การวางใจก่อนนาทีสุดท้าย : กรณีศึกษา คุณยายเป็นมะเร็ง
การวางใจก่อนนาทีสุดท้าย : กรณีศึกษา คุณยายเป็นมะเร็ง
ในบทความนี้ ผมตั้งใจเรียบเรียงให้กับทั้งผู้ที่ระลึกถึงวาระสุดท้ายของตนเอง และผู้ที่ยังประมาท ใช้ชีวิตอย่างเพลิดเพลินในกิเลส หลงมัวเมาในโลกธรรม จนหลงลืมว่าวาระสุดท้ายของเราเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ…
ผมมีประสบการณ์จากคุณยายของผมเอง ท่านเป็นมะเร็ง ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยม ไปพูดคุย ไปดูแลท่านอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่เข้าโรงพยาบาลครั้งแรก จนกระทั่งอาการดีขึ้นก็กลับมาอยู่ที่บ้านสักพัก สุดท้ายก็อาการกำเริบต้องกลับไปนอนโรงพยาบาลและจากไปในที่สุด
ผมจำแววตาสุดท้ายของคุณยาย ก่อนที่ท่านจะไม่รู้สึกตัวได้ดี เราเข็นเตียงพาท่านไปตรวจแสกนอะไรสักอย่าง ท่านได้แต่นอนอยู่บนเตียง ผมมองหน้าท่านแล้วยิ้มให้ แต่แววตาของท่านนั้นเต็มไปด้วยความหวาดกลัว ความกังวล น้ำตาคลอที่เบ้า ผมรู้ดีว่าท่านกลัวผลที่จะออกมาจากการตรวจ กลัวที่จะรับรู้ความจริงที่โหดร้าย กลัวว่าจะต้องจากไป… ผมยังจำแววตานั้นได้ดี
คุณยายเป็นผู้หญิงแกร่งที่ต่อสู้มาทั้งชีวิต ซึ่งคุณตาก็เสียไปตั้งแต่ยายยังสาว ทำให้เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เลี้ยงลูกมา 5 คนด้วยตัวคนเดียว ทั้งยังสวดมนต์ ทำบุญตักบาตร ทำทานอยู่เป็นประจำ แต่ความแข็งแกร่งและบุญบารมีเหล่านั้นกลับกลายเป็นเพียงผงธุลี เมื่อเจอกับการบดขยี้ของความทุกข์จากมะเร็งและความตายที่กำลังจะคืบคลานเข้ามาเยือน
จากการเรียนรู้จากเรื่องราวของคุณยายทำให้ผมได้เข้าใจว่า เราจะมาคิดที่จะวางใจในนาทีสุดท้ายไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่ามันจะถึงเมื่อไหร่ และบุญบารมีที่ทำมาเพียงแค่ทำบุญตักบาตร บริจาคทานและสวดมนต์นั้น คงไม่เพียงพอที่จะทำให้จิตใจเป็นสุขได้ในสภาวะที่ใกล้ตาย
การวางใจก่อนนาทีสุดท้าย…
การวางใจก่อนนาทีสุดท้ายนั้นสามารถทำได้ แต่จะมีสักกี่คนที่จะทำใจให้วางได้จริงๆ ในเมื่อเรายังยึดสิ่งต่างๆอยู่ ยึดบ้าน ยึดตำแหน่ง ยึดหน้าที่การงาน ยึดครอบครัว ยึดบทบาทของตัวเอง ยึดมั่นถือมั่นทุกอย่างเป็นตัวเป็นตน จะให้คนนั้นทำอย่างนั้นจะให้คนนี้ทำอย่างนี้ คนนั้นต้องมาเยี่ยมไม่เยี่ยมฉันจะทุกข์ ถ้าคนนี้ไม่มาดูแลเอาใจฉันจะทุกข์ ถ้าครอบครัวไม่มาอยู่ร่วมกันในนาทีสุดท้ายฉันจะทุกข์
