คำปลอบตนของคนดีที่ยังเบียดเบียน “ฉันกินเธอ เธอได้บุญ”

December 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,611 views 0

ฉันกินเธอ เธอได้บุญ

คำปลอบตนของคนดีที่ยังเบียดเบียน “ฉันกินเธอ เธอได้บุญ” เพราะเธอได้สละเนื้อให้ฉันไปสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม

มีความเห็นหนึ่งที่เป็นไปในแนวทางโลกสวย คือทุกอย่างล้วนสร้างมาเพื่อฉัน (all for one)ทุกคนจงทำเพื่อฉัน แล้วฉันจะทำดีเพื่อทุกคน ขอทุกคนจงรวมพลังมาที่ฉัน เสียสละเพื่อฉัน เพราะนั่นคือหน้าที่ของเธอ

ผมเคยรับรู้แนวคิดหนึ่ง มีความเห็นในแนวทางที่ว่า กินเนื้อเขา แล้วเขาจะได้ประโยชน์ เนื้อของเขาจะเลี้ยงชีวิตเรา ถ้าเราใช้ชีวิตไปทำดี แล้วเขาจะได้กุศล ซึ่งสรุปเป็นภาษาที่โลกเข้าใจได้ประมาณว่า “ฉันกินเธอ เธอได้บุญ

ความเห็นเหล่านี้เป็นเหมือนคำปลอบใจของคนที่พยายามจะเป็นคนดี โดยการสร้างชุดความคิดบวก เพื่อที่จะได้กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาโดยไม่ผิดบาป

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว….

1.การที่เราจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์นั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ กับการทำดีในชีวิตเลย แม้เราไม่กินเนื้อสัตว์เราก็ยังสามารถดำรงชีวิตไปสร้างคุณงามความดีได้อย่างปกติ

2.กรรมดีต้องสร้างด้วยตัวเอง ไม่ใช่กินเขาแล้วเขาจะได้ดีเพราะเรากิน แต่เขาจะดีเพราะเขาทำดีนั้นของเขาเอง สัตว์ก็เช่นกัน มันจะดีจะชั่วก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของมันเอง ไม่ใช่ว่าถูกฆ่าแล้วถูกแยกชิ้นส่วนเข้าปากลงท้องคนอื่นแล้วจะเกิดสิ่งดีขึ้น อันนี้มันผิดหลักของกรรมอย่างชัดเจน

3.สัตว์ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา เราคิดไปเองเท่านั้น มันก็เกิดมาตามธรรมชาติของมัน ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย

4.สัตว์เหล่านั้นไม่ได้ยินดีสละชีวิต มันถูกแย่งชิงอิสระ ถูกทำร้าย และถูกพรากชีวิตมา เนื้อสัตว์นั้นย่อมถือเป็นทรัพย์ที่ไม่บริสุทธิ์ เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มันถูกขโมยมา ดังนั้นเนื้อสัตว์นั้นจึงไม่ใช่สิ่งดี

5.การกินเนื้อสัตว์ในทุกวันนี้ ไม่ใช่การกินเพื่อดำรงชีวิตอีกต่อไป แต่เป็นการกินเพื่อสนองกาม ต้องการเสพมากๆ ต้องการเสพรูป รส กลิ่น สัมผัส เมนูใหม่ๆ อาหารรสเลิศ ฯลฯ ต้องการอวดว่าฉันได้กินเนื้อดี ราคาแพง ต้องการเสพสุขจากการมีเนื้อสัตว์ในชีวิต

6.จะเป็นอย่างไรหากมีคนแปลกหน้าบุกเข้ามาในบ้านคุณ จับคุณมัดไว้และขโมยของทุกอย่างออกไป รวมทั้งรื้อถอนบ้านออกไปด้วย ถึงแม้คุณจะมีคำถาม มีคำข้อร้องอ้อนวอน ก็ทำได้เพียงนั่งมองเขาพรากสิ่งที่รักไป สุดท้ายเหลือแต่คุณที่ถูกมัดนั่งอยู่บนพื้นดินโล่งๆ ที่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของคุณอีกต่อไป เขาเดินมากระซิบกับคุณเบาๆว่า ขอโทษทีนะมีลูกค้าต้องการ เพราะเขาจะได้เอาไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตเพื่อการทำดีของเขา… ว่าแต่คุณจะเลือกจองเวรใครระหว่างพนักงานที่มาขนของ กับคนที่ได้ของเหล่านั้นไปใช้

