Tag: สนามรบ

สงครามอัตตา : ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ (กรณีศึกษาเทศกาลเจ)

October 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,931 views 0

สงครามอัตตา

สงครามอัตตา : ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ (กรณีศึกษาเทศกาลเจ)

หากเราให้ความสำคัญของเทศกาลเจในขอบเขตของการถือศีลกินเจ ใครอยากทำอะไรก็ทำไป กรรมใครกรรมมัน ปากใครปากมัน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปล่อยวาง ก็จะเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านพ้นไปด้วยดีไม่มีปัญหาอะไร และจะไม่มีบทความนี้

แต่เมื่อมีความยึดว่าความเห็นของตนนั้นถูกต้องแต่ผู้เดียวเมื่อไหร่ เมื่อนั้นสงครามย่อมเกิดขึ้นได้ ตามโอกาสและช่องทางที่มี ซึ่งเราจะได้เห็นกันทุกปีใน social network ต่างๆ ที่ผู้คนออกมาห้ำหั่นผู้ที่คิดต่างจากตน ด้วยอาวุธคือความรู้ที่ได้รับรู้มา มุ่งฟาดฟันอีกฝ่ายหมายให้มอดม้วยด้วยความยึดดีของตน

เทศกาลเจ กับ สงครามแห่งอัตตา

ในช่วงเทศกาลเจนั้น เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้วัดผลของความเจริญในจิตใจ เราสามารถวัดผลการปฏิบัติธรรมหรือความเห็นความเข้าใจในชีวิตว่ามีความเจริญแค่ไหน ได้จากการเข้าร่วมรับรู้เรื่องราวของข้อขัดแย้งเหล่านั้น คือพาตัวเข้าไปดูสงครามอัตตานั้นๆ

แต่การเข้าไปดูก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปร่วม ทำตัวเองให้เป็นผู้ดูและศึกษาเท่านั้น เมื่อไหร่ที่ใจคิดจะลงไปร่วมรบ เคลื่อนทัพเดินทางออกจากใจที่ปกติ เป็นใจที่เดือดร้อนเพราะความไม่พอใจ ถือหอกถือดาบหมายจะฟาดฟัน ด้วยการชี้แจงในเชิงยัดเยียด ดูถูกดูหมิ่น ยกตนข่มผู้อื่น และสารพัดลีลาของกิเลสที่พร้อมจะประดังใส่ฝ่ายที่คิดต่างจากตน เมื่อนั้นความเสื่อมก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

เมื่อเป็นฝ่ายรับก็เช่นกัน แม้จะเห็นกลุ่มนักรบยกทัพมาพร้อมด้วยอาวุธครบมือ ถือธงโบกสะบัด ฝุ่นคลุ้งไปทั่วสมรภูมิ ดังกึกก้องไปทั่วด้วยเสียงกลอง มุ่งหมายจะมาดับความคิดของผู้ที่เห็นต่างให้สิ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องจัดทัพไปต้อนรับหรือตอบโต้ใดๆ สิ่งที่ควรทำมีเพียงแค่ชี้แจงในขีดที่จะเป็นกุศล ไม่ชวนทะเลาะหรือทำให้ยืดเยื้อจนเลอะเทอะ หรือเลือกที่จะปล่อยวางทั้งหมดก็สามารถทำได้ ปล่อยให้นักรบเหล่านั้นเข้ามาฟาดฟันกันด้วยทิฏฐิ โดยไม่จำเป็นต้องตอบโต้ก็ย่อมได้ เพราะผู้ที่มีอัตตาเท่านั้นที่จะต้องเจ็บปวด ผู้ไม่มีอัตตาแม้จะถูกเสียบด้วยวาทะที่เชือดเฉือนมากมายสักเพียงใด ก็ไร้ซึ่งความเจ็บปวด ไม่ใช่เพราะทนได้ แต่เพราะไม่มีตัวตนให้โดนต่างหาก

