Tag: อัตตา

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

October 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 24,347 views 1

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

เหตุแห่งทุกข์ ยากแท้หยั่งถึงเพียรพิจารณาให้ลึกซึ้งจึงจะเข้าใจ

คำว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักกันอยู่แล้ว ไม่มีใครเกิดมาไม่พบกับทุกข์ ทุกคนที่อยู่บนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องพบกับทุกข์ เป็นสัจจะ เป็นความจริงแท้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทุกข์นั้นมีอยู่สองส่วน หนึ่งทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ และสองคือทุกข์ที่เลี่ยงได้นั่นก็คือทุกข์จากกิเลสนั่นเอง เราจะมากล่าวถึงทุกข์จากกิเลสกัน

ทุกข์นั้นจะเกิดได้ก็เพราะมีเหตุ เหตุแห่งทุกข์ นั้นพระพุทธเจ้าเรียกว่า “สมุทัย” และเหตุแห่งทุกข์นั้นแท้จริงแล้วอยู่ข้างในตัวเรา

(1). ด่านแรก ทุกข์อยู่ข้างใน…

ด่านแรกของการเห็นเหตุแห่งทุกข์เลยก็คือมันอยู่ที่ตัวเรา ใครที่พบเจอกับความทุกข์แล้วมัวแต่มองหาคนผิด มองหาผู้ที่ทำให้ตนทุกข์ มองหาคนรับผิดชอบในทุกข์นั้น เป็นคนที่มองไม่เห็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะทุกข์นั้นเกิดจากใจของตัวเอง เกิดจากกิเลสของตน เกิดจากกรรมของตน การจะรู้เหตุแห่งทุกข์ได้จึงต้องยอมรับว่าทุกข์นั้นเกิดจากตนเองก่อนเป็นอันดับแรก

(2). ด่านที่สอง ทุกข์ที่เห็นอาจจะไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์

ทุกข์ที่เห็นนั้น มักจะเป็นผลสุดท้ายของการไม่ได้เสพสมใจ แต่หลายคนไปเข้าใจผิดว่าความทุกข์นั้นคือเหตุแห่งทุกข์ เช่นเราถูกเพื่อนสนิทนินทา เราโกรธเพื่อน แล้วเรารู้สึกว่าโกรธเป็นทุกข์ เราจึงเห็นว่าความโกรธคือเหตุแห่งความทุกข์ ซึ่งจริงๆแล้วความโกรธนั้นเป็นผลที่ปลายเหตุแล้ว จะไปดับความโกรธนั้นก็ได้ก็เรียกว่าดี แต่ก็ถือว่าไม่ได้ดับเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

มีหลายลัทธิพยายามที่จะดับความคิด ดับเวทนา ดับความสุข ทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการได้กระทบสิ่งต่างๆที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน โดยพยายามทำการดับสิ่งที่เกิดขึ้น ดับจิตที่เป็นทุกข์ ซึ่งก็เป็นการดับปลายเหตุที่ดีวิธีหนึ่ง แต่ก็เหมือนมองเหตุที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียวไม่ได้เข้าไปค้นที่ต้นเหตุ มองเพียงว่าจิตใจที่สั่นไหวนั้นคือเหตุเท่านั้น เหมือนกับเกิดแผ่นดินไหว เขาเหล่านั้นมักมองปัญหาคือแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายคือปัญหา เขาต้องหยุดการพังทลายหรือพยายามสร้างบ้านที่ป้องกันแผ่นดินไหวได้ แต่ผู้ที่ค้นหาเหตุจริงๆ คือเข้าไปค้นหาว่าแผ่นดินไหวจากสาเหตุใด แผ่นดินเคลื่อนเพราะอะไร อากาศร้อนเย็นมีผลหรือไม่ ค้นหาไปถึงนามที่ทำให้เกิดรูปคือแผ่นดินนั้นเคลื่อนไหวได้ และดับเหตุนั้นจึงจะเป็นการดับทุกข์ที่เหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

มีหลายลัทธิที่มองว่าทุกข์นั้น เป็นเพียงสิ่งที่ผ่านมาผ่านไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง จริงอยู่ว่าทุกข์ที่เกิดนั้น มันเกิดขึ้นมา มันตั้งอยู่ และมันก็ดับไป เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผู้ที่เข้าใจเช่นนี้จะสามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในทุกข์ที่เกิดได้ดีระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถดับเหตุแห่งทุกข์ได้ เสมือนกับผู้ที่มองแผ่นดินไหว บ้านเรือนพังทลายด้วยจิตใจว่างๆ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ แล้วก็สร้างใหม่ แล้วก็พังใหม่ เกิดดับ เกิดดับเช่นนี้ตลอดไป ด้วยพวกเขาเหล่านั้นไม่รู้วิธีดับทุกข์ที่เหตุ เมื่อไม่ได้เข้าไปดับเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสก็ต้องเกิดขึ้นอยู่เรื่อยไป แม้จะดับไปตามกฎ แต่ก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

(3). ด่านที่สาม ขุดค้นเหตุแห่งทุกข์

เมื่อเราเห็นได้ว่า การค้นหาเหตุแห่งทุกข์โดยการดูแค่ผิวเผินนั้นไม่สามารถทำลายเหตุแห่งทุกข์ได้อย่างแท้จริง เราจึงต้องมาค้นหาว่าเหตุแห่งทุกข์นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่

ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนนินทาเรา เราก็โกรธเพื่อน ความเข้าใจทั่วไปจะดับความโกรธที่เกิดตรงนี้ แต่ในความจริงแล้ว ความโกรธ (โกธะ)คือกิเลสปลายทาง เป็นสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้ครอบครองสมใจ ไม่ได้มาอย่างใจหมาย เราจึงแสดงอาการโกรธเหล่านั้นออกไป อันเกิดจากความโลภ ความอยากได้ อยากครอบครองเกินความจำเป็นจริง เกินจากความจริง(โลภะ) คือเราอยากให้เพื่อนทุกคนพูดดีกับเรา การที่เราอยากให้ทุกคนพูดดีกับเรานั้นเพราะเราเสพติดคำพูดดีๆอยากฟังสิ่งดีๆ (ราคะ) ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความหลง(โมหะ) หลงไปว่าการได้เสพคำพูดดีๆ จะนำมาซึ่งความสุขให้ตน เป็นต้น

ลำดับของกิเลสที่จะเห็นได้จากละเอียดไปหยาบคือ…

โมหะ เพราะเราหลงติดหลงยึดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราจะอยากเสพสิ่งนั้น เป็นรากที่ละเอียดที่สุด แก้ยากที่สุด

ราคะ เราอยากเสพสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เกิดจากเราหลงชอบหลงยึดสิ่งนั้น พอเสพก็ติด ยิ่งเสพก็ยิ่งจะอยากเสพเพิ่มอีก

โลภะ เมื่อเราชอบสิ่งนั้นอยากเสพสิ่งนั้น ก็จะพยายามหามาปรนเปรอกิเลสตัวเอง จนเกิดการสะสม หามามากเกินความจำเป็น หวง ไม่ยอมให้ใครเพราะกลัวตัวเองจะไม่ได้เสพ

โกธะ เป็นกิเลสปลายเหตุ เกิดขึ้นเมื่อไม่ได้เสพสมใจอยาก เมื่อมีคนพรากสิ่งที่อยากเสพไปรุนแรง เป็นไฟที่ทำลายได้ทุกอย่าง

