Tag: ความเมตตา

กินหมาผิดไหม?

June 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,000 views 0

กินหมาผิดไหม?

กินหมาผิดไหม?

ในช่วงเวลาหนึ่งของปี จะมีประเทศหนึ่งทำการฆ่าสัตว์ชนิดหนึ่งเพื่อนำมากิน การกระทำนี้กลายเป็นสิ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้คนหมู่มาก

ลองพิจารณากันอีกทีในบริบทเดิม หากในประเทศนั้นฆ่าสัตว์เพื่อนำมากินโดยไม่กำหนดช่วงเวลา ฆ่าทุกวัน กินทุกวัน ฆ่าทั้งวัน กินทั้งวัน ฆ่ากันเป็นเรื่องปกติ กินกันเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งใดที่ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจกว่ากัน?

มาเข้าเรื่องกันเลย…เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมานานระหว่างคนรักสัตว์กับผู้กินเนื้อสัตว์ แต่ก็มักหาข้อสรุปใจกันไม่ลงตัวเสียทีว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี… ถ้ากินหมาไม่ได้แล้วทำไมกินสัตว์ชนิดอื่นได้? เหมือนกับปัญหาโลกแตกที่เถียงกันไปก็ไม่มีใครชนะ คนที่คิดจะกินเนื้อสัตว์ก็กินอยู่เหมือนเดิม คนรักสัตว์ก็ยังขุ่นใจเหมือนเดิม

ความเป็นจริงก็คือคนมีกิเลสเขาก็กินทุกอย่างนั่นแหละ จะเป็นหมา แมว หมู วัว กระต่าย ปลา แม้แต่กินบ้านกินเมือง รวมไปถึงกินปัญญา (ทำให้เสียโอกาสในการเรียนรู้) ก็กินกันได้

ไม่แปลกอะไรที่ใครจะกินหมา เพราะเขาติดรสในเนื้อสัตว์นั้น เหมือนกันกับที่คนกินเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆเช่น หมู วัว ไก่ ปลา ฯลฯ จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะกินเนื้อสัตว์อะไรมันก็มีความอยากในการเสพรสเหมือนๆกัน ซึ่งไม่มีนัยสำคัญของความแตกต่างในด้านกิเลส แต่จะต่างกันในด้านสัญญา คือประเพณีเพราะมีความเชื่อที่ต่างกันไป

ทำไมคนจึงออกมาต่อต้านการกินหมา?

เพราะหมานั้นเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับคน จึงเกิดความรักจนกระทั่งหลงได้ง่าย เมื่อหลงก็เกิดความลำเอียง ทั้งลำเอียงเพราะรักและหลงนั่นแหละ ที่ลำเอียงเพราะรักนั้นเกิดจากเราได้เสพความน่ารักผูกพันอะไรกับมันสักอย่าง ในส่วนลำเอียงเพราะหลง เช่น หลงยึดว่าทุกคนต้องรักอย่างตน, หลงไปว่ามีสัตว์เลี้ยงสัตว์กิน, หลงเข้าใจไปว่าเป็นสามัญสำนึกว่าทุกคนต้องไม่กินหมา

พอลำเอียงปุ๊ป มันก็จะทนไม่ได้ เมื่อเห็นสิ่งที่ตนรักนั้นถูกทำร้าย แม้ว่าจะไม่ใช่หมาที่ตนเลี้ยงก็ตาม แต่ความลำเอียงเพราะหลงนั้นจะทำให้รู้สึกเดือดร้อน บ้างก็ทนไม่ไหว ต้องออกมาประณามหยามเหยียดคนที่คิดและเข้าใจไม่เหมือนตนเองหรือกลุ่มของตน

