Tag: การดับกิเลส

แค่รู้ตัว ไม่พอ

December 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,697 views 0

แค่รู้ตัว ไม่พอ

แค่รู้ตัว ไม่พอ

การที่เราจะดับทุกข์ที่กำเริบขึ้นมานั้น การกำหนดรู้อาการที่เกิดขึ้น สร้างความรู้ตัวใดๆก็ตาม อาจจะสามารถกำราบทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นให้สงบลงได้ แต่หากจะหวังให้การกระทำเหล่านั้นเป็นการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง แค่รู้ตัวนั้น…ยังไม่พอ

เราสามารถฝึกสมถะใช้กำลังของจิตสะกดความคิดฟุ้งซ่านได้ ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุขก็กดข่มให้ดับลงไปได้ หรือตามดู ตามรู้จนมันดับลงไปได้ แต่ความดับเหล่านั้นไม่ใช่ลักษณะของการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ ๔ ของพุทธ เป็นเพียงการดับจากสภาพเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นธรรมดาของจิต ซึ่งคนที่เขาไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมหรือกระทั่งคนไม่มีศาสนาก็สามารถทำได้

การรู้ตัวว่าจมไปกับจิตฟุ้งซ่านด้วยกิเลสแล้วสามารถละวางได้นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่กระนั้นก็ยังเรียกว่าไม่ถึงที่สุดของการปฏิบัติ ยังเป็นเพียงแค่ขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น ยังมีกระบวนการอีกมากที่จะพัฒนาจิตต่อไปจนถึงขั้นไม่จำเป็นต้องไปกำหนดรู้ใดๆอีก เพราะไม่มีกิเลสเกิดให้ต้องไปรู้แล้วละ คือมันไม่เกิดก็เลยไม่ต้องไปดับ นี่คือสภาพผลของการปฏิบัติในท้ายที่สุด

แค่รู้ตัวนั้น ยังไม่เรียกว่าเพียงพอในการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เพราะถ้าจะรู้ให้จริงต้องรู้ไปถึงเหตุแห่งทุกข์ว่าทำไมทุกข์นั้นจึงเกิดมา ทำไมเราจึงสร้างความคิดเช่นนั้น ทำไมร่างกายจึงมีอาการสั่น หายใจติดขัด ทำไมจิตจึงหมองมัว

การดับทุกข์ของพุทธนั้นดับสังขารไปโดยลำดับ ตั้งแต่วจีสังขาร กายสังขาร จนถึงดับจิตสังขาร ในที่นี้ไม่ใช่การตาย แต่เป็นการดับกิเลส คือในท้ายที่สุดจะไม่มีกิเลสในจิตเลย ซึ่งการกำหนดรู้ การดับความคิด การควบคุมความคิดนั้นเป็นเพียงแค่การพยายามจัดการกับวจีสังขาร คือไม่ให้ปรุงแต่งความคิดใดๆ (วจีสังขาร ไม่ใช่วจีกรรม)

เพราะถ้าเอาแต่รู้ตัว ดับความคิด แม้จะควบคุมความคิดได้ แต่กายสังขารยังไม่ดับ ร่างกายก็จะออกอาการประหลาดๆ เหงื่อไหล หายใจขัด หมดแรง ฯลฯ ตามแต่จะสังเคราะห์ได้ เพราะมีใจเป็นประธาน คือจิตยังสังเคราะห์กับกิเลสนั้นๆ อยู่เกิดสภาพจิตที่เป็นลักษณะของนิวรณ์ ๕ คือกามฉันทะ(พอใจในกาม) พยาบาท(ไม่พอใจ) ถีนมิธทะ(ซึม จม หดหู่) อุทธัจจะกุกกุจจะ(ฟุ้งซ่าน ลอย ไม่สงบ) วิจิกิจฉา(สงสัย ไม่ชัดเจน ไม่แจ่มแจ้ง) นั่นเอง

ซึ่งสภาพเหล่านี้ไม่ใช่ความคิดเลย แม้จะดับความคิด กดข่มความคิด รู้ตัวว่าคิด กำหนดรู้ว่าคิด ก็จะสลัดทุกข์ออกไปได้บางส่วน แต่จะไม่หมด เพราะเหตุแห่งทุกข์ยังอยู่ แม้มันจะหายและดับไปเองตามธรรมชาติ แต่มันก็ยังอยู่ ยังรอเวลาที่จะแสดงตัวอยู่เสมอเมื่อเกิดผัสสะ

ดังนั้นเมื่อกำหนดรู้ตัวได้แล้วว่าหลงไปกับกิเลส ก็ควรจะพิจารณาให้รู้ไปถึงรากเหง้าของกิเลส เหตุแห่งทุกข์นั้นๆด้วยว่า มันไปชอบไปชังในอะไร มันไปหลงเสพหลงสุขในอะไร มันไปยึดมั่นถือมั่นในอะไรจึงได้เกิดอาการซัดส่ายของจิตขึ้น เมื่อรู้กิเลสแล้วก็ใช่ว่าทุกอย่างจะจบหรือดับไป แค่จับตัวกิเลส หาเหตุแห่งทุกข์ได้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่ยังต้องทำสงครามกับกิเลสอีกหลายครั้งหลายคราจนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง

– – – – – – – – – – – – – – –

22.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

จิตว่าง

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,949 views 0

จิตว่าง

จิตว่าง

…ว่างจากอะไร?

จิตว่างเป็นคำที่ในยุคสมัยนี้นิยมกันมาก เพราะเป็นคำที่สั้น จำง่าย เหมาะกับยุคที่รวดเร็วร้อนแรงเช่นนี้อย่างยิ่ง แต่หลายคนมักจะมีนิยามของจิตว่างในใจที่ต่างกันออกไป มีการแตกประเด็นออกไปมากมายจากคำนี้ตามแต่ใจคน

เรื่องที่มาของคำนี้จะขอยกไว้ จะกล่าวแต่เพียงความเห็นที่ได้พบและประสบมาในปัจจุบัน เราอาจจะได้ยินคำว่าจิตว่างบ่อยครั้ง แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่ามันว่างจากอะไร? แล้วมันว่างยังไง? ว่างแบบไหน? ต้องขนาดไหนถึงเรียกว่าว่าง? ว่างจริงๆมันเป็นอย่างไร?

จริงอยู่ที่ว่าสภาวธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบอกกล่าวไม่ได้ เพียงแค่บอกแล้วอาจจะไม่เข้าใจกันเท่านั้นเอง แต่การไขสภาพหรือบอกกล่าวกันไว้ให้เป็นหลักอ้างอิงก็ยังดีกว่าไม่ได้ชี้แจงอะไร เพราะหากเราจะเหมารวมทุกอย่างเป็นปัจจัตตังแล้วเก็บอมไว้ แล้วใครล่ะจะรู้ว่าสิ่งที่คิดและเข้าใจนั้นมันถูกต้องจริงไหม บางครั้งเราอาจจะไปยึดสภาพที่ยังไม่ถูกตรงนักมาเป็นผลก็ได้ใครจะรู้…

1). จิตว่างจากความทุกข์

จิตว่างจากทุกข์นี้เป็นประโยคที่ตีความได้ทั้งทางโลกและทางธรรม แต่น้ำหนักส่วนใหญ่น่าจะเป็นไปทางโลก เพราะการจะว่างจากทุกข์นั้นทำได้ไม่ยากนัก ไม่ต้องใช้ธรรมะ ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นเรากำลังทุกข์เพราะหิว การไปกินอาหารก็ทำให้ทุกข์นั้นหายไป จิตก็ว่างจากทุกข์แล้ว

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง กำลังรู้สึกหงุดหงิดใจเพราะทำเงินหาย แต่พอเดินไปดูละครมันก็ลืมเรื่องทุกข์ไปแล้ว มันก็กลายเป็นจิตว่างจากทุกข์ อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น กำลังอกหักแฟนที่รักและผูกพันมาทิ้งไป ก็ไปทำให้จิตว่างจากทุกข์ด้วยการเสพสุขอื่นๆให้มัวเมาจนลืมทุกข์

สภาพของจิตว่างจากทุกข์นั้นโดยทั่วไปก็สามารถใช้วิธีวิ่งไปหาสุขก็สามารถออกจากสภาวะทุกข์ได้แล้ว หรือถ้าจะใช้สมถะเข้ามาช่วยก็ได้เช่นกัน ความเข้าใจว่าจิตว่างจากทุกข์จะพาลให้เฉโก(ฉลาดในเรื่องสะสมกิเลส)พาชีวิตไปเสพแต่สุขโลกีย์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเข้าใจว่าต้องทำชีวิตให้สุข ต้องอยู่อย่างมีความสุข ไม่จมทุกข์

จริงๆแล้วจิตว่างจากทุกข์นั้นก็หมายถึงการคิดบวก การคิดในแง่ดี มองโลกในแง่ดีทั่วไป แม้ทางภาษาอาจจะต่างกันแต่สภาวะนั้นเป็นแบบเดียวกัน

