Tag: รูปภพ

การปฏิบัติศีล (สมาธิ ปัญญา)

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,229 views 0

การปฏิบัติศีล(สมาธิ ปัญญา)

การปฏิบัติศีล(สมาธิ ปัญญา)

การปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์นั้นเราจะต้องปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา โดยไม่โต่งไปในด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป โดยปฏิบัติให้พอเหมาะกับกิเลสนั้นๆ

ศีล เหมือนดังเข็มทิศที่จะบอกว่าทิศทางที่เรากำลังจะไปนั้นต้องเดินไปทางด้านไหนเรากำลังมาถูกทางหรือผิดทาง

สมาธิ เหมือนดังกำลังที่จะพาให้เราปฏิบัติศีลไปจนตลอดรอดฝั่ง ให้เรามีความเพียรพยายามล้างกิเลสได้อย่างต่อเนื่อง

ปัญญา นั้นเหมือนดังเครื่องมือมีที่จะนำไปทำลายกิเลส เมื่อเราสามารถชำระกิเลสได้เท่าไหร่เราก็จะได้ปัญญาที่เป็นผลมากเท่านั้น

ในตอนที่เราเริ่มปฏิบัตินั้นเราจะเต็มไปด้วยกิเลส แต่เมื่อเราปฏิบัติศีล อย่างมีสมาธิ จนเกิดปัญญารู้แจ้งทำลายกิเลส ปัญญาเกิดกิเลสก็หาย แต่ปัญญาไม่หายไปไหนเพราะสุดท้ายจะได้ปัญญาที่เป็นผลจากการทำลายกิเลส เป็นจิตใหม่ที่ประกอบไปด้วยปัญญา ไม่เหมือนจิตตอนที่เริ่มปฏิบัติซึ่งตอนนั้นยังไม่มีปัญญา

1).มรรค

ในระหว่างที่เราถือศีล เพื่อปฏิบัติธรรม เราจะต้องใช้ปัญญาเท่าที่เรามีขุดกิเลส หากิเลส ทำลายกิเลสไปเรื่อยๆตามศีลที่เราได้ตั้งไว้ เช่น เราตั้งศีลว่าจะลดกาแฟ เราก็ใช้ปัญญาของเรานี่แหละพิจารณาโทษของกาแฟ ด้วยสมาธิ ด้วยความตั้งมั่น มีขันติ อดทนต่อความอยากกาแฟ ดำรงสภาพของสมาธิให้นานเท่าที่จะนานได้เพื่อพิจารณาธรรมต่างๆ

เพราะเมื่อกำลังสมาธิหรือพลังจิตหมด เราจะหมดแรงต้านทานกิเลสหรือทนความอยากกินกาแฟไม่ไหว ก็กลับไปกินบ้าง พอพักแล้วมีกำลังใหม่ก็อดทนใหม่ ใช้ปัญญากะเทาะกิเลสต่อไปเรื่อยๆ จะใช้พลังสมถะเข้าช่วยเพิ่มกำลังบ้างก็ได้ ซึ่งจะทำให้ช่วงของการละเว้นกาแฟนั้นยาวนานขึ้น มีเวลาให้เราเห็นทุกข์จากความอยากและพิจารณาความอยากนั้นมากขึ้น

การปฏิบัตินี้เองเรียกว่ามรรค หรือทางเดิน ซึ่งการจะเดินไปในทางสายกลางได้อย่างไม่หลงไปซ้ายหรือไปขวานั้น ต้องพยายามละเว้นการกลับไปกินกาแฟ และประมาณตัวเองไม่ให้รู้สึกทรมานจนเกินไปเมื่อความอยากกาแฟเกินจุดที่จะกดข่มไหว ซึ่งในระยะที่ปฏิบัตินั้นจะเดินปัดซ้ายขวาไปมาระหว่างทางโต่งสองด้านอยู่อย่างนี้ แต่เมื่อเจริญขึ้นจะเริ่มนิ่งขึ้น จะเดินตรงขึ้น

เราไม่สามารถเข้าใจสัมมาอริยมรรคได้เพียงแค่การคิดหรือท่องจำ เพราะถึงแม้ว่าจะรู้ดีเพียงใดแต่ในขณะที่เรายังมีกิเลสเราจะไม่สามารถเดินตามมรรคได้สมบูรณ์นัก ซึ่งก็ต้องปฏิบัติละเว้นทางโต่งสองด้านและใช้หลักสัมมาอริยมรรคเป็นตัวยึดอาศัยบนเส้นทางแห่งศีลนั้นเอง

2). ผล

ในระหว่างที่ฝึกปฏิบัติ เราจะได้ผลเป็นระยะๆ มรรคผลจะเกิดขึ้นทีละนิดละหน่อย ปัญญาจะเจริญขึ้นเป็นลำดับ เพราะการปฏิบัติธรรมของพุทธนั้นเป็นไปตามลำดับ ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมในทันที

เราจำเป็นต้องปฏิบัติจนเห็นผลเจริญอย่างเป็นลำดับในจิตวิญญาณ ให้รู้ว่าวันนี้เราได้ผลเจริญขึ้นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนเราเห็นร้านกาแฟแล้วต้องแวะทุกทีเลยนะ แต่เดี๋ยวนี้สัปดาห์หนึ่งถึงจะแวะ หรือไม่ก็แต่ก่อนเราต้องกินกาแฟทุกเช้าเลยนะแต่เดี๋ยวนี้ไม่กินก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์ ไม่รู้สึกอยาก และไม่ได้รู้สึกว่ากาแฟจำเป็นอีกต่อไป

การที่เราปฏิบัติศีลอย่างตั้งมั่นจะทำให้เราได้รับปัญญาที่เป็นผลโดยลำดับ และปัญญาเหล่านี้เองที่จะทำให้เราสามารถปฏิบัติศีลที่สูงขึ้น หรืออธิศีลในส่วนย่อยของศีลที่เราตั้งไว้ได้ ยกตัวอย่างว่าเราสามารถลดกาแฟที่กินต่อวันจากสองแก้วเหลือหนึ่งแก้วเพราะเรามีปัญญารู้ว่ากินสองแก้วต่อวันไม่ดี อยากกินไปก็ทุกข์ ฯลฯ เมื่อปฏิบัติศีลจนได้ปัญญาเป็นผล ปัญญาที่เป็นผลเหล่านั้นจะเป็นฐานให้เราขยับขึ้นไปในระดับลดกาแฟต่อสัปดาห์ หรือเลิกกาแฟได้ง่ายขึ้น

เราจำเป็นต้องใช้ผลเจริญของปัญญาที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติศีลนี่แหละเป็นฐานให้เราขยับฐานการละเว้นต่อไป แม้ว่าเราจะไม่สามารถเลิกกาแฟ ชำระความอยากได้ทันที หรือไม่สามารถดับความอยากกินจนสิ้นเกลี้ยง แต่การที่เราสามารถถือศีลที่สูงขึ้น ยากขึ้น นั่นหมายความว่าเราสามารถที่จะทนการบีบคั้นให้เห็นตัวกิเลสได้ดีขึ้น ยิ่งถือศีลที่ยากมากเท่าไหร่ก็จะสามารถเห็นกิเลสที่แอบหลบซ่อนอยู่ได้มากเท่านั้น

ก). ไตรสิกขากับกิเลสสามภพ

ความจริงจังในการปฏิบัติธรรมไม่ได้หมายความว่าเราควรจะตั้งศีลเลิกตั้งแต่แรกแล้วยึดมั่นถือมั่นไว้ แบบนั้นอาจจะทำให้ทรมานจนโต่งไปด้านอัตตา จริงอยู่ที่ว่าเป้าของเราคือเลิกกาแฟ แต่เราควรตั้งใจลด ละ เลิกไปตามลำดับเพื่อเป็นไปตามหลักการปฏิบัติไตรสิกขา คือการเรียนรู้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา นั่นก็คือการพัฒนาระดับศีล สมาธิ ปัญญา จากการ ลด ละ เลิกไปตามลำดับนี่เอง

