Tag: ตัณหา

นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

September 28, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,397 views 0

นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

ทุกข์เกิดมาจากอะไร ทำไมเราจึงต้องทุกข์ ยิ่งใช้ชีวิตนานวันไปยิ่งพบกับทุกข์มากขึ้น ยิ่งค้นยิ่งหาก็ยังไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ แล้วมันทุกข์จากอะไร เพราะเราอยากได้ อยากมี อยากเป็น ใช่ไหมเราจึงต้องทุกข์

ความอยากหรือตัณหานั้นเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ทุกชีวิต ตื่นลุกออกจากเตียงก้าวออกไปเผชิญชีวิตในสังคมเมือง ออกไปทำงานตามล่าหาเงิน หาความสำเร็จ หาความมั่งคั่ง มาบำเรอความอยาก ที่เรามักจะเรียกให้มันดูดีว่า “ความฝัน

อารมณ์ต่างๆในชีวิต เช่น ความโกรธ ขุ่นเคือง ไม่พอใจ ฯลฯ อารมณ์เหล่านี้เกิดจากการที่เราไม่ได้สมใจอยาก บางคนสามารถใช้วิธีทางสมถะตบความทุกข์เหล่านี้ออกจากใจได้ สามารถดับความโกรธ ความขุ่นเคือง ความไม่พอใจได้ เขาเหล่านั้นเชื่อว่านี่คือทางแห่งการพ้นทุกข์ แต่จริงๆแล้ว เพียงแต่ตบความคิด ดับความคิด หยุดฟุ้งซ่าน แค่ทำใจให้โล่ง โปร่งสบายได้ ยังมาไม่ถึงคำว่า “พุทธ” เลย

วิถีแห่งสมถะ มีมาก่อนพระพุทธศาสนาจะกำเนิดอยู่แล้ว เป็นวิถีแห่งฤาษี พราหมณ์ ในอดีตสมัยพุทธกาลก็มีกันอยู่มาก พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ทดลองแล้วและพบว่ามันไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีคนที่หลงทางอยู่มากมาย เข้าใจว่าการทำสมถะ ดับความคิด ตบความคิดได้ นั่นคือทางแห่งพุทธะ ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ใกล้เคียงเลย…

แม้เราจะสามารถดับความคิดขุ่นเคือง เศร้าหมอง โกรธ ฯลฯ ได้ แม้เราจะบอกว่ามันเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปได้ แม้จะรู้ว่ามันเป็นอนิจจัง ความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ในระดับทั่วไป แน่นอนว่าศาสนาพุทธก็สอนให้ดับปัญหาเหล่านั้นที่ปลายเหตุด้วยส่วนหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันเราก็มุ่งเน้นมาที่ต้นเหตุ คือสมุทัย เหตุแห่งทุกข์

ทุกข์มันเกิดจากตรงไหน เกิดจากการที่เราโกรธ ขุ่นเคืองใจอย่างนั้นหรือ? ผู้มีปัญญาตื้นเขินก็จะมองเห็นได้เพียงแค่นั้น และดับความคิดเพียงแค่นั้น จนสุดท้ายหลงเข้าใจผิดว่าการบรรลุธรรมก็มีแค่นั้น ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น เพราะเหตุแห่งทุกข์จริงๆเราต้องขุดค้นลงไป ว่าเราโกรธเพราะอะไร ที่เราโกรธเพราะเราไม่ได้เสพสมใจในเรื่องใด

และขุดค้นลงไปอีกว่า การที่เราอยากเสพในเรื่องนั้นๆ เราอยากเสพเพราะอะไร เราอยากได้อยากมีอะไร เราติดสุขอะไรในรสชาติ ติดอะไรในอารมณ์ของสิ่งนั้น พิจารณาลึกลงไปเรื่อยๆ ลึกกระทั่งจนไปถึงเหตุเกิด หรือที่เกิดของความทุกข์ นั่นคือสมุทัย ไม่ใช่ปลายเหตุคือความโกรธที่เราเห็นได้ทั่วไป

