เมื่อถูกกล่าวหา

February 24, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 536 views 0

เวลาเราอยู่นิ่ง ๆ นี่มันก็เหมือนจะไม่มีทุกข์อะไรนะ แต่เวลามีคนมากล่าวหาใส่ความเราหรือคนที่เรารักนี่สิ ใจมันก็มักจะไม่อยู่เฉย ดิ้น เดือด จนอาจจะถึงขั้นด่ากลับไปได้

ผมก็เคยเจอกรณีที่คนเขามากล่าวหาด้วยความเข้าใจผิดสมัยทำโรงทาน เขาก็กล่าวหาจริงจัง เอาเรื่องเลยนะ หาว่าเราไปด่าเขา ๆ แล้วเขาก็ยืนด่าเราสารพัดต่อหน้าฝูงชนนั่นแหละ ว่าเราไม่มีศีลบ้าง หน้าตัวเมียบ้าง หากระโปรงมาใส่บ้าง สารพัดคำดูถูกปรุงมาอย่างเผ็ดร้อน สาดใส่เรานั่นแหละ

แต่ด้วยเราก็รู้ว่าเขาเข้าใจไปผิดไง เราก็ไม่ได้โกรธตามเขา เรารู้ตอนนั้นเลยว่าเอาแล้ว วิบากกรรมมาแล้ว ก็ไม่ได้คิดแค่รับนะ ตอนนั้นก็คิดว่า ทำยังไงดีหนอให้มันดีขึ้น

ก็ทำตามที่พระพุทธเจ้าตรัสนั่นแหละ คือ 1. ไม่โกรธ 2.พูดแต่ความจริง แต่ทำไปแล้วมันไม่คลี่คลายก็วางใจไป สุดท้ายเขาจะให้เราขอโทษ เราก็ตรวจใจไปว่าเรายอมได้ไหม ขอโทษทั้งที่เราไม่ได้ทำผิดอย่างเขาว่าได้ไหม

ก็นึกไปว่า จริง ๆ ส่วนผิดเราก็มีนะ คือไปยืนคุยหน้าโรงทานทำให้เขาเข้าใจผิด ได้ยินผิด จริง ๆ เราก็ไม่ได้พูดถึงเขาหรอก เราคุยกับเพื่อน แล้วอาจจะกวาดสายตาไปโดนเขา อันนี้เราก็ไม่ได้สำรวมจริง ๆ เจตนาก็ไม่มีหรอก แต่ก็ขออภัยเขาไป เขาก็เลยยอมไม่เอาเรื่อง(ที่เขาสร้างเรื่องขึ้นมาเอง)

ในชีวิตก็เคยเจอเรื่องแบบนี้เยอะ เรื่องที่เราไม่ได้ทำหรอก แต่เขาปั้น เขาปรุงขึ้นมากล่าวหาเรา สาดสี ใส่ไข่ เติมรสกันจัดจ้าน จนเรียกว่าได้ยินแล้วงง ว่าเราไปทำขนาดนั้นตั้งแต่เมื่อไหร่ บางเคสมีการมาเดาใจเราแล้วสรุปเพิ่มด้วย

ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบการมานั่งแก้ต่างเท่าไหร่ ไม่เคยพยายามพูดเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ตัวเอง รู้สึกว่ามันเสียเวลา มีคนถามค่อยบอกเขาไป ถ้าไม่มีคนถามก็ปล่อยไว้อย่างนั้น เพราะรู้สึกว่าการที่เขาเข้าใจเราผิด หรือใส่ความเรา มันไม่ใช่เรื่องของเรา เพราะยังไงเราก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาพูดอยู่แล้ว ส่วนที่เขาว่ามันจะเป็นอย่างไรมันก็เป็นเรื่องของเขา

ผมเชื่อว่าการที่เราไม่ต้องมานั่งพะวงกับการปกป้องตัวเองนี่แหละ คืออิสระ คือความผาสุก เราไม่หวงตัวหวงตน ใครจะคิดยังไงกับเราก็ได้ ใครจะเข้าใจเราไปยังไงก็ได้ ใครจะใส่ความเรายังไงก็ได้ มันคือความใจกว้าง ให้อิสระทุกคนคิด เขาจะคิดผิดคิดถูกก็เป็นบาปบุญของเขา ไม่เห็นจะเกี่ยวกับเราตรงไหน

