เลือกกิน เลือกกรรม

October 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,381 views 0

เลือกกิน-เลือกกรรม

เลือกกิน เลือกกรรม

ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา มีความรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดทำไปแล้วเป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ หรือสิ่งใดเป็นไปเพื่อความทุกข์และเสื่อมถอย นั่นเพราะมีความรู้ในเรื่องกรรมและผลของกรรมอย่างแจ่มแจ้ง

พระพุทธเจ้านั้นท่านเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง กรรมใดที่กระทำลงไปแล้ว จะให้ผลดีร้ายเช่นไร ท่านรู้ได้ทั้งหมด ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่า “บาปแม้น้อย อย่าทำเสียเลยดีกว่า” ท่านยังเปรียบไว้อีกว่า “เราไม่ควรดูหมิ่นในบาปที่เล็กน้อย แม้น้ำหยดทีละหยดก็ทำให้หม้อเต็มได้ บาปนั้นก็เช่นกัน” นั่นหมายถึง แม้อกุศลกรรมเพียงเล็กน้อยก็มีผล การกระทำใด ๆ ล้วนมีผลทั้งหมด และมีผลต่างกันไปตามเหตุของกรรมนั้นๆ

ศาสนาพุทธนั้นปฏิบัติไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ปฏิบัติไปเพื่อสั่งสมความทุกข์ให้กับตนเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ใน “อนายุสสสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๑๒๕)” ว่าด้วยเหตุที่ทำให้อายุสั้นและอายุยืน หนึ่งในเหตุที่ทำให้อายุสั้นนั้นคือกินของที่ย่อยยาก และเหตุที่ทำให้อายุยืนนั้นคือกินของที่ย่อยง่าย ซึ่งพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ปฏิบัติไปเพื่อให้เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น การที่ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอายุยืนจะเป็นประโยชน์มาก เรื่องนี้คงจะไม่มีใครเห็นแย้ง ดังนั้นเพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ก็ควรจะเลือกกินของที่ย่อยง่ายเป็นหลัก หากไม่ได้ยึดว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราของเราก็ควรจะเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายนี้และเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์จากการที่ร่างกายนี้ยังทำงานได้ดีอยู่

เช่นเดียวกับคนที่มีอาการแพ้อาหารบางอย่าง การ “เลือกที่จะไม่กิน” อาหารที่แพ้นั้น ก็ถือว่าเป็นปัญญาทั่วไป ไม่ทำความลำบากให้แก่ตน เพราะถ้ากินไปแล้วป่วยหรือเสียชีวิต ก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใดเลย เพราะการทำความลำบากให้แก่ตนนี้เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้อายุสั้นตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

เช่นเดียวกับคนที่เลือกเฟ้นอาหารที่มีคุณค่า เลือกอาหารที่ไร้สารพิษ และ “เลือกที่จะไม่กิน” อาหารหรือวัตถุดิบที่มีสารพิษมากเช่น เนื้อสัตว์ พืชผักรวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ ที่มีโอกาสที่จะมีสารพิษตกค้าง แม้แต่การเลือกที่จะไม่กินอาหารขยะ , ขนม นม เนย ฯลฯ ก็เป็นการทำความสบายให้แก่ตน ให้ตนได้มีสุขภาพดี อายุยืน อย่างน้อยก็ลดเหตุปัจจัยในการเกิดโรคลงได้ การทำความสบายให้แก่ตนนี้เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้อายุยืนตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

ในส่วนของฆราวาสนั้นก็คงไม่ได้ปฏิบัติยากเท่าไหร่ ผู้ที่อยากเป็นอยู่อย่างผาสุกก็จะเลือกสิ่งที่ย่อยง่ายและไม่มีโทษให้กับตนเอง และจะเลือกสิ่งดีเหล่านั้นแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นด้วยเช่นกัน

แล้วทีนี้นักบวชล่ะจะทำอย่างไร ในเมื่อนักบวชควรจะเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย แล้วจะเลือกกินสิ่งที่ดีมีประโยชน์อย่างไร

นักบวชในพระพุทธศาสนานั้นมีจะกระบวนการหนึ่งที่เรียกว่าเป็นการพิจารณาอาหาร คือพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ และพิจารณาลงไปให้ลึกถึงกิเลสภายใน สิ่งใดเสพแล้วลดกิเลส สิ่งใดเสพแล้วเพิ่มกิเลส และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ให้เข้าถึงสิ่งนั้น สิ่งใดที่เป็นโทษให้ละเว้นสิ่งนั้นเสีย นี่คือการเลือกอย่างชัดเจน