ทั้งนี้การทำไปตามลำดับก็เพื่อให้เราได้เรียนรู้ความหยาบ กลาง ไปจนถึงละเอียดของกิเลสชนิดนั้นๆ กิเลสนั้นมีสภาพอยู่สามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ การที่เราถือศีลที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆจะค่อยๆทำให้เห็นกิเลสที่ซ่อนอยู่ในแต่ละภพชัดเจนขึ้น เมื่อเห็นกิเลสจึงจะสามารถใช้สติปัญญาทำลายกิเลสได้ และศีลนี้เองคือสิ่งที่ควรประมาณให้เหมาะกับฐานะของตน

หากเรายังอยู่ในกามภพ คือสภาพที่เรายังไปกินกาแฟอยู่ เราก็ตั้งศีล ลด ละ เลิกกาแฟไปตามลำดับจนสามารถเลิกได้เด็ดขาดแล้ว จึงตั้งศีลในระดับของรูปภพ

สภาพของรูปภพคือยังมีความอยากกาแฟให้เห็นอยู่ มีความรู้สึกว่ายังอยากกินอยู่แต่ไม่กิน พอเข้ารูปภพจะต้องตั้งศีลที่ยากขึ้นอีกคือละเว้นความอยากกินกาแฟ แม้ความอยากกินกาแฟเกิดก็ผิดศีล เพราะความอยากที่เกิดเพียงในใจก็สามารถสร้างมโนกรรมได้แล้ว

เมื่อละรูปภพได้แล้ว เห็นกาแฟก็ไม่อยากกินเหมือนก่อนแล้ว ก็จะเข้าอรูปภพ หมายถึงสภาพที่ไม่สามารถเห็นกิเลสเป็นรูปได้อีกต่อไป ไม่มีความคิดว่าอยากกิน แต่เห็นกาแฟแล้วก็ยังไม่สบายใจ ยังแอบมอง ยังแอบสนใจ ยังรู้สึกดี มีคนจะซื้อมาฝากแม้จะปฏิเสธแต่ก็ยังแอบเสียดายอยู่ลึกๆ มีอาการที่ร่างกายเกิดขึ้นมาฟ้องบ้าง เช่นกลืนน้ำลาย น้ำลายไหล เราคิดว่าใจเรามันไม่อยากแล้วนะ แต่จิตใต้สำนึกมันยังอยากอยู่ มันยังมีอาการอยู่ ถ้าเข้าแบบนี้ก็ต้องตั้งศีลละเอียดขึ้น คือทุกอาการสั่นไหวของกายและจิตที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะกาแฟ ต้องละเว้นและทำลายกิเลสละเอียดที่แอบซ่อนนี้ให้ได้

3).มรรคผล

ถ้าเราตั้งศีลว่าเราอยากเลิกกาแฟนั้นอาจจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ง่าย แต่อาจจะยังติดอยู่ภพใดภพหนึ่งของกิเลสอยู่ ดังนั้นการตั้งศีลที่ว่าอยากจะพ้นจากความอยากกินกาแฟทั้งกาย วาจา ใจ นี้เป็นศีลที่พาให้เกิดกุศลมากกว่า เข้าถึงกิเลสได้จริง เห็นกิเลสได้จริง ทำลายกิเลสได้จริงๆ จึงมีโอกาสที่จะถึงวิมุตติจริงๆ

เมื่อเราปฏิบัติศีลโดยลำดับจากง่าย กลาง ยาก จนสามารถผ่านกิเลสที่ดึงรั้งเราไว้ให้อยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพได้แล้ว ก็เหมือนว่าเราสามารถพาตัวเองออกจากถ้ำกิเลสได้ ออกมาพบความจริงตามความเป็นจริง เช่นเดียวกับการทำลายกิเลสเมื่อเราสามารถหลุดพ้นจากกิเลส เราจึงจะรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในเรื่องนั้นๆ

เช่นถ้าเราทำลายความอยากกินกาแฟ เราก็จะรู้ทุกเหลี่ยมทุกมุมในกิเลสเกี่ยวกับเรื่องกาแฟที่ผ่านมาของเรา ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความรู้เรื่องกิเลสในกาแฟทั้งหมดในโลก แต่ก็เพียงพอที่จะรู้ว่ามันติดเพราะอะไรและจะออกจากกาแฟได้อย่างไร นั่นเพราะตลอดเวลาที่เราปฏิบัติศีลอย่างตั้งมั่นเราก็จะได้ปัญญาและเจริญขึ้นมาโดยลำดับ สุดท้ายเมื่อเราทำลายกิเลสทั้งหมดเราก็จะได้ปัญญาที่เป็นผลเหล่านั้นไว้ใช้เพื่อเป็นธรรมทานให้คนอื่นใช้เป็นแนวทางในการทำลายความอยากกาแฟต่อไป

การปฏิบัติธรรมจนถึงผลนั้นไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ ไม่ใช่การทำเพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่หากเป็นความเพียรพยายามที่จะเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์แท้และละเว้นสิ่งที่เป็นโทษออกจากชีวิต พัฒนาจิตใจโดยการใช้ ศีล สมาธิ ปัญญาเพื่อเกิดความเจริญไปโดยลำดับ จนสามารถรู้แจ้งมรรคผลได้ด้วยตนเอง คือรู้วิธีการปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลสเหล่านั้นและรู้ผลที่เกิดขึ้นเมื่อทำลายกิเลสเหล่านั้น

จึงกลายเป็นผู้ที่ไม่มีความสงสัยในกิเลสเหล่านั้นเพราะรู้แจ้งเหตุปัจจัยในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จนสามารถดับความอยากซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นได้อย่างสิ้นเกลี้ยง

– – – – – – – – – – – – – – –

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เพิ่มเติมได้ที่ …

– – – – – – – – – – – – – – –

6.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น

December 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,540 views 0

กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น

กินร่วมจาน : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมจานกับผู้อื่น

เป็นระดับที่สองต่อจาก “กินร่วมโต๊ะ” แต่ก็จะยากขึ้นกว่าเดิมมาก ยังคงต้องใช้พื้นฐานเดิมคือ ”สติสัมปชัญญะ”ความรู้ตัวพร้อมแบบทั่วไป และ “สติปัฏฐาน ๔” คือรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม

ซึ่งสติทั่วไปนั้นเอาไว้รู้ตัวเพื่อไว้ใช้ในกรณีที่จะตัดสินใจใช้ขันติในการกดสภาพความอยากหรือใช้ธรรมอื่นใดเข้ามากด ลด ข่ม ตบอาการอยากนั้นๆก็ตามแต่เหตุการณ์ ส่วนสติปัฏฐานนั้นมีไว้เพื่อตรวจสอบและพิจารณาล้างกิเลส ทั้งนี้ทั้งนั้นการพิจารณาธรรมต้องมีสติที่สมบูรณ์พร้อมตลอดสายไม่ปัดอาการอยากทิ้งจนหายหมดเกลี้ยง ไม่ตบทิ้งด้วยตรรกะหรือเหตุผลใดๆจนไม่เหลือเชื้อให้พิจารณาธรรมได้ต่อ ถ้ามีสติไว้ตัดอาการอยากนั้นถือว่าเป็นสมถะวิธี แต่ถ้ามีสติตลอดจนถึงจบการพิจารณาธรรมถือว่าเป็นวิปัสสนาวิธี

ในกรณีของเราจะใช้ทั้งสมถะและวิปัสสนา แต่จะใช้วิปัสสนาเป็นตัวหลักและสมถะเป็นตัวเสริมในบางกรณี ซึ่งจะไม่ยกขึ้นมากล่าว แล้วแต่ว่าใครจะทนความอยากไหว ใครทนไหวก็ไม่ต้องกด ใครทนไม่ไหวก็ใช้สมถะกดไว้ก็ได้

ขั้นตอนที่ 1).คำเตือน!!