ทั้งที่จริงๆแล้ว สัตว์มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น เราเองที่ไปแบ่งว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราแบ่งมันด้วยความเห็นผิดของเรา เช่นว่า สัตว์นั้นกินได้ สัตว์นี้กินไม่ได้ ทั้งๆที่ความจริงแล้วเราเองที่ไปเอามันมาเลี้ยง เราเองที่ไปเอามันมากิน เราตัดสินทุกอย่างเอง ใช้อำนาจที่มีในการสร้างความชอบธรรมในการฆ่า ในนามของมนุษย์ผู้มีปัญญาล้ำเลิศข้าขอบัญญัติว่า สัตว์ชนิดนี้เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา สัตว์ชนิดนี้เกิดมาเป็นทาสอารมณ์ของเรา ซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีสัตว์ใดเลยที่เราควรเบียดเบียน สัตว์มันก็อยู่ของมันดีๆ เราไปยุ่งกับมันเอง

จะดีไหมหากเราจะขยายขอบเขตความรักความเมตตาของเราไปให้กับสัตว์อื่นด้วย ค่อยๆกระจายออกไป เริ่มจากหมาที่เรารัก หมาของคนอื่น แมว วัว หมู ไก่ ปลา พัฒนาสร้างความรักให้เติบโตเรื่อยไปจนรักสัตว์ได้ทุกชนิดเลย มันจะสุขแค่ไหนที่ได้อยู่ร่วมโลกกับสิ่งที่เรารักอย่างสบายใจ จะดีแค่ไหนหากเรากลายเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ใดเลย

คนรักหมาปะทะคนรักสัตว์

โดยมากแล้วทุกคนต้องการเป็นคนดี และเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคนรักหมาออกมาปกป้องสิ่งที่ตนรัก และกล่าวติ ข่ม ด่า ดูถูก ฯลฯ คนที่มาทำร้ายความเชื่อที่ตนมี แม้ว่าพวกเขาเองจะไม่ได้รับความเดือดร้อนใดๆเลย แต่การเห็นภาพความเชื่อที่ว่าหมาเป็นสัตว์เลี้ยง เป็นเพื่อน เป็นเหมือนครอบครัวถูกทำลายนั้นเป็นภาพที่พวกเขารับไม่ได้

ถึงเขาจะดูเป็นคนดีที่มีเมตตาเช่นนั้น ก็ใช่ว่าจะบริสุทธิ์จากบาป(กิเลส)เสมอไป เหตุการณ์ที่เรามักจะเห็นได้ก็คือมีคำถามว่า “ทำไมหมากินไม่ได้ แล้วหมูกินได้?” แน่นอนว่าการถามแบบนี้จะกระตุกต่อมคนดีอย่างรุนแรง ซึ่งแม้เขาจะเป็นคนดีขึ้นมาได้ แต่ก็ใช่ว่าเขาจะรับสิ่งดีได้ทุกอย่าง

เมื่อเป็นคนดีขึ้นมาแล้ว ก็มักจะเกิดอาการยึดดี ไม่ยอมชั่ว เมื่อไม่ยอมชั่วก็จะเกิดอาการบ่ายเบี่ยง ผลักภาระไปให้สัตว์ที่น่าสงสารเช่น หมูเป็นสัตว์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อถูกฆ่าอยู่แล้ว, หมาเป็นสัตว์เลี้ยง ฯลฯ นานาความคิดที่แสดงออกมาเพื่อที่จะนำเสนอให้เห็นว่าการกินหมู วัว ไก่ ปลา ฯลฯ เป็นความชอบธรรมที่ใครๆเขาก็ทำกันไม่ผิดอะไร

ซึ่งแท้จริงแล้วก็เหมือนกับคนที่เขากินหมานั่นแหละ เขาก็มีเหตุผลมากมายมาตอบว่าทำไมถึงกินหมา ซึ่งน่าเชื่อเสียด้วย หลักฐานคือเกิดเป็นเทศกาลกินหมาจริงๆ เพราะคนเขาเชื่อแบบนั้น

