กิเลสมาก ค่าใช้จ่ายเยอะ

June 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,740 views 0

กิเลสมาก ค่าใช้จ่ายเยอะ

กิเลสมาก ค่าใช้จ่ายเยอะ

ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ มักหมดไปกับการสนองกิเลส

สิ่งที่จำเป็นก็ดูเหมือนจะถูกแต่งแต้มจนเกินความจำเป็น

กลายเป็นว่าเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นเข้ามาเป็นความจำเป็น

มัวเมาเสพสุขไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะหลงในสุขลวงนั้น

ทำงาน หาเงินมาได้เท่าไหร่ ก็ต้องจ่ายภาษีให้กับกิเลส

เสียเวลา เสียสุขภาพ เสียโอกาส ก็เพื่อบำเรอให้กับกิเลส

โดนขึ้นภาษีเท่าไหร่ก็ไม่เคยเรียกร้อง ขอแค่ให้ได้เสพสุข

เป็นทาสที่แสนดี ไม่เคยแข็งข้อ ไม่เคยอู้งาน ขยันจ่ายภาษี

แถมยังยินดี ว่าตัวฉันนี้มีปัญญาหาเงินมาใช้ ( ให้กิเลส )

ไม่ต้องไปคอยขอเงินใคร ( แต่ขอเสพสุขจากกิเลส )

มีอิสระทางการเงิน ไม่เป็นทาสใคร ( แต่เป็นทาสกิเลส )

– – – – – – – – – – – – – – –

28.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความเห็นในการละสิ่งที่เป็นภัย (ลฑุกิโกปมสูตร)

June 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,185 views 0

อ่านพระไตรปิฎกเจอบทที่น่าสนใจ สรุปมาอ่านกัน

เมื่อพระพุทธเจ้าได้กล่าวว่า “จงละสิ่งนี้” ก็จะมีผู้ที่เห็นต่างกันออกไป โมฆบุรุษบางคน ก็มักจะเห็นว่า จะมาขัดเกลาอะไรกันนักกันหนา กับเรื่องเล็กน้อยแค่นี้ต้องทำด้วยหรือ เมื่อไม่เห็นควรตามนั้นจึงไม่ยอมละ ทั้งยังไม่พอใจ

บางพวกสนใจศึกษาแต่อินทรีย์พละอ่อนก็มองว่าสิ่งที่ท่านให้ละนั้นเป็นสิ่งที่ยาก แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็ยังยากที่จะละสิ่งนั้น

บางพวกสนใจศึกษาแต่มีิอินทรีย์พละมากก็มองว่าสิ่งที่ท่านให้ละนั้นสามารถทำ ได้โดยง่าย จึงทำได้โดยไม่ยากไม่ลำบาก แม้เรื่องยากกว่านี้ก็ทำได้

(ความตอนหนึ่งของ ลฑุกิโกปมสูตร)

…………………………………….

จะเห็นได้ว่าการละสิ่งใดได้ยากหรือง่ายนั้นเกิดจากอินทรีย์พละที่สะสมมา ซึ่งแต่ละคนมีต้นทุนที่ปฏิบัติมาต่างกัน คนทำมามากก็มีมาก คนทำมาน้อยก็มีน้อย บางคนมีน้อยถึงขั้นหลงผิดไม่พอใจพระพุทธเจ้าก็ยังมี

คนที่มีมากเขาก็ละสิ่งที่เป็นภัยได้ง่าย เช่น ศึกษากันไม่นานก็สามารถถือศีลยากๆได้ ส่วนคนที่มีน้อยแค่เจอศีลง่ายๆเขาก็หงายแล้ว

เรื่องแข่งบุญแข่งวาสนามันแข่งกันไม่ได้ ดังนั้นปฏิบัติธรรมอย่าเปรียบเทียบกับใคร อย่าคิดว่าคนนั้นคนนี้ทำได้แล้วเราจะทำได้ โดยเฉพาะการศึกษาพระไตรปิฎกจะเห็นว่าบรรลุธรรมกันง่ายๆ แค่ฟังไม่กี่ประโยคก็บรรลุแล้ว

ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำได้ ถึงแม้เราจะอ่านพระไตรปิฎกทั้งหมดก็ใช่ว่าจะเข้าใจหรือบรรลุธรรมใดๆได้ ดังนั้นปฏิบัติธรรมอย่าไปเปรียบเทียบกับใคร อย่าไปลอกใคร ให้เอากระบวนการปฏิบัติเป็นหลักส่วนได้มรรคผลอย่างไรเป็นเรื่องของแต่ละคน

ไม่เช่นนั้นก็จะท้อมากเมื่อเห็นเพื่อนกัลยาณมิตรก้าวหน้าไปไกลแต่เรากลับยัง อยู่ที่เดิม นั่นเพราะมีเหตุปัจจัยต่างกัน มีอินทรีย์พละต่างกัน และอาจจะมีทิฏฐิที่ต่างกัน ซึ่งตรงนี้ต้องศึกษาและตรวจสอบให้ดี

คู่แบบไหนดี?

June 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,302 views 0

คู่แบบไหนดี?

คู่แบบไหนดี?

เมื่อหลายวันก่อน ระหว่างรอนัดพบกับเพื่อน ผมได้เข้าไปที่ร้านหนังสือ เพื่อจะดูว่ามีหนังสืออะไรน่าสนใจบ้าง หนึ่งในหนังสือที่หวังไว้ก็คือการ์ตูนพุทธประวัติของบุคคลในสมัยพุทธกาล

ผมตั้งใจหยิบหนังสือพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรขึ้นมาอ่าน ก็คิดว่าจะซื้อเล่มนี้ แต่ก่อนจะเอาไปจ่ายเงินก็เหลือบไปเห็นหนังสือการ์ตูนประวัติของพระนางพิมพาด้วย เลยหยิบมาคู่กันเพราะน่าจะมีประโยชน์

บางทีการศึกษาจากตัวหนังสือมันก็ทำให้มึนอยู่ไม่น้อย การพักมาอ่านการ์ตูนบ้างก็เป็นการรับข้อมูลข่าวสารที่ผ่อนคลายเข้าใจง่าย อีกทั้งเนื้อหาโดยรวมก็ยังมีทิศทางที่ศึกษาได้อยู่

หนังสือสองเล่มนี้เป็นสภาพของ “คู่” ทั้งสองเล่ม เรื่องหนึ่งเป็นคู่ที่มีเพื่อเรียนรู้รักและการจากพราก อีกเรื่องหนึ่งเป็นคู่ที่พากันไปเจริญ

ชีวิตของผมนั้นโชคดีที่ได้เรียนรู้พื้นฐานมาทั้งสองแง่มุม แน่นอนว่าความเข้มข้นไม่เท่ากับเรื่องของบุคคลสำคัญเหล่านั้น แต่ก็พอจะทำให้เข้าใจได้

สุดท้ายหลังจากได้เรียนรู้จากทั้งสองมุมมอง ผมกลับเห็นดีกับในลักษณะคู่ของพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรมากกว่า เพราะพากันเจริญอย่างเดียว ไม่ต้องมาสร้างวิบากกรรมอะไรแก่กันและกัน อย่างมากก็ชวนกันไปหลงกิเลส แต่ก็ไม่ได้ทำร้ายกันและกันเหมือนกับคู่ของพระพุทธเจ้าและพระนางพิมพา

การทำร้ายกันและกันนั้นอาจจะดูเป็นคำที่ร้ายแรง แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเช่นนั้น เพราะทำให้อีกฝ่ายทุกข์ด้วยความรัก ทุกข์เพราะเมตตา ทุกข์เพราะหึงหวง ทุกข์เพราะต้องคอยแบกกันและกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อสะสมบารมีให้เต็มรอบ เพื่อที่จะตรัสรู้ต่อไป

ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้า หน้าที่ของพระโพธิสัตว์ที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก แต่ไม่ใช่หน้าที่ของสาวก ซึ่งคู่ของพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ความเป็นคู่นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ครอง เป็นเพื่อนก็พากันเจริญได้ และจริงๆก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ จะเป็น 3 , 4 , 5 …. ร่วมวงกันแค่ไหนก็ได้แล้วแต่จะผูกกรรมกันมา

สมัยยังกิเลสหนา ผมเองก็เคยใช้พุทธประวัติของพระพุทธเจ้าในมุมหนึ่งของการครองคู่ มาเป็นเหตุผลให้เรามีข้ออ้างในการจะมีคู่เช่นกัน แต่พอศึกษาไปเรื่อยๆ ชำระกิเลสไปเรื่อยๆจึงรู้ว่าที่เราเห็นและเข้าใจนั้นเป็นเพียงความเห็นของกิเลสที่พยายามจะหาข้ออ้างที่สุดแสนจะฉลาด โดยพยายามไปเปรียบเทียบว่าพระพุทธเจ้าทำได้ ฉันก็น่าจะทำได้บ้าง

ทั้งที่จริงแล้วเราก็เท่านี้ บุญบารมีก็แค่นี้ จะไปเทียบกับใครได้ เอาตัวรอดยังแทบไม่ได้เลย ดังนั้นเมื่อศึกษาอย่างถี่ถ้วนแล้วจึงรู้ว่าการมีคู่ครองนั้นไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นเลยสำหรับสาวกในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ฟุ่มเฟือยและจะพาฉุดรั้งไม่ให้พบกับความพ้นทุกข์ด้วยซ้ำไป

สุดท้ายจึงพบว่าคู่แบบอัครสาวกทั้งสองนี่แหละคือคู่ปฏิบัติธรรมที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด อย่างน้อยสองคน ก็ยังมีเพื่อนที่คอยตรวจสอบ คอยแนะนำกันได้แล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปหาใครมาเสพแล้วอ้างว่าจะพากันเจริญในธรรมเลย เพียงแค่หาเพื่อนปฏิบัติธรรม หากัลยาณมิตร ไม่ว่าจะเพศเดียวกันหรือต่างเพศ แต่ถ้าจะให้ดีก็เพศเดียวกันจะได้ไม่ต้องลำบากใจ ดังเช่นคู่ของพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรถ้าได้ศึกษานิทานชาดกก็จะเห็นว่าท่านเป็นเพื่อนกันมาหลายชาติ ช่วยเหลือกัน เกื้อกูลกัน พากันเจริญ

ทุกวันนี้ผมไม่สงสัยเกี่ยวกับเรื่องของคู่ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าไม่มีนั้นดีที่สุด ส่วนเรื่องของพระพุทธเจ้าและพระนางพิมพา ก็เป็นเรื่องตามเหตุปัจจัยของท่าน ผมไม่กล้าที่จะพยายามเปรียบเทียบหรืออ้างอิงสิ่งใดเพื่อที่จะหาเหตุผลในการไปมีคู่ได้อีก เพราะรู้ว่าการสะสมบารมีของท่านนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะทำตาม เพราะไม่ใช่วิสัยที่เราจะเข้าใจเหตุปัจจัยทั้งหมดได้ แต่เป็นเรื่องที่ควรจะศึกษาให้เห็นทุกข์จากผลของการศึกษาของท่าน

นั่นหมายถึงเราไม่ต้องบังอาจไปทำตามกระบวนการที่ท่านทำมา เพียงแค่เอาความรู้ที่ท่านตรัสรู้แล้วมาปฏิบัติก็เพียงพอแล้ว ซึ่งท่านก็ตรัสไว้เสมอว่าให้ลด ละ เลิก การเสพสุขจากการมีคู่ และให้ดีที่สุดคือไม่ต้องไปมีคู่ ซึ่งท่านไม่เคยสอนให้ไปมีคู่ ไม่เคยบอกให้ทำตามที่ท่านทำ แต่ให้ศึกษาในสิ่งที่ท่านสอน

