Tag: หนังสือ

อัพเดทเพจปี 2563

February 6, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 565 views 0

เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนปก ให้ดูจริงจังขึ้น คือจะเอาจริงเรื่องบทความเกี่ยวกับความรักนี่แหละ ไหน ๆ ก็ไหน ๆ เอาให้มันสุด ๆ ไปเลยสักเรื่อง

อาจารย์เคยบอกว่าทำให้เด่น ๆ ซักเรื่อง จะช่วยคนได้ง่าย คงเพราะเขาจะได้โฟกัสถูกนั่นแหละว่าเราเก่งอะไร ก็ลองกันดูซักตั้ง

ปีนี้ตั้งใจว่าจะเขียนหนังสือสักเล่ม ก็คงจะเป็นเรื่องความรักเช่นกันครับ

https://www.facebook.com/DinhNotes/

คู่แบบไหนดี?

June 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,201 views 0

คู่แบบไหนดี?

คู่แบบไหนดี?

เมื่อหลายวันก่อน ระหว่างรอนัดพบกับเพื่อน ผมได้เข้าไปที่ร้านหนังสือ เพื่อจะดูว่ามีหนังสืออะไรน่าสนใจบ้าง หนึ่งในหนังสือที่หวังไว้ก็คือการ์ตูนพุทธประวัติของบุคคลในสมัยพุทธกาล

ผมตั้งใจหยิบหนังสือพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรขึ้นมาอ่าน ก็คิดว่าจะซื้อเล่มนี้ แต่ก่อนจะเอาไปจ่ายเงินก็เหลือบไปเห็นหนังสือการ์ตูนประวัติของพระนางพิมพาด้วย เลยหยิบมาคู่กันเพราะน่าจะมีประโยชน์

บางทีการศึกษาจากตัวหนังสือมันก็ทำให้มึนอยู่ไม่น้อย การพักมาอ่านการ์ตูนบ้างก็เป็นการรับข้อมูลข่าวสารที่ผ่อนคลายเข้าใจง่าย อีกทั้งเนื้อหาโดยรวมก็ยังมีทิศทางที่ศึกษาได้อยู่

หนังสือสองเล่มนี้เป็นสภาพของ “คู่” ทั้งสองเล่ม เรื่องหนึ่งเป็นคู่ที่มีเพื่อเรียนรู้รักและการจากพราก อีกเรื่องหนึ่งเป็นคู่ที่พากันไปเจริญ

ชีวิตของผมนั้นโชคดีที่ได้เรียนรู้พื้นฐานมาทั้งสองแง่มุม แน่นอนว่าความเข้มข้นไม่เท่ากับเรื่องของบุคคลสำคัญเหล่านั้น แต่ก็พอจะทำให้เข้าใจได้

สุดท้ายหลังจากได้เรียนรู้จากทั้งสองมุมมอง ผมกลับเห็นดีกับในลักษณะคู่ของพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรมากกว่า เพราะพากันเจริญอย่างเดียว ไม่ต้องมาสร้างวิบากกรรมอะไรแก่กันและกัน อย่างมากก็ชวนกันไปหลงกิเลส แต่ก็ไม่ได้ทำร้ายกันและกันเหมือนกับคู่ของพระพุทธเจ้าและพระนางพิมพา

การทำร้ายกันและกันนั้นอาจจะดูเป็นคำที่ร้ายแรง แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเช่นนั้น เพราะทำให้อีกฝ่ายทุกข์ด้วยความรัก ทุกข์เพราะเมตตา ทุกข์เพราะหึงหวง ทุกข์เพราะต้องคอยแบกกันและกัน ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าท่านจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อสะสมบารมีให้เต็มรอบ เพื่อที่จะตรัสรู้ต่อไป

ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของพระพุทธเจ้า หน้าที่ของพระโพธิสัตว์ที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก แต่ไม่ใช่หน้าที่ของสาวก ซึ่งคู่ของพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ความเป็นคู่นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ครอง เป็นเพื่อนก็พากันเจริญได้ และจริงๆก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่ จะเป็น 3 , 4 , 5 …. ร่วมวงกันแค่ไหนก็ได้แล้วแต่จะผูกกรรมกันมา

