Tag: กุศล
ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?
ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?
ถาม: ผมสงสัยว่าคนที่ทำดีมาตลอดชีวิตแต่มาเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ คนกลุ่มนี้ไม่แม้แต่จะรู้ว่าตัวเองกำลังจะเสียชีวิต วิญญาณพวกเค้าจะไปสู่ภพภูมิที่ดีหรือไม่ เพราะเค้าไม่มีโอกาสคิดเรื่องดีๆที่เค้าทำมาทั้งชีวิต
ตอบ: การเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุนั้น ภาพที่เราเห็นอาจจะดูไม่ดีนัก แต่ในความเป็นจริงสิ่งนั้นอาจจะไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น คนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง ต้องทนทุกข์อยู่นานหลายปี อยากจะตายไปให้พ้นๆก็ไม่ตายสักที กับอีกคนเดินๆอยู่ก็มีรถพุ่งเข้ามาชนจากด้านหลัง ตายไม่รู้ตัว ถามว่าสองคนนี้ คนไหนทุกข์มากกว่ากัน? คนไหนที่เกิดอกุศลจิตมากกว่ากัน? คนไหนที่มีโอกาสทำบาปทางกาย วาจา ใจ มากกว่ากัน?
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ตายดีหรือตายร้าย แต่อยู่ที่ว่าทุกข์หรือไม่ทุกข์ต่างหาก เพราะไม่ว่าจะตายช้าตายเร็ว เราก็ต้องตายอยู่ดี จะตายดีตายร้ายเราเลือกไม่ได้ แต่ทุกข์หรือไม่ทุกข์นี่เราเลือกที่จะทำได้
ทำไมทำดีแล้วตายไม่ดี…
บางครั้งเราอาจจะสงสัย ว่าทำไมคนที่ทำดีต้องตายในสภาพที่ไม่ดี ทำไมตายไว ทำไมต้องพบทุกข์ทรมานมากแม้ว่าเขาจะทำดีมาทั้งชีวิต
เหตุของความเจ็บความตายเหล่านั้นไม่ได้มาจากการทำดีของเขา แต่มาจากกรรมชั่วที่เขาเคยทำมาเมื่อสมัยที่เขายังไม่ได้ทำดี อาจจะในชาตินี้หรือชาติก่อนก็ได้ เมื่อเขาทำดีเข้ามากๆ เขาก็อาจจะได้รับกรรมชั่วที่เขาได้ทำมาได้ไวขึ้น เพราะกรรมชั่วจะมาให้เราได้ชดใช้และเพื่อสะท้อนให้คนดีได้เข้าใจว่าตนเองนั้นเคยทำบาปกรรมอะไรลงไป จะได้เข็ดขยาดและเลิกทำบาปนั้นๆเขาใช้กรรมชั่วไปแล้วกรรมนั้นก็หมดไป เกิดใหม่ก็ได้ร่างที่ดีกว่าเดิม ภพภูมิที่ดีกว่าเดิม
ในกรณีคล้ายๆกัน คนชั่วเองก็อาจจะตายด้วยอุบัติเหตุก็ได้ นั่นก็เพราะกรรมชั่วมันมีมากพอที่จะส่งผล หรือไม่ก็อาจจะทำบาปมากเกินไป จนกระทั่งเกินกว่าพลังของบุญบารมีที่เขาเคยทำจะปกป้องเขาไว้แล้วก็ได้ แต่เราก็มักจะเห็นคนชั่วหลายคนยังมีชีวิตเสพสุขปลอดภัย นั่นก็เกิดจากความดีที่เขาทำมาเมื่อก่อนหรืออาจจะเป็นชาติก่อนภพก่อนก็ได้ เมื่อเขายังได้รับกุศลที่เขาทำมายังไม่หมด ก็ยังไม่ถึงเวลาที่เขาจะต้องตายแต่เมื่อกุศลที่เขาทำมานั้นหมดลงเมื่อไหร่ ชั่วที่เขาทำในชาติก่อนและชาตินี้ก็จะส่งผล ไม่ว่าเขาจะต้องเกิดอีกกี่ครั้ง ไม่ว่าจะเกิดในภพไหน เขาก็ต้องได้รับทุกข์จากชั่วที่เขาเคยทำมาจนกว่าจะหมด
