Tag: การชำระกิเลส

ศีลและวินัย

June 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,180 views 0

เมื่อศึกษาไปจะค้นพบว่า ศีลคือสิ่งที่ต้องศึกษาเพื่อการเว้นขาดจากการเสพ ไปตั้งแต่กาย วาจา จนถึงใจ

แต่วินัยนั้นคือการห้าม การบัญญัติว่าอะไรห้าม อะไรอนุญาต

ดังนั้นการถือศีลจะไม่ใช่การห้ามตัวเองไม่ให้ทำสิ่งนั้นเพียงเพราะเป็นกฏ แต่เป็นการศึกษาให้เห็นโทษภัยของสิ่งนั้นเพื่อให้เกิดปัญญาจนกระทั่งเว้นขาด จากการทำผิดศีลได้

ยกตัวอย่างวินัยเช่น เราเป็นนักมังสวิรัติ ที่พยายามห้ามใจตัวเองไม่ให้ไปกินเนื้อสัตว์เพราะกลัวจะผิดศีล นี้คือลักษณะถือเป็นวินัย เป็นกฏ เป็นข้อห้าม

ถ้าเป็นการศึกษาศีลจะเป็น เราเป็นนักมังสวิรัติ เราพยายามที่จะศึกษาว่าเหตุอันใดหนอ ที่ทำให้เราอยากเสพเนื้อสัตว์ เราหลงติดหลงยึดอะไรในสิ่งนั้น แล้วเราจะกำจัดเหตุนั้นอย่างไร ให้เราไม่ต้องกลับไปเสพเนื้อสัตว์นั้นอีก

จะสังเกตุว่า แม้ในข้อปฏิบัติเดียวกัน ยังมีความเห็นความเข้าใจในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งก็มีผลที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งโดยหลักของวินัยนั้นจะเน้นควบคุม กาย วาจา แต่ศีลนั้นจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือประกอบในการชำระกิเลส

กิเลสนอนก้น

January 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,117 views 1

กิเลสนอนก้น

กิเลสนอนก้น

…เมื่อการปฏิบัติธรรม ไม่ได้ทำให้เจริญไปถึงข้างในจิตใจ

เคยคิดสงสัยกันหรือไม่ ว่าแท้จริงแล้วผลของการปฏิบัติธรรมนั้นจะเป็นเช่นไร ที่เขาว่ายิ่งกว่าสุขเป็นแบบไหน แล้วแบบที่ทำอยู่จะให้ผลเช่นไร การปฏิบัติของพุทธแท้จริงแล้วเป็นอย่างไรในเมื่อมีหลากหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีนั้นก็มีเหตุผลมีที่อ้าง แล้วเราจะปฏิบัติตามแบบไหน ทางไหนคือทางที่พาพ้นทุกข์

ก่อนจะเข้าเรื่องก็มาเรียนรู้เรื่องกิเลสกันก่อน ซึ่งจะขอเปรียบกิเลสดังโคลนในแก้วน้ำ โดยปกติเราก็จะมีโคลนและมีน้ำที่เปรียบดังจิตอยู่ในแก้ว เมื่อมีการกระทบจนเกิดการสั่นไหว โคลนที่นอนก้นอยู่ก็จะกระจายตัวทำให้น้ำขุ่นเหมือนดังจิตที่ขุ่นมัว

วิธีที่จะทำให้โคลนเหล่านั้นสงบนิ่ง คือใช้วิธีของการทำสมถะ หรืออุบายทางใจเข้ามากดข่มจิตใจด้วยวิธีต่างๆมากมาย ในกรณีนี้ก็คือทำให้น้ำที่ขุ่นนั้นใสนั่นเอง และเรามักจะได้ยินคำเรียกน้ำที่ใสจากตะกอนโคลนนั้นว่า “จิตว่าง” ว่างจากอะไร? ว่างจากความคิด ว่างจากการปรุงแต่งหรือสภาพที่โคลนนั้นฟุ้งไปทั่วแก้ว เมื่อจิตว่างจากโคลนที่ฟุ้งแล้วจึงค่อยคิด นี่คือวิธีที่พบเห็นและปฏิบัติกันโดยทั่วไป

วิถีทางของสมถะจะให้ความสนใจโคลนที่ฟุ้งอยู่ในน้ำ มุ่งประเด็นไปที่ความฟุ้งซ่าน ความคิดต่างๆ ดังนั้นการใช้สมถะในวิถีทางต่างๆเช่นเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือแบบประยุกต์เช่น ขยับตัวเพื่อรู้ ใช้ธรรมะเข้ามาตบความคิด ใช้ไตรลักษณ์เข้ามาตบความฟุ้งซ่าน กำหนดรู้ รู้ตามจิต รู้ตามความคิด รู้นามรูปโดยใช้ตรรกะ หรือวิธีใดๆที่วนอยู่ในรูปแบบหนึ่งๆ เพื่อให้หลุดพ้นออกจากจิตที่เป็นทุกข์นั้นๆ เป็นวิธีการฝึกสมถะทั้งแบบหลับตาและลืมตาที่ใช้กันโดยทั่วไป จนบางครั้งอาจจะทำให้หลงเข้าใจไปว่าการฝึกสมถะเหล่านั้นคือการวิปัสสนา

! ต้องขออภัยจริงๆ ที่บทความนี้อาจจะดูเหมือนไปข่มการทำสมถะด้วยวิธีต่างๆ แต่ก็จำเป็นจะต้องชี้ให้เห็น เพราะจะมีผลไปถึงการปฏิบัติ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสมถะไม่ดี มันดีและเป็นสิ่งที่เพิ่มกำลังให้กับการวิปัสสนาด้วย แต่การนำสมถะขึ้นมาเป็นการปฏิบัติหลักเพื่อการพ้นทุกข์จากกิเลสนั้นจะทำให้หลงติดภพ

และเมื่อเข้าใจว่า “ความว่าง “คือ “จิตที่ว่างจากความคิด” หรือสภาพที่โคลนสงบ ไม่ฟุ้ง น้ำใส เหมือนจิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่คิด ไม่กังวล ไม่โกรธ มีสติ สงบ ฯลฯ เป็นความเข้าใจที่ยังไม่ถูกกับหลักของพุทธเสียทีเดียว เพราะอยู่ในขีดของสมถะหรือการปฏิบัติแบบฤๅษีทั่วไปเท่านั้น

เพราะถึงแม้น้ำในแก้วจะใส แต่ถ้ามีกิเลสนอนก้นอยู่แล้วเราจะเรียกว่าจิตว่างได้อย่างไร ความคิดที่ออกมาตอนฟุ้งหรือตอนสงบก็ปนเปื้อนไปด้วยกิเลสอยู่ดี แม้น้ำนั้นจะใสแต่ก็จะมีโคลนปนอยู่ในน้ำอยู่ดี สภาพที่ไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง แม้จะดูเหมือนว่าสงบแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส

ศาสนาพุทธเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลสจนดับกิเลส ไม่ใช่เพียงแค่การดับความคิด หยุดปรุงแต่งหรือดับสัญญาใดๆทิ้งอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาว แต่หากเป็นการชำระกิเลสที่ปนเปื้อนอยู่ในความคิด ในสัญญา ในจิตวิญญาณนั้นให้หมดไป เปรียบดังผู้ที่สามารถนำโคลนออกจากแก้วได้ เมื่อโคลนน้อยลงก็จะฟุ้งกระจายน้อยลง ขุ่นน้อยลง จนกระทั่งเอาโคลนออกได้หมด แม้แก้วจะถูกเขย่าแรงเพียงใดก็จะไม่มีอะไรฟุ้ง ไม่ขุ่น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เป็นน้ำใสๆอยู่เช่นเดิม

1). การปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน

วิถีทางปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนั้นมีมากมายหลากหลายวิธี แม้ว่าจะมีรายละเอียดต่างกันไปในการปฏิบัติแต่ละแบบ แต่โดยส่วนมากนั้นจะมีทิศทางไปในทางเดียวกันคือการใช้สมถะ หรือการใช้อุบายเข้ามาบริหารใจให้เกิดสภาพจิตนิ่ง จิตว่าง สงบ หยุดคิด หยุดตัดสิน หยุดทุกข์ ฯลฯ

กิเลสนั้นเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก เข้าใจได้ยาก และทำลายได้ยาก แม้ว่าเราจะเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นกิเลส การที่เราสามารถดับทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการดับความคิดที่ปรุงแต่งใดๆ ให้เกิดจิตที่สงบหรือที่เขาเรียกกันว่า”จิตว่าง”ได้ แต่นั่นไม่ใช่ความสงบหรือความว่างแบบพุทธ เพราะนั่นคือความสงบจากสมถะ

การดับสภาพทุกข์หรือสุขที่เกิดขึ้นในใจด้วยอุบายใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนั่งสมาธิ เดินจงกรม เพ่งกสิณ อยู่กับปัจจุบันใช้การพิจารณาไตรลักษณ์ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เข้ามากระทำต่อความฟุ้งซ่านนั้นคือการวิถีของสมถะทั้งสิ้น

แม้การปฏิบัติเหล่านั้นจะสามารถควบคุมร่างกายไม่ให้แสดงอาการ ควบคุมวาจาไม่ให้เปล่งออกมา หรือแม้กระทั่งควบคุมใจไม่ให้คิด ไม่ให้ปรุงแต่งใดๆโดยใช้สติควบคุมไว้ ก็ยังไม่ใช่วิถีทางปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เพราะต้องมาคอยควบคุม คอยกด คอยข่ม คอยดับ สิ่งปรุงแต่งทั้งกาย วาจา ใจเอาไว้เสมอ

