Tag: ล้างกิเลส

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 8,656 views 0

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

ต้องทำดีเท่าไรถึงจะพอ ความทุกข์ร้อนใจเมื่อทำดีแล้วไม่ได้ผลดีตามที่หวัง

หลายคนอาจจะเคยรู้สึกว่าโลกไม่ยุติธรรม กฎแห่งกรรมไม่มีจริง ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดีสักที เพียรทำดีเท่าไหร่ก็ไม่เกิดผลดีดังใจหวัง ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น?

ถ้าคุณเคยมีความรู้สึกเหล่านี้….

  • ทำดีกับใครสักคนหนึ่ง แล้วเขาไม่ดีตอบ ไม่เห็นคุณค่า
  • ช่วยให้คำปรึกษาให้เขาคลายทุกข์ แต่เขากลับไม่เอาดีตามเรา
  • แนะนำสิ่งที่ดีให้กลับเขา แต่เขากลับเมินเฉย หันไปเอาทางผิดอีกด้วย
  • ทำดีเป็นตัวอย่าง แต่ก็ไม่มีใครสนใจใยดี
  • เป็นคนดีในสังคม แต่กลับโดนหาว่าไม่มีคุณค่า โดนหาว่าบ้า
  • . . . หรือการทำสิ่งดีใดๆก็ตาม ที่อยากให้เกิดผลดี แต่รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่เกิดผลดีเสียที

ในบทความนี้เราจะมาขยายเรื่องกรรมในมุมของการทำดีแล้วไม่ได้ดี ซึ่งจะมีเนื้อหาที่แบ่งเป็นหัวข้อด้วยกัน 6 ข้อ

1). ทุกข์เพราะไม่เข้าใจเหตุ

ทุกข์จากการทำดีแล้วไม่เกิดผลดีสมดังใจหมาย คือขุมนรกที่คอยเผาใจคนดี ให้หมดกำลังใจในการทำดี ให้ลังเลในความยุติธรรมของกรรม ให้หลงผิดในเส้นทางธรรม นั่นเพราะมีความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมที่ไม่ชัดเจน จึงไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่สมเหตุสมผลได้ ทั้งที่จริงทุกสิ่งที่เกิดนั้นสมเหตุสมผลที่สุดแล้ว แต่ที่เราไม่เข้าใจเพราะเราไม่รู้ว่า “เหตุ” ทั้งหมดนั้นมันมีอะไรบ้าง และมักเดาว่าสิ่งต่างๆไม่มีเหตุ พอไปเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผลก็เลยเป็นทุกข์เพราะไม่สามารถทำความเข้าใจและยอมรับสิ่งนั้นได้

2). กิเลสในคนดี

ความไม่เข้าใจในเรื่องกรรมบวกกับพลังของกิเลสจึงทำให้เกิดทุกข์มากขึ้น เรามักจะมีอาการอยากให้เกิดดีมากกว่าเหตุปัจจัยที่มี เป็นความโลภที่ผลักดันให้อยากได้ดีเกินจริง พอเห็นคนอื่นไม่เอาดีตามก็มักจะเกิดอาการไม่พอใจ โกรธ ผูกโกรธ พยาบาท ฯลฯ เพราะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งดีนั้น ซ้ำร้ายอาจจะมีอาการแข่งดีเอาชนะ ถือตัวถือตน ยกตนข่มคนอื่น ดูถูกดูหมิ่นเขาอีกที่เขาไม่เอาดี และเมื่อเห็นคนที่ไม่ได้ทำดีแต่กลับได้ดีก็อาจจะไปอิจฉาเขาอีกด้วย อาการเหล่านี้คือลีลาของกิเลส ที่ซ่อนตัวอยู่ในความดีที่ยังทำให้เป็นทุกข์อยู่นั่นเอง

3). กรรมเขากรรมเรา

ถ้าเราตระหนักว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของตน เรามีกรรมเป็นของตัวเอง กรรมดีที่เราทำก็เป็นของเรา กรรมที่เขาไม่เอาดีก็เป็นของเขา กรรมเรากับเขาไม่ได้ปนกัน กรรมเป็นของใครของมัน เราจะไม่ทุกข์ใจเลยหากว่าเราทำดีแล้วไม่เกิดผลดี เพราะความจริงนั้นมันมีความดีเกิดขึ้นมาตั้งแต่เราทำดีแล้ว ส่วนเขาจะเอาดีหรือไม่ก็เป็นกรรมของเขาไม่เกี่ยวกับเราเลย

แต่เรามักหลงเอากรรมของเราไปปนกับกรรมของเขา เอามาผูกกัน เอามาเกี่ยวโยงกันให้เป็นเรื่องเป็นราว แท้จริงแล้วเมื่อเราไม่ทำชั่วทำแต่ความดี ก็จะมีผลของการทำดีเกิดขึ้นกับเรา ผลใดที่เกิดหลังจากนั้นเป็นผลของกรรมจากหลายเหตุปัจจัยที่มาสังเคราะห์กัน เราก็รับแต่ผลของกรรมในส่วนของเรา ถ้าเผลอทำดีปนชั่ว เราก็แค่รับกรรมดีกรรมชั่วนั้นมาเป็นของเรา ไม่ต้องไปแบกกรรมของคนอื่นไว้ด้วย ทำดีแล้ววางดีเลย ปล่อยวางผลไปเลย จะเกิดอะไรขึ้นมันเรื่องของคนอื่น เมื่อเราได้ทำดีที่ได้ทบทวนแล้วว่าดีจริงไปแล้ว ก็จบเท่านั้น ไม่ต้องสนใจว่าผลจะเกิดดีตามที่ทำหรือไม่ ไม่ต้องทำดีเพื่อหวังผลให้เกิดดี

4). ทำดีไม่ได้ดีเพราะมีชั่วมากั้นไว้

การที่เราทำดีแล้วไม่เกิดผลดีให้เห็นนั้น เพราะมีกรรมชั่วของเรามากั้นไว้ ไม่ให้เราได้เห็นผลดีตามที่เราทำ กรรมชั่วเก่าของเราทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับกรรมของใครเลย กรรมอาจจะจัดสรรคนที่เหมาะสมต่อการชดใช้กรรมชั่วของเรา ให้เขาได้แสดงตามบทละคร ให้เราได้ชดใช้กรรมชั่วของเราโดยมีเขามาเล่นในบทบาทคนชั่วที่คล้ายเราในอดีต ให้เราได้รับกรรมของเราและเขาก็จะได้เรียนรู้ดีรู้ชั่วตามกรรมของเขาต่อไป

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครจะไม่เอาดีตามเรา แม้ในชาตินี้เราก็เคยไม่เอาดีตามที่คนอื่นแนะนำมามากมาย พ่อแม่บอกให้ขยันเรียน เพื่อนบอกให้แก้นิสัยเสีย ฯลฯ การไม่เอาดีในอดีตของเรานั้นสร้างกรรมไว้มากมาย นี่แค่ชาตินี้ชาติเดียวนะ เวลากรรมส่งผลก็อาจจะเอาส่วนของชาติก่อนๆมาด้วยเหมือนกัน ดังนั้นการที่เราคิดหวังว่าจะทำดีแล้วให้เกิดดีโดยคิดเข้าข้างตัวเองว่า ชาตินี้ฉันก็ไม่เคยดื้อ ชาตินี้ฉันก็เป็นคนว่าง่าย แต่ทำไมไม่มีใครยินดีฟังในสิ่งดีที่ฉันพูดเลย ฯลฯ นั่นเพราะไม่รู้เหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่เกิดสิ่งดี และเหมาเอาเองว่าถ้าตนเองทำดีจริงแล้วจะต้องเกิดดีทุกครั้ง พอกรรมเขาเล่นกลไม่ให้เป็นอย่างนั้น คนดีที่ไม่เข้าใจเรื่องกรรมก็อกหักอกพังกันไป

5). ทำดีแล้วได้ดีอย่างใจทุกครั้งไม่มีประโยชน์

การที่เราทำดี แนะนำสิ่งดี ช่วยเหลือ สงเคราะห์ ฯลฯ แล้วเกิดดีขึ้นทุกครั้งเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ใดๆต่อการพ้นทุกข์ เพราะหากผลดีเกิดทุกครั้งก็จะไม่มีอะไรขัดใจ พอไม่มีอะไรขัดใจก็ไม่มีทางที่จะได้เห็นกิเลส ไม่เห็นความโลภของตัวเองที่อยากได้ดีเกินจริง ไม่เห็นความโกรธ ไม่เห็นความอิจฉาในการทำดีของผู้อื่นฯลฯ

การทำดีแล้วได้ผลดีนั้นเป็นเรื่องของโลก แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะพาให้พ้นจากวิสัยของโลก การไปสู่โลกุตระไม่ได้ไปด้วยการทำดี แต่จะไปได้ก็ต่อเมื่อทำลายกิเลสซึ่งเป็นเครื่องผูกมัดให้ติดอยู่กับโลก ดังนั้นการทำดีแล้วไม่ได้อย่างใจหวังนี่แหละเป็นเครื่องมือในการขัดเกลากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง

การทำดีแล้วได้ผลดีอาจจะได้ประโยชน์ในด้านความสุข ความสบาย แต่ไม่ใช่ประโยชน์ในด้านการพ้นทุกข์ เพราะความสุขความสบายที่ได้รับมานั้นก็เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วรอวันดับไป ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร และส่วนมากก็เป็นเพียงสุขลวงที่กิเลสสร้างขึ้นมาหลอกซ้อนไว้อีกที

6). ทำดีไม่เท่ากับล้างกิเลส

การทำดีนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ชาวโลกยอมรับ แต่การมุ่งทำแต่ความดีเพื่อให้พ้นทุกข์นั้นไม่ใช่หลักของพุทธศาสนา แม้ว่าแนวคิดและข้อปฏิบัติของลัทธิอื่นทั่วโลกจะมุ่งสอนให้คนหยุดชั่วทำดี แต่ในหลักการของพุทธยังมีมิติที่ล้ำลึกกว่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่หลุดโลก(โลกียะ) อยู่เหนือโลก ไม่อยู่ในวิสัยของโลก พ้นจากโลกไปแล้ว นั่นคือสภาพของโลกุตระที่เกิดจากการชำระล้างกิเลสในสันดานให้หมดไปโดยลำดับ

