Tag: รักด้วยเมตตา

คนพาลสอนรัก

February 23, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 520 views 0

ความรักนี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่พาคนหลงได้มากมายมหาศาลอยู่แล้ว และถ้าได้คนพาลมาสอนเรื่องความรักซ้ำไปอีกด้วย รับรองไปไหนไม่รอด เขาก็พาวนอยู่ในเรื่องคู่นั่นแหละ

ในสังคมทุกวันนี้ มีความเห็นที่หลากหลายมากมาย และก็มีความเห็นผิดเกี่ยวกับความรักปนอยู่ในนั้นเยอะมากเสียด้วย และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ คำความเหล่านั้นดันออกจากผู้เห็นผิดที่หลงว่าตนเห็นถูกนั่นเอง

หากจะแสดงภาพรวมให้พอนึกออก ภาพกว้าง ๆ ของคำสอน ความเห็น ทฤษฎีเกี่ยวกับความรัก จะเป็นไปใน 2 แนวทาง คือพาให้ยินดีในการมีคู่ กับคลายความอยากมีคู่ มีแค่สองทิศนี้เท่านั้น ส่วนทิศกำกวมจะขยายทีหลัง

การพาให้คนยินดีในการมีคู่คือ คำพูดหรือข้อความนั้น ๆ มีเจตนาที่จะน้อมให้คนยินดีในการมีคู่ ปิดบังไม่ให้เห็นโทษภัยในการมีคู่ ไม่กล่าวถึงประโยชน์ในการอยู่เป็นโสด และยินดีเมื่อผู้รับสาร เกิดความยินดีในการมีคู่นั้น ๆ ไม่ว่าจะในเงื่อนไขใดก็ตาม

การพาให้คนคลายความอยากมีคู่ คือ คำพูดหรือข้อความนั้น ๆ มีเจตนา พาให้คนออกจากความหลงมัวเมาในสภาพคนคู่ ชี้ให้เห็นโทษภัยของการอยู่เป็นคู่ ๆ ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการอยู่เป็นโสด อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสในหลายสูตร เช่น บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง , หรือการที่ท่านสอนให้ไม่ไปคลุกคลีกับเพศตรงข้าม เช่น สอนชายว่า ถ้าจะให้ชีวิตมีความผาสุก ไม่พึงเอาชีวิตไปคลุกคลีกับผู้หญิง หรือการได้ลูกหรือคู่ครอง พระพุทธเจ้าว่าเป็นการได้ลาภเลว เป็นต้น

เราจะเห็นว่าโลกุตระนี่มันชัด ๆ เลย ชี้ชัดไม่กำกวม ทิศไหนสวรรค์ ทิศไหนนรก ไม่มีตรงกลาง มีแต่ทางเจริญกับทางเสื่อมก็เลือกเอาเอง

การจะพาคนไปทางอยากมีคู่ เขาก็ทำกันทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่แล้ว สื่อต่าง ๆ ละคร เพลง หนัง ฯลฯ นี่แหละสื่อกระตุ้นราคะอย่างหนัก เขาก็ทำกันอยู่เต็มโลก มอมเมาคนอยู่ในโลก

ส่วนที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้คือพวกกำกวม คล้าย ๆ จะเป็นทางสายกลาง คือ มีรักแต่จะไม่มีทุกข์ เช่นมีรักอย่างมีสติ มีรักอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือมีรักด้วยเมตตา จะเห็นว่าเขาจะเอาความดีมาผสมในรัก ให้รักนั้นน่าเสพ เหมือนเอาน้ำผึ้งมาเจือในยาพิษ ใส่สีใส่กลิ่น สวยงามหอมหวาน มันก็ดูเหมือนน่าเสพ ข้อความจะดูกำกวม ไม่ชัดเจนว่าตกลงมีแล้วดีหรือไม่มี แต่ถ้าจับใจความดูจะมีทิศทางที่ว่า มีคู่ก็ไม่มีโทษภัยนักหรอก

สรุปคือพวกกำกวมนี่สุดท้ายจะไปทางฝั่งพาให้ยินดีในการมีคู่ แต่มักจะวางตำแหน่งตัวเองไว้ว่าเป็นเหมือนบัณฑิตที่ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ มันจะมีความย้อนแย้งในตัวของมัน แต่คนส่วนมากจะชอบ ยินดีชื่นชมในคำกำกวมเหล่านี้ เพราะมันได้เสพสมใจไง มันมีรักแล้วไม่รู้สึกผิด ไม่รู้สึกว่าบาป ไม่รู้สึกว่าโง่ ไม่ต้องอายใคร แค่มีวาทะเก๋ ๆ ก็กลบเกลื่อนได้หมดแล้ว

