Tag: หลงว่าหลุดพ้น

ฉันผิดตรงไหน

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,047 views 0

ฉันผิดตรงไหน

ฉันผิดตรงไหน

…เมื่อความรักได้ผ่านพ้นไป ทิ้งไว้เพียงแค่คำถาม ที่ไม่รู้คำตอบ

ในบางครั้งเราอาจจะได้ยินเรื่องราวของความรักที่จบไปอย่างไม่มีเหตุผล บางคู่คบกันมาเนิ่นนานกลับต้องมาเลิกรากันด้วยเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง หรือกระทั่งบางคู่ที่ต้องเลิกกันโดยไม่รู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ทิ้งไว้เพียงความสงสัย มีแต่คำถามที่ไม่มีคำตอบ ท่ามกลางความเงียบงันนั้น เสียงในใจกลับดังก้องขึ้นมาว่า” ฉันผิดตรงไหน?

1). ผิดที่ใคร?

ท่ามกลางความสับสนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคู่ที่เลิกรากันโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจรับไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์อันนี้พิศวงงงงวยเหล่านั้น จึงมักจะพยายามคิดหาคำตอบว่ามันเกิดจากอะไรด้วยเหตุผล ด้วยตรรกะ ด้วยข้อมูลที่รับรู้มา เป็นวิธีคิดที่ใช้กันโดยทั่วไป

และโดยทั่วไปคนเรามักจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง เมื่อใช้ความคิดที่ยังมีกิเลสปน แม้ว่าจะมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมก็จะไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ ซึ่งจะเห็นเพียงความจริงตามที่กิเลสกำหนดให้เห็นเท่านั้น จึงกลายเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ใครผิด ใครเริ่มต้นก่อน ใครทำให้รักของเราต้องเปลี่ยนไป เป็นไปในทิศทางของกิเลสของเรา

เรามีกิเลสมาก ความจริงก็จะบิดเบี้ยวมากตามไปด้วย กิเลสยังสร้างความจริงลวงขึ้นมาเสริมจากเหตุการณ์จริงได้อีก เช่นคู่รักทำอย่างหนึ่ง แต่เราไปตีความว่าเขาทำอีกอย่างหนึ่ง แล้วปั้นจินตนาการต่อฟุ้งกระจายจนความลวงเป็นความจริงขึ้นมาได้ ปั้นจิตให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้ เรียกว่า “มโนมยอัตตา” คือการปรุงแต่งจิตใจ สร้างภาพมายา ขึ้นเป็นตัวเป็นตนแล้วยึดว่าเป็นของจริง ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนสองคนคุยกันไม่รู้เรื่องเพราะเห็นความจริงไม่ตรงกัน

เมื่อมีความเห็นต่างเราก็มักจะเชื่อไปในทางที่เราคิด เราเห็น เราเข้าใจ เราเลือกเชื่อในสิ่งที่เห็นแต่มักจะมองไม่เห็นสิ่งที่เป็นจริงๆ เพราะแท้จริงแล้วมีพลังอำนาจบางอย่างที่อยู่เหนือกว่าสิ่งที่เห็นและเข้าใจนั่นคือกรรมและกิเลส

2). ผิดที่เขา?

ความผิดเกิดขึ้นจากคนอื่นอย่างชัดเจนก็อาจจะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่หากความผิดพลาดนั้นเกิดจากความเข้าใจของเราที่มองเห็นว่าเขาทำผิดนั้นก็จะเป็นเรื่องที่ยาก

เพราะหากเราไปตัดสินว่าใครผิดใครถูกด้วยความเชื่อหรือความเห็นของเราที่ยังมีกิเลสหนาอยู่นั้น ผลของการตัดสินมันก็จะผิดตามไปด้วย ซึ่งโดยมากแล้วคนจะไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิด ถึงจะยอมรับก็รับครึ่งเดียวแต่เวลาคนอื่นทำผิดก็เพิ่มโทษมากขึ้นกว่าความเป็นจริง มองว่าคนอื่นผิดเป็นหลัก ไม่มองพยายามมองหาสิ่งผิดในตนเอง ผลักภาระในกรรมนี้ให้คนอื่น ไม่ยอมรับกรรมนี้เป็นของตน

