Tag: ความขัดแย้ง

ไปแต่ผู้เดียว เด็ดเดี่ยวเหมือนนอแรด

December 1, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,227 views 0

ระหว่างค้นหาพระไตรปิฎกในหมวดคนคู่ ก็มาเจอ “ขัคควิสาณสูตร ที่ ๓” (25,296) ในภาพรวม ท่านกล่าวเปรียบถึงถ้าเจอกับสภาพที่ไม่ดี อยู่คนเดียวจะดีกว่า ซึ่งแน่นอนว่า ถ้ามันแย่ เราก็ต้องห่าง แต่อะไรล่ะที่มันไม่ดี แล้วอะไรที่มันดี ที่ควรใกล้ ในบทนี้มีทั้งไปแต่ผู้เดียว และเก็บเกี่ยวคนดีมาเป็นเพื่อน จะยกเป็นช่วง ๆ มาลองวิเคราะห์กันครับ

“พ.ความเยื่อใยย่อมมีแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกัน ทุกข์นี้ย่อมเกิดขึ้นตามความเยื่อใย บุคคลเล็งเห็นโทษอันเกิดแต่ความเยื่อใย พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น”

… ส่วนนี้จะทำให้เห็นภาพรวมของสภาพไม่ดี เป็นทุกข์ เป็นบาป เป็นอกุศล คนที่มีปัญญาเห็นโทษดังนั้น ให้ละออกเสีย มีของไม่ดี อย่ามีเลยดีกว่า

“พ.บุคคลข้องอยู่แล้ว ด้วยความเยื่อใยในบุตรและภริยา เหมือนไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยวก่ายกัน ฉะนั้นบุคคลไม่ข้องอยู่เหมือนหน่อไม้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น”

… ถ้ามองไผ่กอใหญ่ก็จะเห็นถึงความวุ่นวาย ลมพัดมาก็เสียดสีกันบ้าง ชนกันบ้าง เสียงดัง เหมือนกับเรื่องคู่มันวุ่นวาย ถ้าใครยังไม่มี ยังไม่ถึงวัย ยังเป็นหน่อไม้อยู่ ก็ไม่ต้องไปมี ไม่ต้องไปยุ่ง ไปคนเดียว ฉายเดี่ยวเหมือนนอแรด

“พ.ถ้าว่าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปรกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้ พึงครอบงำอันตรายทั้งปวง เป็นผู้มีใจชื่นชม มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้น หากว่าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญาเครื่องรักษาตน ผู้เที่ยวไปร่วมกันได้ มีปรกติอยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ไซร้พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว”

… แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ส่งเสริมให้ไปคนเดียวตลอด ไม่ได้ให้หลีกหนีผู้คน ถ้าเจอคนดี มีปัญญา พาทำกรรมดี ก็ให้อยู่ร่วมกัน พึ่งพากัน แต่ถ้าหาคนมีปัญญาไม่ได้ ไปคนเดียวเถอะ โดดเดี่ยวดั่งนอแรด

“พ.เราย่อมสรรเสริญสหายผู้ถึงพร้อมด้วยศีลขันธ์เป็นต้น พึงคบสหายผู้ประเสริฐสุด ผู้เสมอกัน กุลบุตรไม่ได้สหายผู้ประเสริฐสุดและผู้เสมอกันเหล่านี้แล้ว พึงเป็นผู้บริโภคโภชนะไม่มีโทษเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น”

… พระพุทธเจ้าท่านแนะนำให้คบคนมีศีล คนที่เก่งกว่า มีศีลมากกว่า มีปัญญามากกว่า หรือผู้ที่เสมอกัน แต่ถ้าชีวิตนี้มันอับจนหนทาง ไม่มีบารมี ไม่เจอคนที่สูงกว่า ไม่เจอคนเสมอกัน ก็อยู่กินใช้สิ่งที่ไม่เป็นโทษ คือใช้ชีวิตไม่หลงระเริงไปตามกิเลส แล้วก็เด็ดเดี่ยวดั่งนอแรดกันไป

