Tag: อจินไตย

ผลของกรรมเป็นเรื่องอจินไตย

November 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 994 views 0

อจินไตย หมายถึง สิ่งที่ไม่ควรคิด คิดไปก็ไม่สามารถเข้าใจได้โดยสามัญ คิดมากไปพาลจะเป็นบ้า

เราไม่สามารถคิดหรือเดาได้ว่า “ผลของกรรม” ของเราหรือใครจะออกมาเป็นแบบไหนอย่างไร ไม่สามารถบอกได้ว่าเขาจะเจออะไร ต้องป้องกันแบบไหน ต้องแก้อย่างไร จึงจะหักลบกันได้พอดี

เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผลของกรรมนั้นจะแสดงผลออกมาอย่างไร ตอนไหน ที่ใด แบบใด กับใคร ฯลฯ และเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากรรมดีกรรมชั่วที่เคยทำมานั้นมีปริมาณสะสมไว้มากเท่าไหร่อย่างไร

ดังนั้นการที่จะพยายามเดาหรือคิดเอาว่า ผลของกรรมจะออกมาเป็นแบบนั้นแบบนี้ ฉากนั้นเหตุการณ์นี้ จึงเป็นเรื่องไร้สาระ

เรารู้ได้แค่เพียงว่าเมื่อทำดี ก็จะต้องได้รับผลกรรมที่ดี และเมื่อทำชั่วก็จะต้องได้รับผลกรรมที่ชั่ว อย่างยุติธรรม

ซึ่งเราจะรู้ได้เองว่าเราทำกรรมอะไรมาเมื่อได้รับผลของกรรมนั้นไปแล้ว เพราะสิ่งที่เราได้รับ คือสิ่งที่สะท้อนความดีความชั่วที่เราทำมาในชาตินี้และชาติก่อนๆนั่นเอง

ทำไมต้องรักเธอ

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 11,853 views 8

ทำไมต้องรักเธอ

ทำไมต้องรักเธอ

… กรรมใดหนอที่พาให้เราต้องมาผูกพัน

หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่าทำไมเราจึงต้องชอบคนนี้ ทำไมต้องรักคนนี้ ทำไมจึงต้องยอมให้กับคนนี้ กับคนอื่นเราก็ไม่เคยยอมขนาดนี้ ไม่เคยเผลอพลาดไปขนาดนี้ ต้องเป็นคนนี้เท่านั้นที่เราจะยอมให้ทำกับเราได้ขนาดนี้

เราได้เห็นเหตุแห่งความรักความหลงใหลกันมาแล้วในบทความก่อน ซึ่งแน่นอนว่าคนมีกิเลสก็ต้องพุ่งเข้าไปหาความรักเสมอ แสวงหาคู่หรือแสดงท่าทีพร้อมจะมีคู่เสมอ กิเลสนี่มันจะพยายามหามาเสพให้ได้ ซึ่งก็ได้ขยายกันมามากแล้ว

ในบทความนี้เราจะกล่าวกันในเรื่องของ “กรรมและผลของกรรม” เป็นสิ่งที่ยากจะอธิบาย เป็นเรื่องอจินไตย หลายคนมักจะพบว่าเราไปชอบคนที่เราไม่อยากชอบ เราไปรักคนที่ไม่ควรรัก เราไปหลงกับคนที่ไม่น่าหลง แม้ว่าเขาจะทำไม่ดีกับเราสักเท่าไร จะทิ้งเราไปนานแค่ไหน ทำไมเรายังต้องพลาดพลั้งกลับไปรักเขาทุกที เรามาลองไขรายละเอียดในเรื่องผลกรรมให้พอเห็นภาพกว้างๆกันดูว่าทำไมหนอ ทำไมต้องรักเธอ…

1). กรรมกิเลสในชาตินี้

กรรมนั้นคือการกระทำ ส่วนกรรมที่ไม่ดีนั้นเกิดมาจากอะไร ก็เกิดมาจากการที่เรามีกิเลส กิเลสก็สั่งให้เราไปทำกรรมแบบนั้นแบบนี้ ในหัวข้อก็จะชี้ให้เห็นถึงผลว่าทำไมเราจึงต้องรักต้องหลง จากเหตุแห่งกรรมกิเลสที่เราทำมาเอง

1.1). ทำไมเราจึงต้องรู้สึกชอบเมื่อแรกพบ … เราปรุงแต่งกิเลสไว้มากว่า คู่ในฝันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ พอมาเจอเข้าจริงๆ ก็จะพบว่าใช่เลย ซึ่งมันก็เป็นผลกรรมที่เราปรุงแต่งลักษณะคู่ในฝันตามกิเลสขึ้นมาเอง

1.2). ทำไมเราจึงต้องหลงหัวปักหัวปำ… ผลของการมีกิเลสคืออยากเสพอย่างไม่จบไม่สิ้น ความหลงนั้นเกิดขึ้นเพราะเราเข้าใจว่า เขาจะสามารถบันดาลสุขให้เราเสพได้ตลอดไป เราจึงจมอยู่กับความหลง เป็นผลกรรมที่เราต้องรับเพราะเรามีกิเลส

1.3). ทำไมเราจึงยอมให้เขากลับมาทุกครั้ง … คนที่คบหากันมานั้นก็จะร่วมกันบำรุงบำเรอกิเลสกันมาจนเสพติดรสสุขจากเสพเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เขาทิ้งเราไปมีคนอื่น แต่สุดท้ายเขากลับมาง้อเรา แม้ก่อนหน้านั้นเราจะทำใจแข็ง คิดไปว่าฉันจะไม่มีวันกลับไปแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังกลับไปจนได้ เหตุนั้นเพราะเรายังติดรสสุขเดิมๆอยู่ เช่นการดูแลเอาใจใส่ ฯลฯ

จะขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งอย่างตรงไปตรงมา คือเรื่องการสมสู่สมมุติว่าเราเคยมีคู่และสมสู่กันจนติดรสสุข ที่นี้เขาทิ้งเราไปแล้วด้วยเหตุอันใดก็ตาม แต่วันหนึ่งเขากลับมา ตอนแรกเราก็ใจแข็งนะ แต่สุดท้ายก็ยอมให้เขาเหมือนเดิม เหมือนกับคำที่เขาว่า “วัวเคยค้า ม้าเคยขี่” , “ถ่านไฟเก่า” ทั้งนี้ที่ยอมเพราะติดรสสุขของการสมสู่ กิเลสเรามาก เราเลยต้องรับผลกรรมจากกิเลสคือต้องยอมเขาไปเรื่อยๆ เพราะลึกๆเราก็ยังอยากเสพเขาอยู่เช่นกัน

