Tag: จิตฟุ้งซ่าน

แค่รู้ตัว ไม่พอ

December 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,493 views 0

แค่รู้ตัว ไม่พอ

แค่รู้ตัว ไม่พอ

การที่เราจะดับทุกข์ที่กำเริบขึ้นมานั้น การกำหนดรู้อาการที่เกิดขึ้น สร้างความรู้ตัวใดๆก็ตาม อาจจะสามารถกำราบทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นให้สงบลงได้ แต่หากจะหวังให้การกระทำเหล่านั้นเป็นการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง แค่รู้ตัวนั้น…ยังไม่พอ

เราสามารถฝึกสมถะใช้กำลังของจิตสะกดความคิดฟุ้งซ่านได้ ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุขก็กดข่มให้ดับลงไปได้ หรือตามดู ตามรู้จนมันดับลงไปได้ แต่ความดับเหล่านั้นไม่ใช่ลักษณะของการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ ๔ ของพุทธ เป็นเพียงการดับจากสภาพเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นธรรมดาของจิต ซึ่งคนที่เขาไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมหรือกระทั่งคนไม่มีศาสนาก็สามารถทำได้

การรู้ตัวว่าจมไปกับจิตฟุ้งซ่านด้วยกิเลสแล้วสามารถละวางได้นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่กระนั้นก็ยังเรียกว่าไม่ถึงที่สุดของการปฏิบัติ ยังเป็นเพียงแค่ขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น ยังมีกระบวนการอีกมากที่จะพัฒนาจิตต่อไปจนถึงขั้นไม่จำเป็นต้องไปกำหนดรู้ใดๆอีก เพราะไม่มีกิเลสเกิดให้ต้องไปรู้แล้วละ คือมันไม่เกิดก็เลยไม่ต้องไปดับ นี่คือสภาพผลของการปฏิบัติในท้ายที่สุด

แค่รู้ตัวนั้น ยังไม่เรียกว่าเพียงพอในการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เพราะถ้าจะรู้ให้จริงต้องรู้ไปถึงเหตุแห่งทุกข์ว่าทำไมทุกข์นั้นจึงเกิดมา ทำไมเราจึงสร้างความคิดเช่นนั้น ทำไมร่างกายจึงมีอาการสั่น หายใจติดขัด ทำไมจิตจึงหมองมัว

การดับทุกข์ของพุทธนั้นดับสังขารไปโดยลำดับ ตั้งแต่วจีสังขาร กายสังขาร จนถึงดับจิตสังขาร ในที่นี้ไม่ใช่การตาย แต่เป็นการดับกิเลส คือในท้ายที่สุดจะไม่มีกิเลสในจิตเลย ซึ่งการกำหนดรู้ การดับความคิด การควบคุมความคิดนั้นเป็นเพียงแค่การพยายามจัดการกับวจีสังขาร คือไม่ให้ปรุงแต่งความคิดใดๆ (วจีสังขาร ไม่ใช่วจีกรรม)

เพราะถ้าเอาแต่รู้ตัว ดับความคิด แม้จะควบคุมความคิดได้ แต่กายสังขารยังไม่ดับ ร่างกายก็จะออกอาการประหลาดๆ เหงื่อไหล หายใจขัด หมดแรง ฯลฯ ตามแต่จะสังเคราะห์ได้ เพราะมีใจเป็นประธาน คือจิตยังสังเคราะห์กับกิเลสนั้นๆ อยู่เกิดสภาพจิตที่เป็นลักษณะของนิวรณ์ ๕ คือกามฉันทะ(พอใจในกาม) พยาบาท(ไม่พอใจ) ถีนมิธทะ(ซึม จม หดหู่) อุทธัจจะกุกกุจจะ(ฟุ้งซ่าน ลอย ไม่สงบ) วิจิกิจฉา(สงสัย ไม่ชัดเจน ไม่แจ่มแจ้ง) นั่นเอง

ซึ่งสภาพเหล่านี้ไม่ใช่ความคิดเลย แม้จะดับความคิด กดข่มความคิด รู้ตัวว่าคิด กำหนดรู้ว่าคิด ก็จะสลัดทุกข์ออกไปได้บางส่วน แต่จะไม่หมด เพราะเหตุแห่งทุกข์ยังอยู่ แม้มันจะหายและดับไปเองตามธรรมชาติ แต่มันก็ยังอยู่ ยังรอเวลาที่จะแสดงตัวอยู่เสมอเมื่อเกิดผัสสะ