ในขั้นตอนนี้จะเริ่มมีความยากในการวิเคราะห์กิเลสขึ้นมา ผู้ที่ไม่เห็นว่ากิเลสคือเชื้อร้ายที่เป็นตัวผลักดันให้เรากินเนื้อสัตว์ ผู้ที่ไม่เห็นว่าการล้างกิเลสเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่ไม่เห็นว่าการล้างกิเลสสำคัญต่อการกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืนควรละเว้นการอ่านต่อไปเพื่อประโยชน์ของตัวท่านเอง

จะไม่มีประโยชน์ใดเกิดขึ้นหากท่านไม่มีคุณสมบัติเบื้องต้นดังที่กล่าวเมื่อตอนต้นของบทความหรือไม่มีความต้องการในการเรียนรู้กิเลส หากท่านยังคงยินดีในการที่ท่านกินมังสวิรัติได้โดยไม่สนใจความอยาก ข้อความต่อจากนี้จะเริ่มเป็นภัยต่อทิฏฐิของท่านอย่างมาก

ขอให้ท่านประมาณกำลังสติของตัวเองให้พอดี เพราะไม่มีใครที่จะต้องรับผิดชอบความขุ่นเคืองใจของท่านนอกจากตัวท่านเอง จะขอย้ำอีกครั้งว่าบทความนี้ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการจะกินมังสวิรัติ แต่เหมาะกับคนที่ต้องการเรียนรู้การลดกิเลสโดยใช้การกินมังสวิรัติมาเป็นโจทย์ หากท่านพิจารณาดีแล้วว่าเหมาะควรที่ตนเองจะเรียนรู้เรื่องกิเลสก็สามารถอ่านต่อไปได้ แต่หากพิจารณาเห็นว่าเรื่องราวอันยุ่งยากเหล่านี้ไม่เหมาะกับท่าน ท่านต้องการเพียงแค่กินมังสวิรัติเท่านั้น ก็ขอแนะนำให้ปิดบทความนี้เสีย

ขั้นตอนที่ 2).กินร่วมจาน

การกินร่วมจานนั้นหมายถึงเราต้องกินอาหารที่มีทั้งเนื้อสัตว์และผักในจาน ซึ่งโดยปกติแล้วเราก็จะใช้การเขี่ยผักเข้ามา เขี่ยเนื้อสัตว์ออกไปดังที่เรียกกันว่า”มังเขี่ย” หรือไม่ก็เป็นการที่เราต้องกินอาหารร่วมหม้อกับคนอื่นเช่นกรณีของต้มยำ ต้มจืด สุกี้ ชาบู หรืออะไรก็ตามที่มีเนื้อและผักร่วมกันโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในกรณีแยกหม้อจะขอยกไว้ในการกินร่วมโต๊ะแทนเพราะไม่ถือว่าเป็นการกินร่วมจาน ผลของการตรวจกิเลสออกมาจะไม่เหมือนกันเพราะวัตถุดิบคือเหตุการณ์ที่มีนั้นต่างกันออกไป จุดสังเกตในการตรวจสอบนี้คือเรารู้สึกอย่างไรเมื่อต้องไปข้องแวะกับเนื้อสัตว์หรือมีเนื้อสัตว์อยู่ในหม้อเดียวกัน เราแยกความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากการกินมังสวิรัติได้ไหม หรือเรายังคิดว่าการกินร่วมจานนั้นหมายถึงยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์

เราจะใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวขุดคุ้ยกิเลสของเรา หากผู้ใดที่ไม่มีสังคม ไม่มีโอกาสทดสอบในสถานการณ์เหล่านี้ ก็ขออภัยจริงๆที่ต้องบอกว่าท่านอาจจะกำลังมาผิดทาง เพราะการปฏิบัติธรรมของเราไม่ใช่การแยกตัวกับสังคม ยังคงต้องปฏิบัติไปพร้อมกับอยู่ในสังคม ให้ปนแต่ไม่เปื้อน หากท่านไม่มีกลุ่ม ไม่มีโอกาสในการทดสอบในด่านนี้ ก็ให้กลับไปทดสอบตัวเองในด่านก่อนในตอน “กินร่วมโต๊ะ” ท่านจะไปหาวิธีใดให้เกิดการกินร่วมโต๊ะโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็ได้ ในโรงอาหารหรือในร้านค้าที่เป็นที่นิยมที่ต้องเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์อย่างใกล้ชิด

หากว่าขาดผัสสะหรือสิ่งกระทบในการกระตุ้นกิเลสเหล่านี้ บทความทั้งหมดนี้จะกลายเป็นแค่นิยายบทหนึ่งที่ไม่มีความหมายอะไร เราจำเป็นต้องไปเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่จำมาหรือท่องมา แต่เป็นการสัมผัสทุกความอยากของตัวเองด้วยร่างกายและจิตใจของตัวเองซึ่งจะเป็นปราการด่านแรกที่จำเป็นต้องผ่านหากจะเรียนรู้การล้างกิเลส

ขั้นตอนที่ 3). ตรวจสอบกาม

หากว่าเรากินร่วมหม้อหรือร่วมจานกับผู้อื่นแล้ว เรายังมีอาการเขี่ยเนื้อเข้าตัว แอบควานเนื้อสัตว์เข้าหาตัว หรือพยายามกินผสมโรงให้รู้สึกว่าเหมือนไม่ผิดในการกินเนื้อสัตว์ ท่านกำลังอยู่ในกามภพที่ลึกลับซับซ้อนกว่าเดิม เพราะในแบบตรงไปตรงมาก็คือทนความอยากไม่ไหวแล้วลองกินเลย แต่คนที่ไม่จริงใจกับตัวเองก็จะทำเป็นเนียนกินไป แบบนี้ยากจะบรรลุธรรมเพราะมีการกลบเกลื่อนไม่ให้ตัวเองและผู้อื่นเห็นความอยากแม้ว่าจะตักกินอยู่อย่างชัดเจน

ผู้ที่อยู่ในรูปภพ จะไม่ทำเนียนกินหรือพยายามจะกินอีกต่อไป แต่จะพยายามกดข่มอาการอยากไว้ในภพ ในสภาวะที่ตัวเองไม่กิน เพื่อให้ตัวเองไม่ไปกิน ใจนั้นอยากกินอยู่ เห็นเนื้อสัตว์ที่ปนกันก็ยังอยากกินอยู่ แต่ด้วยความยึดว่าต้องมังสวิรัติจึงหักห้ามใจได้ดีกว่าผู้ที่อยู่ในกามภพ ซึ่งแม้ว่าจะหักห้ามใจให้ไม่ไปหยิบกินได้นั้น ก็ยังมีความอยากอยู่เต็มใจ อยากชัดเจนจนได้ยินเป็นคำพูดปรุงแต่งอยู่ในใจว่า น่ากินนะ อยากกินนะ น่าอร่อยนะ

ผู้ที่อยู่ในอรูปภพ หรือภพที่ไม่มีรูปของความอยากให้เห็นเป็นตัวตนชัดๆแล้วก็จะไม่มีอาการอยากใดๆแสดงออกมา มีแต่อาการไม่ใส ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย เพราะลึกๆในใจมันอยากกิน แต่มันไม่มีคำปรุงแต่งใดๆแล้ว กินชาบูมีเนื้ออยู่ในหม้อเต็มไปหมดก็สามารถลวกผักกินได้ หรือกินเมนูผักกับเนื้อก็สามารถเขี่ยผักมากินได้ แต่ในใจมันยังวนเวียนอยู่กับเนื้อสัตว์ มันยังมอง ยังจ้อง ยังรู้สึกเสียดาย มันไม่โล่ง ไม่ยอมทิ้งเนื้อสัตว์อย่างเต็มใจ ยังมีความอาลัยอาวรณ์อยู่

