Tag: กามคุณ

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

October 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 23,607 views 1

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

คำว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักกันอยู่แล้ว ไม่มีใครเกิดมาไม่พบกับทุกข์ ทุกคนที่อยู่บนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องพบกับทุกข์ เป็นสัจจะ เป็นความจริงแท้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทุกข์นั้นมีอยู่สองส่วน หนึ่งทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ และสองคือทุกข์ที่เลี่ยงได้นั่นก็คือทุกข์จากกิเลสนั่นเอง เราจะมากล่าวถึงทุกข์จากกิเลสกัน

ทุกข์นั้นจะเกิดได้ก็เพราะมีเหตุ เหตุแห่งทุกข์ นั้นพระพุทธเจ้าเรียกว่า “สมุทัย” และเหตุแห่งทุกข์นั้นแท้จริงแล้วอยู่ข้างในตัวเรา

(1). ด่านแรก ทุกข์อยู่ข้างใน…

ด่านแรกของการเห็นเหตุแห่งทุกข์เลยก็คือมันอยู่ที่ตัวเรา ใครที่พบเจอกับความทุกข์แล้วมัวแต่มองหาคนผิด มองหาผู้ที่ทำให้ตนทุกข์ มองหาคนรับผิดชอบในทุกข์นั้น เป็นคนที่มองไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะทุกข์นั้นเกิดจากใจของตัวเอง เกิดจากกิเลสของตน เกิดจากกรรมของตน การจะรู้เหตุแห่งทุกข์ได้จึงต้องยอมรับว่าทุกข์นั้นเกิดจากตนเองก่อนเป็นอันดับแรก

(2). ด่านที่สอง ทุกข์ที่เห็นอาจจะไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์

ทุกข์ที่เห็นนั้น มักจะเป็นผลสุดท้ายของการไม่ได้เสพสมใจ แต่หลายคนไปเข้าใจผิดว่าความทุกข์นั้นคือเหตุแห่งทุกข์ เช่นเราถูกเพื่อนสนิทนินทา เราโกรธเพื่อน แล้วเรารู้สึกว่าโกรธเป็นทุกข์ เราจึงเห็นว่าความโกรธคือเหตุแห่งความทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วความโกรธนั้นเป็นผลที่ปลายเหตุแล้ว จะไปดับความโกรธนั้นก็ได้ก็เรียกว่าดี แต่ก็ถือว่าไม่ได้ดับเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

มีหลายลัทธิพยายามที่จะดับความคิด ดับเวทนา ดับความสุข ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการได้กระทบสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน โดยพยายามทำการดับสิ่งที่เกิดขึ้น ดับจิตที่เป็นทุกข์ ซึ่งก็เป็นการดับปลายเหตุที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ก็เหมือนมองเหตุที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียวไม่ได้เข้าไปค้นที่ต้นเหตุ มองเพียงว่าจิตใจที่สั่นไหวนั้นคือเหตุเท่านั้น เหมือนกับเกิดแผ่นดินไหว เขาเหล่านั้นมักมองปัญหาคือแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายคือปัญหา เขาต้องหยุดการพังทลายหรือพยายามสร้างบ้านที่ป้องกันแผ่นดินไหวได้ แต่ผู้ที่ค้นหาเหตุจริงๆ คือเข้าไปค้นหาว่าแผ่นดินไหวจากสาเหตุใด แผ่นดินเคลื่อนเพราะอะไร อากาศร้อนเย็นมีผลหรือไม่ ค้นหาไปถึงนามที่ทำให้เกิดรูปคือแผ่นดินนั้นเคลื่อนไหวได้ และดับเหตุนั้นจึงจะเป็นการดับทุกข์ที่เหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

มีหลายลัทธิที่มองว่าทุกข์นั้น เป็นเพียงสิ่งที่ผ่านมาผ่านไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง จริงอยู่ว่าทุกข์ที่เกิดนั้น มันเกิดขึ้นมา มันตั้งอยู่ และมันก็ดับไป เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผู้ที่เข้าใจเช่นนี้จะสามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในทุกข์ที่เกิดได้ดีระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถดับเหตุแห่งทุกข์ได้ เสมือนกับผู้ที่มองแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายด้วยจิตใจว่างๆ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ เกิดดับ เกิดดับเช่นนี้ตลอดไป ด้วยพวกเขาเหล่านั้นไม่รู้วิธีดับทุกข์ที่เหตุ เมื่อไม่ได้เข้าไปดับเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสก็ต้องเกิดขึ้นอยู่เรื่อยไป แม้จะดับไปตามกฎ แต่ก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

(3). ด่านที่สาม ขุดค้นเหตุแห่งทุกข์

เมื่อเราเห็นได้ว่า การค้นหาเหตุแห่งทุกข์โดยการดูแค่ผิวเผินนั้นไม่สามารถทำลายเหตุแห่งทุกข์ได้อย่างแท้จริง เราจึงต้องมาค้นหาว่าเหตุแห่งทุกข์นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่

ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนนินทาเรา เราก็โกรธเพื่อน ความเข้าใจทั่วไปจะดับความโกรธที่เกิดตรงนี้ แต่ในความจริงแล้ว ความโกรธ (โกธะ)คือกิเลสปลายทาง เป็นสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ครอบครองสมใจ ไม่ได้มาอย่างใจหมาย เราจึงแสดงอาการโกรธเหล่านั้นออกไป อันเกิดจากความโลภ ความอยากได้ อยากครอบครองเกินความจำเป็นจริง เกินจากความจริง(โลภะ) คือเราอยากให้เพื่อนทุกคนพูดดีกับเรา การที่เราอยากให้ทุกคนพูดดีกับเรานั้นเพราะเราเสพติดคำพูดดีๆอยากฟังสิ่งดีๆ (ราคะ) ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความหลง(โมหะ) หลงไปว่าการได้เสพคำพูดดีๆ จะนำมาซึ่งความสุขให้ตน เป็นต้น

ลำดับของกิเลสที่จะเห็นได้จากละเอียดไปหยาบคือ…

โมหะ เพราะเราหลงติดหลงยึดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราจะอยากเสพสิ่งนั้น เป็นรากที่ละเอียดที่สุด แก้ยากที่สุด

ราคะ เราอยากเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดจากเราหลงชอบหลงยึดสิ่งนั้น พอเสพก็ติด ยิ่งเสพก็ยิ่งจะอยากเสพเพิ่มอีก