เรากำลังจะต้องโดนบังคับให้ทิ้งร่างนี้ไปอยู่แล้ว แต่เรายังไปสร้างภพ สร้างเงื่อนไข สร้างการยึดไว้ แล้วเราจะวางได้อย่างไร? เรายังไม่ยอมถอดหัวโขน ไม่ยอมถอดความเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก เป็นอะไรของใครหลายๆคน ยึดมันเอาไว้แบบนั้น ก็คงจะจะเป็นไปได้ยากหากจะปล่อยวาง เพราะวางแค่ปากกับกายก็คงจะไม่ไหว เพราะสุดท้ายแล้วใจคือประธาน จะเป็นตัวที่กำหนดทุกข์ กำหนดที่ไปของเรา
ไม่ต้องกลัวหรือกังวลไปว่า ถ้าตายในขณะที่จิตเป็นทุกข์จะทำให้ไปนรก เพราะกรรมใดที่ทำมาแล้วให้ผลทั้งนั้น ถ้าชีวิตนี้ดีมาตลอด ชั่วไม่ทำ ทำแต่ดี ก็ไม่ต้องกลัวเลยว่าจะไปที่ไหน ประตูนรกมันปิดไปหมดแล้ว มันก็มีแต่ดีน้อย ดีมาก ก็แค่นั้นเองส่วนคนที่ทำชั่วมามาก ชีวิตมีแต่อบายมุข มัวเมาในการเที่ยวกินเล่น หลงลาภยศสรรเสริญสุข ยึดมั่นถือมั่น จนเบียดเบียนตัวเองและคนอื่น ก็อย่าไปหวังเลยว่าถ้าไปตั้งจิตให้มันเป็นกุศลในนาทีสุดท้ายแล้วมันจะไปดี มันก็อาจจะไปดีได้สักพัก พอหมดบุญกุศลที่ทำมาก็วนกลับไปใช้กรรมชั่วที่ทำมาอยู่ดี
อีกอย่างคือ เราเองก็ไม่ได้เกิดมาชาตินี้กันชาติเดียว เราตายกันมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็แค่จำกันไม่ได้ การตายไม่ใช่การจากไปอย่างถาวร อีกไม่นานเราจะกลับมาเจอกันใหม่เหมือนที่เราเจอในชาตินี้ ในเมื่อยังมีกิเลส มีตัณหา มันก็จะพาเรากลับมาเกิดใหม่อีกที อย่ากังวลเรื่องตายเลย เพราะสุดท้ายไม่ว่ายังไงช้าหรือเร็วก็ต้องไปเกิดมาใหม่อยู่ดี มาแบกทุกข์แบกสุขกันแบบที่เกิดกันในชีวิตนี้อยู่ดี
ความทรมานนั้น คือทุกข์จากวิบากกรรมที่เราได้ทำมา เป็นสิ่งเลวร้ายที่เราเคยทำมา หน้าที่ของมันไม่ใช่เพียงทำให้เราเจ็บปวด ทุกข์ ทรมาน สลด หดหู่ ฯลฯ แต่ยังทำให้เราได้ระลึกถึงสิ่งเลวร้ายที่เราได้ทำมา ว่าสิ่งนั้นมันได้ส่งผลถึงเราแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้เบียดเบียนย่อมเจ็บป่วยและมีโรคมาก …
จากวันที่เราเกิดจนถึงวันนี้ เรามีส่วนในการฆ่าสัตว์มาเพื่อเป็นอาหารของเรามาเท่าไหร่ การมีชีวิตอยู่ของเราไปเบียดเบียนคนอื่นมากเท่าไหร่ ความเจริญในหน้าที่การงานของเราไปขัดขาใครไปสร้างทุกข์ให้ใครมาเท่าไหร่ ความฟุ่มเฟือยของเราทำลายทรัพยากรโลกมากเท่าไหร่ เราเคยได้ระลึกถึงมันไหม?