7.สัตว์ที่ถูกเลี้ยงดูมา มันมีความผูกพันกับเจ้าของบ้างไม่มากก็น้อย การที่เราจะพรากมันมาขายก็เหมือนกับพ่อแม่ที่อุ้มชูเลี้ยงดูเรามา พาเราไปเดินเล่น หาอาหารให้เรา แล้วอยู่มาวันหนึ่งพอเราโตขึ้น ก็ขายเราให้กับคนอื่นเพื่อที่เขาจะได้เอาอวัยวะของเราไปใส่ให้ลูกค้าได้นำไปใช้ดำเนินชีวิตต่อไป การเบียดเบียนเพื่อต่อชีวิตเช่นนี้มีความดีงามอย่างไร?

8.เราสามารถหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ได้ โดยที่สังคมยอมรับและเข้าใจ โดยมากจะยินดีด้วย มีส่วนน้อยที่ไม่เห็นดีด้วย เพราะการละเว้นเนื้อสัตว์เป็นความดีที่ชัดเจน คนติเตียนได้ยาก กระทั่งนักบวชก็มีกลุ่มที่ไม่ยินดีรับเนื้อสัตว์อยู่มากมายในประเทศไทย

9.ไม่มีบุญ(การชำระกิเลส) หรือกุศล(ความดีงาม) อะไรเกิดขึ้นมาจากการเบียดเบียน มีแต่การจองเวรจองกรรม ทำทุกข์ทับถมตนด้วยการเบียดเบียนสัตว์อื่น เป็นไปเพื่อความทุกข์ชั่วกาลนาน

10.บุญจะเกิดกับสัตว์นั้นก็ต่อเมื่อ สัตว์นั้นสละชีวิตของตนมอบให้ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ เป็นการสละชีวิตเป็นทานให้ผู้อื่น บุญได้เกิดตั้งแต่ตอนที่สละแล้ว ไม่ใช่เกิดเพราะคนได้กินเนื้อมัน ไม่ว่าเนื้อที่สละจะถูกกินหรือทิ้ง บุญก็สำเร็จผลไปแล้ว ส่วนถ้าคนเอาเนื้อที่สละมากินเรียกว่าได้อานิสงส์ คือได้กุศลได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น

11.พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับการทำบุญได้บาป เมื่อคนนั้นนำสัตว์ที่ถูกฆ่ามาถวายพระพุทธเจ้าและสาวกของท่าน คือไม่เกิดผลดีเลย มีแต่บาปและอกุศลเท่านั้นที่จะได้ไป (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ “ชีวกสูตร” ข้อ ๖๐ )

…เราไม่จำเป็นต้องสร้างความจำเป็นใดๆ ในการไปกินเนื้อสัตว์เลย ถึงเราจะคิดหาเหตุผลดีๆมากมายร้อยแปดเพื่อมาสร้างความดีความชอบที่จะได้กินเนื้อสัตว์ แต่ความชั่วก็คือความชั่ว ความดีก็คือความดี การเบียดเบียนผู้อื่นโดยไม่จำเป็นเพื่ออ้างว่าไปทำดี ไม่มีในพจนานุกรมของคนดีที่แท้จริง คนที่ขโมยเงินคนอื่นไปทำบุญทำทานเป็นคนดีหรือ? คนที่โกงเงินคนอื่นแล้วเอาไปบริจาคเป็นคนดีหรือ? นี่ขนาดยังไม่ถึงชีวิตยังชั่วชัดเจนขนาดนี้ แล้วการที่เรายังเสพสุขอยู่บนความตายของผู้อื่นสิ่งนั้นจะชั่วขนาดไหน