โลภะ เมื่อเราชอบสิ่งนั้นอยากเสพสิ่งนั้น ก็จะพยายามหามาปรนเปรอกิเลสตัวเอง จนเกิดการสะสม หามามากเกินความจำเป็น หวง ไม่ยอมให้ใครเพราะกลัวตัวเองจะไม่ได้เสพ

โกธะ เป็นกิเลสปลายเหตุ เกิดขึ้นเมื่อไม่ได้เสพสมใจอยาก เมื่อมีคนพรากสิ่งที่อยากเสพไปรุนแรง เป็นไฟที่ทำลายได้ทุกอย่าง

การวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุแห่งทุกข์นี้ ต้องใช้กระบวนการของสติปัฏฐาน๔ คือกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เข้ามาวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้ ซึ่งสติปัฏฐาน๔ นี้ต้องปฏิบัติทุกองค์ประกอบไปพร้อมกัน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นก้อนเดียวกัน เป็นกระบวนการเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาใช้เป็นตัวๆอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจได้

เมื่อปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน๔ อย่างถูกต้องจึงจะมีสิทธิ์ได้เห็นไปถึงเหตุแห่งทุกข์อันคือความหลงติดหลงยึดในกิเลสใดๆได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพิจารณาครั้งเดียวก็เห็นได้ทุกอย่าง เพราะกิเลสนั้นลึกลับซับซ้อน จนบางครั้งเราอาจจะต้องให้เหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นหลายที หรือพิจารณาซ้ำๆในจิตใจอย่างหนักเพื่อที่จะทำให้เห็นเข้าไปถึงเหตุแห่งทุกข์นั้น

การวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้บางครั้งสติปัญญาที่เรามีอาจจะไม่สามารถทำเหตุแห่งทุกข์ให้กระจ่างได้ การมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี คือมีครูบาอาจารย์ที่คอยชี้แนะ มีเพื่อนกัลยาณมิตรที่คอยแนะนำ ก็จะช่วยให้สติ ช่วยให้เกิดปัญญาที่มากขึ้นกว่าขอบเขตที่เราเคยมีได้

(4). ด่านที่สี่ เหตุแห่งทุกข์เกิดจากการหลงในกิเลส

ความหลงในกิเลสนั้นมีมิติที่หลากหลาย หากเราเข้าใจเพียงแค่ว่าหลง แต่ไม่รู้ว่าหลงในอะไร ก็ยากที่จะแก้ไปถึงเหตุได้ เพราะถ้าไม่รู้สาเหตุว่าหลงในอะไร ก็คงจะไม่สามารถดับทุกข์ได้ เพราะการดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ เมื่อดับไม่ถูกเหตุ ทุกข์ก็ไม่ดับ เราจะมาลองดูเหตุแห่งทุกข์ อันคือความหลงยึดในกิเลสสี่ตัวนี้กัน

(4.1). อบายมุข

คือกิเลสขั้นหยาบที่พาให้คนหลงไป สามารถหลงจนไปนรก ไปเดรัจฉานได้เลย คือความหลงในอบายมุขต่างๆ เช่นเที่ยวเล่น เที่ยวกลางคืน เล่นพนัน หวย หุ้น เสพสิ่งมึนเมาทั้งหลายไม่ว่าจะสุรา บ้าดารา กิจกรรมหรือสิ่งต่างๆที่ทำให้จิตใจมัวเมา เที่ยวดูการละเล่น ดูละคร ดูหนัง ดูทีวี เพื่อความบันเทิงใจ คบคนชั่ว พาไปทางเสื่อม พาให้เล่นพนัน พาให้มัวเมา พาให้เป็นนักเลง พาให้หลอกลวงผู้อื่น พาให้คดโกง และความเกียจคร้านการงาน

คนส่วนมากมักจะติดในอบายมุขจนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่พยายามทำตัวกลืนไปกับสังคมโดยใช้ค่ามาตรฐานของสังคมเป็นตัววัดความดี จะถูกกิเลสมวลรวมของคนส่วนใหญ่ลากไปลงนรก หรือที่เรียกว่าอุปาทานหมู่ คือสังคมคิดไปเองว่ากิเลสเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องที่ใครๆก็เสพกัน ทั้งๆที่เป็นอบายมุข เป็นกิเลสหยาบที่พาให้ชีวิตเดือดร้อน เมื่อเสพอบายมุขก็จะยิ่งนำพากิเลสตัวอื่นที่หยาบเข้ามา เสพมากๆก็ติด พอไม่เสพก็โกรธไม่พอใจ เป็นทุกข์

(4.2). กามคุณ

คือความหลงในกิเลสที่พาให้อยากเสพใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นชอบแต่งตัวสวย ชอบคนหน้าตาดี อาหารอร่อย กลิ่นที่หอม เสียงไพเราะ เตียงที่อ่อนนุ่ม หรือกระทั่งเรื่องการเสพเมถุน ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของการหลงในกาม เมื่อเราหลงติดในกามเหล่านี้ ก็จะพาให้เราอยากเสพกามตามที่เราติด พอเสพมากๆก็พาสะสม พอไม่ได้เสพสมใจก็โกรธเป็นทุกข์

(4.3). โลกธรรม

โลกธรรมคือกิเลสที่ละเอียดที่ฝังอยู่ในคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็เป็นสภาพของโลกธรรม เมื่อคนหลงในลาภก็จะสะสมมาก หลงในยศก็จะไต่เต้าเพื่อหายศหาตำแหน่ง หลงในสรรเสริญก็จะพยายามทำตัวให้เป็นที่น่าสนใจ อยากให้คนยอมรับ เชิดชูบูชา หลงในโลกียะสุขก็จะแสวงหาสุขในทางโลก สุขที่วนอยู่ในโลก เมื่อเสพสิ่งเหล่านี้มากเข้า ก็จะเริ่มสะสม เริ่มหวงลาภ ยศ สรรเสริญ สุข พอไม่ได้หรือเกิดสภาพของความเสื่อมทั้งหลายก็จะโกรธ เป็นทุกข์ เสียใจ

(4.4). อัตตา

อัตตาคือกิเลสที่ละเอียดที่สุดที่คนหลงยึดไว้ ไม่ว่าจะอบายมุข กามคุณ โลกธรรม สุดท้ายก็ต้องมาจบที่อัตตา เป็นเสมือนรากของกิเลส ส่วนที่เหลือนั้นเหมือนกิ่งก้านใบของกิเลสเท่านั้น ผู้ที่ดับอัตตาได้ก็จะเข้าสู่อนัตตา เป็นภาษาที่พูดกันได้ง่ายแต่ทำได้ยากยิ่ง

