Tag: คนดี

หากจะรัก

December 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,671 views 0

หากจะรัก

หากจะรัก

…จะดีไหมหากจะรักใครสักคนที่แสนดีกับเหตุผลดีๆมากมายกว่า 20 ข้อ

ก่อนที่เราจะตัดสินใจอะไรไป ก่อนที่ความสัมพันธ์จะใกล้ชิดมากกว่าเดิม ก่อนที่จะยอมพลีกายถวายชีวิตให้กับใครสักคนที่เราคิดว่าเขาดีแสนดีกับเราเหลือเกิน จะดีไหมหากเราจะลองทบทวนดูกันอีกครั้งในเรื่องราวของความรัก

(!คำเตือน! เนื้อหาในบางตอนของบทความนี้มีเนื้อหาค่อนข้างแรง แต่จำเป็นต้องชี้ให้ชัดถึงปัญหาและปัจจัยที่ซับซ้อนในเรื่องของคนคู่ ผู้อ่านควรทำใจไว้ล่วงหน้าสักหน่อย หรืออาจจะปล่อยให้บทความนี้ผ่านไปก็ได้)

ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ เป็นสัจจะที่ทุกคนรู้กันดีอยู่ คงจะเป็นเรื่องยากที่จะให้ใครสักคนมองเห็นทุกข์ในความรักในขณะที่เขาหรือเธอกำลังตกอยู่ในห้วงแห่งรัก ดังประโยคที่ว่า “ความรักทำให้คนตาบอด” หมายถึงทำให้เรามองไม่เห็นความจริง เพราะเราได้ลำเอียงเพราะรักไปแล้ว แม้ว่าจะมีคนบอกว่าทุกข์สุดทุกข์เพียงไรก็ยังยินดีที่จะเข้าไปสัมผัสกับความรักนั้น

เขาก็เป็นคนดีนะ เขาก็ดูแลเราดีนะ คบกันแล้วเจริญไปด้วยกันไม่ได้หรือ คบกันแล้วมีความสุขกว่าโสดไม่ดีกว่าหรือ เรามักมีเหตุผลมากมายในการเริ่มความสัมพันธ์ใดๆก็ตามที่เราหลงรักไปแล้ว แต่จะดีไหมถ้าหากว่าเราได้รับข้อมูลมากขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนสถานะจากโสดไปเป็นมีคู่

ในบทความนี้จะนำข้อคิดเห็นเกี่ยวกับคนที่ยินดีจะครองคู่มาอธิบายและชี้ให้เห็นถึงกิเลสที่อาจจะแอบซ่อนอยู่ในความดี ในความสมบูรณ์แบบ เพื่อเป็นข้อมูลให้พิจารณาก่อนที่จะตัดสินใจ ซึ่งจะรวบรวมมาทั้งหมด 20 ข้อ

1)…เข้าใจเรายอมรับที่เราเป็น

การเข้าใจและยอมรับเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่ทำให้คนเปิดใจ หลายๆคนมักจะมีข้อเสียในตัวเองและยอมรับข้อเสียนั้น รอเพียงคนที่จะมาเข้าใจและยอมรับข้อดีข้อเสียต่างๆได้ แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเขายอมรับได้จริงๆ

เวลาเราอยากได้อะไร แม้จะมีราคาแพง หายากแค่ไหนเราก็ซื้อ ตามไปหาซื้อ พากเพียรเพื่อให้ได้มาจริงไหม แต่ลองเราได้สิ่งนั้นมาชื่นชมนานๆแล้วอาจจะคิดกลับไปได้ว่าทำไมเราต้องลำบากจะเสียเงินมากมายเพื่อมาซื้อของชิ้นนี้ด้วย จริงๆมันก็ไม่ได้ดีอะไรนักหนา แถมปัญหายังเยอะ ชิ้นอื่นก็มีให้เลือกตั้งเยอะแถมยังดีกว่าถูกกว่า

เรื่องคู่ก็เช่นกันถ้าเราอยากได้คู่ สิ่งที่ต้องให้ไปก็คือการเข้าใจและยอมรับที่เขาเป็น เพื่อที่จะให้ได้เขามาเสพสมใจเรา ใครจะรู้ได้ละว่าความเข้าใจนั้นจะยั่งยืน แล้วจะยอมรับตัวตนของเขาได้ตลอดไปอย่างนั้นหรือ หากเราเสพเขาจนเบื่อหรือเขาเริ่มจะมีปัญหามากขึ้น งอแง เอาแต่ใจ โมโหร้าย เราจะยังเข้าใจและยอมรับไหวอยู่หรือในเมื่อเราได้เสพทุกอย่างสมใจทุกอย่าง สุขมันเกิดไปแล้วได้ไปแล้ว ยังจะอยากทนทุกข์อยู่อีกหรือ

ถ้าพูดกันตรงๆเลยก็คือการที่เขาชอบในส่วนที่ดีและยอมรับในข้อเสียของเราได้นั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงก็ได้

2)…สนับสนุนเส้นทางฝัน มีอนาคตร่วมกัน

หลายคนอาจจะคิดว่าการครองคู่สู่ฝัน สู่อนาคตอันมั่งคั่งร่วมกันนั้นเป็นเรื่องที่น่าจะนำความสุขมาให้เมื่อมีคนร่วมฝัน ร่วมทางเดิน เราอาจจะแบ่งปันความฝัน ความคาดหวังร่วมกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอีกฝ่ายจะอยู่จนถึงฝั่งฝันด้วยกันเสมอไป

ขึ้นชื่อว่าฝัน นั้นก็เป็นเรื่องที่ยังไม่เป็นจริง และกว่าจะเป็นจริงได้นั้นต้องพิสูจน์กำลังใจของคนอย่างมากมาย ดังประโยคที่ว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” ในระยะแรกนั้นการขายฝันอาจจะไปเร่งให้อีกฝ่ายมีกิเลสร่วมกัน ใช้ความอยากเป็นตัวผลักดัน แต่พอเริ่มไปได้ระยะหนึ่งอาจจะพบว่ามันเริ่มยากเริ่มลำบาก และแต่ละคนก็มีกิเลสไม่เท่ากัน บางคนอาจจะท้อไปก่อน หรือเห็นต่างกันไปในเส้นทางเดินตามฝัน

แม้ว่าเป้าหมายจะเป็นความมั่งคั่ง ชีวิตที่ผาสุก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนยินดีจะเดินไปในเส้นทางเดียวกันเสมอไป บางคนชอบทางสั้นแม้จะเสี่ยง บางคนชอบทางยาวแต่ปลอดภัย ตรงนี้นี่เองที่จะทำให้ฝันล่มรักสลายกันไปได้

3)…แสนดีเอาอกเอาใจ

การเจอใครสักคนที่แสนดีเอาอกเอาใจนั้น ยากนักที่จะทำใจไม่ให้หลงไปได้ เพราะคนส่วนมากก็ต้องการให้คนอื่นเห็นคุณค่า ให้การดูแลเอาใจใส่ เอาอกเอาใจ หรือที่เรียกกันแบบตรงๆว่าปรนเปรอกิเลส

เมื่อเราต้องการใครสักคนเข้ามาร่วมชีวิต วิธีที่เราทำส่วนใหญ่คือปรนเปรอกิเลสของฝ่ายตรงข้าม ชมบ่อยๆ พาไปกินอาหารดีๆ เป็นที่ปรึกษา ให้คุณค่า แม้แต่การสนองต่อความต้องการทางเพศก็กลายเป็นเรื่องปกติที่หลายคนใช้มัดใจคู่ของตน เขาชอบอบายมุขก็ส่งเสริมด้วยอบายมุข เขาชอบกามก็ส่งเสริมด้วย อาหารอร่อย แต่งตัวสวยงาม ใส่น้ำหอม จับมือถือแขนจนไปถึงยอมสมสู่ ถ้าเขาชอบโลกธรรมก็ชมเขา ยอมเขา ให้ความมั่งคั่งแก่เขา บำเรอเขาด้วยโลกีย์สุข ถ้าเขาเป็นคนมีอุดมการณ์ก็เติมเต็มอีโก้ของเขา สนับสนุนในสิ่งที่เขาคิด

เพียงแค่เราสามารถสนองกิเลสเขาได้ในทุกมิติ เราก็จะได้ชื่อว่าคนที่แสนดีเอาอกเอาใจแล้ว เพราะตอบโจทย์ทุกอย่างตามที่กิเลสต้องการ คนที่เข้ามาในชีวิตเราก็เช่นกัน เขาก็เพียงแค่สนองกิเลสเราจนเรายอมให้เขาบำรุงบำเรอเพราะสุขจากการได้เสพ

แล้วการส่งเสริมกันด้วยกิเลสมันดีไหม การบำรุงบำเรอกันด้วยกิเลสมันดีไหม ก็ลองคิดดู

4)…ผ่านสุขผ่านทุกข์มาด้วยกัน

หลายคนอาจจะยอมแพ้กับใจที่อดทนบากบั่นมาด้วยกัน ยอมอยู่ในวันที่เราลำบาก ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุขก็ยังอยู่ข้างๆ แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่านั่นคือนิสัยจริงเขาของ ไม่ใช่เขาทำเพื่ออยากเสพเราหรอกหรือ

ความอดทนเพื่อที่จะได้มาซึ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจอะไรยากนัก เมื่อคนเราหลงไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็พร้อมจะยอมอดทน บากบั่น รอคอยเพื่อให้ได้มาเสพ แม้ว่าวันนี้จะดูเหมือนเขาพร้อมจะอยู่กับเรา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวันหน้าเขาจะอยู่กับเรา เราใช้อดีตมาเพื่อทำนายอนาคตได้ แต่มันจะไม่ถูกเพราะสุดท้ายวิบากกรรมจะพาให้ต้องพรากจากทุกสิ่งทั้งความเชื่อที่เคยมี ทั้งความมั่นใจที่เคยได้รับ คู่แต่งงานที่ผ่านทุกข์ผ่านสุขมาด้วยกันแม้จะคบหากันมาก่อนแต่งงานหลายปี แต่สุดท้ายหลังแต่งงานก็มีเหตุให้เลิกราให้เห็นกันอยู่ทั่วไปจนเป็นเรื่องธรรมดา

5)…อบอุ่นและเป็นที่ปรึกษาที่ดี

วิธีมัดใจคนอย่างง่ายๆคือทำตัวให้ดูอบอุ่นรอคอย เหมือนเสือที่นอนหมอบรอเหยื่อเผลอ นักล่าที่เก่งกาจจะไม่รีบและเสียพลังงานในการล่าไปเปล่าๆ เขาเพียงแค่วางตำแหน่งไว้ในจุดที่เหมาะสม รอเหยื่อเกิดความทุกข์ เข้ามาปรึกษา ทำตัวเป็นคนอบอุ่น เป็นที่ปรึกษาที่ดี ใช้ช่วงที่คนกำลังจิตใจอ่อนแอและต้องการความรักจากใครสักคนเข้างับเหยื่อ