การมองว่าความผิดมาจากคนอื่นนั้นเป็นเพราะเรามีอัตตาและไม่เข้าใจในเรื่องกรรม ในส่วนของการมีอัตตาคือเรามักจะเชื่อว่าเราถูกเสมอ เราไม่เคยผิด คนอื่นผิด ถึงเราผิดเราก็ผิดไม่มาก คนอื่นผิดมากกว่า เราเป็นคนดี เราดีพร้อมทุกอย่างแล้ว ทำทุกอย่างดีแล้ว แต่เขาไม่ทำดีเหมือนเรา

อัตตา หรือความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนเหล่านี้ คือการยึดศักดิ์ศรี ยึดความถูกต้อง ยึดความเป็นใหญ่มาเป็นตัวตนของเราด้วย เมื่อเรามีอัตตามาก เราก็จะเชื่อมั่นมาก แต่เป็นความเชื่อมั่นที่เคลือบด้วยกิเลส เป็นกิเลสแท้ๆ ยิ่งเชื่อก็ยิ่งผิด ยิ่งยึดก็ยิ่งบาป

เมื่อไหร่ที่เราเชื่อมั่นว่าเราถูกเขาผิดมากเข้า ก็จะทำให้ความเข้าใจในเรื่องกรรมผิดเพี้ยนไปด้วย อัตตานี้เองคือตัวบังทุกอย่างไว้ และโยนความผิดให้คนอื่น ตั้งตนเป็นผู้ถูกกระทำ เอาดีเข้าตน เอาชั่วใส่คนอื่นอย่างแนบเนียน

3). ผิดที่เรา?

คนที่สามารถก้าวข้ามอัตตาได้ก็จะมีโอกาสจะกลับมามองที่ตนเอง การที่เราไม่เพ่งโทษหรือไม่โยนความผิดให้คนอื่นนั้นเป็นสิ่งที่สมควรอยู่แล้ว

ทุกอย่างนั้นมีเหตุในการเกิดและปัญหาของคู่รัก ก็ต้องมีเราเป็นส่วนร่วมในเหตุนั้นด้วยเช่นกัน แต่จะเริ่มตั้งแต่ตอนไหนแล้วสิ่งใดเป็นปัจจัยให้เกิดก็อาจจะทราบได้ยาก เพราะบางครั้งเราอาจจะไม่มีโอกาสได้ปรับความเข้าใจ ได้แลกเปลี่ยน ได้ไขปัญหาต่างๆร่วมกัน

แม้ว่าเราเองจะยอมรับความผิดพลาดทั้งหมดกลับมาที่ตัวเรา มองตัวเราว่าเป็นคนผิด มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโดยไม่โทษคนอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถหายคลางแคลงใจจากคำถามที่ว่า “ฉันผิดตรงไหน?”

แต่การยึดมั่นถือมั่นว่าเราผิดนั้นก็เป็นอัตตาอีกเช่นกัน แต่จะซับซ้อนกว่าในแบบโยนความผิดไปให้คนอื่นเขา ซึ่งคนที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตนผิดและยินดีรับผิด ยอมอมทุกข์นั้นก็เหมือนคนที่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ยึดว่าฉันผิดจึงจะดี ยึดว่าฉันต้องรับทุกข์ทุกอย่างไว้เองจึงจะดี

การยอมรับว่าเราผิดนั้นไม่จำเป็นต้องยึดจนทรมานร่างกายและจิตใจของตัวเอง เพียงแค่ยอมรับให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าเราผิดพลาดตรงไหน นิสัยใดบ้างที่ไม่ส่งผลดี สิ่งใดที่ทำลงไปแล้วเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ ก็ยอมรับผิดไปตามจริง แต่ไม่จำเป็นต้องแบกทุกข์และความผิดนั้นไว้เป็นตัวเป็นตนของเรา

เพราะการทำผิดนั้นไม่ได้หมายความว่า ชีวิตที่เหลือต้องทุกข์ระทมขมขื่น แต่การทำผิดนั้นก็หมายถึงการทำผิดครั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเอาความผิดในครั้งก่อนมากำหนดความผิดในครั้งต่อไป เพราะถ้าเรารู้สาเหตุจากความผิดพลาดจริงๆแล้วแก้ไขมันได้ ความผิดแบบเดิมก็จะไม่เกิดอีกในครั้งต่อไป

4). ผิดที่เราก็ได้นะ…

ในการยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคู่รัก มักจะไม่ได้ชัดเจนและสามารถมองออกได้ง่ายว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เริ่มต้นจากตรงไหน ปัญหาสะสมมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และด้วยความเป็นคู่รัก จึงมักจะมีการแสดงออกที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าที่คนทั่วไปแสดงออก บางครั้งอาจจะเหมือนยอมรับแต่ในใจก็ไม่ยอมรับ บางครั้งเหมือนจะไม่ยอมรับแต่จริงๆก็ยอมรับแล้วแต่ไม่กล้าบอกเพราะกลัวจะเสียฟอร์ม