นี่คือมารยาของคนพาลที่หลอกคนซ้อนไปอีกทีหนึ่ง ลำดับแรกคือเขาหลอกตัวเองอยู่ก่อนแล้ว แล้วก็เอาความเห็นผิดของตัวเองมาหลอกคนต่อ ดังจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้คำตรัสของพระพุทธเจ้าในหมวดความรักมักจะไม่ค่อยมีคนเอามาใช้เท่าไหร่ คำที่มันหนัก ๆ พระสูตรคม ๆ นี่เขาไม่เอามาใช้กันเลย แต่ถ้าใช้เวลาศึกษาจะเจอเยอะมาก

ที่เขาใช้กันบ่อย ๆ ก็บทที่ว่า สามีภรรยาจะได้เกิดมาเจอกันเรื่อยไป ต้องมีศีล ศรัทธา จาคะ ปัญญา เสมอกัน (สมชีวิสูตร เล่ม 21 ข้อ 55) สูตรนี้จะจบตรงประโยคที่ว่า “ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก ฯ” ตรงนี้เองที่ปราชญ์เขาไม่ค่อยได้ยกมาสอนกัน คือสภาพของคนคู่นี่ มันยังไม่ใช่สภาพที่สุดของความเจริญ แต่ภพของผู้เสพกามติดใจในสวรรค์

เนื้อหาของสูตรนี้ไม่ใช่ว่าการตรวจเชคว่าคนนั้นคนนี้ใช่คู่ครองรึเปล่า แต่เป็นการถามเพื่อยืนยันสิ่งที่ตนต้องการ คือสามีภรรยาคู่หนึ่งมาหาพระพุทธเจ้า แล้วต่างเล่าว่าตนเองนั้นคบกับคู่ครองมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่เคยนอกใจ จึงไม่มีทางนอกกายไปได้ ว่าแล้วก็บอกความต้องการแก่พระพุทธเจ้าว่าทั้งสองต้องการจะพบกันตลอดไป พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบตามที่ถาม คนถามเขาไม่ได้ถามนะว่าทางพ้นทุกข์ ทางหมดทุกข์ไปทางไหน เขาถามทางให้ได้เจอกันเรื่อยไป พระพุทธเจ้าก็ตอบตามนั้นเท่านั้น แล้วท่านก็แทรกยาทิพย์ไปตามฐานของสามีภรรยาคู่นี้คือสอนให้สำรวม มีธรรมะ พูดจากันดี ๆ ไม่ใจร้ายหรือทำร้ายกัน แล้วก็จบด้วยทำแบบนี้จะเป็นผู้เสวยกามพอใจอยู่เทวโลก

มีหลายครั้งที่มีคนมาถามแบบ… จะเรียกว่ายังไงดี คือถามโง่ ๆ นั่นแหละ เช่น กระผมได้ยินมาว่าตรงนั้นตรงนี้เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบว่า แม้เราก็ได้ยินมาว่าฯ คุยแบบนี้กันอยู่สักพัก… จนพระอานนท์ทนไม่ไหว ต้องชี้นำให้ถามให้ถูกซิ ถามแบบนั้นจะได้ประโยชน์อะไร คือบางทีเรื่องมันก็อยู่ที่ต้นทางด้วย ถ้าจะศึกษาธรรมะนี่บางทีก็ต้องลงรายละเอียดในพระไตรปิฎกเหมือนกัน มันก็เป็นหลักฐานที่มากที่สุดที่พอจะศึกษาหาความในเหตุและที่มาได้

ดังนั้นจึงไม่ควรรีบปักใจเชื่อ พระเขาเป็นเกจิอาจารย์ก็ตาม แม้เขาน่าเชื่อถือก็ตาม แม้เขามีชื่อเสียงก็ตาม แม้คนส่วนมากจะเชื่อตามเขาก็ตาม แม้เราจะชอบใจก็ตาม และแม้คำความเหล่านี้จะมีอยู่ในพระไตรปิฎกก็ตามที

ก็ต้องลองด้วยตัวเอง คือทำแล้วพ้นทุกข์ก็ทำ แต่ถ้าทำแล้วไม่พ้นทุกข์ก็เลิก (กาลามสูตร/ เกสปุตตสูตร) เพราะสุดท้ายความเป็นพาลก็ใช่ว่าจะรู้กันได้ง่าย ๆ ก็ต้องโดนหลอกจนทุกข์เข้าจริง ๆ นั่นแหละ จึงจะพอตาสว่างกันได้ เห็นทุกข์แล้วเห็นธรรมนี่คือมีปัญญา แต่เข้าไปคว้าทั้งที่มันทำให้ทุกข์นี่มันไม่มีปัญญา มันก็ต่างกันตรงนี้แหละ