ซึ่งโดยทั่วไปสมถะจะเน้นการฝึกสติ เพิ่มกำลังสติ ให้มีสติตลอดเวลา ฝึกสติจนมีสติอัตโนมัติ การฝึกสติเหล่านั้นเป็นการฝึกสติความรู้ตัวทั่วพร้อมทั่วไป และใช้สติเหล่านั้นไปกระทำต่อความคิด ความทุกข์ ความสุขที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการ รู้ ดับ ตบ กดข่ม ฯลฯ เพื่อให้เกิดความสงบ

แต่ถ้าหากเราสามารถปฏิบัติอย่างถูกตรงจนสามารถชำระล้างกิเลสได้ด้วยปัญญา ก็ไม่ต้องมาคอยกด ข่ม ดับ หรือต้องรู้ตัวทั่วพร้อมตลอด เพราะไม่มีกิเลสเกิดขึ้น เมื่อไม่มีกิเลสเกิด ก็ไม่มีตั้งอยู่ และไม่มีดับไป เพราะมันดับสิ้นเกลี้ยงไปตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นเมื่อสามารถทำลายกิเลสเรื่องใดๆได้จริงจะไม่มีสภาพเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของกิเลสเรื่องนั้นๆอีก

2). ธรรมไม่ถึงธรรม

เมื่อหลงเข้าใจไปว่าวิธีฝึกสติแบบสมถะคือวิธีการพ้นทุกข์ อาจจะหลงเข้าใจไปอีกว่า เมื่อฝึกสติได้ถึงระดับหนึ่งจะบรรลุธรรมระดับนั้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นความเห็นความเข้าใจที่ผิดไปจากหลักของพุทธ เพราะการบรรลุธรรมนั้นจะเกิดจากการตัดสังโยชน์ คือกิเลสที่ผูกมัดไว้ทั้ง ๑๐ ระดับ แม้ว่าจะสะสมสติแบบสมถะมากเท่าไหร่ ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการตัดกิเลสเหล่านี้เลย เพราะสังโยชน์แต่ละตัวนั้นมีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างกันไป มีความซับซ้อนต่างกัน มีความยากต่างกัน ไม่ได้ใช้วิธีเดียวกัน

แต่ด้วยความเห็นความเข้าใจตามวิบากกรรมที่แตกต่างของแต่ละคน ทำให้ความเข้าใจในธรรมนั้นต่างกันออกไป บางคนพอใจที่สามารถทำให้แก้วที่ขุ่นไปด้วยโคลนนั้นใสในพริบตา บางคนพอใจที่ดูและรู้การขุ่นและตกตะกอนของโคลน แล้วก็เข้าใจว่าเหล่านั้นคือวิธีพ้นทุกข์ที่ถูกต้อง เมื่อเขาเชื่อและหลงยึดเช่นนั้น ใจก็จะไม่แสวงหาทางอื่น มองวิธีนั้นเป็นวิธีหลัก ไม่สนใจจัดการกับโคลนที่อยู่ข้างใต้ เหมือนกับว่ามองไม่เห็นโคลน หลายครั้งเราได้ยินคำว่ากิเลส แต่ไม่มีใครพูดถึงวิธีทำลายกิเลส แม้จะได้ยินได้ฟังแต่ก็ไม่สามารถเอาไปปฏิบัติได้จริง ยิ่งปฏิบัติยิ่งหลง ยิ่งทำยิ่งงง ไปๆมาๆจะเพี้ยนไปเสียอีก

3). ปฏิบัติธรรมผิดทาง หลงทางจนตาย (ไปอีกหลายชาติ)

คาดเคลื่อนของความเข้าใจเกี่ยวกับการเริ่มต้นปฏิบัติและปริยัตินั้นมีอยู่ไม่มากก็น้อย การเข้าใจว่าปริยัติหรือเรียนรู้ธรรมมาก่อนนั้นก็ไม่ถูกเสียทีเดียว แต่การเข้าใจว่าปฏิบัติมาก่อนนั้นจะผิดไปค่อนข้างมาก เหมือนกับคนที่ไม่มีแผนที่ ไม่รู้ทาง แต่ก็จะเดินเข้าป่า ปฏิบัติไปก็จะหลง มัวเมา หนักเข้าก็หลงว่าบรรลุธรรม

หลายคนเข้าใจว่าตนเองมีอาจารย์ แต่ก็ไม่ได้ดูให้ดีว่าอาจารย์ของตนนั้นเคยเดินทางหรือเปล่า เข้าใจการปฏิบัติธรรมจริงหรือเปล่า พอติดตามคนผิดก็เข้าป่าเข้ารกเข้าพงหลงทางกันทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์ กลายเป็นกลุ่มก้อนมิจฉาทิฏฐิให้เห็นกันอยู่โดยทั่วไป

หลักตัดสินพระธรรมวินัยก็มีอยู่ ลักษณะผู้ที่บรรลุธรรมในศาสนาก็มีอยู่ แต่ครูบาอาจารย์บางพวกจะหลีกเลี่ยงการอ้างอิงจากตำรา สร้างลัทธิ สร้างชุดความเชื่อขึ้นมาใหม่ ถึงแม้จะเป็นเช่นนี้เราก็สามารถใช้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าตรวจสอบได้ เช่น ธรรมเหล่านั้นเป็นไปเพื่อลดกิเลสหรือไม่ เป็นไปเพื่อการพรากหรือไม่ เป็นไปเพื่อการมักน้อย ไม่สะสม กล้าที่จะจนหรือไม่ เป็นไปเพื่อสะสมบริวาร ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขหรือไม่ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนหรือไม่ เป็นคนประหยัดหรือฟุ้งเฟ้อ เป็นคนขี้เกียจหรือขยัน ฯลฯ (สามารถหาดูได้เพิ่มเติมจาก หลักตัดสินธรรมวินัย ๘ ,เป้าหมายการประพฤติพรหมจรรย์ ๙ ,วรรณะ๙)

การเข้าถึงธรรมะนั้นไม่ได้เริ่มจากการปฏิบัติก่อน พระพุทธเจ้าไม่เคยตั้งเงื่อนไขให้ใครมาปฏิบัติก่อน ท่านมักจะเทศน์โปรดก่อนเสมอทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น และท่านยังได้ตรัสสอนไว้ว่า คนจะสามารถถึงวิมุตหรือสภาพหลุดพ้นจากกิเลสได้ ต้องเริ่มต้นจากการคบหาสัตบุรุษที่บริบูรณ์ นั่นคือต้องหาครูบาอาจารย์ที่รู้จริงเสียก่อน เป็นผู้มีธรรมนั้นในตนจริงๆ เมื่อมีธรรมที่พาพ้นทุกข์ได้จริง ก็สามารถสอนให้เราพ้นทุกข์ได้จริง ลดกิเลสได้จริง ทำลายกิเลสได้จริง

เมื่อได้เจอสัตบุรุษแล้วเราจึงจะได้ฟังสัจธรรม หลังจากเราได้ฟังสัจธรรมและเข้าใจ จึงจะเกิดศรัทธา ซึ่งศรัทธาตรงนี้เกิดจากปัญญา เพราะรู้ได้เองว่าธรรมที่ได้ฟังนั้นเป็นของจริง พาพ้นทุกข์ได้จริง พาลดกิเลสได้จริง เมื่อเกิดศรัทธาก็จะเริ่มปฏิบัติตาม เกิดการทำใจในใจที่แยบคาย คือการพิจารณาธรรมที่ได้ฟังนั้นเข้าสู่ใจ ไม่ใช่ฟังหูซ้ายทะลุหูขวาหรือฟังธรรมแบบผ่านๆ แต่จะนำไปคิดพิจารณาในใจตามสภาวะของตัวเองได้ และจะเกิดสติสัมปชัญญะต่อไป เกิดการสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ ต่อไปจนกระทั่งเกิดสติปัฏฐาน ๔ ดำเนินต่อไปที่โพชฌงค์ ๗ และถึงวิชชาและวิมุตติโดยลำดับ(อวิชชาสูตร)

จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติธรรมสู่การพ้นทุกข์ต้องเริ่มจากการหาสัตบุรุษที่บริบูรณ์เสียก่อน ไม่อย่างนั้นปฏิบัติไปก็ฟุ้งเฟ้อ เนิ่นช้า ติดอยู่ในกิเลส ในภพ ในอัตตา สารพัดทางจะติดได้ เพราะคนที่เห็นผิด ก็จะพาเราไปแวะที่นั่น หลงที่นี่ ก็หลงกันไปทั้งหมู่คณะ เป็นมิจฉาทิฏฐิกันไปทั้งก้อน ซึ่งความหลงมันอาจจะไม่ได้เกิดแค่ชาติเดียว มันจะหลงตามกันไปเรื่อยๆ ตามกรรมที่ก่อไว้

คนที่หลงจะไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวเองหลงหรือเห็นว่าตนเองมิจฉาทิฏฐิ ด้วยความหลงนั้นก็จะดลให้เขาได้เชื่อและปฏิบัติในทางที่เขาหลงอยู่เช่นนั้น เมื่อเขาสอนธรรมที่ไม่ได้พาให้ลดกิเลส กล่าวแต่ธรรมที่พาเพิ่มกิเลส ให้เสพสุข ให้ร่ำรวย ให้ยึดมั่นถือมั่น เขาเหล่านั้นก็จะสะสมพลังแห่งมิจฉาทิฏฐิที่จะบดบังความจริงสู่การพ้นทุกข์เข้าไปอีก

ดังนั้นจะสรุปได้ว่า โดยทั่วไปเราไม่มีทางปฏิบัติเองจนถึงผลได้ ต้องเจอครูบาอาจารย์ที่รู้ทางจริงๆเท่านั้น การหาของจริงในของลวงนั้นยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร การจะเจอสัตบุรุษที่บริบูรณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย การจะได้ฟังสัจธรรมนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และการปฏิบัติจนถึงผลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากเรายังต้องเสียเวลากับการปฏิบัติที่พาให้หลงทางอีกมันจะช้าเข้าไปใหญ่