การวิเคราะห์พิจารณาหาเหตุแห่งทุกข์นี้ ต้องใช้กระบวนการของสติปัฏฐาน๔ คือกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เข้ามาวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้ ซึ่งสติปัฏฐาน๔ นี้ต้องปฏิบัติทุกองค์ประกอบไปพร้อมกัน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นก้อนเดียวกัน เป็นกระบวนการเดียวกัน ไม่สามารถแยกออกมาใช้เป็นตัวๆอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจได้

เมื่อปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน๔ อย่างถูกต้องจึงจะมีสิทธิ์ได้เห็นไปถึงเหตุแห่งทุกข์อันคือความหลงติดหลงยึดในกิเลสใดๆได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะพิจารณาครั้งเดียวก็เห็นได้ทุกอย่าง เพราะกิเลสนั้นลึกลับซับซ้อน จนบางครั้งเราอาจจะต้องให้เหตุการณ์นั้นๆเกิดขึ้นหลายที หรือพิจารณาซ้ำๆในจิตใจอย่างหนักเพื่อที่จะทำให้เห็นเข้าไปถึงเหตุแห่งทุกข์นั้น

การวิเคราะห์กิเลสเหล่านี้บางครั้งสติปัญญาที่เรามีอาจจะไม่สามารถทำเหตุแห่งทุกข์ให้กระจ่างได้ การมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี คือมีครูบาอาจารย์ที่คอยชี้แนะ มีเพื่อนกัลยาณมิตรที่คอยแนะนำ ก็จะช่วยให้สติ ช่วยให้เกิดปัญญาที่มากขึ้นกว่าขอบเขตที่เราเคยมีได้

(4). ด่านที่สี่ เหตุแห่งทุกข์เกิดจากการหลงในกิเลส

ความหลงในกิเลสนั้นมีมิติที่หลากหลาย หากเราเข้าใจเพียงแค่ว่าหลง แต่ไม่รู้ว่าหลงในอะไร ก็ยากที่จะแก้ไปถึงเหตุได้ เพราะถ้าไม่รู้สาเหตุว่าหลงในอะไร ก็คงจะไม่สามารถดับทุกข์ได้ เพราะการดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ เมื่อดับไม่ถูกเหตุ ทุกข์ก็ไม่ดับ เราจะมาลองดูเหตุแห่งทุกข์ อันคือความหลงยึดในกิเลสสี่ตัวนี้กัน

(4.1). อบายมุข

คือกิเลสขั้นหยาบที่พาให้คนหลงไป สามารถหลงจนไปนรก ไปเดรัจฉานได้เลย คือความหลงในอบายมุขต่างๆ เช่นเที่ยวเล่น เที่ยวกลางคืน เล่นพนัน หวย หุ้น เสพสิ่งมึนเมาทั้งหลายไม่ว่าจะสุรา บ้าดารา กิจกรรมหรือสิ่งต่างๆที่ทำให้จิตใจมัวเมา เที่ยวดูการละเล่น ดูละคร ดูหนัง ดูทีวี เพื่อความบันเทิงใจ คบคนชั่ว พาไปทางเสื่อม พาให้เล่นพนัน พาให้มัวเมา พาให้เป็นนักเลง พาให้หลอกลวงผู้อื่น พาให้คดโกง และความเกียจคร้านการงาน

คนส่วนมากมักจะติดในอบายมุขจนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่พยายามทำตัวกลืนไปกับสังคมโดยใช้ค่ามาตรฐานของสังคมเป็นตัววัดความดี จะถูกกิเลสมวลรวมของคนส่วนใหญ่ลากไปลงนรก หรือที่เรียกว่าอุปาทานหมู่ คือสังคมคิดไปเองว่ากิเลสเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา เรื่องที่ใครๆก็เสพกัน ทั้งๆที่เป็นอบายมุข เป็นกิเลสหยาบที่พาให้ชีวิตเดือดร้อน เมื่อเสพอบายมุขก็จะยิ่งนำพากิเลสตัวอื่นที่หยาบเข้ามา เสพมากๆก็ติด พอไม่เสพก็โกรธไม่พอใจ เป็นทุกข์

(4.2). กามคุณ

คือความหลงในกิเลสที่พาให้อยากเสพใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เช่นชอบแต่งตัวสวย ชอบคนหน้าตาดี อาหารอร่อย กลิ่นที่หอม เสียงไพเราะ เตียงที่อ่อนนุ่ม หรือกระทั่งเรื่องการเสพเมถุน ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของการหลงในกาม เมื่อเราหลงติดในกามเหล่านี้ ก็จะพาให้เราอยากเสพกามตามที่เราติด พอเสพมากๆก็พาสะสม พอไม่ได้เสพสมใจก็โกรธเป็นทุกข์

(4.3). โลกธรรม

โลกธรรมคือกิเลสที่ละเอียดที่ฝังอยู่ในคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะสุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็เป็นสภาพของโลกธรรม เมื่อคนหลงในลาภก็จะสะสมมาก หลงในยศก็จะไต่เต้าเพื่อหายศหาตำแหน่ง หลงในสรรเสริญก็จะพยายามทำตัวให้เป็นที่น่าสนใจ อยากให้คนยอมรับ เชิดชูบูชา หลงในโลกียะสุขก็จะแสวงหาสุขในทางโลก สุขที่วนอยู่ในโลก เมื่อเสพสิ่งเหล่านี้มากเข้า ก็จะเริ่มสะสม เริ่มหวงลาภ ยศ สรรเสริญ สุข พอไม่ได้หรือเกิดสภาพของความเสื่อมทั้งหลายก็จะโกรธ เป็นทุกข์ เสียใจ

(4.4). อัตตา

อัตตาคือกิเลสที่ละเอียดที่สุดที่คนหลงยึดไว้ ไม่ว่าจะอบายมุข กามคุณ โลกธรรม สุดท้ายก็ต้องมาจบที่อัตตา เป็นเสมือนรากของกิเลส ส่วนที่เหลือนั้นเหมือนกิ่งก้านใบของกิเลสเท่านั้น ผู้ที่ดับอัตตาได้ก็จะเข้าสู่อนัตตา เป็นภาษาที่พูดกันได้ง่ายแต่ทำได้ยากยิ่ง

อัตตานั้นคือความยึดมั่นถือมั่น เรายึดมั่นถือมั่นตั้งแต่คน สัตว์ วัตถุสิ่งของ หรือสิ่งที่เป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้ เรายึดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของเรา เราอยากครอบครอง วัตถุ คน สัตว์ สิ่งของเหล่านี้มาเป็นตัวตนของเราซึ่งจะสะท้อนออกไปอีกทีในรูปของ อบายมุข กาม โลกธรรม เช่นเราอยากคบหาคนผู้นั้นไว้เพราะเขารวย เพราะเขามีชื่อเสียง เพราะเขามีอำนาจ หรือเรายึดว่าคนต้องกินเนื้อสัตว์ คนเป็นสัตว์กินเนื้อเพราะเราหลงในกาม หลงติดในรสชาติรสสัมผัส เมื่อเราจะกำจัดกามเหล่านั้นแล้วก็ต้องมากำจัดอัตตาไปพร้อมๆกันด้วย