การล้างกิเลสไม่ได้ทำให้เกิดผลดีโดยตรง ที่เห็นได้ง่ายเหมือนกับการทำดีที่สังคมเข้าใจโดยทั่วไป เพราะเป็นการเข้าไปทำลายกิเลสซึ่งเป็นเชื้อชั่ว ทำลายเชื้อที่ทำให้เกิดทุกข์เป็นหลัก เมื่อทำลายกิเลสเรื่องใดได้ ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องไปทำความชั่ว ไปสร้างทุกข์ในเรื่องนั้นๆ แม้จะไม่เกิดดีให้เห็น แต่ก็ไม่มีทุกข์ นั่นหมายถึงจะไม่ตกต่ำไปสู่ความทุกข์ ส่วนจะทำความดีตามสมมุติโลกหรือตามที่สังคมเข้าใจนั้นหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มุ่งกำจัดทุกข์เป็นหลัก เรียนเรื่องทุกข์และสืบหาต้นเหตุของปัญหาเหล่านั้นจนกระทั่งทำลายมันทิ้งจนหมด เราอาจจะเคยเห็นคนดี ทำดี ปฏิบัติตัวดี แต่หนีไม่พ้นทุกข์ ซึ่งข้อปฏิบัติของพุทธจะมาอุดรอยรั่วตรงนี้ จะทำให้คนดีที่ทำดี ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะความยึดดีและความไม่เข้าใจในเรื่องของกรรม

การล้างกิเลสจะทำให้คนเป็นคนดีแท้ แม้อาจจะไม่ดีอย่างออกหน้าออกตาหรือดีอย่างที่โลกเข้าใจ แต่จะดีเพราะไม่มีชั่วปนอยู่ ไม่มีความหลงผิดปนอยู่ เป็นความดีแบบที่พ้นไปจากโลก ไม่หลงวนอยู่ในโลก แม้จะยังต้องอยู่ในสังคมแต่ก็จะสามารถอนุโลมให้เกิดดีไปด้วยกันได้ แต่ก็จะไม่ยึดดีในแนวทางของโลก เพราะรู้ดีว่าโลกุตระนั้นสุขยิ่งกว่า ดีเยี่ยมยิ่งกว่า และสมบูรณ์ที่สุดจนหาอะไรเปรียบไม่ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

3.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทำไมไม่ลงเอย

March 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,221 views 0

ทำไมไม่ลงเอย

ถาม : มีความรักแล้วจบลงด้วยการเลิกราทุกครั้ง คนที่รักไปแต่งงานกับคนอื่น มีวิบากกรรมอะไร ทำไมถึงไม่ได้ลงเอย

ตอบ : เพราะไม่ได้มีกรรมร่วมกัน ก็เลยไม่ได้ลงเอย คนที่ไม่ได้ร่วมเวรร่วมกรรมกันมาจนมีพลังงานที่พอเหมาะ คือไม่มีนามธรรมที่สมเหตุสมผล จึงไม่เกิดรูปธรรม คือไม่เกิดเหตุการณ์นั้นๆขึ้น

ถ้าตอบตามแบบทั่วไปก็จะตอบได้ว่าสะสมบุญบารมีร่วมกันมาไม่มากพอ แต่จริงๆแล้วการคู่กันจนกระทั่งได้แต่งงานนั้นคือ “บาปและอกุศล” ดังนั้นถ้ามองตามความจริง คนที่ได้คบหาดูใจกัน จนกระทั่งแต่งงานมีลูกด้วยกันนี่แหละคือคนที่มีเวรมีกรรมต่อกันจะต้องมาใช้หนี้กันและกัน แต่ในระหว่างใช้หนี้เก่าก็สร้างหนี้ใหม่เพิ่ม ดังนั้นจึงต้องมีครอบครัวผูกมัดไว้เพื่อใช้หนี้กรรมอย่างไม่จบไม่สิ้น

จะขอตอบขยายเพิ่มเติมเพื่อไขข้อข้องใจอื่นๆดังนี้

1). กรรม

ผลของกรรมเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน ส่วนเราไปทำกรรมอะไรไว้ ในชาตินี้ก็คงพอจะนึกย้อนได้ แต่ของเก่าก็อย่าไปเดาให้เสียเวลา ให้รู้ชัดๆแค่ว่าสิ่งนี้แหละ ฉันทำมาเอง ฉันเป็นคนทำแบบนี้มา ก็แค่รับสิ่งที่ตัวเองทำมาก็เท่านั้นเอง

กรรมที่เห็นนั้นมีความซ้อนของกรรมดีและกรรมชั่วปนกันอยู่ หลายคนอาจจะมองว่าการไม่ได้แต่งงานเกิดจากกรรมชั่ว ซึ่งนั่นก็ไม่แน่เสมอไป แต่ที่แน่นอนคือกรรมชั่วทำให้เกิดความทุกข์ ส่วนการไม่ได้แต่งงานนั่นแหละคือกรรมดี เพราะทำให้เราแคล้วคลาดจากการผูกมัดด้วยบ่วงกรรมถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตามที

ในความไม่ดีมันก็มีสิ่งดีซ่อนอยู่ ดังนั้นหากจะเหมาว่าเป็นกรรมชั่วทั้งหมดก็คงจะไม่ใช่

2). ทุกข์จากการเสียของรัก

เมื่อสูญเสียสภาพของคู่รัก หรือคนที่หมั้นหมายว่าจะแต่งงานไป ก็คือการเสียของรัก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของโลกที่เราทุกคนจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักและหวงแหน

ถึงจะได้คบหาหรือแต่งงานไป สุดท้ายก็อาจจะต้องเสียไปในวันใดวันหนึ่งอยู่ดี ไม่ตายจากไป ความรักนั้นก็อาจจะตายจากไปแทนก็ได้ ซึ่งการยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆก็ตาม แม้ว่าจะรักและดูแลดีแค่ไหน แต่สุดท้ายเราก็จะต้องเสียมันไป

ความทุกข์ที่เกิดขึ้น นั้นเกิดจากสภาพที่ไม่ได้เสพของรักอย่างเคย ซึ่งเกิดจากการเสพติดหรือการยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นมาเป็นของตนแล้วหมายว่าจะได้เสพสิ่งนั้นตลอดไป พอโดนกรรมของตัวเองแย่งของรักไปก็ทุกข์ใจ โวยวาย ร้องห่มร้องไห้กันไปไม่ต่างอะไรจากเด็กโดนแย่งของเล่น

3). คุณค่าในตน

ความทุกข์จากการสูญเสียแท้จริงแล้วมาจากความพร่อง เราจึงใช้สิ่งอื่น หรือคนอื่นเข้ามาเติมเต็มความพร่องในชีวิตจิตใจของเราเอง อย่างเช่นว่าเราเหงา เราก็เลยอยากหาใครสักคนมาอยู่เป็นเพื่อน หรือว่าเราอยากสบายเราก็เลยอยากหาใครสักคนที่จะฝากชีวิตไว้ฯลฯ

ซึ่งความพร่องเหล่านี้เองทำให้เราพยายามหาสิ่งอื่นมาเติมเต็มตัวเอง แต่ความจริงแล้วไม่มีวันที่จะหาใครที่พอเหมาะพอดีกับอัตตาของตัวเองได้ เว้นแต่ตนเองเท่านั้น ไม่มีใครสามารถทำให้เรามีความสุขได้ตลอดไป แม้จะหาคนที่หมายมั่นได้ดั่งใจ แต่สุดท้ายวันหนึ่งเสียไปก็ต้องเสียใจอยู่ดี

ดังนั้นการแก้ปัญญาจึงควรเพิ่มคุณค่าในตนเอง สรุปง่ายๆเลยว่าใช้การเพิ่มอัตตาเข้ามาบดบังพื้นที่ ที่เคยว่างเว้นให้คนอื่นเข้ามาเติมเต็มชีวิต คือทำให้ชีวิตตนเองนั้นเต็มไปด้วยคุณค่าและความเป็นตัวของตัวเองเสียก่อน ดังคำว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” อย่าไปหาคนอื่นมาเป็นที่พึ่งของเรา อย่าเอาเขามาสนองกิเลสของเรา ใช้อัตตาของเรานี่แหละทำเราให้เป็นคนที่เต็มคน

และต่อมาเมื่ออัตตาเต็มก็จะกลายเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง แข็งแกร่ง อดทน แล้วตอนนั้นก็ค่อยจัดการกับอัตตาในตัวเองต่อ จนกระทั่งกำจัดอัตตาหมดก็ถือว่าจบภารกิจในเรื่องคู่

4). อย่าหลงตามสังคม

ที่มาของคุณค่าลวงๆก็มาจากคำลวงในสังคมนี่แหละ ที่หลอกกันต่อๆมาว่าคนมีครอบครัวถึงจะมั่นคง คนมีคู่ถึงจะมีคุณค่า เรามักจะได้ยินคำว่า “ไม่มีใครเอา” หรือเข้าใจโดยสามัญว่าคนที่มีอายุสัก 30 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ได้แต่งงานคือคนที่กำลังจะขึ้นคานเพราะไม่มีใครเอา

ความเห็นความเข้าใจแบบโลกๆนี้เป็นความเข้าใจที่มาจากกิเลส มาจากความไม่รู้ มาจากความหลงผิด มาจากความโง่ ในความจริงแล้วเราควรจะสรรเสริญความโสด แต่คนผู้หนาไปด้วยกิเลสจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะความโสดจะทำให้ไม่ได้เสพ ไม่ได้สมสู่ ซึ่งเขาเหล่านั้นก็จะบอกว่าการแต่งงานมีคู่นี่แหละดี เพราะตนเองจะได้เสพอย่างไม่ต้องรู้สึกผิดเพราะใครๆก็ทำกัน