ในส่วนจิตว่างจากทุกข์ในระดับทางธรรมนั้นจะต่างออกไป คำว่าว่าง คือไม่มี ว่างจากทุกข์คือไม่มีทุกข์เลย ทุกข์ในที่นี้คือทุกข์ทางใจเท่านั้น และผู้ที่จะเกิดสภาพนี้ได้คือผู้มีสภาวะของพระอรหันต์เท่านั้น เข้าใจง่ายๆแค่ว่าไม่มีกิเลสก็ไม่ต้องทุกข์ ดังนั้นมันจึงว่างจากทุกข์

2). จิตว่างจากความคิด

เป็นอีกความหมายหนึ่งของจิตว่างที่ได้ยินบ่อย หลายคนตีความว่า “สุขก็เพราะความคิด ทุกข์ก็เพราะความคิด” ก็เลยหาวิธีดับความคิดเสียเลย

การทำให้จิตว่างจากความคิดปรุงแต่งหรือการสังขารนั้น โดยทั่วไปมักจะใช้วิธีการสมถะเข้ามาจัดการกับความคิด ใช้อุบายทางใจที่สารพัดจะคิดขึ้นมา ตบ ดับ กดข่ม เมินเฉย ดูเฉยๆ รอจนดับไป หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้เราไม่ต้องไปยุ่งกับความคิดเหล่านั้นซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นวิธีของสมถะ

ในสมัยนี้วิธีสมถะนั้นมีมากมาย ที่รู้กันโดยทั่วไปก็จะมีนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพ่งกสิณ จดจ่ออยู่ที่ใดที่หนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ก็มีการพัฒนาวิธีขึ้นให้เหมาะกับจริตของคนที่หลากหลายขึ้นเช่นการขยับตัวไปในท่าต่างๆ ย้ายจิตไปจดจ่อกับสิ่งอื่น ทิ้งผัสสะที่เกิดขึ้นแล้วไปสนใจสิ่งอื่น จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำโดยไม่คิด ไม่ปรุงแต่งใดๆ

การฝึกสมถะจะได้ผลเป็นฌานอยู่เหมือนกันแต่จะเป็นฌานฤๅษี เกิดจากการทำให้จิตจมไปอยู่ในภพใดภพหนึ่งและจมลึกไปเรื่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ ดับตั้งแต่สังขาร(ความคิด) ดับสัญญา(ความจำได้หมายรู้) จนเกิดเป็นสภาพที่จิตว่างจากความคิด เกิดความสงบ เป็นความสุขที่เกิดจากความทุกข์ที่ถูกดับทิ้งจากการคิดฟุ้งซ่านนั่นเอง

การทำสมถะในสมัยนี้ก็มีรูปแบบให้เห็นอย่างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น “สมถะลืมตา” คือทำสมถะทั้งที่ลืมตาและใช้ชีวิตนั่นแหละ ใช้ชีวิตได้แบบคนปกติเลย ไม่ต้องไปนั่งสมาธิ แต่ก็ใช้วิธีของสมถะดับความคิดไปด้วย จนบางครั้งมีหลายคนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา ซึ่งจริงๆแล้วมักจะไม่ได้เกี่ยวกับการวิปัสสนาเลย เป็นสมถะแท้ๆเพียงแค่ไม่ได้ทำเหมือนที่เข้าใจโดยทั่วไป

เมื่อสามารถทำจิตว่างจากความคิดได้แล้วเกิดความสุขความสงบ หลายคนจึงปักมั่นในสภาวะนั้นว่าคือผลเจริญของพุทธ จริงๆแล้วไม่ใช่เพราะการปฏิบัติแบบสมถะหรือแบบฤๅษีก็มีผลเจริญและสงบแบบฤๅษีเช่นกัน มันมีความสุขจริง มันว่างจริง ซึ่งมักจะพาให้เข้าใจผิดกันไปได้

หลายคนพอใจที่ตัวเองทำจิตว่างจากความคิดได้ จนสามารถควบคุมความคิดได้ แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าวิธีนั้นคือวิธีพ้นทุกข์ ซึ่งอาจจะเป็นความประมาทที่ค่อนข้างมาก เพราะลืมพิจารณาไปว่าความคิดเหล่านั้นมันเกิดขึ้นเพราะอะไร อะไรคือตัวการที่ทำให้คิด ทำไมมันจึงทุกข์เมื่อคิด สิ่งเหล่านี้มักจะถูกมองข้ามไป เพราะหลงเสพหลงยึดเพียงความสงบด้วยความว่างจากความคิดนั่นเอง

3). จิตว่างจากตัวตน

เป็นอีกลักษณะความเข้าใจที่มักจะพบเห็นได้โดยทั่วไป เพราะเขาเหล่านั้นเห็นว่าการมีอัตตาเป็นทุกข์ ก็เลยทำให้เป็นอนัตตาเสียเลย ปราศจากตัวตนเสียเลย ว่างจากตัวตนเสียเลยก็น่าจะดี

จริงๆแล้วการใช้ตรรกะหรือความคิดเข้าไปกำหนดสภาวะมันก็ดูจะเป็นอะไรซื่อๆไปสักหน่อย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนยึดมั่นถือมั่นการใช้ภาษาเข้ามากำหนดสภาวธรรม เพราะจริงๆแล้วการทำลายอัตตาจนกลายเป็นอนัตตานั้นไม่ได้ง่ายเพียงแค่คิด เพียงแค่กำหนดจิต เพียงแค่หมั่นกระทำจิตให้ไม่ถือตัวถือตน มีอะไรมากระทบก็วางเฉย เห็นว่าเป็นเช่นนั้นเองมันก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเช่นนั้นเอง สิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของเราก็เท่านั้นเอง มันคิดและท่องจำเอาแบบนี้ไม่ได้

การกระทำเหล่านั้นแท้จริงก็อยู่ในลักษณะของสมถะ เป็นการทำสมถะที่ใช้ธรรมะเข้ามาเป็นกรรมฐาน ใช้เป็นบทบริกรรมแทนพุท-โธทั่วไป ซึ่งจะดูซับซ้อนกว่าวิธีสมถะทั่วไปอยู่บ้าง แต่การคิดพิจารณาเป็นรูปแบบเดิมๆ ซ้ำแบบเดิมๆ เพื่อให้จิตเข้าสู่ภพใดภพหนึ่ง หรือสภาพใดสภาพหนึ่งก็เป็นสมถะอยู่ดี ยังไม่ได้เข้าวิปัสสนาแต่อย่างใด

ความเห็นเช่นนี้มักจะมีคนสนใจมาก แม้คนที่เชื่อเช่นนี้ก็จะดูดีมาก ดูเหมือนคนไม่ยึดมั่น ไม่มีอัตตา ดูเหมือนสามารถปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ จริงๆแล้วก็เหมือนฤๅษีที่ทำสมถะ ทำสมาธิจนเป็นฌานทั่วไปนั่นแหละ มันก็จะมีความสุข ความสงบที่เกิดขึ้นเช่นกัน

แต่การเข้าใจว่าจิตว่างจากอัตตาแล้วใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้การตรึกตรองในความไม่มีอัตตาแล้ว อาจจะให้ผลเสียที่ร้ายสุดท้ายก็ได้ เพราะการที่เราคิดหรือหมายมั่นว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคือการไม่มีอัตตาตั้งแต่แรกคือการเอาตอนจบมาทำตั้งแต่แรก ซึ่งขัดกับหลักของพุทธ เพราะศาสนาพุทธนั้นต้องปฏิบัติไปโดยลำดับ จากหยาบ กลาง ละเอียด

แน่นอนว่าก่อนจะไปถึงการไม่ยึดมั่นถือมั่นหรือไม่มีอัตตานั้น จะต้องทำลายทางโต่งไปทางด้านกามเสียก่อนถึงจะมีผลเจริญจริงๆ แต่ในเมื่อเราใช้ความเห็นผิดเข้ามาเป็นตัวปฏิบัติ ใช้กรรมฐานเข้ามากดข่มให้เกิดสภาพอนัตตาหลอกๆ ก็เหมือนเราข้ามขั้นตอน เหมือนข้อสอบที่มีคำถามสองหน้า แต่เราพลิกไปทำหน้าหลังแล้วส่งเลย

ธรรมะก็เช่นกัน กามนั้นมีภัยมาก หลายคนที่ทำตัวให้รู้สึกว่าเป็นผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นตั้งแต่แรกก็จะหลงกลายเป็นว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในการละกามเสียเลย มองว่าการไปละกามนั้นคือตัวตนก็ว่าได้ กลายเป็นมองว่าไม่มีสิ่งใดเป็นตัวเป็นตนให้ยึดมั่นถือมั่น

สุดท้ายก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมอะไรเลย จริงๆแล้วก็เหมือนคนธรรมดาที่ยังเสพกามนั่นแหละ แต่แย่กว่าตรงที่หลงผิด หลงผิดทั้งลำดับการปฏิบัติ หลงผิดทั้งสมถะวิปัสสนา หลงผิดทั้งอัตตา-อนัตตา คือไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย มาถึงก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น สุดท้ายก็เสพกามแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำชั่วแบบไม่ยึดมั่นถือมั่น มันก็เพี้ยนไปอย่างนั้นเอง

