการดับทุกข์นั้นอย่างสิ้นเกลี้ยงโดยการดับกิเลสนั้นนั่นเอง
สรุป…
การที่เราต้องมาหาเหตุแห่งทุกข์อย่างยากลำบากนี้ เพราะพระพุทธเจ้าได้ชี้ขุมทรัพย์ไว้ว่า ดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ แต่บางครั้งเรามักจะมองเหตุแห่งทุกข์นั้นตื้นเกินไป เหมือนกับเราที่เราอยากกำจัดหญ้า แต่ก็ทำแค่เพียงตัดหญ้าที่มันยาวพ้นดินออกมา บ้างเก่งกว่าก็ว่าขุดรากถอนโคนหญ้านั้นไปเลย แต่สุดท้ายหญ้าก็จะขึ้นมาใหม่ เหมือนกับกิเลสนั้นกลับมาโตใหม่อีกครั้ง
ผู้มีปัญญาย่อมขุดรากถอนโคนกิเลสทั้งหมด ทั้งตัดหญ้า ขุดรากถอนโคน และนำดินมาเผา ทำลายเมล็ดหญ้าที่ยังหลงเหลืออยู่ในฝืนดินซึ่งเป็นเมล็ดนี้เองเป็นแหล่งเกิดของหญ้า เหมือนกับตัณหา ถ้าเรายังดับตัณหาคือความอยากไม่ได้ ความอยากเหล่านั้นก็จะค่อยๆเติบโต เหมือนกับผืนดินที่เต็มไปด้วยเมล็ดหญ้า หากไม่กำจัดเมล็ดออก ก็มีแต่จะต้องมาคอยตัดหญ้า ขุดรากถอนโคนหญ้ากันทุกชาติไป
ดังนั้นผู้มีปัญญาพึงกำจัดทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ เผากิเลสเหล่านั้นด้วยไฟแห่งฌาน ให้ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสนั้นสลายไป ทำลายกามภพ ทำลายรูปภพ ทำลายอรูปภพของกิเลสนั้น ไม่ให้มีแม้เสี้ยวอารมณ์ความอยากที่เกิดภายในจิต แม้จะตรวจด้วยอรูปฌานสักกี่ครั้งก็ไม่พบความอยากในจิตอีก เมื่อนั้นแหละที่เขาเหล่านั้นจะได้พบกับสภาวะที่เรียกว่า “สัญญาเวทยิตนิโรธ” คือการดับกิเลสที่อยู่ในสัญญาอย่างสิ้นเกลี้ยง ถือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้กับกิเลสนั้น ได้รับชัยชนะที่ทำได้ยาก เป็นสิ่งที่บัณฑิตต่างสรรเสริญ
– – – – – – – – – – – – – – –
13.10.2557
คุณค่าของความรัก
คุณค่าของความรัก
ความรักนั้นเป็นสิ่งที่ทรงพลานุภาพเป็นแรงผลักดันให้ทุกชีวิตขับเคลื่อนออกไปแสวงหาไขว่คว้า เพื่อให้ได้มาในสิ่งซึ่งสามารถตอบสนองต่อความรักเหล่านั้น
ความรักสามารถดึงคนให้ขึ้นสวรรค์หรือผลักลงนรกได้ เพราะความรักนั้นคือความอยาก คือตัณหา คือแรงผลักดันให้คนเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างบางสิ่งบางอย่าง
คุณค่าของความรักนั้น ไม่ได้อยู่ที่ชื่อ คำเรียกขาน หรือแม้แต่นิยามของมันแต่อยู่ที่รักเหล่านั้นพาเราไปพบกับอะไร…
หลายคนมักจะนิยามความรักอย่างสวยหรู ใช้คำว่ารักเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนอยากได้อยากเสพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคู่ครอง การงาน ทรัพย์สมบัติ หรือกระทั่งชื่อเสียงและคำสรรเสริญต่างๆ
หากความรักคือความอยากที่ปนเปื้อนไปด้วยกิเลส รักนั้นจะพาเราไปเสพและสะสมกิเลส ไปทำร้ายและเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกลวิธีต่างๆ เพื่อที่จะให้เราได้เสพสมใจในกิเลสแม้จะเป็นสิ่งชั่วเช่นนี้ แต่เราก็ยังเรียกมันว่า “ความรัก”