สังคมอุดมกิเลสแบบนี้ก็จะมีความคิดไปในทางสะสมกิเลส สนองกิเลส สร้างวิบากบาป พาลงนรก ถ้าเรายังตามสังคมไปโดยไม่มีปัญญาก็จะเสื่อมไปตามเขาเป็นแน่ แต่ถ้ายึดพระรัตนตรัยเป็นหลักไม่ปล่อยให้ชีวิตตกร่วงไปตามสังคมก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ

5). ความเบื่อแบบโลกๆ

ความรู้สึกเบื่อกับปัญหา หรือเบื่อความรักจนไม่ยอมหาความรัก อย่าคิดว่านั่นคือกิเลสตาย เพราะความเบื่อนั้นก็แค่ความเบื่อแบบโลกๆ ที่มีเหตุผลอื่นเป็นตัวกดข่มความอยากหรือยังไม่ถึงเวลาที่ควรของกิเลสนั้นๆ

ตัณหา(ความอยาก)เมื่อไม่ได้แสดงอาการจะสั่งสมลงไปเป็นอุปาทาน(ความยึดมั่นถือมั่น) เก็บเป็นพลังบาปไว้อย่างนั้น เมื่อเจอคนที่ถูกใจจากคนที่เคยเบื่อๆก็อาจจะอยากมีความรักก็เป็นได้

ซึ่งในสภาพของการทำลายกิเลสนั้น จะต้องทำลายตอนที่มีความอยาก ไม่ใช่ปล่อยให้ความอยากสงบจนเป็นอุปาทานแล้วบอกว่าเบื่อหรือบอกว่ากิเลสตาย สภาพนี้เองที่ทำให้คนที่เจ็บจากความรัก คนป่วย คนแก่ ฯลฯ ดูเหมือนว่าจะไม่สนใจความรักทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นเป็นความเบื่อแบบโลกๆเท่านั้นเอง

คนที่แต่งงานแล้วเบื่อครอบครัวก็เช่นกัน เพราะมันได้เสพจนเบื่อแล้วมันก็เลยเกิดอาการเบื่อแบบโลกๆ บางครั้งอาจจะทำให้เราหลงไปว่าเราไม่ได้ยึดติดกับความรักแล้ว เลยทำให้ไม่ศึกษาเรื่องกิเลสให้ถ่องแท้ เกิดมาชาติหน้าก็มีคู่อีกแล้วก็เบื่ออีกเป็นแบบนี้วนไปมาเรื่อยๆ

6). ขอบคุณความโสด

ความโสดดำรงสภาพได้จนทุกวันนี้ ต้องขอบคุณทุกคนที่ผ่านมานะ คนที่เข้ามาคบหา คนที่เข้ามาบอกว่าจะแต่งงานกัน แม้ว่าสุดท้ายเลิกราหรือหนีไปแต่งงานกับคนอื่นก็ตาม

นั่นคือโอกาสที่เราจะไม่ต้องไปรับเวรรับกรรม ไม่ต้องไปทำบาป ไปสะสมบาป คอยสนองกิเลส ไม่ต้องเอาใครมาผูกเวรผูกกรรมกันอีกไม่ต้องมีสิ่งไม่ดีร่วมกันอีกเลย

แต่ที่เราไม่ขอบคุณความโสดเพราะเรามีกิเลสมาก กิเลสจะบังคุณค่าของความโสดจนมิด เรียกว่าโสดไร้ค่าไปเลยทีเดียว ถ้าได้ลองล้างกิเลสของความอยากมีคู่จนหมดจะรู้ได้เองว่า ความโสดนี่แหละคือคุณค่าแท้ๆที่เหลืออยู่ ส่วนความรู้สึกสุขของคนมีคู่นี่มันของเก๊ มันคือสุขลวงๆ ที่เอามาหลอกคนโง่ให้ทุกข์ชั่วกัปชั่วกัลป์

– – – – – – – – – – – – – – –

30.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เมื่อรักขม

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,759 views 0

เมื่อรักขม

เมื่อรักขม

…เมื่อความรักที่เคยหอมหวาน กลับกลายเป็นความทุกข์ระทมขมขื่น

จะมีสิ่งใดในโลกบ้าง ที่เที่ยงแท้ ไม่ผันแปร คงที่คงทนได้อยู่ตลอดกาล แม้แต่ความรักที่อ้างนักอ้างหนาว่ายิ่งใหญ่ มั่นคง บริสุทธิ์ก็ยังต้องเปลี่ยนแปลงไปในวันใดก็วันหนึ่ง แล้วเราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้อย่างไร ลองมาศึกษาข้อคิดเห็น 9 ข้อดังต่อไปนี้กันเลย

1). แรกรักก็ว่าหวาน

คนเราเมื่อได้เสพสมใจตามกิเลสก็จะมีความสุข เมื่อคนที่เรารักสามารถปรนเปรอกิเลสของเราได้ จนอิ่มหนำสำราญ โลกของเราก็จะสวยงามเหมือนว่าเป็นสีชมพู อะไรๆก็สวยงามดูดีไปหมด เพราะเรากำลังอยู่ในสภาพแห่งความหลงสุข

จะมีใครบ้างที่ไม่ชอบให้คนมาตามใจ ดูแล เอาใจ ปรนนิบัติ รับใช้ ฯลฯ แต่จะมีใครบ้างที่จะเห็นเบื้องหลังของสิ่งที่เราได้มา ความสุขที่เราได้รับนี่มันไม่ใช่ของฟรีนะ ไม่ใช่ว่าบังเอิญได้มาฟรี แต่มันมีค่าใช้จ่ายของมันอยู่เหมือนกัน ซึ่งการได้มาหรือเสียไป ไม่ได้มาจากแค่เพียงสิ่งที่อยู่ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมอย่างเงินทอง แต่อยู่ในลักษณะของนามธรรมคือกุศลและอกุศลด้วย

สิ่งที่ผลักดันให้เรารู้สึกสุขส่วนหนึ่งก็มาจากกุศลหรือความดีที่เราเคยทำไว้ตั้งแต่ชาติก่อนจนมาถึงชาตินี้เช่นเราดูแลคู่ครองดี เขาก็ดูแลเรากลับดี แต่ความสุขที่เกิดไม่ได้มาจากกุศลเพียงอย่างเดียว มันยังมาจากแรงแห่งบาปด้วย

บาปคืออะไร? บาปก็คือการสนองกิเลส การสะสมกิเลส เช่นเรารู้สึกว่ารักนั้นหวาน มีความสุขเพราะมีรัก เหตุนั้นเพราะคู่รักของเรา เอาใจ ตามใจเรา เราอยากได้อะไรเขาก็ให้ เราอยากกินอะไรก็ได้กิน นี่มันคือสุขจากการเสพกิเลส มันหลอกเราให้เรารู้สึกหวานแบบนี้

2). รสหวานที่ไร้ความหมาย

แต่เราได้เสพสุขไปนานๆแล้ว ความหวานมักจะลดลง เกิดจากเหตุสองส่วนนั่นคือ 1).เราชินชากับความหวาน 2). ความหวานนั้นลดลงจริงๆ

เมื่อเราได้เสพสุขจากสิ่งใดบ่อยๆแล้ว เราก็มักจะเกิดอาการชินชา ด้านชา เบื่อที่จะได้รับการเสพแบบเดิมๆ ถึงแม้คู่ครองจะบำรุงบำเรอกิเลสด้วยมาตรฐานเท่าเดิม แต่เราก็จะรู้สึกไม่อิ่มเหมือนเดิม ไม่สุขเหมือนเดิม ไม่หวานเหมือนเดิม เหมือนกับคนที่กินจนอ้วน ก็จะเพิ่มปริมาณอาหารต่อมื้อมากขึ้นเรื่อยๆ กิเลสก็เช่นกัน ถ้าเราเลี้ยงกิเลสให้อ้วน แล้วเราไม่สนองมันด้วยอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา ที่มากกว่าเดิมนั้น มันก็จะรู้สึกเบื่อ ชินชา เป็นทุกข์ อยากเสพมากขึ้น ความหวานเดิมๆจึงไร้ความหมาย

ในกรณีของความหวานที่ลดลงก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะแรกรักเราก็มักจะต้องทุ่มเทสนองกิเลสของอีกฝ่าย เพื่อที่จะใด้อีกฝ่ายมาสนองกิเลสให้กับตัวเรา ยอมพลีกายให้เรา ยอมบำเรอเราด้วยทรัพย์สินเงินทอง แต่พอเราได้เสพในสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการสมสู่ การแต่งงาน การมีลูก การมีฐานะที่มั่นคง แรงผลักดันที่ทำให้เราไปสนองคู่ของเราหรือที่เรียกว่าความหวานนั้นก็จะลดลงเป็นธรรมดา เหมือนกับนักวิ่งเมื่อเขาเหล่านั้นถึงเป้าหมายที่หวังไว้เขาก็จะหยุดวิ่งเป็นธรรมดา

เช่นเดียวกันกับในเรื่องของคู่ ถ้าเขาได้รับการสนองกิเลสในสิ่งที่เขาต้องการจนเขามั่นใจแล้วว่า เขาจะได้สิ่งนั้นแน่นอน เขาก็จะลดความหวานลง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายคนหนึ่งที่ต้องการมีแฟนเพื่อสนองความใคร่ เขาจึงใช้กำลังส่วนหนึ่งในการเฝ้ารอ ทุ่มเท เอาใจ ดูแล เอาใจใส่ สนองกิเลสของเธอผู้โชคร้ายคนนั้น จนกระทั่งวันหนึ่งได้กระตุ้นกิเลสของเธอจนพุ่งพล่านด้วยการพาไปดินเนอร์สุดหรู พร้อมคำหวานที่คัดสรรมาอย่างดี ตบท้ายด้วยแอลกอฮอล์ที่พาให้สติกระเจิดกระเจิง สุดท้ายเมื่อเธอเห็นว่าชายคนนี้ช่างเหมาะจะมาเป็นคนที่มาสนองกิเลสของเธอในอนาคตต่อไป เธอจึงยอมพลีกายให้เขา เมื่อเขาได้สมสู่จนมั่นใจว่าผู้หญิงคนนั้นไม่มีวันพรากไปจากเขา เขาจึงลดการบำเรอกิเลสเธอลง หันกลับมาใช้พลังงานเหล่านั้นสนองกิเลสของตัวเองแทน

