Tag: กุศล

ความฝันสีชมพู

September 28, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,768 views 0

ความฝันสีชมพู

ความฝันสีชมพู

ถ้าคนเราเลือกได้ ก็คงอยากจะมีความฝันดีๆทุกคืน และอยากให้ฝันเหล่านั้นกลายเป็นจริงเข้าสักวัน จึงได้เฝ้าฝันทั้งในยามหลับตาและยามลืมตา เฝ้ารอว่าวันใดวันหนึ่ง ฝันที่เคยหวังจะเป็นจริงดังที่เฝ้าฝันไว้

แต่ในความเป็นจริง เราไม่สามารถฝันดีได้ทุกวัน บางวันเราก็ฝันร้าย หรืออาจจะไม่ได้ฝันอะไรเลย เหมือนกันกับชีวิตจริงที่อะไรก็ไม่เป็นไปดังฝัน แม้จะได้ดังใจหวัง ความสุขสมใจก็จะอยู่กับเราสักพักแล้วก็จะจางหายและจากไป

เหมือนกันกับความรัก เรามักเฝ้าฝันว่าเราจะได้พบกับคนที่ดี พบกันวันเวลาที่ดี พบกับรักที่ดี เราเชื่อเสมอว่าเราจะเจอสิ่งที่ดี เหมือนกับเรากำลังอยู่ในความฝัน แม้ว่าความจริงที่เกิดขึ้นรอบกายนั้นจะแสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของความรักให้เห็นอย่างชัดเจน มีคู่รักหลายคนต้องเจ็บปวดทรมานความรักนั้นไม่สมหวัง มีคู่แต่งงานมากมายที่ต้องจบเรื่องราวความรักของพวกเขาไป เป็นความจริงที่ดูเหมือนจะโหดร้าย ทำไมมันต้องจบแบบนั้นทั้งที่ในตอนแรก ใครๆก็คิดว่าความรักของตนนั้นสวยงามที่สุด

คนที่คบหากัน เคียงข้างกัน แต่งงานกันด้วยความยินยอมต่อกัน ไม่มีใครสักคนที่จะคิดไปว่ารักของพวกเขานั้นจะพังทลายลงไปในวันใดวันหนึ่ง เรามักพูดกันแต่ในมุมของความเจริญ แต่กลับมองข้ามความเสื่อม ทำให้คู่รักหลายคนจมอยู่ในภาวะของความฝัน ความหวัง และอุดมคติจนกระทั่งวันหนึ่งความจริงได้พรากความฝันเหล่านั้นจากเขาหรือเธอไป

แต่นักฝันมักไม่เคยเห็นภาพเหล่านี้ ถึงเห็นก็ทำเป็นไม่เห็น และแม้จะเห็นก็ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง ยังคงเฝ้าฝันถึงวันที่จะได้เจอกับคนที่เหมาะสมกับตน คนที่มอบความรักให้กับตนคนที่จะเข้ามาเติมเต็มกิเลสให้กับตนได้เขาจึงเฝ้าฝันอย่างไม่สนใจความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เหมือนกับคนที่เดินเล่นอย่างเพลิดเพลินใจอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยสงคราม

ยังมีนักฝันจำนวนมากที่เคยข้ามผ่านความเจ็บช้ำจากความรัก การพบรัก การจากลา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เขาและเธอเหล่านั้นก็ยังมีความฝัน ที่จะได้เจอกับรักแท้เข้าสักวัน โดยลืมไปว่ารักที่ผ่านมาทั้งหมดนั้นก็เริ่มด้วยความรู้สึกที่คิดว่ารักเหล่านั้นเป็นรักแท้ทั้งสิ้น ลืมไปว่าเคยมั่นใจกับสิ่งเหล่านั้น เคยมั่นใจว่ารักนั้นดีจึงได้คบหาผูกพัน จนกระทั่งทุกอย่างจบลง นักฝันกลับกลบเรื่องในอดีตไว้อย่างมิดชิด เพื่อไม่ให้แผลในอดีตไปทำลายฝันใหม่ที่ตนเองกำลังสร้างขึ้น

ซึ่งเขาเหล่านั้นก็มักจะพบกับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่ไม่รู้ว่าสาเหตุของความผิดพลาดนั้นมาจากอะไร ได้แต่เฝ้าฝันว่าใครสักคนที่แสนดี ที่เพียบพร้อมอย่างใจต้องการ และพร้อมจะเข้าใจความคิดของเราจะมาเข้ามาในชีวิต

เหมือนกับคนที่ปิดตาตัวเองเดินเข้าไปในป่าเพื่อหาใครสักคน พอไปเดินไปเจอกับต้นไม้ก็เผลอไปกอดเพราะคิดว่าเป็นคน แล้วก็เปิดตามาดูจึงพบว่าไม่ใช่ เก็บความผิดหวังนั้นไว้ ว่าแล้วก็ปิดตาเดินหาใครสักคนต่อไป ในป่ากว้างใหญ่…ซึ่งไม่มีคน

วิธีการที่จะเจอใครสักคนที่ดี ไม่ใช่การเฝ้าฝัน หลับหูหลับตาหาไปอย่างงมงาย แต่เป็นการเปิดตา เปิดโลกให้กว้างขึ้นว่าการที่เราจะได้สิ่งใดมาสักอย่างนั้น ต้องเกิดจากการที่เราทำอะไรสักอย่างที่เหมาะสมเช่นกัน ถ้าเราทำดีเข้ามากๆ ทำดีอย่างไม่หวังผล กุศลจะผลักดันให้เราเปลี่ยนจุดที่ยืนอยู่ จากป่าที่ไม่มีคน ก็อาจจะพบเจอใครได้บ้าง บางคนเข้าวัดทำบุญทำทาน แต่ไหว้พระทีไรก็เอาแต่ร้องขอในสิ่งที่ตนอยากได้เป็นการแลกเปลี่ยนทุกที ถ้าทำแบบนี้การจะได้เจอใครที่ดีก็คงจะเป็นไปได้ยาก