และความกลัวเหงาก็เป็นอีกสาเหตุ ความพร่องในใจของคนจนต้องหาใครมาเติมตลอดเวลา มันอาจจะไม่ง่ายนักที่จะหาคนใหม่มาเติมเต็มในทันที ซึ่งถ้าคนเก่ากลับมาก็จะง่ายกว่า แต่ในประเด็นของความเหงาก็ไม่แน่ว่าจะทำให้กลับไปคบเสมอไป เพราะบางครั้งความทุกข์มันมากกว่าความเหงา หลายคนจึงสามารถยอมตัดใจได้แม้ว่าจะต้องทนเหงา ดังนั้นความเหงาจึงเป็นสาเหตุหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมีน้ำหนักค่อนข้างน้อยแต่ก็ยังมีผลอยู่ เพราะความเหงานี่ไม่จำเป็นต้องให้คนเดิมมาสนองเสมอไป อาจจะเป็นคนใหม่ หรือใช้เพื่อน ครอบครัว กิจกรรมใดๆมาสนองความเหงาก็สามารถทำได้

…สรุปในหัวข้อ “กรรมกิเลส” นี้ก็หมายถึงกรรมใหม่ที่ทำกันในชาตินี้ในชีวิตนี้นี่แหละ ไม่ได้เป็นเรื่องซับซ้อนมากมายนัก เพราะมีหลักฐานที่เห็นได้ด้วยตา รับรู้ได้ด้วยใจ เป็นของใหม่ที่มีหลักฐานให้สืบสาวราวเรื่องให้เห็นผลของกรรมที่ทำในชาตินี้

คือถ้าเราขุดค้นกิเลสของเราดีๆ ค้นไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไปที่เหตุแห่งทุกข์แท้ๆ ก็จะสามารถเจอกับกิเลสตัวการที่สร้างกรรมให้เราต้องหลงรัก ปักใจ ไม่ยอมปล่อยยอมวาง แม้จะโดนทำร้ายก็ยังยอมให้เขาอยู่เรื่อยไปได้

2). กรรมเก่า

มาถึงเนื้อหาจริงๆของบทความนี้กันเสียที สิ่งที่เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนยากที่จะขุดค้นหาสาเหตุลงไปได้นั้นคือกรรมเก่า

กรรมเก่าในที่นี้หมายถึงกรรมที่สะสมมาตั้งแต่ชาติก่อนๆ ที่สืบสาวราวเรื่องกันไม่ได้ในชาตินี้ นึกยังไงก็นึกไม่ออกว่าไปทำกรรมนั้นไว้ตอนไหน เราก็จะยกไว้ให้เป็นเรื่องของกรรมเก่า และกรรมเก่านี่เองเป็นพลังลึกลับที่ผลักดันให้ต้องไปรัก ไปหลง ยอมให้อภัยทุกครั้งแม้เขาจะทำผิด โดยที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับกิเลสที่มีในชาตินี้เลยก็เป็นได้

ผลของกรรมหรือวิบากกรรมนั้น เป็นผลจากที่เราเคยไปทำกรรมไว้ในชาติใดชาติหนึ่ง เช่นเดียวกับที่เรามีกรรมจากกิเลสในชาตินี้ ผลกรรมก็จะส่งผลในชาตินี้และชาติต่อไปอีกเป็นส่วนๆ ดังนั้นในชาตินี้เราก็ต้องรับวิบากกรรมของเราที่เคยทำมาในชาติก่อนๆด้วยเช่นกัน วิบากกรรมนี้อาจจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้ายก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราทำกรรมด้านใดมามาก

2.1). ทำไมเราจึงต้องรู้สึกชอบเมื่อแรกพบ …วิบากกรรมเก่านั้นจะส่งผลเหมือนแม่เหล็ก ดึงดูดสิ่งที่คู่ควรกับกรรมของเรามาให้เราเจอ เราจะไม่สามารถผลักไสหรือป้องกันได้ ต้องรับผลอย่างเดียวเท่านั้น ดังเช่นอาการหลงชอบตั้งแต่แรกเจอโดยไม่มีเหตุผล มีความรู้สึกแปลกประหลาดต่างจากคนอื่น

เราอาจจะเคยพบคนหน้าตาดี นิสัยดี ฐานะดี ฯลฯ แต่กลับรู้สึกไม่เหมือนพบกับคนคนนี้ วิบากกรรมจะยิงผลเข้ามาที่ใจตรงๆ โดยไม่สามารถป้องกันได้ด้วยสติ เพราะวิบากกรรมมันจะมาเหนือเมฆเสมอ มาเหนือกว่ากำลังสติปัญญาของเราเสมอ มันจะหลงของมันไปเองตั้งแต่แรก ส่วนจะสามารถรู้ตัวทีหลังได้นั้นก็เป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าตราบใดที่วิบากกรรมยังส่งผลไม่หมด ก็จะไม่สามารถหนีได้ จะต้องพบกับความรักความหลงที่ไม่มีเหตุผลแบบนี้จนกว่าผลของกรรมจะสิ้นสุด

ยิ่งคนที่ปฏิบัติธรรมมาก มีภูมิธรรมสูง เวลาวิบากกรรมขั่วมาก็จะรุนแรงกว่าชาวบ้านทั่วไป เพราะกรรมชั่วนั้นมีหน้าที่หนึ่งคือกระแทกให้เกิดทุกข์ เมื่อเกิดทุกข์จึงค้นหาเหตุแห่งทุกข์ จนศึกษาการดับทุกข์ และดับทุกข์ด้วยวิถีทางดับทุกข์ที่ถูกตรง ดังนั้นคนที่มีกำลังสติมากๆ ผลกรรมที่บางเบาอาจจะไม่สามารถทะลุกำแพงสติปัญญาเข้ามาทำให้ทุกข์ได้ ดังนั้นเมื่อได้รับก็จะได้รับผลกรรมก้อนใหญ่ที่มีความรุนแรงมาก ทำให้กระวนกระวายมาก ทำให้หลงมากและสิ่งที่เกิดจะทะลุกำแพงสติและปัญญาที่มีทั้งหมด

วิบากกรรมจะทำให้นักปราชญ์รู้สึกหลงรักหลงชอบไปไม่ต่างจากความรู้สึกของคนธรรมดาทั่วไป แต่แน่นอนว่ามีวิบากกรรมชั่วก็ต้องมีวิบากกรรมดี คนที่ทำดีมามากก็จะสามารถหลุดจากสภาพหลงได้ในเวลาไม่นานนัก อาจจะหลงชอบอยู่สักพักหนึ่งแล้วอยู่ๆก็หลุดจากอาการเหล่านั้น นั่นเพราะผลกรรมชั่วได้ถูกชดใช้จนหมด คือถูกทำให้หลงรักแล้ว และเมื่อหมดวิบากกรรมชั่ว วิบากกรรมดีจึงส่งผลได้คือทำให้มีสติ ทำให้ตาสว่าง ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาเอง จนปล่อยจนคลายได้