จิตว่างจากตัวตนแท้นั้นก็มีผลอยู่แต่จะอธิบายอยู่ในหัวข้ออื่นต่อไป…

4). จิตว่างจากปัญญา

จิตว่างแบบนี้ที่จริงแล้วไม่มีอยู่หรอก ไม่มีใครบัญญัติไว้ สร้างขึ้นมาใหม่ในบทความนี้เพื่อเป็นตัวสรุปของความผิดพลาดในการปฏิบัติธรรมจนหลงผิด

วิธีการปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนั้นมีมาก หลายคนแม้จะเอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดมรรคผลตามหลักศาสนาพุทธ แน่นอนว่าการปฏิบัติที่เพียรพยายามนั้นต้องการผลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนก็จะนำมาซึ่งผลที่ผิดเพี้ยนเช่นกัน

ผู้มีมรรคผลที่ผิดเพี้ยนมักจะไม่รู้ตัว เพราะคนที่มิจฉาทิฏฐิจะไม่มีทางรู้ตัวอยู่แล้ว ก็จะเชื่อว่าตนเองนั้นสัมมาทิฏฐิ เชื่อว่าการปฏิบัติของตนนั้นถูกต้อง พ้นทุกข์ได้จริง ปฏิบัติได้จริง มีผลจริงๆ สภาพที่เห็นจะเหมือนกับการปฏิบัติแบบพุทธเลย แต่นามธรรมภายในจะต่างกัน เรียกว่าสัญญาเดียวกันกายต่างกัน

คือจะใช้ศัพท์ ภาษา สมมุติเหมือนกันหมด เรียกสภาวะอย่างเดียวกัน สงบก็สงบเหมือนกัน ว่างก็ว่างเหมือนกัน ดับก็ดับเหมือนกัน ดังนั้นเวลาคุยกันก็จะเหมือนว่าบรรลุธรรมพ้นทุกข์กันจริงๆ แต่ไม่มีใครรู้จริงหรอกว่าสภาพจิตใจที่เกิดนั้นถูกจริงหรือผิดเพี้ยนไป ใครจะรู้ในเมื่อมิจฉาทิฏฐิก็หลงว่าตัวเองสัมมาทิฏฐิ จึงมีผู้บรรลุธรรมเต็มประเทศไปหมด แล้วคนไหนของจริง คนไหนของปลอม ใช้อะไรแยก จะรู้ได้อย่างไร คนนั้นก็อวดว่าตนจริง แล้วก็ชี้ว่าคนอื่นปลอม มันก็มีให้เห็นแบบนี้บ่อยๆ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สัมมาอริยมรรคนั้นเป็นทางเอกทางเดียวที่พาพ้นทุกข์ เราสามารถใช้มรรคที่ถูกตรงนี้เป็นตัววัดได้คร่าวๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีหลายสำนักหลายกลุ่มที่อ้างว่ามรรคของตนถูก แน่นอนว่ามีทั้งถูกและผิด มิจฉาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรค สัมมาทิฏฐิก็ปฏิบัติมรรคและเกิดสภาพจิตว่างเหมือนกันด้วย

กลับมาที่หัวข้อ ในหัวข้อนี้คือ “จิตว่างจากปัญญา” ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาที่มีปัญญา ดังนั้นจิตที่ว่างจากปัญญาจึงไม่ใช่พุทธ ปัญญาในทีนี้นั้นไม่ใช่ปัญญาที่เพียงแค่ทำให้มีความสงบ ความสุข ความว่างจากความคิด ความว่างจากตัวตนโดยใช้ความคิด แต่เป็นปัญญาที่ทำให้สงบจากกิเลส ชำระกิเลส ดับกิเลส

การดำเนินตามสัมมาอริยมรรคนั้นหมายถึงทางที่พาไปสู่ความเจริญเพียงอย่างเดียว ทางที่พาลดละกิเลส สวนกระแสโลก ทางที่พาให้คิดดี พูดดี ทำดี ทำงานดี ดังนั้นการไม่คิด ไม่พูด ไม่ทำนั้นไม่ใช่วิธีปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ การที่จะเดินทางไปสู่ความผาสุกจะต้องคิด พูด ทำ

แล้วมันต้องคิด พูด ทำอะไร? ก็คือคิดไปในทางลดกิเลส พูดแต่เรื่องลดกิเลส ทำแต่สิ่งที่พาลดกิเลส

แล้วมันจะคิด พูด ทำ อย่างไร? แบบนี้มันก็ต้องมีปัญญา คนที่ปฏิบัติยังไม่ถูกทางก็จะไม่มีปัญญา จิตก็เลยว่างจากปัญญา กลายเป็นคนไม่มีปัญญา แม้จะมีความสุข ความสงบ ความไม่มีตัวตน แต่กลับไม่มีปัญญารู้ในเรื่องลดกิเลส ไม่มีปัญญาจัดการกับกิเลส ไม่รู้แจ้งเรื่องกิเลส ก็เรียกได้ว่า “จิตว่างจากปัญญา

5). จิตว่างจากกิเลส

มาถึงประเด็นหลักกันเสียที ถ้าจะให้คำว่าจิตว่างมันถูกตรง ถูกตามพุทธนี่มันก็ต้องว่างจากกิเลสนี่แหละ แต่สภาวะว่างจากกิเลสนั้นก็ยังมีคนหลงผิดกันไปมาก ก็จะขอขยายตรงนี้กันให้เข้าใจกันเสียก่อน

เรามักจะเข้าใจว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นคือกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความโลภ ฯลฯ ซึ่งก็ถูกต้องเช่นนั้น แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นกิเลสปลายเหตุ หลายคนสามารถดับความโกรธที่เกิดขึ้นได้แล้วหลงเข้าใจไปว่า เรานี่ว่างจากกิเลสแล้ว ซึ่งจริงๆมันก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้นเสียทีเดียว

การดับความโกรธ ความคิด ความฟุ้งซ่านต่างๆได้ ถ้าเราใช้วิธีสมถะก็สามารถดับทิ้งไปได้แล้ว ยังไม่ได้เข้าหลักการลดกิเลสแต่อย่างใด เป็นเพียงการใช้สมถะเข้ามาตบกิเลสที่ฟุ้งขึ้นมาให้ดับลง ทำให้กิเลสที่แสดงตัวนั้นดับลงเท่านั้น จริงๆแล้วคนที่ทำได้แบบนี้ก็ถือว่าดีแล้ว เก่งแล้ว แต่ก็มักจะหลงเข้าใจว่า สิ่งนี้เรียกกว่าการดับกิเลส หรือจิตว่างจากกิเลส ซึ่งจริงๆเรื่องกิเลสมันไม่ได้ตื้นเขินแบบนั้น มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น

การที่จะจิตว่างจากกิเลสได้ ต้องปราศจากกิเลสใดๆในเรื่องนั้นๆเลย ถ้าว่างได้หมดก็เป็นพระอรหันต์เท่านั้นเอง แต่การจะว่างได้ก็ไม่ได้ว่างเพียงแค่ดับปลายเหตุ แต่ต้องขุดลึกลงไปถึงต้นเหตุที่เรียกว่าสมุทัย

โดยทั่วไปเรามักจะมองง่ายๆ แบบตื้นๆว่า ทุกข์เกิดเพราะเราโกรธเพราะเรามีตัวตน พอเราดับความโกรธดับตัวตนก็ไม่ต้องทุกข์ แบบนี้ใช้สมถะก็ได้ ฤๅษีก็ทำได้ยังไม่ต้องเข้าพุทธ ซึ่งหมายความว่าวิธีดับที่เหตุนี่ยังไม่ใช่พุทธนั่นเอง

แต่ถ้าวิธีของพุทธจะมองสมุทัยลึกลงไปอีก เช่น เราเกิดทุกข์เพราะเราโกรธ แล้วเราทำไม่จึงโกรธ เพราะเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพสมใจใช่ไหม แล้วเราอยากเสพสิ่งนั้นไปทำไม เราติดสุขอะไร …. การหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีรูปแบบแน่ชัดนัก ขึ้นอยู่ว่าใครสะสมกิเลสมาหนาขนาดไหน ซับซ้อนขนาดไหน แต่ละคนก็จะมีเหลี่ยมมุมในการวิเคราะห์กิเลสที่แตกต่างกัน เพราะเราชอบต่างกัน ยึดติดต่างกัน เรามีตัวตนที่ต่างกันไปตามกรรมของแต่ละคน

ดังนั้นการปฏิบัติธรรมนั้นจึงไม่มีสูตรสำเร็จใดๆให้ท่องจำแล้วทำตามจึงจะบรรลุธรรม แต่เป็นการปฏิบัติไปเพื่อล้างกิเลสที่เป็นของตัวเอง เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเอาเอง ทำเอาเอง ตามรูปแบบของกิเลสตัวเอง จะมีก็เพียงหลักพื้นฐานเพื่อให้พิจารณาเช่น ไตรลักษณ์ ประโยชน์และโทษ กรรมและผลของกรรม