เช่นเดียวกับการทำชั่ว ถ้าเราทำชั่วมากๆ อกุศลก็อาจจะผลักดันให้เราเปลี่ยนจุดที่ยืนอยู่ จากป่าที่ไม่มีคน ก็อาจจะพบใครได้บ้างบางคนเข้าผับเข้าบาร์ หวังว่าจะเจอใครสักคน อันนี้ก็พอจะเป็นไปได้ เพราะถ้าเราขยันทำชั่ว ขยันเข้าไปในที่อโคจร เราก็อาจจะได้พบกับคนที่เหมาะสมกับความชั่วกับเราในวันใดวันหนึ่งก็ได้

การพบใครสักคนไม่ใช่เรื่องที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่ควรสนใจคือใครคนนั้นจะเข้ามาทำให้เกิดสิ่งใดในชีวิตเรา การมีใครสักคนเข้ามาในชีวิตทำให้เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง สิ่งที่เราได้จากความรักที่เคยผ่านมานั้นเป็นอย่างไร แล้วรักใหม่นั้นจะดีจริงหรือ เขาจะบำรุงบำเรอกิเลสให้เราได้ตลอดไปจริงหรือ หรือเขาแค่จะมาหาผลประโยชน์จากเราแล้วจากไป

เราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความฝันและความจริงในเรื่องความรักกันอีกหลายภพหลายชาติ บางคนเจอความผิดหวังไปกี่ครั้งก็ยังไม่เข็ด ยังเฝ้าฝันปิดหูปิดตาตามหาความรักต่อไป บางคนแค่ได้ยินเรื่องของคนอื่นก็ถึงกับขยาดกับความรัก บางคนได้พบเจอเรียนรู้และผิดหวังในความรักก็สามารถที่จะเข้าใจคุณค่าและสาระของความรักได้

คนผู้มีปัญญาจะเข้าใจแก่นแท้ของความรักได้ เขาก็จะไม่วิ่งหา ไม่แสวงหา ไม่ยึดไว้เป็นของตน ไม่เหนี่ยวรั้ง ในขณะที่นักฝัน ก็ยังคงวิ่งตามหาความรัก แสวงหาใครสักคนที่จะพอให้ตนได้เสพสมใจ พอได้มาก็ยึดเขาไว้เป็นสมบัติของตน พอเขาจะจากไปก็พยายามจะเหนี่ยวรั้งไว้ และสุดท้ายจึงต้องพบเจอกับการจากพราก เกิดเป็นทุกข์ เป็นความเศร้าโศก คร่ำครวญรำพัน เสียใจ คับแค้นใจ วนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยไป อย่างไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล : สมถะและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน

September 18, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,399 views 1

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล

ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปไหนไกล : สมถะและวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน

สังคมทุกวันนี้ พอพูดกันว่าปฏิบัติธรรม ก็ต้องนึกกันไปว่าต้องไปที่วัด หรือสถานปฏิบัติธรรม เข้าใจกันไปว่าต้องไปที่นั่นถึงจะได้ทำอย่างนั้น เหมือนกับว่าไปดูหนังก็ต้องไปโรงหนัง ไปกินข้าวก็ต้องไปร้านอาหารยังไงอย่างงั้น

ทีนี้พอกลับมาพูดกันว่าปฏิบัติธรรมภายในตัวเอง ก็ยังเข้าใจกันแบบงงๆอยู่อีก บ้างก็ว่านั่งสมาธิที่บ้าน เดินจงกรม บ้างก็ว่าเจริญสติไปในการกระทำต่างๆ ดับความคิด ทำจิตให้สงบ ก็เข้าใจกันไปว่าปฏิบัติธรรม ซึ่งจะว่าใช่มันก็ใช่บางส่วน นั่นเพราะมันอยู่ในขีดของการทำสมถะเท่านั้นเอง

การปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ได้มีความหมายแค่ การทำสมาธิ เดินจงกรม ดับความคิด ทำจิตให้นิ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน แต่หมายถึงการทำชีวิตให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้น ในทุกๆเหตุการณ์ในชีวิต

การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

ในแต่ละวันเราจะมีเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบกระแทก หรือที่เรียกว่า “ผัสสะ” ผัสสะ คือ เหตุที่ทำให้จิตของเราเกิดอาการไม่ปรกติ เกิดเป็นอาการได้ทั้งทุกข์ สุข หรือเฉยๆ เรียกว่า “เวทนา” ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรากำลังต่อแถวซื้ออาหารอยู่นั้น มีคนเข้ามาแทรกแถวข้างหน้าเรา ผัสสะที่เกิดคือเห็นคนเข้ามาแทรก ด้วยความที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าต้องเข้าแถวสิ ก็เลยเกิดความเป็นทุกข์ เราทุกข์เพราะว่าเขาทำไม่ทำดีตามที่เราหมาย ตามที่เราเข้าใจ ตามที่เราตั้งกฎไว้