การยอมรับผิดโดยการประชดประชันนั้นเป็นความซับซ้อนของกิเลส เราแสดงออกว่าเรายอมรับผิดแต่ในใจเรากลับมองว่าคนอื่นผิด แต่เราเลือกที่จะไม่พูดไปเพราะเหตุปัจจัยต่างๆที่มีผลให้เราไม่ยอมแสดงออก การประชดแบบนี้จะทำให้ปัญหายุ่งยากซับซ้อนเข้าไปอีก

หรือหลายคนที่ใช้วิธีเงียบ ปกปิดความรู้สึก ทำเสมือนว่ายอมรับผิด นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว แต่ถ้าในใจไม่ได้รู้สึกว่าความผิดพลาดเหล่านั้นเกิดจากตนเอง ยังคงเชื่อมั่นว่าตนถูกคนอื่นผิด ก็เหมือนการกดข่มปัญหาไว้ไม่ให้แสดงตัวออกมา ปล่อยให้มันสะสมรอวันระเบิดในโอกาสต่อไป

แต่ในบางครั้งที่ปัญหานั้นมีแนวโน้มที่จะลุกลาม การยอมรับผิด ยอมเป็นคนดีรับทุกอย่างไว้เอง เพื่อไม่ให้มีการกระทบกระทั่งหรือบาดหมางกันไปมากกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นกุศลอยู่บ้าง แม้ในใจจะไม่ได้ยอมรับเสียทีเดียว แต่หากทำไปเพื่อไม่ให้เหตุการณ์นั้นลุกลามบานปลายสร้างปัญหามากกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่สมควรจะยอม

5). ผิดที่กรรม?

กรรมคือสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนและยุติธรรมที่สุดในโลก เราไม่มีวันที่จะได้รับสิ่งใด เหตุการณ์ใด ความรู้สึกใด โดยที่เราไม่ได้ทำสิ่งนั้นมา สิ่งที่เราได้รับไม่ว่าจะเป็นการถูกเข้าใจผิด การทอดทิ้ง การเลิกรา ล้วนเป็นสิ่งที่เราทำมาแล้วทั้งนั้น

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลของกรรมของเรา ซึ่งผลของกรรมนี้เองเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะมาไม้ไหน เมื่อไหร่ สิ่งที่เจออาจจะเป็นสิ่งที่ทำในชาตินี้ก็ได้ ชาติก่อนก็ได้ หรือชาติก่อนๆย้อนหลังไปอีกสิบชาติ ร้อยชาติ พันชาติก็ได้ นั่นเพราะผลกรรมที่เราทำไว้ยังไม่ได้ถูกชดใช้จนหมด เราจึงต้องมาคอยชดใช้กรรมที่เราทำไว้นั่นเอง

หลายคนรู้นิยามของกรรม แต่ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่ชัดเจน รู้ตามทฤษฏีว่าทุกอย่างที่ได้รับเราทำมา แต่เวลาเจอสิ่งที่ทำให้ไม่ถูกใจ ทำให้ไม่พอใจ ทำให้ขัดข้องใจหรือสงสัย ก็จะรู้สึกว่ากรรมไม่ยุติธรรม ฉันไม่ควรได้รับกรรมนี้ บ่นคนนู้นด่าคนนี้ มีแต่คนอื่นไม่ดีไปหมด ลืมมองกลับมาว่าทั้งนี่เป็นกรรมของเราเอง เราทำมาเอง ทั้งหมดเป็นผลงานของเราเองเรานี่แหละตัวแสบเลย ยิ่งได้รับกรรมที่ทำให้เจ็บปวดรวดร้าวมากเท่าไหร่ นั่นก็หมายถึงเราก็เคยทำสิ่งที่เลวร้ายมามากกว่านั้น เพราะเราจะได้รับเพียงส่วนหนึ่งที่เราทำ ไม่ใช่ทั้งหมดในทีเดียว

