วิธีการทำ ขั้นตอนต่างๆ

สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔

March 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,365 views 0

สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔

สมถะ-วิปัสสนา เมื่อใช้ตามแนวทางอริยสัจ ๔

สมถะและวิปัสสนานั้นเป็นสิ่งที่ปฏิบัติแตกต่างกัน ผลที่ได้ก็จะแตกต่างกัน เราจึงควรเรียนรู้ความต่างของสมถะและวิปัสสนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สมถะ คือ การใช้อุบายให้เกิดความสงบใจ เข้ามาควบคุมใจ ซึ่งจะเป็นการกดข่ม ตัดรอบ ทำเป็นลืม เปลี่ยนเรื่อง คิดบวก ฯลฯ การกระทำให้จิตที่ฟุ้งซ่านนั้นดับไปโดยทันทีจะอยู่ในลักษณะของสมถะ

วิปัสสนา คือ การใช้อุบายให้เกิดปัญญา ให้มองเห็นความจริงตามความเป็นจริง โดยการคิดพิจารณาความจริง ให้จิตเกิดปัญญารู้แจ้งว่าความจริงที่ไม่ถูกปนเปื้อนด้วยกิเลสนั้นเป็นเช่นไรเจริญไปตามลำดับหยาบ กลาง ละเอียด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับในทันที

สมถะ-วิปัสสนา สำหรับผู้ที่เข้าใจทั้งสองกระบวนการ จะบริหารการใช้อุบายเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ใช้สมถะกดกิเลสไม่ให้ออกฤทธิ์ก่อนแล้วใช้ช่วงเวลานั้นๆพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงไป ถ้าไม่มีพลังของสมถะเลย แล้ววิปัสสนาอย่างเดียวก็จะช้า จะแพ้กิเลสจนท้อหรือกระทั่งเลิกพิจารณา ส่วนถ้าสมถะอย่างเดียวก็จะกดข่ม ตัดรอบกันอย่างเดียวจนไม่มีปัญญาใดๆเกิดขึ้น ได้เพียงความสงบเท่านั้น

และในบทความนี้เราก็จะมาไขความต่างของสมถะและวิปัสสนา เมื่อปฏิบัติตามแนวทางของอริยสัจ ๔

๑). ทุกข์

เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นนั้นก็หมายถึงเรามีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสักสิ่งหนึ่งแล้วเราไม่ได้สิ่งนั้นมาเสพ ยกตัวอย่างเช่นมีคนมานินทาเราแล้วเราโกรธก็จะเป็นทุกข์ขึ้นมา

๑.๑ ). สมถะกับทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์นั้นก็จะเห็นความโกรธที่เกิดขึ้นนั้นเป็นตัวทุกข์

๑.๒ ). วิปัสสนากับทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์นั้นก็จะเห็นว่าการโกรธนั้นเป็นตัวทุกข์

๑.๓ ). สรุปทุกข์ ในมุมมองของสมถะและวิปัสสนานั้นจะเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง คือสมถะจะเห็นความโกรธเป็นทุกข์ แต่วิปัสสนาจะเห็นว่าการที่เราต้องมาลำบากโกรธจนลำบากกายลำบากใจนี่แหละเป็นทุกข์ ความต่างคือสมถะมักจะมองความโกรธเป็นเรื่องนอกตัวไม่ใช่ตัวเรา แต่วิปัสสนาจะมองความโกรธเป็นเรื่องที่เกิดจากภายในซึ่งจะมีผลต่อไปถึงสมุทัย

การมองว่าทุกข์นั้นไม่ใช่ตัวเราของเราตั้งแต่ตอนแรกจะทำให้เราไม่คิดจะสืบหาสาเหตุแห่งทุกข์นั้นต่อไป เพราะไป “คิด” ว่าทุกข์ไม่ใช่เรา ความโกรธไม่ใช่เรา โดยที่กิเลสนั้นยังไม่ได้ถูกทำให้แสดงตัวและชำระให้สิ้น นั่นหมายความว่าการกดข่มจะทำให้ไม่สามารถเข้าถึงประโยชน์สูงสุดของการเกิดทุกข์ได้

๒).สมุทัย

การเห็นทุกข์นั้นเป็นประตูแรกของการเห็นธรรม แต่การเห็นเหตุแห่งทุกข์นั้นจำเป็นต้องใช้ความเพียรและปัญญาที่มากกว่า ขึ้นชื่อว่าเหตุก็ต้องศึกษาให้เห็นเหตุซึ่งจะยากเย็นแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่ผูกปมกิเลสนั้นๆไว้

๒.๑ ).สมถะกับสมุทัย จะเห็นความโกรธนี่เองเป็นเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์เพราะโกรธ ทุกข์เพราะคิดปรุงแต่ง ทุกข์เพราะมีตัวตน ทุกข์เพราะไม่มีสติ ฯลฯ

๒.๒ ).วิปัสสนากับสมุทัย จะค้นลงไปในความโกรธว่าสิ่งใดเป็นเหตุแห่งความโกรธนั้น แน่นอนว่าการมีอัตตานั้นคือปลายทาง แต่การวิปัสสนานั้นจะมองหาความจริงที่แท้จริงไปตามลำดับ ขุดค้นเหตุไปเรื่อยๆ เช่น โกรธเพราะเราเกลียดเขาอยู่แล้ว นั่นเพราะเขาเคยทำไม่ดีกับเรา คนอื่นนินทาเราไม่โกรธแต่คนนี้เราโกรธ ที่เขาเคยทำไม่ดีกับเราเราก็ฝังใจ ที่เขาทำไม่ดีนั้นไม่ดีจริงหรือไม่ แล้วถ้าไม่ดีจริงทำไมเราต้องถือสา ที่เราถือสาเพราะเรามีอคติอะไรอยู่แล้วรึเปล่า?

ซึ่งการหาเหตุนี้เองจะขุดค้นลงไปตามลำดับ ซึ่งจะไม่เจอเหตุแห่งทุกข์ตั้งแต่แรก จึงจำเป็นต้องใช้ไตรสิกขาเข้ามาช่วยกระทุ้งกระแทกให้เห็นเหตุให้ชัดขึ้น

๒.๓ ).สรุปสมุทัย ที่สมุทัยนี้เองจะเริ่มเห็นความต่างของสมถะวิธีและวิปัสสนาวิธีอย่างชัดเจน ในมิติของความลึกในการแก้ปัญหา สมถะจะมองปัญหาแค่ผิวเผิน ส่วนวิปัสสนานั้นจะขุดลงไปที่เหตุที่แท้จริง นั่นก็เพราะว่าถ้าหาเหตุแห่งทุกข์ไม่ได้ การเห็นความจริงตามความเป็นจริงนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลย

๓).นิโรธ

นิโรธคือการดับทุกข์ การดับทุกข์นั้นสามารถดับได้หลายวิธี มีทั้งดับชั่วคราวและดับถาวร มีกลยุทธ์และวิถีทางในการดับหลายแบบ แต่จะสรุปคร่าวๆออกมาจากผลของสมถะและวิปัสสนาด้วยกันสองแนวทาง

๓.๑ ).สมถะกับนิโรธ เมื่อเห็นทุกข์ของความโกรธและเห็นว่าความโกรธ ความคิด การมีตัวตน การไม่มีสตินั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ สมถะจึงดับทุกข์ด้วยการดับความคิด ดับการปรุงแต่ง การคิดว่าต้องไม่มีตัวตน หรือการใช้สติ ซึ่งการดับเช่นนั้นเป็นการดับแบบชั่วคราว ดับเฉพาะไฟที่ลุกขึ้นแต่ไม่ได้ดับเชื้อไฟ นี้เองคือความตื้นของสมถะที่ลงไปไม่ถึงเหตุ แต่ถึงกระนั้นการดับแบบชั่วคราวก็สามารถดับข้ามภพข้ามชาติได้ แต่ที่แน่นอนคือมันไม่ถาวร

