Tag: ตัณหา

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

January 9, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,290 views 1

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

เพราะเหตุนี้ ฉันจึงเลิกกินเนื้อสัตว์

ย้อนไปเมื่อราวๆ 3 ปีก่อน ตอนที่ผมยังไม่รู้จักธรรมะ ผมใช้ชีวิตแสวงหาความสุขโดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือการสร้างความเบียดเบียนให้กับผู้อื่น ผมได้ถูกโลกและกิเลสมอมเมาอยู่จนกระทั่งได้พบกับความจริง 4 ประการ ที่เป็นเหตุให้ผมหลุดออกจากความเวียนวนหลงเบียดเบียนสัตว์อื่นเพื่อตนได้

1.ความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์

ผมรู้จักการไม่กินเนื้อสัตว์ครั้งแรกในชีวิตก็อายุเกือบ 30 ปี ก่อนหน้านี้มีเทศกาลเจ ฯลฯ ก็ไม่ได้สนใจอะไรกับเขาหรอก ไม่ได้รังเกียจอะไรหรอกนะ ยินดีด้วย แต่ก็ไม่ได้คิดสนใจ เพราะไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของมัน จนกระทั่งตนเองได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมกับเครือข่ายคนกินข้าวเกื้อกูลชาวนาที่วัดป่าสวนธรรม ซึ่งที่วัดก็ไม่กินเนื้อสัตว์ เวลาสามวันที่ร่วมกิจกรรม ทำให้ผมเกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็มีชีวิตอยู่ได้ นี่คือความจริงข้อแรก

2.ความจริงที่ว่า การกินเนื้อสัตว์นำไปสู่การเบียดเบียน

หลังจากนั้นแม้จะรู้ว่าไม่กินเนื้อสัตว์ก็อยู่ได้ นำไปสู่การปรับเมนูอาหารบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเลิก เพราะยังไม่ชัดในโทษภัยของการกินเนื้อสัตว์ ต้นปี 2556 ได้ไปเข้าค่ายสุขภาพแพทย์วิถีธรรม ในค่ายสุขภาพนั้นไม่กินเนื้อสัตว์เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ได้รับจากค่าย ที่ทำให้ยินดีเลิกเนื้อสัตว์คือ สื่อวีดีโอ “ชีวิตร่ำไห้” เป็นการนำเสนอเรื่องราวของการเบียดเบียนสัตว์เพื่อที่จะต้องมาสนองการดำรงอยู่ของมนุษย์ ผมได้เกิดปัญญาเข้าใจความจริงที่ว่า หากเรายังกินเนื้อสัตว์อยู่ สัตว์นั้นจะต้องถูกเบียดเบียนและเป็นทุกข์เพราะเรา นั่นคือสิ่งที่ไม่ควรเลย เมื่อเข้าใจความจริงข้อนี้เพิ่มเติม ผมจึงตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์

3.ความจริงที่ว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นทุกข์

เมื่อตั้งใจเลิกกินเนื้อสัตว์ จึงได้พบความจริงอีกข้อคือ “ความอยากกินเนื้อสัตว์” นั้นเป็นทุกข์ เมื่อเราอยากกินเราก็ต้องไปเสาะหาเนื้อสัตว์มาเสพ แถมยังต้องหาเหตุผลที่ดูดีเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกผิดในการกินเนื้อสัตว์ ซ้ำร้ายบางทียังอาจจะเฉโกออกไปในทิศทางที่เรียกว่า “ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ขยันเสพกาม” อีกด้วย คือปากก็พูดว่าไม่ยึด แต่ก็ไม่หยุดกินเนื้อสัตว์

โชคยังดีที่ผมไม่ได้มีอาการเฉโกเหล่านั้น ตนเองนั้นเป็นคนที่ซื่อสัตย์ยอมรับความจริงตามความเป็นจริง อยากกินก็ยอมรับว่าอยากกิน ยังเลิกไม่ไหวก็ยอมรับว่ายังไม่ไหว ไม่ได้ปั้นแต่งข้ออ้างใดๆมาทำให้ตนได้เสพอย่างดูดี