กลับมาที่คนเป็นสัตว์กินตามกิเลส ถ้ามีกิเลสมากเท่าไหร่ก็เบียดเบียนมากเท่านั้น เขาก็กินเนื้อสัตว์มากเท่าที่เขาอยากกินนั่นแหละ เราไม่จำเป็นต้องสงสัยว่าทำไมจึงยังกินเนื้อสัตว์ หรือไปดูถูกใครหากเขายังหลงติดหลงยึดในสุขจากการกินเนื้อสัตว์อยู่ เพราะถ้าเขาไม่หลงสุขในการกินเนื้อสัตว์ เขาก็ไม่ต้องฆ่าหมามากิน เขาก็ไม่ต้องกินหมู วัว ไก่ ปลา ฯลฯ และเขาก็ไม่จำเป็นต้องลำบากคิดหาเหตุผลใดๆมาแสดงความชอบธรรมในการเบียดเบียนด้วย

คนมีกิเลสก็เหมือนคนมีแผลเหวอะหวะ จะจับหรือแค่สะกิดก็มักจะต้องเจ็บปวด ดังเช่นคนที่กินเนื้อสัตว์อยู่แต่ก็มีจิตใจเมตตาไม่เห็นด้วยกับการกินหมา แม้ว่าเขาจะมีจิตเมตตาเช่นนั้น แต่เขาก็ยังมีกิเลสอยู่ เขายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ เมื่อคนรักสัตว์เพียงแค่ถามหรือหยิบยกประเด็นลำเอียงมาสนทนา เขาก็จะมีอาการเจ็บปวดเมื่อถูกรุกรานความเชื่อในส่วนที่ชั่วของเขานั่นเพราะโดยปกติแล้วไม่มีใครอยากให้คนอื่นมาว่าหรอก ว่าสิ่งที่เขาคิดและทำอยู่นั้นไม่ดี เบียดเบียน และยังชั่วอยู่

หากเขาไม่ยึดความเชื่อว่าหมาเป็นสัตว์เลี้ยง หมูเป็นสัตว์ที่ควรกิน วัวก็ควรถูกกิน ไก่ก็ควรถูกกิน ปลาก็ควรถูกกิน สัตว์หลายๆอย่างที่น่าอร่อยก็ควรถูกกิน หากเขาถูกลิดรอนความเชื่อเหล่านี้ เขาจะไม่มีความสุขในการกิน แม้จะได้กินเขาก็จะไม่รู้สึกเหมือนเดิมเพราะความติดดียึดดี ความอยากเป็นคนดีทำให้รู้สึกเช่นนั้นได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้รู้สึกผิดในการกินเนื้อสัตว์อื่นๆนอกจากหมา เขาจึงจำเป็นต้องปกป้องความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นไว้ เหตุที่แท้จริงนั้นก็เพราะความหลงสุขในการเสพเนื้อสัตว์เหล่านั้น ไม่ว่าจะติดรส ติดว่าคนอื่นเขาก็กินกัน ติดความเชื่อว่ามันมีประโยชน์ บำรุงอย่างนั้นอย่างนี้ หรือแม้แต่ความเชื่อที่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์กินเนื้อก็ตาม

ดังนั้นคนรักสัตว์ที่มีประสบการณ์จึงไม่ควรปะทะคารมโดยตรง การกระตุ้นสามัญสำนึกใช่ว่าจะใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม เราควรมีเมตตาในการประมาณฐานของกลุ่มคน เช่น เขายังไม่เก่ง ยังไม่เคยศึกษา เราก็ค่อยๆชวนเขาลดไปก่อน อย่าเพิ่งไปกระตุกต่อมคนดีของเขา เพราะถ้ามากจนไปกระทบอัตตาของเขา เขาก็อาจจะไม่ไว้หน้าเราเหมือนกัน

เมื่อเกิดการผิดใจกัน ย่อมไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้น คนกินเนื้อสัตว์ก็ยังกินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม คนรักสัตว์ก็ต้องมาขุ่นใจกับคนที่ไม่ยอมเอาสิ่งที่ดีเหมือนเดิม

