โรงบุญโรงทาน จากยุคพุทธกาลสู่เมืองไทยในปัจจุบัน

December 3, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,383 views 1

โรงบุญโรงทาน

โรงบุญโรงทาน จากยุคพุทธกาลสู่เมืองไทยในปัจจุบัน

ตามที่ได้ศึกษาพุทธประวัติ มีอุบาสกท่านหนึ่ง ผู้เป็นเลิศในด้านการให้ทาน คือ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้เป็นอริยะสาวก หรือผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างถูกตรงนั่นเอง

จากประวัติศาสตร์นั้น ท่านได้ทำทานอย่างสม่ำเสมอ บำรุงทั้งคนยากไร้ บำรุงทั้งนักบวช ทั้งยังบำรุงได้เยี่ยมยอดอย่างหาผู้ใดเปรียบ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า ในปัจจุบันนี้แม้จะผ่านมากว่า 2,500 ปีแล้ว ก็ยังมีผู้คนที่ยังปฏิบัติตามแนวทางเช่นนี้อยู่

ผมได้เห็นผู้ที่มาเปิดโรงทานที่สนามหลวง มีคนมากมายหลากหลาย ตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไป กลุ่มพนักงาน กลุ่มกิจกรรมต่าง ๆจนถึงผู้ปฏิบัติธรรม ฯลฯ จะเห็นได้ว่าคนไทยนั้นยังไม่เสื่อมไปจากธรรม เพราะการให้ทาน คือองค์ประกอบหนึ่งของมรรคผล

เมื่อคนมีจิตเจริญขึ้น เขาจึงจะสามารถสละความตระหนี่ บริจาคทรัพย์สินและแรงงานให้กับผู้อื่นได้ หากคนเหล่านั้นยังมีความโลภที่มากอยู่ ความโลภก็จะไม่ปล่อยให้เขาทำทาน ไม่ให้เขาเสียสละ กิเลสกับธรรมะมันจะไปด้วยกันไม่ได้ หนำซ้ำโรงทานเล็กใหญ่ที่แจกกันตามท้องสนามหลวงตามที่ได้พบเห็นนั้น ก็เป็นทานที่ไม่ระบุผู้รับ เป็นทานที่ไม่มุ่งหวังผล ทานที่มีแต่ให้ มีแต่แจก เพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์

ทานที่ให้เพื่อหวังว่าตนนั้นจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือความสุขกลับมา เป็นทานที่มิจฉา ในทางพุทธถือว่าทำไปแล้วเสียของ คือทำดีแล้วเทให้กิเลสหมด ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า “ทำของดีแล้วเทให้หมากิน” หมาในที่นี้คือกิเลส คือทำดีเท่าไหร่ก็เทให้กิเลสหมด หากทานนั้นยังเต็มไปด้วยความโลภ ทำทานด้วยความเห็นผิด ก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ไปได้

ในทางปฏิบัติของพุทธ เมื่อจิตเจริญสูงขึ้นหรือภาวนานั้นมีผลเป็นสัมมา คือถูกตรงสู่ทางพ้นทุกข์ รอบของการปฏิบัติจะสูงขึ้นตาม จะให้ทานได้มากขึ้น ละเอียดขึ้น ล้ำลึกขึ้น เช่นเดียวกับการถือศีล ที่สามารถถือศีลที่ปฏิบัติได้ยากได้มากขึ้น ง่ายขึ้น สบายขึ้น และจะเจริญไปเป็นรอบ ๆ เป็นการยกจิตทั้งหมด มิใช่ปฏิบัติธรรมไปแล้วขี้เหนียว ขี้งก หวงความสามารถ หวงความรู้ ศีลไม่มีหรือศีลขาดเป็นประจำ อันนี้แสดงว่าปฏิบัติไปแล้วไม่มีผล ปฏิบัติผิดทางหรือมิจฉามรรค

