Tag: ความคิด

ทำไมถึงเลือกพิมพ์บทความเกี่ยวกับความรัก

January 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 530 views 0

เมื่อปีก่อนมีคนถามคำถามนี้มา ก็ตอบไปว่า “เพราะมันเป็นเหตุแห่งทุกข์ที่ร้ายมากขนาดที่คนฆ่ากันตายได้” ก็ตอบไปสั้น ๆ ประมาณนี้

ก็คงจะมาพิมพ์ขยายกันเพิ่มว่าทำไม ผมจึงเลือกพิมพ์บทความความรักมากมายในช่วงนี้

ช่วงหลายปีก่อนเป็นช่วงที่มีบทความหลากหลาย การไม่กินเนื้อสัตว์ ชีวิตความเป็นอยู่ การปฏิบัติธรรม ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ แต่มาช่วงสุดท้ายของปี 62 จนมาถึงวันนี้ กลับดูเหมือนเน้นแต่เรื่องความรัก

นั่นก็เพราะผมเลือกว่าถ้าเราสังเคราะห์สิ่งนี้น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด เพราะมีคนทำน้อย เรื่องไม่กินเนื้อสัตว์เขาก็ทำกันเยอะแยะ ก็ไม่ต้องไปปรุงกันมากนัก เราก็เลือกที่เราทำได้เด่น ๆ อันนี้มันเป็นความถนัดเฉพาะทางด้วย มันพิมพ์แล้วมันไปได้ มีคนอ่าน ถือว่าทำออกมาแล้วขายออก ก็ทำอันนี้ แม้จะมีแบบอื่นที่ทำได้อีก แต่ก็เอาอันนี้แหละ เรื่องความรักแบบนี้แหละ ไม่ค่อยมีคนทำเลย มาลดโลภ โกรธ หลง ในความรัก หาอ่านไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่ก็มีแต่จะพาเพิ่ม โลภ โกรธ หลงในความรักเสียมากกว่า

มีคนเขาถามว่าสิ่งที่เราพิมพ์นั้นมาจากความคิดหรือประสบการณ์ ก็จะตอบว่าทั้งสองอย่าง

ถ้าจะนิยาม ความคิด ว่าคือการคิดด้นเดาเอาเอง อันนั้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะความลึกซึ้งในธรรมะนั้นคิดหรือเดาเอาเองไม่ได้ นั่งเทียนเขียนก็เขียนไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาวะมันจะเขียนไม่ออก เก่งภาษาแค่ไหน ก็จะสื่อสารไม่มาไม่ไป มันจะวน ๆ งง ๆ ไม่แม่นเป้า ไม่ตรงประเด็น ไม่ตรงกิเลส

ไม่เชื่อลองดูก็ได้ มีหัวข้อให้ เป็นเรื่อง ๆ ใช่ว่าคนปฏิบัติธรรมเขาจะเขียนออก หรือถ่ายทอดได้กันทุกคนเสียที่ไหน มันต้องมีผลจากการปฏิบัติเป็นหลัก แล้วปรุงตามเหตุปัจจัยของโลก สังเคราะห์ความคิดขึ้นมาว่าถ้าเหตุแบบนี้เราจะทำอย่างไร จะแก้ไขปัญหาอย่างไร อันนี้เป็นความคิดที่มีหลักว่าต้องพาไปสู่ความพ้นทุกข์ พ้นโลภ โกรธ หลงในความรัก

ก็มีอยู่บ้าง ที่เขาอาจจะจำมา เรียนมา ศึกษามา แต่ถึงเวลาใช้จริงมันจะแข็ง ขาดความพริ้ว หรือขาดมุทุธาตุ ที่เป็นความแววไวของจิต มันจะเป็นบล็อก ๆ เป็นความรู้ชุด ๆ เหมือนนักรบที่ฝึกกระบวนท่าเป็นชุด ๆ แต่ประยุกต์ไม่ได้

ส่วนประสบการณ์นี้ก็ต้องตอบว่ามีพอหากิน การเรียนรู้ของคนนั้นวัดด้วยเวลาเท่าที่เห็นได้ยาก คนแต่ละคนมีความไวในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่สะสมมาข้ามภพข้ามชาติ จะลองให้คนแก่ที่ผ่านรักมามากมายหลายครั้งมา เล่าเรื่องแจกแจงกิเลสอย่างผมก็ได้ ผมไม่เชื่อหรอกว่า คนที่ผ่านเวลามามากมาย ผ่านรักมาหลายครั้ง จะมีความชัดเจนแจ่มแจ้งในเรื่องกิเลสได้โดยที่ไม่ได้ปฏฺิบัติธรรมอย่างถูกตรง