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้น ไม่ใช่ของเราคถาคต” คำว่าช้าในที่นี้คือไปหลงวนอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ เมื่อเราติดอยู่ในความเห็นผิด ยิ่งปฏิบัติก็จะยิ่งไกลจากพุทธ ยิ่งขยันก็จะยิ่งโง่ขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งยึดมั่นถือมั่นขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้ต้องเสียเวลาไปชาติหนึ่ง เป็นโมฆะบุรุษ เกิดมาตายไปเปล่าๆไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

4). สติ แท้จริงคืออะไร

ดังที่เห็นในอวิชชาสูตร จะเห็นได้ว่า สติสัมปชัญญะ และสติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งเดียวกัน นี่ยังไม่รวมสติรู้ตัวแบบทั่วไปด้วยนะ หลงฝึกสติผิดเพี้ยนกันไปใหญ่

สติไม่ใช่เครื่องเตือน แต่เป็นเครื่องมือที่ทำให้เรารู้ตัว ซึ่ง สติสัมปชัญญะคือการทำให้มีการรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ตัวว่าอะไร รู้ตัวว่ามีกิเลส รู้ตัวว่าโกรธ สตินี้ทำหน้าที่แค่นี้

ส่วนเครื่องเตือนใจนั้นคือ หิริ โอตตัปปะ หิรินั้นคือความละอายต่อบาป เมื่อเราโกรธแล้วมีหิริ สติจะทำงานต่อให้เราละอายต่อความโกรธของตัวเอง ส่วนโอตตัปปะคือความเกรงกลัวต่อบาป เมื่อมีโอตตัปปะซึ่งจะเหนือกว่าหิริ เราจะมีอาการสะดุ้งกลัวต่อบาป พอมีสติรู้ตัวว่าโกรธเราจะไม่กล้าโกรธ กลัวว่าจะสะสมบาป เพราะความโกรธคือบาป มันจะสงบลงแบบนี้ ผลเหล่านี้ไม่ใช่การทำงานของสติ แต่เป็นการทำงานของหิริโอตตัปปะ

ถ้ามีสติเฉยๆ แต่ไม่มีหิริโอตตัปปะมันจะไม่เกิดอะไรขึ้น เช่นรู้ว่ากำลังกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่มีความละอายต่อบาปหรือความเกรงกลัวต่อบาป มันก็กินไปแบบนั้นแหละ ไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดีอะไร กินไปมันก็มีความสุขตามกิเลสไปแบบนั้นเอง รู้ตัวว่ากินนะ แต่ก็แค่รู้ตัว ไม่เกี่ยวกับการพ้นทุกข์ใดๆ

หิริโอตตัปปะไม่ได้เริ่มจากสติ แต่เริ่มจากศีล ผู้มีศีลจะมีสติ แต่คนมีสติไม่จำเป็นต้องมีศีลนั้นๆ การเกิดหิริโอตตัปปะนั้นเป็นความเจริญที่งอกเงยมาจากการปฏิบัติศีลอย่างถูกตรง

สติปัฏฐาน ๔ นั้นจะทำงานต่างจากสติที่รู้ตัวทั่วพร้อม ซึ่งจะทำงานเป็นเครื่องมือ ตรวจจับ วิเคราะห์ วิจัยแยกแยะกิเลส จนถึงหาธรรมมาทำลายกิเลสนั้นๆ

ส่วนสติทั่วไปเป็นความรู้ตัวแบบสัญชาติญาณไม่ต้องฝึกก็ได้ แค่สงบๆแล้วให้ร่างกายจับการเปลี่ยนแปลงของภายในหรือภายนอกเช่น มีลมพัดมากระทบหน้า มีเหงื่อออกเล็กน้อยที่หลัง สติแบบนี้เหมือนเวลาที่วัวกำลังกินหญ้าแล้วเราเดินเข้าไป วัวจะหยุดกินและมองเรา เป็นสติระดับทั่วไปที่มีคนหลงไปฝึกปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์กันมากอยู่ในลักษณะของการทำสมถะ ซึ่งสติแบบนี้ไม่จัดอยู่ในกระบวนการเพื่อบรรลุธรรมแต่อย่างใด สรุปง่ายๆว่าฝึกไปก็ไม่พ้นทุกข์

5). สติมาปัญญาเกิด

ความเข้าใจที่ว่า “สติมาปัญญาเกิด” นั้น จะเป็นไปได้ในกรณีเดียวคือ ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ อย่างถูกตรงเท่านั้น ปัญญาจึงจะเกิด นอกเหนือจากนี้เป็นไปไม่ได้ ปัญญาที่หมายถึงในที่นี้คือปัญญาสู่การพ้นทุกข์ ไม่ใช่ปัญญาแบบโลกีย์ ไม่ใช่แค่โคลนตกตะกอนน้ำใสจึงเห็นความจริง ปัญญาของพุทธไม่ใช่ปัญญาแค่นั้น

ส่วนสติมาปัญญาเกิดแบบทั่วๆไป ปัญญาที่จะเกิดได้นั้นก็จะเกิดได้เท่าที่ระดับที่มีกิเลสอยู่ มีกิเลสเท่าไหร่ก็ส่งผลให้มีปัญญาได้เท่านั้น ไม่สามารถมีได้มากกว่านั้น เหมือนกับคนที่คิดตอนโกรธกับคิดตอนไม่โกรธมันก็ต่างกันเป็นธรรมดา แต่ก็จะมีขอบเขตของปัญญาที่จำกัดเพราะยังมีกิเลสมาบงการอยู่

คำว่า”สติมาปัญญาเกิด”นั้นเป็นธรรมสั้นๆที่สามารถตีความได้หลากหลาย หากไม่ได้ถูกขยายเพื่อเป็นไปในทางลดกิเลสแล้ว ธรรมนั้นย่อมผิดเพี้ยนจากทางพ้นทุกข์ไปได้ เรามักจะชอบอ่านหรือจำธรรมสั้นๆ เพราะไม่ต้องใช้ความเพียรมาก ไม่ต้องทำความเข้าใจมาก แต่สิ่งที่อันตรายคือการตีความที่ผิดซึ่งจะส่งผลมาสู่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนไป

การเข้าใจว่า สติมาปัญญาเกิด ส่งผลให้คนพยายามฝึกสติ สะสมสติ หรือมุ่งเน้นผลแห่งการเพิ่มสติอย่างมัวเมา ทั้งที่จริงแล้วการฝึกสติแบบสมถะ หรืออาจจะไปถึงขั้นมิจฉาทิฏฐินั้นไม่สามารถทำให้กิเลสลดลงได้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ศีลคือแม่ ปัญญาคือพ่อ” นั่นหมายถึงศีลคือตัวขัดเกลา เลี้ยงดูจิตวิญญาณของเราให้เข้ารูปเข้ารอยไม่หลงไปในกิเลสมากจนเกินไป และปัญญานั้นหมายถึงปัญญาในการเข้าสู่มรรค คือปัญญารู้ว่าควรจะถือศีลนั้นๆ เมื่อปฏิบัติศีลด้วยสัมมาอริยมรรคถึงที่สุดแล้วจึงจะกลายเป็นปัญญาที่เป็นผล คือปัญญาในระดับที่หลุดพ้นจากกิเลสของศีลในเรื่องนั้นๆ

เรามักได้ยินว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หรือถ้าเป็นในไตรสิกขาก็จะเป็น อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา หมายความว่าเมื่อเราปฏิบัติศีลด้วยความตั้งมั่น(สมาธิ)จึงจะถึงปัญญาได้ หรือถ้าอธิบายในมุมไตรสิกขาก็คือเมื่อเราปฏิบัติศีลที่ยากขึ้น ก็ต้องมีพลังใจที่มากขึ้น และใช้ปัญญาที่มากขึ้น เพื่อที่จะได้ปัญญาที่เป็นผลเจริญ(ภาวนา)

สตินั้นเป็นสิ่งที่เราควรจะมีตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนสติปัฏฐาน ๔ จะทำงานในระหว่างที่เริ่มกระบวนการถือศีล และปฏิบัติจนกระทั่งเกิดปัญญา เป็นเครื่องมือในการทำให้เกิดปัญญา และเมื่อปฏิบัติศีลจนเกิดผลในเรื่องนั้นๆแล้วก็ไม่ต้องใช้สติปัฏฐานกับเรื่องนั้นต่อ เพราะทำได้เจริญถึงผลแล้วแบบนี้จึงจะเรียกได้ว่าสติมาปัญญาเกิด

แต่การฝึกสติในทุกวันนี้มักจะเป็นเป็นไปในแนวทางสมถะ แม้จะตั้งชื่อว่าฝึกสติปัฏฐาน ๔ แต่ก็กลับกลายเป็นการฝึกสมถะ ทั้งนี้เพราะสมถะนั้นเข้าใจได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เห็นผลได้ง่าย แถมยังมีทางแวะให้หลงกันไปตามกิเลสอีก เช่นไปเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นผี เห็นเทวดา ก็เห็นกันไปตามที่กิเลสของใครจะปรุงเอาได้ เป็นสิ่งที่กิเลสหลอกให้ถือเป็นจริงเป็นจัง