อัตตานั้นคือความยึดมั่นถือมั่น เรายึดมั่นถือมั่นตั้งแต่คน สัตว์ วัตถุสิ่งของ หรือสิ่งที่เป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้ เรายึดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของเรา เราอยากครอบครอง วัตถุ คน สัตว์ สิ่งของเหล่านี้มาเป็นตัวตนของเราซึ่งจะสะท้อนออกไปอีกทีในรูปของ อบายมุข กาม โลกธรรม เช่นเราอยากคบหาคนผู้นั้นไว้เพราะเขารวย เพราะเขามีชื่อเสียง เพราะเขามีอำนาจ หรือเรายึดว่าคนต้องกินเนื้อสัตว์ คนเป็นสัตว์กินเนื้อเพราะเราหลงในกาม หลงติดในรสชาติรสสัมผัส เมื่อเราจะกำจัดกามเหล่านั้นแล้วก็ต้องมากำจัดอัตตาไปพร้อมๆกันด้วย

เรายังสามารถที่จะติดรูปที่สำเร็จด้วยจิตของตัวเองได้อีก เช่นการคิดฝัน ปั้นจินตนาการไปเองว่าคนนั้นพูดแบบนั้นคนนั้นพูดแบบนี้ คนนั้นเขาคิดกับเราแบบนั้น เขาจะทำกับเราแบบนี้ หลงไปว่าการเสพอบายมุขนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพกามนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพโลกธรรมนั้นเป็นสุข เป็นสภาพที่จิตสร้างความสุขหลอกๆขึ้นมาหลอกตัวเอง หรือถ้าหนักๆก็จะเป็นพวกเห็นผี เข้าทรงกันไปเลย ทั้งหมดนั้นเป็นสภาพที่จิตนั้นปั้นขึ้นมาเป็นรูปให้เราได้เห็น จึงเรียกว่ารูปที่สำเร็จด้วยจิตเป็นกิเลสของเราเองที่สร้างความรู้สึกสุข ชอบใจ พอใจ สร้างเป็นภาพ เป็นเสียงขึ้นมาให้เราได้ยิน ทั้งๆที่จริงแล้วมันไม่มี แต่เราไปยึดไว้และหลงเสพสิ่งที่ไม่มีเหล่านั้น ในเมื่อสิ่งนั้นไม่มีจริง ไม่ใช่ของจริง ไม่เที่ยง สุดท้ายเมื่อไม่ได้เสพสมใจก็จะเป็นทุกข์

อัตตายังอยู่ในสภาพไร้รูป หรือที่เรียกว่า อรูปอัตตา เช่น ความเห็น ความเข้าใจ ศักดิ์ศรี ความรู้ ฯลฯ เราก็ไปหลงยึดสิ่งเหล่านี้ไว้ เช่น เราเข้าใจธรรมแบบนี้ เราก็ยึดสิ่งนี้เป็นตัวตนของเรา พอใครมาพูดไม่เหมือนที่เราคิด ไม่เหมือนที่เราเข้าใจ เราก็จะมีอาการขัดข้องใจ ไม่พอใจ โกรธ เพราะเราไม่ได้เสพสมอัตตา คือต้องการให้คนอื่นมาทำให้ได้ดังใจเราหมาย หรือทำตามอัตตาเรานั่นเอง

….เมื่อได้รู้กิเลสทั้งหมดนี้แล้ว เราจึงควรใช้เวลาพิจารณากิเลสในตัวเองอย่างแยบคาย ทำให้เห็น ทำให้ชัดเจนว่าเราติดในกิเลสตัวไหน ปนกับตัวไหน มีรากมาจากตัวไหน การค้นหารากของกิเลสไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย กิเลสบางตัวอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือทั้งชีวิตอาจจะไม่สามารถเห็นเลยก็ได้ถ้าไม่พากเพียร และไม่คบมิตรที่ดี

(5). ด่านที่ห้า ดับเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย

เมื่อเห็นเหตุแห่งทุกข์แน่ชัดแล้ว เห็นตัวการของกิเลสแน่ชัดแล้ว ก็ให้เพียรพยายามทำให้ถึงความดับ โดยใช้มรรควิธี ก็คือการปฏิบัติมรรคทั้ง ๘ นั่นแหละ จะใช้สมถะ วิปัสสนาก็ได้ จะใช้สัมมัปปธาน ๔ ก็ได้ จะใช้โพชฌงค์๗ ก็ได้ จะใช้จรณะ๑๕ ก็ได้ จะใช้ทั้งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ได้ หรือจะใช้ธรรมใดตามที่ถนัดก็ได้ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อการละกิเลส เพื่อการล้างกิเลส เพื่อการดับกิเลสอยู่แล้ว

การจะค้นเจอเหตุแห่งทุกข์นั้นว่ายากแล้ว การดับทุกข์ที่เหตุนั้นยากยิ่งกว่า เพราะต้องใช้ความเพียรพยายาม ใช้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำที่สุดแห่งทุกข์ คือการดับทุกข์นั้นอย่างสิ้นเกลี้ยงโดยการดับกิเลสนั้นนั่นเอง

สรุป

การที่เราต้องมาหาเหตุแห่งทุกข์อย่างยากลำบากนี้ เพราะพระพุทธเจ้าได้ชี้ขุมทรัพย์ไว้ว่า ดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ แต่บางครั้งเรามักจะมองเหตุแห่งทุกข์นั้นตื้นเกินไป เหมือนกับเราที่เราอยากกำจัดหญ้า แต่ก็ทำแค่เพียงตัดหญ้าที่มันยาวพ้นดินออกมา บ้างเก่งกว่าก็ว่าขุดรากถอนโคนหญ้านั้นไปเลย แต่สุดท้ายหญ้าก็จะขึ้นมาใหม่ เหมือนกับกิเลสนั้นกลับมาโตใหม่อีกครั้ง

ผู้มีปัญญาย่อมขุดรากถอนโคนกิเลสทั้งหมด ทั้งตัดหญ้า ขุดรากถอนโคน และนำดินมาเผา ทำลายเมล็ดหญ้าที่ยังหลงเหลืออยู่ในฝืนดินซึ่งเป็นเมล็ดนี้เองเป็นแหล่งเกิดของหญ้า เหมือนกับตัณหา ถ้าเรายังดับตัณหาคือความอยากไม่ได้ ความอยากเหล่านั้นก็จะค่อยๆเติบโต เหมือนกับผืนดินที่เต็มไปด้วยเมล็ดหญ้า หากไม่กำจัดเมล็ดออก ก็มีแต่จะต้องมาคอยตัดหญ้า ขุดรากถอนโคนหญ้ากันทุกชาติไป