ปฏิบัติแบบสมถะ…

ทีนี้นักปฏิบัติสายสมถะ ก็จะรู้ว่าจิตได้เกิดแล้ว จึงใช้สมถะที่ได้ฝึกมา เช่นบริกรรมพุทโธ ยุบหนอพองหนอ นับ 1 2 3… สร้างความรู้สึกที่ตัว ย้ายจุดสนใจของจิตไปไว้ที่จุดอื่น สุดท้ายก็ตบจิต หรือความคิดนั้นๆดับไป เป็นวิถีแห่งสมถะ ถ้าทำได้ก็ถือว่าดี เก่งพอประมาณแล้ว

แต่จริงๆ อกุศลได้เกิดขึ้นไปแล้ว จิตได้เกิดไปแล้ว เวทนาเกิดทุกข์ไปเรียบร้อยแล้ว และการดับแบบนี้เป็นการดับที่ไม่ถาวร เป็นการกดข่ม กดทับไว้ เกิดทีหนึ่งก็ต้องดับทีหนึ่ง ถ้าใครฝึกสมถะเก่งๆก็จะสามารถดับได้โดยไม่รู้ตัวเลย จะว่าดีไหมมันก็ดี แต่ไม่พ้นทุกข์กลายเป็นเหมือนฤาษีที่ต้องติดภพติดสุขอีกนานกว่าจะหลุดพ้นนรกแห่งความสุข

หรือแม้แต่การพิจารณาแบบสมถะ คือการใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามาตบ มาทำลายความคิดนั้นทิ้ง เช่น เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น ,โลกก็เป็นอย่างนี้ ,จิตเราเกิดมันก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ดับไป แม้เราจะพิจารณาไปตามไตรลักษณ์ แต่พิจารณาไปตามเหตุปัจจัยภายนอกก็ยังไม่สามารถเข้าไปแก้เหตุแห่งทุกข์ได้ การเพ่งพิจารณาในปัจจัยภายนอกก็สามารถแก้ปัญหาได้แค่ภายนอกเท่านั้น ดับแค่ปลายเหตุ ดับได้แค่ทุกข์ที่เกิดไปแล้ว

เมื่อตบความคิด ความทุกข์เหล่านั้นทิ้งไป นักสมถะก็จะสามารถวางเฉย ปล่อยวางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ ไม่ถือสา ไม่เข้าไปยุ่ง ไม่เข้าไปแตะ เพราะได้วางเฉยแล้ว

ปฏิบัติแบบวิปัสสนา…

การวิปัสสนาจะต่างออกไป คือเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังที่ยกตัวอย่าง จะมีทางให้เราเลือกตัดสินใจเพียงชั่วครู่ หากเขาเหล่านั้นมีสติมากพอ จะสามารถจับได้ว่า เมื่อมีคนมาแทรก เขารู้สึกอย่างไร ทุกข์ สุข หรือเฉยๆ เพราะอะไร เมื่อมีผัสสะนั้นๆเป็นเหตุเกิด แล้วมันเกิดจากอะไร ทำไมเราถึงต้องไปทุกข์ ไปสุข กับการที่เขาคนนั้นเข้ามาแทรก เป็นเพราะเรายึดมั่นถือมั่นในกฎใช่ไหม เป็นเพราะเราติดว่าดีเราจึงเป็นทุกข์ใช่ไหม เมื่อค้นเข้าไปอีกก็อาจจะเจอว่า จริงๆแล้วเพราะเราไม่อยากให้ใครมาแทรกเราใช่ไหม, เราหิวใช่ไหม ,ความหิวทำให้เรากลายเป็นคนโกรธง่ายแบบนี้ใช่ไหม, หรือเราโกรธเพราะอ้างความหิว , ที่เราโกรธเพราะเราหวงที่ของเราต่างหาก ไม่อยากให้ใครมาแย่งไป….

พอค้นเจอเหตุที่เกิดหรือสมุทัยได้ดังนี้ จึงพิจารณาธรรมที่ควรแก่การแก้อาการยึดมั่นถือมั่นนี้ต่อไปเช่น เราจะกินช้าสักหน่อยก็ไม่เป็นไรหรอก , เขามาแทรกเพราะเราเคยไปแย่งของใครมาชาติในชาติหนึ่ง ฯลฯเมื่อเห็นทุกข์ที่เกิด เห็นเหตุแห่งทุกข์ รู้ถึงวิธีที่ควรที่จะดับทุกข์นั้น และดับทุกข์นั้นด้วยวิธีที่ถูกที่ควร จะได้ภาวะสุดท้ายคือการปล่อยวางจากกิเลสนั้น

การวิปัสสนา จะมีหลักอยู่ตรงที่ล้วงลึกเข้าไปที่เหตุแห่งการเกิดทุกข์นั้นๆ เพื่อดับทุกข์จากต้นเหตุ ไม่ใช่ดับที่ปลายเหตุแบบสมถะ แต่ก็ใช่ว่าเราจะสามารถค้นเจอเหตุแห่งทุกข์ได้ทุกครั้งเสมอไป บางครั้งต้องทำเท่าที่ทำได้ บางครั้งก็ต้องใช้วิธีพิจารณาแบบสมถะร่วมด้วย ในกรณีที่ผัสสะนั้นแรงเกินไป เช่น นอกจากเขามาแทรกแล้วเขายังเอาเพื่อนเข้ามาแทรกและคุยเสียงดังไม่เกรงใจเราด้วย เมื่อผัสสะนั้นแรงเกินกว่าที่เราจะทนรับไหว เราก็ควรจะใช้การพิจารณาแบบ กดข่ม อดทน ตบทิ้ง เข้ามาร่วมด้วย

