Tag: ทางธรรม

เพ่งโทษฟังธรรม

October 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,092 views 0

เพ่งโทษฟังธรรม

เพ่งโทษฟังธรรม

การที่คนเราจะสามารถเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นั้นจำเป็นต้องมีการเปิดใจรับฟัง มีการนำมาพิจารณาถึงเนื้อหานั้นๆ ไม่ว่าสิ่งที่ได้ฟัง ได้เรียนรู้มานั้นจะเป็นความรู้ทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม

เมื่อคนเรานั้นได้เรียนรู้โลกจนได้ความรู้มาหนึ่งชุด ก็มักจะยึดมั่นถือมั่นความรู้ชุดนั้นเป็นอัตตา เช่นไปศึกษากับครูบาอาจารย์ท่านใดก็จะยึดคำสอนนั้นเป็นหลักยึดทันที เมื่อได้ฟังธรรมใหม่ๆก็จะนำมาตรวจเทียบกับความรู้เดิมของตน เมื่อสิ่งใดไม่เหมือนสิ่งที่ตนเคยเรียนรู้มาก็มักจะมองว่าสิ่งนั้น “ผิด” โดยที่ตนเองก็ไม่ได้ปฏิบัติจนเข้าใจในคำสอนนั้น สักแต่ว่าฟังมาแล้วเอามายึด เอามาถือ เอามาพูดต่อ เอามาประดับเป็นยศของตัวเองว่าเป็นผู้รู้ธรรมมาก ใช้ความรู้ที่ฟังมาคอยเพ่งโทษเอาผิดผู้อื่น โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้มีการปฏิบัติหรือเข้าใจธรรมใดๆด้วยตนเองเลย

ทำให้คนที่ติดยึดเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง แม้จะนั่งฟังอยู่แต่ก็เพ่งโทษฟังธรรม แล้วก็จะไม่เข้าใจสาระแท้ในสิ่งที่ผู้พูดได้สื่อสาร พอไม่ฟังก็ไม่สามารถบรรเทาความสงสัยได้กลายเป็นยิ่งฟังก็ยิ่งสงสัย เพราะไม่ได้ตั้งใจฟัง เมื่อเป็นดังนั้นจึงไม่มีโอกาสทำความเห็นให้ถูกต้องตามที่ความจำเป็น เช่นเขาพูดอีกอย่าง เราฟังเป็นอีกอย่างกลายเป็นคนจับประเด็นไม่เป็น สุดท้ายจิตของผู้เพ่งโทษฟังธรรมนั้นก็จะขุ่นมัว ไม่เลื่อมใส ไม่ศรัทธา มีจิตคอยคิดเพ่งโทษ และไปปรามาสในธรรมได้ในที่สุด ถ้าธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แท้ เป็นธรรมที่ปนเปื้อนด้วยกิเลสก็ยังพอจะเรียกว่าเสมอตัวได้บ้าง แต่หากธรรมนั้นเป็นธรรมแท้ เป็นธรรมที่พาลดกิเลส ธรรมลดความยึดมั่นถือมั่น การเพ่งโทษฟังธรรมครั้งนี้จะกลายเป็นผลเสียอย่างมากต่อความสุขความเจริญเลยทีเดียว

ในบทของกำลัง๘ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลังและคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง” จึงจะเห็นได้ว่าผู้ที่จะก้าวเป็นบัณฑิตจึงไม่เพ่งโทษใครๆเลย แม้ว่าจะได้ยินธรรมที่แสดงอยู่นั้นไม่ตรงตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ก็จะไม่ไปเพ่งโทษใดๆทั้งยังมีจิตมีเมตตา หากบอกสิ่งที่ถูกได้ก็บอก ถ้าบอกไม่ได้ก็ปล่อยวางได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะบอกสิ่งที่ถูกจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกจริง หากผู้ใดหลงตนว่าเป็นบัณฑิตหยิบเอาธรรมที่ได้ยินได้ฟังมากล่าวอ้างโดยไม่มีความรู้ในตนเอง ก็อาจจะกลายเป็นภัยต่อตัวเองได้เช่นกัน

ส่วนคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง กำลังนี้เองที่จะพาให้คนพาลคอยจ้องจับผิดผู้อื่น แม้ว่าจะอยู่ในคราบของนักบวช นักบุญ ผู้ถือศีล บุคคลที่มีชื่อเสียงน่าเคารพนับถือ แต่หากยังมีการเพ่งโทษผู้อื่นอยู่เสมอก็เรียกได้ว่าเป็นคนพาล พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมงคล ๓๘ เป็นข้อแรกว่าให้ห่างไกลคนพาลนี้เสีย เพราะคนพาลนั้นมักจะมีการเพ่งโทษว่าร้ายผู้อื่น นำพาไปสู่เรื่องเสื่อมทรามอยู่เสมอ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็มักจะคอยชี้นำให้คนอื่นเพ่งโทษคนที่คิดเห็นไม่ตรงกับที่ตนเข้าใจ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มักจะทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน ซึ่งเป็นกรรมหนัก คนที่เชื่อในคนพาลก็จะพากันลงนรกด้วยกันกับคนพาล ดังนั้นท่านจึงว่าให้ห่างไกลคนพาลเข้าไว้

ผู้ที่คอยเพ่งโทษเวลาฟังผู้อื่น ก็จะฟังผู้อื่นไม่เข้าใจ ฟังเด็กพูดก็ไม่เข้าใจเด็ก ฟังผู้ใหญ่พูดก็ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ ฟังคนแก่พูดก็ไม่เข้าใจคนแก่ ฟังพระพูดก็ไม่เข้าใจพระ ถึงแม้จะดูเหมือนเข้าใจ แต่ก็จะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่งได้

สัมมาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับปัจจัยแห่งการเกิดสัมมาทิฏฐิไว้สองประการ สัมมาทิฏฐินั้นคือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วสิ่งใดคือสัมมาทิฏฐิ เชื่ออย่างใดจึงจะเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง เราเพียงแค่รู้จักกับคำนี้เพียงแค่ว่า “ความเห็นชอบ” แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าเห็นชอบในอะไร ได้แต่เดาไปเอง เข้าใจไปเองตามปัญญาที่มี โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ค้นหาความจริงเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิ

