Tag: หนี้บาปหนี้บุญ

เมื่อรักขม

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,573 views 0

เมื่อรักขม

เมื่อรักขม

…เมื่อความรักที่เคยหอมหวาน กลับกลายเป็นความทุกข์ระทมขมขื่น

จะมีสิ่งใดในโลกบ้าง ที่เที่ยงแท้ ไม่ผันแปร คงที่คงทนได้อยู่ตลอดกาล แม้แต่ความรักที่อ้างนักอ้างหนาว่ายิ่งใหญ่ มั่นคง บริสุทธิ์ก็ยังต้องเปลี่ยนแปลงไปในวันใดก็วันหนึ่ง แล้วเราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้อย่างไร ลองมาศึกษาข้อคิดเห็น 9 ข้อดังต่อไปนี้กันเลย

1). แรกรักก็ว่าหวาน

คนเราเมื่อได้เสพสมใจตามกิเลสก็จะมีความสุข เมื่อคนที่เรารักสามารถปรนเปรอกิเลสของเราได้ จนอิ่มหนำสำราญ โลกของเราก็จะสวยงามเหมือนว่าเป็นสีชมพู อะไรๆก็สวยงามดูดีไปหมด เพราะเรากำลังอยู่ในสภาพแห่งความหลงสุข

จะมีใครบ้างที่ไม่ชอบให้คนมาตามใจ ดูแล เอาใจ ปรนนิบัติ รับใช้ ฯลฯ แต่จะมีใครบ้างที่จะเห็นเบื้องหลังของสิ่งที่เราได้มา ความสุขที่เราได้รับนี่มันไม่ใช่ของฟรีนะ ไม่ใช่ว่าบังเอิญได้มาฟรี แต่มันมีค่าใช้จ่ายของมันอยู่เหมือนกัน ซึ่งการได้มาหรือเสียไป ไม่ได้มาจากแค่เพียงสิ่งที่อยู่ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมอย่างเงินทอง แต่อยู่ในลักษณะของนามธรรมคือกุศลและอกุศลด้วย

สิ่งที่ผลักดันให้เรารู้สึกสุขส่วนหนึ่งก็มาจากกุศลหรือความดีที่เราเคยทำไว้ตั้งแต่ชาติก่อนจนมาถึงชาตินี้เช่นเราดูแลคู่ครองดี เขาก็ดูแลเรากลับดี แต่ความสุขที่เกิดไม่ได้มาจากกุศลเพียงอย่างเดียว มันยังมาจากแรงแห่งบาปด้วย

บาปคืออะไร? บาปก็คือการสนองกิเลส การสะสมกิเลส เช่นเรารู้สึกว่ารักนั้นหวาน มีความสุขเพราะมีรัก เหตุนั้นเพราะคู่รักของเรา เอาใจ ตามใจเรา เราอยากได้อะไรเขาก็ให้ เราอยากกินอะไรก็ได้กิน นี่มันคือสุขจากการเสพกิเลส มันหลอกเราให้เรารู้สึกหวานแบบนี้

2). รสหวานที่ไร้ความหมาย

แต่เราได้เสพสุขไปนานๆแล้ว ความหวานมักจะลดลง เกิดจากเหตุสองส่วนนั่นคือ 1).เราชินชากับความหวาน 2). ความหวานนั้นลดลงจริงๆ

เมื่อเราได้เสพสุขจากสิ่งใดบ่อยๆแล้ว เราก็มักจะเกิดอาการชินชา ด้านชา เบื่อที่จะได้รับการเสพแบบเดิมๆ ถึงแม้คู่ครองจะบำรุงบำเรอกิเลสด้วยมาตรฐานเท่าเดิม แต่เราก็จะรู้สึกไม่อิ่มเหมือนเดิม ไม่สุขเหมือนเดิม ไม่หวานเหมือนเดิม เหมือนกับคนที่กินจนอ้วน ก็จะเพิ่มปริมาณอาหารต่อมื้อมากขึ้นเรื่อยๆ กิเลสก็เช่นกัน ถ้าเราเลี้ยงกิเลสให้อ้วน แล้วเราไม่สนองมันด้วยอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา ที่มากกว่าเดิมนั้น มันก็จะรู้สึกเบื่อ ชินชา เป็นทุกข์ อยากเสพมากขึ้น ความหวานเดิมๆจึงไร้ความหมาย