มันจะเกี่ยวก็แค่ตอนเขาเข้ามาถึงตัวเราเท่านั้นแหละ ที่มันจะอันตราย ก็ต้องคอยระวัง หลีกการกระทบกระทั่ง การทำร้ายก็เท่านั้น หลีกไม่ได้ก็รับไป มีพระโมคคัลลานะเป็นไอดอล เราต้องหัดทำตามท่าน ต้องรับให้ได้ทุกอย่าง ต้องทนได้แม้เขาจะมาทำร้ายเรา ฆ่าเรา เราก็ต้องไม่ไปทำร้ายเขากลับ อันนี้เป็นกรรมฐานเอาไว้ฝึกน่ะนะ แต่จะฝึกได้เท่าไหร่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็มีแนวทางที่ถูกให้พัฒนาตนเองนั่นแหละ

การถูกกล่าวหานี่คือบททดสอบของชีวิตนะ ว่าเราจะยึดตัวยึดตนมากเท่าไหร่ การไปติคนอื่นก็เรื่องหนึ่ง การถูกคนอื่นติหรือเข้าใจผิดนี่มันก็อีกเรื่องหนึ่ง มันจะวัดความแกร่งของใจเรา วัดความทน วัดปัญญา มันต้องทนได้ทั้งเขามาติเรา ติคนที่เรารัก ติความเห็นความเข้าใจของเรา เขาติได้สารพัดเรื่องนั่นแหละ เราก็มีหน้าที่ทำความเข้าใจให้ถูกตรงอย่างเดียว คือไม่ไปโกรธ อึดอัด ขุ่นเคืองใจเพราะเขามากระทบ

คำติหรือการโดนใส่ร้ายใส่ความนี่เป็นอาหารอย่างดีของความเจริญเลยนะ เป็นโจทย์จริง ๆ ให้ปฏิบัติ ไม่ใช่นั่งนึกเอาเดาเอา แต่ถ้าปรับใจไม่ทันก็เป็นนรกร้ายได้เหมือนกัน ก็มีอยู่แค่สองอย่างนั่นแหละ คือเราจะก้าวข้ามความโกรธ หรือจะร่วงลงไปในนรก มันก็อาจจะไม่ง่ายนักในโจทย์นี้ แต่ถ้าทิศทางเราชัด แม้เราร่วงไปบ้าง เราจะตั้งสติและปีนขึ้นมา

แต่ถ้าใครไม่ไหว ไม่มั่นใจ ไม่ค่อยแกร่ง ก็อย่าไปหาโจทย์ในชีวิตให้มากนัก อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน หมั่นทำความดี ขัดเกลาตัวเองไปในเรื่องที่ทำไหว กระทบโลกให้พอเหมาะกับความเจริญเท่าที่ตนเองจะทำไหว ก็จะไม่ทุกข์หนัก ไม่เสี่ยงต่อการล่วงหล่นมากนัก

วิธีตรวจสอบ ความเต็มรอบของการปฏิบัติตนเป็นโสด

February 23, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 546 views 0

หลักฐานอันหนึ่งที่จะเอามาเทียบกับสภาวะตนเองได้นั่นก็คือ ข้อความในอนุตริยสูตร ที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเปรียบเทียบสิ่งที่เป็นเลิศยอดที่สุดในโลก กับสิ่งยอดแย่ที่คนโลกีย์หลงแสวงหา

ในหัวข้อ “ลาภานุตตริยะ” ท่านกล่าวถึงการได้ลาภในโลกหลาย ๆ อย่าง รวมทั้งการได้มีลูกและได้คู่ครอง

แล้วท่านก็ตรัสสอนต่อไปว่า “ลาภแบบนี้มีอยู่ แต่ล้วนเป็นลาภเลว

ก็เอาจิตตัวเองนี่แหละไปเทียบ ถ้าปฏิบัติจนถึงผล ความเห็นจะแนบเป็นเนื้อเดียวกับพระพุทธเจ้าโดยไม่มีแม้ขอบเผยอขึ้นมาเลย เนียนกว่าแปะเทปแล้วละลายเป็นเนื้อเดียวกันเสียอีก เพราะถ้าเห็นถูกมันจะเป็นจิตเดียวกันแบบไม่มีข้อแม้เลย