ความประเสริฐของคนจะไม่มีวันเกิดขึ้นกับหมู่คนที่มุ่งฟาดฟันกันด้วยความเห็นของตน แม้ว่าความเห็นนั้นจะเป็นความเห็นที่ถูกต้องก็ตามที คนที่ยังไม่หยุดสงครามย่อมไม่เรียกว่าผู้ประเสริฐ ผู้ที่มุ่งฟาดฟันผู้อื่นด้วยความเห็นของตนย่อมไม่ใช่ผู้เจริญ

ความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะมีความยึดมั่นถือมั่นว่าของฉันถูก ของฉันดีที่สุด ซึ่งแต่ละคนนั้นจะมีความยึดมั่นถือมั่นต่างกันไปตามบุญตามกรรม แต่เมื่อคนที่เห็นต่างมาพบกัน ก็ย่อมหาทางจะทำให้ความเห็นของตนนั้นเป็นหนึ่งเดียว ให้ผู้อื่นยอมรับ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้โลกหมุนรอบตัวเองเช่นนั้น ดังนั้นใครที่วางความเห็นของตนได้ก่อน ปล่อยวางการโต้แย้งได้ก่อน ผู้นั้นจึงเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะ เป็นผู้ที่เจริญอย่างแท้จริง

ผู้ที่พยายามเอาชนะ พยายามหาหลักฐาน หาข้ออ้างมาเพื่อยกตนข่มผู้อื่น อวดอ้างคุณวิเศษใดๆ ที่ตนเรียนรู้มา ดูถูก ดูหมิ่น เยอะเย้ย ถากถางผู้อื่น ฯลฯ โดยที่ผู้รับนั้นไม่อยากรู้ คนเหล่านั้นได้ประจานความเสื่อมของตนให้เป็นที่ประจัก ว่าความเห็นหรือการปฏิบัติธรรมของเขานั้นไม่ได้ทำให้จิตใจเจริญขึ้นเลย ทั้งยังตกต่ำมัวเมาในความยึดมั่นถือมั่น จนหลงตัวหลงตน แสดงความดีที่ตนเข้าใจให้ผู้อื่นเห็นไปทั่วด้วยการยัดเยียดในสิ่งที่ผู้อื่นไม่ได้ต้องการรับรู้ในเรื่องนั้น

เทศกาลเจ จึงเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าเข้าร่วมไปสัมผัสและทดสอบ”ความแท้” ของตนเอง ว่าจะเป็นของจริงหรือของปลอม ที่ว่าเรามีศีลมีธรรม เป็นคนดี เป็นคนไม่เบียดเบียน บรรลุธรรมกันไปต่างๆนาๆนั้น เราสามารถฟังความเห็นต่างได้ไหม เรายังสงบได้ไหม เราจะยอมเขาได้ไหม ถ้าเขาถามแล้วเราจะชี้แจงด้วยใจเมตตาได้ไหม และที่สุดคือเราจะยอมปล่อยให้เขากล่าวหาและเข้าใจไปอย่างนั้นได้ไหม

เข้าร่วมเทศกาล(ในความเห็นของฉัน)

ถ้าเราอยู่ในถ้ำ หมกตัวอยู่ในภพ อยู่ในที่ปลอดภัย ไม่รับรู้เรื่องราวใดๆ ก็คงจะไม่ใช่การปฏิบัติธรรม ซึ่งผมเองก็คงจะเข้าร่วมรับรู้ข้อมูลต่างๆในช่วงเทศกาลนี้ด้วย

ซึ่งผมจะไม่อยู่เป็นกลางแบบชั่วบ้างดีบ้างตามที่โลกเข้าใจ แต่จะเป็นกลางในแบบพุทธ คือไม่โต่งไปทางกามและไม่โต่งไปทางอัตตา ซึ่งจะอยู่ข้างกุศล ข้างที่ไม่เบียดเบียน ใครทำกุศลก็เห็นดีกับคนนั้น และผมจะไม่ไปร่วมรบกับเขา แต่ก็จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่มีให้กับผู้ที่สนใจ

