Tag: ล้างกิเลส

การเพิ่มศรัทธา

June 23, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 730 views 0

วันก่อนได้คุยกับกลุ่มเพื่อนนักปฏิบัติธรรม มีประเด็นของความศรัทธาที่มีต่อกัน ว่าจะเพิ่มได้อย่างไร ต้องทำงานร่วมกัน?

ผมก็ให้ความเห็นว่า การจะเพิ่มศรัทธาได้แท้จริง มั่นคง ยืนยาวนั้น ต้องล้างกิเลสอย่างเดียว ถ้าล้างกิเลสได้จะมีอินทรีย์พละเพิ่มขึ้น ศรัทธาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบนั้น

การทำงานจะทำให้เพิ่มศรัทธาแก่กันได้ไหม?

เพิ่มได้ แล้วก็ลดได้เหมือนกัน คนมาใกล้กันจะเป็นได้ทั้งสองทิศทางคือเพิ่มศรัทธาต่อกันและเสื่อมศรัทธาต่อกัน ก็อยู่ที่ธาตุของคนนั้นจะเป็นธาตุของบัณฑิตหรือธาตุของคนพาล

ถ้าเป็นธาตุบัณฑิตก็จะศรัทธาคนได้ง่าย ส่วนถ้าเป็นธาตุคนพาลทำงานกับใครก็เสื่อมศรัทธาเขาไปหมด เพ่งโทษ นินทา ถือสา ฯลฯ

แต่การทำงานจะสร้างกุศล คือความดี คือกรรมดี ที่จะเป็นพลังส่งผลไปสู่สิ่งที่ดี ดั้งนั้น การทำงานร่วมกันก็เป็นองค์ประกอบที่จะสร้างศรัทธาให้กับผู้ที่มีจิตที่ดี

ส่วนคนพาล ให้ห่างไว้ ไม่ต้องไปทำงานด้วย ยิ่งทำด้วยยิ่งเสื่อม ยิ่งเชื่อมยิ่งต่ำ เหมือนทำนาบาป หว่านข้าวไปเท่าไหร่มีแต่หญ้าขึ้น ไม่ได้ผล เสียเวลา เสียทุน เสียแรงงาน ได้ทุกข์ โทษ ภัย เป็นผล มีความเสื่อมเป็นกำไร

ดังนั้นการจะเพิ่มศรัทธาหรือทำความเจริญ ก็ต้องขยันร่วมทำงานทำกุศลร่วมกับบัณฑิต คือผู้ที่พยายามปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์และได้ผลโดยลำดับ จะไม่เสื่อมศรัทธา เพราะเป็นนาบุญ หว่านน้อยได้น้อย หว่านมากได้มาก ตามความเพียร มีผลเป็นทิพย์ เป็นความผาสุก เบิกบาน แจ่มใส

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,978 views 1

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

ในทุก ๆ การตัดสินใจของชีวิตของคนที่ยังมีกิเลส ก็มักจะต้องเลือกระหว่างกิเลสหรือธรรมะ สองสิ่งนี้เป็นทางเลือกอิสระที่ให้ผลต่างกัน

กิเลสคือสิ่งที่จะพาให้ทุกข์ พาเสื่อม ห่างไกลความผาสุกในชีวิต ในขณะที่ธรรมะนั้นคือสิ่งที่จะพาให้พ้นทุกข์ นำความเจริญมาให้ และเข้าใกล้ความผาสุกที่ยั่งยืน

กิเลสและธรรมะนั้นไปด้วยกันไม่ได้ หากเราเลือกกิเลส เราก็จะต้องเสียธรรมะไป หากเราเลือกที่จะเสพสุขกับบางสิ่งบางอย่าง เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงธรรมเพราะมัวแต่สนใจสุขลวง เช่น นักบวชในพุทธศาสนาที่เลือกที่จะมีคู่ ก็ต้องสึกและเสื่อมจากธรรมเพื่อแลกกับการเสพโลกีย์สุข

ไม่มีอะไรได้มาโดยที่ไม่เสียอะไรไป เมื่อเราเลือกที่จะเสพโลกีย์สุขตามคำสั่งของกิเลส เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงโลกุตระสุขที่ปราศจากกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์ เพราะสละความสุขพอประมาณไซร้ เมื่อปราชญ์เห็นความสุขอันไพบูลย์ พึงสละความสุขพอประมาณเสีย