ดังนั้นผู้มีปัญญาพึงกำจัดทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ เผากิเลสเหล่านั้นด้วยไฟแห่งฌาน ให้ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสนั้นสลายไป ทำลายกามภพ ทำลายรูปภพ ทำลายอรูปภพของกิเลสนั้น ไม่ให้มีแม้เสี้ยวอารมณ์ความอยากที่เกิดภายในจิต แม้จะตรวจด้วยอรูปฌานสักกี่ครั้งก็ไม่พบความอยากในจิตอีก เมื่อนั้นแหละที่เขาเหล่านั้นจะได้พบกับสภาวะที่เรียกว่า “สัญญาเวทยิตนิโรธ” คือการดับกิเลสที่อยู่ในสัญญาอย่างสิ้นเกลี้ยง ถือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้กับกิเลสนั้น ได้รับชัยชนะที่ทำได้ยาก เป็นสิ่งที่บัณฑิตต่างสรรเสริญ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

แรงจูงใจในการทำงาน

October 9, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,057 views 0

แรงจูงใจในการทำงาน

แรงจูงใจในการทำงาน

ในยุคสมัยที่มีทางเลือกในการทำงานหลากหลาย ไม่ว่าจะเลือกเป็นลูกจ้าง นักลงทุน หรือผู้ประกอบการ ก็มักจะมีสิ่งหนึ่งเป็นตัวผลักดัน เรามักจะเรียกสิ่งนั้นว่าแรงจูงใจ

การสร้างแรงจูงใจนั้นจะช่วยเพิ่มพลังใจของเราในหลายๆส่วน จูงใจของเราไปทำในการงานที่เราคิดว่ามันจะเกิดประโยชน์กับตัวเราโดยใช้ผลประโยชน์บางอย่างมาล่อ แรงจูงใจนั้นสามารถเกิดมาจากเหตุได้ทั้งกุศลและอกุศล ได้ทั้งดีและร้าย

…กุศล

ในทางกุศล หรือความดีงาม เมื่อเราประกอบกิจกรรมการงานโดยมีกุศลเป็นตัวตั้ง โดยมีแรงจูงใจจากการพิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ต่อผู้อื่นจนเกิดปัญญาเข้าใจคุณค่าในกิจกรรมการงานนั้นๆ และ ใช้อิทธิบาท ๔ คือฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นตัวผลักดันให้เกิดแรงจูงใจในการทำสิ่งที่ดี

ฉันทะ คือความยินดี เต็มใจพอใจ ที่จะทำสิ่งๆนั้น เพราะเห็นว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์ เกิดประโยชน์ ทำแล้วมีความสุขความเจริญเรียกได้ว่าการพิจารณาประโยชน์ของสิ่งใดก็ตามจะทำให้เกิดความชอบ และความชอบนั้นเองคือพลัง คือแรงจูงใจ แรงผลักดันให้ทำสิ่งที่ยากอย่างมีความสุขได้

วิริยะ คือความเพียร ความพยายามที่จะทำกิจกรรมการงานนั้นอย่างอดทน ไม่ย่อท้อแม้จะต้องพบกับความยากลำบากใดๆก็ตาม แม้จะต้องประสบปัญหาก็จะพยายามที่จะทำต่อไปเรื่อยๆ

จิตตะ คือความตั้งมั่น ทุ่มโถมเอาใจใส่กิจกรรมการงานนั้นอย่างจดจ่อ มีสมาธิกับสิ่งนั้น จิตใจวนอยู่กับสิ่งนั้น ให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น ทำงานอย่างกัดไม่ปล่อย เอาใจใส่ในงานอย่างเต็มที่ มีเวลาว่างก็คิดถึงแต่งานนั้นๆ ให้ความสำคัญกับงานนั้นๆ

วิมังสา คือการพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับกิจกรรมการงานนั้น เอาแก่นสารสาระ ออกแบบปรับปรุงกระบวนการต่างๆที่ทำอยู่ วิเคราะห์วิจัยกิจกรรม หมั่นทบทวนศึกษาในเนื้อหาของการงาน

เมื่อมีการพิจารณาประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน และใช้อิทธิบาทจนเกิดแรงจูงใจ รวมทั้งเป็นไปตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ในข้อสัมมาอาชีวะ คือการประกอบอาชีพที่สุจริต อาชีพที่ดีงาม อาชีพที่ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ไม่คดโกง ไม่ล่อลวง ไม่ตลบตะแลง ไม่รับใช้คนชั่ว ไม่เป็นการพนันนำลาภที่มีไปแลกลาภที่มากกว่า ไม่พาให้หลงมัวเมา ซึ่งหากเราได้ทำการงานที่ถูกที่ควรก็จะผลักดันชีวิตเราและสังคมรอบข้างไปสู่ความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม

…อกุศล

ในทางอกุศล คือความไม่ดีไม่งาม ก็จะมีการใช้แรงจูงใจจากการพิจารณาประโยชน์ตนเป็นตัวตั้งเหมือนกัน แต่เป็นการพิจารณาโดยมีกิเลสเข้ามาร่วม เรียกง่ายๆว่ามีกิเลสเป็นแรงผลักดันและเป็นแรงจูงใจให้ทำกิจกรรมการงานนั้นๆนั่นเอง เรียกได้ว่ามีกิเลสทั้งผลักทั้งจูง ให้ตัวเราเคลื่อนไปทำการงานนั้นๆ

แม้ว่าเราจะมีแรงจูงใจที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดัน ก็จะสามารถใช้อิทธิบาทเป็นเครื่องผลักดันได้เหมือนกัน แต่จะมีทิศทางที่เจริญไปในด้านอกุศล ยิ่งทำกิจกรรมการงานที่เป็นอกุศลอย่างตั้งมั่นก็ยิ่งจะเกิดความเสื่อมจากธรรม ยิ่งสะสมกิเลสก็จะยิ่งทุกข์ ยิ่งขยันทำชั่วก็ยิ่งไปนรกไวขึ้นนั่นเอง

แรงจูงใจจากกิเลสเหล่านี้ ในคนแต่ละคนก็จะมีแรงจูงใจหรือกระทั่งเป้าหมายที่แตกต่างกันเพราะเรามีกิเลสที่แตกต่างกัน เราสามารถจำแนกแหล่งที่มาของกิเลสได้เป็น ๔ ระดับ ตั้งแต่หยาบไปจนถึงละเอียด คือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตาจะลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันพอประมาณดังนี้

