Tag: กามคุณ
สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ
สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ
การที่เราจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุก ปราศจากธุลีละอองความอยากใดๆในจิตวิญญาณนั้นหากเราไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถ่องแท้และไม่ได้เข้าถึงธรรมนั้นด้วยใจตัวเองก็คงยากที่จะพบกับความสุขแท้
สติปัฏฐานคือช่วงหนึ่งของเส้นทางสู่ความผาสุกที่เราจำเป็นต้องเดินผ่าน เป็นขั้นตอนของการตรวจจับและพิจารณาธรรมเพื่อทำลายกิเลส เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากและจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไว้ หากไม่มีกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วการทำลายกิเลสก็จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันเท่านั้น
สติปัฏฐานนั้นคือกระบวนการที่ต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มจนจบ ตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ครบองค์ประกอบเหมือนเครื่องจักรที่ตัด พับ ต่อ ประกอบ กล่องให้สมบูรณ์เพียงแค่ใส่วัตถุดิบเข้าไป สติปัฏฐานนั้นก็เช่นกันมีการทำงานเป็นองค์รวมไม่แยกกันปฏิบัติ ต้องปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นระบบที่มีกระบวนการที่สอดคล้องกันไป
สติปัฏฐานนั้นต่างจากสติสัมปชัญญะหรือความรู้ตัวทั่วพร้อมโดยทั่วไป เพราะทำหน้าที่คนละแบบ สติปัฏฐานไม่ใช่เพื่อความรู้ตัว แต่เป็นการนำความรู้ตัวที่เกิดจากสติสัมปชัญญะเข้ามาเป็นอาหารสู่การรู้กิเลส จับกิเลส วิเคราะห์กิเลส และทำลายกิเลส ดังนั้นหากใครยังเข้าใจความต่างของสติทั้งสองอย่างไม่ได้และไม่เข้าใจการทำงานของสติปัฏฐาน ก็ยากที่จะเข้าใจธรรมะที่เกิดในตน เพราะสติปัฏฐานนี่เองคือกระบวนการที่จะทำให้เห็นธรรมะที่เกิดในตนเองอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
สติปัฏฐานนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ไปรวดเดียวจนจบครบกระบวน ไม่ใช่การแยกปฏิบัติทีละตัว จำเป็นต้องเรียนรู้ทุกตัวแต่ไม่ได้หมายความว่าต้องค่อยๆเรียนรู้ไปตามลำดับทีละขั้น เพราะสติปัฏฐานไม่ใช่การฝึกวิชา ไม่ใช่ระดับชั้น จึงไม่ต้องฝึกทีละขั้นแล้วเลื่อนชั้นไปศึกษาตัวต่อไป แต่ต้องเข้าใจองค์รวมทั้งหมดเพราะธรรมแต่ละตัวนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลส
สติปัฏฐาน ๔
ธรรมนี้คือทางเอกเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งการหลุดพ้นจากกิเลส ในบทความนี้ก็จะขยายและประยุกต์ให้กับผู้ฝึกกินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสโดยเฉพาะ แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิเลสตัวอื่นๆได้เช่นกัน
ในกรณีนี้จะยกตัวอย่างเพื่อผู้ที่ยังติดในรสชาติของเนื้อสัตว์ ยังหลงในเนื้อสัตว์ ยังคงมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ ทั้งในกรณีที่เราตั้งใจกินมังสวิรัติและไม่ได้กินมังสวิรัติอย่างจริงจัง
1). กายในกาย
เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ เราก็จะรับรู้ได้ถึงอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เป็นอาการที่จิตวิญญาณสังเคราะห์ขึ้นมาเช่น น้ำลายไหล ตัวสั่น มือสั่น กลืนน้ำลาย น้ำย่อยไหล หายใจผิดจังหวะ อาการเหล่านี้คืออาการของความอยากที่สะท้อนให้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะนามหรือพลังงานข้างในจิตใจเปลี่ยนแปลง จึงสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปคือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เราจึงจำเป็นต้องมีสติให้พร้อมเพื่อจับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนี้เพื่อให้เห็นใจที่เปลี่ยนไปแม้จะเป็นการสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อยก็ตาม
เมื่อเรากินเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ อาการที่เกิดกับร่างกายชัดๆเลยคือจะยังมีความอร่อย จะยังมีรสอร่อยอยู่ รสอร่อยนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นรสชาติของวิญญาณที่มีกิเลสของเราสังเคราะห์ขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอง จิตของเราปั้นรสอร่อยเหล่านั้นขึ้นมาเองให้ร่างกายของเราได้สัมผัสแล้วหลอกเราซ้อนอีกทีว่าเนื้อสัตว์อร่อย
เมื่อเราคิดถึงเนื้อสัตว์ หากเรายังมีความอยากอยู่ จะเกิดอาการกับร่างกายคือมีอาการหิวกระหายเนื้อสัตว์ โหยหวนคิดถึงเนื้อสัตว์ มีอาการน้ำย่อยหลั่ง กลืนน้ำลาย น้ำลายไหล หิว หมดแรง ออกอาการต่างๆเพื่อให้กระตุ้นให้เรากลับไปกินเนื้อ
อาการที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ คืออาการภายนอกที่สะท้อนให้เห็นภายในคือจิตใจที่เปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะเมื่อผัสสะเข้ามากระทบกระแทกแล้วจิตใจของเราให้หวั่นไหวจนสั่งร่างกายให้หวั่นไหวตาม ผู้ที่มีสติจับอาการของร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงได้จะนำผลนี้ไปสู่ขั้นตอนต่อไป
2). เวทนาในเวทนา
เมื่อเราจับอาการของจิตใจที่เกิดจากการกระทบร่างกายได้จะพบว่าอาการที่เปลี่ยนแปลงนั้น เกิดได้สามลักษณะคือ สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ นั่นคือเกิดเวทนาอย่างไรนั่นเอง แต่เวทนาเพื่อการล้างกิเลสนั้นถูกแบ่งเป็นสองลักษณะใหญ่ๆที่ต้องเรียนรู้หากว่าเราต้องการความผาสุกอย่างยั่งยืน
เคหสิตเวทนา
หรือความมีเวทนาอย่างชาวบ้าน หมายถึงการเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แบบทั่วไป ไม่ว่าชาวบ้าน นักบวช ผู้ทรงศีลก็สามารถเกิดเวทนาแบบชาวบ้านได้ เช่นเมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แล้วไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เราก็จะเกิดทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป คือทุกข์เพราะไม่ได้กินของที่อยากกิน หรือการที่เราได้ไปกินเนื้อสัตว์แล้วเกิดสุข ก็เป็นความสุขแบบชาวบ้านทั่วไป หรือแม้กระทั่งอาการเฉยๆแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์อย่างที่หลายคนเข้าใจว่าตัวเองกินมังสวิรัติได้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความเฉยๆแบบชาวบ้าน คือตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีในเนื้อสัตว์ เกลียดเนื้อสัตว์แล้วไม่ไปกินก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร
ประเด็นนี้เองที่ทำให้คนกินมังสวิรัติหลายคนเข้าใจผิดว่าตนเองล้างกิเลสได้หรือบรรลุธรรม เพียงเพราะความเฉยๆ แต่ทั้งหมดนี้มันเป็นความเฉยหรืออุเบกขาแบบชาวบ้าน เหมือนกับคนที่ไม่กินผัก ถ้าไม่มีผักในมื้ออาหารก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ชาวมังสวิรัติที่ใช้การกดข่มก็เช่นกัน เมื่อทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกว่าเนื้อสัตว์ไม่ใช่อาหาร แม้จะไม่มีเนื้อสัตว์อยู่ในมื้ออาหาร หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์เป็นสิบยี่สิบปีก็จะไม่เกิดทุกข์อะไร เพราะรู้สึกเฉยๆกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งหมดนี้เป็นเวทนาแบบชาวบ้าน เป็นเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้
คนกินมังสวิรัติแบบไม่เข้าใจเรื่องล้างกิเลสหากยังมีความอยากในเนื้อสัตว์มากอยู่ เมื่อได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดทุกข์ หรือในกรณีคนที่ยึดติดในมังสวิรัติมากๆ ถ้าได้กินผักก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินผักก็จะเกิดทุกข์ เป็นความรู้สึกสุข ทุกข์แบบทั่วไป แบบเป็นชาวบ้าน เป็นสามัญ เป็นเรื่องธรรมของโลก
