Tag: กิเลส
ทำไมต้องรักเธอ
ทำไมต้องรักเธอ
… กรรมใดหนอที่พาให้เราต้องมาผูกพัน
หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่าทำไมเราจึงต้องชอบคนนี้ ทำไมต้องรักคนนี้ ทำไมจึงต้องยอมให้กับคนนี้ กับคนอื่นเราก็ไม่เคยยอมขนาดนี้ ไม่เคยเผลอพลาดไปขนาดนี้ ต้องเป็นคนนี้เท่านั้นที่เราจะยอมให้ทำกับเราได้ขนาดนี้
เราได้เห็นเหตุแห่งความรักความหลงใหลกันมาแล้วในบทความก่อน ซึ่งแน่นอนว่าคนมีกิเลสก็ต้องพุ่งเข้าไปหาความรักเสมอ แสวงหาคู่หรือแสดงท่าทีพร้อมจะมีคู่เสมอ กิเลสนี่มันจะพยายามหามาเสพให้ได้ ซึ่งก็ได้ขยายกันมามากแล้ว
ในบทความนี้เราจะกล่าวกันในเรื่องของ “กรรมและผลของกรรม” เป็นสิ่งที่ยากจะอธิบาย เป็นเรื่องอจินไตย หลายคนมักจะพบว่าเราไปชอบคนที่เราไม่อยากชอบ เราไปรักคนที่ไม่ควรรัก เราไปหลงกับคนที่ไม่น่าหลง แม้ว่าเขาจะทำไม่ดีกับเราสักเท่าไร จะทิ้งเราไปนานแค่ไหน ทำไมเรายังต้องพลาดพลั้งกลับไปรักเขาทุกที เรามาลองไขรายละเอียดในเรื่องผลกรรมให้พอเห็นภาพกว้างๆกันดูว่าทำไมหนอ ทำไมต้องรักเธอ…
1). กรรมกิเลสในชาตินี้
กรรมนั้นคือการกระทำ ส่วนกรรมที่ไม่ดีนั้นเกิดมาจากอะไร ก็เกิดมาจากการที่เรามีกิเลส กิเลสก็สั่งให้เราไปทำกรรมแบบนั้นแบบนี้ ในหัวข้อก็จะชี้ให้เห็นถึงผลว่าทำไมเราจึงต้องรักต้องหลง จากเหตุแห่งกรรมกิเลสที่เราทำมาเอง
1.1). ทำไมเราจึงต้องรู้สึกชอบเมื่อแรกพบ … เราปรุงแต่งกิเลสไว้มากว่า คู่ในฝันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ พอมาเจอเข้าจริงๆ ก็จะพบว่าใช่เลย ซึ่งมันก็เป็นผลกรรมที่เราปรุงแต่งลักษณะคู่ในฝันตามกิเลสขึ้นมาเอง
1.2). ทำไมเราจึงต้องหลงหัวปักหัวปำ… ผลของการมีกิเลสคืออยากเสพอย่างไม่จบไม่สิ้น ความหลงนั้นเกิดขึ้นเพราะเราเข้าใจว่า เขาจะสามารถบันดาลสุขให้เราเสพได้ตลอดไป เราจึงจมอยู่กับความหลง เป็นผลกรรมที่เราต้องรับเพราะเรามีกิเลส
1.3). ทำไมเราจึงยอมให้เขากลับมาทุกครั้ง … คนที่คบหากันมานั้นก็จะร่วมกันบำรุงบำเรอกิเลสกันมาจนเสพติดรสสุขจากเสพเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เขาทิ้งเราไปมีคนอื่น แต่สุดท้ายเขากลับมาง้อเรา แม้ก่อนหน้านั้นเราจะทำใจแข็ง คิดไปว่าฉันจะไม่มีวันกลับไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังกลับไปจนได้ เหตุนั้นเพราะเรายังติดรสสุขเดิมๆอยู่ เช่นการดูแลเอาใจใส่ ฯลฯ
จะขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งอย่างตรงไปตรงมา คือเรื่องการสมสู่สมมุติว่าเราเคยมีคู่และสมสู่กันจนติดรสสุข ที่นี้เขาทิ้งเราไปแล้วด้วยเหตุอันใดก็ตาม แต่วันหนึ่งเขากลับมา ตอนแรกเราก็ใจแข็งนะ แต่สุดท้ายก็ยอมให้เขาเหมือนเดิม เหมือนกับคำที่เขาว่า “วัวเคยค้า ม้าเคยขี่” , “ถ่านไฟเก่า” ทั้งนี้ที่ยอมเพราะติดรสสุขของการสมสู่ กิเลสเรามาก เราเลยต้องรับผลกรรมจากกิเลสคือต้องยอมเขาไปเรื่อยๆ เพราะลึกๆเราก็ยังอยากเสพเขาอยู่เช่นกัน
และความกลัวเหงาก็เป็นอีกสาเหตุ ความพร่องในใจของคนจนต้องหาใครมาเติมตลอดเวลา มันอาจจะไม่ง่ายนักที่จะหาคนใหม่มาเติมเต็มในทันที ซึ่งถ้าคนเก่ากลับมาก็จะง่ายกว่า แต่ในประเด็นของความเหงาก็ไม่แน่ว่าจะทำให้กลับไปคบเสมอไป เพราะบางครั้งความทุกข์มันมากกว่าความเหงา หลายคนจึงสามารถยอมตัดใจได้แม้ว่าจะต้องทนเหงา ดังนั้นความเหงาจึงเป็นสาเหตุหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมีน้ำหนักค่อนข้างน้อยแต่ก็ยังมีผลอยู่ เพราะความเหงานี่ไม่จำเป็นต้องให้คนเดิมมาสนองเสมอไป อาจจะเป็นคนใหม่ หรือใช้เพื่อน ครอบครัว กิจกรรมใดๆมาสนองความเหงาก็สามารถทำได้
…สรุปในหัวข้อ “กรรมกิเลส” นี้ก็หมายถึงกรรมใหม่ที่ทำกันในชาตินี้ในชีวิตนี้นี่แหละ ไม่ได้เป็นเรื่องซับซ้อนมากมายนัก เพราะมีหลักฐานที่เห็นได้ด้วยตา รับรู้ได้ด้วยใจ เป็นของใหม่ที่มีหลักฐานให้สืบสาวราวเรื่องให้เห็นผลของกรรมที่ทำในชาตินี้
คือถ้าเราขุดค้นกิเลสของเราดีๆ ค้นไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไปที่เหตุแห่งทุกข์แท้ๆ ก็จะสามารถเจอกับกิเลสตัวการที่สร้างกรรมให้เราต้องหลงรัก ปักใจ ไม่ยอมปล่อยยอมวาง แม้จะโดนทำร้ายก็ยังยอมให้เขาอยู่เรื่อยไปได้
2). กรรมเก่า
มาถึงเนื้อหาจริงๆของบทความนี้กันเสียที สิ่งที่เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนยากที่จะขุดค้นหาสาเหตุลงไปได้นั้นคือกรรมเก่า
กรรมเก่าในที่นี้หมายถึงกรรมที่สะสมมาตั้งแต่ชาติก่อนๆ ที่สืบสาวราวเรื่องกันไม่ได้ในชาตินี้ นึกยังไงก็นึกไม่ออกว่าไปทำกรรมนั้นไว้ตอนไหน เราก็จะยกไว้ให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า และกรรมเก่านี่เองเป็นพลังลึกลับที่ผลักดันให้ต้องไปรัก ไปหลง ยอมให้อภัยทุกครั้งแม้เขาจะทำผิด โดยที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับกิเลสที่มีในชาตินี้เลยก็เป็นได้
ผลของกรรมหรือวิบากกรรมนั้น เป็นผลจากที่เราเคยไปทำกรรมไว้ในชาติใดชาติหนึ่ง เช่นเดียวกับที่เรามีกรรมจากกิเลสในชาตินี้ ผลกรรมก็จะส่งผลในชาตินี้และชาติต่อไปอีกเป็นส่วนๆ ดังนั้นในชาตินี้เราก็ต้องรับวิบากกรรมของเราที่เคยทำมาในชาติก่อนๆด้วยเช่นกัน วิบากกรรมนี้อาจจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้ายก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราทำกรรมด้านใดมามาก
2.1). ทำไมเราจึงต้องรู้สึกชอบเมื่อแรกพบ …วิบากกรรมเก่านั้นจะส่งผลเหมือนแม่เหล็ก ดึงดูดสิ่งที่คู่ควรกับกรรมของเรามาให้เราเจอ เราจะไม่สามารถผลักไสหรือป้องกันได้ ต้องรับผลอย่างเดียวเท่านั้น ดังเช่นอาการหลงชอบตั้งแต่แรกเจอโดยไม่มีเหตุผล มีความรู้สึกแปลกประหลาดต่างจากคนอื่น
เราอาจจะเคยพบคนหน้าตาดี นิสัยดี ฐานะดี ฯลฯ แต่กลับรู้สึกไม่เหมือนพบกับคนคนนี้ วิบากกรรมจะยิงผลเข้ามาที่ใจตรงๆ โดยไม่สามารถป้องกันได้ด้วยสติ เพราะวิบากกรรมมันจะมาเหนือเมฆเสมอ มาเหนือกว่ากำลังสติปัญญาของเราเสมอ มันจะหลงของมันไปเองตั้งแต่แรก ส่วนจะสามารถรู้ตัวทีหลังได้นั้นก็เป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าตราบใดที่วิบากกรรมยังส่งผลไม่หมด ก็จะไม่สามารถหนีได้ จะต้องพบกับความรักความหลงที่ไม่มีเหตุผลแบบนี้จนกว่าผลของกรรมจะสิ้นสุด
ยิ่งคนที่ปฏิบัติธรรมมาก มีภูมิธรรมสูง เวลาวิบากกรรมขั่วมาก็จะรุนแรงกว่าชาวบ้านทั่วไป เพราะกรรมชั่วนั้นมีหน้าที่หนึ่งคือกระแทกให้เกิดทุกข์ เมื่อเกิดทุกข์จึงค้นหาเหตุแห่งทุกข์ จนศึกษาการดับทุกข์ และดับทุกข์ด้วยวิถีทางดับทุกข์ที่ถูกตรง ดังนั้นคนที่มีกำลังสติมากๆ ผลกรรมที่บางเบาอาจจะไม่สามารถทะลุกำแพงสติปัญญาเข้ามาทำให้ทุกข์ได้ ดังนั้นเมื่อได้รับก็จะได้รับผลกรรมก้อนใหญ่ที่มีความรุนแรงมาก ทำให้กระวนกระวายมาก ทำให้หลงมากและสิ่งที่เกิดจะทะลุกำแพงสติและปัญญาที่มีทั้งหมด
วิบากกรรมจะทำให้นักปราชญ์รู้สึกหลงรักหลงชอบไปไม่ต่างจากความรู้สึกของคนธรรมดาทั่วไป แต่แน่นอนว่ามีวิบากกรรมชั่วก็ต้องมีวิบากกรรมดี คนที่ทำดีมามากก็จะสามารถหลุดจากสภาพหลงได้ในเวลาไม่นานนัก อาจจะหลงชอบอยู่สักพักหนึ่งแล้วอยู่ๆก็หลุดจากอาการเหล่านั้น นั่นเพราะผลกรรมชั่วได้ถูกชดใช้จนหมด คือถูกทำให้หลงรักแล้ว และเมื่อหมดวิบากกรรมชั่ว วิบากกรรมดีจึงส่งผลได้คือทำให้มีสติ ทำให้ตาสว่าง ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาเอง จนปล่อยจนคลายได้
2.2). ทำไมเราจึงต้องหลงหัวปักหัวปำ…กรณีของคนที่มีวิบากกรรมมากก็จะต้องผูกพันนานหน่อย จะไม่หลุดง่ายๆ จะหลงมัวเมาหัวปักหัวปำอยู่แบบนั้น สติปัญญาอะไรไม่ต้องถามถึง มันไม่มีหรอกเพราะวิบากกรรมมันจะแรงกว่าเสมอ ฝึกมาดีแค่ไหนก็จะกลายเป็นคนที่หลงในความรักคนหนึ่ง แทบไม่ต้องพูดถึงคนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงเลย มัวเมาจากวิบากกรรมตัวเองแล้วยังต้องเมากิเลสตัวเองซ้อนเข้าไปอีก กลายเป็นหลงหัวปักหัวปำ
ถึงเขาจะทำไม่ดีกับเรา เราก็จะไม่ถือโทษนะ จริงๆมันอาจจะดูว่างี่เง่า เอาแต่ใจ ไม่มีเหตุผลในสายตาของคนอื่น แต่ในความเข้าใจของเรามันจะเข้าใจเขาได้ มันจะลำเอียงเพราะหลงรักเขา ที่ไปหลงรักเขามันก็มีพลังแห่งวิบากกรรมมาดล มันดลให้รักให้ปักมั่น เหมือนคนหูหนวกตาบอด ใครบอกก็ไม่ฟังเหมือนโดนมนต์สะกดอะไรสักอย่าง