คนที่จริงใจอย่างแท้จริงจะไม่ฉวยโอกาสยามที่คนอื่นจิตใจอ่อนแอต้องการที่พึ่ง เราจะเห็นได้จากผล ถ้าปรึกษาแล้วหายไปก็คือจบ แต่ถ้าปรึกษาแล้วกลายเป็นคู่กันต้องระวังให้ดี

6)…ซื่อสัตย์ซื่อตรง

ความซื่อสัตย์ เสมอต้นเสมอปลายนั้นเป็นคุณสมบัติที่หลายคนให้น้ำหนัก เพราะถ้าไปคบกับคนเจ้าชู้คงจะปวดหัวอยู่ไม่น้อย แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความซื่อสัตย์นั้นมาจากหัวใจที่ปราศจากกิเลส

คนที่อยู่ตรงหน้าอาจจะเหมือนลูกเสือที่ยังไม่โตก็ได้ เวลาเรามองสัตว์เด็กมันก็น่ารัก ขี้อ้อนดี แต่พอมันโตชักจะไม่น่ารักเท่าไร อาจจะพร้อมขย้ำเราได้ทุกเมื่อหากว่ามันโกรธหรือหิว ความซื่อสัตย์ที่เห็นอยู่ตรงหน้ามันก็เป็นเพียงปัจจุบันแต่ไม่สามารถยืนยันอนาคตได้ ดังเช่นคู่แต่งงานหลายคู่ ต่อหน้าสาธารณชนก็ประกาศว่าจะรักและซื่อสัตย์แล้วผลเป็นอย่างไรล่ะ

7)…ดูมั่นคง ภูมิฐานรับผิดชอบพึ่งพาได้

ตรงนี้เราต้องแบ่งให้ชัดว่าเราชอบเขาหรือชอบเงินหรือฐานะของเขา หลายคนยอมทิ้งความรักเปลี่ยนไปคบหากับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และสร้างความรักใหม่ โดยใช้ข้ออ้างว่าความมั่นคงในชีวิต ดังประโยคที่ว่า “รักมันกินไม่ได้” ตรงนี้อาจจะหลงประเด็นไปเพราะเรื่องรักกับเรื่องโลภเป็นคนละเรื่องกัน อยากสบาย อยากรวย ไม่อยากทำงานก็เรื่องหนึ่ง ความรักความผูกพันก็เรื่องหนึ่ง แต่ก็อย่างว่าพลังกิเลสด้านไหนมีสูงกว่าคนก็เลือกด้านนั้นแหละ

ไม่แปลกที่เหล่าคนรวยจะสามารถเปลี่ยนคู่ครองได้มากหน้าหลายตา เหมือนหยิบดอกไม้มาดอมดม ลองชิมสักหน่อย สุดท้ายก็ขว้างทิ้งไป แล้วหาดอกใหม่มาดม คนมีทรัพย์มากมีชื่อเสียงมากก็เหมือนอยู่ในทุ่งดอกไม้ มีมากมายให้เลือกสรรสร้างเวรสร้างกรรมมากมายตราบเท่าที่เงินยังพอมีให้ผลักดันกิเลส

8)…งามน่าหลงใหลและยากจะปล่อยมือ

เรื่องปกติสามัญของคนทั่วไปเลยก็คือชอบคนสวยคนหล่อ แม้จะนิสัยไม่ดี มีปัญหาอย่างไร แต่ถ้าได้เสพความสวยงามเหล่านั้นก็ยอมได้ หลงไปในกามทั้งหลายจนหน้ามืดตามัว เห็นกงจักรเป็นดอกบัวมาก็มากแล้วสำหรับความสวยงามนี่ เพราะใจมันจะไม่สนเหตุผล ไม่สนดีชั่ว มันจะเสพกามอย่างเดียว อยากได้คนสวย คนงาม คนหล่อ เหตุผลอื่นๆไว้สร้างทีหลัง

9)…อยู่กับเราแม้ในวันที่เราไม่สวยงาม

บางคนสามารถเอาชนะใจคู่ของตนได้โดยการยอมบ้างในบางที แต่เพราะยังติดใจในรสชาติหลายๆอย่าง แม้เขาหรือเธอจะไม่ได้งดงามเหมือนในวันแรกหรือวันทั่วๆไปที่ได้เจอ แต่ก็ยอมเสพสมใจกันอยู่เพราะแม้ว่าจะไม่สวยไม่งาม แต่ก็สามารถสนองกิเลสได้ สนองตัณหาได้อีกมากมาย เป็นนักลงทุนที่มองว่าได้กำไรน้อยยังดีกว่าไม่ได้เลย ขอเสพน้อยดีกว่าไม่ได้เสพเลย

10)…เย้ายวนรัญจวนใจ

ประเด็นเรื่องการสมสู่หรือเรื่อง sex นี้เองเป็นประเด็นหลักในการมีคู่ แม้เราจะมีคำพูดสวยหรูเพียงใดสุดท้ายก็จบที่เรื่องสมสู่อยู่ดี โดยเนื้อแท้แล้วความรักกับการสมสู่เป็นคนละเรื่องกัน แต่คนชอบเอามาปนกันจนเป็นเนื้อเดียวกัน ความรักนั้นคือความอยากที่จะให้ เช่น ความรักของพ่อแม่ แต่ความหลงไปทำให้เข้าใจว่ารักกันแล้วต้องสมสู่กัน

หากคิดว่าตนเองไม่ได้ติดเรื่องการสมสู่ก็ลองถือศีลละเว้นการสมสู่ดู จะเห็นกิเลสดิ้นพล่านอยากเสพจนหาเหตุผลต่างๆนาๆมาเพื่อได้เสพ บางคนสามารถอดทนรอจนวันแต่งงานได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่หลงในการสมสู่ มันแค่กดไว้ ข่มไว้เท่านั้น พอได้ปล่อยเสือออกจากกรงเมื่อไหร่มันก็ออกมาขย้ำคนเมื่อนั้นเอง

11)…ไม่เจ้าชู้ ไม่นอกใจ ไม่เกเร

คนเราพอติดและหลงมัวเมาในเรื่องสมสู่มากๆก็จะเริ่มเจ้าชู้ เพื่อหารสชาติใหม่ๆมาเสพให้สมใจ คนที่ไม่เจ้าชู้ไม่นอกใจ ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตจะไม่เจ้าชู้ เขาอาจจะเพียงแค่รอเสพอาหารจานหลักให้อิ่มก่อนแล้วถ้าเบื่อๆค่อยไปหาขนมกินที่อื่นก็ได้

ความไม่เจ้าชู้นั้นก็มีอยู่ในสัตว์เช่นกัน ดังเช่นนกเงือก เป็นสัตว์เดรัจฉานที่คนให้ความหมายว่ารักเดียวใจเดียว เห็นไหมว่าแค่รักเดียวใจเดียวสัตว์มันก็ทำได้ เราเป็นมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐแค่รักเดียวใจเดียวมันก็พอๆกับสัตว์นั่นแหละ แต่เพราะเราสามารถรักได้มากกว่าจึงมีศีลที่งดเว้นการสมสู่ ซึ่งจะเหนือกว่าศีลที่ไม่นอกใจ เมื่อไม่อยากสมสู่แล้วมันจะไปนอกใจได้ที่ไหน เพราะประเด็นเรื่องการเจ้าชู้ นอกใจนี่มันก็มาจากเรื่องติดกาม ติดการสมสู่นี่แหละ

12)…คือคนที่ใช่ มั่นใจตั้งแต่แรกเห็น

บางทีกรรมอาจจะชักนำบางคนเข้ามาหาเรา แต่บางทีก็เป็นกิเลสเราเอง เช่นเราชอบคนหน้าตาแบบนี้ พอไปเจอคนแบบนี้เราก็หลงรักแล้วหมายมั่นว่าเขาใช่ ทั้งๆที่เป็นกิเลส เป็นการหลงไปในมโนมยอัตตาหรือตามที่จิตตนปั้นขึ้นมาเอง คือปั้นสเปคไว้ประมาณนี้ พอเจอคนประมาณนี้ก็ “ใช่เลย” เป็นความหลงแบบแท้ๆไม่มีอะไรเจอปน อยากรู้ว่าเป็นคนที่ใช่จริงไหมก็ลองห่างลองหนีดู ถ้ามันใช่จริงจะหนีไม่ค่อยพ้น

13)…ดูดวงมาเขาทักว่าใช่เลย

ใครพบรักด้วยมุมนี้หรือปักใจว่าเขาหรือเธอคือคนที่ใช่ด้วยมุมนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทายทักจากใครหรือประเภทการทำนายแบบใด ขอให้เข้าใจไว้ว่าการทำนายดวง ดูดวง ดูโหงวเฮ้ง เป็นเดรัจฉานวิชา ชาวพุทธไม่ควรกระทำเพราะจะทำให้ไม่เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม

ผลมันก็ออกมาได้ทุกหน้าตั้งแต่ดียันไม่ดี ทั้งนี้เป็นผลจากการกระทำ ไม่ใช่เพราะใครทำนายทายทัก เราอยากได้คู่ที่ดีเราต้องหาเอง คัดเอง เลือกเอง ทดสอบเอง อย่าเพิ่งไปหลงปักใจเชื่อเพียงเพราะคนมีชื่อเสียงเขาทำนายมา

14)…เข้ากันได้เติมเต็มในกันและกัน

มุมนี้จะเห็นคนที่ขาดพร่องแต่ก็พยายามหาคนมาเติมเต็มในชีวิต เช่นคนพูดมากอยากได้คนพูดน้อย คนขี้เกียจอยากได้คนขยัน ซึ่งในมุมการเติมนี้จริงๆมันก็มาจากการเติมเต็มกิเลส เติมให้สมกิเลส เราพูดมากเราก็อยากได้คนฟังเราไม่อยากให้ใครพูดแข่ง เราขี้เกียจเราก็อยากได้คนขยันจะได้มาช่วยงานเรา เข้ากันได้เติมเต็มกันได้จึงเป็นคำพูดสวยๆที่กิเลสเอาไว้หลอกให้คนหลงเสพหลงยึดเรื่อยไป

15)…เป็นคนดีจนต้องยอมรับในความดี

แม้ว่าเราจะเจอคนดีแสนดีที่เหมือนพ่อพระแม่พระ ใครต่อใครต่างก็ยืนยันในความดีของเขา จนเชื่อมั่นและมั่นใจได้ว่าดีจริงๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ความดีที่ยังยึดมั่นถือมั่นอยู่ในการครองคู่นั้นก็ยังสร้างทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียให้กับชีวิตอยู่ไม่มากก็น้อย