แต่การพิจารณานี้ไม่ได้พิจารณากันที่ผลที่เกิด แต่ต้องพิจารณาไปที่สมุทัย ที่กิเลสที่ซ่อนอยู่ลึกๆ เหมือนกับการแก้ปัญหาให้ถูกจุด ถ้าเราไปใช้ไตรลักษณ์ ทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน กับความโกรธที่เป็นผลปลายเหตุ มันก็จะเข้าลักษณะของสมถะเท่านั้นเอง

เพราะแท้จริงแล้วการจะได้มาซึ่งจิตว่างจากกิเลสไม่ใช่ด้วยการท่องจำ หรือใช้กรรมฐานต่างๆ พอเราเจอตัวกิเลสจริงๆ มันจะพิจารณาไตรลักษณ์ไม่ออก เมื่อเรายึดติดเราจะรู้สึกว่ามันเที่ยง ไม่เป็นทุกข์ มันเป็นตัวตนของเรา กิเลสจะไม่ยอมให้เราเห็นต่างจากนี้ ถึงแม้เราจะท่องด้วยภาษา แต่จิตเราไม่ได้ลดกิเลสจริง มันก็จะติดจะยึดอยู่แบบนั้นเอง นี่แหละคือความจริงของการปฏิบัติธรรม รู้จริง เห็นจริง ในทุกเหลี่ยมมุมของกิเลสกันเลย

ทีนี้พอปฏิบัติเพื่อชำระล้างกิเลสเป็นแล้ว เข้าใจอริยสัจ ๔ ,สัมมาอริยมรรคแล้ว ก็จะเดินหน้าลุยล้างกิเลสลูกเดียว มีกิเลสไหนสู้ไหวก็จะสู้ ไม่ปล่อยทิ้งให้เวลาเสียเปล่า จนเกิดเป็นผลจริง เกิดความว่างจากกิเลสจริง

แล้วว่างจากกิเลสในเรื่องไหน? ก็ว่างจากกิเลสในเรื่องที่ตั้งศีลเพื่อปฏิบัติ แล้วปฏิบัติไปพร้อมกันทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ใช้ไตรสิกขาเพื่อข้ามสามภพคือ กามภพ รูปภพ อรูปภพของกิเลสนั้นๆ จนกระทั่งกิเลสตาย

เมื่อกิเลสตายจึงว่างจากทุกข์ ว่างจากความคิดที่เจือปนด้วยกิเลส ว่างจากอัตตาตัวตนเพราะไม่ยึดมั่นทั้งกามและอัตตา จิตว่างที่แท้จริงมันว่างแบบนี้ มันว่างจากกิเลสเช่นนี้

6). สรุป

จริงๆแล้วคำว่า “จิตว่าง” คือสภาพของผล คือผลที่เจริญแล้ว คือการปฏิบัติที่เห็นผลแล้ว แต่หลายคนที่หลงผิดกลับเอา “จิตว่าง” มาเป็นมรรค คือใช้จิตว่างมาเป็นตัวปฏิบัติ พยายามให้จิตที่มีนั้นว่าง โดยมากก็ใช้วิธีสมถะทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อใช้มรรคที่ผิดจากทางพุทธ ผลก็ผิดจากทางพุทธไปด้วยเช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

12.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ฉันผิดตรงไหน

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,314 views 0

ฉันผิดตรงไหน

ฉันผิดตรงไหน

…เมื่อความรักได้ผ่านพ้นไป ทิ้งไว้เพียงแค่คำถาม ที่ไม่รู้คำตอบ

ในบางครั้งเราอาจจะได้ยินเรื่องราวของความรักที่จบไปอย่างไม่มีเหตุผล บางคู่คบกันมาเนิ่นนานกลับต้องมาเลิกรากันด้วยเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง หรือกระทั่งบางคู่ที่ต้องเลิกกันโดยไม่รู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ทิ้งไว้เพียงความสงสัย มีแต่คำถามที่ไม่มีคำตอบ ท่ามกลางความเงียบงันนั้น เสียงในใจกลับดังก้องขึ้นมาว่า” ฉันผิดตรงไหน?

1). ผิดที่ใคร?

ท่ามกลางความสับสนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคู่ที่เลิกรากันโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจรับไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์อันนี้พิศวงงงงวยเหล่านั้น จึงมักจะพยายามคิดหาคำตอบว่ามันเกิดจากอะไรด้วยเหตุผล ด้วยตรรกะ ด้วยข้อมูลที่รับรู้มา เป็นวิธีคิดที่ใช้กันโดยทั่วไป

และโดยทั่วไปคนเรามักจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง เมื่อใช้ความคิดที่ยังมีกิเลสปน แม้ว่าจะมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมก็จะไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ ซึ่งจะเห็นเพียงความจริงตามที่กิเลสกำหนดให้เห็นเท่านั้น จึงกลายเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ใครผิด ใครเริ่มต้นก่อน ใครทำให้รักของเราต้องเปลี่ยนไป เป็นไปในทิศทางของกิเลสของเรา

เรามีกิเลสมาก ความจริงก็จะบิดเบี้ยวมากตามไปด้วย กิเลสยังสร้างความจริงลวงขึ้นมาเสริมจากเหตุการณ์จริงได้อีก เช่นคู่รักทำอย่างหนึ่ง แต่เราไปตีความว่าเขาทำอีกอย่างหนึ่ง แล้วปั้นจินตนาการต่อฟุ้งกระจายจนความลวงเป็นความจริงขึ้นมาได้ ปั้นจิตให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้ เรียกว่า “มโนมยอัตตา” คือการปรุงแต่งจิตใจ สร้างภาพมายา ขึ้นเป็นตัวเป็นตนแล้วยึดว่าเป็นของจริง ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนสองคนคุยกันไม่รู้เรื่องเพราะเห็นความจริงไม่ตรงกัน

เมื่อมีความเห็นต่างเราก็มักจะเชื่อไปในทางที่เราคิด เราเห็น เราเข้าใจ เราเลือกเชื่อในสิ่งที่เห็นแต่มักจะมองไม่เห็นสิ่งที่เป็นจริงๆ เพราะแท้จริงแล้วมีพลังอำนาจบางอย่างที่อยู่เหนือกว่าสิ่งที่เห็นและเข้าใจนั่นคือกรรมและกิเลส

2). ผิดที่เขา?

ความผิดเกิดขึ้นจากคนอื่นอย่างชัดเจนก็อาจจะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่หากความผิดพลาดนั้นเกิดจากความเข้าใจของเราที่มองเห็นว่าเขาทำผิดนั้นก็จะเป็นเรื่องที่ยาก

เพราะหากเราไปตัดสินว่าใครผิดใครถูกด้วยความเชื่อหรือความเห็นของเราที่ยังมีกิเลสหนาอยู่นั้น ผลของการตัดสินมันก็จะผิดตามไปด้วย ซึ่งโดยมากแล้วคนจะไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิด ถึงจะยอมรับก็รับครึ่งเดียวแต่เวลาคนอื่นทำผิดก็เพิ่มโทษมากขึ้นกว่าความเป็นจริง มองว่าคนอื่นผิดเป็นหลัก ไม่มองพยายามมองหาสิ่งผิดในตนเอง ผลักภาระในกรรมนี้ให้คนอื่น ไม่ยอมรับกรรมนี้เป็นของตน

การมองว่าความผิดมาจากคนอื่นนั้นเป็นเพราะเรามีอัตตาและไม่เข้าใจในเรื่องกรรม ในส่วนของการมีอัตตาคือเรามักจะเชื่อว่าเราถูกเสมอ เราไม่เคยผิด คนอื่นผิด ถึงเราผิดเราก็ผิดไม่มาก คนอื่นผิดมากกว่า เราเป็นคนดี เราดีพร้อมทุกอย่างแล้ว ทำทุกอย่างดีแล้ว แต่เขาไม่ทำดีเหมือนเรา

อัตตา หรือความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนเหล่านี้ คือการยึดศักดิ์ศรี ยึดความถูกต้อง ยึดความเป็นใหญ่มาเป็นตัวตนของเราด้วย เมื่อเรามีอัตตามาก เราก็จะเชื่อมั่นมาก แต่เป็นความเชื่อมั่นที่เคลือบด้วยกิเลส เป็นกิเลสแท้ๆ ยิ่งเชื่อก็ยิ่งผิด ยิ่งยึดก็ยิ่งบาป

เมื่อไหร่ที่เราเชื่อมั่นว่าเราถูกเขาผิดมากเข้า ก็จะทำให้ความเข้าใจในเรื่องกรรมผิดเพี้ยนไปด้วย อัตตานี้เองคือตัวบังทุกอย่างไว้ และโยนความผิดให้คนอื่น ตั้งตนเป็นผู้ถูกกระทำ เอาดีเข้าตน เอาชั่วใส่คนอื่นอย่างแนบเนียน

3). ผิดที่เรา?