เพราะเหตุแห่งทุกข์นั้นมักจะซ่อนอยู่ภายในลึกๆ แม้ว่าจะค้นเจอแล้วครั้งหนึ่งอาจจะไม่ได้หมายความว่าจะเจอทั้งหมด และไม่ได้หมายความว่าที่เราเจอคือต้นเหตุจริงๆ เราต้องเฝ้าพิจารณาหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า หารากที่เหลือของมันและขุดรากถอนโคนมันออกมาด้วยวิธี …นั่งจับเข่าคุยกับกิเลส

หลังจากที่เราได้เจอกับกิเลสของเราแล้ว วิธีการที่จะดับกิเลสนั้น ไม่ใช่การทำลายมันด้วยการตบทิ้ง หรือการกดข่ม หรือการดับใดๆ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเราได้เจรจากับกิเลส ได้ใช้เวลาคุยกับกิเลสให้มาก ให้ตัวเราและกิเลสได้ทำความเข้าใจว่า ฉันไม่ใช่เธอ และเธอก็ไม่ใช่ฉัน เราไม่ใช่กันและกัน เธอไม่จำเป็นต้องอยู่กับฉันตลอดไปก็ได้ เราจะใช้เวลาเจรจานานตราบเท่าที่กิเลสจะยอมใจอ่อน เดินจากเราไป อาจจะใช้เวลา 1 วัน 1 เดือน 1 ปี 1 ชาติ 1 กัป หรือ 1 อสงไขยก็เป็นได้

ยกตัวอย่างเช่น เราโกรธเพื่อน เพราะว่าเพื่อนพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบ ถ้าสายสมถะหรือสายฤาษีก็จะตบความโกรธทิ้งไป ดับความคิดที่โกรธทิ้งไป แล้วเข้าใจไปเองว่าตนบรรลุธรรม แต่ในทางพุทธ เราจะย้อนกลับมาที่ใจตัวเองว่า… ทำไมเราถึงโกรธเพื่อน

เพราะเขาพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใช่ไหม?

แล้วเราไม่ชอบคำพูดเหล่านั้น

หรือเราไม่ชอบเรื่องราวในคำพูดเหล่านั้น?

หรือเรื่องราวเหล่านั้นมันทำร้ายทำลายใจเรา?

แล้วเรามีเรื่องอะไรให้ต้องเจ็บ?

เพราะเราเคยมีแผลเก่าในใจใช่ไหม?

แผลเก่าในใจนั้นคืออะไร?

เป็นเพราะมีใครคนหนึ่งเคยฝากแผลใจให้กับเราไว้ใช่ไหม?

แล้วเราเจ็บปวดเพราะอะไร

เพราะเราคาดหวังว่าเขาจะต้องทำดีกับเราใช่ไหม?

พอเขาไม่ทำดีกับเรา ทำร้ายเรา เราก็ผิดหวังใช่ไหม?

นั่นเป็นเพราะเราหวังมากเกินจริงใช่ไหม?

เขาก็เป็นของเขาแบบนั้นแล้วเราจะไปหวังอะไรกับเขา

เราหวังเพราะเราอยากเสพดีใช่ไหม?

อยากเสพดีเพราะเราติดว่าดีเป็นสุขใช่ไหม?

….

สมมุติว่าเราหยุดตรงนี้ เราหยุดตรงที่เราติดว่า “เกิดดีจึงจะเป็นสุข” เราก็คุยกับกิเลส ก็คือพิจารณาโทษของการติดดี และประโยชน์ของการไม่ไปติดดี พิจารณากรรมและผลของกรรมว่าถ้าเรายังติดดีอยู่ อนาคตเราต้องรับอะไรบ้าง รวมทั้งพิจารณาว่าการติดดีนั้นเป็นทุกข์อย่างไร ถึงจะติดดีอย่างไรในความจริงมันก็ไม่เที่ยง ไม่สามารถเกิดดีหรือเป็นดังใจเราได้เสมอไป รวมถึงความดีที่เรายึดไว้ แท้จริงมันก็ไม่ได้มีตัวตนอยู่อย่างที่เราคิด เราคิดไปเองว่าความติดดีคือเรา เราคือความติดดี จริงๆแล้วมันไม่ใช่ของกันและกัน เราและความยึดว่าต้องเกิดดีนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกันกับเราเลย

แล้วเราก็ใช้เวลาของเรานั่งจับเข่าคุยกับกิเลสในตัวเองต่อไป คุยไปเรื่อยๆ คุยไปทุกครั้งที่เจอกัน เจอกิเลสเมื่อไหร่เราก็เจรจา หาเหตุผล หาความจริงตามความเป็นจริงมาเรื่อยๆ พิจารณาไปแม้ว่าเราจะพ่ายต่อกิเลส โดยไม่ลดความพยายาม หน้าด้านคุยกับกิเลสไปจนถึงวันหนึ่งกิเลสก็จะยอมถอย เก็บกะเป๋าออกจากจิตใจเรา วันนั้นคือวันที่ปัญญาของเรามากพอที่จะไล่กิเลส ทำลายกิเลส หรือที่เรียกว่าฆ่ากิเลสนี้ลงได้

กิเลสจะไม่มีวันกลับมาได้อีกต่อไป ไปแล้วก็ไปเลย ถึงกิเลสจะวนกลับมา เพียงแค่เราพูดหรือใช้การพิจารณาเพียงเล็กน้อย กิเลสก็ยอมล่าถอย ไม่เข้าใกล้เราอีกต่อไปนั่นคือเรามีปัญญามากพอที่จะพ้นภัยจากกิเลสนั้นๆ

ทั้งหมดนี้คือลักษณะของการวิปัสสนา ซึ่งถ้าใครทำวิปัสสนาอย่างถูกตรงก็จะเข้าใจกระบวนการนี้ได้ดี แต่ถ้าใครหลงผิดไปว่าสมถะของตนนั้นคือวิปัสสนา อาจจะไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะเขาเข้าใจได้เพียงแค่ว่า แค่ดับความคิดก็จบแล้ว ทำไมต้องคิด ทำไมต้องทำขนาดนี้ ซึ่งเขาเองอาจจะไม่ได้สังเกตว่า วิธีที่เขาทำนั้น ความอยากมันไม่ได้หายไป ความอยากมันไม่ได้ตาย มันดับ แล้วมันก็เกิดใหม่ เกิดและดับไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น อย่างเก่งก็ดับได้แบบอัตโนมัติ กดดับไปแบบไม่รู้ตัว กดข่มดับจิตไปทั้งชาติ เกิดมาชาติหน้าก็ต้องมาเจอกิเลสใหม่อยู่ดีเพราะยังตัดตัณหาไม่ขาด กิเลสไม่ตาย ก็ต้องเจอกันใหม่อยู่ดี

ด้วยวิธีนี้เราจะสามารถดับตัณหา หรือความอยากที่มีกิเลสปนเปื้อนได้ และสามารถรู้ได้เองว่ากิเลสของตนนั้น “ลด” ไปเท่าไหร่ กิเลสลดก็รู้ กิเลสเพิ่มก็รู้ กิเลสดับก็รู้ เป็นลักษณะของความรู้แจ้ง ไม่ใช่แบบมั่ว คิดเอาเอง หรือคาดเอาไปเอง ไม่รู้อะไรเลย ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ใช่ ผู้ไม่รู้ ผู้หลับใหลมัวเมา ผู้เฉยๆ

หากเราได้ใช้เวลาในชีวิตประจำวัน เฝ้าคุยกับกิเลสของตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องขุ่นเคืองใจใดๆ ที่เข้ามาในชีวิตเรา เราจะจับเข่าคุยกับกิเลสทุกครั้งที่ว่างจากการทำงาน หรือกระทั่งพิจารณาสอดร้อยไปในกิจกรรมการงาน เราก็มีโอกาสที่จะเป็นผู้พ้นทุกข์จากกิเลส เพราะเราได้กำจัดเหตุแห่งทุกข์นั้นสิ้นไปแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