อบายมุขคือแรงจูงใจที่พาให้หลงมัวเมาอย่างหยาบ เป็นทุกข์ โทษ ภัยอย่างเห็นได้ชัด เช่นมัวเมาในการพนัน หวย หุ้น ท่องเที่ยว ดูการละเล่น ดูละคร คอนเสิร์ต สิ่งเสพติด เหล้า เที่ยวกลางคืน เสพสิ่งบันเทิงต่างๆ ทำงานเพื่อที่จะทำให้ได้เกียจคร้านการงานในภายภาคหน้า ฯลฯ หากคนใดมีสิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจ เป็นแรงผลักดันให้ทำกิจกรรมการงาน ทำงานเพื่อจะได้เสพสิ่งเหล่านี้ ก็ถือได้ว่าติดในกิเลสในระดับที่หนาและเป็นภัยมาก

กามคุณคือแรงจูงใจที่พาให้หลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ยกตัวอย่างเช่น ตั้งใจทำงานเพื่อที่จะนำเงินไปแต่งหน้าแต่งตา แต่งตัว ศัลกรรม หรือเพื่อไปเที่ยวหาสิ่งสวยงามไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของมาเสพเพื่อสนองกิเลสในการติดรูป ทำงานหาเงินมาเพื่อซื้อน้ำหอมแพงๆเพราะหลงในกลิ่น หรือทำงานเพื่อหาของอร่อยกิน เอาเงินที่ได้มาตระเวนหาของอร่อยตามที่โลกมอมเมา คนที่ทำกิจกรรมการงานเพื่อที่จะได้เสพกามเหล่านี้ ก็ถือว่าติดในกิเลสที่หนาน้อยกว่าอบายมุข แต่ก็ยังเป็นภัยต่อตัวเองอยู่มาก

โลกธรรมคือแรงจูงใจที่หลงไปใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นสิ่งที่คนมาหลงติดกันมากที่สุด เรามักจะมีแรงจูงใจในการทำงานเพราะอยากรวย อยากมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี อยากมีคนนับหน้าถือตา อยากมีคนนิยมชมชอบ อยากเป็นที่รักเป็นที่สนใจของคนอื่น ทำเพราะอยากได้เสพสุขลวงๆจากกิเลส หลายคนขยันทำผลงาน ทำงานอย่างตั้งใจก็เพื่อที่จะได้เสพสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าโลกจะมอมเมาว่าเป็นสิ่งดี แต่แท้ที่จริงเป็นกิเลสที่ละเอียดและร้ายกาจมาก โลกธรรมจะพาเราให้ทำอย่างที่สังคมต้องการ ถ้าสังคมว่าทำแบบนี้จะรวย จะดูดี จะมีชื่อเสียง เราก็จะไหลตามสังคมไป ไปทุกข์ไปสุขตามโลกที่หมุนวนไป เป็นไปในทางโลก เป็นปลาที่ลอยตามน้ำ ลอยไปตามกิเลส

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน เป็นแรงจูงใจที่จะทำให้เราได้ทำการงานนั้นๆ อย่างมัวเมาในระดับละเอียดที่สุด เพราะหลงว่าเราเกิดมาเพื่อทำสิ่งนั้น หลงไปว่างานนั้นเป็นของเรา เราจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นการหลงไปในอุดมการณ์ที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดัน และอัตตาคือตัวการร้ายที่จะเป็นแรงผลักดันทำให้เราไปยึดในคน สัตว์ สิ่งของ อยากครอบครองสิ่งเหล่านั้นมาเป็นของตน เป็นแรงจูงใจที่ละเอียดที่สุด เป็นกิเลสที่ฝังลึกแน่นในจิตใจของคน เป็นรากสุดท้ายด่านสุดท้ายของกิเลสทุกตัว

การจะบอกว่าเรามีแรงจูงใจจากกิเลสตัวใดตัวหนึ่งนั้นก็คงเป็นเรื่องยากเพราะกิเลสเป็นเรื่องซับซ้อน หากผู้วิเคราะห์ไม่เคยขุดค้นไปถึงสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ เหตุแห่งความอยาก ก็ยากที่จะพบกับตัวการที่แท้จริง และโดยทั่วไปแล้วเรามักจะมีกิเลสหลายอย่างปะปนกัน ทับซ้อนและซับซ้อนกันไปหลายรูปแบบ คนที่เสพอบายมุขก็จะมีอัตตาเป็นตัวผลักดัน คนที่เสพกามก็จะมีโลกธรรมเป็นตัวผลักดันและมีอัตตาซ้อนอยู่ลึกๆ

กิเลสทุกตัวนั้นเป็นตัวเดียวกันคือความอยากเสพ เรามีความอยากเสพนั้นเพราะเราไปหลงติดหลงยึด และเราไปหลงติดหลงยึดเพราะว่าเรามีความไม่รู้หรือที่เรียกว่าอวิชชานั่นเอง แต่กิเลสนั้นจะออกมาลีลาไหน แบบไหน มุมไหน ก็แล้วแต่ใครจะสะสมกิเลสมามากน้อยแบบไหน จะถูกมอมเมามาแบบไหน

ผู้ที่ทำกิจกรรมการงานโดยมีกิเลสเป็นแรงจูงใจนั้น จะถูกความหวังหรือความอยากของตัวเองชักจูงให้หาให้เสพไปเรื่อยๆ เมื่อได้เสพสมใจ ได้อย่างใจมากขึ้น กิเลสก็จะโตขึ้น พอกิเลสโตขึ้นก็จะมีความอยากเสพมากขึ้นไปอีก เริ่มที่จะไม่พอใจสิ่งที่เคยได้เสพมาก่อน จนต้องพยายามแสวงหาสิ่งใหม่ สร้างความหวังใหม่ สะสมกิเลสใหม่ ในวันใดวันหนึ่งก็จะหาสิ่งเสพสมใจไม่ได้ ก็จะทุกข์ร้อนใจขัดใจโกรธเคืองไม่พอใจเพิ่มกิเลสเข้าไปอีก สะสมกิเลส สะสมทุกข์ สะสมภพ สะสมชาติไปอย่างไม่จบไม่สิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

อย่าไว้ใจชาย

September 19, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,088 views 0

อย่าไว้ใจชาย

อย่าไว้ใจชาย

มารยาหญิงที่ว่ามีกว่าร้อยเล่มเกวียน กลวิธีมากมายหลากหลายกระบวนท่า แต่สุดท้ายก็ต้องพลาดท่าให้กับชายอยู่ดีนั่นแหละ