การที่คนมาเปิดโรงทานให้เห็นนั้น เป็นสิ่งที่แสดงความเจริญของจิตใจ ที่ยินดีสละ ยินดีให้ หวังจะเกื้อกูลให้ผู้รับได้เป็นสุข จากที่ผมสังเกต คนที่มาแจกนั้นถ้าไม่นับรวมกลุ่มกิจกรรมของธุรกิจใหญ่น้อยหรือกลุ่มมูลนิธิต่าง ๆ ก็เป็นชาวบ้านธรรมดา และสำนักปฏิบัติธรรมที่มาแจก ก็เป็นสำนักที่มุ่งไปจน พากันไปจน ไม่ได้มุ่งเน้นสะสมหรือร่ำรวยอะไร เป็นความมหัศจรรย์ ตรงที่ว่า บ้านเมืองเรามีคนรวยยิ่งกว่านี้มากมาย แต่กลับมีแต่คนจนที่มาทำโรงทาน มีคนจนมาแจกของให้คนรวยกิน นี่จึงแสดงให้เห็นว่า การทำทานนั้นไม่ได้จำเป็นต้องรวย แต่จำเป็นต้องมีจิตที่เสียสละแบ่งปัน แม้คนที่เขาไม่มีเงิน เขาก็มาทำทานได้ คือเอาแรงงานเป็นทาน ทำงานฟรีเพื่อคนอื่น มาเป็นจิตอาสา นี่ก็คือความเจริญที่เห็นได้เป็นรูปธรรม

ธรรมะนั้นไม่ใช่สิ่งที่คิดเอาเหมาเอาว่าตนปฏิบัติถูกต้อง แล้วมันจะถูกต้องจริงอย่างที่คิด มันต้องมีตัววัดที่เป็นรูปธรรมอยู่ด้วย เช่น ปฏิบัติธรรมไปแล้ว ทำทานได้หรือไม่  ถือศีลที่ยิ่งกว่าที่เคยถือได้หรือไม่ จิตใจเจริญหลุดพ้นจากความโลภ โกรธ หลงที่เคยมีอยู่เดิมได้หรือไม่

ในส่วนตัวผมเองคิดว่า การให้ทานนี่แหละเป็นเบื้องต้นที่จะวัดผลความเจริญของจิตใจ ว่าเข้าใกล้มรรคผลบ้างหรือยัง ถ้าปฏิบัติธรรมไปแล้ว ยังไม่ยินดีให้ทาน คนอื่นเขาร่วมเปิดโรงบุญโรงทาน พากันทำงานจิตอาสากัน แต่เรากลับไม่ขยับ แม้มีเหตุปัจจัยพร้อมแต่ก็ยังไม่ขยับ เรายังนิ่งเฉยั อันนี้แสดงว่ายังไม่มีปัญญาเห็นประโยชน์ของการให้ทานนั้น จิตยังไม่เจริญไปถึงจุดนั้น คือจุดที่เห็นว่าควรให้ในเวลาที่ควรให้ กลับเห็นว่ายังไม่ควรให้ในเวลาที่ควรให้ ทั้ง ๆ ที่เหตุปัจจัยในปัจจุบันนี้ สถานการณ์นี้ เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการประกาศธรรมะให้โลกรู้ว่า การเสียสละเป็นแบบนี้ ธรรมะยังเจริญอยู่ที่นี่ ยังมีคนที่ให้โดยไม่หวังสิ่งใดอยู่ที่นี่ คือประกาศธรรมให้โลกเห็นว่า ทานที่มีผลในการลดความตระหนี่ นั้นมีอยู่จริง หลักฐานก็คือสามารถสละทรัพย์สิน เวลา แรงงานออกมาทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่นได้

การประกาศนี้ไม่ใช่เพื่อการอวดตัวอวดตน แต่ทำไปเพื่อแสดงธรรมะให้ผู้อื่นเห็นเป็นรูปธรรม ให้เขาได้รับรู้ ให้เขาได้มาสัมผัส (เอหิปัสสิโก) ให้เขาได้ทำใจในใจเข้าถึงสิ่งดี และร่วมกันมาทำสิ่งที่ดีเหล่านั้น เป็นการตามหาญาติ ตามหาลูกหลานพระพุทธเจ้าที่พลัดพรากจากกัน แล้วให้มาเชื่อมต่อกันด้วยธรรมะ ด้วยทาน ด้วยศีล ที่เสมอกัน