แต่ถ้าคนยังไม่ถึงผล มันจะมีสารพัดข้อแม้และเงื่อนไข จะมีคำแย้งในหัวขึ้นมาเช่น “แต่ว่า…” หรือก็ไม่เชื่อจริง ๆ หรอกว่าเป็นลาภเลว หรือก็ไม่คิดว่ามันจะเลวขนาดนั้นหรอกมั้ง จิตมันจะไม่น้อมเข้าตามธรรมนี้ มันจะมีความไม่ชัดเจน เกิดความขุ่นข้อง ขัดเคือง หมองใจ ไม่ยินดี จะไม่สดชื่น ไม่สดใส ไม่ร่าเริงในธรรม คือไม่อยากรับรู้ความเห็นเช่นนี้นั่นแหละ

จริง ๆ ก็มีอีกหลายสูตร เช่น นั่งข้างงูพิษ ก็ยังดีกว่านั่งคุยกับผู้หญิงสองต่อสอง เป็นต้น คนที่สภาวะเต็มรอบจะเห็นภัยตามนั้น รู้ภัยตามที่พระพุทธเจ้าว่า แม้จะไม่ชัดในปริมาณของโทษ แต่จะชัดในแนวทางของพิษภัย

ผมก็ใช้วิธีเหล่านี้แหละตรวจสอบใจไปเรื่อย ๆ ศึกษาไปก็เห็นตามท่านจริง ๆ เพราะถ้าทำผิดไปจากที่ท่านว่า มันจะเกิดความเสียหายขึ้นมา แม้จิตเราจะไม่ได้คิดอะไร แต่มันจะมีวิบากเกิดขึ้น สร้างความลำบากให้ชีวิตอยู่เหมือนกัน

แล้วแบบที่เขาหลงไปว่ามีลูกดี มีเมียดี มีผัวดี นี่ไม่ต้องห่วงเลย ก็แช่อยู่แถว ๆ นั่นแหละ จมอยู่กับลูกดี คู่ดีนั่นแหละ ไม่ต้องไปไหน ตราบที่เขายังมีความเห็นเหล่านั้นอยู่

คนพาลสอนรัก

February 23, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 532 views 0

ความรักนี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่พาคนหลงได้มากมายมหาศาลอยู่แล้ว และถ้าได้คนพาลมาสอนเรื่องความรักซ้ำไปอีกด้วย รับรองไปไหนไม่รอด เขาก็พาวนอยู่ในเรื่องคู่นั่นแหละ

ในสังคมทุกวันนี้ มีความเห็นที่หลากหลายมากมาย และก็มีความเห็นผิดเกี่ยวกับความรักปนอยู่ในนั้นเยอะมากเสียด้วย และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ คำความเหล่านั้นดันออกจากผู้เห็นผิดที่หลงว่าตนเห็นถูกนั่นเอง

หากจะแสดงภาพรวมให้พอนึกออก ภาพกว้าง ๆ ของคำสอน ความเห็น ทฤษฎีเกี่ยวกับความรัก จะเป็นไปใน 2 แนวทาง คือพาให้ยินดีในการมีคู่ กับคลายความอยากมีคู่ มีแค่สองทิศนี้เท่านั้น ส่วนทิศกำกวมจะขยายทีหลัง

การพาให้คนยินดีในการมีคู่คือ คำพูดหรือข้อความนั้น ๆ มีเจตนาที่จะน้อมให้คนยินดีในการมีคู่ ปิดบังไม่ให้เห็นโทษภัยในการมีคู่ ไม่กล่าวถึงประโยชน์ในการอยู่เป็นโสด และยินดีเมื่อผู้รับสาร เกิดความยินดีในการมีคู่นั้น ๆ ไม่ว่าจะในเงื่อนไขใดก็ตาม