แต่กระนั้นก็ยังต้องทุกข์เพราะกิเลสที่เคยมี ความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นอร่อย มีคุณค่า ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดขาดได้ในทันที เราจำเป็นต้องปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรง เพื่อที่จะถอนลูกศรที่ปักมั่นอยู่ในจิตใจ อันคือ ตัณหา (ความอยากกินเนื้อสัตว์) ให้ออกให้ได้ก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการแก้ปัญหาที่ตัณหา เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

ในท้ายที่สุดผมค้นพบว่า “ความอยาก” ที่รุนแรงถึงขนาดต้องเป็นเหตุให้พรากชีวิตสัตว์อื่นนี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่าอาย ไม่น่ายึดไว้ ไม่น่าคบหา เราไม่ควรมีมันอยู่ในจิตวิญญาณ ความอยากขั้นนี้มันหยาบเกินไปแล้ว มันเบียดเบียนมากไป มันสร้างทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่น จะยังแบกไว้อีกทำไม ผมจึงตั้งมั่นในการเลิกคบกับความอยากกินเนื้อสัตว์ตลอดกาล

4.ความจริงที่ว่า การหลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นยิ่งกว่าสุข

หลังจากได้ปฏิบัติธรรมเพื่อถอนตัณหา คือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ออกจากจิตใจแล้ว จึงค้นพบความจริงอีกข้อที่ปรากฏขึ้นมาภายหลัง ข้อนี้ไม่ใช่เหตุเหมือนกับความจริง 3 ข้อแรก แต่เป็นผลจากการเห็นความจริงในการปฏิบัติ 3 ข้อแรก

จากตอนแรกที่เคยเข้าใจว่า ถ้าเราขาดเนื้อสัตว์เราจะต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ เราต้องสละสุขจากการเสพ กลายเป็นผู้ที่ขาดทุนชีวิตเพราะไม่ได้เสพสุขตามที่โลกเข้าใจ

แต่ความจริงนั้นไม่ใช่เลย การหลุดพ้นจากความอยากนั้นยิ่งกว่าสุขที่เคยเสพเสียอีก จะเอาสุขเดิมมาแลกก็ไม่ยอม เพราะมันเทียบกันไม่ได้ เหมือนเอาเงิน 1 บาท ไปซื้อโลก มันซื้อไม่ได้อยู่แล้ว คุณค่ามันเทียบกันไม่ได้ จะเปรียบเทียบไปมันก็จะด้อยค่าเกินจริงไป เพราะคุณค่าของการหลุดพ้นจากความอยากนั้นยากที่จะหาสิ่งใดมาเทียบได้

เราไม่ต้องทุกข์เพราะไม่ได้เสพ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำอกุศลเพราะต้องหาสิ่งที่เบียดเบียนมาบำเรอตน เราจะเป็นอิสระจากความอยาก ไม่จำเป็นต้องสร้างเหตุผลอะไรมาเพื่อให้ได้เสพสมใจอีกต่อไป มีแต่กุศลและอกุศลตามความจริงเท่านั้น

จะเหลือเพียงแค่ทำสิ่งที่เป็นกุศลตามความเป็นจริง เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์เราก็อยู่ได้ เป็นความจริงข้อหนึ่งที่เน้นการพึ่งตน เลี้ยงง่ายกินง่าย มักน้อย ใจพอ มีเพียงแค่พืชผักก็พอเลี้ยงชีวิต ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์มาเป็นส่วนเกินให้เสียเงิน เสียสุขภาพ เสียเวลาหา เสียเวลาประกอบอาหาร และความจริงที่ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทาน ถ้าเรากิน เขาก็ยังต้องฆ่าเพื่อมาขาย ดังนั้นเมื่อเราไม่มีความอยาก เราก็ไม่จำเป็นต้องกินให้เป็นการส่งเสริมการฆ่า เป็นการหยุดอกุศลกรรม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี

เมื่อเราไม่มีความอยาก เราจะมีจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น โอนอ่อนไปตามกุศล หลีกหนีจากอกุศล ไม่ใช่ลักษณะที่ยึดว่าจะต้องกินอะไรหรือไม่กินอะไร แต่จะเป็นไปเพื่อกุศล เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียน เป็นไปเพื่อความพราก เป็นไปเพื่อความมักน้อย ขัดเกลา เกื้อกูล ตลอดจนสิ่งต่างๆที่นำมาซึ่งความเจริญทางจิตวิญญาณทั้งหลาย