๓.๒ ).วิปัสสนากับนิโรธ เมื่อเห็นความทุกข์ของความโกรธ และค้นเจอเหตุแห่งทุกข์แล้ว ยกตัวอย่างเช่นว่า จริงๆที่มีอคติจนเป็นเหตุแห่งความโกรธเมื่อได้รับการนินทาก็คือ คนคนนี้มีท่าทีหยิ่งในตอนแรกที่พบกันแล้วเราไม่ถูกใจ ดังนั้นเหตุแห่งทุกข์ก็คือความอยากได้รับการยอมรับ การเอาใจใส่จากคนอื่นนั่นเอง ซึ่งการจะทำให้กิเลสดับไปนั้น วิปัสสนาจะมาดับกันที่ตรงนี้ จะพิจารณาธรรมกันตรงที่เหตุ ใช้ไตรลักษณ์ก็ใช้ที่เหตุ ใช้กรรมและผลของกรรมก็ใช้ที่เหตุ ใช้การพิจารณาประโยชน์และโทษก็กระทำที่เหตุ ซึ่งเมื่อดับเหตุที่แท้จริงได้ จึงจะเป็นการดับที่แท้จริง ตามที่ควรจะเป็นจริงๆ

๓.๓ ).สรุปนิโรธ จะเริ่มเห็นได้ชัดแล้วว่าเมื่อระบุเหตุของปัญหาที่ต่าง ก็จะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ต่าง ตรงนี้เองที่เป็นขีดจำกัดที่ว่าทำไมทำสมถะอย่างเดียวจึงไม่บรรลุธรรมหรือกลายเป็นฤๅษี เพราะสมถะไม่ได้ดับทุกข์ที่เหตุ แต่มักจะไปดับที่ผล ถึงแม้จะมีการหาเหตุแต่ก็มักจะเป็นหารวมๆ ใช้วิธีการเป็นรูปแบบ ซ้ำๆ ย้ำๆ เรียกได้ว่ากิเลสแบบไหนก็ใช้วิธีการเดิม ทุกอย่างเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ทุกอย่างไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวเราของเรา มันก็ใช้ธรรมะเข้ามากดข่มเท่านั้นเอง เพราะแท้จริงแล้วการดับกิเลสในแต่ละอย่างนั้นมีความต่างในองค์ประกอบหลายๆอย่างอยู่ หลายคนก็หลายรูปแบบ เพราะแต่ละคนผูกปมสะสมกิเลสมาไม่เท่ากัน การแก้ไขปัญหาก็ต่างกัน ความยุ่งยากซับซ้อนก็ต่างกัน ดังนั้นเมื่อสมุทัยไม่ถึงเหตุ นิโรธก็ไม่ถึงผลตามแนวทางของพุทธ

๔). มรรค

มรรค คือวิถีทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์อย่างถูกตรง ประกอบด้วยความเข้าใจ การคิด พูด ทำ เลี้ยงชีพ ความเพียร การระลึกรู้ และความเป็นสมาธิที่ถูกตรง เกิดปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์จะต้องประกอบด้วยมรรคทั้ง ๘ องค์ที่สมบูรณ์ครบพร้อม ซึ่งการจะเกิดมรรคทั้ง ๘ ได้ จะต้องกระทำมรรคในข้อ ๑-๗ อย่างถูกตรงจนกระทั่งเกิดเป็นสภาพของสัมมาสมาธิ ซึ่งหมายถึง ความเข้าใจ คิด พูด ทำ เลี้ยงชีพ ขยัน มีสติอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

๔.๑ ).สมถะกับมรรค ในเมื่อสมถะมองความโกรธ เพราะความคิด การปรุงแต่ง การมีตัวตน การไม่มีสติเป็นปัญหา ดังนั้นจึงต้องดับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งมรรคของสมถะจะกลายเป็นดำดิ่งสู่ความสงบ การกดข่ม การตัดรอบ การวางเฉย การใช้ธรรมะหรือเหตุผลต่างๆมากระทำต่อความฟุ้งซ่านนั้นๆ เช่นความโกรธไม่ใช่เรา ความโกรธไม่เที่ยง มาเป็นเครื่องมือสะกดจิต จนจิตสงบจากกิเลสนั้นๆ เป็นสภาพที่ความโกรธสงบลงเพราะใช้อุบายทางใจเข้ามาบริหารและความคุม ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นไปตามสัมมาอริยมรรค เป็นเพียงวิถีทางทั่วไปตามแบบฉบับของสมถะซึ่งเป็นพื้นฐานของมนุษย์ในโลกอยู่แล้ว การทำสมถะนี้ไม่ว่าศาสนาใดก็ใช้กัน ซึ่งพุทธเองก็ใช้เป็นเครื่องอุปการะเหมือนกันแต่ไม่ได้ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติ

๔.๒ ).วิปัสสนากับมรรค เมื่อเห็นตัวกิเลสที่ทำให้เกิดทุกข์แล้ว จึงทำการคิดพิจารณากิเลสนั้นๆไปตามความจริงที่เป็นจริง ไม่ใช่ตามกิเลส โดยใช้ศีลมาเป็นเครื่องชี้วัด ซึ่งในตอนแรกมันจะไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ แต่จะเห็นโน้มเอียงไปตามกิเลส แม้ว่าจะมีสัมมาทิฏฐิแล้วก็ตาม ซึ่งการจะทำให้คิดได้ตามจริงนั้นก็ต้องอาศัยการพูด ทำ เลี้ยงชีพ ไปตามหลักแห่งความพ้นทุกข์ และพิจารณากิเลสนั้นๆโดยใช้ความเพียรและมีสติเป็นที่ตั้งเพื่อชำแหละกิเลสที่โผล่มาจากการใช้ศีลจับ เพื่อกระทำทิฏฐิให้ถูกตรงโดยลำดับ ทั้งหมดนี้เพื่อผลแห่งความคิดที่ถูกต้องถูกต้องให้ถึงพร้อม

วิปัสสนานี้เองเป็นความคิดอย่างแน่แท้ แต่เป็นการคิดที่สวนทางกับกิเลส เป็นการคิดที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ (สัมมาสังกัปปะ)ซึ่งมีคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าวิปัสสนาไม่ใช่การคิด การทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงนี่เองคือการคิด แต่มันอยู่ที่รายละเอียดว่าคิดอย่างไรจึงจะถูกทางพ้นทุกข์ ถ้าไม่คิดเลยก็กลายเป็นสมถะ

๔.๓ ).สรุปมรรค วิปัสสนานั้นไม่ได้ปฏิเสธการมีสติ หรือการคิด พูด ทำใดๆ เพราะจำเป็นต้องปฏิบัติมรรคทุกองค์อยู่แล้วเพื่อให้เกิดสัมมาสมาธิซึ่งเป็นผลจากการเห็นความจริงตามความเป็นจริง และยังไม่ได้ปฏิเสธการใช้สมถะเข้ามาร่วมในกระบวนการต่างๆเพื่อกดกิเลสไว้ เช่นมีความโกรธเราก็กดไว้ ก่อนที่เราจะตอบโต้ด้วยความโกรธ แต่จะไม่กดจะดับทั้งหมด เราจะยังต้องใช้เชื้อแห่งความโกรธที่เหลือมาเป็นเป็นต้นทางแห่งสมุทัย จนกระทั่งสามารถนำมาปฏิบัติตามมรรคได้

