Tag: รักอย่างมีสติ

คนพาลสอนรัก

February 23, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 527 views 0

ความรักนี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่พาคนหลงได้มากมายมหาศาลอยู่แล้ว และถ้าได้คนพาลมาสอนเรื่องความรักซ้ำไปอีกด้วย รับรองไปไหนไม่รอด เขาก็พาวนอยู่ในเรื่องคู่นั่นแหละ

ในสังคมทุกวันนี้ มีความเห็นที่หลากหลายมากมาย และก็มีความเห็นผิดเกี่ยวกับความรักปนอยู่ในนั้นเยอะมากเสียด้วย และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ คำความเหล่านั้นดันออกจากผู้เห็นผิดที่หลงว่าตนเห็นถูกนั่นเอง

หากจะแสดงภาพรวมให้พอนึกออก ภาพกว้าง ๆ ของคำสอน ความเห็น ทฤษฎีเกี่ยวกับความรัก จะเป็นไปใน 2 แนวทาง คือพาให้ยินดีในการมีคู่ กับคลายความอยากมีคู่ มีแค่สองทิศนี้เท่านั้น ส่วนทิศกำกวมจะขยายทีหลัง

การพาให้คนยินดีในการมีคู่คือ คำพูดหรือข้อความนั้น ๆ มีเจตนาที่จะน้อมให้คนยินดีในการมีคู่ ปิดบังไม่ให้เห็นโทษภัยในการมีคู่ ไม่กล่าวถึงประโยชน์ในการอยู่เป็นโสด และยินดีเมื่อผู้รับสาร เกิดความยินดีในการมีคู่นั้น ๆ ไม่ว่าจะในเงื่อนไขใดก็ตาม

การพาให้คนคลายความอยากมีคู่ คือ คำพูดหรือข้อความนั้น ๆ มีเจตนา พาให้คนออกจากความหลงมัวเมาในสภาพคนคู่ ชี้ให้เห็นโทษภัยของการอยู่เป็นคู่ ๆ ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการอยู่เป็นโสด อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสในหลายสูตร เช่น บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง , หรือการที่ท่านสอนให้ไม่ไปคลุกคลีกับเพศตรงข้าม เช่น สอนชายว่า ถ้าจะให้ชีวิตมีความผาสุก ไม่พึงเอาชีวิตไปคลุกคลีกับผู้หญิง หรือการได้ลูกหรือคู่ครอง พระพุทธเจ้าว่าเป็นการได้ลาภเลว เป็นต้น

เราจะเห็นว่าโลกุตระนี่มันชัด ๆ เลย ชี้ชัดไม่กำกวม ทิศไหนสวรรค์ ทิศไหนนรก ไม่มีตรงกลาง มีแต่ทางเจริญกับทางเสื่อมก็เลือกเอาเอง

การจะพาคนไปทางอยากมีคู่ เขาก็ทำกันทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่แล้ว สื่อต่าง ๆ ละคร เพลง หนัง ฯลฯ นี่แหละสื่อกระตุ้นราคะอย่างหนัก เขาก็ทำกันอยู่เต็มโลก มอมเมาคนอยู่ในโลก

ส่วนที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้คือพวกกำกวม คล้าย ๆ จะเป็นทางสายกลาง คือ มีรักแต่จะไม่มีทุกข์ เช่นมีรักอย่างมีสติ มีรักอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือมีรักด้วยเมตตา จะเห็นว่าเขาจะเอาความดีมาผสมในรัก ให้รักนั้นน่าเสพ เหมือนเอาน้ำผึ้งมาเจือในยาพิษ ใส่สีใส่กลิ่น สวยงามหอมหวาน มันก็ดูเหมือนน่าเสพ ข้อความจะดูกำกวม ไม่ชัดเจนว่าตกลงมีแล้วดีหรือไม่มี แต่ถ้าจับใจความดูจะมีทิศทางที่ว่า มีคู่ก็ไม่มีโทษภัยนักหรอก