สมัยยังกิเลสหนา ผมเองก็เคยใช้พุทธประวัติของพระพุทธเจ้าในมุมหนึ่งของการครองคู่ มาเป็นเหตุผลให้เรามีข้ออ้างในการจะมีคู่เช่นกัน แต่พอศึกษาไปเรื่อยๆ ชำระกิเลสไปเรื่อยๆจึงรู้ว่าที่เราเห็นและเข้าใจนั้นเป็นเพียงความเห็นของกิเลสที่พยายามจะหาข้ออ้างที่สุดแสนจะฉลาด โดยพยายามไปเปรียบเทียบว่าพระพุทธเจ้าทำได้ ฉันก็น่าจะทำได้บ้าง

ทั้งที่จริงแล้วเราก็เท่านี้ บุญบารมีก็แค่นี้ จะไปเทียบกับใครได้ เอาตัวรอดยังแทบไม่ได้เลย ดังนั้นเมื่อศึกษาอย่างถี่ถ้วนแล้วจึงรู้ว่าการมีคู่ครองนั้นไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นเลยสำหรับสาวกในพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ฟุ่มเฟือยและจะพาฉุดรั้งไม่ให้พบกับความพ้นทุกข์ด้วยซ้ำไป

สุดท้ายจึงพบว่าคู่แบบอัครสาวกทั้งสองนี่แหละคือคู่ปฏิบัติธรรมที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด อย่างน้อยสองคน ก็ยังมีเพื่อนที่คอยตรวจสอบ คอยแนะนำกันได้แล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปหาใครมาเสพแล้วอ้างว่าจะพากันเจริญในธรรมเลย เพียงแค่หาเพื่อนปฏิบัติธรรม หากัลยาณมิตร ไม่ว่าจะเพศเดียวกันหรือต่างเพศ แต่ถ้าจะให้ดีก็เพศเดียวกันจะได้ไม่ต้องลำบากใจ ดังเช่นคู่ของพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรถ้าได้ศึกษานิทานชาดกก็จะเห็นว่าท่านเป็นเพื่อนกันมาหลายชาติ ช่วยเหลือกัน เกื้อกูลกัน พากันเจริญ

ทุกวันนี้ผมไม่สงสัยเกี่ยวกับเรื่องของคู่ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่าไม่มีนั้นดีที่สุด ส่วนเรื่องของพระพุทธเจ้าและพระนางพิมพา ก็เป็นเรื่องตามเหตุปัจจัยของท่าน ผมไม่กล้าที่จะพยายามเปรียบเทียบหรืออ้างอิงสิ่งใดเพื่อที่จะหาเหตุผลในการไปมีคู่ได้อีก เพราะรู้ว่าการสะสมบารมีของท่านนั้นไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะทำตาม เพราะไม่ใช่วิสัยที่เราจะเข้าใจเหตุปัจจัยทั้งหมดได้ แต่เป็นเรื่องที่ควรจะศึกษาให้เห็นทุกข์จากผลของการศึกษาของท่าน

นั่นหมายถึงเราไม่ต้องบังอาจไปทำตามกระบวนการที่ท่านทำมา เพียงแค่เอาความรู้ที่ท่านตรัสรู้แล้วมาปฏิบัติก็เพียงพอแล้ว ซึ่งท่านก็ตรัสไว้เสมอว่าให้ลด ละ เลิก การเสพสุขจากการมีคู่ และให้ดีที่สุดคือไม่ต้องไปมีคู่ ซึ่งท่านไม่เคยสอนให้ไปมีคู่ ไม่เคยบอกให้ทำตามที่ท่านทำ แต่ให้ศึกษาในสิ่งที่ท่านสอน

ซึ่งหากตอนนี้จะแนะนำใครสักคนที่หลงผิดคิดว่ามีคู่รักแล้วจะพาให้เจริญพัฒนาไปด้วยกันได้ ผมก็อยากให้เขาศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรบ้าง เรื่องราวนั้นจะต่างกันไปโดยสิ้นเชิง แน่นอนว่าหนทางสู่ความพ้นทุกข์ก็ง่ายตามไปด้วย เพราะระดับผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเราคงไม่บังอาจเอาอย่างพระพุทธเจ้า เพราะเพียงแค่ทำตามที่ท่านสอนก็เรียกได้ว่าหืดขึ้นคอแล้ว จะให้ไปสะสมบารมีตามท่านนั้นก็คงจะทำไม่ไหว ดับทุกข์ที่ตนให้ได้ก่อนจะดีกว่าแล้วค่อยว่ากันต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

28.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เส้นบางๆของที่ขีดกั้นความหลงผิด