ในกรณีของความหวานที่ลดลงก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะแรกรักเราก็มักจะต้องทุ่มเทสนองกิเลสของอีกฝ่าย เพื่อที่จะใด้อีกฝ่ายมาสนองกิเลสให้กับตัวเรา ยอมพลีกายให้เรา ยอมบำเรอเราด้วยทรัพย์สินเงินทอง แต่พอเราได้เสพในสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการสมสู่ การแต่งงาน การมีลูก การมีฐานะที่มั่นคง แรงผลักดันที่ทำให้เราไปสนองคู่ของเราหรือที่เรียกว่าความหวานนั้นก็จะลดลงเป็นธรรมดา เหมือนกับนักวิ่งเมื่อเขาเหล่านั้นถึงเป้าหมายที่หวังไว้เขาก็จะหยุดวิ่งเป็นธรรมดา

เช่นเดียวกันกับในเรื่องของคู่ ถ้าเขาได้รับการสนองกิเลสในสิ่งที่เขาต้องการจนเขามั่นใจแล้วว่า เขาจะได้สิ่งนั้นแน่นอน เขาก็จะลดความหวานลง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายคนหนึ่งที่ต้องการมีแฟนเพื่อสนองความใคร่ เขาจึงใช้กำลังส่วนหนึ่งในการเฝ้ารอ ทุ่มเท เอาใจ ดูแล เอาใจใส่ สนองกิเลสของเธอผู้โชคร้ายคนนั้น จนกระทั่งวันหนึ่งได้กระตุ้นกิเลสของเธอจนพุ่งพล่านด้วยการพาไปดินเนอร์สุดหรู พร้อมคำหวานที่คัดสรรมาอย่างดี ตบท้ายด้วยแอลกอฮอล์ที่พาให้สติกระเจิดกระเจิง สุดท้ายเมื่อเธอเห็นว่าชายคนนี้ช่างเหมาะจะมาเป็นคนที่มาสนองกิเลสของเธอในอนาคตต่อไป เธอจึงยอมพลีกายให้เขา เมื่อเขาได้สมสู่จนมั่นใจว่าผู้หญิงคนนั้นไม่มีวันพรากไปจากเขา เขาจึงลดการบำเรอกิเลสเธอลง หันกลับมาใช้พลังงานเหล่านั้นสนองกิเลสของตัวเองแทน

3). น้ำพริกถ้วยเดิม

แม้ว่าทั้งคู่จะเป็นคนดีที่มีความเสมอต้นเสมอปลายต่อกัน แต่ในความจริงนั้นไม่มีสิ่งใดที่ตั้งอยู่ได้นาน ความรักก็เช่นกัน แม้จะไม่มีปัจจัยใดๆเข้ามาเป็นสิ่งกระทบ แต่ความหวานก็จะค่อยๆลดน้อยถอยลงตามกาลเวลา ตามความเคยชิน จากคนที่รักสุดรักในวันแต่งงาน ค่อยๆกลายเป็นเพื่อน กลายเป็นญาติ กลายเป็นคนรู้จัก จนกระทั่งอาจจะกลายเป็นคนที่ไม่อยากรู้จักกันเลย

นั่นเพราะความอยากเสพมันได้จางคลายลงไป ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของโลก ถึงแม้เราจะพยายามปรุงรสชาติให้ชีวิตรักมันสุดเผ็ดเด็ดสะท้านสักเท่าไร ความหวานเมื่อครั้งแต่งงานใหม่ๆก็ไม่มีวันที่จะกลับมา มันจะเปลี่ยนสภาพไป ค่อยๆจืดจาง และสลายหายไปในที่สุด

คู่รักที่คงสภาพคู่อยู่ได้ จึงมักจะมีความสัมพันธ์ในลักษณะของเพื่อนกันเสียมากกว่า เพราะถึงจะพยายามปรุงแต่งให้ดูเหมือนว่ารักกันเพียงใด แต่ในใจมันจะไม่สุขเหมือนก่อนแล้ว

4). เมื่อรักขม

หากเราสามารถยอมรับความเปลี่ยนแปลงของความรักที่เกิดขึ้นได้กันทั้งคู่ ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไรในชีวิตคู่ เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับในความสุขที่จืดจางลง ลดน้อยลง ไม่ว่าจะในด้านรูปธรรม เช่น รูปร่าง หน้าตา ฐานะ สมรรถภาพทางเพศ หรือด้านนามธรรม เช่นความรู้สึกที่มันไม่อยากเสพเหมือนตอนสมัยแต่งงานหรือจีบกันใหม่ๆ