สุขจากกิเลสนั้นสุขน้อยทุกข์มาก หรือเรียกว่าเป็นสุขลวง ซึ่งการจะเห็นสุขแท้ที่ยั่งยืนนั้นต้องยอมสละสุขลวงจากกิเลส แต่การจะเห็นสุขแท้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีคำกล่าวว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ถึงกระนั้นสุขแท้จริงเหล่านั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะสัมผัสมันได้ง่ายนัก เพราะถ้าหากสุขแท้นั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้โดยทั่วไป รู้ได้โดยภาษา เข้าถึงได้โดยการเพ่งเพียรปฏิบัติ ทุกคนก็คงจะเห็นได้ว่าโลกุตระสุขนั้นมีค่ามากกว่าโลกีย์สุข(กิเลส)และยอมทิ้งโลกีย์สุขนั้นกันหมด ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นเลย เพราะมีแต่คนที่เมินเฉยต่อการแสวงหาโลกุตระสุข เพียงเพราะพอใจในโลกีย์สุขที่ตนมี

และถึงแม้ว่าเราจะเลือกธรรมะ ก็ใช่ว่าเราจะหมดกิเลส ไม่เหมือนกับตอนที่เราเลือกตามใจกิเลสแล้วเราจะเสียธรรมะ ซึ่งการปฏิบัติของพุทธศาสนามิใช่การนึกคิดเอาเองว่าถ้าทำจิตให้เป็นเช่นนั้น แล้วทุกอย่างจะเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เราเข้าใจว่าเราเป็นพระอรหันต์แล้วจะเป็นพระอรหันต์จริงๆ แต่ต้องเป็นการปฏิบัติที่ลงไปล้างถึงเหตุแห่งทุกข์ โดยใช้หลักของอริยสัจ ๔ ซึ่งจะปฏิบัติชำระความเห็นผิดไปโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ลาดลุ่มไปโดยลำดับเหมือนฝั่งทะเล ไม่ชันเหมือนเหว

นั่นหมายความว่าถึงจะเรียนรู้เป็นพันเป็นหมื่นคัมภีร์ ท่องจำได้คล่องปากไม่มีตกหล่น หรือแม้จะเพ่งเพียรปฏิบัติจนแทบจะเรียกได้ว่าเอาชีวิตไปทิ้ง แม้จะเด็ดเดี่ยวจนถึงขั้นยอมตายถวายธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงผลของธรรมะได้ หากยังมีความเห็นที่ตั้งไว้ไม่ตรง(มิจฉาทิฏฐิ)

การทำตามกิเลสแล้วเสื่อมจากธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่การทำตามธรรมะให้กิเลสเสื่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก มีแต่บัณฑิตเท่านั้นที่รู้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะด้นเดาเอาได้ เพราะเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งยากจะเข้าใจเกินกว่าจะคิดคำนวณเอาเอง จึงมีแต่สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ที่แท้จริงเท่านั้นที่จะไขความลับนี้ได้

ผู้ที่เลือกตามใจกิเลสอยู่เรื่อยๆ ก็ย่อมจะเสื่อมจะกุศลธรรมไปเรื่อยๆ และห่างไกลจากโอกาสในการเข้าถึงธรรมะที่พาล้างกิเลสไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

และข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าให้ไว้เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสก็คือ “ศีล” ซึ่งศีลจะทำให้รู้ขอบเขตว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ หากปราศจากศีลแล้ว ก็คงยากจะแยกแยะว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดคือชั่ว สิ่งใดที่ควร สิ่งใดไม่ควร ดังนั้นผู้ที่ไม่มีศีลจึงไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ ผู้เสื่อมจากศีล จึงเสื่อมจากความเป็นพุทธ และเสื่อมจากธรรมทั้งหลายทั้งปวงด้วยเช่นกัน