ความเห็นที่ถูกต้องนั้นต้องพาให้ลดกิเลส พาให้ไม่สะสม รู้ว่าการลดกิเลสมีผลเจริญ เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เชื่อว่ากรรมยุติธรรมเสมอ รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง และรู้ว่าอริยสาวกนั้นก็มีอยู่จริง รู้ว่าโลกียะมีและโลกุตระก็มี คือรู้ว่าเรายังมีกิเลสอยู่และรู้ว่าความสุขกว่าการมีกิเลสก็มีอยู่ รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดใหม่ทางวิญญาณมีจริง คือคนที่เลวก็สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ และเชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่สอนธรรมะอย่างถูกตรงในโลกนี้ยังมีอยู่ รู้ว่าเป็นใครและรู้ด้วยว่าหากปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นก็จะสามารถพ้นทุกข์ได้จริง

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ

การจะนำตัวเราไปสู่ความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงนั้นมีเหตุปัจจัยอยู่ด้วยกันสองประการ นั่นคือ ๑.ปรโตโฆสะ ๒.โยนิโสมนสิการ

ปรโตโฆสะ

คือการตั้งใจรับฟัง เปิดใจฟังสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนคิดโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปปน ฟังอย่างลึกซึ้งให้เข้าใจว่าผู้สื่อสารนั้นกำลังตั้งใจสื่อสารอะไร ผู้ที่ไม่มีปรโตโฆสะก็มักจะฟังไปด้วยคิดแย้งไปด้วย เช่นพอผู้พูดกล่าวมาหนึ่งประโยค เขาก็จะมีความคิดเห็นแย้งต่อประโยคนั้นทันที คือไม่เชื่อ อันเกิดจากความไม่รู้ ยึดมั่นถือมั่น หรือลังเลสงสัย ถ้าค้านแย้งหนักๆก็จะกลายเป็นการเพ่งโทษฟังธรรม ฟังไปก็จับผิดไป คิดแย้งไป พูดไม่เหมือนที่ฉันเรียนมา พูดไม่เหมือนที่ฉันเข้าใจ มันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ปรโตโฆสะคือใช้ความไม่มีอัตตา ฟังด้วยอนัตตาคือไม่ถือตัวถือตน

กลายเป็นผู้ฟังที่ไม่ดีในที่สุด นอกจากจะฟังไม่รู้เรื่องแล้วยังทำให้เกิดวิบากกรรมอีกด้วย ผู้ฟังที่ดีมีหน้าที่แค่ฟัง ฟังอย่างตั้งใจ ไม่รีบคิดตีความใดๆ ก่อนเวลาอันควร ยอมให้ความรู้อื่นที่เราไม่เข้าใจ เข้ามาเพิ่มในความรู้เดิมของเราเสียก่อน ยินดีที่จะรับฟังเสียก่อนค่อยตัดสินใจ

โยนิโสมนสิการ

เมื่อเปิดใจรับฟังแล้ว เราก็จะนำข้อความ เรื่องเล่า ความรู้เหล่านั้นพิจารณาไปถึงแก่นสารสาระของธรรมที่สอดแทรกอยู่ในนั้นๆ หรือที่เรียกกันว่าการทำใจในใจให้แยบคาย คือเมื่อฟังแล้วก็มีการพิจารณาสิ่งเหล่านั้นตามไปด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ฟังจบแล้วก็ลืมไป แต่การมีโยนิโสมนสิการจะทำให้สามารถเข้าใจในสิ่งที่ฟังได้มากขึ้น สิ่งที่ฟังนั้นเข้าไปในใจ ไปในความรู้สึก ไม่ใช่แค่ในความคิด เมื่อพิจารณาลงสู่ใจจะได้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่งจะ “เข้าใจ” ลึกซึ้งขึ้น

….เมื่อเรามีสองปัจจัยนี้แล้ว ไม่ว่าเราจะฟังหรือเรียนรู้เรื่องทางโลกหรือทางธรรม การฟังหรือเรียนรู้นั้นๆก็จะเกิดประสิทธิภาพที่สูงที่สุด จะฟังเรื่องทางโลกก็สามารถเข้าใจแก่นสารสาระของสิ่งนั้น จะฟังเรื่องทางธรรมก็สามารถเข้าใจธรรมนั้นๆได้โดยลำดับตามฐานของตน

ความเสื่อมของชาวพุทธ

การเพ่งโทษฟังธรรมนั้นเป็นหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ ความเสื่อมนี้เกิดในคนที่เสื่อม ไม่ใช่ศาสนาเสื่อม เพราะเขาเหล่านั้น ขาดการเยี่ยมเยียนครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ ถึงแม้จะไปเยี่ยมก็กลับละเลยการฟังธรรมสนใจเอาแต่กุศลน้อยๆเช่นทำทาน บริจาค กวาดลานวัด ฯลฯ พอไม่ได้ฟังธรรมก็เลยไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติในอธิศีล ไม่เรียนรู้เรื่องศีล ไม่รู้วิธีทำให้ตัวเองเจริญในศีลนั้น เพราะเมื่อไม่มีผู้รู้สอนก็ไม่สามารถรู้และปฏิบัติด้วยตนเองได้ พอไม่ศึกษาและปฏิบัติอธิศีลก็เริ่มจะไม่เข้าใจคุณค่าของศีล เริ่มเห็นช้างเป็นมด ไม่ให้ค่ากับคนผู้มีศีล มองเห็นทุกคนเทียบเท่ากันหมด ไม่ศรัทธาในครูบาอาจารย์ไม่ว่าจะแก่หรือเด็ก จะเห็นว่าเท่ากันหมด

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา” คนมีปัญญาจึงถือศีล คนไม่มีปัญญาก็ไม่ถือศีล คนมีปัญญาจึงเคารพในผู้มีศีล ส่วนคนไม่มีปัญญาจึงไม่สนใจผู้มีศีล ในชาดกตอนหนึ่งท่านว่า หากกลุ่มชนใดไม่สามารถแยกแยะคนดีกับคนชั่วได้ เห็นว่าคนมีศีลกับคนไม่มีศีลเสมอกัน ท่านให้พรากจากสังคมหรือกลุ่มชนนั้นเสีย จะเห็นได้ว่าท่านให้พรากจากคนผู้ไม่มีปัญญา