ความขมนั้นเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังติดรสหวาน และยอมรับไม่ได้กับรสชาติชีวิตรักที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อไม่ได้เสพสมใจตามความเคยชิน หรือไม่ได้เสพตามที่ต้องการมากขึ้นก็จะทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ การที่ทุกข์นั้นเกิดเพราะเรายึดติดในความหวาน ยึดมั่นถือมั่นว่าชีวิตรักจะต้องหวานดังใจเราตลอดไป

5). ทนทุกข์ระทมขมขื่น

เมื่อเราไม่ได้เสพอย่างที่กิเลสต้องการ ความทุกข์ก็จะเริ่มเกิดขึ้น เมื่อไม่สามารถระบายออกหรือหามาเสพเพิ่มได้ก็จะเริ่มอึดอัด กดดัน ทรมาน ยิ่งต้องอดทนเป็นแบกความทุกข์นั้นเป็นเวลานานก็ยิ่งทุกข์ระทมขมขื่น ความทุกข์เหล่านี้เป็นความทุกข์แบบโลกๆ เป็นแบบชาวบ้าน ไม่ใช่ทุกข์ที่ทำให้เห็นธรรมได้ชัดเจนเท่าไรนัก เพราะเป็นทุกข์จากความอยากเสพแล้วไม่สามารถหามาเสพได้

หากใครฝืนอดทนทุกข์แบบนี้เพราะหวังพบกับความสุขนั้นก็ต้องบอกเลยว่ายาก เพราะการทนทุกข์เพื่อบรรลุธรรมจะเป็นอีกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ใจเราอยากสมสู่คู่ครอง แต่เราได้ศึกษามาแล้วว่าการเว้นจากการสมสู่ เป็นศีลที่เป็นบุญเป็นกุศลมาก แม้คู่ครองจะพร้อมสนองกิเลสของเรา แต่เราก็จะไม่ตามใจกิเลสของเรา ยอมทนทุกข์เพื่อเป็นบุญกุศล แบบนี้ต่างหากคือการเห็นทุกข์จึงเห็นธรรมที่แท้จริง คือการมีให้เสพแต่ไม่ไปเสพด้วยกำแพงศีลธรรม

แต่การทนทุกข์โดยที่ไม่เห็นกิเลส ไม่เข้าใจกิเลส ไม่เข้าใจว่าตัวเองทุกข์เพราะมีความอยาก เพราะตัวเองไม่ยอมรับความจริงว่าในปัจจุบันรักนั้นไม่ได้หวานเหมือนก่อนแล้วเราจึงทุกข์ พอไม่เห็นกิเลสแล้วเราก็มักจะไปโทษคู่ครองหรือคนอื่นว่าสนองกิเลสเราไม่ได้เหมือนเดิม ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนแต่งงาน ไม่มั่นคง ไม่เสมอต้นเสมอปลาย หลอกลวง ฯลฯ

ความทุกข์แบบนี้คือการสะสมกิเลสเข้าไปอีก เพิ่มโลภ โกรธ หลงเข้าไปอีก ห่างไกลธรรมยิ่งขึ้นอีก จึงทำให้จิตใจวนเวียนอยู่กับความทุกข์ระทมขมขื่น หาทางออกก็ไม่ได้ มองไปทางไหนก็มีแต่ทุกข์ เพราะเหตุแห่งทุกข์ไม่ดับ ทุกข์จึงเกิดอยู่นั่นเอง

6). หนีอะไรก็หนีได้ แต่หนีกรรมไม่พ้น

เมื่อต้องฝืนทนกล้ำกลืนกับชีวิตรักที่ขาดความหวาน โดยที่ไม่เข้าใจว่าทุกข์เหล่านั้นเกิดจากปริมาณความอยากของตัวเองที่เกินความเป็นจริง ก็จะแสวงหาทางที่ผิด นั่นคือการหนีออกจากคู่ครอง

การหนีหรือตีจากนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งวิธีเลิกกันตรงๆหรือวิธีกดดันให้อีกฝ่ายเลิก ต่างก็เป็นวิธีที่เห็นได้ทั่วไป แต่ไม่ว่าวิธีเหล่านั้นจะเป็นวิธีที่ทำให้การเลิกราเป็นไปด้วยดีหรือสวยหรูแค่ไหน ก็เป็นหนทางที่ไม่เป็นผลดีทั้งนั้น