แม้ว่าจะมีคนบอกว่าเขาหรือเธอคนนั้นไม่น่าทำให้หลงได้ขนาดนั้น ไม่เหมาะสม ไม่น่าคบหา หรือคนอื่นบอกว่าถ้าเป็นเขาก็ไม่คบหรอก เราได้ยินเขาพูดนะ เข้าใจด้วย รับฟังอย่างมีสติด้วย แต่ในใจเราจะไม่รู้สึกตามเขา เวลาฟังมันเข้าใจเหตุผลได้ทุกอย่าง แต่มันทำไม่ได้ มันฝืนไม่ได้ ผิดชอบชั่วดีรู้หมดทุกอย่างแต่ต้านทานอะไรไม่ได้เลย
นี้เองคือพลังของกรรมและผลของกรรม เมื่อเราทำกรรมอะไรไว้แล้วมันจะให้ผลเหมือนกับจับเราไปขึงแล้วยิงเป้าโดยที่ไม่อาจจะขัดขืน สั่งให้เราหลงงมงาย ให้เราจมอยู่กับทุกข์ใจแสนสาหัส เวลาที่คนต้องอยู่แบบไม่อยากเสพแต่หนีไม่ได้นี่มันทุกข์นะ ตัวเองก็ไม่ได้อยากรักอยากหลงสักเท่าไร แต่มันหนีไม่ได้ มันออกไม่ได้ มันไม่มีปัญญา มันจะตื้อไปหมดสุดท้ายก็มาหลงเขาเหมือนเดิมแม้จะทุกข์แค่ไหนก็ต้องวนกลับมาโดนอยู่ดี
วิธีเดียวที่จะพ้นวิบากกรรมชั่วที่ทำให้ต้องทนทุกข์อยู่คือการทำกรรมดีช่วย แน่นอนว่าผลกรรมชั่วก็ต้องรับ แต่กรรมดีก็ต้องรับเช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรทำกรรมดีให้มากเพื่อไปเจือจางผลกรรมชั่วนั้นเสีย เพื่อให้เราไม่ต้องทนรับกรรมชั่วต่อเนื่องกันนานๆ ให้พอมีกรรมดีได้ส่งผลให้เกิดปัญญา ให้เห็นความจริง ให้โผล่ขึ้นมาหายใจได้บ้างหลังจากที่ถูกกรรมชั่วลากลงน้ำจนทุกข์ทรมาน
2.3). ทำไมเราจึงยอมให้เขากลับมาทุกครั้ง … คนที่มีกรรมผูกผันมาก แม้จะพยายามสะบัดก็จะสะบัดไม่หลุด หนีไม่ได้ ถึงจะพยายามหนีก็ต้องกลับมาหลงเหมือนเดิม ถึงเราจะยอมใจแข็งตัดใจทิ้งความสัมพันธ์นี้ไป สุดท้ายวิบากกรรมก็จะดลให้เขามาง้อ ให้เขามาแสดงอาการให้เรารู้ว่าเราสำคัญ คำพูดมากมายที่ตรงกับใจซึ่งทำให้เราใจอ่อน หรือไม่ก็เป็นเราที่วนกลับไปเสียเอง ยอมรับกรรมนั้นกลับมาซ้ำเติมเราอีกครั้งหนึ่ง
แม้เราจะไม่ได้รู้สึกอยากเสพสิ่งใดในตัวเขา แต่ก็จะมีเหตุผลบางอย่างที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดูดดึงเขากลับมาไว้กับเราอีกครั้ง จริงๆแล้วเป็นการลากกลับมาของวิบากกรรม ผลของกรรมนั้นหากยังไม่ได้ถูกชดใช้จนหมด ก็จะไม่ปล่อยให้เราให้เราได้เป็นอิสสะ เรายังจะต้องจมและวนเวียนอยู่กับเขาหรือเธอซึ่งก็ไม่รู้ไปหลงใหลอะไรมากมาย หาเหตุผลก็ไม่ค่อยเจอ ข้อดีก็มีให้เห็นไม่มาก ก็เสียก็มากมาย แต่เรากลับไปขยายเนื้อความในข้อดีแล้วมักจะทำเป็นมองไม่เห็นข้อเสียนั้นเสียเอง
วิบากกรรมมันพาให้หลงไปแบบนี้ อะไรก็ป้องกันไม่อยู่ ได้แต่จำยอมรับผลกรรมด้วยใจที่เป็นสุข แน่นอนว่าในภาษานั้นพอจะยอมรับได้ แต่ในความจริงที่เกิดขึ้นมันจะยอมรับไม่ได้ ทำใจให้เป็นสุขไม่ได้ เพราะผลกรรมนั้นก็ดลให้เกิดความหลงผิด จนเกิดความทุกข์ ลืมธรรมะ ลืมเครื่องมือทุกอย่างที่เคยใช้เพื่อกำจัดทุกข์เหมือนกับคนไม่เคยฝึกปฏิบัติใจมาเลย
วิบากกรรมนั้นยังมีช่วงเวลาของการส่งผล บางคนเลิกกับคนรักที่เคยหลงยึดไว้หลายปีแล้ว แม้ว่าจะหันหน้าปฏิบัติธรรม หันมาทำดี หันมาสร้างกุศล แต่สุดท้ายกลับถูกกรรมดึงกลับไปให้ต้องไปมีคู่ ตอนแรกมันเหมือนจะหนีออกมาได้นะ มาพบธรรมะ มีกัลยาณมิตร เจอครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงแล้ว เห็นทางพ้นทุกข์ก็แล้ว แต่ยังถูกวิบากกรรมลากกลับไปให้หลงมัวเมาอีก
ตอนถูกลากกลับไปอีกทีมันจะลืมธรรมะหมดเลยนะ ลืมคำสอนครูบาอาจารย์ ลืมกัลยาณมิตร ลืมศีล ลืมสติ ลืมปัญญา หันกลับไปหลงแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ดีไม่ดีจะยอมลดศีลทิ้งธรรมไปเลย ยอมกลับไปมีรักดีกว่ามีธรรม
ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร? นั่นก็เพราะเมื่อคนหันมาทำดี ทำกุศลกรรมเข้ามากๆ ศึกษาธรรมะมากๆ ผลกรรมในด้านดีจะส่งผลและดึงวิบากกรรมชั่วเข้ามา กล่าวกันแบบนี้อาจจะงง ว่าเอ๊ะ!ทำไมทำกรรมดีแล้วชั่วจึงมา นั่นเพราะว่าเวลาเราทำดีไปมากเข้า กรรมดีก็จะดึงวิบากกรรมชั่วมาให้เกิดผลที่ดีขึ้น คือดึงวิบากกรรมชั่วมาใช้ให้มันหมดไปอีกเรื่องหนึ่งชีวิตจะได้ดีขึ้น เมื่อวิบากกรรมชั่วนั้นส่งผลขึ้นมาก็จะทำให้หน้ามืดตามัว แม้ว่าจะอยู่กลางวงธรรม ห้อมล้อมด้วยมิตรสหายและครูบาอาจารย์ที่ถูกตรง แต่ก็สามารถหลุดออกจากวงโคจรไปได้เช่นกัน เพราะวิบากกรรมนั้นลากออกไปให้ได้ทำภารกิจ คือไปชดใช้กรรม
ถ้าถามว่าต้องใช้วิบากกรรมถึงไหนก็ยากจะตอบได้ เพียงแค่เข้าใจได้ว่าใช้เท่าที่ควรจะใช้ แต่มันจะไม่มากกว่าที่เราทำมาแน่นอน เมื่อใช้วิบากกรรมหมดก็จะรู้เอง มันจะหายโง่ มันจะมีเหตุการณ์ที่มาดลให้เกิดปัญญาเอง
แต่ทีนี้มันจะมีโอกาสพลาดอยู่ตรงที่ว่าคนดีที่กุศลกรรมนั้นลากอกุศลกรรมมาแล้ว ไม่ได้มีแค่ผลของกรรมอย่างเดียว ยังมีกิเลสรวมอยู่ด้วย สุดท้ายคนดีที่ทำดีมากๆแต่ล้างกิเลสไม่เป็นก็จะต้องจมไปกับชะตากรรม ต้องวนเวียนมีคู่ แต่งงาน มีลูก เลี้ยงลูก แบกภาระมากมายสะสมทุกข์และกรรมชั่วเพิ่มไปอีกชาติหนึ่ง
ซึ่งก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้เป็นธรรมดาของโลก จะสังเกตว่าคนทำดีมากๆมักจะได้รับผลร้ายแปลกๆ มักจะได้ยินว่าคนดีไม่น่าได้รับสิ่งร้าย ไม่น่าตายไม่ดีเลย จริงๆแล้วสิ่งร้ายนั้นไม่ได้เกิดมาจากการทำดี แต่เกิดจากกรรมชั่ว จึงส่งผลเป็นสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิต สิ่งที่ไม่ดีนั้นเกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่ยกตัวอย่างมาในข้างต้นคือมาเพื่อกระแทกให้เห็นกรรมชั่วที่ตัวเองทำไว้ จะได้ทำดีให้มากขึ้น หรือในกรณีคนดีบางคนก็เพียงแค่ตายใช้กรรมเพื่อเปลี่ยนภพไปสู่ภพที่ดีกว่า เช่นชาตินี้อาจจะเป็นคนจนมีภาระมาก เมื่อทำดีมากๆก็หมดกรรม ถูกทำให้ตายและเกิดใหม่เป็นคนที่พร้อมด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการทำดีมากขึ้นก็เป็นได้
ในกรณีเดียวกันที่คนทำดีเจอสิ่งไม่ดีนั้นเพราะวิบากกรรมลากสิ่งชั่วมาให้เรียนรู้ แต่ทีนี้คนดีส่วนมากแม้จะมีความดีมากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีปัญญามากพอจะผ่านเรื่องเลวร้ายนั้นได้ บางคนก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับอกุศลกรรมที่ถูกดึงเข้ามา นั่นเพราะเขาไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรง ไม่มีกัลยาณมิตร ไม่มีธรรมที่จะพาให้ผ่านเรื่องเลวร้ายเหล่านั้นได้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าการที่จะก้าวเข้าสู่วิธีปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ หรือก่อนจะเข้าสัมมาอริยมรรคได้นั้นจะต้องพบกับกัลยาณมิตรเสียก่อน มรรคนั้นเหมือนกับดวงอาทิตย์แต่ก่อนอาทิตย์จะขึ้นเราจะต้องเห็นแสงอาทิตย์ก่อน เห็นแสงเงินแสงท่องที่ส่องมาก่อน คือต้องคบหาสัตบุรุษหรือมีกัลยาณมิตรที่รู้สัจจะแท้สู่การพ้นทุกข์เสียก่อน และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อีกว่า มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีเป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของการพ้นทุกข์
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเก่งกาจยิ่งใหญ่มาจากไหนก็หนีพลังของวิบากกรรมไม่พ้น หนีสิ่งที่ตัวเองเคยทำมาไม่พ้น เรายังคงต้องรับผลกรรมที่เราเคยทำมานั้นอย่างหลบเลี่ยงไม่ได้ แต่หากเราได้คบหากับมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี เขาเหล่านั้นก็จะพาเราสร้างกรรมใหม่ เป็นกรรมดีที่พาให้เจริญเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่พอจะเจือจางพลังแห่งวิบากกรรมชั่วให้ส่งผลเบาบางลงได้บ้าง
เหมือนกับเราผสมน้ำเปล่าใส่น้ำหวาน มวลของน้ำหวานยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่ถ้าเรากินน้ำที่ผสมแล้วก็จะไม่รู้สึกหวานมากเหมือนกินน้ำหวานล้วนๆ วิบากกรรมดีและชั่วก็เช่นกัน แม้เราจะไม่สามารถทำให้หมดไปได้ แต่สามารถทำให้วิบากกรรมเหล่านั้นเจือจางได้ และทำให้เราสามารถชดใช้กรรมได้ในขีดที่ไม่ทุกข์มากนัก จะดีกว่าไหมหากเราสามารถเลือกที่จะผ่อนหนักเป็นเบาได้ เหล่านี้คือกรรมใหม่ที่เราเลือกได้ ชีวิตลิขิตเองได้ โดยการทำกรรมใหม่ซึ่งมีคุณค่ากว่าการจมอยู่กับกรรมเก่า
3). เราทำกรรมอะไรมาจึงต้องมาหลงมัวเมากันขนาดนี้