เมื่อไม่มีปัญญาแยกแยะคนผู้มีศีลกับคนทั่วไป สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนพาลในที่สุดเพราะไม่มีความเคารพในผู้ปฏิบัติดีทั้งผู้ปฏิบัติมาก่อนและปฏิบัติใหม่ เมื่อได้ฟังธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มักจะมีจิตตำหนิติเตียน “เพ่งโทษฟังธรรม” หากธรรมที่แสดงอยู่นั้นเป็นธรรมที่พาลดกิเลสและพาพ้นทุกข์ ผู้เพ่งโทษฟังธรรมก็จะเดินย้อนไปอีกทางคือไปทางนรก

เมื่อไม่เชื่อตามธรรมที่ผู้ปฏิบัติดีสอนสั่ง คอยเพ่งโทษฟังธรรม ก็จะไม่เข้าใจธรรม แม้จะทำบุญทำทานก็จะกลายเป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธศาสนา คือไปทำบุญตามประเพณีที่สังคมเข้าใจ แต่ไม่เกิดบุญกุศลตามหลักของศาสนาพุทธ และจะมีความเข้าใจในเรื่องบุญกุศลที่ผิดเพี้ยน

เมื่อเข้าใจการทำบุญที่ผิดไปจากพุทธก็จะเริ่มไปศรัทธาลัทธิที่อ้างว่าตนเองเป็นพุทธแต่ปฏิบัติไม่ถูกตามหลักพุทธ เช่นการเอาสวรรค์วิมานมาเป็นเครื่องล่อ การเอาลาภยศสรรเสริญมาเป็นเครื่องลวง การนำหลักปฏิบัติของศาสนาอื่นมาปนเช่น พราหมณ์ ฤาษี หรือลัทธิอื่นนอกพุทธ ไปเคารพบูชาเทพเจ้า เคารพบูชาคนผู้อวดอ้างเป็นเจ้าลัทธิ สุดท้ายจะเลิกนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็จะหลุดจากพุทธไปศาสนาอื่นเลย

นี่เองคือกระบวนการแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เป็นชาวพุทธเองที่เสื่อมไปจากธรรมที่แท้ ไม่ใช่ธรรมนั้นเสื่อม แต่เป็นคนที่เสื่อมไปจากธรรม ธรรมะคือสิ่งที่มีอยู่เช่นนั้น เป็นอยู่แบบนั้นไม่มีวันเสื่อมสลาย หากแต่คนผู้มีความเสื่อมศรัทธาในการลดกิเลส จะค่อยๆพาตัวเองเสพกิเลสและเสื่อมจากธรรมไปเอง นี้เองคือเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ( ความเสื่อมของชาวพุทธ๗ )

– – – – – – – – – – – – – – –

11.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

แรงจูงใจในการทำงาน

October 9, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,215 views 0

แรงจูงใจในการทำงาน

แรงจูงใจในการทำงาน

ในยุคสมัยที่มีทางเลือกในการทำงานหลากหลาย ไม่ว่าจะเลือกเป็นลูกจ้าง นักลงทุน หรือผู้ประกอบการ ก็มักจะมีสิ่งหนึ่งเป็นตัวผลักดัน เรามักจะเรียกสิ่งนั้นว่าแรงจูงใจ

การสร้างแรงจูงใจนั้นจะช่วยเพิ่มพลังใจของเราในหลายๆส่วน จูงใจของเราไปทำในการงานที่เราคิดว่ามันจะเกิดประโยชน์กับตัวเราโดยใช้ผลประโยชน์บางอย่างมาล่อ แรงจูงใจนั้นสามารถเกิดมาจากเหตุได้ทั้งกุศลและอกุศล ได้ทั้งดีและร้าย

…กุศล

ในทางกุศล หรือความดีงาม เมื่อเราประกอบกิจกรรมการงานโดยมีกุศลเป็นตัวตั้ง โดยมีแรงจูงใจจากการพิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ต่อผู้อื่นจนเกิดปัญญาเข้าใจคุณค่าในกิจกรรมการงานนั้นๆ และ ใช้อิทธิบาท ๔ คือฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นตัวผลักดันให้เกิดแรงจูงใจในการทำสิ่งที่ดี

ฉันทะ คือความยินดี เต็มใจพอใจ ที่จะทำสิ่งๆนั้น เพราะเห็นว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์ เกิดประโยชน์ ทำแล้วมีความสุขความเจริญเรียกได้ว่าการพิจารณาประโยชน์ของสิ่งใดก็ตามจะทำให้เกิดความชอบ และความชอบนั้นเองคือพลัง คือแรงจูงใจ แรงผลักดันให้ทำสิ่งที่ยากอย่างมีความสุขได้

วิริยะ คือความเพียร ความพยายามที่จะทำกิจกรรมการงานนั้นอย่างอดทน ไม่ย่อท้อแม้จะต้องพบกับความยากลำบากใดๆก็ตาม แม้จะต้องประสบปัญหาก็จะพยายามที่จะทำต่อไปเรื่อยๆ

จิตตะ คือความตั้งมั่น ทุ่มโถมเอาใจใส่กิจกรรมการงานนั้นอย่างจดจ่อ มีสมาธิกับสิ่งนั้น จิตใจวนอยู่กับสิ่งนั้น ให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น ทำงานอย่างกัดไม่ปล่อย เอาใจใส่ในงานอย่างเต็มที่ มีเวลาว่างก็คิดถึงแต่งานนั้นๆ ให้ความสำคัญกับงานนั้นๆ

วิมังสา คือการพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับกิจกรรมการงานนั้น เอาแก่นสารสาระ ออกแบบปรับปรุงกระบวนการต่างๆที่ทำอยู่ วิเคราะห์วิจัยกิจกรรม หมั่นทบทวนศึกษาในเนื้อหาของการงาน

เมื่อมีการพิจารณาประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน และใช้อิทธิบาทจนเกิดแรงจูงใจ รวมทั้งเป็นไปตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ในข้อสัมมาอาชีวะ คือการประกอบอาชีพที่สุจริต อาชีพที่ดีงาม อาชีพที่ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ไม่คดโกง ไม่ล่อลวง ไม่ตลบตะแลง ไม่รับใช้คนชั่ว ไม่เป็นการพนันนำลาภที่มีไปแลกลาภที่มากกว่า ไม่พาให้หลงมัวเมา ซึ่งหากเราได้ทำการงานที่ถูกที่ควรก็จะผลักดันชีวิตเราและสังคมรอบข้างไปสู่ความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม

…อกุศล

ในทางอกุศล คือความไม่ดีไม่งาม ก็จะมีการใช้แรงจูงใจจากการพิจารณาประโยชน์ตนเป็นตัวตั้งเหมือนกัน แต่เป็นการพิจารณาโดยมีกิเลสเข้ามาร่วม เรียกง่ายๆว่ามีกิเลสเป็นแรงผลักดันและเป็นแรงจูงใจให้ทำกิจกรรมการงานนั้นๆนั่นเอง เรียกได้ว่ามีกิเลสทั้งผลักทั้งจูง ให้ตัวเราเคลื่อนไปทำการงานนั้นๆ

แม้ว่าเราจะมีแรงจูงใจที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดัน ก็จะสามารถใช้อิทธิบาทเป็นเครื่องผลักดันได้เหมือนกัน แต่จะมีทิศทางที่เจริญไปในด้านอกุศล ยิ่งทำกิจกรรมการงานที่เป็นอกุศลอย่างตั้งมั่นก็ยิ่งจะเกิดความเสื่อมจากธรรม ยิ่งสะสมกิเลสก็จะยิ่งทุกข์ ยิ่งขยันทำชั่วก็ยิ่งไปนรกไวขึ้นนั่นเอง

แรงจูงใจจากกิเลสเหล่านี้ ในคนแต่ละคนก็จะมีแรงจูงใจหรือกระทั่งเป้าหมายที่แตกต่างกันเพราะเรามีกิเลสที่แตกต่างกัน เราสามารถจำแนกแหล่งที่มาของกิเลสได้เป็น ๔ ระดับ ตั้งแต่หยาบไปจนถึงละเอียด คือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตาจะลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันพอประมาณดังนี้

อบายมุขคือแรงจูงใจที่พาให้หลงมัวเมาอย่างหยาบ เป็นทุกข์ โทษ ภัยอย่างเห็นได้ชัด เช่นมัวเมาในการพนัน หวย หุ้น ท่องเที่ยว ดูการละเล่น ดูละคร คอนเสิร์ต สิ่งเสพติด เหล้า เที่ยวกลางคืน เสพสิ่งบันเทิงต่างๆ ทำงานเพื่อที่จะทำให้ได้เกียจคร้านการงานในภายภาคหน้า ฯลฯ หากคนใดมีสิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจ เป็นแรงผลักดันให้ทำกิจกรรมการงาน ทำงานเพื่อจะได้เสพสิ่งเหล่านี้ ก็ถือได้ว่าติดในกิเลสในระดับที่หนาและเป็นภัยมาก

กามคุณคือแรงจูงใจที่พาให้หลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ยกตัวอย่างเช่น ตั้งใจทำงานเพื่อที่จะนำเงินไปแต่งหน้าแต่งตา แต่งตัว ศัลกรรม หรือเพื่อไปเที่ยวหาสิ่งสวยงามไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของมาเสพเพื่อสนองกิเลสในการติดรูป ทำงานหาเงินมาเพื่อซื้อน้ำหอมแพงๆเพราะหลงในกลิ่น หรือทำงานเพื่อหาของอร่อยกิน เอาเงินที่ได้มาตระเวนหาของอร่อยตามที่โลกมอมเมา คนที่ทำกิจกรรมการงานเพื่อที่จะได้เสพกามเหล่านี้ ก็ถือว่าติดในกิเลสที่หนาน้อยกว่าอบายมุข แต่ก็ยังเป็นภัยต่อตัวเองอยู่มาก

โลกธรรมคือแรงจูงใจที่หลงไปใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นสิ่งที่คนมาหลงติดกันมากที่สุด เรามักจะมีแรงจูงใจในการทำงานเพราะอยากรวย อยากมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี อยากมีคนนับหน้าถือตา อยากมีคนนิยมชมชอบ อยากเป็นที่รักเป็นที่สนใจของคนอื่น ทำเพราะอยากได้เสพสุขลวงๆจากกิเลส หลายคนขยันทำผลงาน ทำงานอย่างตั้งใจก็เพื่อที่จะได้เสพสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าโลกจะมอมเมาว่าเป็นสิ่งดี แต่แท้ที่จริงเป็นกิเลสที่ละเอียดและร้ายกาจมาก โลกธรรมจะพาเราให้ทำอย่างที่สังคมต้องการ ถ้าสังคมว่าทำแบบนี้จะรวย จะดูดี จะมีชื่อเสียง เราก็จะไหลตามสังคมไป ไปทุกข์ไปสุขตามโลกที่หมุนวนไป เป็นไปในทางโลก เป็นปลาที่ลอยตามน้ำ ลอยไปตามกิเลส

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน เป็นแรงจูงใจที่จะทำให้เราได้ทำการงานนั้นๆ อย่างมัวเมาในระดับละเอียดที่สุด เพราะหลงว่าเราเกิดมาเพื่อทำสิ่งนั้น หลงไปว่างานนั้นเป็นของเรา เราจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นการหลงไปในอุดมการณ์ที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดัน และอัตตาคือตัวการร้ายที่จะเป็นแรงผลักดันทำให้เราไปยึดในคน สัตว์ สิ่งของ อยากครอบครองสิ่งเหล่านั้นมาเป็นของตน เป็นแรงจูงใจที่ละเอียดที่สุด เป็นกิเลสที่ฝังลึกแน่นในจิตใจของคน เป็นรากสุดท้ายด่านสุดท้ายของกิเลสทุกตัว

การจะบอกว่าเรามีแรงจูงใจจากกิเลสตัวใดตัวหนึ่งนั้นก็คงเป็นเรื่องยากเพราะกิเลสเป็นเรื่องซับซ้อน หากผู้วิเคราะห์ไม่เคยขุดค้นไปถึงสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ เหตุแห่งความอยาก ก็ยากที่จะพบกับตัวการที่แท้จริง และโดยทั่วไปแล้วเรามักจะมีกิเลสหลายอย่างปะปนกัน ทับซ้อนและซับซ้อนกันไปหลายรูปแบบ คนที่เสพอบายมุขก็จะมีอัตตาเป็นตัวผลักดัน คนที่เสพกามก็จะมีโลกธรรมเป็นตัวผลักดันและมีอัตตาซ้อนอยู่ลึกๆ

