Tag: ตัณหา

บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?

October 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,351 views 0

การกินไม่มีโทษจริงหรือ?

บทวิเคราะห์ : การกินไม่มีโทษจริงหรือ? การปฏิบัติธรรมให้เกิดความเจริญ สามารถละเว้นเรื่องอาหารการกินได้จริงหรือไม่?

ความเห็นที่ว่าการไปยุ่งวุ่นวายกับการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรมนั้น มักจะเป็นความเห็นที่มีการนำเสนอขึ้นมาในช่วงเทศกาลกินเจ แท้จริงแล้วศาสนาพุทธใส่ใจเรื่องการกินหรือไม่ หรือเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ที่เข้าใจว่าการกินไม่มีผล เรามาลองศึกษาบทวิเคราะห์กันดู

มีความคิดเห็นของนักปฏิบัติธรรมบางคนที่เห็นว่าการกินนั้นไม่มีผลต่อการปฏิบัติธรรมบ้าง เลือกกินไปก็ไม่ได้ทำให้จิตใจเจริญบ้าง สนใจเรื่องกินก็ไม่บรรลุธรรมบ้าง แต่ในความเป็นจริงนั้น กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการขัดเกลาหนึ่งของผู้ที่บวชในพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ “ท่านให้ศึกษาการกินมื้อเดียว

เปิดเรื่องมาก็เกี่ยวกับเรื่องกินแล้ว การกินมื้อเดียวนั้นอยู่ในจุลศีล ข้อ ๙ เป็นหลักปฏิบัติมาตรฐานในศาสนาพุทธของนักบวชทุกรูปที่พระพุทธเจ้าบวชให้ ถือเป็นศีลต้นกำเนิดของพุทธที่มีมาตั้งแต่แรก เป็นข้อปฏิบัติสู่ความเจริญ ต่างจากพระวินัยที่ถูกบัญญัติขึ้นมาทีหลัง

ท่านยังกำชับไว้ด้วยว่า การกินนี่ต้องประมาณให้ดีนะ (โภชเนมัตตัญญุตา) จะไปสักแต่ว่ากินแล้วกิเลสโตไม่ได้นะ เพราะกินอย่างพุทธคือต้องกินแล้วกิเลสลด กามลด อัตตาก็ลด กามคุณ ๕ เราก็ไม่หลง ความยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ต้องมี ต้องประมาณให้เกิดความเจริญขึ้นในตน ให้เกิดการชำระกิเลส ให้เกิดกุศล ไม่ใช่แค่กินให้ชีวิตอยู่ไปวันๆ แบบนั้นใครเขาก็ทำกัน เพราะคนจะอยู่ได้ก็ต้องกินอาหารกันทุกคนอยู่แล้ว แต่การจะกินให้เกิดความเจริญนี่มีเฉพาะในพุทธเท่านั้น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุของการเกิดของตัณหา (ตัณหาสูตร) หนึ่งในนั้นคืออาหารที่ได้รับมา นั่นหมายความว่าการกินอาหารทุกวันนี่แหละ จะทำให้เกิดตัณหาได้ แล้วทีนี้คนที่เห็นว่าการกินไม่ใช่เรื่องของนักปฏิบัติธรรม ไม่มีผลต่อความเจริญ ประมาทในอาหาร สุดท้ายตัณหาก็แอบโตกันไปสิ เพราะไม่รู้เหตุของตัณหาว่าเกิดที่ใด พอไปยึดมั่นถือมั่นว่าฉันจะไม่ปฏิบัติเรื่องกิน ก็โดนกิเลสลากไปลงนรกหมด

พอตนเองไม่เท่าทันการเกิดของตัณหาในการกิน แล้วยังไม่ยินดีปฏิบัติธรรมในการกิน ก็เท่ากับเสียโอกาสในการล้างกิเลส เมื่อไม่ได้ตั้งศีลตั้งตบะเพื่อละเว้นอาหารที่จะก่อให้เกิดการกำเริบของตัณหา ถึงจะมีผัสสะแต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะ “เมื่อไม่ตั้งใจละเว้นก็ย่อมเท่ากับ เสพกามได้เท่าที่ใจต้องการโดยไม่มีขอบเขต” พอไม่มีขอบเขตก็เลยไม่มีการปฏิบัติใดๆ เกิดขึ้น จึงกลายเป็นการกินเพื่ออยู่ไปวันๆ โดยไม่รู้เท่าทันตัณหา ตัณหานั้นมีอยู่แต่การรู้การมีอยู่ของตัณหาต้องใช้การละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นเพื่อที่จะได้เห็นตัณหา(ใช้อธิศีล) เมื่อไม่ยินดีละเว้นหรือปฏิบัติธรรมในเรื่องอาหารก็คือการปล่อยให้ตัณหาโตโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งพระพุทธเจ้าให้ดับปัญหาที่เหตุ การปฏิบัติธรรมนั้นก็เพื่อดับทุกข์ ดับทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ ถ้าอาหารที่ได้มานั้นยังทำให้ตัณหาเกิดอยู่ก็ต้องปฏิบัติกันในเรื่องของอาหาร เพราะตัณหาที่เกิดจากอาหารก็ต้องมาจัดการที่อาหาร จะไปนั่งสมาธิ เดินจงกรมดับมันไม่ได้ ใจมันเกิดความหลงติดหลงยึดในอาหาร ไม่ใช่ว่าขี้เกียจนั่งขี้เกียจเดิน เหตุมันคนละตัวกัน ปัญหาเกิดที่ไหนต้องแก้ที่ตรงนั้น จึงเรียกได้ว่ารู้แจ้งสมุทัย รู้เหตุแห่งทุกข์

ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่ากามนี่ให้ละก่อนเลย เพราะกามคือ ข้อปฏิบัติอย่างหยาบช้า (อาคาฬหปฏิปทา) คือ มันชั่วมาก หยาบมาก มีโทษมาก เบียดเบียนมาก ควรละเว้นให้ได้ก่อน คนที่หลงในกามจะมีความเห็นและคำกล่าวดังเช่นว่า “กามไม่มีโทษ” (๒๐,๕๙๖) ดังนั้นผู้ที่เห็นว่ากามไม่มีโทษย่อมตกลงไปในกาม จมสู่กาม มัวเมาในกาม ซึ่งกามในความหมายของพุทธศาสนานั้นกินความกว้างมาก โดยรวมคือการหลงเสพหลงสุข

จะยก “กาม” ที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้คือ “กามคุณ ๕ ในอาหาร” เพื่อที่จะชี้ชัดกันว่า ผู้ที่ละเว้นการสำรวมในอาหารการกินนั้นจะมีความเห็นไปทางไหน

กามคุณ ๕ นั้นมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นเดียวกับกับอาหารนั้นก็มีกามคุณ ๕ แบบครบเครื่อง เรียกว่าเป็นกิเลสที่สัมผัสกันได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่รูปคืออาหารนั้นมีหน้าตาดีไหม น่ากินไหม เพียงแค่เห็นรูปสวยก็อยากกินสิ่งนั้นแล้ว, รสชาติ ของอาหารที่เขาว่าเด็ด ร้านไหนอร่อยต้องไปกิน ร้านไหนไม่อร่อยอยากจะขว้างทิ้ง , กลิ่นที่ยั่วยวนหอมหวาน พัดมาตั้งแต่ไหนทำให้เกิดความอยากกินเพียงแค่สูดกลิ่นเข้าไป, เสียง แค่ได้ยินเสียงผัด เสียงตะหลิวที่โดนกระทะ เสียงผัดดังซู่ซ่าก็ทำให้คิดถึงเมนูที่ชอบใจ เกิดอยากจะกินขึ้นมาทันที , สัมผัส ความกรอบ นุ่ม เย็น ร้อน ฯลฯ ทั้งหลายที่ชวนสัมผัส พากันจ่ายเงินซื้อมากินกันจนหนำใจ

เพียงแค่ยกตัวอย่างเรื่องกามหยาบๆเช่นนี้ ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า อาหารนี่เป็นเหตุแห่งตัณหาอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ แล้วยังไงล่ะ? ทีนี้คนที่ปฏิบัติธรรมแล้วตีทิ้งอาหารการกิน มองว่าการกินไม่มีผล เห็นว่าปฏิบัติเรื่องการกินไปก็ไม่เจริญ จะเป็นอย่างไร ….เขาก็โดนกิเลสตลบหลังเข้าสักวันนั่นแหละ เพราะประมาทต่อกาม เพราะกามนั้นล่อลวง กามทำให้ลุ่มหลง ทำให้ประมาทตามประสาของกิเลส

อะไรที่มันน่าใคร่น่าเสพคนเขาก็ไม่อยากจะพรากหรอก ก็หาสารพัดข้ออ้างที่แสนจะดูดีเพื่อให้เสพมันทุกวันนั่นแหละ เพราะมีตัณหา ก็เลยมีอุปาทาน แล้วก็จึงมีภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ไม่จบไม่สิ้น

มันจะจบได้อย่างไรในเมื่อตัณหาไม่ได้ถูกจัดการ ปล่อยไว้เป็นขยะหมักหมม เอาไปแอบซ่อนอยู่ในมุมหนึ่งของจิตใจ แม้วันนี้จะไม่เห็นโทษของมัน แต่วันหนึ่งก็จะรู้ได้เองว่ากามนั้นมีโทษมาก กามเป็นภัยมาก พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงธรรมให้ปฏิบัติโดยลำดับคือให้จัดการกับกามเสียก่อน แล้วค่อยล้างความยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วไปมัวเมาเสพกาม อันนั้นมันวิปริตผิดพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โสดอย่างไร ให้ใจเป็นสุข

July 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,390 views 1

Download ภาพขนาดเต็ม กดที่นี่

โสดอย่างไร ให้ใจเป็นสุข

ความโสดนั้นมีมิติที่หลากหลายแตกต่างกันไป หากเรามองความโสดด้วยมุมมองทั่วไปในสังคม ก็มักจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครให้คุณค่าหรือใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นโสดกันสักเท่าไหร่

ในบทความนี้ก็จะแบ่งความโสดออกเป็นระยะกว้างๆด้วยกันสามระยะ คือโสดที่ยังมีความอยากมีคู่ โสดที่ไม่อยากมีคู่ และความโสดที่ไม่มีทั้งความอยากและไม่อยากมีคู่ มาเริ่มกันที่ความโสดแบบแรกกันเลย

โสดอยู่ไม่เป็นสุข (นรกคนโสด)

คือความโสดที่ยังเต็มไปด้วยความอยาก มีความต้องการ แสวงหาคู่ครอง แม้ว่าจะแสดงอาการหรือไม่ก็ตาม หากใจนั้นยังไม่ปิดประตูของการมีคู่ ก็ยังเรียกได้ว่า โสดแบบอยู่ไม่เป็นสุข การที่ความอยากนั้นยังไม่แสดงอาการ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส ซึ่งอาจจะยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่นเด็กทารก เขายังไม่มีความอยากมีคู่ แต่ไม่ได้หมายความเขาจะไม่มีกิเลส