เราเองเป็นคนต้อนรับเขาเข้ามาในชีวิตเอง วันนั้นเราก็ตัดสินใจเอง ไม่ว่าจะแฟนหรือสามีภรรยา เราดูแล เอาใจ บำรุงบำเรอกิเลสเขาเอง แต่พอมาวันนี้เขาเริ่มจะไม่หวานสมใจเรา เราขัดใจเรา ทำร้ายจิตใจเรา เราก็จะไล่เขาออกจากชีวิต มันแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ได้นะ เพราะวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้จะกลับกลายเป็นผลร้ายเพิ่มกรรมชั่วในชีวิตเข้าไปอีก

ผลกรรม อันคือความทุกข์ใจจากความไม่หวานสมดังใจนี่แหละคือสิ่งที่เราต้องรับ เพราะเราหลงไปรับเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเอง หลงไปรับเป็นแฟน หลงไปแต่งงานเอง ก็ต้องรับกรรมในส่วนนี้ทั้งหมด จะหนีไม่ได้ กล้าทำก็ต้องกล้ารับ ความสุขความทุกข์หากยังยินดีกับทางโลกอยู่ก็ต้องรับมันอย่างนี้เรื่อยไป

ทีนี้พอเราจะไปทิ้งเขา มันก็สร้างกรรมใหม่ให้เราอีกคือ “เราทิ้งเขา” ซึ่งอาจจะส่งผลให้ในวันใดวันหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่งในอนาคตข้างหน้า เราอาจจะต้องถูกทิ้งทั้งที่ยังรักยังหวงแหนอยู่ก็เป็นได้ ซึ่งในมุมนี้หลายคนก็คงเคยเจอว่าทำไม ฉันเองก็ดีแสนดี แต่เขายังมาทิ้งฉันได้ลงคอ กรรมมันจะเป็นในลักษณะนี้ มันจะมากระแทกให้เห็นถึงสิ่งที่เราเคยไปทำเลวร้ายมา ซึ่งจะเหมือนกับที่ทำก็ได้ จะต่างไปจากที่ทำก็ได้แล้วแต่เหตุปัจจัยที่เหมาะที่ควร

ดังนั้นเราก็ควรจะก้มหน้ารับกรรมที่เราก่อไว้ต่อไป อย่าไปเพิ่มกรรมชั่วขึ้นมาใหม่ เพราะของเก่าที่ทำไว้ก็ทำให้ทุกข์ระทมขมขื่นสุดจะทนอยู่แล้ว แต่นั่นแหละคือผลกรรมแห่งความอยากมีคู่ครอง เป็นกรรมที่ทำในชาตินี้และได้ผลในชาตินี้ เร็วทันใจไม่ต้องรอชาติหน้า

7). ขยาดยาขม

ถึงแม้ว่าหลายคนอาจจะตัดสินใจเลิกรา หรือมีโอกาสให้เลิกราด้วยเหตุอันควร เช่นคู่ครองไปคบชู้ ไม่ซื่อสัตย์ หรือกระทำเหตุที่ผิดศีลธรรมในครอบครัว ก็เป็นโอกาสที่เราจะสามารถเลิกราได้โดยไม่เกิดกรรมชั่วแต่อย่างใด ซึ่งโดยรวมจะเป็นผลดีเสียมากกว่า

กล่าวคือหากคู่ครองผิดศีล คนผิดศีลก็เป็นคนไม่ดี โดยเฉพาะศีลข้อสาม ในฐานของคนทั่วไปรับรู้กันดีว่าถ้าต่ำกว่าศีล ๕ ระดับนี้ก็ถือว่าเป็นคนไม่เต็มคน หรือเรียกได้ว่าตกต่ำไปถึงภูมิของเดรัจฉาน เพราะโดยสามัญสำนึกแล้วคนเราไม่ควรจะต่ำกว่าศีล ๕ จึงจะสามารถดำรงชีวิตได้เป็นสุข ในกรณีที่ผิดศีลข้อ ๓ นั้นจะค่อนข้างเป็นกรรมที่รุนแรงเพราะทำร้ายใจคู่ครอง ทำลายความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้คู่ครองเกิดทุกข์มาก ดังนั้นจึงเป็นคนชั่ว