ผู้มีปัญญาจะไม่หาข้อแม้ใดๆในการเบียดเบียนสัตว์ มนุษย์ ความเชื่อ หรือสิ่งใดๆรวมทั้งตนเองด้วย เพราะรู้ว่าการเบียดเบียนนั้นไม่มีผลอะไรนอกจากการสร้างทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่นเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

23.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รักไม่มีเงื่อนไข

May 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,223 views 0

รักไม่มีเงื่อนไข

รักไม่มีเงื่อนไข

นิยามของความรักนั้นมีมากมายตามแต่ใจของใครจะปั้นแต่งขึ้นมา และนิยามที่ว่า รักแท้นั้นไม่ควรมีเงื่อนไขใดๆ ก็เป็นนิยามหนึ่งที่มีความหมายลึกซึ้งมาก

ในมุมมองของคู่รัก คำว่า “รักไม่มีเงื่อนไข” นั้นดูเหมือนการเฝ้าดูแลเอาใจใส่ ยอมอดทนเสียสละ หวังดีให้กับคู่รักของตนโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ซึ่งก็ถือว่าดีแล้วในเบื้องต้น

แต่คำว่า “รักไม่มีเงื่อนไข” แท้จริงแล้วยังมีนัยที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นซ่อนอยู่ นั่นคือการรักโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เลย ไม่จำเป็นว่าคนนั้นต้องเป็นคู่รัก ไม่จำเป็นว่าคนนั้นต้องเป็นคนรู้จัก ไม่จำเป็นว่าคนนั้นต้องเป็นมิตรหรือศัตรู ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนเสียด้วยซ้ำ จะเป็นวัตถุสิ่งของ หรือต้นไม้ แม่น้ำ อากาศ ก็สามารถรักได้หมด โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆมากั้นขอบเขตของความเมตตาได้

ดังนั้นรักที่ไม่มีเงื่อนไขจึงมีทั้งความลึกและกว้าง ความลึกนั้นคือลึกซึ้งในเนื้อหาสาระ ส่วนความกว้างคือขอบเขตของรักที่กระจายออกไปโดยไม่มีกำแพงของความเห็นแก่ตัวใดๆมากั้นไว้

ถ้าเราสามารถรักได้แบบไม่มีเงื่อนไขได้จริง เราจะไม่ผูกใครไว้กับเรา เราจะไม่เจาะจงว่าจะรักใคร เราจะไม่สร้างเหตุให้เราได้เสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราจะไม่ไปยึดมั่นสิ่งใดๆทั้งปวงในโลกเลย

การที่รักนั้นยังมีอยู่แค่ในคู่รัก จึงเป็นความรักที่คับแคบ เห็นแก่ตัว สร้างเงื่อนไขว่าจะรักแค่สิ่งที่ตนชอบใจเท่านั้น จะรักแต่คนที่สนองกิเลสให้ตนได้เท่านั้น จะรักแต่คนที่มีประโยชน์สร้างความสุขให้ชีวิตตนเท่านั้น

เมื่อรักนั้นถูกกำหนดกรอบด้วยตัวบุคคล วัตถุ สิ่งของ ความเชื่อ สังคม เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ รักนั้นจึงได้ชื่อว่ายังมีเงื่อนไขอยู่นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

27.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

January 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,364 views 0

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

กินมังสวิรัติด้วยเมตตาหรืออัตตา

การปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนนั้นมีหลากหลายวิธี มีความยากง่ายรายละเอียดซับซ้อนแตกต่างกันไป แม้ว่าสุดท้ายแล้วผลทางรูปธรรมที่เห็นได้คือเราสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกันทุกคน แต่ผลทางนามธรรมนั้นกลับแตกต่างไปตามวิธีที่แต่ละคนยึดถือและปฏิบัติมา