กิเลสทุกตัวนั้นเป็นตัวเดียวกันคือความอยากเสพ เรามีความอยากเสพนั้นเพราะเราไปหลงติดหลงยึด และเราไปหลงติดหลงยึดเพราะว่าเรามีความไม่รู้หรือที่เรียกว่าอวิชชานั่นเอง แต่กิเลสนั้นจะออกมาลีลาไหน แบบไหน มุมไหน ก็แล้วแต่ใครจะสะสมกิเลสมามากน้อยแบบไหน จะถูกมอมเมามาแบบไหน

ผู้ที่ทำกิจกรรมการงานโดยมีกิเลสเป็นแรงจูงใจนั้น จะถูกความหวังหรือความอยากของตัวเองชักจูงให้หาให้เสพไปเรื่อยๆ เมื่อได้เสพสมใจ ได้อย่างใจมากขึ้น กิเลสก็จะโตขึ้น พอกิเลสโตขึ้นก็จะมีความอยากเสพมากขึ้นไปอีก เริ่มที่จะไม่พอใจสิ่งที่เคยได้เสพมาก่อน จนต้องพยายามแสวงหาสิ่งใหม่ สร้างความหวังใหม่ สะสมกิเลสใหม่ ในวันใดวันหนึ่งก็จะหาสิ่งเสพสมใจไม่ได้ ก็จะทุกข์ร้อนใจขัดใจโกรธเคืองไม่พอใจเพิ่มกิเลสเข้าไปอีก สะสมกิเลส สะสมทุกข์ สะสมภพ สะสมชาติไปอย่างไม่จบไม่สิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

September 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,134 views 1

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

การดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะในทางโลก หรือทางธรรมนั้น สิ่งที่จำเป็นประการหนึ่งก็คือผู้ชี้นำที่ดี…

เพราะคนนั้นเรามีขอบเขตการเรียนรู้ที่จำกัด มีสติที่จำกัด มีปัญญาที่จำกัดการที่เราจะสามารถขยายข้อจำกัดเหล่านั้นได้คือการพัฒนาตัวเอง แต่เราจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไรในเมื่อเราไม่รู้วิธีที่จะเพิ่มหรือขยายสติปัญญาเหล่านั้น ดังนั้นการที่เรามีผู้ชี้นำ หรือครูบาอาจารย์ที่ดีนั้น จะสามารถนำพาเราไปสู่ความเจริญได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

1.คบหาผู้รู้

พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุแห่งการหลุดพ้นไว้ในอวิชชาสูตร ว่าการที่เราหลงงมงายไปในสิ่งไร้สาระ หลงไปในกิเลสนั้นเกิดจากอวิชชา เป็นความโง่ เป็นความไม่รู้ ซึ่งเหตุแรกสุดของอวิชชานั่นก็คือการไม่คบหาสัตบุรุษ

สัตบุรุษ คือ คนผู้รู้สัจจะ รู้ความจริง รู้วิธีพ้นทุกข์ ท่านเหล่านั้นได้ร่ำเรียนมาจากพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ สะสมบารมีมาหลายภพหลายชาติ จนเกิดความรู้แจ้งในตนเอง เมื่อมีสัจจะ ก็สามารถสอนสัจธรรมได้ เป็นธรรมที่พาไปสู่การพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด เพื่อความไม่สะสม เพื่อความมักน้อย เพื่อความสงบจากกิเลส เพื่อการละกิเลส ฯลฯ

ดังนั้นเมื่อเราไม่ได้คบหาสัตบุรุษ ก็ไม่มีทางที่จะทำลายอวิชชาได้ หรือเรียกได้ว่าไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้เลย

2.ลักษณะของผู้รู้

ผู้ที่เป็นสัตบุรุษนั้น จะสามารถแสดงธรรมอย่างแกล้วกล้าอาจหาญ ไม่ประหม่า ไม่เขินอาย ไม่ลังเล ไม่สับสน เพราะรู้แน่ชัดว่าธรรมที่ตนมีนั้นเป็นของจริง พาพ้นทุกข์ได้จริง สามารถสอบถาม พร้อมทั้งให้ตรวจสอบกันได้ และยังเชื้อเชิญให้มาลองพิสูจน์ธรรมะนั้น เพราะรู้ว่าผู้ใดที่ศรัทธาและปฏิบัติจะเห็นและเข้าใจได้ ไม่ใช่สิ่งเร้นลับ ไม่ใช่เวทมนต์ ไม่ใช่เดรัจฉานวิชา เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ตลอดกาลไม่ว่ายุคใดสมัยใด และเป็นสิ่งที่ควรกระทำให้เกิดธรรมเหล่านั้นขึ้นในวิญญาณของตน

สามารถเล่า ชี้แจ้ง สภาวะ การปฏิบัติ ขั้นตอนต่างๆได้อย่างมีศิลปะ คือมีทั้งสาระและสุนทรียะ ปรับเปลี่ยนร้อยเรียงธรรมให้เข้าใจได้ง่ายอย่างวิจิตรพิสดารให้เหมาะกับผู้ฟังได้ โดยแสดงธรรมไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด โดยมีเหตุผล มีที่อ้างอิง และมีความเอ็นดูเข้าใจต่อผู้อื่น ไม่พูดให้เกิดการกระทบ กดดัน บีบคั้น ทำร้ายทำลายใจ ไม่กักขังหรือผลักไส ไม่ได้สอนเพื่อให้คนมาศรัทธา ไม่สอนเพื่อแลกมาซึ่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ บริวาร บารมีต่างๆ แต่สอนเพื่อให้คนลดกิเลส ให้คนพ้นทุกข์

ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น ไม่ได้อยากสอนและไม่ได้ไม่อยากสอน เพียงแต่มีเมตตาให้กับเพื่อนมนุษย์ผู้ยังมีทุกข์อยู่ จึงใช้ความรู้ที่มีสร้างประโยชน์ให้กับตนคือสร้างกุศลและประโยชน์ของผู้อื่น คือช่วยชี้นำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