2.2). ทำไมเราจึงต้องหลงหัวปักหัวปำ…กรณีของคนที่มีวิบากกรรมมากก็จะต้องผูกพันนานหน่อย จะไม่หลุดง่ายๆ จะหลงมัวเมาหัวปักหัวปำอยู่แบบนั้น สติปัญญาอะไรไม่ต้องถามถึง มันไม่มีหรอกเพราะวิบากกรรมมันจะแรงกว่าเสมอ ฝึกมาดีแค่ไหนก็จะกลายเป็นคนที่หลงในความรักคนหนึ่ง แทบไม่ต้องพูดถึงคนทั่วไปที่ไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างถูกตรงเลย มัวเมาจากวิบากกรรมตัวเองแล้วยังต้องเมากิเลสตัวเองซ้อนเข้าไปอีก กลายเป็นหลงหัวปักหัวปำ

ถึงเขาจะทำไม่ดีกับเรา เราก็จะไม่ถือโทษนะ จริงๆมันอาจจะดูว่างี่เง่า เอาแต่ใจ ไม่มีเหตุผลในสายตาของคนอื่น แต่ในความเข้าใจของเรามันจะเข้าใจเขาได้ มันจะลำเอียงเพราะหลงรักเขา ที่ไปหลงรักเขามันก็มีพลังแห่งวิบากกรรมมาดล มันดลให้รักให้ปักมั่น เหมือนคนหูหนวกตาบอด ใครบอกก็ไม่ฟังเหมือนโดนมนต์สะกดอะไรสักอย่าง

แม้ว่าจะมีคนบอกว่าเขาหรือเธอคนนั้นไม่น่าทำให้หลงได้ขนาดนั้น ไม่เหมาะสม ไม่น่าคบหา หรือคนอื่นบอกว่าถ้าเป็นเขาก็ไม่คบหรอก เราได้ยินเขาพูดนะ เข้าใจด้วย รับฟังอย่างมีสติด้วย แต่ในใจเราจะไม่รู้สึกตามเขา เวลาฟังมันเข้าใจเหตุผลได้ทุกอย่าง แต่มันทำไม่ได้ มันฝืนไม่ได้ ผิดชอบชั่วดีรู้หมดทุกอย่างแต่ต้านทานอะไรไม่ได้เลย

นี้เองคือพลังของกรรมและผลของกรรม เมื่อเราทำกรรมอะไรไว้แล้วมันจะให้ผลเหมือนกับจับเราไปขึงแล้วยิงเป้าโดยที่ไม่อาจจะขัดขืน สั่งให้เราหลงงมงาย ให้เราจมอยู่กับทุกข์ใจแสนสาหัส เวลาที่คนต้องอยู่แบบไม่อยากเสพแต่หนีไม่ได้นี่มันทุกข์นะ ตัวเองก็ไม่ได้อยากรักอยากหลงสักเท่าไร แต่มันหนีไม่ได้ มันออกไม่ได้ มันไม่มีปัญญา มันจะตื้อไปหมดสุดท้ายก็มาหลงเขาเหมือนเดิมแม้จะทุกข์แค่ไหนก็ต้องวนกลับมาโดนอยู่ดี

วิธีเดียวที่จะพ้นวิบากกรรมชั่วที่ทำให้ต้องทนทุกข์อยู่คือการทำกรรมดีช่วย แน่นอนว่าผลกรรมชั่วก็ต้องรับ แต่กรรมดีก็ต้องรับเช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรทำกรรมดีให้มากเพื่อไปเจือจางผลกรรมชั่วนั้นเสีย เพื่อให้เราไม่ต้องทนรับกรรมชั่วต่อเนื่องกันนานๆ ให้พอมีกรรมดีได้ส่งผลให้เกิดปัญญา ให้เห็นความจริง ให้โผล่ขึ้นมาหายใจได้บ้างหลังจากที่ถูกกรรมชั่วลากลงน้ำจนทุกข์ทรมาน

2.3). ทำไมเราจึงยอมให้เขากลับมาทุกครั้ง … คนที่มีกรรมผูกผันมาก แม้จะพยายามสะบัดก็จะสะบัดไม่หลุด หนีไม่ได้ ถึงจะพยายามหนีก็ต้องกลับมาหลงเหมือนเดิม ถึงเราจะยอมใจแข็งตัดใจทิ้งความสัมพันธ์นี้ไป สุดท้ายวิบากกรรมก็จะดลให้เขามาง้อ ให้เขามาแสดงอาการให้เรารู้ว่าเราสำคัญ คำพูดมากมายที่ตรงกับใจซึ่งทำให้เราใจอ่อน หรือไม่ก็เป็นเราที่วนกลับไปเสียเอง ยอมรับกรรมนั้นกลับมาซ้ำเติมเราอีกครั้งหนึ่ง

แม้เราจะไม่ได้รู้สึกอยากเสพสิ่งใดในตัวเขา แต่ก็จะมีเหตุผลบางอย่างที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดูดดึงเขากลับมาไว้กับเราอีกครั้ง จริงๆแล้วเป็นการลากกลับมาของวิบากกรรม ผลของกรรมนั้นหากยังไม่ได้ถูกชดใช้จนหมด ก็จะไม่ปล่อยให้เราให้เราได้เป็นอิสสะ เรายังจะต้องจมและวนเวียนอยู่กับเขาหรือเธอซึ่งก็ไม่รู้ไปหลงใหลอะไรมากมาย หาเหตุผลก็ไม่ค่อยเจอ ข้อดีก็มีให้เห็นไม่มาก ก็เสียก็มากมาย แต่เรากลับไปขยายเนื้อความในข้อดีแล้วมักจะทำเป็นมองไม่เห็นข้อเสียนั้นเสียเอง

วิบากกรรมมันพาให้หลงไปแบบนี้ อะไรก็ป้องกันไม่อยู่ ได้แต่จำยอมรับผลกรรมด้วยใจที่เป็นสุข แน่นอนว่าในภาษานั้นพอจะยอมรับได้ แต่ในความจริงที่เกิดขึ้นมันจะยอมรับไม่ได้ ทำใจให้เป็นสุขไม่ได้ เพราะผลกรรมนั้นก็ดลให้เกิดความหลงผิด จนเกิดความทุกข์ ลืมธรรมะ ลืมเครื่องมือทุกอย่างที่เคยใช้เพื่อกำจัดทุกข์เหมือนกับคนไม่เคยฝึกปฏิบัติใจมาเลย

วิบากกรรมนั้นยังมีช่วงเวลาของการส่งผล บางคนเลิกกับคนรักที่เคยหลงยึดไว้หลายปีแล้ว แม้ว่าจะหันหน้าปฏิบัติธรรม หันมาทำดี หันมาสร้างกุศล แต่สุดท้ายกลับถูกกรรมดึงกลับไปให้ต้องไปมีคู่ ตอนแรกมันเหมือนจะหนีออกมาได้นะ มาพบธรรมะ มีกัลยาณมิตร เจอครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงแล้ว เห็นทางพ้นทุกข์ก็แล้ว แต่ยังถูกวิบากกรรมลากกลับไปให้หลงมัวเมาอีก

ตอนถูกลากกลับไปอีกทีมันจะลืมธรรมะหมดเลยนะ ลืมคำสอนครูบาอาจารย์ ลืมกัลยาณมิตร ลืมศีล ลืมสติ ลืมปัญญา หันกลับไปหลงแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ดีไม่ดีจะยอมลดศีลทิ้งธรรมไปเลย ยอมกลับไปมีรักดีกว่ามีธรรม

ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร? นั่นก็เพราะเมื่อคนหันมาทำดี ทำกุศลกรรมเข้ามากๆ ศึกษาธรรมะมากๆ ผลกรรมในด้านดีจะส่งผลและดึงวิบากกรรมชั่วเข้ามา กล่าวกันแบบนี้อาจจะงง ว่าเอ๊ะ!ทำไมทำกรรมดีแล้วชั่วจึงมา นั่นเพราะว่าเวลาเราทำดีไปมากเข้า กรรมดีก็จะดึงวิบากกรรมชั่วมาให้เกิดผลที่ดีขึ้น คือดึงวิบากกรรมชั่วมาใช้ให้มันหมดไปอีกเรื่องหนึ่งชีวิตจะได้ดีขึ้น เมื่อวิบากกรรมชั่วนั้นส่งผลขึ้นมาก็จะทำให้หน้ามืดตามัว แม้ว่าจะอยู่กลางวงธรรม ห้อมล้อมด้วยมิตรสหายและครูบาอาจารย์ที่ถูกตรง แต่ก็สามารถหลุดออกจากวงโคจรไปได้เช่นกัน เพราะวิบากกรรมนั้นลากออกไปให้ได้ทำภารกิจ คือไปชดใช้กรรม

ถ้าถามว่าต้องใช้วิบากกรรมถึงไหนก็ยากจะตอบได้ เพียงแค่เข้าใจได้ว่าใช้เท่าที่ควรจะใช้ แต่มันจะไม่มากกว่าที่เราทำมาแน่นอน เมื่อใช้วิบากกรรมหมดก็จะรู้เอง มันจะหายโง่ มันจะมีเหตุการณ์ที่มาดลให้เกิดปัญญาเอง

แต่ทีนี้มันจะมีโอกาสพลาดอยู่ตรงที่ว่าคนดีที่กุศลกรรมนั้นลากอกุศลกรรมมาแล้ว ไม่ได้มีแค่ผลของกรรมอย่างเดียว ยังมีกิเลสรวมอยู่ด้วย สุดท้ายคนดีที่ทำดีมากๆแต่ล้างกิเลสไม่เป็นก็จะต้องจมไปกับชะตากรรม ต้องวนเวียนมีคู่ แต่งงาน มีลูก เลี้ยงลูก แบกภาระมากมายสะสมทุกข์และกรรมชั่วเพิ่มไปอีกชาติหนึ่ง

ซึ่งก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้เป็นธรรมดาของโลก จะสังเกตว่าคนทำดีมากๆมักจะได้รับผลร้ายแปลกๆ มักจะได้ยินว่าคนดีไม่น่าได้รับสิ่งร้าย ไม่น่าตายไม่ดีเลย จริงๆแล้วสิ่งร้ายนั้นไม่ได้เกิดมาจากการทำดี แต่เกิดจากกรรมชั่ว จึงส่งผลเป็นสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิต สิ่งที่ไม่ดีนั้นเกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่ยกตัวอย่างมาในข้างต้นคือมาเพื่อกระแทกให้เห็นกรรมชั่วที่ตัวเองทำไว้ จะได้ทำดีให้มากขึ้น หรือในกรณีคนดีบางคนก็เพียงแค่ตายใช้กรรมเพื่อเปลี่ยนภพไปสู่ภพที่ดีกว่า เช่นชาตินี้อาจจะเป็นคนจนมีภาระมาก เมื่อทำดีมากๆก็หมดกรรม ถูกทำให้ตายและเกิดใหม่เป็นคนที่พร้อมด้วยปัจจัยที่เอื้อต่อการทำดีมากขึ้นก็เป็นได้

ในกรณีเดียวกันที่คนทำดีเจอสิ่งไม่ดีนั้นเพราะวิบากกรรมลากสิ่งชั่วมาให้เรียนรู้ แต่ทีนี้คนดีส่วนมากแม้จะมีความดีมากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีปัญญามากพอจะผ่านเรื่องเลวร้ายนั้นได้ บางคนก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับอกุศลกรรมที่ถูกดึงเข้ามา นั่นเพราะเขาไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่มีครูบาอาจารย์ที่ถูกตรง ไม่มีกัลยาณมิตร ไม่มีธรรมที่จะพาให้ผ่านเรื่องเลวร้ายเหล่านั้นได้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าการที่จะก้าวเข้าสู่วิธีปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ หรือก่อนจะเข้าสัมมาอริยมรรคได้นั้นจะต้องพบกับกัลยาณมิตรเสียก่อน มรรคนั้นเหมือนกับดวงอาทิตย์แต่ก่อนอาทิตย์จะขึ้นเราจะต้องเห็นแสงอาทิตย์ก่อน เห็นแสงเงินแสงท่องที่ส่องมาก่อน คือต้องคบหาสัตบุรุษหรือมีกัลยาณมิตรที่รู้สัจจะแท้สู่การพ้นทุกข์เสียก่อน และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อีกว่า มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีเป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของการพ้นทุกข์

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเก่งกาจยิ่งใหญ่มาจากไหนก็หนีพลังของวิบากกรรมไม่พ้น หนีสิ่งที่ตัวเองเคยทำมาไม่พ้น เรายังคงต้องรับผลกรรมที่เราเคยทำมานั้นอย่างหลบเลี่ยงไม่ได้ แต่หากเราได้คบหากับมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี เขาเหล่านั้นก็จะพาเราสร้างกรรมใหม่ เป็นกรรมดีที่พาให้เจริญเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่พอจะเจือจางพลังแห่งวิบากกรรมชั่วให้ส่งผลเบาบางลงได้บ้าง

เหมือนกับเราผสมน้ำเปล่าใส่น้ำหวาน มวลของน้ำหวานยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่ถ้าเรากินน้ำที่ผสมแล้วก็จะไม่รู้สึกหวานมากเหมือนกินน้ำหวานล้วนๆ วิบากกรรมดีและชั่วก็เช่นกัน แม้เราจะไม่สามารถทำให้หมดไปได้ แต่สามารถทำให้วิบากกรรมเหล่านั้นเจือจางได้ และทำให้เราสามารถชดใช้กรรมได้ในขีดที่ไม่ทุกข์มากนัก จะดีกว่าไหมหากเราสามารถเลือกที่จะผ่อนหนักเป็นเบาได้ เหล่านี้คือกรรมใหม่ที่เราเลือกได้ ชีวิตลิขิตเองได้ โดยการทำกรรมใหม่ซึ่งมีคุณค่ากว่าการจมอยู่กับกรรมเก่า