ความตายนั้นไม่ใช่จุดสิ้นสุด เพียงแต่เป็นการดับเพื่อเกิดใหม่เท่านั้น เพื่อทิ้งร่างเก่าที่มีวิบากร้าย เช่น ป่วย มีโรคมาก หรือกระทั่งหมดบุญ หมดกุศลที่ทำมา ก็ต้องทิ้งร่างนั้นไป เช่น บางคนมีชีวิตที่ดี ครอบครัวดี สังคมดี แต่ก็ต้องมาจากไปด้วยอุบัติเหตุ นั่นเพราะเขาได้รับดีที่เขาทำมามากพอแล้ว ในขณะเดียวกันเขาเองก็ไม่ได้ทำดีใหม่ขึ้นมา ใช้ชีวิตโดยการกินบุญเก่า พอกรรมดีเก่าที่เคยทำมาหมดลง ความชั่วที่เคยทำมาก็ส่งผลนั่นเอง
จิตสุดท้าย ก่อนตาย…
เรามักจะเข้าใจว่า ควรให้ความสำคัญกับจิตสุดท้ายก่อนตาย แต่จริงๆแล้วเราควรจะให้ความสำคัญกับทุกขณะจิตที่เรายังมีลมหายใจอยู่
ยกตัวอย่างง่ายๆ เรามีโอกาสอยู่ในร่างนี้ได้ 100 วัน ตั้งแต่เกิดถึงวันที่ 99 เราหยุดชั่ว ไม่ทำชั่ว ทำดีมาตลอด แต่วันสุดท้าย คือวันที่ 100 เรากลับมีความคิดวิตก กลัว ยึดมั่นถือมั่น ฟุ้งซ่าน โวยวาย ทุกข์ใจ ถ้าจะถามว่ามันดีไหม ก็ต้องตอบว่าไม่ดี แต่กรรมไม่ได้มองแค่เรื่องจิตสุดท้าย แต่หมายถึงทุกๆการกระทำใน 100 วันนั้น หากแม้เราเผลอพลาดทำจิตให้หม่นหมองในวันสุดท้ายก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราทำดีมาตั้ง 99 วัน เราแค่ได้รับกรรมชั่ว 1 วัน แต่เราจะได้รับกรรมดี 99 วันเชียวนะ
ในกรณีคนที่ตายโดยไม่รู้ตัวในวันที่ 100 เมื่อเขาหยุดชั่ว ทำดี มาตลอด และก่อนตายก็ไม่ได้มีจิตวิตก มีทุกข์ มีความกังวลใดๆ เมื่อไม่มีทุกข์จากกิเลสก็ไม่เป็นบาป ก็ไม่ต้องกังวลเลยว่าเขาจะได้รับบาปนั้น ถึงจะตายในสภาพที่ดูไม่ดี แต่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ เช่น ไปเกิดใหม่ในร่าง สังคม สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น ไม่ไปเกิดในช่วงกลียุค แต่ข้ามไปเกิดยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปเลย
ดังนั้น การไม่ได้ทบทวนสิ่งที่ดีก่อนตายในคนที่ประสบอุบัติเหตุตายกะทันหัน ไม่ใช่สิ่งสำคัญเลยเมื่อเทียบกับกรรมที่ทำมาทั้งหมดในชีวิต และก่อนที่เขาจะตายนั้น เขาก็อาจจะมีจิตที่ตั้งไว้ดีแล้ว มีความสุข มีสติ มีสมาธิดีแล้ว นั่นคือเขากำลังอยู่ในปัจจุบันที่ดีที่สุดแล้ว
สู่สุคติ สู่ภพภูมิใหม่ที่จะไป..