สัตบุรุษนั้นไม่จำเป็นต้องมีพรรษาที่มาก ไม่จำเป็นต้องเป็นเพศนักบวช ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย มีชื่อเสียง มีคนนับหน้าถือตา มีคนยกย่อง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เพียงแค่มีโลกุตระธรรม คือธรรมที่พาสวนกระแส พาล้างกิเลส เป็นธรรมที่ไม่พาไปตามโลก ขัดกับโลก ขัดใจ แต่ไม่ขัดกับสัจจะ

3.คุณสมบัติของผู้รู้

คุณสมบัติหรือธรรมที่สัตบุรุษพึงมี (สัปปุริสธรรม ๗) ก็คือ ความเป็นผู้รู้ธรรม รู้ทั้งโลกียะธรรมและโลกุตระธรรม ,เป็นผู้รู้สาระประโยชน์ว่าทำสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ,เป็นผู้รู้ตน คือรู้ว่าตนเองมีศักยภาพเท่าไหร่ แค่ไหน อย่างไร, เป็นผู้รู้ประมาณ สามารถประมาณ คาดคะเน สิ่งต่างๆให้พอดี ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ,ผู้รู้เวลาอันควร รู้ว่าเวลาใดควรทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร, เป็นผู้รู้หมู่คน รู้ว่าคนหมู่นี้ต้องพูดอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ,เป็นผู้รู้บุคคล รู้ว่าบุคคลนั้นควรจะสอนอย่างไร ควรจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเกิดความเจริญ

4.การตามหาผู้รู้

การตามหาผู้รู้หรือสัตบุรุษนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตามหาเจอ ไม่ว่าจะเดินทางไปทั่วทั้งแผ่นดิน ทั่วฟ้า ใต้มหาสมุทรก็ไม่มีทางเจอ ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “กรรม

เรามักจะคิดกันไปว่าต้องหาอาจารย์ถูกจริต หาอาจารย์ที่ใช่ เราจะเลือกอาจารย์เอง หรืออาจารย์จะเลือกศิษย์เอง ความเข้าใจเหล่านี้ไม่เที่ยงทั้งนั้น เพราะบางทีก็เลือกได้ บางทีก็เลือกไม่ได้ บางทีที่เลือกมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ ไอ้ที่ไม่เลือกกลับกลายเป็นดี ไม่มีอะไรแน่นอน จะยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ นอกจากจะเชื่อใน “กรรม

กรรมจะเป็นผู้ที่เลือกให้เราได้พบกับใคร ได้พบกับอาจารย์ท่านไหน และอาจารย์ท่านไหนจะได้พบกับเรา เพราะการที่เราจะได้พบกับครูบาอาจารย์ท่านนั้น เป็นเพราะเราบำเพ็ญเพียร เรียนรู้ ศึกษาและปฏิบัติร่วมกันมาหลายภพหลายชาติแล้ว ดังนั้นแม้ว่าเราจะไปเจอครูบาอาจารย์ที่ใครเขาแนะนำว่าดีว่าเยี่ยมเพียงใด แต่ถ้าเราไม่เคยเกื้อกูลกันมา ก็มักไม่ถูกใจ ไม่เข้าใจ ถึงจะพยายามก็จะอยู่กันได้ไม่นาน หรือที่เรียกว่าไม่ตรงจริตนั่นเอง

ผู้ที่ไม่มีกรรมดีมาหนุนนำ แม้จะพบสัตบุรุษอยู่ตรงหน้า ได้พูดคุยสนทนากันนานหลายชั่วโมง ก็อาจจะไม่เข้าใจ ไม่รับรู้ ไม่ถูกใจก็ได้ เพราะวิบากบาปหรือบาปกรรมที่เขาเหล่านั้นได้กระทำไว้ ได้บังไม่ให้เขาได้เข้าถึงสิ่งที่ดี สิ่งที่มีประโยชน์คอยขัดขวางไม่ให้เขาเจอกับผู้รู้ธรรม ให้เขาได้ทนทุกข์นานเท่าที่กรรมจะยังมีผล

5.การจะได้พบผู้รู้

การได้เกิดมาพบพระพุทธเจ้านั้นยากเสียยิ่งกว่ายาก หากไม่เคยทำกุศลมามากพอ ก็จะไม่มีวันได้พบกับสัตบุรุษใดๆเลย ถึงแม้จะพบ ก็เหมือนไม่ได้พบ แม้จะใกล้ชิดก็เหมือนไม่ได้ใกล้ชิด

การที่เราจะได้พบผู้รู้นั้น จำเป็นต้องสร้างกุศลกรรม หรือการสะสมบุญบารมีที่มากพอเราจึงต้องทำดีไปเรื่อย ช่วยเหลือคนไปตามที่ทำได้ แบ่งปัน เสียสละ ทำทาน ถือศีล อดทนฝืนข่มสู้กับกิเลสเท่าที่จะทำได้ ในวันใดวันหนึ่งเมื่อเราทำกุศลไปเรื่อยๆ เมื่อสะสมบุญบารมีที่มากพอ กรรมจะจัดสรรให้เราได้เข้าถึงกุศลที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

เช่น เมื่อเราทำบุญทำทานไปเรื่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งก็บังเอิญไปทำทานให้กับพระอริยะ ซึ่งก็เป็นทานที่ทำให้เกิดอานิสงส์มากกว่าทำทานกับ สัตว์ คน หรือพระทั่วไป เมื่อได้ทำสิ่งที่เป็นกุศลมากขึ้น ก็จะผลักดันให้เราได้เจอกับผู้รู้ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกรรม เมื่อเราสะสมกรรมดีมากๆ กรรมดีก็จะผลักดันเราให้ทำกรรมดีที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากจากหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสจากความเศร้ามองซึ่งมีที่มาจากกิเลส

ใครที่ยังรู้สึกว่าตามหาผู้รู้หรือครูบาอาจารย์ ที่ตอบได้ทุกคำถามที่สงสัยไม่เจอ เป็นเพราะเรายังทำดีไม่มากพอ เหมือนเรายืนอยู่บนบันไดขั้นที่ 5 แล้วการจะได้พบผู้รู้นั้นต้องขึ้นบันไดไปขั้นที่ 100 การขึ้นบันไดต้องอาศัยพลังกุศลเป็นตัวผลักดัน เมื่อเราทำกุศลมากๆ วันหนึ่งเราก็จะได้พบเจอเอง