เราไม่เคยระลึกถึงกรรมที่เราเคยทำมาเลย แต่พอเจ็บป่วย ทุกข์ ทรมาน กลับมองหาคนผิด มองหาโจร มองหาผู้ร้าย คิดไปว่าฉันทำแต่ความดี ทำไมฉันต้องเจอเรื่องแบบนี้ …ถ้าคิดแบบนี้มันก็ทุกข์ เพราะในความจริงแล้ว เราไม่มีทางได้รับสิ่งที่เราไม่ได้ทำมา สิ่งที่เราได้รับนั้น เราทำมาทั้งนั้น เราทำอะไรก็ต้องรับอย่างนั้น สัจจะมีอย่างเดียวและเป็นจริงตลอดกาล ไม่มีทางดิ้น ไม่มีทางหนีได้เลย
เมื่อเราสามารถทำใจให้ยอมรับทุกอย่างที่ได้ทำมาไม่ว่าจะในชาตินี้หรือชาติก่อนได้แล้ว ทุกข์ทางใจก็จะเบาบางจางคลายลง เราจะไม่หาคนผิด เมื่อเรายอมรับทุกอย่างด้วยความเข้าใจว่า นี่คือสิ่งที่เราทำมา เราก็จะเริ่มมาพิจารณานำจิตใจเราไปสู่สิ่งที่ดีงาม สิ่งดีที่เราเคยทำมา สิ่งดีที่เรายังพอจะทำได้
ในตอนนี้แม้เราจะเหลือเวลาอีกไม่มาก เรายังสามารถพูดดีกับคนรอบข้างได้ไหม? สามารถทำให้คนรอบข้างสบายใจได้ไหม? เพราะเวลาที่สำคัญที่สุดคือเวลาปัจจุบัน ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต การทำความดีในขณะที่ยังมีลมหายใจนั้นสำคัญที่สุด เมื่อมีสติระลึกได้ว่าควรจะอยู่ปัจจุบัน ควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำกุศลเท่าที่เวลาจะเหลืออยู่ การทำกุศลก็เพียงแค่ คิดดี พูดดี ทำดี ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องลำบากไปนิมนต์พระดังวัดไหนมาทำบุญหรอก เพราะการทำให้พระลำบากก็เป็นการเบียดเบียนพระไปอีก ถ้าไม่รู้จะทำอะไรก็ทำสมถะ บริกรรม พุท-โธ ไปก็ได้ เตรียมตัวเดินทางไปสู่ภพใหม่ด้วยใจที่ไม่คาดหวังอะไร ไปไหนก็ได้แล้วแต่กรรมจะพาไป
สิ่งหนึ่งที่ควรจะยึดอาศัยตลอดเวลาที่ยังมีลมหายใจและพาไปยังอีกภพหนึ่งด้วยนอกจากกรรมแล้วนั่นก็คือผู้ชี้ทาง ซึ่งก็คือการมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจ ไม่ว่าจะรู้สึกท้อแท้ ท้อถอย หดหู่ เจ็บปวดกี่ครั้งก็ตาม เราก็ยังจะยึดพระรัตนไตรเป็นที่พึ่ง เราไม่พึ่งสิ่งอื่นนอกจากนี้
ผู้ที่หวังการบรรลุธรรมในช่วงนาทีสุดท้าย ขออย่าได้หวังไกลไปเลย เพราะไม่มีใครรู้ว่านาทีสุดท้ายนั้นจะเป็นอย่างไร ทำปัจจุบันให้ดีจะดีกว่า ตราบเท่าที่ยังมีสติและลมหายใจ แม้ร่างกายจะกลายเป็นแค่พืชผักก็ยังสามารถที่จะคิดดีได้ ซึ่งนั่นก็เป็นกุศลมากพอแล้ว
– – – – – – – – – – – – – – –
7.9.2557
ทานนี้เพื่อให้
ทานนี้เพื่อให้
การทำบุญทำทาน หรือการสละให้ออกไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนทุกคนบนโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นการลดความอยากได้อยากมี เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นสิ่งที่ควรให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่ ” ดังนั้นการให้ทานจึงเป็นสิ่งที่ควรพึงกระทำอย่างสม่ำเสมอ
การให้ทานจะมีผลมากนั้นก็ขึ้นอยู่กับทานนั้นลดกิเลสหรือไม่? เราได้สละออก ได้ให้ไปจริงหรือไม่? บางครั้งเรามักจะเห็นคนที่ให้หรือบริจาคทาน ไม่ได้ให้อย่างแท้จริง เมื่อให้ไปแล้วแต่ยังมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ยังคาดหวัง ยังแลกเปลี่ยนอยู่