ดังที่มีคำกล่าวไว้ว่า “ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” ใครจะไปที่ไหน ทำอะไรอย่างไร ก็เป็นไปตามกรรมที่เราได้ทำมา เช่นในชาตินี้ เราเห็นคุณค่าของการทำบุญทำกุศล เราก็มักจะเข้าวัด ทำทาน ฟังธรรม พบปะครูบาอาจารย์ของเราอยู่เป็นประจำ เพราะเรามีกรรมที่จะต้องเข้าใจคุณค่าของการทำบุญทำกุศลซึ่งเราได้ทำสะสมมาหลายชาติแล้ว ทำให้เราสามารถเข้าถึงคุณค่าของการทำบุญทำกุศลในชาตินี้ได้ง่าย นี่คือ เราเป็นไปตามกรรมที่เราเคยทำมา แม้ในขณะที่เรายังมีชีวิตเราก็ยังต้องดำเนินไปตามกรรมที่เราทำมา
เมื่อเราต้องเสียชีวิตนี้ ทิ้งร่างกายนี้ไป กรรมก็จะพาเราไปที่ที่เราเคยทำมา ใครทำอะไรมาก็จะไปอยู่ที่นั่น คนที่ทำบุญทำกุศลก็จะได้เกิดในที่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำบุญทำกุศล มีสังคมสิ่งแวดล้อม ที่ผลักดันให้เขาเข้าไปสู่การทำบุญทำกุศล เพราะนั่นคือกรรมของเขา
ส่วนคนที่มัวเมาในอบายมุข ทำบาป โลภ เบียดเบียนคนอื่น เขาก็ต้องไปเกิดในที่ที่จะเอื้อให้เขาได้รับกรรมที่เขาทำมา ยกตัวอย่างเช่น คนที่กินเหล้า ติดยาเสพติด เมามายอยู่ในสิ่งลวงต่างๆ เขาก็ต้องได้รับกรรมที่เขาทำมาคือมีสังคม คนรอบข้างที่กินเหล้า ติดยาเสพติด เมามายในอบายมุข เพื่อให้เขาได้รับทุกข์จากกรรมนั้นๆที่เขาทำมา วนเวียนอยู่ในกองทุกข์ กองกิเลส จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งที่เขาทุกข์เกินทน ดังคำตรัสที่ว่า “ เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม ” เขาจะเข้าใจถึงทุกข์โทษภัยของการทำบาปและอกุศลกรรม จึงเริ่มพยายามที่จะสร้างกรรมดีขึ้นมาใหม่ พยายามจะพาตัวเองหลุดจากกรรมชั่วเหล่านั้น
เกิดและตาย วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร…
เมื่อทำกรรมดีไปมากๆ ก็จะสะสมความดี กลายเป็นคนดีมากขึ้นเรื่อยๆในทุกชาติที่เกิดใหม่ เมื่อเป็นคนดีที่เต็มไปด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็จะมีกิเลสพอกพูนหนาขึ้นเรื่อยๆ อยากได้โลกธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเบียดเบียน เริ่มแย่งชิงอำนาจ เริ่มสะสม จนเริ่มทำชั่วอีกครั้ง เพาะเชื้อชั่วอีกครั้ง จนความชั่วกลายเป็นกรรมที่ฝังแน่น จนกระทั่งชั่วสุดชั่ว ทีนี้วิบากกรรมก็จะดลบัลดาลเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ทุกข์ทรมานแสนสาหัส จนทนทุกข์ไม่ไหว พอเห็นทุกข์ก็เห็นธรรม กลับมาเป็นคนดีอีกครั้ง พอเป็นคนดี มีทรัพย์มีอำนาจแต่ล้างกิเลสไม่เป็น วันหนึ่งก็จะวนกลับไปชั่วอีกครั้ง พอชั่วมากก็เวียนกลับมาเป็นคนดี วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอยู่แบบนี้ไม่มีวันจบสิ้น
จนกระทั่งวันหนึ่งมีพระพุทธเจ้ามาบังเกิด คนผู้มีบุญบารมีเหล่านั้นจึงได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของท่าน พากเพียรจนกระทั่งบรรลุธรรม รู้แจ้งเหตุปัจจัยของทุกสิ่ง นำมาซึ่งการไม่ต้องวนเวียนว่ายตายเกิดเหมือนคนทั่วไป เป็นผู้มีอิสระ เป็นผู้ไกลจากกิเลส
– – – – – – – – – – – – – – –
12.9.2557
แด่วันสุดท้ายของเธอ…
แด่วันสุดท้ายของเธอ…