จริงหรือที่ว่ารัก?…เราจะรู้ได้อย่างไร…เมื่อรักนั้นปนเปื้อนด้วยกิเลส

August 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,044 views 0

จริงหรือที่ว่ารัก?...เราจะรู้ได้อย่างไร...เมื่อรักนั้นปนเปื้อนด้วยกิเลส

จริงหรือที่ว่ารัก?…เราจะรู้ได้อย่างไร…เมื่อรักนั้นปนเปื้อนด้วยกิเลส

บังเอิญได้ดูเรื่องราวจำลองของเหตุการณ์หนึ่ง เป็นเรื่องของความรักปนไปกับความเหงาและความใคร่ ก็คงจะดีถ้าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริง (Club Friday The Series 4 หรือรักแท้จะแพ้ความต้องการ (เรื่องราวจาก คุณแอร์ )[ http://www.youtube.com/watch?v=zS3U4MROlvE ])

เป็นเรื่องที่ใช้เวลาดูเป็นชั่วโมง…. พอดูแล้วก็นึกถึงเหตุของความรัก ที่เกิดมาด้วยหลายแรงผลักดัน ความถูกใจ ความใคร่ ความเหงา ลาภยศสรรเสริญ ฯลฯ สุดท้ายก็ออกมาในรูปของคำว่า ”ความรัก” แต่ถ้าหากเราไม่แยกส่วนผสมของรักให้ดี ก็อาจจะไม่รู้เลยก็ได้ว่ามีกิเลสปนเปื้อนอยู่เป็นส่วนใหญ่

คนเรามักจะนิยามความรักในมุมสวยงาม แต่ไม่เคยลองพิจารณาดีๆว่าเรารักเพราะอะไร เพราะรูปสวย เพราะรวยทรัพย์ เพราะมีหน้าที่การงานดีในสังคม เพราะเขาเอาใจเรา เพราะเขาให้คุณค่าเรา เพราะเขาสนองได้ตามที่เราอยากได้ ความรู้สึกเหล่านี้เป็นกิเลสล้วนๆ ความรักที่แท้นั้นไม่ควรปนเปื้อนด้วย อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา คือกิเลสที่จะนำมาสู่ความทุกข์ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

รักที่เต็มไปด้วยกิเลส ตัณหา ความอยาก ความใคร่ ไม่มีทางจบด้วยความสุข เพราะเมื่อไม่ได้เสพสมกิเลสหรือสมความใคร่อยากนั้นก็เกิดทุกข์ แต่พอได้เสพก็ลดทุกข์ลงไปได้บ้างแต่กลับเติมกิเลสให้ต้องการมากขึ้นเสพมากขึ้น มีความอยากความเอาแต่ใจมากขึ้นเรื่อย เป็นเพียงแค่สุขลวงที่มาล่อให้เกิดทุกข์จริงเท่านั้น

เราอาจจะเห็นว่าหลายคู่ก็รักกันดี จึงพยายามเอามาคิดฝันถึงเรื่องของตัวเอง จนลืมไปว่าเรามีกรรมที่ต่างกัน ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะเจอสิ่งที่ดีแบบคนอื่นเขา ถึงแม้ว่าถ้าเจอคนที่ดีจริงก็จะไม่พากันไปสู่นรก คือการแต่งงาน สังเกตุว่าเมื่อมีการแต่งงาน หลายๆสิ่งจะเปลี่ยนไป เพราะเมื่อคนมีกิเลสสองคนมาอยู่ด้วยกันแล้ว วันใดวันหนึ่งที่ไม่สามารถสนองกิเลสอีกฝ่ายได้ ก็จะกลายเป็นชนวนให้เกิดความบาดหมาง จนกระทั่งเป็นเหตุให้บางคู่ได้มีอิสระ บางคู่ต้องอยู่กันไปทั้งรักทั้งชัง บางคู่ก็มีแต่ทนทุกข์ บางคู่มีลูกเป็นบ่วงยึดไว้อีก