คนโสดที่อยู่ไม่เป็นสุข ก็เหมือนอยู่ในนรกคนโสด ต้องทุกข์กับความอยากมีคู่ พอหาคู่ได้ก็เปลี่ยนไปอยู่ในนรกคนคู่ พอเลิกคบหากันแต่ยังมีความอยากอยู่ ก็เวียนกลับมานรกคนโสด ซึ่งไม่ว่าจะโสดหรือจะมีคู่ก็ต้องถูกเผาด้วยไฟราคะ คือทุกข์จากความอยากเสพรสสุขใดๆก็ตามในการมีคู่ วนเวียนโสดบ้างมีคู่บ้าง แต่ก็หนีไม่พ้นความทุกข์จากกิเลสอยู่ดี

โสดบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ (อยู่ในโลก)

คือความโสดที่เกิดจากความไม่อยาก ด้วยการสร้างคุณค่าให้ตนเอง เติมช่องว่างในใจที่เคยเผื่อไว้ให้ใครสักคนให้เต็มด้วยอัตตาของตน จนกลายเป็นคนที่เต็มคน แข็งแกร่ง พึ่งตนเองได้ มีศักดิ์ศรี ไม่ยอมกลับไปมีคู่เพราะความยึดดี ซึ่งอาจจะเกิดจากความเจ็บช้ำ ความผิดหวังเมื่อตอนมีคู่ ผ่านประสบการณ์ที่ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการมีคู่นั้นทำให้ต้องประสบทุกข์อย่างมาก

แต่แม้จะเป็นความโสดที่แข็งแกร่งเพียงใด ความไม่อยากนั้นก็ยังเป็นทุกข์อยู่ดี ซึ่งเกิดจากอาการผลักการมีคู่อย่างรุนแรง ไม่อยากมีคู่เพราะเหตุผลบางอย่าง แต่กิเลสนั้นเป็นพลังงานที่เติบโตได้ ขยายได้ ปรับเปลี่ยนขั้วได้ เพราะไม่ว่าอยากหรือไม่อยากก็คือตัณหาเหมือนกัน อยากในสิ่งหนึ่งก็เกลียดอีกสิ่งหนึ่ง ไม่อยากในสิ่งหนึ่งก็ชอบอีกสิ่งหนึ่ง เช่นอยากมีคู่ก็เกลียดความโสด อยากเป็นโสดก็เกลียดการมีคู่

เมื่อยังมีความอยากและไม่อยาก มันก็จะสร้างทุกข์ให้กับตัวเองอยู่เรื่อยๆ ซ้ำร้ายวิบากกรรมอาจจะดึงสิ่งที่ไม่อยากได้คือการมีคู่ให้มาเข้าใกล้ พอโดนยั่วกิเลสเข้ามากๆก็อาจจะเวียนกลับไปมีคู่ได้ สุดท้ายก็ต้องเจอกับทุกข์แล้ววกกลับมาโสดแบบเกลียดการมีคู่อีก เปลี่ยนภพไปมาแบบนี้จนกว่าจะทำลายความอยากและไม่อยากจนสิ้นเกลี้ยง

โสดอย่างเป็นสุข (อยู่เหนือโลก)

คือความโสดที่ข้ามพ้นจากความอยากและไม่อยาก แล้วเลือกเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่มีโทษ มีทั้งประโยชน์ตนเองและประโยชน์ต่อผู้อื่น นั่นก็คือการเลือกเป็นโสด

ความโสดที่อยู่เหนือโลก นั้นคือโสดแบบโลกุตระ ไม่ไปเสพอย่างโลกีย์ และไม่ยึดดีอย่างโลกีย์ ไม่มีทั้งความอยากมีคู่ และความไม่อยากมีคู่ เพราะตัณหานั้นคือเหตุสู่ความทุกข์ สภาวะของความโสดเช่นนี้จึงเป็นสุขที่สุดในสภาพโสดทั้งหมด เป็นโสดที่ไม่มีทุกข์เจือปนอยู่แม้น้อย ที่ไม่มีทุกข์เพราะไม่มีกิเลสใดๆในเรื่องคู่ที่ผลักดันให้ต้องไปเสพ หรือต้องไปมีคู่กันให้ลำบาก

ความโสดเช่นนี้ไม่ใช่สภาพที่จะเลือกเอาได้ แต่สามารถเลือกที่จะปฏิบัติจนถึงผลเช่นนี้ได้ โดยจะต้องใช้ความเพียรในการชำระล้างกิเลสในเรื่องของคนคู่ให้หมดสิ้นไป จึงจะเกิดสภาพของความโสดที่ไม่มีทุกข์ใดๆเจือปนอยู่เลย

การพัฒนาจิตใจอย่างถูกตรงนั้นจะมีผลให้เกิดการหลุดพ้นอย่างถูกตรงเช่นกัน สภาพของความโสดอย่างเป็นสุข จะไม่มีการเวียนกลับไปมีคู่อีก ไม่กำเริบ ไม่แปรปรวน ยั่งยืน ยาวนาน ตลอดกาล ไม่เป็นอื่นใดอีก จะคงความโสดที่ไม่มีทุกข์ใดๆอยู่เช่นนั้นไปตลอดกาล

ไม่ใช่เพราะหาคู่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีใครเอา ไม่ใช่เพราะว่าแก่เกินวัย ไม่ใช่เพราะไม่เหมาะสมกับใคร ไม่ใช่เพราะไม่มีใครดีพอ แต่เป็นเพราะเกิดญาณปัญญารู้ว่าความโสดนี่แหละเป็นสุขที่สุดแล้ว ที่สุขที่สุดเพราะมันไม่มีทุกข์ใดๆเลย และนี่คือสิ่งที่ประเสริฐที่สุดแล้ว จะต่างกันกับชาวโลกีย์ที่มองว่าการมีคู่นั้นเป็นสุข หรืออย่างดีก็จะเห็นว่ามีสุขมีทุกข์ปนกันไป