คำว่าผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่ายนั้นหมายรวมถึงผู้ที่ไม่ทำตนให้เป็นภาระด้วย ดังที่กล่าวมาข้างตน ถ้ากินไม่เลือกแล้วเกิดผลให้เจ็บป่วย เป็นโรค ก็ไม่ควรเรียกว่าเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย เพราะการเจ็บป่วยนั้นจะทำให้เป็นผู้เลี้ยงยากบำรุงยากในทันที

จริงอยู่ที่นักบวชนั้นไม่ควรเลือกที่จะรับตามที่สมมุติโลกนั้นเข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามเลือกที่จะกิน ทุกกรรมกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างกินนั้น ล้วนมีผลทั้งหมดทั้งสิ้น มือที่เอื้อมไปตักของที่ย่อยยากและมีโทษมากเช่นเนื้อสัตว์ ก็ควรกำหนดรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ ไม่เป็นไปเพื่อความสบาย ทุกการขยับ การตัก การนำเข้าปาก การเคี้ยว ล้วนมีผลทั้งหมดทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่าไม่มีความรู้เรื่องกรรม ไม่มีสติมากพอจะจับเจตนาซึ่งอาจจะปนเปื้อนด้วยกิเลส ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า อันนี้เราทำบาปกรรมอยู่ จึงสะสมบาปกรรมที่ไม่รู้ตัวว่าทำไปเรื่อย ๆ  ซึ่งตรงกับที่ยกไว้ข้างต้นว่า บาปแม้น้อยก็สะสมกลายเป็นบาปที่เต็มรูปได้ เมื่อบาปเต็มที่ กิเลสก็เต็มขั้น กามก็โต อัตตาก็แกร่งกล้า ถ้าไม่สึกไปแสวงหากาม ก็แสวงหากามในคราบผ้าเหลืองนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าตรัสเหตุของการเกิดตัณหาใน “ตัณหาสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๙)” ไว้สี่ข้อ โดยรวมแล้วก็คือปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคือ ตัณหาเกิดด้วยการบิณฑบาต นั่นก็หมายถึงกิเลสมันเกิดก็เพราะเรื่องห่วงกินนี่แหละ ดังนั้นนักบวชก็ควรจะพิจารณาในการกินของตน ว่ากินสิ่งใดแล้วกิเลสมันเพิ่มก็ไม่ควรกิน กินสิ่งใดแล้วร่างกายเป็นทุกข์ ทำให้อายุสั้น ก็ไม่ควรกิน กินสิ่งใดแล้วเป็นไปเพื่อส่งเสริมความมัวเมา ก็ไม่ควรกิน

ที่บอกว่าควร “เลือกกิน” นั้นเพราะ นักบวชนั้นพึงรู้เองว่าสิ่งใดสมควรหรือไม่สมควร เพราะไม่มีใครมาบังคับใครให้ใครตักอะไรใส่ปากได้ มือก็เป็นของท่าน ปากก็เป็นของท่าน กรรมก็เป็นของท่าน ท่านล้วนกำหนดกรรมของท่านเอง

การจะกินทุกอย่างนั้น ก็ดูจะเป็นคนละโมบไปเสียอีก เพราะหากผู้ศรัทธาเขาเอาอาหารมาพันอย่าง ก็ต้องกินทุกอย่างจนพุงแตกกันเลยเชียวหรือ ส่วนการจะกินเพื่อให้เขาศรัทธา ให้เขาดีใจปลื้มใจนี่มันก็ควรจะประมาณให้เหมาะสมเป็นบางกรณี ไม่ใช่กินให้เขาทุกวันจนตัวเองอ้วน เดินลำบาก ขยับลำบาก ป่วยเป็นโรค อันนี้ก็เป็นการทำให้ตนเองเป็นทุกข์ไปเปล่า ๆ มันต้องเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์เพื่อตนเป็นหลัก ไม่ใช่มุ่งเอาใจคนอื่นเป็นที่ตั้ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อย่าพรากประโยชน์ตน เพื่อผู้อื่นแม้มาก” หมายถึงไม่จำเป็นต้องไปทำเพื่อใครขนาดที่ตนเองต้องทนทุกข์ทรมาน ต้องกิเลสเพิ่ม ต้องอายุสั้น ต้องเสียโอกาสในการปฏิบัติธรรม แม้สิ่งเหล่านั้นจะดูเหมือนมีประโยชน์มากก็ตามที