เหมือนกับเราอยู่ในสนามรบ เราไม่ได้ไปรบกับเขาหรอก เราก็ตั้งค่ายอยู่บนเนินเขาของเรา ดูเขารบกันไป ส่วนหน้าที่ของเราก็ผลิตความรู้ไม่ให้คนต้องไปรบกันเพราะยึดความเห็นทั้งผิดและถูกของตน แต่ทันทีที่เราเผยแพร่ความรู้ของเราออกไป แม้เราจะอยู่ในที่มั่นของเราซึ่งห่างไกลจากสมรภูมิ ก็จะมีผู้ที่เห็นต่างยกทัพมาฟาดฟันเป็นธรรมดา

เมื่อเราชูธงว่าการเบียดเบียนไม่ดี เป็นโทษ การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่ควร ศาสนาพุทธไม่ยินดีในความเบียดเบียนเหล่านั้น ย่อมมีผู้ที่เห็นต่างเป็นธรรมดา ซึ่งคนยึดในอัตตามากก็ย่อมจะไม่ยอมรับเป็นธรรมดาเช่นกัน เมื่อมีความเห็นใดที่ขัดแย้งกับความเห็นของตน คนเหล่านั้นก็พร้อมจะหยิบอาวุธขึ้นมาฟาดฟันหมายจะให้ความเห็นต่างนั้นตายจากโลกนี้ไป ซึ่งก็มากันหลากหลายลีลา ถ้าเป็นสงครามก็มาทั้งบก น้ำ อากาศ ดำดิน หายตัวเข้ามาก็ยังได้เข้ามาฟาดฟันกันด้วยอาวุธคือวิชาความรู้ที่เรียนกันมา ทื่อบ้าง คมบ้าง หนักบ้าง เบาบ้าง คละเคล้ากันไป

ทีนี้เราก็ตั้งใจว่าเราจะไม่รบกับใคร ไม่ต่อสู้กับใครอย่างน้อยก็ตลอดช่วงเทศกาลนี้ ใครมาท้าสู้เราไม่สู้ ใครมาแหย่เราไม่หลุด ใครแนะนำเราก็รับฟังและพิจารณาเนื้อหาไปตามความจริง แต่ถ้าใครมาถามด้วยความสงสัยที่เราพิจารณาดีแล้วว่าเป็นไปเพื่อกุศลเราก็จะตอบ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องตอบหรือไม่ตอบ แต่จะพิจารณาเป็นกรณีไปสรุปคือเราจะไม่ไปเถียงแข่งดีเอาชนะกับใคร แต่ก็ยังทำหน้าที่ให้ความรู้ต่อไป

คนที่เข้ามาฟาดฟันเราด้วยความยึดดีของเขา การที่เขาจะยึดผิดหรือยึดถูกนั้นก็เป็นเรื่องของเขา เพียงแต่เขาเห็นว่าสิ่งที่เขายึดนั้นดีตามประสบการณ์ที่เขาได้เรียนรู้มา การที่คนเหล่านั้นอดรนทนไม่ได้จนต้องแสดงตัวตนออกมาให้เห็น ก็ชี้ชัดให้เห็นแล้วว่าเขายังขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดความสำรวม ขาดสติ ขาดปัญญา ยากนักที่เราจะช่วยอะไรเขาได้ หากจะมีสิ่งที่พอทำได้ก็คือการเห็นใจเขา ให้อภัยเขา รักเขา ถ้าจำเป็นต้องพูดกับเขาก็ให้มีสัมมาวาจา คือพูดแล้วไม่ไปยั่วกิเลสเขา ไม่ทำให้เขาโกรธ ไม่ทำให้ต้องทะเลาะกัน หรือจะเลือกไม่พูดไม่โต้ตอบ เปลี่ยนเรื่องไปเลยก็ยังได้