แต่มรรคของสมถะนั้นก็สามารถถึงสมาธิได้เหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเกิดมาจากมิจฉามรรค นั่นเพราะทิฏฐิผิดรูปผิดรอยตั้งแต่แรก โดยเฉพาะผู้ที่เข้าใจว่าการดับ การไม่คิด การมีสติตลอดเวลาคือการพ้นทุกข์ เหล่านี้คือผู้หลงผิดไปติดสมถะทั้งสิ้น เพราะแท้จริงแล้วการดับหมายถึงการดับกิเลส ไม่ใช่การดับผลของกิเลส การไม่คิดหมายถึงไม่คิดตามกิเลส ไม่ใช่ไม่คิดอะไรเลย และถ้าเป็นความคิดที่ย้อนแย้งกิเลสยิ่งต้องคิด และการมีสตินั้นจำเป็นต้องมีในการวิปัสสนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ตัวบรรลุธรรม เพราะหลักของวิปัสสนานั้นคือทำให้เกิดปัญญารู้เห็นจริงตามความเป็นจริง สติเป็นเสมือนเครื่องหล่อเลี้ยงที่จำเป็นต้องมี แต่ไม่ใช่ตัวที่จะทำให้เกิดปัญญา เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดปัญญาก็คือสัมมาสังกัปปะที่เกิดจากสัมมาทิฏฐิเป็นตัวตั้ง มรรคทั้ง ๗ องค์ทำงานส่งเสริมกันจนกระทั่งเกิดสัมมาสมาธิเป็นองค์ที่แปด ซึ่งเป็นตัวจบของกิเลสนั้นๆหมายถึงเกิดสภาพของวิมุตติหรือการหลุดพ้นจากกิเลสอย่างถาวร

สัมมาสมาธิไม่ใช่การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การกดข่มจิต หรือกระทำใดๆต่อจิตจนเกิดสภาพสมาธิ ลักษณะเหล่านี้เป็นวิธีของสมถะ ให้ผลเป็นสมาธิจริง แต่เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นแบบทั่วไป ศาสนาใดก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธ เพราะทางพ้นทุกข์พุทธนั้นมีทางเดียวคือ สัมมาอริยมรรค นั่นหมายถึงจะต้องถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์อย่างถาวรด้วย ไม่ใช่การดับอย่างชั่วคราว แม้จะดับได้ข้ามภพข้ามชาติแต่ถ้าไม่ถาวรก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ติดภพ ติดสงบ ติดดีเข้าไปอีก กลายเป็นฤๅษีไปอีก เนิ่นช้าไปอีก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นวินัยนั้นไม่ใช่ของเราคถาคต

ดังนั้นการใช้สมถะเข้ามาช่วยกดข่มกิเลสในกรณีที่มีความรุนแรงมากนั้นก็สามารถทำได้และเป็นกุศล แต่หากจะตั้งสมถะเป็นเป้าหมายในการบรรลุธรรมก็ขอสรุปเลยว่าจะต้องวนเวียนติดสุขอยู่ในโลกอีกนานแสนนาน เพราะโดยหลักแล้วสมถะไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาที่เกิดเลย เพียงแต่ทำปัญหาที่เกิดให้ดับและจบไปเท่านั้น จึงต้องวนเวียนเกิดดับๆอยู่เรื่อยไปเพราะเหตุยังไม่ดับนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

6.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การกินมื้อเดียว

March 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,638 views 0

การกินมื้อเดียว : ความเห็นความเข้าใจในเบื้องต้นสู่การศึกษาศีลกินมื้อเดียว

การกินมื้อเดียวนั้นเป็นศีลข้อหนึ่งในพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ในจุลศีลและจัดอยู่ในศีลที่เรียกว่าศีลเคร่ง (ธุดงควัตร) ซึ่งการกินมื้อเดียวนี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของพระหรือนักบวชเท่านั้น ศีลแต่ละข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติมานั้นเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ดังนั้นการกินมื้อเดียวจึงเหมาะกับทุกคนที่ต้องการพ้นทุกข์

ในบทความนี้ก็จะขยายเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกินมื้อเดียวมาทั้งหมด ๙ ข้อ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

๑). ความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการกินมื้อเดียว

แม้ว่าในเมืองไทยจะเป็นสังคมพุทธโดยส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการกินมื้อเดียวอยู่มาก มักจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของพระ ฆราวาสไม่เกี่ยว เข้าใจไปว่าคนใช้พลังงานกินมื้อเดียวไม่ได้ เข้าใจไปว่ากินมื้อเดียวแล้วจะไม่มีแรง เข้าใจไปว่ากินมื้อเดียวแล้วจะหิว เข้าใจไปว่าร่างกายจะขาดสารอาหาร

ความเข้าใจเหล่านี้เป็นไปตามวิสัยของกิเลส และประกอบกับไม่มีปัญญาหาข้อมูลเกี่ยวกับการกินมื้อเดียวให้กระจ่างแจ้งจึงทำให้การกินมื้อเดียวนั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยาก ดูลำบาก ทรมานตัวเอง ทำร้ายตัวเอง ฯลฯ ทั้งที่จริงแล้วการกินมื้อเดียวนี้คือความสมบูรณ์และความพอดีสูงสุดในชีวิต

๒). ประโยชน์ของการกินมื้อเดียว

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับประโยชน์ของการกินมื้อเดียวไว้ 5 ข้อด้วยกันคือ เจ็บป่วยน้อย ลำบากกายน้อย เบากายเบาใจ มีกำลัง เป็นอยู่ผาสุก การจะเกิดประโยชน์ทั้งหมดนี้ได้นั้นจะต้องกระทำให้ถึงที่สุดของศีลนั้นๆคือศึกษาศีลจนเกิดปัญญาขึ้นมาก็จะเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าตรัสได้

ซึ่งคนที่ฝึกใหม่หรือเริ่มหัดกินมื้อเดียวก็จะยังไม่สามารถเข้าถึงปัญญาเหล่านี้ได้ และยังต้องเสียพลังงานให้กับกิเลสอยู่มาก จึงทำให้การกินมื้อเดียวไม่เกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้ประโยชน์ของการกินมื้อเดียวสามารถขยายมาอธิบายทางโลกได้เพิ่มอีกเช่น ประหยัด มีเวลาว่างเพิ่มขึ้น ไม่ต้องเป็นภาระมาก ไม่ต้องกินมาก เหมือนรถที่เติมน้ำมันน้อยแต่วิ่งได้มากกว่ารถที่เติมน้ำมันเต็มถัง

๓). การกินมื้อเดียวแบบกดข่ม

การกินมื้อเดียวได้นั้น ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักของพุทธเสมอไป เพียงแค่ใช้การกดข่มก็สามารถกินมื้อเดียวได้ทั้งปีทั้งชาติแล้ว โดยเฉพาะคนที่กินมื้อเดียวแบบเหยาะแหยะ คือกินข้าวมื้อเดียวนะแต่ต่อจากนั้นก็ตามด้วยน้ำปานะ นม ขนม เป็นระยะๆ ใส่พลังงานให้ร่างกายเป็นระยะ ทั้งที่จริงแล้วการกินครั้งเดียวต่อวันก็ให้พลังงานมากพอที่จะทำงานหนักทั้งวันได้

ซึ่งการกินแบบกดข่มหรือใช้สมถะเข้ามากดไว้ จะทำให้สามารถกินมื้อเดียวได้ไม่ยาก แต่ก็จะไม่มีปัญญารู้ในเรื่องกิเลส เพราะไม่ได้สนใจกิเลส รู้แค่กินได้กับกินไม่ได้ ดังนั้นจึงมีเป้าหมายคือต้องกดข่มจิตให้กินมื้อเดียวได้เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น บางคนในระหว่างที่บวชพระก็กินมื้อเดียวได้ แต่พอสึกออกมาก็เลิกกินมื้อเดียว นั่นเพราะในช่วงที่บวชก็กดข่มไว้ แต่พอเลิกบวชไม่มีศีลมาบังคับก็เลิกกินมื้อเดียวไปด้วย ทั้งนี้เพราะไม่มีปัญญาเห็นคุณค่าของการกินมื้อเดียว และใช้การกินมื้อเดียวแบบกดข่มจึงทำให้ “ได้แค่กินมื้อเดียว” แต่ก็ไม่มีความเจริญทางธรรม