ก).เมตตามังสวิรัติ

หลายคนมักจะเริ่มกินมังสวิรัติด้วยความเมตตา ความสงสาร เห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นคือการเบียดเบียนทางอ้อมที่ได้รับบาปอย่างตรงไปตรงมา ก็จะเริ่มมีจิตใจที่ยอมสละอาหารจานเนื้อสัตว์ที่เคยโปรดปราน เพื่อละเว้นการเบียดเบียนสัตว์เหล่านั้น การไม่เบียดเบียนทางอ้อมก็ทำให้ผลดีเกิดขึ้นกับเขาเหล่านั้นทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ

แต่ความเมตตานั้นไม่ใช่จุดจบสมบูรณ์ เมื่อเรามีจิตใจเมตตาแล้ว มีกรุณาคือการลด ละ เลิกเนื้อสัตว์ได้จริงแล้ว แต่ก็มักจะมาติดตรงมุทิตา เมื่อเราเห็นว่าคนอื่นสามารถกินมังสวิรัติกินเจ เห็นดีเห็นงานในการลดเนื้อสัตว์หันมากินผักกับเรา เราก็มักจะมีมุทิตาจิตหรือมีความรู้สึกยินดีตามเขาไปด้วย

แต่เมื่อเราพบว่าหลายคนยังยินดีกินเนื้อสัตว์ แถมยังหาเหตุผลมาย้อนแย้งคนที่กินมังสวิรัติ กล่าวเพ่งโทษ ให้ร้ายมังสวิรัติหรือสิ่งที่ตนยึดถือ แน่นอนว่านอกจากเราจะไม่สามารถมีจิตมุทิตาได้แล้ว เรายังอุเบกขาไม่ได้อีกด้วย

หลายคนมักจะเจอกับปัญหาความไม่ปล่อยวางความยึดดี เมื่อสามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้อย่างสมบูรณ์แล้วก็มักจะยึดดีถือดี จนกระทั่งไม่สามารถปล่อยวางความดีเหล่านั้น เมื่อมีใครมาพูดกระแทกกระทบกระทั่งก็มักจะมีจิตใจที่ขุ่นเขือง ถ้าคุมไม่อยู่ก็ด่ากลับหรือออกอาการไม่พอใจต่างๆได้

เกิดเป็นสภาพพร่องๆของพรหมวิหาร ๔ เป็นคนที่มีเมตตาแต่ไม่มีอุเบกขา เริ่มเป็นแต่จบไม่เป็น จึงต้องเกิดสภาพทุกข์ใจอยู่เรื่อยไปเพราะวางความยึดดีเหล่านั้นไม่ลง

พรหมวิหาร หรือที่ตั้งแห่งความเป็นพรหมที่ครบองค์ประกอบนั้นต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาสอดร้อยอยู่ด้วยกันเสมอ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นคนเมตตาที่ทุกข์ เป็นคนดีที่มีแต่ทุกข์ ทำความดีแต่ไม่มีคนเห็นคุณค่าก็ทุกข์ เพราะไม่มีอุเบกขาเป็นตัวจบนั่นเอง

แต่การถึงอุเบกขาไม่ได้ง่ายเพียงแค่ปากท่องว่าปล่อยวางหรือใช้กำลังของจิตในการกดข่มสภาพทุกข์ อุเบกขานั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นเสีย แม้สิ่งที่เราทำจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเรายึดดีไว้เป็นตัวตนของเราก็จะเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป ผู้ที่สามารถปฏิบัติจนครบองค์ของพรหมได้นั้นจะเป็นมังสวิรัติที่มีเมตตาอย่างไม่มีขอบเขต กระจายความห่วงใยไปทั่วทั้งสัตว์ผู้มีกรรมและคนที่ยังมีกิเลส ไม่รู้สึกโกรธเกลียดขุ่นใจในเรื่องใดเลย แม้ว่าจะมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการกินมังสวิรัติ แม้จะโดนต่อว่าหรือหักหน้าก็ยังสามารถคงสภาพจิตใจที่ผ่องใสอยู่ได้