การวิปัสสนานั้น จะสามารถดับได้ทั้งทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว และทุกข์ที่จะเกิดต่อๆไปจากเหตุการณ์นั้นๆ หากเราพิจารณาถึงรากของกิเลสจริงๆว่าเรายึดมั่นถือมั่นในเรื่องใดได้ เมื่อล้างได้ถูกตัวถูกตนของกิเลสนั้นจริง ไม่ว่าจะมีคนมาแทรกอีกสักกี่ครั้ง จะแทรกลีลาไหน ยียวนเพียงใด เราก็จะไม่รู้สึกทุกข์อีกเลย เพราะเราได้กำจัดเหตุแห่งทุกข์ในใจเราไปแล้ว

และเรายังสามารถที่จะเตือนเขาโดยที่ไม่ปนเปื้อนไปด้วยจิตที่ขุ่นมัวอีกด้วย ส่วนเขาจะสวนมาในลีลาไหนก็ต้องรอรับผัสสะอีกชุด ซึ่งก็คงจะเป็นกิเลสอีกตัวหนึ่งที่เราจะได้เห็นจากการที่เขาอาจจะไม่ยอมรับว่าเขาแทรก ถ้าเรายังทุกข์อยู่เราก็ล้างทุกข์ไป แต่ถ้าเราไม่รู้สึกอะไรแล้วและเขาไม่เชื่อที่เราแนะนำ ไม่ยอมไปต่อท้ายแถว ถ้าเขายินดีที่จะทำบาปนั้น เราก็ปล่อยเขาไปตามกรรมที่เขาทำ

การสร้างบุญกุศลในชีวิตประจำวัน

เมื่อปฏิบัติธรรมกันแล้วเราก็มาต่อกันที่ผลของการปฏิบัติธรรมว่า เกี่ยวกับ บุญ บาป กุศล อกุศล อย่างไร เช่น ในกรณีที่ยกตัวอย่างมา ถ้าเกิดว่า….

ถ้า…เราสามารถใช้สมถะกดข่มจิตใจที่รู้สึกเคือง ขุ่นใจ ไม่ชอบใจนั้นได้ จนเป็นเหตุให้เราไม่ไปต่อว่าเขาเพิ่ม สร้างบาปเพิ่ม เพราะบาปคือการสั่งสมกิเลส เมื่อเราไม่สั่งสมกิเลสคือความโกรธ กดข่มมันไว้ ก็ถือว่าเป็นบุญ เป็นกุศลระดับหนึ่งแล้ว

ถ้า…เราสามารถ ใช้วิปัสสนา พิจารณาลงไปถึงที่เกิด จนสามารถทำลายกิเลสได้บางส่วน หรือสามารถฆ่าล้างกิเลสได้ทั้งหมด ก็ถือว่าเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่มาก ได้กุศลมาก เพราะอยู่ในระดับอภัยทาน ซึ่งเป็นทานที่ยอมล้างโทสะ สละเหตุแห่งโทสะ คือรากแห่งความโกรธนั้นออกจากวิญญาณของเรา จึงมีกุศลมาก มีอานิสงส์มาก

แต่ถ้า…เราใช้สมถะข่ม แต่ก็กดไม่อยู่ จึงมีอาการขุ่นใจ รำคาญใจ คิดแค้น อาฆาต จ้องจะเอาผิด เพ่งโทษ เราก็จะสั่งสมกิเลสภายในใจตัวเองเพิ่ม เป็นบาป เป็นอกุศล

แต่ถ้า…เราปล่อยใจไปตามกิเลส โดยไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้ง เราจึงกล่าววาจาแห่งความติดดี ประณามผู้ที่มาแทรกด้วยใจที่เต็มไปด้วยความโกรธ และชวนให้คนอื่นโกรธคนที่มาแทรกอีกด้วย ถ้าผู้แทรกละอายถอยหนีก็จบเรื่องไป แต่ถ้าเขาหน้าด้านหน้าทน ทำเนียนไม่ยอมไป ก็อาจจะบานปลาย จนอาจจะเกิดเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง ลงไม้ลงมือ เรื่องราวใหญ่โต กลายเป็นบาปมาก เพราะเพิ่มกิเลสคนเดียวไม่พอ ยังชวนคนอื่นเพิ่มกิเลสคือความโกรธอีก อกุศลก็มากตามความเลวร้ายที่เกิดนั่นแหละ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าการที่เราไปตำหนิคนที่เข้ามาแทรกนั้นผิดตรงไหน คำตอบก็คือผิดตรงที่มีความโกรธปนเข้าไปด้วย คนเราเมื่อติดดียึดดีแล้วมีความโกรธ จะสามารถคิดทำลายผู้อื่นได้โดยไม่ทันระวังตัว เพราะเห็นว่าตนถูกคนอื่นผิด เพราะมีความยึดดีถือดีบังหน้า เห็นว่าดีแล้วคิดว่าสามารถโกรธได้ ทั้งที่จริงเราก็สามารถที่จะเตือนเขา บอกเขาด้วยใจที่ปกติไม่ต้องมีความโกรธไปปนก็ได้การที่เราโกรธคนที่เขาทำไม่ดี มันก็ยังมีความไม่ดีในตัวเราอยู่นั่นเอง จริงๆแล้วเราก็ไม่ควรจะโกรธใครเลย