ซึ่งหากตอนนี้จะแนะนำใครสักคนที่หลงผิดคิดว่ามีคู่รักแล้วจะพาให้เจริญพัฒนาไปด้วยกันได้ ผมก็อยากให้เขาศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรบ้าง เรื่องราวนั้นจะต่างกันไปโดยสิ้นเชิง แน่นอนว่าหนทางสู่ความพ้นทุกข์ก็ง่ายตามไปด้วย เพราะระดับผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเราคงไม่บังอาจเอาอย่างพระพุทธเจ้า เพราะเพียงแค่ทำตามที่ท่านสอนก็เรียกได้ว่าหืดขึ้นคอแล้ว จะให้ไปสะสมบารมีตามท่านนั้นก็คงจะทำไม่ไหว ดับทุกข์ที่ตนให้ได้ก่อนจะดีกว่าแล้วค่อยว่ากันต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

28.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สาระของศีล

June 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,675 views 0

สาระของศีล

สาระของศีล

การมีศีลนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งในความเจริญของผู้แสวงหาหนทางสู่การพ้นทุกข์ แต่ในความเป็นศีลนั้นก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละความเห็นความเข้าใจซึ่งมีทั้งการถือศีลแบบยึดมั่นถือมั่น บ้างก็เข้าใจความหมายของศีลผิดไป ซึ่งเหตุเหล่านั้นทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสาระแท้ของศีลได้

ผู้ปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ย่อมไม่ถือศีลเพียงเพื่อประโยชน์แห่งความสุขที่จะทำให้หลงวนเวียนเสพสุขอยู่ในภพนี้ แต่จะใช้ศีลเหล่านั้นเป็นเครื่องมือขัดเกลากิเลส เพื่อความหมดสิ้นซึ่งกิเลสเท่านั้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดเป้าหมายเดียวของเหล่าสาวกในพระพุทธศาสนา

เราจะจำแนกลักษณะของความเข้าใจในศีลออกมา 3 แบบคือ ถือศีล ทิ้งศีล ศึกษาศีล โดยมีรายละเอียดดังนี้

1).ถือศีล

การถือศีล รับศีลมาถือ นำมาปฏิบัติ เอามาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเห็นประโยชน์ของศีลว่าการมีศีลนั้นจะนำความสุขความเจริญมาให้ ทั้งยังป้องกันภัยต่างๆที่จะเข้ามาสู่ชีวิต และยังเป็นการสร้างกุศลให้กับชีวิตตนอีกด้วย

ผู้ที่ถือศีลนั้นจะมีทั้งแบบยึดอาศัยกับแบบยึดมั่นถือมั่น ผู้ที่ยึดอาศัยหรือการ “สมาทาน” นั้นก็จะใช้ศีลเป็นเครื่องประกอบในการทำคุณงามความ ใช้ศีลเพื่อความสุขความเจริญ แต่เมื่อเกิดความยึดดีถือดี เป็นความยึดมั่นถือมั่นในศีล หรือที่เรียกว่า “สีลัพพตุปาทาน” คือความยึดมั่นและงมงายในศีลและข้อปฏิบัติเป็นหนึ่งในอุปาทาน ๔

การถือศีลแบบยึดอาศัยกับยึดมั่นถือมั่นจะแตกต่างกันตรงที่ความตึงเครียด ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นจะถือศีลอย่างไม่ปล่อยวาง เคร่งเครียด, ยึดว่าศีลนั้นเป็นที่สุด, คนต้องมีศีลแบบนั้น, พระต้องมีศีลแบบนี้, ปฏิบัติแบบนี้จึงเรียกว่าถือศีล, ใครถือศีลได้มากข้อกว่าก็น่าเคารพกว่า, ฉันถือศีลได้เท่านั้นเท่านี้, ฉันไม่เคยทำศีลขาดหรือด่างพร้อย, มักจะมีอาการยกตกข่มผู้อื่นร่วมด้วย รวมทั้งมีอาการติดดีประกอบอยู่เพราะเหตุแห่งความยึดมั่นในศีลนั้น