กว่าจะมาถึงชาตินี้เราเวียนว่ายตายเกิดกันมาหลายภพหลายชาติ เป็นคนดีคนเลวมามากมาย มีคู่มาก็มาก แม้ว่าชาตินี้จะไม่อยากมีคู่ก็ตาม วิบากกรรมก็จะดลให้อยากมีเพราะจริงๆเรามีสะสมมาหลายชาตินับไม่ถ้วน กรรมที่เคยผูกพันกันในแบบสามีภรรยาจึงถูกสร้างขึ้นมามากมาย ฝังลึกลงไปในจิตวิญญาณ
เมื่อเคยมีคู่มาหลายชาติ ก็ต้องมารับผลกรรมจากการมีคู่ที่เคยทำมาด้วย ไม่ใช่ว่าจะแค่ตัดใจแล้วหนีมันทำไม่ได้ วิบากกรรมจะดลให้หลงไปมีคู่เองเมื่อถึงเวลาอันควร ส่วนจะมากน้อยเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับว่าเราสะสมกรรมแห่งการมีคู่มากมากเท่านั้น นี่ยังไม่รวมวิบากกรรมจากการไปจีบเขา ไปหักอกเขา ไปทิ้งเขานะ มันต้องรับทั้งหมด ดังนั้นเราเกิดมาก็จะเจอลีลาทุกข์จากเรื่องคู่ต่างกันเพราะทำหลายรูปแบบ
ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงบางคนหลงไปว่าฉันมีคนมาจีบเยอะ ฉันมีแฟนหลายคน ฉันมีเสน่ห์ ก็เมาโลกธรรมหลงไปบริหารเสน่ห์คุยกับคนนั้น เล่นหูเล่นตากับคนนี้ ปั่นหัวคนโน้น สารพัดลีลาที่จะใช้ยั่วคนอื่นไปทั่ว แม้แต่การมีแฟนหลายคนก็อย่าหลงดีใจไป ทั้งหมดนั้นเราจะต้องรับแน่นอน เราไปเป็นสิ่งที่กระตุ้นกิเลสให้ใคร เราจะต้องโดนเอาคืนในชาติใดชาติหนึ่งแน่นอน
เช่น ตายแล้วมาเกิดในร่างผู้ชาย พอโตได้ที่ถึงวัยกิเลสกำเริบก็พยายามจีบเขาไปทั่ว แต่ก็ทำยังไงก็โดนเขาหักอก โดนเขายั่วแต่ไม่ยอม โดนเขาทิ้งก็ยังหลงมัวเมาตื้อเขาอยู่ ต้องทนทุกข์อยู่แบบนั้น นี่ก็เกิดจากกรรมที่ทำมานั่นเอง
คนที่ไม่ชัดเจนเรื่องกรรม ไม่เชื่อในกรรมและผลของกรรม ก็จะสะสมกรรมชั่วไปเรื่อยๆ แล้วก็วนเวียนรับกรรมชั่วทุกข์ทรมานแสนสาหัสจนหันมาทำดีจนได้รับผลกรรมที่ดี เกิดมามีหน้าตาดีแต่แล้วก็เลือกทำกรรมชั่วไปทั่ว ก็ต้องวนมารับวิบากกรรมชั่วแบบนี้เรื่อยไป คนก็วนเวียนในวัฏสงสารแบบนี้ ทำดีทำชั่วสลับกันไปแบบนี้ แล้วก็ต้องมาคอยรับผลกรรมชั่วจนทุกข์ทรมานแบบนี้ มันเหนื่อยไหมล่ะ
4). การพาตนให้รอดพ้นกรรมเก่า
คนที่กิเลสหนามักจะต้องเวียนกลับไปเจอกับทุกข์เช่นนี้ เพราะยังมีเชื้อกิเลสเป็นตัวดูดดึง แม้จะอยู่ในกลุ่มมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี มีครูบาอาจารย์ที่สอนอย่างถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ ลดกิเลสได้จริง มีปัญญาจริง ถึงจะพยายามปฏิบัติจนมีความสงบ รูปสวย มีคนนับหน้าถือตา เป็นดังพ่อพระแม่พระ แต่สุดท้ายก็จะโดนวิบากกรรมลากกลับไปให้หลงรัก ให้มีคู่ ดังที่เห็นได้ทั่วไปในสังคมว่า คนที่ดีแสนดีแต่ทำไมเวียนกลับไปเสื่อมจากศีลธรรม
การที่เสื่อมจากศีลธรรมนั้นเพราะว่าแท้จริงแล้วไม่เคยมีธรรมนั้นจริงๆในตนเองต่างหาก ไม่มีปัญญาในตน ไม่มีสภาพรู้แจ้งกิเลสในตน ดังนั้นจึงมีกิเลสเป็นไส้ศึกทำให้ต้องแพ้พ่ายเมื่อผลกรรมยกทัพมาตี ถ้าเราไม่ใช่ของจริงถึงแม้จะอยู่ในหมู่คนดีก็จะต้องโดนพรากโดนจับแยกออกไปให้รับทุกข์
แต่คนที่มีสภาพรู้แจ้งกิเลสในเรื่องคู่จะต่างออกไป เพราะเข้าใจรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ทั้งหมดในเรื่องคู่ จึงไม่มีวิบากกรรมใดที่จะสามารถมากระแทกกระทั้นให้สละความโสดหรือไปหลงรักใครได้ เพราะเข้าสู่ภาวะของความเที่ยงในวิญญาณว่าไม่มีคู่นี่มันสุขที่สุดแล้ว
แต่ถึงกระนั้นก็ตามแม้ว่าจะเป็นผู้มีปัญญารู้แจ้งในกิเลส เขาเหล่านั้นก็ไม่ได้ปัญญามาด้วยความบังเอิญ แต่ได้มาจากการเผชิญกับความหลง ความรัก เรียนรู้สุขทุกข์ ล้มลุกคลุกคลานกันมามากมายเช่นเดียวกับคนกิเลสหนานั่นแหละ แต่สิ่งที่ทำให้เขาผ่านมาได้และเพียรพยายามจนไม่ต้องวนกลับไปทุกข์อีก คือการคบหาสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมได้ฟังสัจธรรมที่บริบูรณ์ เกิดศรัทธาและปฏิบัติตามจนพ้นทุกข์ได้นั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
15.1.2558
การปฏิบัติศีล (สมาธิ ปัญญา)
การปฏิบัติศีล(สมาธิ ปัญญา)
การปฏิบัติธรรมเพื่อการพ้นทุกข์นั้นเราจะต้องปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา โดยไม่โต่งไปในด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป โดยปฏิบัติให้พอเหมาะกับกิเลสนั้นๆ
ศีล เหมือนดังเข็มทิศที่จะบอกว่าทิศทางที่เรากำลังจะไปนั้นต้องเดินไปทางด้านไหนเรากำลังมาถูกทางหรือผิดทาง
สมาธิ เหมือนดังกำลังที่จะพาให้เราปฏิบัติศีลไปจนตลอดรอดฝั่ง ให้เรามีความเพียรพยายามล้างกิเลสได้อย่างต่อเนื่อง
ปัญญา นั้นเหมือนดังเครื่องมือมีที่จะนำไปทำลายกิเลส เมื่อเราสามารถชำระกิเลสได้เท่าไหร่เราก็จะได้ปัญญาที่เป็นผลมากเท่านั้น
ในตอนที่เราเริ่มปฏิบัตินั้นเราจะเต็มไปด้วยกิเลส แต่เมื่อเราปฏิบัติศีล อย่างมีสมาธิ จนเกิดปัญญารู้แจ้งทำลายกิเลส ปัญญาเกิดกิเลสก็หาย แต่ปัญญาไม่หายไปไหนเพราะสุดท้ายจะได้ปัญญาที่เป็นผลจากการทำลายกิเลส เป็นจิตใหม่ที่ประกอบไปด้วยปัญญา ไม่เหมือนจิตตอนที่เริ่มปฏิบัติซึ่งตอนนั้นยังไม่มีปัญญา
1).มรรค
ในระหว่างที่เราถือศีล เพื่อปฏิบัติธรรม เราจะต้องใช้ปัญญาเท่าที่เรามีขุดกิเลส หากิเลส ทำลายกิเลสไปเรื่อยๆตามศีลที่เราได้ตั้งไว้ เช่น เราตั้งศีลว่าจะลดกาแฟ เราก็ใช้ปัญญาของเรานี่แหละพิจารณาโทษของกาแฟ ด้วยสมาธิ ด้วยความตั้งมั่น มีขันติ อดทนต่อความอยากกาแฟ ดำรงสภาพของสมาธิให้นานเท่าที่จะนานได้เพื่อพิจารณาธรรมต่างๆ
เพราะเมื่อกำลังสมาธิหรือพลังจิตหมด เราจะหมดแรงต้านทานกิเลสหรือทนความอยากกินกาแฟไม่ไหว ก็กลับไปกินบ้าง พอพักแล้วมีกำลังใหม่ก็อดทนใหม่ ใช้ปัญญากะเทาะกิเลสต่อไปเรื่อยๆ จะใช้พลังสมถะเข้าช่วยเพิ่มกำลังบ้างก็ได้ ซึ่งจะทำให้ช่วงของการละเว้นกาแฟนั้นยาวนานขึ้น มีเวลาให้เราเห็นทุกข์จากความอยากและพิจารณาความอยากนั้นมากขึ้น
การปฏิบัตินี้เองเรียกว่ามรรค หรือทางเดิน ซึ่งการจะเดินไปในทางสายกลางได้อย่างไม่หลงไปซ้ายหรือไปขวานั้น ต้องพยายามละเว้นการกลับไปกินกาแฟ และประมาณตัวเองไม่ให้รู้สึกทรมานจนเกินไปเมื่อความอยากกาแฟเกินจุดที่จะกดข่มไหว ซึ่งในระยะที่ปฏิบัตินั้นจะเดินปัดซ้ายขวาไปมาระหว่างทางโต่งสองด้านอยู่อย่างนี้ แต่เมื่อเจริญขึ้นจะเริ่มนิ่งขึ้น จะเดินตรงขึ้น
เราไม่สามารถเข้าใจสัมมาอริยมรรคได้เพียงแค่การคิดหรือท่องจำ เพราะถึงแม้ว่าจะรู้ดีเพียงใดแต่ในขณะที่เรายังมีกิเลสเราจะไม่สามารถเดินตามมรรคได้สมบูรณ์นัก ซึ่งก็ต้องปฏิบัติละเว้นทางโต่งสองด้านและใช้หลักสัมมาอริยมรรคเป็นตัวยึดอาศัยบนเส้นทางแห่งศีลนั้นเอง
2). ผล
ในระหว่างที่ฝึกปฏิบัติ เราจะได้ผลเป็นระยะๆ มรรคผลจะเกิดขึ้นทีละนิดละหน่อย ปัญญาจะเจริญขึ้นเป็นลำดับ เพราะการปฏิบัติธรรมของพุทธนั้นเป็นไปตามลำดับ ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมในทันที
เราจำเป็นต้องปฏิบัติจนเห็นผลเจริญอย่างเป็นลำดับในจิตวิญญาณ ให้รู้ว่าวันนี้เราได้ผลเจริญขึ้นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนเราเห็นร้านกาแฟแล้วต้องแวะทุกทีเลยนะ แต่เดี๋ยวนี้สัปดาห์หนึ่งถึงจะแวะ หรือไม่ก็แต่ก่อนเราต้องกินกาแฟทุกเช้าเลยนะแต่เดี๋ยวนี้ไม่กินก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์ ไม่รู้สึกอยาก และไม่ได้รู้สึกว่ากาแฟจำเป็นอีกต่อไป
การที่เราปฏิบัติศีลอย่างตั้งมั่นจะทำให้เราได้รับปัญญาที่เป็นผลโดยลำดับ และปัญญาเหล่านี้เองที่จะทำให้เราสามารถปฏิบัติศีลที่สูงขึ้น หรืออธิศีลในส่วนย่อยของศีลที่เราตั้งไว้ได้ ยกตัวอย่างว่าเราสามารถลดกาแฟที่กินต่อวันจากสองแก้วเหลือหนึ่งแก้วเพราะเรามีปัญญารู้ว่ากินสองแก้วต่อวันไม่ดี อยากกินไปก็ทุกข์ ฯลฯ เมื่อปฏิบัติศีลจนได้ปัญญาเป็นผล ปัญญาที่เป็นผลเหล่านั้นจะเป็นฐานให้เราขยับขึ้นไปในระดับลดกาแฟต่อสัปดาห์ หรือเลิกกาแฟได้ง่ายขึ้น
เราจำเป็นต้องใช้ผลเจริญของปัญญาที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติศีลนี่แหละเป็นฐานให้เราขยับฐานการละเว้นต่อไป แม้ว่าเราจะไม่สามารถเลิกกาแฟ ชำระความอยากได้ทันที หรือไม่สามารถดับความอยากกินจนสิ้นเกลี้ยง แต่การที่เราสามารถถือศีลที่สูงขึ้น ยากขึ้น นั่นหมายความว่าเราสามารถที่จะทนการบีบคั้นให้เห็นตัวกิเลสได้ดีขึ้น ยิ่งถือศีลที่ยากมากเท่าไหร่ก็จะสามารถเห็นกิเลสที่แอบหลบซ่อนอยู่ได้มากเท่านั้น
ก). ไตรสิกขากับกิเลสสามภพ