ข). อัตตามังสวิรัติ

แม้ว่าเราจะเริ่มต้นการกินมังสวิรัติด้วยเมตตาจิต แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความเราจะหนีพ้นอัตตา ดังนั้นอัตตาก็เป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในวิถีปฏิบัติสู่การกินมังสวิรัติอย่างยั่งยืนเช่นกัน

ในรูปแบบหยาบๆของอัตตานั้นคือการเปลี่ยนขั้วของการยึด ในตอนแรกนั้นหลายคนยึดเนื้อสัตว์เป็นอาหารในการดำรงชีวิต แต่พอคิดจะมากินมังสวิรัติหลายคนก็เปลี่ยนเอาผักและธัญพืชเป็นอาหารในการดำรงชีวิต เป็นเพียงการเปลี่ยนขั้วของการยึด

ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มักจะเห็นได้ง่ายที่สุดและมีให้เห็นได้บ่อยครั้ง เช่น คนที่ตัดสินใจเปลี่ยนมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติทันทีนั่นเอง จะเป็นสภาพที่สลับขั้วอย่างรุนแรง เปลี่ยนอัตตาจากขั้วหนึ่งไปอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งนั่นก็หมายความว่ายังวนอยู่ในอัตตาซึ่งเป็นการยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นเอง

การสลับข้างของอัตตานั้นเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับหลายครั้งในชีวิตที่เราเคยชอบอะไรแล้ววันหนึ่งกลับไม่ชอบ หรือเคยไม่ชอบอะไรวันหนึ่งกลับมาชอบ มันก็กลับไปกลับมาแบบนี้ เรื่องการกินเนื้อสัตว์และมังสวิรัติก็เช่นกัน ถ้าเราใช้ความยึดมั่นถือมั่นเป็นหลักในการปฏิบัติเราก็จะสลับไปสลับมาแบบนี้ อาจจะชาตินี้หรือชาติหน้าก็ได้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร?

นั่นก็เพราะว่าการเปลี่ยนจากการยึดเนื้อสัตว์มายึดมังสวิรัตินั้นเป็นการเปลี่ยนแค่ความเห็น แต่กิเลสมันไม่ได้เปลี่ยนตามมาด้วย เราจะยังคงมีความสุข ความอร่อยจากการกินเนื้อสัตว์อยู่เหมือนเดิม สังเกตได้จากการทำวัตถุดิบเทียมเนื้อสัตว์ขึ้นมา บางชนิดทำได้เหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ ทั้งรสชาติและสัมผัส

แล้วทำไมแล้วยังต้องกินสิ่งเทียมเนื้อสัตว์ในเมื่อเราไมได้อยากกินเนื้อสัตว์แล้ว ทำไมเราไม่เปลี่ยนเมนูไปกินผัก กินเห็ด กินเต้าหู้หรือสิ่งที่มีกระบวนการสังเคราะห์ที่น้อยลง หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก ไม่เป็นภัยมาก นั่นเพราะเรายังติดกิเลสในลักษณะที่เรียกว่ากามคุณอยู่นั่นเอง

เรายังหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของเนื้อสัตว์อยู่ ซึ่งในกรณีนี้เราไม่ได้ทำลายความหลงเหล่านี้ เพียงแค่ใช้อัตตาเข้ามาข่มความชั่วไว้ ยึดดีไว้ เมตตาเข้าไว้ เป็นคนดีละเว้นการเบียดเบียนเข้าไว้

แต่กิเลสมันไม่ได้ปล่อยให้เราทำดีอยู่แบบนั้น เมื่อกิเลสยังมีเชื้ออยู่ ความอยากเสพรสต่างๆของเราจะโตขึ้นเรื่อยๆ ใครที่มีแนวโน้มในการหาอาหารอร่อย หรือสิ่งเทียมเนื้อสัตว์ หรือแสวงหารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ใกล้เคียงเนื้อสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ เตรียมใจไว้ได้เลยว่าวันใดวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่งจะต้องหลุดจากวิถีของการกินมังสวิรัติ เวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม

คนที่มีทิศทางที่จะเจริญไปได้อย่างยั่งยืนนั้น คือคนที่มีแนวโน้มที่จะลดการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นลดความจัดของรสชาติ ลดการประดับตกแต่งที่สวยงาม ลดการใช้สิ่งเทียมเนื้อสัตว์ หรือลดความต้องการในการกินอาหารที่น้อยชนิดลงเช่น เลิกกินของทอด เลิกกินขนมหวาน การลดชนิดอาหารหรือลดความหลากหลายของความอยากนี้เอง จะเป็นสิ่งที่ประกันไม่ให้กิเลสของเราพาเราไปแสวงหาเมนูแปลกๆ เมนูเด็ดๆ ซึ่งเป็นการสะสมกิเลสที่จะทำให้เกิดความเสื่อมในศีลธรรมต่อไป

ดังจะเห็นได้ว่าการใช้ความยึดดีหรือใช้อัตตาเข้ามายึดว่า “ฉันจะเปลี่ยนมากินมังสวิรัติ ,ฉันจะไม่เบียดเบียนอีก” ไม่ใช่สิ่งยืนยันว่าจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างยั่งยืน เพราะหากวันใดวันหนึ่งที่ความอยากนั้นเกินปริมาณที่ความยึดดีจะทนไหว ก็อาจจะตบะแตกกลับไปกินเนื้อสัตว์และหลงว่าเป็นทางสายกลางจนไม่กลับมากินมังสวิรัติอีกเลยก็เป็นได้

…ไม่ว่าจะกินมังสวิรัติด้วยวิธีไหน ก็หนีเรื่องกิเลสไม่พ้น ไม่ติดกามก็ต้องมาติดอัตตา ติดไปติดมาวนเวียนกันไปมา ชาติหนึ่งกินเนื้อ อีกชาติกินมังสวิรัติ สลับไปมาแบบนี้เพราะเป็นชีวิตที่ถูกผลักดันด้วยกิเลส ไม่ว่าจะหลงยึดไปในด้านใด การหลงเหล่านั้นก็คือกิเลส เมื่อเราหลงไปในสิ่งใดเราก็มักจะลำเอียงให้คุณค่าแก่สิ่งนั้นอย่างมัวเมา ลองสังเกตดูว่าเรารู้สึกรักหรือชอบใจคนกินเนื้อกับคนที่กินผักเท่ากันหรือไม่

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คุณค่าของความรัก

October 2, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 10,196 views 0

คุณค่าของความรัก

คุณค่าของความรัก

ความรักนั้นเป็นสิ่งที่ทรงพลานุภาพเป็นแรงผลักดันให้ทุกชีวิตขับเคลื่อนออกไปแสวงหาไขว่คว้า เพื่อให้ได้มาในสิ่งซึ่งสามารถตอบสนองต่อความรักเหล่านั้น

ความรักสามารถดึงคนให้ขึ้นสวรรค์หรือผลักลงนรกได้ เพราะความรักนั้นคือความอยาก คือตัณหา คือแรงผลักดันให้คนเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างบางสิ่งบางอย่าง

คุณค่าของความรักนั้น ไม่ได้อยู่ที่ชื่อ คำเรียกขาน หรือแม้แต่นิยามของมันแต่อยู่ที่รักเหล่านั้นพาเราไปพบกับอะไร…

หลายคนมักจะนิยามความรักอย่างสวยหรู ใช้คำว่ารักเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนอยากได้อยากเสพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคู่ครอง การงาน ทรัพย์สมบัติ หรือกระทั่งชื่อเสียงและคำสรรเสริญต่างๆ

หากความรักคือความอยากที่ปนเปื้อนไปด้วยกิเลส รักนั้นจะพาเราไปเสพและสะสมกิเลส ไปทำร้ายและเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกลวิธีต่างๆ เพื่อที่จะให้เราได้เสพสมใจในกิเลสแม้จะเป็นสิ่งชั่วเช่นนี้ แต่เราก็ยังเรียกมันว่า “ความรัก