3). เราทำกรรมอะไรมาจึงต้องมาหลงมัวเมากันขนาดนี้

กว่าจะมาถึงชาตินี้เราเวียนว่ายตายเกิดกันมาหลายภพหลายชาติ เป็นคนดีคนเลวมามากมาย มีคู่มาก็มาก แม้ว่าชาตินี้จะไม่อยากมีคู่ก็ตาม วิบากกรรมก็จะดลให้อยากมีเพราะจริงๆเรามีสะสมมาหลายชาตินับไม่ถ้วน กรรมที่เคยผูกพันกันในแบบสามีภรรยาจึงถูกสร้างขึ้นมามากมาย ฝังลึกลงไปในจิตวิญญาณ

เมื่อเคยมีคู่มาหลายชาติ ก็ต้องมารับผลกรรมจากการมีคู่ที่เคยทำมาด้วย ไม่ใช่ว่าจะแค่ตัดใจแล้วหนีมันทำไม่ได้ วิบากกรรมจะดลให้หลงไปมีคู่เองเมื่อถึงเวลาอันควร ส่วนจะมากน้อยเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับว่าเราสะสมกรรมแห่งการมีคู่มากมากเท่านั้น นี่ยังไม่รวมวิบากกรรมจากการไปจีบเขา ไปหักอกเขา ไปทิ้งเขานะ มันต้องรับทั้งหมด ดังนั้นเราเกิดมาก็จะเจอลีลาทุกข์จากเรื่องคู่ต่างกันเพราะทำหลายรูปแบบ

ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงบางคนหลงไปว่าฉันมีคนมาจีบเยอะ ฉันมีแฟนหลายคน ฉันมีเสน่ห์ ก็เมาโลกธรรมหลงไปบริหารเสน่ห์คุยกับคนนั้น เล่นหูเล่นตากับคนนี้ ปั่นหัวคนโน้น สารพัดลีลาที่จะใช้ยั่วคนอื่นไปทั่ว แม้แต่การมีแฟนหลายคนก็อย่าหลงดีใจไป ทั้งหมดนั้นเราจะต้องรับแน่นอน เราไปเป็นสิ่งที่กระตุ้นกิเลสให้ใคร เราจะต้องโดนเอาคืนในชาติใดชาติหนึ่งแน่นอน

เช่น ตายแล้วมาเกิดในร่างผู้ชาย พอโตได้ที่ถึงวัยกิเลสกำเริบก็พยายามจีบเขาไปทั่ว แต่ก็ทำยังไงก็โดนเขาหักอก โดนเขายั่วแต่ไม่ยอม โดนเขาทิ้งก็ยังหลงมัวเมาตื้อเขาอยู่ ต้องทนทุกข์อยู่แบบนั้น นี่ก็เกิดจากกรรมที่ทำมานั่นเอง

คนที่ไม่ชัดเจนเรื่องกรรม ไม่เชื่อในกรรมและผลของกรรม ก็จะสะสมกรรมชั่วไปเรื่อยๆ แล้วก็วนเวียนรับกรรมชั่วทุกข์ทรมานแสนสาหัสจนหันมาทำดีจนได้รับผลกรรมที่ดี เกิดมามีหน้าตาดีแต่แล้วก็เลือกทำกรรมชั่วไปทั่ว ก็ต้องวนมารับวิบากกรรมชั่วแบบนี้เรื่อยไป คนก็วนเวียนในวัฏสงสารแบบนี้ ทำดีทำชั่วสลับกันไปแบบนี้ แล้วก็ต้องมาคอยรับผลกรรมชั่วจนทุกข์ทรมานแบบนี้ มันเหนื่อยไหมล่ะ

4). การพาตนให้รอดพ้นกรรมเก่า

คนที่กิเลสหนามักจะต้องเวียนกลับไปเจอกับทุกข์เช่นนี้ เพราะยังมีเชื้อกิเลสเป็นตัวดูดดึง แม้จะอยู่ในกลุ่มมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี มีครูบาอาจารย์ที่สอนอย่างถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ ลดกิเลสได้จริง มีปัญญาจริง ถึงจะพยายามปฏิบัติจนมีความสงบ รูปสวย มีคนนับหน้าถือตา เป็นดังพ่อพระแม่พระ แต่สุดท้ายก็จะโดนวิบากกรรมลากกลับไปให้หลงรัก ให้มีคู่ ดังที่เห็นได้ทั่วไปในสังคมว่า คนที่ดีแสนดีแต่ทำไมเวียนกลับไปเสื่อมจากศีลธรรม

การที่เสื่อมจากศีลธรรมนั้นเพราะว่าแท้จริงแล้วไม่เคยมีธรรมนั้นจริงๆในตนเองต่างหาก ไม่มีปัญญาในตน ไม่มีสภาพรู้แจ้งกิเลสในตน ดังนั้นจึงมีกิเลสเป็นไส้ศึกทำให้ต้องแพ้พ่ายเมื่อผลกรรมยกทัพมาตี ถ้าเราไม่ใช่ของจริงถึงแม้จะอยู่ในหมู่คนดีก็จะต้องโดนพรากโดนจับแยกออกไปให้รับทุกข์

แต่คนที่มีสภาพรู้แจ้งกิเลสในเรื่องคู่จะต่างออกไป เพราะเข้าใจรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ทั้งหมดในเรื่องคู่ จึงไม่มีวิบากกรรมใดที่จะสามารถมากระแทกกระทั้นให้สละความโสดหรือไปหลงรักใครได้ เพราะเข้าสู่ภาวะของความเที่ยงในวิญญาณว่าไม่มีคู่นี่มันสุขที่สุดแล้ว

แต่ถึงกระนั้นก็ตามแม้ว่าจะเป็นผู้มีปัญญารู้แจ้งในกิเลส เขาเหล่านั้นก็ไม่ได้ปัญญามาด้วยความบังเอิญ แต่ได้มาจากการเผชิญกับความหลง ความรัก เรียนรู้สุขทุกข์ ล้มลุกคลุกคลานกันมามากมายเช่นเดียวกับคนกิเลสหนานั่นแหละ แต่สิ่งที่ทำให้เขาผ่านมาได้และเพียรพยายามจนไม่ต้องวนกลับไปทุกข์อีก คือการคบหาสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมได้ฟังสัจธรรมที่บริบูรณ์ เกิดศรัทธาและปฏิบัติตามจนพ้นทุกข์ได้นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

15.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ฉันผิดตรงไหน

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,047 views 0

ฉันผิดตรงไหน

ฉันผิดตรงไหน

…เมื่อความรักได้ผ่านพ้นไป ทิ้งไว้เพียงแค่คำถาม ที่ไม่รู้คำตอบ

ในบางครั้งเราอาจจะได้ยินเรื่องราวของความรักที่จบไปอย่างไม่มีเหตุผล บางคู่คบกันมาเนิ่นนานกลับต้องมาเลิกรากันด้วยเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง หรือกระทั่งบางคู่ที่ต้องเลิกกันโดยไม่รู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ทิ้งไว้เพียงความสงสัย มีแต่คำถามที่ไม่มีคำตอบ ท่ามกลางความเงียบงันนั้น เสียงในใจกลับดังก้องขึ้นมาว่า” ฉันผิดตรงไหน?

1). ผิดที่ใคร?

