Tag: ปฏิบัติธรรม

ทำไมต้องนำมังสวิรัติมาเป็นการปฏิบัติธรรม

November 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,790 views 0

ทำไมต้องนำมังสวิรัติมาเป็นการปฏิบัติธรรม

ทำไมต้องนำมังสวิรัติมาเป็นการปฏิบัติธรรม

หลายคนคงจะสงสัยว่าทำไมจึงต้องหยิบยกการกินมังสวิรัติมาเป็นหัวข้อในการปฏิบัติธรรม ซึ่งคนส่วนมากมักจะเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมนั้นต้องไปฝึกสติ นั่งสมาธิ เดินจงกรม การฝึกขยับร่างกายเพ่งกสิณ ฯลฯ

การนำมังสวิรัติมาปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่แค่การฝึก แต่เป็นการเข้าสู่สนามรบจริง เข้าสู่สนามชีวิตจริง เจอกิเลสจริง สู้กับกิเลสจริง ทำลายกิเลสจริง เราจะทำการฝึกปฏิบัติไปพร้อมกับการเรียนรู้ความพ่ายแพ้ต่อกิเลสนับครั้งไม่ถ้วน จนกว่าจะชนะมันในวันใดวันหนึ่ง ชาติใดก็ชาติหนึ่งซึ่งเป็นการชนะครั้งสุดท้าย

จริงๆแล้วเราสามารถนำสิ่งอื่นมาเป็นหัวข้อปฏิบัติธรรมก็ได้ เช่น ความโกรธ ความโลภ เรื่องปวดหัวในที่ทำงาน เรื่องวุ่นวายในครอบครัว ปัญหาชีวิต ฯลฯ แต่ปัญหาพวกนั้นมันไม่ได้มาให้เราได้ฝึกปฏิบัติทุกวันเหมือนอย่างการกินมังสวิรัติ

พระไตรปิฎกในบทของอาหาร ๔ ว่าด้วยเรื่องอาหารที่จำเป็นต่อความเจริญของชีวิต ในข้อ ๑ จะเป็นอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันเพื่อเป็นพลังงานให้ร่างกาย และในข้อ ๒ คือเราต้องมีผัสสะเป็นอาหาร ซึ่งเราจะเน้นหนักในข้อนี้

ผัสสะ คือสิ่งกระทบ คือการกระทบ คือการที่มีเหตุการณ์บางอย่างเข้ามากระทบแล้วตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเปิดรับ หรือรับรู้สิ่งนั้นได้ การมีผัสสะนั้นทำให้เรารู้ว่าเรายังมีกิเลสหลงเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด ถ้ามีกิเลสมาก แล้วเกิดผัสสะจิตใจจะเกิดทุกข์ กระวนกระวายมาก เหมือนกับคนที่เสพติดเนื้อสัตว์แล้วหันมากินมังสวิรัติ เมื่อเจอเนื้อสัตว์ก็จะเกิดความอยากรุนแรง เกิดทุกข์แรง

การปฏิบัติธรรมด้วยเหตุอื่นๆนั้นสามารถทำได้ เช่นความโกรธ เมื่อเรามีผัสสะเข้ามาเราก็สู้กับความโกรธนั้น หาเหตุแห่งความโกรธนั้น ดับความโกรธนั้นด้วยวิถีแห่งสัมมาอริยมรรค แต่ปัญหาก็คือเมื่อไหร่ล่ะที่เราจะเกิดความโกรธ แล้วใครจะมาช่วยทำให้เราเกิดความโกรธ แล้วถ้าความโกรธนั้นเกิดขึ้นจริงเราจะหยุดได้ ดับได้ ปล่อยวางได้จริงหรือไม่ ซึ่งถ้าเราหยิบยกเรื่องเหล่านี้มาเป็นแบบฝึกหัดปฏิบัติธรรม ก็ขอยืนยันเลยว่ายาก เพราะเราจะควบคุมปริมาณผัสสะที่เข้ามาไม่ได้ ควบคุมความรุนแรงไม่ได้ และความโกรธนั้นเป็นโจทย์ที่ต้องเจอในชีวิตอยู่แล้ว เหมือนสนามรบจริงๆ ถึงเราไม่อยากเข้าร่วมก็ต้องเข้าร่วมอยู่ดี