6). ปัญหาของสติที่ไม่มีศีลและปัญญา

และการฝึกแต่สติโดยไม่สนใจที่จะศึกษาศีลและปัญญา มีปลายทางคือนักสมถะที่เก่ง กดข่มได้เก่ง แม้ว่าแก้วน้ำจะขุ่นไปด้วยโคลน แต่ก็สามารถทำให้โคลนนั้นตกตะกอนได้ในพริบตา แต่จะให้เอาโคลนออกจากแก้วนั้นทำไม่ได้ เพราะวิถีแห่งสมถะไม่ได้สอนวิธีเอาโคลนออกจากแก้วไว้ ได้แค่เพียงทำเป็นมองไม่เห็นโคลน มองเพียงว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วแบบนี้มันจะเป็นผู้ไกลจากกิเลสไหม? จะหมดกิเลสได้อย่างไร? ในเมื่อยังไม่มีวิธีจัดการกับกิเลส

ความซวยของการการฝึกแต่สตินี้ มันเริ่มจากการยึดมั่นถือมั่น พอเรายึดแล้วก็จะเริ่มไม่ฟังวิธีอื่น เริ่มไม่อยากทำความเข้าใจและพิจารณาหนทางอื่น เพราะยึดมั่นถือมั่นไปแล้วว่าการฝึกสติ หรือการมีสตินี้คือทางพ้นทุกข์ ถ้ายึดในสิ่งที่ถูกคงไม่มีปัญหา แต่มายึดในสิ่งที่ไม่ถูกเสียทีเดียว แถมยังยึดถือจนมั่นใจว่าใช่แน่ๆ จึงเกิดอัตตาขึ้นมา เริ่มจะมีความถือตัว ยกตนข่มท่าน ไม่ฟังธรรมอื่น ปิดประตูเข้าภพไปอย่างน่าเสียดาย และจะติดสุขในอารมณ์ของสมถะไปอีกนานแสนนาน

การมีสติแต่ไม่มีศีลและปัญญานี่มันจะมึนๆนะ พอเข้าเรื่องธรรมก็จะไม่รับ พอเข้าเรื่องศีลก็จะไม่รับ คือไม่รับทั้งปัญญาทั้งศีล ตีทิ้งหมด สรุปก็คือพอเห็นว่าการมีสติรู้ตัวคือทุกสิ่งทุกอย่างก็จะไม่รับสิ่งอื่น ทั้งที่ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องสติแต่ก็ยึดมั่นถือมั่นไปแล้ว ถ้าเราเข้าใจเรื่องสติจริงๆ เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นเรื่องสติเลย คนที่เข้าใจเรื่องอะไรจริงๆจะไม่มีอัตตาในเรื่องนั้น แต่คนที่ไม่เข้าใจจริงๆจะมีอัตตาเพราะความหลง

7). การแก้ปัญหากิเลสนอนก้น

การชำระกิเลส หรือทำลายกิเลสที่ปนเปื้อนอยู่ในจิตวิญญาณนั้น ไม่สามารถใช้สมถะในการทำลายได้ เพราะสมถะนั้นทำได้แค่เพียงกด ข่ม ดับ อย่างเก่งก็ดับไปโดยไม่รู้ตัว แต่ก็แค่ดับอาการปลายเหตุที่เกิดมาเท่านั้น กิเลสที่นอนก้นนั้นยังมีอยู่ ยังกองอยู่ แต่จะทำอย่างไรล่ะ?

อย่างแรกคือต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนว่าเรากำลังปฏิบัติสมถะหรือวิปัสสนา อย่าให้ชื่อมาเป็นตัวทำให้เราสับสนเพราะบางทีเขาก็เรียกสมถะเป็นวิปัสสนา บางคนปฏิบัติสมถะแล้วเข้าใจว่าตนเองเป็นวิปัสสนาก็มี บางคนหลงเข้าใจไปอีกว่าบรรลุธรรมทั้งที่ทำแค่สมถะ มันต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังทำให้ได้ก่อนแล้วจึงตั้งหลักใหม่

ไม่ใช่ปฏิบัติไปผิดทางแล้วหวังว่าจะมีแสงสว่างปลายทาง หากเราปฏิบัติไปอย่างมิจฉาทิฏฐิ ปลายทางเหล่านั้นมันก็เป็นทางตันเท่านั้นเอง สุดท้ายถึงจะเพียรพยายามแค่ไหนก็ไปได้แค่สุดทางตันแล้วก็ต้องเดินกลับมาอยู่ดี กว่าจะรู้ตัวก็เสียเวลาไปกี่ภพกี่ชาติก็ไม่รู้

มันไม่ได้อยู่ที่ปฏิบัติธรรมไปถึงขั้นไหน อย่างไร แต่มันอยู่ที่ปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูก เพราะถ้าปฏิบัติผิดมันก็มีสภาพบรรลุธรรมผิดๆหลอกเราอยู่เหมือนกัน หน้าตาอาจจะดูดี ดูสงบ น่าเคารพ แต่กิเลสนอนก้นหนาเตอะก็มี คนที่ปฏิบัติแต่สมถะจะไม่สามารถตรวจใจได้ละเอียดนัก อย่างมากก็ไปติดที่อรูปภพ แม้จะละกามภพ คือไม่ไปเสพ ละรูปภพคือไม่คิดไม่ปรุงแต่ง แต่การละอรูปภพนั้นต่างออกไป ไม่สามารถทำลายกิเลสนี้ได้เพียงแค่กดข่มอย่างแน่นอน สุดท้ายก็จะค้างเติ่งอยู่ที่ฤๅษีนั่นแหละ รูปสวยแต่กิเลสหนา จะเอาไหมแบบนั้น?

ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือกลับมามองตัวเองตามความเป็นจริงเสียก่อน แล้วค่อยแสวงหาสัตบุรุษ ถ้าคิดว่าชีวิตนี้มันหายากหาเย็นหาไม่เจอก็ลองละเว้นความชั่วให้มาก ทำความดีเพิ่มขึ้น ทำจิตใจให้ผ่องใสอย่าไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดมากนัก สิ่งใดที่คิดแล้วเป็นอกุศลมากๆก็พยายามปล่อยวาง ละทิ้งหรือจะกดข่มไปก่อนก็ได้

วันหนึ่งเมื่อเจอกับสัตบุรุษ เจอครูบาอาจารย์ที่ถูกที่ควร เจอคนที่รู้ทางมีแผนที่ ค่อยขยับเดินหน้าเพียรปฏิบัติอย่างจริงจังก็ยังไม่สาย เพราะถึงจะช้า แต่ก็ยังดีกว่าเดินหลงทาง เพราะการเดินหลงทางนั้นหมายถึงต้องเสียเวลามากขึ้นไปอีก

– – – – – – – – – – – – – – –

5.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

December 6, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,052 views 0

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

มังสวิรัติไม่ถึงใจ

…เมื่อการกินมังสวิรัติไม่ได้ทำให้คลายกิเลส

การกินมังสวิรัติหรือการลดเนื้อกินผักนั้น หลายคนอาจจะมีเส้นทางการเริ่มต้นที่ต่างกันไป บางคนกินเพราะสุขภาพ บางคนกินเพราะเข้าใจว่าได้บุญ บางคนกินเพราะเขานิยม บางคนกินเพราะเมตตาสัตว์ บางคนกินเพราะทำให้ดูเป็นคนดี บางคนกินเพราะประหยัด บางคนกินเพราะคนในครอบครัวกิน หลายเหตุผลนี้อาจจะทำให้หลายคนเข้าถึงที่สุดแห่งการลดเนื้อกินผักได้ แต่อาจจะไม่ถึงที่สุดของใจ

ด้วยเหตุต่างๆที่กล่าวอ้างมาสามารถจูงใจให้คนเข้ามากินมังสวิรัติได้ทั้งสิ้นและสามารถทำให้เป็นนักมังสวิรัติขาประจำได้ด้วยเช่นกัน เพราะในความจริงแล้วการกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องยากนั้นคือการไม่กินเนื้อสัตว์เพราะความอยาก

เราสามารถกินมังสวิรัติได้ง่ายๆเพียงแค่อยู่ใกล้แหล่งอาหารมังสวิรัติ มีแม่ครัวรู้ใจ ทำอาหารเอง หรือแม้แต่รู้วิธีไปกินมังสวิรัตินอกสถานที่ ด้วยความรู้เหล่านี้ทำให้เราสามารถกินมังสวิรัติได้ไม่ยาก กินไปทั้งชีวิตก็ได้ ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังได้เพราะเมนูมังสวิรัติหรือเมนูเนื้อสัตว์ที่มีทั่วไปนั้นก็ปรุงรสจัด รสที่ทำให้เรารู้สึกอร่อยหรือรสชาติที่เราคุ้นเคยเหมือนๆกัน

มันไม่ใช่เรื่องยากเลยหากคนทั่วไปที่ชอบกินเนื้อต้องเผชิญกับเหตุปัจจัยที่ทำให้ไม่มีเนื้อสัตว์ให้กินแล้วต้องกินมังสวิรัติเป็นเวลานาน เพราะสุดท้ายมนุษย์ก็จะต้องกินเพื่อดำรงชีวิตอยู่ดี

ศีลหรือการละเว้นสิ่งที่เป็นภัย

การกินมังสวิรัติหรือการถือศีลละเว้นนั้น หากเราตั้งไว้แค่การละเว้นเนื้อสัตว์ เมตตาสัตว์ เราก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้แล้ว แต่ทว่าศีลระดับนั้นอาจจะไม่สามารถดับความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ให้สิ้นเกลี้ยงได้เพราะเพียงแค่ดับกามภพหรือแค่เพียงไม่ไปเสพก็สามารถบรรลุผลของศีลนั้นได้แล้ว การตั้งศีลที่สูงกว่าหรืออธิศีลในมังสวิรัติคือการดับความอยากกินเนื้อสัตว์จนสิ้นเกลี้ยงจากกามภพไปจนถึงรูปภพและอรูปภพ ศีลนี้ต่างจากการกินมังสวิรัติหรือการกินเจของคนทั่วไปอยู่มาก เพราะโดยส่วนมากเขาจะกินเพราะเมตตาสัตว์ เพราะสงสาร ทำให้เกิดกุศล