….พอผมได้พบเจอความจริงตามนี้ มันก็เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเอง ไม่รู้จะหาเหตุผลไปกินทำไม เพราะดูแล้วไม่เห็นมีอะไรดีเลย ไม่กินก็อยู่ได้ กินก็ไปเบียดเบียนทั้งตนเองและสัตว์อื่นอีก

สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหานั้นคือ “ตัณหา” เพราะความอยากกินเนื้อสัตว์ จะสร้างเหตุที่จะต้องไปกินเนื้อสัตว์อีกเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น ทั้งๆที่ความจริงมันไม่จำเป็น แต่ตัณหาก็สร้างความลวงขึ้นมาบังความจริง ให้มันจำเป็น ให้มันสุขเมื่อได้เสพ ให้มันเป็นคุณค่า ให้มันเป็นชีวิตจิตใจของคน ให้มันยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์นั้นต่อไป

หากคนนั้นยังมี “ความอยากกินเนื้อสัตว์” ก็ไม่มีทางหนีทุกข์พ้น ถึงจะกดข่มไม่กินเนื้อสัตว์ก็เป็นทุกข์ แม้จะได้กินก็ทุกข์เพราะสะสมอุปาทานและอกุศลวิบากเพิ่ม สรุปคือหากยังมีตัณหาถึงจะได้เสพหรือไม่ได้เสพก็ต้องรับความทุกข์ไปตลอดกาล

– – – – – – – – – – – – – – –

2.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

December 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,854 views 1

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

ทาสเนื้อสัตว์ ไม่ได้กินก็ทุกข์ กินก็สะสมทุกข์

ชีวิตที่อิสระนั้นไม่ได้หมายถึงการที่เราจะสามารถจับจ่ายใช้สอยสิ่งใดๆได้ตามความต้องการ แต่หมายถึงเป็นอิสระจากความอยาก อิสระจากความทุกข์ที่ไม่จำเป็นต้องมีในชีวิต

อาจจะจริงที่ว่า เรามีสิทธิ์ที่จะใช้เงินที่เรามีซื้อสิ่งใดๆ ก็ได้ ตามที่เราต้องการ แม้ว่าเราจะดูเหมือนมีอิสระในการซื้อขาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอิสระจากความอยาก

กิเลสได้บงการเราตั้งแต่ก่อนที่เราจะได้คิดด้วยซ้ำ ทำให้เราหลงมัวเมาในรสสุขลวงของสิ่งนั้น ยกตัวอย่างเช่นเนื้อสัตว์ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตเลย ไม่จำเป็นต้องกินก็ได้ ไม่กินก็มีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข แข็งแรง สุขภาพดี สามารถทำงานได้เหมือนคนทั่วไป

ซึ่งแน่นอนว่าความจริงตามความเป็นจริงมันคือสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่มีสาระ ไม่ต้องฆ่า ไม่ต้องเอามาขาย ไม่ต้องซื้อกินก็ได้ แต่กิเลสก็ได้สร้างความลวงขึ้นมาให้มันจำเป็น ให้มันดูมีคุณค่า มีประโยชน์ ให้คนรู้สึกกังวลว่าถ้าขาดมันเราจะต้องไม่เป็นสุข ทั้งร่างกายและจิตใจ

ทางด้านร่างกายก็พยายามหาผลวิจัยกันไปต่างๆนาๆ ว่าจะขาดธาตุนั้นธาตุนี้ จะไม่สมบูรณ์แข็งแรง จะป่วยเป็นโรค ฯลฯ ข้อมูลมากมายที่จะมาอ้างอิงว่าชีวิตคนเราขาดเนื้อสัตว์ไม่ได้ ขาดแล้วจะเป็นภัย ทำให้คนหลง ทำให้คนกังวล ทำให้คนกลัว ไม่กล้าพราก ไม่กล้าเลิกกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆที่ทั้งหมดนั้นอาจจะไม่เป็นความจริงเลยก็ได้ คือได้ผลวิจัยมาจริง ถูกต้องตามหลักการวิจัยจริง แต่สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นจะต้องใช้ในชีวิตจริงซึ่งบางครั้งก็เป็นความจริงในความลวง คือเป็นความจริงที่ถูกอยู่เพียงมุมหนึ่ง แต่ในมุมอื่นๆกลับไม่มีคุณค่า เป็นเรื่องจริงที่ไม่มีประโยชน์