ความโกรธยังทำให้เรื่องราวใหญ่โตมากกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งๆที่ในตอนแรกเราโกรธเพราะเราจะได้กินข้าวช้าไป 1 คิว แต่สุดท้ายเราก็ต้องมาทะเลาะเบาะแว้ง ความโกรธมันก็เพิ่มขึ้น แถมยังได้กินข้าวช้าลงไปอีก เต็มไปด้วยการสะสมกิเลส สะสมบาป สะสมอกุศล และเป็นทุกข์

แต่ละเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบเรานี่แหละ คือการปฏิบัติธรรม ทำให้เกิดบุญบาป กุศลอกุศลในชีวิตประจำวัน เป็นการปฏิบัติสมถะวิปัสสนาที่สอดร้อยเข้าไปในชีวิตประจำวัน ในทุกวินาทีของชีวิต โดยไม่ต้องรอไปวัด

การไปวัดเพื่อหาพระหรือครูบาอาจารย์ ก็คือการไปรับฟังคำสั่งสอน ไปร่วมกุศลกับท่านบ้าง ไปตรวจสอบตัวเอง ไปส่งการบ้าน ไปถามคำถาม ไปปรึกษา การเข้าหาครูบาอาจารย์นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำ แต่ไม่ใช่ว่าไปหาท่านแล้วจะได้บุญ เพราะเรื่องบาปบุญ กุศลอกุศลนั้น เราต้องทำเอาเอง ทำกันในชีวิตประจำวันนี่แหละ

– – – – – – – – – – – – – – –

18.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ชาตินี้ ชาติหน้า

September 18, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,606 views 0

ชาตินี้ ชาติหน้า

ชาตินี้ ชาติหน้า

คงจะมีบางครั้ง ที่เรามักจะสงสัย ชาติหน้ามันมีจริงหรือ? แล้วชาติหน้าจะเป็นอย่างไร? หรือมันไม่มีจริง เราเกิดกันมาแค่ครั้งเดียวจริงๆหรือ? เราเกิดมาแล้วต้องใช้ชีวิตให้สุดๆก่อนตายจริงหรือ? แม้ไม่เคยสงสัย แต่หลายคนก็มักจะมีความเชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเชื่อว่าเกิดมาครั้งเดียว หรือชาติหน้ามีจริง ก็ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นอย่างไร มีที่มาอย่างไร แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร ในบทความนี้เราจะมาแบ่งปันความรู้กัน

อดีต…จนถึงปัจจุบัน

ก่อนจะมีชาตินี้ ก็ต้องมีอดีตชาติ หรือชาติก่อน …. คนธรรมดาสามัญอย่างเราจะให้นึกไปถึงชาติก่อนก็คงจะนึกไม่ออก ถึงจะไปถามผู้รู้ ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าเรื่องที่เขาบอกเรามา มันจริงหรือเขาคิดไปเอง การจะรู้ว่าชาติก่อนเราเป็นอย่างไรนั้น ไม่ยากเลย ก็แค่ดูนิสัยในชาตินี้ ดูสังคมสิ่งแวดล้อม ดูผู้คนรอบข้างของเราในชาตินี้

ถ้านิสัยในชาตินี้เราเป็นอย่างไร ชาติก่อนเราก็เป็นอย่างนั้น เหมือนวันนี้เรายังชอบกินไอติม พรุ่งนี้ก็จะยังชอบอยู่ดี วันต่อๆไปก็ยังจะชอบอยู่ดี นิสัยหรือสันดานที่เรามีนี่แหละ คือสิ่งที่แสดงถึงชาติก่อนของเรา สังคมสิ่งแวดล้อมผู้คนรอบข้างนั้นสะท้อนถึงบุญบารมีที่เราเคยสร้างมา เช่นเราอยู่ในสังคมที่พาให้หลงมัวเมาในกิจกรรมอะไรสักอย่าง นั่นก็เพราะเราเคยพากันมัวเมาก่อนแล้ว เหมือนดังที่เราสนุกกับการเที่ยวเล่นวันนี้ อีกไม่นานเราก็จะพยายามหาทางชวนเพื่อนไปเที่ยวเล่นกันอีก เพราะเราเสพติดการเที่ยวเล่น

กรรมที่เราทำจะนำพามาซึ่ง นิสัย เหตุการณ์ ความคิด ปัญญา รูปร่าง หน้าตา ฐานะ ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ถ้าใครรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรมก็ขอให้ลองพิจารณาดูว่าอีกทีว่า เป็นเพราะเราไปทำอะไรมารึเปล่า เราถึงได้เจอเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกข์ ให้ลำบาก ให้เดือดร้อน ทรมาน แตกต่างจากคนอื่นเขาเหลือเกิน

คำว่าอดีตนั้นหมายรวมถึงอดีตที่เราจำไม่ได้ เช่น ในชาติก่อนภพก่อน หรืออดีตเมื่อปีก่อน เดือนก่อน วันก่อน อดีตเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ เมื่อกระทำสิ่งใดแล้วก็กลายเป็นอดีต กลายเป็นกรรม เราจึงต้องมาแก้ไขกันในปัจจุบัน

มองภาพรวม อดีต….ปัจจุบัน….อนาคต

คงจะมีบางครั้งที่เราอยากรู้ว่าตายแล้วเราจะไปไหน ไปสู่อนาคตแบบไหน ก็ลองดูกันว่าที่ผ่านมาในอดีต ตั้งแต่ที่เราเกิดมา เราได้ทำอะไรไว้บ้าง เคยลองสรุปบัญชีกรรม จัดระเบียบกิเลสตัวเองบ้างไหมว่า ที่ผ่านมากิเลสของเราเพิ่มขึ้น หรือกิเลสของเราลดลง เราทำสิ่งที่เป็นกุศลมาก หรือทำอกุศลมากกว่ากันแน่