ไม่เหมือนกับการกินมังสวิรัติ คือเราสร้างสนามซ้อมขึ้นมา แต่ซ้อมกับกิเลสจริงๆของเรานี่แหละ เราสามารถรู้ได้เลยว่าเราจะสู้กับความอยากกินเนื้อสัตว์ของเรา เมื่อไหร่ เท่าไหร่ แค่ไหน อย่างไร เช่น วันละประมาณ 3 มื้อ หรือในมื้อเย็นต้องไปกินเลี้ยงกับเพื่อนๆ จะสู้กิเลสอย่างไร ซึ่งเมื่อเราหัดปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ จะสามารถประมาณกำลังของผัสสะให้เหมาะกับกิเลสได้ง่าย เจริญได้ง่าย ไม่ยากเกินไป ทั้งยังเป็นประโยชน์ในด้านสุขภาพ และสร้างกุศลจากการละเว้นมากมาย

สนามปฏิบัติธรรมมังสวิรัตินั้นจะเกิดขึ้นมาไม่ได้หากเราไม่ถือเป็นสิ่งที่ควรละเว้น ไม่ได้ถือศีลมังสวิรัติ ไม่ได้บำเพ็ญตบะงดเว้นเนื้อสัตว์ เมื่อเราไม่มีเครื่องกั้นกิเลส เราก็จะไม่เห็นกิเลส แม้ว่าจะใช้ชีวิตผ่านไปนานเท่าไหร่ก็จะไม่เห็นกิเลส แตกต่างจากคนที่ตั้งศีลมังสวิรัติไว้ในใจ เขาเหล่านั้นจะเห็นกิเลสอย่างชัดเจนเมื่อมีผัสสะ มีเนื้อสัตว์ตรงหน้า มีสเต็ก มีหมูปิ้ง มีเนื้อย่าง มีอาหารทะเล สิ่งเหล่านี้คือผัสสะที่เข้ามากระตุ้นให้กิเลสเกิดอาการอยากเสพ เมื่อกิเลสไม่ได้เสพสมใจก็จะออกอาการทุกข์ทรมานใจ กระทั่งส่งผลไปถึงทรมานกายเลยก็สามารถทำได้ เช่นเมื่อไม่ได้กินเนื้อก็ออกอาการหมดแรง น้ำลายไหล หิวกระหาย ท้องร้อง ไม่สบาย ฯลฯ อาการเหล่านี้เป็นอาการที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเอง เกิดจากกิเลสสร้างขึ้นมา ไม่ใช่สภาวะตามธรรมชาติ เป็นสภาพลวงตาที่กิเลสสร้างขึ้นมาให้หลงว่าการได้เสพเนื้อสัตว์นั้นจะสร้างสุขให้และเมื่อไม่ได้เสพเนื้อสัตว์เราก็จะเป็นทุกข์

การปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติเพื่อทำลายความอยากเสพเนื้อสัตว์จึงเป็นเหมือนทั้งสนามซ้อมและสนามแข่งจริง เพราะถึงแม้ว่าเราจะพลาดท่าพ่ายแพ้ให้กับพลังของกิเลส กลับไปเสพเนื้อบ้าง แต่ก็ไม่มีผลเสียรุนแรง ไม่เหมือนกับเรื่องของความโกรธ ถ้าเหตุการณ์ใดเกิดแล้วทำให้โกรธจนคุมสติไม่อยู่ สร้างบรรยากาศที่ไม่พอใจออกไป แสดงสีหน้าไม่พอใจออกไป แสดงอาการไม่พอใจออกไป เช่น ด่า ว่า กล่าว แขวะ ประชด ลงไม้ลงมือ ฯลฯ ก็อาจจะเกิดผลเสียที่รุนแรงตามมาได้

ดังนั้นการนำมังสวิรัติมาเป็นโจทย์ในการปฏิบัติธรรมนั้น เพื่อให้ผู้เริ่มปฏิบัติธรรมได้เข้าใจกระบวนการของการล้างกิเลส โดยใช้การปฏิบัติที่สอดร้อยเข้าไปในชีวิตประจำวัน โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มกิจกรรมใดๆเข้าไปในชีวิต มีแค่เพียงการลดการเสพ ลดความอยากลงไปเท่านั้น ผิดพลาดก็ไม่เสียหายมาก แต่ถ้าล้างกิเลสได้ก็เจริญมาก