สรุปคือพวกกำกวมนี่สุดท้ายจะไปทางฝั่งพาให้ยินดีในการมีคู่ แต่มักจะวางตำแหน่งตัวเองไว้ว่าเป็นเหมือนบัณฑิตที่ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ มันจะมีความย้อนแย้งในตัวของมัน แต่คนส่วนมากจะชอบ ยินดีชื่นชมในคำกำกวมเหล่านี้ เพราะมันได้เสพสมใจไง มันมีรักแล้วไม่รู้สึกผิด ไม่รู้สึกว่าบาป ไม่รู้สึกว่าโง่ ไม่ต้องอายใคร แค่มีวาทะเก๋ ๆ ก็กลบเกลื่อนได้หมดแล้ว

นี่คือมารยาของคนพาลที่หลอกคนซ้อนไปอีกทีหนึ่ง ลำดับแรกคือเขาหลอกตัวเองอยู่ก่อนแล้ว แล้วก็เอาความเห็นผิดของตัวเองมาหลอกคนต่อ ดังจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้คำตรัสของพระพุทธเจ้าในหมวดความรักมักจะไม่ค่อยมีคนเอามาใช้เท่าไหร่ คำที่มันหนัก ๆ พระสูตรคม ๆ นี่เขาไม่เอามาใช้กันเลย แต่ถ้าใช้เวลาศึกษาจะเจอเยอะมาก

ที่เขาใช้กันบ่อย ๆ ก็บทที่ว่า สามีภรรยาจะได้เกิดมาเจอกันเรื่อยไป ต้องมีศีล ศรัทธา จาคะ ปัญญา เสมอกัน (สมชีวิสูตร เล่ม 21 ข้อ 55) สูตรนี้จะจบตรงประโยคที่ว่า “ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก ฯ” ตรงนี้เองที่ปราชญ์เขาไม่ค่อยได้ยกมาสอนกัน คือสภาพของคนคู่นี่ มันยังไม่ใช่สภาพที่สุดของความเจริญ แต่ภพของผู้เสพกามติดใจในสวรรค์

เนื้อหาของสูตรนี้ไม่ใช่ว่าการตรวจเชคว่าคนนั้นคนนี้ใช่คู่ครองรึเปล่า แต่เป็นการถามเพื่อยืนยันสิ่งที่ตนต้องการ คือสามีภรรยาคู่หนึ่งมาหาพระพุทธเจ้า แล้วต่างเล่าว่าตนเองนั้นคบกับคู่ครองมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่เคยนอกใจ จึงไม่มีทางนอกกายไปได้ ว่าแล้วก็บอกความต้องการแก่พระพุทธเจ้าว่าทั้งสองต้องการจะพบกันตลอดไป พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบตามที่ถาม คนถามเขาไม่ได้ถามนะว่าทางพ้นทุกข์ ทางหมดทุกข์ไปทางไหน เขาถามทางให้ได้เจอกันเรื่อยไป พระพุทธเจ้าก็ตอบตามนั้นเท่านั้น แล้วท่านก็แทรกยาทิพย์ไปตามฐานของสามีภรรยาคู่นี้คือสอนให้สำรวม มีธรรมะ พูดจากันดี ๆ ไม่ใจร้ายหรือทำร้ายกัน แล้วก็จบด้วยทำแบบนี้จะเป็นผู้เสวยกามพอใจอยู่เทวโลก

มีหลายครั้งที่มีคนมาถามแบบ… จะเรียกว่ายังไงดี คือถามโง่ ๆ นั่นแหละ เช่น กระผมได้ยินมาว่าตรงนั้นตรงนี้เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบว่า แม้เราก็ได้ยินมาว่าฯ คุยแบบนี้กันอยู่สักพัก… จนพระอานนท์ทนไม่ไหว ต้องชี้นำให้ถามให้ถูกซิ ถามแบบนั้นจะได้ประโยชน์อะไร คือบางทีเรื่องมันก็อยู่ที่ต้นทางด้วย ถ้าจะศึกษาธรรมะนี่บางทีก็ต้องลงรายละเอียดในพระไตรปิฎกเหมือนกัน มันก็เป็นหลักฐานที่มากที่สุดที่พอจะศึกษาหาความในเหตุและที่มาได้