เราต่างมีกรรมเป็นของตน ดังนั้นการที่เราเข้ามาร่วมชีวิตกันก็อาจจะต้องมีส่วนรับวิบากจากการครองคู่ด้วย เช่น เขาเป็นคนดีมาก แต่หลังจากแต่งงานไม่นานก็ประสบอุบัติเหตุเป็นอัมพาต ด้วยความที่เขาเป็นคนดีมากเราจึงทิ้งเขาไม่ได้ ต้องแบกภาระตรงนี้ไปด้วย แม้การช่วยเหลือเกื้อกูลจะเป็นบุญกุศลใหม่ แต่ก็ยังเรียกได้ว่าต้องทำไปพร้อมกับทุกข์อยู่ดี เพราะความสมบูรณ์แบบก็ไม่ได้เสพ การดูแลเอาใจใส่ก็ไม่ได้เสพ แถมยังต้องเหนื่อยมากขึ้นอีก

แม้คนดีที่คิดจะยังครองคู่อยู่ นั้นก็ยังเป็นคนดีที่ยังไม่ดีแท้อยู่นั่นเอง เพราะยังไม่เข้าใจในทุกข์โทษภัยของกิเลสและบ่วงกรรมที่จะเกิดขึ้น

16)…รักเรามากกว่ารักตัวเอง

สิ่งที่ทำให้เราประทับใจในคู่รักอย่างหนึ่งก็คือการเสียสละ การแสดงออกที่ทำให้เรารู้สึกว่าเขารักเรามากกว่าตัวเอง เป็นการกระทำที่พาให้หลงเคลิ้มไปได้ง่าย แต่ก่อนจะตัดสินใจอะไรลงไปลองตรวจสอบให้ดีก่อนว่าเขาทำแบบนี้กับคนที่เขารักทุกคนหรือไม่ เขาปฏิบัติกับพ่อแม่ญาติพี่น้องดีเท่ากับปฏิบัติต่อเรารึไม่ เขาลำเอียงให้เวลาเรามากกว่าครอบครัวหรือไม่

ถ้าเขาไม่ได้ดูแลครอบครัวที่รักและเลี้ยงดูเขามาทั้งชีวิต แต่กลับมาทุ่มเทให้กับเรา พึงรู้ไว้เลยว่านี่เป็นเพียงละครฉากหนึ่งของกิเลสที่พาให้หลงไป เขาก็หลงเรา เราก็หลงเขา เพราะเขาหลงเขาจึงแสดงออกว่ารักเราได้มากกว่าตัวเอง แต่ถ้าไม่หลงแล้วคนที่มีพระคุณอย่างพ่อแม่นั้นเขาก็ควรจะให้ความสำคัญเหมือนเราหรือมากกว่าเรา

คนที่ดูแลครอบครัวไม่ดีแต่มาดูแลเราดีนั้นแสดงให้เห็นถึงบางอย่างที่ผิดเพี้ยนไป เราเองเป็นแค่คนใหม่ที่เข้ามาในชีวิตของเขา แล้วทำไมเขาจึงทุ่มเทขนาดนี้ หรือเขากำลังหวังจะเสพอะไรจากเรา

17)…เป็นคนรักครอบครัวที่บ้านยอมรับ

ทักษะการเข้าสังคมเป็นเรื่องสำคัญในการมัดใจคู่ครอง เพราะถ้าไม่สามารถมัดใจไปถึงครอบครัวได้ก็ยากที่จะได้เสพสมสู่กันอย่างถูกกฎหมาย ถูกจารีตประเพณี ดังนั้นการที่คนใดคนหนึ่งจะมีมนุษย์สัมพันธ์ดี เข้ากับคนอื่นได้ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะจริงใจ ใครเล่าจะรู้กิเลสเบื้องลึกที่ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากที่มีแต่รอยยิ้ม

แรกๆที่แต่งงานไปอาจจะมีความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวที่ดี แต่พอได้เสพสมใจ ได้สมสู่ ได้สถานะสามีภรรยาแล้วก็ไม่ต้องสนใจใครอีก หน้ากากคนดีอาจจะหลุดออกตอนนั้นก็เป็นได้ใครจะรู้

18)…สร้างครอบครัวที่มีแต่ความสุข

เป็นเหมือนกับความฝันที่โดนโลกหลอกมาเสมอด้วยคำว่าความสมบูรณ์ในชีวิตต้องมีครอบครัว ตอนจบในหนังพระเอกก็รักกับนางเอกทั้งนั้น เป็นความหลงผิดที่แสนจะน่าสงสาร เพราะโดยสัจจะที่ว่า “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์” มันจะต้องเกิดทุกข์แน่ๆอยู่แล้ว

ทีนี้ด้วยความลำเอียงของเรา ลำเอียงเพราะรัก เราจึงยินดีที่จะรัก ยอมรับทุกข์และสุขเหล่านั้น แต่ใครจะรู้กันบ้างว่าที่จริงมันสุขน้อยทุกข์มาก รสสุขที่เคยเสพตอนต้นนานวันไปมันก็จะเบื่อจะคลาย แม้การสมสู่ที่เคยหลงใหลได้ปลื้มก็จะเป็นเพียงแค่กายบริหารที่ทำก็ได้แต่ไม่ทำจะดีกว่าเพราะมันน่าเบื่อ นำมาสู่ปัญหาคบชู้ มีเมียน้อย มีกิ๊กอะไรกันมากมาย เพราะรสสุขมันไม่เหมือนวันแรก

ถ้าอยากลองทดสอบก็ลองกินอาหารที่ตัวเองชอบมากๆ จะอมไว้ในปากหรือกินทุกวันก็จะเริ่มเห็นแล้วว่ามันไม่ได้สุขเหมือนคำแรก แม้จะชอบมากเท่าไหร่กินบ่อยๆมันก็เบื่อเหมือนกัน

จริงๆแล้วโดยส่วนใหญ่ทุกคนก็มีครอบครัวกันอยู่แล้ว มีพ่อ มีแม่ มีญาติพี่น้อง มีเราเป็นลูก มันก็ครบอยู่แล้ว จะไปหาเพิ่มทำไม่ให้มันลำบาก แต่คนมีกิเลสจะมองว่าตัวเองขาดตัวเองพร่องก็เลยต้องหามาเติมอยู่เรื่อยไป

19)…อยากมีลูก นี่คือพ่อของลูก แม่ของลูก

ความฝันหนึ่งของการมีคู่คืออยากมีลูก มีหลายคนที่อยากมีลูกแม้ว่าจะไม่มีคู่ครองก็ตาม ทั้งหมดนั้นเกิดจากเราไปเห็นภาพที่สวยงาม ภาพที่น่ารักของเด็กทารก ถ้าลองได้เลี้ยงหรืออุ้มชูใครสักคนจนเขาเติบโตกระทั่งสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเองจะพบว่าเหนื่อยแสนเหนื่อย

เหมือนกับตอนที่เราเห็นสัตว์เด็ก ลูกหมา ลูกแมว เราก็เห็นว่ามันน่ารัก แต่พอเริ่มโตมามันชักจะไม่น่ารัก กินจุ สร้างปัญหา พาปวดหัว มีหลายคนที่พาสัตว์เลี้ยงไปปล่อย แต่การมีลูกนั้นปล่อยไม่ได้ ทิ้งไม่ได้ เมื่อสร้างภาระนี้แล้วก็ต้องหอบภาระนี้ไป 20 – 30 – 40 ปี หรือจนกว่าเขาจะตายจากไป ไม่ใช่ทุกคนที่จะเกิดมาแล้วมีศักยภาพในการดูแลตัวเองหรือพ่อแม่ บางคนเกิดมาพิกลพิการ พ่อแม่ก็ต้องดูแลไปจนตาย

ส่วนคนที่หวังว่าลูกจะกลับมาดูแลตัวเองตอนแก่นั้นอาจจะเป็นการคิดฝันที่ไกลไปสักหน่อย เขาอาจจะไม่อยู่จนถึงวันนั้นก็ได้ และถึงเขาจะอยู่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมาสนใจเราก็ได้

20)…เราจะรักกันตลอดไปจนวันสุดท้าย

สรรพสิ่งใดๆในโลกนี้ล้วนไม่เที่ยง ตัวเราก็ไม่เที่ยง ตัวเขาก็ไม่เที่ยง กิเลสก็ไม่เที่ยง กรรมก็ไม่เที่ยง แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่ความรักนั้นจะเที่ยง จะมั่นคง จะดำรงอยู่กันจนวันสุดท้าย ข้อความนี้เป็นประโยคขายฝันที่ทำให้หลงมากที่สุด เป็นคำยืนยันสัญญาที่ทุกคู่แต่งงานนิยมใช้ แต่จะมีสักกี่คนที่จะสามารถดำรงสภาพของความรักให้ถึงวันสุดท้ายได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะคิดเอา ฝันเอา แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้วกิเลสมากมายได้ตั้งด่านรอเราอยู่ ซึ่งเราเองก็อาจจะพลาดพลั้งเผลอไปตอนไหนก็ได้เช่นกัน

….อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็ขอให้เราพิจารณากันให้ดีๆ ก่อนจะตัดสินใจอะไรลงไป เพราะหากเราตัดสินใจไปแล้วใช่ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงเอาง่ายๆ เราต้องรับกรรมที่เราตัดสินใจไว้ด้วยเช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

8.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

คนบ้ากินมังฯ ๒

December 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,159 views 1

คนบ้ากินมังฯ ๒

คนบ้ากินมังฯ ๒

…บ้าจริง บ้าหลอกหรือหายบ้า มาอ่านกัน ฉบับไขข้อข้องใจทุกประเด็นเกี่ยวกับบทความ “คนบ้ากินมังฯ”

*(คำเตือน !! ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ควรจะอ่านบทความ”คนบ้ากินมังฯ”ก่อน ….และหากอ่านจบแล้วยังรู้สึกไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจอย่างรุนแรงหลังจากอ่านก็อย่าพึ่งอ่านบทความนี้ รอให้รู้สึกว่าตัวเองสงสัย ข้องใจ หรือเหลืออารมณ์ไม่พอใจเพียงเล็กน้อยค่อยอ่านจึงจะเหมาะ)

**ในบทความนี้ขออนุญาตใช้ธรรมะเข้ามาร่วมอธิบาย อาจจะเป็นสิ่งไม่คุ้นเคยสำหรับบางท่านให้ลองอ่านผ่านๆไปก่อนและเนื้อหาจะเป็นไปในเชิงไขกิเลส กรรมและขยายเนื้อหาในบทความคนบ้ากินมัง หากสนใจที่จะไขข้อข้องใจก็มาอ่านกันต่อ

เริ่มกันเลย!