จะเห็นได้ว่า ในศาสนาพุทธไม่ได้มีคำสอนมิติเดียว ใช่ว่าจะให้หนีผู้คนออกป่าหาความสงบไปเสียหมด อันนั้นมันคือกรณีที่หมดปัญญา หมดบารมีหาคนเก่งกว่าไม่ได้แล้วเท่านั้น ถึงจะปลีกตัวออกไปคนเดียว ถ้าหาคนเก่งกว่าหรือเสมอกันได้ ท่านก็ให้อยู่เกื้อกูลกัน พึ่งพากัน อันนี้เป็นปัญญาของพุทธที่ต่างจากฤๅษี ถ้าสายฤๅษีนี่เข้าถ้ำไปคนเดียวเลย สายพุทธนี่จะหาคนมีปัญญาแล้วร่วมกันทำกุศล

จริง ๆ ยุคนี้ก็มีครูบาอาจารย์อยู่มาก แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นผิด หลงป่ากันไปเยอะ ถ้าเอามาเทียบพระไตรปิฎกหลาย ๆ บทจะเห็นว่ามีความขัดแย้งสูง แต่ถ้าเอาบางบทมา มันก็ดูเหมือนจะใช่ ในความจริงแล้วยังมีครูบาอาจารย์ที่มีความสามารถมากอยู่ แต่การจะไปอยู่ผู้เดียวทั้ง ๆ ที่มีคนเก่งอยู่ นั่นก็สื่อให้เห็นว่าเขาไม่มีปัญญารู้ว่าใครเก่งกว่าเขา ไม่เห็นใครเก่งเสมอเขา เขาก็ฉายเดี่ยวไปเหมือนนอแรดตาบอดกันเลยล่ะนั่น คือปฏิบัติถูกบางบท แต่ภาพรวมไม่ครบทุกบท

แต่ก็ห้ามกันไม่ได้หรอก วิบากกรรมเขาเป็นแบบนั้น การได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกที่มนุษย์จะพึงเห็นได้เลยนะเอ้อ (อนุตตริยสูตร) ดังนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา

 

สงครามอัตตา : ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ (กรณีศึกษาเทศกาลเจ)

October 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,940 views 0

สงครามอัตตา

สงครามอัตตา : ใครเอาชนะคนนั้นแพ้ ใครยอมแพ้ก่อนคนนั้นชนะ (กรณีศึกษาเทศกาลเจ)

หากเราให้ความสำคัญของเทศกาลเจในขอบเขตของการถือศีลกินเจ ใครอยากทำอะไรก็ทำไป กรรมใครกรรมมัน ปากใครปากมัน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปล่อยวาง ก็จะเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านพ้นไปด้วยดีไม่มีปัญหาอะไร และจะไม่มีบทความนี้

แต่เมื่อมีความยึดว่าความเห็นของตนนั้นถูกต้องแต่ผู้เดียวเมื่อไหร่ เมื่อนั้นสงครามย่อมเกิดขึ้นได้ ตามโอกาสและช่องทางที่มี ซึ่งเราจะได้เห็นกันทุกปีใน social network ต่างๆ ที่ผู้คนออกมาห้ำหั่นผู้ที่คิดต่างจากตน ด้วยอาวุธคือความรู้ที่ได้รับรู้มา มุ่งฟาดฟันอีกฝ่ายหมายให้มอดม้วยด้วยความยึดดีของตน

เทศกาลเจ กับ สงครามแห่งอัตตา

ในช่วงเทศกาลเจนั้น เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้วัดผลของความเจริญในจิตใจ เราสามารถวัดผลการปฏิบัติธรรมหรือความเห็นความเข้าใจในชีวิตว่ามีความเจริญแค่ไหน ได้จากการเข้าร่วมรับรู้เรื่องราวของข้อขัดแย้งเหล่านั้น คือพาตัวเข้าไปดูสงครามอัตตานั้นๆ