ในชีวิตหนึ่งที่เกิดขึ้นมา เราคงมีโอกาสตายกันได้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่การพลัดพรากจากกันนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่วันใดก็วันหนึ่งที่เราจะต้องพรากไปจากหลายสิ่งหลายอย่างที่เรารักและหวงแหน ไม่ว่าจะเป็น วัตถุสิ่งของ คนรอบข้าง ชื่อเสียงเกียรติยศ กระทั่งความรู้สึกนึกคิดบางอย่างได้เสื่อมสลายและตายจากเราไปทีละน้อยทีละน้อย
คงจะมีหลายครั้งที่เราได้มีโอกาสเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ที่กำลังจะจากไป ผู้ที่กำลังจะทิ้งร่างกายนี้ไป ผู้ที่กำลังจะตายไป… แต่โอกาสเหล่านั้นมักมีอยู่ในช่วงสั้นๆ เป็นช่วงเวลาที่เราเองก็มักจะก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ไม่รู้จะพูดอย่างไร และไม่รู้ว่าจะคิดอะไรจึงจะดี… ดังนั้นการศึกษาเกี่ยวกับการวางขันธ์ หรือการส่งผู้ที่กำลังจะจากไปนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรเรียนรู้ไว้ เพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้ที่กำลังจะจากไป
คิด พูด ทำ อย่างไรดี…
แต่ถ้าหากเราไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร ก็ขอให้นึกไว้ว่า พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ทำบรรยากาศให้ดีที่สุด คือการคิด พูด ทำ ให้ตนเองและผู้ป่วยเกิดความรู้สึกที่ดี
ผู้ดูแลควรจะมีทักษะในการพูดให้เป็นกุศล พูดให้เกิดความรู้สึกดี รู้จักประคองความรู้สึกของผู้อื่น ช่างสังเกตและแววไวในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ซึ่งอาจจะใช้วิธีใดก็ได้ตามเหตุและปัจจัย แต่ก็มีเป้าหมายเดียวคือทำให้จิตใจของทุกคนเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นความรู้สึกดีๆ ก่อนจะจากกันไป และแม้ว่าจะไม่เกิดดีตามที่ได้คาดหวังไว้ ก็สามารถปล่อยวางความยึดดีเหล่านั้นได้
การพาผู้ที่กำลังจะจากไป ย้อนกลับไปสู่อดีต คือพากลับไปสู่ความทรงจำดีๆ เรื่องราวดีๆ ที่เคยมีร่วมกัน โดยให้ระลึกไปถึงความคุ้มค่าที่ได้เกิดมาไม่ใช่รำพึงรำพัน บุญกุศลต่างๆที่เคยทำมา การขอโทษและให้อภัยในความผิดพลาดของกันและกัน เพื่อลดการผูกมัดกับสิ่งที่ฝังใจในอดีต
การพาผู้ที่กำลังจากไป เดินทางไปสู่อนาคต อ้างอิงจากอดีตคือบุญกุศลที่เคยทำมา เมื่อทำกรรมดีมา ยังไงกรรมก็ต้องพาไปพบเจอสิ่งที่ดี ทางข้างหน้าไม่ได้เลวร้าย เพียงแค่ทิ้งร่างกายที่เก่าและทรุดโทรมไปเอาร่างใหม่เท่านั้น เพียงแค่หลับไปตื่นขึ้นมาก็เป็นอีกโลกหนึ่ง อีกภพหนึ่ง อีกตอนหนึ่งของเราแล้ว เหมือนดั่งในจุดเริ่มต้นตอนเราเกิดมาชาตินี้ ก็เป็นเพียงไปเล่นละครในบทใหม่เท่านั้น โดยพูดไปในทางบวกให้คลายกังวล เพราะความกลัวมักจะเกิดจากความไม่รู้ แต่ถ้ารู้เรื่องกรรมและผลของกรรม จะโลกนี้หรือโลกหน้าก็ไม่มีอะไรน่ากลัวอีกต่อไป
การพาผู้ที่กำลังจากไป อยู่กับปัจจุปัน หลังจากดับความกังวลในอดีตและอนาคตได้พอสมควรแล้ว ก็กลับมาอยู่กับปัจจุบันซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่จะสร้างกุศลได้อย่างแท้จริง แม้ผู้ที่กำลังจะจากไปจะคิดเรื่องดีๆที่ตัวเองทำไม่ออก แต่ถ้าสามารถพาให้เขาได้คิดดี พูดดี ทำดี ในช่วงเวลานี้ ก็จะสามารถสร้างทั้งอดีตที่ดีและอนาคตที่ดีในเวลาเดียวกัน