ถ้าเขามีมาวางให้เลือก ก็เลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ว่า เขาเอาไก่ทอดมาวาง เอาผัดผักมาวาง มีแค่สองอย่างนี้ ว่าแล้วก็ตักไก่ทอดใส่ปากก่อนเลย อันนี้ต้องอ่านจิตตัวเองดี ๆ ว่าทำไมมันไปเอาของที่มันมีโทษก่อน เพราะแม้ในทางโลก เขาก็รู้กันอยู่แล้วว่า เนื้อสัตว์ทอดนั้นเป็นอาหารที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ นา ๆ อันนี้ปัญญาโลก ๆ ก็รู้ได้ คนที่รักษาสุขภาพเขาก็รู้ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ถึงปัญญาโลกุตระหรอก ถ้าปัญญาโลกุตระนี่ไม่มีแล้วที่จะกินสิ่งที่เป็นโทษ มีแต่กินสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้น

สรุปรวมแล้วศาสนาพุทธนั้น “เลือก” ที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อเว้นขาดจากสิ่งชั่ว ที่ให้โทษ ที่ทำให้เป็นทุกข์ทำ ฯลฯ มุ่งทำสิ่งที่ดี และทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส เพราะรู้ชัดว่าสิ่งที่ทำนั้นจะเกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งในปัจจุบันและอนาคตทีเดียว

1.10.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

แมวเลี้ยงเดี่ยว

September 14, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,097 views 0

แมวเลี้ยงเดี่ยว

แมวเลี้ยงเดี่ยว

วันก่อนก็นึกย้อนไปสมัยเด็ก ๆ ที่ยังเลี้ยงแมวอยู่ แมวตัวแรกที่ผมเลี้ยงเป็นแมวตัวเมีย จริง ๆ ได้มาเป็นคู่ แต่ตัวผู้หนีไปไหนไม่รู้เหมือนกัน

ตลอดเวลาที่เลี้ยง แมวตัวนี้ก็เสน่ห์แรงมาก ๆ คลอดไม่นานก็ท้องใหม่ จนผมลืมไปแล้วว่ากี่คอก คลอดมันทุกที่ในบ้านตั้งแต่ใต้บันได ในกล่องหน้าทีวี หรือแม้กระทั่งในห้องนอนผม เรียกว่าสนิทกันมาก

ก็เพิ่งมานึกได้ว่า นี่เราไม่เคยเห็นแฟนหรือคู่ของมันเลยนะ อย่างเก่งก็เดา ๆ ได้จากสีลูก แล้วก็สังเกตุจากตัวผู้ที่มาป้วนเปี้ยนเอา

แมวนี่มันไม่เคยพาแฟนมาแนะนำตัวเลย มันมาคลอดอย่างเดียว มาเอาที่พึ่งพาอาศัย เอาที่อยู่ที่ปลอดภัย ส่วนเรื่องกินตัวนี้มันเก่ง จับหนูกินเองได้ จับมาแยกร่างให้เก็บทิ้งประจำ

คลอดเสร็จแล้วมันก็เลี้ยงลูกของมันไปตามประสา ก็เป็นภาระของเราด้วยที่เราต้องรับเลี้ยงลูกมันอีกที กว่าจะหมดภาระก็เป็นสิบปีนั่นแหละ

ก็มานึกเทียบกับคน คนเรานี่มีความยึดมั่นถือมั่นที่เด่นชัดกว่าสัตว์มาก แมวมันมีลูกมันก็เลี้ยงของมันไป ไม่เห็นสนใจจะให้ตัวผู้มาช่วยเลี้ยง แต่คนนี่มีปัญหามาก มีเงื่อนไขมาก ตอนมีลูกแล้วจะเลิกกันมันไม่ง่าย ไม่เหมือนแมว

เพราะคนไปหลงยึดเอาหลายสิ่งหลายอย่างที่มันเป็นเพียงค่านิยม เป็นเพียงความเชื่อ เป็นความสะดวกสบาย เป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีหรืออะไรก็ตาม เลยทำให้ชีวิตมันยุ่งยากวุ่นวาย

เพราะถ้าเอาเนื้อแท้ของการมีลูกจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ต่างกับสัตว์ผสมพันธุ์กันหรอก ส่วนที่เหลือนั้นเป็นเปลือกสวย ๆ ที่คนทำไว้หลอกตัวเองว่าประเสริฐกว่าสัตว์เท่านั้นเอง