ถึงแม้ว่าจะการยึดอาศัยศีลเพื่อสร้างความสุขความเจริญ หรือการยึดมั่นถือมั่นในศีลจนงมงาย แม้จะถือศีลได้ปกติแต่ไม่มีปัญญารู้แจ้งในกิเลสก็เรียกได้ว่าถือไปแบบนั้น“เหมือนกับมีเพชรและรู้ว่าเพชรมีค่าขายได้มีราคา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเอาเพชรไปใช้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์” เช่นนั้นก็ยังไม่ใช่การเข้าถึงคุณประโยชน์สูงสุดของศีลในพุทธศาสนา การถือศีลเพื่อความสุขความเจริญนี้ยังเป็นเพียงแค่ประโยชน์เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับแก่นสารสาระของศีล ดังนั้นคนที่ยึดเอาศีลเป็นเพียงประโยชน์เพื่อเสพสุขจากกุศลกรรม ย่อมยังไม่พบกับความพ้นทุกข์

2).ทิ้งศีล

ในข้อนี้จะยกตัวอย่างของความเห็นผิดในการถือศีล ซึ่งมีให้เห็นได้ในปัจจุบัน คือการทิ้งศีล ไม่มีศีล ไม่ปฏิบัติศีลซึ่งในส่วนของคนที่ยังไม่ถือศีลเพราะยังไม่มีปัญญาเห็นคุณประโยชน์ในศีลจะขอยกไว้ในฐานะที่เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดา

คนบางกลุ่มบางจำพวก ตีความหมายของศีลนั้นไปตามความเข้าใจของเขา เช่น ศีลคือความปกติ ดังนั้นรักษากายใจให้ปกติก็ถือว่ามีศีล สามารถบรรลุธรรมได้เหมือนกัน เมื่อเห็นผิดในกระบวรการปฏิบัติดังนั้นจึงไม่มีการศึกษาในสาระของศีลแต่ละข้อว่ามีไว้เพื่ออะไร เพราะในรายละเอียดของศีลแต่ละข้อนั้นถูกจำแนกให้ขัดเกลากิเลสในมุมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าท่านได้แยกย่อยไว้ให้ค่อยๆเรียนรู้และปฏิบัติศีลไปโดยลำดับ มิใช่เพื่อการบรรลุธรรมในทันที

ยกตัวอย่างหนึ่งในสมัยพุทธกาลที่สาวกท่านหนึ่งจำศีลมากมายไม่ได้ เลยไปขอศีลจำนวนน้อยกับพระพุทธเจ้า ท่านก็ให้ไว้สามข้อ คือกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต คือมีกายวาจาใจที่ดีงามไม่ปนเปื้อนด้วยกิเลส ซึ่งเหมาะกับปัญญาของสาวกท่านนั้นเท่านั้น การที่เราจะรับศีลที่สั้นกระชับในระดับนี้มาปฏิบัติ อาจจะทำให้เกิดความหลงผิดเข้าข้างตนเองก็ได้ว่าฉันก็สุจริตทั้งสามอย่างนะเรียกว่าการปฏิบัติธรรมไม่สมฐานะ ปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวังเมื่อศึกษาพระไตรปิฎก เพราะใช่ว่าท่านทำได้แล้วเราจะทำได้ อินทรีย์พละมันต่างกัน ซึ่งมักจะทำให้คนที่ขี้เกียจปฏิบัติธรรมหาช่องทางให้ตนได้ศึกษาธรรมได้แบบง่ายๆสบายๆ เพราะความหลงผิดนั่นเอง