ความจริงจังในการปฏิบัติธรรมไม่ได้หมายความว่าเราควรจะตั้งศีลเลิกตั้งแต่แรกแล้วยึดมั่นถือมั่นไว้ แบบนั้นอาจจะทำให้ทรมานจนโต่งไปด้านอัตตา จริงอยู่ที่ว่าเป้าของเราคือเลิกกาแฟ แต่เราควรตั้งใจลด ละ เลิกไปตามลำดับเพื่อเป็นไปตามหลักการปฏิบัติไตรสิกขา คือการเรียนรู้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา นั่นก็คือการพัฒนาระดับศีล สมาธิ ปัญญา จากการ ลด ละ เลิกไปตามลำดับนี่เอง
ทั้งนี้การทำไปตามลำดับก็เพื่อให้เราได้เรียนรู้ความหยาบ กลาง ไปจนถึงละเอียดของกิเลสชนิดนั้นๆ กิเลสนั้นมีสภาพอยู่สามภพ คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ การที่เราถือศีลที่ยากขึ้นไปเรื่อยๆจะค่อยๆทำให้เห็นกิเลสที่ซ่อนอยู่ในแต่ละภพชัดเจนขึ้น เมื่อเห็นกิเลสจึงจะสามารถใช้สติปัญญาทำลายกิเลสได้ และศีลนี้เองคือสิ่งที่ควรประมาณให้เหมาะกับฐานะของตน
หากเรายังอยู่ในกามภพ คือสภาพที่เรายังไปกินกาแฟอยู่ เราก็ตั้งศีล ลด ละ เลิกกาแฟไปตามลำดับจนสามารถเลิกได้เด็ดขาดแล้ว จึงตั้งศีลในระดับของรูปภพ
สภาพของรูปภพคือยังมีความอยากกาแฟให้เห็นอยู่ มีความรู้สึกว่ายังอยากกินอยู่แต่ไม่กิน พอเข้ารูปภพจะต้องตั้งศีลที่ยากขึ้นอีกคือละเว้นความอยากกินกาแฟ แม้ความอยากกินกาแฟเกิดก็ผิดศีล เพราะความอยากที่เกิดเพียงในใจก็สามารถสร้างมโนกรรมได้แล้ว
เมื่อละรูปภพได้แล้ว เห็นกาแฟก็ไม่อยากกินเหมือนก่อนแล้ว ก็จะเข้าอรูปภพ หมายถึงสภาพที่ไม่สามารถเห็นกิเลสเป็นรูปได้อีกต่อไป ไม่มีความคิดว่าอยากกิน แต่เห็นกาแฟแล้วก็ยังไม่สบายใจ ยังแอบมอง ยังแอบสนใจ ยังรู้สึกดี มีคนจะซื้อมาฝากแม้จะปฏิเสธแต่ก็ยังแอบเสียดายอยู่ลึกๆ มีอาการที่ร่างกายเกิดขึ้นมาฟ้องบ้าง เช่นกลืนน้ำลาย น้ำลายไหล เราคิดว่าใจเรามันไม่อยากแล้วนะ แต่จิตใต้สำนึกมันยังอยากอยู่ มันยังมีอาการอยู่ ถ้าเข้าแบบนี้ก็ต้องตั้งศีลละเอียดขึ้น คือทุกอาการสั่นไหวของกายและจิตที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะกาแฟ ต้องละเว้นและทำลายกิเลสละเอียดที่แอบซ่อนนี้ให้ได้
3).มรรคผล
ถ้าเราตั้งศีลว่าเราอยากเลิกกาแฟนั้นอาจจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ง่าย แต่อาจจะยังติดอยู่ภพใดภพหนึ่งของกิเลสอยู่ ดังนั้นการตั้งศีลที่ว่าอยากจะพ้นจากความอยากกินกาแฟทั้งกาย วาจา ใจ นี้เป็นศีลที่พาให้เกิดกุศลมากกว่า เข้าถึงกิเลสได้จริง เห็นกิเลสได้จริง ทำลายกิเลสได้จริงๆ จึงมีโอกาสที่จะถึงวิมุตติจริงๆ
เมื่อเราปฏิบัติศีลโดยลำดับจากง่าย กลาง ยาก จนสามารถผ่านกิเลสที่ดึงรั้งเราไว้ให้อยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพได้แล้ว ก็เหมือนว่าเราสามารถพาตัวเองออกจากถ้ำกิเลสได้ ออกมาพบความจริงตามความเป็นจริง เช่นเดียวกับการทำลายกิเลสเมื่อเราสามารถหลุดพ้นจากกิเลส เราจึงจะรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในเรื่องนั้นๆ
เช่นถ้าเราทำลายความอยากกินกาแฟ เราก็จะรู้ทุกเหลี่ยมทุกมุมในกิเลสเกี่ยวกับเรื่องกาแฟที่ผ่านมาของเรา ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความรู้เรื่องกิเลสในกาแฟทั้งหมดในโลก แต่ก็เพียงพอที่จะรู้ว่ามันติดเพราะอะไรและจะออกจากกาแฟได้อย่างไร นั่นเพราะตลอดเวลาที่เราปฏิบัติศีลอย่างตั้งมั่นเราก็จะได้ปัญญาและเจริญขึ้นมาโดยลำดับ สุดท้ายเมื่อเราทำลายกิเลสทั้งหมดเราก็จะได้ปัญญาที่เป็นผลเหล่านั้นไว้ใช้เพื่อเป็นธรรมทานให้คนอื่นใช้เป็นแนวทางในการทำลายความอยากกาแฟต่อไป
การปฏิบัติธรรมจนถึงผลนั้นไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ ไม่ใช่การทำเพื่อบรรลุธรรมในทันที แต่หากเป็นความเพียรพยายามที่จะเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์แท้และละเว้นสิ่งที่เป็นโทษออกจากชีวิต พัฒนาจิตใจโดยการใช้ ศีล สมาธิ ปัญญาเพื่อเกิดความเจริญไปโดยลำดับ จนสามารถรู้แจ้งมรรคผลได้ด้วยตนเอง คือรู้วิธีการปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลสเหล่านั้นและรู้ผลที่เกิดขึ้นเมื่อทำลายกิเลสเหล่านั้น
จึงกลายเป็นผู้ที่ไม่มีความสงสัยในกิเลสเหล่านั้นเพราะรู้แจ้งเหตุปัจจัยในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จนสามารถดับความอยากซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นได้อย่างสิ้นเกลี้ยง
– – – – – – – – – – – – – – –
สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา เพิ่มเติมได้ที่ …
– – – – – – – – – – – – – – –
6.1.2558
กิเลสนอนก้น
กิเลสนอนก้น
…เมื่อการปฏิบัติธรรม ไม่ได้ทำให้เจริญไปถึงข้างในจิตใจ
เคยคิดสงสัยกันหรือไม่ ว่าแท้จริงแล้วผลของการปฏิบัติธรรมนั้นจะเป็นเช่นไร ที่เขาว่ายิ่งกว่าสุขเป็นแบบไหน แล้วแบบที่ทำอยู่จะให้ผลเช่นไร การปฏิบัติของพุทธแท้จริงแล้วเป็นอย่างไรในเมื่อมีหลากหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีนั้นก็มีเหตุผลมีที่อ้าง แล้วเราจะปฏิบัติตามแบบไหน ทางไหนคือทางที่พาพ้นทุกข์
ก่อนจะเข้าเรื่องก็มาเรียนรู้เรื่องกิเลสกันก่อน ซึ่งจะขอเปรียบกิเลสดังโคลนในแก้วน้ำ โดยปกติเราก็จะมีโคลนและมีน้ำที่เปรียบดังจิตอยู่ในแก้ว เมื่อมีการกระทบจนเกิดการสั่นไหว โคลนที่นอนก้นอยู่ก็จะกระจายตัวทำให้น้ำขุ่นเหมือนดังจิตที่ขุ่นมัว
วิธีที่จะทำให้โคลนเหล่านั้นสงบนิ่ง คือใช้วิธีของการทำสมถะ หรืออุบายทางใจเข้ามากดข่มจิตใจด้วยวิธีต่างๆมากมาย ในกรณีนี้ก็คือทำให้น้ำที่ขุ่นนั้นใสนั่นเอง และเรามักจะได้ยินคำเรียกน้ำที่ใสจากตะกอนโคลนนั้นว่า “จิตว่าง” ว่างจากอะไร? ว่างจากความคิด ว่างจากการปรุงแต่งหรือสภาพที่โคลนนั้นฟุ้งไปทั่วแก้ว เมื่อจิตว่างจากโคลนที่ฟุ้งแล้วจึงค่อยคิด นี่คือวิธีที่พบเห็นและปฏิบัติกันโดยทั่วไป
วิถีทางของสมถะจะให้ความสนใจโคลนที่ฟุ้งอยู่ในน้ำ มุ่งประเด็นไปที่ความฟุ้งซ่าน ความคิดต่างๆ ดังนั้นการใช้สมถะในวิถีทางต่างๆเช่นเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือแบบประยุกต์เช่น ขยับตัวเพื่อรู้ ใช้ธรรมะเข้ามาตบความคิด ใช้ไตรลักษณ์เข้ามาตบความฟุ้งซ่าน กำหนดรู้ รู้ตามจิต รู้ตามความคิด รู้นามรูปโดยใช้ตรรกะ หรือวิธีใดๆที่วนอยู่ในรูปแบบหนึ่งๆ เพื่อให้หลุดพ้นออกจากจิตที่เป็นทุกข์นั้นๆ เป็นวิธีการฝึกสมถะทั้งแบบหลับตาและลืมตาที่ใช้กันโดยทั่วไป จนบางครั้งอาจจะทำให้หลงเข้าใจไปว่าการฝึกสมถะเหล่านั้นคือการวิปัสสนา
! ต้องขออภัยจริงๆ ที่บทความนี้อาจจะดูเหมือนไปข่มการทำสมถะด้วยวิธีต่างๆ แต่ก็จำเป็นจะต้องชี้ให้เห็น เพราะจะมีผลไปถึงการปฏิบัติ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสมถะไม่ดี มันดีและเป็นสิ่งที่เพิ่มกำลังให้กับการวิปัสสนาด้วย แต่การนำสมถะขึ้นมาเป็นการปฏิบัติหลักเพื่อการพ้นทุกข์จากกิเลสนั้นจะทำให้หลงติดภพ
และเมื่อเข้าใจว่า “ความว่าง “คือ “จิตที่ว่างจากความคิด” หรือสภาพที่โคลนสงบ ไม่ฟุ้ง น้ำใส เหมือนจิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิด ไม่กังวล ไม่โกรธ มีสติ สงบ ฯลฯ เป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกกับหลักของพุทธเสียทีเดียว เพราะอยู่ในขีดของสมถะหรือการปฏิบัติแบบฤๅษีทั่วไปเท่านั้น
เพราะถึงแม้น้ำในแก้วจะใส แต่ถ้ามีกิเลสนอนก้นอยู่แล้วเราจะเรียกว่าจิตว่างได้อย่างไร ความคิดที่ออกมาตอนฟุ้งหรือตอนสงบก็ปนเปื้อนไปด้วยกิเลสอยู่ดี แม้น้ำนั้นจะใสแต่ก็จะมีโคลนปนอยู่ในน้ำอยู่ดี สภาพที่ไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง แม้จะดูเหมือนว่าสงบแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส
ศาสนาพุทธเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลสจนดับกิเลส ไม่ใช่เพียงแค่การดับความคิด หยุดปรุงแต่งหรือดับสัญญาใดๆทิ้งอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว แต่หากเป็นการชำระกิเลสที่ปนเปื้อนอยู่ในความคิด ในสัญญา ในจิตวิญญาณนั้นให้หมดไป เปรียบดังผู้ที่สามารถนำโคลนออกจากแก้วได้ เมื่อโคลนน้อยลงก็จะฟุ้งกระจายน้อยลง ขุ่นน้อยลง จนกระทั่งเอาโคลนออกได้หมด แม้แก้วจะถูกเขย่าแรงเพียงใดก็จะไม่มีอะไรฟุ้ง ไม่ขุ่น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เป็นน้ำใสๆอยู่เช่นเดิม
1). การปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน
วิถีทางปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนั้นมีมากมายหลากหลายวิธี แม้ว่าจะมีรายละเอียดต่างกันไปในการปฏิบัติแต่ละแบบ แต่โดยส่วนมากนั้นจะมีทิศทางไปในทางเดียวกันคือการใช้สมถะ หรือการใช้อุบายเข้ามาบริหารใจให้เกิดสภาพจิตนิ่ง จิตว่าง สงบ หยุดคิด หยุดตัดสิน หยุดทุกข์ ฯลฯ
กิเลสนั้นเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก เข้าใจได้ยาก และทำลายได้ยาก แม้ว่าเราจะเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นกิเลส การที่เราสามารถดับทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการดับความคิดที่ปรุงแต่งใดๆ ให้เกิดจิตที่สงบหรือที่เขาเรียกกันว่า”จิตว่าง”ได้ แต่นั่นไม่ใช่ความสงบหรือความว่างแบบพุทธ เพราะนั่นคือความสงบจากสมถะ
การดับสภาพทุกข์หรือสุขที่เกิดขึ้นในใจด้วยอุบายใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพ่งกสิณ อยู่กับปัจจุบันใช้การพิจารณาไตรลักษณ์ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เข้ามากระทำต่อความฟุ้งซ่านนั้นคือการวิถีของสมถะทั้งสิ้น
แม้การปฏิบัติเหล่านั้นจะสามารถควบคุมร่างกายไม่ให้แสดงอาการ ควบคุมวาจาไม่ให้เปล่งออกมา หรือแม้กระทั่งควบคุมใจไม่ให้คิด ไม่ให้ปรุงแต่งใดๆโดยใช้สติควบคุมไว้ ก็ยังไม่ใช่วิถีทางปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เพราะต้องมาคอยควบคุม คอยกด คอยข่ม คอยดับ สิ่งปรุงแต่งทั้งกาย วาจา ใจเอาไว้เสมอ
ซึ่งโดยทั่วไปสมถะจะเน้นการฝึกสติ เพิ่มกำลังสติ ให้มีสติตลอดเวลา ฝึกสติจนมีสติอัตโนมัติ การฝึกสติเหล่านั้นเป็นการฝึกสติความรู้ตัวทั่วพร้อมทั่วไป และใช้สติเหล่านั้นไปกระทำต่อความคิด ความทุกข์ ความสุขที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการ รู้ ดับ ตบ กดข่ม ฯลฯ เพื่อให้เกิดความสงบ
แต่ถ้าหากเราสามารถปฏิบัติอย่างถูกตรงจนสามารถชำระล้างกิเลสได้ด้วยปัญญา ก็ไม่ต้องมาคอยกด ข่ม ดับ หรือต้องรู้ตัวทั่วพร้อมตลอด เพราะไม่มีกิเลสเกิดขึ้น เมื่อไม่มีกิเลสเกิด ก็ไม่มีตั้งอยู่ และไม่มีดับไป เพราะมันดับสิ้นเกลี้ยงไปตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นเมื่อสามารถทำลายกิเลสเรื่องใดๆได้จริงจะไม่มีสภาพเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของกิเลสเรื่องนั้นๆอีก
2). ธรรมไม่ถึงธรรม
เมื่อหลงเข้าใจไปว่าวิธีฝึกสติแบบสมถะคือวิธีการพ้นทุกข์ อาจจะหลงเข้าใจไปอีกว่า เมื่อฝึกสติได้ถึงระดับหนึ่งจะบรรลุธรรมระดับนั้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นความเห็นความเข้าใจที่ผิดไปจากหลักของพุทธ เพราะการบรรลุธรรมนั้นจะเกิดจากการตัดสังโยชน์ คือกิเลสที่ผูกมัดไว้ทั้ง ๑๐ ระดับ แม้ว่าจะสะสมสติแบบสมถะมากเท่าไหร่ ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการตัดกิเลสเหล่านี้เลย เพราะสังโยชน์แต่ละตัวนั้นมีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างกันไป มีความซับซ้อนต่างกัน มีความยากต่างกัน ไม่ได้ใช้วิธีเดียวกัน
แต่ด้วยความเห็นความเข้าใจตามวิบากกรรมที่แตกต่างของแต่ละคน ทำให้ความเข้าใจในธรรมนั้นต่างกันออกไป บางคนพอใจที่สามารถทำให้แก้วที่ขุ่นไปด้วยโคลนนั้นใสในพริบตา บางคนพอใจที่ดูและรู้การขุ่นและตกตะกอนของโคลน แล้วก็เข้าใจว่าเหล่านั้นคือวิธีพ้นทุกข์ที่ถูกต้อง เมื่อเขาเชื่อและหลงยึดเช่นนั้น ใจก็จะไม่แสวงหาทางอื่น มองวิธีนั้นเป็นวิธีหลัก ไม่สนใจจัดการกับโคลนที่อยู่ข้างใต้ เหมือนกับว่ามองไม่เห็นโคลน หลายครั้งเราได้ยินคำว่ากิเลส แต่ไม่มีใครพูดถึงวิธีทำลายกิเลส แม้จะได้ยินได้ฟังแต่ก็ไม่สามารถเอาไปปฏิบัติได้จริง ยิ่งปฏิบัติยิ่งหลง ยิ่งทำยิ่งงง ไปๆมาๆจะเพี้ยนไปเสียอีก
3). ปฏิบัติธรรมผิดทาง หลงทางจนตาย (ไปอีกหลายชาติ)
คาดเคลื่อนของความเข้าใจเกี่ยวกับการเริ่มต้นปฏิบัติและปริยัตินั้นมีอยู่ไม่มากก็น้อย การเข้าใจว่าปริยัติหรือเรียนรู้ธรรมมาก่อนนั้นก็ไม่ถูกเสียทีเดียว แต่การเข้าใจว่าปฏิบัติมาก่อนนั้นจะผิดไปค่อนข้างมาก เหมือนกับคนที่ไม่มีแผนที่ ไม่รู้ทาง แต่ก็จะเดินเข้าป่า ปฏิบัติไปก็จะหลง มัวเมา หนักเข้าก็หลงว่าบรรลุธรรม
หลายคนเข้าใจว่าตนเองมีอาจารย์ แต่ก็ไม่ได้ดูให้ดีว่าอาจารย์ของตนนั้นเคยเดินทางหรือเปล่า เข้าใจการปฏิบัติธรรมจริงหรือเปล่า พอติดตามคนผิดก็เข้าป่าเข้ารกเข้าพงหลงทางกันทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์ กลายเป็นกลุ่มก้อนมิจฉาทิฏฐิให้เห็นกันอยู่โดยทั่วไป
หลักตัดสินพระธรรมวินัยก็มีอยู่ ลักษณะผู้ที่บรรลุธรรมในศาสนาก็มีอยู่ แต่ครูบาอาจารย์บางพวกจะหลีกเลี่ยงการอ้างอิงจากตำรา สร้างลัทธิ สร้างชุดความเชื่อขึ้นมาใหม่ ถึงแม้จะเป็นเช่นนี้เราก็สามารถใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าตรวจสอบได้ เช่น ธรรมเหล่านั้นเป็นไปเพื่อลดกิเลสหรือไม่ เป็นไปเพื่อการพรากหรือไม่ เป็นไปเพื่อการมักน้อย ไม่สะสม กล้าที่จะจนหรือไม่ เป็นไปเพื่อสะสมบริวาร ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขหรือไม่ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนหรือไม่ เป็นคนประหยัดหรือฟุ้งเฟ้อ เป็นคนขี้เกียจหรือขยัน ฯลฯ (สามารถหาดูได้เพิ่มเติมจาก หลักตัดสินธรรมวินัย ๘ ,เป้าหมายการประพฤติพรหมจรรย์ ๙ ,วรรณะ๙)
การเข้าถึงธรรมะนั้นไม่ได้เริ่มจากการปฏิบัติก่อน พระพุทธเจ้าไม่เคยตั้งเงื่อนไขให้ใครมาปฏิบัติก่อน ท่านมักจะเทศน์โปรดก่อนเสมอทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น และท่านยังได้ตรัสสอนไว้ว่า คนจะสามารถถึงวิมุตหรือสภาพหลุดพ้นจากกิเลสได้ ต้องเริ่มต้นจากการคบหาสัตบุรุษที่บริบูรณ์ นั่นคือต้องหาครูบาอาจารย์ที่รู้จริงเสียก่อน เป็นผู้มีธรรมนั้นในตนจริงๆ เมื่อมีธรรมที่พาพ้นทุกข์ได้จริง ก็สามารถสอนให้เราพ้นทุกข์ได้จริง ลดกิเลสได้จริง ทำลายกิเลสได้จริง
เมื่อได้เจอสัตบุรุษแล้วเราจึงจะได้ฟังสัจธรรม หลังจากเราได้ฟังสัจธรรมและเข้าใจ จึงจะเกิดศรัทธา ซึ่งศรัทธาตรงนี้เกิดจากปัญญา เพราะรู้ได้เองว่าธรรมที่ได้ฟังนั้นเป็นของจริง พาพ้นทุกข์ได้จริง พาลดกิเลสได้จริง เมื่อเกิดศรัทธาก็จะเริ่มปฏิบัติตาม เกิดการทำใจในใจที่แยบคาย คือการพิจารณาธรรมที่ได้ฟังนั้นเข้าสู่ใจ ไม่ใช่ฟังหูซ้ายทะลุหูขวาหรือฟังธรรมแบบผ่านๆ แต่จะนำไปคิดพิจารณาในใจตามสภาวะของตัวเองได้ และจะเกิดสติสัมปชัญญะต่อไป เกิดการสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ ต่อไปจนกระทั่งเกิดสติปัฏฐาน ๔ ดำเนินต่อไปที่โพชฌงค์ ๗ และถึงวิชชาและวิมุตติโดยลำดับ(อวิชชาสูตร)
จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติธรรมสู่การพ้นทุกข์ต้องเริ่มจากการหาสัตบุรุษที่บริบูรณ์เสียก่อน ไม่อย่างนั้นปฏิบัติไปก็ฟุ้งเฟ้อ เนิ่นช้า ติดอยู่ในกิเลส ในภพ ในอัตตา สารพัดทางจะติดได้ เพราะคนที่เห็นผิด ก็จะพาเราไปแวะที่นั่น หลงที่นี่ ก็หลงกันไปทั้งหมู่คณะ เป็นมิจฉาทิฏฐิกันไปทั้งก้อน ซึ่งความหลงมันอาจจะไม่ได้เกิดแค่ชาติเดียว มันจะหลงตามกันไปเรื่อยๆ ตามกรรมที่ก่อไว้
คนที่หลงจะไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวเองหลงหรือเห็นว่าตนเองมิจฉาทิฏฐิ ด้วยความหลงนั้นก็จะดลให้เขาได้เชื่อและปฏิบัติในทางที่เขาหลงอยู่เช่นนั้น เมื่อเขาสอนธรรมที่ไม่ได้พาให้ลดกิเลส กล่าวแต่ธรรมที่พาเพิ่มกิเลส ให้เสพสุข ให้ร่ำรวย ให้ยึดมั่นถือมั่น เขาเหล่านั้นก็จะสะสมพลังแห่งมิจฉาทิฏฐิที่จะบดบังความจริงสู่การพ้นทุกข์เข้าไปอีก
ดังนั้นจะสรุปได้ว่า โดยทั่วไปเราไม่มีทางปฏิบัติเองจนถึงผลได้ ต้องเจอครูบาอาจารย์ที่รู้ทางจริงๆเท่านั้น การหาของจริงในของลวงนั้นยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร การจะเจอสัตบุรุษที่บริบูรณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย การจะได้ฟังสัจธรรมนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และการปฏิบัติจนถึงผลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากเรายังต้องเสียเวลากับการปฏิบัติที่พาให้หลงทางอีกมันจะช้าเข้าไปใหญ่