การพ้นสามภพนี้ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ในโจทย์นี้นั้นไม่ง่าย เพราะความที่เราเคยติดเนื้อสัตว์มามาก ความอยากมันยังมีอยู่มาก การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายถึงไม่อยากกินเนื้อสัตว์มันคนละเรื่องกัน ถ้าคนตีความผิดไปว่ากินมังสวิรัติได้คือไม่อยากกินเนื้อสัตว์ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดจากความจริงไปหลายขุม เพราะการกินมังสวิรัติได้กับการดับความอยากในการกินเนื้อสัตว์เป็นคนละเรื่องกัน แม้ผลจะออกมาเหมือนกันคือไม่กินเนื้อสัตว์ แต่จิตใจข้างในจะต่างกันโดยสิ้นเชิง

ผู้ที่ยังวนเวียนอยู่ในสามภพนี้จะต้องทุกข์ทรมานจากความอยากเสพ แม้ได้เสพก็ทุกข์ แม้ไม่ได้เสพก็ทุกข์ ต้องกดข่มนั่งเขี่ยกินผักอย่างเศร้าหมอง หดหู่ เป็นมังสวิรัติที่ไม่สดใส ไม่เบิกบาน ไม่สดชื่น ไม่ใช่ทางบรรลุธรรม เป็นเพียงการใช้สมถะวิธีเข้ามากดข่มความอยากแล้วติดอยู่ในรูปภพ หรืออรูปภพเท่านั้นเอง

ขั้นตอนที่ 4). ตรวจสอบอัตตา

คนที่มีอัตตาแรงจะออกอาการรังเกียจตั้งแต่แรก คือตั้งแต่อ่านบทความนี้เลยว่าทำไมตัวเองต้องไปกินร่วมกัน มันมีน้ำซุป น้ำมันหอย น้ำปลา ฯลฯ คนพวกนี้จะกินมังสวิรัติได้แต่ไม่เห็นความอยาก ไม่มีปัญญารู้ในเรื่องของกิเลส เขาแค่กินมังสวิรัติได้ก็พอใจแล้ว และหลงยึดว่าต้องมังสวิรัติ 100% นั่นถึงจะเรียกว่าดีที่สุด

ซึ่งการที่สัตว์ใดจะกินแต่ผักทั้งชีวิตได้นั้นเป็นเรื่องธรรมดา วัวควายมันก็กินหญ้าทั้งชีวิตไม่เห็นมันจะบรรลุธรรมตรงไหน มันก็ยังเป็นวัวเป็นควายอยู่เหมือนเดิม เช่นเดียวกับคนกินมังสวิรัติโดยไม่มีปัญญา เขาก็กินกันไปได้นะ เพียงแต่ว่าไม่รู้เรื่องกิเลส แต่ก็จะรู้เกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปที่ใช้กดข่มความอยากเช่น สุขภาพ การเบียดเบียน เมตตา บุญ(กุศล) กรรม หรืออะไรก็ว่ากันไป การถือศีลแบบไม่มีปัญญาหรืองมงายนี่เองที่เรียกว่า ถือศีลอย่างอุปาทาน คือถือไว้อย่างยึดมั่นถือมั่น เป็นลักษณะของคนกินมังสวิรัติที่เคร่งและเครียด แต่ก็ไม่รู้สาระข้างใน รู้แต่มันไม่ดี มันเบียดเบียน ฯลฯแล้วก็ใช้ความรู้เหล่านั้นกดข่มความชั่วคือกดข่มการไปกินเนื้อสัตว์เอาไว้ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นการกดข่ม ไม่ใช่การล้างกิเลส

ดังนั้นคนที่มีอัตตาแรงก็จะไม่เห็นด้วยกับการทดสอบนี้ตั้งแต่แรก เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น เขาเข้าใจเพียงแค่ว่ากินมังสวิรัติก็พอแล้วทำไมต้องมาทดสอบกิเลสกัน เขาจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นและยังไร้สาระ นั่นเป็นเพราะจุดประสงค์ของคนไม่เหมือนกัน ใครที่อยากกินมังสวิรัติเพราะไม่อยากเบียดเบียนก็ไม่จำเป็นต้องทดสอบจิตใจแบบใดๆเลยก็ได้ ก็เพียงแค่กินมังสวิรัติไปก็เท่านั้น ส่วนคนที่อยากเรียนรู้เรื่องกิเลสนั้นก็จำเป็นจริงๆที่จะต้องมีโจทย์ในการขัดเกลากิเลสของเขาเหล่านั้น

คนที่มีอัตตาผ่อนลงมาบ้างก็จะยังมีความยินดีที่จะอ่าน แต่ก็ไม่ยินดีที่จะกินร่วมกับคนอื่น ไม่ยินดีที่จะกินมังเขี่ย หรือไม่ยินดีที่จะกินร่วมหม้อกับคนกินเนื้อสัตว์ จะมีอาการรังเกียจ ไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ถ้าเป็นไปได้ก็จะขอแยกหม้อหรือไม่ไปกินร่วมกันหรือหาร้านที่กินแยกจานกันเลยก็จะดีกว่าจะพยายามผลักตัวเองเข้าสู้การกินร่วมโต๊ะดีกว่าต้องมากินร่วมจาน

ทั้งนี้เป็นเพราะอัตตาหรือความยึดดีในมังสวิรัติผลักให้เกิดอาการรังเกียจทั้งเนื้อสัตว์และคนกินเนื้อสัตว์เหล่านั้น ซึ่งคนกินมังสวิรัติจะหลงว่าอัตตาเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาของคนดี แต่ความจริงแล้วมันเรียกว่านรกคนดี เป็นนรกขุมที่หลอกให้คนที่นึกว่าตัวเองเป็นคนดียินดีที่จะเดินเข้าสู่นรกอันคือความเดือดเนื้อร้อนใจด้วยความยินดี

การที่เรายังมีอัตตาหรือความรังเกียจในเนื้อสัตว์หรือรังเกียจคนที่กินเนื้ออยู่ จะผลักดันให้เราสร้างบรรยากาศกดดัน ขุ่นมัว แสดงออกได้ทั้งทางกาย วาจา ใจ การคิดในใจเพียงว่าไม่ชอบไม่ยินดีที่จะร่วมจานก็สร้างทุกข์ให้กับตัวเองแล้ว มันเห็นทุกข์กันอยู่ชัดๆแต่คนมีอัตตาก็จะยินดีแบกทุกข์นี้ไว้เพราะหลงเข้าใจว่าฉันเป็นคนดี ฉันต้องทุกข์เมื่ออยู่กับคนที่ยังกินเนื้อ

ในมุมของการล้างกิเลส คนดีที่ติดดีนั้นก็ยังชั่วอยู่ดี มองไปก็ยังเป็นนรกเหมือนกับคนกินเนื้อสัตว์อยู่ดี แต่เป็นนรกคนละขุม อย่าไปแบ่งเลยว่าใครต่ำกว่าใครสูงกว่า เพราะนรกของใครก็ของมัน คนที่ติดดีอาจจะสร้างบาปเวรภัยได้มากกว่าก็ได้ อาจจะไปกดดันหรือระรานชีวิตคนอื่นได้มากกว่าคนกินเนื้อก็ได้ใครจะรู้

ถ้ายังรู้สึกว่าตนเองไม่พอใจที่จะต้องกินร่วมจาน ร่วมชาม ร่วมหม้อกับคนกินเนื้อแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลย เรากำลังติดอยู่ในอัตตา

ขั้นตอนที่ 5). สรุปผล

ในด่านนี้จะค่อนข้างยากขึ้นมาทั้งในด้านการตรวจใจและยากที่จะผ่านความอยากที่ละเอียดขึ้นและเข้ามากระแทกใกล้ขึ้น จากโจทย์ที่แล้วคือการกินร่วมโต๊ะ เนื้อสัตว์ก็ยังห่างออกไปคนละจาน แต่ครั้งนี้เราต้องกินร่วมจาน ตัวเราจะต้องเข้าใกล้เนื้อสัตว์เข้าไปอีก เป็นการบีบให้ตัวเองได้เห็นกิเลสอันคือกามและอัตตาที่ซ่อนอยู่ข้างใน