ถ้าความรักคือเจตนาที่มีแต่ความเมตตา เพื่อให้ผู้อื่นได้รับสิ่งดี เพื่อให้เขาได้พ้นทุกข์ เราก็จะพาตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมไปในทิศทางที่พากันลดกิเลส ลดความอยากได้อยากมี ลดการสะสม ลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งนี้เราก็เรียกมันว่า “ความรัก” เช่นกัน
แต่ไม่ว่าเราจะมีความรักแบบไหน รักด้วยกิเลส รักด้วยความเมตตา หรือกระทั่งเป็นความเมตตาที่สอดไส้ไว้ด้วยกิเลสก็ตาม เราก็จะใช้เวลาเรียนรู้ถึงคุณค่า ทุกข์ โทษภัย ผลเสีย จากความรักที่ดีและร้ายเหล่านั้นจากการเดินทางผ่านจำนวนภพจำนวนชาติที่นับไม่ถ้วน ผ่านความผิดหวังและสมหวังมากมาย จนความรักที่เคยหยาบ เห็นแก่ตัว และไร้คุณค่านั้น ได้ถูกขัดเกลาจากการเรียนรู้จนเกิดปัญญา เปลี่ยนเป็นรักที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นรักที่ยินดีแม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้ดีดังใจเราหมาย เป็นรักที่ไม่ครอบครอง ไม่ยึดไว้ทั้งร่างกายและจิตใจของใครๆ เป็นรักที่เสียสละ ปล่อยวางจากการเป็นเจ้าของ ไม่การทำร้ายกันด้วยคำหวานและคำสัญญาใดๆ ปล่อยวางจากจองเวรจองกรรมกันและกันด้วยความยินดี เต็มใจ พอใจ สุขใจ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นนี่เอง คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถทำให้คนที่เรารักได้
ดังนั้น คุณค่าของความรัก ก็คือ… การทำให้เราได้เรียนรู้ ตั้งแต่การพบเจอความรัก การยึดมั่นถือมั่นในความรัก การพิจารณาคุณค่าของความรัก จนกระทั่งถึงวันที่เราสามารถปล่อยวางความรัก และสุดท้ายเราก็จะได้ปัญญาที่รู้แจ้งชัดว่าควรจะเมตตาอย่างไรจึงจะสามารถรักได้อย่างมีคุณค่า เป็นรักที่เป็นไปเพื่อความสุขแท้ ยั่งยืน ตลอดกาล
เมื่อเข้าใจในคุณค่าของความรัก ก็จะสามารถขยายความรักเหล่านั้นออกไปได้กว้างขึ้น จากคู่รัก คนที่รัก ของที่รัก ไปถึงครอบครัว ไปถึงสังคม ชุมชน ไปถึงประเทศชาติ ไปจนทั่วโลกใบนี้ จนกระทั่งรักได้อย่างข้ามภพข้ามชาติ รักที่เสียสละ ยอมเหน็ดเหนื่อย ยอมทนทุกข์ ยอมทรมาน ด้วยความรักและเมตตาแก่สรรพสัตว์ผู้ยังหลงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ
และนั่นคือความรักของพระพุทธเจ้า ด้วยความรักความเมตตาที่เหลือประมาณ ยากที่จะเข้าใจ บำเพ็ญเพียรอยู่กว่าสี่อสงไขยกับแสนมหากัป เพื่อที่จะสร้างศาสนาแห่งความรักความเมตตา ส่งต่อพลังแห่งรักแท้ผ่านสาวกผู้มีศรัทธาอันไม่หวั่นไหว เพื่อสืบสานส่งต่อความรักความเมตตาเหล่านี้ให้กับบรรดาสรรพสัตว์ผู้ยังหลงมัวเมาในกิเลส
…และทั้งหมดนี้ คือคุณค่าของความรัก
– – – – – – – – – – – – – – –
30.9.2557(แก้ไข 12.2.2559)
ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)