มารยา กลยุทธ์ กลวิธีของชายนั้น มักจะไม่ได้ถูกบันทึกหรือกล่าวขานไว้ กว่าจะรู้ตัวก็มักจะพลาดท่าเสียทีไปแล้ว ทั้งการหลอกล่อลับลวงพรางด้วยของขวัญและคำหวานมากมายให้เฝ้าเพ้อฝันไปถึงความรักที่งดงามและอนาคตที่สวยหรู คำสัญญาที่ว่าจะมั่นคง ความจงรักภักดี การเกื้อกูลดูแลกันและกัน คำยืนยันหรือการแต่งงานมีครอบครัว เหล่านี้คือมารยาที่ชายใช้ล่อลวงใจหญิงได้ทุกยุคทุกสมัย เราลองมาดูตัวอย่างกลยุทธ์ของชายแต่ละแบบกัน

1. ผู้ชายติดอบายมุข (อบายมุข): ตัวเองก็เสพติดอบายมุขทั้งการพนัน หวย หุ้น ติดเหล้าติดยาเสพติด สิ่งมัวเมาทั้งหลาย เที่ยวกลางคืน ท่องเที่ยวไปเสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ในที่ต่างๆ เที่ยวเล่นดูดนตรี ดูการแสดง คบคนชั่ว เกียจคร้านการทำงาน วิธีของผู้ชายเหล่านี้ก็ไม่มีอะไรมาก แค่หานำอบายมุขที่ตัวเองเสพติด เช่น ชอบกินเหล้าก็ชวนกันไปกิน ชอบดูการแสดงชอบดูหนังก็ชวนกันไปดู ชอบรถแต่งรถหรูก็ชวนกันมานั่ง ใช้อบายมุขที่น่าจะตรงกับกิเลสไปเสนอให้กับผู้หญิงที่หลงเสพหลงติดพอกัน พากันมัวเมาไปในที่สุด และมักจะมีคำนิยามแบบสวยๆว่าชอบทำกิจกรรมเหมือนกัน ไลฟ์สไตล์เหมือนกัน ชอบอบายมุขเหมือนกัน ก็เลยพากันไปนรกด้วยกัน

ผู้หญิงที่มีกิเลสหนาก็มักจะโดนชักจูงด้วยอบายมุขได้ง่าย เพียงแค่หลงชอบเสพสิ่งเดียวกันก็อาจจะยอมร่วมหอลงโรงด้วยกันได้แล้ว จากความหลงติดหลงยึดสุขลวงจากการเสพอบายมุข คือกิเลสในระดับหยาบ ที่พาให้เสียเวลา เสียทรัพย์ เสียสุขภาพ เสียชีวิต ฯลฯ

2.ผู้ชายบ้ากาม(กามคุณ): กามในที่นี้คือกามคุณ๕ คือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่เป็นภัย ผู้ชายที่ติดกามก็มักจะบำรุงดูแลตัวเองให้ดูดี งดงาม ออกกำลังกายให้ดูดี หรือกระทั่งไปผ่าตัดศัลกรรมให้หน้าตาดีดั่งใจหมาย ในขณะเดียวกันความบ้ากามก็ยังจะทะลักไปบ้านอกร่างกายตัวเองด้วย คือจะไปเสพคนสวยคนงาม ด้วยความที่คนสวยคนงามเหล่านั้นก็มีกิเลสของเธออยู่ คือความติดสวย สุดท้ายก็จะพากันบำรุงบำเรอกิเลส พากันกินอาหารอร่อย พากันแต่งตัวให้ดูดี รวมไปถึงการเสพกามเมถุนร่วมกัน เพราะยังมีกิเลสในชั้นของกามอย่างแน่นหนา

ผู้ชายที่พรั่งพร้อมไปด้วย รูปงาม เสียงงาม กลิ่นงาม และสัมผัสอันน่าหลงใหล จะพาให้ผู้หญิงที่บ้ากามด้วยกันหลงไปได้ง่าย เช่น เพียงแค่พบคนหน้าตาดี ก็สามารถยอมพลีกายให้เขาได้เพียงแค่ต้องการเสพสมใจว่าได้คบหากับคนหน้าตาดี หรือไม่ก็ยินดีคบหาเป็นแฟน หรือแต่งงาน เพราะชอบที่เขาหน้าตาดี พูดดี มีทักษะการสัมผัสเสียดสีที่ดี ก็หลงติดกามกันไป

ความงามด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสนั้น เป็นสิ่งที่ดึงดูด พาให้หลงใหล พาให้เคลิ้มหลงไป แม้แต่หญิงที่ว่าใจแข็งมั่นคงก็อาจจะพ่ายแพ้ต่อพลังแห่งกามทั้ง ๕ นี้ได้ ยอมเผลอไปรักโดยที่ไม่ทันระวังตัว โดยไม่รู้ตัวเลยว่าได้แพ้พ่ายต่อกิเลสไปแล้ว

3.ผู้ชายเจ้าชู้(โลกธรรม) : เขาเหล่านี้คือผู้ที่เสพลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ผู้ชายเจ้าชู้มักสามารถใช้โลกธรรมในการจูงใจหญิงได้ค่อนข้างเก่ง ป้อนคำหวาน ดูแล เทคแคร์ เอาใจใส่ บำเรอด้วยทรัพย์สิน คำเยินยอ และให้ความสำคัญ ทำเสมือนว่าเขาให้ค่ากับผู้หญิงคนนั้นมาก แต่แท้ที่จริงเขาเองสามารถที่จะเข้าใจและใช้กิเลสที่ระดับที่ละเอียดกว่ากามมาเป็นตัวล่อผู้หญิงได้

เราคงเคยสังเกตกันมาบ้าง ว่าทำไมบางทีผู้ชายที่หน้าตาไม่ดี ไม่หล่อ ดูไม่ดี แต่กลับควงคู่กับผู้หญิงสวยๆอยู่เสมอ นั่นก็เพราะเขามีลาภ ยศ สรรเสริญ อยู่ในปริมาณมาก หญิงที่ว่าจิตใจมั่นคง ไม่มัวเมาในอบายมุข ไม่หลงในกามรูปหรือไม่หลงคนหน้าตาดี ก็อาจจะมาแพ้พ่ายกันในด่านของโลกธรรมนี้ก็ได้ นั่นเพราะตัวเธอเองก็อยากเสพความสบาย เสพความร่ำรวย การเอาใจใส่ จนอาจจะเผลอยอมปล่อยตัวปล่อยใจเพื่อแลกกับการได้เสพกิเลสเหล่านี้ ซึ่งมีเขาผู้มากไปด้วยโลกธรรม คอยบำรุงบำเรอให้ก็เป็นได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายเจ้าชู้จะหยุดอยู่แค่เรา ถ้าเราเองไม่สามารถสนองต่อความอยากในกามของเขา ไม่สนองโลกธรรมของเขา เขาก็อาจจะทิ้งเราไปมีคนใหม่ที่สามารถจะสนองกิเลสเขาได้มากกว่าเรา ซึ่งเขาจะทำเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะเขามีอำนาจในการที่จะสนองกิเลสผู้อื่นอยู่ในมือ เป็นอำนาจบาป ที่นำมาซึ่งความทุกข์ นำมาซึ่งนรกอย่างไม่จบไม่สิ้น