หากจะตั้งจิตตั้งศีลไว้ที่ไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์ การกินมังสวิรัติได้ 100% ก็เป็นที่สุดแห่งศีลนั้นแล้ว แต่ก็ยังมีศีลที่เจริญกว่าเข้าถึงผลยากกว่านั่นคือทำลายความอยากนั้นเสีย การตั้งศีลสองอย่างนี้ต่างกันเช่นไร การไม่เบียดเบียนเนื้อสัตว์นั้น เพียงแค่คุมร่างกายหรือกระทั่งคุมวาจาได้ก็ไม่ไปเบียดเบียนเนื้อสัตว์ได้แล้ว คุมร่างกายไว้ไม่ให้ไปหยิบกิน กดไว้ไม่ให้หิวไม่ให้อยาก คุมวาจาไว้ไม่ให้พูดถึง ไม่ให้เอ่ยถึงการกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงในส่วนของใจทั้งหมดเพียงแค่คุมใจไว้ เป็นการปฏิบัติจากนอกเข้ามาหาใน คือคุมร่างกายวาจาแล้วไปกดที่ใจในท้ายที่สุด

ศีลที่ตั้งไว้เพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นจะปฏิบัติกลับกันนั่นคือจากในออกไปหานอก ปฏิบัติที่ใจให้คุมวาจา และคุมไปถึงร่างกาย เป็นการพุ่งเป้าหมายไปที่การล้างกิเลสอย่างชัดเจน ให้เห็นตัวเห็นตนของกิเลสอย่างชัดเจน ถือศีลขัดเกลาเฉพาะกิเลสอย่างชัดเจน ไม่หลงไปในประเด็นอื่น

การตั้งเป้าหมายไว้ที่กิเลสนั้นดีอย่างไร นั่นก็คือเมื่อเราสามารถปฏิบัติจนละหน่ายคลายกิเลสหรือกระทั่งดับกิเลสได้แล้ว จะดับไปถึงวจีสังขาร คือไม่ปรุงแต่งคำพูดอะไรในใจอีกแล้ว ไม่มีแม้เสียงกิเลสดังออกมาจากข้างใน จนไปถึงร่างกายไม่สังขาร คือไม่ขยับเพราะแรงของกิเลส ไม่ออกอาการอยากใดๆทางร่างกาย ไม่ไปกินเพราะว่ากิเลสสั่งให้กินเนื้อ

ผู้ที่ตั้งศีลไว้ที่การชำระกิเลสภายในนั้น เมื่อปฏิบัติจนสุดทางแล้วจะไม่ต้องเคร่งเครียดไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องกดดัน ไม่มีรูปแบบมากนัก ไม่เกลียดคนกินเนื้อ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมโต๊ะ ไม่รังเกียจที่จะกินร่วมจาน และไม่รังเกียจแม้จะหยิบชิ้นเนื้อเข้าปาก แต่ถึงแม้จะกินเนื้อก็ไม่มีอาการอยากใดๆ เคี้ยวเสร็จแล้วคายทิ้งได้และยังสามารถทิ้งที่เหลือได้โดยไม่มีการทุกข์ใจใดๆเกิดขึ้น ไม่มีความอยากเกิดขึ้นแม้ตอนเคี้ยวหรืออึดกดดันถ้ารู้สึกจะต้องกินเนื้อ ในกรณีลองกินเนื้อนี้เราใช้เพื่อทดสอบกามและอัตตาเท่านั้น

นั่นเพราะการถือศีลนี้เป็นการดับความอยาก ไม่ใช่แค่การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ใช่แค่การกินมังสวิรัติ แต่เป็นการทำลายเหตุแห่งการกินเนื้อสัตว์ ดับทุกข์ที่เหตุ จึงเกิดสภาพแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ทรมานจากกาม ถึงแม้จะจำเป็นต้องกินก็ไม่ทุกข์ทรมานจากอัตตา ซึ่งจะพ้นจากทางโต่งทั้งสองด้านในท้ายที่สุด

การปฏิบัติที่ใจ

การปฏิบัติไปถึงใจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องใช้หลักปฏิบัติของศาสนาพุทธเข้ามาเป็นส่วนร่วม ในการตรวจทุกสภาวะของจิตใจ ซึ่งจะลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต เดาไม่ได้ คิดเอาเองไม่ได้ เป็นสภาพของญาณที่ใช้ตรวจกิเลส เป็นสภาพรู้ถึงกิเลส ชัดเจนในใจว่ากิเลสยังเหลืออยู่ไหม เหลือมากน้อยเท่าไหร่ เจริญขึ้นหรือเสื่อมลง ในผู้ที่กินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสจะได้รับญาณเหล่านี้มาด้วยเมื่อพัฒนาการปฏิบัติไปเรื่อยๆ

การปฏิบัติเพื่อล้างกิเลสนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เมตตาสัตว์ ไม่สงสารสัตว์ แต่การจะถึงผลได้นั้น ต้องนำทุกวิถีทางที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นบทความเข้ามาเป็นตัวพิจารณาธรรม ซ้ำยังต้องพิจารณาไปถึงกรรมและผลของกรรม พิจารณาไตรลักษณ์ ให้ตรงเข้ากับกิเลสนั้นๆ ในกรณีนี้ก็คือการพิจารณากรรมและผลของกรรมของความอยากเสพ และพิจารณาความเป็นทุกข์ของความอยากเสพ ความไม่เที่ยงของความอยากว่ามันเพิ่มได้มันลดได้ และความไม่มีตัวตนของความอยากนี้อย่างแท้จริง

การพิจารณาล้างกิเลสนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่ตั้งใจแล้วจะทำได้แต่ยังต้องมีกำลังที่มาก เรียกได้ว่าต้องมีอินทรีย์พละที่แกร่งกล้าพอที่จะต้านทานพลังของกิเลสได้ ดังที่กล่าวว่าโจทย์ของเราคือความอยากเสพเนื้อสัตว์โดยใช้การตรวจวัดไปที่ใจ ดังนั้นการเห็นใจอย่างละเอียดนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากคนที่ปฏิบัติน้อยมองผ่านๆก็จะเหมือนยืนมองฝุ่นที่พื้นซึ่งอาจจะไม่เห็นฝุ่น คนที่ปฏิบัติเก่งขึ้นมาก็จะใช้แว่นขยายดูฝุ่นนั้น ส่วนขึ้นที่เก่งขึ้นมาอีกก็เหมือนใช้กล้องจุลทรรศน์ดูฝุ่นนั้น

การเห็นกิเลสนั้นจะเป็นไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ต้องทำลายกิเลสหยาบจึงจะสามารถเห็นกิเลสกลาง ทำลายกิเลสกลางถึงจะเห็นกิเลสละเอียด นั่นเพราะในระหว่างปฏิบัติศีลไปเรื่อยๆ เราก็จะได้มรรคผลมาเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถรู้และเห็นกิเลสที่เล็กและละเอียดนั้นได้มากขึ้น

เราปฏิบัติโดยทำลายความอยากที่จิตสำนึก ทำลายไปจนถึงจิตใต้สำนึก และล้วงไปจนถึงจิตไร้สำนึก ละเอียดลงไปเรื่อยๆดำดิ่งลึกลงไปให้เห็นกิเลสที่ฝังอยู่ข้างในจิตใจทำลายไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดสิ้น

แต่ถ้าหากว่าเรายังยินดีในศีลเพียงแค่ละเว้นการฆ่าสัตว์ ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์ พอใจและมั่นใจแล้วว่าสิ่งนี้ดีที่สุดแล้วจะถือศีลนั้นไปเรื่อยๆก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายเท่าไรนัก เพราะพ้นภัยจากกรรมแห่งการเบียดเบียนได้บ้างแล้ว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การกดความรู้สึกจากร่างกายเข้าไปหาใจนั้นไม่ใช่ทางดับทุกข์ที่เหตุ แต่เป็นการดับที่ปลายเหตุซึ่งนั่นหมายความว่า ความอยากนั้นอาจจะกลับกำเริบขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งก็ได้ หรือชาติใดชาติหนึ่งก็ได้เช่นกัน ถึงแม้ในชาตินี้เราจะสามารถกดข่มความอยากไว้ด้วยความเมตตาได้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะไม่เติบโต

กินมังสวิรัติได้ไม่ได้หมายความว่าล้างกิเลสเป็น

การกินมังสวิรัติได้ ถึงแม้จะกินได้ตลอดชีวิตแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถล้างกิเลสได้หรือล้างกิเลสเป็นเพราะการกินมังสวิรัติได้นั้น สามารถใช้เพียงสัญชาติญาณความเมตตาทั่วๆไปกดความชั่วนั้นไว้ได้แล้ว นั่นเพราะการเบียดเบียนสัตว์เป็นบาปที่เห็นได้ชัดเจน เหมือนกับการที่เรารู้ว่าการฆ่าสัตว์ไม่ดี เราจึงไม่ตบยุง แต่ความโกรธ ความรำคาญ ความแค้นยุงยังมีอยู่ ถึงเราจะไม่ตบไปทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่ากิเลสจะตาย มันเพียงแค่ถูกฝังกลบไว้ในความดี ไว้ในจิตลึกๆเพียงแค่ยังไม่แสดงตัวออกมา

…สรุปข้อแตกต่าง

ข้อแตกต่างของผลในการกินมังสวิรัติแบบกดข่มกับแบบล้างกิเลสคือ การกดข่มจะใช้พลังความดีและใช้ธรรมะในการกดความชั่วเอาไว้ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ไม่ให้หลุดออกมาทั้งทางกายวาจาใจ แต่เมื่อทำไปนานวันเข้าจะมีความกดดันและจะเครียดหรือสร้างบรรยากาศที่ตึงเครียด เป็นสภาพของการยึดมั่นถือมั่น เพราะทำจากข้างนอกเข้ามาข้างใน