April 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,459 views 0

วันนี้ไปร้านหนังสือ เห็นหนังสือศาสนาพุทธกับหนังสือประเภทดูดวง อภินิหาร อำนาจวิเศษ ของขลัง ฯลฯ วางอยู่ติดกัน และนึกได้ว่าพวกมันมักจะถูกวางไว้ติดกันเสมอ เรียกว่ากลืนไปด้วยกันเลยก็ว่าได้

ในความจริงแล้ว พุทธไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้เลย เรียกว่ารังเกียจเสียด้วยซ้ำ แต่ความจริงในปัจจุบันกลับถูกปะปนจนเป็นเนื้อเดียวกันไปเสียได้

เส้นที่แบ่งคนที่ถูกตรงกับคนที่หลงผิดอยู่ตรงไหน?
ขีดของคนที่รู้แจ้งกับคนที่หลงมัวเมาตัดกันตรงไหน?
โลกุตระกับโลกียะแบ่งกันด้วยฐานะอย่างไร?
สาระแท้กับสิ่งไร้สาระแบ่งแยกด้วยอะไร?

มาถึงยุคนี้ก็… ตัวใครตัวมันแล้วกัน…

…ศึกษาเพื่อเอาตัวรอดกันไป

ก่อนถึงวันผลัดใบ

May 7, 2013 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,802 views 0

แนวคิดเล็กๆ ที่มีอยู่ในบล็อกแห่งนี้ก็มาจากหนังสือเล่มหนึ่ง ที่ผมเคยอ่านเมื่อตอนเฝ้ายายที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ก่อนวันผลัดใบ…

ดังที่เห็นว่าผมใช้ภาพใบไม้แห้ง หรือใบไม้ที่ร่วงหล่นมาเป็นภาพประกอบของบล็อก ซึ่งมันจะช่วยเป็นสัญลักษณ์ย้ำเตือนให้ผมคิดเสมอว่า ทุกอย่างก็ต้องมีวันดับ อย่างใบไม้ที่งอกขึ้นมาแก่และร่วงหล่นไปตามกาลเวลา เป็นเรื่องธรรมดาๆของโลกนี้ ซึ่งมันก็ทำให้ผมได้เข้าใจว่าตัวผมเองก็ไม่ต่างไปจากใบไม้เหมือนกัน นั่นคือมีเกิดและดับไป เมื่อถึงเวลาของมัน

ก่อนวันผลัดใบ

ก่อนวันผลัดใบ หนังสือแสดงเจตนาการจากไปในวาระสุดท้าย

หนังสือสอนใจในวาระสุดท้าย

ผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้ไปพร้อมๆ กับการเฝ้ายายที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ความหวังนั้น หวังเพียงแค่ว่ายายจะได้ไปสบาย ผมอ่านไปเรื่อยๆ แบบกระโดดๆ ไปมา หน้านั้นบ้างหน้านี้บ้าง ตามแต่จะเปิดมาหน้าไหน

ผมมีเวลามากพอที่จะได้อ่่านจนจับประเด็นได้ว่า ยังมีมนุษย์ในโลกอีกมากที่เตรียมตัวตายไว้แล้ว แน่นอนซึ่งก็ยังมีอีกมากมายที่ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะตายเลย ความตายนั้นเข้ามาได้ทุกเมื่อ ทุกเวลา มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่จากปัจจัยภายนอกก็อาจจะมาจากร่างกายเราก็เป็นได้ หนังสือเล่มนี้ได้บอกเกี่ยวกับสภาวะใกล้ตาย การเตรียมตัวตาย การรับมือกับความตายทั้งในทางโลกและทางธรรม ซึ่งเป็นหนังสือที่อ่านแล้วปลงได้ดีจริงๆ

ถือว่าเป็นบุญของผมที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ถ้ายายไม่ได้ป่วยนอนโรงพยาบาลหลายวันก็คงจะไม่มีโอกาสได้อ่านเป็นแน่ การจากไปบางครั้งก็คงไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป หากมองในทางธรรม ก็เป็นเ็พียงการหมุนวนไปเริ่มต้นใหม่เท่านั้น ดังนั้นผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกๆเวลาแม้กระทั่งการเีรียนรู้จากความตายของผู้อื่นนั้น ผมเชื่อว่าคงเป็นกุศลให้กับผู้จากไปไม่มากก็น้่อยอย่างแน่นอน