เช่น เราให้ขนมกับเพื่อน เราให้ไปแล้วนะ แล้วเพื่อนเอาขนมที่เราให้ไปให้หมากิน เรากลับโกรธเพื่อน อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ
เช่น เมื่อเราทำบุญบริจาค เราให้ไปแล้วนะ แต่เราไปตั้งจิตขอให้สมหวังอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ
เช่น เราแนะนำ เราบอกสิ่งดีๆให้กับเพื่อนไปแล้ว แต่เพื่อนกลับไม่ทำตามที่เราแนะนำ ตามที่เราเห็นว่าดี กลับไปทำตรงข้าม แล้วเราไม่พอใจที่เขาไม่ทำตามเรา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ
เช่น เราบอกคนที่ทำให้เราโกรธว่า “เอาเถอะ…ให้อภัยไม่ถือโทษกัน” เราบอกด้วยปาก ท่าทีของเราก็ดูปกติ คนนั้นเขาก็เชื่อนะ แต่ในใจเรายังโกรธ ยังเคือง ยังไม่พอใจอยู่ ยังไม่อยากเจอ ไม่อยากคบหา อันนี้คือเราไม่ได้ให้ไปจริงๆ
การให้ทานที่ยังมีความหวังว่าจะได้อะไรกลับมาตอบแทนหรือยังยึดมั่นถือมั่นเป็นเจ้าของอยู่นั้น เป็นการให้ทานไม่ถูกไม่ควรสักเท่าไรนัก
การให้ทานที่จะเกิดกุศลมาก ต้องเป็นทานที่ให้เพื่อที่จะให้ ให้เพื่อที่จะไม่ได้รับอะไรเลย ให้เพื่อหมดตัวหมดตน ให้เพื่อหมดความอยากได้ ให้เพื่อที่จะไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากจะเอาอะไรอีก ให้จนไม่มีอะไรจะเอา…
ในชีวิตของเราในแต่ละวันนั้น มีการให้ทานอยู่ในหลายรูปแบบ ทั้งวัตถุทาน ธรรมทาน อภัยทาน ถ้าเราพิจารณาให้ดีว่าการให้ทานที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น เราได้ให้ไปจริงหรือไม่ ยังคิดจะเอาอะไรอยู่หรือไม่ ก็จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำทานที่ให้ผลเจริญ เป็นกุศล ที่ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องรอไปทำบุญทำทานที่วัด ไม่ต้องรอตักบาตรตอนเช้า
วัตถุทาน เช่น เราสามารถแบ่งขนมให้เพื่อนกินได้หรือไม่ แบ่งของให้เพื่อนยืมได้หรือไม่ มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่นได้หรือไม่
ธรรมทาน เช่น เราแนะนำสิ่งดีให้กับคนอื่น พูดสิ่งที่ดี ที่พาลดกิเลสให้กับคนอื่น เมื่อมีปัญหาในกลุ่ม เราพูดเพื่อลดความบาดหมาง ลดโลภ โกรธ หลง หรือกระทั่งสอนให้เขาเข้าใจวิธีการทำให้ชีวิตไม่ทุกข์ก็เป็นธรรมทาน
อภัยทาน เช่น มีคนทำไม่ถูกใจเรา รถคันหน้าขับปาดแซงเรา คันหลังเปิดไฟสูงไล่เรา คันข้างๆเบียดเข้ามา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เพื่อนร่วมงานนินทาเรา เจ้านายว่าเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม , เห็นข่าวไม่ดีไม่งาม คนทำผิด ทำชั่ว ทำเลว เราให้อภัยเขาได้ไหม , มีคนพูดไม่ถูกใจเรา ทำไม่ถูกใจเรา คิดไม่ตรงใจเรา เราให้อภัยเขาได้ไหม
ดังจะเห็นได้ว่า การทำทานนั้นสอดร้อยไปในทุกจังหวะชีวิตของเรา หากคนมีปัญญารู้จักเก็บเกี่ยวกุศลสูงสุดของทุกๆเหตุการณ์ในแต่ละวัน ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท รู้จักทำทานอยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่ได้มีภาพลักษณ์เหมือนคนที่ใจบุญ ทำบุญตักบาตรนุ่งขาวห่มขาวไปวัดเป็นประจำอย่างที่สังคมเข้าใจ แต่เขาก็จะได้รับแต่สิ่งที่ดีในชีวิต เพราะผลแห่งทานเหล่านั้นนั่นเอง
– – – – – – – – – – – – – – –
7.9.2557
เรากราบอะไร?