เมื่อประเมินจากความคุ้มค่าในการเลือกข้อปฏิบัตินี้มาเป็นกรรมฐาน จึงได้สร้างกลุ่มปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติขึ้นมา และเผยแพร่แนวทางและวิธีการเหล่านี้ออกไปเพื่อเป็นตัวเลือกหนึ่งในผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรม แต่ไม่มีเวลาว่างไปวัด ไม่มีเวลาทำทาน ไม่มีเวลาฟังธรรม ได้ลองปฏิบัติโดยใช้การปรับเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนที่กิเลส เปลี่ยนมิจฉาทิฏฐิ ได้เรียนรู้และเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องไปที่ไหน หรือพึ่งพาใคร เพราะเราปฏิบัติที่ใจ ใจที่มีกิเลส มีกิเลสตรงไหนก็ปฏิบัติตรงนั้น เราถือศีลให้เห็นกิเลส

เมื่อเห็นกิเลสก็พิจารณาโทษของกิเลสไปเรื่อยๆนั้น จึงเรียกว่าการปฏิบัติธรรม คือทำตนเองให้มีธรรมะ การจะมีธรรมะได้นั้นต้องกำจัดความหลงผิดในธรรม คือความไม่เป็นธรรม ความลำเอียง ความโง่ ความมัวเมา ฯลฯ เมื่อปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติจนเข้าใจแล้ว ก็จะสามารถประยุกต์ใช้กระบวนการทำลายกิเลส ไปใช้กับกิเลสตัวอื่นได้เช่น ความโกรธ ความโลภ ความหลงเสพ หลงติด หลงยึด ฯลฯ เพื่อความเจริญอื่นๆสืบไป

– – – – – – – – – – – – – – –

6.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

October 27, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,429 views 0

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

มังสวิรัติวิถีพุทธ ปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ เพื่อการทำลายกิเลส

การกินมังสวิรัติในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่มีให้เห็นอยู่บ้างในสังคมไทย ซึ่งกลุ่มคนกินมังสวิรัติมักจะเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย โดยที่คนส่วนใหญ่ต่างพากันชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ แต่ในกลุ่มคนที่กินมังสวิรัติ ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก บ้างก็กินเพื่อสุขภาพ บ้างก็กินเพราะประหยัด บ้างก็กินเพื่อภาพลักษณ์ บ้างก็กินเพราะยึดมั่นถือมั่น บ้างก็กินเพื่อลดกรรม บ้างก็กินเพราะเมตตา บ้างก็กินเพราะลดกิเลสฯลฯ

ผมได้ตั้งกลุ่มขึ้นมาในเฟสบุ๊ค โดยมีชื่อกลุ่มว่า Buddhism Vegetarian โดยให้มีชื่อไทยว่า “มังสวิรัติวิถีพุทธ

หลายคนคงจะสงสัยว่าการกินมังสวิรัติมันเป็นพุทธอย่างไร แล้วกินแบบไหนจึงจะเป็นวิถีพุทธ แล้วถ้ามังสวิรัติเป็นวิถีพุทธจริง ทำไมยังเห็นพระฉันเนื้อสัตว์อยู่เลย…

มังสวิรัติวิถีพุทธ ที่ตั้งกลุ่มขึ้นมาและหมายถึงนั้น คือการปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติ โดยใช้วิถีทางของพุทธ คือ วิธีการทั้งหมดเป็นไปเพื่อลดกิเลส เพื่อดับกิเลส คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นแนวทาง โดยมีสภาพหมดกิเลส หมดความอยากเสพเนื้อสัตว์ หมดความถือดี ยึดดี หลงตนเองว่าดีเหนือใครนั้นลงได้ ทั้งหมดนั้นคือการทำลาย กามและอัตตานั่นเอง