เมื่อเราคลายทุกข์ในจิตใจที่เกิดขึ้นในอดีต อนาคต และปัจจุบันได้แล้ว ก็ให้ประคองจิตอันเป็นกุศลเหล่านั้นไปเรื่อยๆ โดยใช้ความอดทนเสียสละ เข้าใจและเห็นใจ ตั้งสติของตัวเองให้มาก โดยไม่ให้เหตุแห่งความเสียใจของตนนั้นไปสร้างจิตอกุศลให้เกิดขึ้น เช่น ถ้าเราเผลอร้องไห้เสียใจฟูมฟาย ก็อาจจะสร้างทุกข์ใจให้กับผู้ที่กำลังจะจากไปเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นการประคองสภาพจิตที่เป็นกุศลจนถึงวินาทีสุดท้าย จำเป็นต้องใช้ความตั้งมั่นอย่างมาก
เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่น ก่อนหน้านี้เราพูดไปแล้วเขาก็ดีขึ้น แต่พอผ่านไปสักพักเขาก็คิดกังวลอีกครั้ง เราก็ต้องประคองให้เขาคิดเป็นกุศลอีกครั้ง โดยไม่คิดโกรธ รำคาญ ย่อท้อ หดหู่ เพราะภาวะของคนใกล้ตายนั้นจะมีความรุนแรง สับสน ซับซ้อน แปรผันตามกิเลสและวิบากบาปที่เขาเหล่านั้นสะสมมา
ทุกข์จากใจ…
ความกลัว ความกังวลของผู้ที่กำลังจากไปนั้นมาจากกิเลสที่ยึดมั่นถือมั่นฝังลึกอยู่ข้างในจิตใจ แม้ว่าจะเคยแสดงบทเป็นคนเข้มแข็งมาทั้งชีวิต แต่ในช่วงสุดท้ายก็อาจจะแสดงความอ่อนแอทั้งหมดที่เก็บไว้ออกมาก็เป็นได้ การจะพาให้ผู้ที่กำลังจากไปนั้นล้างกิเลสเหล่านั้นคงจะทำได้ยาก เพราะเวลาคงมีไม่มากพอและเราเองก็คงจะไม่รู้วิธีล้างกิเลสเหล่านั้น ดังนั้นจะไปคิด หรือไปบอกให้เขาว่า อย่ากังวล อย่ากลัว อย่ายึดมั่นถือมั่น ก็คงจะเป็นไปได้บ้างสำหรับบางคน ที่คงไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถปรับใจให้ปล่อยวางได้ ดังนั้นแม้สุดท้ายเราจะพยายามเต็มที่แล้ว แต่เขาก็ยังต้องทนทุกข์เพราะใจของเขาเอง เราก็คงต้องปล่อยวางด้วย
แม้แต่ความกังวลของเราเองนั้น ก็ควรจะต้องตัดไปให้ได้ก่อน เพราะการที่เรายังคิดมาก กังวล เครียด กลัว นั้นจะสร้างบรรยากาศที่ขุ่นมัว แม้จะสามารถแสดงออกว่าสดชื่นแต่คนอื่นก็ยังจะสามารถรู้สึกถึงความทุกข์ข้างในได้ การทำใจของตัวเองให้ยอมรับการจากไปของเขาหรือเธอนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องพยายามทำให้ได้เสียก่อน ยอมรับว่าทุกคนก็ต้องเจ็บป่วย ทุกคนก็ต้องตาย และเราเองก็ต้องจากและพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ไม่มีสิ่งใดที่จะตั้งอยู่อย่างคงทนถาวรเลย
หน้าที่ของเรานั้นคือทำใจให้เป็นหลักให้เขายึดเกาะ ก่อนที่เราจะส่งให้เขาไปยึดอาศัยในสิ่งที่เป็นกุศลมากกว่าเรา ดังนั้นถ้าคนที่คอยประคองอย่างเรา มีจิตใจหวั่นไหวดังไม้ปักเลน ทั้งเขาและเราก็คงจะร่วงหล่นสู่อกุศลจิตได้ง่าย ดังนั้นการทำตนให้หนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหว จะช่วยพาเขาไปสู่สิ่งกุศลอื่นๆที่เราจะนำพาไปได้อย่างราบรื่น
จากโดยไม่ได้ลา…