ซึ่งมันก็จะเป็นไปตามธรรมอีกเหมือนกัน ถ้าคนที่เจริญถึงขั้นที่เข้าใจว่าการให้ทานเป็นสิ่งที่ดี ที่สมควรทำ เขาก็จะใช้โอกาสนี้ร่วมกันให้ทานในรูปแบบที่เขาพึงกระทำได้ ส่วนคนที่ยังไม่มีปัญญาเข้าใจว่าทานนั้นดีอย่างไร สมควรให้ทานอย่างไร ก็จะไม่ร่วมกันทำสิ่งใด ๆ เลย จึงเกิดสภาพเหมือน “น้ำไหลไปหาน้ำ น้ำมันไหลไปหาน้ำมัน” คนดีจะเข้าไปรวมกับคนดี ส่วนคนที่ยังไม่ดีก็รวมกับคนที่ไม่ดีเหมือน ๆ กัน

อาจจะมีคนสงสัยว่าถ้าคนปล่อยวางล่ะ จะเรียกว่าอย่างไร? คำตอบคือ แม้พระพุทธเจ้าท่านยังไม่ชื่นชมคนที่หยุดหรือพอใจอยู่แค่ความดี (กุศลกรรม) เท่าที่ตัวเองทำ ยิ่งถ้าพวกเสื่อมจากความดียิ่งไม่ต้องพูดถึง ท่านชื่นชมก็แต่ผู้ที่เจริญในความดี คือทำดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้น ให้ทานก็ให้ทานได้มากขึ้น มีศีลก็มากขึ้น ส่วนกิเลส คือความโลภ โกรธ หลงนี่ต้องขัดเกลามันออกไปให้ได้ยิ่งขึ้น

และตามโอวาทปาฏิโมกข์ มีระบุไว้ชัดว่าให้ทำกุศลให้ถึงพร้อม ชี้ชัดด้วยตัวชี้วัดคืออริยะสาวกอย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ยังให้ทานเป็นประจำ เมื่ออ้างอิงหลักฐานดังนี้ คนที่ไม่สนใจใยดี  ไม่ยินดีในทำความดีของตนเองและผู้อื่น ในโอกาสแห่งการทำทานอันยิ่งใหญ่นี้ ก็อาจจะไม่ใช่ผู้บรรลุธรรมก็ได้ อาจจะเป็นเพียงผู้ที่โง่เขลาเบาปัญญาที่ไม่รู้ว่าการให้ทานในโอกาสพิเศษเช่นนี้มีผลอย่างไร เหมือนกับหมาตัวหนึ่งที่เดินไปเดินมาข้างสนามหลวง มันไม่รู้ว่าคนเขาทำอะไรกัน มันก็หากินไปวันวัน ตามเวรตามกรรมของมัน

1.12.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

โอกาสในการ่วมกันทำความดี

November 28, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,239 views 0

โอกาสในการทำดี

ในช่วงเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา หลายคนก็คงจะได้เห็นผู้คนออกมาร่วมทำความดีกันในหลายรูปแบบ ซึ่งผมเองก็ได้ไปเก็บข้อมูลในพื้นที่แถวสนามหลวง และพบว่าที่นี่มีงานหลากหลายที่เอื้อให้คนทุกวัยทุกฐานะได้ทำความดีร่วมกัน

คิดดี นั้นก็ดีอยู่ พูดดีนั้นก็ยิ่งดี แล้วถ้าทำดีตามที่คิดและพูดยิ่งจะดีเข้าไปใหญ่ การที่เราจะลุกออกมาทำดีนั้นไม่ง่าย ต้องมีกำลังใจที่มากพอจะผลักดันเราออกจากชีวิตเดิม ๆ ลุกออกมาทำสิ่งใหม่ คือสิ่งที่ดีมากยิ่งขึ้น ในภาษาธรรมะเรียกว่า “อธิศีล” คนที่ยังไม่เคยทำดี ก็หันมาทำดี คนที่ทำดีอยู่แล้ว ก็ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก นี่คือลักษณะของคนที่จะไม่เสื่อมไปจากความดีงามและธรรมทั้งหลาย

ผมเองได้ลองสัมผัสงานจิตอาสาหลาย ๆ แบบ และพบว่าแต่ละงานนั้นมีรายละเอียด ใช้ทุน ใช้ความสามารถต่างกันไป แต่งานที่ทำได้ง่ายก็คือการช่วยกรอกข้าวสารที่ทำเนียบรัฐบาล ผมลองไปแล้วพบว่าบรรยากาศผ่อนคลายเหมือนครอบครัวพากันไปนั่งเล่นที่สวนสาธารณะ คนเฒ่าคนแก่ก็นัดมาเจอกัน กรอกข้าวไปก็พูดคุยกันไป มีอาหารเลี้ยง มีห้องน้ำสะดวก เหมาะสำหรับจิตอาสามือใหม่