เนกขัมมสิตเวทนา
คือการมีเวทนาแบบนักบวช นักบวชในที่นี้ไม่จำเป็นต้องโกนผมห่มผ้า แต่หมายถึงคนที่ใช้ศีลในการขัดเกลากิเลส บวชใจให้อยู่ในธรรม นั่นหมายถึงจะเป็นใครก็ได้ ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนา ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือเป็นนักบวชก็มีสิทธิ์ที่จะศึกษาธรรมด้วยกันทั้งนั้น อนึ่งการมีเวทนาแบบเนกขัมมะนี่เองคือทางสู่การพ้นทุกข์
การที่เราจะมีเนกขัมมสิตเวทนานั้นจะต้องเริ่มต้นจากการถือศีล การยึดอาศัยศีลมาเพื่อขัดเกลากิเลส ใช้ศีลมาเป็นเครื่องมือตรวจจับกิเลส ผู้ที่ไม่มีศีล ไม่ตั้งตบะ ไม่มีความตั้งใจที่จะลด ละ เลิกความยึดมั่นถือมั่นจะไม่มีวันเข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนาได้เลย เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะเป็น ความสุข ทุกข์ เฉยๆในอีกมิติหนึ่งซึ่งต่างออกไปจากเคหสิตเวทนา แม้จะได้ชื่อว่าเฉยๆหรืออุเบกขาเหมือนกัน แต่สภาพภายในจิตใจนั้นก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง นี้เองคือนัยสำคัญว่าทำไมศีล สมาธิ ปัญญาต้องปฏิบัติไปพร้อมกันเป็นองค์รวม ไม่แยกกันปฏิบัติ
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นหลังจากเราถือศีลก็คือ เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์เพราะว่าต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกิน แม้จะมีมาวางตรงหน้าเราก็ต้องทน ซึ่งยิ่งเรามีความอยากมากเท่าไหร่ เราก็จะทุกข์มากเท่านั้น การถือศีลนี้เองจะทำให้เราเป็นทุกข์และเห็นทุกข์ไปเรื่อยๆ แต่นี่เองคือการ “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เราจะใช้ความทุกข์นี้แหละในการพิจารณาหาสาเหตุแห่งทุกข์ต่อไปในขั้นตอนของจิตในจิต
ความสุขที่เกิดจากเนกขัมมสิตเวทนา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปราศจากกิเลส ในส่วนของความสุขที่เกิดขึ้นตอนทนไม่ไหวกลับไปกินเนื้อสัตว์นั้นก็เป็นเคหสิตเวทนาซึ่งจะต่างกันออกไป เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะมีสุขแม้จะไม่ได้เสพและจะเกิดขึ้นในจังหวะของการทำลายกิเลสได้
เมื่อทำลายกิเลสได้ความสุขจะสงบลงเป็นอุเบกขา ลักษณะของเนกขัมมสิตอุเบกขาจะแตกต่างกับเคหสิตอุเบกขาอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ จะเรียกว่าคนละโลกก็ว่าได้ โลกหนึ่งเป็นโลกียะ อีกโลกหนึ่งคือโลกุตระ เนกขัมมสิตอุเบกขาเป็นมิติของโลกุตระ ซึ่งจะเป็นความปล่อยวางจากความอยาก สงบเย็น โปร่ง โล่ง สบาย แม้ว่าจะไม่ได้กินผักก็ไม่ทุกข์ แม้จะต้องกินเนื้อก็ไม่ทุกข์ สภาพที่มองเห็นโดยทั่วไปจะคล้ายๆกับคนธรรมดา แต่จะไม่ธรรมดาตรงที่ว่าจะไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในใจอีกเลย แม้จะต้องกินผักไปตลอดชีวิตก็ไม่ทุกข์ เห็นเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ เห็นคนกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ มันจะไม่มีเรื่องอะไรให้ใจเป็นทุกข์หรือขุ่นมัวได้เลย นี่คือสภาวะของเนกขัมมสิตอุเบกขา
การที่เราจะถึงเป้าหมายคือเนกขัมมสิตอุเบกขาได้นั้นต้องเริ่มจากศีล ศีลนั้นคือการเพ่งเล็งเข้าไปที่ความอยากกินเนื้อสัตว์ เข้าไปที่ความติดยึดในเนื้อสัตว์ เพื่อที่เราจะได้ออกจาความอยากกินเนื้อสัตว์ด้วยปัญญา ศีลที่ควรตั้งไว้นั้นคือละเว้น “ความอยาก” ในการกินเนื้อสัตว์ นั้นหมายถึงไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้นทั้งในกาย วาจา ใจ แม้จะเล็กน้อยเพียงเสี้ยวธุลีก็ไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้น นั่นหมายถึงการดับกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างสิ้นเกลี้ยง
…หลักการรับรู้เวทนา
การที่เราจะสามารถรับรู้เวทนาได้ชัดเจนเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองทุกอย่างตามความเป็นจริงแค่ไหน เรามีความจริงใจกับตัวเองมากเท่าไร อยากกินก็รู้สึกว่าอยากกิน เกลียดก็รู้ว่าเกลียด ยอมรับตามตรงว่ายังมีกิเลสเหลืออยู่ตามจริง มีมากก็ยอมรับว่ามาก มีน้อยก็ยอมรับว่าน้อย ไม่ใช่ว่ามีมากแล้วพยายามกดข่มบอกตัวเองไว้ว่าฉันไม่อยาก ฉันไม่อยากแบบนี้จะบรรลุธรรมช้าจนถึงไม่สามารถเข้าใจธรรมใดได้เลยเพราะหากไม่มีความจริงใจต่อตัวเองก็ยากที่จะได้เห็นหน้าตาจริงๆของกิเลส
คนกินมังสวิรัติที่ยึดดีหลายคนมักจะกดข่มความอยากไว้ ทำเป็นมองไม่เห็น ทำเหมือนไม่มี ยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองยังอยาก รู้สึกรังเกียจหากต้องยอมรับการมีอยู่ของความอยากในตัวเอง แต่ถึงจะกดข่มด้วยความคิดเช่นนั้นก็ตาม กิเลสที่มีอยู่ก็ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้ลดลงหรือสลายไปแต่อย่างใด มันจะซ่อนตัวแล้วแอบไว้จนกว่าวันที่จิตใจจะกล้าค้นหามันจริงๆ หรือจนกระทั่งวันที่มันคิดว่าความอยากนั้นแข็งแกร่งพอจะทำลายความเป็นมังสวิรัติได้ วันนั้นแหละคือวันที่มันจะออกมา แม้ว่าจะกดข่มไว้เท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็จะแพ้พลังกิเลสอยู่ดี
ดังนั้นเราจึงควรรับรู้ความทุกข์ สุข เฉยๆ ตามความเป็นจริงโดยไม่เอาความคิด ความรู้ หรือตรรกะใดไปกดข่มความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เองคือกุญแจที่จะไขประตูสู่ร่างจริงของกิเลสเพื่อให้เราได้ต่อสู้และเพียรพยายามต่อไป
3). จิตในจิต
เมื่อเราตั้งศีลและเกิดเวทนาขึ้นในใจแล้ว เช่นเราเกิดความทุกข์เพราะความอยากกินเมนูเนื้อสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า มันเป็นเมนูที่เราเคยชอบ กลิ่นมันช่างเย้ายวนใจ สัมผัสที่เคยเคี้ยว รสที่เคยลิ้มลองมันยังอยู่ในใจ เมื่อเราไม่ได้กินสิ่งที่อยากกินเราจึงเกิดทุกข์
ในขั้นตอนของจิตในจิตคือเอาทุกข์ สุข เฉยๆนั้นมาชำแหละว่าเราเกิดเวทนานั้นเพราะกิเลสตัวไหน เราไม่สามารถทำลายกิเลสได้ด้วยการบอกว่ามันคือกิเลสแล้วตบมันทิ้งด้วยสมถะวิธี แต่ต้องแยกกิเลสออกมาเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ธรรมที่เหมาะกับกิเลสนั้นๆพิจารณาให้ถูกตัวถูกตน
ในกรณีที่ยกตัวอย่างมานั้นจะเห็นว่าเรามีกิเลสหลายตัวรวมอยู่ในความทุกข์นั้นๆ เราทุกข์เพราะเราไม่ได้เสพ แต่ต้องตั้งสติดีๆให้เห็นว่าเรายึดติดกิเลสตัวใดมากที่สุด กิเลสตัวไหนที่อันตรายที่สุด เช่นเห็นหน้าตาของเมนูเนื้อสัตว์ก็ยังเฉยๆ ได้กลิ่นก็ยังเฉยๆ แต่พอคิดถึงรสที่เคยลิ้มลองเท่านั้นแหละ สติหลุดลอยไปเลย เกิดความอยากแล้วก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะอยากกินแต่ฝืนไม่กิน ดังนั้นในกรณีนี้ตัวรสชาติและรสสัมผัสคือกิเลสที่เราควรจะแยกมาจัดการก่อนเป็นอันดับแรก
การที่เราติดรสชาติและรสสัมผัสนั้นเกิดจากกิเลสในหมวดของกามคุณ ๕ การติดรสสัมผัส เช่น ติดความเย็น ร้อน อ่อน แข็งของวัตถุที่เอาเข้าปาก ในกรณีของเนื้อสัตว์ก็จะเป็นความเหนียวนุ่มของเนื้อนั้นๆ และติดรสชาติ เช่น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม เผ็ด ฯลฯ ของเนื้อสัตว์นั้น
เมื่อเราเห็นกิเลสและค้นไปในรากของความยึดมั่นถือมั่นจนเป็นที่มั่นใจแล้วว่า ความรู้สึกนี่แหละคือกิเลสที่เราติดยึด เราก็จะนำสิ่งที่ได้มานั้นไปสังเคราะห์ต่อในกระบวนการของธรรมในธรรม
4). ธรรมในธรรม
เมื่อเราจับตัวกิเลส หรือตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์มาได้แล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดในรสสัมผัสและรสชาติ เราก็จะหาธรรมะที่ถูกที่ควรมาเจรจากับกิเลสเหล่านี้ ให้ตัวเราได้ยอมละหน่ายคลายจากความยึดมั่นถือมั่นจากกิเลสเหล่านี้