3). น้ำพริกถ้วยเดิม

แม้ว่าทั้งคู่จะเป็นคนดีที่มีความเสมอต้นเสมอปลายต่อกัน แต่ในความจริงนั้นไม่มีสิ่งใดที่ตั้งอยู่ได้นาน ความรักก็เช่นกัน แม้จะไม่มีปัจจัยใดๆเข้ามาเป็นสิ่งกระทบ แต่ความหวานก็จะค่อยๆลดน้อยถอยลงตามกาลเวลา ตามความเคยชิน จากคนที่รักสุดรักในวันแต่งงาน ค่อยๆกลายเป็นเพื่อน กลายเป็นญาติ กลายเป็นคนรู้จัก จนกระทั่งอาจจะกลายเป็นคนที่ไม่อยากรู้จักกันเลย

นั่นเพราะความอยากเสพมันได้จางคลายลงไป ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของโลก ถึงแม้เราจะพยายามปรุงรสชาติให้ชีวิตรักมันสุดเผ็ดเด็ดสะท้านสักเท่าไร ความหวานเมื่อครั้งแต่งงานใหม่ๆก็ไม่มีวันที่จะกลับมา มันจะเปลี่ยนสภาพไป ค่อยๆจืดจาง และสลายหายไปในที่สุด

คู่รักที่คงสภาพคู่อยู่ได้ จึงมักจะมีความสัมพันธ์ในลักษณะของเพื่อนกันเสียมากกว่า เพราะถึงจะพยายามปรุงแต่งให้ดูเหมือนว่ารักกันเพียงใด แต่ในใจมันจะไม่สุขเหมือนก่อนแล้ว

4). เมื่อรักขม

หากเราสามารถยอมรับความเปลี่ยนแปลงของความรักที่เกิดขึ้นได้กันทั้งคู่ ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไรในชีวิตคู่ เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับในความสุขที่จืดจางลง ลดน้อยลง ไม่ว่าจะในด้านรูปธรรม เช่น รูปร่าง หน้าตา ฐานะ สมรรถภาพทางเพศ หรือด้านนามธรรม เช่นความรู้สึกที่มันไม่อยากเสพเหมือนตอนสมัยแต่งงานหรือจีบกันใหม่ๆ

ความขมนั้นเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังติดรสหวาน และยอมรับไม่ได้กับรสชาติชีวิตรักที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อไม่ได้เสพสมใจตามความเคยชิน หรือไม่ได้เสพตามที่ต้องการมากขึ้นก็จะทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ การที่ทุกข์นั้นเกิดเพราะเรายึดติดในความหวาน ยึดมั่นถือมั่นว่าชีวิตรักจะต้องหวานดังใจเราตลอดไป

5). ทนทุกข์ระทมขมขื่น

เมื่อเราไม่ได้เสพอย่างที่กิเลสต้องการ ความทุกข์ก็จะเริ่มเกิดขึ้น เมื่อไม่สามารถระบายออกหรือหามาเสพเพิ่มได้ก็จะเริ่มอึดอัด กดดัน ทรมาน ยิ่งต้องอดทนเป็นแบกความทุกข์นั้นเป็นเวลานานก็ยิ่งทุกข์ระทมขมขื่น ความทุกข์เหล่านี้เป็นความทุกข์แบบโลกๆ เป็นแบบชาวบ้าน ไม่ใช่ทุกข์ที่ทำให้เห็นธรรมได้ชัดเจนเท่าไรนัก เพราะเป็นทุกข์จากความอยากเสพแล้วไม่สามารถหามาเสพได้

หากใครฝืนอดทนทุกข์แบบนี้เพราะหวังพบกับความสุขนั้นก็ต้องบอกเลยว่ายาก เพราะการทนทุกข์เพื่อบรรลุธรรมจะเป็นอีกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ใจเราอยากสมสู่คู่ครอง แต่เราได้ศึกษามาแล้วว่าการเว้นจากการสมสู่ เป็นศีลที่เป็นบุญเป็นกุศลมาก แม้คู่ครองจะพร้อมสนองกิเลสของเรา แต่เราก็จะไม่ตามใจกิเลสของเรา ยอมทนทุกข์เพื่อเป็นบุญกุศล แบบนี้ต่างหากคือการเห็นทุกข์จึงเห็นธรรมที่แท้จริง คือการมีให้เสพแต่ไม่ไปเสพด้วยกำแพงศีลธรรม

แต่การทนทุกข์โดยที่ไม่เห็นกิเลส ไม่เข้าใจกิเลส ไม่เข้าใจว่าตัวเองทุกข์เพราะมีความอยาก เพราะตัวเองไม่ยอมรับความจริงว่าในปัจจุบันรักนั้นไม่ได้หวานเหมือนก่อนแล้วเราจึงทุกข์ พอไม่เห็นกิเลสแล้วเราก็มักจะไปโทษคู่ครองหรือคนอื่นว่าสนองกิเลสเราไม่ได้เหมือนเดิม ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนแต่งงาน ไม่มั่นคง ไม่เสมอต้นเสมอปลาย หลอกลวง ฯลฯ

ความทุกข์แบบนี้คือการสะสมกิเลสเข้าไปอีก เพิ่มโลภ โกรธ หลงเข้าไปอีก ห่างไกลธรรมยิ่งขึ้นอีก จึงทำให้จิตใจวนเวียนอยู่กับความทุกข์ระทมขมขื่น หาทางออกก็ไม่ได้ มองไปทางไหนก็มีแต่ทุกข์ เพราะเหตุแห่งทุกข์ไม่ดับ ทุกข์จึงเกิดอยู่นั่นเอง

6). หนีอะไรก็หนีได้ แต่หนีกรรมไม่พ้น

เมื่อต้องฝืนทนกล้ำกลืนกับชีวิตรักที่ขาดความหวาน โดยที่ไม่เข้าใจว่าทุกข์เหล่านั้นเกิดจากปริมาณความอยากของตัวเองที่เกินความเป็นจริง ก็จะแสวงหาทางที่ผิด นั่นคือการหนีออกจากคู่ครอง

การหนีหรือตีจากนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งวิธีเลิกกันตรงๆหรือวิธีกดดันให้อีกฝ่ายเลิก ต่างก็เป็นวิธีที่เห็นได้ทั่วไป แต่ไม่ว่าวิธีเหล่านั้นจะเป็นวิธีที่ทำให้การเลิกราเป็นไปด้วยดีหรือสวยหรูแค่ไหน ก็เป็นหนทางที่ไม่เป็นผลดีทั้งนั้น

เราเองเป็นคนต้อนรับเขาเข้ามาในชีวิตเอง วันนั้นเราก็ตัดสินใจเอง ไม่ว่าจะแฟนหรือสามีภรรยา เราดูแล เอาใจ บำรุงบำเรอกิเลสเขาเอง แต่พอมาวันนี้เขาเริ่มจะไม่หวานสมใจเรา เราขัดใจเรา ทำร้ายจิตใจเรา เราก็จะไล่เขาออกจากชีวิต มันแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ได้นะ เพราะวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้จะกลับกลายเป็นผลร้ายเพิ่มกรรมชั่วในชีวิตเข้าไปอีก

ผลกรรม อันคือความทุกข์ใจจากความไม่หวานสมดังใจนี่แหละคือสิ่งที่เราต้องรับ เพราะเราหลงไปรับเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเอง หลงไปรับเป็นแฟน หลงไปแต่งงานเอง ก็ต้องรับกรรมในส่วนนี้ทั้งหมด จะหนีไม่ได้ กล้าทำก็ต้องกล้ารับ ความสุขความทุกข์หากยังยินดีกับทางโลกอยู่ก็ต้องรับมันอย่างนี้เรื่อยไป

ทีนี้พอเราจะไปทิ้งเขา มันก็สร้างกรรมใหม่ให้เราอีกคือ “เราทิ้งเขา” ซึ่งอาจจะส่งผลให้ในวันใดวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่งในอนาคตข้างหน้า เราอาจจะต้องถูกทิ้งทั้งที่ยังรักยังหวงแหนอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งในมุมนี้หลายคนก็คงเคยเจอว่าทำไม ฉันเองก็ดีแสนดี แต่เขายังมาทิ้งฉันได้ลงคอ กรรมมันจะเป็นในลักษณะนี้ มันจะมากระแทกให้เห็นถึงสิ่งที่เราเคยไปทำเลวร้ายมา ซึ่งจะเหมือนกับที่ทำก็ได้ จะต่างไปจากที่ทำก็ได้แล้วแต่เหตุปัจจัยที่เหมาะที่ควร

ดังนั้นเราก็ควรจะก้มหน้ารับกรรมที่เราก่อไว้ต่อไป อย่าไปเพิ่มกรรมชั่วขึ้นมาใหม่ เพราะของเก่าที่ทำไว้ก็ทำให้ทุกข์ระทมขมขื่นสุดจะทนอยู่แล้ว แต่นั่นแหละคือผลกรรมแห่งความอยากมีคู่ครอง เป็นกรรมที่ทำในชาตินี้และได้ผลในชาตินี้ เร็วทันใจไม่ต้องรอชาติหน้า

7). ขยาดยาขม

ถึงแม้ว่าหลายคนอาจจะตัดสินใจเลิกรา หรือมีโอกาสให้เลิกราด้วยเหตุอันควร เช่นคู่ครองไปคบชู้ ไม่ซื่อสัตย์ หรือกระทำเหตุที่ผิดศีลธรรมในครอบครัว ก็เป็นโอกาสที่เราจะสามารถเลิกราได้โดยไม่เกิดกรรมชั่วแต่อย่างใด ซึ่งโดยรวมจะเป็นผลดีเสียมากกว่า