การปฏิบัติธรรมนั้นจำเป็นต้องมีผัสสะ และในความเจริญใดๆ ก็ตามย่อมมีผู้เสียสละโดยที่ไม่รู้ตัวอยู่เสมอ ถึงแม้เขาเหล่านั้นจะไม่ได้ตั้งใจก็ตามที การที่เขาเข้ามาทดสอบเราด้วยลีลาท่าทางต่างๆของกิเลสนั้น เขาย่อมสะสมอกุศลกรรมไปแล้ว เมื่อเห็นว่าเขาพยายามจะมาทดสอบเราด้วยการดึงเราลงนรก ไปเถียงกับเขา ไปทะเลาะกับเขา ไปโกรธกับเขา ไปขุ่นใจเพราะเขา เราก็ควรสำรวมตนให้อยู่ในความไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ไม่ลงนรกไปกับเขา อย่าให้เขาได้ทำหน้าที่เสียเปล่า หากเราไปเถียงเอาชนะ ไปทะเลาะไปโกรธกับเขา ก็เป็นอันว่าสิ่งที่เขาทำเสียเปล่า แทนที่จะได้ผู้เจริญเพิ่มขึ้นมา กลับลงนรกไปอีกคน แบบนี้มันเสียของ

ดังนั้นใครจะเข้ามาด้วยลีลาอย่างไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้เรารู้สึกขัดใจขุ่นใจ ก็ให้เก็บอาการ เก็บอาวุธ ขอบคุณที่เขามาช่วยกระตุ้นให้เห็นว่าเรายังมีจิตของสัตว์นรกอยู่ในตัว แล้วมุ่งล้างใจเราเป็นหลัก นี่คือหน้าที่ของเราในสงครามนี้มุ่งทำความเจริญให้สำเร็จในจิตใจของเราก่อน อย่ามุ่งไปแส่หาในการสร้างความเจริญกับผู้อื่น

สงครามข้างนอกเราไม่รบ แต่สงครามข้างในเราจะไม่ยอมแพ้ ไม่มีวันยอมศิโรราบให้กิเลส สัตว์นรกที่ร้ายที่สุดที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจเรานั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความกล้า

September 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,261 views 1

ความกล้า

ความกล้า

ในโลกนี้มีความกล้าด้วยกันหลายแบบหลายมิติ บ้างก็กล้าทำชั่ว บ้างก็กล้าทำดี บ้างก็กล้าทำในสิ่งที่ไม่รู้จะทำไปทำไม แม้แต่คนที่กล้าทำเรื่องที่ไร้สาระสุดๆ ก็ยังได้รับลาภ ยศ สรรเสริญ และสุขอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่วนอยู่ในวิถีของโลก ที่สุดแล้วความกล้าเหล่านั้นก็ยังเทียบไม่ได้กับความกล้าที่จะหลุดพ้นจากโลก กล้าออกจากโลกียะไปสู่โลกุตระ

ความกล้าที่จะพาให้พ้นโลก คือ กล้าต่อต้านกิเลสไม่ยอมให้กับกิเลสเหมือนเคย มีอาการแข็งข้อ ไม่ทำตาม ไม่ส่งส่วย ไม่สนใจกิเลส

กล้าต่อสู้กับกิเลส หยิบอาวุธคือปัญญาขึ้นมาต่อสู้กับกิเลส คิดหากลยุทธ์ในการทำลายกิเลสให้ราบคาบ หาทางเอาชนะมันอย่างไม่ลดละ

กล้าทำลายกิเลส ในที่สุดแล้วหากต้อนกิเลสจนมุมได้ ก็จะทำลายมันไม่ให้เหลือแม้แต่เศษเสี้ยว ไม่ให้เหลือแม้ผงธุลี แม้รอยอาลัยใดๆในจิตใจก็จะไม่ให้เหลือไว้ ถอนรากถอนโคนกันไปเลย