เช่นเราอาจจะเลือกเน้นไปในรสสัมผัสก่อนว่า ความอยากกินอยากสัมผัสเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร มีประโยชน์อะไรบ้างถ้าเราจะออกจากสิ่งนี้หรือไม่ติดในสิ่งนี้ ความติดในรสสัมผัสนี่มันก็ไม่เที่ยงใช่ไหม เรากินบ่อยๆมันก็เบื่อใช่ไหม มันไม่ได้สุขทุกครั้งที่กินใช่ไหม แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวตนของเราอีกด้วยเพราะจริงๆแม้เราจะไม่ต้องสัมผัสเนื้อนั้นๆเราก็ยังสามารถได้ความสุขจากการขบเคี้ยวสิ่งอื่นๆ (ในกรณีนี้ใช้เฉพาะต้องการเบี่ยงออกไปหาสิ่งที่เป็นภัยน้อยกว่า) เราติดรสสัมผัสเราไม่ได้ติดเนื้อสัตว์ เพียงแค่เราหาอย่างอื่นคล้ายๆกันมาแทนแล้วพิจารณาประโยชน์ไปเรื่อยๆก็จะทำให้ลดเนื้อสัตว์ได้
รวมทั้งการพิจารณาข้อมูลอื่นๆเสริมไปก็ได้เช่น เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเสริม เอาข้อมูลทางการวิจัยมาเสริม เอาอสุภะหรือภาพจำพวกสัตว์ถูกทรมานหรือสัตว์ตายมาเสริมก็จะเพิ่มพลังในการพิจารณาออกจากกิเลส เพราะตอนนี้เราจับตัวกิเลสได้คาหนังคาเขาแล้ว และมั่นใจว่าเป็นตัวนี้แน่ๆ เราก็ใช้ธรรมะนี่แหละเข้าถล่มสู้กับความยึดมั่นถือมั่นอย่างไม่ต้องยั้งมือได้เลย
ในมุมของการติดรสชาติก็ทำคล้ายๆกันจะขอยกตัวอย่างการเห็นธรรมของการติดรสชาติในกรณีหนึ่ง คือปลาหมึกปิ้งกับเห็ดออรินจิปิ้ง เราอาจจะเป็นคนที่ชอบกินปลาหมึกปิ้ง พอพิจารณากิเลสดีแล้วก็รู้ได้ว่า เราติดใจในรสชาติของปลาหมึกปิ้ง ถ้าปลาหมึกไม่ราดน้ำจิ้มก็ไม่อร่อย ปลาหมึกจะอร่อยหรือไม่อร่อยอยู่ที่ความสดและน้ำจิ้ม และร้านค้าปลาหมึกมักโฆษณาว่าน้ำจิ้มรสเด็ด ตอนนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับความติดรสของตัวเองเท่านี้
จนกระทั่งเมื่อเราได้ลองกินเห็ดออรินจิย่างจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด เราจึงเริ่มไม่แน่ใจว่าเราติดรสน้ำจิ้มหรือติดรสปลาหมึกที่จิ้มน้ำจิ้ม เราจึงลองเปลี่ยนจากปลาหมึกมาเป็นเห็ดออรินจิแล้วจิ้มน้ำจิ้มรสเดิม แล้วเราก็พบว่าเรายังมีความสุขอยู่เหมือนเดิม เราจึงได้ค้นพบว่าเราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องกินปลาหมึกปิ้ง ไม่ต้องเบียดเบียนปลาหมึก แค่ใช้เห็นออรินจิปิ้งมาแทน
การเห็นธรรมในกรณีนี้คือความมั่นใจว่าเราติดน้ำจิ้มไม่ได้ติดปลาหมึก เราจึงเต็มใจที่จะเลิกกินปลาหมึกและหาเห็ดมาแทนปลาหมึกและใช้น้ำจิ้มรสเดิมโดยไม่ต้องพิจารณาธรรมอะไรให้มากมาย นี่เป็นลักษณะการวิเคราะห์จิตในจิตต่อเนื่องมาธรรมในธรรมอีกนิดหน่อยก็จบกระบวน เลิกกินปลาหมึกปิ้งได้อย่างสบายใจ เพราะรู้ชัดแจ้งในวิญญาณว่าไม่ได้ติดปลาหมึกปิ้งแต่ติดน้ำจิ้ม ก็เลยไม่ต้องไปฆ่าความอยากกินปลาหมึกปิ้ง แต่ก็ต้องกลับไปทำโจทย์ของความอยากในรสชาติของน้ำจิ้มอีกทีหนึ่ง หรือจะเก็บความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดก่อนแล้วค่อยกลับมาจัดการเรื่องการติดรสชาติก็ยังไม่สาย เพราะการกินเนื้อสัตว์นั้นบาปกว่าและหยาบกว่าการติดรสของอาหาร
ในเรื่องของความติดยึดในเนื้อสัตว์นั้นยังมีการติดได้ในกิเลสอีกหลายมิติ เช่น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา และในหลายลีลาของกิเลสเช่น โลภ โกรธ หลง การวิเคราะห์หรือหาสาเหตุในขั้นตอนจิตในจิตก็จะต่างกันออกไป การใช้ธรรมมาแก้ในขั้นตอนของธรรมในธรรมก็จะต่างออกไปเช่นกัน
….แต่ถึงแม้ว่าเราจะทุ่มเทสุดชีวิตสุดปัญญาก็ตาม กิเลสอาจจะไม่ได้ตายหรือสลายหายไปง่ายๆ ซึ่งการพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็เป็นเรื่องธรรมดา ถึงเราจะเพียรอย่างเต็มที่ก็แค่อาจจะทำให้กิเลสลดกำลังหรืออ่อนแอลงไปบ้างเท่านั้น แต่เราก็จะไม่ยอมแพ้ เพียรพยายามต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ใช้สติปัฏฐานตั้งแต่กาย เวทนา จิต ธรรม นี่แหละ ตรวจจับกิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งกิเลสจะยอมถอยและตายไปเอง
ผู้ที่เข้าใจกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วจะไม่กลัวการกระทบของกิเลส จะไม่ผลักไส ไม่กดข่ม ไม่ตบกิเลสให้ดับลงในทันทีเพราะรู้ดีว่าการดับด้วยสมถะวิธีนั้นไม่ยั่งยืน เป็นเพียงการกดข่มเท่านั้น แต่จะบุกตะลุยเข้าสู้กับกิเลส เจอกิเลสที่ไหนก็จับมาพิจารณาได้หมด แสวงหาผัสสะที่จะมาเป็นอาหารของตนเอง ถ้ายิ่งเก่งก็จะยิ่งกล้าในการเข้าไปรวมหมู่รวมกลุ่มกับสังคม เป็นนักมังสวิรัติที่ชำแหละและล้างกิเลสเป็น จึงต้องใช้สังคมและมิตรสหายเป็นเครื่องมือหรือเหตุการณ์ที่จะเข้ามากระทุ้งให้เห็นกิเลส ด้วยสติปัฏฐาน จับกาย ดูเวทนา วิเคราะห์จิต สังเคราะห์ธรรม ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะเก็บสะสมความเจริญไปได้เรื่อยๆจนวันหนึ่งกิเลสหมดก็จะสามารถรู้ได้เองจากการทดสอบความอยาก หรือการทดสอบการหลุดพ้นจากกิเลสด้วยใจของตัวเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
19.12.2557
สวยสมัยนิยม
สวยสมัยนิยม
…ความสวยงามที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัยตามกิเลสของคน
ในแต่ละยุคสมัยนั้นคนเรามักมีนิยามความสวยต่างกันไป เช่นยุคเรเนซองส์เขาก็มักจะมองผู้หญิงอวบอ้วนสมบูรณ์ว่าสวย แต่ในยุคสมัยนี้กลับไม่คิดเช่นนั้น การที่เรามองและวิจารณ์ไปว่าสิ่งใดสวยหรือไม่สวย น่าดูหรือไม่น่าดูนั้น มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนอย่างมาก
เช่นในยุคสมัยหนึ่งของจีน นิยมใส่รองเท้าดัดเท้าให้เล็ก โดยมีเหตุผลต่างๆนาๆ ทำให้เชื่อว่าเป็นสิ่งที่สวยและดูดี เมื่อมีคนคิดว่าสวยก็กลายเป็นแฟชั่น ค่านิยม หลายคนทำตามด้วยความหลง หลงไปว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้มีคุณค่า สิ่งนี้สังคมยอมรับ ทั้งๆที่เป็นเรื่องของกิเลสที่ปรุงแต่งกันไปเอง หากคนสมัยนี้มองกลับไปแล้วก็คงต้องสงสัยว่าทำกันไปได้อย่างไร ทั้งลำบาก ทั้งเจ็บ ทั้งทรมาน และที่สำคัญ มันไม่เห็นสวยตรงไหนเลย
นี่คือความคิดที่ผิดยุคผิดสมัย หากเราคิดว่าไม่สวยในสมัยนั้น ณ ที่ตรงนั้นของจีน เราก็จะเป็นคนตกยุค แต่ถ้าใครมาทำสิ่งนั้นในสมัยนี้ก็จะกลายเป็นคนหลงยุค
ในยุคนี้ก็มีความสวยที่สมัยนี้นิยมเหมือนกันในกรณีเรื่องเท้าในยุคนี้ก็มีเติมแต่งกันด้วยการใส่รองเท้าส้นสูง ที่เพิ่มความสูงและความสวยงาม รวมทั้งการทาเล็บเท้าด้วยสีต่างๆ ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ไร้สาระและไม่จำเป็นทำให้ชีวิตลำบาก เสียเงิน เสียสุขภาพและเสียเวลา แต่คนที่หลงว่ามันทำให้สวย หลงในความสวยก็ยังยินดีจะหา จะเอาสิ่งเหล่านั้นเขามาในชีวิตตนเหมือนสมัยที่จีนทำการดัดเท้าเพราะเชื่อว่ามันสวย
ยังมีความเข้าใจเรื่องความสวยอีกมากมายในยุคนี้ที่เป็นเรื่องตลกที่ทุกคนให้ความสำคัญอย่างจริงจังจนเรื่องไร้สาระกลายเป็นเรื่องจำเป็น เช่นการแต่งหน้าแต่งตาที่ดูจะสิ้นเปลืองแต่คนก็ยังยอมเอาเงินไปซื้อ การยอมฉีดสารเคมีต่างๆเพื่อให้ได้มาซึ่งความแต่งตึง การศัลยกรรมที่ดูแล้วยังไงก็น่าจะเจ็บปวดแต่ทำไมคนถึงยอมแลก หรือแม้แต่การแต่งตัวจนโป๊จนเกือบเปลือยสร้างค่านิยมโชว์เนื้อหนังซึ่งจริงๆ เนื้อหนังก็เป็นของสามัญที่ทุกคนก็มีแต่กลับสร้างให้เป็นเรื่องแปลกและน่าดู แม้จะดูเพี้ยนสุดๆแต่คนในยุคนี้ก็ยังทำกันไปได้
หากคนในอนาคตมองย้อนกลับมาก็อาจจะสงสัยและงงๆว่าคนในยุคนี้ทำไปได้อย่างไร ทั้งการแต่งหน้า ทั้งศัลยกรรม ทั้งการล่อลวงด้วยเนื้อหนัง ท่วงท่า ลีลาทั้งหลาย พวกเขาเป็นสุขกับของหยาบ กิเลสหยาบอย่างนี้ได้อย่างไร ทำไมคนยุคนี้ถึงได้ปรุงแต่งกิเลสกันออกมาได้แบบนี้ นี่คือสภาพที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่มีสิ่งใดคงทนถาวร แม้แต่เรื่องของความเชื่อในเรื่องความสวยงาม
…เราหลงในความสวยนั้นอย่างไร?