ในทางกลับกัน ถ้าเราอยู่บันไดขั้นที่ 5 แล้วมีผู้ไม่รู้ ผู้หลงผิดเข้าใจว่าตนเป็นครูบาอาจารย์ อยู่ในบันไดขั้นที่ 3 เมื่อเราเผลอทำอกุศลหรือสิ่งชั่ว ทำสิ่งไม่ดีมากๆ อกุศลก็อาจจะพลักดันให้เราไปเจอกับอาจารย์ที่เป็นผู้มัวเมา หลอกลวง หรือพระอลัชชี พระนอกรีต ก็เป็นได้

การจะตามหาผู้รู้นั้น เพียงแค่ทำกุศลให้ถึงรอบ เมื่อถึงเวลาที่ควรเมื่อไหร่ก็จะได้พบเอง การตั้งจิตโดยไม่ได้ทำกุศลนั้น ก็เหมือนเรายืนอยู่ที่บันไดขั้นที่ 5 แต่เฝ้าฝันว่าจะไปถึงบันไดขั้นที่ 100 โดยที่ไม่ก้าวขาออกไป ดังนั้นในชีวิตนี้คงจะไม่มีวันเจอ

เมื่อไม่เจอก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ เกิดมาตายไปเปล่าๆ หนึ่งชาติ แล้วก็ต้องเกิดมาหลงทางใหม่อีกหนึ่งชาติและเกิดต่อไปอีกหลายชาติ ถ้าจังหวะพอเหมาะวิบากบาปส่งผลก็อาจจะได้ไปเกิดในช่วงกลียุคที่ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐๐ ยามที่พุทธศาสนาสูญสิ้น มีแต่คนบาปเต็มโลก ไม่สามารถทำกุศลได้ มีแต่อกุศล ก็เป็นโอกาสที่คนชั่วจะได้สะสมบาป สะสมอกุศลเพื่อเก็บไว้ทรมานในนรกกันต่อไป

6. แล้วเป็นผู้รู้จริงรึเปล่า

เมื่อเราไปคบคุ้นคบหากับผู้ที่กล่าวอ้างว่าเป็นครูบาอาจารย์ อ้างว่าตนนั้นเป็นผู้รู้ อ้างว่ารู้ธรรมของพระพุทธเจ้า อ้างว่าเป็นอรหันต์ อ้างว่าเป็นผู้ไม่กลับมาเกิดอีก

พระพุทธเจ้าท่านไม่สอนให้เชื่ออะไรง่ายๆ ท่านได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า อย่าได้เชื่อถือตามที่ได้ยินมา ตามที่เขาเล่ามา ตามที่เป็นข่าวลือ ตามตำเรา ตามที่เดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง นึกคิดเอาเอง อย่าเชื่อเพราะท่านเหล่านั้นคิดตรงกับเรา หรือเพราะเขาดูน่าเชื่อถือ หรือแม้กระทั่งคนผู้นั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเราก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ ท่านให้พิจารณาเอาว่าสิ่งนั้นหรือธรรมที่กล่าวอ้างนั้นปฏิบัติแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ปฏิบัติให้เข้าถึงที่สุดแห่งกุศลนั้น แต่ถ้าเป็นอกุศลก็ให้ถอยห่างออกมา

ในสมัยพุทธกาลก็มีพระที่หลงผิดอยู่มาก หลงเข้าใจว่าตัวเองบรรลุอรหันต์ก็มี ทำให้อัครสาวกต้องคอยตามแก้มิจฉาทิฏฐิกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าในสมัยนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ความเสื่อมของพุทธนั้นได้มาถึงครึ่งทางแล้ว ความหลงผิด ความมัวเมาย่อมจะรุนแรงและขยายตัวมากกว่าในสมัยพุทธกาลอย่างแน่นอน

ถ้าอยากรู้ก็ลองปฏิบัติตามท่านที่เราศรัทธาดู ถ้าทำเต็มที่แล้ว ถามท่านก็แล้ว ยังคงสงสัย ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้วก็ยังรู้สึกว่า กิเลสไม่ลด ชีวิตยังเหมือนเดิม ปีที่แล้วชอบกินน้ำอัดลม ปีนี้ก็ยังชอบกินน้ำอัดลมเหมือนเดิม ก็ให้ลองถามท่านดูว่าจะกำจัดความอยากนี้ได้อย่างไร ถ้าเราคอยปรึกษาและทำตามท่านอย่างเต็มที่แล้ว ปฏิบัติไม่มาไม่ไป ไม่เจริญ ก็มีสองอย่าง 1.เรามีวิบากบาปที่จะกั้นไม่ให้เราบรรลุธรรม ให้ทำดีให้มากๆ 2. ท่านไม่ได้รู้จริง … ให้ลองแก้ที่ข้อ 1 ให้เต็มที่ก่อน คือปฏิบัติตามท่านแล้วทำดีให้มากๆ ก็จะรู้เองว่าสุดท้ายคำคอบคืออะไร

7.ไม่ต้องพบสัตบุรุษแล้วบรรลุธรรมได้ไหม?

เราทุกคนไม่ว่าจะเกิดมาอีกสักกี่ครั้งก็จะมีบาปบุญ ภูมิเก่า และกรรมสะสมมาด้วยเสมอ ถ้าหากท่านบำเพ็ญเพียรจนเป็นพระอรหันต์มีหลายภพหลายชาติแล้ว เก็บสะสมปัญญาบารมี สะสมโลกะวิทู คือการรู้โลกนี้(โลกียะ)และโลกหน้า(โลกุตระ)อย่างแจ่มแจ้ง มากพอที่จะทำให้จิตตั้งมั่นว่าจะบำเพ็ญเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่จำเป็นต้องพบสัตบุรุษในชาตินั้นๆ ดังจะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ได้เองโดยไม่มีใครสอนธรรมะแท้ของพุทธให้กับท่านเลยในชาตินั้น นั่นเกิดมาจากการที่ท่านสะสมบุญบารมีมานานนับ 4 อสงไขย กับแสนมหากัป

ในสมัยนี้ก็มีมาก ที่มีผู้มัวเมา ตีขลุม ตีกิน ทึกทักเอาเอง อวดอ้างเอาเอง ว่าตนนั้นบรรลุธรรมมีบุญบารมีมาก ก็ขอให้ท่านใช้ปัญญาพิจารณากันเอาเองว่าท่านเหล่านั้นมีลักษณะและคุณสมบัติของสัตบุรุษหรือไม่