ญาณปัญญาคือผลจากการปฏิบัติ การเรียนรู้ในมิติที่มีปัญญาจะต่างไปจากมิติของคนที่จมอยู่กับกิเลส ทุกเรื่องราว เหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาจะถูกแปรสภาพเป็นปัญญา เป็นการรู้โลกที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ต่างจากคนที่ยังจมอยู่กับกิเลส เมื่อมีเรื่องราวหรือสิ่งกระทบ ก็จะไหลไปทางใดทางหนึ่ง ไม่ชอบก็ชัง ไม่รักก็เกลียด พอไปทางโต่งสองด้าน ปัญญามันก็ทึบ ถึงจะผ่านเวลาไปนานเท่าไหร่ แต่ถ้ากิเลสยังครอบงำอยู่ การเรียนรู้ที่ถูกตรงก็จะไม่เกิดขึ้นเลย

ส่วนถ้าถามว่าได้สิ่งเหล่านี้มาได้อย่างไร ที่ได้ความรู้เหล่านี้มาเพราะมีครูบาอาจารย์ที่ดี ที่ท่านปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างให้เราได้พึ่งพาอาศัยเรียนรู้จากท่าน พอตั้งใจปฏิบัติตาม มันจะได้ความรู้ชุดหนึ่งมาจากท่าน และความรู้อีกชุดหนึ่งจากผลการปฏฺิบัติของเรา บวกกับความรู้ที่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จากการที่เราสังเคราะห์กับผู้คน เหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลกนี้

ผมพิมพ์เรื่องความรักมานานหลายปี การทบทวนธรรม การแสดงธรรมนั้นเป็นวงจรที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายรอบ พระพุทธเจ้าตรัสว่าการทบทวนธรรม และการแสดงธรรมนั้น เป็นองค์ประกอบในเหตุแห่งการหลุดพ้นจากกิเลส ๒ ใน ๕ ประการ ดังนั้น ยิ่งทบทวน ยิ่งพิมพ์ ยิ่งเผยแพร่ มันจะมีปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันก็ยังไม่หยุด ก็ยังคิดว่าตนเองยังไม่เก่งหรอก มันก็มีเหลี่ยมมุมใหม่ ๆ มาให้เรียนรู้เพิ่ม ก็ฝึกย่อ ฝึกขยายกันไป บางทีมันต้องย่อให้มันกระชับ ก็ต้องฝึก บางทีมันสั้นไปมันก็จะเข้าใจยาก ก็ต้องขยายกัน ก็ฝึกไปเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวผมเอง ส่วนคนมาอ่านแล้วเขาได้ประโยชน์ ก็เป็นความลงตัวของความดีที่ได้ทำร่วมกันอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเขาเห็นว่าดี เดี๋ยวเขาก็เอาไปลองทำเอง ถ้าเขาทำแล้วดี ก็คงจะเหมือนกับผมที่ทำตามอาจารย์แล้วผลมันออกมาดี พ้นทุกข์ เราก็เลยเอาไปบอกคนอื่นต่อว่ามันดี นั่นเอง

แค่รู้ตัว ไม่พอ

December 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,492 views 0

แค่รู้ตัว ไม่พอ

แค่รู้ตัว ไม่พอ

การที่เราจะดับทุกข์ที่กำเริบขึ้นมานั้น การกำหนดรู้อาการที่เกิดขึ้น สร้างความรู้ตัวใดๆก็ตาม อาจจะสามารถกำราบทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นให้สงบลงได้ แต่หากจะหวังให้การกระทำเหล่านั้นเป็นการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง แค่รู้ตัวนั้น…ยังไม่พอ

เราสามารถฝึกสมถะใช้กำลังของจิตสะกดความคิดฟุ้งซ่านได้ ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุขก็กดข่มให้ดับลงไปได้ หรือตามดู ตามรู้จนมันดับลงไปได้ แต่ความดับเหล่านั้นไม่ใช่ลักษณะของการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ ๔ ของพุทธ เป็นเพียงการดับจากสภาพเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นธรรมดาของจิต ซึ่งคนที่เขาไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมหรือกระทั่งคนไม่มีศาสนาก็สามารถทำได้

การรู้ตัวว่าจมไปกับจิตฟุ้งซ่านด้วยกิเลสแล้วสามารถละวางได้นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่กระนั้นก็ยังเรียกว่าไม่ถึงที่สุดของการปฏิบัติ ยังเป็นเพียงแค่ขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น ยังมีกระบวนการอีกมากที่จะพัฒนาจิตต่อไปจนถึงขั้นไม่จำเป็นต้องไปกำหนดรู้ใดๆอีก เพราะไม่มีกิเลสเกิดให้ต้องไปรู้แล้วละ คือมันไม่เกิดก็เลยไม่ต้องไปดับ นี่คือสภาพผลของการปฏิบัติในท้ายที่สุด