คนส่วนใหญ่นั้นหลงมัวเมาไปกับความสวยงามตามยุคสมัย เชื่อปักใจว่าสิ่งเหล่านั้นคือความสวย คือคุณค่า คือความสุข สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่กิเลสหลอก เรียกว่าเป็นอุปาทานหมู่ ซึ่งหลายคนก็ยินดีที่จะแต่งหน้า แต่งตัว ฉีดสารพิษ รวมไปถึงศัลยกรรมตกแต่งให้ร่างกายตัวเองเป็นไปตามความนิยมในยุคสมัยนั้น
กิเลสที่หลอกเราอยู่นั้นหากกล่าวกันกว้างๆก็คืออวิชชา แต่การรับรู้ว่ามันคือความไม่รู้หรือความหลงนั้นไม่สามารถช่วยให้เราเห็นกิเลสได้ ซึ่งจะยกตัวอย่างของรูปแบบและกิเลสที่ฝังอยู่ในความอยากสวยอยากงามกันด้วยกิเลสใน 4 หมวดหมู่ นั่นคือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม และอัตตา
อบายมุข … เป็นความหลงในความสวยในระดับมัวเมา เมามายไปกับการทำให้เกิดความสวยเช่น คนที่เสพติดศัลยกรรม เสพติดการแต่งหน้า ต้องซื้อเสื้อผ้าทุกอาทิตย์ ต้องไปสปา ต้องไปเข้าคอร์สเสริมความงาม เหล่านี้เป็นความหลงกับความสวยในระดับหยาบ ในระดับที่ต่ำ อยู่ในขุมนรกที่ลึกที่สุด ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา
กามคุณ … คือการหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทั่วไป ซึ่งในกรณีของความงามนั้นก็คือผิวงาม เสียงงาม กลิ่นงาม เอาง่ายๆว่าโดยรวมขอให้ดูดีไว้ก่อน ผู้ที่ติดกิเลสในระดับของกามนั้นจะมัวเมาน้อยกว่าระดับอบายมุข ซึ่งจะไม่เน้นการเสริมความงามที่ต้องทรมาน หรือเติมแต่งจนลำบาก แต่ยังมีความอยากแต่ง อยากสวย ซึ่งถ้าบำรุงบำเรอกิเลสมากๆ ก็จะเสื่อมลงไปสู่อบายมุขได้เช่นกัน
โลกธรรม … คือการหลงไปในโลก ในเรื่องของโลก เช่นสังคมเขาว่าต้องสวยแบบนี้ ต้องงามแบบนี้ ต้องหุ่นดีแบบนี้ก็เชื่อตามเขา เขาว่าอย่างไรก็ตามเขา พอไม่เป็นเหมือนอย่างเขาก็จะไม่มีความมั่นใจ คนที่ถูกกิเลสในระดับโลกธรรมจูงไปนั้น จะไม่มีความอยากสวยเป็นส่วนตัวสักเท่าไรนัก แต่ความกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าไม่สวยนั้นยังรุนแรงอยู่ โลกธรรมยังเป็นแรงผลักดันให้กิเลสโตไปถึงขั้นอบายมุขได้เช่นกัน เพราะคนที่สนใจเสียงคนรอบข้างได้ ก็อาจจะโดนสังคมพาลงไปสู่อบายมุขได้เช่นกัน
อัตตา … คือรากแท้ของกิเลส คือความหลงว่าต้องสวย หลงว่าเกิดมาแล้วต้องงาม ต้องดูดีจึงจะมีคุณค่า รวมถึงความรู้สึกมั่นใจลึกๆว่าฉันสวย ฉันดูดี ฉันมีคนนิยม คือมีตัวเราของเรา ความรู้สึกเหล่านี้ทั้งหมดคือสิ่งที่ยึดไว้ให้ตัวเรานั้นยังแสวงหาการเติมเต็มความสวยความงามให้คงอยู่ตลอด ซึ่งแท้จริงแล้วกิเลสนี้คือต้องการการยอมรับ ต้องการความสนใจ ต้องการมีตัวตน พอมีต้องการมีตัวตนก็เลยสร้างตัวตน เกิดมาเป็นคนสวย แม้ไม่สวยก็จะทำให้สวย จนยึดเป็นตัวเป็นตนต่อไปอีกที ยึดมั่นถือมั่นกันไม่ปล่อยไม่วาง ก็เลยต้องเกิดมาเสพความสวยที่ตัวเองยึดไว้กันไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว
…เราจะออกจากความหลงนั้นอย่างไร
ความหลงในความสวยนั้น หากเรายังไม่เห็นสิ่งนั้นว่าเป็นกิเลส ไม่เห็นว่าเป็นภัย ยังคงเห็นว่าการปรุงแต่งให้ความสวยนั้นคงอยู่หรือสวยยิ่งขึ้นเป็นความสุข เป็นความจำเป็นในชีวิต ก็จะไม่สามารถออกจากกิเลสได้
ในขั้นแรกต้องศึกษาให้รู้จริงด้วยใจตัวเอง ยอมรับด้วยใจตัวเองว่าความอยากสวยเหล่านี้ล้วนเป็นกิเลส ล้วนเป็นสิ่งเศร้าหมอง ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และไม่มีตัวตนอยู่จริง สิ่งที่เราเห็นทั้งหมดนั้นคือตัวตนที่เราสร้างขึ้นมาเองทั้งนั้น จริงๆแล้วความสวยไม่มีอยู่ เหมือนกับความสวยที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั่นแหละ
เมื่อเห็นความอยากสวยนั้นเป็นกิเลสก็ให้เพียรพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าความอยากสวยนั้นเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นประโยชน์อย่างไรหากจะทำลายความอยากสวย จะมีกรรมอะไรบ้างที่เราต้องรับหากยังยึดติดกับความสวยเหล่านั้น
เพียรพยายามไปจนกระทั่งปัญญานั้นเต็มรอบก็จะสามารถดับกิเลสนั้นๆได้เอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากเราได้เพียรพิจารณาอย่างถูกตัวถูกตรงกิเลส คือติดกิเลสตัวไหนก็พิจารณาตัวนั้น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม พิจารณาไล่มาเรื่อยๆจะจบที่อัตตาเอง
เมื่อพิจารณาจนหมดความยึดมั่นถือมั่นในความสวย ก็จะสามารถออกจากนรกแห่งความสวย หลุดจากวงจรของความสวยสมัยนิยม ไม่ต้องทุกข์เพราะความไม่สวย ไม่ต้องมารับกรรมจากความสวย ไม่ต้องสนใจเรื่องไร้สาระเหล่านี้อีกต่อไป เมื่อไม่มีเหตุให้ทุกข์ก็ไม่เป็นทุกข์ และความหมดทุกข์นั่นเองก็คือความสุขที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับแล้ว
– – – – – – – – – – – – – – –
20.11.2557
รักให้เป็นสุข
รักให้เป็นสุข
….การทำให้ใครมารักนั้นไม่ยาก แต่การจะรักใครสักคนนั้นยากมาก
คงจะปฏิเสธได้ยากหากจะบอกว่า “ความรัก” นั้นคือสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของแต่ละชีวิต ความรักนั้นมีรูปแบบและมิติที่หลากหลาย แต่ถ้าหากแบ่งออกเป็นสองส่วนก็จะได้เป็นรักคนอื่นและรักตัวเอง ในบทความนี้จะมาขยายกันในหัวข้อรักให้เป็นสุขในเรื่องของการรับรักและการให้รัก
….การทำให้ใครมารักนั้นไม่ยาก
เป็นเรื่องจริงแน่แท้หากจะบอกว่าการทำให้ใครสักคนมารักนั้นไม่ยาก แต่รายละเอียดนั้นกลับไม่มีสิ่งใดจริงเลย การจะทำให้ใครสักคนมารัก มายอมรับ มาสนใจ มาลุ่มหลงในตัวเรานั้นก็เพียงแค่สนองกิเลสให้สาสมใจของเขาเท่านั้นเอง
เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายที่สุดและเป็นเรื่องที่ลวงโลกมากที่สุดที่คนหลงติดหลงยึดกันข้ามภพข้ามชาติ เพราะในความเป็นจริงแล้ว “เราไม่มีวันสนองกิเลสของใครได้ตลอดไป” แม้วันนี้เราจะสนองได้ แต่วันหนึ่งความไม่เคยพอของกิเลสก็จะทำให้สภาพของความรักลวงๆที่เกิดจากความเสพสมใจนั้นเปลี่ยนแปลงไปหรือที่เรียกกันว่า”ไม่เที่ยง”
เราไม่มีวันสนองกิเลสใครให้เขาสมใจได้ตลอดไป แม้กระทั่งตัวเราก็ตาม เราเองไม่มีวันที่จะสนองกิเลสตัวเองได้ตลอดไป วันหนึ่งเราจะต้องพบเจอกับการพราก การจากไปจากสภาพที่เคยยินดี ดังประโยคที่ว่า เมื่อเกิดมาแล้ว การแก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา กิเลสก็เช่นกันเมื่อเกิดความอยากขึ้นมาแล้วสภาพที่ถูกพรากจากความเสพสมใจนั้นเป็นเรื่องธรรมดา
ไม่ใช่ว่ากิเลสนั้นตาย แต่เป็นความสามารถในการสนองกิเลสนั้นตาย ดังเช่นความรัก แม้วันนี้เราจะสามารถสนองกิเลสคนที่เราเลือกมาเป็นคู่ด้วยคำหวาน คำสัญญา ความมั่นคง ความมั่งคั่งด้วยฐานะ ชื่อเสียง การงาน หรือแม้กระทั่งความฝัน แต่วันหนึ่งเราก็ต้องเสียความสามารถที่จะสนองกิเลสเหล่านี้ไป เหลือทิ้งไว้แต่คนมีกิเลสสองคนที่โหยหาอยากเสพไม่เคยพอ
และการที่เราเสนอสิ่งเหล่านี้เพื่อได้ความรักมานั้นเปรียบเสมือนการซื้อ ซึ่งไม่ใช่การซื้อด้วยเงินแต่เป็นการล่อซื้อด้วยการสนองกิเลส จนกว่าอีกฝ่ายจะยอมใจอ่อน น้ำลายไหล ยอมขายตัวมาเพื่อเสพกิเลสที่อีกฝ่ายล่อ