ซึ่งวิธีปฏิบัติที่จะนำมาใช้ก็เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และสอนไว้แล้วตั้งแต่ 2600 กว่าปีก่อน ไม่ใช่วิธีที่คิดขึ้นมาใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่นำมาใช้กับกิเลสตัวหนึ่ง คือความอยากเสพเนื้อสัตว์เท่านั้น ดังนั้นกลุ่มจึงพุ่งเป้าไปที่การกำจัดกิเลสตัวนี้ เพราะเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่เข้าใจกระบวนการล้างกิเลส จะสามารถนำกระบวนการนี้ไปใช้ในกิเลสตัวอื่นๆที่ตนเองยังยึดมั่นถือมั่นต่อได้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเพื่อการเริ่มต้น สำหรับผู้ที่ยังสงสัยว่าการปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์ต้องทำอย่างไร การกำจัดกิเลสต้องทำอย่างไร สภาพที่พ้นจากกิเลสจะเป็นอย่างไร เราจะมาร่วมแบ่งปันวิธีการที่ได้ปฏิบัติมาไม่ว่าจะถูกทางหรือผิดทางก็จะช่วยแนะนำและชี้แจง แถลงไขให้ตรงกับเป้าหมายของกลุ่มคือการกินมังสวิรัติโดยใช้วิถีของพุทธเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลัก

เหตุผลหนึ่งที่ต้องชี้ให้ชัดว่าเป็นวิถีพุทธนั้น เพราะการกินมังสวิรัติได้ ไม่ได้หมายความว่าจะลดกิเลสได้ หรือการที่กินมังสวิรัติเป็น ทำอาหารมังสวิรัติเป็น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลดกิเลสเป็นเช่นกัน

คนที่กินมังสวิรัติได้นั้น อาจจะลดกิเลสได้จริง หรือลดไม่ได้ก็ได้ ซึ่งโดยส่วนมากก็จะเป็นสภาพที่กดข่มความอยากเอาไว้ ส่วนการทำลายความอยาก หรือล้างกิเลสนั้น จำเป็นต้องปฏิบัติตามวิถีพุทธเท่านั้น วิธีอื่นไม่มีทางทำได้

การกินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าจะได้พบกับนิพพาน ไม่ได้หมายความว่าจะกลายเป็นผู้ทรงศีล มีสัตว์กินพืชมากมายเช่น วัว ควาย มันก็กินหญ้าทั้งชีวิต ไม่กินเนื้อเลย แต่มันก็ไม่ได้บรรลุธรรมอะไร เช่นเดียวกัน ถ้าเรากินมังสวิรัติแบบไม่มีปัญญา ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์กินพืชอื่นๆ

การเลือกกินมังสวิรัตินั้น เราต้องฝืน ต้องอดทนต่อกิเลส ที่สังคมมักจะบอกว่าเราเป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ แต่แท้ที่จริงแล้ว เราเป็นเพียงแค่สัตว์ที่กินตามกิเลสเท่านั้น วัว ควาย กินหญ้าเพราะมันจำเป็นต้องกิน แต่เรากินเนื้อสัตว์มากมายโดยที่หลายครั้งไม่จำเป็นต้องกิน คนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่พึงพิจารณาเอาเองว่าตนนั้นอยู่ในระดับไหน

ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงประโยชน์ในการกินมังสวิรัติได้ เพราะกิเลสจะรั้งเราไว้ไม่ให้เราทำในสิ่งที่ดี กิเลสมักจะดึงดูดสิ่งที่ชั่วเข้าหาตัว แม้จะมีคนบอกว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเบียดเบียน แต่คนผู้มากด้วยกิเลสก็มักจะพยายามหาข้ออ้างมาให้ตนได้กินเนื้อสัตว์ได้อยู่ดี นี่คือพลังของกิเลสที่บดบังปัญญาของคน ทำให้คนไม่เอาดี ไม่เอาในสิ่งที่ดี

ถึงแม้ผู้มีปัญญาจะรู้คุณค่าในการกินมังสวิรัติและรู้โทษชั่วจากการกินเนื้อ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงชีวิตมังสวิรัติได้อย่างทันที ไม่สามารถตัดเนื้อสัตว์ทั้งหมดออกจากชีวิตได้อย่างทันที เพราะแรงของกิเลสนั้นผูกไว้มาก คนที่ผูกกิเลส สะสมกิเลสไว้มากก็จะแก้ยาก ต้องใช้ความเพียรมาก ต้องทุกข์ทรมานมากหากต้องเลิกเนื้อสัตว์ในทันที ส่วนคนที่มีกิเลสน้อย หรือเคยล้างกิเลสมาก่อนแล้ว ก็จะแก้ได้ง่าย เลิกกินเนื้อสัตว์ได้ง่าย

การกินมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น เป้าหมายคือดับความอยากจนสิ้นเกลี้ยงตามลำดับของกิเลสที่มี ใครที่ติดเนื้อสัตว์ใดมากก็เสพไปก่อน ใครที่พอลดได้ก็ลองลดดู ใครที่พอละได้บ้างในช่วงเวลาหนึ่งก็ลองละดู ใครที่คิดว่าละแล้วยังปกติดี มีความสุขดีก็ให้เลิกเสพเนื้อสัตว์นั้นไปเลย

แต่การกินมังสวิรัติ หรือไม่กินเนื้อสัตว์ได้ยาวนานนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถล้างกิเลสได้ ทั้งหมดที่ทำมาอาจจะเป็นเพียงการกดข่มกิเลสเท่านั้น วิธีทดสอบก็คือการกลับเข้าไปทดลองกินอีกครั้ง ถ้ากิเลสลดจริงๆ จะไม่รู้สึกสุขเหมือนอย่างเคย ดีไม่ดีจะทุกข์ด้วยซ้ำไป อาจจะทุกข์ด้วยอัตตา ทุกข์ด้วยความเข้าใจในกรรม หรือทุกข์ด้วยความยากลำบากในการกินเนื้อสัตว์นั้นก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ถ้าผ่านแล้วจะไม่มีความยินดี เต็มใจ พอใจ สุขใจในการกินเนื้อสัตว์นั้นอีกต่อไป

…เมื่อเห็นดังนี้แล้วว่า การกินมังสวิรัติอย่างผาสุกและยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องศึกษาและปฏิบัติตามวิถีทางแห่งพระพุทธศาสนาสอดคล้องไปด้วย เพื่อดับความอยากให้สิ้นเกลี้ยง ไม่ใช่กดข่มกิเลสเอาไว้เท่านั้น แต่ต้องดับกิเลสให้สนิทเพื่อความไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นในชาตินี้ ชาติต่อไป และชาติอื่นๆสืบไป เป็นการเรียนรู้การกินมังสวิรัติข้ามภพข้ามชาติ เป็นนักมังสวิรัติตลอดกาลนับตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงวันสุดท้ายของจิตดวงนี้ เพื่อประโยชน์ตนเอง ประโยชน์ผู้อื่นและเพื่ออนุเคราะห์โลกให้เป็นไปด้วยความผาสุก

– – – – – – – – – – – – – – –

27.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เมื่อของสะสมกลายเป็นภาระ

October 4, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 10,353 views 6

เมื่อของสะสมกลายเป็นภาระ

เมื่อของสะสมกลายเป็นภาระ

เมื่อใช้ชีวิตกันมาจนถึงวันนี้ หลายคนก็คงจะมีของสะสมที่ตนเองรักและหลงใหลกันไม่มากก็น้อย เรามักจะใช้เวลาเสพสุขอยู่กับการสะสมรวบรวมสิ่งที่เราชอบ จนกระทั่ง….ความตายได้มาถึง

ความตายในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเสียชีวิตไปเท่านั้น แต่หมายถึงสภาพที่พรากจากความรู้สึกนั้น พรากจากสิ่งนั้น หรือกิเลสนั้นได้ตายไปจากเราก็ได้

แต่ก่อนผมเองก็เป็นคนที่ชอบสะสมของอยู่มากเหมือนกัน ที่พอจะนำมายกตัวอย่างได้ก็คงจะเป็นกระบองเพชร หรือที่เรียกกันว่า แคคตัส ผมเองเคยชอบกระบองเพชรมาก ชอบทดลองใช้วิธีต่างๆในการเลี้ยง ดูแล ผสมพันธุ์ ขยายพันธุ์ จนสร้างความรู้ใหม่ๆมากมายให้กับตัวเองและนำความรู้ไปพิมพ์บทความเผยแพร่ได้อีกด้วย

ผมเคยฝัน เคยหวังไว้ว่าวันหนึ่งจะประกอบธุรกิจด้วยกระบองเพชร และไม้ประดับชนิดอื่นๆที่ได้ศึกษามา ใช้เวลากับการขายสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญ สิ่งที่ตัวเองถนัด และสิ่งที่ตัวเองชอบ ดูไปแล้วก็เหมือนจะเป็นงานในอุดมคติ เป็นงานในฝัน เป็นงานที่ดูเหมือนจะไม่ต้องทำงานอีกเลยตลอดชีวิต เพราะทำงานอยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบ และตลาดก็มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความรู้ทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว ขาดแต่ปัจจัยคือสถานที่ปลูก