ผู้ที่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติธรรมมาหรือไม่มีญาณปัญญาจะไม่สามารถจับสภาวะใดๆของจิตที่เกิดขึ้นได้เลย อยากก็ไม่รู้ ไม่อยากก็ไม่รู้ เรียกว่าไม่ละเอียดเรื่องจิตวิญญาณ การทดสอบนี้จึงไม่มีประโยชน์ใดๆกับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ฝึกและเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลสมา

จริงอยู่ที่ว่าการกินมังสวิรัตินั้นดี แต่คนที่กินมังสวิรัติอาจจะไม่ได้ดีเสมอไป เรามักจะเห็นคนกินมังสวิรัติที่อุดมไปด้วยอัตตา ยึดดีถือดี ไปขัดแย้งกับชาวบ้านที่ยังกินเนื้ออยู่เป็นประจำ ชอบแสดงทัศนคติ เผยแพร่ความรู้โดยที่คนอื่นเขาไม่ต้องการ ไปยัดเยียด กดดัน บีบคั้นให้เขาเห็นดีในมังสวิรัติโดยใช้สมถะวิธี

ในความจริงแล้วเราต้องเข้าใจว่าปัญญาบารมีของคนเราไม่เท่ากัน เราบำเพ็ญมาไม่เท่ากัน บางคนใช้แค่สมถะวิธี เอาความดีไปกดข่ม แค่เห็นภาพสัตว์ตายก็สามารถหลุดออกมากินมังสวิรัติได้ บางคนต้องให้ข้อมูลวิจัย บางคนแม้จะมีทุกอย่างแต่เขาก็ยังไม่เลิกกินเนื้อสัตว์ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันจะจบตรงเรื่องของกิเลสเพราะกิเลสนี่เองคือรากแห่งความอยาก เป็นตัวสร้างทุกข์แท้ๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบมาตั้งแต่กว่า ๒๖๐๐ ปีมาแล้ว

ดังนั้นถ้าชาวมังสวิรัติไม่เรียนรู้เรื่องกิเลสก็จะไม่ฉลาดในการสอนคนให้ถูกกับฐานะ ไม่สอนให้ถูกกับจริต จะพยายามยัดความรู้ตามที่ตัวเองได้เรียนมา ได้เห็นมา ใครหลุดมาได้จากภาพสัตว์ถูกทรมานก็ประกาศด้วยภาพสัตว์ตายอยู่แบบนั้น ใครหลุดมาด้วยข้อมูลทางการวิจัยก็แสดงข้อมูลทางการวิจัยอยู่อย่างนั้น ใครหลุดมาได้ด้วยเมตตาก็ประกาศเชิญชวนให้เมตตาอยู่แบบนั้น ยัดไปตามที่ตัวเองเห็นว่าดี พยายามจะเปรียบเทียบ อัดกระแทกให้เกิดจิตสำนึก ยัดข้อมูลเข้าไปเรื่อยๆ แต่จะไม่ฉลาดในการปรับข้อมูลตามจริตของผู้รับสาร ไม่รู้กาลเทศะ จะเป็นมังสวิรัติแบบแข็งๆ รู้อย่างเดียวว่าเนื้อหาสาระนี้ดี ฉันหลุดพ้นจากการสื่อสารแบบนี้ “ดังนั้นถ้าฉันทำแบบนี้เธอก็ต้องรับได้ ไม่อย่างนั้นเธอก็จะได้ชื่อว่าเป็นคนไม่ฉลาดเป็นคนจิตใจต่ำทราม” จากฉัน เพื่อนร่วมโลกผู้มีอัตตาหนาเตอะ

สรุปแล้วเรื่องกามมันก็เห็นไม่ยากเท่าไหร่ เพราะในส่วนของ ”ความอยาก” ถ้าได้พิจารณาตัวเองอย่างจริงใจมันก็จะเห็นชัด ส่วนอัตตาเป็นเรื่องยากสุดยากที่จะเห็น เพราะใครเล่าจะยอมรับว่าตัวเองมีอัตตา ใครจะยอมรับว่าตัวเองยึดดีถือดีในมังสวิรัติ หากไม่ได้เจอแบบทดสอบก็คงจะไม่รู้ และหลายคนถึงแม้จะมีบททดสอบมากมายในชีวิตก็ไม่รู้ เพราะไม่เคยเรียนเรื่องกิเลสมาก่อน จึงปล่อยเหตุการณ์ที่เข้ามาทดสอบเหล่านั้นให้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย

จึงขอหยิบยกพุทธพจน์บทหนึ่งมากล่าวไว้ “ วันคืนล่วงไปล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น

December 21, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,667 views 0

กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น

กินร่วมโต๊ะ : ตรวจกามและอัตตาเมื่อต้องกินร่วมโต๊ะกับผู้อื่น

การตรวจสอบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมมาได้ระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถประคองสติได้ดี และเข้าใจในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ เข้าใจกาย เวทนา จิต ธรรม อย่างเป็นองค์รวมเพื่อตรวจสอบและฆ่ากิเลส หากท่านไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว การตรวจสอบเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์ใดๆเลย ซ้ำยังเป็นโทษเพราะการที่ไม่มีความเข้าใจในกิเลส ไม่เข้าใจในการวิปัสสนา ไม่เข้าใจธรรมจะทำให้เข้าใจความหมายและตีความเนื้อหาในบทความนี้ผิดได้

ในบทความนี้เราจะตรวจสอบกันสองอย่าง 1. กาม หมายถึงกามภพ การที่เข้าไปเสพไปติดไปยึดเนื้อสัตว์อยู่ และตรวจไปถึงรูปภพ อรูปภพ 2.อัตตา หมายถึงสภาพยึดดีถือดี

การอ่านและทำความเข้าใจตามบทความนี้แล้วนำไปทดสอบในชีวิตจริงหากยังเกิดสภาพของกามและอัตตาขึ้นอยู่ถือว่ายังไม่ผ่าน ให้เพียรพยายามฝึกฝนตัวเองล้างกิเลสไปเรื่อยๆ แล้วค่อยกลับมาตรวจใจอีกครั้ง

ขั้นตอนที่1).กินร่วมโต๊ะ

เมื่อเราต้องไปกินอาหารร่วมกันกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ญาติมิตรสหาย หรือกระทั่งคนรัก เราซึ่งเป็นคนกินมังสวิรัตินั้นก็มักจะมองหาเมนูผักละเว้นเนื้อสัตว์ ซึ่งในครั้งนี้เราสามารถสั่งเมนูผักมากินเป็นส่วนตัวได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเมนูเนื้อสัตว์มากมายวางอยู่บนโต๊ะ เราไม่สามารถเบือนหน้าหนีสิ่งเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปที่น่ากลิ่น กลิ่นที่น่าดม รสที่เคยติด สัมผัสที่เคยคุ้น มันยังคงหลอกหลอนอยู่ข้างหน้า

ขั้นตอนที่2). ตรวจสอบกาม

ถ้าหากเรายังมีความอยากอยู่ อาการของเราก็จะออกชัด อย่างเช่นผู้ที่ยังอยู่ในกามภพ คือยังหยุดเสพไม่ได้ ก็จะมีข้ออ้างสารพัดที่ทำให้กลับไปกินเนื้อสัตว์ในวงอาหารนี้เอง บางคนนี่ถ้าเขาอยู่คนเดียวก็ไม่กินแล้วนะ แต่ถ้ากินเป็นกลุ่มทีไรก็พลาดทุกที อันนี้คือยังไม่สามารถออกจากกามภพได้อย่างเด็ดขาด

ผู้ที่อยู่ในรูปภพ คือมีความอยากเป็นรูปให้เห็นเช่นมีคำพูดในใจว่าอร่อย อยากกิน น่ากิน ฉันอยากกินแต่ก็อดกลั้นบังคับตัวเองไม่ให้ไปกินได้ อาการจะออกเป็นการมองไปที่เมนูเนื้อสัตว์บ่อยๆ น้ำลายสอ อยากกินแต่กดข่มไว้ ผู้ที่มีสติดีและจริงใจกับความรู้สึกของตัวเองจะรับรู้อาการได้อย่างชัดเจน ผู้ที่อยู่ในรูปภพจะดูดีเหมือนคนที่สามารถกินมังสวิรัติได้อย่างสมบูรณ์เพราะไม่กินแล้ว แต่จิตใจข้างในยังอยากกินอยู่ คนที่ไม่ยอมรับความรู้สึกอยากก็คือคนมีอัตตามาก ยึดดีมาก เรียกภาษาชาวบ้านว่าเก๊กหรือทำเป็นเก่ง