1). อัตตา

หลังจากที่ได้เผยแพร่บทความคนบ้ากินมังฯออกไปนั้นก็มีเสียงตอบรับเข้ามามากมาย และส่วนใหญ่เป็นไปในทางลบ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่สามารถเข้าใจได้แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

สำหรับคนที่ติดตามเพจนี้มาก่อนจะขอยกไว้ในฐานที่เข้าใจ ส่วนคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนอาจจะแบ่งได้หลายส่วนเช่น เห็นแย้งในทันที , สงสัย , ต่อว่า , ด่า , ส่งเสริมเชิญชวนหรือช่วยอธิบายเรื่องมังสวิรัติ ,พยายามปรับความเข้าใจ, เข้าใจที่สื่อสาร …เหตุอันใดที่ทำให้คนเข้าใจสื่อเดียวกันต่างกัน ถ้าสื่อนั้นผิดพลาดจริงๆคนทั้งหมดก็ควรจะเข้าใจผิด แต่ทำไมยังมีคนที่เข้าใจตามที่ได้สื่อสาร ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญของบทความนี้

การที่เราเข้าใจต่างกันนั้นมีเหตุมาจากทิฏฐิที่ต่างกัน บางคนตัดสินตั้งแต่เห็นหัวเรื่อง บางคนตัดสินหลังจากอ่านจบ บางคนตัดสินแต่ไม่ต่อว่าและกลับชวนให้ลองกินมังสวิรัติ จะบอกว่าเรามีทิฏฐิที่ต่างกัน คนเราต่างกันนั้นมันก็เป็นคำพูดที่ตีรวมๆ เข้าใจแต่ไม่เข้าใจ ไม่ลึกถึงเหตุ มองไม่ขาด เพราะเหตุจริงๆที่ทำให้เรามีทิฏฐิที่ต่างกัน คือกิเลส หรือในที่นี้ก็คือ “อัตตา

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ในกรณีของมังสวิรัติก็คือ “อรูปอัตตา” เป็นอัตตาที่ไม่มีรูปร่างให้เห็นให้หยิบจับแล้ว เป็นความเชื่อ ความเห็น ความเข้าใจ นั่นคือเรายึดความเชื่อความเห็นความเข้าใจในมังสวิรัติมาเป็นตัวเราของเรา พอเรายึดแล้วเราก็กอดมันไว้ รัดมันไว้ รักมัน หวงมันโดยไม่รู้ว่าอัตตานี่คือกิเลสที่ทำให้เราเป็นทุกข์

คนมีอัตตาหลายคนแม้จะไม่ได้ไปยุ่งกับคนอื่น แต่ถ้าใครเข้ามาแตะในพื้นที่หวงห้ามเช่นมาด่าว่าคนกินมังสวิรัติว่าบ้าว่าโง่ เหมือนกับเข้ามาเขย่าบ้านของตนเอง ก็จะรีบออกมาปกป้องบ้านของตนทันที ปกป้องสิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่น ปกป้องกิเลส

เราจะเริ่มมีอัตตาก็เพราะเรามีศรัทธาในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ศรัทธาในการกินมังสวิรัตินั้นดี แต่การที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในความดีนี้ไม่ดี คนกินมังสวิรัติหรือศรัทธาในมังสวิรัติส่วนมากจะมองว่าตัวเองเป็นคนดี เป็นคนมีปัญญา เป็นคนละบาปบำเพ็ญบุญ จึงมีอาการยึดดีหรือยึดความดีเป็นตัวตนหรือมีอัตตา ซึ่งพอมีใครมาเห็นแย้งว่าที่เราทำมันบ้า มันโง่ คนที่ยึดว่าเรามีปัญญา เป็นคนดี ก็จะทุกข์ร้อนเพราะไม่ได้เสพคำชื่นชมอย่างที่ตัวเองเคยได้แถมยังโดนด่าอีก อันนี้ไม่ได้ผิดตรงมังสวิรัติแต่มันผิดตรงที่เราหลงยึดว่าเราเป็นคนดี เป็นคนมีปัญญาแล้วเราเข้าใจว่าคนอื่นจะต้องเข้าใจว่าเราเป็นเช่นนั้น

เมื่อมีคนมาพูดกระทบอัตตา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่ามังสวิรัติต้องเป็นคนดี ต้องเป็นคนมีปัญญา ต้องเรียกว่าฉลาดสิเพราะเว้นจากการเบียดเบียน พวกเขาจึงได้ออกมาแสดงทัศนคติตามกิเลสของแต่ละคนกิเลสมากก็แรงมาก กิเลสน้อยก็แรงน้อย กระทบกระทั่งกันไปเพราะความอยากเอาชนะ อยากให้คนที่ต่อว่าคนกินมังสวิรัติบ้าและโง่นั้นแพ้ นั้นย่อยยับ นั้นสลายหายไป เพราะเราไม่อยากให้ใครมาคิดต่างหรือเข้ามาลุกล้ำอัตตาซึ่งเป็นกิเลสที่เราหวงสุดหวง ทั้งหมดนั้นก็เพื่อเสพสมอัตตาของเขาคือมังสวิรัติดี มีปัญญา ฉลาด เป็นบุญ เป็นความเจริญ ใครคิดตามได้แต่ถ้าคิดต่างไม่ต้องมาคุยกัน ถ้าคุยกันก็จะตอบโต้ไปตามปริมาณความยึดดีที่มี

มังสวิรัตินั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การยึดมั่นถือมั่นในความดีของมังสวิรัติเป็นคนละเรื่องกัน ขึ้นชื่อว่ากิเลสมันก็ไม่ดีอยู่แล้ว แต่คนส่วนมากมักจะกอดเก็บมันไว้ เมื่อวันใดวันหนึ่งที่มีใครเข้ามาท้าทายอัตตา เขาเหล่านั้นก็พร้อมที่จะท้าทายกลับด้วยความคิด ด้วยวาจา ด้วยท่าทาง แล้วแต่ว่าใครจะปรุงกิเลสไปได้แค่ไหน ปรุงแต่งคำด่าคำพูดได้เท่าไหร่ก็บาปเท่านั้น เพราะความโกรธ ความไม่พอใจก็ขึ้นชื่อว่ากิเลส ดังนั้นจะหาประโยชน์จากความไม่พอใจนี้ไม่มีเลย

ในบทของกำลัง 8 พระพุทธเจ้าตรัสว่า บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ส่วนคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่ามีคนอ่านบทความนี้มากมายหลายคน แต่ก็มีคนที่คิดเห็นแตกต่างกันไป คนที่เจริญในธรรมมีอัตตาน้อย ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็จะไม่เพ่งโทษใครแม้เขาจะมาด่ามาว่า ในทางกลับกันคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง กำลังคืออะไร ก็คือพลังในการทำบาป ทำอกุศล ยิ่งเพ่งโทษแรงเท่าไหร่ กำลังก็ยิ่งแรง บาปก็ยิ่งแรง อกุศลก็ยิ่งแรง กรรมก็ยิ่งมากขึ้นไปด้วย

คนมีอัตตานั้นจะรู้สึกว่าตนไม่ผิดที่เพ่งโทษใครหรือด่าใคร “ในนามแห่งความถูกต้องข้าขอประหารเจ้า” เขาจะลงดาบในทันที และในวินาทีนั้นมโนกรรม วจีกรรม กายธรรมก็ได้เกิดขึ้นกับเขาแล้ว จิตนั้นสังเคราะห์อารมณ์ไม่พอใจ วจีนั้นเกิดการปรุงแต่งขึ้นในใจ จนกระทั่งมือพิมพ์คีย์บอร์ดส่งข้อความที่เต็มไปด้วยอัตตาเผยแพร่สู่สาธารณะ กระตุ้นให้คนอื่นที่ได้อ่านเกิดความโกรธเกลียดตามกันไป เป็นวิบากบาปที่จะเกิดซ้ำซ้อนส่งต่อเนื่องกันไปมา

ชีวิตเราอาจจะรีบเกินไปก็ได้ เรารีบทุกอย่าง รีบอ่าน รีบตัดสิน แล้วก็รีบทำบาป มันจะมาซวยตรงรีบทำบาปนี่แหละ จะขยันทำอะไรก็ตามแต่ ถ้าขยันทำบาปนี่ก็อย่าทำเสียเลยจะดีกว่า หยุดไว้ก่อนจะดีกว่า เพราะทำไปมันก็ไม่คุ้ม ไปตำหนิติเตียนใครด้วยความไม่พอใจมันก็เท่านั้น ยิ่งสมัยนี้เครื่องมือสื่อสารมันก็เร็วเฟสบุคก็เข้าถึงได้ทุกคน การช่วยกันสะสมบาปก็ง่ายขึ้น เช่นมีคนหนึ่งพิมพ์ข้อความตำหนิต่อว่า เราก็ดันไปร่วมวงกดถูกใจในคำปรุงแต่งจากกิเลสของเขาก็ถือเป็นการทำบาปที่สะดวกและรวดเร็วเหมาะกับยุคนี้มากๆ ทีนี้พอกดถูกใจเข้ามากๆ เจ้าของข้อความนั้นเลยเหมือนขึ้นหลังเสือกันเลยทีเดียว พอกอัตตากันใหญ่ขึ้นไปอีก ทีนี้เวลาจะลงมันลงยาก เหมือนกิเลสมันขึ้นมาแล้วมันก็ไม่ได้ลงไปง่ายๆ

หลายคนไม่ได้อ่านถึงบทความนี้ ไม่ได้อ่านแม้บทชี้แจง ก็ไม่มีโอกาสรู้ตัวแล้วก็หอบบาปหอบกรรมที่ตัวเองทำไว้เป็นสมบัติต่อไป ส่วนคนมีอัตตามากๆถึงจะอ่านมาถึงตรงนี้ก็ยังหงุดหงิดติดอัตตาอยู่ บางอ่านไปก็ไม่เข้าใจเพราะใจมันไม่เปิด มันจำได้แค่อารมณ์แรกที่ได้ประทับไว้ในใจแล้วยึดมั่นถือมั่นเป็นอัตตาซ้อนอีกชั้นหนาเข้าไปอีก แต่บางคนสามารถรอดพ้นไปได้ด้วยเมตตา คืออ่านแล้วเห็นใจจึงแนะนำด้วยจิตเมตตาตรงนี้เป็นกุศล เป็นบุญ ก็ถือว่าสามารถสร้างสิ่งดีให้กับตัวเองบนกองกิเลสได้ แต่ถ้าคนอ่านด้วยอุเบกขาจึงจะสามารถเข้าถึงสาระแท้ของสารนั้นๆได้

แท้จริงแล้วมันไม่เกี่ยวเลยว่าคู่สนทนาหรือคนที่เราไม่ชอบใจนั้นเขาจะถูกหรือจะผิด โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่วันใดก็วันหนึ่งกรรมก็จะส่งคนที่ทำให้เราไม่พอใจ ไม่ถูกใจ ขัดใจเข้ามาในชีวิตเราอยู่ดี แล้วเรายังต้องโกรธเขา ไม่พอใจเขา ชิงชังรังเกียจเขา ทะเลาะเบาะแว้งกับเขาไปตลอดเช่นนั้นหรือทั้งๆที่ศัตรูตัวร้ายนั้นคือตัวเราเอง คืออัตตาของเราเอง คือความยึดมั่นถือมั่นของเราเอง

สิ่งที่ทำให้เราไม่พอใจคือสิ่งที่เรายึดไว้ พอเรายึดไว้ถือไว้ คนอื่นจะมาแย่ง มารบกวน มาทำลาย เราก็จะไม่พอใจ ก็จะออกอาการไปตามพลังของกิเลสของแต่ละคนตามกรรมที่ทำมา ตามกิเลสที่สะสมมา