ต่อมาไม่นานนัก ชีวิตผมก็มีโอกาสศึกษาธรรมะมากขึ้น ปฏิบัติธรรมมากขึ้น จนเข้าใจชีวิตมากขึ้น ความฝันในวันวานที่พึ่งผ่านมาไม่กี่ปี กลับกลายเป็นสิ่งไร้ค่าไปในทันที ความรู้สึกรักหรือสนใจ ในการทำธุรกิจไม้ประดับนั้นค่อยๆ จางคลาย ถอยห่างจากชีวิตผมไปอย่างช้าๆ จนกระทั่งความรู้สึกยินดีในธุรกิจเหล่านั้นได้ตายลงอย่างสนิท ผมไม่มีความรู้สึกอยากจะขายต้นไม้อีกเลยแม้ว่าในตอนนี้ผมจะได้รับพื้นที่ปลูกที่กว้างใหญ่ แต่ผมกลับเลือก…ที่จะไม่ทำสิ่งนั้นอีก

…แล้วต้นไม้ที่เพาะไว้มากมายทำอย่างไร…

เมื่อความอยากนั้นได้จางคลายและตายจากไป สิ่งที่เคยสะสมไว้กลับกลายเป็นภาระในที่สุด จากที่เคยเป็นของมีค่า แต่ตอนนี้กลับไร้ค่าในสายตาของผม ปริมาณของมันมากเหลือเกิน ผมปล่อยมันตายไปตามธรรมชาติบ้าง เอาไปขายแบบลดแลกแจกแถมบ้าง เอาไปทำปุ๋ยบ้าง เอาไปปลูกที่ต่างจังหวัดบ้าง หาวิธีให้มันกระจายออกจากบ้านที่กรุงเทพฯเพื่อที่จะให้ภาระนี้ได้หมดไป

การกำจัดภาระนี้กลายเป็นเรื่องยาก เพราะถ้าแจกแบบไม่ดูตาม้าตาเรือก็จะกลายเป็นการเพิ่มกิเลสให้คนอื่น จะขายก็ลำบากลำบน เพราะใจมันไม่เอาแล้ว ใจมันไม่ได้รักเหมือนก่อน ทำไปก็มีแต่ความรู้สึกทุกข์ที่เกิดจากการกำจัดภาระเหล่านี้ กว่าที่ผมจะคิดวิธีแจกจ่ายออกไปได้อย่างเหมาะสมก็ใช้เวลาหลายเดือน

ความรู้สึกมันเหมือนกับคนที่หมดรัก ให้ดีอย่างไร แม้จะเคยชอบ เคยหลงอย่างไรก็ไม่เอาแล้ว แต่ก่อนมันหลงด้วยกิเลส แต่ตอนนี้กิเลสมันจางหาย และตายลงไป พอเห็นความจริงตามความเป็นจริงก็เลยรักมันไม่ลง เพราะรู้แล้วว่ายิ่งทำ ยิ่งเก็บ ยิ่งสะสม ปล่อยไว้ต่อไปก็จะกลายเป็นภาระ เป็นโทษ เป็นภัยกับตัวเองมากขึ้น

กระบองเพชรได้เข้ามาสอนให้ผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง หลายขั้นตอนเป็นงานที่ละเอียด เช่นการต่อกิ่ง ซึ่งทำให้ผมได้พัฒนาทั้งสมาธิ และวิธีการคิดว่าควรจะทำอย่างไร การรู้จักกับกระบองเพชรนั้นทำให้ผมเป็นคนละเอียด รอบคอบ และประณีตขึ้นมาก

แต่ในตอนสุดท้าย ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงแค่การเรียนรู้ครั้งหนึ่งในชีวิตเท่านั้น หลังจากนี้เราก็จะได้เรียนรู้อีกสิ่งคือวิธีการปลดเปลื้องภาระนี้ออกไป เราเรียนรู้ที่จะสะสมจนกระทั่งเลิกที่จะสะสมและแจกจ่ายมันออกไป แต่ผมก็ยังมีความรู้ที่สามารถแจกจ่ายออกไปได้ถ้าใครสนใจ แต่ถ้าจะให้เลือก ผมก็อยากจะเลือกที่จะไม่พูดดีกว่า เพราะความรู้เหล่านี้ ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พ้นทุกข์ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์เลย