ในหลายๆครั้ง เรามักจะต้องพบกับการจากโดยที่ไม่มีโอกาสลา อาจจะเป็นคนที่ไม่ได้พูดคุยพบเจอกันมานานแล้ว หรืออาจจะเป็นที่คนที่พึ่งบอกลาแยกย้ายกันไปได้ไม่นานนี้เอง เมื่อไม่ได้ลาก็ไม่เป็นไร… แต่ก็ให้ความรัก หลง โกรธ ชัง นั้นตายตามไปกับเขาด้วย ไม่ต้องเก็บเอาไว้กับเรา เมื่อเขาจากไปแล้วก็จะไม่มี “เรื่องระหว่างเราสองคน” อีกต่อไปดังนั้นความรู้สึกผูกพัน ยึดมั่นถือมั่น ยึดว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะไปในทางดีหรือร้ายนั้น ก็ขอให้ปล่อยลอยหายไปพร้อมกับชีวิตที่หายไปด้วย เหลือทิ้งไว้แต่เรื่องราว ประสบการณ์ เท่านั้น เราจะไม่ลืมเขา และเราจะไม่เสียใจ เพราะเรารู้ดีว่า…จากกันไม่ตลอดไป
อย่ากังวลไปเลย แล้วเราจะพบกันใหม่…ไม่มีสิ่งใดจากไปอย่างถาวร และไม่มีสิ่งใดอยู่กับเราตลอดไป เราต้องเจอกับการพบพรากจากลาอยู่อย่างนี้เสมอ เป็นแบบนี้ตลอดมาไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ ตราบใดที่เรายังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้ เราก็ต้องวนกลับมาพบกันอยู่เรื่อยๆ กลับมาร่วมบุญกุศลกัน กลับมาร่วมใช้กรรมต่อกันและกัน เหมือนอย่างที่เราเป็นในชาตินี้นี่เอง
– – – – – – – – – – – – – – –
10.9.2557
ทานนี้เพื่อให้
ทานนี้เพื่อให้
การทำบุญทำทาน หรือการสละให้ออกไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนทุกคนบนโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นการลดความอยากได้อยากมี เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ควรให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่ ” ดังนั้นการให้ทานจึงเป็นสิ่งที่ควรพึงกระทำอย่างสม่ำเสมอ
การให้ทานจะมีผลมากนั้นก็ขึ้นอยู่กับทานนั้นลดกิเลสหรือไม่? เราได้สละออก ได้ให้ไปจริงหรือไม่? บางครั้งเรามักจะเห็นคนที่ให้หรือบริจาคทาน ไม่ได้ให้อย่างแท้จริง เมื่อให้ไปแล้วแต่ยังมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ยังคาดหวัง ยังแลกเปลี่ยนอยู่
เช่น เราให้ขนมกับเพื่อน เราให้ไปแล้วนะ แล้วเพื่อนเอาขนมที่เราให้ไปให้หมากิน เรากลับโกรธเพื่อน อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ
เช่น เมื่อเราทำบุญบริจาค เราให้ไปแล้วนะ แต่เราไปตั้งจิตขอให้สมหวังอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ
เช่น เราแนะนำ เราบอกสิ่งดีๆให้กับเพื่อนไปแล้ว แต่เพื่อนกลับไม่ทำตามที่เราแนะนำ ตามที่เราเห็นว่าดี กลับไปทำตรงข้าม แล้วเราไม่พอใจที่เขาไม่ทำตามเรา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ
เช่น เราบอกคนที่ทำให้เราโกรธว่า “เอาเถอะ…ให้อภัยไม่ถือโทษกัน” เราบอกด้วยปาก ท่าทีของเราก็ดูปกติ คนนั้นเขาก็เชื่อนะ แต่ในใจเรายังโกรธ ยังเคือง ยังไม่พอใจอยู่ ยังไม่อยากเจอ ไม่อยากคบหา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ
การให้ทานที่ยังมีความหวังว่าจะได้อะไรกลับมาตอบแทนหรือยังยึดมั่นถือมั่นเป็นเจ้าของอยู่นั้น เป็นการให้ทานไม่ถูกไม่ควรสักเท่าไรนัก
การให้ทานที่จะเกิดกุศลมาก ต้องเป็นทานที่ให้เพื่อที่จะให้ ให้เพื่อที่จะไม่ได้รับอะไรเลย ให้เพื่อหมดตัวหมดตน ให้เพื่อหมดความอยากได้ ให้เพื่อที่จะไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากจะเอาอะไรอีก ให้จนไม่มีอะไรจะเอา…