เมื่อเป็นคนชั่วเราก็ไม่ควรให้เขามาใกล้เรามาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมงคล ๓๘ ในข้อแรกว่าด้วยการไม่คบคนพาล เมื่อเราพบว่าคู่ครองของเราเป็นคนพาล เราจึงมีสิทธิ์ที่จะเลิกราอย่างถูกต้องได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

แต่ไม่ว่าเราจะเลิกรากับคนรักด้วยสาเหตุที่ว่าเขาไม่หวานเหมือนก่อนหรือเขาทำผิดต่อความรักก็ตามแต่ เราอาจจะมีอาการขยาดความรักติดมาด้วย เราจะมองความรักในมุมติดลบ ระวังตัว ขลาดกลัว ระแวง ซึ่งเป็นลักษณะของอาการผลักไสความรัก เป็นความยึดมั่นถือมั่นในอีกมุมหนึ่ง

ซึ่งความขยาดนี้เองก็ยังไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ เพราะแท้จริงแล้วเราไม่ได้เกลียดความรัก แต่เราเกลียดที่ความรักไม่เป็นดังใจเราหมาย เมื่อเราไปขยาดความรักแล้วเข้าใจว่าตนเองไม่อยากมีรักเพราะรักทำให้เป็นทุกข์เพราะไม่ได้เสพสมใจจึงเป็นความเข้าใจที่ยังผิดเพี้ยนอยู่

เพราะความเข้าใจนี้เอง ยังไม่ได้ล้างกิเลสในฝั่งของการดูด หรือความสุขจากความรัก แต่เอาการเกลียดความรักหรือเอาอัตตามากลบไว้ ลักษณะจะเหมือนคนไม่ต้องการความรัก เหมือนไม่สนใจ เหมือนไม่แคร์ แต่แท้ที่จริงมันอยากอยู่ในใจลึกๆ แล้วมันจะทรมานเพราะความอยากนี่แหละ

แถมความขยาดนี่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่พลาดไปมีรักอีกครั้งนะ แต่คนที่ขยาดจะตั้งสเปคไว้สูงขึ้น เช่นคบกับคนเก่าทั้งจนและขี้เกียจเลยเลิกกัน สุดท้ายก็ตั้งเป้าว่าคนใหม่จะต้องรวยและขยัน เป้าใหม่นี่มันกิเลสเพิ่มขึ้นมานะ กับคนแรกเราไม่อยากเสพเขาขนาดนี้ แต่กับคนใหม่นี่เราอยากเสพทั้งลาภและยศของเขาด้วย พอกิเลสมันเพิ่มทุกข์มันก็จะเพิ่ม มันอันตรายตรงนี้นี่แหละ

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งเช่น แฟนเก่ามีนิสัยเจ้าชู้ไม่เอาใจ จึงทำให้เข็ดขยาดในการมีรัก ตั้งกำแพงขวางกั้นไว้ไม่ให้คนเข้ามารัก วันหนึ่งมีพระเอกขี่ม้าขาว เต็มไปด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งรวย ทั้งหล่อ ทั้งเอาใจเก่ง เรื่องทางลบก็ไม่มี ด้วยคุณสมบัติเหล่านั้นจึงผ่านกำแพงที่ตั้งไว้ได้อย่างง่ายดาย เหมือนพระเอกขี่ม้าขาวที่กางปีกบินข้ามกำแพงเข้ามาในใจแบบงงๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าจริงๆแล้วเขาข้ามมาหรือเรายกกำแพงออกให้เขาเข้ามา แต่สุดท้ายก็มักจะเจอหนักกว่าเดิมเพราะหนีกรรมเก่ามา เจอคนใหม่ก็มักร้ายกว่าเก่า ซ้ำร้ายยังอาจจะเจอตอนที่อยู่ในสภาพที่แต่งงานมีลูกแล้ว พระเอกค่อยๆเปลี่ยนร่างเป็นผู้ร้าย เจ้าชู้ เอาแต่ใจ โมโหร้าย และอีกมากมายแล้วแต่กรรมของเราจะบันดาล

8). หวานเป็นลม ขมเป็นยา

สิ่งที่เราควรจะทำเมื่อรักที่หวานเปลี่ยนเป็นขมนั้นไม่ใช่การจมอยู่กับความทุกข์ แต่เป็นการเพ่งมองไปที่ทุกข์ เพื่อหาเหตุแห่งทุกข์ หาหนทางดับทุกข์ ด้วยวิถีทางแห่งการดับทุกข์