การสะสมมีแต่จะสร้างภาระ สร้างทุกข์ให้กับชีวิต ไม่ว่าเราจะสะสมอะไรก็ตาม เราต้องลำบากหามันมา ลำบากบริหารมัน ลำบากในการรักษามันไว้ แถมยังต้องเอาเวลาในชีวิตไปเสียให้กับสิ่งนั้น ไม่ว่าเราจะสะสมเงิน หนังสือ ต้นไม้ ของเล่น ตุ๊กตา หุ้น ฯลฯ หรือแม้แต่ความรู้ที่ไม่ได้พาพ้นทุกข์ ที่ยิ่งเรียนรู้ก็ยิ่งพาให้หลงมัวเมา ยิ่งพาให้สะสมกิเลส นอกจากจะเป็นภาระแล้วยังเป็นภัยอีกด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการสะสมเชิงรูปธรรมหรือนามธรรมก็เป็นภาระให้กับชีวิตของเราได้

แต่ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราจะเห็นสิ่งนั้นเป็นภาระหรือไม่ เห็นมันเป็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่อชีวิตหรือไม่ ถ้าเรายังมอมเมาตัวเองไปด้วยความอยาก ยอมปิดตาเพื่อที่จะได้เสพสมใจกับสิ่งที่เราสะสม เราจะไม่มีวันเห็นมันเป็นภาระเลย

และถ้าหากวันใดที่เราได้ลองเรียนรู้เกี่ยวกับความอยากของตัวเอง ได้รู้จักกิเลสของตัวเอง ได้ขุดค้นไปถึงรากของกิเลสของตัวเองและเรียนรู้ที่จะลด ละ เลิกที่จะครอบครองกิเลสนั้น หรือฆ่ากิเลสเหล่านั้นเสีย เราก็มีสิทธิ์ที่จะเห็นบางสิ่งตามความเป็นจริง เห็นและเข้าใจมันอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เห็นถึงคุณค่าในการมีอยู่ของมันโดยที่ไม่ได้รักเหมือนก่อน แต่ก็ไม่ได้เกลียดหรือผลักไสสิ่งนั้น

สุดท้ายเราจะพิจารณาได้เองว่าการสะสมหรือครอบครองสิ่งเหล่านั้น เป็นกุศลหรืออกุศล เป็นความสุขแท้หรือความสุขลวงๆ เป็นสิ่งที่โลกมอมเมาพาให้หลงหรือเป็นสาระแท้ในชีวิตที่ควรยึดอาศัย เราจะสามารถเลือกได้ตามความเป็นจริง ใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไม่มีอคติหรือลำเอียง ไม่ชอบไม่ชัง ไม่รักไม่เกลียด

เมื่อถึงภาวะนี้แล้วก็จะรู้เองว่าสิ่งใดคือ…ภาระ

– – – – – – – – – – – – – – –

3.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

October 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,952 views 0

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

ปฏิบัติธรรม ยุคไหนก็เหมือนกัน

จนถึงตอนนี้ก็เรียกได้ว่ากึ่งพุทธกาลแล้ว นั่นหมายความว่าศาสนาได้ดำเนินมาถึงครึ่งทาง ความเจริญก็ได้หายไปครึ่งหนึ่ง ความเสื่อมก็เข้ามาแทนที่ในส่วนนั้นเช่นกัน

ในความจริงที่ผ่านมานั้น เราได้เวียนว่ายตายเกิดและอยู่ในยุคของพระพุทธเจ้ามาหลายพระองค์แล้ว อย่างองค์สมณะโคดม หรือพระพุทธเจ้าในยุคของเรานี้ ท่านได้ผ่านและร่ำเรียนจากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆมามากกว่า 3 ล้านพระองค์

ซึ่งในอนาคตก็จะมีผู้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อยๆ อย่างภัทรกัปนี้ องค์สุดท้ายที่จะมาบังเกิดคือพระศรีอริยเมตตรัย ซึ่งเป็นยุคที่พระพุทธเจ้าได้พยากรณ์ไว้ว่าคนจะมีอายุถึง 80,000 ปี