เหตุผลข้ออ้างต่างๆ ที่จะปลอบใจว่าฉันเป็นคนดี ฉันกินเนื้อสัตว์แล้วไปทำดี มันเป็นคนละเรื่องกันกับความจริง ส่วนที่ทำดีก็คือสิ่งดี แต่ส่วนที่ไม่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องทำเลย ศาสนาพุทธมีหลักโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักใหญ่ของผู้ศึกษาและปฏิบัติ คือให้หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส หมายถึงสิ่งชั่วที่ให้หยุดทำก่อนเลย อย่าเพิ่งเอาทำดีมาขึ้นก่อน เอาชั่วออกจากชีวิตก่อน แล้วค่อยทำดีก็ยังไม่สาย คนไม่ชั่วเลย นั้นดีกว่าคนดีที่ยังทำชั่วอยู่

หลวงปู่ชา สุภัทโท มีได้มีคำกล่าวไว้ว่า“การทำบุญ โจรมันก็ทำได้ มันเป็นปลายเหตุ การไม่กระทำบาป ทั้งหลายทั้งปวงนั้นนะ เป็นต้นเหตุ

ถ้าให้เลือกคบเพื่อนที่ไม่ทำชั่วเลยแม้น้อย แต่เขาก็ไม่ได้ทำดีอะไรชัดเจน กับคนดีที่พยายามเข้าวัดทำทาน ฟังธรรม ทำกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ยังไม่เลิกเบียดเบียน ยังดูถูกคนอื่น ยังนินทาคนอื่น ยังเอาเปรียบคนอื่น จะเลือกคบแบบไหน คนหนึ่งไม่ชั่วแต่ก็ไม่ทำดี แต่อีกคนหนึ่งทำดีไม่หยุดชั่ว อยากเจอคนแบบไหนในชีวิต ก็ทำตัวแบบนั้นนั่นแหละ

ผู้ปฏิบัติอย่างถูกตรงในหลักคำสอนของพุทธศาสนานั้นประเสริฐกว่าที่กล่าวมา เพราะนอกจากหยุดชั่วทั้งหลายแล้ว ยังทำดีไม่หยุดหย่อน ทั้งยังมีจิตใจผ่องใสจากกิเลสทั้งปวงอีกด้วย ไม่ใช่ว่าทำชั่วแล้วเอาดีมากลบทับ อันนั้นยังไม่เข้าท่า ยังเฉโกอยู่ ยังเป็นความเห็นผิดที่เอาแต่หาเรื่องดีๆมาปลอบตนว่าฉันเป็นคนดีอยู่นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

22.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

พระปลอม

December 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,280 views 0

สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งเรือง นักบวชนอกพุทธค่อยๆเสื่อมจากลาภสักการะ จึงปลอมเข้ามาบวชในพุทธศาสนาเพื่อแสวงหาลาภสักการะเหล่านั้น ซึ่งสุดท้ายก็โดนจับสึกไปในที่สุด

ในยุคนั้นยังดีที่ยังกำราบความชั่วไว้ได้ แต่ยุคนี้ดูเหมือนจะหนักหนา และยากต่อการกำจัดผู้ที่เข้ามาปลอมปนเพราะหวังจะได้ลาภสักการะเหล่านั้น

เป็นงานใหญ่ของผู้มีหน้าที่สานต่อศาสนาที่จะต้องชี้ผิดชี้ถูก แยกดีแยกชั่วให้ชัดเจน จำเป็นต้องเอาภาระทั้งนักบวชและผู้ครองเรือนผู้มีศรัทธาอันมั่นคงไม่หวั่นไหวในศาสนา

ญาณปัญญาหนึ่งของสาวกแท้ๆ ของพระพุทธเจ้าคือการเอาภาระของหมู่มิตรดีสหายดี จะไม่ปลีกตัว ขี้เกียจทำงาน ตัดขาดจากโลก เพื่อความสงบสุขของตนแต่ผู้เดียว

ความผิดเพี้ยนที่เห็นได้ง่ายที่สุดคือเรื่องของลาภสักการะ ผู้ใดบวชเข้ามาปลอมปนเพื่อลาภสักการะเหล่านั้น ผู้มีปัญญาย่อมเห็นได้ชัดเจน ไม่สงสัยว่าสิ่งใดจริง สิ่งใดปลอม

ส่วนความผิดเพี้ยนในทิฏฐิอื่นๆอีก ๖๒ ประการนั้นเป็นเรื่องยากที่ต้องใช้เวลา

ให้งดเนื้อสัตว์?