รักที่เกิดจากการบำรุงบำเรอกิเลสจึงไม่ต่างจากการซื้อขายตัว แต่เป็นการซื้อขายที่ดูดีในแบบที่สังคมยอมรับหรือจะเรียกให้ถูกว่า “หลงไป”และวันใดวันหนึ่งเมื่อการซื้อขายจ่ายค่าบำรุงไม่เป็นไปดังที่คาดหวังก็จะเกิดการบาดหมาง การเลิกรา หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆก็ตามเกิดขึ้น
คนบางคนนั้นมีคุณสมบัติในการสนองกิเลสคนอื่นติดมาตั้งแต่เกิดเช่น ความสวยความหล่อ และด้วยความหลงระเริงไปตามโลกว่าต้องแต่งตัวดีบ้าง ต้องมีคู่ครองบ้าง ทำให้เขาหรือเธอใช้กามคุณที่มีติดตัวมาแต่กำเนิดนั้นล่อลวงเหล่าคนที่หลงในกิเลสให้เข้ามาติดกับดักเหมือนดังเหยื่อติดเบ็ดที่เขาใช้ล่อปลา คนที่หลงไปในรูป หลงไปในกามคุณก็มักจะยอมตกเป็นเหยื่อเพื่อที่จะได้เสพความสวยความหล่อเหล่านั้น
ความรักที่ดีนั้นย่อมไม่เกิดจากการล่อลวงด้วยกิเลส แต่เป็นการยอมให้กับคุณงามความดี ซึ่งจะตรงข้ามกับการสนองกิเลส รักแบบนี้มีอยู่ไม่มากนัก และโดยมากก็ยังเป็นรักที่เห็นแก่ตัว เพราะยังมีความอยากเอามาครอบครองเอามาเป็นของตัวของตนอยู่นั่นเอง
การทำให้ใครสักคนมารักด้วยการสนองกิเลส หรือการทำให้ใครสักคนมารักด้วยความดีนั้น มีสภาพไม่เที่ยงทั้งสองกรณี แม้รักนั้นจะใสสะอาดบริสุทธิ์แค่ไหน แต่การที่รักนั้นจะอยู่ยั่งยืนตลอดการไม่แปรเปลี่ยนนั้น เป็นไปไม่ได้เลย
ความรักนั้นไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม หากมันไม่เที่ยงแล้วผู้ที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรักนั้นจะไม่มีวันพบกับความสุขแท้ได้เลย คงจะได้พบเพียงสุขลวงๆที่ล่อให้เขาและเธอได้เสพติดความรักที่เหมือนกับมายานั้นเพื่อได้รับทุกข์ทรมานแสนสาหัสตลอดไป
….แต่การจะรักใครสักคนนั้นยากมาก
การจะรักใครสักคนนั้น ในความเข้าใจสามัญธรรมดาก็มองว่ามักจะเป็นเรื่องง่ายเพียงแค่เราพบคนที่เราถูกใจ คนที่พร้อมจะทุ่มเท เราก็มักจะเรียกสิ่งนั้นว่าความรักได้แล้ว แต่ชื่อของมันจริงๆก็คือ “ความหลง”
เรามักถูกทำให้หลงเข้าใจผิดเกี่ยวกับความรัก ว่าความรักเป็นสิ่งที่ต้องได้รับมา ได้มาเสพ ได้มายึด จนกระทั่งไปหาคู่ หาแฟน หาคนมาแต่งงาน มีครอบครัวให้ชีวิตต้องพบกับความลำบากทุกข์กายทุกข์ใจแบกเคราะห์กรรม แบกกิเลส แบกของตัวเองยังไม่พอยังต้องลำบากไปแบกของคู่ ของลูกหลาน ของญาติมิตรอื่นๆอีกด้วย ทั้งหมดนี้เกิดจากความหลงผิดไปว่าความรักเป็นเรื่องของการมีคู่ เป็นเรื่องของการสมสู่ เป็นเรื่องของคนสองคน เป็นเรื่องของครอบครัว ฯลฯ
ความรักนั้นมีรายละเอียดและความยิ่งใหญ่มากกว่าการได้มาเสพความเป็นคู่ การมีแฟน หรือการแต่งงานมากนัก เรามักมองความรักกันได้แค่ในมุมแคบๆ รักกันอยู่แค่วงแคบๆ
แม้แต่การรักในวงแคบนั้นก็ยังเป็นความรักที่ผิด ผิดไปจากทางแห่งความสุขแท้ การจะรักใครสักคนแล้วสนองกิเลสเขา หรือเอาเขามาบำเรอกิเลสตัวเองเพื่อความสุขลวงนั้นทำได้ง่าย แต่ความรักที่จะเป็นไปเพื่อความสุขแท้นั้นทำได้ยากยิ่ง
เพราะรักที่เป็นไปเพื่อความสุขแท้นั้น ต้องเกิดจากการไม่สนองกิเลส เพราะกิเลสเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ ยิ่งสนองกิเลสเท่าไหร่ก็จะยิ่งห่างไกลจากความสุขแท้เท่านั้น
สุขที่ได้จากการเสพกิเลสนั้นคือสุขลวง สุขที่ไม่เที่ยง สุขที่แปรผันไปตามโลก เป็นสุขแบบโลกๆ ไม่ยั่งยืน ไม่ถาวร ทำให้เป็นทุกข์ ดังนั้นหากจะรักใครสักคนอย่างแท้จริงนั้นต้องให้เขาได้พบกับความสุขแท้และยั่งยืนนั่นคือการลดกิเลส
การลดกิเลสไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องที่จะทำความเข้าใจหรือคิดคำนวณเอาเองได้ แต่ต้องใช้การเพียรพยายามศึกษาและปฏิบัติ และต้องทำอย่างถูกต้องถูกตรง โดยมีครูบาอาจารย์ที่มีสัจจะแท้อยู่ด้วย ไม่เช่นนั้นสิ่งที่เข้าใจว่ากิเลสลด อาจจะเป็นการเพิ่มกิเลสก็เป็นได้
ความรักที่เจริญจากการลดกิเลสนั้น จะเป็นความรักที่ยั่งยืน นำมาซึ่งความสุขแท้ จะเป็นความรักที่ค่อยๆปล่อย ค่อยๆคลายจากความยึดมั่นถือมั่นด้วยความยินดี ยินดีที่จะได้ให้แม้จะไม่มีอะไรตอบแทน แม้จะไม่มีคำขอบคุณ แม้จะไม่มีใครเห็นคุณค่า แม้จะไม่มีโอกาสได้แสดงถึงความรักนั้นก็ยังยินดี เพราะรักที่แท้คือการให้โดยไม่เอา ไม่เอาอะไรเลย มีแต่จิตที่คิดจะให้อยู่ฝ่ายเดียว ให้จนหมดตัวหมดตน เป็นการให้ที่เป็นบุญเป็นกุศลที่สุดในโลก
แต่การจะให้ความรักแท้ที่นำมาซึ่งความสุขแท้ ที่เรียกว่าการลดกิเลสนั้นไม่ใช่ว่าจะให้ได้ทันที เพราะสิ่งที่เราจะสามารถให้ได้คือสิ่งที่เรามี หากตัวเราเองไม่มีการลดกิเลส ไม่มีความรู้ในการลดกิเลส ไม่มีวิธีการลดกิเลสอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะให้ หรือถ่ายทอดวิธีสร้างความสุขแท้ให้กับผู้อื่นได้
การที่เราจะเป็นผู้มีรักแท้นั้นจึงจำเป็นต้องทำตนให้เป็นผู้ลดกิเลสได้จริง ทำลายกิเลสได้จริงๆ จึงจะเรียกได้ว่ามีของจริง เมื่อมีของหรือมีธรรมนั้นในตัวจริงๆก็จะสามารถให้ความรู้ ความเข้าใจ วิธีการเหล่านี้กับผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้เราสามารถรักใครได้จริงๆ รักได้แบบไม่หวังอะไร รักได้อย่างบริสุทธิ์ รักได้อย่างไม่มีโทษ
เรามักเข้าใจผิดว่าเรานั้นมีรักแท้ แต่ถ้าสังเกตดีๆ รักของเราที่มีให้กับคนอื่นนั้น คือรักที่เห็นแก่ตัว เป็นรักที่จะเอาบางสิ่งบางอย่างมาเสพ เช่นรักแฟน ก็อยากเสพทั้งการสมสู่ ทั้งการดูแลเอาใจใส่ ทั้งหน้าตาทางสังคม ทั้งชื่อเสียงลาภยศ ,รักพ่อแม่ ก็เพราะพ่อแม่เอาใจเลี้ยงดู , รักลูก ก็เพราะมองลูกเป็นของของตน เรามีการเสพบางสิ่งบางอย่างโดยใช้นามแห่งความรักเสมอ เรียกได้ว่ามีผลประโยชน์กับความรักอยู่นั่นเอง
รักที่แท้นั้นจะสามารถพิสูจน์ได้ในยามที่สภาพสุขที่เคยเสพได้พรากจากไป เช่นแฟนที่เคยคิดว่าจะดูแลเรา วางแผนกันว่าจะแต่งงานในเร็วๆนี้ แต่มาประสบอุบัติเหตุเป็นอัมพาตเสียก่อน เรายังจะสามารถที่จะรักหรือให้ได้โดยไม่คิดจะเอาอะไรอยู่รึเปล่า เมื่อสิ่งที่เราเคยได้เสพหายไป เรายังจะยินดีให้โดยที่ตัวเองไม่ได้รับอะไรกลับคืนมารึเปล่า
ผู้ที่สามารถมีความยินดีที่จะให้ได้แม้จะไม่ได้รับอะไรเลย จะเป็นผู้ที่ได้รับที่แท้จริง ได้รับโอการในการให้ที่มีคุณค่า เป็นผู้ที่มีรักแท้ เป็นรักที่เสียสละ ไม่ครอบครอง ไม่แสวงหา ไม่ผลักไส ไม่ดูดดึง ไม่ได้รักเพราะมีผลประโยชน์ แต่รักเพราะเข้าใจว่าความรักนั้นเป็นสิ่งที่ดี
ผู้ที่สามารถรักใครได้โดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่เอาสิ่งใดมาเสพอีก จะเป็นผู้ที่สามารถรักใครก็ได้ในโลก รักได้ทั้งคนสัตว์และสิ่งอื่นๆ เป็นความรักที่นำมาแต่ความสุข รักกันข้ามภพข้ามชาติ ข้ามความลำบากทุกข์ทรมานแสนสาหัสก็เพื่อจะได้มอบความรักแก่คนอื่น
เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าได้ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงความรักที่ทนทุกข์ทรมาน บำเพ็ญเพียรอยู่กว่าสี่อสงไขยกับหนึ่งแสนกัป เพื่อที่จะส่งต่อความรัก หรือการให้วิธีทำลายกิเลสซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ นำมาซึ่งความสุขแก่จิตวิญญาณดวงหนึ่งอย่างแท้จริง