ส่วนแบบล้างกิเลสคือการใช้พลังปัญญาเข้าไปล้างเชื้อชั่วข้างในจิตวิญญาณเลย เมื่อทำไปนานวันเข้าจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ สติ ปัญญา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จะขยายขอบเขตมากขึ้น ความโปร่งโล่งสบายจะแผ่กระจายออกไปจนคนอื่นรับรู้ได้และมีพลังที่จะส่งต่อสิ่งดีๆให้ผู้อื่นอย่างมีศิลปะ มีไหวพริบ มีการประมาณที่จะยิ่งเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นสภาพของการปล่อยวาง เพราะทำจากข้างในแผ่ออกไปข้างนอก

การค้นหากิเลสและทำลายกิเลสอย่างถูกวิธีนั้นต้องดำเนินไปตามขั้นตอนของวิปัสสนาญาณ ๑๖ ซึ่งจะเป็นทั้งเป้าหมายและเป็นตัวตรวจสอบสภาพว่าเราได้ดำเนินการผ่านกิเลสนั้นมามากน้อยเท่าไร ถึงระดับไหน และอีกไกลเท่าไร ผลคือแบบไหนเราจึงจะไม่หลงไปในกิเลส ไม่ต้องหลงทางวนเวียนอยู่กับการหลอกหลอนของกิเลสอีกต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ

October 9, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,852 views 0

โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ

โพชฌงค์ สติปัฏฐาน ฌาน และสภาพจิตสุดท้ายของการกินมังสวิรัติ

เมื่อเราเรียนรู้การกินมังสวิรัติโดยใช้การปฏิบัติศีลเป็นตัวตั้งต้นกันแล้ว ก็จะเข้ามาสู่กระบวนการของการชำแหละกิเลส คือวิจัยให้เห็นองค์ประกอบของความอยากกินเนื้อสัตว์ เป็นกระบวนการที่จะใช้กำลังปัญญาและสมาธิอย่างหนัก เพียรพยายามหาคำตอบว่าทำไมเราจึงต้องอยากกินเนื้อสัตว์ ทำไมความอยากกินเนื้อสัตว์ถึงยังไม่หายไป ทำไมเมื่อกินเนื้อสัตว์ถึงยังรู้สึกอร่อยอยู่

การปฏิบัตินี้เป็นลักษณะของการวิปัสสนา คือการพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ทำให้รู้แจ้งเห็นจริงตามที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ตามที่กิเลสของเราอยากให้มันเป็น โดยใช้ธรรมะเข้ามาเป็นหลักในการปฏิบัติ และอธิบายสภาวธรรมหรือสภาพของจิตใจที่จะเกิดขึ้นในแต่ละลำดับขั้นตอน โดยธรรมที่จะนำมาใช้ในบทความนี้ได้แก่ โพชฌงค์๗ ,สติปัฏฐาน๔ ,ฌาน๔ ,อานิสงส์ของศีล๙ ,สภาวะของนิพพาน๗ ซึ่งในบทความนี้ก็จะอธิบายขั้นตอนหลังจากที่เราถือศีลกินมังสวิรัติและได้พบกับความอยากในการกินเนื้อสัตว์ ไปจนจบที่ความรู้สึกสุขแม้จะไม่ได้เสพเนื้อสัตว์หรือที่เรียกกันว่าจบกิจของกิเลสนั้นๆ ซึ่งจะใช้การร้อยเรียงธรรมะทั้งหมดเข้ากันเพื่ออธิบายถึงสภาวธรรมที่สอดคล้องกันในธรรมแต่ละบท

มาเริ่มกันเลย…

เมื่อเรากินมังสวิรัติมาได้ระยะหนึ่ง สามารถกดข่ม อดทนต่อความอยากมาได้สักพัก เราก็จะสามารถที่จะเห็นกิเลสหรือความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นชัดเจนมากยิ่งขึ้น เห็นความคิดที่คอยให้เหตุผลพาให้เรากลับไปกินเนื้อสัตว์อยู่เสมอ หลายคนสามารถกดข่ม ตัดรอบ ปัดทิ้งความรู้สึกอยากกินนั้นไปได้ แต่แท้ที่จริงความอยากนั้นยังคงมีอยู่ เพียงแค่เรากดมันไว้ปิดบังมันไว้ ความอยากไม่ตายและจากไปไหน มันยังวนเวียนมาให้เราได้กดข่มไว้เรื่อยๆ ซึ่งการที่เราสามารถกดข่มในเบื้องต้นได้ ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์ ยอมไม่ให้ศีลขาดนั้นเป็นการกระทำที่ดีแล้ว แต่จะดีกว่าถ้าเราได้กำจัดความอยากหรือกิเลสเหล่านั้นอย่างสิ้นเกลี้ยง

โพชฌงค์ คือองค์แห่งการบรรลุธรรม เป็นเครื่องทำลายกิเลส การจะปฏิบัติโพชฌงค์ให้ถูกต้องนั้น จึงจำเป็นต้องมีกิเลสเป็นตัวตั้งต้น เริ่มต้นจากการเลือกกิเลสสักตัวตามกำลังของเรา เมื่อมีกิเลสเป็นวัตถุดิบเข้ากระบวนการของโพชฌงค์แล้วปลายทางที่ได้คือการปั่นย่อยทำลายกิเลสเหล่านั้นจนได้ปัญญารู้แจ้ง คือผลเจริญจากการทำลายกิเลสเหล่านั้น

เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวทั่วพร้อมแล้ว จึงนำมาสู่การสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ให้เราไปเสพเนื้อสัตว์ เมื่อจิตใจเข้าสู่สภาพปกติ จึงจะเข้าสู่สภาวะของสติที่เป็นพุทธแท้ๆ เป็นธรรมะข้อแรกของโพชฌงค์ ๗

(1) สติ (โพชฌงค์ ๗)

สติที่ถูกต้องสู่การพ้นทุกข์นั้นคือ “สติปัฏฐาน๔” เป็นสติที่มีไว้เพื่อชำแหละกิเลส รู้การเปลี่ยนแปลงของกายหรือตัวรู้ข้างในโดยการรู้ผ่านการเปลี่ยนแปลงของร่างกายข้างนอก รู้ถึงความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ได้ว่าเป็นเวทนาอย่างเคหสิทตะหรือเนกขัมมะ รู้ไปในทุกท่วงท่าของจิตที่เกิดกิเลสว่ากิเลสนั้นคือตัวไหน รู้ไปถึงธรรมที่คู่ควรในการชำระล้างกิเลสนั้นๆโดยจะขอยกตัวอย่างการใช้สติปัฏฐาน๔ กับความอยากกินเนื้อสัตว์ดังนี้

กายในกาย : เมื่อเราได้เห็นเนื้อสัตว์ที่เคยชอบกิน ร่างกายจะเกิดอาการขึ้นมาเช่น กลืนน้ำลาย ท้องร้อง น้ำลายสอ ซึ่งเป็นลักษณะที่รับรู้ได้โดยการรู้สึกไปถึงข้างในจิตใจ คือให้อาการทางร่างกายสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของใจ ซึ่งการปฏิบัติของเราก็จะเป็นการปฏิบัติที่ใจ เมื่อจับการเปลี่ยนแปลงของใจผ่านร่างกายแล้วจึงนำไปสู่เวทนา

เวทนาในเวทนา : เมื่อรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของใจเมื่อผัสสะเข้ามากระทบแล้ว เราก็จะรู้ลึกไปถึงเวทนาว่าความรู้สึกของใจนั้น เป็นทุกข์ สุข หรือเฉยๆ ในกรณีที่เราถือศีลกินมังสวิรัติแล้วยังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติ จะเกิดเวทนาได้กรณีเดียวคือ เนกขัมมสิตโทมนัส คือความความเสียใจอย่างนักบวช เป็นความรู้สึกทุกข์ที่ต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกินเนื้อสัตว์แม้ว่าจะมีความอยากกินเนื้อสัตว์ก็ตาม

จิตในจิต : เมื่อรู้ว่าจิตเกิดทุกข์แล้วก็จะดูต่อว่าจิตของเรานั้นมีกิเลสตัวไหน มีเหตุอันใดให้เราต้องทุกข์ เป็นขั้นตอนการขุดค้นไปถึงสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งเราได้รู้ทุกข์จากเวทนาแล้ว จึงนำมาเป็นหลักฐานในการหาเหตุแห่งทุกข์ในจิตต่อ ในกรณีของเนื้อสัตว์นี้จะลองยกตัวอย่างเป็นว่า เราติดสเต็กชิ้นหนึ่งแล้วเราถือศีล จึงทุกข์เพราะความอยากแต่ไม่ยอมไปกิน จิตในจิตคือหาเหตุนั้นว่าเราอยากเพราะอะไร ซึ่งอาจจะเป็นเราอยากกินสเต็กชิ้นนั้นเพราะความติดในรสชาติ ติดในกาม ติดในความนุ่มความเหนียวของเนื้อสัตว์ เมื่อลองค้นได้ดังนี้เราก็จะไปขั้นต่อไป

ธรรมในธรรม : เมื่อเราค้นเจอรากของกิเลสแล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดความอยากเสพในรสสัมผัส เป็นราคะ โดยรวมแล้วการจะฆ่าล้างราคะต้องใช้อสุภะคือความไม่งามเข้าไปฆ่าความอยากเสพนี้ ความไม่งามในกรณีนี้คือความเสื่อมของรสสัมผัสเช่นเราไม่มีวันได้กินของที่อร่อยลิ้นตลอดไปหรอกมันต้องเสื่อมเข้าสักวัน วันไหนที่เราไม่ได้กินเนื้อที่นุ่มก็จะทุกข์ หรือไม่ก็พิจารณาอสุภะแบบรวมโดยการพิจารณากระบวนการอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ การผสมพันธุ์ การเลี้ยง การฆ่า การชำแหละ การแปรรูปเนื้อสัตว์ จนเข้ามาถึงปากเรา ถ้าพิจารณาธรรมถูกธรรม ก็จะช่วยลดความอยาก ลดราคะเหล่านี้ได้