December 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,192 views 0

ผมไม่เคยบอกสักคำว่าทุกคนต้องงดเนื้อสัตว์ แค่นำเสนอข้อมูลไปแล้วให้ไปพิจารณาเอาเองว่าสมควรไหม? อย่างไร? แล้วก็เลือกกันเอาเอง

พิมพ์บทความเกี่ยวกับเรื่องลดเนื้อกินผักทีไร มีชาวยัดเยียดมาใส่ยศ “สาวกพระเทวทัต” กันทุกทีเลย ผมว่าพวกเขาน่าจะมีปัญหาในการจับใจความและการสรุปความนะ เป็นปัญหาใหญ่ในการสื่อสารเลย

มีบางคนบอกว่าผมพยายามให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์ …แต่ผมว่าไม่นะ แค่เผยแพร่ความรู้ไปเท่านั้นแหละ มีของดีเราก็แจกจ่ายกันไป ทำไมต้องโง่ไปหวังผลด้วยล่ะว่ามันจะเกิดดีหรือไม่ดี แค่ทำดีก็พอแล้ว

…ผมไม่เห็นรู้สึกเดือดร้อนเลย ถ้าจะใครกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์ ใครอยากกินก็กิน ไม่อยากก็ไม่ต้องกิน ทุกคนก็รับผิดชอบกรรมของตัวเองไป ทำไมต้องไปเดือดร้อนแทนคนอื่น??

ส่วนคนที่คิดจะมาศึกษาธรรมะ ผมจะบอกว่าถ้าแค่ฐานกินเนื้อสัตว์ ยังทำความเข้าใจไม่ได้ว่าเป็นโทษอย่างไร ไอ้ที่ยากกว่าเช่น กินจืด กินมื้อเดียว โสด ทำงานฟรี ฯลฯ นี่คุณจะไม่สามารถเข้าใจได้เลย

ธรรมะนี่ไม่ใช่เรื่องที่จะมาบังคับกันนะ แต่จะเป็นไปตามฐานของแต่ละคน คนที่ทำไม่ได้ก็ไม่ได้ ทำได้ก็ได้ คนที่เบื้องต้นยังไม่ได้ก็หัดขั้นต้นไปก่อน อย่าไปลัดเอาเบื้องปลาย มันไม่มีหรอก มันเฉโกเท่านั้นแหละ

สุดท้ายผมล่ะสงสารคนที่เห็นผิดจับใจ แค่เข้ามาข่มก็สร้างวิบากให้ตัวเองมากพอแล้ว ไม่ดูตาม้าตาเรือเลยว่าถิ่นนี้เขาคุยเรื่องอะไรกัน บางทีอัตตามันหนา พกความมั่นใจมาเต็มที่สุดท้ายได้กลับบ้านไปคือชั่วกับซวย…คุ้มไหมเนี่ย

………..

ลักษณะที่เจอส่วนใหญ่ คนจะเข้ามาพร้อมชุดความคิดที่สรุปมาแล้ว ว่าต้องเป็นอย่างนั้น ฉันเห็นอย่างนั้น ไม่ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกันหรอก แค่อยากจะมาสรุปว่าฉันเห็นของฉันแบบนี้ ของเธอผิดและของฉันถูก

บางทีเรื่องที่เอามากล่าวหาก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับบทความก็มี ไม่รู้ไปสุมไฟแค้นมาจากไหน ประเด็นมากมายปนกันมั่วไปหมด หลุดประเด็นหลักมาสร้างประเด็นใหม่ก็มีเหมือนกัน

ทำไมมันต้องเป็นอย่างที่เห็นแล้วเข้าใจด้วยล่ะ สิ่งที่เห็นและเข้าใจมันจะต้องถูกต้องเสมอไปเลยรื้อ~ บางทีก็มาเดาใจกันไปว่าฝืนทน กดข่ม อยากให้คนอื่นเลิกกินเนื้อสัตว์ ฯลฯ มันก็เดากันไปไกล รู้จักคบคุ้นเคยคุยกันรึเปล่าก็ไม่ใช่