เรายังไม่ต้องทำถึงขนาดพระพุทธเจ้าหรอก เพียงแค่หัดรักให้เป็น การรักเป็นคือการรักให้มีความสุข การมีความสุขแท้เกิดจากการลดกิเลส นั่นก็คือถ้าเราพากันลดกิเลส เราก็จะรักกันเป็น รักคนอื่นได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่รักตัวเองโดยใช้คนอื่นมาสนองความอยากโดยอ้างว่าเป็นความรักอย่างในทุกวันนี้
– – – – – – – – – – – – – – –
19.11.2557
คู่มือมังสวิรัติวิถีพุทธ
คู่มือมังสวิรัติวิถีพุทธ
ในกลุ่มของมังสวิรัติวิถีพุทธ เราจะใช้การฝึกและปฏิบัติไปในแนวทางของศาสนาพุทธ คือเพื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ เพราะเป้าหมายของการเป็นมังสวิรัติในความหมายของมังสวิรัติวิถีพุทธ คือผู้ที่ไม่มีความอยากกินเนื้อสัตว์หลงเหลืออยู่ในจิตวิญญาณเลย
เมื่อเราพูดถึงเรื่องของการกำจัดความอยาก การละความอยาก หรือการทำลายกิเลสนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ความรู้และความเข้าใจในศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือ เป็นกระบวนการ เป็นเครื่องตรวจสอบ ฯลฯ
ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นต้องเรียบเรียงธรรมะเข้ากับการกินมังสวิรัติ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับกลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมด้วยการกินมังสวิรัติหรือ “มังสวิรัติวิถีพุทธ” ด้วยองค์ความรู้ใน 9 หมวดหมู่ดังนี้
1 ). ทาน ศีล ภาวนา… เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ
การเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมในมังสวิรัติวิถีพุทธ ต้องเริ่มตามลำดับจากการรู้จักการให้ทาน การถือศีล ไปจนกระทั่งการภาวนา
การให้ทานที่รู้กันโดยทั่วไปนั้นคือการทำบุญทำทาน การสละสิ่งของ ในกรณีเริ่มต้นก็จะเป็นการทำทานด้วยอาหารมังสวิรัติ ส่งเสริมการกินมังสวิรัติ ให้ความรู้มังสวิรัติกับคนอื่น แต่ทานที่จะให้ผลมากนั้นคืออภัยทาน คือทานที่ไม่มีภัย เป็นทานที่สละกิเลส สละความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ออกไป โดยใช้กระบวนการของการถือศีล และภาวนา
การถือศีลคือความตั้งมั่นที่จะลด ละ เลิก การเสพ การติดการยึดความสุขจากการกินเนื้อสัตว์ อย่างจริงจังในช่วงใดช่วงหนึ่งหรือตลอดไปการถือศีลมีหลายลักษณะ เช่น การถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น ,การถือศีลเหยาะแหยะ , การถือศีลเพื่อฆ่ากิเลส การถือศีลหรือเข้าใจศีลแต่ละแบบเป็นไปตามบุญบารมีที่แต่ละคนได้สะสมมา
ศีลเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้เห็นกิเลส ให้เห็นว่ายังมีบาป บาปคือการสะสมกิเลส การที่ไม่ถือศีลก็เหมือนคนที่ทำบาปแต่ไม่รู้ว่าบาป บาปนั้นมีอยู่เพียงแต่ไม่เห็น
การภาวนาคือการทำให้เกิดผลเจริญ เป็นการพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ความอยากกินเนื้อสัตว์นั้นเป็นกิเลสที่หยาบ ร้าย สร้างทุกข์ โทษ ภัยผลเสียอย่างไรโดยเริ่มเรียนรู้สุขจากความอยากเสพ ทุกข์จากความอยากเสพ และวิธีดับทุกข์คือการล้างความอยากเสพนั้น
ผู้ที่จะเริ่มเข้าสู่การปฏิบัติมังสวิรัติวิถีพุทธควรจะเริ่มเรียนรู้จากทาน ศีล เจริญมาจนถึงภาวนา การจะรู้และเข้าใจการภาวนาได้นั้น เกิดจากการที่เราได้ปฏิบัติทานและศีลมาด้วยบุญบารมีที่เต็มรอบ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงภาวนาได้ บางคนติดอยู่ที่ระดับทาน บางคนติดอยู่ที่ระดับศีล สามารถสังเกตได้จากเขาเหล่านั้นไม่ยินดีประพฤติธรรมที่สูงกว่า เจริญกว่า ดังนั้นใครอยู่ในฐานใดก็ควรจะปฏิบัติตามฐานของตน เป็นกรรมฐาน เป็นฐานะตามกรรมของตัวเอง
2 ). ศีล สมาธิ ปัญญา… เป็นกระบวนการปฏิบัติ
ศีล สมาธิ ปัญญานั้นเป็นการปฏิบัติที่เป็นไปในทางเดียวกัน ไม่แยกจากกัน ปฏิบัติอย่างสอดคล้องกัน ไม่มุ่งเน้นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ผลักไสสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ปฏิบัติไปพร้อมๆกัน เป็นองค์ประกอบเดียวกัน
เริ่มจากการปฏิบัติศีล ศีลของมังสวิรัติวิถีพุทธก็คือ การละเว้นจากการเบียดเบียน ซึ่งเป็นศีลข้อ ๑ ที่ให้ละเว้นการฆ่าสัตว์ แต่เป็นศีลที่อยู่ในระดับของอธิศีล คือละเอียดกว่าทั่วไป ยากกว่าทั่วไป เพราะนอกจากเราจะไม่ฆ่าแล้ว เรายังไม่เบียดเบียนด้วย และเรายังต้องมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายด้วย สภาวะเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะคิดเอาได้ แต่ต้องเกิดจากการปฏิบัติศีล อย่างมีสมาธิ จนเกิดปัญญา
การตั้งศีลนั้นเริ่มจากมีปัญญา เข้าใจถึงประโยชน์ของศีล หากไม่มีปัญญาก็จะไม่ยินดีในการถือศีล เมื่อถือศีลแล้วจึงปฏิบัติศีลนั้นด้วยความตั้งมั่น มั่นคงในศีล มีสมาธิ มีสติ มีขันติ เพื่อดำรงให้ศีลไม่ขาด ไม่ด่างพร้อย ใช้ปัญญาพิจารณาโทษของการมีความอยากเสพเนื้อสัตว์ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปัญญาที่เป็นมรรค กลายเป็นปัญญาที่เป็นผลเจริญ คือเข้าใจได้ตามจริงโดยไม่มีกิเลสมาปนเปื้อนว่า ความอยากเสพเนื้อสัตว์ มีทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย อย่างไร
เมื่อปฏิบัติศีล ด้วยสมาธิ และมีปัญญาแล้ว ผลสุดท้ายที่ได้คือมีสภาวะของศีลในจิตใจอย่างเป็นปกติ ถือศีลได้ปกติ ถือเหมือนไม่ได้ถือ มีอยู่แต่ไม่ได้ถือ ไม่ลำบากในการมีศีล เหมือนสิ่งที่รวมเข้าไปในวิญญาณ มีความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์เป็นเรื่องปกติในชีวิต และมีปัญญาในการหลีกหนีสถานการณ์ที่ต้องไปกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีศิลปะ
3 ). สมถะ วิปัสสนา… เป็นแนวทางปฏิบัติ
การปฏิบัติธรรมนั้น จำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องของสมถะ วิปัสสนาด้วย เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เราไปสู่จุดหมายได้ง่ายขึ้น
สมถะ คืออุบายทางใจ โดยทั่วไปจะเป็นการฝึกจากการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ซึ่งโดยหลักของสมถะแล้ว เป็นการกำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง จุดใดจุดหนึ่ง เราสามารถประยุกต์สมถะเข้ากับชีวิตประจำวันได้ เช่น การทำอาหาร การล้างผัก การหั่นผัก หรือกิจกรรมที่เป็นไปในลักษณะซ้ำๆ มีสมาธิอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการฝึกสมถะทั้งสิ้น
สมถะ นี้คืออุปการะของการวิปัสสนา เป็นส่วนเสริมพลังให้กับการวิปัสสนาได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มพลังสติ พลังสมาธิ ที่ช่วยในการกดข่มความอยาก ดับความคิดที่ฟุ้งซ่านได้ดียิ่งขึ้น ผู้ที่ต้องการบรรลุธรรมไวก็จะทำสมถะไปควบคู่กับการวิปัสสนา
วิปัสสนา คืออุบายทางปัญญา เป็นการพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง เมื่อเรามีความอยากเสพเนื้อสัตว์อยู่ เราก็จะมีความลำเอียงไปเพราะรักและหลงในเนื้อสัตว์ วิปัสสนาจะเข้ามาแก้ไขความเห็นผิดในจุดนี้