ถ้ากำลังใจแข็งกล้าแล้วก็มาลุยงานกันต่อที่สนามหลวง มีงานอาสามากมายที่นี่ เป็นเหมือนสวรรค์ของนักบำเพ็ญความดีทั้งหลาย มีงานเช่น เดินเก็บขยะ ช่วยคัดแยกขยะ แจกยา แจกอาหาร แจกน้ำ ช่วยให้คำแนะนำต่าง ๆ ฯลฯ ก็เป็นงานที่ต้องใช้แรงกันมากขึ้น ใครสนใจก็ไปสอบถามเจ้าหน้าที่หรือจิตอาสารุ่นพี่กันได้

หรือถ้ารู้สึกว่าแรงยังเหลือ กำลังใจยังมีมาก อยากทำงานหนักมากขึ้น ต้องการทำดีในส่วนที่คนขาด ในตอนนี้ก็มีหลายโรงทานที่เปิดพื้นที่เอื้อให้ช่วยกันทำความดี โดยงานหลักก็จะเป็นงานครัวตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ ล้างวัตถุดิบ หั่น ปรุง ยก เสริฟ ล้างภาชนะ .. ซึ่งในส่วนนี้อาจจะต้องเข้าไปสอบถามในแต่ละโรงทานว่าเขาต้องการกำลังคนไหม

หรือถ้าเป็นผู้มีทุนทรัพย์ มีกำลัง จะทำอาหารมาแจกก็ได้ หลายคนเขาก็ทำอาหารมาแจกเป็นครั้งคราว หรือจะเป็นของใช้จำเป็นบางอย่างเช่น ยาดม ผ้าเย็น ฯลฯ รวมถึงของอื่น ๆ  ที่ช่วยให้ระลึกถึงบุคคลที่ควรบูชาก็มีผลดี เกิดผลดีเหมือนกัน

หรือจะเป็นงานจิตอาสาจำพวกขับรถมอเตอร์ไซค์รับส่งคนก็มีประโยชน์มากเช่นกัน เพราะหลังออกจากวัง จะเดินกลับไปขึ้นรถเมล์ที่สนามหลวงมันก็ไกล คนหนุ่มสาวก็พอเดินไหว แต่ถ้าคนแก่นี่ท่าจะลำบาก งานรับส่งคนก็ช่วยกันได้มาก ใครที่ชอบขับรถก็เอาความสามารถตรงนี้มาทำดีได้

จริง ๆ ก็มีงานจิตอาสาที่หลากหลาย แต่เอาเท่านี้ก่อน จะสรุปว่า ตอนนี้มีพื้นที่ที่เอื้อให้ทุกคนได้ร่วมกันทำความดี ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นสนามหลวงก็ได้ ผมยังเคยเจอวัยรุ่นไปถือถุงช่วยเก็บขยะที่ตลาดนัดจตุจักรด้วยซ้ำ คือใครทำดีที่ไหนได้ก็ทำไป นั่นแหละดีแล้ว แต่ถ้ามาร่วมกันทำ เราจะมีกำลังใจเพิ่ม คนที่เริ่มทำงานจิตอาสาใหม่ ๆ ทำพร้อม ๆ กับเพื่อนกับรุ่นพี่จะมีกำลังใจดีขึ้น ไม่โดดเดี่ยว แถมยังได้เพื่อนใหม่ ชวนกันมาทำดีเรื่อย ๆ

ถ้าอยู่ห่างไกลสนามหลวง ก็รวมตัวกันทำ หรือแบ่งงานแยกกันไปทำแล้วค่อยมารวมกัน เช่นการพับกระทงกระดาษไว้ใส่อาหาร เป็นการสร้างวัฒนธรรมเพื่อลดการใช้โฟม แม้มันจะไม่สมบูรณ์แบบในเชิงการใช้งาน แต่มันสวยงามในเชิงของจิตใจ เพราะคนที่แม้จะอยู่ห่างไกล แต่ใจเวลาพับก็จะระลึกถึงเพื่อนที่ร่วมกันทำดี จิตตรงนี้แหละที่มันสวยงาม มันมีคุณค่า มันประเมินค่าไม่ได้ พอทำเสร็จเอามาส่ง ที่โรงทานเขาก็ได้ใช้ประโยชน์ ได้ลดใช้โฟม ได้ร่วมกันทำความดี