จะมาตัดสินกันด้วยเวลาอันสั้นนี่มันไม่ได้หรอกน้า มันต้องดูกันไปนานๆ ศึกษากันไปนานๆ พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้เลยว่าเรื่องศีลเรื่องปัญญาจะต้องดูกันนานๆ ไม่ใช่กาลเพียงชั่วครู่ คนมีปัญญารู้ได้ คนไม่มีปัญญาต่อให้นานแค่ไหนก็รู้ไม่ได้ … นี่มันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้จริงๆละน้า

แต่นักรบ anti มังฯ เขาก็บุกโจมตีชาวมังฯ ไปเรื่อยๆนั่นแหละ ก็ไม่มีอะไรหรอก แค่ไปดีขวางหูขวางตา เขาก็เล่นเอาแล้ว ถ้าไม่ดีจริงเขาก็เล่นเราอีก แหม่ คนเราจะมาจับผิดอะไรคนอื่นกันนักกันหนา เรื่องตัวเองไม่ค้นหา ผิดชาวบ้านนี่ล่ะจับกันจังเลย

………..

หลังจากที่พิจารณาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรม ผมก็ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ และเป็นคำตอบที่แลกมาด้วยการเปื้อนซะเยอะเลย

การที่มีคนเข้ามาเห็นต่างนั้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอันนี้รู้กันอยู่แล้ว แต่มันเกิดจากสาเหตุกิเลสหยุมหยิมประการใดนั้นเป็นสิ่งที่ผมอยากรู้มาก เลยพยายามหาคำตอบอยู่พักใหญ่

ก็ได้ข้อสรุปเป็นว่าเขาก็มาเสพให้สมใจนั่นแหละ อันนี้ภาพกว้างๆ คงไม่ขยายไว้ในที่นี้ คือมาเสพการได้แสดงออก การได้พูด ได้ข่ม ได้แสดงตัวตน ฯลฯ ซึ่งผมเคยคิดว่ามุมนี้เป็นมุมติดดีน่าจะพอแก้ไขกันได้ แต่จริงๆไม่ใช่เลยนะ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง หมายถึงถ้ามาแนวเพ่งโทษเมื่อไหร่ก็นั่นแหละคนพาล ซึ่งนี่มันเลวร้ายกว่าสภาพของการติดดีอีกนะ เพราะมันคือติดชั่ว อันนี้ที่ผมประเมินผิดไป

แล้วทีนี้มงคล 38 ข้อแรกท่านให้ห่างไกลคนพาล คือต้องห่างทั้งกาย วาจา ใจ เลย คืออย่าไปสาละวนอยู่กับคนพาล มันจะเปื้อน มันจะเละ และแก้ไขอะไรไม่ได้หรอก

สรุปว่าถ้ามาแนวๆเพ่งโทษ นี่ก็ให้ปล่อยไปเลย ไม่ต้องข้องแวะ ถือเป็นมงคลในชีวิตครับ (ภาษาฝรั่งว่า don’t feed trolls )

พอรู้แล้วเลยมาแบ่งปันประสบการณ์ให้ร่วมเรียนรู้กันครับ

แค่รู้ตัว ไม่พอ

December 22, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,685 views 0

แค่รู้ตัว ไม่พอ

แค่รู้ตัว ไม่พอ

การที่เราจะดับทุกข์ที่กำเริบขึ้นมานั้น การกำหนดรู้อาการที่เกิดขึ้น สร้างความรู้ตัวใดๆก็ตาม อาจจะสามารถกำราบทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นให้สงบลงได้ แต่หากจะหวังให้การกระทำเหล่านั้นเป็นการดับทุกข์โดยสิ้นเชิง แค่รู้ตัวนั้น…ยังไม่พอ

เราสามารถฝึกสมถะใช้กำลังของจิตสะกดความคิดฟุ้งซ่านได้ ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุขก็กดข่มให้ดับลงไปได้ หรือตามดู ตามรู้จนมันดับลงไปได้ แต่ความดับเหล่านั้นไม่ใช่ลักษณะของการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ ๔ ของพุทธ เป็นเพียงการดับจากสภาพเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปเป็นธรรมดาของจิต ซึ่งคนที่เขาไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมหรือกระทั่งคนไม่มีศาสนาก็สามารถทำได้