4.ผู้ชายนักฝัน(อัตตา): ช่างคิดช่างฝัน ปั้นจินตนาการ วาดฝันไว้ เจ้าอุดมการณ์ ชายในกลุ่มนี้มักจะไม่ได้ล่อลวงหญิงด้วย อบายมุข กามคุณ และโลกธรรมอีกแล้ว แต่จะล่อลวงเธอด้วยความฝัน อุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่งดงาม เช่น คำพูดที่บอกว่าเธอคือเนื้อคู่ , เราจะเป็นคู่รักที่รักกันตลอดไป , ผมจะซื่อสัตย์ตลอดไป , ผมจะดูแลคุณตลอดไป ,เราจะพากันเจริญไปด้วยกัน ,เราจะสร้างครอบครัวไปด้วยกัน เป็นคำมั่นสัญญา เป็นอัตตา เป็นความยึดมั่นถือมั่น ทำตัวเหมือนหลักชัยให้ผู้หญิงซึ่งอ่อนไหว อ่อนต่อโลกได้ยึดเกาะพาให้หลงใหล พาให้ฝากตัว ฝากใจ ฝากชีวิตเอาไว้กับเขา

แต่ความยึดมั่นถือมั่นนั้นก็เป็นกิเลส อุดมการณ์จะยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่ถ้ารากของมันคืออัตตา ก็เหมือนมีรังปลวกอยู่ใต้หลักไม้ใหญ่ จะดูยิ่งใหญ่หรือแข็งแกร่งแค่ไหนไม่นานก็คงจะผุกร่อนพังทลาย เพราะโดนปลวกคือกิเลสกัดกินจนหมด

สิ่งที่เคยยึดมั่นอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในสักวันหนึ่ง คำสัญญากลายเป็นเพียงแค่ลมปาก สิ่งที่เหลือคือความอึดอัดกดดัน ความผิดหวัง ความฝันที่พังทลาย ทิ้งไว้แต่ซากแห่งความฝันของหญิงผู้ที่ได้แต่หลงเสพหลงละเมอไปในคำหวานและอุดมการณ์ของคนกิเลสหนา

5.ผู้ชายรักจริง(เสน่หา): จะมีลักษณะที่ดูปักมั่น หลงมัวเมาในหญิงที่เธอหมายมั่น ทุ่มเทเอาใจ รักจริงหวังแต่ง แสวงหาสิ่งบำรุงบำเรอกิเลสให้กับเธอ ถ้าเธอชอบอบายมุขก็จะพาเธอไปเสพอบายมุข ถ้าเธอชอบกามคุณ ก็จะไปเธอไปกินของอร่อย พาไปซื้อเสื้อผ้าสวยๆ ทำตัวเองให้ดูดีให้เธอชอบ ถ้าเธอชอบโลกธรรม ก็จะขยันทำงานหาเงินมาให้เธอ พยายามทำตัวให้ประสบความสำเร็จในชีวิต มีฐานะหน้าที่การงานที่ดีเพื่อให้เธอยอมรับ ถ้าเธอชอบอัตตาก็ป้อนคำมั่นสัญญาผูกมัดเธอด้วยกิเลส ด้วยสัญญาว่าเราจะไม่พรากจากกัน เราจะดูแลกันไปชั่วนิรันดร์

เป็นผู้ชายที่มีกลยุทธ์และใช้วิธีที่หลากหลายเพื่อที่จะมัดใจเธอ ให้เธอยอมรับ ให้เธอหลงเสพในความรักของเขา ให้เธอรักเขา หญิงที่ว่าใจแกร่งเพียงใด เจอกับกลยุทธ์ทุ่มเทเอาใจใส่ สลับซับซ้อนแบบนี้ ก็ยากที่จะหนีรอดไปได้ เป็นกลยุทธ์ที่พรั่งพร้อมไปด้วยกิเลสในทุกระดับ ยินดีบริการ บำรุงบำเรอให้เธอเต็มที่จนกว่าเธอจะยอมรับรัก

ที่เขาทำทั้งหมดนี้ เขาก็แค่ทำให้เธอเพียงคนเดียว เพราะเขาอยากจะเสพเธอคนเดียว อยากจะได้เธอมาคนเดียว อาจจะกระจายการสนองกิเลสเหล่านี้ออกไปยังคนใกล้ชิดของเธอแต่จะไม่ได้เน้นมากเท่าไหร่

แต่ความเสน่หานั้นไม่เที่ยง มีรักได้ก็หมดรักได้ ทันทีที่เขาได้เสพสมใจทุกอย่างแล้ว เขาก็อาจจะละทิ้งเธอไปอย่างไม่ใยดีก็ได้ บางคนอาจจะแค่ยินดีเสพแค่คุยกัน บางคนอาจจะยินดีเสพแค่เป็นแฟนกัน บางคนอาจจะยินดีเสพแค่มีอะไรกัน บางคนอาจจะยินดีเสพแค่แต่งงานกัน บางคนอาจจะยินดีเสพแค่มีลูกด้วยกัน ถ้าเขาได้รับสิ่งที่เขาอยากจะเสพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็คือนรก เมื่อความอยากเสพในกิเลสนั้นหมดเชื้อเพราะได้เสพสมใจแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องบำรุงบำเรอสนองกิเลสเธออีกต่อไป เป็นเวลาที่หญิงที่หลงไปกับรักจริงที่หลอกลวงจะต้องเริ่มต้นใช้หนี้บาปหนี้กรรมกันต่อไป

6.ผู้ชายแสนดี(เมตตา): ชายผู้มีจิตใจที่เมตตา เกื้อกูลทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เขาให้ความสำคัญกับทุกๆคน คอยดูแล กิจกรรมการงานของของเพื่อน ดูแลทุกข์สุขของเพื่อน มิตรสหาย โดยไม่ได้หวังเสพสิ่งใด ทำไปด้วยจิตที่เมตตาหวังจะให้คนอื่นได้ดี ให้คนอื่นมีความสุข คลายทุกข์