การร่วมทำความดีนี่แหละ ที่จะหลอมรวมคนดีให้พบเจอกันในทุกชาติ เป็นการประกันชีวิตที่ดีที่สุด เพราะทำความดีกับคนดีแล้วก็จะได้พบเจอกับคนดี ได้เจอกับสิ่งดี พอชีวิตพบเจอกับคนดี มีน้ำใจ เสียสละ หวังประโยชน์เกื้อกูลกันและกัน ชีวิตก็จะมีความผาสุก

ถ้าไม่อยากได้ความผาสุก ชีวิตไม่อยากเจอคนดี ก็ไม่ต้องทำอะไร ใช้ชีวิตไปเหมือนเดิม ปล่อยวาง อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด ไม่ต้องรีบร้อน ไม่วุ่นวาย ไม่ลำบาก ปล่อยไปตามเวรตามกรรม สุดท้ายก็จะได้ประกันชีวิตอีกชุดหนึ่ง คือประกันเลยว่าชีวิตหนึ่งเกิดมาจะพบกับคนดียาก เพราะไม่เคยทำกรรมดีร่วมกันมา ย่อมไม่พบเจอกัน ก็เลือกพิจารณากันไปตามแต่จะเห็นประโยชน์

สุดท้ายนี้ก็ชักชวนกันตรง ๆ ว่านี่คือโอกาสที่ดีที่สุดในช่วงชีวิตหนึ่ง ๆ  ซึ่งอาจจะมีแค่ครั้งเดียวที่มีโอกาสอันยิ่งใหญ่แบบนี้ก็ได้ คือโอกาสข้างหน้าน่ะมี… แต่จะมีชีวิตอยู่ถึงตอนนั้นหรือไม่ก็ไม่รู้ ดังนั้นเราไม่ควรประมาทกับเวลาที่ผ่านไป เราควรใช้เวลาที่มีให้เกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นให้มากที่สุด เพราะนั่นคือหลักประกันแห่งความผาสุกในชาตินี้ ชาติหน้าและชาติอื่น ๆ สืบไป

โอกาสและอิสระ ในการทำความดี

November 17, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,356 views 0

โอกาสและอิสระ ในการทำความดี

โอกาสและอิสระ ในการทำความดี

ในแต่ละช่วงชีวิตของเรา โอกาสพิเศษนั้นไม่ได้มีบ่อย ๆ เหมือนกับเรือใบที่ต้องอาศัยคลื่นลมในการเคลื่อนที่ ความดีก็เช่นกัน แม้ปกติเราจะทำความดีตามแบบของเราเองได้ แต่ถ้ามีเหตุการณ์ที่สร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่นั้น ก็จะทำให้เราสร้างสิ่งดีได้มากยิ่งขึ้น

การจะมีอิสระนั้นไม่ง่าย ยิ่งการจะมีอิสระในการทำความดีนั้นยากยิ่งกว่า ซึ่งจะต้องสั่งสมเหตุปัจจัยที่เอื้อให้ทำความดีได้โดยไม่มีสิ่งผูกมัด ไม่มีคนผูกมัด ไม่มีงานผูกมัด และถึงที่สุดคือไม่มีกิเลส หรือไม่มีความโลภโกรธหลงใด ๆ ที่เป็นเหตุขวางกั้นไม่ยอมให้เราลุกออกไปทำดี มาผูกมัดเราไว้

…..

วันก่อนผมได้ไปหัดพับกระทงกระดาษ เป็นโอกาสในการทำความดีที่หาไม่ได้ง่าย ๆ ใครเลยจะคิดว่าการพับกระทงไว้ใส่อาหารจะมีประโยชน์กับสังคมขนาดนี้ ทั้งช่วยลดขยะที่ย่อยสลายยากและสร้างวัฒนธรรมแห่งความพอเพียง คือใช้วัสดุสิ่งของที่หาได้ง่าย เช่น ใบตอง ใบไม้ต่าง ๆ หรือถ้าหาไม่ได้ก็ใช้กระดาษที่เขาผลิตไว้เผื่อห่ออาหาร