เรามักคิดว่าคนกินมังสวิรัตินั้นมีเมตตา จิตใจดี เห็นใจสัตว์โลก แต่ความเมตตาเหล่านั้นก็ยังไม่ครอบคลุมถึงสัตว์โลกทั้งหมด เขายังเบียดเบียนมนุษย์คนอื่นด้วยถ้อยคำแห่งความดี เยอะเย้ยถากถาง ด้วยสารพัดประโยคที่จะปรุงแต่งได้ตามความสะใจ นี้หรือคือผู้ไม่เบียดเบียน นี้หรือคือผู้มีเมตตา เราจะมั่นใจได้อย่างไรหากเรายังมีความโกรธความเกลียดในสิ่งอื่นที่เห็นต่างไปจากเรา

การที่ชาวมังสวิรัติไปเถียง ไปด่า ไปเยอะเย้ยถากถาง ก็คือการเบียดเบียนอยู่นั่นเอง แม้ไม่ได้ฆ่าแต่ก็เบียดเบียนด้วยวาจาไปที่ใจและกระบวนของกิเลสทั้งหมดนี้สร้างบาปสะสมให้กับตัวเองด้วย นั่นหมายถึงเบียดเบียนคนอื่นและเบียดเบียนตัวเองไปด้วยในทีเดียวกัน

ผู้กินมังสวิรัติที่สามารถล้างกิเลสได้จริง จะสามารถตั้งตนอยู่ได้บนความสงบ พูดแต่สัจจะ พูดแต่ความจริง ยกตัวอย่างเช่นคนที่เข้ามาช่วยพิจารณาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติก็ถือว่าสามารถเอาตัวรอดจากบาปนี้ได้ ส่วนคนที่ไม่พิมพ์ไม่ตอบโต้ไม่ใช่ว่าจะไม่สร้างบาปเวรภัย เพียงแค่คิดร้ายก็เป็นมโนกรรมที่มากพอที่จะทำให้ชีวิตและจิตใจได้รับทุกข์จากกรรมนี้ได้เช่นกัน

ดังนั้นคนที่กินมังสวิรัติแล้วไม่ล้างกิเลส ไม่ล้างอัตตาก็จะสร้างบาปเวรภัยไปในตัว ทำกุศลปนบาปโดยไม่รู้ตัว ไม่ผ่องใส่ ไม่ปลอดโปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย เช่นตอนมีคนมาว่าร้ายชาวมังสวิรัติ คนที่ไม่ล้างกิเลสก็จะร้อนรน โกรธ ไม่พอใจ จนเป็นเหตุให้เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นได้ ดังนั้นจะเรียกตัวเองว่าผู้ไม่เบียดเบียนย่อมเป็นคำโกหก ผิดศีลข้อ ๔ ซ้ำเข้าไปอีก สร้างบาปเวรภัยให้กับตัวเองเข้าไปอีก กินมังสวิรัติว่าได้กุศลแล้ว ยังโดนวิบากบาปลากไปให้ทำชั่วให้ทำทุกข์อีก มันจะคุ้มไหม?

จะดีไหมหากเราจะกินมังสวิรัติไปด้วยล้างกิเลสไปด้วย ล้างความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เรายึดไว้ไปด้วย จะดีไหมหากเราจะรู้สึกเฉยๆถ้ามีคนมาต่อว่าในสิ่งที่เราเป็น ในสิ่งที่เราชอบ จะดีไหมถ้าเราไม่ต้องทำทุกข์ทับถมตัวเองเพราะเราเลี้ยงกิเลสไว้

กิเลสไม่ใช่ตัวเรา ความยึดมั่นถือมั่นในมังสวิรัติไม่ใช่เรา เราไม่จำเป็นต้องยึดไว้ เราเพียงแค่ยึดอาศัย อาศัยให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตนี้ เรากินมังสวิรัติแต่เราไม่ยึดติด ไม่ยึดติดไม่ได้หมายถึงกินเนื้อบ้างกินผักบ้าง แต่หมายถึงว่าไม่ยึดติดกับความเป็นมังสวิรัติ เพราะถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นมังสวิรัติแล้วมีคนมาว่าเราก็ทุกข์ แต่ถ้าเรายึดอาศัยเราก็กินของเราไป แต่ถ้าใครมาว่าเราก็ไม่ทุกข์ เพราะเราไม่ได้ถือ เราไม่ได้มีตัวตน เราเลยไม่ต้องทุกข์

สุดท้ายของบทไขอัตตานี้ก็ให้ผู้อ่านได้ทบทวนตนเองว่าเกิดอะไรขึ้นในใจของเรา มันเกิดตั้งแต่เมื่อไหร่ มันเกิดเพราะอะไร มันดับไปเพราะอะไร แล้วมันจะเกิดอีกไหม จะดีกว่าไหมถ้ามันจะไม่เกิดอีกเลย ก็ขอให้ท่านลองพิจารณาดู

2).กรรม

กรรมอันใดหนอที่ทำให้ต้องมีคนเข้าใจผิด ต้องผิดใจ ต้องทะเลาะเบาะแว้ง ในบทนี้ผมจะลองไขกรรมของตัวเองอย่างคร่าวๆเพื่อให้เห็นภาพของวิบากบาปหรือผลของบาปที่เคยทำไว้ในอดีตกาล

ผมเองตั้งใจพิมพ์บทความด้วยความคิดว่าจะลองสื่อสารในอีกมุม เป็นมุมของคนกินเนื้อสัตว์ที่ข้องใจในมังสวิรัติ ซึ่งก็เป็นคนที่มีการกระทบกระทั่งกันให้เห็นกันตามกระทู้มังสวิรัติทั่วไปนั่นเอง ทีนี้เราก็คิดว่าขัดเกลาบทความดีแล้ว เรียบเรียงใส่คำใบ้ ใส่นัยสำคัญ ใส่เฉลยไว้เรียบร้อย กะว่าเพื่อนอ่านจบคงจะเข้าใจได้เอง แต่มันก็ผิดคาดไป ตรงนี้เป็นการประมาณผิดไม่ได้มีอะไรมาก แต่กรรมนั้นเองดลให้ได้ข้อมูลเท่านี้ ให้เขียนแบบนี้ ให้ประมาณผิดเช่นนี้ ซึ่งเราดูได้จากผลที่เกิดขึ้นคือมีคนเข้าใจผิดเป็นจำนวนมากและมีคนเข้ามาต่อว่ามากมาย อันนี้ในชาติใดชาติหนึ่งผมคงเคยไปยุแยงใครให้เกลียดให้เข้าใจคนอื่นผิดทั้งๆที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด ก็เลยต้องมารับวิบากนี้ ซึ่งรับแล้วก็หมดไป มีคนมาด่าชีวิตผมก็ดีขึ้นเพราะได้ใช้กรรม กรรมชั่วหมดไปก็เปิดโอกาสให้กรรมดีที่ทำไว้ได้ส่งผลมากขึ้น สรุปแล้วทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นผมมองว่าดีทั้งหมด

เมื่อกรรมชั่วได้ถูกชำระหนี้ไปแล้วกรรมดีก็ได้เกิดขึ้น มีคนที่เข้าใจในเนื้อหาสาระของบทความมาช่วยขยายความให้ ช่วยให้หลายคนได้คลายสงสัย ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงนี้จะเริ่มเป็นจุดเปลี่ยนที่เห็นพลังของกรรมดีที่ทำไว้อย่างชัดเจน ถ้าผมไม่เคยทำดีไว้ ก็คงจะไม่มีใครมาช่วยแบบนี้ สิ่งนี้เองเป็นผลจากการที่เราทำกรรมดีสะสมไว้บ้าง

แต่กรรมชั่วที่หมดไปนั้นเอง จะหมดไปไม่ได้หากไม่มีคนเข้ามาช่วย มีคนที่เสียสละยอมทำบาปจำนวนมากที่เป็นสะพานให้ผมได้ใช้กรรมชั่วที่เคยทำมาในอดีต เขาเหล่านั้นคือผู้รับวิบากบาปต่อในส่วนที่เขาทำและส่วนอื่นที่เขาได้ขยายต่อไป ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะผลกรรมชั่วของเขาก็ลากเขามาให้เขาทำกรรมนี้เช่นกัน เพราะถ้าไม่มีอัตตาขนาดนี้เขาคงไม่ด่า ถ้าเขาล้างอัตตาได้เขาก็ไม่ต้องมารับบาป ในส่วนนี้ก็เห็นใจเพื่อนๆจริงๆ จะมีสักกี่คนที่ได้อ่านมาถึงบทความนี้ ในร้อยคนที่อ่านจะมีสักกี่คนที่เขาด่าแล้วจากไป พวกเขาเหล่านั้นจากไปพร้อมของฝากชิ้นใหญ่คือกรรมที่เขาต้องรับไว้ เหมือนกับชีวิตผมที่มีกองบาปกรรมทับอยู่ แล้วมีคนมาหอบกองบาปกรรมเหล่านั้นกลับบ้านไปเพราะหลงว่าเป็นของดี หากใครยังรู้สึกติดใจ ขุ่นเคืองใจอยู่ก็อยากจะให้พิจารณาดีๆว่ามันคุ้มไหมที่จะเอาบาปนี้กลับไปเป็นสมบัติของตัวเอง

ทั้งหมดนี้ไขให้เห็นกระบวนการของกรรมในภาพกว้างๆ ให้พอรู้ว่ากรรมชั่วกรรมดีมันมีผล

3). เกี่ยวกับบทความคนบ้ากินมัง

ในบทความนี้ผมได้วางเนื้อหาสาระสำคัญไว้หลายจุดด้วยกัน หากใครยังไม่เห็นหรือมองผ่านไปก็ลองอ่านกันดูได้

3.1). คนเกิดมาก็กินเนื้อแต่บ้าเปลี่ยนมากินผัก

อันนี้คือการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ เพราะคนส่วนมากที่มีจิตเจริญขึ้นก็จะเบียดเบียนผู้อื่นน้อยลง ทุกคนเริ่มมาจากการกินเนื้อสัตว์เหมือนกันหมดแต่ทำไมบางคนหันมากินมังสวิรัติ มันเป็นไปได้อย่างไร จิตใจมันเจริญขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์

3.2 ) ด้วยสติปัญญาที่พวกเขามี เขาจึงไปเชื่อลัทธิหนึ่ง

คำว่าลัทธิในที่นี้หมายถึงกลุ่ม ถ้ามองจากคนนอกที่เขาไม่กินเนื้อ เขาไม่รู้หรอกว่าเราไปอยู่กลุ่มไหนเขาก็มองเป็นกลุ่มก้อนเป็นลัทธินั่นแหละ ซึ่งลัทธิในที่นี้อาจจะเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นอิสลาม หรือศาสนา นิกาย กลุ่มคน กลุ่มสังคม กลุ่มในเฟสบุคก็ได้ที่มีลักษณะกลุ่มก้อนที่เสนอสื่อ ให้ความรู้ ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกินมังฯ และด้วยสติปัญญาที่มี คือมีปัญญารู้คุณรู้โทษจึงเชื่อและพยายามกินมังสวิรัติ