แต่การเข้าไปดูก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปร่วม ทำตัวเองให้เป็นผู้ดูและศึกษาเท่านั้น เมื่อไหร่ที่ใจคิดจะลงไปร่วมรบ เคลื่อนทัพเดินทางออกจากใจที่ปกติ เป็นใจที่เดือดร้อนเพราะความไม่พอใจ ถือหอกถือดาบหมายจะฟาดฟัน ด้วยการชี้แจงในเชิงยัดเยียด ดูถูกดูหมิ่น ยกตนข่มผู้อื่น และสารพัดลีลาของกิเลสที่พร้อมจะประดังใส่ฝ่ายที่คิดต่างจากตน เมื่อนั้นความเสื่อมก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

เมื่อเป็นฝ่ายรับก็เช่นกัน แม้จะเห็นกลุ่มนักรบยกทัพมาพร้อมด้วยอาวุธครบมือ ถือธงโบกสะบัด ฝุ่นคลุ้งไปทั่วสมรภูมิ ดังกึกก้องไปทั่วด้วยเสียงกลอง มุ่งหมายจะมาดับความคิดของผู้ที่เห็นต่างให้สิ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องจัดทัพไปต้อนรับหรือตอบโต้ใดๆ สิ่งที่ควรทำมีเพียงแค่ชี้แจงในขีดที่จะเป็นกุศล ไม่ชวนทะเลาะหรือทำให้ยืดเยื้อจนเลอะเทอะ หรือเลือกที่จะปล่อยวางทั้งหมดก็สามารถทำได้ ปล่อยให้นักรบเหล่านั้นเข้ามาฟาดฟันกันด้วยทิฏฐิ โดยไม่จำเป็นต้องตอบโต้ก็ย่อมได้ เพราะผู้ที่มีอัตตาเท่านั้นที่จะต้องเจ็บปวด ผู้ไม่มีอัตตาแม้จะถูกเสียบด้วยวาทะที่เชือดเฉือนมากมายสักเพียงใด ก็ไร้ซึ่งความเจ็บปวด ไม่ใช่เพราะทนได้ แต่เพราะไม่มีตัวตนให้โดนต่างหาก

ความประเสริฐของคนจะไม่มีวันเกิดขึ้นกับหมู่คนที่มุ่งฟาดฟันกันด้วยความเห็นของตน แม้ว่าความเห็นนั้นจะเป็นความเห็นที่ถูกต้องก็ตามที คนที่ยังไม่หยุดสงครามย่อมไม่เรียกว่าผู้ประเสริฐ ผู้ที่มุ่งฟาดฟันผู้อื่นด้วยความเห็นของตนย่อมไม่ใช่ผู้เจริญ

ความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะมีความยึดมั่นถือมั่นว่าของฉันถูก ของฉันดีที่สุด ซึ่งแต่ละคนนั้นจะมีความยึดมั่นถือมั่นต่างกันไปตามบุญตามกรรม แต่เมื่อคนที่เห็นต่างมาพบกัน ก็ย่อมหาทางจะทำให้ความเห็นของตนนั้นเป็นหนึ่งเดียว ให้ผู้อื่นยอมรับ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้โลกหมุนรอบตัวเองเช่นนั้น ดังนั้นใครที่วางความเห็นของตนได้ก่อน ปล่อยวางการโต้แย้งได้ก่อน ผู้นั้นจึงเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะ เป็นผู้ที่เจริญอย่างแท้จริง

ผู้ที่พยายามเอาชนะ พยายามหาหลักฐาน หาข้ออ้างมาเพื่อยกตนข่มผู้อื่น อวดอ้างคุณวิเศษใดๆ ที่ตนเรียนรู้มา ดูถูก ดูหมิ่น เยอะเย้ย ถากถางผู้อื่น ฯลฯ โดยที่ผู้รับนั้นไม่อยากรู้ คนเหล่านั้นได้ประจานความเสื่อมของตนให้เป็นที่ประจัก ว่าความเห็นหรือการปฏิบัติธรรมของเขานั้นไม่ได้ทำให้จิตใจเจริญขึ้นเลย ทั้งยังตกต่ำมัวเมาในความยึดมั่นถือมั่น จนหลงตัวหลงตน แสดงความดีที่ตนเข้าใจให้ผู้อื่นเห็นไปทั่วด้วยการยัดเยียดในสิ่งที่ผู้อื่นไม่ได้ต้องการรับรู้ในเรื่องนั้น