ในชีวิตของเราในแต่ละวันนั้น มีการให้ทานอยู่ในหลายรูปแบบ ทั้งวัตถุทาน ธรรมทาน อภัยทาน ถ้าเราพิจารณาให้ดีว่าการให้ทานที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น เราได้ให้ไปจริงหรือไม่ ยังคิดจะเอาอะไรอยู่หรือไม่ ก็จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำทานที่ให้ผลเจริญ เป็นกุศล ที่ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องรอไปทำบุญทำทานที่วัด ไม่ต้องรอตักบาตรตอนเช้า
วัตถุทาน เช่น เราสามารถแบ่งขนมให้เพื่อนกินได้หรือไม่ แบ่งของให้เพื่อนยืมได้หรือไม่ มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่นได้หรือไม่
ธรรมทาน เช่น เราแนะนำสิ่งดีให้กับคนอื่น พูดสิ่งที่ดี ที่พาลดกิเลสให้กับคนอื่น เมื่อมีปัญหาในกลุ่ม เราพูดเพื่อลดความบาดหมาง ลดโลภ โกรธ หลง หรือกระทั่งสอนให้เขาเข้าใจวิธีการทำให้ชีวิตไม่ทุกข์ก็เป็นธรรมทาน
อภัยทาน เช่น มีคนทำไม่ถูกใจเรา รถคันหน้าขับปาดแซงเรา คันหลังเปิดไฟสูงไล่เรา คันข้างๆเบียดเข้ามา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เพื่อนร่วมงานนินทาเรา เจ้านายว่าเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เห็นข่าวไม่ดีไม่งาม คนทำผิด ทำชั่ว ทำเลว เราให้อภัยเขาได้ไหม , มีคนพูดไม่ถูกใจเรา ทำไม่ถูกใจเรา คิดไม่ตรงใจเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม
ดังจะเห็นได้ว่า การทำทานนั้นสอดร้อยไปในทุกจังหวะชีวิตของเรา หากคนมีปัญญารู้จักเก็บเกี่ยวกุศลสูงสุดของทุกๆเหตุการณ์ในแต่ละวัน ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท รู้จักทำทานอยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่ได้มีภาพลักษณ์เหมือนคนที่ใจบุญ ทำบุญตักบาตรนุ่งขาวห่มขาวไปวัดเป็นประจำอย่างที่สังคมเข้าใจ แต่เขาก็จะได้รับแต่สิ่งที่ดีในชีวิต เพราะผลแห่งทานเหล่านั้นนั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
7.9.2557
เรากราบอะไร?
เรากราบอะไร?
อย่างที่รู้กันว่า คนไทยส่วนมากในประเทศไทยนั้น นับถือศาสนาพุทธ เราเป็นพุทธมาตั้งแต่เกิด เป็นพุทธตามทะเบียนบ้าน เรายึดถือและเข้าใจกันตามที่สังคมพากันปฏิบัติ โดยที่เราเองก็ไม่เคยได้ไปศึกษา “ศาสนาพุทธ” ให้ลึกซึ้งรู้จักแค่เพียงพุทธในภาพและรูปแบบที่บอกต่อกันมา…
เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น ทั้งคนทำงานและคนเกษียณ ต่างพากันหาที่พึ่งทางใจ เนื่องด้วยชีวิตที่ยิ่งนานวันไปทุกข์ก็ยิ่งมาก แม้จะมีการงานดี ฐานะมั่นคงดี ลูกหลานดี ญาติมิตรดี บริวารดี แต่ก็หนีไม่พ้นทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ …วัดหรือพระชื่อดังที่เก่าแก่ก็เลยกลายเป็นที่พึ่งของผู้ศรัทธาเหล่านั้น
ผู้ศรัทธาเหล่านั้นต่างตระเวนไปทั่วทุกสารทิศ เพื่อกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จนทุกวันนี้มีให้เห็นธรรมะทัวร์เป็นธรรมดา เราตระเวนไปกราบอะไร? เรากราบพระใช่ไหม? แล้วพระที่บ้านกับพระที่เราไปกราบต่างกันอย่างไร? ในเมื่อพระพุทธรูปนั้นก็คือตัวแทนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้เราระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าไม่ใช่หรือ? ดังนั้นความศักดิ์สิทธิ์ควรจะอยู่ที่ไหน?