กล่าวคือหากคู่ครองผิดศีล คนผิดศีลก็เป็นคนไม่ดี โดยเฉพาะศีลข้อสาม ในฐานของคนทั่วไปรับรู้กันดีว่าถ้าต่ำกว่าศีล ๕ ระดับนี้ก็ถือว่าเป็นคนไม่เต็มคน หรือเรียกได้ว่าตกต่ำไปถึงภูมิของเดรัจฉาน เพราะโดยสามัญสำนึกแล้วคนเราไม่ควรจะต่ำกว่าศีล ๕ จึงจะสามารถดำรงชีวิตได้เป็นสุข ในกรณีที่ผิดศีลข้อ ๓ นั้นจะค่อนข้างเป็นกรรมที่รุนแรงเพราะทำร้ายใจคู่ครอง ทำลายความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้คู่ครองเกิดทุกข์มาก ดังนั้นจึงเป็นคนชั่ว

เมื่อเป็นคนชั่วเราก็ไม่ควรให้เขามาใกล้เรามาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมงคล ๓๘ ในข้อแรกว่าด้วยการไม่คบคนพาล เมื่อเราพบว่าคู่ครองของเราเป็นคนพาล เราจึงมีสิทธิ์ที่จะเลิกราอย่างถูกต้องได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

แต่ไม่ว่าเราจะเลิกรากับคนรักด้วยสาเหตุที่ว่าเขาไม่หวานเหมือนก่อนหรือเขาทำผิดต่อความรักก็ตามแต่ เราอาจจะมีอาการขยาดความรักติดมาด้วย เราจะมองความรักในมุมติดลบ ระวังตัว ขลาดกลัว ระแวง ซึ่งเป็นลักษณะของอาการผลักไสความรัก เป็นความยึดมั่นถือมั่นในอีกมุมหนึ่ง

ซึ่งความขยาดนี้เองก็ยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ เพราะแท้จริงแล้วเราไม่ได้เกลียดความรัก แต่เราเกลียดที่ความรักไม่เป็นดังใจเราหมาย เมื่อเราไปขยาดความรักแล้วเข้าใจว่าตนเองไม่อยากมีรักเพราะรักทำให้เป็นทุกข์เพราะไม่ได้เสพสมใจจึงเป็นความเข้าใจที่ยังผิดเพี้ยนอยู่

เพราะความเข้าใจนี้เอง ยังไม่ได้ล้างกิเลสในฝั่งของการดูด หรือความสุขจากความรัก แต่เอาการเกลียดความรักหรือเอาอัตตามากลบไว้ ลักษณะจะเหมือนคนไม่ต้องการความรัก เหมือนไม่สนใจ เหมือนไม่แคร์ แต่แท้ที่จริงมันอยากอยู่ในใจลึกๆ แล้วมันจะทรมานเพราะความอยากนี่แหละ

แถมความขยาดนี่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่พลาดไปมีรักอีกครั้งนะ แต่คนที่ขยาดจะตั้งสเปคไว้สูงขึ้น เช่นคบกับคนเก่าทั้งจนและขี้เกียจเลยเลิกกัน สุดท้ายก็ตั้งเป้าว่าคนใหม่จะต้องรวยและขยัน เป้าใหม่นี่มันกิเลสเพิ่มขึ้นมานะ กับคนแรกเราไม่อยากเสพเขาขนาดนี้ แต่กับคนใหม่นี่เราอยากเสพทั้งลาภและยศของเขาด้วย พอกิเลสมันเพิ่มทุกข์มันก็จะเพิ่ม มันอันตรายตรงนี้นี่แหละ

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งเช่น แฟนเก่ามีนิสัยเจ้าชู้ไม่เอาใจ จึงทำให้เข็ดขยาดในการมีรัก ตั้งกำแพงขวางกั้นไว้ไม่ให้คนเข้ามารัก วันหนึ่งมีพระเอกขี่ม้าขาว เต็มไปด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งรวย ทั้งหล่อ ทั้งเอาใจเก่ง เรื่องทางลบก็ไม่มี ด้วยคุณสมบัติเหล่านั้นจึงผ่านกำแพงที่ตั้งไว้ได้อย่างง่ายดาย เหมือนพระเอกขี่ม้าขาวที่กางปีกบินข้ามกำแพงเข้ามาในใจแบบงงๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าจริงๆแล้วเขาข้ามมาหรือเรายกกำแพงออกให้เขาเข้ามา แต่สุดท้ายก็มักจะเจอหนักกว่าเดิมเพราะหนีกรรมเก่ามา เจอคนใหม่ก็มักร้ายกว่าเก่า ซ้ำร้ายยังอาจจะเจอตอนที่อยู่ในสภาพที่แต่งงานมีลูกแล้ว พระเอกค่อยๆเปลี่ยนร่างเป็นผู้ร้าย เจ้าชู้ เอาแต่ใจ โมโหร้าย และอีกมากมายแล้วแต่กรรมของเราจะบันดาล

8). หวานเป็นลม ขมเป็นยา

สิ่งที่เราควรจะทำเมื่อรักที่หวานเปลี่ยนเป็นขมนั้นไม่ใช่การจมอยู่กับความทุกข์ แต่เป็นการเพ่งมองไปที่ทุกข์ เพื่อหาเหตุแห่งทุกข์ หาหนทางดับทุกข์ ด้วยวิถีทางแห่งการดับทุกข์

เพราะแท้จริงแล้วความขมหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของกรรมที่เราทำมาไม่ว่าจะเป็นกรรมที่เกิดจากกิเลสในชาตินี้หรือชาติก่อนๆ คู่ครองของเราคือคนที่มีหนี้บาปหนี้บุญกันมา คือคนที่จะต้องมาชดใช้กรรม การตัดสินใจเลิกราเขาโดยไม่มีเหตุร้ายแรงนั้นไม่ใช่การหนีกรรมที่ถูกที่ควรแต่การจะพ้นจากกรรมที่เป็นหนี้กันอยู่ก็คือการทำดีต่อกันให้มาก

เพราะเราเป็นหนี้เขา เราจึงต้องจ่ายหนี้ แต่หนี้ตรงนี้ไม่ใช่ตัวเงินแต่เป็นกุศล ซึ่งเป็นนามธรรม ส่วนเราจะทำสิ่งใดที่เป็นรูปธรรมเพื่อการใช้หนี้ก็ได้ เช่น การดูแลเอาใจใส่เขา หรือดูแลทุกคนที่มีส่วนในทุกข์ของเรา ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ การพาเขาศึกษาธรรม การพาเขาทำดี ไม่พากันสนองกิเลส พากันลดกิเลส จนถึงขั้นพากันล้างกิเลสเลยก็ยิ่งดี

กรรมชั่วทั้งหมดที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นเพราะกิเลสของเรา หากเราล้างกิเลสได้ก็จะเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นความดีที่ดีที่สุด เพราะการล้างกิเลสนั้นหมายถึงการตัดภพ ตัดชาติของความอยากที่จะเกิดอีกต่อไปในอนาคต เช่นเราทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ มากินมังสวิรัติ เราก็จะไม่ชวนเขาไปกินเนื้อย่าง ไปแสวงหาเมนูเนื้อสัตว์ที่อร่อย นั่นหมายถึงเราไม่พาเขาสะสมกิเลสเพิ่ม ซึ่งหากเราทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ลดขนม ลดกาแฟ ลดการแต่งตัว ลดการแต่งหน้า ลดการท่องเที่ยว ลดการสะสม ฯลฯ เราก็จะพ้นจากกรรมกิเลสไปเรื่อยๆ

เมื่อเราทำดีไปเรื่อยๆ และจนกระทั่งกรรมชั่วในเรื่องนั้นๆ ได้ถูกใช้จนหมด เมื่อกุศลมากกว่าอกุศล ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เราหลุดจากความทุกข์ระทมขมขื่นนั้นได้ เช่น คู่ครองเป็นคนดีขึ้น ,คู่ครองตายจากไป ,คู่ครองหนีไปมีคนใหม่ หรือเหตุการณ์ใดๆก็ตามที่ทำให้เราไม่ต้องทนทุกข์อยู่เช่นเคย

การล้างกิเลสที่ดีที่สุดนั้นก็คือการล้างความยึดมั่นถือมั่นในความรัก ในความคาดหวังว่ารักจะต้องหอมหวานสวยงามตลอดไปซึ่งเป็นเหตุหนึ่งของความทุกข์ที่เกิดขึ้นเมื่อรักนั้นเปลี่ยนแปลง หากเราสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส คือใช้โอกาสแห่งทุกข์นี้พิจารณาความยึดมั่นถือมั่นของเราจนกระทั่งทำลายกิเลสเหล่านั้นได้ ก็จะไม่เกิดทุกข์อีก แต่จะยังคงเหลือทุกข์ที่ยังต้องแบกภาระไว้ เช่นดูแลคู่ครอง ดูแลพ่อแม่ของคู่ครอง ดูแลลูก ซึ่งกรรมเหล่านี้ก็เป็นผลจากกิเลสที่เรายังต้องแบกรับไว้เช่นกัน

9). ไม่ติดหวานก็ไม่ต้องขม

ความสุขความทุกข์ในความรักนั้นก็เป็นสิ่งที่วนเวียนเกิดขึ้นสลับกันไปมา ตราบใดที่เรายังคงหลงอยู่ในโลกธรรม หลงสุขอยู่ในโลกดังที่เห็นและเป็นอยู่ เราจะต้องพบกับความหวานและความขม สลับสับเปลี่ยนวนไปมาไม่รู้จบ

หากเรายังมีความต้องการความหวาน ยังติดหวาน หรือยังต้องการความรัก เราก็จะแสวงหาความรักของเราต่อไปเรื่อยๆ แม้ไม่ได้เสพสมใจก็จะหาต่อไป แม้ว่าจะแก่และตายไปก็จะสร้างร่างใหม่ขึ้นมาเพื่อหาความรักมาเสพอยู่เหมือนเดิม เพราะเราหลงติดสุขอยู่ในความหวานเหล่านั้น เราจึงต้องเกิดมาเสพความหวานนั้นอย่างไม่มีวันจบสิ้น