การทำทานด้วยเงิน ไม่ใช่เหตุปัจจัยที่ส่งผลขนาดที่ว่าทำให้เราได้เกิดในชาติที่ดีภพที่ดี เพราะกรรมยุติธรรมเสมอ เราทำทานไป 1,000 บาท ชาติหน้าเราก็ควรจะได้แค่ประมาณ 1,000 บาท หรืออะไรที่ใกล้เคียงกันไม่ใช่หวังไปว่าจะถูกหวย จะได้ลาภลอย หวังจะให้ไปเกิดในตระกูลร่ำรวยหรือหวังเกินกว่าสิ่งที่ตัวเองได้ทำ

หรือแม้แต่การปฏิบัติ ดังเช่น การนั่งสมาธิ เดินจงกรม สวดมนต์แบบไม่เข้าใจความหมาย ก็ไม่ได้ทำให้บรรลุหรือหลุดพ้นอะไร ถ้าเรายังคงทำแค่ในลักษณะของสมถะ คือการกำหนดจิตไปไว้ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ให้ใจวอกแวก สงบนิ่ง ติดจิต ตบความคิดทิ้ง อย่างดีที่สุดเราก็จะได้ความสงบในตอนนั้น หรืออย่างมากก็เป็นแบบฤาษี ก็เหมาะสมกับกรรมที่ทำมาแล้วนี่ แค่นั่งสมาธิจะไปหวังอะไรกับการบรรลุมรรคผล

แต่สิ่งที่ซ้อนเข้าไปกับการทำกิจกรรมใดๆ ยกตัวอย่างเช่น การทำทาน ก็คือการทำทานนั้นมีผลเพื่อสละกิเลสหรือไม่? ถ้าทำเพื่อความไม่ได้ไม่มี ไม่หวังอะไร ให้เพื่อลดความตระหนี่ ความขี้งกขี้เหนียว ตรงนี้ก็ถือเป็นบุญ และการนั่งสมาธิถ้าใช้การวิปัสสนาเข้ามาร่วมให้เห็นรากของปัญหา เห็นต้นเหตุของกิเลสที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่ แล้วหมั่นพิจารณาจนรู้ความจริงตามความเป็นจริง ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นบุญ

บุญนี้เองคือตัวที่จะมาตัดกับกิเลส เมื่อเราลดกิเลสได้ในวันนี้ วันพรุ่งนี้ก็จะไม่มีกิเลสตัวนั้นๆ จะเดือนหน้า ปีหน้า ชาติหน้าก็จะไม่มีกิเลสตัวนั้นๆมาทำให้ชีวิตต้องลำบากในอนาคต

เมื่อเราได้เข้าใจความจริงในแต่ละการกระทำที่เราได้ทำไปแล้ว ก็จะสามารถคำนวณบัญชีกรรมของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ว่าเราสร้างกุศล อกุศลไปแค่ไหน เราลดกิเลสได้แค่ไหน หรือไม่เคยลดเลยมีแต่สะสมเพิ่ม ยิ่งแก่ยิ่งเฮี้ยน ยิ่งเสพ ยิ่งยึดมั่นถือมั่น ยิ่งอัตตาเยอะ

ปัจจุบัน…ไปสู่อนาคต

การเลือกที่จะคิด พูด ทำ ภายใต้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น จะเป็นตัวตัดสินอนาคตของเรา เช่น มีคนมีตำหนิเรา เรามีสองทางเลือกที่ชัดเจน คือทำกุศล หรืออกุศล ส่วนลีลา ท่าทางที่จะออกไปก็แล้วแต่ใครจะปรุงแต่ง

ในทางกุศล เช่น เราไม่โกรธตอบยินดีรับฟังด้วยใจที่เป็นสุข ถามเขาว่าเราควรจะเริ่มแก้ไขตรงไหนดี ฯลฯ

ในทางอกุศล เช่น โกรธ อาฆาต พยาบาท ผูกโกรธ ไม่เชื่อ ไม่ฟัง เพ่งโทษ ด่าตอบ ทำร้าย ฯลฯ

ทางไปนรกหรือสวรรค์ มันก็อยู่กับปัจจุบันนี่แหละ ถ้าเราไปทางกุศลมันก็ไปสวรรค์ คิดอกุศลมันก็ไปนรก สุขทุกข์มันก็มีให้เห็นอยู่ตรงนี้ ทำกันตรงปัจจุบันนี่แหละ เพราะอดีตมันแก้ไม่ได้ และอนาคตก็คือผลของปัจจุบันอยู่ดี

ในแต่ละวันจะมีเหตุการณ์ให้เราเลือกทำสิ่งที่เป็นกุศลหรืออกุศลตลอด ตั้งแต่ตอนตื่นนอน เราขี้เกียจไหม , เดินทาง เราแย่งเราเบียดคนอื่นไหม , ทำงาน เราเอาเปรียบบริษัทไหม เราแอบอู้งานไหม เราโกรธใคร นินทาใครไหม ,เวลากินอาหาร เราเลือกกินของที่ชอบแต่ไม่มีประโยชน์ หรือกินของที่มีคุณค่าต่อร่างกาย, เรากลับมาบ้านเราพูดดีกับคนในครอบครัวไหม ฯลฯ