กลับมาที่การรักษาใจให้ปกติที่คนบางจำพวกถือเอาเป็นข้อปฏิบัติหรือศีล เมื่อศีลของเขาคือความปกติ เขาจึงมุ่งรักษาใจให้ปกติ โดยที่มักจะใช้วิธีสมถะเข้ามากดข่มจิตใจให้ปกติ เมื่อทำได้เช่นนั้นก็มักจะหลงผิดเข้าใจว่าศีลมีเพียงเท่านี้ ตีทิ้งศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้อีกมากมาย โดยไม่รู้เนื้อหาสาระแท้ในแต่ละข้อทั้งนี้อาจจะเกิดจากความเห็นผิดหรือความขี้เกียจถือศีลมากๆก็ได้ จึงตีความหมายให้เป็นว่าถ้าทำเพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องถือศีล ไม่ต้องมีศีล เพียงแค่รักษาใจให้บริสุทธิ์ตามที่เข้าใจก็ถือว่ามีศีลแล้ว

เราสามารถเข้าใจว่าศีลคือความปกติได้ แต่นั่นคือผลของการปฏิบัติจนเกิดความปกติ ไม่ใช่ทำให้เกิดความปกติขึ้นในจิตด้วยการพยายามกำหนดจิต เช่น เมื่อเราถือศีลกินมื้อเดียว เราจะทำอย่างไรให้กินมื้อเดียวได้ด้วยใจปกติ ไม่มีความอยากกินที่เกินมื้อ ไม่มีความร้อนรน ไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีความหดหู่ หรือลังเลสงสัยในศีลนี้ว่ามีคุณประโยชน์อย่างไร

หรือหากเรามองว่าศีลคือความพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ที่จะทำให้อยู่อย่างเป็นสุขไม่เบียดเบียนกัน ถ้าหมายถึงศีล ๕ นั้นก็คงใช่ แต่พอขึ้นมาถึงศีล ๘ หรือศีล ๑๐ ก็มักจะทำให้มนุษย์ในปัจจุบันขัดข้องใจที่จะถือศีลนั้นๆ โดยเฉพาะจุลศีลในข้อกินมื้อเดียว เรียกว่าหักความคิดตามสามัญสำนึกของคนทั่วไปทิ้งเลยทีเดียว การกินมื้อเดียวไม่ใช่เพียงแค่ข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส แต่ยังเป็นความพอดีสูงสุดในชีวิตด้วย แล้วพื้นฐานของมนุษย์นั้นอยู่ตรงไหน? ความไม่เบียดเบียนกันควรจะวัดจากจุดไหน? แล้วศีล ๑๐ เบียดเบียนตนและผู้อื่นน้อยกว่าศีล ๕ ไหม? ถ้าเบียดเบียนน้อยกว่าก็ควรจะให้ศีล ๑๐ เป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์สิ ในเมื่อศีลแต่ละข้อมีความยากง่ายและนัยสำคัญที่แตกต่างกันทำไมเราจึงไม่สามารถเข้าใจแก่นสารสาระเหล่านั้นได้?

อย่างที่ได้กล่าวมาตอนต้น เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธนั้นมีเป้าหมายเดียวคือเป็นไปเพื่อความหมดสิ้นซึ่งกิเลส นอกเหนือจากนั้นไม่ใช่ประเด็นที่น่าสนใจ เพราะรู้ชัดว่าเมื่อกิเลสนั้นคลาย ความสงบสุขจะเกิดขึ้นมาเองโดยลำดับ ดังนั้นการถือศีลก็ย่อมเป็นไปเพื่อขจัดกิเลสที่หมักหมมในสันดาน มิใช่เพียงเพื่อความสุขความเจริญดังที่กล่าวไว้ในข้อแรก

ความปกตินั้นคือ “ผล” แต่คนสับสนกลับเอาผลมาเป็น “มรรค” พอปฏิบัติกลับหัวกลับหางกัน มันก็ผิดเพี้ยนไปหมด จนทำให้เข้าใจแก่นสารสาระของศีลผิด จึงนำมาซึ่งการทิ้งศีล มองศีลเป็นเพียงสิ่งพื้นฐานที่รู้จักแล้วก็วางได้ ปฏิบัติศีลเพียงแค่กายวาจาแต่ไม่เข้าใจ จนอาจหลงผิดถึงขั้นดูหมิ่นผู้มีศีลได้