แต่สำหรับชาวโลกุตระนั้นจะมองเห็นว่ามีเพียงแค่ทุกข์กับทุกข์เท่านั้น และเห็นว่าสุขที่เคยเข้าใจว่าเป็นสุขนั้น คือสุขลวงทั้งสิ้น ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่มีตัวตน เป็นของว่างเปล่า ดังนั้นจึงไม่มีข้อกังขาใดๆ ในเรื่องของการมีคู่อีก ไร้ซึ่งความลังเลสงสัยแม้แต่น้อยนิดในใจว่าทำไมต้องเลือกความโสด เพราะรู้แน่ชัดในตนแล้ว เกิดปัญญารู้ในตนแล้ว จึงไม่มีสิ่งใดจะมาลบล้างได้อีก

ไม่ว่าจะถูกเสนอด้วยคู่ครองรูปงาม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขโลกีย์อีกเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจที่หลุดพ้นจากกิเลสในเรื่องคู่นี้ได้ เพราะไม่ว่าจะได้อะไรมาแลกก็จะไม่ยอมสละความโสดนี้ไป ไม่มีอะไรมีคุณค่ากว่าความโสดนี้ ไม่มีการตั้งเงื่อนไข ไม่มีข้อแม้ ไม่มีช่องว่างใดๆเหลือไว้ให้จิตใจคิดถึงการมีคู่อีก

….สรุปบทความนี้กันด้วยหลักทางสายกลาง ความโสดที่ยังแสวงหาอยู่นั้นคือความโต่งไปในด้านของกาม ส่วนความโสดที่เกลียดการมีคู่นั้นคือความโต่งไปในด้านอัตตา และความโสดอย่างเป็นสุขที่ไม่แสวงหาคู่ ไม่ต่อต้านการมีคู่ แต่ก็ไม่สนับสนุนการมีคู่ คือทางสายกลางอย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

Happy ending เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขที่ไม่มีอยู่จริง

July 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,619 views 0

Happy ending เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขที่ไม่มีอยู่จริง

Happy ending เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสุขที่ไม่มีอยู่จริง

คำว่า “Happy ending” มักจะเป็นคำที่เราได้เห็นในหนังในละครมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก เรื่องราวหลายเรื่องมักจะจบด้วยความสมหวังด้วยการครองคู่ เราได้จดจำสิ่งเหล่านั้นโดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นคือสิ่งที่หลอกหลอนเรามาจนถึงทุกวันนี้

การแต่งงานกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งในการมีชีวิต เป็นคุณค่า เป็นความสมบูรณ์ ตามที่โลกได้ปั้นแต่งเรื่องราวเอาไว้ และสื่อที่มีอิทธิพลมากกว่านิยาย ละคร ภาพยนตร์ เพลงรัก ก็คือผู้ที่หลงใหลมัวเมาในความสุขลวงเหล่านั้น

คนที่หลงเสพหลงสุขจะเติมพลังความอยากให้แก่กันและกัน ว่าการแต่งงานมีชีวิตคู่ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ สุขอย่างนั้นสุขแบบนี้ จะได้เสพรสแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้คนที่อยู่ในสังคมเหล่านั้นถูกมอมเมาด้วยความหลงผิด เพิ่มความอยากได้ อยากลอง อยากเสพ อยากสัมผัสประสบการณ์ที่เขาว่าดีว่าเลิศทั้งหลาย

แม้กระทั่งการแต่งงานครั้งหนึ่งก็ต้องมีการป่าวประกาศ แห่ขันหมากตีกลองโห่ร้อง จัดงานแต่งงานประดับประดาให้เป็นที่น่าสนใจ เชิญคนมากมายมาร่วมรับรู้เรื่องส่วนตัว ปั้นแต่งภาพให้สวยงามประดุจเจ้าชายเจ้าหญิง เป็นที่น่าจับตามอง เป็นที่น่าหลงใหล เป็นการกระตุ้นกิเลสให้คนอื่นอยากได้อยากมีตามไปด้วย แม้กระทั่งการดึงนักบวชเข้ามายุ่งเรื่องทางโลก ก็กลายเป็นสิ่งที่แสนจะธรรมดาไปแล้วสำหรับยุคนี้

เมื่อตอนจบกลายเป็นจุดเริ่มต้น

หลายคนอาจจะรู้สึกโล่งใจที่ชีวิตได้เป็นฝั่งเป็นฝา ได้ไปถึงจุดหนึ่งที่ใครเขาบอกต่อๆกันมา ว่าจำเป็นสำหรับชีวิต เหมือนจะเป็นตอนจบของละครบทหนึ่ง แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของละครบทใหม่

เรื่องราวในละครต่อจากที่ตอนพระเอกนางเอกได้ครองคู่กันแล้วมักจะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา ละครลวงโลกมักจะจบ happy ending กันตรงที่ได้รักกัน ได้แต่งงานกัน แล้วเหมือนทุกอย่างจะเป็นสุขตลอดกาล เหมือนว่าได้เสพสิ่งเหล่านั้นคือที่สุดของชีวิต แต่แท้ที่จริงแล้ว เราเพียงแค่หลุดจากสภาพทุกข์แบบหนึ่งไปสู่ทุกข์อีกแบบหนึ่งเท่านั้น