คนที่สามารถก้าวข้ามอัตตาได้ก็จะมีโอกาสจะกลับมามองที่ตนเอง การที่เราไม่เพ่งโทษหรือไม่โยนความผิดให้คนอื่นนั้นเป็นสิ่งที่สมควรอยู่แล้ว

ทุกอย่างนั้นมีเหตุในการเกิดและปัญหาของคู่รัก ก็ต้องมีเราเป็นส่วนร่วมในเหตุนั้นด้วยเช่นกัน แต่จะเริ่มตั้งแต่ตอนไหนแล้วสิ่งใดเป็นปัจจัยให้เกิดก็อาจจะทราบได้ยาก เพราะบางครั้งเราอาจจะไม่มีโอกาสได้ปรับความเข้าใจ ได้แลกเปลี่ยน ได้ไขปัญหาต่างๆร่วมกัน

แม้ว่าเราเองจะยอมรับความผิดพลาดทั้งหมดกลับมาที่ตัวเรา มองตัวเราว่าเป็นคนผิด มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโดยไม่โทษคนอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถหายคลางแคลงใจจากคำถามที่ว่า “ฉันผิดตรงไหน?”

แต่การยึดมั่นถือมั่นว่าเราผิดนั้นก็เป็นอัตตาอีกเช่นกัน แต่จะซับซ้อนกว่าในแบบโยนความผิดไปให้คนอื่นเขา ซึ่งคนที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตนผิดและยินดีรับผิด ยอมอมทุกข์นั้นก็เหมือนคนที่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ยึดว่าฉันผิดจึงจะดี ยึดว่าฉันต้องรับทุกข์ทุกอย่างไว้เองจึงจะดี

การยอมรับว่าเราผิดนั้นไม่จำเป็นต้องยึดจนทรมานร่างกายและจิตใจของตัวเอง เพียงแค่ยอมรับให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าเราผิดพลาดตรงไหน นิสัยใดบ้างที่ไม่ส่งผลดี สิ่งใดที่ทำลงไปแล้วเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ ก็ยอมรับผิดไปตามจริง แต่ไม่จำเป็นต้องแบกทุกข์และความผิดนั้นไว้เป็นตัวเป็นตนของเรา

เพราะการทำผิดนั้นไม่ได้หมายความว่า ชีวิตที่เหลือต้องทุกข์ระทมขมขื่น แต่การทำผิดนั้นก็หมายถึงการทำผิดครั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเอาความผิดในครั้งก่อนมากำหนดความผิดในครั้งต่อไป เพราะถ้าเรารู้สาเหตุจากความผิดพลาดจริงๆแล้วแก้ไขมันได้ ความผิดแบบเดิมก็จะไม่เกิดอีกในครั้งต่อไป

4). ผิดที่เราก็ได้นะ…

ในการยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคู่รัก มักจะไม่ได้ชัดเจนและสามารถมองออกได้ง่ายว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เริ่มต้นจากตรงไหน ปัญหาสะสมมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และด้วยความเป็นคู่รัก จึงมักจะมีการแสดงออกที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าที่คนทั่วไปแสดงออก บางครั้งอาจจะเหมือนยอมรับแต่ในใจก็ไม่ยอมรับ บางครั้งเหมือนจะไม่ยอมรับแต่จริงๆก็ยอมรับแล้วแต่ไม่กล้าบอกเพราะกลัวจะเสียฟอร์ม

การยอมรับผิดโดยการประชดประชันนั้นเป็นความซับซ้อนของกิเลส เราแสดงออกว่าเรายอมรับผิดแต่ในใจเรากลับมองว่าคนอื่นผิด แต่เราเลือกที่จะไม่พูดไปเพราะเหตุปัจจัยต่างๆที่มีผลให้เราไม่ยอมแสดงออก การประชดแบบนี้จะทำให้ปัญหายุ่งยากซับซ้อนเข้าไปอีก

หรือหลายคนที่ใช้วิธีเงียบ ปกปิดความรู้สึก ทำเสมือนว่ายอมรับผิด นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว แต่ถ้าในใจไม่ได้รู้สึกว่าความผิดพลาดเหล่านั้นเกิดจากตนเอง ยังคงเชื่อมั่นว่าตนถูกคนอื่นผิด ก็เหมือนการกดข่มปัญหาไว้ไม่ให้แสดงตัวออกมา ปล่อยให้มันสะสมรอวันระเบิดในโอกาสต่อไป

แต่ในบางครั้งที่ปัญหานั้นมีแนวโน้มที่จะลุกลาม การยอมรับผิด ยอมเป็นคนดีรับทุกอย่างไว้เอง เพื่อไม่ให้มีการกระทบกระทั่งหรือบาดหมางกันไปมากกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นกุศลอยู่บ้าง แม้ในใจจะไม่ได้ยอมรับเสียทีเดียว แต่หากทำไปเพื่อไม่ให้เหตุการณ์นั้นลุกลามบานปลายสร้างปัญหามากกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่สมควรจะยอม

5). ผิดที่กรรม?

กรรมคือสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนและยุติธรรมที่สุดในโลก เราไม่มีวันที่จะได้รับสิ่งใด เหตุการณ์ใด ความรู้สึกใด โดยที่เราไม่ได้ทำสิ่งนั้นมา สิ่งที่เราได้รับไม่ว่าจะเป็นการถูกเข้าใจผิด การทอดทิ้ง การเลิกรา ล้วนเป็นสิ่งที่เราทำมาแล้วทั้งนั้น

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลของกรรมของเรา ซึ่งผลของกรรมนี้เองเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะมาไม้ไหน เมื่อไหร่ สิ่งที่เจออาจจะเป็นสิ่งที่ทำในชาตินี้ก็ได้ ชาติก่อนก็ได้ หรือชาติก่อนๆย้อนหลังไปอีกสิบชาติ ร้อยชาติ พันชาติก็ได้ นั่นเพราะผลกรรมที่เราทำไว้ยังไม่ได้ถูกชดใช้จนหมด เราจึงต้องมาคอยชดใช้กรรมที่เราทำไว้นั่นเอง

หลายคนรู้นิยามของกรรม แต่ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่ชัดเจน รู้ตามทฤษฏีว่าทุกอย่างที่ได้รับเราทำมา แต่เวลาเจอสิ่งที่ทำให้ไม่ถูกใจ ทำให้ไม่พอใจ ทำให้ขัดข้องใจหรือสงสัย ก็จะรู้สึกว่ากรรมไม่ยุติธรรม ฉันไม่ควรได้รับกรรมนี้ บ่นคนนู้นด่าคนนี้ มีแต่คนอื่นไม่ดีไปหมด ลืมมองกลับมาว่าทั้งนี่เป็นกรรมของเราเอง เราทำมาเอง ทั้งหมดเป็นผลงานของเราเองเรานี่แหละตัวแสบเลย ยิ่งได้รับกรรมที่ทำให้เจ็บปวดรวดร้าวมากเท่าไหร่ นั่นก็หมายถึงเราก็เคยทำสิ่งที่เลวร้ายมามากกว่านั้น เพราะเราจะได้รับเพียงส่วนหนึ่งที่เราทำ ไม่ใช่ทั้งหมดในทีเดียว

เช่นเดียวกับรักร้าวที่ไร้คำตอบ การเลิกราที่ไม่มีบทสรุป เราก็ทำมาเอง ในชาติใดชาติหนึ่งเราก็เคยไม่ถูกใจใครแล้วก็ทิ้งเขาเอาตัวรอดมาคนเดียวโดยไม่สนใจความรู้สึกของเขาเช่นกัน นั่นก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถหาคำตอบได้เลยว่าความรักที่จืดจาง หรือกระทั่งรักที่พังทลายลงไปนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร

กรรมจะดลให้เราได้รับทุกข์อย่างที่เราเคยทำมา ให้เราอยู่กับความขุ่นข้องหมองใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ให้เราสงสัยและทุกข์ไปเรื่อยๆ จมอยู่กับทุกข์จากความไม่ปล่อยวางในเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และเราเองก็ไม่มีปัญญาที่จะรู้คำตอบที่ชัดเจนนั้นด้วย

แต่เมื่อกรรมให้ผลจนหมด จะเหมือนฟ้าเปิด เหมือนเมฆฝนหายไป เราจะสามารถเข้าใจคำตอบของเรื่องราวต่างๆได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครบอก เข้าใจกรรมและผลของกรรมได้เอง ซึ่งอาจจะมีสิ่งกระตุ้นหรือไม่มีก็ได้เช่นกัน

ซึ่งการจะทำให้ผลกรรมหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเริ่มจากการยอมรับความผิดพลาดของตัวเองด้วยใจจริงเสียก่อน ยอมรับว่าตัวเราคือส่วนหนึ่งของปัญหา และพยายามแก้ไขสิ่งไม่ดีเหล่านั้นด้วยการทำดีให้มากเท่าที่จะทำได้ เมื่อกรรมชั่วนั้นส่งผลให้เราทุกข์ ให้เราโง่ ให้เราจมอยู่กับปัญหา กรรมดีก็จะส่งผลให้เราสุข ให้เรามีปัญญา ให้เราออกจากปัญหาได้เช่นกัน ดังนั้นการทำดีจะช่วยทำให้ปัญหาได้คลี่คลายเร็วขึ้น ได้คำตอบในชีวิตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