ท่ามกลางความสับสนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคู่ที่เลิกรากันโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจรับไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์อันนี้พิศวงงงงวยเหล่านั้น จึงมักจะพยายามคิดหาคำตอบว่ามันเกิดจากอะไรด้วยเหตุผล ด้วยตรรกะ ด้วยข้อมูลที่รับรู้มา เป็นวิธีคิดที่ใช้กันโดยทั่วไป

และโดยทั่วไปคนเรามักจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง เมื่อใช้ความคิดที่ยังมีกิเลสปน แม้ว่าจะมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมก็จะไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ ซึ่งจะเห็นเพียงความจริงตามที่กิเลสกำหนดให้เห็นเท่านั้น จึงกลายเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ใครผิด ใครเริ่มต้นก่อน ใครทำให้รักของเราต้องเปลี่ยนไป เป็นไปในทิศทางของกิเลสของเรา

เรามีกิเลสมาก ความจริงก็จะบิดเบี้ยวมากตามไปด้วย กิเลสยังสร้างความจริงลวงขึ้นมาเสริมจากเหตุการณ์จริงได้อีก เช่นคู่รักทำอย่างหนึ่ง แต่เราไปตีความว่าเขาทำอีกอย่างหนึ่ง แล้วปั้นจินตนาการต่อฟุ้งกระจายจนความลวงเป็นความจริงขึ้นมาได้ ปั้นจิตให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้ เรียกว่า “มโนมยอัตตา” คือการปรุงแต่งจิตใจ สร้างภาพมายา ขึ้นเป็นตัวเป็นตนแล้วยึดว่าเป็นของจริง ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนสองคนคุยกันไม่รู้เรื่องเพราะเห็นความจริงไม่ตรงกัน

เมื่อมีความเห็นต่างเราก็มักจะเชื่อไปในทางที่เราคิด เราเห็น เราเข้าใจ เราเลือกเชื่อในสิ่งที่เห็นแต่มักจะมองไม่เห็นสิ่งที่เป็นจริงๆ เพราะแท้จริงแล้วมีพลังอำนาจบางอย่างที่อยู่เหนือกว่าสิ่งที่เห็นและเข้าใจนั่นคือกรรมและกิเลส

2). ผิดที่เขา?

ความผิดเกิดขึ้นจากคนอื่นอย่างชัดเจนก็อาจจะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่หากความผิดพลาดนั้นเกิดจากความเข้าใจของเราที่มองเห็นว่าเขาทำผิดนั้นก็จะเป็นเรื่องที่ยาก

เพราะหากเราไปตัดสินว่าใครผิดใครถูกด้วยความเชื่อหรือความเห็นของเราที่ยังมีกิเลสหนาอยู่นั้น ผลของการตัดสินมันก็จะผิดตามไปด้วย ซึ่งโดยมากแล้วคนจะไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิด ถึงจะยอมรับก็รับครึ่งเดียวแต่เวลาคนอื่นทำผิดก็เพิ่มโทษมากขึ้นกว่าความเป็นจริง มองว่าคนอื่นผิดเป็นหลัก ไม่มองพยายามมองหาสิ่งผิดในตนเอง ผลักภาระในกรรมนี้ให้คนอื่น ไม่ยอมรับกรรมนี้เป็นของตน

การมองว่าความผิดมาจากคนอื่นนั้นเป็นเพราะเรามีอัตตาและไม่เข้าใจในเรื่องกรรม ในส่วนของการมีอัตตาคือเรามักจะเชื่อว่าเราถูกเสมอ เราไม่เคยผิด คนอื่นผิด ถึงเราผิดเราก็ผิดไม่มาก คนอื่นผิดมากกว่า เราเป็นคนดี เราดีพร้อมทุกอย่างแล้ว ทำทุกอย่างดีแล้ว แต่เขาไม่ทำดีเหมือนเรา

อัตตา หรือความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนเหล่านี้ คือการยึดศักดิ์ศรี ยึดความถูกต้อง ยึดความเป็นใหญ่มาเป็นตัวตนของเราด้วย เมื่อเรามีอัตตามาก เราก็จะเชื่อมั่นมาก แต่เป็นความเชื่อมั่นที่เคลือบด้วยกิเลส เป็นกิเลสแท้ๆ ยิ่งเชื่อก็ยิ่งผิด ยิ่งยึดก็ยิ่งบาป

เมื่อไหร่ที่เราเชื่อมั่นว่าเราถูกเขาผิดมากเข้า ก็จะทำให้ความเข้าใจในเรื่องกรรมผิดเพี้ยนไปด้วย อัตตานี้เองคือตัวบังทุกอย่างไว้ และโยนความผิดให้คนอื่น ตั้งตนเป็นผู้ถูกกระทำ เอาดีเข้าตน เอาชั่วใส่คนอื่นอย่างแนบเนียน

3). ผิดที่เรา?

คนที่สามารถก้าวข้ามอัตตาได้ก็จะมีโอกาสจะกลับมามองที่ตนเอง การที่เราไม่เพ่งโทษหรือไม่โยนความผิดให้คนอื่นนั้นเป็นสิ่งที่สมควรอยู่แล้ว

ทุกอย่างนั้นมีเหตุในการเกิดและปัญหาของคู่รัก ก็ต้องมีเราเป็นส่วนร่วมในเหตุนั้นด้วยเช่นกัน แต่จะเริ่มตั้งแต่ตอนไหนแล้วสิ่งใดเป็นปัจจัยให้เกิดก็อาจจะทราบได้ยาก เพราะบางครั้งเราอาจจะไม่มีโอกาสได้ปรับความเข้าใจ ได้แลกเปลี่ยน ได้ไขปัญหาต่างๆร่วมกัน

แม้ว่าเราเองจะยอมรับความผิดพลาดทั้งหมดกลับมาที่ตัวเรา มองตัวเราว่าเป็นคนผิด มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโดยไม่โทษคนอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถหายคลางแคลงใจจากคำถามที่ว่า “ฉันผิดตรงไหน?”

แต่การยึดมั่นถือมั่นว่าเราผิดนั้นก็เป็นอัตตาอีกเช่นกัน แต่จะซับซ้อนกว่าในแบบโยนความผิดไปให้คนอื่นเขา ซึ่งคนที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตนผิดและยินดีรับผิด ยอมอมทุกข์นั้นก็เหมือนคนที่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ยึดว่าฉันผิดจึงจะดี ยึดว่าฉันต้องรับทุกข์ทุกอย่างไว้เองจึงจะดี

การยอมรับว่าเราผิดนั้นไม่จำเป็นต้องยึดจนทรมานร่างกายและจิตใจของตัวเอง เพียงแค่ยอมรับให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าเราผิดพลาดตรงไหน นิสัยใดบ้างที่ไม่ส่งผลดี สิ่งใดที่ทำลงไปแล้วเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ ก็ยอมรับผิดไปตามจริง แต่ไม่จำเป็นต้องแบกทุกข์และความผิดนั้นไว้เป็นตัวเป็นตนของเรา