การพาให้คนคลายความอยากมีคู่ คือ คำพูดหรือข้อความนั้น ๆ มีเจตนา พาให้คนออกจากความหลงมัวเมาในสภาพคนคู่ ชี้ให้เห็นโทษภัยของการอยู่เป็นคู่ ๆ ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการอยู่เป็นโสด อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสในหลายสูตร เช่น บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง , หรือการที่ท่านสอนให้ไม่ไปคลุกคลีกับเพศตรงข้าม เช่น สอนชายว่า ถ้าจะให้ชีวิตมีความผาสุก ไม่พึงเอาชีวิตไปคลุกคลีกับผู้หญิง หรือการได้ลูกหรือคู่ครอง พระพุทธเจ้าว่าเป็นการได้ลาภเลว เป็นต้น

เราจะเห็นว่าโลกุตระนี่มันชัด ๆ เลย ชี้ชัดไม่กำกวม ทิศไหนสวรรค์ ทิศไหนนรก ไม่มีตรงกลาง มีแต่ทางเจริญกับทางเสื่อมก็เลือกเอาเอง

การจะพาคนไปทางอยากมีคู่ เขาก็ทำกันทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่แล้ว สื่อต่าง ๆ ละคร เพลง หนัง ฯลฯ นี่แหละสื่อกระตุ้นราคะอย่างหนัก เขาก็ทำกันอยู่เต็มโลก มอมเมาคนอยู่ในโลก

ส่วนที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้คือพวกกำกวม คล้าย ๆ จะเป็นทางสายกลาง คือ มีรักแต่จะไม่มีทุกข์ เช่นมีรักอย่างมีสติ มีรักอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือมีรักด้วยเมตตา จะเห็นว่าเขาจะเอาความดีมาผสมในรัก ให้รักนั้นน่าเสพ เหมือนเอาน้ำผึ้งมาเจือในยาพิษ ใส่สีใส่กลิ่น สวยงามหอมหวาน มันก็ดูเหมือนน่าเสพ ข้อความจะดูกำกวม ไม่ชัดเจนว่าตกลงมีแล้วดีหรือไม่มี แต่ถ้าจับใจความดูจะมีทิศทางที่ว่า มีคู่ก็ไม่มีโทษภัยนักหรอก

สรุปคือพวกกำกวมนี่สุดท้ายจะไปทางฝั่งพาให้ยินดีในการมีคู่ แต่มักจะวางตำแหน่งตัวเองไว้ว่าเป็นเหมือนบัณฑิตที่ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ มันจะมีความย้อนแย้งในตัวของมัน แต่คนส่วนมากจะชอบ ยินดีชื่นชมในคำกำกวมเหล่านี้ เพราะมันได้เสพสมใจไง มันมีรักแล้วไม่รู้สึกผิด ไม่รู้สึกว่าบาป ไม่รู้สึกว่าโง่ ไม่ต้องอายใคร แค่มีวาทะเก๋ ๆ ก็กลบเกลื่อนได้หมดแล้ว

นี่คือมารยาของคนพาลที่หลอกคนซ้อนไปอีกทีหนึ่ง ลำดับแรกคือเขาหลอกตัวเองอยู่ก่อนแล้ว แล้วก็เอาความเห็นผิดของตัวเองมาหลอกคนต่อ ดังจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้คำตรัสของพระพุทธเจ้าในหมวดความรักมักจะไม่ค่อยมีคนเอามาใช้เท่าไหร่ คำที่มันหนัก ๆ พระสูตรคม ๆ นี่เขาไม่เอามาใช้กันเลย แต่ถ้าใช้เวลาศึกษาจะเจอเยอะมาก

ที่เขาใช้กันบ่อย ๆ ก็บทที่ว่า สามีภรรยาจะได้เกิดมาเจอกันเรื่อยไป ต้องมีศีล ศรัทธา จาคะ ปัญญา เสมอกัน (สมชีวิสูตร เล่ม 21 ข้อ 55) สูตรนี้จะจบตรงประโยคที่ว่า “ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก ฯ” ตรงนี้เองที่ปราชญ์เขาไม่ค่อยได้ยกมาสอนกัน คือสภาพของคนคู่นี่ มันยังไม่ใช่สภาพที่สุดของความเจริญ แต่ภพของผู้เสพกามติดใจในสวรรค์