คำตอบนั้นอาจจะไม่มีคำตอบใดๆเลยก็เป็นได้ อาจจะเป็นคำตอบสั้นๆง่ายๆว่า มันจบไปแล้วเราจะแบกไว้ทำไม ว่าแล้วจิตใจก็โปร่งโล่งสบายจากการไม่ต้องมานั่งรอคอยคำตอบที่ไม่มีวันจะได้รับ

แต่บางครั้งกรรมก็ซับซ้อนกว่าที่คิด คือสามารถทำให้เราหลงว่าบรรลุธรรมได้ หลงว่าหลุดพ้นได้ จะมีอาการเพี้ยนๆที่เป็นไปในทิศทางเพิ่มกิเลส แต่เจ้าตัวจะเข้าใจว่ามีความสุข เช่นมีความสุขกายสบายใจที่ได้โยนความผิดให้กับคนอื่นด้วยใจเป็นสุข …อาการจะขัดๆเพี้ยนๆแบบนี้ ปากก็บอกว่าเป็นสุข แต่การกระทำจะสร้างบาป มันขัดกันไปมา ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นไปเพื่อล้างกิเลส ในกรณีหมดกรรมชั่วจริงๆ คำตอบจะเป็นไปในทางกุศล เป็นไปในทางลดกิเลสอย่างเดียว

ผลของกรรมนั้นเป็นเรื่องอจินไตย เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิดคำนวณ เราไม่สามารถรู้ได้ว่าสุดท้ายกรรมจะผ่านพ้นตอนไหน อย่างไร สิ่งที่เราทำได้เพียงแค่การทำดีให้มาก และการทำดีที่มีผลมากที่สุดก็คือการดับกิเลสซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหมดนั้นเสีย

ถ้าเราชัดเจนเรื่องกรรม เราจะไม่กล่าวโทษหรือแม้แต่จะคิดโทษใครเลย จะไม่มีใครผิดเลยนอกจากเรา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเราทำมาเองทั้งนั้น เราจะยินดีรับกรรมนั้นใจที่เป็นสุข เข้าใจและยอมรับสิ่งที่ตัวเองทำมาด้วยความยินดี เพราะได้รับกรรมชั่วแล้ว กรรมนั้นก็หมดไป ชีวิตเราก็จะดีขึ้นเพราะใช้หนี้ไปอีกเรื่อง

6). ผิดที่กิเลส

ตัวการแห่งทุกข์ทั้งหมดก็คือกิเลส กิเลสไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ความอยากเหล่านั้นแท้จริงไม่ใช่ส่วนหนึ่งในชีวิตเรา แต่เพราะความโง่ ความไม่รู้ของเราจึงนำกิเลสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต รับกิเลสเข้ามาเป็นตัวเป็นตนของเรา แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าฉันคือกิเลส กิเลสคือฉัน เป็นเนื้อเดียวกันอย่างแยกไม่ออก

เมื่อเรามีกิเลส เราก็จะไปสร้างกรรมชั่วตามแต่กิเลสจะผลักดัน ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาชอบเรา แต่เราไม่ชอบเขาเพราะเขาจนและหน้าตาไม่ดี นั่นคือเขาไม่สามารถผ่านมาตรฐานสนองกิเลสของเราได้ คู่ของเราต้องมีความสามารถในการสนองกิเลสของเรามากกว่านี้ นี่คือเรากำลังใช้กิเลสของเราในการวัดคุณค่าของคนแล้ว ซึ่งเมื่อเราทำกรรมเช่นนี้ การที่เราจะได้รับผลกรรมในแนวทางที่ว่า ถึงแม้เราจะดีแสนดีแต่เขาก็ไม่หันมาสนใจเราเลยก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

หรือ เราคบกันแฟนคนหนึ่ง ด้วยความที่เขามาจีบเรา เราก็ใช้โอกาสเอาแต่ใจ เรียกร้องสิ่งต่างๆ ซึ่งเรากำลังเพิ่มกิเลสของเราและกำลังทำให้คนอื่นทุกข์ นี่ก็เป็นกรรมชั่วที่เราทำเช่นกัน ซึ่งการที่เราจะได้รับผลกรรมในแนวทางที่ว่า ไม่ว่าเราจะสนองกิเลสของคู่รักเท่าไหร่ เขาก็ไม่เคยพอ แถมเอาแต่ใจมากขึ้นอีกด้วย ถ้าจะเกิดเรื่องแบบนี้ในชีวิต ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

เพราะเรามีกิเลสเราจึงสร้างกรรมชั่ว และเรานั่นเองก็ต้องมาคอยรับผลกรรมชั่วที่เราทำไว้ คนที่มีความเห็นความเข้าใจว่าคนเราเกิดมาชาติเดียวใช้ชีวิตให้เต็มที่ ก็จะขยันสนองกิเลส เพิ่มกิเลส ขยันทำชั่ว แล้วก็จะได้มาซึ่งผลกรรมชั่ว ซึ่งจะกลายเป็นสมบัติติดตัวของเขาต่อไปทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป

คนที่ไม่ชัดเจนเรื่องกรรม ก็จะไม่รู้ในเรื่องกิเลส แม้จะเป็นทุกข์อยู่ก็จะไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นกิเลส ต้องจมอยู่กับความเศร้าหมองอยู่อย่างนั้น แม้จะมีคนมาบอกทางแต่ก็เหมือนมองไม่เห็น ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน กรรมมันส่งผลแบบนี้ มันบังตาแบบนี้ นี่คือผลกรรมชั่วจากการที่เรามีกิเลส มันบังได้แม้กระทั่งการเห็นทางพ้นทุกข์

ดังนั้นการที่เรามามัวถามคำถามว่าฉันผิดตรงไหน? เลิกกับฉันเพราะอะไร? เป็นการหาคำตอบที่ปลายเหตุ ถึงแม้ว่าเขาจะบอกแต่ก็อาจจะไม่ใช่ความจริง ถึงแม้จะเป็นความจริงก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าใจตามที่เขาเข้าใจ กรรมจะบังให้ทุกอย่างคลาดเคลื่อน ให้เราทุกข์ ให้เราจมอยู่กับคำถาม ที่ไม่มีวันที่จะสามารถเข้าใจและยอมรับในคำตอบนั้นได้

เราจึงควรกลับมาที่เหตุของปัญหาทั้งหมด เหตุของกรรมชั่วที่ดลบันดาลให้เราต้องพบกับความทุกข์แสนสาหัส กรรมชั่วเหล่านั้นก็มาจากกิเลส ดังนั้นการจะพาตัวเองให้พ้นจากคำถามต่างๆ ให้พ้นจากกรรมชั่วเหล่านั้นคือการทำกรรมดีขึ้นมาใหม่ โดยการทำลายเหตุแห่งกรรมชั่วอันคือกิเลสให้สิ้นซาก

– – – – – – – – – – – – – – –

30.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

October 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 24,467 views 1

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

คำว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักกันอยู่แล้ว ไม่มีใครเกิดมาไม่พบกับทุกข์ ทุกคนที่อยู่บนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องพบกับทุกข์ เป็นสัจจะ เป็นความจริงแท้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทุกข์นั้นมีอยู่สองส่วน หนึ่งทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ และสองคือทุกข์ที่เลี่ยงได้นั่นก็คือทุกข์จากกิเลสนั่นเอง เราจะมากล่าวถึงทุกข์จากกิเลสกัน

ทุกข์นั้นจะเกิดได้ก็เพราะมีเหตุ เหตุแห่งทุกข์ นั้นพระพุทธเจ้าเรียกว่า “สมุทัย” และเหตุแห่งทุกข์นั้นแท้จริงแล้วอยู่ข้างในตัวเรา

(1). ด่านแรก ทุกข์อยู่ข้างใน…

ด่านแรกของการเห็นเหตุแห่งทุกข์เลยก็คือมันอยู่ที่ตัวเรา ใครที่พบเจอกับความทุกข์แล้วมัวแต่มองหาคนผิด มองหาผู้ที่ทำให้ตนทุกข์ มองหาคนรับผิดชอบในทุกข์นั้น เป็นคนที่มองไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะทุกข์นั้นเกิดจากใจของตัวเอง เกิดจากกิเลสของตน เกิดจากกรรมของตน การจะรู้เหตุแห่งทุกข์ได้จึงต้องยอมรับว่าทุกข์นั้นเกิดจากตนเองก่อนเป็นอันดับแรก

(2). ด่านที่สอง ทุกข์ที่เห็นอาจจะไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์

ทุกข์ที่เห็นนั้น มักจะเป็นผลสุดท้ายของการไม่ได้เสพสมใจ แต่หลายคนไปเข้าใจผิดว่าความทุกข์นั้นคือเหตุแห่งทุกข์ เช่นเราถูกเพื่อนสนิทนินทา เราโกรธเพื่อน แล้วเรารู้สึกว่าโกรธเป็นทุกข์ เราจึงเห็นว่าความโกรธคือเหตุแห่งความทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วความโกรธนั้นเป็นผลที่ปลายเหตุแล้ว จะไปดับความโกรธนั้นก็ได้ก็เรียกว่าดี แต่ก็ถือว่าไม่ได้ดับเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