เช่นเดียวกับรักร้าวที่ไร้คำตอบ การเลิกราที่ไม่มีบทสรุป เราก็ทำมาเอง ในชาติใดชาติหนึ่งเราก็เคยไม่ถูกใจใครแล้วก็ทิ้งเขาเอาตัวรอดมาคนเดียวโดยไม่สนใจความรู้สึกของเขาเช่นกัน นั่นก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถหาคำตอบได้เลยว่าความรักที่จืดจาง หรือกระทั่งรักที่พังทลายลงไปนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร

กรรมจะดลให้เราได้รับทุกข์อย่างที่เราเคยทำมา ให้เราอยู่กับความขุ่นข้องหมองใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ให้เราสงสัยและทุกข์ไปเรื่อยๆ จมอยู่กับทุกข์จากความไม่ปล่อยวางในเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และเราเองก็ไม่มีปัญญาที่จะรู้คำตอบที่ชัดเจนนั้นด้วย

แต่เมื่อกรรมให้ผลจนหมด จะเหมือนฟ้าเปิด เหมือนเมฆฝนหายไป เราจะสามารถเข้าใจคำตอบของเรื่องราวต่างๆได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครบอก เข้าใจกรรมและผลของกรรมได้เอง ซึ่งอาจจะมีสิ่งกระตุ้นหรือไม่มีก็ได้เช่นกัน

ซึ่งการจะทำให้ผลกรรมหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเริ่มจากการยอมรับความผิดพลาดของตัวเองด้วยใจจริงเสียก่อน ยอมรับว่าตัวเราคือส่วนหนึ่งของปัญหา และพยายามแก้ไขสิ่งไม่ดีเหล่านั้นด้วยการทำดีให้มากเท่าที่จะทำได้ เมื่อกรรมชั่วนั้นส่งผลให้เราทุกข์ ให้เราโง่ ให้เราจมอยู่กับปัญหา กรรมดีก็จะส่งผลให้เราสุข ให้เรามีปัญญา ให้เราออกจากปัญหาได้เช่นกัน ดังนั้นการทำดีจะช่วยทำให้ปัญหาได้คลี่คลายเร็วขึ้น ได้คำตอบในชีวิตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

คำตอบนั้นอาจจะไม่มีคำตอบใดๆเลยก็เป็นได้ อาจจะเป็นคำตอบสั้นๆง่ายๆว่า มันจบไปแล้วเราจะแบกไว้ทำไม ว่าแล้วจิตใจก็โปร่งโล่งสบายจากการไม่ต้องมานั่งรอคอยคำตอบที่ไม่มีวันจะได้รับ

แต่บางครั้งกรรมก็ซับซ้อนกว่าที่คิด คือสามารถทำให้เราหลงว่าบรรลุธรรมได้ หลงว่าหลุดพ้นได้ จะมีอาการเพี้ยนๆที่เป็นไปในทิศทางเพิ่มกิเลส แต่เจ้าตัวจะเข้าใจว่ามีความสุข เช่นมีความสุขกายสบายใจที่ได้โยนความผิดให้กับคนอื่นด้วยใจเป็นสุข …อาการจะขัดๆเพี้ยนๆแบบนี้ ปากก็บอกว่าเป็นสุข แต่การกระทำจะสร้างบาป มันขัดกันไปมา ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นไปเพื่อล้างกิเลส ในกรณีหมดกรรมชั่วจริงๆ คำตอบจะเป็นไปในทางกุศล เป็นไปในทางลดกิเลสอย่างเดียว

ผลของกรรมนั้นเป็นเรื่องอจินไตย เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิดคำนวณ เราไม่สามารถรู้ได้ว่าสุดท้ายกรรมจะผ่านพ้นตอนไหน อย่างไร สิ่งที่เราทำได้เพียงแค่การทำดีให้มาก และการทำดีที่มีผลมากที่สุดก็คือการดับกิเลสซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหมดนั้นเสีย

ถ้าเราชัดเจนเรื่องกรรม เราจะไม่กล่าวโทษหรือแม้แต่จะคิดโทษใครเลย จะไม่มีใครผิดเลยนอกจากเรา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเราทำมาเองทั้งนั้น เราจะยินดีรับกรรมนั้นใจที่เป็นสุข เข้าใจและยอมรับสิ่งที่ตัวเองทำมาด้วยความยินดี เพราะได้รับกรรมชั่วแล้ว กรรมนั้นก็หมดไป ชีวิตเราก็จะดีขึ้นเพราะใช้หนี้ไปอีกเรื่อง