๔). การกินมื้อเดียวโดยใช้กิเลสล่อ

เราสามารถกินมื้อเดียวได้โดยใช้กิเลสล่อ เช่นมักมากในกาม อยากสวยและหุ่นดี เราก็ลดมื้อมากินมื้อเดียวก็สามารถทำได้กันมากมาย หรือมักมากในโลกธรรม อยากได้รับคำสรรเสริญเยินยอว่าทำได้ ก็พยายามกินมื้อเดียวเพื่อจะได้เสพโลกธรรม จะได้มีคนชม จะได้มีหน้ามีตา จะได้รับการยกย่องว่าทำได้

หรือใช้อัตตาเข้ามาเป็นเหตุ คือฉันทำได้ ฉันจะกินมื้อเดียว คนอื่นทำได้ฉันก็ทำได้ มันมีความยึดดีถือดีมาเป็นพลังขับดันให้ทำ ซึ่งนั่นหมายถึงเอาการกินมื้อเดียวมาเป็นตัวเป็นตน จะว่าดีมันก็ไม่ดีแท้ เพราะต้องมาล้างอัตตาที่หนาเตอะอีกที โดยเฉพาะคนที่ใช้อัตตาเข้ามากินมื้อเดียวจนยึดดีถือดี มักจะติดดีจนไม่สามารถเรียนรู้การล้างกิเลสได้เลย เพราะยึดว่าตนทำได้แล้ว ฉันเก่งแล้ว จึงไม่ฟังใคร ซึ่งจริงๆแล้วการกินมื้อเดียวโดยใช้อัตตาเข้ามา อาจจะเป็นแค่การกลบปมด้อยก็ได้ ซึ่งจะผูกปมซับซ้อนกับโลกธรรมและกามอีกทีก็เป็นได้

ทั้งนี้ทั้งนั้นการกินมื้อเดียวโดยมีกิเลสอื่นๆมาร่วม จะยิ่งทำให้ปัญหามากขึ้น เพราะลำพังความอยากกินหลายมื้อก็เป็นกิเลสที่จัดการยากอยู่แล้ว ยังเอากิเลสอื่นๆมากดมาข่ม เอามาบังปัญหาที่แท้จริงไว้อีก มันก็จะยากขึ้นอีก

๕). การศึกษาศีลในข้อกินมื้อเดียว

การถือศีลในหลักของพุทธไม่ใช่การถือแบบงมงาย ถือแบบเป็นตัวเป็นตน แต่การถือศีลนั้นๆ เรายึดถือไว้เพื่อศึกษาเกี่ยวกับกิเลสในศีลนั้นๆ เช่นศีลกินมื้อเดียวนี้ เป็นการชี้ให้เห็นว่าเรามีความอยากกินหลายมื้อมากเพียงใด เราจำเป็นต้องถือศีลให้เคร่ง แต่ไม่เครียด คือไม่ถือแบบเหยาะแหยะจนวนเวียนกลับไปกินหลายมื้อบ่อยๆ และไม่เครียดจนเกินกำลังที่จะทำได้

เมื่อฝึกอดทนบ้าง ฝึกฝืนบ้างก็จะเริ่มเห็นลีลาของกิเลสที่จะคอยให้เหตุผลกล่อมเรา เพื่อให้เรากลับไปกินหลายมื้อ ซึ่งในระยะแรกมักจะแยกกิเลสกับตัวเองไม่ออก กิเลสกับตัวเราหลอมรวมเป็นอัตตา เราจึงต้องใช้ปัญญาศึกษาศีลนี้ให้เห็นกิเลสแบบนี้ และศึกษาไปจนเห็นวิธีที่จะทำให้กิเลสเหล่านี้จางคลายไปตามลำดับ เรียกว่าการใช้ไตรสิกขา

ทั้งหมดเพื่อการข้ามกิเลสสามภพ คือข้ามกามภพ รูปภพ และอรูปภพ สามภพนี้ลีลาของกิเลสจะมีความรุนแรงต่างกัน ในกามภพก็คือ แม้ว่าจะถือศีลแต่ก็ยังแพ้ให้กับกิเลสกลับไปกินหลายมื้ออยู่

ในรูปภพหมายถึงข้ามกามภพมาได้แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะข้ามได้สมบูรณ์ แต่ในขีดของรูปภพคือไม่ไปกิน แต่ยังมีความอยากกินปรุงอยู่ในใจ โดยสามารถรับรู้ความอยากได้

ส่วนอรูปภพเราจะไม่สามารถจับรูปของความอยากกินได้แล้ว จะไม่มีการปรุงแต่งจิตเป็นคำพูดใดๆ มีแต่อาการขุ่นมัว ไม่โปร่ง ไม่ใสเท่านั้น อาการเหล่านี้เบาบางและจางหายได้รวดเร็วมาก ถ้าคนเก่งสมถะมากๆแล้วสังเกตไม่ดีอาจจะกดข่มไปโดยอัตโนมัติแล้วหลงไปว่าข้ามอรูปภพก็ได้ ทั้งนี้อรูปภพนี่เองคือด่านสุดท้ายของการชำระกิเลสที่เรียกว่ายากสุดยาก ต้องอาศัยญาณหยั่งรู้กิเลสมาก ต้องใช้อินทรีย์พละมากในการเห็นหรือจับกิเลสที่อยู่ในภพนี้

๖). ข้อปฏิบัติในการกินมื้อเดียว

การหัดกินมื้อเดียวนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่เห็นประโยชน์ก็ให้หาความรู้เพื่อให้ได้ปัญญาที่เป็นพลังในการเริ่มต้น เพื่อที่จะเข้าถึงศีลให้ได้ก่อน เพราะถ้าจิตใจไม่มีความยินดี ไม่เห็นประโยชน์ คือไม่มีฉันทะ ก็จะไม่สามารถศึกษาศีลนี้ได้นาน

เมื่อเห็นประโยชน์จากการกินมื้อเดียวแล้ว เราก็จะเริ่มถือศีลอย่างตั้งมั่นตามฐานที่เรามี ซึ่งควรจะเริ่มจากเล็กน้อย เช่น 1 วันต่อสัปดาห์ แต่ถ้ารู้สึกว่าไหว ไม่ทุกข์จนเกินไปก็เพิ่มวันไปเรื่อยๆพัฒนามาเป็น 1 สัปดาห์ต่อเดือน 1 เดือน 3 เดือน ครึ่งปี หนึ่งปี จนกระทั่งตลอดชีวิต ผู้ที่หัดใหม่จะไม่สามารถดำรงสภาพของศีลนั้นๆได้นานนัก จะมีเหตุแห่งกิเลสทำให้ศีลนั้นต้องขาดอยู่เสมอ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาเพราะการที่เราเริ่มมาศึกษาศีล เราก็ย่อมไม่รู้เรื่องกิเลสเป็นธรรมดา จึงมักจะพ่ายแพ้ให้กับกิเลสเป็นธรรมดาเช่นกัน

เพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน เราจำเป็นต้องมีผู้รู้หรือกัลยาณมิตรที่จะมาคอยชี้นำเป้าหมายไปตามลำดับ เพราะการปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธนั้นต้องกระทำไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมในทันที การถือศีลกินมื้อเดียวก็เช่นกัน ในศีลเดียวนี้เองจะมีระดับความละเอียดของมันไปตามภพของกิเลส ซึ่งการกินมื้อเดียวได้ ไม่ได้หมายความว่าหมดกิเลส การดับกามภพได้ไม่ได้หมายความว่าจะดับกามภพได้ตลอดกาล นั่นหมายถึงว่าแม้จะกินมื้อเดียวได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบรรลุผลในการศึกษาศีลแต่อย่างใด

ดังที่กล่าวไว้ตอนต้น ว่าเราสามารถถึงผลในการกินมื้อเดียวได้หลายวิธี แต่การปฏิบัติที่ถูกทางพุทธนั้นมีอยู่ทางเดียว และไม่ปนเปื้อนด้วยกิเลสใดๆ รวมทั้งยังมีความรู้แจ้งในกิเลสเป็นผลที่จะได้รับอีกด้วย