แค่รู้ตัวนั้น ยังไม่เรียกว่าเพียงพอในการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เพราะถ้าจะรู้ให้จริงต้องรู้ไปถึงเหตุแห่งทุกข์ว่าทำไมทุกข์นั้นจึงเกิดมา ทำไมเราจึงสร้างความคิดเช่นนั้น ทำไมร่างกายจึงมีอาการสั่น หายใจติดขัด ทำไมจิตจึงหมองมัว

การดับทุกข์ของพุทธนั้นดับสังขารไปโดยลำดับ ตั้งแต่วจีสังขาร กายสังขาร จนถึงดับจิตสังขาร ในที่นี้ไม่ใช่การตาย แต่เป็นการดับกิเลส คือในท้ายที่สุดจะไม่มีกิเลสในจิตเลย ซึ่งการกำหนดรู้ การดับความคิด การควบคุมความคิดนั้นเป็นเพียงแค่การพยายามจัดการกับวจีสังขาร คือไม่ให้ปรุงแต่งความคิดใดๆ (วจีสังขาร ไม่ใช่วจีกรรม)

เพราะถ้าเอาแต่รู้ตัว ดับความคิด แม้จะควบคุมความคิดได้ แต่กายสังขารยังไม่ดับ ร่างกายก็จะออกอาการประหลาดๆ เหงื่อไหล หายใจขัด หมดแรง ฯลฯ ตามแต่จะสังเคราะห์ได้ เพราะมีใจเป็นประธาน คือจิตยังสังเคราะห์กับกิเลสนั้นๆ อยู่เกิดสภาพจิตที่เป็นลักษณะของนิวรณ์ ๕ คือกามฉันทะ(พอใจในกาม) พยาบาท(ไม่พอใจ) ถีนมิธทะ(ซึม จม หดหู่) อุทธัจจะกุกกุจจะ(ฟุ้งซ่าน ลอย ไม่สงบ) วิจิกิจฉา(สงสัย ไม่ชัดเจน ไม่แจ่มแจ้ง) นั่นเอง

ซึ่งสภาพเหล่านี้ไม่ใช่ความคิดเลย แม้จะดับความคิด กดข่มความคิด รู้ตัวว่าคิด กำหนดรู้ว่าคิด ก็จะสลัดทุกข์ออกไปได้บางส่วน แต่จะไม่หมด เพราะเหตุแห่งทุกข์ยังอยู่ แม้มันจะหายและดับไปเองตามธรรมชาติ แต่มันก็ยังอยู่ ยังรอเวลาที่จะแสดงตัวอยู่เสมอเมื่อเกิดผัสสะ

ดังนั้นเมื่อกำหนดรู้ตัวได้แล้วว่าหลงไปกับกิเลส ก็ควรจะพิจารณาให้รู้ไปถึงรากเหง้าของกิเลส เหตุแห่งทุกข์นั้นๆด้วยว่า มันไปชอบไปชังในอะไร มันไปหลงเสพหลงสุขในอะไร มันไปยึดมั่นถือมั่นในอะไรจึงได้เกิดอาการซัดส่ายของจิตขึ้น เมื่อรู้กิเลสแล้วก็ใช่ว่าทุกอย่างจะจบหรือดับไป แค่จับตัวกิเลส หาเหตุแห่งทุกข์ได้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่ยังต้องทำสงครามกับกิเลสอีกหลายครั้งหลายคราจนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง

– – – – – – – – – – – – – – –

22.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ปฏิบัติธรรมไม่มาไม่ไป

May 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,218 views 0

การปฏิบัติธรรมนี่ถ้า “ไม่เห็นตัวกิเลส” จะปฏิบัติไม่ไปไหนเลยนะ ถ้าหลงไปว่า “ความคิด” นั้นคือรากของกิเลสยิ่งแล้วใหญ่ พาลจะไปดับความคิดให้มันวุ่นวายกันไปอีก

จุดที่ควรจะสนใจคือเหตุใดที่ทำให้เราเกิดความคิดนั้นๆ เราหลงเสพ หลงติด หลงยึดในอะไร ลากกิเลสที่ติดออกมาเป็นตัวๆเลย อย่าไปลากออกมาทั้งยวง ถ้าบอกว่า “ความหลง” แบบนี้มันกว้างเกินไป จัดการกิเลสไม่ได้หรอก

ต้องระบุให้ชัดเลยว่าหลงสุขใดตอนที่ได้สัมผัสสิ่งนั้น อย่างเช่นเรื่องการมีคู่ เราสุขตอนที่เขาบอกรัก จับตรงนี้ให้ได้ก่อนแล้ว ค่อยขุดหารากต่อไปอีกที