เนื้อหาของสูตรนี้ไม่ใช่ว่าการตรวจเชคว่าคนนั้นคนนี้ใช่คู่ครองรึเปล่า แต่เป็นการถามเพื่อยืนยันสิ่งที่ตนต้องการ คือสามีภรรยาคู่หนึ่งมาหาพระพุทธเจ้า แล้วต่างเล่าว่าตนเองนั้นคบกับคู่ครองมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่เคยนอกใจ จึงไม่มีทางนอกกายไปได้ ว่าแล้วก็บอกความต้องการแก่พระพุทธเจ้าว่าทั้งสองต้องการจะพบกันตลอดไป พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบตามที่ถาม คนถามเขาไม่ได้ถามนะว่าทางพ้นทุกข์ ทางหมดทุกข์ไปทางไหน เขาถามทางให้ได้เจอกันเรื่อยไป พระพุทธเจ้าก็ตอบตามนั้นเท่านั้น แล้วท่านก็แทรกยาทิพย์ไปตามฐานของสามีภรรยาคู่นี้คือสอนให้สำรวม มีธรรมะ พูดจากันดี ๆ ไม่ใจร้ายหรือทำร้ายกัน แล้วก็จบด้วยทำแบบนี้จะเป็นผู้เสวยกามพอใจอยู่เทวโลก

มีหลายครั้งที่มีคนมาถามแบบ… จะเรียกว่ายังไงดี คือถามโง่ ๆ นั่นแหละ เช่น กระผมได้ยินมาว่าตรงนั้นตรงนี้เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบว่า แม้เราก็ได้ยินมาว่าฯ คุยแบบนี้กันอยู่สักพัก… จนพระอานนท์ทนไม่ไหว ต้องชี้นำให้ถามให้ถูกซิ ถามแบบนั้นจะได้ประโยชน์อะไร คือบางทีเรื่องมันก็อยู่ที่ต้นทางด้วย ถ้าจะศึกษาธรรมะนี่บางทีก็ต้องลงรายละเอียดในพระไตรปิฎกเหมือนกัน มันก็เป็นหลักฐานที่มากที่สุดที่พอจะศึกษาหาความในเหตุและที่มาได้

ดังนั้นจึงไม่ควรรีบปักใจเชื่อ พระเขาเป็นเกจิอาจารย์ก็ตาม แม้เขาน่าเชื่อถือก็ตาม แม้เขามีชื่อเสียงก็ตาม แม้คนส่วนมากจะเชื่อตามเขาก็ตาม แม้เราจะชอบใจก็ตาม และแม้คำความเหล่านี้จะมีอยู่ในพระไตรปิฎกก็ตามที

ก็ต้องลองด้วยตัวเอง คือทำแล้วพ้นทุกข์ก็ทำ แต่ถ้าทำแล้วไม่พ้นทุกข์ก็เลิก (กาลามสูตร/ เกสปุตตสูตร) เพราะสุดท้ายความเป็นพาลก็ใช่ว่าจะรู้กันได้ง่าย ๆ ก็ต้องโดนหลอกจนทุกข์เข้าจริง ๆ นั่นแหละ จึงจะพอตาสว่างกันได้ เห็นทุกข์แล้วเห็นธรรมนี่คือมีปัญญา แต่เข้าไปคว้าทั้งที่มันทำให้ทุกข์นี่มันไม่มีปัญญา มันก็ต่างกันตรงนี้แหละ

บัณฑิตเก๊ พาลจำแลง

February 22, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 582 views 0

เวลาเราหลง ไม่มีปัญญา ไม่ฉลาด เราก็จะหลงว่าการคบคนพาลนั้นดี ไม่มีภัย ดีไม่ดีไปอวยคนพาลเข้าอีก

แต่เมื่อความจริงเปิดเผย วิบากหมด หายโง่ เกิดปัญญา จึงจะเห็นความพาลในคนพาล เมื่อนั้นแหละ ให้ระวังใจให้ดี อย่าเผลอไปคบคนพาลอีกครั้งด้วยการเอาจิตไปหมกมุ่นกับเรื่องคนพาล