ช่วงเวลาเหล่านี้แหละคือช่วงเวลาที่จะตัดสินอนาคต คือช่วงเวลาที่จะปฏิบัติธรรม ปฏิบัติกันไปในชีวิตประจำวันเลย โดยไม่ต้องรอไปวัด ไปทำบุญ ไปนั่งสมาธิ ไปสวดมนต์ เพราะกุศล อกุศล บุญ บาป เกิดได้ทุกวินาทีในชีวิต ผู้ไม่ประมาทพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า ทุกวินาทีเป็นวินาทีแห่งบุญ เราสามารถสร้างนรกสวรรค์ขึ้นมาด้วยตัวเราเองได้ทุกขณะ แม้ครั้งนี้จะพลาดไป ก็ยังมีครั้งหน้า โอกาสหน้า หรือชาติหน้า ถ้าเราไม่ประมาทเราก็พยายามทำกุศลในทุกเหตุการณ์ให้ได้

….คำว่าชาติหน้านั้นหมายรวมไว้ถึงการเกิดของกิเลสครั้งหน้า การเกิดเหตุการณ์ครั้งหน้า หรือชีวิตหน้าด้วย เช่น ถ้าเรายังมีกิเลสที่หลงในรสของไอติม เมื่อเจอไอติมครั้งต่อไปก็ยังต้องมีอาการอยากกินอีก แม้จะรู้สึกเบื่อไปเองก็อย่าเผลอคิดไปว่ากิเลสตาย แต่จริงๆแล้วกิเลสแค่เปลี่ยนไปเสพของอร่อยชนิดอื่นแทนแค่นั้นเอง

ชีวิตหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ให้พฤติกรรมของตัวเองในชาตินี้เป็นตัวพยากรณ์ ไม่ต้องให้ใครมาบอกหรอกว่าจะไปที่ไหน เป็นอย่างไร เรารู้ดีอยู่แก่ใจว่าเราทำอะไรมา เราเบียดเบียนผู้อื่นแค่ไหน หรือสร้างประโยชน์ให้สังคมเท่าไหร่ เราก็รู้ชัดเจนอยู่ในตัวเอง

จริงๆแล้วชาติหน้าก็ไม่ต่างกันกับชาตินี้เท่าไหร่หรอก อะไรที่เรายึดติดมา เราก็ยังยึดติดเหมือนเดิม เหมือนละครเรื่องเก่าที่เปลี่ยนคนแสดงใหม่ เป็นอย่างนี้มาแล้วทุกชาติ ซ้ำไปซ้ำมา วนเวียนไม่มีจบสิ้น หลงโง่มาเกิดแล้วแบกความโง่ไปจนตาย ก็ต้องเรียนรู้กันต่อไปจนกว่าจะเกิดปัญญา จนกว่ากิเลสจะตาย

– – – – – – – – – – – – – – –

17.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

September 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,971 views 0

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

ใช่กิจของสงฆ์หรือไม่?

ถาม: ปัจจุบันมีภิกษุพยายามสร้างประโยชน์ให้สังคมด้วยการกระทำให้เป็นรูปธรรมเช่นการให้ความรู้ญาติโยมในการประอาชีพทางการเกษตร การเป็นผู้นำในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสังคมมีการเดินขบวนเรียกร้องการใช้พื้นที่วัดทำนาเองเพื่อนำเงินเข้าวัด เป็นต้นซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันของญาติโยมบางคนก็ว่าควรทำ บางคนก็ว่าไม่ควรทำคุณดิณห์มีความเห็นอย่างไรเมื่อเอาหลักพระพุทธศาสนามาเป็นตัวตั้งในการวิเคราะห์ขอบคุณล่วงหน้าครับ

ตอบ: เขาทำดี ก็ดีแล้วนี่ครับ 🙂

ขอยกคำตรัสพระพุทธเจ้ามาอ้างอิงก่อนแล้วกันนะ “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักเตือนเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี่เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต”

การมีชีวิตอยู่เพื่อความผาสุกที่แท้จริงนั้น ต้องทำทั้งประโยชน์ตัวเอง คือขัดเกลา เพียรล้างกิเลสในใจตน ประกอบการงานเลี้ยงชีพ งานของพระคือศึกษาธรรมะและช่วยคนให้พ้นทุกข์ ฯลฯ และประโยชน์ท่าน คือ ประโยชน์ทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม คือ กิจกรรมการงานและการให้ความช่วยเหลือเพื่อคลายความทุกข์ ความลำบากของหมู่มิตร สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

เราจะมาเน้นตรง “ประโยชน์ท่าน” เพราะประโยชน์ท่านนี่แหละคือส่วนหนึ่งในการบรรลุธรรม คนที่ปฏิบัติธรรมถูกตรงก็จะมีความเมตตามากขึ้นเมื่อพากเพียรลดกิเลส ยิ่งหมดกิเลสก็ยิ่งเมตตาอยากช่วยคน อยากช่วยชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ในทางเดียวกันก็จะต้องใช้สังคมสิ่งแวดล้อมเป็นตัวขัดเกลากิเลสอัตตาของตัวเองให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป และแม้ท่านเหล่านั้นหมดกิจตนคือการล้างกิเลสแล้ว การช่วยเหลือผองชนก็ยังเป็นหน้าที่ของท่านอยู่ดี เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่อยู่กับสังคม อยู่ในสังคมแต่ไม่ปนไปกับสังคม ไม่ไปเสพกิเลสร่วมกับเขาและยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้

ในบทโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ คือ ให้หยุดทำชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใส

จะสังเกตได้ว่า หยุดชั่ว นั้นมาก่อนทำดี เราต้องหยุดชั่วเสียก่อนจึงจะทำดี ไม่อย่างนั้นก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว ไม่เต็มสักที ถ้าท่านเหล่านั้นมองว่าบ้านเมืองกำลังเกิดสิ่งชั่ว ท่านไปหยุดความชั่วนั้น ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