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้น ไม่ใช่ของเราคถาคต” คำว่าช้าในที่นี้คือไปหลงวนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ เมื่อเราติดอยู่ในความเห็นผิด ยิ่งปฏิบัติก็จะยิ่งไกลจากพุทธ ยิ่งขยันก็จะยิ่งโง่ขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งยึดมั่นถือมั่นขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้ต้องเสียเวลาไปชาติหนึ่ง เป็นโมฆะบุรุษ เกิดมาตายไปเปล่าๆไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
4). สติ แท้จริงคืออะไร
ดังที่เห็นในอวิชชาสูตร จะเห็นได้ว่า สติสัมปชัญญะ และสติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งเดียวกัน นี่ยังไม่รวมสติรู้ตัวแบบทั่วไปด้วยนะ หลงฝึกสติผิดเพี้ยนกันไปใหญ่
สติไม่ใช่เครื่องเตือน แต่เป็นเครื่องมือที่ทำให้เรารู้ตัว ซึ่ง สติสัมปชัญญะคือการทำให้มีการรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ตัวว่าอะไร รู้ตัวว่ามีกิเลส รู้ตัวว่าโกรธ สตินี้ทำหน้าที่แค่นี้
ส่วนเครื่องเตือนใจนั้นคือ หิริ โอตตัปปะ หิรินั้นคือความละอายต่อบาป เมื่อเราโกรธแล้วมีหิริ สติจะทำงานต่อให้เราละอายต่อความโกรธของตัวเอง ส่วนโอตตัปปะคือความเกรงกลัวต่อบาป เมื่อมีโอตตัปปะซึ่งจะเหนือกว่าหิริ เราจะมีอาการสะดุ้งกลัวต่อบาป พอมีสติรู้ตัวว่าโกรธเราจะไม่กล้าโกรธ กลัวว่าจะสะสมบาป เพราะความโกรธคือบาป มันจะสงบลงแบบนี้ ผลเหล่านี้ไม่ใช่การทำงานของสติ แต่เป็นการทำงานของหิริโอตตัปปะ
ถ้ามีสติเฉยๆ แต่ไม่มีหิริโอตตัปปะมันจะไม่เกิดอะไรขึ้น เช่นรู้ว่ากำลังกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่มีความละอายต่อบาปหรือความเกรงกลัวต่อบาป มันก็กินไปแบบนั้นแหละ ไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดีอะไร กินไปมันก็มีความสุขตามกิเลสไปแบบนั้นเอง รู้ตัวว่ากินนะ แต่ก็แค่รู้ตัว ไม่เกี่ยวกับการพ้นทุกข์ใดๆ
หิริโอตตัปปะไม่ได้เริ่มจากสติ แต่เริ่มจากศีล ผู้มีศีลจะมีสติ แต่คนมีสติไม่จำเป็นต้องมีศีลนั้นๆ การเกิดหิริโอตตัปปะนั้นเป็นความเจริญที่งอกเงยมาจากการปฏิบัติศีลอย่างถูกตรง
สติปัฏฐาน ๔ นั้นจะทำงานต่างจากสติที่รู้ตัวทั่วพร้อม ซึ่งจะทำงานเป็นเครื่องมือ ตรวจจับ วิเคราะห์ วิจัยแยกแยะกิเลส จนถึงหาธรรมมาทำลายกิเลสนั้นๆ
ส่วนสติทั่วไปเป็นความรู้ตัวแบบสัญชาติญาณไม่ต้องฝึกก็ได้ แค่สงบๆแล้วให้ร่างกายจับการเปลี่ยนแปลงของภายในหรือภายนอกเช่น มีลมพัดมากระทบหน้า มีเหงื่อออกเล็กน้อยที่หลัง สติแบบนี้เหมือนเวลาที่วัวกำลังกินหญ้าแล้วเราเดินเข้าไป วัวจะหยุดกินและมองเรา เป็นสติระดับทั่วไปที่มีคนหลงไปฝึกปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์กันมากอยู่ในลักษณะของการทำสมถะ ซึ่งสติแบบนี้ไม่จัดอยู่ในกระบวนการเพื่อบรรลุธรรมแต่อย่างใด สรุปง่ายๆว่าฝึกไปก็ไม่พ้นทุกข์
5). สติมาปัญญาเกิด
ความเข้าใจที่ว่า “สติมาปัญญาเกิด” นั้น จะเป็นไปได้ในกรณีเดียวคือ ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ อย่างถูกตรงเท่านั้น ปัญญาจึงจะเกิด นอกเหนือจากนี้เป็นไปไม่ได้ ปัญญาที่หมายถึงในที่นี้คือปัญญาสู่การพ้นทุกข์ ไม่ใช่ปัญญาแบบโลกีย์ ไม่ใช่แค่โคลนตกตะกอนน้ำใสจึงเห็นความจริง ปัญญาของพุทธไม่ใช่ปัญญาแค่นั้น
ส่วนสติมาปัญญาเกิดแบบทั่วๆไป ปัญญาที่จะเกิดได้นั้นก็จะเกิดได้เท่าที่ระดับที่มีกิเลสอยู่ มีกิเลสเท่าไหร่ก็ส่งผลให้มีปัญญาได้เท่านั้น ไม่สามารถมีได้มากกว่านั้น เหมือนกับคนที่คิดตอนโกรธกับคิดตอนไม่โกรธมันก็ต่างกันเป็นธรรมดา แต่ก็จะมีขอบเขตของปัญญาที่จำกัดเพราะยังมีกิเลสมาบงการอยู่
คำว่า”สติมาปัญญาเกิด”นั้นเป็นธรรมสั้นๆที่สามารถตีความได้หลากหลาย หากไม่ได้ถูกขยายเพื่อเป็นไปในทางลดกิเลสแล้ว ธรรมนั้นย่อมผิดเพี้ยนจากทางพ้นทุกข์ไปได้ เรามักจะชอบอ่านหรือจำธรรมสั้นๆ เพราะไม่ต้องใช้ความเพียรมาก ไม่ต้องทำความเข้าใจมาก แต่สิ่งที่อันตรายคือการตีความที่ผิดซึ่งจะส่งผลมาสู่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนไป
การเข้าใจว่า สติมาปัญญาเกิด ส่งผลให้คนพยายามฝึกสติ สะสมสติ หรือมุ่งเน้นผลแห่งการเพิ่มสติอย่างมัวเมา ทั้งที่จริงแล้วการฝึกสติแบบสมถะ หรืออาจจะไปถึงขั้นมิจฉาทิฏฐินั้นไม่สามารถทำให้กิเลสลดลงได้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ศีลคือแม่ ปัญญาคือพ่อ” นั่นหมายถึงศีลคือตัวขัดเกลา เลี้ยงดูจิตวิญญาณของเราให้เข้ารูปเข้ารอยไม่หลงไปในกิเลสมากจนเกินไป และปัญญานั้นหมายถึงปัญญาในการเข้าสู่มรรค คือปัญญารู้ว่าควรจะถือศีลนั้นๆ เมื่อปฏิบัติศีลด้วยสัมมาอริยมรรคถึงที่สุดแล้วจึงจะกลายเป็นปัญญาที่เป็นผล คือปัญญาในระดับที่หลุดพ้นจากกิเลสของศีลในเรื่องนั้นๆ
เรามักได้ยินว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หรือถ้าเป็นในไตรสิกขาก็จะเป็น อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา หมายความว่าเมื่อเราปฏิบัติศีลด้วยความตั้งมั่น(สมาธิ)จึงจะถึงปัญญาได้ หรือถ้าอธิบายในมุมไตรสิกขาก็คือเมื่อเราปฏิบัติศีลที่ยากขึ้น ก็ต้องมีพลังใจที่มากขึ้น และใช้ปัญญาที่มากขึ้น เพื่อที่จะได้ปัญญาที่เป็นผลเจริญ(ภาวนา)
สตินั้นเป็นสิ่งที่เราควรจะมีตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนสติปัฏฐาน ๔ จะทำงานในระหว่างที่เริ่มกระบวนการถือศีล และปฏิบัติจนกระทั่งเกิดปัญญา เป็นเครื่องมือในการทำให้เกิดปัญญา และเมื่อปฏิบัติศีลจนเกิดผลในเรื่องนั้นๆแล้วก็ไม่ต้องใช้สติปัฏฐานกับเรื่องนั้นต่อ เพราะทำได้เจริญถึงผลแล้วแบบนี้จึงจะเรียกได้ว่าสติมาปัญญาเกิด
แต่การฝึกสติในทุกวันนี้มักจะเป็นเป็นไปในแนวทางสมถะ แม้จะตั้งชื่อว่าฝึกสติปัฏฐาน ๔ แต่ก็กลับกลายเป็นการฝึกสมถะ ทั้งนี้เพราะสมถะนั้นเข้าใจได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เห็นผลได้ง่าย แถมยังมีทางแวะให้หลงกันไปตามกิเลสอีก เช่นไปเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นผี เห็นเทวดา ก็เห็นกันไปตามที่กิเลสของใครจะปรุงเอาได้ เป็นสิ่งที่กิเลสหลอกให้ถือเป็นจริงเป็นจัง
6). ปัญหาของสติที่ไม่มีศีลและปัญญา
และการฝึกแต่สติโดยไม่สนใจที่จะศึกษาศีลและปัญญา มีปลายทางคือนักสมถะที่เก่ง กดข่มได้เก่ง แม้ว่าแก้วน้ำจะขุ่นไปด้วยโคลน แต่ก็สามารถทำให้โคลนนั้นตกตะกอนได้ในพริบตา แต่จะให้เอาโคลนออกจากแก้วนั้นทำไม่ได้ เพราะวิถีแห่งสมถะไม่ได้สอนวิธีเอาโคลนออกจากแก้วไว้ ได้แค่เพียงทำเป็นมองไม่เห็นโคลน มองเพียงว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วแบบนี้มันจะเป็นผู้ไกลจากกิเลสไหม? จะหมดกิเลสได้อย่างไร? ในเมื่อยังไม่มีวิธีจัดการกับกิเลส
ความซวยของการการฝึกแต่สตินี้ มันเริ่มจากการยึดมั่นถือมั่น พอเรายึดแล้วก็จะเริ่มไม่ฟังวิธีอื่น เริ่มไม่อยากทำความเข้าใจและพิจารณาหนทางอื่น เพราะยึดมั่นถือมั่นไปแล้วว่าการฝึกสติ หรือการมีสตินี้คือทางพ้นทุกข์ ถ้ายึดในสิ่งที่ถูกคงไม่มีปัญหา แต่มายึดในสิ่งที่ไม่ถูกเสียทีเดียว แถมยังยึดถือจนมั่นใจว่าใช่แน่ๆ จึงเกิดอัตตาขึ้นมา เริ่มจะมีความถือตัว ยกตนข่มท่าน ไม่ฟังธรรมอื่น ปิดประตูเข้าภพไปอย่างน่าเสียดาย และจะติดสุขในอารมณ์ของสมถะไปอีกนานแสนนาน
การมีสติแต่ไม่มีศีลและปัญญานี่มันจะมึนๆนะ พอเข้าเรื่องธรรมก็จะไม่รับ พอเข้าเรื่องศีลก็จะไม่รับ คือไม่รับทั้งปัญญาทั้งศีล ตีทิ้งหมด สรุปก็คือพอเห็นว่าการมีสติรู้ตัวคือทุกสิ่งทุกอย่างก็จะไม่รับสิ่งอื่น ทั้งที่ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องสติแต่ก็ยึดมั่นถือมั่นไปแล้ว ถ้าเราเข้าใจเรื่องสติจริงๆ เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นเรื่องสติเลย คนที่เข้าใจเรื่องอะไรจริงๆจะไม่มีอัตตาในเรื่องนั้น แต่คนที่ไม่เข้าใจจริงๆจะมีอัตตาเพราะความหลง
7). การแก้ปัญหากิเลสนอนก้น
การชำระกิเลส หรือทำลายกิเลสที่ปนเปื้อนอยู่ในจิตวิญญาณนั้น ไม่สามารถใช้สมถะในการทำลายได้ เพราะสมถะนั้นทำได้แค่เพียงกด ข่ม ดับ อย่างเก่งก็ดับไปโดยไม่รู้ตัว แต่ก็แค่ดับอาการปลายเหตุที่เกิดมาเท่านั้น กิเลสที่นอนก้นนั้นยังมีอยู่ ยังกองอยู่ แต่จะทำอย่างไรล่ะ?