๗). สภาวะของผู้ที่กินมื้อเดียวที่ยังมีความเห็นไม่ถูกต้อง

ในปัจจุบันนั้นมีผู้กินมื้อเดียวอยู่มากมายเช่นกัน ทั้งนักบวชและฆราวาส รวมถึงผู้ถือศีลในวันพระ ทั้งนี้ความรู้สึกทุกข์ใจเพราะไม่ได้เสพหลายมื้อ ความรู้สึกว่าต้องอดทนอดกลั้นเพื่อดำรงศีลนั้นไม่ให้ขาด ความรู้สึกว่าต้องทำเพราะเป็นกุศล การทำตามเขาเพราะเขาว่ามันเป็นสิ่งดี หรือแม้แต่การทำตามศีลนั้นเพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้โดยไร้ปัญญาเช่นกัน

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในกาลามสูตรว่าอย่าเชื่ออะไรง่ายนัก แต่ให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ ละเว้นสิ่งที่เป็นโทษ นั่นหมายถึงผู้ที่จะเข้าถึงศีลนั้นๆ จะต้องใช้ปัญญาของตัวเองพิจารณาเอาเองว่าดีจริงหรือไม่ ถ้าดีจริงก็ให้เข้าไปทดลองทำ แต่ถ้าเห็นไม่ดี ไม่เป็นกุศลก็ให้ห่างออกมา ทั้งนี้ทั้งนั้นศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เป็นศีลเพื่อความพ้นทุกข์อยู่แล้ว เป็นคำที่กล่าวไว้ดีแล้ว เราจึงควรพิจารณาหาประโยชน์เพื่อเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วยใจที่เป็นสุขให้ได้

ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ทันทีเพราะขึ้นอยู่กับขอบเขตของอินทรีย์พละของเรา ถ้าคนเห็นผิดมาก แม้เขาเอาของไม่มีประโยชน์มาล่อก็ยังเห็นว่ามีประโยชน์ไปตามที่เขาล่อลวง ในทางกลับกันแม้ว่าจะมีสิ่งดีมาเสนอให้ เป็นสิ่งที่ดีแท้ แต่อินทรีย์พละเราไม่มากพอ ปัญญาเราไม่ถึง เราก็จะไม่เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ดังที่เขาว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” เพราะในเมื่อแนะนำสิ่งดีให้แล้วไม่ยินดี มันก็จะไปยินดีในสิ่งชั่วนั่นเอง

การถือศีลที่ยังรู้สึกว่าต้องทรมาน อยากกินก็ไม่ได้กินนั้น เป็นการถือศีลที่ยังเป็นแบบยึดมั่นถือมั่น เป็นศีลอุปาทาน เพราะไม่มีปัญญารู้แก่นสารสาระในศีลนั้น จึงถือศีลไปตามประเพณีโดยที่ไม่ได้รู้เลยว่าตัวปัญหาที่ทำให้ทุกข์แท้จริงแล้วคือกิเลส ไม่ใช่การไม่ได้กิน

ความเห็นความเข้าใจของผู้ที่ยังเห็นผิดอยู่จะเป็น “กินหลายมื้อสิเป็นสุข กินมื้อเดียวเป็นทุกข์” คือถือศีลแต่ไม่ได้เห็นตามศีล ยังเห็นไปตามโลก เห็นไปตามกิเลสอยู่ ส่วนจะถือศีลด้วยเหตุผลใดนั้นไม่ใช่สาระสำคัญเท่าความเห็นที่มีต่อศีล

๘). สภาวะของผู้ที่กินมื้อเดียวได้อย่างถูกต้องแต่ยังไม่พ้นจากความอยาก

คนที่กินมื้อเดียวได้ตามทิศทางของการลดกิเลสจะต้องเห็นกิเลสที่ถูกบังคับให้แสดงขึ้นมาโดยศีลเสียก่อน ในสมัยที่เรายังกินสามมื้อ กินไปก็ไม่รู้สึกผิดอะไร แต่พอเราถือศีลกินมื้อเดียว แล้วเราไปกินสามมื้ออีก เราก็จะรู้สึกผิด ความรู้สึกเหล่านี้คือหิริโอตตัปปะ ซึ่งถ้าคนถือศีลแล้วยังไม่มีหิริโอตตัปปะก็ยังไม่ถือว่าเจริญ

แต่สิ่งเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าถูกทางหรือผิดทางชัดนัก เพราะขึ้นอยู่กับเป้าหมาย ถ้าเป้าหมายคือถือศีลเพราะเขาว่ากันว่าดี อันนี้ยังไม่มีปัญญา แต่ถ้าถือศีลแล้วเห็นกิเลสตัวเอง เห็นความอยากกินหลายมื้อของตัวเอง เห็นว่าความอยากของตัวเองนี่แหละคือต้นเหตุที่ทำให้ทุกข์ ไม่ใช่การถือศีลทำให้ทุกข์ การเห็นกิเลสนี้เองคือประตูด่านแรก

ในด่านที่สองคือต้องมั่นใจว่าความอยากนี้แหละเป็นกิเลสที่ต้องทำลายอย่างแท้จริง ต้องทำลายกิเลสนี้เท่านั้นจึงจะพ้นทุกข์ได้ ไม่ใช่เลิกถือศีลจะหายทุกข์ แต่ต้องกำจัดความอยากกินเกินความจำเป็นนี้ให้สิ้นซากเท่านั้น นี่คือความปักมั่นในระดับที่สอง

เมื่อผ่านสองด่านเราจะเห็นศัตรู เห็นสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ชัดแล้ว ทีนี้เราจะต้องถือศีลอย่างตั้งมั่น ไม่ถือศีลแบบลูบๆคลำๆ เหยาะแหยะ คือเอาให้ตึงไปเลย การอนุโลมค่อยทำทีหลังก็ได้ แต่ตอนนี้ต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน เฆี่ยนกิเลส บี้กิเลสให้มันตาย ถือศีลอย่างตั้งมั่นก็จะสามารถเห็นกิเลสที่ละเอียดลงไปได้ตามลำดับ และพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงโดยลำดับ จะสามารถทำลายกามและอัตตาที่ซ่อนอยู่โดยใช้ศีลเป็นเครื่องตรวจจับกิเลสนั้นๆได้

ความเห็นความเข้าใจในระดับนี้จะเป็น “ กินมื้อเดียวก็น่าจะเป็นสุขอย่างที่เขาว่า แต่กินหลายมื้อมันก็ยังสุขอยู่นะ ” คือจะอยู่ในสภาพที่เห็นดีกับการถือศีลนี้แล้ว แต่ยังไม่ถึงผล ยังมีกิเลสเข้ามาทำให้ความเห็นยังเป็นไปในแนวทางของกิเลสอยู่

๙). สภาวะของผู้ที่กินมื้อเดียวได้อย่างเป็นปกติสุข

เมื่อใช้ไตรสิกขา ศึกษาอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา จนสามารถก้าวข้ามกามภพ รูปภพ อรูปภพได้ตามลำดับจึงจะถึงผลของการศึกษาศีลนั้นๆ เรียกว่าจบการศึกษาศีลนั้น จบกิเลสในเรื่องๆนั้น ก็จะได้อินทรีย์พละเพิ่มขึ้นมาจากการหลุดพ้นจากกิเลส มีกำลัง มีปัญญา มีสติ ฯลฯ ที่เพิ่มมากขึ้น