ดังนั้นเมื่อกำหนดรู้ตัวได้แล้วว่าหลงไปกับกิเลส ก็ควรจะพิจารณาให้รู้ไปถึงรากเหง้าของกิเลส เหตุแห่งทุกข์นั้นๆด้วยว่า มันไปชอบไปชังในอะไร มันไปหลงเสพหลงสุขในอะไร มันไปยึดมั่นถือมั่นในอะไรจึงได้เกิดอาการซัดส่ายของจิตขึ้น เมื่อรู้กิเลสแล้วก็ใช่ว่าทุกอย่างจะจบหรือดับไป แค่จับตัวกิเลส หาเหตุแห่งทุกข์ได้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่ยังต้องทำสงครามกับกิเลสอีกหลายครั้งหลายคราจนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง

– – – – – – – – – – – – – – –

22.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

จิตฟุ้งซ่านเพราะถูกกระตุ้น

September 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,158 views 0

ถาม : การที่เราได้ไปเจอเหตุการณ์ที่ทำให้หวนคิดถึงเรื่องเก่าๆที่เคยสุขหรือทุกข์ใจ เช่นเรื่องของแฟนเก่า ภาพในวันเก่า จนจิตฟุ้งไปกับอารมณ์นั้น ควรทำอย่างไร?

1.1.ถ้ามันฟุ้งซ่านคุมไม่อยู่ก็เปลี่ยนเรื่องไปทำอย่างอื่น ใช้อุบายกำหนดจิต หลอกจิตให้สงบไปก่อน

1.2.ถ้าไม่ถึงกับฟุ้งซ่านมาก ก็ให้ตามดูอาการที่เกิดขึ้น ดูว่ามีความทุกข์หรือสุขขนาดไหน เพราะอะไร

1.3.ค้นลึกต่อไปที่เหตุของสิ่งที่ทำให้เราสุขหรือทุกข์นั้นว่าเราไป หลงติดหลงยึดอะไรจึงทำให้เกิดอารมณ์เหล่านั้น

1.4.เมื่อเห็นเหตุเหล่านั้นให้ให้พิจารณาธรรมะ ที่ตรงกับเหตุนั้นเพื่อไปทำลายอธรรมที่ทำให้จิตฟุ้งซ่าน

ถาม : ถ้าเราไม่ไปเจอเหตุการณ์เช่นนั้นเราก็ไม่ฟุ้ง เราควรหลีกเลี่ยงหรือไม่อย่างไร

2.1.ถ้าจิตไม่แกร่งพอจะทนไหว ก็ควรจะหลีกเลี่ยงก่อน ถึงจะต้องปะทะกันก็ควรจะรักษาระยะห่าง

2.2.ถ้าพอจะสู้ไหว อาการไม่ออกไปภายนอกก็ลองเข้าไปหาเหตุการณ์เหล่านั้น เพราะ “ผัสสะ” คือตัวที่จะชี้ให้เห็นว่า “เหตุแห่งทุกข์” อยู่ตรงไหน ไม่มีผัสสะ ก็ไม่มีทางได้ปฏฺิบัติธรรม เพราะมีผัสสะจึงมีการปฏิบัติธรรมนั่นเอง ดังนั้นการปฏิบัติธรรมจึงไม่ควรหนีจากผัสสะ แต่ถ้าไม่ไหวก็วนกลับไปทำอย่างข้อ 2.1

2.3. ถ้าปฏิบัติถูกตรง จนทำให้กิเลสจางคลายได้จริง จะสามารถรู้ได้เองเมื่อเกิดผัสสะ ความสุขทุกข์ที่เคยมีจะเบาลง (ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้วันเวลาเยียวยา แต่หมายถึงปฏิบัติกันทั้งๆที่เกิดอาการแรงๆกันอยู่เมื่อวาน แล้ววันนี้ทำได้ดีขึ้น)

2.4. ถ้าทำลายกิเลสได้จริง จะเหลือแต่อาการไม่ทุกข์ไม่สุข (ไม่ใช่เพราะเบื่อแบบชาวบ้าน แต่เป็นเพราะทำลายความหลงติดหลงยึดด้วยปัญญา)