ศีลคือข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการเข้าถึงการล้างกิเลส เมื่อผู้ปฏิบัติไม่มีศีล ก็ไม่มีไตรสิกขา ไม่มีการปฏิบัติที่ถูกตรงของพุทธ นั่นหมายถึงไม่มีการล้างกิเลส และไม่มีการหลุดพ้นจากกิเลส ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า หากเลือกธรรมะนั้นก็จำเป็นต้องมีศีลเป็นพื้นฐานด้วย ต่อให้อีกอ่านอีกกี่ล้านคัมภีร์ หรือนั่งนิ่งเป็นพรหมลูกฟัก อวดอ้างตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรม หากปราศจากศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ก็คงจะเป็นเพียงแค่โมฆะบุรุษเท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

7.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การชวนคนลดเนื้อกินผัก กับการตอบความเห็นต่าง

August 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,215 views 0

ผมเป็นคนที่ลดเนื้อกินผักคนหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ชวนใครมากินตามสักเท่าไหร่นะ อย่างมากก็แค่แนะนำ แค่บอกข้อดี โดยเฉพาะญาติพี่น้องมิตรสหายนี่ผมแทบไม่แตะเลย

เพราะถ้าเขายังไม่เห็นประโยชน์ เขาก็ไม่เข้ามาเอาหรอก พูดให้ตายยังไงเขาก็ไม่เอา ยัดเยียดไปก็มีแต่จะทะเลาะกัน เขาก็ยังอยากกินเนื้อของเขาอยู่อย่างนั้นแหละ

เหมือนกันกับคนที่เข้ามาเห็นต่างเกี่ยวกับบทความลดเนื้อกินผักของผมในบาง ครั้ง ผมก็ชี้แจงไปตามเหตุปัจจัยนะ แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไรเขา เขาอยากกินอะไรก็กิน อยากทำอะไรก็ทำ จะประกาศตัวว่าจะกินเนื้อสัตว์ หรือจะมองว่ากินเนื้อสัตว์นั้นถูกต้อง ถูกธรรม ไม่บาป มันก็เรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของผม ผมไม่บังอาจไปเปลี่ยนความเห็นของใครหรอก

จะทำให้ทุกคนมาลดเนื้อกินผักมันทำไม่ได้หรอก มันได้เฉพาะบางคนเท่านั้นแหละ คนที่เห็นว่าวิธีนี้ลดการเบียดเบียนได้ เป็นสิ่งดี มีประโยชน์ เขาก็มาเอา คนที่เขาไม่เห็นคุณค่า หรือยังอยากกินเนื้อ เขาก็จะไปตามทางของเขา

ทีนี้คนที่จะมาลดเนื้อกินผักนี่มันไม่เยอะนักหรอก มันลำบาก มันไม่สบาย มันยุ่งยากในการปรับตัว มันต้องอด ต้องฝืน ต้องศึกษา น้อยคนที่จะพยายามพัฒนาตนเองเพื่อลดการเบียดเบียน

ช่วงหลังผมก็เลยไม่รู้จะมานั่งตอบคนที่เห็นต่างทำไม ให้ผมไปตอบคนที่เห็นต่างทั้งหมดนี่เหนื่อยตายเหมือนกันนะ โลกนี้มีคนกินเนื้อสัตว์เยอะกว่าคนลดเนื้อกินผักอยู่แล้ว แล้วคนไม่ล้างกิเลสนี่นะ กามหนาอัตตาจัดกันสุดๆ

สรุปว่าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงดีกว่า เพราะส่วนมากเขาก็แค่มาแสดงความคิดเห็น มายั่ว มาข่ม มาอวด อะไรก็ว่าไป เขาก็สร้างวิบากบาปของเขาไป เราบอกได้ก็บอก แต่ถ้ามันหนักหนาจนไม่ไหวก็วางเฉยไปดีกว่า… จะเอาอะไร ก็กรรมตัวเองทำมาทั้งนั้น ในชาติที่ยังไม่ลดเนื้อกินผัก เมารสเนื้อสัตว์ก็คงจะไปทำอย่างนั้นมาไม่มากก็น้อยนั่นแหละ