เรากราบอะไร?
อย่างที่รู้กันว่า คนไทยส่วนมากในประเทศไทยนั้น นับถือศาสนาพุทธ เราเป็นพุทธมาตั้งแต่เกิด เป็นพุทธตามทะเบียนบ้าน เรายึดถือและเข้าใจกันตามที่สังคมพากันปฏิบัติ โดยที่เราเองก็ไม่เคยได้ไปศึกษา “ศาสนาพุทธ” ให้ลึกซึ้งรู้จักแค่เพียงพุทธในภาพและรูปแบบที่บอกต่อกันมา…
เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น ทั้งคนทำงานและคนเกษียณ ต่างพากันหาที่พึ่งทางใจ เนื่องด้วยชีวิตที่ยิ่งนานวันไปทุกข์ก็ยิ่งมาก แม้จะมีการงานดี ฐานะมั่นคงดี ลูกหลานดี ญาติมิตรดี บริวารดี แต่ก็หนีไม่พ้นทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ …วัดหรือพระชื่อดังที่เก่าแก่ก็เลยกลายเป็นที่พึ่งของผู้ศรัทธาเหล่านั้น
ผู้ศรัทธาเหล่านั้นต่างตระเวนไปทั่วทุกสารทิศ เพื่อกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จนทุกวันนี้มีให้เห็นธรรมะทัวร์เป็นธรรมดา เราตระเวนไปกราบอะไร? เรากราบพระใช่ไหม? แล้วพระที่บ้านกับพระที่เราไปกราบต่างกันอย่างไร? ในเมื่อพระพุทธรูปนั้นก็คือตัวแทนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้เราระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าไม่ใช่หรือ? ดังนั้นความศักดิ์สิทธิ์ควรจะอยู่ที่ไหน?
ความศักดิ์สิทธิ์ก็อยู่ที่ทิฏฐิของเรานั่นแหละ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ หรือมิจฉาทิฏฐิ ถ้าเข้าใจผิด ต่อให้ไหว้ทุกวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วโลก ไหว้ทั้งชีวิตก็ไม่สามารถที่จะพ้นทุกข์ได้หรอก เพราะการจะปฏิบัติจนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “บุญ” นั้น จำเป็นต้องมีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็น ความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์เป็นตัวตั้งเป็นเหมือนหางเสือควบคุมทิศทางเรือ ถ้าหันผิดทางก็คงจะไปนรกสถานเดียว เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ ทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี ( เอเสวมัคโค นัตถัญโญ ) ” นั่นหมายถึงถ้าไม่เริ่มจาก สัมมาทิฏฐิ สัมมาอริยมรรคข้ออื่นๆก็คงจะผิดเพี้ยนกันไปหมด หลงทางไปหมด มัวเมาไปหมด พากันไปสู่ทางทุกข์กันหมด
ดังนั้นคนที่มีสัมมาทิฏฐิไม่ว่าจะกราบพระพุทธรูปที่ไหนก็เหมือนกัน แม้จะไม่มีพระพุทธรูปอยู่ตรงหน้า แต่กราบด้วยจิตที่ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เป็นความศรัทธาด้วยเหตุแห่งปัญญา
เรากราบพระพุทธเจ้าด้วยความเข้าใจถึงความรู้และความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของท่านที่บำเพ็ญเพียรมานานกว่าสี่อสงไขยกับอีกกว่าแสนมหากัป ยอมทนทุกข์ทรมานเพื่อที่จะเรียนรู้โลกจนแจ่มแจ้ง คือรู้ทั้งโลกียะและโลกุตระ เพื่อส่งต่อมาให้เราจนถึงปี พศ ๒๕๕๗ นี้
เรากราบพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่จะพาเราพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ตนเองและผู้อื่น เป็นสิ่งที่เป็นจริงตลอดกาล ไม่มีใครหักล้างได้ พิสูจน์กันได้ ใครตั้งใจทำก็สามารถเข้าถึงได้ทุกคน