ความศักดิ์สิทธิ์ก็อยู่ที่ทิฏฐิของเรานั่นแหละ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือมิจฉาทิฏฐิ ถ้าเข้าใจผิด ต่อให้ไหว้ทุกวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วโลก ไหว้ทั้งชีวิตก็ไม่สามารถที่จะพ้นทุกข์ได้หรอก เพราะการจะปฏิบัติจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “บุญ” นั้น จำเป็นต้องมีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็น ความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์เป็นตัวตั้งเป็นเหมือนหางเสือควบคุมทิศทางเรือ ถ้าหันผิดทางก็คงจะไปนรกสถานเดียว เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ ทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี ( เอเสวมัคโค นัตถัญโญ ) ” นั่นหมายถึงถ้าไม่เริ่มจาก สัมมาทิฏฐิ สัมมาอริยมรรคข้ออื่นๆก็คงจะผิดเพี้ยนกันไปหมด หลงทางไปหมด มัวเมาไปหมด พากันไปสู่ทางทุกข์กันหมด
ดังนั้นคนที่มีสัมมาทิฏฐิไม่ว่าจะกราบพระพุทธรูปที่ไหนก็เหมือนกัน แม้จะไม่มีพระพุทธรูปอยู่ตรงหน้า แต่กราบด้วยจิตที่ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เป็นความศรัทธาด้วยเหตุแห่งปัญญา
เรากราบพระพุทธเจ้าด้วยความเข้าใจถึงความรู้และความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของท่านที่บำเพ็ญเพียรมานานกว่าสี่อสงไขยกับอีกกว่าแสนมหากัป ยอมทนทุกข์ทรมานเพื่อที่จะเรียนรู้โลกจนแจ่มแจ้ง คือรู้ทั้งโลกียะและโลกุตระ เพื่อส่งต่อมาให้เราจนถึงปี พศ ๒๕๕๗ นี้
เรากราบพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่จะพาเราพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนเองและผู้อื่น เป็นสิ่งที่เป็นจริงตลอดกาล ไม่มีใครหักล้างได้ พิสูจน์กันได้ ใครตั้งใจทำก็สามารถเข้าถึงได้ทุกคน
เรากราบพระสงฆ์ คือ พระอริยะผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ที่เป็นตัวอย่างให้เราปฏิบัติตาม ผู้เป็นครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนความรู้แก่เรา ผู้ควรกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญที่ยังสืบเชื้อสายโลกุตระธรรมต่อจากพระพุทธเจ้า
เมื่อเข้าใจดังนี้เรา เราจะกราบพระที่ไหนก็เหมือนกัน เพราะทิฏฐิเราตั้งไว้ตรงดีแล้ว กราบที่ไหนก็ได้กุศลสูงสุดเหมือนกัน ไม่มัวเมาไปตามสิ่งที่โลกเขาพาให้เราเข้าใจ พาให้เราหลงไป เพราะเราได้เข้าใจสัมมาทิฏฐิ อันเป็นเนื้อหาสาระที่ควรเข้าถึง มิใช่ผู้ที่กราบไหว้พระพุทธรูปที่เขาว่าศักดิ์สิทธิ์ด้วยความศรัทธาเพียงเรื่องราวและคำกล่าวอ้าง
เป็นความเข้าใจที่เป็นเหมือนคลื่นแม่เหล็กนำพา ดูดดึงเอาสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิต เพราะเมื่อเราเข้าถึงคุณค่าของการกราบพระ จนกระทั่งยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ไม่มีที่พึ่งอื่นใดนอกจากนี้ เราก็จะไม่ไขว้เขว ไม่หลงทาง ทางที่เดินต่อไปก็จะเป็นทางที่มีแต่สิ่งที่ดีเป็นส่วนใหญ่ เจริญขึ้นตามลำดับ พ้นทุกข์ไปเรื่อยๆ มีความสุขมากขึ้นไปเรื่อยๆ
– – – – – – – – – – – – – – –
6.9.2557