ถ้าหาเจอแล้วก็ค่อยพิจารณาธรรมกันไป ว่าสุขนั้นเกิดเพราะเรายึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ จึงทำให้อยากได้อยากเสพสิ่งนั้น มาถึงขั้นตอนนี้ก็เพียรทำได้แล้ว จะสมถะหรือวิปัสสนาอะไร อัตราส่วนเท่าไหร่ก็แล้วแต่ความถนัด

(ที่กล่าวมาคือส่วนสรุปของ สติปัฏฐาน เพื่อไปสู่ธรรมวิจัยและวิริยะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของโพชฌงค์ ๗)

= = = = = = = = = = =
**แนะนำบทความที่เกี่ยวข้อง

เหตุแห่งทุกข์

ประสบการณ์ที่ช่วยเข้ามาพลักดัน

June 27, 2013 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,017 views 0

การเกิดความคิดที่จะทำชีวิตให้ง่ายๆนั้น มีที่มาที่ไปมากมาย สำหรับในตอนนี้ก็เอาเป็นมุมของคนทั่วไป ทางโลกธรรมดา การดำเนินชีิวิตและการดำรงชีวิตแล้วกันนะ

ผมในวันนี้คงจะไม่สามารถคิดแบบนี้ได้ ถ้าไม่มีแหล่งประสบการณ์เหล่านี้ ซึ่งเริ่มต้นนั้นคงมีแรงผลักดันในตัวเองอยู่ระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่เมื่อมาเจอของจริง มันจึงเหมือนเอาน้ำมันมาราดกองไฟ เมื่อความฝันมาเจอกับความรู้ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็สูงขึ้นแน่นอน

ประสบการณ์แรก เป็นปฐมบทของการเดินเข้าสู่ความคิดแห่งการพึ่งตนเองของผม จากสวนลุงนิล เป็นตัวอย่างเกษตรผสมผสานที่สามารถอยู่กับธรรมชาิติได้อย่างลงตัว มีทุกอย่างใ้ช้ทุกอย่างเป็นการหมุนเวียนทรัพยากร หลังจากกลับมาก็พบว่านี่แหละแบบนี้แหละอนาคตเรา

อ่านต่อกับ : วิถีแห่งความพอเพียง กับ ลุงนิลคนของความสุข

ผ่านมานานจากครั้งแรก ได้มาลองเป็นชาวนาแบบคอร์สเริ่มต้น ดำนากันกับกลุ่มชาวนาคุณธรรมจังหวัดยโสธร ได้จับต้นข้าวครั้งแรกในชีวิต ได้ดำนา เท้าเข้าไปเหยียบในนาเป็นครั้งแรก หลายๆประสบการณ์ที่เบิกตา เปิดใจให้เห็นภาพลึกของชาวนาไทยมากขึ้น

อ่านต่อกับ : หว่านข้าวสู่ผืนนา หว่านศรัทธาสู่หัวใจ

หลังจากได้ลองดำนาแล้วก็ต้องลองเกี่ยวข้าวบ้าง เกี่ยวแบบพื้นบ้านเรียนรู้ประสบการณ์จากสนามจริง นาข้าว ความเป็นอยู่ของชาวนา สังคม ทัศนคติ มุมมองที่คนเมืองอย่างผมไม่เคยรับรู้ ได้รู้อะไรมากมายในครั้งนี้

อ่านต่อกับ : ลงแขกเกี่ยวข้าว รับลมหนาวปลายนา

ได้เรียนรู้วิชาเกษตร วิชาข้าวกันมาบ้างแล้ว ทีนี้ก็ได้เรียนรู้วิชาแพทย์รักษาตนเอง ของหมอเขียว แนวทาง ยา 9 เม็ด นั้น สามารถรักษาเยียวยาการเจ็บป่วยได้ทุกโรค แม้ตอนนี้ผมจะไม่ได้ป่วย แต่ได้เรียนรู้ไว้ก่อนป่วยถือว่ามีกำไรในชีวิตมากๆ ทำให้มีเวลาศึกษาวิชาแพทย์ทางเลือกแขนงนี้ได้อีกเยอะเลย

อ่านต่อกับ : ค่ายสุขภาพ แพทย์วิถีธรรม (ค่ายหมอเขียว)

อันนี้ก็เป็นคร่าวๆ  แต่ก็สามารถนำเอาความรู้มาดำรงชีวิตได้แล้ว อยู่อย่างสบายด้วย เมื่อเอาความรู้ด้านการพึ่งตนเอง การเกษตร การทำนา การแพทย์ มาหลอมรวมกับความรู้ที่ผมเคยศึกษามา ผมมั่นใจว่ายังไงก็สามารถหลุดออกจากระบบสายพานมนุษย์ ออกไปดำเนินชีวิตแบบไม่ต้องอยู่ในกรอบ ต้องได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก อย่างที่ผ่านๆมา

สวัสดี