ถ้าความรักคือเจตนาที่มีแต่ความเมตตา เพื่อให้ผู้อื่นได้รับสิ่งดี เพื่อให้เขาได้พ้นทุกข์ เราก็จะพาตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมไปในทิศทางที่พากันลดกิเลส ลดความอยากได้อยากมี ลดการสะสม ลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งนี้เราก็เรียกมันว่า “ความรัก” เช่นกัน

แต่ไม่ว่าเราจะมีความรักแบบไหน รักด้วยกิเลส รักด้วยความเมตตา หรือกระทั่งเป็นความเมตตาที่สอดไส้ไว้ด้วยกิเลสก็ตาม เราก็จะใช้เวลาเรียนรู้ถึงคุณค่า ทุกข์ โทษภัย ผลเสีย จากความรักที่ดีและร้ายเหล่านั้นจากการเดินทางผ่านจำนวนภพจำนวนชาติที่นับไม่ถ้วน ผ่านความผิดหวังและสมหวังมากมาย จนความรักที่เคยหยาบ เห็นแก่ตัว และไร้คุณค่านั้น ได้ถูกขัดเกลาจากการเรียนรู้จนเกิดปัญญา เปลี่ยนเป็นรักที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นรักที่ยินดีแม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้ดีดังใจเราหมาย เป็นรักที่ไม่ครอบครอง ไม่ยึดไว้ทั้งร่างกายและจิตใจของใครๆ เป็นรักที่เสียสละ ปล่อยวางจากการเป็นเจ้าของ ไม่การทำร้ายกันด้วยคำหวานและคำสัญญาใดๆ ปล่อยวางจากจองเวรจองกรรมกันและกันด้วยความยินดี เต็มใจ พอใจ สุขใจ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นนี่เอง คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถทำให้คนที่เรารักได้

ดังนั้น คุณค่าของความรัก ก็คือ… การทำให้เราได้เรียนรู้ ตั้งแต่การพบเจอความรัก การยึดมั่นถือมั่นในความรัก การพิจารณาคุณค่าของความรัก จนกระทั่งถึงวันที่เราสามารถปล่อยวางความรัก และสุดท้ายเราก็จะได้ปัญญาที่รู้แจ้งชัดว่าควรจะเมตตาอย่างไรจึงจะสามารถรักได้อย่างมีคุณค่า เป็นรักที่เป็นไปเพื่อความสุขแท้ ยั่งยืน ตลอดกาล

เมื่อเข้าใจในคุณค่าของความรัก ก็จะสามารถขยายความรักเหล่านั้นออกไปได้กว้างขึ้น จากคู่รัก คนที่รัก ของที่รัก ไปถึงครอบครัว ไปถึงสังคม ชุมชน ไปถึงประเทศชาติ ไปจนทั่วโลกใบนี้ จนกระทั่งรักได้อย่างข้ามภพข้ามชาติ รักที่เสียสละ ยอมเหน็ดเหนื่อย ยอมทนทุกข์ ยอมทรมาน ด้วยความรักและเมตตาแก่สรรพสัตว์ผู้ยังหลงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ

และนั่นคือความรักของพระพุทธเจ้า ด้วยความรักความเมตตาที่เหลือประมาณ ยากที่จะเข้าใจ บำเพ็ญเพียรอยู่กว่าสี่อสงไขยกับแสนมหากัป เพื่อที่จะสร้างศาสนาแห่งความรักความเมตตา ส่งต่อพลังแห่งรักแท้ผ่านสาวกผู้มีศรัทธาอันไม่หวั่นไหว เพื่อสืบสานส่งต่อความรักความเมตตาเหล่านี้ให้กับบรรดาสรรพสัตว์ผู้ยังหลงมัวเมาในกิเลส

…และทั้งหมดนี้ คือคุณค่าของความรัก

– – – – – – – – – – – – – – –

30.9.2557(แก้ไข 12.2.2559)

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)