ทางด้านจิตใจก็หลงกันไปตั้งแต่การติดรสเนื้อสัตว์ หลงว่ามันต้องใส่เนื้อส่วนนี้จึงจะอร่อย อาหารชนิดนี้ต้องใส่กระดูกถึงจะอร่อย หลงติดในรสเนื้อสัตว์ทั้งๆที่จริงแล้วมันอาจจะเป็นรสเครื่องเทศจนแยกไม่ออกว่าอันไหนรสเนื้อ อันไหนรสเครื่องเทศ ก็มัวเมากับเนื้อสัตว์อยู่แบบนั้น ติดไปถึงขั้นเข้าใจว่าการมีเนื้อสัตว์กินคือคนมีฐานะ สั่งเมนูเนื้อสัตว์แพงๆได้คือคนรวย การกินเนื้อสัตว์คือวัฒนธรรมของชนเผ่าที่เจริญ ใครไม่กินเนื้อไม่มีรสนิยม ฯลฯ หรือขั้นหนักหนาเลย ก็เช่น ฉันคือสัตว์กินเนื้อ ฉันเกิดมาเพื่อกินเนื้อสัตว์ ถ้าไม่ได้กินเนื้อสัตว์ฉันขอตายดีกว่า อยู่ไปทำไมถ้าไม่มีเนื้อสัตว์กิน …มันก็บ้าบอกันไปตามประสาคนโดนกิเลสลวงนั่นแหละ

ทีนี้ “ใจเป็นประธานของสิ่งทั้งปวง” ซึ่งจะมีผลตีกลับไปทางด้านร่างกายอีกที ถ้าหากขาดเนื้อสัตว์ก็จะเกิดอาการ ”มโน” ที่จิตได้ปั้นขึ้นมาว่า หากขาดเนื้อสัตว์แล้วฉันจะหมดแรงบ้าง ฉันจะไม่แข็งแรงบ้าง ฉันจะป่วยบ้าง ฉันจะคิดงานไม่ออกบ้าง ฯลฯ นี่ใจมันหลอกร่างกายซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง คนไม่รู้ทันกิเลสก็เมาหมัดเลยทีนี้ กลายเป็นว่าเนื้อสัตว์มีอิทธิพลต่อชีวิตฉันจริงๆ มันเกิดผลทางลบจริงๆ ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์ฉันตายแน่ๆ

สรุปว่าสุดท้ายกลายเป็นสภาพของ “ทาส” ที่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์ในการดำรงชีวิต ถ้าไม่มีเนื้อสัตว์แล้วมันจะทรมาน กิเลสมันตีเอาๆ ให้เกิดทุกข์จากความอยาก อดกลั้นได้สักพักก็ตบะแตกกลับไปกินใหม่ ได้กินสะสมใจก็สะสมกิเลสเพิ่มอีก กินเนื้อสัตว์ไปก็สุขหนอ สุขหนอ ว่าแล้วเราอย่าพยายามเลิกกินเนื้อสัตว์เลย มันเป็นทุกข์ ฝืนธรรมชาติ เราต้องเป็น “ทางสายกลวง” นี่แหละดี กินทั้งเนื้อทั้งผัก ไม่โต่งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

พอคิดแบบนี้มันก็นรกเลย ความเห็นไปในทางของ “กาม” ด้านเดียว คือสุดโต่งไปทางกามเลย ไม่ใช่ “ทางสายกลาง” ที่เว้นขาดจากการมัวเมาในกามและการทรมานตนด้วยอัตตา แต่เป็น “ทางสายกาม” ที่มุ่งเสพกามโดยมีวาทกรรมเท่ๆ เอามาอ้างเพื่อให้เสพตามกิเลสโดยไม่รู้สึกผิดกลายเป็นธรรมะวิบัติ ปฏิบัติแบบกลวงๆ แพ้กามไปด้วยความยินดี เพราะหลงว่าตนชนะ??? (ปราบธรรมะด้วยกิเลสได้)