เพราะแท้จริงแล้วความขมหรือทุกข์ที่เกิดขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของกรรมที่เราทำมาไม่ว่าจะเป็นกรรมที่เกิดจากกิเลสในชาตินี้หรือชาติก่อนๆ คู่ครองของเราคือคนที่มีหนี้บาปหนี้บุญกันมา คือคนที่จะต้องมาชดใช้กรรม การตัดสินใจเลิกราเขาโดยไม่มีเหตุร้ายแรงนั้นไม่ใช่การหนีกรรมที่ถูกที่ควรแต่การจะพ้นจากกรรมที่เป็นหนี้กันอยู่ก็คือการทำดีต่อกันให้มาก

เพราะเราเป็นหนี้เขา เราจึงต้องจ่ายหนี้ แต่หนี้ตรงนี้ไม่ใช่ตัวเงินแต่เป็นกุศล ซึ่งเป็นนามธรรม ส่วนเราจะทำสิ่งใดที่เป็นรูปธรรมเพื่อการใช้หนี้ก็ได้ เช่น การดูแลเอาใจใส่เขา หรือดูแลทุกคนที่มีส่วนในทุกข์ของเรา ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ การพาเขาศึกษาธรรม การพาเขาทำดี ไม่พากันสนองกิเลส พากันลดกิเลส จนถึงขั้นพากันล้างกิเลสเลยก็ยิ่งดี

กรรมชั่วทั้งหมดที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นเพราะกิเลสของเรา หากเราล้างกิเลสได้ก็จะเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นความดีที่ดีที่สุด เพราะการล้างกิเลสนั้นหมายถึงการตัดภพ ตัดชาติของความอยากที่จะเกิดอีกต่อไปในอนาคต เช่นเราทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ มากินมังสวิรัติ เราก็จะไม่ชวนเขาไปกินเนื้อย่าง ไปแสวงหาเมนูเนื้อสัตว์ที่อร่อย นั่นหมายถึงเราไม่พาเขาสะสมกิเลสเพิ่ม ซึ่งหากเราทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ลดขนม ลดกาแฟ ลดการแต่งตัว ลดการแต่งหน้า ลดการท่องเที่ยว ลดการสะสม ฯลฯ เราก็จะพ้นจากกรรมกิเลสไปเรื่อยๆ

เมื่อเราทำดีไปเรื่อยๆ และจนกระทั่งกรรมชั่วในเรื่องนั้นๆ ได้ถูกใช้จนหมด เมื่อกุศลมากกว่าอกุศล ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เราหลุดจากความทุกข์ระทมขมขื่นนั้นได้ เช่น คู่ครองเป็นคนดีขึ้น ,คู่ครองตายจากไป ,คู่ครองหนีไปมีคนใหม่ หรือเหตุการณ์ใดๆก็ตามที่ทำให้เราไม่ต้องทนทุกข์อยู่เช่นเคย

การล้างกิเลสที่ดีที่สุดนั้นก็คือการล้างความยึดมั่นถือมั่นในความรัก ในความคาดหวังว่ารักจะต้องหอมหวานสวยงามตลอดไปซึ่งเป็นเหตุหนึ่งของความทุกข์ที่เกิดขึ้นเมื่อรักนั้นเปลี่ยนแปลง หากเราสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส คือใช้โอกาสแห่งทุกข์นี้พิจารณาความยึดมั่นถือมั่นของเราจนกระทั่งทำลายกิเลสเหล่านั้นได้ ก็จะไม่เกิดทุกข์อีก แต่จะยังคงเหลือทุกข์ที่ยังต้องแบกภาระไว้ เช่นดูแลคู่ครอง ดูแลพ่อแม่ของคู่ครอง ดูแลลูก ซึ่งกรรมเหล่านี้ก็เป็นผลจากกิเลสที่เรายังต้องแบกรับไว้เช่นกัน

9). ไม่ติดหวานก็ไม่ต้องขม

ความสุขความทุกข์ในความรักนั้นก็เป็นสิ่งที่วนเวียนเกิดขึ้นสลับกันไปมา ตราบใดที่เรายังคงหลงอยู่ในโลกธรรม หลงสุขอยู่ในโลกดังที่เห็นและเป็นอยู่ เราจะต้องพบกับความหวานและความขม สลับสับเปลี่ยนวนไปมาไม่รู้จบ