เรายังสามารถที่จะติดรูปที่สำเร็จด้วยจิตของตัวเองได้อีก เช่นการคิดฝัน ปั้นจินตนาการไปเองว่าคนนั้นพูดแบบนั้นคนนั้นพูดแบบนี้ คนนั้นเขาคิดกับเราแบบนั้น เขาจะทำกับเราแบบนี้ หลงไปว่าการเสพอบายมุขนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพกามนั้นเป็นสุข หลงไปว่าการเสพโลกธรรมนั้นเป็นสุข เป็นสภาพที่จิตสร้างความสุขหลอกๆขึ้นมาหลอกตัวเอง หรือถ้าหนักๆก็จะเป็นพวกเห็นผี เข้าทรงกันไปเลย ทั้งหมดนั้นเป็นสภาพที่จิตนั้นปั้นขึ้นมาเป็นรูปให้เราได้เห็น จึงเรียกว่ารูปที่สำเร็จด้วยจิตเป็นกิเลสของเราเองที่สร้างความรู้สึกสุข ชอบใจ พอใจ สร้างเป็นภาพ เป็นเสียงขึ้นมาให้เราได้ยิน ทั้งๆที่จริงแล้วมันไม่มี แต่เราไปยึดไว้และหลงเสพสิ่งที่ไม่มีเหล่านั้น ในเมื่อสิ่งนั้นไม่มีจริง ไม่ใช่ของจริง ไม่เที่ยง สุดท้ายเมื่อไม่ได้เสพสมใจก็จะเป็นทุกข์

อัตตายังอยู่ในสภาพไร้รูป หรือที่เรียกว่า อรูปอัตตา เช่น ความเห็น ความเข้าใจ ศักดิ์ศรี ความรู้ ฯลฯ เราก็ไปหลงยึดสิ่งเหล่านี้ไว้ เช่น เราเข้าใจธรรมแบบนี้ เราก็ยึดสิ่งนี้เป็นตัวตนของเรา พอใครมาพูดไม่เหมือนที่เราคิด ไม่เหมือนที่เราเข้าใจ เราก็จะมีอาการขัดข้องใจ ไม่พอใจ โกรธ เพราะเราไม่ได้เสพสมอัตตา คือต้องการให้คนอื่นมาทำให้ได้ดังใจเราหมาย หรือทำตามอัตตาเรานั่นเอง

….เมื่อได้รู้กิเลสทั้งหมดนี้แล้ว เราจึงควรใช้เวลาพิจารณากิเลสในตัวเองอย่างแยบคาย ทำให้เห็น ทำให้ชัดเจนว่าเราติดในกิเลสตัวไหน ปนกับตัวไหน มีรากมาจากตัวไหน การค้นหารากของกิเลสไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย กิเลสบางตัวอาจจะใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือทั้งชีวิตอาจจะไม่สามารถเห็นเลยก็ได้ถ้าไม่พากเพียร และไม่คบมิตรที่ดี

(5). ด่านที่ห้า ดับเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย

เมื่อเห็นเหตุแห่งทุกข์แน่ชัดแล้ว เห็นตัวการของกิเลสแน่ชัดแล้ว ก็ให้เพียรพยายามทำให้ถึงความดับ โดยใช้มรรควิธี ก็คือการปฏิบัติมรรคทั้ง ๘ นั่นแหละ จะใช้สมถะ วิปัสสนาก็ได้ จะใช้สัมมัปปธาน ๔ ก็ได้ จะใช้โพชฌงค์๗ ก็ได้ จะใช้จรณะ๑๕ ก็ได้ จะใช้ทั้งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ก็ได้ หรือจะใช้ธรรมใดตามที่ถนัดก็ได้ เพราะธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่อการละกิเลส เพื่อการล้างกิเลส เพื่อการดับกิเลสอยู่แล้ว

การจะค้นเจอเหตุแห่งทุกข์นั้นว่ายากแล้ว การดับทุกข์ที่เหตุนั้นยากยิ่งกว่า เพราะต้องใช้ความเพียรพยายาม ใช้อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำที่สุดแห่งทุกข์ คือการดับทุกข์นั้นอย่างสิ้นเกลี้ยงโดยการดับกิเลสนั้นนั่นเอง

สรุป

การที่เราต้องมาหาเหตุแห่งทุกข์อย่างยากลำบากนี้ เพราะพระพุทธเจ้าได้ชี้ขุมทรัพย์ไว้ว่า ดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ แต่บางครั้งเรามักจะมองเหตุแห่งทุกข์นั้นตื้นเกินไป เหมือนกับเราที่เราอยากกำจัดหญ้า แต่ก็ทำแค่เพียงตัดหญ้าที่มันยาวพ้นดินออกมา บ้างเก่งกว่าก็ว่าขุดรากถอนโคนหญ้านั้นไปเลย แต่สุดท้ายหญ้าก็จะขึ้นมาใหม่ เหมือนกับกิเลสนั้นกลับมาโตใหม่อีกครั้ง

ผู้มีปัญญาย่อมขุดรากถอนโคนกิเลสทั้งหมด ทั้งตัดหญ้า ขุดรากถอนโคน และนำดินมาเผา ทำลายเมล็ดหญ้าที่ยังหลงเหลืออยู่ในฝืนดินซึ่งเป็นเมล็ดนี้เองเป็นแหล่งเกิดของหญ้า เหมือนกับตัณหา ถ้าเรายังดับตัณหาคือความอยากไม่ได้ ความอยากเหล่านั้นก็จะค่อยๆเติบโต เหมือนกับผืนดินที่เต็มไปด้วยเมล็ดหญ้า หากไม่กำจัดเมล็ดออก ก็มีแต่จะต้องมาคอยตัดหญ้า ขุดรากถอนโคนหญ้ากันทุกชาติไป

ดังนั้นผู้มีปัญญาพึงกำจัดทุกข์จากเหตุแห่งทุกข์ เผากิเลสเหล่านั้นด้วยไฟแห่งฌาน ให้ทุกข์ที่เกิดจากกิเลสนั้นสลายไป ทำลายกามภพ ทำลายรูปภพ ทำลายอรูปภพของกิเลสนั้น ไม่ให้มีแม้เสี้ยวอารมณ์ความอยากที่เกิดภายในจิต แม้จะตรวจด้วยอรูปฌานสักกี่ครั้งก็ไม่พบความอยากในจิตอีก เมื่อนั้นแหละที่เขาเหล่านั้นจะได้พบกับสภาวะที่เรียกว่า “สัญญาเวทยิตนิโรธ” คือการดับกิเลสที่อยู่ในสัญญาอย่างสิ้นเกลี้ยง ถือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้กับกิเลสนั้น ได้รับชัยชนะที่ทำได้ยาก เป็นสิ่งที่บัณฑิตต่างสรรเสริญ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เพ่งโทษฟังธรรม

October 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,083 views 0

เพ่งโทษฟังธรรม

เพ่งโทษฟังธรรม

การที่คนเราจะสามารถเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นั้นจำเป็นต้องมีการเปิดใจรับฟัง มีการนำมาพิจารณาถึงเนื้อหานั้นๆ ไม่ว่าสิ่งที่ได้ฟัง ได้เรียนรู้มานั้นจะเป็นความรู้ทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม

เมื่อคนเรานั้นได้เรียนรู้โลกจนได้ความรู้มาหนึ่งชุด ก็มักจะยึดมั่นถือมั่นความรู้ชุดนั้นเป็นอัตตา เช่นไปศึกษากับครูบาอาจารย์ท่านใดก็จะยึดคำสอนนั้นเป็นหลักยึดทันที เมื่อได้ฟังธรรมใหม่ๆก็จะนำมาตรวจเทียบกับความรู้เดิมของตน เมื่อสิ่งใดไม่เหมือนสิ่งที่ตนเคยเรียนรู้มาก็มักจะมองว่าสิ่งนั้น “ผิด” โดยที่ตนเองก็ไม่ได้ปฏิบัติจนเข้าใจในคำสอนนั้น สักแต่ว่าฟังมาแล้วเอามายึด เอามาถือ เอามาพูดต่อ เอามาประดับเป็นยศของตัวเองว่าเป็นผู้รู้ธรรมมาก ใช้ความรู้ที่ฟังมาคอยเพ่งโทษเอาผิดผู้อื่น โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้มีการปฏิบัติหรือเข้าใจธรรมใดๆด้วยตนเองเลย