แต่รูปภพก็ยังถือว่าดี เจริญขึ้นมาในระดับหนึ่งแต่ก็ต้องระวังอัตตาด้วยเพราะอัตตาที่หลงว่าตัวเองเก่งนี่เองคือตัวบังไม่ให้เราเจริญในธรรมขั้นต่อไป เราจำเป็นต้องรับรู้ตามความเป็นจริง ปล่อยให้ร่างกายและจิตใจเป็นไปตามธรรมชาติไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องเก๊ก ไม่ต้องกดข่ม ยังไม่ต้องรีบหาเหตุผลมาบอกว่าเนื้อสัตว์ไม่ดีอย่างไร ในขั้นตอนนี้เราจำเป็นต้องทำให้เห็นปริมาณความอยากก่อน เมื่อปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นจึงจะสามารถเห็นความอยากได้ชัด เพราะถ้าเรามัวไปหมกมุ่นกับภาพลักษณ์หรือมัวแต่เก๊กก็ยากที่จะเห็นความอยากของตัวเอง

เมื่อไม่เห็นความอยากของตัวเอง ไม่เห็นกิเลสของตัวเอง ก็ปิดประตูในการล้างกิเลสของตัวเองไปเลย เพราะไม่เห็นแล้วมันก็ไม่รู้จะล้างอย่างไร นักมังสวิรัติจะมาติดอยู่ในรูปภพนี้กันมากเพราะจะใช้การกดข่ม ใช้ตรรกะ ใช้ความดีเข้ามากดไว้ ทำให้มีอัตตา ไม่ยอมมองไปที่ความอยาก มองเห็นแค่เพียงกินเนื้อสัตว์ไม่ดี แต่ถ้าใครจะยินดีอยู่ในภพนี้ก็ไม่เป็นไร ก็แล้วแต่ใครจะเลือกกรรมแบบไหนให้ตัวเอง

ส่วนผู้ที่มาติดอยู่ในอรูปภพ คือ ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วแม้ว่าจะเอามาวางล่อตรงหน้าก็ไม่รู้สึกว่าอยากกิน แต่อาจจะยังเหลือความรู้สึกเสียดาย เป็นความรู้สึกขุ่นมัวที่ไม่ใส ไม่ยินดีที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ แต่จะไม่ออกอาการใดๆให้คนอื่นหรือตัวเองเห็นได้ชัด ต้องใช้สติที่ละเอียดจับความเปลี่ยนแปลงของกาย หมายถึงทั้งจิตใจและร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป จะมีอาการที่สังเกตได้ยาก เล็กๆ เบาๆ สั้นๆ เหมือนกับฟ้าผ่า ฟ้าแล่บ เมฆฝนขมุกขมัว คนที่ไม่มีญาณปัญญาหรือตัวรู้กิเลสจะจับกิเลสใดๆในอรูปภพนี้ไม่ได้เลย เหมือนจะไม่มี มองไม่เห็น แต่จริงๆแล้วมันยังมีอยู่แต่จับมันไม่ได้ มันยังเป็นความอยากที่เหลืออยู่เล็กน้อยที่ทำให้ขุ่นมัวในใจ ในระยะเริ่มต้นต้องใช้อาการทางกายสะท้อนให้เห็นเอาเช่นน้ำลายไหล เสียงท้องร้อง แต่ถ้าเก่งๆจะรู้ได้เองว่ากิเลสยังเหลืออยู่หรือไม่คนที่ติดอยู่ในภพนี้จะดูดีมาก ดูเหมือนไม่ทุกข์ร้อนแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์แต่ถ้าไม่ยอมล้างกิเลส ก็มีสิทธิ์ที่จะวนกลับไปกินเนื้อสัตว์ได้เหมือนที่เราเห็นนักมังสวิรัติหลายคนที่กลับไปกินเนื้อสัตว์แล้วไม่สามารถกินมังสวิรัติได้อีกเลย นั่นเพราะกิเลสมันแอบโต เพราะใช้วิธีกินมังสวิรัติโดยการกดข่มความอยากไว้สุดท้ายก็จะทนความอยากไม่ได้วันใดวันหนึ่งชาติใดชาติหนึ่งก็จะเวียนกลับไปกินเนื้อสัตว์

การพ้นจากกิเลสสามภพ ตั้งแต่ กามภพ รูปภพ อรูปภพในโจทย์ข้อนี้นั้นเพียงแค่เหตุการณ์กินร่วมโต๊ะ หากผ่านไปได้โดยที่ไม่มีความอยากเกิดขึ้นให้ได้รับรู้ก็ถือว่าผ่าน รอไปทดสอบในด่านของอัตตา หรือในระดับต่อๆไปได้

ขั้นตอนที่3). ตรวจสอบอัตตา

หากว่าเราเป็นผู้ผ่านในระดับกามมาแล้ว คือยินดีที่จะไม่เสพเนื้อสัตว์ แม้ว่าจะมีเนื้อสัตว์มาวางตรงหน้าก็ไม่อยากกิน ไม่กินโดยที่ยังมีความสุขใจอยู่ แต่กลับมีอาการของฝั่งอัตตาขึ้นมาแทนเช่นไม่ชอบใจที่เห็นเนื้อสัตว์ ไม่ชอบที่ต้องร่วมโต๊ะกับคนกินเนื้อสัตว์ ไม่ชอบใจที่ได้กลิ่นเนื้อสัตว์และเห็นคนกินเนื้อสัตว์แสดงท่าทีเอร็ดอร่อย มีอาการรังเกียจกลิ่นและรังเกียจผู้ร่วมโต๊ะ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากร่วมโต๊ะ อยากจะแยกๆกันกินจะดีกว่า

อาการเหล่านี้เรียกว่าความยึดดีถือดี มันจะไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้วแต่มันก็จะไม่มีความสุขที่ต้องกินร่วมโต๊ะกับคนที่กินเนื้อสัตว์ คือไม่ยินดีร่วมใช้เวลาด้วยกัน รู้สึกขุ่นเคือง รังเกียจ ไม่ชอบใจอยู่ในใจลึกๆหรือกระทั่งแสดงอาการรังเกียจออกมาอย่างเห็นได้ชัดก็เป็นได้

การมีอัตตาหรือการยึดดีถือดีเหล่านี้ไม่ใช่ลักษณะที่ควรจะมี เพราะยังถือว่าเป็นความชั่วอยู่ ในส่วนที่กินมังสวิรัติได้นั้นดีแล้วแต่หากยังมีอาการเหล่านี้ก็ยังไม่พ้นจากนรกอยู่ดี เรียกว่า นรกคนดี คือหลงว่าสิ่งที่ตนทำนั้นดีกว่าคนอื่นก็เลยยกตนข่มท่าน ยกว่าตัวเองดีแล้วมักจะข่มผู้อื่นด้วยถ้อยคำ ท่าทาง ความคิด ฯลฯ

คนที่ติดดีเหล่านี้ยังไม่ผ่านด่านอัตตา จะเป็นลักษณะของมังสวิรัติทำลายโลก คือกินผักกินหญ้าไปก็ทำร้ายจิตใจคนอื่นไปด้วย ยังถือว่าหยาบอยู่ มีให้เห็นทั่วไปในสังคมผู้ลดเนื้อกินผัก เป็นอัตตาระดับหยาบธรรมดาๆไม่ใช่สิ่งพิเศษแต่อย่างใด สามารถมีได้ในคนกินมังสวิรัติทั่วไปโดยไม่ต้องปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้อัตตาตัวนี้มา เป็นกิเลสที่เห็นได้โดยทั่วไป ไม่น่าชื่นชม ไม่น่ายกย่อง หยาบ มีโทษมาก เป็นภัยมาก สร้างบาปกรรมอย่างมาก