การทำวิปัสสนานั้นกระทำโดยใช้พื้นฐานของการถือศีลกินมังสวิรัติให้ได้เห็นกิเลส เมื่อเราถือศีลเราจะเห็นทุกข์จากกิเลส คือความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ชัดเจน เมื่อเห็นดังนั้นจึงพิจารณาทุกข์จากความอยากเสพเนื้อสัตว์ เช่นทุกข์เมื่อไม่ได้กินและทุกข์เมื่อไม่ได้เสพเนื้อที่อร่อยสมใจ
พิจารณาความไม่เที่ยงของความสุขที่ได้จากความอยากเสพเนื้อสัตว์ แม้ว่าเราจะอยากกินเนื้อสัตว์มากๆแล้วไปเสพ มันก็จะมีความสุขได้ครู่เดียว สุขตอนที่เอาเข้าปาก ตอนที่เคี้ยว พอกินอิ่มสุขนั้นก็หายไป ไม่เหมือนตอนกิน อีกไม่นานก็อยากกินเนื้อสัตว์ใหม่ สุขจากเสพมันไม่เที่ยงแบบนี้
พิจารณาความไม่มีตัวตนแท้ของกิเลส คือความอยากเสพเนื้อสัตว์นี้ จริงๆมันไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่เราไปหลงยึด หลงติดมาเป็นตัวเราของเรา หลงยึดว่าได้เสพเนื้อสัตว์แล้วจะมาความสุข หลงยึดว่าหากเราไม่มีกิเลสตัวนี้เราจะทุกข์ แท้จริงแล้วกิเลสนี่แหละตัวทำให้ทุกข์ และกิเลสไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กิเลส เราสามารถทำลายกิเลสนี้ได้ ผลักไสมันออกจากตัวเราได้
พิจารณาประโยชน์ของการไม่มีความอยากเสพเนื้อสัตว์และโทษจากความอยากเสพเนื้อสัตว์นั้น โดยพิจารณาไปตามความเป็นจริง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริง และโทษที่เกิดขึ้นจริง
พิจารณากรรมและผลของกรรม หากเรายังมีความอยากเสพเนื้อสัตว์ จะสร้างผลกรรมให้เราอย่างไรบ้าง จะต้องรับวิบากกรรมไปอีกเท่าไหร่ กรรมที่เราต้องรับจะคุ้มค่ากับความอยากเสพของเราแค่ไหน
การวิปัสสนานั้น เป็นการพิจารณาธรรม ซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ เพื่อให้กิเลส จางคลาย ลด หด หายไปตามลำดับ มิใช่ทำเพื่อบรรลุธรรมโดยทันที เพราะการบรรลุธรรมโดยทันทีนั้นไม่มีทางเกิดได้หากไม่ได้สะสมบุญบารมีมาแต่ปางก่อน ผู้ที่ยังมีบุญน้อย มีกุศลน้อย นั่นเพราะเขาลดกิเลสมาน้อย สะสมกิเลสมาเยอะ ดังนั้นการล้างกิเลสจึงจำเป็นต้องใช้เวลามาก ไม่ควรหวังผล หรือเร่งผลจนเกินไป
4 ). ไตรสิกขา… เป็นขั้นตอนการปฏิบัติ
ไตรสิกขา คือการศึกษาสามอย่าง อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา …อธิ แปลว่ายิ่งขึ้น การใช้ไตรสิกขาในการกินมังสวิรัติก็คือการยกระดับการกินมังสวิรัติให้เบียดเบียนน้อยลง เช่น ตอนแรกเราลดเนื้อวัว พอทำให้ความอยากจางคลายได้เราก็มาลดเนื้อหมู ลดเนื้อไก่ ลดปลา ลดกุ้ง ลดปลาหมึก ลดลูกชิ้น ลดขนมที่มีรสของเนื้อสัตว์ ลดไข่ ลดนมวัวฯลฯ
คือการพัฒนาขอบเขตของศีลขึ้นไป เมื่อเราขยายของเขตของศีล หรือการละเว้นต่างๆขึ้นไป เราก็ต้องขยายขอบของสมาธิ และปัญญาด้วย เพื่อที่จะปฏิบัติศีลนั้นให้เจริญไปถึงผลของศีลนั้นๆได้ เมื่อปฏิบัติได้ก็ขยับเพิ่มศีลขึ้นไปเรื่อยๆ เจริญขึ้นไปเรื่อยๆ
5 ). ลด ละ เลิก ไปตามลำดับ…เป็นลำดับการปฏิบัติ
การปฏิบัติไตรสิกขาในระดับย่อย ของความอยากเสพเนื้อสัตว์ในแต่ละชนิด ยกตัวอย่างเช่นเนื้อวัว อธิศีลของคนที่เสพติดเนื้อวัวมากๆก็คือการลด คือลดปริมาณการเสพเนื้อวัว หันมากินผักให้มากขึ้น หรือเสพเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆไปก่อน เช่น ไก่ หรือปลา (เราต้องแก้โจทย์ไปทีละตัว ในตอนนี้คือเนื้อวัว)
เมื่อลดเนื้อวัวได้แล้ว เราก็จะมาละเนื้อวัว อาจจะละในชนิดของเนื้อวัวเช่น สเต็กไม่กิน แต่ถ้าในก๋วยเตี๋ยวก็อาจจะพอเสพอยู่ หรือใช้การละเป็นช่วงเวลาเช่น วันจันทร์-ศุกร์ไม่กินเนื้อวัว , สัปดาห์นี้ไม่กินเนื้อวัว , เดือนนี้ไม่กินเนื้อวัว , ปีนี้ไม่กินเนื้อวัว ลองหัดละ หัดพรากจากเนื้อวัวดู
หากเรารู้สึกไม่ทุกข์ทรมานจากการละก็ให้ตั้งศีลเลิกเนื้อวัวไปเลย ตั้งใจว่าจะเลิกทั้งชีวิตไปเลย จากนี้และตลอดไปจะไม่มีวันอยากกินเนื้อวัวอีกเลย จะไม่สั่ง ไม่หยิบ ไม่เอาเนื้อวัวเข้าปากอีกเลย เมื่อตั้งศีลได้ดังนี้ก็จะเห็นกิเลสในระดับละเอียดขึ้นไปอีก ก็พิจารณาฆ่ากิเลสต่อไป
การปฏิบัติไปตามลำดับนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะมีการเจริญขึ้นตลอดเวลา บางครั้งเราก็อาจจะมีแรงไม่พอที่จะสู้กิเลสซึ่งก็ต้องถอยกลับมากินเนื้อสัตว์บ้างเพื่อไม่ให้ทุกข์ทรมานจิตใจมากเกินไป หรือแม้กระทั่งเนื้อสัตว์บางชนิดที่ติดมากๆ ก็ให้ละเว้นการตั้งศีลละเนื้อสัตว์ชนิดที่ติดมากไปก่อน ให้ปฏิบัติกับเนื้อสัตว์ที่ติดไม่มากไปก่อน เพราะการตั้งศีลที่ยากเกินกำลังนั้นนอกจากจะปฏิบัติยากแล้ว อาจจะทำให้ท้อแท้ต่อการปฏิบัติธรรมไปเลยก็ได้
6 ). ทางสายกลาง… เป็นขอบเขตของการปฏิบัติ
คำว่าทางสายกลางนั้น เป็นการปฏิบัติที่ไม่โต่งไปในสองด้าน ด้านหนึ่งคือความอยากเสพเนื้อสัตว์ อีกด้านหนึ่งคือการทรมานตัวเองด้วยความยึดดีถือดี อยากกินเนื้อสัตว์แล้วอดทนจนทรมาน เพราะมีความอยากเสพแรงแต่อดกลั้นไม่ไปเสพ
ในด้านของความอยากเสพเราจะเรียกว่า “ กาม ”(กามสุขัลลิกะ) เราจำเป็นต้องละเว้นกามก่อน เพราะกามนี้เองคือสิ่งที่ผลักดันให้เราไปเบียดเบียนผู้อื่น ไปกินเนื้อสัตว์ ไปหลงงมงายอยู่ว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี สิ่งเลิศ สิ่งจำเป็น เราขาดเนื้อสัตว์ไม่ได้ เราจึงต้องละเว้นจากทางโต่งด้านนี้เสีย
ในด้านการทรมานตัวเองด้วยความยึดดีเราจะเรียกว่า ” อัตตา ” (อัตตกิลมถะ)เมื่อเราละเว้นกามจนเกินพลังของเรา บางครั้งจะเข้าไปในขีดของการทรมานตัวเอง เพราะความยึดดี ถือดี อยากเสพมากแต่ก็ไม่ไปกิน ทำให้เครียด ทำให้กดดัน ทำให้ท้อ ทำให้ทุกข์ อัตตานี้เองคือการเบียดเบียนตัวเอง เพราะมีความยึดดีถือดี เมื่อมีความอยากเสพเกินกำลังและมากจนเริ่มเครียด เริ่มทรมาน เราจึงควรลดอัตตาลง ไปเสพเนื้อสัตว์เพื่อให้คลายความทรมานบ้าง
ทั้งนี้คนที่ยึดมั่นในอัตตา เพราะมีความถือดี คิดว่าตัวเองทำดีได้มากกว่านั้น เป็นความโลภ ความอยากได้การบรรลุธรรมที่เกินฐานะของตัวเอง เกินกว่าที่ตัวเองทำมา กิเลสมีพลังมหาศาล แต่คิดเพียงว่าจะอดเอาทนเอา ซึ่งเมื่อจิตใจเข้าสู่สภาวะของอัตตาเมื่อไหร่ ก็เรียกได้ว่าปิดประตูบรรลุธรรม นั่นหมายความว่าถึงจะอดเอาทนเอา แต่ถ้าเกินความพอดีก็ไม่บรรลุธรรมเหมือนกัน การมีอัตตาจึงไม่มีประโยชน์ใดๆ มีเพียงคนโง่เท่านั้นที่จะยึดไว้
ในการปฏิบัติสู่ทางสายกลางหรือสัมมาอริยมรรคนั้น ต้องปฏิบัติไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป ไม่เสพเนื้อสัตว์ และไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ในขณะที่ปฏิบัติมรรคไปในเวลาเดียวกันจึงจะเกิดความเจริญ ในช่วงที่ปฏิบัติและยังไม่ถึงผลนั้น ก็จะเหมือนคนเดินเซ ซ้ายที ขวาที แต่ถ้าปฏิบัติจนล้างกิเลสได้ กิเลสตายแล้ว จะเข้าสู่สภาพของมรรคเอง
7 ). ข้ามกิเลส ข้ามสามภพ… เป็นจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ
การข้ามกิเลสนี้ เราจำเป็นต้องรู้ว่ามีกิเลส ซึ่งเป็นแรงผลักดัน เป็นเหตุแห่งทุกข์อยู่ 4 หมวด คือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม และอัตตา
อบายมุข คือการที่เราไปเสพติดเนื้ออย่างลุ่มหลง มัวเมา เช่นการตามไปกินเนื้อสัตว์ตามที่เขานิยม เดินทางไปเสาะหาร้านเนื้อสัตว์ที่มีชื่อเสียงเพราะหลงมัวเมาในความเป็นเนื้อ หลงว่าการกินเนื้อคือความสุข ความเจริญ