…เหตุที่เราไม่กล้าคิดจะต่อกรกับกิเลสเพราะกลัวเสียสุขที่เคยได้เสพไป

ทำอย่างไรจึงจะเรียกได้ว่ากล้าสู้กับกิเลส ก็คือเริ่มจากศีล พื้นฐานก็คือศีล ๕ แล้วค่อยพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ลดการเบียดเบียนลงไปเรื่อยๆ เมื่อถือศีลก็เหมือนกับเราเข้าสู่สนามรบ หากไม่มีศีลก็ไม่จำเป็นต้องอดทนอะไร อยากทำอะไรก็ทำ แต่เมื่อมีศีลก็จะต้องต่อสู้กับความอยากที่จะทะลักออกมา พยายามจะทำลายศีลที่เราใช้อาศัยในการกำจัดกิเลส และนี่คือสนามรบของคนกล้า ที่กล้าจะเผชิญหน้าและกล้าทำลายผู้ร้ายที่ชั่วที่สุดในโลกที่มาฝังตัวอยู่ในจิตวิญญาณของเรามานานแสนนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

4.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทำไมต้องนำมังสวิรัติมาเป็นการปฏิบัติธรรม

November 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,622 views 0

ทำไมต้องนำมังสวิรัติมาเป็นการปฏิบัติธรรม

ทำไมต้องนำมังสวิรัติมาเป็นการปฏิบัติธรรม

หลายคนคงจะสงสัยว่าทำไมจึงต้องหยิบยกการกินมังสวิรัติมาเป็นหัวข้อในการปฏิบัติธรรม ซึ่งคนส่วนมากมักจะเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมนั้นต้องไปฝึกสติ นั่งสมาธิ เดินจงกรม การฝึกขยับร่างกายเพ่งกสิณ ฯลฯ

การนำมังสวิรัติมาปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่แค่การฝึก แต่เป็นการเข้าสู่สนามรบจริง เข้าสู่สนามชีวิตจริง เจอกิเลสจริง สู้กับกิเลสจริง ทำลายกิเลสจริง เราจะทำการฝึกปฏิบัติไปพร้อมกับการเรียนรู้ความพ่ายแพ้ต่อกิเลสนับครั้งไม่ถ้วน จนกว่าจะชนะมันในวันใดวันหนึ่ง ชาติใดก็ชาติหนึ่งซึ่งเป็นการชนะครั้งสุดท้าย

จริงๆแล้วเราสามารถนำสิ่งอื่นมาเป็นหัวข้อปฏิบัติธรรมก็ได้ เช่น ความโกรธ ความโลภ เรื่องปวดหัวในที่ทำงาน เรื่องวุ่นวายในครอบครัว ปัญหาชีวิต ฯลฯ แต่ปัญหาพวกนั้นมันไม่ได้มาให้เราได้ฝึกปฏิบัติทุกวันเหมือนอย่างการกินมังสวิรัติ

พระไตรปิฎกในบทของอาหาร ๔ ว่าด้วยเรื่องอาหารที่จำเป็นต่อความเจริญของชีวิต ในข้อ ๑ จะเป็นอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันเพื่อเป็นพลังงานให้ร่างกาย และในข้อ ๒ คือเราต้องมีผัสสะเป็นอาหาร ซึ่งเราจะเน้นหนักในข้อนี้

ผัสสะ คือสิ่งกระทบ คือการกระทบ คือการที่มีเหตุการณ์บางอย่างเข้ามากระทบแล้วตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเปิดรับ หรือรับรู้สิ่งนั้นได้ การมีผัสสะนั้นทำให้เรารู้ว่าเรายังมีกิเลสหลงเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด ถ้ามีกิเลสมาก แล้วเกิดผัสสะจิตใจจะเกิดทุกข์ กระวนกระวายมาก เหมือนกับคนที่เสพติดเนื้อสัตว์แล้วหันมากินมังสวิรัติ เมื่อเจอเนื้อสัตว์ก็จะเกิดความอยากรุนแรง เกิดทุกข์แรง