แม้เขาเหล่านี้จะมีเมตตามาก แต่ก็อาจจะยังมีกิเลสในเรื่องของคนคู่อยู่ บางครั้งความเมตตานั้นอาจจะปนผสมไปด้วยกิเลสลึกๆในใจของเขา คือเมตตาปนไปกับความอยากเสพเธอคนนั้น แต่ก็มักจะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนนัก เพราะจะไม่ออกมาในรูปของการจีบ การป้อนคำหวาน การเอาใจ แต่จะเป็นการดูแล ช่วยเหลือ ปรับทุกข์ บำรุงสุข เป็นเพื่อนคู่คิดคอยปลอบใจ ไม่ล่วงเกินเข้าไปในเชิงชู้สาวมากนัก ดูเหมือนว่าไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทน

เขาเหล่านี้จะไม่บำรุงบำเรอเธอด้วยกิเลส พาไปพบแต่สิ่งที่พาให้ชีวิตเจริญ จะไม่พาเธอไปทางเสื่อม เช่น ไม่พาไปเสพ อบายมุขอีกแล้ว แต่ยังมีกามคุณบ้าง เหลือโลกธรรมบ้าง และอาจจะยังเหลือในส่วนของอัตตาตามแต่ที่เขาจะมีอยู่บ้าง ถ้าจะให้เปรียบก็เรียกได้ว่าเป็นคนดีที่มากแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงกับดีที่สุด

แม้ว่าจะเราจะเจอผู้ชายที่ดี ไม่เอากิเลสมาบำรุงบำเรอขนาดนี้ แม้ว่าจะเรียกได้ว่าพากันเจริญ ก็อย่าได้พลั้งเผลอไปเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะดีแสนดีแค่ไหน มีความสุขขนาดไหน แต่การดำเนินชีวิตคู่นั้น เราก็ต้องรับวิบากกรรมร่วมกัน ทุกข์ด้วยกัน มีครอบครัวซึ่งเป็นภาระด้วยกัน ผูกภพ ผูกชาติ ผูกกรรมไปด้วยกัน ความสุขที่ได้ก็ไม่ยั่งยืน เพราะสุดท้ายก็ต้องตายจากกันไป เมื่อเรายึดคนดีเป็นของเรา เมื่อเขาพรากจากเราไปเราก็ต้องเสียใจอยู่ดี

7.ผู้ชายที่มีรักแท้(อุเบกขา): ความรักแท้นั้นหากจะบอกว่าเป็นรักที่ครอบครองก็คงจะไม่ถูกนัก ชายที่มีรักแท้คือผู้ที่ยินดีจะเสียสละความรักของตน ยอมทิ้งความสุขส่วนตนให้คนอื่น ยอมทิ้งโอกาสในการเสพสุขของตนให้กับผู้อื่น ยอมปล่อยให้เนื้อคู่ของตนเองนั้นเป็นอิสระจากการผูกมัดโดยกรรมกิเลสใดๆทั้งปวง ยอมที่จะให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรรมที่ควรจะเป็นโดยไม่คิดจะเอากิเลสของตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วม

การปล่อยวางความรัก ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นเหล่านี้ หากมองผ่านๆโดยทั่วไปก็เหมือนกับเอาตัวรอด เหมือนกับเห็นแก่ตัว แต่แท้ที่จริงไม่ใช่แบบนั้น

เพราะเขาคนนั้นมีความรักที่มากกว่ารักในแบบของการครอบครอง มากกว่ารักของคนสองคน มากกว่ารักแบบครอบครัว มากกว่ารักแบบคนรัก จึงยอมสละรักที่น้อย เพื่อที่จะได้รักที่มากกว่า นั่นคือรักที่สามารถเผื่อแผ่ไปให้กับทุกคนบนโลกได้ รักได้แม้กระทั่งศัตรู เป็นรักที่ให้ได้อย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นใครหรืออะไรก็ตาม

แม้แต่ชายที่ดูเหมือนว่าจะกล่าวอ้างว่ามีรักแท้แบบนี้ก็อย่าได้ตายใจไป เพราะกิเลสของคนเรานั้นมีความลับลวงพราง อาจจะมีผู้คนที่มัวเมาในอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา อวดอ้างเอาคุณเหล่านี้เป็นของตนก็เป็นได้ เราจึงต้องคอยสังเกตติดตาม พิจารณาตามไปว่ารักแท้ที่เขามีนั้นเป็นจริงดังที่เขาบอกหรือไม่ หรือเป็นรักลวงที่สอดไส้ไปด้วยกิเลสก้อนใหญ่

….ดังที่ยกตัวอย่างมา จะเห็นได้ว่ากิเลสนั้นมีลีลาท่าทางมากมายที่จะทำให้เราหลงไปกับสิ่งลวง สิ่งที่ไม่เป็นจริง เมื่อหลงเสพหลงยึดไปแล้ว เช่น คบกันเป็นแฟน ได้เสียกัน แต่งงาน มีลูก มีครอบครัว สุขที่เคยมีก็อาจจะเปลี่ยนสภาพเป็นทุกข์ก็ได้ ทุกข์จากการมี ทุกข์การยึด ทุกข์การครอบครอง

กิเลสนั้นมีความซับซ้อน มีความหลากหลายของการแสดงลีลาออกมา แม้ว่าบางครั้งเราตั้งสติดีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถตามการยั่วยวนของกิเลสเหล่านั้นได้ทัน เพราะเวลาที่พบเจอจริงๆมักจะผสมปนเปกันมาแบบมั่วๆ ดูไม่ออก แยกไม่ออกว่าแบบไหนจริงใจ แบบไหนหลอกลวง

สุดท้ายไม่ว่าเหตุจะเป็นอย่างไร เขาจะมาจีบเรา หรือเราจะไปหลงคารมของเขาเอง เราก็เป็นเหยื่ออยู่ดี เหยื่อของกิเลสที่พาให้หลงไปว่าสิ่งที่เขานำมาปรนเปรอบำรุงบำเรอเรา คำหวาน ของขวัญ คำมั่นสัญญา การดูแลเหล่านั้นจะอยู่ตลอดกาล จะไม่แปรเปลี่ยน

หญิงใดที่สามารถรักษาความโสด จิตใจที่สันโดษ พอใจในสิ่งที่ตนมี ไม่หาชายใดมาบำรุงบำเรอกิเลส บำเรออบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตาของตัวเองแล้ว นับได้ว่าเป็นหญิงที่มีบุญ ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องทรมานจากการแบกวิบากบาปจากการมีคู่ แบกสามี แบกลูก แบกครอบครัว แบกแม่ผัว แบกพ่อตา แบกญาติ เพราะลำพังแค่แบกชีวิตตัวเองก็หนักพออยู่แล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

19.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์