หลายคนเข้าใจว่ากินมังสวิรัติด้วยตัวเอง อยู่ๆก็ไม่อยากกินเนื้อสัตว์เอง มองว่าในชาตินี้ไม่ได้มีสื่อใดกระตุ้นเลย ถ้ามองแค่ในชาตินี้มันก็เข้าใจถูกตามนี้ ดูว่าเป็นคนเก่ง แต่แท้ที่จริงแล้วความเบื่อหน่ายเนื้อสัตว์นี้เป็นสิ่งที่สะสมมาหลายภพหลายชาติ ซึ่งการจะออกจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงนั้นจะคิดเอาเองไม่ได้ นึกเอา เดาเอา มั่วเอาเองไม่ได้เลย ต้องมีสัตบุรุษหรือผู้รู้สัจจะเป็นผู้บอก ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวเก่าแก่ในชาติปางก่อนก็ได้ เพราะทุกอย่างมาแต่เหตุ แล้วเหตุใดที่เราไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆที่ในชาตินี้เราก็ไม่ได้เพียรพยายามใดๆเลย แต่กลับเห็นคนอื่นเขาเพียรพยายามกันอย่างยากลำบากตกแล้วตกอีก พลาดแล้วพลาดอีก นั่นเพราะเราทำมามาก ฟังมามาก เลยมีผลส่งมามาก ในส่วนนี้ที่ขยายไว้เพิ่มเพราะคนที่ทำอะไรได้ด้วยตัวเองมักจะมีอัตตาแรง คนเก่งมักมีอัตตาจัดเสมอ ก็ขอให้พิจารณาไว้

3.3 ฟังแล้วมีแต่ข้อดี จึงใช้ความเพียรพยายามในการลดละเลิก

ตรงนี้คือการพิจารณาประโยชน์ของการกินมังสวิรัติ เมื่อจิตเข้าถึงประโยชน์แล้วจึงใช้ความเพียร คนที่กินมังสวิรัติได้สมบูรณ์จริงๆจะรู้ว่าต้องใช้ความเพียรอย่างมากในการตัดกิเลส ในการห้ามใจไม่คิดถึงเนื้อสัตว์ ในการอยู่กลางวงเนื้อสัตว์โดยไม่กิน ในการยอมถูกบ่นถูกด่าจากผู้ที่ไม่เห็นดีกับการกินเนื้อสัตว์โดยไม่โกรธ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ความเพียรมาก ไม่ได้มากันง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เป็นสิ่งที่สั่งสมข้ามภพข้ามชาติมา

3.4 ให้กินเนื้อฟรีก็ไม่กิน แถมเงินก็ไม่กิน

เป็นสภาพของคนที่พ้นจากความอยากแล้วเท่านั้นจึงจะเข้าใจความสบายใจที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ คนที่กินมังสวิรัติแต่ไม่ได้ล้างกิเลสจะเหลืออาการอยาก เขาไม่กินแล้วนะแต่เห็นแล้วก็ยังอยากกิน แม้จะสามารถข่มใจไว้ได้แต่กิเลสก็จะโตขึ้นเรื่อยๆดังที่เห็นคนกินมังสวิรัติมานานแต่กลับไปกินเนื้อสัตว์ เพราะกิเลสมันโตจนกดไว้ไม่ไหว

3.5 มีเนื้อให้กินดีๆไม่กิน จะกินผัก

คนกินมังสวิรัตินั้นเป็นคนที่ยอมอดทน แม้จะต้องกดข่มก็ยังเจริญกว่าคนที่กินเนื้อสัตว์ตามกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนจะบรรลุธรรมได้เพราะความเพียร ถ้าหากเราอยากพ้นความอยากกินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นกิเลสที่ผลักดันให้เราไปกินเนื้อสัตว์แล้วเราต้องใช้ความเพียรที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์ โดยมีความเชื่อที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์เป็นหางเสือควบคุมทิศทางเช่นกัน

3.6 ชอบทวนกระแสโลก

คนที่สู้กับกิเลส ไม่ยอมทำตามกิเลสนั้นก็ถือว่าได้พยายามทวนกระแสโลก หรือกระแสของกิเลสแล้ว ส่วนจะถึงฝั่งฝันไหมก็คงต้องเพียรต่อไป คำว่าทวนกระแสโลกนั้นในทางธรรมก็เป็นที่เข้าใจอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของโลกุตระ เป็นเรื่องของอีกโลกที่ไม่เหมือนโลกียะ ไม่เหมือนปลาตายที่ลอยตามน้ำ

3.7 ชอบมาเผยแพร่ลัทธิ

พอเราสามารถกินมังสวิรัติจนเห็นผลดีกับชีวิตและจิตใจตัวเองแล้ว เราก็จะเริ่มทำการเผยแพร่สิ่งดีให้กับคนรัก คนใกล้ชิด และบางครั้งก็ต้องพบกับความไม่ยินดี ไม่เอาด้วย หรือเอาด้วยแต่เอานิดเดียวนะ ซึ่งพอมีการสื่อสารหรือการแลกเปลี่ยนความเห็นความเข้าใจที่แตกต่างกัน ก็จะทำให้เกิดความคิดเห็นไม่ตรงกัน นำมาซึ่งความผิดใจกันและการทะเลาะเบาะแว้งได้

3.8 บ้าในโลกส่วนตัว

คนกินมังสวิรัติที่อยู่ในโลกส่วนตัวนั้นมีให้เห็นกว้างๆอยู่สองพวก หนึ่งคือพวกที่ติดโลกธรรมเลยไม่ถือสาคนอื่น กลัวเขาไม่คบ กลัวเขาว่า กลัวเขาเกลียด กลัวเขานินทา เกรงใจเขา อีกส่วนหนึ่งคือพวกที่สามารถลดกิเลสลดอัตตาได้ ก็จะไม่ถือสาคนอื่นเช่นกัน จะกินมังไปได้อย่างปกติ แม้จะมีคนมาด่าหรือต่อว่าก็จะไม่ไปทำร้ายจิตใจใคร

3.9 บ้าระรานชาวบ้าน

เป็นคนกินมังสวิรัติที่มีอัตตามาก มักจะพยายามยัดเยียดสิ่งดีคือมังสวิรัติให้ผู้อื่น ยัดเข้าไปจนเขาอ้วก จนเขาเอือมระอา จนเขาเกลียดมังสวิรัติไปเลยก็มี และอัตตายังส่งผลให้ปกป้องตัวเองเช่นกัน ดังเช่นเมื่อมีคนมาเห็นต่างเห็นแย้ง พวกเขาก็พร้อมจะหยิบอาวุธขึ้นมาปกป้องความเชื่อของตัวเอง ฟาดฟันผู้อื่นด้วยความคิด คำพูด การกระทำต่างๆ

ถามว่าทำไมถึงเรียกว่าระรานชาวบ้าน ทั้งๆที่ถูกโจมตี เพราะแท้จริงชาวมังสวิรัตินั้นคือผู้มีเมตตา ไม่เบียดเบียนสัตว์โลก นั้นหมายถึงสัตว์และมนุษย์ด้วย แม้ว่าเขาจะมาด่า กล่าวหาว่าร้าย มาโจมตีใดๆก็ตาม ก็ไม่ใช่เหตุที่เราจะต้องไปเบียดเบียนเขากลับเลย

คนมีอัตตาจะมองไม่เห็นตรงนี้เพราะกิเลสจะบังตาทันทีที่มีคนพูดแล้วขัดกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อหรือมาด่าต่อว่า เมื่อมองไม่เห็นกิเลสตัวเองก็โทษว่าคนอื่นผิด ว่าแล้วก็โกรธเขาแล้วเข้าใจว่ามันถูกต้อง คือเขาผิดเราจึงโกรธ อันนี้มันความเห็นของคนมีกิเลส มันก็ชั่วอยู่ดีนั่นเอง เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นอยู่ดีนั่นเอง

3.10 ดูสิพวกกินมังฯทั้งโง่ทั้งบ้า

มีเนื้อให้กินก็ไม่กิน กินฟรีก็ไม่กิน กินแต่ผัก ไม่ไปตามกระแสโลก ไม่ไปตามกิเลส คนทั่วไปเขามองเราแบบนี้มันก็ถูกของเขา เพราะเขาเห็นว่าทำแบบเรามันลำบาก มันทรมาน มันบ้า ไม่มีใครเขามาล้างกิเลส ลดกิเลสกันหรอก เขามีแต่จะพากันเพิ่มกิเลส

ในประโยคสุดท้ายนี่ทิ้งไว้โดยสื่อสารอย่างชัดเจนว่าคนที่เลือกกินเนื้อนั้นกินตามกิเลส ส่วนคนคิดจะกินมังสวิรัตินั้นคือคนทวนกระแสกิเลส หากผู้ใดได้พิจารณาบทความ คนบ้ากินมัง ดีๆจนกระทั่งในตอนจบก็จะไม่มีความสงสัยใดในบทนี้ ยกเว้นตัวท่านเองกินมังสวิรัติโดยไม่รู้เรื่องกิเลส ซึ่งก็ขอให้ท่านค่อยๆศึกษาและติดตามจากบทความอื่นๆที่ผมได้นำเสนอมาแล้วและจะนำเสนอต่อไปอีกเรื่อยๆ

…สุดท้ายนี้ขอยืนยันว่าถ้าคนล้างกิเลสเรื่องมังสวิรัติได้จริงจะสามารถอ่านบทความ “คนบ้ากินมังฯ” ได้ฉลุย ผ่านตลอด ไม่มีแม้ความขุ่นเคืองใจใดๆในทุกวินาทีที่อ่าน เพราะเขาเหล่านั้นได้ล้างอัตตาหรือความยึดดีในมังสวิรัติซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ เหตุที่ทำให้ไม่พอใจ ทำให้ขุ่นเคือง หรือทำให้โกรธออกไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนผู้ที่เห็นอัตตาของตัวเอง และเริ่มเห็นว่านี่แหละคือศัตรูตัวร้ายที่แอบซ่อนและฝังอยู่ในจิตใจของเรามานาน เป็นตัวที่ทำให้เราทุกข์ทุกครั้งเมื่อต้องเจอกับประเด็นต่างๆที่ไม่พอใจในเรื่องมังสวิรัติ ก็แนะนำให้เรียนรู้เรื่องกิเลส เรียนรู้เกี่ยวกับการล้างกิเลส ท่านจะศึกษากับครูบาอาจารย์หรือใช้วิธีอื่นก็ได้ตามที่ชอบหรือเห็นควรก็ได้

ซึ่งในส่วนของผมเองนั้นจะสร้างกลุ่มที่คุยเรื่องมังสวิรัติกับกิเลสที่ Buddhism Vegetarian

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,097 views 0

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

หลายครั้งที่เราคงจะเคยคิดสงสัยว่า การดำเนินชีวิตไปในแต่ละวันของเรานั้นได้เกิดสิ่งดีสิ่งชั่วอย่างไร แล้วอย่างไหนคือความดี อย่างไหนคือความชั่ว ดีแค่ไหนจึงเรียกว่าดี ชั่วแค่ไหนจึงเรียกว่าชั่ว

ความดีนั้นคือการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและยังสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนความชั่วนั้นคือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สร้างสมความสุขลวง เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสในตัวเองและยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นได้เพิ่มกิเลส

เราสามารถยกตัวอย่างของคนดีที่มีคุณภาพที่สุดในโลกได้ นั่นก็คือพระพุทธเจ้า และรองลงมาก็คือพระอรหันต์ จนถึงอริยสาวกระดับอื่นๆ ซึ่งก็จะมีความดีลดหลั่นกันมามาตามลำดับ ในส่วนของคนชั่วนั้น คนที่ชั่วที่สุดก็คงเป็นพระเทวทัตที่สามารถคิดทำชั่วกับคนที่ดีที่สุดในโลกได้ รองลงมาที่พอจะเห็นตัวอย่างได้ก็จะเป็น คนชั่วในสังคมที่คอยเอารัดเอาเปรียบเอาผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม

แล้วเราเป็นคนดีหรือคนชั่ว?