ทำให้คนที่ติดยึดเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง แม้จะนั่งฟังอยู่แต่ก็เพ่งโทษฟังธรรม แล้วก็จะไม่เข้าใจสาระแท้ในสิ่งที่ผู้พูดได้สื่อสาร พอไม่ฟังก็ไม่สามารถบรรเทาความสงสัยได้กลายเป็นยิ่งฟังก็ยิ่งสงสัย เพราะไม่ได้ตั้งใจฟัง เมื่อเป็นดังนั้นจึงไม่มีโอกาสทำความเห็นให้ถูกต้องตามที่ความจำเป็น เช่นเขาพูดอีกอย่าง เราฟังเป็นอีกอย่างกลายเป็นคนจับประเด็นไม่เป็น สุดท้ายจิตของผู้เพ่งโทษฟังธรรมนั้นก็จะขุ่นมัว ไม่เลื่อมใส ไม่ศรัทธา มีจิตคอยคิดเพ่งโทษ และไปปรามาสในธรรมได้ในที่สุด ถ้าธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แท้ เป็นธรรมที่ปนเปื้อนด้วยกิเลสก็ยังพอจะเรียกว่าเสมอตัวได้บ้าง แต่หากธรรมนั้นเป็นธรรมแท้ เป็นธรรมที่พาลดกิเลส ธรรมลดความยึดมั่นถือมั่น การเพ่งโทษฟังธรรมครั้งนี้จะกลายเป็นผลเสียอย่างมากต่อความสุขความเจริญเลยทีเดียว

ในบทของกำลัง๘ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลังและคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง” จึงจะเห็นได้ว่าผู้ที่จะก้าวเป็นบัณฑิตจึงไม่เพ่งโทษใครๆเลย แม้ว่าจะได้ยินธรรมที่แสดงอยู่นั้นไม่ตรงตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ก็จะไม่ไปเพ่งโทษใดๆทั้งยังมีจิตมีเมตตา หากบอกสิ่งที่ถูกได้ก็บอก ถ้าบอกไม่ได้ก็ปล่อยวางได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะบอกสิ่งที่ถูกจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกจริง หากผู้ใดหลงตนว่าเป็นบัณฑิตหยิบเอาธรรมที่ได้ยินได้ฟังมากล่าวอ้างโดยไม่มีความรู้ในตนเอง ก็อาจจะกลายเป็นภัยต่อตัวเองได้เช่นกัน

ส่วนคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง กำลังนี้เองที่จะพาให้คนพาลคอยจ้องจับผิดผู้อื่น แม้ว่าจะอยู่ในคราบของนักบวช นักบุญ ผู้ถือศีล บุคคลที่มีชื่อเสียงน่าเคารพนับถือ แต่หากยังมีการเพ่งโทษผู้อื่นอยู่เสมอก็เรียกได้ว่าเป็นคนพาล พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมงคล ๓๘ เป็นข้อแรกว่าให้ห่างไกลคนพาลนี้เสีย เพราะคนพาลนั้นมักจะมีการเพ่งโทษว่าร้ายผู้อื่น นำพาไปสู่เรื่องเสื่อมทรามอยู่เสมอ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็มักจะคอยชี้นำให้คนอื่นเพ่งโทษคนที่คิดเห็นไม่ตรงกับที่ตนเข้าใจ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มักจะทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน ซึ่งเป็นกรรมหนัก คนที่เชื่อในคนพาลก็จะพากันลงนรกด้วยกันกับคนพาล ดังนั้นท่านจึงว่าให้ห่างไกลคนพาลเข้าไว้

ผู้ที่คอยเพ่งโทษเวลาฟังผู้อื่น ก็จะฟังผู้อื่นไม่เข้าใจ ฟังเด็กพูดก็ไม่เข้าใจเด็ก ฟังผู้ใหญ่พูดก็ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ ฟังคนแก่พูดก็ไม่เข้าใจคนแก่ ฟังพระพูดก็ไม่เข้าใจพระ ถึงแม้จะดูเหมือนเข้าใจ แต่ก็จะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่งได้

สัมมาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับปัจจัยแห่งการเกิดสัมมาทิฏฐิไว้สองประการ สัมมาทิฏฐินั้นคือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วสิ่งใดคือสัมมาทิฏฐิ เชื่ออย่างใดจึงจะเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง เราเพียงแค่รู้จักกับคำนี้เพียงแค่ว่า “ความเห็นชอบ” แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าเห็นชอบในอะไร ได้แต่เดาไปเอง เข้าใจไปเองตามปัญญาที่มี โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ค้นหาความจริงเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิ

ความเห็นที่ถูกต้องนั้นต้องพาให้ลดกิเลส พาให้ไม่สะสม รู้ว่าการลดกิเลสมีผลเจริญ เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เชื่อว่ากรรมยุติธรรมเสมอ รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง และรู้ว่าอริยสาวกนั้นก็มีอยู่จริง รู้ว่าโลกียะมีและโลกุตระก็มี คือรู้ว่าเรายังมีกิเลสอยู่และรู้ว่าความสุขกว่าการมีกิเลสก็มีอยู่ รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดใหม่ทางวิญญาณมีจริง คือคนที่เลวก็สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ และเชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่สอนธรรมะอย่างถูกตรงในโลกนี้ยังมีอยู่ รู้ว่าเป็นใครและรู้ด้วยว่าหากปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นก็จะสามารถพ้นทุกข์ได้จริง

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ

การจะนำตัวเราไปสู่ความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงนั้นมีเหตุปัจจัยอยู่ด้วยกันสองประการ นั่นคือ ๑.ปรโตโฆสะ ๒.โยนิโสมนสิการ

ปรโตโฆสะ

คือการตั้งใจรับฟัง เปิดใจฟังสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนคิดโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปปน ฟังอย่างลึกซึ้งให้เข้าใจว่าผู้สื่อสารนั้นกำลังตั้งใจสื่อสารอะไร ผู้ที่ไม่มีปรโตโฆสะก็มักจะฟังไปด้วยคิดแย้งไปด้วย เช่นพอผู้พูดกล่าวมาหนึ่งประโยค เขาก็จะมีความคิดเห็นแย้งต่อประโยคนั้นทันที คือไม่เชื่อ อันเกิดจากความไม่รู้ ยึดมั่นถือมั่น หรือลังเลสงสัย ถ้าค้านแย้งหนักๆก็จะกลายเป็นการเพ่งโทษฟังธรรม ฟังไปก็จับผิดไป คิดแย้งไป พูดไม่เหมือนที่ฉันเรียนมา พูดไม่เหมือนที่ฉันเข้าใจ มันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ปรโตโฆสะคือใช้ความไม่มีอัตตา ฟังด้วยอนัตตาคือไม่ถือตัวถือตน

กลายเป็นผู้ฟังที่ไม่ดีในที่สุด นอกจากจะฟังไม่รู้เรื่องแล้วยังทำให้เกิดวิบากกรรมอีกด้วย ผู้ฟังที่ดีมีหน้าที่แค่ฟัง ฟังอย่างตั้งใจ ไม่รีบคิดตีความใดๆ ก่อนเวลาอันควร ยอมให้ความรู้อื่นที่เราไม่เข้าใจ เข้ามาเพิ่มในความรู้เดิมของเราเสียก่อน ยินดีที่จะรับฟังเสียก่อนค่อยตัดสินใจ