ยิ่งถ้าคนที่สามารถชำระกิเลสในระดับของการกินมื้อเดียวได้ การกินมังสวิรัติหรือการกินจืดจะง่ายไปเลยในทันที เรียกว่าเก็บสิ่งที่ยากก่อนแล้วค่อยวกไปเก็บสิ่งที่ง่ายก็จะทำได้ไม่ยาก ทั้งนี้ทั้งนั้นการทำสิ่งที่ยากก่อนได้นั้น จะทำได้เฉพาะผู้มีบุญบารมีเก่าเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่เคยทำมาเลย ถ้าฝืนจะทำให้ทรมานมาก ซ้ำร้ายกิเลสก็ไม่ตาย กามก็เพิ่ม อัตตาก็หนาขึ้นอีก ดังนั้นการถือศีลควรจะประมาณกำลังของตัวเองด้วยว่าไหวหรือไม่

คนที่กินมื้อเดียวได้อย่างปกติสุขนั้น จะไม่มีความรู้สึกว่าจะต้องกินหลายมื้ออีกเลย จะเกิดความสบายใจขึ้นในชีวิตว่าเรานี้กินวันละมื้อก็อยู่ได้ ประหยัดอาหารไปมาก ประหยัดเงินก็มาก แถมความอยากกินหลายมื้อก็ไม่มีให้ทุกข์ทรมานจิตใจ ดูคนอื่นเขากินหลายมื้อไปก็ได้ ร่วมโต๊ะกับเขาก็ได้ แต่ไม่กินกับเขาโดยที่ไม่มีความทุกข์ใจใดๆแม้น้อย ให้ไปกินหลายมื้อก็ไม่กินเพราะรู้ว่ามันจะทรมานร่างกาย เพราะมันเกินพอดี สิ่งที่เกินพอดีก็จะกลับมาเบียดเบียนร่างกายทำให้เกิดทุกข์ทางกาย แต่ทุกข์ใจนั้นไม่มีแล้ว สะอาดจากกิเลส หมดความอยากที่จะมาทำให้จิตใจเป็นทุกข์อีกต่อไป

ความเห็นความเข้าใจจะเปลี่ยนไปจากตอนแรกโดยสิ้นเชิง คนทั่วไปเขาจะเข้าใจว่า “กินหลายมื้อสิเป็นสุข กินมื้อเดียวเป็นทุกข์” ส่วนคนที่บรรลุผลของศีลจะเข้าใจว่า “กินมื้อเดียวสุขที่สุดในโลก กินหลายมื้อสิเป็นทุกข์” มันจะกลับหัวกลับหางกันแบบนี้เลย

การอนุโลมนั้นเป็นไปในบางกรณีหากประมาณแล้วว่ากุศลนั้นมากกว่าอกุศล ซึ่งการประมาณกุศล-อกุศลจะต้องเรียนรู้โลกไปตามลำดับ การประมาณนั้นจะไม่เที่ยง บางครั้งก็จะขาดๆเกินๆ แต่สภาวะสุขสงบจากการไม่ต้องกินหลายมื้อนั้นเที่ยงแท้ ถาวร ไม่เวียนกลับ ไม่กำเริบ ยั่งยืนตลอดกาล เหล่านี้คือผลจากการปฏิบัติตามหลักของพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

7.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การปฏิบัติต่อกิเลส

March 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,145 views 1

การปฏิบัติต่อกิเลส

ดูภาพขนาดเต็มหรือดาวน์โหลด [กดที่นี่] | Download full size 1800×1976 px [Click here]

การปฏิบัติต่อกิเลส

กิเลสนี้ก็เหมือนไม้ที่ไฟกำลังลุกไหม้ มันร้อนแรง เผาทำลาย เป็นสิ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยงให้ไกล แต่ในความเป็นจริงนั้นเราไม่สามารถมองเห็นทุกข์หรือไฟของกิเลสได้ง่ายนัก กิเลสจึงเป็นเหมือนความหอมหวานของชีวิต จนหลายคนได้ใช้กิเลสเป็นเครื่องชี้นำชีวิตอีกด้วย

ในบทความนี้เราจะมาสรุปวิธีปฏิบัติต่อกิเลสโดยย่อพอให้เห็นภาพรวมในการปฏิบัติกัน

1). ทาสกิเลส

แรกเริ่มแต่ดั้งเดิมนั้น เราก็เป็นอิสระจากกิเลส หรือที่คนเรียกว่าจิตเดิมแท้ แต่ด้วยจิตเดิมมันไม่มีปัญญา หรือที่เรียกว่ามันโง่ พอได้ยิน ได้เสพอะไรเข้าก็หลงสุข หลงติดหลงยึดไปหมด เลยกลายเป็นทาสกิเลสนั่นเอง ซึ่งทาสกิเลสนี่มีอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ไม่เว้นแม้แต่ตัวเราเอง

2). สมถะ

สมถะคืออุบายทางใจ เป็นวิธีปฏิบัติต่อกิเลสที่มีอยู่คู่โลกมาช้านาน เป็นวิธีที่จะเข้ามาช่วยกด ต้าน ยับยั้งกิเลส แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่จะสามารถทำลายกิเลสได้ คนที่เก่งในด้านสมถะจะสามารถกดข่มกิเลสได้ในระดับอัตโนมัติ ถ้าวิปัสสนาไม่เป็นแล้วหลงเข้าใจว่าสมถะคือวิปัสสนา อาจจะกลายเป็นฤๅษีติดภพไปอีกนานแสนนานก็ได้ การฝึกสมถะเป็นเรื่องที่ดี แต่การหลงไปในสมถะเป็นเรื่องที่ทำให้เสียเวลา

2.1). สมถะทั่วไป คือการกดข่มลงไปตรงๆ กำหนดจิตไว้ที่ใดที่หนึ่ง ในสภาพใดสภาพหนึ่ง เช่นการบริกรรมพุท-โธ กำหนดรู้ตามจุดต่างๆในร่างกาย การเพิ่มตัวรู้ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายเช่น เดินจงกรม หรือกำหนดเครื่องหมายสัญลักษณ์ใดๆก็ตามให้เป็นจุดรวมของจิตนั้นๆไม่ให้ฟุ้งซ่าน

2.2). ปัญญาสมถะ คือการใช้เหตุและผลเข้ามาช่วยจัดการกับความคิดหรือจิตที่ฟุ้งซ่าน ใช้ตรรกะ ใช้ธรรมมะเข้ามาช่วยกดอาการสั่นไหวของจิตที่เกิดขึ้น เช่น มองว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป มองว่าทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นเอง สิ่งเหล่านี้คือการใช้ปัญญาเข้ามาช่วยกดจิตให้อยู่ในสภาพนิ่ง

….จุดประสงค์ของสมถะคือการดับความคิด การปรุงแต่ง หยุดความต่อเนื่องของกิเลสไว้ กดไว้ ยับยั้งไว้ ไม่ให้กิเลสกำเริบ เป็นวิธีที่จะช่วยเสริมพลังให้กับการวิปัสสนาให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่วิธีสมถะเหล่านี้มักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นวิปัสสนา ดังนั้นผู้ปฏิบัติควรศึกษาให้รอบด้านเพื่อความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในตนเอง

3). อริยสัจ

3.1).ทุกข์ คือการเริ่มเดือดร้อนจากผลของกิเลสนั้นๆ การเห็นทุกข์นั้นเป็นด่านแรกในการเห็นธรรม เพราะเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของกิเลส ถ้าคนยังไม่เห็นทุกข์ก็ยังไม่เห็นธรรม โดยปกติแล้วคนจะเข้าใจว่ากิเลสเป็นสุข การได้เสพเป็นสุข แต่สุขเหล่านั้นเป็นของลวง เมื่อสิ้นสภาพที่ได้เสพหรือสุขลวงหาย ทุกข์ก็จะเกิดขึ้น

3.2).สมุทัย เมื่อเห็นทุกข์ก็ต้องมาหาเหตุแห่งทุกข์ ว่าสิ่งใดทำให้ทุกข์ ในขั้นตอนของสมุทัยคนจะหลงไปกับการทำสมถะเสียมากเพราะมองไปที่ผลแต่ไม่ได้มองไปที่เหตุ หรือมองเหตุก็มองแค่ตื้นๆ ซึ่งจริงๆแล้วต้องค้นไปที่รากของกิเลส ไม่ใช่ดูเพียงแค่การสั่นไหวของจิต แต่ค้นให้ลึกไปว่าเรายึดติดสิ่งนั้นเพราะเราติดรสสุขในอะไร เราติดรสสุขนั้นเพราะอะไร ต้องค้นลงไปให้เจอเหตุ