มีหลายลัทธิพยายามที่จะดับความคิด ดับเวทนา ดับความสุข ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการได้กระทบสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน โดยพยายามทำการดับสิ่งที่เกิดขึ้น ดับจิตที่เป็นทุกข์ ซึ่งก็เป็นการดับปลายเหตุที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ก็เหมือนมองเหตุที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียวไม่ได้เข้าไปค้นที่ต้นเหตุ มองเพียงว่าจิตใจที่สั่นไหวนั้นคือเหตุเท่านั้น เหมือนกับเกิดแผ่นดินไหว เขาเหล่านั้นมักมองปัญหาคือแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายคือปัญหา เขาต้องหยุดการพังทลายหรือพยายามสร้างบ้านที่ป้องกันแผ่นดินไหวได้ แต่ผู้ที่ค้นหาเหตุจริงๆ คือเข้าไปค้นหาว่าแผ่นดินไหวจากสาเหตุใด แผ่นดินเคลื่อนเพราะอะไร อากาศร้อนเย็นมีผลหรือไม่ ค้นหาไปถึงนามที่ทำให้เกิดรูปคือแผ่นดินนั้นเคลื่อนไหวได้ และดับเหตุนั้นจึงจะเป็นการดับทุกข์ที่เหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

มีหลายลัทธิที่มองว่าทุกข์นั้น เป็นเพียงสิ่งที่ผ่านมาผ่านไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง จริงอยู่ว่าทุกข์ที่เกิดนั้น มันเกิดขึ้นมา มันตั้งอยู่ และมันก็ดับไป เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผู้ที่เข้าใจเช่นนี้จะสามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในทุกข์ที่เกิดได้ดีระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถดับเหตุแห่งทุกข์ได้ เสมือนกับผู้ที่มองแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายด้วยจิตใจว่างๆ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ เกิดดับ เกิดดับเช่นนี้ตลอดไป ด้วยพวกเขาเหล่านั้นไม่รู้วิธีดับทุกข์ที่เหตุ เมื่อไม่ได้เข้าไปดับเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสก็ต้องเกิดขึ้นอยู่เรื่อยไป แม้จะดับไปตามกฎ แต่ก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

(3). ด่านที่สาม ขุดค้นเหตุแห่งทุกข์

เมื่อเราเห็นได้ว่า การค้นหาเหตุแห่งทุกข์โดยการดูแค่ผิวเผินนั้นไม่สามารถทำลายเหตุแห่งทุกข์ได้อย่างแท้จริง เราจึงต้องมาค้นหาว่าเหตุแห่งทุกข์นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่

ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนนินทาเรา เราก็โกรธเพื่อน ความเข้าใจทั่วไปจะดับความโกรธที่เกิดตรงนี้ แต่ในความจริงแล้ว ความโกรธ (โกธะ)คือกิเลสปลายทาง เป็นสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ครอบครองสมใจ ไม่ได้มาอย่างใจหมาย เราจึงแสดงอาการโกรธเหล่านั้นออกไป อันเกิดจากความโลภ ความอยากได้ อยากครอบครองเกินความจำเป็นจริง เกินจากความจริง(โลภะ) คือเราอยากให้เพื่อนทุกคนพูดดีกับเรา การที่เราอยากให้ทุกคนพูดดีกับเรานั้นเพราะเราเสพติดคำพูดดีๆอยากฟังสิ่งดีๆ (ราคะ) ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความหลง(โมหะ) หลงไปว่าการได้เสพคำพูดดีๆ จะนำมาซึ่งความสุขให้ตน เป็นต้น

ลำดับของกิเลสที่จะเห็นได้จากละเอียดไปหยาบคือ…

โมหะ เพราะเราหลงติดหลงยึดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราจะอยากเสพสิ่งนั้น เป็นรากที่ละเอียดที่สุด แก้ยากที่สุด

ราคะ เราอยากเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดจากเราหลงชอบหลงยึดสิ่งนั้น พอเสพก็ติด ยิ่งเสพก็ยิ่งจะอยากเสพเพิ่มอีก

โลภะ เมื่อเราชอบสิ่งนั้นอยากเสพสิ่งนั้น ก็จะพยายามหามาปรนเปรอกิเลสตัวเอง จนเกิดการสะสม หามามากเกินความจำเป็น หวง ไม่ยอมให้ใครเพราะกลัวตัวเองจะไม่ได้เสพ

โกธะ เป็นกิเลสปลายเหตุ เกิดขึ้นเมื่อไม่ได้เสพสมใจอยาก เมื่อมีคนพรากสิ่งที่อยากเสพไปรุนแรง เป็นไฟที่ทำลายได้ทุกอย่าง

การวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุแห่งทุกข์นี้ ต้องใช้กระบวนการของสติปัฏฐาน๔ คือกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เข้ามาวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้ ซึ่งสติปัฏฐาน๔ นี้ต้องปฏิบัติทุกองค์ประกอบไปพร้อมกัน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นก้อนเดียวกัน เป็นกระบวนการเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาใช้เป็นตัวๆอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจได้

เมื่อปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน๔ อย่างถูกต้องจึงจะมีสิทธิ์ได้เห็นไปถึงเหตุแห่งทุกข์อันคือความหลงติดหลงยึดในกิเลสใดๆได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพิจารณาครั้งเดียวก็เห็นได้ทุกอย่าง เพราะกิเลสนั้นลึกลับซับซ้อน จนบางครั้งเราอาจจะต้องให้เหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นหลายที หรือพิจารณาซ้ำๆในจิตใจอย่างหนักเพื่อที่จะทำให้เห็นเข้าไปถึงเหตุแห่งทุกข์นั้น

การวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้บางครั้งสติปัญญาที่เรามีอาจจะไม่สามารถทำเหตุแห่งทุกข์ให้กระจ่างได้ การมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี คือมีครูบาอาจารย์ที่คอยชี้แนะ มีเพื่อนกัลยาณมิตรที่คอยแนะนำ ก็จะช่วยให้สติ ช่วยให้เกิดปัญญาที่มากขึ้นกว่าขอบเขตที่เราเคยมีได้

(4). ด่านที่สี่ เหตุแห่งทุกข์เกิดจากการหลงในกิเลส

ความหลงในกิเลสนั้นมีมิติที่หลากหลาย หากเราเข้าใจเพียงแค่ว่าหลง แต่ไม่รู้ว่าหลงในอะไร ก็ยากที่จะแก้ไปถึงเหตุได้ เพราะถ้าไม่รู้สาเหตุว่าหลงในอะไร ก็คงจะไม่สามารถดับทุกข์ได้ เพราะการดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ เมื่อดับไม่ถูกเหตุ ทุกข์ก็ไม่ดับ เราจะมาลองดูเหตุแห่งทุกข์ อันคือความหลงยึดในกิเลสสี่ตัวนี้กัน

(4.1). อบายมุข

คือกิเลสขั้นหยาบที่พาให้คนหลงไป สามารถหลงจนไปนรก ไปเดรัจฉานได้เลย คือความหลงในอบายมุขต่างๆ เช่นเที่ยวเล่น เที่ยวกลางคืน เล่นพนัน หวย หุ้น เสพสิ่งมึนเมาทั้งหลายไม่ว่าจะสุรา บ้าดารา กิจกรรมหรือสิ่งต่างๆที่ทำให้จิตใจมัวเมา เที่ยวดูการละเล่น ดูละคร ดูหนัง ดูทีวี เพื่อความบันเทิงใจ คบคนชั่ว พาไปทางเสื่อม พาให้เล่นพนัน พาให้มัวเมา พาให้เป็นนักเลง พาให้หลอกลวงผู้อื่น พาให้คดโกง และความเกียจคร้านการงาน

คนส่วนมากมักจะติดในอบายมุขจนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่พยายามทำตัวกลืนไปกับสังคมโดยใช้ค่ามาตรฐานของสังคมเป็นตัววัดความดี จะถูกกิเลสมวลรวมของคนส่วนใหญ่ลากไปลงนรก หรือที่เรียกว่าอุปาทานหมู่ คือสังคมคิดไปเองว่ากิเลสเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องที่ใครๆก็เสพกัน ทั้งๆที่เป็นอบายมุข เป็นกิเลสหยาบที่พาให้ชีวิตเดือดร้อน เมื่อเสพอบายมุขก็จะยิ่งนำพากิเลสตัวอื่นที่หยาบเข้ามา เสพมากๆก็ติด พอไม่เสพก็โกรธไม่พอใจ เป็นทุกข์

(4.2). กามคุณ

คือความหลงในกิเลสที่พาให้อยากเสพใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นชอบแต่งตัวสวย ชอบคนหน้าตาดี อาหารอร่อย กลิ่นที่หอม เสียงไพเราะ เตียงที่อ่อนนุ่ม หรือกระทั่งเรื่องการเสพเมถุน ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของการหลงในกาม เมื่อเราหลงติดในกามเหล่านี้ ก็จะพาให้เราอยากเสพกามตามที่เราติด พอเสพมากๆก็พาสะสม พอไม่ได้เสพสมใจก็โกรธเป็นทุกข์