6). ผิดที่กิเลส

ตัวการแห่งทุกข์ทั้งหมดก็คือกิเลส กิเลสไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ความอยากเหล่านั้นแท้จริงไม่ใช่ส่วนหนึ่งในชีวิตเรา แต่เพราะความโง่ ความไม่รู้ของเราจึงนำกิเลสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต รับกิเลสเข้ามาเป็นตัวเป็นตนของเรา แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าฉันคือกิเลส กิเลสคือฉัน เป็นเนื้อเดียวกันอย่างแยกไม่ออก

เมื่อเรามีกิเลส เราก็จะไปสร้างกรรมชั่วตามแต่กิเลสจะผลักดัน ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาชอบเรา แต่เราไม่ชอบเขาเพราะเขาจนและหน้าตาไม่ดี นั่นคือเขาไม่สามารถผ่านมาตรฐานสนองกิเลสของเราได้ คู่ของเราต้องมีความสามารถในการสนองกิเลสของเรามากกว่านี้ นี่คือเรากำลังใช้กิเลสของเราในการวัดคุณค่าของคนแล้ว ซึ่งเมื่อเราทำกรรมเช่นนี้ การที่เราจะได้รับผลกรรมในแนวทางที่ว่า ถึงแม้เราจะดีแสนดีแต่เขาก็ไม่หันมาสนใจเราเลยก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

หรือ เราคบกันแฟนคนหนึ่ง ด้วยความที่เขามาจีบเรา เราก็ใช้โอกาสเอาแต่ใจ เรียกร้องสิ่งต่างๆ ซึ่งเรากำลังเพิ่มกิเลสของเราและกำลังทำให้คนอื่นทุกข์ นี่ก็เป็นกรรมชั่วที่เราทำเช่นกัน ซึ่งการที่เราจะได้รับผลกรรมในแนวทางที่ว่า ไม่ว่าเราจะสนองกิเลสของคู่รักเท่าไหร่ เขาก็ไม่เคยพอ แถมเอาแต่ใจมากขึ้นอีกด้วย ถ้าจะเกิดเรื่องแบบนี้ในชีวิต ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

เพราะเรามีกิเลสเราจึงสร้างกรรมชั่ว และเรานั่นเองก็ต้องมาคอยรับผลกรรมชั่วที่เราทำไว้ คนที่มีความเห็นความเข้าใจว่าคนเราเกิดมาชาติเดียวใช้ชีวิตให้เต็มที่ ก็จะขยันสนองกิเลส เพิ่มกิเลส ขยันทำชั่ว แล้วก็จะได้มาซึ่งผลกรรมชั่ว ซึ่งจะกลายเป็นสมบัติติดตัวของเขาต่อไปทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป

คนที่ไม่ชัดเจนเรื่องกรรม ก็จะไม่รู้ในเรื่องกิเลส แม้จะเป็นทุกข์อยู่ก็จะไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นกิเลส ต้องจมอยู่กับความเศร้าหมองอยู่อย่างนั้น แม้จะมีคนมาบอกทางแต่ก็เหมือนมองไม่เห็น ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน กรรมมันส่งผลแบบนี้ มันบังตาแบบนี้ นี่คือผลกรรมชั่วจากการที่เรามีกิเลส มันบังได้แม้กระทั่งการเห็นทางพ้นทุกข์

ดังนั้นการที่เรามามัวถามคำถามว่าฉันผิดตรงไหน? เลิกกับฉันเพราะอะไร? เป็นการหาคำตอบที่ปลายเหตุ ถึงแม้ว่าเขาจะบอกแต่ก็อาจจะไม่ใช่ความจริง ถึงแม้จะเป็นความจริงก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าใจตามที่เขาเข้าใจ กรรมจะบังให้ทุกอย่างคลาดเคลื่อน ให้เราทุกข์ ให้เราจมอยู่กับคำถาม ที่ไม่มีวันที่จะสามารถเข้าใจและยอมรับในคำตอบนั้นได้

เราจึงควรกลับมาที่เหตุของปัญหาทั้งหมด เหตุของกรรมชั่วที่ดลบันดาลให้เราต้องพบกับความทุกข์แสนสาหัส กรรมชั่วเหล่านั้นก็มาจากกิเลส ดังนั้นการจะพาตัวเองให้พ้นจากคำถามต่างๆ ให้พ้นจากกรรมชั่วเหล่านั้นคือการทำกรรมดีขึ้นมาใหม่ โดยการทำลายเหตุแห่งกรรมชั่วอันคือกิเลสให้สิ้นซาก

– – – – – – – – – – – – – – –

30.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์