เทศกาลเจ จึงเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าเข้าร่วมไปสัมผัสและทดสอบ”ความแท้” ของตนเอง ว่าจะเป็นของจริงหรือของปลอม ที่ว่าเรามีศีลมีธรรม เป็นคนดี เป็นคนไม่เบียดเบียน บรรลุธรรมกันไปต่างๆนาๆนั้น เราสามารถฟังความเห็นต่างได้ไหม เรายังสงบได้ไหม เราจะยอมเขาได้ไหม ถ้าเขาถามแล้วเราจะชี้แจงด้วยใจเมตตาได้ไหม และที่สุดคือเราจะยอมปล่อยให้เขากล่าวหาและเข้าใจไปอย่างนั้นได้ไหม

เข้าร่วมเทศกาล(ในความเห็นของฉัน)

ถ้าเราอยู่ในถ้ำ หมกตัวอยู่ในภพ อยู่ในที่ปลอดภัย ไม่รับรู้เรื่องราวใดๆ ก็คงจะไม่ใช่การปฏิบัติธรรม ซึ่งผมเองก็คงจะเข้าร่วมรับรู้ข้อมูลต่างๆในช่วงเทศกาลนี้ด้วย

ซึ่งผมจะไม่อยู่เป็นกลางแบบชั่วบ้างดีบ้างตามที่โลกเข้าใจ แต่จะเป็นกลางในแบบพุทธ คือไม่โต่งไปทางกามและไม่โต่งไปทางอัตตา ซึ่งจะอยู่ข้างกุศล ข้างที่ไม่เบียดเบียน ใครทำกุศลก็เห็นดีกับคนนั้น และผมจะไม่ไปร่วมรบกับเขา แต่ก็จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่มีให้กับผู้ที่สนใจ

เหมือนกับเราอยู่ในสนามรบ เราไม่ได้ไปรบกับเขาหรอก เราก็ตั้งค่ายอยู่บนเนินเขาของเรา ดูเขารบกันไป ส่วนหน้าที่ของเราก็ผลิตความรู้ไม่ให้คนต้องไปรบกันเพราะยึดความเห็นทั้งผิดและถูกของตน แต่ทันทีที่เราเผยแพร่ความรู้ของเราออกไป แม้เราจะอยู่ในที่มั่นของเราซึ่งห่างไกลจากสมรภูมิ ก็จะมีผู้ที่เห็นต่างยกทัพมาฟาดฟันเป็นธรรมดา

เมื่อเราชูธงว่าการเบียดเบียนไม่ดี เป็นโทษ การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่ควร ศาสนาพุทธไม่ยินดีในความเบียดเบียนเหล่านั้น ย่อมมีผู้ที่เห็นต่างเป็นธรรมดา ซึ่งคนยึดในอัตตามากก็ย่อมจะไม่ยอมรับเป็นธรรมดาเช่นกัน เมื่อมีความเห็นใดที่ขัดแย้งกับความเห็นของตน คนเหล่านั้นก็พร้อมจะหยิบอาวุธขึ้นมาฟาดฟันหมายจะให้ความเห็นต่างนั้นตายจากโลกนี้ไป ซึ่งก็มากันหลากหลายลีลา ถ้าเป็นสงครามก็มาทั้งบก น้ำ อากาศ ดำดิน หายตัวเข้ามาก็ยังได้เข้ามาฟาดฟันกันด้วยอาวุธคือวิชาความรู้ที่เรียนกันมา ทื่อบ้าง คมบ้าง หนักบ้าง เบาบ้าง คละเคล้ากันไป