ในชาดกตอนหนึ่ง เป็นเรื่องของอดีตชาติหนึ่งของพระสารีบุตร ที่หลงไปคบคนพาล เป็นคนพาลที่ทำตัวเป็นผู้ทรงศีล แสร้งว่าตนวิเศษ ท่านก็หลงไปศรัทธา เคารพ สุดท้ายเผลอไปเล่าความลับที่อันตรายถึงชีวิตทั้งครอบครัวด้วยเหตุแห่งการล่อลวงของคนพาลนั้น

กลายเป็นว่าเกือบจะต้องตายทั้งโคตรเพราะเชื่อใจคนพาล เมื่อรู้ความจริงว่าเขาเป็นคนพาล เอาความลับไปขาย ก็เกิดความชิงชัง โทษคนพาล จะเอาเรื่อง จนพระพุทธเจ้าในชาตินั้นได้เตือนสติว่า ที่ท่านพลาดไปเชื่อคนพาลก็คือความผิดของท่านเอง

ก็เหมือนกับที่เราหลงไปเชื่อคนพาลนั่นแหละ ก็คือความโง่ของเราเอง จริง ๆ คนพาลมีอยู่เต็มโลกอยู่แล้ว คนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิต เป็นพระอริยะต่าง ๆ นา ๆ ก็มีอยู่เต็มโลก เป็นกับดักที่มีอยู่ทั่วไป แต่เราหลงโง่ไปติดกับดักนั้นเอง แล้วจะโทษใครได้ นอกจากความโง่ ความไม่มีปัญญาของเราเอง

เพราะโทษคนพาลไป ทำร้ายคนพาลไป ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น คนพาลมีมากเท่ากับดินทั้งแผ่นดิน ปราบให้ตายก็ปราบไม่หมด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าให้ห่างไกลคนพาล เมื่อเห็นความพาล ให้ตีห่าง ให้ถอยออกมาเลยจะปลอดภัยที่สุด

อย่าไปติดดียึดดีว่าจะสั่งสอนคนพาล อันนั้นทำไม่ได้ เพราะคนพาลเขามีธาตุเพ่งโทษ หลงตัวหลงตน เสแสร้งแกล้งทำ จิตเขาเองก็วกวนวิกลจริตในตัวอยู่แล้ว จะให้เอาธรรมะไปใส่ก็เหมือนเอา อาหารดี ๆ ไปใส่ในกองขี้ มันก็เสียของ เขาจะเลิกเป็นคนพาล เขาต้องทำด้วยตัวเอง

ยิ่งเราไปพลาดท่าเสียทีให้เขา เคยไปเชื่อฟังรับใช้เขามาก่อนนี่หมดสิทธิ์เลย มันจะมีวิบากร้ายกั้น วิบากจากความโง่ของเรานั่นแหละ คนพาลจะไม่มองเหมือนเรา เขาจะกระหยิ่มยิ้มย่องเวลาคนมาหลงศรัทธาเขา แล้วเขาก็จะยึด และยกตนข่มผู้อื่นไว้เสมอ

บางทีแค่เราไปคุยด้วย ไปติดต่อประสานงานด้วย แต่ก็ไม่ใช่ด้วยเหตุแห่งความศรัทธา เขายังหลงตัวหลงตน ว่าตนสำคัญ ตนพิเศษได้เลย เขาจะหลงให้ความสำคัญตัวเองแบบเกิน ๆ เหมือนดังเนื้อหาในชาดกตอนหนึ่ง ความประมาณว่า คนพาลแม้ได้เศษโลกธรรมแม้เล็กน้อย ก็ลำพอง ผยอง อวดดีในเศษโลกธรรมนั้น ๆ

ดังนั้นจึงไม่มีงานใด ๆ ที่ควรสัมพันธ์กับคนพาลเท่ากับงานห่างไกลคนพาล กิจกรรมห่างไกลคนพาลถือเป็นกิจกรรมที่พาเจริญ เป็นมงคล การพากันห่างไกลคนพาล ไม่คบคนพาล จะเป็นพลังกุศลที่มาก เป็นพลังที่หยุดบาป หยุดอกุศลได้ เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางแห่งความผาสุกของชีวิต