โยนิโสมนสิการ

เมื่อเปิดใจรับฟังแล้ว เราก็จะนำข้อความ เรื่องเล่า ความรู้เหล่านั้นพิจารณาไปถึงแก่นสารสาระของธรรมที่สอดแทรกอยู่ในนั้นๆ หรือที่เรียกกันว่าการทำใจในใจให้แยบคาย คือเมื่อฟังแล้วก็มีการพิจารณาสิ่งเหล่านั้นตามไปด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ฟังจบแล้วก็ลืมไป แต่การมีโยนิโสมนสิการจะทำให้สามารถเข้าใจในสิ่งที่ฟังได้มากขึ้น สิ่งที่ฟังนั้นเข้าไปในใจ ไปในความรู้สึก ไม่ใช่แค่ในความคิด เมื่อพิจารณาลงสู่ใจจะได้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่งจะ “เข้าใจ” ลึกซึ้งขึ้น

….เมื่อเรามีสองปัจจัยนี้แล้ว ไม่ว่าเราจะฟังหรือเรียนรู้เรื่องทางโลกหรือทางธรรม การฟังหรือเรียนรู้นั้นๆก็จะเกิดประสิทธิภาพที่สูงที่สุด จะฟังเรื่องทางโลกก็สามารถเข้าใจแก่นสารสาระของสิ่งนั้น จะฟังเรื่องทางธรรมก็สามารถเข้าใจธรรมนั้นๆได้โดยลำดับตามฐานของตน

ความเสื่อมของชาวพุทธ

การเพ่งโทษฟังธรรมนั้นเป็นหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ ความเสื่อมนี้เกิดในคนที่เสื่อม ไม่ใช่ศาสนาเสื่อม เพราะเขาเหล่านั้น ขาดการเยี่ยมเยียนครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ ถึงแม้จะไปเยี่ยมก็กลับละเลยการฟังธรรมสนใจเอาแต่กุศลน้อยๆเช่นทำทาน บริจาค กวาดลานวัด ฯลฯ พอไม่ได้ฟังธรรมก็เลยไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติในอธิศีล ไม่เรียนรู้เรื่องศีล ไม่รู้วิธีทำให้ตัวเองเจริญในศีลนั้น เพราะเมื่อไม่มีผู้รู้สอนก็ไม่สามารถรู้และปฏิบัติด้วยตนเองได้ พอไม่ศึกษาและปฏิบัติอธิศีลก็เริ่มจะไม่เข้าใจคุณค่าของศีล เริ่มเห็นช้างเป็นมด ไม่ให้ค่ากับคนผู้มีศีล มองเห็นทุกคนเทียบเท่ากันหมด ไม่ศรัทธาในครูบาอาจารย์ไม่ว่าจะแก่หรือเด็ก จะเห็นว่าเท่ากันหมด

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา” คนมีปัญญาจึงถือศีล คนไม่มีปัญญาก็ไม่ถือศีล คนมีปัญญาจึงเคารพในผู้มีศีล ส่วนคนไม่มีปัญญาจึงไม่สนใจผู้มีศีล ในชาดกตอนหนึ่งท่านว่า หากกลุ่มชนใดไม่สามารถแยกแยะคนดีกับคนชั่วได้ เห็นว่าคนมีศีลกับคนไม่มีศีลเสมอกัน ท่านให้พรากจากสังคมหรือกลุ่มชนนั้นเสีย จะเห็นได้ว่าท่านให้พรากจากคนผู้ไม่มีปัญญา

เมื่อไม่มีปัญญาแยกแยะคนผู้มีศีลกับคนทั่วไป สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนพาลในที่สุดเพราะไม่มีความเคารพในผู้ปฏิบัติดีทั้งผู้ปฏิบัติมาก่อนและปฏิบัติใหม่ เมื่อได้ฟังธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มักจะมีจิตตำหนิติเตียน “เพ่งโทษฟังธรรม” หากธรรมที่แสดงอยู่นั้นเป็นธรรมที่พาลดกิเลสและพาพ้นทุกข์ ผู้เพ่งโทษฟังธรรมก็จะเดินย้อนไปอีกทางคือไปทางนรก

เมื่อไม่เชื่อตามธรรมที่ผู้ปฏิบัติดีสอนสั่ง คอยเพ่งโทษฟังธรรม ก็จะไม่เข้าใจธรรม แม้จะทำบุญทำทานก็จะกลายเป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธศาสนา คือไปทำบุญตามประเพณีที่สังคมเข้าใจ แต่ไม่เกิดบุญกุศลตามหลักของศาสนาพุทธ และจะมีความเข้าใจในเรื่องบุญกุศลที่ผิดเพี้ยน

เมื่อเข้าใจการทำบุญที่ผิดไปจากพุทธก็จะเริ่มไปศรัทธาลัทธิที่อ้างว่าตนเองเป็นพุทธแต่ปฏิบัติไม่ถูกตามหลักพุทธ เช่นการเอาสวรรค์วิมานมาเป็นเครื่องล่อ การเอาลาภยศสรรเสริญมาเป็นเครื่องลวง การนำหลักปฏิบัติของศาสนาอื่นมาปนเช่น พราหมณ์ ฤาษี หรือลัทธิอื่นนอกพุทธ ไปเคารพบูชาเทพเจ้า เคารพบูชาคนผู้อวดอ้างเป็นเจ้าลัทธิ สุดท้ายจะเลิกนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็จะหลุดจากพุทธไปศาสนาอื่นเลย

นี่เองคือกระบวนการแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เป็นชาวพุทธเองที่เสื่อมไปจากธรรมที่แท้ ไม่ใช่ธรรมนั้นเสื่อม แต่เป็นคนที่เสื่อมไปจากธรรม ธรรมะคือสิ่งที่มีอยู่เช่นนั้น เป็นอยู่แบบนั้นไม่มีวันเสื่อมสลาย หากแต่คนผู้มีความเสื่อมศรัทธาในการลดกิเลส จะค่อยๆพาตัวเองเสพกิเลสและเสื่อมจากธรรมไปเอง นี้เองคือเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ( ความเสื่อมของชาวพุทธ๗ )

– – – – – – – – – – – – – – –

11.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

October 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,529 views 0

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ : ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

เมื่อเราผ่านพ้นนรกของความอยากเสพเนื้อสัตว์มาแล้ว เราก็จะได้พบกับนรกอีกขุมคือความไม่อยากเสพ เป็นส่วนของกลับของกิเลสทุกตัว เป็นเสมือนหัวหน้าผู้ร้ายที่จะโผล่มาหลังจากผู้ร้ายตัวแรกได้ตายไป

ย้อนรอย…

เล่าย้อนไปถึงตอนที่เราได้สู้กับความอยากกินเนื้อสัตว์ใหม่ๆ เราต้องพากเพียรปฏิบัติ ถือศีลอย่างตั้งมั่น เฝ้าพิจารณาประโยชน์และโทษของสิ่งนั้นเพื่อล้างกิเลส โดยใช้ความทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน กรรมและผลของกรรมเข้ามาช่วยล้างกิเลส จนกระทั่งเราผ่านพ้นความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ด้วยใจที่เป็นสุข

แต่การจะได้มาซึ่งความสุขจากการไม่เสพนั้น เราก็จะได้ความเกลียดเนื้อสัตว์มาด้วย เพราะการจะออกจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราต้องรังเกียจ เห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของสิ่งนั้น เมื่อก้าวผ่านการเสพกามกิเลส(ความอยากกินเนื้อสัตว์) จะเข้ามาสู่การเสพอัตตา(ความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์) คือความยึดดี ถือดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข

ในช่วงที่เรายังเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นก็จะมีอัตตาอยู่หนึ่งชุด เป็นอัตตาในกาม(ความอยากเสพเนื้อสัตว์) หลงยึดว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี อร่อย มีคุณค่า ทำให้แข็งแรง ฯลฯ แต่เมื่อเราทำลายกามแล้ว เราก็จะมาเจออัตตาอีกชุดหนึ่งเหมือนเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ คือความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์ ยึดว่าต้องไม่กินเนื้อสัตว์จึงจะดี กินแต่ผักจึงจะเจริญ หลงติดหลงยึดว่าการเป็นคนดี ติดดี ยึดดี การที่ตนกินมังสวิรัติได้เป็นสิ่งที่เลิศกว่าคนอื่นจนกระทั่งไปข่มเหงผู้อื่นได้ เราจะมาเรียนรู้อัตตาในภาคหลังนี้กัน

อัตตา…

ในตอนที่เราสามารถออกจากนรกแห่งความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ เราก็จะกลายเป็นคนติดดีโดยอัตโนมัติ สายตาจะมองคนที่ยังเสพเนื้อสัตว์ต่างออกไปจากตอนที่เรายังเสพเนื้อสัตว์ มองว่าการเสพเนื้อสัตว์นั้นน่ารังเกียจ มองว่าสังคมต้องไม่เบียดเบียนถึงจะดี มักจะมีอาการรังเกียจทั้งเนื้อสัตว์และคนที่ยังกินเนื้อสัตว์และคนที่สนับสนุนให้กินเนื้อสัตว์

อัตตานี้เองคือกิเลสที่ผลักดันให้คนในสังคมถกเถียงกัน และไม่ได้หมายความว่าคนที่ผ่านนรกเนื้อสัตว์เท่านั้นที่จะมีอัตตา คนกินมังสวิรัติ คนกินเจที่อยู่ในระหว่างการหัดกินก็สามารถมีอัตตาได้ แต่จะไม่แรงเท่ากับคนที่ผ่านความอยากนั้นมาแล้ว

อัตตาคือนรกของคนดี คืออาวุธของคนดีที่ใช้ปราบคนที่เขายังไม่รู้โทษชั่วของการกินเนื้อสัตว์ เหล่าคนดีที่สามารถข้ามความอยากจึงสามารถใช้ท่าที วาจา ถ้อยคำต่างๆไปย่ำยีคนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะตัวเองนั้นเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว จึงไม่มีทางที่คนกินเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะมาโต้กลับได้เลย

อัตตาคืออาวุธที่ร้ายแรง ร้ายกาจ เชือดเฉือนทำลาย ทำร้ายใจคนได้มากที่สุด ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม จะอยู่กันไม่เป็นสุขเพราะคนมีอัตตา ยิ่งเป็นนักมังสวิรัติที่มีอัตตาก็จะยิ่งร้ายกาจ ใช้ความดีเข้าไปทำลาย ทำร้ายจิตใจคนที่เขายังติดในกิเลส ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ ให้เขาเกิดความลำบากใจ อึดอัดขัดข้องใจ รำคาญใจ จนเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันได้

อัตตาไม่ใช่อาวุธที่จะนำไปทำลายกิเลสของคนอื่นได้ เมื่อใช้อัตตาหรือความยึดดีถือดีเข้าไปแนะนำคนอื่น รังแต่จะเพิ่มปัญหา เพิ่มความเจ็บป่วย ทุกข์ร้อน ทรมานให้กับเขา แต่การจะนำความรู้มังสวิรัติไปให้หรือแนะนำคนอื่นนั้น ต้องทำด้วยอนัตตา หรือความไม่มีตัวตน คือไม่มีตัวตนของกิเลส ไม่มีตัวตนของคนดี ไม่มีความยึดดี ไม่ถือดี ไม่จำเป็นต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข

อัตตานอกจากจะทำให้คนอื่นทุกข์แล้วยังทำให้ตัวเองทุกข์อีกด้วย เพราะเมื่อเรามีความยึดมั่นถือมั่นมาก เมื่อคนอื่นทำไม่ได้ดังใจเราหมาย หรือเมื่อเราแนะนำไปแล้วเขาไม่เอา เราก็จะมีอาการอกหักอกพัง เพราะเรายึดว่าเกิดดีจึงจะเป็นสุข พอไม่เกิดดีดังใจเราหมายเราก็จะเป็นทุกข์ ออกอาการได้ตั้งแต่มีอาการขุ่นใจ ไม่พอใจ ว่ากล่าวตักเตือนคนอื่นด้วยอัตตา กระทั่งทะเลาะเบาะแว้งกันได้

อัตตาคือความโง่ที่คนดีแบกไว้ เป็นคนดีที่แบกนรกไว้ทำลายตัวเองและทำลายคนอื่น ทำลายสังคมสิ่งแวดล้อม ทำลายโลก เพราะความติดดีนี้เป็นเหตุแห่งการทะเลาะกัน ไม่ว่าจะคนดีหรือคนไม่ดี หากเกิดการทะเลาะกันแล้วก็คือนรกทั้งคู่ คนดีที่ล้างอัตตาไม่เป็นก็จะหลงว่าตนดี ใช้ความดีทำร้ายทำลายคนอื่น พร้อมทั้งแบกทุกข์จากความไม่สมใจหมาย สะสมกิเลสข้ามภพข้ามชาติต่อไปอีกนานแสนนาน

อัตตาคือเกราะของกิเลสที่พอกตัวตนไว้ ทำให้คนดีไม่สามารถรู้ได้เลยว่าตัวเองนั้นเต็มไปด้วยกิเลส เพราะมัวแต่มองไปยังความไม่ดีของคนอื่น มองไปยังความผิดของคนอื่น ในขณะที่ตัวเองก็สั่งสมความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปเรื่อยๆจนเป็นเกราะหนา จนกระทั่งไม่สามารถมีใครที่จะแนะนำและช่วยเหลือคนดีที่มีอัตตาหนานั้นได้ นั่นเพราะเขาไม่ยอมมองกลับมาในกิเลสของตัวเอง หลงในอัตตาและเชื่อมั่นเสมอว่าตัวเองดี เขาจึงต้องแบกอัตตา แบกตัวตน แบกทุกข์นั้นไปตลอดกาล

การทำลายอัตตา

การทำลายอัตตานั้นก็ใช้กระบวนการเดียวกับการทำลายกิเลสฝั่งกาม(ความอยากเสพเนื้อสัตว์) คือใช้กระบวนการสมถะ-วิปัสสนาเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการทำลายอัตตา โดยอัตตานั้นควรจะใช้ธรรมในพรหมวิหาร๔ เข้ามาร่วมกำจัดความยึดดีถือดีด้วย และใช้กรรมและผลของกรรมช่วยในการพิจารณา รวมกับหลักพิจารณาเดิมของเราคือความเป็นทุกข์ โทษ ภัย ความไม่เที่ยง เราไม่ใช่ตัวตนของกิเลสนั้น ประโยชน์และโทษในการมีอัตตานั้นๆ

การใช้พรหมวิหารเข้ามาช่วยจะทำให้เราสามารถสังเกตอาการติดดีได้ง่ายขึ้น เพราะคนที่มีอัตตา ยึดดี ถือดี จะติดตรงที่ไม่สามารถไปถึงอุเบกขาได้ เมื่อเขากินมังสวิรัติได้ดังหวังเราก็มีจิตยินดี มีความมุทิตากับเขา แต่เมื่อเขากลับไปกินเนื้อสัตว์ สั่งเนื้อสัตว์มากิน หรือเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์ เราก็กลับมีอาการขุ่นข้องหมองใจ แทนที่จะปล่อยวาง เรากลับรู้สึกยินร้าย รู้สึกไม่พอใจที่เขาไปกินเนื้อสัตว์ นั่นคือเราไม่สามารถปฏิบัติจนถึงภาวะอุเบกขาได้