ขั้นตอนที่4). สรุปผล

เราจำเป็นต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำๆย้ำๆ มีโอกาสก็ให้พาตัวเองเข้าไปในสถานการณ์แบบนี้เพื่อให้ตัวเองได้เห็นกิเลสชัดยิ่งขึ้น เพราะความไม่อยากนี่ก็เป็นกิเลสเช่นกัน ผู้ที่ผ่านด่านนี้คือผู้ที่ไม่ยินดียินร้ายใดๆแม้จะต้องร่วมโต๊ะกับผู้อื่นซึ่งเขาเหล่านั้นยังกินเนื้อสัตว์อยู่

ด่านนี้ถือว่าเป็นด่านที่ง่าย หากจิตใจของท่านยังวนเวียนอยู่ในกามและอัตตาก็อย่าเพิ่งรีบขยับไปตรวจขั้นต่อไปให้มันลำบากเพราะถ้าด่านง่ายแบบนี้ยังผ่านไปไม่ได้ ด่านยากกว่านี้ก็ไม่มีวันที่จะผ่านได้ ดังจุดประสงค์ของเราคือการล้างกิเลส ซึ่งการกินมังสวิรัตินั้นเป็นเพียงเครื่องมือของเราเท่านั้น การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าจะล้างกิเลสเป็น แต่คนล้างกิเลสเป็นจะกินมังสวิรัติได้ เป็นการกินในลักษณะรู้แจ้งโทษชั่วทุกประการทั้งในมุมกามและอัตตา สุดท้ายเนื้อสัตว์เราก็จะไม่กินและอัตตาเราก็จะไม่มี

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

December 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,055 views 0

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

…เมื่อการกินมังสวิรัติไม่ได้ทำให้คลายกิเลส

การกินมังสวิรัติหรือการลดเนื้อกินผักนั้น หลายคนอาจจะมีเส้นทางการเริ่มต้นที่ต่างกันไป บางคนกินเพราะสุขภาพ บางคนกินเพราะเข้าใจว่าได้บุญ บางคนกินเพราะเขานิยม บางคนกินเพราะเมตตาสัตว์ บางคนกินเพราะทำให้ดูเป็นคนดี บางคนกินเพราะประหยัด บางคนกินเพราะคนในครอบครัวกิน หลายเหตุผลนี้อาจจะทำให้หลายคนเข้าถึงที่สุดแห่งการลดเนื้อกินผักได้ แต่อาจจะไม่ถึงที่สุดของใจ

ด้วยเหตุต่างๆที่กล่าวอ้างมาสามารถจูงใจให้คนเข้ามากินมังสวิรัติได้ทั้งสิ้นและสามารถทำให้เป็นนักมังสวิรัติขาประจำได้ด้วยเช่นกัน เพราะในความจริงแล้วการกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องยากนั้นคือการไม่กินเนื้อสัตว์เพราะความอยาก

เราสามารถกินมังสวิรัติได้ง่ายๆเพียงแค่อยู่ใกล้แหล่งอาหารมังสวิรัติ มีแม่ครัวรู้ใจ ทำอาหารเอง หรือแม้แต่รู้วิธีไปกินมังสวิรัตินอกสถานที่ ด้วยความรู้เหล่านี้ทำให้เราสามารถกินมังสวิรัติได้ไม่ยาก กินไปทั้งชีวิตก็ได้ ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังได้เพราะเมนูมังสวิรัติหรือเมนูเนื้อสัตว์ที่มีทั่วไปนั้นก็ปรุงรสจัด รสที่ทำให้เรารู้สึกอร่อยหรือรสชาติที่เราคุ้นเคยเหมือนๆกัน

มันไม่ใช่เรื่องยากเลยหากคนทั่วไปที่ชอบกินเนื้อต้องเผชิญกับเหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่มีเนื้อสัตว์ให้กินแล้วต้องกินมังสวิรัติเป็นเวลานาน เพราะสุดท้ายมนุษย์ก็จะต้องกินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ดี

ศีลหรือการละเว้นสิ่งที่เป็นภัย

การกินมังสวิรัติหรือการถือศีลละเว้นนั้น หากเราตั้งไว้แค่การละเว้นเนื้อสัตว์ เมตตาสัตว์ เราก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้แล้ว แต่ทว่าศีลระดับนั้นอาจจะไม่สามารถดับความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ให้สิ้นเกลี้ยงได้เพราะเพียงแค่ดับกามภพหรือแค่เพียงไม่ไปเสพก็สามารถบรรลุผลของศีลนั้นได้แล้ว การตั้งศีลที่สูงกว่าหรืออธิศีลในมังสวิรัติคือการดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยงจากกามภพไปจนถึงรูปภพและอรูปภพ ศีลนี้ต่างจากการกินมังสวิรัติหรือการกินเจของคนทั่วไปอยู่มาก เพราะโดยส่วนมากเขาจะกินเพราะเมตตาสัตว์ เพราะสงสาร ทำให้เกิดกุศล

หากจะตั้งจิตตั้งศีลไว้ที่ไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์ การกินมังสวิรัติได้ 100% ก็เป็นที่สุดแห่งศีลนั้นแล้ว แต่ก็ยังมีศีลที่เจริญกว่าเข้าถึงผลยากกว่านั่นคือทำลายความอยากนั้นเสีย การตั้งศีลสองอย่างนี้ต่างกันเช่นไร การไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์นั้น เพียงแค่คุมร่างกายหรือกระทั่งคุมวาจาได้ก็ไม่ไปเบียดเบียนเนื้อสัตว์ได้แล้ว คุมร่างกายไว้ไม่ให้ไปหยิบกิน กดไว้ไม่ให้หิวไม่ให้อยาก คุมวาจาไว้ไม่ให้พูดถึง ไม่ให้เอ่ยถึงการกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงในส่วนของใจทั้งหมดเพียงแค่คุมใจไว้ เป็นการปฏิบัติจากนอกเข้ามาหาใน คือคุมร่างกายวาจาแล้วไปกดที่ใจในท้ายที่สุด

ศีลที่ตั้งไว้เพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นจะปฏิบัติกลับกันนั่นคือจากในออกไปหานอก ปฏิบัติที่ใจให้คุมวาจา และคุมไปถึงร่างกาย เป็นการพุ่งเป้าหมายไปที่การล้างกิเลสอย่างชัดเจน ให้เห็นตัวเห็นตนของกิเลสอย่างชัดเจน ถือศีลขัดเกลาเฉพาะกิเลสอย่างชัดเจน ไม่หลงไปในประเด็นอื่น

การตั้งเป้าหมายไว้ที่กิเลสนั้นดีอย่างไร นั่นก็คือเมื่อเราสามารถปฏิบัติจนละหน่ายคลายกิเลสหรือกระทั่งดับกิเลสได้แล้ว จะดับไปถึงวจีสังขาร คือไม่ปรุงแต่งคำพูดอะไรในใจอีกแล้ว ไม่มีแม้เสียงกิเลสดังออกมาจากข้างใน จนไปถึงร่างกายไม่สังขาร คือไม่ขยับเพราะแรงของกิเลส ไม่ออกอาการอยากใดๆทางร่างกาย ไม่ไปกินเพราะว่ากิเลสสั่งให้กินเนื้อ

ผู้ที่ตั้งศีลไว้ที่การชำระกิเลสภายในนั้น เมื่อปฏิบัติจนสุดทางแล้วจะไม่ต้องเคร่งเครียดไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องกดดัน ไม่มีรูปแบบมากนัก ไม่เกลียดคนกินเนื้อ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมโต๊ะ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมจาน และไม่รังเกียจแม้จะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปาก แต่ถึงแม้จะกินเนื้อก็ไม่มีอาการอยากใดๆ เคี้ยวเสร็จแล้วคายทิ้งได้และยังสามารถทิ้งที่เหลือได้โดยไม่มีการทุกข์ใจใดๆเกิดขึ้น ไม่มีความอยากเกิดขึ้นแม้ตอนเคี้ยวหรืออึดกดดันถ้ารู้สึกจะต้องกินเนื้อ ในกรณีลองกินเนื้อนี้เราใช้เพื่อทดสอบกามและอัตตาเท่านั้น