อาการของ “ทาสเนื้อสัตว์” จะไม่ยอมพรากจากเนื้อสัตว์ จะหาเหตุผลที่ฟังแล้วดูดีน่าเชื่อถือมานำเสนอให้ตัวเองและผู้อื่นได้กินเนื้อสัตว์แบบไม่ต้องอายใคร หรือถ้าในหมู่นักปฏิบัติธรรมก็จะมีชุดประโยคยอดฮิตเช่น กินเป็นเพียงธาตุเลี้ยงร่างกาย กินไม่ได้ยึดติดรสชาติ หรือการปฏิบัติธรรมไม่ได้อยู่ที่การกิน ฯลฯ ถ้าไม่ระวังให้ดีกิเลสมันก็อาจจะพาเฉโกไปได้ เพราะโง่ไม่รู้ทันตัณหา คนดับตัณหาได้จริงก็ไม่มีปัญหา แต่คนไม่ทันตัณหาก็เรียกว่าโกหกซ้อนลงไปอีกชั้น คือตัวเองอยากกินอยู่แล้วโกหกว่าไม่อยาก พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตัณหา เกิดเพราะปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคืออาหาร ถ้าไม่ทันความอยากในอาหารที่กินอยู่ทุกวัน ก็เรียกได้ว่าไม่มีทางทันกิเลส ก็อ้างกินเถียงกินกันไปวันๆ

เพราะเอาเข้าจริง คนที่ยังกินเนื้อสัตว์ก็หลีกเลี่ยงจากความเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ไม่ได้ หากเรายังต้องกิน ต้องเลี้ยงร่ายกายจากการเบียดเบียนเขามา การเบียดเบียนด้วยการฆ่านี่มันหยาบมันร้ายมากนะ แค่นึกถึงก็ไม่เอาด้วยแล้ว คนที่จิตใจเจริญแล้วจะสะดุ้งกลัวต่อการร่วมบาปนี้ ไม่ยินดีในการร่วมบาปนี้ แต่พวกทาสเนื้อสัตว์ก็จะเฉย ถึงรู้ว่าสัตว์ถูกฆ่ามาก็จะยังเฉยๆ เพราะถ้าคิดมากพูดมากแล้วจะไม่ได้กินเนื้อสัตว์ สู้อย่าไปคิดอย่าไปพิจารณาที่มาของมันเลย “มันเป็นเนื้อมาแล้ว มันตายมาแล้ว” ว่าแล้วก็กินไปโดยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ “กินๆไปเถอะอย่าคิดมาก กินอะไรก็ตายเหมือนกัน (แต่ฉันขอกินเนื้อนะ)”

การหลุดพ้นจากความเป็นทาส นอกจากจะไม่เอาจิตไปผูกพันด้วยแล้ว ยังต้องถอนร่างกายออกจากความผูกพันด้วย ไม่ใช่บอกว่าจิตไม่รู้สึกรักหรือเกลียดอะไร แต่ปากก็กินเอากินเอา ไม่หยุดกินสักที บางทียังขอเพิ่ม มีผักมาเสริมก็ไม่กินผัก ตักเอาแต่เนื้อ เลือกกินแต่เนื้อเป็นหลัก กี่ปีกี่ชาติก็กินอยู่แบบนั้น กลายเป็นพวก “ปากว่าตาขยิบ

นี่แหละลีลาของ “ทาสเนื้อสัตว์” ที่หลงว่าตนเองไม่ได้เป็นทาส แต่จริงๆ ก็เป็นทาส เพราะไม่สามารถพรากเนื้อสัตว์ออกจากชีวิตได้ ไม่สามารถห่างเนื้อสัตว์ได้ ห่างกายใจก็คิดถึง จึงต้องแสวงหาเนื้อสัตว์มาบำเรอกิเลสตนอยู่เรื่อยไป เพื่อบรรเทาความทุกข์จะความอยากนั้น

คนที่เป็นทาสเนื้อสัตว์จึงน่าสงสารเช่นนี้ เพราะต้องไปซื้อไปหาเนื้อสัตว์ที่เขาเลี้ยงมา กักขังมา ลากมา เฆี่ยนมา ฆ่ามา ชำแหละมาให้เรากิน ต้องสังเวยชีวิตผู้อื่นเพื่อบำเรอสุขตนเอง ถึงต้องมีส่วนเบียดเบียนผู้อื่นก็ยอมจำนน เพราะหลงว่าสุขของเนื้อสัตว์นั้นมีมากกว่าผลกรรมที่ได้รับ หลงเข้าใจไปว่าการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์นั้นตนเองไม่มีส่วนรับผลเสีย มีแต่รับสุขจากเสพ จึงเข้าใจว่าคุ้มค่าที่จะเสพ กิเลสมันพาหลงมัวเมาแบบนี้ สะกดให้คนกลายเป็นทาสที่ไม่มีเหตุผล ให้เป็นคนที่ไม่รู้ความเกี่ยวเนื่องของสรรพสิ่ง ให้เป็นคนไม่รู้ชัดในเรื่องกรรมและผลของกรรม