ผู้คนมากมายทนทุกข์จากความเหงา เดียวดาย ไร้คุณค่า อยากมีใครสักคนเป็นที่พึ่ง คอยดูแลเกื้อกูล คอยพูดคุยเอาใจ ให้ความรัก ให้ความสำคัญ เมื่อไม่มีใครคนนั้นก็ต้องทุกข์ทรมานอยู่ในนรกของคนโสดที่โหยหาความรักความเอาใจใส่ ไม่สามารถดำรงอยู่ผู้เดียวได้ ไม่สามารถทำใจให้เป็นโสดอย่างแท้จริงได้

เมื่อมีใครสักคนที่ถูกใจเข้ามาในชีวิต ก็เหมือนกับการปล่อยทิ้งปมทุกข์ที่เคยแบกรับไว้ ไม่ต้องเหงา ไม่ต้องเดียวดาย ไม่ต้องหาวิธีแก้ความเหงา ไม่ต้องคิดหาวิธีพึ่งตนเองอีกต่อไป ทิ้งเงื่อนปมแห่งทุกข์อันเก่าไว้ แล้วหันมาผูกปมใหม่ที่เรียกว่าคู่รัก

ในตอนแรกรักนั้นก็มักจะมีความสุขกับการผูกปมความรัก ยิ่งได้รัก ยิ่งใกล้ชิด ยิ่งรู้จักรู้ใจ ดูแลเอาใจใส เป็นคนสนิทกันมากเท่าไหร่ ปมแห่งความสัมพันธ์ก็จะยิ่งพันแน่นและซับซ้อนมากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่งคบหาดูใจ ความสัมพันธ์ก็ยิ่งแนบแน่นขึ้นไปอีก เหมือนปมเงื่อนที่ทบกันไม่รู้กี่ชั้นต่อกี่ชั้น จนถึงวันที่แต่งงาน เป็นวันที่ปมเหล่านั้นได้ถูกทาเคลือบไว้ด้วยยางเหนียว ย้ำลงไปอีกว่าจะไม่คลายความสัมพันธ์นี้ พัฒนาต่อไปจนมีลูกมีหลาน เหมือนกับมีโซ่เหล็กมาคล้อง ล็อกความสัมพันธ์นั้นให้ยิ่งแน่นหนาขึ้นไปอีก

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นจะไม่ทุกข์เป็นไม่มี” ในความเป็นจริง นรกได้เริ่มก่อตัวตั้งแต่ความอยากได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว มันค่อยๆเติบโตอย่างช้าๆ โดยไม่ให้เรารู้ตัว มันมาในภาพของความสุข เพื่อที่จะหลอกให้เราได้หลงเสพหลงสุขและวนเวียนอยู่ในโลกแห่งตัณหานี้ตลอดไป

ความเหงาเปลี่ยนคนโสดให้เป็นคนคู่ แต่ความทุกข์นั้นไม่ได้หมดไป มันแค่เพียงเปลี่ยนรูปแบบ เหมือนกับการทิ้งปัญหาหนึ่งไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง ในตอนแรกเราก็จะเห็นเหมือนกับว่าเราหนีทุกข์ไปหาสุข แต่ความจริงแล้วเราหนีจากทุกข์น้อยไปหาทุกข์มาก

กิเลสนั้นย่อมล่อลวงเราให้เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นความสัมพันธ์ฉันชู้สาวเป็นเรื่องน่าใคร่น่าเสพ เห็นสิ่งลวงเป็นของที่ควรมีควรได้เห็นความทุกข์เป็นความสุข มันกลับหัวกลับหางกับความจริงทุกประการ

คนโดยส่วนมากในปัจจุบันก็ไม่มีใครยอมรับว่ากิเลสนั้นเป็นผู้ร้าย ไม่เห็นความอยากได้อยากเสพเป็นศัตรู เขามักจะมองเห็นว่าการได้เสพเป็นสุข การไม่ได้เสพเป็นทุกข์ ผู้ที่ไม่หามาเสพคือผู้ที่ทรมานตน ผู้ที่หามาเสพคือผู้ที่ทำชีวิตตนให้เป็นสุข จะมีความเห็นความเข้าใจในลักษณะที่กอดคอเดินไปกับกิเลส เห็นดีกับกิเลส เห็นต่างจากธรรมะ

แล้วทีนี้ความสุขที่ได้รับจากกิเลสนี่มันเป็นความสุขลวงทั้งหมด ที่ดูเหมือนสุขมันเกิดเพราะมีกิเลสมาก ถ้าไม่ได้เสพตามใจกิเลส มันก็จะตีให้เป็นทุกข์ สร้างความทุกข์ให้กับเรา พอได้เสพมันก็ไม่ทุกข์จากกิเลส มันก็เลยเป็นสภาพสุขดังที่เห็น และสุขนั้นก็เป็นสุขลวงอย่างแท้จริง เพราะถ้าไม่ตามใจกิเลส มันก็จะไม่เกิดสุข ต้องให้อาหารกิเลสไปเรื่อยๆเพื่อจะเสพสุข ซึ่งสุขนั้นไม่เที่ยง มันเสื่อมสลาย และแท้ที่จริงแล้วมันไม่มีอยู่จริง

ถ้าสามารถล้างกิเลสได้จริงจะค้นพบเลยว่ารสสุขในการมีคู่นั้นไม่มีเลย การดูแลเอาใจใส่ มีคนเกื้อกูล หยอกล้อรักใคร่หรือกิจกรรมของความเป็นคู่รักทั้งหลายมันไม่มีสุขเลยแม้แต่นิดเดียว ที่มันเกิดสุขเหล่านั้นเพราะพลังของกิเลสมันลวง มันพาให้หลงว่าการได้เสพแล้วความทุกข์ลดลงนั้นเป็นความสุข ให้หลงเข้าใจว่านั่นคือสุขแท้ในชีวิต ให้คนไขว่คว้าหาสุขลวงเหล่านั้น

ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ “Happy ending” อย่างแน่นอน เพราะเหมือนกับคนที่ลอยคออยู่กลางทะเล ทิ้งห่วงยางเพื่อที่จะไปเกาะเรือแห่งความหวัง โดยที่หารู้ไม่ว่า เรือลำนั้นเป็นของลวง เป็นสิ่งไม่จริง ไม่ยั่งยืน รอวันที่จะผุพังและจมหายไป และมีทิศทางพาให้ลอยห่างฝั่งออกไปอีก หันหัวเรือไปทางโลก หันหลังให้ทางธรรม ยิ่งพึ่งพาเรือไปไกลเท่าไหร่ก็จะยิ่งใกล้นรกมากเท่านั้น

เรื่องราวของชีวิตนั้นไม่เหมือนในละคร มันไม่ได้ถูกตัดจบทันทีที่สมหวัง แต่มันจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ การไม่ทุกข์ในวันนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทุกข์ในวันหน้า วันใดวันหนึ่งที่กุศลกรรมหมดรอบ ก็จะเป็นวันที่วิบากบาปได้ซัดเข้ามาในชีวิตเหมือนพายุที่ก่อตัวรออยู่ข้างหน้า

เรือลำน้อยที่เกาะไว้ค่อยๆผุพังไปเรื่อยๆ ในขณะที่คลื่นแห่งอกุศลกรรมจะซัดกระหน่ำเข้ามาอย่างไม่ลดละ แรงเท่าที่เราได้เคยทำกรรมเหล่านั้นไว้ กรรมที่เคยไปหลอกลวงใครว่าการมีคู่เป็นสุข การแต่งงานเป็นสุข การผูกพัน ผูกภพผูกชาติเป็นสุข ผลกรรมแห่งการมอมเมาผู้อื่นด้วยความหลงผิดจนกระทั่งกลายเป็นแรงผลักดันให้คนอื่นอยากได้อยากเสพ จะกลับมาเล่นงานให้เราได้เรียนรู้ทุกข์จนสาสมใจในวันใดวันหนึ่ง ไม่ชาตินี้ ก็ชาติหน้า หรือชาติอื่นๆต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

20.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

May 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,209 views 0

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

บทขยายธรรม การขึ้นคานอย่างเป็นสุข

ในบทความนี้จะเป็นบทขยายข้อธรรมะในบทความ “การขึ้นคานอย่างเป็นสุข” เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ร่วมเรียนรู้เพิ่มเติมให้ลึกซึ้งถึงนัยที่ซ่อนอยู่ด้วยกัน 7 ข้อ

1). วัฏสงสาร

ในข้อที่ 1-7 นั้น เป็นสภาพของคนที่ต้องวนเวียนเสพสุขลวงรับทุกข์จริงกันโดยประมาณจำนวนชาติไม่ได้ เราต่างวนเวียนเรียนรู้เกี่ยวกับกิเลส อยากมีคู่ หาคู่แล้วก็มีคู่ สุดท้ายก็จบด้วยการจากลา เป็นเช่นนี้มีหลายภพหลายชาติ ซึ่งหลายคนก็อาจจะมีโอกาสได้เรียนรู้ในชาตินี้หลายต่อหลายครั้ง แต่มันก็ยังไม่จบสิ้น เมื่อดำเนินไปถึงข้อ 7 สุดท้ายก็วนกลับไปที่ข้อ 1 ใหม่อยู่ดี และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆหากเหตุยังไม่ดับ

2). ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รัก

แท้จริงแล้วตั้งแต่ข้อ 1 – 7 ในบทความการขึ้นคานอย่างเป็นสุขนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคู่รักเสมอไป เพียงแค่เริ่มที่จะมองหาใครสักคนในข้อ 2. และข้อ 3. เลือกใครสักคนที่ตนชอบ ในข้อ 4.ก็จะเริ่มแสวงหาทางไม่โสด นั้นหมายถึงจิตใจที่ไม่คงอยู่กับความโสด ล่องลอยคิดถึงใครบางคนจนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ข้อ 5. นั้นคือการที่เราไปหลงรักหลงเสพเขาแล้ว แม้จะไม่ได้คบหากัน แม้จะไม่เคยคุยกันเลย เพียงแค่เราไปติดสุขกับการได้เห็นหน้าเขา ได้ยินเสียงเขา ได้รับรู้เรื่องของเขา ก็เรียกได้ว่าหลงแล้ว ดำเนินต่อไปในข้อ 6. นั้นคือความอกหักจากความหวังใดๆ ก็ตามที่จะได้เสพ เช่น เขาไม่เป็นดังใจเราหมาย เขาไปมีคนรักของเขา เขาไม่รับรักเรา เราก็จะเกิดความทุกข์ และอาจจะไปจองเวรจองกรรมกันอีก เพราะหากจิตใจไปคิดแค้นแม้น้อย ก็มากพอที่จะสร้างกรรมชั่วให้ต้องไปรับผลในอนาคตต่อไป สุดท้ายก็มาจบในข้อ 7. คืออกหักแล้วก็เลิกชอบคนนั้น กลับมาที่ใจตนเอง มาอยู่กับตัวเอง กลับมารักษาแผลใจตัวเอง