การรู้ตัวว่าจมไปกับจิตฟุ้งซ่านด้วยกิเลสแล้วสามารถละวางได้นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่กระนั้นก็ยังเรียกว่าไม่ถึงที่สุดของการปฏิบัติ ยังเป็นเพียงแค่ขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น ยังมีกระบวนการอีกมากที่จะพัฒนาจิตต่อไปจนถึงขั้นไม่จำเป็นต้องไปกำหนดรู้ใดๆอีก เพราะไม่มีกิเลสเกิดให้ต้องไปรู้แล้วละ คือมันไม่เกิดก็เลยไม่ต้องไปดับ นี่คือสภาพผลของการปฏิบัติในท้ายที่สุด

แค่รู้ตัวนั้น ยังไม่เรียกว่าเพียงพอในการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เพราะถ้าจะรู้ให้จริงต้องรู้ไปถึงเหตุแห่งทุกข์ว่าทำไมทุกข์นั้นจึงเกิดมา ทำไมเราจึงสร้างความคิดเช่นนั้น ทำไมร่างกายจึงมีอาการสั่น หายใจติดขัด ทำไมจิตจึงหมองมัว

การดับทุกข์ของพุทธนั้นดับสังขารไปโดยลำดับ ตั้งแต่วจีสังขาร กายสังขาร จนถึงดับจิตสังขาร ในที่นี้ไม่ใช่การตาย แต่เป็นการดับกิเลส คือในท้ายที่สุดจะไม่มีกิเลสในจิตเลย ซึ่งการกำหนดรู้ การดับความคิด การควบคุมความคิดนั้นเป็นเพียงแค่การพยายามจัดการกับวจีสังขาร คือไม่ให้ปรุงแต่งความคิดใดๆ (วจีสังขาร ไม่ใช่วจีกรรม)

เพราะถ้าเอาแต่รู้ตัว ดับความคิด แม้จะควบคุมความคิดได้ แต่กายสังขารยังไม่ดับ ร่างกายก็จะออกอาการประหลาดๆ เหงื่อไหล หายใจขัด หมดแรง ฯลฯ ตามแต่จะสังเคราะห์ได้ เพราะมีใจเป็นประธาน คือจิตยังสังเคราะห์กับกิเลสนั้นๆ อยู่เกิดสภาพจิตที่เป็นลักษณะของนิวรณ์ ๕ คือกามฉันทะ(พอใจในกาม) พยาบาท(ไม่พอใจ) ถีนมิธทะ(ซึม จม หดหู่) อุทธัจจะกุกกุจจะ(ฟุ้งซ่าน ลอย ไม่สงบ) วิจิกิจฉา(สงสัย ไม่ชัดเจน ไม่แจ่มแจ้ง) นั่นเอง

ซึ่งสภาพเหล่านี้ไม่ใช่ความคิดเลย แม้จะดับความคิด กดข่มความคิด รู้ตัวว่าคิด กำหนดรู้ว่าคิด ก็จะสลัดทุกข์ออกไปได้บางส่วน แต่จะไม่หมด เพราะเหตุแห่งทุกข์ยังอยู่ แม้มันจะหายและดับไปเองตามธรรมชาติ แต่มันก็ยังอยู่ ยังรอเวลาที่จะแสดงตัวอยู่เสมอเมื่อเกิดผัสสะ

ดังนั้นเมื่อกำหนดรู้ตัวได้แล้วว่าหลงไปกับกิเลส ก็ควรจะพิจารณาให้รู้ไปถึงรากเหง้าของกิเลส เหตุแห่งทุกข์นั้นๆด้วยว่า มันไปชอบไปชังในอะไร มันไปหลงเสพหลงสุขในอะไร มันไปยึดมั่นถือมั่นในอะไรจึงได้เกิดอาการซัดส่ายของจิตขึ้น เมื่อรู้กิเลสแล้วก็ใช่ว่าทุกอย่างจะจบหรือดับไป แค่จับตัวกิเลส หาเหตุแห่งทุกข์ได้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่ยังต้องทำสงครามกับกิเลสอีกหลายครั้งหลายคราจนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง

– – – – – – – – – – – – – – –

22.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)