เป็นความดีเล็ก ๆ ที่หลายคนนำมารวมกันในโอกาสหนึ่งตามความสามารถของแต่ละคน บางคนมีทุนมีเงินก็เอาอาหาร เอาสิ่งของมาแจก มีรถก็เอามาช่วยขนส่ง มีความรู้ก็เอามาช่วยกันสร้างสรรค์ มีเวลามีแรงก็เอามาช่วยกันไปตามความถนัดของแต่ละคน

ถ้าเราไม่มีโอกาสและอิสระ เราก็คงจะไม่ได้ออกมาทำความดีกันมากมายขนาดนี้ นั่นเพราะเรามีทั้งเหตุการณ์ที่เป็นโอกาส และความพยายามหลุดพ้นจาก “สิ่งผูกมัดเราไว้ไม่ยอมให้เราออกมาทำดี” ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะเรามีแรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่ มีความดีที่ยิ่งใหญ่ เหมือนกับมีคลื่นลมที่ผลักดันเราออกไปจากจุดที่เราเคยอยู่ ผลักดันเราไปสู่จุดที่ดีกว่า

เพียงแค่เราพิจารณาให้เห็นความสำคัญในความสำคัญของโอกาสนี้ ว่านี่แหละคือโอกาสทำความดีที่ยิ่งใหญ่ ตอบสนองต่อคลื่นลมที่ได้เกิดขึ้น คือเราใช้โอกาสนี้ทำความดีพัฒนาตัวเองไปข้างหน้า ให้เป็นคนดีมากยิ่งขึ้น ให้เจริญมากยิ่งขึ้น ไม่ทำตัวเป็นเหมือนก้อนหินในทะเลที่ไม่หวั่นไหวต่อคลื่นลมใด ๆ การไม่หวั่นไหวนั้นควรใช้กับสิ่งชั่ว ส่วนสิ่งดีนั้นเราควรโอนอ่อนน้อมตามความดีนั้นไป หากมีคลื่นลมและกระแสแห่งความดีงาม เราก็ควรเกาะกระแสนั้นไป

เพราะโอกาสในการทำความดีนั้นหาได้ไม่ง่าย และความดีนั้นทำได้ยาก ความชั่วทำได้ง่ายกว่า ถ้าไม่ใช้โอกาสนี้แล้วปล่อยผ่านไป ก็เหมือนเรือใบที่ไม่กางใบรับลมในตอนที่ลมมา พอลมสงบก็ลอยคว้างอยู่กลางมหาสมุทรที่ไม่มีลมพัด จะพายไปให้ถึงฝั่งก็เหนื่อยหนักหนาสาหัส พาลจะท้อและล้มเลิกที่จะทำสิ่งดีนั้น

การที่คนมากมายออกมาทำดีร่วมกันในโอกาสนี้ ผมเชื่อว่าพวกเขารู้ได้ด้วยตนเองว่า “การทำดี คือสิ่งที่ดี” ไม่มีอะไรดีกว่าการทำดี นั่นเพราะเขาได้เห็นตัวอย่างของการพากเพียรทำความดี และเห็นผลของการทำดี ที่ดีแท้และยั่งยืนยาวนานมากว่า ๗๐ ปี

และคุณค่าสูงสุดของการทำดี ก็คือ  “การทำดี และอยู่เหนือดีนั้น” หรือ “การทำดี โดยไม่ติดยึดความดี” คือทำดีแล้วไม่เสพผลแห่งความดี คือทำแล้วไม่หลงตนว่าฉันเป็นคนดี ไม่หลงยึดว่าสิ่งที่ฉันทำนั้นดีที่สุด หรือ ฉันทำดีให้เธอนะ, ฉันทำดีมากกว่าเธอนะ, ฉันทำดีขนาดนี้เชียวนะ ฯลฯ คือ ไม่แสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุขใด ๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นคือมลทินที่จะลดทอนคุณค่าของความดี จนกระทั่งทำลายคุณความดีที่เคยทำทิ้งทั้งหมดไปเลยก็ได้

เมื่อความดีที่ทำนั้น ไม่มีเงื่อนไข ไม่อยู่ภายใต้การบงการของใคร และไม่มีกิเลสใดซุกซ่อนอยู่ภายใน ความดีนั้นก็จะเป็นความดีที่บริสุทธิ์ และเกิดผลดีสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นในโลกนี้