เราต้องเจริญพรหมวิหาร๔ ให้มากจึงจะมีกำลังดับอัตตา สร้างจิตที่เมตตาให้ทั้งสัตว์ที่ต้องเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของคนที่มัวเมาในกิเลส และเมตตาไปถึงคนที่ยังหลงว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี กรุณาโดยการไม่กินเนื้อสัตว์และช่วยสอนให้ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์ได้เห็นโทษของการเบียดเบียน มุทิตาโดยการยินดี เมื่อเขาเหล่านั้นสามารถลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ได้ตามกำลังของเขา และอุเบกขาเมื่อทุกสรรพสิ่งนั้นไม่ได้เป็นไปดังใจหมาย สัตว์ก็ต้องถูกฆ่าเพื่อมาเป็นอาหารอยู่ทุกวัน คนมีกิเลสก็ต้องอยากกินเนื้อสัตว์ เมื่อเราสร้างความเป็นพรหมขึ้นในใจได้ดังนี้แล้วจะช่วยลดอัตตาได้อย่างดี

ในข้อกรรมและผลของกรรมก็ต้องพิจารณาให้มาก สัตว์ที่ถูกฆ่าตายนั้นก็มีกรรมเป็นของเขา เขาทำกรรมนั้นมาจึงต้องเกิดเป็นสัตว์ ต้องถูกขัง ต้องถูกทรมาน สุดท้ายก็ต้องโดนฆ่าเพราะกรรมนั้นเองที่เขาเหล่านั้นทำมา แต่ถูกฆ่าแล้วก็จบไป ได้ใช้กรรมไปหนึ่งเรื่อง สุดท้ายสัตว์เหล่านั้นก็เกิดมาใช้กรรมใหม่จนกว่าจะหมดวิบากอยู่ดี เราน่าจะสงสารและเข้าใจคนที่กินเนื้อสัตว์มากกว่า ว่าพวกเขาล้วนยังไม่เห็นถึงโทษภัยแห่งการเบียดเบียนเขาจึงต้องรับกรรมที่ตนก่อโดยที่ไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่นำโทษภัยมาให้เขาเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” คนที่ยังเบียดเบียนจึงต้องพบกับโรคภัยไข้เจ็บและไม่สามารถมีชีวิตอยู่สร้างกุศลได้นานก็ต้องจากไป

และการที่เราไปมีอัตตานั้นก็กลายเป็นกรรมของเราเช่นกัน การที่เราไปทำร้ายจิตใจคนอื่นด้วยความติดดีเราก็สะสมกรรมชั่วลงในจิตใจของเราไปด้วย นั่นก็คือการเบียดเบียนคนอื่น เมื่อเบียดเบียนคนอื่นก็จะมีโรคมากและอายุสั้น สะท้อนเป็นการเบียดเบียนตัวเองในทีเดียวกัน ดังจะเห็นได้ว่าคนดี หรือคนติดดีนั้นก็สามารถป่วยด้วยโรคร้ายและตายไวกันได้เหมือนคนทั่วไป

เมื่อเราได้พบผู้คนที่ยังไม่เห็นคุณค่าของการกินมังสวิรัติ ให้พึงพิจารณาว่าเราก็เคยเป็นเช่นนั้นมา การที่เราไม่สามารถที่จะสอนหรือแนะนำเขาได้ หรือแม้แต่แนะนำแล้วเขาไม่สนใจ หรือสนใจก็ไม่สามารถที่จะกินมังสวิรัติได้ ความขุ่นข้องหมองใจจากความไม่ประสบความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากกรรมเก่าของเรา เมื่อสมัยที่เรายังหลงมัวเมาในความอยากกินเนื้อสัตว์ในชาติใดชาติหนึ่งอยู่ มีคนมาแนะนำเรา เราก็ดื้อ ไม่เอา ตีทิ้งคนที่มาแนะนำสิ่งดีๆเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเราสามารถปฏิบัติชีวิตมังสวิรัติได้ดี ก็ให้เข้าใจเรื่องกรรมด้วยว่ากว่าที่เราจะมากินมังสวิรัติได้ เราได้เคยทำให้เหล่าคนดีไม่พอใจมาหลายชาติแล้ว ดังนั้นการที่เราจะได้รับความไม่สมใจก็เป็นสิ่งที่สมควรแล้ว เพราะเราสร้างมาเอง

ความเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน หรือการพิจารณาไตรลักษณ์ ให้เราพิจารณาไปว่าการมีอัตตายึดดีถือดีแบบนี้ทำให้เราและคนอื่นเป็นทุกข์อย่างไร สิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นไว้มันจะยั่งยืนตลอดกาลหรือ มันจะไม่แปรเปลี่ยนเลยหรือ แท้จริงแล้วอัตตานั้นก็ไม่ใช่ตัวตนของเราเป็นสภาพหนึ่งของกิเลสที่เข้ามาหลอกเราว่าเราหมดกิเลสแล้ว จริงๆอัตตานี้ไม่ใช่เรา เราไม่จำเป็นต้องมีอัตตา ไม่จำเป็นต้องมีตัวกูของกู

การพิจารณาประโยชน์ของการไม่มีอัตตาและโทษของการมีอัตตานั้นก็สามารถที่จะช่วยล้างอัตตาได้อย่างดีเยี่ยม เช่น ถ้าเรายังมีอัตตาอยู่ เราก็มักจะไปซัดอาวุธด้วยวาจาอันเชือดเฉือนใจใส่คนอื่นอยู่บ่อยครั้ง อาจจะทำให้เกิดการบาดหมางใจ ผิดใจกัน จนถึงขั้นทะเลาะกันได้ แต่ถ้าเราไม่มีอัตตาเราก็จะสามารถอยู่กับคนอื่นได้อย่างมีความสุข เรากินมังสวิรัติก็กินไป เขากินเนื้อสัตว์ก็กินไป เราไม่รู้สึกยินดียินร้ายอะไร ก็สามารถจะอยู่กันได้ วันใดที่เขาเห็นคุณค่าเขาก็จะมากินมังสวิรัติตามเราเอง เป็นต้น

เพียรพิจารณาข้อธรรมเหล่านี้ตามกำลังที่มีด้วยความตั้งใจ ตั้งมั่นให้เห็นถึงโทษชั่วของการมีอัตตา ความติดดี ยึดดี ถือดี ว่าคนอื่นจะต้องไม่กินเนื้อสัตว์จึงจะดี

สภาพหลังจากทำลายอัตตา

เมื่อผ่านพ้นอัตตาแล้ว เราจะสามารถร่วมโต๊ะกับครอบครัว กับเพื่อน กับญาติมิตรสหายได้โดยไม่รู้สึกรังเกียจ ไม่รู้สึกขุ่นเคืองใจที่เขายังกินเนื้อสัตว์ แม้ว่าเราจะแนะนำไปแล้วเขาจะไม่สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ดังใจเราหมายได้ เราก็สามารถปล่อยวางได้ ไม่มีอาการติดดี ยึดดี ถือดี

และถึงแม้ว่าเราจะไปร่วมโต๊ะกับเขา เราก็จะยินดีที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ ผู้ที่สามารถผ่านนรกของการเสพเนื้อสัตว์ จะมีปัญญาในการเอาตัวรอดจากสภาพต่างๆ ในการกินอาหารร่วมกับคนอื่น หรือการกินอาหารในถิ่นที่ไม่คุ้นเคย จนเรียกได้ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถละเว้นเนื้อสัตว์กินแต่ผักได้โดยมีความสุขใจ อิ่มใจ สบายใจ แม้ว่าจะต้องกินแต่ข้าวเปล่าก็ยังมีความสุขกว่าการกินข้าวปนกับเนื้อ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความยึดมั่นถือมั่น แต่เป็นปัญญาที่รู้โทษของการเสพเนื้อสัตว์ จนยินดีที่จะละเว้นเนื้อสัตว์ต่างๆอย่างมีความสุข