เรากราบพระสงฆ์ คือ พระอริยะผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ที่เป็นตัวอย่างให้เราปฏิบัติตาม ผู้เป็นครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอนความรู้แก่เรา ผู้ควรกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญที่ยังสืบเชื้อสายโลกุตระธรรมต่อจากพระพุทธเจ้า
เมื่อเข้าใจดังนี้เรา เราจะกราบพระที่ไหนก็เหมือนกัน เพราะทิฏฐิเราตั้งไว้ตรงดีแล้ว กราบที่ไหนก็ได้กุศลสูงสุดเหมือนกัน ไม่มัวเมาไปตามสิ่งที่โลกเขาพาให้เราเข้าใจ พาให้เราหลงไป เพราะเราได้เข้าใจสัมมาทิฏฐิ อันเป็นเนื้อหาสาระที่ควรเข้าถึง มิใช่ผู้ที่กราบไหว้พระพุทธรูปที่เขาว่าศักดิ์สิทธิ์ด้วยความศรัทธาเพียงเรื่องราวและคำกล่าวอ้าง
เป็นความเข้าใจที่เป็นเหมือนคลื่นแม่เหล็กนำพา ดูดดึงเอาสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิต เพราะเมื่อเราเข้าถึงคุณค่าของการกราบพระ จนกระทั่งยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ไม่มีที่พึ่งอื่นใดนอกจากนี้ เราก็จะไม่ไขว้เขว ไม่หลงทาง ทางที่เดินต่อไปก็จะเป็นทางที่มีแต่สิ่งที่ดีเป็นส่วนใหญ่ เจริญขึ้นตามลำดับ พ้นทุกข์ไปเรื่อยๆ มีความสุขมากขึ้นไปเรื่อยๆ
– – – – – – – – – – – – – – –
6.9.2557
รับน้อง
รับน้อง
ช่วงนี้ได้ยินข่าวการรับน้อง เป็นอีกครั้งที่มีการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้เกิดอะไรไม่ดี แต่จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อเรากำลังใช้ชีวิตอย่างประมาท ทำกิจกรรมอย่างประมาท เพราะเราคิดอย่างประมาท
การรับน้องเป็นเรื่องของประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ อารมณ์ ความรู้สึก และกิเลส ซึ่งมีมานานตั้งแต่ยุคไหนสมัยไหนก็คงจะไม่เสียเวลาไปค้นหากันให้ยุ่งยาก รู้แค่ว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ สิ่งที่ดีงาม หรือเป็นการสนองตัณหา เสริมกิเลสก็พอ
ผมเองเคยเป็นทั้งรุ่นน้องและรุ่นพี่ที่เคยรับน้อง ซึ่งเข้าใจดีถึงประเพณีที่ปนเปื้อนไปด้วยความอยากที่ซุกซ่อนอยู่ภายในจิตใจของผู้ร่วมกิจกรรมทุกคน สมัยเป็นรุ่นน้องก็เคยเห็นเพื่อนๆเขาจริงจังกับกิจกรรมของรุ่นพี่ พอมาเป็นรุ่นพี่เราก็เห็นรุ่นพี่ทั้งหลายสนุกกับกิจกรรมของตัวเองโดยมีรุ่นน้องเป็นเหยื่อเหมือนกัน
จะสังเกตได้ว่ายิ่งนานวันไปกลุ่มที่มีลักษณะการรับน้องที่มีความรุนแรงและอารมณ์เข้ามาปนเปื้อนเยอะ ก็จะยิ่งเพิ่มระดับความรุนแรงและอารมณ์เข้าไปเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดความเสียหายในรูปของการบาดเจ็บล้มตายและความเสื่อมเสียชื่อเสียงมากขึ้น เพราะกิเลสจะยิ่งพัฒนาตัวเองส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น รุ่นพี่ทำแบบนี้ พอรุ่นน้องมารับช่วงต่อ ก็เก็บเอากิเลสของรุ่นพี่มาต่อยอด คือต้องทำให้มันเจ๋งกว่ารุ่นพี่ พัฒนากันไปตามที่ใจอยากจะเป็น