…สติปัฏฐาน ๔ นี้ เป็นธรรมะที่ทำงานไปด้วยกันอย่างเป็นระบบ แต่ละองค์ธรรมนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่เป็นก้อนเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาปฏิบัติได้ เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องสอดคล้อง เป็นไปเพื่อชำแหละให้เห็นถึงทางแก้กิเลส

(2) ธัมมวิจยะ(โพชฌงค์ ๗)

การวิจัยข้อธรรม เป็นกระบวนการของการวิปัสสนา โดยใช้สติปัญญาใช้ความรู้จากการทบทวนธรรม ตึกตรองใคร่ครวญธรรม ฟังธรรม สนทนาธรรม เพื่อหาข้อธรรมที่จะมาช่วยล้างกิเลสนั้นๆ พิจารณาให้ลึกและละเอียดลงไปเรื่อยๆ ว่ามีธรรมใดที่จะเข้ามาช่วยชำระล้างกิเลสนี้ได้

ในกรณีของการกำจัดกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์นี้ เราก็จะพิจารณาข้อมูลที่เราได้รับมา เช่น การกินเนื้อสัตว์เบียดเบียนตัวเองและสัตว์อื่นอย่างไร การมีความอยากเป็นทุกข์อย่างไร ถ้าไม่ได้กินสมใจอยากจะทุกข์ร้อนแค่ไหน โดยใช้ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาเข้าทำการวิจัยกิเลส ซึ่งอาจจะไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมก็ได้

(3) วิริยะ(โพชฌงค์ ๗)

คือการเฝ้าพิจารณาธรรมอย่างเพียรพยายาม ใช้ทั้งสมถะและวิปัสสนาเข้ามาในกระบวนการพิจารณาฆ่ากิเลสนี้อย่างตั้งมั่น ไม่ท้อถอย อดทนฟันฝ่าความอยากแม้จะยากลำบากก็เพียรพิจารณาต่อไป เพราะรู้ถึงผลว่าสุขที่มากกว่าเสพยังมี เป็นวิริยะที่เกิดจากปัญญา เป็นความเพียรที่มีความสุขจากการไม่มีกิเลสเป็นแรงผลักดัน หวังจะให้เกิดผลที่เจริญจึงตั้งใจทำไปเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง

… กระบวนการข้างต้นทั้งหมดนั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๑ คือวิตกวิจารณ์ คือการเฝ้าพิจารณา ทุกข์ โทษ ภัยผลเสีย ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ประโยชน์และโทษ กรรมและผลของกรรมในกิเลสตัวนั้นๆ ซึ่งในกระบวนการนี้จะใช้เวลามากน้อยก็แล้วบุญบารมีที่บำเพ็ญเพียรสะสมมา บางเรื่องพิจารณาไม่นานก็สามารถหลุดพ้นได้ บางเรื่องเฝ้าพิจารณาเป็นเดือนเป็นปีก็ยังไม่สามารถชำระกิเลสได้ ทำได้เพียงแค่ให้มันเบาบางลง ซึ่งเราก็ต้องเพียรวิตกวิจารณ์ไปเรื่อยๆจนกว่าจะหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลสนั่นเอง

เมื่อเพียรพิจาณาธรรมจนถึงจุดหนึ่งที่ปัญญานั้นเต็มรอบ จากปัญญาที่เคยเป็นมรรค (วิถีทาง ความรู้ความเข้าใจ ข้อปฏิบัติ) จะกลายเป็นปัญญาที่เป็นผล (ข้อสรุป ผลเจริญ วิมุตติ) เราจะได้รับความรู้บางอย่างที่รู้ชัดแจ้งเพียงพอที่จะมีกำลังตัดกิเลส รู้ว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นภัยกับชีวิตของเราและคนอื่นอย่างไร เป็นปัญญาที่จะตัดกิเลสได้อย่างหมดจด ไม่ใช่ปัญญาในลักษณะที่ “รู้หมดแต่อดไม่ได้” แต่เป็นปัญญาที่รู้และเข้าใจทุกอย่างในกิเลสนั้นๆ และจะไม่มีวันกลับไปเสพอีกต่อไป

(4) ปีติ(โพชฌงค์ ๗)

หลังจากที่เราได้รับปัญญาที่เป็นผลจากการเพียรพิจารณาล้างกิเลส ก็จะเกิดความรู้สึกปีติยินดี ดีใจ ตื่นเต้น ใจฟู ฯลฯ สำหรับคนที่เข้าสู่สภาวะของปีติอาจจะมีระดับความดีใจรุนแรงแตกต่างกันไป เช่นถ้าเราสามารถชำระกิเลสที่พาให้ทุกข์มาก ยากมากได้ ก็อาจจะเกิดปีติแรง เหมือนพลุแตกระเบิดออกจากกลางตัว สว่างวาบจนรู้สึกถึงพลังที่อิ่มเอม ชุ่มฉ่ำได้ ลักษณะของปีตินั้นเกิดได้ถึง 5 แบบ คือปีติเล็กน้อย ปีติชั่วขณะ ปีติเป็นพักๆ ปีติโลดลอย ปีติซาบซ่าน เป็นความปลาบปลื้มยินดีอิ่มใจในฌาน

… ปีตินั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๒ คือปีติ จะมีสภาพเดียวกัน

(5) ปัสสัทธิ(โพชฌงค์ ๗)

คือสภาพที่ปีติค่อยๆคลายลง ลดความอิ่มเอิบลง ค่อยๆสงบลงจากดีใจก็กลายเป็นความสุขใจแบบนิ่งๆ เย็นอยู่ในใจเป็นสภาพที่ผ่อนคลายมากกว่าเดิม

(6) สมาธิ(โพชฌงค์ ๗)

คือสภาพที่เห็นความต่อเนื่องของสภาวธรรมที่ได้ รู้ว่าความเจริญนั้นได้ตั้งมั่นอยู่ในใจแล้ว รู้ว่ากิเลสนั้นได้คลายลงแล้ว เป็นความสงบที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สงบจากกิเลสนี้ตลอดไป

… ปัสสัทธิจนถึงสมาธินั้นจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๓ คือสุข คือสภาพที่ต่อจากปีติสงบลงจนเป็นสุข จะรู้สึกอิ่มเอิบอยู่ในใจเล็กๆ เบาใจสบายใจ รู้ได้เองว่านี่คือสภาวะที่สุขกว่าตอนมีกิเลสมาก เบาบาง กินพลังงานน้อย จะรู้สึกยินดีกับสภาวะนี้ การเกิดปีติจนมาถึงสุขอาจจะใช้เวลาเพียงสั้นๆ เพียงชั่วครู่ก็จะสงบลงมาเอง

(7) อุเบกขา(โพชฌงค์ ๗)

เป็นสภาพสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการล้างกิเลส และจะเป็นสภาพนี้ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อสุขได้สงบลงแล้วก็จะพบกับอุเบกขา เมื่อเราได้พิจารณาฆ่าล้างกิเลสมาตั้งแต่ในช่วงแรก เพียรพยายามจนสามารถละทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ได้แล้ว แล้วก็จะมาละสุขที่เป็นผลจากความเจริญที่ได้รับจากการพิจารณา จบลงที่ความปล่อยวาง ไม่ทุกข์ ไม่สุข ไม่ยินดีไม่ยินร้าย เพราะได้กำจัดกิเลสเหล่านั้นสิ้นแล้ว นี่คือสภาวะของอุเบกขา เป็นสภาพที่ไม่กินพลังงานใดๆเลย เพราะไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดไว้ และเราก็จะได้พลังคืนมาจากที่เราเคยเสียไปให้กับกิเลส เช่น เราไม่ต้องเสียเวลาไปหาเนื้อสัตว์กิน ความเจ็บป่วยที่จะได้รับจากพิษของเนื้อสัตว์จะหมดไป นี่คือตัวอย่างสิ่งที่เห็นได้เป็นรูปธรรม และยังมีผลทางนามธรรมอีกมาก

… อุเบกขาจะสอดคล้องไปกับสภาวะของฌาน๔ คืออุเบกขาเช่นกัน เป็นสภาพเดียวกันที่เกิดขึ้น

ทั้งหมดนี้คือฌานฆ่ากิเลส เป็นฌานที่เพ่งเผากิเลส ไม่ใช่ลักษณะของฌานสมถะหรือฌานฤาษีที่นั่งสมาธิแล้วเข้าภพเข้าภวังค์เกิดสภาพจิตต่างๆไปตามลำดับ แต่เป็นฌานที่ตั้งต้นด้วยกิเลสและทำความเพียรเพ่งพิจารณาเผากิเลสจนเกิดเป็นสภาพของวิตกวิจารณ์ ปีติ สุข อุเบกขา เป็นความรู้สึกเดียวกับอาการที่เกิดเมื่อนั่งเข้าฌานสมาธิ แต่จะต่างกันตรงที่สามารถเผาทำลาย ชำระกิเลสให้ตายได้ด้วย เมื่อกำจัดกิเลสเสร็จก็ไม่ต้องเข้าฌานใหม่ เพราะกำจัดกิเลสจบแล้วก็ได้อุเบกขามาอย่างถาวร