ซึ่งดังที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าความหวานนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราจะได้รับ เราต้องได้รับรักที่ขมขื่นด้วย เรื่องโลกมันก็เป็นแบบนี้ กรรมมันก็ส่งผลให้สุขให้ทุกข์อยู่แบบนี้ หากเราไม่หลงติดสุขอยู่ในรสสุขลวงเหล่านั้นเราก็ไม่ต้องรับทุกข์ที่จะเกิดขึ้น

เพราะไม่ติดรสสุขในกิเลส ก็เลยเห็นแต่ทุกข์เมื่อความหวานไม่มีค่าให้หลงอีกต่อไป ไม่มีรสอะไรอีกต่อไป สิ่งที่เหลือคือทุกข์อย่างเดียว ทุกข์จริงๆไม่มีสุขปนเลย “พอล้างกิเลสได้จริงจะเห็นความจริงตามความเป็นจริง” ว่าการครองคู่นั้นไม่มีสุขใดๆอยู่เลย แต่ถ้าเรายังมีกิเลสอยู่ก็จะเห็นสุขลวงนั้นเป็นสุขจริง จึงเผลอลำเอียงเข้าข้างกิเลสไป หลงไปตามที่กิเลสล่อ มองไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริง

เราไม่รับทั้งหวานและขม ไม่เอาทั้งสุขและทุกข์ ด้วยภาษานั้นเราอาจจะเข้าใจว่ามันไม่สุข แต่เมื่อเราไม่ติดกับโลกธรรม ไม่ติดอยู่ในสุขและทุกข์ เราจะได้สุขที่เหนือกว่า สุขกว่า สุขตลอดเวลา สุขเรียบๆ สุขเบาๆ สุขสบายๆ สุขจากการไม่เสพ เพราะเห็นทุกข์ โทษ ภัยผลเสียที่เกิดขึ้นจากกรรมและเห็นผลของกรรมอย่างชัดแจ้ง จึงรู้ชัดเจนในใจว่า ไม่เสพนี่แหละสุขที่สุดแล้ว

แต่สุขจากการไม่เสพการครองคู่นั้นทำได้ยากยิ่ง เป็นความพยายามที่ทวนกระแสโลกอย่างรุนแรง ในขณะที่คนพากันมีความรัก มีหนังรัก มีเพลงรัก มีภาพคู่รัก มีงานแต่งงาน และสารพัดข้อดีของการมีคู่รักตลอดจนการมีครอบครัว มีช้อมูลมากมายประดังเข้ามาเสริมพลังกิเลสของเราอยู่เสมอ

เราจะทนได้อย่างไร เราจะผ่านมันได้อย่างไร เราจะมีพลังพิจารณาโทษของมันได้อย่างไร ในเมื่อรสหวานแห่งความรักนั้นยากจะต้านทาน มีผู้คนมากมายใฝ่ฝันและหลงกันไปเป็นเรื่องปกติ เราจะสามารถเป็นปลาที่ว่ายน้ำทวนกระแสแห่งกิเลสที่รุนแรงแบบนี้ไหวไหม หรือเราจะยอมลอยตามกิเลสไปอีกครั้งหนึ่ง

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร” ความเพียรนี้เองคือคุณสมบัติที่จะพาเราว่ายทวนกระแสของกิเลสไปได้ เพียรลดกิเลส ลดความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องรัก ในเรื่องคู่ครอง พิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าทั้งหมดที่เราหลงนั้นมีทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียอย่างไร การออกจากสิ่งเหล่านั้นจะมีประโยชน์อย่างไร เพียรพิจารณาเช่นนี้ซ้ำไปซ้ำมา วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า ด้วยความเพียรลดกิเลสอย่างไม่ลดละนี้เอง ที่จะพาเราข้ามกิเลสนี้ไปได้

– – – – – – – – – – – – – – –

28.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,645 views 0

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

การที่เราจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุก ปราศจากธุลีละอองความอยากใดๆในจิตวิญญาณนั้นหากเราไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถ่องแท้และไม่ได้เข้าถึงธรรมนั้นด้วยใจตัวเองก็คงยากที่จะพบกับความสุขแท้

สติปัฏฐานคือช่วงหนึ่งของเส้นทางสู่ความผาสุกที่เราจำเป็นต้องเดินผ่าน เป็นขั้นตอนของการตรวจจับและพิจารณาธรรมเพื่อทำลายกิเลส เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากและจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไว้ หากไม่มีกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วการทำลายกิเลสก็จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันเท่านั้น

สติปัฏฐานนั้นคือกระบวนการที่ต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มจนจบ ตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ครบองค์ประกอบเหมือนเครื่องจักรที่ตัด พับ ต่อ ประกอบ กล่องให้สมบูรณ์เพียงแค่ใส่วัตถุดิบเข้าไป สติปัฏฐานนั้นก็เช่นกันมีการทำงานเป็นองค์รวมไม่แยกกันปฏิบัติ ต้องปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นระบบที่มีกระบวนการที่สอดคล้องกันไป

สติปัฏฐานนั้นต่างจากสติสัมปชัญญะหรือความรู้ตัวทั่วพร้อมโดยทั่วไป เพราะทำหน้าที่คนละแบบ สติปัฏฐานไม่ใช่เพื่อความรู้ตัว แต่เป็นการนำความรู้ตัวที่เกิดจากสติสัมปชัญญะเข้ามาเป็นอาหารสู่การรู้กิเลส จับกิเลส วิเคราะห์กิเลส และทำลายกิเลส ดังนั้นหากใครยังเข้าใจความต่างของสติทั้งสองอย่างไม่ได้และไม่เข้าใจการทำงานของสติปัฏฐาน ก็ยากที่จะเข้าใจธรรมะที่เกิดในตน เพราะสติปัฏฐานนี่เองคือกระบวนการที่จะทำให้เห็นธรรมะที่เกิดในตนเองอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

สติปัฏฐานนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ไปรวดเดียวจนจบครบกระบวน ไม่ใช่การแยกปฏิบัติทีละตัว จำเป็นต้องเรียนรู้ทุกตัวแต่ไม่ได้หมายความว่าต้องค่อยๆเรียนรู้ไปตามลำดับทีละขั้น เพราะสติปัฏฐานไม่ใช่การฝึกวิชา ไม่ใช่ระดับชั้น จึงไม่ต้องฝึกทีละขั้นแล้วเลื่อนชั้นไปศึกษาตัวต่อไป แต่ต้องเข้าใจองค์รวมทั้งหมดเพราะธรรมแต่ละตัวนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลส

สติปัฏฐาน ๔

ธรรมนี้คือทางเอกเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งการหลุดพ้นจากกิเลส ในบทความนี้ก็จะขยายและประยุกต์ให้กับผู้ฝึกกินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสโดยเฉพาะ แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิเลสตัวอื่นๆได้เช่นกัน

ในกรณีนี้จะยกตัวอย่างเพื่อผู้ที่ยังติดในรสชาติของเนื้อสัตว์ ยังหลงในเนื้อสัตว์ ยังคงมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ ทั้งในกรณีที่เราตั้งใจกินมังสวิรัติและไม่ได้กินมังสวิรัติอย่างจริงจัง

1). กายในกาย

เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ เราก็จะรับรู้ได้ถึงอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เป็นอาการที่จิตวิญญาณสังเคราะห์ขึ้นมาเช่น น้ำลายไหล ตัวสั่น มือสั่น กลืนน้ำลาย น้ำย่อยไหล หายใจผิดจังหวะ อาการเหล่านี้คืออาการของความอยากที่สะท้อนให้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะนามหรือพลังงานข้างในจิตใจเปลี่ยนแปลง จึงสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปคือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เราจึงจำเป็นต้องมีสติให้พร้อมเพื่อจับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนี้เพื่อให้เห็นใจที่เปลี่ยนไปแม้จะเป็นการสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อยก็ตาม

เมื่อเรากินเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ อาการที่เกิดกับร่างกายชัดๆเลยคือจะยังมีความอร่อย จะยังมีรสอร่อยอยู่ รสอร่อยนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นรสชาติของวิญญาณที่มีกิเลสของเราสังเคราะห์ขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอง จิตของเราปั้นรสอร่อยเหล่านั้นขึ้นมาเองให้ร่างกายของเราได้สัมผัสแล้วหลอกเราซ้อนอีกทีว่าเนื้อสัตว์อร่อย

เมื่อเราคิดถึงเนื้อสัตว์ หากเรายังมีความอยากอยู่ จะเกิดอาการกับร่างกายคือมีอาการหิวกระหายเนื้อสัตว์ โหยหวนคิดถึงเนื้อสัตว์ มีอาการน้ำย่อยหลั่ง กลืนน้ำลาย น้ำลายไหล หิว หมดแรง ออกอาการต่างๆเพื่อให้กระตุ้นให้เรากลับไปกินเนื้อ

อาการที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ คืออาการภายนอกที่สะท้อนให้เห็นภายในคือจิตใจที่เปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะเมื่อผัสสะเข้ามากระทบกระแทกแล้วจิตใจของเราให้หวั่นไหวจนสั่งร่างกายให้หวั่นไหวตาม ผู้ที่มีสติจับอาการของร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงได้จะนำผลนี้ไปสู่ขั้นตอนต่อไป

2). เวทนาในเวทนา

เมื่อเราจับอาการของจิตใจที่เกิดจากการกระทบร่างกายได้จะพบว่าอาการที่เปลี่ยนแปลงนั้น เกิดได้สามลักษณะคือ สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ นั่นคือเกิดเวทนาอย่างไรนั่นเอง แต่เวทนาเพื่อการล้างกิเลสนั้นถูกแบ่งเป็นสองลักษณะใหญ่ๆที่ต้องเรียนรู้หากว่าเราต้องการความผาสุกอย่างยั่งยืน