นั่นเพราะการถือศีลนี้เป็นการดับความอยาก ไม่ใช่แค่การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่แค่การกินมังสวิรัติ แต่เป็นการทำลายเหตุแห่งการกินเนื้อสัตว์ ดับทุกข์ที่เหตุ จึงเกิดสภาพแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ทรมานจากกาม ถึงแม้จะจำเป็นต้องกินก็ไม่ทุกข์ทรมานจากอัตตา ซึ่งจะพ้นจากทางโต่งทั้งสองด้านในท้ายที่สุด

การปฏิบัติที่ใจ

การปฏิบัติไปถึงใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องใช้หลักปฏิบัติของศาสนาพุทธเข้ามาเป็นส่วนร่วม ในการตรวจทุกสภาวะของจิตใจ ซึ่งจะลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต เดาไม่ได้ คิดเอาเองไม่ได้ เป็นสภาพของญาณที่ใช้ตรวจกิเลส เป็นสภาพรู้ถึงกิเลส ชัดเจนในใจว่ากิเลสยังเหลืออยู่ไหม เหลือมากน้อยเท่าไหร่ เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง ในผู้ที่กินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสจะได้รับญาณเหล่านี้มาด้วยเมื่อพัฒนาการปฏิบัติไปเรื่อยๆ

การปฏิบัติเพื่อล้างกิเลสนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เมตตาสัตว์ ไม่สงสารสัตว์ แต่การจะถึงผลได้นั้น ต้องนำทุกวิถีทางที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นบทความเข้ามาเป็นตัวพิจารณาธรรม ซ้ำยังต้องพิจารณาไปถึงกรรมและผลของกรรม พิจารณาไตรลักษณ์ ให้ตรงเข้ากับกิเลสนั้นๆ ในกรณีนี้ก็คือการพิจารณากรรมและผลของกรรมของความอยากเสพ และพิจารณาความเป็นทุกข์ของความอยากเสพ ความไม่เที่ยงของความอยากว่ามันเพิ่มได้มันลดได้ และความไม่มีตัวตนของความอยากนี้อย่างแท้จริง

การพิจารณาล้างกิเลสนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่ตั้งใจแล้วจะทำได้แต่ยังต้องมีกำลังที่มาก เรียกได้ว่าต้องมีอินทรีย์พละที่แกร่งกล้าพอที่จะต้านทานพลังของกิเลสได้ ดังที่กล่าวว่าโจทย์ของเราคือความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยใช้การตรวจวัดไปที่ใจ ดังนั้นการเห็นใจอย่างละเอียดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากคนที่ปฏิบัติน้อยมองผ่านๆก็จะเหมือนยืนมองฝุ่นที่พื้นซึ่งอาจจะไม่เห็นฝุ่น คนที่ปฏิบัติเก่งขึ้นมาก็จะใช้แว่นขยายดูฝุ่นนั้น ส่วนขึ้นที่เก่งขึ้นมาอีกก็เหมือนใช้กล้องจุลทรรศน์ดูฝุ่นนั้น

การเห็นกิเลสนั้นจะเป็นไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ต้องทำลายกิเลสหยาบจึงจะสามารถเห็นกิเลสกลาง ทำลายกิเลสกลางถึงจะเห็นกิเลสละเอียด นั่นเพราะในระหว่างปฏิบัติศีลไปเรื่อยๆ เราก็จะได้มรรคผลมาเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถรู้และเห็นกิเลสที่เล็กและละเอียดนั้นได้มากขึ้น

เราปฏิบัติโดยทำลายความอยากที่จิตสำนึก ทำลายไปจนถึงจิตใต้สำนึก และล้วงไปจนถึงจิตไร้สำนึก ละเอียดลงไปเรื่อยๆดำดิ่งลึกลงไปให้เห็นกิเลสที่ฝังอยู่ข้างในจิตใจทำลายไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดสิ้น

แต่ถ้าหากว่าเรายังยินดีในศีลเพียงแค่ละเว้นการฆ่าสัตว์ ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์ พอใจและมั่นใจแล้วว่าสิ่งนี้ดีที่สุดแล้วจะถือศีลนั้นไปเรื่อยๆก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายเท่าไรนัก เพราะพ้นภัยจากกรรมแห่งการเบียดเบียนได้บ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การกดความรู้สึกจากร่างกายเข้าไปหาใจนั้นไม่ใช่ทางดับทุกข์ที่เหตุ แต่เป็นการดับที่ปลายเหตุซึ่งนั่นหมายความว่า ความอยากนั้นอาจจะกลับกำเริบขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งก็ได้ หรือชาติใดชาติหนึ่งก็ได้เช่นกัน ถึงแม้ในชาตินี้เราจะสามารถกดข่มความอยากไว้ด้วยความเมตตาได้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะไม่เติบโต

กินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าล้างกิเลสเป็น

การกินมังสวิรัติได้ ถึงแม้จะกินได้ตลอดชีวิตแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถล้างกิเลสได้หรือล้างกิเลสเป็นเพราะการกินมังสวิรัติได้นั้น สามารถใช้เพียงสัญชาติญาณความเมตตาทั่วๆไปกดความชั่วนั้นไว้ได้แล้ว นั่นเพราะการเบียดเบียนสัตว์เป็นบาปที่เห็นได้ชัดเจน เหมือนกับการที่เรารู้ว่าการฆ่าสัตว์ไม่ดี เราจึงไม่ตบยุง แต่ความโกรธ ความรำคาญ ความแค้นยุงยังมีอยู่ ถึงเราจะไม่ตบไปทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะตาย มันเพียงแค่ถูกฝังกลบไว้ในความดี ไว้ในจิตลึกๆเพียงแค่ยังไม่แสดงตัวออกมา

…สรุปข้อแตกต่าง

ข้อแตกต่างของผลในการกินมังสวิรัติแบบกดข่มกับแบบล้างกิเลสคือ การกดข่มจะใช้พลังความดีและใช้ธรรมะในการกดความชั่วเอาไว้ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ไม่ให้หลุดออกมาทั้งทางกายวาจาใจ แต่เมื่อทำไปนานวันเข้าจะมีความกดดันและจะเครียดหรือสร้างบรรยากาศที่ตึงเครียด เป็นสภาพของการยึดมั่นถือมั่น เพราะทำจากข้างนอกเข้ามาข้างใน

ส่วนแบบล้างกิเลสคือการใช้พลังปัญญาเข้าไปล้างเชื้อชั่วข้างในจิตวิญญาณเลย เมื่อทำไปนานวันเข้าจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ สติ ปัญญา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จะขยายขอบเขตมากขึ้น ความโปร่งโล่งสบายจะแผ่กระจายออกไปจนคนอื่นรับรู้ได้และมีพลังที่จะส่งต่อสิ่งดีๆให้ผู้อื่นอย่างมีศิลปะ มีไหวพริบ มีการประมาณที่จะยิ่งเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นสภาพของการปล่อยวาง เพราะทำจากข้างในแผ่ออกไปข้างนอก

การค้นหากิเลสและทำลายกิเลสอย่างถูกวิธีนั้นต้องดำเนินไปตามขั้นตอนของวิปัสสนาญาณ ๑๖ ซึ่งจะเป็นทั้งเป้าหมายและเป็นตัวตรวจสอบสภาพว่าเราได้ดำเนินการผ่านกิเลสนั้นมามากน้อยเท่าไร ถึงระดับไหน และอีกไกลเท่าไร ผลคือแบบไหนเราจึงจะไม่หลงไปในกิเลส ไม่ต้องหลงทางวนเวียนอยู่กับการหลอกหลอนของกิเลสอีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์