ก็คงจะดีถ้าทิศทางการพัฒนานั้นเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ เกิดความดีงาม เกิดการพัฒนาในเชิงบวก มีกิจกรรมมากมายที่รุ่นพี่สามารถออกแบบใหม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปติดกรอบเดิมๆที่เขาคิดไว้ กิจกรรมที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์ ความอดทน ความกล้า ความเป็นผู้นำ ความสามัคคี นั้นมีมากมาย ถ้าคิดกันง่ายๆ ก็กิจกรรมจำพวกงานจิตอาสาต่างๆ เช่น…
..ชวนกันไปเก็บขยะตามสถานที่ต่างๆก็ได้ แค่นี้ก็วัดใจแล้วว่าจะกล้าลดตัวลดตน มาทำดีรึเปล่า
….ไปทาสี โรงเรียน วัด ก่อสร้างอาคาร ปรับปรุงพัฒนาสถานที่ ขนอิฐ แบกปูน แค่นี้ก็วัดความสามัคคี ความอดทน ความเป็นผู้นำ กันได้แล้ว
……ไปปลูกต้นไม้ ขุดลอกคลอง เก็บผักตบชวา ดำนา เกี่ยวข้าว …มีกิจกรรมที่สามารถดึงความสามัคคีและสร้างสรรค์ได้มากมาย เป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องลำบากเสียเวลาไปทำสิ่งที่ไม่มีสาระ ไม่มีประโยชน์ กับตนเองและผู้อื่น
ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายๆกลุ่มที่เขาทำอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะมองว่าแบบนี้แปลกไม่เหมือนรับน้อง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นไปในทางขัดใจ ขัดกิเลส ไม่ไปทางอกุศล ตามที่คนส่วนใหญ่มักเมามายในกิจกรรมที่พาให้หลงไปในสิ่งมัวเมาในอารมณ์ เมาโลกธรรม เมาอัตตา คือรุ่นพี่ก็เมาสรรเสริญ เมายศ หลงมัวเมาไปว่าตนเองเป็นรุ่นพี่ สั่งรุ่นน้องทำอะไรก็ได้ ทั้งที่จริงแล้วยศ อำนาจ เหล่านั้น เราก็ปั้นขึ้นมาเอง
เพราะความจริงเราก็เป็นแค่คนที่เข้ามาเรียนก่อนเขาปีหนึ่งเท่านั้นเอง อย่างมากก็แค่เรียนจบก่อน แล้วมันยังไงละ? มันดี มันเด่น มันยอดกว่าตรงไหน ตรงความรู้ใช่ไหม? สิ่งที่รุ่นน้องกับรุ่นพี่ต่างกันชัดเจนก็คือความรู้ นี่คือสิ่งที่ควรจะเอามาถ่ายทอดกันมากกว่า ส่วนเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ เรื่องการใช้อำนาจ การใช้กำลัง ความมัวเมา ใครก็ทำได้ ลองเอาปืนใส่มือเด็กสิ เด็กก็ยิงเป็น เผลอๆจะแม่นกว่าผู้ใหญ่อีก
ดังนั้นเราอย่าไปแข่งกันทำสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์เลย เพราะเรื่องแบบนี้ใครก็ทำได้ แค่เพียงเขาไม่ทำกัน เพราะเขาเห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียจากกิจกรรมที่ไม่สร้างสรรค์เหล่านั้น คนที่ไม่เห็นผลเสียแล้วยังมองว่าดี ก็เหมือนยังเห็นกงจักรเป็นดอกบัว
ถ้าเราสามารถกลับมาที่จุดเริ่มต้น คือ“รับน้องไปทำไม” เราจะคิดอะไรดีๆได้อีกมากมาย แล้วก็มาคิดกันต่อว่า แล้วรับน้องอย่างไรถึงจะได้ประโยชน์ทั้งกับเรากับน้อง จุดประสงค์คืออะไร ผลที่จะได้รับคืออะไร แล้วค่อยหากิจกรรมที่เป็นกุศล เป็นประโยชน์มาคิดกันอีกที
ถ้าทางที่รุ่นพี่พากันทำกันมามันคือทางที่ไม่สร้างสรรค์ พาให้เป็นทุกข์ พาไปนรก เรายังจะเดินตามกันไปอีกหรือ?
– – – – – – – – – – – – – – –
4.9.2557