16.11.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

พอเพียง

November 4, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,275 views 0

พอเพียง

พอเพียง

เมื่อเราได้รับสิ่งที่ดี ได้เห็นตัวอย่างที่ดี ได้ฟังคำสอนที่ดี ฯลฯ โดยมากแล้วเราก็มักจะเก็บมันไว้บนที่สูง เก็บไว้บนหิ้ง คือรับรู้และยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่มักจะไม่ได้เอามาทำให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร แม้จะมีศรัทธาแต่ก็ยังคงเป็นพลังศรัทธาที่อ่อนแอ

…เมล็ดข้าวนี้ ถ้าเราเอามากอดเก็บไว้บูชา ประโยชน์ก็จะเกิดประมาณหนึ่ง คือเป็นสิ่งที่ทำให้ระลึกถึงสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราเอาเมล็ดข้าวนี้ไปปลูก สักวันหนึ่งเราก็จะได้เมล็ดข้าวอีกมากมาย สามารถนำไปสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นได้

เช่นเดียวกันกับการที่เราได้รับสิ่งที่ดี ได้เห็นตัวอย่างที่ดี ได้ฟังคำสอนที่ดี ฯลฯ ถ้าเรานำมาศึกษาเรียนรู้ เพียรพยายามปฏิบัติตาม สักวันหนึ่งเราก็จะเกิดผลนั้นในตนเอง เป็นเอง มีเอง สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้อีกมากมาย

ปลูกข้าวก็สามารถแบ่งปันเมล็ดข้าวได้ ทำตนให้เป็นคนดีก็สามารถแบ่งปันสิ่งดีได้ ศึกษาเพื่อให้เกิดธรรมะในตนก็จะสามารถแบ่งปันธรรมะได้เช่นกัน ผู้ที่สามารถปฏิบัติตนตามสิ่งดี ตามตัวอย่างที่ดี ตามคำสอนที่ดีจนเกิดผลในตนได้จริง จะต้องมีศรัทธาอย่างแรงกล้า ตั้งมั่น ยืนหยัด มั่นคง แข็งแกร่ง ไม่หวั่นไหว

…..

ผมได้เมล็ดพันธุ์แห่งความ “ พอเพียง ” นี้มา และเริ่มปลูกในวันนี้ เพราะเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกวันนี้ ย่อมจะโตได้ไวที่สุดเท่าที่มันจะเจริญเติบโตได้ แต่ถ้าหากเราปล่อยเมล็ดพันธุ์ทิ้งไว้ มันก็จะเสื่อมไปตามกาลเวลา เหมือนกับความดีงาม หากเราไม่พยายามทำ  จิตใจของเราก็จะเสื่อมและต่ำลงไปตามกาลเวลาเช่นกัน

ผมไม่รู้หรอกว่ามันจะงอก, มันจะรอด, มันจะโต, มันจะสมบูรณ์จนสามารถออกรวงให้เก็บเกี่ยวผลได้หรือไม่ แต่เมล็ดพันธุ์ที่ได้มานั้นมีมากมาย เหมือนกับสิ่งดีงาม ตัวอย่างที่ดีงาม คำสอนที่ดีงามต่าง ๆ นั้นมีมากมาย แม้เราจะไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตามบางเรื่อง แต่ก็มีหลากหลายเรื่อง หลากหลายมุม ให้เราได้ยึดถือและฝึกปฏิบัติตามสิ่งที่ดีงามเหล่านั้น

การปลูกข้าวก็เช่นกัน มันอาจจะไม่สำเร็จในครั้งแรก แต่ผมก็จะพากเพียรพยายามศึกษาเรียนรู้ แม้จะปลูกไม่ขึ้น ไม่เห็นผล ก็จะพยายามปลูกไปเรื่อย ๆ  เพราะรู้ดีว่า ผลของการปลูกสำเร็จนั้น เป็นสิ่งดีที่ควรให้เกิดขึ้น ปลูกข้าวได้ ก็ได้กินอิ่ม ได้แบ่งปัน ปลูกความดีงามในใจตน ก็ได้สุขเหนือสุข และสามารถแบ่งปันสุขนั้นให้กับโลกนี้ได้ด้วย

ที่ ๆ ดีที่สุดของเมล็ดข้าวคือดิน ที่ ๆ ดีที่สุดของความดีงามคือในจิตใจของตนเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

4.11.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)