ผมเคยได้ยินคำตรัสของพระพุทธเจ้า ใจความประมาณว่า “คนที่ไม่มีลูกเป็นคนที่โชคดีมาก แล้วจะกล่าวไปใยกับคนที่เป็นโสด” ดังจะเห็นได้ว่า การมีลูกนำทุกข์มาให้ และการแต่งงานก็นำทุกข์มาให้เช่นกัน จริงๆแล้วเราทุกข์ตั้งแต่มีความรักที่เต็มไปด้วยความอยากหรือกิเลสอยู่แล้ว

ความรักที่ดีนั้นควรจะอยู่บนพื้นฐานของอิสระ เกื้อกูลกันด้วยสิ่งที่เป็นกุศล พากันทำกุศล พากันเจริญ ไม่มีการผูกมัดกันด้วยสัญญาใดๆ เป็นรักที่ยอมปล่อย ยอมสละ ยอมแม้แต่จะไม่ครอบครอง ยอมปล่อยให้คู่ของตัวเองเป็นไปตามกรรมที่เขาควรจะเป็น รักอย่างเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา โดยไม่มีการยึดมั่นถือมั่น เขาจะอยู่กับเราก็ได้ เขาจะไปจากเราก็ได้

ในเรื่องนี้ถ้าเราเข้าใจกรรมและผลของกรรมอย่างถ่องแท้ จะไม่สงสัยใดๆ จะเข้าใจว่า ว่ามันก็เป็นของมันแบบนี้ละนะ เพราะการที่เกิดเรื่องราวเลวร้ายหรือวิบากบาปแบบนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากกิเลสของเรานั่นแหละ เพราะเราเคยไปทำอะไรไม่ดีมากสักอย่าง ผลมันก็เลยออกมาแบบนี้ ก็จะรับรู้จะเข้าใจ รับผลแล้วก็หมดไป ดีซะอีกได้ใช้หนี้บาปให้หมดไปอีกเรื่อง อาจจะลองจินตนาการตามไปก็ได้ว่าชาติใดชาติหนึ่งเราก็ไปทำแบบนี้มานั่นแหละ เราเองที่ทำมา…

และจะเห็นได้ว่า ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปอย่างไร คนก็หนีไม่พ้นเรื่องกามเมถุน …กิเลสอันเป็นรากที่ทำให้เกิดความใคร่จนลงมือก่อบาปเหล่านี้ คือกามราคะ เป็นสังโยชน์ที่ผูกมัดเราให้ทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส กามราคะไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องสมสู่ ยังรวมไปถึงการเสพในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ต่างๆ เช่น ฟังเพลงเพราะ กินอาหารอร่อย ชอบกลิ่นหอมๆ ชอบคนหล่อคนสวย ชอบบ้านที่อยู่สวย ชอบเตียงที่นุ่ม อะไรก็ว่ากันไป

หลายคนเข้าใจว่าอายุมากขึ้นแล้วคงเบื่อหน่ายเรื่องนี้ไปแล้ว แต่ความจริงนั้นไม่ใช่ กิเลสจะเปลี่ยนรูปจากความต้องการในการสมสู่เป็น ความติดรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อื่นๆได้เช่นกัน สังเกตก็ได้ว่ายิ่งแก่ยิ่งดื้อ ยิ่งอยากเสพของอร่อย อยากสบาย มีความอยากและข้อแม้เต็มไปหมด ทุกข์เหล่านี้มันจะอยู่ตามหลอกหลอนเราตราบเท่าที่เรายังยึดกามราคะนี้ไว้เป็นตัวเรา จะเกิดอีกกี่ครั้งก็ต้องเจอมันทุกครั้ง เจอเรื่องราวประมาณนี้เรื่อยไป วิธีเดียวที่จะกำจัดมันก็คือ…ล้างกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –
10.8.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์