กามคุณ คือ กิเลสในระดับที่เราติดรส ไม่ได้ตระเวนไปเสาะหาเนื้อที่ดีเลิศ แต่เมื่อมีโอกาสจะสั่งเนื้อสัตว์ที่ชอบตลอดเพราะหลงในรส หลงในสัมผัสของเนื้อ
โลกธรรม คือการที่เราไปติดกับคำพูดของคนอื่น ในกรณีที่เลิกยังไม่เลิกเสพ ก็จะไปติดกับคำพูดคนอื่นจนไม่เลิกเสพ ในกรณีที่เราไม่กินเนื้อแล้ว เราก็มักจะกลับไปกินเนื้อเพราะความเกรงใจคนอื่น กลัวคนอื่นลำบากใจ กลัวเป็นคนยุ่งยากเรื่องมาก กลัวและกังวลต่อความคิดเห็นของคนอื่น
อัตตา คือการที่เราไปยึดเนื้อสัตว์ไว้เป็นเสมือนสิ่งจำเป็นในชีวิตของเรา เช่น เราจำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ ไม่กินเนื้อสัตว์แล้วไม่แข็งแรง ฉันชอบกินเนื้อสัตว์ ฉันเป็นสัตว์กินเนื้อ และเมื่อเราข้ามความอยากกินเนื้อสัตว์ไปแล้วจะไปเจออัตตาในมุมของนักมังสวิรัติผู้ยึดดีถือดี
การข้ามสามภพ … สามภพนั้นคือสภาวะที่เราติดกิเลสอยู่ในสามลักษณะ ในส่วนแรกคือกามภพ คือการที่เรายังไปเสพ ไปกินเนื้อสัตว์อยู่ ถ้าเรายังไปเสพไปกินด้วยความอยากกิน ไม่ว่าในกรณีใดๆ เราก็ยังอยู่ในกามภพ
รูปภพ คือสภาพที่เจริญขึ้นมาจากกามภพ เป็นสภาวะที่ไม่ไปเสพเนื้อสัตว์แล้ว สามารถอดกลั้นได้ แต่หากเห็นเนื้อสัตว์ที่ชอบก็จะมีอาการอยากเกิดขึ้นจนรู้สึกได้ มีความคิดที่จะไปกินเนื้อสัตว์ มีความคิดถึงเนื้อสัตว์นั้นเป็นรูปที่สัมผัสได้ชัดเจน ดังเช่น การปรุงแต่งความคิดภายในใจประมาณว่า “เนื้อชิ้นนี้น่าอร่อยจัง แต่เราต้องอดไว้ทนไว้”
เมื่อผ่านรูปภพได้แล้ว จะเข้าสู่อรูปภพเป็นสภาวะที่เห็นเนื้อสัตว์ที่ชอบแล้วก็จะไม่มีการปรุงแต่งความนึกคิดหรือคำพูด หรือการกดข่มใดๆอีก คือไม่มีรูปให้เห็น ไม่เห็นกิเลสเป็นตัวชัดๆแล้ว แต่จะเหลือความขุ่นใจ กังวลใจ ห่วงหา เป็นความไม่โปร่งไม่โล่ง ไม่สบายใจ แต่ไม่ออกมาเป็นรูปของคำว่า “อยากกินเนื้อ” จะเหลือแต่อารมณ์ขุ่นๆ ไม่ใส ซึ่งยากต่อการรู้และตรวจสอบ เมื่อเข้าสู่ภาวะของอรูปภพ คนมักจะประมาทหลงว่าบรรลุธรรมแล้ว ซึ่งการข้ามอรูปภพนี้แหละคือโจทย์ปราบเซียน โจทย์สุดท้ายก่อนถึงวิมุตติ
สามภพนี้เราควรละเสียให้หมด เพราะถ้าทำลายไม่หมด แม้จะเจริญได้ถึงอรูปภพแล้ว แต่ประมาทสะสมกิเลส ก็วนกลับไปกามภพได้เช่นกัน แต่ถ้าเราเพียรพยายามละทั้งสามภพนี้เสียจะพ้นสภาพของความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างถาวร ไม่กลับกำเริบอีก
8 ). ทำลายอัตตา… เป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติ
เมื่อเราล้างความอยากเสพเนื้อสัตว์ หรือมีความตั้งใจที่ละเว้นเนื้อสัตว์แล้ว เราจะเกิดความยึดดีถือดีขึ้นมา เรียกว่าอัตตา อัตตานี้เองคือสิ่งที่จะช่วยให้เราออกจากความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ เพราะการที่เราจะออกจากความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้นั้น เราจะต้องเกลียดเนื้อสัตว์ เห็นโทษของเนื้อสัตว์ เมื่อทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์จะได้อัตตาก้อนโตมาหนึ่งก้อน
เมื่อมีอัตตาก้อนโต ก็มักจะไปดูถูกคนที่ยังกินเนื้อ ยกตนข่มท่าน โอ้อวด หัวดื้อ ฯลฯ เรียกได้ว่าออกจากนรกเนื้อสัตว์ได้เราก็จะได้คนติดดีมาหนึ่งคน ซึ่งนั่นก็ชั่วอยู่นั่นเอง เพราะคนติดดีนี่แหละที่จะทำลายความสามัคคี ทำลายกลุ่ม แบ่งคนออกเป็นสองพวก เพราะมีความยึดดี ถือดี หลงว่าตนเป็นคนดี
คนติดดีในมังสวิรัติ ในบางครั้งนอกจากที่เขามักจะไปข่ม ไปแขวะ ไปทำร้ายทำลายใจคนที่ยังกินเนื้อสัตว์แล้ว ความถือดีเหล่านั้นยังมักจะมาทำร้ายผู้ที่กินมังสวิรัติด้วยกันด้วย เช่นพอหลงว่าตนเก่งตนดี ก็มักจะข่มคนที่กินมังสวิรัติได้ด้อยกว่า หรือถ้าเห็นใครเป็นมังสวิรัติแล้วผิดกฎที่เขาตั้งไว้ เขาก็มักจะทำตัวเป็นผู้พิพากษามังสวิรัติ ด้วยความยึดดีถือดีในตัวเขานั่นเอง
ความยึดดีถือดีถ้ามีมากขนาดนี้เรียกได้ว่าโง่สุดโง่ เพราะแทนที่จะชวนคนกินเนื้อมากินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา แทนที่จะส่งเสริมให้คนหัดกินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา แทนที่จะเห็นดีกับเพื่อนที่กินมังสวิรัติ…ก็ไปข่มเขา เรียกได้ว่าทำกรรมชั่วกับคนดี แล้วแบบนี้บาปและอกุศลกรรมจะไปไหนเสีย
คนที่ยังเบียดเบียนคนอื่นด้วยอัตตา หรือความยึดดีของตัวเอง ก็ยังถือว่าเป็นการเบียดเบียนสัตว์โลกอยู่นั่นเอง แม้ว่าจะไม่ได้ไปเบียดเบียนสัตว์ แต่ก็ไปเบียดเบียนคนอื่น มันก็ยังชั่วอยู่นั่นเอง จะเรียกว่าคนดีนั้นเป็นไปไม่ได้เลย
คนกินมังสวิรัติที่มีอัตตามากๆ เวลาเห็นสัตว์ถูกทรมานแล้วจะเกลียด เห็นอาหารเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนกินเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนกินมังสวิรัติที่ไปกินเนื้อสัตว์แล้วจะเกลียด เห็นคนอื่นผิดหมด ตัวเองถูกและดีอยู่คนเดียว สร้างความทรมานใจให้ตัวเอง แถมบางครั้งยังไปทำร้ายจิตใจคนอื่น เป็นนรกล้วนๆ
การที่ยังมีอัตตาอยู่แม้น้อย นั่นคือตัวกันไม่ให้เราบรรลุธรรม ในมังสวิรัติวิถีพุทธ การที่เราจะถึงเป้าหมายปลายทางคือความผาสุกจากการหมดสิ้นกิเลส เราจำเป็นต้องล้างกาม และอัตตาจนสิ้นเกลี้ยง
9 ). ตรวจสอบวิมุตติ … เป็นที่สุดของการปฏิบัติ
เป้าหมายของมังสวิรัติวิถีพุทธคือวิมุตติ หรือสภาพของการหลุดพ้นกิเลส คือหลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ทุกข์ ไม่ทรมาน แม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ หรือเห็นว่าคนอื่นกินเนื้อสัตว์ ไม่ติดดี ยึดดี ถือดี ในเรื่องของเนื้อสัตว์ ใครจะกินมังสวิรัติก็ได้ ไม่กินก็ได้ ลดแค่เนื้อวัวก็ได้ หรือจะลดเท่าไหร่ก็ได้ มีความยินดีกับทุกคนที่สนใจกินมังสวิรัติ ไม่รู้สึกยินร้ายแม้ว่าใครจะไม่กินมังสวิรัติ หรือไม่เอาดีตามที่ตนเองได้แนะนำ หรือแม้แต่เห็นผู้ที่กินมังสวิรัติไปกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกยินร้าย หรือรู้สึกทุกข์ โกรธ แค้น ขุ่นเคืองใดๆ
ไม่ได้มีความรังเกียจเนื้อสัตว์ หรือการที่สัตว์จะมาตาย ไม่มีแม้แต่ความรังเกียจใดๆที่ใครสักคนจะยินดีและหลงเสพเนื้อสัตว์ เพราะเข้าใจในกฎแห่งกรรมอย่างถ่องแท้ เข้าใจเรื่องกิเลสอย่างชัดเจน รู้แจ้งทุกเหลี่ยมทุกมุม รู้ดีว่าการทำลายกิเลสนั้นยากแค่ไหนและเข้าใจว่าทำไมคนถึงยังหลงเสพหลงยึด
ผู้ที่บรรลุธรรมจะไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่ไปทำให้ตัวเองและผู้อื่นเกิดความทุกข์ ไม่เอาความดีที่ตนมี ไปอวดเบ่ง ไปกดดัน ไปข่มเหง ไปทับถมผู้อื่น
สภาพของวิมุตติคือสภาวะจิตที่ข้ามกิเลสสามภพ เป็นสภาพที่ไม่ดูดไม่ผลัก ไม่รักไม่เกลียด แต่เห็นประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง เป็นสภาพที่กิเลสตายและไม่กลับมากำเริบ แม้จะได้เผลอหรือตั้งใจกลับไปทดลองกินเนื้อสัตว์แต่ก็ไม่มีวันที่ความอยากกินนั้นจะกลับมาอีก จะไม่มีวันที่จะเกิดความสุขจากการเสพอีก เพราะมีความสุขที่มากกว่าแล้ว นั่นคือสภาพของวิมุตติ หรือสุขจากการพ้นกิเลส
– – – – – – – – – – – – – – –
4.11.2557