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ดังนั้นถึงเราจะกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาโดยไม่มีความรักชอบเกลียดชัง แต่เราก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการเบียดเบียน นั่นหมายถึงเราก็ต้องรับส่วนแบ่งของความมีโรคมากและอายุสั้นตามกรรมที่มีส่วนทำด้วย สรุปว่ากินไปก็มีแต่จะสร้างทุกข์ให้ตัวเองเท่านั้นเอง

ซึ่งคนเราก็จะเป็น “ทาสเนื้อสัตว์” ถูกคล้องคอด้วยความอยากไปอีกนานจนกว่าจะมีปัญญาเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นเพื่อมาบำเรอตน เป็นความสร้างความสุขให้ตนโดยการทำทุกข์ให้กับผู้อื่น เป็นไปเพื่อความไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเดือดร้อน เพื่อความจองเวรจองกรรมกันชั่วกาลนาน

– – – – – – – – – – – – – – –

18.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โสด ไม่เบียดเบียน

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,655 views 0

โสด ไม่เบียดเบียน

โสด ไม่เบียดเบียน

สัตว์โลกนั้นเบียดเบียนกันด้วยความอยากเป็นธรรมดา เพื่อที่เราจะเบียดเบียนกันได้อย่างสบายใจ เราจึงสร้างความลวงขึ้นมาบดบังความจริง ดังเช่นว่าการมีครอบครัวเป็นสุข เพื่อปิดบังความจริงที่ว่าการมีครอบครัวนั้นเบียดเบียน คับแคบ เป็นทุกข์ แต่ก็ต้องทำเพราะเหตุแห่งความอยากนั้นเอง

เมื่อเราอยากได้อยากเสพอะไรมากๆ เราจะพยายามหาข้อดีของมัน พยายามปั้นแต่งประโยชน์ต่างๆนาๆ เพื่อที่จะได้เสพสิ่งนั้นโดยไม่ต้องรู้สึกผิด ซึ่งเป็นธรรมชาติของกิเลสที่จะสร้างความลวงให้คนหลงผิดติดยึดในสิ่งที่เป็นภัยต่อชีวิตมากขึ้น

แท้จริงแล้วการมีครอบครัวนั้นคือความเบียดเบียน เป็นความคับแคบ เป็นบ่วงที่คล้องคอไว้ เป็นภาระของชีวิต แม้เราจะพยายามปั้นข้อดีมากมายของการมีครอบครัว แต่ความจริงก็คือความจริง ว่าการมีครอบครัวนั้นไม่สบายเท่าความเป็นโสด

เมื่อเราอยู่เป็นโสด เราก็ไม่จำเป็นต้องเบียดเบียนทรัพย์สิน ร่างกาย เวลา และจิตใจของใคร เราต่างอยู่เป็นอิสระในพื้นที่ที่เรามี ไม่ไปก้าวก่ายชีวิตใครโดยไม่จำเป็น

แต่เมื่อเรามีครอบครัว เราก็จำเป็นต้องเบียดเบียนทรัพย์สิน ร่างกาย เวลา และจิตใจของกันและกัน พากันเสพสุขตามกิเลสก็เป็นการพากันไปทางเสื่อม ทะเลาะเบาะแว้งกันก็เป็นการพากันทำชั่ว การมีครอบครัวจึงกลายเป็นเบียดเบียนกันอย่างเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งเรามักจะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เป็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด เมื่อถูกชี้โทษของการมีครอบครัวให้เห็นดังนี้แล้ว กิเลสข้างในก็ยังจะสามารถสร้างเหตุผลที่สวยงามและประโยชน์มากมายของการมีครอบครัวขึ้นมาได้ ทั้งหมดนั้นเพราะเรามีความอยาก คือตัณหา คือความแส่หา คือความใคร่อยากเสพ พออยากเสพสุขมากๆ แล้วมีคนมาบอกว่าสิ่งนั้นเป็นโทษเป็นภัย …ด้วยกำลังจิตที่น้อย ต่อต้านกิเลสไม่ไหวจึงไม่สามารถทำใจในใจพิจารณาตามให้ทันว่าเหตุเกิดแห่งความทุกข์นั้นคือที่ใด