หากเรายังมีความต้องการความหวาน ยังติดหวาน หรือยังต้องการความรัก เราก็จะแสวงหาความรักของเราต่อไปเรื่อยๆ แม้ไม่ได้เสพสมใจก็จะหาต่อไป แม้ว่าจะแก่และตายไปก็จะสร้างร่างใหม่ขึ้นมาเพื่อหาความรักมาเสพอยู่เหมือนเดิม เพราะเราหลงติดสุขอยู่ในความหวานเหล่านั้น เราจึงต้องเกิดมาเสพความหวานนั้นอย่างไม่มีวันจบสิ้น

ซึ่งดังที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าความหวานนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราจะได้รับ เราต้องได้รับรักที่ขมขื่นด้วย เรื่องโลกมันก็เป็นแบบนี้ กรรมมันก็ส่งผลให้สุขให้ทุกข์อยู่แบบนี้ หากเราไม่หลงติดสุขอยู่ในรสสุขลวงเหล่านั้นเราก็ไม่ต้องรับทุกข์ที่จะเกิดขึ้น

เพราะไม่ติดรสสุขในกิเลส ก็เลยเห็นแต่ทุกข์เมื่อความหวานไม่มีค่าให้หลงอีกต่อไป ไม่มีรสอะไรอีกต่อไป สิ่งที่เหลือคือทุกข์อย่างเดียว ทุกข์จริงๆไม่มีสุขปนเลย “พอล้างกิเลสได้จริงจะเห็นความจริงตามความเป็นจริง” ว่าการครองคู่นั้นไม่มีสุขใดๆอยู่เลย แต่ถ้าเรายังมีกิเลสอยู่ก็จะเห็นสุขลวงนั้นเป็นสุขจริง จึงเผลอลำเอียงเข้าข้างกิเลสไป หลงไปตามที่กิเลสล่อ มองไม่เห็นความจริงตามความเป็นจริง

เราไม่รับทั้งหวานและขม ไม่เอาทั้งสุขและทุกข์ ด้วยภาษานั้นเราอาจจะเข้าใจว่ามันไม่สุข แต่เมื่อเราไม่ติดกับโลกธรรม ไม่ติดอยู่ในสุขและทุกข์ เราจะได้สุขที่เหนือกว่า สุขกว่า สุขตลอดเวลา สุขเรียบๆ สุขเบาๆ สุขสบายๆ สุขจากการไม่เสพ เพราะเห็นทุกข์ โทษ ภัยผลเสียที่เกิดขึ้นจากกรรมและเห็นผลของกรรมอย่างชัดแจ้ง จึงรู้ชัดเจนในใจว่า ไม่เสพนี่แหละสุขที่สุดแล้ว

แต่สุขจากการไม่เสพการครองคู่นั้นทำได้ยากยิ่ง เป็นความพยายามที่ทวนกระแสโลกอย่างรุนแรง ในขณะที่คนพากันมีความรัก มีหนังรัก มีเพลงรัก มีภาพคู่รัก มีงานแต่งงาน และสารพัดข้อดีของการมีคู่รักตลอดจนการมีครอบครัว มีช้อมูลมากมายประดังเข้ามาเสริมพลังกิเลสของเราอยู่เสมอ

เราจะทนได้อย่างไร เราจะผ่านมันได้อย่างไร เราจะมีพลังพิจารณาโทษของมันได้อย่างไร ในเมื่อรสหวานแห่งความรักนั้นยากจะต้านทาน มีผู้คนมากมายใฝ่ฝันและหลงกันไปเป็นเรื่องปกติ เราจะสามารถเป็นปลาที่ว่ายน้ำทวนกระแสแห่งกิเลสที่รุนแรงแบบนี้ไหวไหม หรือเราจะยอมลอยตามกิเลสไปอีกครั้งหนึ่ง

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร” ความเพียรนี้เองคือคุณสมบัติที่จะพาเราว่ายทวนกระแสของกิเลสไปได้ เพียรลดกิเลส ลดความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องรัก ในเรื่องคู่ครอง พิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าทั้งหมดที่เราหลงนั้นมีทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียอย่างไร การออกจากสิ่งเหล่านั้นจะมีประโยชน์อย่างไร เพียรพิจารณาเช่นนี้ซ้ำไปซ้ำมา วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า ด้วยความเพียรลดกิเลสอย่างไม่ลดละนี้เอง ที่จะพาเราข้ามกิเลสนี้ไปได้

– – – – – – – – – – – – – – –

28.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์