การที่เราเข้าใจว่าดีที่สุด ชั่วที่สุดอยู่ตรงไหนเป็นการประมาณให้เห็นขอบเขต แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือ “เราอยู่ตรงไหน” เรากำลังอยู่ในฝั่งดี หรือเราคิดไปเองว่าเราดี แต่แท้ที่จริงเรายังชั่วอยู่

ดีของแต่ละคนนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนเข้าวัดทำบุญ เราก็จะบอกว่าลูกหลานที่เข้าวัดทำบุญนั้นเป็นคนดี แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าโจรที่เต็มไปด้วยกิเลส เราก็มักจะมองลูกน้องที่ขโมยของเก่งว่าดี มองว่าคนที่ขโมยของมาแบ่งกันคือคนดี เรียกได้ว่าคนเรามักจะมองว่าอะไรดีหรือไม่ดี จากการที่เขาได้ทำดีอย่างที่ใจของเราเห็นว่าดีนั่นเอง

การมองหรือการวัดค่าของความดีด้วยความคิดของผู้ที่มีกิเลสนั้น มักจะทำให้ความจริงถูกบิดเบือนไปตามความเห็นความเข้าใจที่ผิดของเขา เช่น บางคนเห็นว่าการเอาเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ไปไหว้เจ้าว่าดี นั่นคือดีตามความเห็นความเข้าใจของเขา แต่อาจจะไม่ได้ดีจริงก็ได้

ดังนั้นการวัดค่าของความดีนั้นจึงต้องใช้ “ศีล” ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่พอจะอ้างอิงถึงความดีความชั่วได้ เพราะคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ศีลนั้นเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราไปทำชั่วทำบาปกับใคร ดังนั้นคนที่เห็นว่าการไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นสิ่งดี เขาเหล่านั้นย่อมเห็นประโยชน์ของการถือศีล

หากเราจะหามาตรฐานของคำว่าดีนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะความพอใจในศีลนั้นแตกต่างกัน บางคนบอกว่าทุกวันนี้ตนไม่ถือศีลก็มีความสุข เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนยินดีถือศีล ๕ ก็เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนบอกอย่างน้อยต้องถือศีล ๑๐ จึงจะเรียกว่าดี ด้วยความยินดีในศีลต่างกัน ปัญญาจึงต่างกัน ผลดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน

ถ้าเราอยู่ในหมู่คนที่เที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เขาก็มักจะบอกว่า การหาเลี้ยงชีวิตตนเองได้เป็นสิ่งดีแล้ว เขาสามารถหาเงินมากินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่หรือครอบครัว เขาก็เห็นว่าเป็นสิ่งดีแล้ว

ในมุมของคนที่เลิกเที่ยวและเสพสุขจากอบายมุข ก็มักจะมองว่า การได้ทำบุญทำทาน ถือศีล ๕ เป็นสิ่งดี การได้เกิดมานับถือศาสนาเป็นสิ่งดี แต่การเที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ทำให้ตัวเองต้องลำบากกาย เสียเงิน เสียเวลา และทำให้คนที่บ้านเป็นห่วง ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

ดังนั้นจะหามาตรฐานของความดีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่หากจะถามว่าสิ่งใดเป็นฐานต่ำสุดของความไม่เบียดเบียนก็จะสามารถตอบได้ว่าฐานศีล ๕ และจะลดการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นลงมาเรื่อยๆ เมื่อปฏิบัติศีลที่สูงยิ่งๆขึ้นไป

คนที่เฝ้าหาและรักษามาตรฐานความดีให้เข้ากับสังคม เสพสุขไปกับสังคม จะต้องพบกับความเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะโลกมักถูกมอมเมาด้วยกิเลส เราผ่านมาถึงกึ่งพุทธกาล และกำลังจะดำเนินไปสู่กลียุค มาตรฐานของความดีก็จะค่อยๆ ลดระดับลงมาตามความชั่วของคน

จะเห็นความเสื่อมนี้ได้จากพระในบางนิกาย บางลัทธิ มักเสื่อมจากธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เสื่อมจากบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้เพื่อการละหน่ายคลายกิเลส เช่น ท่านให้ฉันวันละมื้อ แต่พระบางพวกก็สู้กิเลสไม่ไหว เมื่อมีคนมีกิเลสมากๆรวมตัวกันก็เลยกลายเป็นคนหมู่มาก กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ ว่าแล้วก็กลายเป็นพระฉันวันละสองมื้อ หรือบางวัดก็แอบกินกันสามมื้อเลยก็มี

ดังนั้นการจะเกาะไปกับค่ามาตรฐาน ก็คือการกอดคอกันลงนรก เพราะคนส่วนมาก ยากนักที่จะฝืนต่อต้านกับพลังของกิเลส มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถต่อกรกับกิเลสได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้เปรียบไว้เหมือนกับ “จำนวนเขาโค เมื่อเทียบกับเส้นขนโคทั้งตัว” การที่เราทำอย่างสอดคล้องไปกับสังคม ไม่ได้หมายความว่ามันจะดี หากสังคมชั่ว เราก็ต้องไปชั่วกับเขา แม้เขาจะบอกหรือหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นมันดี แต่บาปนั้นเป็นของเรา ทุกข์เป็นของเรา เรารับกรรมนั้นคนเดียว ไม่ได้แบ่งกันรับ เราชั่วตามเขาแต่เรารับกรรมชั่วของเราคนเดียวไม่เกี่ยวกับใคร ดีก็เช่นกัน เราทำดีของเราก็ไม่เกี่ยวกับใคร

ดังเช่นการดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มมอมเมาทั้งหลาย เรารู้ดีว่าผิดศีลข้อ ๕ อย่างแน่นอนเพราะนอกจากจะทำให้หลงมัวเมาไปกินแล้วยังทำให้มัวเมาไร้สติตามไปด้วย แต่ด้วยโฆษณาทุกวันนี้จากสื่อหลายช่องทาง โดยเฉพาะจากคนรอบข้างที่ว่าเหล้าดีอย่างนั้น เหล้าดีอย่างนี้ กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุข เพลิดเพลิน ไปกับบรรยากาศเสียงเพลงและสุรา เราถูกมอมเมาและทำให้เสื่อมจากศีลด้วยคำโฆษณา คำอวดอ้าง คำล่อลวงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หลงว่าสิ่งนั้นดี เสพสิ่งนั้นแล้วจะสุข ใครๆเขาก็เสพกัน นิดๆหน่อยๆไม่เป็นไรหรอก นี่คือลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยกิเลสของสังคมและคนรอบข้าง รวมทั้งกิเลสของตนเองด้วย

หรือเครื่องดื่มที่ไม่ได้ทำให้ร่างกายมัวเมา แต่มีกระบวนการทำให้จิตใจมัวเมาเช่น ชาหลายๆยี่ห้อ มักจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาเร่งให้คนเกิดกิเลส จากคนปกติที่ไม่เคยอยากกินชายี่ห้อนั้น ก็สามารถทำให้กิเลสของเขาเพิ่มจนอยากกินได้ โดยการกระตุ้นล่อลวงไปด้วยลาภ เช่น แจกวัตถุสิ่งของที่เป็นที่นิยม ที่คนอยากได้อยากมีกัน เพื่อมอมเมาให้คนหลงในการเสี่ยง การพนันเอาลาภ ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับคนหมู่มาก การเพิ่มกิเลสหรือการสะสมกิเลสนั้นเป็นบาป ผู้กระตุ้นให้เกิดกิเลสนั้นย่อมเป็นเหตุแห่งบาป เป็นความชั่ว ทำให้คนเสื่อมจากความปกติที่เคยมี กลายเป็นแสวงหาลาภในทางไม่ชอบ เป็นลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยการตลาด และผู้ประกอบการที่ละโมบ

เมื่อการชักจูงด้วยลาภเริ่มที่จะไม่สามารถกระตุ้นกิเลสของคนได้ ก็จะเริ่มกระตุ้นกิเลสทางอื่นเช่น กระตุ้นกาม หรือกามคุณ เช่น กระตุ้นรูป ดังเช่นชาหลายยี่ห้อที่บอกกับเราว่า กินแล้วสวย กินแล้วหุ่นดี กินแล้วไม่อ้วน เหล่าคนผู้มีกิเลสหลงในรูปหลงในร่างกายหรือความงามก็จะถูกดึงให้ไปเป็นลูกค้าได้โดยง่าย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นกับชีวิตเลย ไม่ได้สร้างให้เกิดความสุขแท้เลย แต่เรากลับหลงมัวเมาไปตามที่เขายั่วกิเลสของเรา แล้วเรากลับหลงว่ามันดี หลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดี แต่จริงๆแล้วมั่นชั่ว มันพาเพิ่มกิเลส มันไม่ได้พาลดกิเลส เมื่อสังคมสิ่งแวดล้อมพาเพิ่มกิเลสแล้วเราคล้อยตามไป มันก็ชั่ว ก็บาป ก็นรกไปด้วยกันนั่นแหละ

กิเลสนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกัน หากเราเพิ่มกิเลสให้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง กิเลสเรื่องอื่นๆก็มักจะเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นการเพิ่ม กระตุ้น หรือสะสมกิเลสไม่ว่าจะเรื่องใด ก็เป็นทางชั่วทั้งสิ้น

ไม่ทำบาปแล้วทำไมต้องทำบุญ

หลายคนมักพอใจในชีวิตของตน ที่หลงคิดไปว่าตนนั้นไม่ทำบาป หลงเข้าใจไปว่าไม่ชั่ว แล้วทำไมต้องทำบุญ แค่ไม่ชั่วก็ดีอยู่แล้วนี่…

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิด คำพูด การกระทำของเราไม่เป็นบาป… ในเมื่อเราไม่รู้ ไม่มีตัววัด ไม่มีใครมาบอก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราไม่ชั่ว เราไม่บาป การที่เราคิดเอาเองว่าเราไม่บาปนั้นจะถูกต้องได้อย่างไร