เคหสิตเวทนา

หรือความมีเวทนาอย่างชาวบ้าน หมายถึงการเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แบบทั่วไป ไม่ว่าชาวบ้าน นักบวช ผู้ทรงศีลก็สามารถเกิดเวทนาแบบชาวบ้านได้ เช่นเมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แล้วไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เราก็จะเกิดทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป คือทุกข์เพราะไม่ได้กินของที่อยากกิน หรือการที่เราได้ไปกินเนื้อสัตว์แล้วเกิดสุข ก็เป็นความสุขแบบชาวบ้านทั่วไป หรือแม้กระทั่งอาการเฉยๆแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์อย่างที่หลายคนเข้าใจว่าตัวเองกินมังสวิรัติได้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความเฉยๆแบบชาวบ้าน คือตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีในเนื้อสัตว์ เกลียดเนื้อสัตว์แล้วไม่ไปกินก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร

ประเด็นนี้เองที่ทำให้คนกินมังสวิรัติหลายคนเข้าใจผิดว่าตนเองล้างกิเลสได้หรือบรรลุธรรม เพียงเพราะความเฉยๆ แต่ทั้งหมดนี้มันเป็นความเฉยหรืออุเบกขาแบบชาวบ้าน เหมือนกับคนที่ไม่กินผัก ถ้าไม่มีผักในมื้ออาหารก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ชาวมังสวิรัติที่ใช้การกดข่มก็เช่นกัน เมื่อทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกว่าเนื้อสัตว์ไม่ใช่อาหาร แม้จะไม่มีเนื้อสัตว์อยู่ในมื้ออาหาร หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์เป็นสิบยี่สิบปีก็จะไม่เกิดทุกข์อะไร เพราะรู้สึกเฉยๆกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งหมดนี้เป็นเวทนาแบบชาวบ้าน เป็นเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้

คนกินมังสวิรัติแบบไม่เข้าใจเรื่องล้างกิเลสหากยังมีความอยากในเนื้อสัตว์มากอยู่ เมื่อได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดทุกข์ หรือในกรณีคนที่ยึดติดในมังสวิรัติมากๆ ถ้าได้กินผักก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินผักก็จะเกิดทุกข์ เป็นความรู้สึกสุข ทุกข์แบบทั่วไป แบบเป็นชาวบ้าน เป็นสามัญ เป็นเรื่องธรรมของโลก

เนกขัมมสิตเวทนา

คือการมีเวทนาแบบนักบวช นักบวชในที่นี้ไม่จำเป็นต้องโกนผมห่มผ้า แต่หมายถึงคนที่ใช้ศีลในการขัดเกลากิเลส บวชใจให้อยู่ในธรรม นั่นหมายถึงจะเป็นใครก็ได้ ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนา ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือเป็นนักบวชก็มีสิทธิ์ที่จะศึกษาธรรมด้วยกันทั้งนั้น อนึ่งการมีเวทนาแบบเนกขัมมะนี่เองคือทางสู่การพ้นทุกข์

การที่เราจะมีเนกขัมมสิตเวทนานั้นจะต้องเริ่มต้นจากการถือศีล การยึดอาศัยศีลมาเพื่อขัดเกลากิเลส ใช้ศีลมาเป็นเครื่องมือตรวจจับกิเลส ผู้ที่ไม่มีศีล ไม่ตั้งตบะ ไม่มีความตั้งใจที่จะลด ละ เลิกความยึดมั่นถือมั่นจะไม่มีวันเข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนาได้เลย เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะเป็น ความสุข ทุกข์ เฉยๆในอีกมิติหนึ่งซึ่งต่างออกไปจากเคหสิตเวทนา แม้จะได้ชื่อว่าเฉยๆหรืออุเบกขาเหมือนกัน แต่สภาพภายในจิตใจนั้นก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง นี้เองคือนัยสำคัญว่าทำไมศีล สมาธิ ปัญญาต้องปฏิบัติไปพร้อมกันเป็นองค์รวม ไม่แยกกันปฏิบัติ

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นหลังจากเราถือศีลก็คือ เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์เพราะว่าต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกิน แม้จะมีมาวางตรงหน้าเราก็ต้องทน ซึ่งยิ่งเรามีความอยากมากเท่าไหร่ เราก็จะทุกข์มากเท่านั้น การถือศีลนี้เองจะทำให้เราเป็นทุกข์และเห็นทุกข์ไปเรื่อยๆ แต่นี่เองคือการ “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เราจะใช้ความทุกข์นี้แหละในการพิจารณาหาสาเหตุแห่งทุกข์ต่อไปในขั้นตอนของจิตในจิต

ความสุขที่เกิดจากเนกขัมมสิตเวทนา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปราศจากกิเลส ในส่วนของความสุขที่เกิดขึ้นตอนทนไม่ไหวกลับไปกินเนื้อสัตว์นั้นก็เป็นเคหสิตเวทนาซึ่งจะต่างกันออกไป เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะมีสุขแม้จะไม่ได้เสพและจะเกิดขึ้นในจังหวะของการทำลายกิเลสได้

เมื่อทำลายกิเลสได้ความสุขจะสงบลงเป็นอุเบกขา ลักษณะของเนกขัมมสิตอุเบกขาจะแตกต่างกับเคหสิตอุเบกขาอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ จะเรียกว่าคนละโลกก็ว่าได้ โลกหนึ่งเป็นโลกียะ อีกโลกหนึ่งคือโลกุตระ เนกขัมมสิตอุเบกขาเป็นมิติของโลกุตระ ซึ่งจะเป็นความปล่อยวางจากความอยาก สงบเย็น โปร่ง โล่ง สบาย แม้ว่าจะไม่ได้กินผักก็ไม่ทุกข์ แม้จะต้องกินเนื้อก็ไม่ทุกข์ สภาพที่มองเห็นโดยทั่วไปจะคล้ายๆกับคนธรรมดา แต่จะไม่ธรรมดาตรงที่ว่าจะไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในใจอีกเลย แม้จะต้องกินผักไปตลอดชีวิตก็ไม่ทุกข์ เห็นเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ เห็นคนกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ มันจะไม่มีเรื่องอะไรให้ใจเป็นทุกข์หรือขุ่นมัวได้เลย นี่คือสภาวะของเนกขัมมสิตอุเบกขา

การที่เราจะถึงเป้าหมายคือเนกขัมมสิตอุเบกขาได้นั้นต้องเริ่มจากศีล ศีลนั้นคือการเพ่งเล็งเข้าไปที่ความอยากกินเนื้อสัตว์ เข้าไปที่ความติดยึดในเนื้อสัตว์ เพื่อที่เราจะได้ออกจาความอยากกินเนื้อสัตว์ด้วยปัญญา ศีลที่ควรตั้งไว้นั้นคือละเว้น “ความอยาก” ในการกินเนื้อสัตว์ นั้นหมายถึงไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้นทั้งในกาย วาจา ใจ แม้จะเล็กน้อยเพียงเสี้ยวธุลีก็ไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้น นั่นหมายถึงการดับกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างสิ้นเกลี้ยง

…หลักการรับรู้เวทนา

การที่เราจะสามารถรับรู้เวทนาได้ชัดเจนเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองทุกอย่างตามความเป็นจริงแค่ไหน เรามีความจริงใจกับตัวเองมากเท่าไร อยากกินก็รู้สึกว่าอยากกิน เกลียดก็รู้ว่าเกลียด ยอมรับตามตรงว่ายังมีกิเลสเหลืออยู่ตามจริง มีมากก็ยอมรับว่ามาก มีน้อยก็ยอมรับว่าน้อย ไม่ใช่ว่ามีมากแล้วพยายามกดข่มบอกตัวเองไว้ว่าฉันไม่อยาก ฉันไม่อยากแบบนี้จะบรรลุธรรมช้าจนถึงไม่สามารถเข้าใจธรรมใดได้เลยเพราะหากไม่มีความจริงใจต่อตัวเองก็ยากที่จะได้เห็นหน้าตาจริงๆของกิเลส

คนกินมังสวิรัติที่ยึดดีหลายคนมักจะกดข่มความอยากไว้ ทำเป็นมองไม่เห็น ทำเหมือนไม่มี ยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองยังอยาก รู้สึกรังเกียจหากต้องยอมรับการมีอยู่ของความอยากในตัวเอง แต่ถึงจะกดข่มด้วยความคิดเช่นนั้นก็ตาม กิเลสที่มีอยู่ก็ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้ลดลงหรือสลายไปแต่อย่างใด มันจะซ่อนตัวแล้วแอบไว้จนกว่าวันที่จิตใจจะกล้าค้นหามันจริงๆ หรือจนกระทั่งวันที่มันคิดว่าความอยากนั้นแข็งแกร่งพอจะทำลายความเป็นมังสวิรัติได้ วันนั้นแหละคือวันที่มันจะออกมา แม้ว่าจะกดข่มไว้เท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็จะแพ้พลังกิเลสอยู่ดี

ดังนั้นเราจึงควรรับรู้ความทุกข์ สุข เฉยๆ ตามความเป็นจริงโดยไม่เอาความคิด ความรู้ หรือตรรกะใดไปกดข่มความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เองคือกุญแจที่จะไขประตูสู่ร่างจริงของกิเลสเพื่อให้เราได้ต่อสู้และเพียรพยายามต่อไป

3). จิตในจิต

เมื่อเราตั้งศีลและเกิดเวทนาขึ้นในใจแล้ว เช่นเราเกิดความทุกข์เพราะความอยากกินเมนูเนื้อสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า มันเป็นเมนูที่เราเคยชอบ กลิ่นมันช่างเย้ายวนใจ สัมผัสที่เคยเคี้ยว รสที่เคยลิ้มลองมันยังอยู่ในใจ เมื่อเราไม่ได้กินสิ่งที่อยากกินเราจึงเกิดทุกข์