เมื่อได้รับข้อมูลว่าการมีครอบครัวเป็นทุกข์ แทนที่จะพิจารณาไปถึงที่เกิดว่า “ความอยากของเรานี้สร้างทุกข์” แต่มักจะเห็นและเข้าใจว่า “การถูกห้ามไม่ให้มีครอบครัว และการถูกชี้โทษนี่แหละเป็นทุกข์” ซึ่งเป็นการมองปัญหาคนละจุด กรณีแรกคือการมองกิเลสเป็นปัญหา กรณีที่สองคือมองธรรมะเป็นปัญหา พอมองธรรมะเป็นสิ่งผิด สุดท้ายก็เลยจับมือกับกิเลส ถล่มธรรมะจนสิ้นซาก ตอกตะปู ปิดฝาโลง ฝังความเจริญในทันที

แค่มีความอยากก็เบียดเบียนตนเองด้วยความเห็นผิดมากพออยู่แล้ว การที่เราจะไปหาคนผู้โชคร้ายมาสนองความอยากของเรา มาสนองความเชื่อที่ผิดของเรา นั่นยิ่งเป็นการเบียดเบียนที่มากกว่า

น่าสงสารว่าที่คู่ครองที่ต้องมาแบกรับความอยากปริมาณมหาศาลของเรา เพราะแค่กิเลสของตัวเองก็มากมายพออยู่แล้ว ยังต้องมาบำรุงบำเรอกิเลสของกันและกันอีก นี่มันจะพาชั่วเบียดเบียนกันเข้าไปใหญ่

ดังนั้นการเป็นประพฤติตนให้เป็นโสดจึงเป็นสุขที่สุด เพราะไม่ต้องเบียดเบียนตนเองด้วยความเห็นผิด ไม่ต้องเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกิเลสของเรา และไม่ไปสร้างตัวอย่างของความสุขที่หลอกลวงให้สังคมและโลกได้หลงผิดตามๆกันไปอีกด้วย

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การซื้อเนื้อสัตว์ คือหุ้นส่วนร่วมฆ่า

December 2, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,687 views 3

การซื้อเนื้อสัตว์ คือหุ้นส่วนร่วมฆ่า

การซื้อเนื้อสัตว์ คือหุ้นส่วนร่วมฆ่า

การที่กิจการใดๆจะสามารถดำรงอยู่และเจริญเติบโตขึ้นได้นั้น เกิดจากแรงสนับสนุนจากหุ้นส่วนใหญ่ที่เรียกว่า “ลูกค้า” เมื่อกิจการปราศจากลูกค้า กิจการนั้นย่อมล้มละลาย

ลูกค้านั้นคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับกิจการ คือหากซื้อผลิตภัณฑ์นั้นแล้วจะเกิดความสุขความพอใจ หากว่าหาซื้อไม่ได้ก็จะเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ นั่นหมายถึงว่ามีการเกื้อกูลกันระหว่างลูกค้าและกิจการ เป็นการขายสิ่งหนึ่งเพื่อแลกกับอีกสิ่งหนึ่ง

เช่นเดียวกับกิจการค้าขายเนื้อสัตว์ การที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เจริญเติบโตอย่างยิ่งใหญ่จนเป็นธุรกิจระดับประเทศในทุกวันนี้ก็เรียกได้ว่า ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าเสมอมา เงินทุกบาททุกสตางค์ของลูกค้าที่จ่ายเข้ามาให้กิจการนั้น ได้นำไปพัฒนาปริมาณของการผลิตสินค้าอย่างมากมายเพื่อที่จะมาตอบสนองต่อ “ตัณหา” ของลูกค้าปริมาณมากเพื่อให้ได้ซึ่งเงินปริมาณมหาศาลนั่นเอง