ทีนี้เราก็ตั้งใจว่าเราจะไม่รบกับใคร ไม่ต่อสู้กับใครอย่างน้อยก็ตลอดช่วงเทศกาลนี้ ใครมาท้าสู้เราไม่สู้ ใครมาแหย่เราไม่หลุด ใครแนะนำเราก็รับฟังและพิจารณาเนื้อหาไปตามความจริง แต่ถ้าใครมาถามด้วยความสงสัยที่เราพิจารณาดีแล้วว่าเป็นไปเพื่อกุศลเราก็จะตอบ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องตอบหรือไม่ตอบ แต่จะพิจารณาเป็นกรณีไปสรุปคือเราจะไม่ไปเถียงแข่งดีเอาชนะกับใคร แต่ก็ยังทำหน้าที่ให้ความรู้ต่อไป

คนที่เข้ามาฟาดฟันเราด้วยความยึดดีของเขา การที่เขาจะยึดผิดหรือยึดถูกนั้นก็เป็นเรื่องของเขา เพียงแต่เขาเห็นว่าสิ่งที่เขายึดนั้นดีตามประสบการณ์ที่เขาได้เรียนรู้มา การที่คนเหล่านั้นอดรนทนไม่ได้จนต้องแสดงตัวตนออกมาให้เห็น ก็ชี้ชัดให้เห็นแล้วว่าเขายังขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดความสำรวม ขาดสติ ขาดปัญญา ยากนักที่เราจะช่วยอะไรเขาได้ หากจะมีสิ่งที่พอทำได้ก็คือการเห็นใจเขา ให้อภัยเขา รักเขา ถ้าจำเป็นต้องพูดกับเขาก็ให้มีสัมมาวาจา คือพูดแล้วไม่ไปยั่วกิเลสเขา ไม่ทำให้เขาโกรธ ไม่ทำให้ต้องทะเลาะกัน หรือจะเลือกไม่พูดไม่โต้ตอบ เปลี่ยนเรื่องไปเลยก็ยังได้

การปฏิบัติธรรมนั้นจำเป็นต้องมีผัสสะ และในความเจริญใดๆ ก็ตามย่อมมีผู้เสียสละโดยที่ไม่รู้ตัวอยู่เสมอ ถึงแม้เขาเหล่านั้นจะไม่ได้ตั้งใจก็ตามที การที่เขาเข้ามาทดสอบเราด้วยลีลาท่าทางต่างๆของกิเลสนั้น เขาย่อมสะสมอกุศลกรรมไปแล้ว เมื่อเห็นว่าเขาพยายามจะมาทดสอบเราด้วยการดึงเราลงนรก ไปเถียงกับเขา ไปทะเลาะกับเขา ไปโกรธกับเขา ไปขุ่นใจเพราะเขา เราก็ควรสำรวมตนให้อยู่ในความไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น ไม่ลงนรกไปกับเขา อย่าให้เขาได้ทำหน้าที่เสียเปล่า หากเราไปเถียงเอาชนะ ไปทะเลาะไปโกรธกับเขา ก็เป็นอันว่าสิ่งที่เขาทำเสียเปล่า แทนที่จะได้ผู้เจริญเพิ่มขึ้นมา กลับลงนรกไปอีกคน แบบนี้มันเสียของ

ดังนั้นใครจะเข้ามาด้วยลีลาอย่างไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้เรารู้สึกขัดใจขุ่นใจ ก็ให้เก็บอาการ เก็บอาวุธ ขอบคุณที่เขามาช่วยกระตุ้นให้เห็นว่าเรายังมีจิตของสัตว์นรกอยู่ในตัว แล้วมุ่งล้างใจเราเป็นหลัก นี่คือหน้าที่ของเราในสงครามนี้มุ่งทำความเจริญให้สำเร็จในจิตใจของเราก่อน อย่ามุ่งไปแส่หาในการสร้างความเจริญกับผู้อื่น

สงครามข้างนอกเราไม่รบ แต่สงครามข้างในเราจะไม่ยอมแพ้ ไม่มีวันยอมศิโรราบให้กิเลส สัตว์นรกที่ร้ายที่สุดที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจเรานั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)