มีคนหลายคนบอกว่าฉันไม่ชั่ว แม้ฉันจะเลิกงานไปกินเหล้าฟังเพลง ฉันก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่พอบอกไปว่าเบียดเบียนตัวเองนะ…. ก็มักจะต้องจำนน ถึงแม้ว่าจะพยายามเถียงว่าเบียดเบียนตัวเองก็เป็นเรื่องของเขา ก็จะโดนความชั่วอีกข้อ ก็คือมีอัตตา ยึดตัวเราเป็นของเรา สรุปว่าเพียงแค่คิดเข้าข้างตัวเองยังไงก็หนีไม่พ้นบาปไม่พ้นความชั่ว

คนเราเวลาชั่วมากๆก็มักจะมองไม่เห็นดี ไม่เข้าใจว่าดีเป็นเช่นไร เพราะโดนความชั่ว โดนบาป โดนวิบากบาปบังไม่ให้เห็นถึงความชั่วนั้น จึงหลงมัวเมาในการทำชั่ว แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งดี หรือที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

แม้ว่าในชีวิตนี้เราเกิดมาจะไม่ทำชั่วเลย เป็นฤาษีนั่งอยู่ในเรือน มีคนเอาของกินมาถวาย แต่นั่งสมาธิอยู่อย่างนั้นทั้งชีวิต ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร นั่นก็คือชั่วอยู่ดี เพราะตนเองไม่ได้หาเลี้ยงชีพ ทั้งยังกินบุญเก่า คือให้เขาเอาของมาให้ เรียกได้ว่าเกิดชาติหนึ่งไม่ทำชั่วเลย แต่ก็กินบุญเก่าไปเรื่อยๆ

เหมือนคนที่มีเงินฝากในธนาคาร ไม่ได้ฝากเงินเพิ่ม แต่ก็ถอนเงินและดอกเบี้ยมากินใช้เรื่อยๆ ใช้ชีวิตแบบนี้หมดไปชาติหนึ่ง กินบุญเก่าไปเปล่าชาติหนึ่ง เกิดมาเป็นโมฆะไปชาติหนึ่ง เกิดมาทำตัวไร้ค่าไปชาติหนึ่งแล้วก็ตายไป เป็นต้นไม้ต้นหนึ่งยังดีกว่าเป็นคนที่เกิดมาไม่ทำประโยชน์กับใคร ต้นไม้มันดูดน้ำดูดธาตุอาหารในดินมายังสร้างเป็นดอกผลให้สัตว์อื่นได้กิน

และการจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้น ต้องหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ชั่วนั้นต้องหยุดทำก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงทำดีเติมเข้าไป ให้กุศลได้ผลักดันไปสู่การทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่องใสจากความมัวเมาของกิเลส ปราศจากความอยากได้อยากมี ซึ่งการจะทำจิตใจให้ผ่องใสได้นั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้ธรรมมาสอน จะนึกคิดเอาเองไม่ได้ และการจะได้เจอครูบาอาจารย์นั้น ต้องทำดี ทำกุศลที่มากเพียงพอ ที่ความดีนั้นจะผลักดันเราไปพบกับครูบาอาจารย์ผู้มีบุญบารมีนั้นได้ และการจะเติมบุญกุศลให้เต็มจนเป็นฐานในการขยับสู่การทำจิตใจให้ผ่องใสนั้น ต้องอุดรูรั่วที่เรียกว่าความชั่วเสียก่อน หากทำดีไม่หยุดชั่ว ก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว เติมไปก็หาย ทำดีไปก็แค่ไปละลายชั่วที่เคยทำ แล้วชั่วที่เคยทำก็จะมาฉุดดีที่พยายามทำอีก ดังนั้น การจะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน คือการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นการกระทำที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน

คนติดดี

คนทั่วไปมักจะมองว่าคนดีนั้นอยู่ในสังคมยาก เพราะอาจจะติดภาพของคนติดดีมา คนที่ติดดี ยึดดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขนัก เพราะสังคมทุกวันนี้มักไม่มีความดีให้เสพ มีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ คนติดดีเมื่ออยู่ในสังคมที่มีแต่ความชั่วเช่นนี้ก็มักจะหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ทำให้เกิดอาการหม่นหมอง เป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เสพดีดังที่ตนเองหวัง

ความติดดีนั้นมีรากมาจากอัตตา คือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะเรียกคนติดดีว่าคนดีนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ในสังคม แต่จะให้เรียกว่าคนดีแท้นั้นก็คงจะไม่ใช่ เพราะคนที่ติดดีนั้น พึ่งจะเดินมาได้เพียงครึ่งทาง เขาเพียงละชั่ว ทำดีมาได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถทำจิตใจตนเองให้ผ่องใสจากความยึดมั่นถือมั่นได้ จึงเกิดเป็นทุกข์

การเป็นคนดีนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะได้รับแต่สิ่งที่ดี เราจะได้สิ่งดีก็ได้ จะได้รับสิ่งไม่ดีก็ได้ แต่เราจะต้องรับรู้ให้ได้ว่า สิ่งดีที่เราได้รับเกิดจากการที่เราทำดีมา และสิ่งไม่ดีที่เราได้รับ เกิดจากชั่วที่เราเคยทำมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ทำดี หรือจากภพก่อนชาติก่อน กรรมเก่าก่อนก็ตามมันไม่จำเป็นว่าทำดีแล้วต้องเกิดดีให้เห็นเสมอไป เพราะเรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่ควรคิดคาดคะเน เดา หรือคำนวณผล) เราทำดีอย่างหนึ่งเราอาจจะได้ดีอีกอย่างหนึ่งก็ได้ หรือดีนั้นอาจจะสมไปชาติหน้าภพหน้าก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กๆเราได้ของขวัญจากผู้ใหญ่ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำดีให้ผู้ใหญ่หรือใครๆขนาดนั้นเลย นั่นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราเคยทำมา ถ้าสงสัยก็อาจจะลองเปรียบเทียบกับเด็กที่เขาจนๆเกิดมาไม่มีจะกินก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ ที่จะได้จะมีในสิ่งของหรือความรัก เพราะถ้าหากเขาไม่เคยได้ทำกรรมดีเหล่านั้นมา เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับกรรมดีนั้นเหมือนอย่างคนอื่นที่เขาทำมา

ซึ่งเหล่าคนติดดีมักจะหลงเข้าใจว่าทำดีแล้วต้องได้ดี เมื่อคนติดดีได้รับสิ่งร้ายก็มักจะไม่เข้าใจ สับสน สงสัยในความดีที่ตนทำมา เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่ดีพอให้คลายสงสัยในเรื่องของกรรม ก็มักจะเสื่อมศรัทธาในความดี กลับไปชั่วช้าต่ำทราม เพราะความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนในเรื่องกฎแห่งกรรม ซ้ำยังทำดีด้วยความหวังผล เมื่อไม่ได้ดีดังหวัง ก็มักจะผิดหวัง ท้อใจ และเลิกทำดีนั้นไปนั่นเอง

ยังมีคนติดดีอีกมากที่หลงในความดีของตัวเอง ซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องปกติ เมื่อเราสามารถลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นภัย มาหาสิ่งที่ดีได้แล้ว เมื่อมองกลับไปยังสิ่งชั่วที่ตนเคยทำมาก็มักจะนึกรังเกียจ เพราะการจะออกจากความชั่ว ต้องใช้ความยึดดี ติดดีในการสลัดชั่วออกมา เมื่อสลัดชั่วออกจากใจได้แล้วก็ยังเหลืออาการติดดีอยู่ ซึ่งทำให้เกิดอาการถือดี หลงว่าตนดี ยกตนข่มท่าน เอาความดีของตนนั้นไปข่มคนที่ยังทำชั่วอยู่ เพราะลึกๆในใจนั้นยังมีความเกลียดชั่วอยู่และไม่อยากให้คนอื่นทำชั่วนั้นต่อไป

การจะล้างความติดดีนั้น จำเป็นต้องใช้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้มาก ให้เห็นว่าคนที่ยังชั่วอยู่นั้น เราก็เคยชั่วมาก่อนเหมือนกันกับเขา กว่าเราจะออกจากชั่วได้ก็ใช้เวลาอยู่นาน และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะใช้วิธีเดียวกับเราออกจากชั่วนั้นได้ เพราะคนเรามีการผูกการยึดกิเลสมาในลีลาที่ต่างกัน เหมือนกับว่าแต่ละคนก็มีเงื่อนกิเลสในแบบของตัวเองที่ต้องแก้เอง ดังนั้นการที่เราจะออกจากความติดดีก็ไม่ควรจะไปยุ่งเรื่องกิเลสของคนอื่นให้มาก แต่ให้อยู่กับกิเลสของตัวเองว่าทำไมฉันจึงไปยุ่งวุ่นวาย ไปจุ้นจ้านกับเขา ทำไมต้องกดดันบีบคั้นเขา ถึงเขาเหล่านั้นจะทำชั่วไปตลอดชาติก็เป็นกรรมของเขา เราได้บอกวิธีออกจากชั่วของเราไป แล้วเราก็ไม่หวังผล บอกแล้วก็วาง ทำดีแล้วก็วาง ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวเขา จะเกิดดีเราก็ยินดี จะไม่เกิดดีเราก็ไม่ทุกข์

และคนที่ดีที่หลงมัวเมาในความดี หรือติดสรรเสริญ โลกธรรม อันนี้เรียกว่าชั่ว เป็นดีที่สอดไส้ไว้ด้วยความชั่ว มีรากจริงๆมาจากความชั่ว ความดีที่เกิดถูกสร้างมาจากความชั่วในจิตใจ จะเห็นได้จากคนทำบุญทำทานเพื่อหวังชื่อเสียง ทำดีหวังให้คนนับหน้าถือตา ทำดีหวังให้คนเคารพ แบบนี้ไม่ดี ยังมีความชั่วอยู่มาก ไม่อยู่ในหมวดของคนที่ติดดี

การเป็นคนดีนั้นไม่จำเป็นว่าคนอื่นเขาจะมองเราว่าเป็นคนดีเสมอไป ขนาดว่าพระพุทธเจ้าดีที่สุดในจักรวาล ก็ยังมีคนที่ไม่ศรัทธาในตัวท่านอยู่เหมือนกัน แล้วเราเป็นใครกัน เราดีได้เพียงเล็กน้อยจะไปหวังว่าจะมีคนมาเชิดชูศรัทธาเรา เราหวังมากไปรึเปล่า… โลกธรรม สรรเสริญ นินทา มันก็ยังจะต้องมีตราบโลกแตกนั่นแหละ ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วก็ต้องมีคนสรรเสริญ นินทา ดังนั้นเราอย่าไปทำดีเพื่อมุ่งหวังให้ใครเห็นว่าเราดี จงทำดีเพื่อให้เราดี ให้เกิดสิ่งที่ดีในตัวเรา เท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์