ดังนั้นจึงไม่ควรรีบปักใจเชื่อ พระเขาเป็นเกจิอาจารย์ก็ตาม แม้เขาน่าเชื่อถือก็ตาม แม้เขามีชื่อเสียงก็ตาม แม้คนส่วนมากจะเชื่อตามเขาก็ตาม แม้เราจะชอบใจก็ตาม และแม้คำความเหล่านี้จะมีอยู่ในพระไตรปิฎกก็ตามที

ก็ต้องลองด้วยตัวเอง คือทำแล้วพ้นทุกข์ก็ทำ แต่ถ้าทำแล้วไม่พ้นทุกข์ก็เลิก (กาลามสูตร/ เกสปุตตสูตร) เพราะสุดท้ายความเป็นพาลก็ใช่ว่าจะรู้กันได้ง่าย ๆ ก็ต้องโดนหลอกจนทุกข์เข้าจริง ๆ นั่นแหละ จึงจะพอตาสว่างกันได้ เห็นทุกข์แล้วเห็นธรรมนี่คือมีปัญญา แต่เข้าไปคว้าทั้งที่มันทำให้ทุกข์นี่มันไม่มีปัญญา มันก็ต่างกันตรงนี้แหละ

ใครใครก็เคยพลาดคบคนพาล

February 21, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 655 views 0

การที่เราจะหลงไปคบคนพาลนั้น ดูเหมือนเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไป แต่การที่เราจะพัฒนาขึ้นได้นั้น เราก็ต้องก้าวออกจากความพลาดพลั้งเหล่านั้น ไม่ใช่แช่อยู่ คลุกอยู่กับคนพาล

การปฏิบัติตนไปสู่ความเป็นมงคลประการแรกจะเริ่มต้นด้วยการห่างไกลคนพาล

แต่ความเป็นคนพาลนั้นใช่ว่าจะรู้ได้ง่าย จำเป็นต้องใช้ธรรมะในการจำแนกให้ชัดเจน ยิ่งเรามีธรรมะในใจ ล้างความพาลของตัวเองได้เท่าไหร่ เราจะเห็นพาลข้างนอกได้มากขึ้น คนมีศีล ๕ ก็จะเห็นความพาลของคนไม่มีศีล ๕ คนที่มีศีลสูงกว่า ก็จะเห็นความเห็นผิดของคนที่มีฐานต่ำกว่า คนที่สูงที่สุดอย่างพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งตรัสรู้แรก ๆ เห็นความจริงทั้งหมดเลยว่าโลกนี้ไม่น่าสอนใครเลย คงจะเหนื่อยเปล่า แต่สุดท้ายท่านก็ตัดสินใจที่จะสร้างศาสนา เพื่อสอนคนที่มีกิเลสเบาบาง job description ท่านสอนเท่านี้ ท่านไม่ได้สอนทั้งหมดในโลกนะ ขนาดพระพุทธเจ้ายังห่างไกลคนพาล คบ(สอน)คนที่ตั้งใจปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์เลย (บัณฑิต)

สมัยก่อนผมก็เคยพลาดคบคนพาล แบบพาเที่ยวพาผิดศีล เกเร เกเรียนทั่วไปก็เคยอยู่ แต่แบบนั้นก็ไม่ทำให้โง่หนักหนาเท่ากับไปพลาดคบคนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิต

คนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิต จะมาพร้อมกับความฉลาดทางโลก ความฉลาดในการสร้างโลกธรรม สร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อล่าบริวาร ล่าอำนาจ ล่าทรัพย์ ฯลฯ

ตอนเราศึกษาธรรมใหม่ ๆ เราก็ไม่รู้อะไรมาก หยิบจับอะไรได้ก็อันนั้นแหละ แต่สุดท้ายนั่นแหละ มันเป็นพิษ มันเป็นกับดักที่พวกคนพาลวางไว้ เขาก็สร้างตัวตน สร้างชื่อเสียง ตลอดจนสร้างภาพว่าตนนั้นบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ คือชอบที่จะพยายามสื่อสารกำกวม ๆ แต่จะไม่ยอมให้ตรวจสอบ ถ้าไปถามจะปัดไปปัดมา เข้าถึงยาก พูดจาวกวน ฯลฯ เสียเวลาศึกษาผิด ๆ อยู่หลายปี แต่เสียเวลาอีกหลายปีกับการล้างสัญญาที่เรียนมาผิด ๆ เรียนมาผิดนี่ต้องล้าง เสียเวลา พาสับสนนะ ใช่ว่าดี เป็นสัญญาพาหลง เป็นความรู้ที่ไม่พาพ้นทุกข์