เช่น หลงผิดเข้าใจไปว่าเราคือผู้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในศีล คนที่เคร่งศีลคือคนที่ยึดมั่นถือมั่น ยิ่งคนที่ถือศีลมากๆยิ่งจะถูกมองว่าบ้า โต่ง หรือตึงเกินไป เหตุหนึ่งเพราะตนเองไม่สามารถถือศีลเหล่านั้นได้ พอถือแล้วก็ทรมานจากฤทธิ์ของกิเลส เลยต้องหย่อนลงมา จึงเกิดความเห็นผิดว่าการถือศีลคือโต่ง ทั้งที่จริงๆแล้วนั่นคือสภาพของอัตตกิลมถะหรือการทรมานตนเองด้วยความยึดดี

ตอนแรกก็เห็นว่าศีลดีก็เลยพยายามถือศีล แต่พออินทรีย์พละไม่พอมันก็จะทรมาน พอทรมานก็ลดศีลหรือเลิกถือศีล มันก็สบายจากความหลุดพ้นในการทรมานตนด้วยความยึดดีเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าการถือศีลเป็นสิ่งที่โต่ง แต่การถือศีลที่เกินกำลังนั้นเองคือสิ่งที่โต่ง แต่พอทิ้งศีลก็มักจะเข้าสู่ทางโต่งอีกทางคือไหลไปตามกามเลย ไปหลงเสพกาม แล้วก็ติดสุขจากกาม โดยมากจะกู่ไม่กลับเพราะเห็นผิดในการถือศีลไปแล้ว

ในศีลของนักบวชก็เช่นกัน เมื่อไม่เข้าใจสาระของศีล จึงเหลือแต่วินัย ในทุกวันนี้ศีล ๒๒๗ ข้อ คือพระวินัย ซึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าตรัสให้นักบวชในศาสนาของท่านถือศีล ๓ คือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่มากมายในพระไตรปิฎก แต่นักบวชทุกวันนี้กลับไม่มีศีล มีแต่วินัย เพราะไม่เข้าใจสาระของศีล จึงทิ้งศีล คงไว้เพียงวินัย หากเราจะลองเอาศีล ๓ หมวดนี้มาตรวจสอบความถูกต้องในปัจจุบัน ก็จะพบว่าส่วนมากผิดศีล เพราะไม่เคยมีศีล ไม่เคยศึกษาในศีล ไม่เห็นประโยชน์ในศีลนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา” นั่นหมายถึงผู้ปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ย่อมไม่ทิ้งศีล และไม่ถือศีลอย่างงมงาย เพียรศึกษาให้เข้าถึงสาระแท้ของศีล

3).ศึกษาศีล

การมีศีลนั้นคือการศึกษาเพื่อที่จะละเว้นสิ่งที่ชั่ว เว้นขาดจากการเบียดเบียนตนและผู้อื่น เริ่มต้นจากการศึกษาประโยชน์ของศีลเพื่อถือศีลก่อนเป็นอันดับแรก แล้วถือศีลนั้นไว้เพื่อศึกษาสาระแท้ของศีล นั่นคือการศึกษากิเลสในตนผ่านการถือศีล

สาระแท้ของศีลนั้นมีไว้เพื่อเปิดประตูสู่การชำระกิเลส หากไม่มีศีลมากำหนด ก็ไม่สามารถมีสิ่งใดที่จะมาทำให้เราเห็นทุกข์จากกิเลสได้ ศีลนั้นคือหนึ่งในองค์ประกอบของการพ้นทุกข์ ซึ่งหากไม่เริ่มจากศีลก็ต้องเริ่มจากปัญญาที่พัฒนาจนเห็นประโยชน์ของการถือศีล ดังนั้นหากจะปฏิบัติธรรมสู่การพ้นทุกข์ ก็ต้องเริ่มจากศีลอยู่ดี ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกสาวกเสมอว่าเธอจงศึกษาในศีล ๓ หมวดดังที่ยกมาอธิบายก่อนหน้านี้