3.3).นิโรธ เมื่อเจอเหตุแล้วก็มาถึงการดับทุกข์ คือจะดับแบบไหน การดับนั้นทำได้หลายวิธีตั้งแต่ดับชั่วคราวไปถึงดับอย่างถาวร ถ้าดับชั่วคราวก็ใช้สมถะกดไปก่อน เพื่อลดพลังของกิเลส หรือจะดับให้ถาวรก็ต้องใช้ศึกษาศีล สมาธิ ปัญญา จนกระทั่งได้อธิปัญญาที่จะมาต่อกรกิเลสนั้นๆ

3.4).มรรค เมื่อวางเป้าหมายของการดับแล้วก็มาถึงวิถีทางดับกิเลส ซึ่งมีกระบวนการคิด พูด ทำไปโดยลำดับ ซึ่งจำเป็นต้องทำอย่างถูกตรงตั้งแต่ความเห็นความเข้าใจ จึงจะเกิดสมาธิที่ถูกตรงได้ การปฏิบัติที่เข้าใจผิดเพี้ยนแม้แต่นิดเดียวก็จะทำให้ไปคนละทิศละทางกับการดับทุกข์

4). ผล (วิมุตติ)

เมื่อพากเพียรปฏิบัติมรรคอย่างถูกตรงก็จะได้ผลคือวิมุตติ หรือสภาพหลุดพ้นจากกิเลส มีปัญญารู้แจ้งชำแหละกิเลสในทุกลีลาที่ได้เจอมา

แต่การปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนก็จะให้ผลเช่นกัน ดังเช่นการใช้สมถะที่เข้าใจผิดว่าตนนั้นวิปัสสนา ก็จะได้ความสงบจากกิเลสที่เกิดจากการดับแบบกดข่มเช่นกัน การปฏิบัติใดๆอย่างตั้งมั่นล้วนแต่มีผลทั้งสิ้น

แต่นัยสำคัญคือผลเหล่านั้นถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์หรือไม่ ดังชื่อเต็มของมรรคก็คือ “สัมมาอริยมรรค มีองค์ ๘” นั่นหมายถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องถูกตรงสู่ความเป็นผู้เจริญโดยมีองค์ประกอบครบพร้อมทั้ง ๘ ประการ คือต้องมีความเห็นความเข้าใจที่ถูก ความคิดที่ถูก การพูดที่ถูก การกระทำที่ถูก การเลี้ยงชีพที่ถูก ความเพียรที่ถูก การรู้ตัวที่ถูก และสภาพความตั้งมั่นที่ถูก

แล้วอย่างไหนจึงเรียกว่าถูก? ในเมื่อกิเลสคือความผิด นั่นหมายถึงการไม่มีกิเลสคือความถูก ดังนั้นการคิด พูด ทำใดๆที่มีผลในการลดกิเลส ไม่ส่งเสริมกิเลส ทำลายกิเลส นั่นคือสิ่งที่ถูก

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ ทางพ้นทุกข์มีทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี “ คือปฏิบัติตามสัมมาอริยมรรค แม้เราจะเห็นว่าเส้นทางการปฏิบัติและความเข้าใจนั้นมีหลากหลาย แต่ในความเป็นจริงแล้วการพ้นทุกข์อย่างยั่งยืนนั้นมีทางนี้ทางเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กะลา 3 ใบ

February 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,174 views 0

กะลา 3 ใบ

กะลา 3 ใบ

ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม โดยการใช้การกินมังสวิรัติมาเป็นโจทย์และสามารถประยุกต์ใช้กับกิเลสอื่นๆได้ (* เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรม )

การปฏิบัติธรรมตามแนวทางของศาสนาพุทธนั้นดำเนินไปเพื่อ “ความเป็นกลาง ไม่โต่งไปทางด้านกามและอัตตา” คือไม่ไปเสพตามกิเลสและไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ซึ่งในบทความนี้จะมาอธิบายความแตกต่างของการปฏิบัติธรรมโดยใช้มังสวิรัติกับการกินมังสวิรัติโดยทั่วไป

กะลา…

กะลา 3 ใบ จะถูกแทนด้วยสภาวะสามแบบ ใบแรก ก็คือกามในเนื้อสัตว์ การมีความอยากกินเนื้อสัตว์ ที่ยังไปกินเนื้อสัตว์นั้นๆอยู่ ยังไม่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้

ใบที่สอง จะเป็นอัตตาในเนื้อสัตว์ คือความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นจำเป็นต่อชีวิต เนื้อสัตว์มีประโยชน์ ไม่กินเนื้อสัตว์จะป่วย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ต้องมีเนื้อสัตว์ หรือความยึดในมิติอื่นๆ เช่นยึดในกามคุณ คือติดรสชาติของเนื้อสัตว์ หรือยึดในโลกธรรม คือเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่แสดงความอุดมสมบูรณ์ของชีวิต ยิ่งกินเนื้อที่คนเขาว่าดีเท่าไหร่คนอื่นก็จะยิ่งชื่นชมและอิจฉามากเท่านั้น

ส่วนใบที่สาม จะเป็นอัตตาในมุมยึดดี เป็นความรู้สึกว่าฉันเป็นคนดี ฉันไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าเราไม่ควรเบียดเบียนสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งวัตถุดิบทางตรงและสังเคราะห์ หรือยึดมั่นถือมั่นจนกระทั่งไม่ยอมให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของเซลล์สัตว์เข้ามาร่วมในอาหารที่กิน ซึ่งอาจจะมีโลกธรรมเข้ามาเป็นแรงผลักดันในการยึดเช่น อยากได้ชื่อว่าเป็นคนดี อยากให้คนชม อยากให้คนนับถือ

…ซึ่งกะลา 3 ใบนั้นแท้จริงแล้วก็คือภพที่คนเข้าไปติดไปยึดอยู่นั่นเอง เราจะมาอธิบายภาพกันต่อไปเพื่อให้เห็นรายละเอียดของความต่างระหว่างคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ คนที่เลิกกินเนื้อสัตว์ และคนที่ปฏิบัติธรรม

ก). คนที่ยังกินเนื้อสัตว์

คนที่ยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ โดยทั่วไปแล้วก็มักจะต้องกินตามความอยาก จะอยู่ในกามภพของเนื้อสัตว์ คือยังไปเสพ ไปติด ไปยึดในการกินเนื้อสัตว์อยู่ ถ้าแบบหยาบๆก็คือเสพติดเนื้อสัตว์ขนาดว่าต้องตระเวนหาเนื้อที่เขาว่าดีมากิน ร้านไหนดีก็ตามไปกิน ถ้าแบบกลางๆ ก็คนกินเนื้อสัตว์ทั่วไป อย่างดีหน่อยก็พวกรักสุขภาพที่กินผักมากกว่ากินเนื้อสัตว์

ถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ แต่ถ้ายังอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปกินอยู่ก็ยังถือว่าอยู่ในภพนี้ ยังไม่ตัดให้ขาด ยังวนเวียนอยู่ในการกินเนื้อสัตว์ แม้จะเลิกกินได้เป็นสิบปียี่สิบปี แล้ววนกลับมากินด้วยความอยากก็ถือว่ายังไม่สามารถทำลายกามภพได้

คนส่วนมากในสังคมปัจจุบันจะอยู่ในภพนี้ แม้ว่าเขาจะเห็นโทษหรือไม่เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ก็ตาม ภาพที่เห็นก็คือยังกินเนื้อสัตว์อยู่ แต่สิ่งที่ซ่อนไว้ข้างใต้นั้นก็คืออัตตาที่หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ดี การกินเนื้อสัตว์เป็นสุข เมื่อมีการยึดมั่นถือมั่นนี้ จึงส่งผลให้เกิดการพาตัวเองไปเสพเนื้อสัตว์ตามที่ใจอยาก