ต่อมาก็มาเจอธรรมะสายความรัก วาทะสวยหรู แค่ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็มีรักได้ รักอย่างมีสติก็มีรักได้ มีรักก็พาเจริญได้ โอโห้! โลกสวยขึ้นมาทันที ถูกใจกิเลสยิ่งนัก มิน่าทำไมเขาดังกัน ก็เพราะมันเอื้อให้เสพกิเลสนี่เอง แต่พอมาศึกษาของจริง วาทะที่กล่าวมานี่เป็นภพทั้งนั้นแหละ เป็นข้ออ้างไว้เสพกามเสพอัตตา คือเวลาคนจะเสพตามกิเลสเนี่ย เขาจะมีวิธีคิด มีวิธีพูดให้มันดูดี ให้ดูเท่ ให้ดูข่มคนอื่น ให้ดูหลุดพ้น จะได้เสพได้โดยไม่มีใครด่า ว่า นินทา ติเตียน ก็สร้างวาทกรรมแห่งอธรรมมามอมเมาตัวเองและคนอื่น อันนี้ผมก็หลงอยู่ปีสองปีเหมือนกัน เสียเวลามาก ขยะยังมีประโยชน์กว่า เพราะยังเอาไปรีไซเคิล ทำปุ๋ย ถมทะเลได้ ความเห็นผิดไม่มีค่าอะไรเลย

พวกคนพาลล้ำลึกนี่มันพาฉิบหายได้มาก คือพาให้เกิดความเห็นผิด จิตวิปลาศไปได้เลย เมาอยู่ในโลกนั้นแหละ แล้วหลงด้วยนะว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นเลิศ สิ่งดีกว่านี้ไม่มี สิ่งดีนี้ดีที่สุด เหมือนกับหนอนที่ยินดีในการจมอยู่ในกองขี้ กินอยู่ในกองขี้ เพื่อนเทวดามาทักให้ไปอยู่ในที่ที่ดีกว่า กลับชวนเทวดามากินขี้ด้วยเสียอีก อะไรประมาณนี้

เรื่องแบบนี้มันจะหลุดได้ยาก เพราะจะถูกมอมเมาแบบมืดแปดด้าน วิบากจะบังแบบมิด ๆ เลย แต่ก็พอจะมีช่องที่แสงส่องมาบ้าง คือการถือศีลให้ยิ่ง ๆ ขึ้น การหมั่นทำความดี กุศลจะดลให้เจอกับสัตบุรุษ แล้วจะได้ฟังสัจธรรม แล้วนำมาพิจารณาและปฏิบัติตาม ขออย่างเดียวอย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว อวดดี อวดรู้ แบบนี้ก็จมอยู่กับกองขี้เหมือนเดิมนั่นแหละ เก่งสุดก็เป็นหนอนในกองขี้ ภูมิใจอยู่กับกองขี้ ยินดีกับชีวิตในกองขี้ ไม่มีทางรู้จักและพัฒนาไปมากกว่านั้นได้เลย

สุดท้ายแล้วความเป็นพาลในตนนี่แหละ คือสิ่งที่จะสกัดกั้นการเรียนรู้ได้ดีที่สุด เพราะฟังธรรมไปก็เพ่งโทษไป ศึกษาไปก็ข่มคนอื่นไป เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเกี่ยวกับโมฆะบุรุษในประเด็นที่ว่า เขาเหล่านั้นศึกษาธรรมไปก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร ก็มีแต่เอาไว้ข่มชาวบ้าน กับเอาไว้กันคนมาติฉินนินทาเท่านั้นเอง

สรุปว่าใครก็ต้องเคยชั่วเคยพาลมาทั้งนั้นแหละ แต่จะพยายามออก พยายามแก้ไขรึเปล่าก็อีกเรื่อง ถ้าพยายามออก พยายามละ ก็เป็นคนดี ตามสุภาษิตไทยที่ว่า “คนดีชอบแก้ไข คนจัญไรชอบแก้ตัว