การศึกษาในศีลนั้นทำให้เห็นกิเลสอย่างไร? เมื่อเราถือศีล ศีลก็จะเป็นกำแพงไม่ให้เราไปเสพสิ่งเดิมๆที่เราเคยหลงติดหลงยึดได้ง่ายนัก อย่างน้อยก็เป็นกำแพงในใจ ซึ่งเมื่อศึกษาแรกๆ กำแพงก็จะไม่แข็งแรง เราก็มักจะปีนกำแพงออกไปเสพสุขในสิ่งที่ละเมิดศีลตามแรงยั่วของกิเลส เราก็ต้องใช้ไตรสิกขา อธิศีล อธิจิต อธิปัญญานี่แหละในการสร้างความแข็งแกร่งของกำแพงศีล เจริญขึ้นไปจนถึงขั้นเกิดหิริโอตตัปปะ เริ่มจะไม่ผิดศีลด้วยความเต็มใจเพราะรู้สึกผิดละอายต่อบาป เจริญขึ้นไปอีกจนกระทั่งเพียรพิจารณากิเลสที่พยายามยั่วยวน ด้วยปัญญาที่ประกอบด้วยศีลและสติ จนกระทั่งเกิดปัญญารู้แจ้งกิเลส กระโดดไปอยู่อีกโลกหนึ่ง(โลกุตระ) ก็ถือว่าจบภารกิจในศีลนั้นๆ แล้วก็ขยับฐานไปถือศีลที่ยากขึ้นหรือศีลอื่นๆต่อไป

ศีลนั้นมีระดับยากง่ายที่ต่างกัน และในศีลหนึ่งๆยังมีการปฏิบัติไปตามลำดับหยาบ กลาง ละเอียด ควบคุมกาย วาจา ไปจนกระทั่งชำระกิเลสในจิตใจได้

ผู้ที่มีศีลแต่ไม่เข้าใจว่าศีลนั้นชำระกิเลสได้อย่างไร หรือเข้าใจผิดคิดเหมาเอาเองว่าการมีศีลนั้นคือการชำระกิเลส ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะการถือศีลโดยทั่วไปนั้นไม่ได้ล้วงลึกเข้าไปถึงใจ ไม่ไปถึงเหตุแห่งทุกข์ ไม่สามารถชำระกิเลสที่หมักหมมในสันดานได้ ไม่สามารถทำให้ละหน่ายคลายจากความอยากนั้นได้ โดยทั่วไปแล้วก็เหมือนกับคนที่ถือศีลเพื่อความสงบสุข ความดีงามดังที่ยกตัวอย่างในข้อแรก

ตัวตนของกิเลสนั้นจะสามารถเห็นได้จากการถือศีล ศีลคือเครื่องมือเดียวที่จะตีกรอบให้กิเลสนั้นถูกแสดงตัว เมื่อเห็นดังนั้นจึงใช้สติปัฏฐานเข้ามาพิจารณาตัวตนแท้ของกิเลสตั้งแต่ผัสสะเกิด เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิตว่ากิเลสใดหนอที่ปะปนอยู่ในจิตของเรา แล้วใช้ธรรมที่เหมาะที่ควรเข้าไปพิจารณาตามเหตุคือกิเลสนั้นๆ

การปฏิบัติศีลอย่างเข้าใจในกระบวนการ จะสามารถชำระกิเลสที่มีในจิตใจได้ ไม่ใช่ว่าเพียงแค่ควบคุมกาย วาจา อย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ดังนั้นผู้ปฏิบัติอย่างถูกตรงจนเกิดผล จึงมีสภาพของการถือศีลข้อนั้นๆอย่างปกติโดยที่ไม่ต้องพยายามกดข่ม ฝืนทน หรือมีความลำบากกายและใจใดๆเลย

– – – – – – – – – – – – – – –

24.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)