3). ปล่อยวางแบบชาวบ้าน

สภาพการปล่อยวาง ปลง หรือไม่รู้สึกว่าต้องมีแฟน สามารถเป็นการปล่อยวางแบบชาวบ้านๆได้ หมายถึงการปล่อยวางที่ใครก็สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรม ไม่ได้หมายความว่าธรรมนั้นเจริญขึ้น ใครๆก็ทำได้เป็นได้ การปล่อยวางเช่นนี้อาจจะเกิดจากสาเหตุดังเช่นว่า ไม่มีปัจจัยให้หาได้จริงๆ, ไม่มีคนที่เข้าตา, หน้าที่การงานที่หนัก, วัยที่ล่วงเลย, ความเบื่อการมีคู่เพราะเสพจนอิ่ม, หาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้, เขาไม่พอที่จะสนองกิเลสเรา ฯลฯ หลายๆเหตุผลเหล่านี้สร้างความเบื่อ ความปลง ความปล่อยวางแบบชาวบ้านขึ้นมา

4). โสดใช่ว่าเป็นสุข

การโสดหรือการอยู่บนคานนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสุข หลายคนอาจจะติดอยู่บนคานทั้งที่ไม่อยากติดและไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากสภาพโสดได้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์อะไร ซึ่งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะจัดตัวเองอยู่ในข้อ 9 ได้ เพราะ โสดในแบบข้อ 1,7,8,9 นั้นมีสภาวะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ข้อ 1 นั้นจะเป็นความโสดแบบจมกิเลส กิเลสแต่ละตัวนั้นมีภพที่ละเอียดซับซ้อนถึงสามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ แม้ใจจะรู้สึกว่าไม่สุขไม่ทุกข์จากความโสด แต่นั้นก็อาจจะเป็นแค่การกดข่มไว้ก็ได้ ในกรณีผู้ที่ไม่ได้มีญาณปัญญาที่สามารถรู้กิเลสได้ การกดข่มที่กามภพ(ไม่ให้ออกอาการอยากมีคู่)แล้วกิเลสที่ยังอยู่ในรูปภพและอรูปภพก็ใช่ว่าจะจับอาการได้ แต่ถ้าอยากรู้ก็ลองตั้งใจว่าจะโสดตลอดชาติดูจะเห็นกิเลสดิ้นได้ชัดเจนข้อ 7 จะเป็นความโสดแบบสัตว์ที่ถูกทำร้าย จะหวาดกลัว จะป้องกันตัวเอง มีโอกาสเวียนกลับไปข้อ 1 , ส่วนข้อ 8 นั้นเป็นโสดแบบมีอัตตา โสดแบบมีอุดมการณ์ว่าจะโสดตลอดชีวิต) ข้อ 9 นั้นเป็นโสดที่หลุดพ้นจากตัณหาทั้งปวง

5). กาม อัตตา อุเบกขา

ในข้อ 1. ที่ว่าด้วยการเฝ้าคานอย่างว้าเหว่นั้น เป็นสภาพของคนโสดที่ยังเปิดประตูรอคอยคนรักอยู่ ไม่ว่าจะแสดงออกหรือไม่อย่างไร แต่ถ้ายังไม่ปิดโอกาสตัวเองกับการมีคู่ ยังมีเผื่อใจไว้ ก็ยังอยู่ในลักษณะของข้อ 1 แม้ว่าจะรู้สึกว่าตนเองนั้นโสดอย่างสบายๆ ไม่ได้ทุกข์หรือสุขอะไร แต่ถ้ายังดับโอกาสมีคู่ในใจให้เกลี้ยงไม่ได้ ก็ยังวนอยู่ในขีดของกาม

เมื่อจิตเจริญขึ้นจนสามารถที่จะข้ามขีดกาม ไม่อยากมีคู่ เพราะรู้ว่าการมีคู่จะต้องทุกข์สุดทุกข์โดยชัดในวิญญาณของตัวเองว่า ไม่ว่าจะเกิดชาติไหนก็ขออย่าให้มีคู่ เห็นคนมีคู่แล้วไม่ยินดี ดูหนัง ดูละคร ดูคนมีรักพลอดรักกันแล้วเห็นถึงทุกข์ภัยที่จะเกิดขึ้นจนขยาดกลัวในผลนั้น พร้อมกับอาการผลักไสการมีคู่ ก็จะเรียกว่าเข้าขีดของอัตตา เป็นลักษณะตามข้อ 8 คือโยนบันไดที่จะเป็นโอกาสให้คู่เข้ามาในชีวิตทิ้งไปเลย

เมื่อตัดกามด้วยอัตตาแล้ว จึงมาติดที่อัตตา การจะขยับจากข้อ 8 ไปข้อ 9 นั้นจะต้องใช้อุเบกขาเข้ามาพิจารณาเพื่อลดความยึดมั่นถือมั่นเสีย สุดท้ายแล้วพอทำลายอัตตาที่มีได้จะเป็นโสดอยู่บนคานอย่างเป็นสุขในข้อ 9 เพราะไม่มีทั้งกามและอัตตา คู่ก็ไม่อยากมี ติดดีก็ไม่ติด ใครจะมีคู่ไปก็เรื่องของเขา โลกของเราเป็นสุขก็พอ

6). โลกุตระสุข

บทความสั้นๆนี้แท้จริงแล้วประเด็นสำคัญอยู่ที่ข้อ 8 และ 9 ในข้อที่ 1-7 ใช้ชี้ลักษณะของโลกียะ แต่ในข้อ 8 และ 9 จะเข้าไปในส่วนของโลกุตระ คือการทำลายกิเลสล้วนๆ ในบทความนั้นใช้คำว่า “ทำลายความอยาก” ความอยากนั้นก็คือตัณหา พระพุทธเจ้าท่านได้สอนวิธีให้เราดับตัณหา ผู้ที่สามารถดับตัณหาในเรื่องคู่ได้ก็จะพบกับโลกุตระสุขในเรื่องของคู่