อย่างแรกคือต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนว่าเรากำลังปฏิบัติสมถะหรือวิปัสสนา อย่าให้ชื่อมาเป็นตัวทำให้เราสับสนเพราะบางทีเขาก็เรียกสมถะเป็นวิปัสสนา บางคนปฏิบัติสมถะแล้วเข้าใจว่าตนเองเป็นวิปัสสนาก็มี บางคนหลงเข้าใจไปอีกว่าบรรลุธรรมทั้งที่ทำแค่สมถะ มันต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังทำให้ได้ก่อนแล้วจึงตั้งหลักใหม่
ไม่ใช่ปฏิบัติไปผิดทางแล้วหวังว่าจะมีแสงสว่างปลายทาง หากเราปฏิบัติไปอย่างมิจฉาทิฏฐิ ปลายทางเหล่านั้นมันก็เป็นทางตันเท่านั้นเอง สุดท้ายถึงจะเพียรพยายามแค่ไหนก็ไปได้แค่สุดทางตันแล้วก็ต้องเดินกลับมาอยู่ดี กว่าจะรู้ตัวก็เสียเวลาไปกี่ภพกี่ชาติก็ไม่รู้
มันไม่ได้อยู่ที่ปฏิบัติธรรมไปถึงขั้นไหน อย่างไร แต่มันอยู่ที่ปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูก เพราะถ้าปฏิบัติผิดมันก็มีสภาพบรรลุธรรมผิดๆหลอกเราอยู่เหมือนกัน หน้าตาอาจจะดูดี ดูสงบ น่าเคารพ แต่กิเลสนอนก้นหนาเตอะก็มี คนที่ปฏิบัติแต่สมถะจะไม่สามารถตรวจใจได้ละเอียดนัก อย่างมากก็ไปติดที่อรูปภพ แม้จะละกามภพ คือไม่ไปเสพ ละรูปภพคือไม่คิดไม่ปรุงแต่ง แต่การละอรูปภพนั้นต่างออกไป ไม่สามารถทำลายกิเลสนี้ได้เพียงแค่กดข่มอย่างแน่นอน สุดท้ายก็จะค้างเติ่งอยู่ที่ฤๅษีนั่นแหละ รูปสวยแต่กิเลสหนา จะเอาไหมแบบนั้น?
ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือกลับมามองตัวเองตามความเป็นจริงเสียก่อน แล้วค่อยแสวงหาสัตบุรุษ ถ้าคิดว่าชีวิตนี้มันหายากหาเย็นหาไม่เจอก็ลองละเว้นความชั่วให้มาก ทำความดีเพิ่มขึ้น ทำจิตใจให้ผ่องใสอย่าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดมากนัก สิ่งใดที่คิดแล้วเป็นอกุศลมากๆก็พยายามปล่อยวาง ละทิ้งหรือจะกดข่มไปก่อนก็ได้
วันหนึ่งเมื่อเจอกับสัตบุรุษ เจอครูบาอาจารย์ที่ถูกที่ควร เจอคนที่รู้ทางมีแผนที่ ค่อยขยับเดินหน้าเพียรปฏิบัติอย่างจริงจังก็ยังไม่สาย เพราะถึงจะช้า แต่ก็ยังดีกว่าเดินหลงทาง เพราะการเดินหลงทางนั้นหมายถึงต้องเสียเวลามากขึ้นไปอีก
– – – – – – – – – – – – – – –
5.1.2558
ฉันผิดตรงไหน
ฉันผิดตรงไหน
…เมื่อความรักได้ผ่านพ้นไป ทิ้งไว้เพียงแค่คำถาม ที่ไม่รู้คำตอบ
ในบางครั้งเราอาจจะได้ยินเรื่องราวของความรักที่จบไปอย่างไม่มีเหตุผล บางคู่คบกันมาเนิ่นนานกลับต้องมาเลิกรากันด้วยเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง หรือกระทั่งบางคู่ที่ต้องเลิกกันโดยไม่รู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ทิ้งไว้เพียงความสงสัย มีแต่คำถามที่ไม่มีคำตอบ ท่ามกลางความเงียบงันนั้น เสียงในใจกลับดังก้องขึ้นมาว่า” ฉันผิดตรงไหน? “
1). ผิดที่ใคร?
ท่ามกลางความสับสนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคู่ที่เลิกรากันโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจรับไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์อันนี้พิศวงงงงวยเหล่านั้น จึงมักจะพยายามคิดหาคำตอบว่ามันเกิดจากอะไรด้วยเหตุผล ด้วยตรรกะ ด้วยข้อมูลที่รับรู้มา เป็นวิธีคิดที่ใช้กันโดยทั่วไป
และโดยทั่วไปคนเรามักจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง เมื่อใช้ความคิดที่ยังมีกิเลสปน แม้ว่าจะมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมก็จะไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ ซึ่งจะเห็นเพียงความจริงตามที่กิเลสกำหนดให้เห็นเท่านั้น จึงกลายเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ใครผิด ใครเริ่มต้นก่อน ใครทำให้รักของเราต้องเปลี่ยนไป เป็นไปในทิศทางของกิเลสของเรา
เรามีกิเลสมาก ความจริงก็จะบิดเบี้ยวมากตามไปด้วย กิเลสยังสร้างความจริงลวงขึ้นมาเสริมจากเหตุการณ์จริงได้อีก เช่นคู่รักทำอย่างหนึ่ง แต่เราไปตีความว่าเขาทำอีกอย่างหนึ่ง แล้วปั้นจินตนาการต่อฟุ้งกระจายจนความลวงเป็นความจริงขึ้นมาได้ ปั้นจิตให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้ เรียกว่า “มโนมยอัตตา” คือการปรุงแต่งจิตใจ สร้างภาพมายา ขึ้นเป็นตัวเป็นตนแล้วยึดว่าเป็นของจริง ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนสองคนคุยกันไม่รู้เรื่องเพราะเห็นความจริงไม่ตรงกัน
เมื่อมีความเห็นต่างเราก็มักจะเชื่อไปในทางที่เราคิด เราเห็น เราเข้าใจ เราเลือกเชื่อในสิ่งที่เห็นแต่มักจะมองไม่เห็นสิ่งที่เป็นจริงๆ เพราะแท้จริงแล้วมีพลังอำนาจบางอย่างที่อยู่เหนือกว่าสิ่งที่เห็นและเข้าใจนั่นคือกรรมและกิเลส
2). ผิดที่เขา?
ความผิดเกิดขึ้นจากคนอื่นอย่างชัดเจนก็อาจจะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่หากความผิดพลาดนั้นเกิดจากความเข้าใจของเราที่มองเห็นว่าเขาทำผิดนั้นก็จะเป็นเรื่องที่ยาก
เพราะหากเราไปตัดสินว่าใครผิดใครถูกด้วยความเชื่อหรือความเห็นของเราที่ยังมีกิเลสหนาอยู่นั้น ผลของการตัดสินมันก็จะผิดตามไปด้วย ซึ่งโดยมากแล้วคนจะไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิด ถึงจะยอมรับก็รับครึ่งเดียวแต่เวลาคนอื่นทำผิดก็เพิ่มโทษมากขึ้นกว่าความเป็นจริง มองว่าคนอื่นผิดเป็นหลัก ไม่มองพยายามมองหาสิ่งผิดในตนเอง ผลักภาระในกรรมนี้ให้คนอื่น ไม่ยอมรับกรรมนี้เป็นของตน
การมองว่าความผิดมาจากคนอื่นนั้นเป็นเพราะเรามีอัตตาและไม่เข้าใจในเรื่องกรรม ในส่วนของการมีอัตตาคือเรามักจะเชื่อว่าเราถูกเสมอ เราไม่เคยผิด คนอื่นผิด ถึงเราผิดเราก็ผิดไม่มาก คนอื่นผิดมากกว่า เราเป็นคนดี เราดีพร้อมทุกอย่างแล้ว ทำทุกอย่างดีแล้ว แต่เขาไม่ทำดีเหมือนเรา
อัตตา หรือความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนเหล่านี้ คือการยึดศักดิ์ศรี ยึดความถูกต้อง ยึดความเป็นใหญ่มาเป็นตัวตนของเราด้วย เมื่อเรามีอัตตามาก เราก็จะเชื่อมั่นมาก แต่เป็นความเชื่อมั่นที่เคลือบด้วยกิเลส เป็นกิเลสแท้ๆ ยิ่งเชื่อก็ยิ่งผิด ยิ่งยึดก็ยิ่งบาป
เมื่อไหร่ที่เราเชื่อมั่นว่าเราถูกเขาผิดมากเข้า ก็จะทำให้ความเข้าใจในเรื่องกรรมผิดเพี้ยนไปด้วย อัตตานี้เองคือตัวบังทุกอย่างไว้ และโยนความผิดให้คนอื่น ตั้งตนเป็นผู้ถูกกระทำ เอาดีเข้าตน เอาชั่วใส่คนอื่นอย่างแนบเนียน
3). ผิดที่เรา?
คนที่สามารถก้าวข้ามอัตตาได้ก็จะมีโอกาสจะกลับมามองที่ตนเอง การที่เราไม่เพ่งโทษหรือไม่โยนความผิดให้คนอื่นนั้นเป็นสิ่งที่สมควรอยู่แล้ว
ทุกอย่างนั้นมีเหตุในการเกิดและปัญหาของคู่รัก ก็ต้องมีเราเป็นส่วนร่วมในเหตุนั้นด้วยเช่นกัน แต่จะเริ่มตั้งแต่ตอนไหนแล้วสิ่งใดเป็นปัจจัยให้เกิดก็อาจจะทราบได้ยาก เพราะบางครั้งเราอาจจะไม่มีโอกาสได้ปรับความเข้าใจ ได้แลกเปลี่ยน ได้ไขปัญหาต่างๆร่วมกัน
แม้ว่าเราเองจะยอมรับความผิดพลาดทั้งหมดกลับมาที่ตัวเรา มองตัวเราว่าเป็นคนผิด มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโดยไม่โทษคนอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถหายคลางแคลงใจจากคำถามที่ว่า “ฉันผิดตรงไหน?”
แต่การยึดมั่นถือมั่นว่าเราผิดนั้นก็เป็นอัตตาอีกเช่นกัน แต่จะซับซ้อนกว่าในแบบโยนความผิดไปให้คนอื่นเขา ซึ่งคนที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตนผิดและยินดีรับผิด ยอมอมทุกข์นั้นก็เหมือนคนที่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ยึดว่าฉันผิดจึงจะดี ยึดว่าฉันต้องรับทุกข์ทุกอย่างไว้เองจึงจะดี
การยอมรับว่าเราผิดนั้นไม่จำเป็นต้องยึดจนทรมานร่างกายและจิตใจของตัวเอง เพียงแค่ยอมรับให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าเราผิดพลาดตรงไหน นิสัยใดบ้างที่ไม่ส่งผลดี สิ่งใดที่ทำลงไปแล้วเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ ก็ยอมรับผิดไปตามจริง แต่ไม่จำเป็นต้องแบกทุกข์และความผิดนั้นไว้เป็นตัวเป็นตนของเรา
เพราะการทำผิดนั้นไม่ได้หมายความว่า ชีวิตที่เหลือต้องทุกข์ระทมขมขื่น แต่การทำผิดนั้นก็หมายถึงการทำผิดครั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเอาความผิดในครั้งก่อนมากำหนดความผิดในครั้งต่อไป เพราะถ้าเรารู้สาเหตุจากความผิดพลาดจริงๆแล้วแก้ไขมันได้ ความผิดแบบเดิมก็จะไม่เกิดอีกในครั้งต่อไป
4). ผิดที่เราก็ได้นะ…
ในการยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคู่รัก มักจะไม่ได้ชัดเจนและสามารถมองออกได้ง่ายว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เริ่มต้นจากตรงไหน ปัญหาสะสมมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และด้วยความเป็นคู่รัก จึงมักจะมีการแสดงออกที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าที่คนทั่วไปแสดงออก บางครั้งอาจจะเหมือนยอมรับแต่ในใจก็ไม่ยอมรับ บางครั้งเหมือนจะไม่ยอมรับแต่จริงๆก็ยอมรับแล้วแต่ไม่กล้าบอกเพราะกลัวจะเสียฟอร์ม
การยอมรับผิดโดยการประชดประชันนั้นเป็นความซับซ้อนของกิเลส เราแสดงออกว่าเรายอมรับผิดแต่ในใจเรากลับมองว่าคนอื่นผิด แต่เราเลือกที่จะไม่พูดไปเพราะเหตุปัจจัยต่างๆที่มีผลให้เราไม่ยอมแสดงออก การประชดแบบนี้จะทำให้ปัญหายุ่งยากซับซ้อนเข้าไปอีก
หรือหลายคนที่ใช้วิธีเงียบ ปกปิดความรู้สึก ทำเสมือนว่ายอมรับผิด นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว แต่ถ้าในใจไม่ได้รู้สึกว่าความผิดพลาดเหล่านั้นเกิดจากตนเอง ยังคงเชื่อมั่นว่าตนถูกคนอื่นผิด ก็เหมือนการกดข่มปัญหาไว้ไม่ให้แสดงตัวออกมา ปล่อยให้มันสะสมรอวันระเบิดในโอกาสต่อไป
แต่ในบางครั้งที่ปัญหานั้นมีแนวโน้มที่จะลุกลาม การยอมรับผิด ยอมเป็นคนดีรับทุกอย่างไว้เอง เพื่อไม่ให้มีการกระทบกระทั่งหรือบาดหมางกันไปมากกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นกุศลอยู่บ้าง แม้ในใจจะไม่ได้ยอมรับเสียทีเดียว แต่หากทำไปเพื่อไม่ให้เหตุการณ์นั้นลุกลามบานปลายสร้างปัญหามากกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่สมควรจะยอม
5). ผิดที่กรรม?
กรรมคือสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนและยุติธรรมที่สุดในโลก เราไม่มีวันที่จะได้รับสิ่งใด เหตุการณ์ใด ความรู้สึกใด โดยที่เราไม่ได้ทำสิ่งนั้นมา สิ่งที่เราได้รับไม่ว่าจะเป็นการถูกเข้าใจผิด การทอดทิ้ง การเลิกรา ล้วนเป็นสิ่งที่เราทำมาแล้วทั้งนั้น
เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลของกรรมของเรา ซึ่งผลของกรรมนี้เองเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะมาไม้ไหน เมื่อไหร่ สิ่งที่เจออาจจะเป็นสิ่งที่ทำในชาตินี้ก็ได้ ชาติก่อนก็ได้ หรือชาติก่อนๆย้อนหลังไปอีกสิบชาติ ร้อยชาติ พันชาติก็ได้ นั่นเพราะผลกรรมที่เราทำไว้ยังไม่ได้ถูกชดใช้จนหมด เราจึงต้องมาคอยชดใช้กรรมที่เราทำไว้นั่นเอง
หลายคนรู้นิยามของกรรม แต่ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่ชัดเจน รู้ตามทฤษฏีว่าทุกอย่างที่ได้รับเราทำมา แต่เวลาเจอสิ่งที่ทำให้ไม่ถูกใจ ทำให้ไม่พอใจ ทำให้ขัดข้องใจหรือสงสัย ก็จะรู้สึกว่ากรรมไม่ยุติธรรม ฉันไม่ควรได้รับกรรมนี้ บ่นคนนู้นด่าคนนี้ มีแต่คนอื่นไม่ดีไปหมด ลืมมองกลับมาว่าทั้งนี่เป็นกรรมของเราเอง เราทำมาเอง ทั้งหมดเป็นผลงานของเราเองเรานี่แหละตัวแสบเลย ยิ่งได้รับกรรมที่ทำให้เจ็บปวดรวดร้าวมากเท่าไหร่ นั่นก็หมายถึงเราก็เคยทำสิ่งที่เลวร้ายมามากกว่านั้น เพราะเราจะได้รับเพียงส่วนหนึ่งที่เราทำ ไม่ใช่ทั้งหมดในทีเดียว
เช่นเดียวกับรักร้าวที่ไร้คำตอบ การเลิกราที่ไม่มีบทสรุป เราก็ทำมาเอง ในชาติใดชาติหนึ่งเราก็เคยไม่ถูกใจใครแล้วก็ทิ้งเขาเอาตัวรอดมาคนเดียวโดยไม่สนใจความรู้สึกของเขาเช่นกัน นั่นก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถหาคำตอบได้เลยว่าความรักที่จืดจาง หรือกระทั่งรักที่พังทลายลงไปนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร
กรรมจะดลให้เราได้รับทุกข์อย่างที่เราเคยทำมา ให้เราอยู่กับความขุ่นข้องหมองใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ให้เราสงสัยและทุกข์ไปเรื่อยๆ จมอยู่กับทุกข์จากความไม่ปล่อยวางในเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และเราเองก็ไม่มีปัญญาที่จะรู้คำตอบที่ชัดเจนนั้นด้วย
แต่เมื่อกรรมให้ผลจนหมด จะเหมือนฟ้าเปิด เหมือนเมฆฝนหายไป เราจะสามารถเข้าใจคำตอบของเรื่องราวต่างๆได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครบอก เข้าใจกรรมและผลของกรรมได้เอง ซึ่งอาจจะมีสิ่งกระตุ้นหรือไม่มีก็ได้เช่นกัน
ซึ่งการจะทำให้ผลกรรมหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเริ่มจากการยอมรับความผิดพลาดของตัวเองด้วยใจจริงเสียก่อน ยอมรับว่าตัวเราคือส่วนหนึ่งของปัญหา และพยายามแก้ไขสิ่งไม่ดีเหล่านั้นด้วยการทำดีให้มากเท่าที่จะทำได้ เมื่อกรรมชั่วนั้นส่งผลให้เราทุกข์ ให้เราโง่ ให้เราจมอยู่กับปัญหา กรรมดีก็จะส่งผลให้เราสุข ให้เรามีปัญญา ให้เราออกจากปัญหาได้เช่นกัน ดังนั้นการทำดีจะช่วยทำให้ปัญหาได้คลี่คลายเร็วขึ้น ได้คำตอบในชีวิตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
คำตอบนั้นอาจจะไม่มีคำตอบใดๆเลยก็เป็นได้ อาจจะเป็นคำตอบสั้นๆง่ายๆว่า มันจบไปแล้วเราจะแบกไว้ทำไม ว่าแล้วจิตใจก็โปร่งโล่งสบายจากการไม่ต้องมานั่งรอคอยคำตอบที่ไม่มีวันจะได้รับ
แต่บางครั้งกรรมก็ซับซ้อนกว่าที่คิด คือสามารถทำให้เราหลงว่าบรรลุธรรมได้ หลงว่าหลุดพ้นได้ จะมีอาการเพี้ยนๆที่เป็นไปในทิศทางเพิ่มกิเลส แต่เจ้าตัวจะเข้าใจว่ามีความสุข เช่นมีความสุขกายสบายใจที่ได้โยนความผิดให้กับคนอื่นด้วยใจเป็นสุข …อาการจะขัดๆเพี้ยนๆแบบนี้ ปากก็บอกว่าเป็นสุข แต่การกระทำจะสร้างบาป มันขัดกันไปมา ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นไปเพื่อล้างกิเลส ในกรณีหมดกรรมชั่วจริงๆ คำตอบจะเป็นไปในทางกุศล เป็นไปในทางลดกิเลสอย่างเดียว
ผลของกรรมนั้นเป็นเรื่องอจินไตย เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิดคำนวณ เราไม่สามารถรู้ได้ว่าสุดท้ายกรรมจะผ่านพ้นตอนไหน อย่างไร สิ่งที่เราทำได้เพียงแค่การทำดีให้มาก และการทำดีที่มีผลมากที่สุดก็คือการดับกิเลสซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหมดนั้นเสีย
ถ้าเราชัดเจนเรื่องกรรม เราจะไม่กล่าวโทษหรือแม้แต่จะคิดโทษใครเลย จะไม่มีใครผิดเลยนอกจากเรา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเราทำมาเองทั้งนั้น เราจะยินดีรับกรรมนั้นใจที่เป็นสุข เข้าใจและยอมรับสิ่งที่ตัวเองทำมาด้วยความยินดี เพราะได้รับกรรมชั่วแล้ว กรรมนั้นก็หมดไป ชีวิตเราก็จะดีขึ้นเพราะใช้หนี้ไปอีกเรื่อง
6). ผิดที่กิเลส
ตัวการแห่งทุกข์ทั้งหมดก็คือกิเลส กิเลสไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ความอยากเหล่านั้นแท้จริงไม่ใช่ส่วนหนึ่งในชีวิตเรา แต่เพราะความโง่ ความไม่รู้ของเราจึงนำกิเลสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต รับกิเลสเข้ามาเป็นตัวเป็นตนของเรา แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าฉันคือกิเลส กิเลสคือฉัน เป็นเนื้อเดียวกันอย่างแยกไม่ออก
เมื่อเรามีกิเลส เราก็จะไปสร้างกรรมชั่วตามแต่กิเลสจะผลักดัน ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาชอบเรา แต่เราไม่ชอบเขาเพราะเขาจนและหน้าตาไม่ดี นั่นคือเขาไม่สามารถผ่านมาตรฐานสนองกิเลสของเราได้ คู่ของเราต้องมีความสามารถในการสนองกิเลสของเรามากกว่านี้ นี่คือเรากำลังใช้กิเลสของเราในการวัดคุณค่าของคนแล้ว ซึ่งเมื่อเราทำกรรมเช่นนี้ การที่เราจะได้รับผลกรรมในแนวทางที่ว่า ถึงแม้เราจะดีแสนดีแต่เขาก็ไม่หันมาสนใจเราเลยก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
หรือ เราคบกันแฟนคนหนึ่ง ด้วยความที่เขามาจีบเรา เราก็ใช้โอกาสเอาแต่ใจ เรียกร้องสิ่งต่างๆ ซึ่งเรากำลังเพิ่มกิเลสของเราและกำลังทำให้คนอื่นทุกข์ นี่ก็เป็นกรรมชั่วที่เราทำเช่นกัน ซึ่งการที่เราจะได้รับผลกรรมในแนวทางที่ว่า ไม่ว่าเราจะสนองกิเลสของคู่รักเท่าไหร่ เขาก็ไม่เคยพอ แถมเอาแต่ใจมากขึ้นอีกด้วย ถ้าจะเกิดเรื่องแบบนี้ในชีวิต ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
เพราะเรามีกิเลสเราจึงสร้างกรรมชั่ว และเรานั่นเองก็ต้องมาคอยรับผลกรรมชั่วที่เราทำไว้ คนที่มีความเห็นความเข้าใจว่าคนเราเกิดมาชาติเดียวใช้ชีวิตให้เต็มที่ ก็จะขยันสนองกิเลส เพิ่มกิเลส ขยันทำชั่ว แล้วก็จะได้มาซึ่งผลกรรมชั่ว ซึ่งจะกลายเป็นสมบัติติดตัวของเขาต่อไปทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป
คนที่ไม่ชัดเจนเรื่องกรรม ก็จะไม่รู้ในเรื่องกิเลส แม้จะเป็นทุกข์อยู่ก็จะไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นกิเลส ต้องจมอยู่กับความเศร้าหมองอยู่อย่างนั้น แม้จะมีคนมาบอกทางแต่ก็เหมือนมองไม่เห็น ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน กรรมมันส่งผลแบบนี้ มันบังตาแบบนี้ นี่คือผลกรรมชั่วจากการที่เรามีกิเลส มันบังได้แม้กระทั่งการเห็นทางพ้นทุกข์
ดังนั้นการที่เรามามัวถามคำถามว่าฉันผิดตรงไหน? เลิกกับฉันเพราะอะไร? เป็นการหาคำตอบที่ปลายเหตุ ถึงแม้ว่าเขาจะบอกแต่ก็อาจจะไม่ใช่ความจริง ถึงแม้จะเป็นความจริงก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าใจตามที่เขาเข้าใจ กรรมจะบังให้ทุกอย่างคลาดเคลื่อน ให้เราทุกข์ ให้เราจมอยู่กับคำถาม ที่ไม่มีวันที่จะสามารถเข้าใจและยอมรับในคำตอบนั้นได้
เราจึงควรกลับมาที่เหตุของปัญหาทั้งหมด เหตุของกรรมชั่วที่ดลบันดาลให้เราต้องพบกับความทุกข์แสนสาหัส กรรมชั่วเหล่านั้นก็มาจากกิเลส ดังนั้นการจะพาตัวเองให้พ้นจากคำถามต่างๆ ให้พ้นจากกรรมชั่วเหล่านั้นคือการทำกรรมดีขึ้นมาใหม่ โดยการทำลายเหตุแห่งกรรมชั่วอันคือกิเลสให้สิ้นซาก
– – – – – – – – – – – – – – –
30.12.2557