การปฏิบัติธรรมด้วยเหตุอื่นๆนั้นสามารถทำได้ เช่นความโกรธ เมื่อเรามีผัสสะเข้ามาเราก็สู้กับความโกรธนั้น หาเหตุแห่งความโกรธนั้น ดับความโกรธนั้นด้วยวิถีแห่งสัมมาอริยมรรค แต่ปัญหาก็คือเมื่อไหร่ล่ะที่เราจะเกิดความโกรธ แล้วใครจะมาช่วยทำให้เราเกิดความโกรธ แล้วถ้าความโกรธนั้นเกิดขึ้นจริงเราจะหยุดได้ ดับได้ ปล่อยวางได้จริงหรือไม่ ซึ่งถ้าเราหยิบยกเรื่องเหล่านี้มาเป็นแบบฝึกหัดปฏิบัติธรรม ก็ขอยืนยันเลยว่ายาก เพราะเราจะควบคุมปริมาณผัสสะที่เข้ามาไม่ได้ ควบคุมความรุนแรงไม่ได้ และความโกรธนั้นเป็นโจทย์ที่ต้องเจอในชีวิตอยู่แล้ว เหมือนสนามรบจริงๆ ถึงเราไม่อยากเข้าร่วมก็ต้องเข้าร่วมอยู่ดี

ไม่เหมือนกับการกินมังสวิรัติ คือเราสร้างสนามซ้อมขึ้นมา แต่ซ้อมกับกิเลสจริงๆของเรานี่แหละ เราสามารถรู้ได้เลยว่าเราจะสู้กับความอยากกินเนื้อสัตว์ของเรา เมื่อไหร่ เท่าไหร่ แค่ไหน อย่างไร เช่น วันละประมาณ 3 มื้อ หรือในมื้อเย็นต้องไปกินเลี้ยงกับเพื่อนๆ จะสู้กิเลสอย่างไร ซึ่งเมื่อเราหัดปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติ จะสามารถประมาณกำลังของผัสสะให้เหมาะกับกิเลสได้ง่าย เจริญได้ง่าย ไม่ยากเกินไป ทั้งยังเป็นประโยชน์ในด้านสุขภาพ และสร้างกุศลจากการละเว้นมากมาย

สนามปฏิบัติธรรมมังสวิรัตินั้นจะเกิดขึ้นมาไม่ได้หากเราไม่ถือเป็นสิ่งที่ควรละเว้น ไม่ได้ถือศีลมังสวิรัติ ไม่ได้บำเพ็ญตบะงดเว้นเนื้อสัตว์ เมื่อเราไม่มีเครื่องกั้นกิเลส เราก็จะไม่เห็นกิเลส แม้ว่าจะใช้ชีวิตผ่านไปนานเท่าไหร่ก็จะไม่เห็นกิเลส แตกต่างจากคนที่ตั้งศีลมังสวิรัติไว้ในใจ เขาเหล่านั้นจะเห็นกิเลสอย่างชัดเจนเมื่อมีผัสสะ มีเนื้อสัตว์ตรงหน้า มีสเต็ก มีหมูปิ้ง มีเนื้อย่าง มีอาหารทะเล สิ่งเหล่านี้คือผัสสะที่เข้ามากระตุ้นให้กิเลสเกิดอาการอยากเสพ เมื่อกิเลสไม่ได้เสพสมใจก็จะออกอาการทุกข์ทรมานใจ กระทั่งส่งผลไปถึงทรมานกายเลยก็สามารถทำได้ เช่นเมื่อไม่ได้กินเนื้อก็ออกอาการหมดแรง น้ำลายไหล หิวกระหาย ท้องร้อง ไม่สบาย ฯลฯ อาการเหล่านี้เป็นอาการที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเอง เกิดจากกิเลสสร้างขึ้นมา ไม่ใช่สภาวะตามธรรมชาติ เป็นสภาพลวงตาที่กิเลสสร้างขึ้นมาให้หลงว่าการได้เสพเนื้อสัตว์นั้นจะสร้างสุขให้และเมื่อไม่ได้เสพเนื้อสัตว์เราก็จะเป็นทุกข์

การปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติเพื่อทำลายความอยากเสพเนื้อสัตว์จึงเป็นเหมือนทั้งสนามซ้อมและสนามแข่งจริง เพราะถึงแม้ว่าเราจะพลาดท่าพ่ายแพ้ให้กับพลังของกิเลส กลับไปเสพเนื้อบ้าง แต่ก็ไม่มีผลเสียรุนแรง ไม่เหมือนกับเรื่องของความโกรธ ถ้าเหตุการณ์ใดเกิดแล้วทำให้โกรธจนคุมสติไม่อยู่ สร้างบรรยากาศที่ไม่พอใจออกไป แสดงสีหน้าไม่พอใจออกไป แสดงอาการไม่พอใจออกไป เช่น ด่า ว่า กล่าว แขวะ ประชด ลงไม้ลงมือ ฯลฯ ก็อาจจะเกิดผลเสียที่รุนแรงตามมาได้

ดังนั้นการนำมังสวิรัติมาเป็นโจทย์ในการปฏิบัติธรรมนั้น เพื่อให้ผู้เริ่มปฏิบัติธรรมได้เข้าใจกระบวนการของการล้างกิเลส โดยใช้การปฏิบัติที่สอดร้อยเข้าไปในชีวิตประจำวัน โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มกิจกรรมใดๆเข้าไปในชีวิต มีแค่เพียงการลดการเสพ ลดความอยากลงไปเท่านั้น ผิดพลาดก็ไม่เสียหายมาก แต่ถ้าล้างกิเลสได้ก็เจริญมาก

เมื่อประเมินจากความคุ้มค่าในการเลือกข้อปฏิบัตินี้มาเป็นกรรมฐาน จึงได้สร้างกลุ่มปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติขึ้นมา และเผยแพร่แนวทางและวิธีการเหล่านี้ออกไปเพื่อเป็นตัวเลือกหนึ่งในผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรม แต่ไม่มีเวลาว่างไปวัด ไม่มีเวลาทำทาน ไม่มีเวลาฟังธรรม ได้ลองปฏิบัติโดยใช้การปรับเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนที่กิเลส เปลี่ยนมิจฉาทิฏฐิ ได้เรียนรู้และเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องไปที่ไหน หรือพึ่งพาใคร เพราะเราปฏิบัติที่ใจ ใจที่มีกิเลส มีกิเลสตรงไหนก็ปฏิบัติตรงนั้น เราถือศีลให้เห็นกิเลส

เมื่อเห็นกิเลสก็พิจารณาโทษของกิเลสไปเรื่อยๆนั้น จึงเรียกว่าการปฏิบัติธรรม คือทำตนเองให้มีธรรมะ การจะมีธรรมะได้นั้นต้องกำจัดความหลงผิดในธรรม คือความไม่เป็นธรรม ความลำเอียง ความโง่ ความมัวเมา ฯลฯ เมื่อปฏิบัติธรรมด้วยมังสวิรัติจนเข้าใจแล้ว ก็จะสามารถประยุกต์ใช้กระบวนการทำลายกิเลส ไปใช้กับกิเลสตัวอื่นได้เช่น ความโกรธ ความโลภ ความหลงเสพ หลงติด หลงยึด ฯลฯ เพื่อความเจริญอื่นๆสืบไป

– – – – – – – – – – – – – – –

6.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์