หรือท่านเห็นว่าหมู่บ้าน สังคม ชุมชนกำลังย่ำแย่ กำลังเป็นทุกข์ เป็นหนี้ การที่ท่านออกมาช่วยพัฒนาชุมชนก็จะช่วยลดความชั่วอันเกิดจากความทุกข์ ที่จะนำมาซึ่งการลักขโมยได้ ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

หรือแม้แต่ท่านหยุดการทะเลาะเบาะแว้งด้วยการเอาภาระมาเป็นของตน ก็อาจจะดีกว่าปล่อยให้ชาวบ้านทะเลาะกัน ด่าว่ากัน ทำร้ายกัน ฆ่ากัน ก็เป็นการหยุดชั่วที่ดีแล้วนี่

เราต้องสังเกตเอาเองว่า ท่านทำเพื่อลาภ ยศ ชื่อเสียง เงินทองหรือไม่ ท่านทำเพื่อตัวเองหรือไม่ ถ้าท่านเข้าไปทำเรื่องทางโลกเพื่อคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง มันก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากนี่

ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละท่านที่จะประมาณว่าทำสิ่งนั้นไปแล้วจะเกิดกุศลมากน้อยเท่าไหร่ เพราะบางทีเหตุการณ์ที่มันจะได้โดยไม่เสียมันไม่มี ต้องยอมเสียบ้าง เพื่อที่จะได้มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์หนึ่งถ้าไม่ทำอะไร จะเกิดอกุศล 20 แต้ม (อกุศลเพราะดูดาย ไม่ทำอะไรทั้งที่ทำได้) แต่ถ้าทำจะได้กุศล 80 แต้ม และอกุศล 40 แต้ม (ทำดี แต่ก็ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อนเพิ่มขึ้น) ….ถ้าเทียบกันแล้วอกุศลมันก็ดูมากกว่าใช่ไหม แต่ผลรวม หรือค่ากุศลสุทธิมันได้กำไร ท่านก็อาจจะตัดสินใจลงทุนทำกิจกรรมนั้นๆก็ได้ ซึ่งเราเองหากไม่เคยฟังเหตุผล ไม่เคยถามท่าน ก็อย่าพึ่งไปตัดสินท่านเลย บางทีท่านประมาณเก่งกว่าเราเยอะ

การประมาณของพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น จะเข้าใจยากเกินกว่าที่คนมีกิเลสหนาจะเข้าใจ เพราะท่านคิดในพื้นฐานของคนที่ขัดเกลากิเลส มีกิเลสน้อย หรือไม่มีกิเลสเลย มันไม่มีทางที่เราจะเข้าใจท่านเหล่านั้นได้เพียงแค่ใช้การคิดวิเคราะห์ไปเอง ทำได้อย่างมากแค่รอดูผลเท่านั้น เพราะจะเข้าไปยุ่งก็เสี่ยงนรกเปล่าๆ หากท่านเป็นพระอลัชชีที่คิดแต่จะหลอกลวงต้มตุ๋นก็รอดไปบ้าง แต่ถ้าท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดี การเพ่งโทษครั้งหนึ่งคงจะพาเราลงนรกไปได้นานข้ามภพข้ามชาติเชียวละ

เราจำเป็นต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า เราเกิดมาเพื่อทำกุศลกรรม ก็คงจะดีถ้าในชีวิตมีทางให้เลือกชัดเจนว่าทางไหนคือดี ทางไหนคือชั่ว แต่ด้วยกรรมที่เราทำมาจะทำให้หนทางสู่ความดีแท้นั้นลึกลับซับซ้อน บางครั้งจำเป็นต้องเสี่ยง บางครั้งก็หลงผิดเห็นชั่วเป็นดี เห็นดีเป็นชั่ว ต้องใช้ปัญญาเท่าที่มีประมาณเอาเองว่าทำอย่างนั้นจะดีไหม ทำอย่างนี้จะดีไหม พระก็คนเหมือนเรานั่นหละ มีกรรมเหมือนเรา มีเหตุที่ต้องตัดสินใจเหมือนเรา เพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งการทำกุศลที่มากกว่า ในบางครั้งอาจจะจำเป็นต้องยอมเสียบ้าง ยอมสละบ้าง ยอมถูกด่าบ้าง แต่เพื่อกุศลที่มากกว่า เพื่อสิ่งดีที่มากกว่า ในบางครั้งเราก็ยังยอมทำเลยใช่ไหม?

พระพุทธเจ้าท่านมีหลักในการใช้สังเกตการปฏิบัติของพระที่ปฏิบัติดีไว้ นั่นคือ เป้าหมายการประพฤติพรหมจรรย์ ๙ ได้แก่..ไม่ใช่เพื่อหลอกลวงคน ไม่ใช่เพื่อเกลี้ยกล่อมคน ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ ไม่ใช่เพื่ออวดตนเป็นเจ้าลัทธิ ไม่ได้อยากให้คนรู้จักเราดังที่เราอวดอ้าง เป็นไปเพื่อความสำรวม เพื่อละกิเลส เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส

ถ้าพระท่านใดยังถือเอาเป้าหมายเหล่านี้เป็นกรอบการดำเนินกิจกรรมใดๆแล้วล่ะก็ ปล่อยท่านทำไปเถอะ อย่าไปยุ่งกับท่านเลย นรกกินหัวเปล่าๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

14.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์