– – – – – – – – – – – – – – –

25.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทางขึ้นภูเขามีหลายทาง

June 27, 2013 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,528 views 0

เป็นเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้น บางครั้งการได้ยินได้ฟังมาก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าใจได้หมดเสมอไป เพราะการฟังหรือการได้ยินมาเป็นเพียงการรับรู้ แต่ไม่ใช่ประสบการณ์

ผมเคยได้ยินได้ฟังคำพูดประมาณว่า เส้นทางประสบความสำเร็จในชีวิตมันมีหลายทาง แตกต่างกันไปตามมุมมองของแต่ละคน ผู้นำทางสู่ความสำเร็จก็นำทางต่างกันแล้วแต่ใครจะชอบเดินทางแบบไหน

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะอาจจะเดินมาผิดทาง อาจจะหลงทาง อาจจะติดทางตัน ดังนั้นผู้นำทางในชีวิตจึงมีผลอย่างมากกับการประสบกับความสำเร็จ ปัญหาคือทุกวันนี้เรามีผู้นำทาง หรือการคบบัณฑิต (มงคล ๓๘) หรือยัง ในมุมมองของผมนั้นการประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม จะไปด้วยกัน มันต้องสมดุลกันคืออยู่ตรงกลางไม่โต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง จึงจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ

ทางขึ้นภูเขามีหลายทาง…

มาถึงเรื่องราวในตอนนี้ เป็นเรื่องของการขึ้นภูเขาลูกหนึ่ง ที่ชื่อว่า เขาฝาชี ซึ่งเมื่อต้นปี 56 ผมได้ขึ้นไปมาแล้วรอบหนึ่ง ช่วงนั้นอยู่ในช่วงหน้าหนาว ไม้ยังผลัดใบอยู่ ทุกอย่างดูจะแห้งแล้งมองเห็นอะไรได้ง่ายๆ ไม่ได้ขึ้นยากอะไรมากมาย

ในตอนที่ขึ้นครั้งล่าสุดนี้ผมคิดไว้แล้วว่ามันต้องรกขึ้นแน่นอน เนื่องจากครั้งนี้คือการขึ้นเขาในหน้าฝน มันคงจะลื่นและชื้นขึ้นมากทีเดียว ผมและเพื่อนเดินมาเจอทางที่ดูเหมือนทางขึ้นเขาที่ดูรกทึบ ดูๆแล้วมันรกกว่าเดิมมาก แต่ก็ตัดสินใจขึ้นไปทางนั้นเพราะคิดว่าเป็นทางเดิม แต่เมื่อขึ้นไปเรื่อยกลับพบว่ายิ่งลื่นและชัน เป็นภูเขาที่มีดินคลุม ทำให้การขึ้นยากมาก ซึ่งต้องใช้โคนต้นไม้เป็นที่ค้ำยัน เพราะยืนปกติไม่ได้ มันชันมากๆ ต้องเกาะต้นไม้ไปตลอดเส้นทาง ไหลลงมาบ้าง ค่อนข้างน่ากลัว เพราะถ้าพลาดไหลลื่นลงไปโอกาสบาดเจ็บหรือตายก็มีเหมือนกัน

เราขึ้นมาได้เกือบครึ่งทางและพบว่ามันผิดทาง แต่ก็ไม่สามารถลงไปทางเดิมได้แล้ว เพราะที่ขึ้นมามันชันมากๆ ลงไปต้องอันตรายแน่ ก็เลยเสี่ยงอันตรายปีนขึ้นไปต่อให้ถึงยอดเขา เพื่อที่จะได้เดินลัดเลาะยอดเขาไปซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเดินได้ไหม รู้แค่กลับไปทางเดิมไม่ได้แน่ๆ

ทุกก้าวที่ปีนขึ้นไปเต็มไปด้วยความเสี่ยง เสี่ยงที่จะไหลลงไป เสี่ยงที่ต้นไม้ที่เกาะจะหัก หินที่เหยียบแล้วอาจจะหล่นลงไปพร้อมหิน จำเป็นต้องมีสมาธิสูงมากๆ ในการขึ้นเขาครั้งนี้ สุดท้ายก็มาถึงยอดและพบว่ามันผิดลูกจริงๆ โชคยังดีที่สามารถเดินลัดเลาะยอดเขาไปยังเขาลูกเป้าหมายได้

ไม่น่าเชื่อแม้แต่การขึ้นเขาผิดลูกก็สอนธรรมได้…

ทำให้ผมกลับมามองย้อนไปในชีวิตว่า บางทีการไปถึงเป้าหมาย ถ้าเราไปถูกทางมันก็ง่ายและเสี่ยงน้อยกว่า มีทางมากมายให้ขึ้นเขาแห่งชีวิต เราจะเปิดทางใหม่ที่มันยุ่งยากหรือเดินไปในทางที่มีผู้คนมากมายไปถึงยอดแล้ว สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่การเลือกของเรา ผมได้พูดประโยคหนึ่งออกมาตอนไปถึงยอดเขาลูกเป้าหมาย “ทางขึ้นเขามันมีหลายทาง แต่ถ้าฉลาดก็จะมาทางง่าย แต่ถ้าไม่ ก็ไปทางยากๆให้มันลำบากเล่นๆไป

ปัจจัยของเรื่องนี้มันอยู่ที่ “เวลา” หากเรามีเวลามากมาย เราอาจจะสามารถใช้เวลาอันมากมายเหล่านั้นหาทางขึ้นเขาได้หลากหลายเหลี่ยมมุมตามที่เราต้องการ แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะมีเวลาเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าเวลาจะหมดเมื่อไหร่ การหาผู้นำทางที่ดี ก็เป็นตัวเลือกที่ดี แต่ถ้าหากใครต้องการขึ้นเขาด้วยตัวเองเพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเองก็ตามสะดวก แต่ก็อย่าลืมไปว่าเป้าหมายของชีวิตนี้คืออะไร การมีความสุขระหว่างทางก็ดี สุขเมื่อถึงก็ดี ก็ขอให้เป็นการเดินทางที่มีแต่ความเบิกบานใจแล้วกันนะครับ

สวัสดี