ดังนั้นคนที่จะดีกว่าสัตว์ ประเสริฐกว่าสัตว์ก็คือคนที่ไม่หลงไปกับการผสมพันธุ์ ถ้ายังหลงอยู่ก็ต้องรับภาระเลี้ยงลูก รวมทั้งรับทุกข์จากผลแห่งความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายที่ตนเองแบกไว้

นกน้อยกับงูจำแลง

August 31, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,085 views 1

โลกหมุนไวจังพี่จ๋า สาวคุกเข่าขอแฟนหนุ่มแต่งงาน พร้อมมอบสินสอดเป็นรถบิ๊กไบค์ !

วันก่อนเห็นข่าวผู้หญิงเขาเอาของบรรณาการมาเพื่อขอผู้ชายแต่งงาน ข่าวนี้อาจจะดูแปลกในเมืองไทย แต่สำหรับผม ก็คิดว่าไม่แปลกอะไรถ้าจะมีเหตุการณ์แบบนี้

สมัยนี้ผู้ชายอย่างเรา ๆ นี่ก็ใช่ว่าจะประคองตัวให้โสดได้ง่าย เพราะผู้หญิงทั้งหลายช่างขยันปั้นเสริมเติมแต่งให้มันดูดีดูงาม ดูน่าสนใจ งามไม่พอยังเก่งอีก เก่งไม่พอยังเป็นคนดีอีก เป็นคนดีไม่พอยังรวยอีก เอ้า ว่าแล้วก็เอาลาภเหล่านั้นมาล่อให้เราหลง

ผู้ชายอย่างเรา ๆ นี่ก็เปรียบเสมือนนกน้อย (เปรียบซะน่าหมั่นไส้) ที่มีอิสระ จะบินไปไหนก็ได้ ตามแต่ใจ อยู่เป็นโสดไปจนแก่ก็ยังเท่ หรือจะไปบวชก็ทางสะดวก แถมบวชแล้วยังเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้อีก

แต่ก็ดันมาหลงผู้หญิง โทษของผู้หญิงนี่พระพุทธเจ้าท่านเปรียบไว้ค่อนข้างแรง ก่อนอ่านก็ตั้งจิตตั้งใจดีๆ หายใจลึกๆ ท่านเปรียบโทษของหญิงไว้ดั่งงูพิษ ( พระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ ข้อ ๒๓๐ “สัปปสูตรที่ ๒” )

ผมก็จะเปรียบเปรยหญิงไว้ดั่งงู ทีนี้เจ้างูจะล่อนกก็ต้องแปลงกาย ทำตัวให้เล็กๆ เหมือนหนอนน้อย ให้ดูน่ารัก สวย สดใส ร่าเริง แอ๊บแบ๊ว~ เจ้านกน้อยหน้าโง่ๆ ก็ไม่รู้เรื่องอะไร เห็นงูเป็นหนอนก็เลยจะเข้าไปจิกกิน …ต่อจากนั้นก็คิดต่อกันเอง

จริงๆ ในเพจนี้ แฟนเพจผู้หญิงเยอะกว่าผู้ชายนะ ที่ผมยกเรื่องนี้มาก็เห็นว่ามันค่อนข้างเป็นการกระทำที่แกว่งเท้าหานรกให้ตัวเองเหลือเกิน อย่าไปเอาเยี่ยงอย่างเขาเลย แม้แต่การทอดสะพาน ส่งสายตา หรือแอบให้ท่าก็อย่าไปทำ ให้นึกเอาว่าสงสารนกน้อยหน้าโง่ๆ มันไม่รู้อะไรหรอก มันไม่รู้ว่าผู้หญิงอย่างเราๆ นี่ร้ายแค่ไหน ถือว่าปล่อยลูกนกลูกกาไป

การให้ทานที่มีอานิสงส์มากก็คือปล่อยนกน้อย(ผู้ชาย)เหล่านั้นไป นั่นแหละ อย่าเอาเขามาเป็นตัวเราของเราเลย เพราะขืนเอาเขาเข้ามาขังไว้ สุดท้ายเขาก็ทุกข์ เราก็ทุกข์ คนอื่นๆก็เป็นทุกข์

ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน

August 28, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,503 views 0

ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน

ซื้อกิน ฆ่า ค้าขาย เสมอกัน

การฆ่าสัตว์นั้น ถือเป็นสิ่งที่อยู่นอกพุทธ เพราะความเป็นพุทธจะเริ่มต้นที่การตั้งใจมั่นว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ ตั้งแต่การไม่ไปฆ่าด้วยตนเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่สนับสนุนให้ใครฆ่า ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นฆ่า แนะนำให้ผู้อื่นเว้นขาดจากการฆ่า และยินดีชื่นชมในการไม่ฆ่า ไม่ทำร้าย ไม่เบียดเบียน ด้วยใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส

ผู้ที่ตั้งใจฆ่าสัตว์นั้น คือผู้ตั้งใจที่จะเบียดเบียนชีวิตสัตว์ โดยเฉพาะผู้ที่ฆ่าสัตว์เป็นประจำ ฆ่าสัตว์เป็นอาชีพ ฆ่าสัตว์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ชาวพุทธจะเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็นคนไม่มีศีล ซึ่งการไม่มีศีลนั้นก็คือไม่มีปัญญา ไม่รู้คุณค่าของการมีศีลและโทษชั่วของการผิดศีล เมื่อไม่มีศีล หิริโอตตัปปะย่อมไม่สามารถเจริญหรือพัฒนาไปได้ ผู้ที่ทำผิดศีลฆ่าสัตว์อยู่เป็นประจำจึงเป็นผู้อยู่นอกพุทธ เป็นคนต่ำ เป็นคนชั่ว เป็นผู้เบียดเบียนอยู่นั่นเอง

เมื่อเราได้ยินข่าวว่าธุรกิจนั้นโกงหรือเอาเปรียบ เราก็มักจะร่วมกันคว่ำบาตร ไม่สนับสนุนธุรกิจนั้น ๆ เรียกว่าถ้ารู้ว่าเขาชั่ว หรือแม้แต่เขาไม่ได้ชั่วเอง แต่ไปสนับสนุนคนชั่ว เข้าข้างคนชั่ว เราก็ไม่อยากจะคบหากับเขาแล้ว แม้จะเป็นธุรกิจที่ผลิตสินค้าที่เราเคยใช้ เคยชอบ เราก็พร้อมจะเลิกซื้อ เลิกคบค้ากับธุรกิจนั้น ๆ เพราะไม่อยากคบหาหรือสนับสนุนคนที่เราคิดว่าชั่ว

นั่นเพราะเรามีความรู้สึกผิดและมีความเกรงตัวต่อบาปในระดับที่แตกต่างกัน เขาทำชั่ว แต่เราไม่ไปชั่วกับเขา อันนี้แสดงว่าเรามีปัญญารู้สิ่งดีสิ่งชั่วและพยายามออกจากสิ่งชั่วนั้น

กลับมาที่ประเด็นหลัก นั่นคือเรื่องของการซื้อเนื้อสัตว์มากิน น่าแปลกที่คนส่วนมากรู้อยู่แล้วว่าเนื้อสัตว์ในทุกวันนี้ มาจากการเลี้ยงสัตว์ในระบบที่โหดร้ายทารุณ ไปจนถึงการฆ่าที่เรียกได้ว่าถ้าเห็นแล้วคงจะทำให้หดหู่ใจกันเลยทีเดียว

ทำไมคนเราถึงไม่เลิกซื้อเนื้อสัตว์ ทั้งที่รู้ว่าเขากักขังทรมานมันมา ฉุดกระชากลากมันมา ทำร้ายและฆ่ามันมา คนที่เขาฆ่านี่เขาก็ไม่มีศีล ผิดศีลขั้นต่ำหมดทุกข้อ ตั้งแต่ฆ่าสัตว์ ขโมยเนื้อที่เขาไม่ได้ให้ เสพกาม(กินเนื้อสัตว์)ที่เขาไม่อนุญาต โกหกว่าเป็นเจ้าของชีวิตสัตว์ มัวเมาว่าสัตว์นั้นเป็นอาหารของมนุษย์ เป็นสิ่งสมควรถูกกิน เป็นการอาชีพที่เสียสละ ฯลฯ ถึงเขาจะเห็นผิดและทำชั่วได้ขนาดนี้ คนส่วนมากก็ยังคบค้าสมาคมกับเขาอยู่

ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ข้อ ๓๘๐ “อหิริกมูลกสูตร” มีคำตอบที่พระพุทธได้ตรัสเปรียบไว้ว่า ผู้ที่ “ไม่มีหิริ”, “ไม่มีโอตตัปปะ”, “มีปัญญาทราม” ย่อมคบค้าสมาคมกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนถึงไม่เลิกซื้อเนื้อสัตว์กินทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเขาฆ่ามา เพราะคนเหล่านั้นมีหิริโอตตัปปะและปัญญาทรามเสมอกับคนที่ฆ่าสัตว์นั้นเอง

คนที่เขาฆ่าสัตว์นั้น เขาก็ไม่มีหิริโอตตัปปะและมีปัญญาทราม เมื่อเขาคบค้าสมาคมกับผู้ค้าขายเนื้อสัตว์ นั่นหมายถึงผู้ค้าขายเนื้อสัตว์ ย่อมมีหิริโอตตัปปะและปัญญาทรามเสมอกัน จึงได้คบค้าสมาคมกัน และผู้ที่ค้าขายเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะขายส่ง ขายปลีก หรือทำอาหารขายเป็นจาน ๆ ย่อมคบค้าสมาคมกับผู้ซื้อ นั่นหมายถึงผู้ที่ซื้อเนื้อสัตว์กินก็ย่อมมี หิริโอตตัปปะและปัญญาทรามเสมอกับผู้ค้าขายเนื้อสัตว์และผู้ที่ฆ่าสัตว์นั้นเช่นกัน

ซึ่งจะไปสอดคล้องกับ “วณิชชสูตร” (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ ข้อ ๑๗๗) การค้าขายเนื้อสัตว์และการค้าขายชีวิตสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรทำ ผู้ที่กระทำอยู่นั้นถือเป็นเรื่องนอกพุทธ ไม่ก่อให้เกิดความเจริญ ไม่ทำให้เกิดกุศล ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ที่จะไปค้าขายสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่สมควร

จากที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เมื่อเราเกิดความรู้สึกว่าธุรกิจใด ๆ นั้นไม่เหมาะสม เราก็เลิกคบ เลิกสนับสนุน เพราะเรามีปัญญาเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ดี เป็นสิ่งชั่ว เราเลยตีตัวออกห่าง แต่ที่เราไม่เลิกซื้อเนื้อสัตว์กิน เพราะข้างในจิตใจของเรานั้นยังคิดว่าสิ่งนั้นเหมาะสม ยังเป็นสิ่งดีที่ควรสนับสนุน นั่นเพราะเรามีหิริโอตตัปปะและปัญญาเสมอกันกับคนที่ฆ่าสัตว์เหล่านั้นนั่นเอง

แม้เรื่องราวเหล่านี้จะไม่มีเผยแพร่อยู่ในคำสอนของอาจารย์ส่วนมากในปัจจุบัน แต่หลักฐานคือคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีในพระไตรปิฎกนั้น ก็มีมากพอให้เราพิจารณาว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สิ่งใดเป็นไปเพื่อความเกื้อกูลสัตว์ทั้งปวง สิ่งใดเป็นไปเพื่อเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย หิริโอตตัปปะนั้นจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อมีศีล ศีลคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเพื่อให้ผู้ศรัทธาได้ศึกษาและปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความผาสุกในชีวิต

เมื่อเราศึกษาศีลจนเข้าใจแจ่มแจ้งในคุณค่าของศีลนั้น เราจะแบ่งปันประโยชน์ของศีลนั้นให้กับผู้อื่น แนะนำให้ผู้อื่นมีศีล เราจะสรรเสริญผู้มีศีล คบหาผู้ที่มีศีล ห่างไกลคนที่ไม่มีศีล เว้นแต่จะเอื้อประโยชน์แก่เขาเป็นกรณี ๆ เมื่อมีศีล หิริ โอตตัปปะจึงเจริญได้ เมื่อมีศีล ก็จะย่อมมีปัญญา เมื่อนั้นก็จะเห็นได้เองว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร

ยิ่งสังคมนั้นมีความเจริญในด้านศีลธรรมมากเท่าไหร่ การกินเนื้อสัตว์ก็จะลดลงไปมากเท่านั้น จากคำกล่าวที่ได้อ้างอิงมา จะเข้าใจได้เลยว่า ยากนักที่ชาวพุทธผู้ตั้งมั่นในศีล ๕ จะคบค้าสมาคมกับคนไม่มีศีล นั่นเพราะไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่คนมีหิริโอตตัปปะและมีปัญญา จะไปคบค้าสมาคมกับคนที่ไม่มีหิริโอตตัปปะและมีปัญญาทรามได้

28.8.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)