ในขั้นตอนของจิตในจิตคือเอาทุกข์ สุข เฉยๆนั้นมาชำแหละว่าเราเกิดเวทนานั้นเพราะกิเลสตัวไหน เราไม่สามารถทำลายกิเลสได้ด้วยการบอกว่ามันคือกิเลสแล้วตบมันทิ้งด้วยสมถะวิธี แต่ต้องแยกกิเลสออกมาเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ธรรมที่เหมาะกับกิเลสนั้นๆพิจารณาให้ถูกตัวถูกตน

ในกรณีที่ยกตัวอย่างมานั้นจะเห็นว่าเรามีกิเลสหลายตัวรวมอยู่ในความทุกข์นั้นๆ เราทุกข์เพราะเราไม่ได้เสพ แต่ต้องตั้งสติดีๆให้เห็นว่าเรายึดติดกิเลสตัวใดมากที่สุด กิเลสตัวไหนที่อันตรายที่สุด เช่นเห็นหน้าตาของเมนูเนื้อสัตว์ก็ยังเฉยๆ ได้กลิ่นก็ยังเฉยๆ แต่พอคิดถึงรสที่เคยลิ้มลองเท่านั้นแหละ สติหลุดลอยไปเลย เกิดความอยากแล้วก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะอยากกินแต่ฝืนไม่กิน ดังนั้นในกรณีนี้ตัวรสชาติและรสสัมผัสคือกิเลสที่เราควรจะแยกมาจัดการก่อนเป็นอันดับแรก

การที่เราติดรสชาติและรสสัมผัสนั้นเกิดจากกิเลสในหมวดของกามคุณ ๕ การติดรสสัมผัส เช่น ติดความเย็น ร้อน อ่อน แข็งของวัตถุที่เอาเข้าปาก ในกรณีของเนื้อสัตว์ก็จะเป็นความเหนียวนุ่มของเนื้อนั้นๆ และติดรสชาติ เช่น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม เผ็ด ฯลฯ ของเนื้อสัตว์นั้น

เมื่อเราเห็นกิเลสและค้นไปในรากของความยึดมั่นถือมั่นจนเป็นที่มั่นใจแล้วว่า ความรู้สึกนี่แหละคือกิเลสที่เราติดยึด เราก็จะนำสิ่งที่ได้มานั้นไปสังเคราะห์ต่อในกระบวนการของธรรมในธรรม

4). ธรรมในธรรม

เมื่อเราจับตัวกิเลส หรือตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์มาได้แล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดในรสสัมผัสและรสชาติ เราก็จะหาธรรมะที่ถูกที่ควรมาเจรจากับกิเลสเหล่านี้ ให้ตัวเราได้ยอมละหน่ายคลายจากความยึดมั่นถือมั่นจากกิเลสเหล่านี้

เช่นเราอาจจะเลือกเน้นไปในรสสัมผัสก่อนว่า ความอยากกินอยากสัมผัสเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร มีประโยชน์อะไรบ้างถ้าเราจะออกจากสิ่งนี้หรือไม่ติดในสิ่งนี้ ความติดในรสสัมผัสนี่มันก็ไม่เที่ยงใช่ไหม เรากินบ่อยๆมันก็เบื่อใช่ไหม มันไม่ได้สุขทุกครั้งที่กินใช่ไหม แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวตนของเราอีกด้วยเพราะจริงๆแม้เราจะไม่ต้องสัมผัสเนื้อนั้นๆเราก็ยังสามารถได้ความสุขจากการขบเคี้ยวสิ่งอื่นๆ (ในกรณีนี้ใช้เฉพาะต้องการเบี่ยงออกไปหาสิ่งที่เป็นภัยน้อยกว่า) เราติดรสสัมผัสเราไม่ได้ติดเนื้อสัตว์ เพียงแค่เราหาอย่างอื่นคล้ายๆกันมาแทนแล้วพิจารณาประโยชน์ไปเรื่อยๆก็จะทำให้ลดเนื้อสัตว์ได้

รวมทั้งการพิจารณาข้อมูลอื่นๆเสริมไปก็ได้เช่น เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเสริม เอาข้อมูลทางการวิจัยมาเสริม เอาอสุภะหรือภาพจำพวกสัตว์ถูกทรมานหรือสัตว์ตายมาเสริมก็จะเพิ่มพลังในการพิจารณาออกจากกิเลส เพราะตอนนี้เราจับตัวกิเลสได้คาหนังคาเขาแล้ว และมั่นใจว่าเป็นตัวนี้แน่ๆ เราก็ใช้ธรรมะนี่แหละเข้าถล่มสู้กับความยึดมั่นถือมั่นอย่างไม่ต้องยั้งมือได้เลย

ในมุมของการติดรสชาติก็ทำคล้ายๆกันจะขอยกตัวอย่างการเห็นธรรมของการติดรสชาติในกรณีหนึ่ง คือปลาหมึกปิ้งกับเห็ดออรินจิปิ้ง เราอาจจะเป็นคนที่ชอบกินปลาหมึกปิ้ง พอพิจารณากิเลสดีแล้วก็รู้ได้ว่า เราติดใจในรสชาติของปลาหมึกปิ้ง ถ้าปลาหมึกไม่ราดน้ำจิ้มก็ไม่อร่อย ปลาหมึกจะอร่อยหรือไม่อร่อยอยู่ที่ความสดและน้ำจิ้ม และร้านค้าปลาหมึกมักโฆษณาว่าน้ำจิ้มรสเด็ด ตอนนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับความติดรสของตัวเองเท่านี้

จนกระทั่งเมื่อเราได้ลองกินเห็ดออรินจิย่างจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด เราจึงเริ่มไม่แน่ใจว่าเราติดรสน้ำจิ้มหรือติดรสปลาหมึกที่จิ้มน้ำจิ้ม เราจึงลองเปลี่ยนจากปลาหมึกมาเป็นเห็ดออรินจิแล้วจิ้มน้ำจิ้มรสเดิม แล้วเราก็พบว่าเรายังมีความสุขอยู่เหมือนเดิม เราจึงได้ค้นพบว่าเราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องกินปลาหมึกปิ้ง ไม่ต้องเบียดเบียนปลาหมึก แค่ใช้เห็นออรินจิปิ้งมาแทน

การเห็นธรรมในกรณีนี้คือความมั่นใจว่าเราติดน้ำจิ้มไม่ได้ติดปลาหมึก เราจึงเต็มใจที่จะเลิกกินปลาหมึกและหาเห็ดมาแทนปลาหมึกและใช้น้ำจิ้มรสเดิมโดยไม่ต้องพิจารณาธรรมอะไรให้มากมาย นี่เป็นลักษณะการวิเคราะห์จิตในจิตต่อเนื่องมาธรรมในธรรมอีกนิดหน่อยก็จบกระบวน เลิกกินปลาหมึกปิ้งได้อย่างสบายใจ เพราะรู้ชัดแจ้งในวิญญาณว่าไม่ได้ติดปลาหมึกปิ้งแต่ติดน้ำจิ้ม ก็เลยไม่ต้องไปฆ่าความอยากกินปลาหมึกปิ้ง แต่ก็ต้องกลับไปทำโจทย์ของความอยากในรสชาติของน้ำจิ้มอีกทีหนึ่ง หรือจะเก็บความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดก่อนแล้วค่อยกลับมาจัดการเรื่องการติดรสชาติก็ยังไม่สาย เพราะการกินเนื้อสัตว์นั้นบาปกว่าและหยาบกว่าการติดรสของอาหาร

ในเรื่องของความติดยึดในเนื้อสัตว์นั้นยังมีการติดได้ในกิเลสอีกหลายมิติ เช่น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา และในหลายลีลาของกิเลสเช่น โลภ โกรธ หลง การวิเคราะห์หรือหาสาเหตุในขั้นตอนจิตในจิตก็จะต่างกันออกไป การใช้ธรรมมาแก้ในขั้นตอนของธรรมในธรรมก็จะต่างออกไปเช่นกัน

….แต่ถึงแม้ว่าเราจะทุ่มเทสุดชีวิตสุดปัญญาก็ตาม กิเลสอาจจะไม่ได้ตายหรือสลายหายไปง่ายๆ ซึ่งการพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็เป็นเรื่องธรรมดา ถึงเราจะเพียรอย่างเต็มที่ก็แค่อาจจะทำให้กิเลสลดกำลังหรืออ่อนแอลงไปบ้างเท่านั้น แต่เราก็จะไม่ยอมแพ้ เพียรพยายามต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ใช้สติปัฏฐานตั้งแต่กาย เวทนา จิต ธรรม นี่แหละ ตรวจจับกิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งกิเลสจะยอมถอยและตายไปเอง

ผู้ที่เข้าใจกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วจะไม่กลัวการกระทบของกิเลส จะไม่ผลักไส ไม่กดข่ม ไม่ตบกิเลสให้ดับลงในทันทีเพราะรู้ดีว่าการดับด้วยสมถะวิธีนั้นไม่ยั่งยืน เป็นเพียงการกดข่มเท่านั้น แต่จะบุกตะลุยเข้าสู้กับกิเลส เจอกิเลสที่ไหนก็จับมาพิจารณาได้หมด แสวงหาผัสสะที่จะมาเป็นอาหารของตนเอง ถ้ายิ่งเก่งก็จะยิ่งกล้าในการเข้าไปรวมหมู่รวมกลุ่มกับสังคม เป็นนักมังสวิรัติที่ชำแหละและล้างกิเลสเป็น จึงต้องใช้สังคมและมิตรสหายเป็นเครื่องมือหรือเหตุการณ์ที่จะเข้ามากระทุ้งให้เห็นกิเลส ด้วยสติปัฏฐาน จับกาย ดูเวทนา วิเคราะห์จิต สังเคราะห์ธรรม ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะเก็บสะสมความเจริญไปได้เรื่อยๆจนวันหนึ่งกิเลสหมดก็จะสามารถรู้ได้เองจากการทดสอบความอยาก หรือการทดสอบการหลุดพ้นจากกิเลสด้วยใจของตัวเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์