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

July 21, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,971 views 0

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

ลดเนื้อกินผัก ไม่ฆ่าไม่เบียดเบียนสัตว์ใด

บังเอิญมีเรื่องให้พิมพ์บทความนี้ขึ้นมา มีบางสิ่งที่ปลุกผมให้ตื่นจากฝัน ด้วยความปวดคันที่หน้าแข้ง ผมค่อยๆยกขาขึ้นมาดูและพบว่ามียุงตัวหนึ่งกำลังดูดเลือดอยู่…

ยุงตัวนี้ดูดเลือดจนบินแทบไม่ไหว มันดูดเสร็จก็บินลงมาบนเตียง แล้วก็บินหนีได้ทีละนิดละหน่อย มันคงจะอิ่มจนขยับตัวลำบาก พอนึกได้ก็เลยหยิบกล้องมาถ่ายรูปไว้เสียหน่อย

ประเด็นที่ชาวมังสวิรัติ นักกินเจ หรือผู้ที่พยายามลดเนื้อกินผัก มักจะถูกกล่าวหาอยู่เสมอ คือไม่กินเนื้อสัตว์แล้วแต่ยังฆ่าสัตว์กันหน้าตาเฉย ยกตัวอย่างเช่นการตบยุง ซึ่งเป็นกรณีกล่าวหายอดฮิตนั่นเอง

ผมเองไม่ได้ตบยุงมากว่าสองปีแล้วตั้งแต่เริ่มลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก การใช้วิถีปฏิบัติธรรมเข้ามาขัดเกลาความอยากกินเนื้อสัตว์ ได้ขัดเกลาความโกรธเกลียดและความอาฆาตไปพร้อมๆกัน

แม้เราจะมีเหตุผลที่ดูดีมากมายในการฆ่ายุง เช่นมันทำร้ายเรา มันเข้ามาใกล้ตัวเรา เราตบไปด้วยความเคยชิน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรมีในตนเลย เราไม่ควรจะเหลือเหตุผลในการเบียดเบียนชีวิตอื่นเลย ไม่จำเป็นเลยว่าเขามาทำร้ายเราแล้วเราจะต้องทำร้ายเขากลับ มันไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย

เราไม่จำเป็นต้องปกป้องตัวเองด้วยการฆ่า เพราะเราสามารถใช้การป้องกันได้ สมัยนี้ก็มีวิธีป้องกันมากมาย ไม่ให้ยุงเข้ามาใกล้เรา

แต่สุดท้ายแล้วถึงมันจะเข้ามาใกล้และกัดเรา เราก็ไม่จำเป็นจะต้องตอบโต้ใดๆกลับคืนเลย มันกัดแล้วก็แล้วไป จะพามันไปปล่อยนอกมุ้งนอกหน้าต่างก็ได้ถ้าทำได้ ปฏิกิริยาตอบโต้ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นมีใจเป็นตัวสั่ง มันไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ แต่มันเกิดเพราะสติเราไม่ทันกิเลส มันเลยสั่งให้เราตบยุงอย่างไม่ทันรู้ตัว ไม่ทันเหยียบเบรก รู้ตัวอีกทียุงก็ตายคามือแล้ว

แม้ว่าการถือศีลนั้นจะหยุดการฆ่าได้เพียงแค่หยุดร่างกายเอาไว้ แต่ใจยังรู้สึกอาฆาตแค้น ก็ยังดีกว่าลงมือฆ่า แต่ถ้าจะให้ดีคือพัฒนาจิตใจ ปฏิบัติธรรมโดยใช้ศีลนี่แหละเป็นกรอบในการกำจัดเหตุแห่งการฆ่าทั้งกาย วาจา ไปจนถึงใจ ผู้ใดที่ชำระล้างกิเลสที่เป็นเหตุแห่งการฆ่าได้ ก็จะไม่มีเหตุผลในการฆ่าและเบียดเบียนสัตว์อีกเลย

และเมื่อนั้นเราก็จะเป็นผู้ที่ละเว้นเนื้อสัตว์โดยไม่มีข้อกล่าวหาใดๆ เพราะบริสุทธิ์ด้วยศีล ศีลจะเป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้เราทำบาป ไม่ให้เราสร้างอกุศล ไม่ให้เราต้องพบเวรภัยต่างๆอีกมากมาย

– – – – – – – – – – – – – – –

21.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)