โลกุตระสุขนั้นคือสุขที่เหนือไปจากวิสัยของโลก ไม่ทั่วไป ไม่ใช่ของธรรมดา แต่เกิดจากการทำลายตัณหา ดับทั้งความอยากเสพกาม(อยากมีคู่) และติดในอัตตา(ไม่อยากมีคู่) แต่ในบทความนี้จะไม่ขยายไปถึงกระบวนการปฏิบัติ

7). ตรวจสอบและพัฒนาตนเอง

การตรวจสอบตนเองว่าพร้อมหรือยังสำหรับการจะอยู่บนคานอย่างเป็นสุขนั้นก็ไม่ยาก เพียงแค่ตั้งจิตให้มั่นว่าฉันจะโสดตลอดกาล นี้คือสิ่งที่ฉันจะต้องยึดอาศัยไว้ศึกษาให้เห็นกิเลสในตนและกำจัดมัน,หมายถึงแค่ตั้งจิตนั้นไม่พอ จะต้องคอยจับความอยากที่โผล่ขึ้นมาเพื่อกำจัดทิ้งจนกระทั่งถึงผลที่ตั้งจิตในเป้าหมายไว้

หลังจากนั้นก็ลองไปเรียนรู้เรื่องราวของความรักที่หวานชื่นดู ไป ดูหนัง ดูละคร อ่านนิยาย ไปงานแต่งงาน ดูหน้าคนที่เคยชอบ ฯลฯ แต่ไม่ต้องถึงขนาดไปชอบหรือไปจีบใครนะ เพราะเพียงแค่เราได้เจอผัสสะ(สิ่งกระทบ) แต่ละครั้งที่เข้ามา เราก็จะรู้ได้ชัดแล้วว่าเราพร้อมแค่ไหน

ถ้าเราไปดูเรื่องราวความรักแล้วยังมีความรู้สึก ซึ้งใจ ปลื้มใจ อยากเป็นอย่างเขาบ้าง อยากได้แบบนั้นบ้าง ก็รู้ได้เลยว่ายังมีเชื้อของความอยากอยู่ ก็ให้เพียรพิจารณาโทษของ”ความอยากมีคู่” ซึ่งเป็นเหตุของปัญหาทั้งหมดที่ต้องมาลำบากลำบนแก้กันจนทุกวันนี้

และใช้ไตรลักษณ์ย้ำเข้าไปอีกว่า ความสุขที่ได้จากคู่มันก็ไม่เที่ยงหรอก ได้เสพไม่นานๆเดี๋ยวมันก็ดับไป ไปยื้อไว้ให้มันสุขตลอดกาลก็ไม่ได้ ไปหลงยึดสิ่งที่ไม่เที่ยงมันก็เป็นทุกข์ สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสาระเลย จะไปยึดมันทำไมไอ้”ความอยากมีคู่”นี่ แล้วก็ขุดความอยากลงไปอีกว่าที่มันอยากมีคู่นั้น *เราอยากเสพอะไร(*กุญแจแห่งความสำเร็จอยู่ตรงนี้) ต้องลงไปให้ลึกถึงรากของปัญหา แล้วพิจารณาธรรมอัดเข้าไป ใส่ความจริงตามความเป็นจริงเข้าไป กิเลสจะค้านแย้งตามธรรมชาติ แต่เราก็ใช้การพิจารณาโทษ ใช้ไตรลักษณ์ ใช้การพิจารณาผลของกรรมที่จะเกิดขึ้นหากเรายังมีความอยากเหล่านั้นอยู่ เพียรทบทวนธรรมที่สวนกระแสกิเลสให้มาก กิเลสเถียงมาเราก็เถียงกลับ ทำมันไปอย่างนี้ทุกวันๆ

ถ้ามันหลุดพ้นแล้วมันจะรู้ได้เอง เพราะไปแตะแล้วก็ไม่สุข ไม่ว่าจะสัมผัสกี่ครั้งก็ไม่มีรสสุข ไม่มีความชอบใจพอใจใดๆเกิดขึ้นเลย ถูกพรากก็ไม่ทุกข์ ไม่ได้เสพก็ไม่ทุกข์ นั่นเพราะเราพ้นจากสุขลวงที่โลกได้มอมเมาเรามานานแสนนานแล้ว สุดท้ายจะไม่มีทั้งความรักหรือความชัง ไม่มีทั้งอยากและไม่อยาก จะสามารถอยู่ในสังคมปกติได้ด้วยการปนแต่ก็ไม่เปื้อน(กิเลส)

เมื่อจิตรู้สึกตั้งมั่นในผลเจริญนั้น อาจจะมีผัสสะที่จะเข้ามากระแทกเพื่อทดสอบเรา ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้ เราจะหาเรื่องทดสอบเองก็ได้ ถ้าหลุดพ้นจริงมันจะไม่มีความลังเลสงสัย ไปแตะก็รู้ว่าหลุดพ้น ไม่ใช่อารมณ์ที่ว่าจะหลุดก็ใช่ ไม่หลุดก็ไม่ใช่ จะมั่นใจเต็มที่ไม่มีแม้เสี้ยวความสงสัย ไม่ใช่การเดา ไม่ใช่จากฟังเขามา หรือท่องจำต่อๆกันมา แต่รู้ได้เองจาก”ปัญญาที่รู้แจ้งกิเลส”ในตน

– – – – – – – – – – – – – – –

15.5.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)