ข). คนที่เลิกกินเนื้อสัตว์

เมื่อเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์มากเข้า คนบางพวกจึงหันมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ พยายามที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นเสียทั้งหมด ซึ่งหลายคนก็สามารถผ่านพ้นกามภพนั้นได้ นั่นหมายถึงไม่ไปกินเนื้อสัตว์อีกเลย

กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด แต่เป็นสามัญสำนึกหรือการยึดดีถือดีโดยธรรมชาติของคน เป็นความดีทั่วไปที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าการกินเนื้อสัตว์คือการทำสิ่งไม่ดีทางอ้อม อยากทำดีก็เลิกกินเนื้อสัตว์มันก็เท่านี้

ความอยากให้เกิดดีนั้นคือหมายให้เกิดผล แต่เหตุคือจะต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ ด้วยแรงบันดาลใจอะไรก็ได้เช่น ไม่อยากเบียดเบียน สงสารสัตว์ รักษาสุขภาพ ฯลฯ แต่ภาพสุดท้ายที่ได้จากการเลิกกินเนื้อสัตว์คือจะได้ภาพคนดีติดมาไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าใครพอใจในจุดนี้ก็มักจะจบที่ตรงนี้ กินมังสวิรัติได้ กินเจได้สมบูรณ์ก็จบไป ไม่ศึกษาต่อ เพราะได้อยู่ในภพคนดีที่ตนต้องการแล้ว

การเกิดภพเช่นนี้ไม่ใช่การทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ แต่เป็นการกดข่มความอยากกินเนื้อสัตว์ไว้ด้วยความยึดดี เหมือนเอากะลาคนดีมาครอบความชั่วไว้ มันก็จะเห็นแต่ความดี ส่วนที่ซ่อนอยู่นั้นไม่รู้ ซึ่งความยึดดีถือดีนี้จะสามารถกดข่มความอยากจนมิดเลยก็ได้

การกดข่มด้วยความยึดดีจะเปลี่ยนสภาพกามในเนื้อสัตว์มาเป็นกามในผัก แต่จะพัฒนาจนปรุงแต่ง รูปร่าง กลิ่น สี รส ของอาหารให้เหมือนเนื้อสัตว์ได้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสังเคราะห์ สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานว่าความอยากไม่ตาย เพียงแต่กดมันไว้ด้วยความยึดดี พอมันอยากแต่ไม่ได้กินสิ่งที่อยากมันก็สร้างสิ่งทดแทนมาเท่านั้นเอง ซึ่งสมัยนี้สิ่งทดแทนเหล่านี้หาได้ง่ายและราคาไม่แพงจนเกินไป

ทีนี้ปัญหามันก็จะอยู่ที่ความยึดดีนี่แหละ ถามว่าคนที่อยู่ในภพเช่นนี้เลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตได้ไหม? ก็จะบอกเลยว่าได้ เพราะเวลายึดดีถือดีนี่มันยึดกันข้ามภพข้ามชาติได้เลย บางคนเกิดมาชาตินี้แค่คิดก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้เลย อาการแบบนี้คือมีพลังกดข่มสะสมมามาก

แต่ถ้าถามเรื่องกิเลสก็จะไม่รู้ชัดแจ้ง ถามเรื่องความอยากก็จะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะไม่ได้ใช้ปัญญาในการทำลายกิเลส แต่ใช้พลังสมถะ พลังจิต พลังเจโต อัตตาฝ่ายดีในการกดข่มความอยาก จึงเกิดสภาพ กดดัน อึดอัด ไม่โปร่ง ไม่โล่ง เจ้าระเบียบ ไม่ปล่อยวาง ติดดียึดดี เต็มไปด้วยกฎ ไม่ยืดหยุ่น แข็งกร้าว เอาแต่ใจ หมกมุ่น ถือตัวถือตน โดนด่าไม่ได้ โดนดูถูกไม่ได้รังเกียจคนกินเนื้อ รังเกียจที่ต้องกินเนื้อสัตว์ ทุกข์เมื่อเห็นเมนูเนื้อสัตว์ฯลฯ

ยิ่งคนที่มีอัตตามากและฝึกสมถะมามากจะสามารถกดกามภพ คือไม่ไปเสพ กดรูปภพ คือไม่คิดจะเสพ ลงได้แบบไม่ทันรู้ตัว คือกดข่มแบบอัตโนมัติ เป็นไปตามสัญชาติญาณ เอาง่ายๆว่าจะดูสงบไม่หวั่นไหวเหมือนผู้บรรลุธรรมกันเลยทีเดียว ทั้งที่จริงๆแล้วเป็นสภาพของจิตที่กดข่มความชั่วโดยอัตโนมัติแล้วสติไม่ทันรู้ตัวก็หลงว่าตัวเรานั้นพ้นจากอัตตาได้เช่นกันบางทีหลงเข้าใจว่าการกระบวนการทำงานของจิตเหล่านั้นคือสติไปด้วย ทั้งๆที่สภาวะใดๆที่ทำโดยอัตโนมัติและไม่มีปัญญานั้นไม่มีสติเป็นองค์ประกอบทั้งนั้น

จึงขอยืนยันเลยว่าการลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้ทั้งชีวิต ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรมที่ถูกแนวทางพุทธแม้แต่นิดเดียว แม้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่มีศาสนา หรือมิจฉาทิฏฐิที่เสื่อมที่สุดในโลกก็สามารถที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ได้

ค). คนที่ปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรม โดยใช้วิถีปฏิบัติของพุทธศาสนาเข้ามาเรียนรู้กิเลส โดยใช้การลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติเข้ามาเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัตินั้นจะต่างออกไปจากการใช้ความยึดดีเข้ามากลบความชั่ว

เพราะการปฏิบัติที่ถูกต้องไปโดยลำดับนั้น จะให้ผลคือการทำลายทีละภพไปตามลำดับตั้งแต่เลิกกินเนื้อสัตว์ ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ และทำลายความติดดี ยึดดีถือดีว่าฉันเป็นคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์

นั่นคือการทำลายแต่ละภพที่จิตได้ยึดมั่นถือมั่นไว้โดยลำดับ ซึ่งจะต่างไปจากการกดข่ม เพราะมีขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นไปโดยลำดับตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ได้ใช้อัตตาเข้ามากดข่มความชั่วแล้วเลิกกินเนื้อสัตว์ในทันที

ผลที่แตกต่างจากวิธีที่ใช้อัตตาเข้ามาช่วยในการเลิกกินเนื้อสัตว์ คือมีความยืดหยุ่น มีปัญญารู้แจ้งในโทษชั่วของความอยากกินเนื้อสัตว์ รู้เหลี่ยมรู้มุมของกิเลสที่เจอมา ไม่สุขไม่ทุกข์ใดๆ แม้ว่าจะต้องกินเนื้อสัตว์ หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆอีก

แต่โดยสามัญแล้วจะไม่ไปกินเนื้อสัตว์ เพราะมีปัญญารู้ว่ากินแล้วจะเกิดผลร้ายอย่างไร ไม่ใช่การไม่ไปกินเพราะความยึดดีถือดีด้วยอัตตา สภาพสุดท้ายจะเหมือนคนที่กินมังสวิรัติทั่วไป

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงความต่าง ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็แล้วแต่ว่าใครจะสนใจและพอใจที่จะอยู่ในภพแบบไหน บางคนยังอยากเสพ บางคนยังยินดีกับการยึดดี ชอบเป็นคนดี หรือจะเรียนรู้การทำลายภพก็สามารถเลือกเอาได้ตามกำลังศรัทธา

– – – – – – – – – – – – – – –

27.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)