เพราะการทำผิดนั้นไม่ได้หมายความว่า ชีวิตที่เหลือต้องทุกข์ระทมขมขื่น แต่การทำผิดนั้นก็หมายถึงการทำผิดครั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเอาความผิดในครั้งก่อนมากำหนดความผิดในครั้งต่อไป เพราะถ้าเรารู้สาเหตุจากความผิดพลาดจริงๆแล้วแก้ไขมันได้ ความผิดแบบเดิมก็จะไม่เกิดอีกในครั้งต่อไป

4). ผิดที่เราก็ได้นะ…

ในการยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคู่รัก มักจะไม่ได้ชัดเจนและสามารถมองออกได้ง่ายว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เริ่มต้นจากตรงไหน ปัญหาสะสมมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และด้วยความเป็นคู่รัก จึงมักจะมีการแสดงออกที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าที่คนทั่วไปแสดงออก บางครั้งอาจจะเหมือนยอมรับแต่ในใจก็ไม่ยอมรับ บางครั้งเหมือนจะไม่ยอมรับแต่จริงๆก็ยอมรับแล้วแต่ไม่กล้าบอกเพราะกลัวจะเสียฟอร์ม

การยอมรับผิดโดยการประชดประชันนั้นเป็นความซับซ้อนของกิเลส เราแสดงออกว่าเรายอมรับผิดแต่ในใจเรากลับมองว่าคนอื่นผิด แต่เราเลือกที่จะไม่พูดไปเพราะเหตุปัจจัยต่างๆที่มีผลให้เราไม่ยอมแสดงออก การประชดแบบนี้จะทำให้ปัญหายุ่งยากซับซ้อนเข้าไปอีก

หรือหลายคนที่ใช้วิธีเงียบ ปกปิดความรู้สึก ทำเสมือนว่ายอมรับผิด นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว แต่ถ้าในใจไม่ได้รู้สึกว่าความผิดพลาดเหล่านั้นเกิดจากตนเอง ยังคงเชื่อมั่นว่าตนถูกคนอื่นผิด ก็เหมือนการกดข่มปัญหาไว้ไม่ให้แสดงตัวออกมา ปล่อยให้มันสะสมรอวันระเบิดในโอกาสต่อไป

แต่ในบางครั้งที่ปัญหานั้นมีแนวโน้มที่จะลุกลาม การยอมรับผิด ยอมเป็นคนดีรับทุกอย่างไว้เอง เพื่อไม่ให้มีการกระทบกระทั่งหรือบาดหมางกันไปมากกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นกุศลอยู่บ้าง แม้ในใจจะไม่ได้ยอมรับเสียทีเดียว แต่หากทำไปเพื่อไม่ให้เหตุการณ์นั้นลุกลามบานปลายสร้างปัญหามากกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่สมควรจะยอม

5). ผิดที่กรรม?

กรรมคือสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนและยุติธรรมที่สุดในโลก เราไม่มีวันที่จะได้รับสิ่งใด เหตุการณ์ใด ความรู้สึกใด โดยที่เราไม่ได้ทำสิ่งนั้นมา สิ่งที่เราได้รับไม่ว่าจะเป็นการถูกเข้าใจผิด การทอดทิ้ง การเลิกรา ล้วนเป็นสิ่งที่เราทำมาแล้วทั้งนั้น

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลของกรรมของเรา ซึ่งผลของกรรมนี้เองเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะมาไม้ไหน เมื่อไหร่ สิ่งที่เจออาจจะเป็นสิ่งที่ทำในชาตินี้ก็ได้ ชาติก่อนก็ได้ หรือชาติก่อนๆย้อนหลังไปอีกสิบชาติ ร้อยชาติ พันชาติก็ได้ นั่นเพราะผลกรรมที่เราทำไว้ยังไม่ได้ถูกชดใช้จนหมด เราจึงต้องมาคอยชดใช้กรรมที่เราทำไว้นั่นเอง

หลายคนรู้นิยามของกรรม แต่ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่ชัดเจน รู้ตามทฤษฏีว่าทุกอย่างที่ได้รับเราทำมา แต่เวลาเจอสิ่งที่ทำให้ไม่ถูกใจ ทำให้ไม่พอใจ ทำให้ขัดข้องใจหรือสงสัย ก็จะรู้สึกว่ากรรมไม่ยุติธรรม ฉันไม่ควรได้รับกรรมนี้ บ่นคนนู้นด่าคนนี้ มีแต่คนอื่นไม่ดีไปหมด ลืมมองกลับมาว่าทั้งนี่เป็นกรรมของเราเอง เราทำมาเอง ทั้งหมดเป็นผลงานของเราเองเรานี่แหละตัวแสบเลย ยิ่งได้รับกรรมที่ทำให้เจ็บปวดรวดร้าวมากเท่าไหร่ นั่นก็หมายถึงเราก็เคยทำสิ่งที่เลวร้ายมามากกว่านั้น เพราะเราจะได้รับเพียงส่วนหนึ่งที่เราทำ ไม่ใช่ทั้งหมดในทีเดียว

เช่นเดียวกับรักร้าวที่ไร้คำตอบ การเลิกราที่ไม่มีบทสรุป เราก็ทำมาเอง ในชาติใดชาติหนึ่งเราก็เคยไม่ถูกใจใครแล้วก็ทิ้งเขาเอาตัวรอดมาคนเดียวโดยไม่สนใจความรู้สึกของเขาเช่นกัน นั่นก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถหาคำตอบได้เลยว่าความรักที่จืดจาง หรือกระทั่งรักที่พังทลายลงไปนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร

กรรมจะดลให้เราได้รับทุกข์อย่างที่เราเคยทำมา ให้เราอยู่กับความขุ่นข้องหมองใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ให้เราสงสัยและทุกข์ไปเรื่อยๆ จมอยู่กับทุกข์จากความไม่ปล่อยวางในเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และเราเองก็ไม่มีปัญญาที่จะรู้คำตอบที่ชัดเจนนั้นด้วย

แต่เมื่อกรรมให้ผลจนหมด จะเหมือนฟ้าเปิด เหมือนเมฆฝนหายไป เราจะสามารถเข้าใจคำตอบของเรื่องราวต่างๆได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครบอก เข้าใจกรรมและผลของกรรมได้เอง ซึ่งอาจจะมีสิ่งกระตุ้นหรือไม่มีก็ได้เช่นกัน

ซึ่งการจะทำให้ผลกรรมหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเริ่มจากการยอมรับความผิดพลาดของตัวเองด้วยใจจริงเสียก่อน ยอมรับว่าตัวเราคือส่วนหนึ่งของปัญหา และพยายามแก้ไขสิ่งไม่ดีเหล่านั้นด้วยการทำดีให้มากเท่าที่จะทำได้ เมื่อกรรมชั่วนั้นส่งผลให้เราทุกข์ ให้เราโง่ ให้เราจมอยู่กับปัญหา กรรมดีก็จะส่งผลให้เราสุข ให้เรามีปัญญา ให้เราออกจากปัญหาได้เช่นกัน ดังนั้นการทำดีจะช่วยทำให้ปัญหาได้คลี่คลายเร็วขึ้น ได้คำตอบในชีวิตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