พอชาวพุทธส่วนหนึ่งได้ยินดังนั้น ก็ได้หมายมั่นตั้งจิตว่าจะไปปฏิบัติในยุคหน้า ในอนาคตที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยเข้าใจ เพียงแต่ได้ยินได้ฟังเขาพูดมา …ในความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ไหนก็เหมือนกัน สอนให้ลด ละ เลิกกิเลสเหมือนกัน สอนเรื่องทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ การดับทุกข์ และวิถีทางดับทุกข์เหมือนกัน

และธรรมะนั้นเป็นอกาลิโก คือปฏิบัติจนเห็นผลได้ไม่ว่าเมื่อไหร่ ยุคใด สมัยใด แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว แต่ธรรมะนั้นยังคงอยู่ หากว่าเราปฏิบัติตามธรรมะที่ถูกต้อง โดยผ่านคำสอนของสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่ถูกตรง ก็จะสามารถไปถึงผลได้ไม่ต่างจากการปฏิบัติในสมัยพุทธกาล

นั่นคือไม่ว่าเราจะปฏิบัติตอนนี้ หรือไปปฏิบัติในยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป การได้รับความสุขจากการหมดกิเลส ก็เป็นสภาพที่เหมือนกัน แต่คนที่ขยันปฏิบัติและเรียนรู้ก็จะสามารถหมดทุกข์ได้เร็ว หมดทุกข์ก่อนก็สุขก่อน หมดทุกข์ได้ในชาตินี้ก็สุขได้เลยในชาตินี้ หมดทุกข์วันนี้ก็สุขวันนี้ และสุขยาวต่อไปอีกกี่ยุค กี่สมัยก็ได้ตามแต่ใจ

ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่ล้างทุกข์ หรือคนขี้เกียจ ผัดวันประกันพรุ่งก็จะแบกทุกข์ไว้ แบกกิเลสเอาไว้ปฏิบัติกับพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป โดยไม่รู้เลยว่าตนเองนั้นทำแบบนี้มาตั้งแต่ยุคไหนสมัยไหนแล้ว พระพุทธเจ้าผ่านมากี่พระองค์เราก็ทำแบบนี้ ผลัดกันไปเรื่อยๆ ไม่ปฏิบัติ ไม่เรียนรู้สักที จะขอเสพกิเลส ตามใจกิเลสอยู่นั่น แล้วหลงว่าตัวเองควบคุมกิเลสได้ แต่จริงๆโดนกิเลสควบคุมชีวิตอยู่อย่างไม่รู้ตัว

การที่ตั้งจิตว่าจะไปบำเพ็ญในยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปไม่ได้หมายความว่าเราจะได้ไปเกิดเป็นคนในยุคนั้นเสมอไป เพราะกว่าที่จะถึงยุคนั้น จะต้องผ่านกลียุค ผ่านยุคที่ไม่มีพระพุทธศาสนาอย่างยาวนานมาก นานแสนนาน จนกว่าจะไปถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ดังนั้นผู้ที่ไม่เรียนรู้และปฏิบัติในยุคนี้ ก็จะไม่รู้จักกิเลส พอถึงกลียุคก็ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ทำบาปตามเขา เสพกิเลสตามเขา สะสมกิเลสตามเขา

สุดท้ายกว่าถึงยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ก็สะสมบาปมากพอ กรรมอาจจะดลไม่ให้เกิดในยุคนั้น หรือไม่ก็เกิดเป็นสัตว์ อาจจะเป็นสุนัขไปสัก 40,000 ปี ตายแล้วเกิดใหม่มาเป็นแมวอีก 40,000 ปี เป็นเดรัจฉานวนเวียนไม่จบไม่สิ้น จนไม่พบพระพุทธเจ้าสักที แคล้วคลาดกันทุกยุคทุกสมัย พอชาติใดชาติหนึ่งได้พบศาสนาพุทธก็พลัดวันประกันพรุ่งต่อไป วนเวียนไปแบบนี้ ถึงจะผ่านพระพุทธเจ้าอีกล้านพระองค์ก็อาจจะวนเวียนอยู่เช่นนี้ก็เป็นได้

พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้เราประมาท เพราะคนประมาทก็เหมือนคนที่ตายแล้ว คนที่ยังอยู่ในยุคที่ยังมีศาสนาอยู่ อยู่ในยุคที่ธรรมะยังดำรงอยู่ แต่ไม่ปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำตัวย่อหย่อน พลัดวันประกันพรุ่ง ก็เหมือนกับคนที่ตายไปแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์