(4.3). โลกธรรม

โลกธรรมคือกิเลสที่ละเอียดที่ฝังอยู่ในคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็เป็นสภาพของโลกธรรม เมื่อคนหลงในลาภก็จะสะสมมาก หลงในยศก็จะไต่เต้าเพื่อหายศหาตำแหน่ง หลงในสรรเสริญก็จะพยายามทำตัวให้เป็นที่น่าสนใจ อยากให้คนยอมรับ เชิดชูบูชา หลงในโลกียะสุขก็จะแสวงหาสุขในทางโลก สุขที่วนอยู่ในโลก เมื่อเสพสิ่งเหล่านี้มากเข้า ก็จะเริ่มสะสม เริ่มหวงลาภ ยศ สรรเสริญ สุข พอไม่ได้หรือเกิดสภาพของความเสื่อมทั้งหลายก็จะโกรธ เป็นทุกข์ เสียใจ

(4.4). อัตตา

อัตตาคือกิเลสที่ละเอียดที่สุดที่คนหลงยึดไว้ ไม่ว่าจะอบายมุข กามคุณ โลกธรรม สุดท้ายก็ต้องมาจบที่อัตตา เป็นเสมือนรากของกิเลส ส่วนที่เหลือนั้นเหมือนกิ่งก้านใบของกิเลสเท่านั้น ผู้ที่ดับอัตตาได้ก็จะเข้าสู่อนัตตา เป็นภาษาที่พูดกันได้ง่ายแต่ทำได้ยากยิ่ง

อัตตานั้นคือความยึดมั่นถือมั่น เรายึดมั่นถือมั่นตั้งแต่คน สัตว์ วัตถุสิ่งของ หรือสิ่งที่เป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้ เรายึดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของเรา เราอยากครอบครอง วัตถุ คน สัตว์ สิ่งของเหล่านี้มาเป็นตัวตนของเราซึ่งจะสะท้อนออกไปอีกทีในรูปของ อบายมุข กาม โลกธรรม เช่นเราอยากคบหาคนผู้นั้นไว้เพราะเขารวย เพราะเขามีชื่อเสียง เพราะเขามีอำนาจ หรือเรายึดว่าคนต้องกินเนื้อสัตว์ คนเป็นสัตว์กินเนื้อเพราะเราหลงในกาม หลงติดในรสชาติรสสัมผัส เมื่อเราจะกำจัดกามเหล่านั้นแล้วก็ต้องมากำจัดอัตตาไปพร้อมๆกันด้วย

เรายังสามารถที่จะติดรูปที่สำเร็จด้วยจิตของตัวเองได้อีก เช่นการคิดฝัน ปั้นจินตนาการไปเองว่าคนนั้นพูดแบบนั้นคนนั้นพูดแบบนี้ คนนั้นเขาคิดกับเราแบบนั้น เขาจะทำกับเราแบบนี้ หลงไปว่าการเสพอบายมุขนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพกามนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพโลกธรรมนั้นเป็นสุข เป็นสภาพที่จิตสร้างความสุขหลอกๆขึ้นมาหลอกตัวเอง หรือถ้าหนักๆก็จะเป็นพวกเห็นผี เข้าทรงกันไปเลย ทั้งหมดนั้นเป็นสภาพที่จิตนั้นปั้นขึ้นมาเป็นรูปให้เราได้เห็น จึงเรียกว่ารูปที่สำเร็จด้วยจิตเป็นกิเลสของเราเองที่สร้างความรู้สึกสุข ชอบใจ พอใจ สร้างเป็นภาพ เป็นเสียงขึ้นมาให้เราได้ยิน ทั้งๆที่จริงแล้วมันไม่มี แต่เราไปยึดไว้และหลงเสพสิ่งที่ไม่มีเหล่านั้น ในเมื่อสิ่งนั้นไม่มีจริง ไม่ใช่ของจริง ไม่เที่ยง สุดท้ายเมื่อไม่ได้เสพสมใจก็จะเป็นทุกข์

อัตตายังอยู่ในสภาพไร้รูป หรือที่เรียกว่า อรูปอัตตา เช่น ความเห็น ความเข้าใจ ศักดิ์ศรี ความรู้ ฯลฯ เราก็ไปหลงยึดสิ่งเหล่านี้ไว้ เช่น เราเข้าใจธรรมแบบนี้ เราก็ยึดสิ่งนี้เป็นตัวตนของเรา พอใครมาพูดไม่เหมือนที่เราคิด ไม่เหมือนที่เราเข้าใจ เราก็จะมีอาการขัดข้องใจ ไม่พอใจ โกรธ เพราะเราไม่ได้เสพสมอัตตา คือต้องการให้คนอื่นมาทำให้ได้ดังใจเราหมาย หรือทำตามอัตตาเรานั่นเอง

….เมื่อได้รู้กิเลสทั้งหมดนี้แล้ว เราจึงควรใช้เวลาพิจารณากิเลสในตัวเองอย่างแยบคาย ทำให้เห็น ทำให้ชัดเจนว่าเราติดในกิเลสตัวไหน ปนกับตัวไหน มีรากมาจากตัวไหน การค้นหารากของกิเลสไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย กิเลสบางตัวอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือทั้งชีวิตอาจจะไม่สามารถเห็นเลยก็ได้ถ้าไม่พากเพียร และไม่คบมิตรที่ดี

(5). ด่านที่ห้า ดับเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย

เมื่อเห็นเหตุแห่งทุกข์แน่ชัดแล้ว เห็นตัวการของกิเลสแน่ชัดแล้ว ก็ให้เพียรพยายามทำให้ถึงความดับ โดยใช้มรรควิธี ก็คือการปฏิบัติมรรคทั้ง ๘ นั่นแหละ จะใช้สมถะ วิปัสสนาก็ได้ จะใช้สัมมัปปธาน ๔ ก็ได้ จะใช้โพชฌงค์๗ ก็ได้ จะใช้จรณะ๑๕ ก็ได้ จะใช้ทั้งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ได้ หรือจะใช้ธรรมใดตามที่ถนัดก็ได้ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อการละกิเลส เพื่อการล้างกิเลส เพื่อการดับกิเลสอยู่แล้ว

การจะค้นเจอเหตุแห่งทุกข์นั้นว่ายากแล้ว การดับทุกข์ที่เหตุนั้นยากยิ่งกว่า เพราะต้องใช้ความเพียรพยายาม ใช้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำที่สุดแห่งทุกข์ คือการดับทุกข์นั้นอย่างสิ้นเกลี้ยงโดยการดับกิเลสนั้นนั่นเอง

สรุป

การที่เราต้องมาหาเหตุแห่งทุกข์อย่างยากลำบากนี้ เพราะพระพุทธเจ้าได้ชี้ขุมทรัพย์ไว้ว่า ดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ แต่บางครั้งเรามักจะมองเหตุแห่งทุกข์นั้นตื้นเกินไป เหมือนกับเราที่เราอยากกำจัดหญ้า แต่ก็ทำแค่เพียงตัดหญ้าที่มันยาวพ้นดินออกมา บ้างเก่งกว่าก็ว่าขุดรากถอนโคนหญ้านั้นไปเลย แต่สุดท้ายหญ้าก็จะขึ้นมาใหม่ เหมือนกับกิเลสนั้นกลับมาโตใหม่อีกครั้ง

ผู้มีปัญญาย่อมขุดรากถอนโคนกิเลสทั้งหมด ทั้งตัดหญ้า ขุดรากถอนโคน และนำดินมาเผา ทำลายเมล็ดหญ้าที่ยังหลงเหลืออยู่ในฝืนดินซึ่งเป็นเมล็ดนี้เองเป็นแหล่งเกิดของหญ้า เหมือนกับตัณหา ถ้าเรายังดับตัณหาคือความอยากไม่ได้ ความอยากเหล่านั้นก็จะค่อยๆเติบโต เหมือนกับผืนดินที่เต็มไปด้วยเมล็ดหญ้า หากไม่กำจัดเมล็ดออก ก็มีแต่จะต้องมาคอยตัดหญ้า ขุดรากถอนโคนหญ้ากันทุกชาติไป

ดังนั้นผู้มีปัญญาพึงกำจัดทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ เผากิเลสเหล่านั้นด้วยไฟแห่งฌาน ให้ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสนั้นสลายไป ทำลายกามภพ ทำลายรูปภพ ทำลายอรูปภพของกิเลสนั้น ไม่ให้มีแม้เสี้ยวอารมณ์ความอยากที่เกิดภายในจิต แม้จะตรวจด้วยอรูปฌานสักกี่ครั้งก็ไม่พบความอยากในจิตอีก เมื่อนั้นแหละที่เขาเหล่านั้นจะได้พบกับสภาวะที่เรียกว่า “สัญญาเวทยิตนิโรธ” คือการดับกิเลสที่อยู่ในสัญญาอย่างสิ้นเกลี้ยง ถือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้กับกิเลสนั้น ได้รับชัยชนะที่ทำได้ยาก เป็นสิ่งที่บัณฑิตต่างสรรเสริญ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์