ต่างจากฌานฤาษี ซึ่งถ้าเราอยากได้ภาวะของ ปีติ สุข อุเบกขา เราก็ต้องนั่งสมาธิเข้าภพเข้าภวังค์ค่อยๆดับจิตดำดิ่งสู่สภาวะดับลงเรื่อยๆ นอกจากกิเลสจะไม่ตายแล้ว โดยมากยังหลงไปในมโนมยอัตตา เห็นนรก เห็นสวรรค์ ซึ่งเป็นสภาวะที่จิตปั้นแต่งให้เห็นเป็นภาพ เป็นเหตุการณ์ขึ้นมา ภาพที่เห็นนั้นเห็นจริง แต่ไม่ใช่ของจริง

การกระทำฌานเผากิเลสนี้ เมื่อเราทำลายกิเลสตัวหนึ่งก็จะจบกิจของกิเลสตัวนั้น แต่อาจจะทำลายได้แค่ความอยากกินเนื้อสัตว์ที่เป็นรูปชิ้นเนื้อเท่านั้น อย่างเช่นทำลายความอยากเนื้อสัตว์ได้ แต่ก็ต้องไปเพียรพยายามทำลายความอยากในเนื้อสัตว์แปรรูปต่ออีก เพราะพลังฌานของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนพิจารณาทีเดียวทำลายความอยากได้ทั้งตระกูล บางคนต้องใช้การพิจารณาแบบย่อยเป็นตัวๆ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อปลา หรือย่อยลงไปในตระกูลเนื้อวัว เช่น เนื้อย่าง เนื้อทอด เนื้อดิบ ทำได้มากน้อยตามแต่อินทรีย์พละของแต่ละคน ใครที่เพียรมากตั้งใจมาก ปฏิบัติอย่างถูกทางมามาก ก็จะมีพลังในการชำระกิเลสมากตามไปด้วย

อานิสงส์ของศีล๙

เมื่อเราเริ่มต้นปฏิบัติศีล ถือศีลกินมังสวิรัติ จนกระทั่งเพียรพิจารณาล้างกิเลสให้รู้เห็นตามความเป็นจริง เกิดสภาพไปตามลำดับของโพฌชงค์ ๗ จนกระทั่งถึงอุเบกขา จึงเรียกได้ว่าจบกิจของกิเลสตัวนั้น กลายเป็นสภาพที่เราจะถือศีลอย่างเป็นปกติในชีวิตประจำวัน อย่างที่ใครเขาพูดว่า “ศีลคือความปกติ” สำหรับผู้บรรลุศีลที่ปฏิบัติเพื่อลดกิเลส ความปกตินั้นคือ ไม่กินเนื้ออย่างปกติ ไม่ว่าวันไหนเวลาไหนก็ไม่มีความอยากกินเนื้อ โดยไม่รู้สึกทรมาน หรือต้องกดข่มใดๆ เป็นสภาพความเจริญที่เกิดขึ้นในจิตอย่างแท้จริง โดยมีสภาพ 9 ประการโดยอธิบายผ่านเรื่องมังสวิรัติดังนี้

1.จะไม่เดือดเนื้อร้อนใจแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์

2.มีความเบิกบานยินดีที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์

3.มีความอิ่มใจแม้เราจะกินผัก ไม่กินเนื้อสัตว์

4.รู้ถึงความสงบในจิต ซึ่งไม่มีกิเลสจากการกินเนื้อสัตว์

5.เกิดความสุขจากการไม่มีกิเลสในเนื้อสัตว์

6.เกิดสมาธิตั้งมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์

7.รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงว่าการกินเนื้อสัตว์มีทุกข์ โทษ ภัย และต้องรับความเดือดร้อนจากวิบากกรรมอันมีเหตุแห่งความเบียดเบียน

8. มีความเบื่อหน่ายในการกินเนื้อสัตว์ เพราะเห็นโทษชั่วของการเบียดเบียน

9.รู้แจ้งเห็นจริงในความหลุดพ้น รู้ได้ในสภาวะจิตของตนเองว่าหลุดพ้นจากเนื้อสัตว์ เป็นอิสระจากการกินเนื้อสัตว์แล้ว แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีมาประเคนให้ก็ยินดีที่จะไม่รับ โดยไม่ขุ่นข้องหมองใจ ไม่เสียดาย ไม่มีแม้ธุลีความอยากใดๆในจิต รู้ชัดแจ้งว่าจากนี้ไปจะไม่มีทางยินดีในการเสพเนื้อสัตว์อีก กลายเป็นศีลปกติ คือถือศีลนั้นๆในชีวิตประจำวันตลอดไป เพราะมีแต่คุณประโยชน์ แต่ก็สามารถวางศีลนั้นได้เมื่อมีเหตุปัจจัยที่เหมาะควร โดยไม่มีบาป เพราะศีลได้กำจัดกิเลสเหล่านั้นหมดสิ้นแล้ว

สภาวะของนิพพาน๗

เมื่อปฏิบัติศีลอย่างถูกตรงจนเกิดภาวะอุเบกขา รับรู้ได้ถึงอานิสงส์ของศีล จะเกิดสภาพของจิตที่กิเลสได้ตายอย่างแท้จริง ไม่เกิดความอยากอีก โดยจะมีสภาพจิตที่ตัดเนื้อสัตว์ได้ดังนี้

ไม่มีอะไรเปรียบได้ (นัตถิ อุปมา) : ความรู้สึกที่ไม่ต้องการไปเสพเนื้อสัตว์อีกมันไม่รู้จะหาอะไรมาเปรียบได้

ไม่มีอะไรหักล้างได้(อสังหิรัง) : แม้ว่าจะมีสิ่งที่ดี มีค่าในทางโลก มาล่อแค่ไหนก็ไม่มีอะไรจะเอามาหักล้าง ความรู้แจ้งนี้ได้

ไม่กลับกำเริบ(อสังกุปปัง) : ไม่มีทางที่จะเกิด “ความอยาก” กินเนื้อสัตว์ขึ้นมาได้อีก

เที่ยง(นิจจัง) : เป็นสภาพจิตที่เที่ยงแท้แน่นอน

ยั่งยืน(ธุวัง) : คงสภาพจิตแบบนี้และเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ

ตลอดกาล(สัสสตัง) : สภาพจิตที่พ้นจากความอยากนี้จะคงอยู่ตลอดกาล ฝังไว้ในวิญญาณ ข้ามภพข้ามชาติ จนตราบปรินิพพาน

ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา (อวิปริณามธัมมัง) : ไม่มีทางที่จะแปรปรวนรวนเร โลเล เปลี่ยนใจให้ได้เห็นอีกเลย

…ผู้ที่ปฏิบัติมาถูกทางก็จะพบกับสภาพดังข้อธรรมะ อานิสงส์ของศีล๙ และสภาวะของนิพพาน๗ สำหรับผู้ที่อ่านแล้วยังรู้สึกลังเลใจ ไม่เชื่อมั่นในตัวเองอย่างเต็มใจแสดงว่ายังไม่ผ่าน ให้ปฏิบัติต่อไปด้วยความเพียร หากผู้ใดที่คิดว่าตัวเองได้ผ่านแล้ว จะลองกลับไปกินเนื้อสัตว์ดูก็ได้เพื่อตรวจสอบว่าเราผ่านเรื่องมังสวิรัติจริงหรือไม่ ถ้ายังไม่ผ่าน เราก็จะรับรู้ด้วยตัวเอง จากการรู้ในเวทนา

ผู้ที่ปฏิบัติศีลอย่างเคร่งครัดและจริงใจต่อความรู้สึกตัวเองจึงจะมีสิทธิ์พบกับความสุขแท้ ความสุขที่ไม่ต้องเสพเนื้อสัตว์ รู้ได้เองว่า การไม่เสพเนื้อสัตว์มันสุขกว่าการเสพอีก แต่หากผู้ใดใช้การกดข่ม ใช้พลังสมถะเข้ามาเป็นหลักในการตัดความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ ก็จะไม่สามารถเข้าถึงสภาวธรรมเหล่านี้ได้ จะมีสภาพแกว่งไปมา ถือศีลเหยาะแหยะกินเนื้อสัตว์บ้าง กินมังสวิรัติบ้าง แม้จะมีคำพูดที่ดูเหมือนปล่อยวาง แต่จริงๆมักไม่ได้ปล่อยวาง เพราะคนที่ปล่อยวางอย่างแท้จริง จะมีสภาพที่พระพุทธเจ้ายืนยัน นั่นคือสภาพของอานิสงส์ของศีล๙ และสภาวะของนิพพาน๗ เป็นหลักฐานที่ใช้ตรวจสอบตัวเองได้

การจะเกิดสภาพจิตเหล่านี้ไม่ใช่การคิดเอาหรือฝันเอา ต้องปฏิบัติเท่านั้นถึงจะมีได้ และจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องถูกตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสด้วย หากปฏิบัติไม่ถูกต้องก็เหมือนคนตาบอดวิ่งเข้าป่า เข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่ ดังนั้นการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นสามารถวัดผลได้ตรงที่กิเลสเราลดหรือไม่ เราปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้แล้วเรากิเลสลดลงหรือไม่ หรือยังอยากเหมือนเดิม ดีไม่ดีบางคนก็กิเลสหนากว่าเดิมก็มี

การเข้าใจธรรมะไม่มีความบังเอิญ พระพุทธเจ้าตรัสว่าทุกอย่างมีมาแต่เหตุ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนเพียร ไม่ใช่ของคนขี้เกียจ ที่จะเฝ้าคิด เฝ้าฝัน นั่งๆนอนๆ อยู่แล้วจะบรรลุถึงความผาสุกที่แท้จริงได้ แต่เป็นหลักปฏิบัติที่ใครอยากได้ต้องทำเอง ความสุขแท้มีอยู่ แต่ต้องทำเอาเองเท่านั้น ดังคำตรัสว่า “ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

– – – – – – – – – – – – – – –

9.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์