คำตอบนั้นอาจจะไม่มีคำตอบใดๆเลยก็เป็นได้ อาจจะเป็นคำตอบสั้นๆง่ายๆว่า มันจบไปแล้วเราจะแบกไว้ทำไม ว่าแล้วจิตใจก็โปร่งโล่งสบายจากการไม่ต้องมานั่งรอคอยคำตอบที่ไม่มีวันจะได้รับ

แต่บางครั้งกรรมก็ซับซ้อนกว่าที่คิด คือสามารถทำให้เราหลงว่าบรรลุธรรมได้ หลงว่าหลุดพ้นได้ จะมีอาการเพี้ยนๆที่เป็นไปในทิศทางเพิ่มกิเลส แต่เจ้าตัวจะเข้าใจว่ามีความสุข เช่นมีความสุขกายสบายใจที่ได้โยนความผิดให้กับคนอื่นด้วยใจเป็นสุข …อาการจะขัดๆเพี้ยนๆแบบนี้ ปากก็บอกว่าเป็นสุข แต่การกระทำจะสร้างบาป มันขัดกันไปมา ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นไปเพื่อล้างกิเลส ในกรณีหมดกรรมชั่วจริงๆ คำตอบจะเป็นไปในทางกุศล เป็นไปในทางลดกิเลสอย่างเดียว

ผลของกรรมนั้นเป็นเรื่องอจินไตย เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิดคำนวณ เราไม่สามารถรู้ได้ว่าสุดท้ายกรรมจะผ่านพ้นตอนไหน อย่างไร สิ่งที่เราทำได้เพียงแค่การทำดีให้มาก และการทำดีที่มีผลมากที่สุดก็คือการดับกิเลสซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหมดนั้นเสีย

ถ้าเราชัดเจนเรื่องกรรม เราจะไม่กล่าวโทษหรือแม้แต่จะคิดโทษใครเลย จะไม่มีใครผิดเลยนอกจากเรา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเราทำมาเองทั้งนั้น เราจะยินดีรับกรรมนั้นใจที่เป็นสุข เข้าใจและยอมรับสิ่งที่ตัวเองทำมาด้วยความยินดี เพราะได้รับกรรมชั่วแล้ว กรรมนั้นก็หมดไป ชีวิตเราก็จะดีขึ้นเพราะใช้หนี้ไปอีกเรื่อง

6). ผิดที่กิเลส

ตัวการแห่งทุกข์ทั้งหมดก็คือกิเลส กิเลสไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ความอยากเหล่านั้นแท้จริงไม่ใช่ส่วนหนึ่งในชีวิตเรา แต่เพราะความโง่ ความไม่รู้ของเราจึงนำกิเลสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต รับกิเลสเข้ามาเป็นตัวเป็นตนของเรา แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าฉันคือกิเลส กิเลสคือฉัน เป็นเนื้อเดียวกันอย่างแยกไม่ออก

เมื่อเรามีกิเลส เราก็จะไปสร้างกรรมชั่วตามแต่กิเลสจะผลักดัน ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาชอบเรา แต่เราไม่ชอบเขาเพราะเขาจนและหน้าตาไม่ดี นั่นคือเขาไม่สามารถผ่านมาตรฐานสนองกิเลสของเราได้ คู่ของเราต้องมีความสามารถในการสนองกิเลสของเรามากกว่านี้ นี่คือเรากำลังใช้กิเลสของเราในการวัดคุณค่าของคนแล้ว ซึ่งเมื่อเราทำกรรมเช่นนี้ การที่เราจะได้รับผลกรรมในแนวทางที่ว่า ถึงแม้เราจะดีแสนดีแต่เขาก็ไม่หันมาสนใจเราเลยก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

หรือ เราคบกันแฟนคนหนึ่ง ด้วยความที่เขามาจีบเรา เราก็ใช้โอกาสเอาแต่ใจ เรียกร้องสิ่งต่างๆ ซึ่งเรากำลังเพิ่มกิเลสของเราและกำลังทำให้คนอื่นทุกข์ นี่ก็เป็นกรรมชั่วที่เราทำเช่นกัน ซึ่งการที่เราจะได้รับผลกรรมในแนวทางที่ว่า ไม่ว่าเราจะสนองกิเลสของคู่รักเท่าไหร่ เขาก็ไม่เคยพอ แถมเอาแต่ใจมากขึ้นอีกด้วย ถ้าจะเกิดเรื่องแบบนี้ในชีวิต ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

เพราะเรามีกิเลสเราจึงสร้างกรรมชั่ว และเรานั่นเองก็ต้องมาคอยรับผลกรรมชั่วที่เราทำไว้ คนที่มีความเห็นความเข้าใจว่าคนเราเกิดมาชาติเดียวใช้ชีวิตให้เต็มที่ ก็จะขยันสนองกิเลส เพิ่มกิเลส ขยันทำชั่ว แล้วก็จะได้มาซึ่งผลกรรมชั่ว ซึ่งจะกลายเป็นสมบัติติดตัวของเขาต่อไปทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป

คนที่ไม่ชัดเจนเรื่องกรรม ก็จะไม่รู้ในเรื่องกิเลส แม้จะเป็นทุกข์อยู่ก็จะไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นกิเลส ต้องจมอยู่กับความเศร้าหมองอยู่อย่างนั้น แม้จะมีคนมาบอกทางแต่ก็เหมือนมองไม่เห็น ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน กรรมมันส่งผลแบบนี้ มันบังตาแบบนี้ นี่คือผลกรรมชั่วจากการที่เรามีกิเลส มันบังได้แม้กระทั่งการเห็นทางพ้นทุกข์

ดังนั้นการที่เรามามัวถามคำถามว่าฉันผิดตรงไหน? เลิกกับฉันเพราะอะไร? เป็นการหาคำตอบที่ปลายเหตุ ถึงแม้ว่าเขาจะบอกแต่ก็อาจจะไม่ใช่ความจริง ถึงแม้จะเป็นความจริงก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าใจตามที่เขาเข้าใจ กรรมจะบังให้ทุกอย่างคลาดเคลื่อน ให้เราทุกข์ ให้เราจมอยู่กับคำถาม ที่ไม่มีวันที่จะสามารถเข้าใจและยอมรับในคำตอบนั้นได้

เราจึงควรกลับมาที่เหตุของปัญหาทั้งหมด เหตุของกรรมชั่วที่ดลบันดาลให้เราต้องพบกับความทุกข์แสนสาหัส กรรมชั่วเหล่านั้นก็มาจากกิเลส ดังนั้นการจะพาตัวเองให้พ้นจากคำถามต่างๆ ให้พ้นจากกรรมชั่วเหล่านั้นคือการทำกรรมดีขึ้นมาใหม่ โดยการทำลายเหตุแห่งกรรมชั่วอันคือกิเลสให้สิ้นซาก

– – – – – – – – – – – – – – –

30.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์