เงินทุกบาทที่ลูกค้าได้จ่ายไปนั้น ยังช่วยเอื้อให้เขาได้เบียดเบียนสัตว์อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะกิจการเล็กหรือใหญ่ จะระดับชาวบ้านหรือบริษัทมหาชน เงินที่ได้จ่ายไปนั้นล้วนช่วยผลักดันให้เกิดการ กักขัง บังคับ ยัดเยียด ข่มขืน ทำร้าย และเข่นฆ่า แม้แต่การซื้อเนื้อสัตว์ผ่านนายหน้าค้าเนื้อสัตว์ ดังเช่นร้านอาหารต่างๆ ก็ส่งผลให้เกิดเงินสะพัดในกลุ่มธุรกิจบาปนี้เช่นกัน

เจตนาที่จะซื้อขายทั้งที่สิ่งเหล่านั้นเป็นการเบียดเบียน นั่นหมายถึงเจตนาที่จะมีส่วนร่วมในกรรมชั่ว เป็นหุ้นส่วนร่วมฆ่า แม้จะไม่ได้ฆ่าเองแต่ก็มีส่วนได้ส่วนเสียในการฆ่า คือได้เสพสุขจากผลของการฆ่าเหล่านั้น

แน่นอนว่าการปันผลให้กับผู้ร่วมหุ้นโดยกรรมนั้นยุติธรรมเสมอ เราร่วมลงทุนไปเท่าไหร่ เขาก็ปันผลให้เท่านั้น เราเบียดเบียนไปเท่าไหร่ เขาก็ให้เราได้รับการเบียดเบียนเท่านั้น เป็นการร่วมหุ้นในกิจกรรมที่ได้รับปันผลอย่างยุติธรรม ทุกคนจะได้รับปันผลเท่าๆกับเงินที่ร่วมลงทุนไปกับการฆ่าเหล่านั้น

และยังมีโบนัสอีกมากมาย เช่น การร่วมหุ้นลงทุนร่วมธุรกิจบาปเหล่านั้น ยังไปส่งเสริมให้คนหลงในอาชีพที่ผิดไปจากทางพ้นทุกข์ ให้เขาได้หลงมัวเมาว่าการล่า การกักขัง การฆ่านี้เป็นคุณ แม้จะบาปแต่ก็คุ้มค่าที่ได้เงินมาใช้จ่าย เป็นอาชีพที่ผู้ร่วมหุ้นทุกคนยอมรับและมองว่าเป็นพนักงานที่เสียสละ

นั่นหมายถึงเราจะได้รับวิบากกรรมอีกส่วนที่ทำให้คนหลงมัวเมาในอาชีพที่ผิดศีล เห็นผิดเป็นชอบ เห็นเงินมีคุณค่ามากกว่าคุณธรรม หลงว่าการเบียดเบียนนั้นไม่มีโทษ ซึ่งเราก็จะได้เผชิญกับเรื่องที่วิปริตผิดศีลธรรมแบบใดแบบหนึ่งในอนาคตอย่างแน่นอน

เมื่อเห็นดังนี้แล้ว ควรแล้วหรือที่เรายังร่วมลงทุนในธุรกิจบาปเหล่านี้อีก ในเมื่อเม็ดเงินทุกเม็ดได้ไหลไปสร้างความทุกข์ โทษ ภัยให้กับสัตว์อื่น หรือยังมีความเห็นผิดว่าการร่วมหุ้นในธุรกิจบาปเหล่านี้ไม่มีการปันผลกรรมชั่ว ยังเห็นผิดว่ากรรมที่ทำแล้วไม่มีผล ยังเห็นผิดว่าการเบียดเบียนไม่มีโทษทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

เมื่อนักลงทุนผู้มีปัญญาเห็นดังนี้แล้วว่า นี้เป็นการร่วมหุ้นที่มีแต่ขาดทุนฝ่ายเดียว ไม่มีแม้แต่กำไรใดๆ จึงควรถอนหุ้นจากธุรกิจบาปนี้เสีย และชักชวนให้คนอื่นเลิกลงทุนในธุรกิจบาปเหล่านี้ด้วย รวมทั้งสนับสนุน ส่งเสริม ยินดี ชื่นชมในประโยชน์แห่งการออกจากธุรกิจบาปนี้ เพื่อความสุข เพื่อความเจริญ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

30.11.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)