เมื่อผ่านพ้นอัตตาแล้วหากได้ลองกินเนื้อสัตว์ก็จะไม่รู้สึกรังเกียจ ไม่มีความขุ่นข้องหมองใจ ทุกข์ใจ กระวนกระวายใจ แต่จะรู้สึกเฉยๆตามความเป็นจริง กินก็ได้ แต่ก็คายทิ้งได้เหมือนกัน เพราะไม่ได้ติดในรสของเนื้อสัตว์นั้น เป็นกระบวนการตรวจสอบอัตตาของผู้ที่ยังสงสัยว่าตัวเองติดอยู่หรือไม่ เพราะถ้าผ่านอัตตา จะไม่มีอาการผลัก แต่จะรู้สึกถึงโทษของการกินเนื้อสัตว์จนไม่กินเอง และก็ไม่ได้มีความทุกข์อะไร สุดท้ายคนที่ผ่านทั้งกาม(อยากกินเนื้อสัตว์)และอัตตา(ไม่อยากกินเนื้อสัตว์)จึงไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี ไม่มีทั้งอาการผลัก หรืออาการดูด เนื้อสัตว์ชั้นดีมาวางเสริฟไว้ตรงหน้าก็เฉยๆ มีคนจับยัดเข้าปากก็ไม่โกรธไม่รังเกียจ ..แต่ไม่กิน ถึงจะกินเข้าไปก็ไม่มีรสสุข จะไม่เกิดสุขลวงๆจากการเสพอีกต่อไป ไม่ยินดีในสุขลวงนั้น เพราะรู้ว่าสุขจากการออกจากนรกเนื้อสัตว์ทั้งกามและอัตตานั้นเป็นสุขยิ่งกว่า หาสิ่งใดเปรียบไม่ได้ เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

อัตตาซ้อนอัตตา

หลังจากผ่านอัตตา เราอาจจะเจอสภาพหนึ่งซ้อนเขามาคืออัตตาอีกตัวหนึ่ง เมื่อเราไม่เสพเนื้อสัตว์และไม่ติดดีแล้ว เราอาจจะเกิดอาการ เกลียดคนติดดีอีกทีหนึ่ง นั่นเพราะเราเพิ่งออกจากนรกคนติดดีมาได้ เมื่อเราเห็นคนกินมังสวิรัติที่ติดดีไปทำร้ายทำลายจิตใจของผู้ที่ยังเสพเนื้อสัตว์ เราก็มักจะมีอาการไม่พอใจคนที่ติดดีนั้น คนกินเนื้อสัตว์เราไม่โกรธแล้วนะ เพราะเราเข้าใจ เราเข้าใจเพราะเราผ่านความติดดีมาได้ แต่จะมาติดดีกว่าอีกที คือไปเพ่งโทษคนติดดีอีกที

เห็นไหมว่ากิเลสมันมีลีลาของมันเยอะมาก ผ่านตัวนั้นก็ต้องมาติดตัวนี้ พอฆ่าตัวนี้ก็ต้องไปกำจัดตัวโน้นต่อ แล้วปลายทางมันอยู่ตรงไหน?

มันก็อยู่ที่กำจัดอัตตาที่ซ้อนอยู่นี่แหละ เหมือนเป็นหัวหน้าใหญ่ที่จะออกมาเมื่อผ่านนรกคนดี เป็นกิเลสที่เฝ้าประตูสู่ความสุขแท้ เราก็ต้องกำจัดมันให้ได้โดยการพิจารณาธรรมเหมือนเดิมแต่โจทย์นั้นเปลี่ยนไปเป็นล้างความรังเกียจคนดี เพราะจริงๆกว่าคนจะมาติดดีได้นั้นมันยากมาก เขาต้องบำเพ็ญเพียรมาหลายต่อหลายชาติกว่าจะมาเลิกกินเนื้อสัตว์จนมาติดดีได้ แล้วทีนี้เราก็โง่ไปเพ่งโทษคนดี ไปรังเกียจคนที่เขาทำดี แล้วมันจะเกิดดีไหมล่ะ

นั่นเพราะส่วนหนึ่งเราเพิ่งจะออกจากนรกคนดีได้ เมื่อเราออกจากสิ่งใดได้ เราก็มักจะรังเกียจสิ่งนั้น เพราะการจะออกจากสิ่งใดได้ ต้องใช้ความรังเกียจ ความไม่ชอบใจในสิ่งนั้นออกมาก พอออกมาแล้วเราก็ต้องล้างความรังเกียจนั้นอีกที เมื่อล้างหมดก็ถือว่าจบกิจ ปิดชุดงานกิเลสมังสวิรัติได้เลย เพราะจะไม่มีทุกข์เกิดอีก แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีวางตรงหน้าก็ไม่กินด้วยความยินดี แม้ว่าจะมีคนมากมายยินดีกับการกินเนื้อสัตว์เราก็ไม่ยินร้ายกับเขา และแม้ว่าจะเห็นคนติดดีเข้าไปทำร้ายคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ เราก็จะไม่รู้สึกถือสาอะไร เพราะเข้าใจคนติดดี

เมื่อจบกระบวนการทั้งหมดนี้ มันก็ไม่รู้จะไปทำอย่างไรให้มันทุกข์ ใครจะกินเนื้อสัตว์ก็กินไป สัตว์จะเกิดจะตายก็ตายไป ใครจะติดดีมีอัตตาก็ติดไป เราก็ปล่อยวางความทุกข์ได้ทั้งหมด เหลือสุข เป็นสุขจากการไม่เสพสิ่งใด เป็นสุขจากการหมดกิเลสในเรื่องนั้นๆ แล้วเราก็จะกินมังสวิรัติไปเรื่อยๆ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นจากเรื่องมังสวิรัติไม่ว่ากรณีใดๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

11.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

แรงจูงใจในการทำงาน

October 9, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,203 views 0

แรงจูงใจในการทำงาน

แรงจูงใจในการทำงาน

ในยุคสมัยที่มีทางเลือกในการทำงานหลากหลาย ไม่ว่าจะเลือกเป็นลูกจ้าง นักลงทุน หรือผู้ประกอบการ ก็มักจะมีสิ่งหนึ่งเป็นตัวผลักดัน เรามักจะเรียกสิ่งนั้นว่าแรงจูงใจ

การสร้างแรงจูงใจนั้นจะช่วยเพิ่มพลังใจของเราในหลายๆส่วน จูงใจของเราไปทำในการงานที่เราคิดว่ามันจะเกิดประโยชน์กับตัวเราโดยใช้ผลประโยชน์บางอย่างมาล่อ แรงจูงใจนั้นสามารถเกิดมาจากเหตุได้ทั้งกุศลและอกุศล ได้ทั้งดีและร้าย

…กุศล

ในทางกุศล หรือความดีงาม เมื่อเราประกอบกิจกรรมการงานโดยมีกุศลเป็นตัวตั้ง โดยมีแรงจูงใจจากการพิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ต่อผู้อื่นจนเกิดปัญญาเข้าใจคุณค่าในกิจกรรมการงานนั้นๆ และ ใช้อิทธิบาท ๔ คือฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เป็นตัวผลักดันให้เกิดแรงจูงใจในการทำสิ่งที่ดี

ฉันทะ คือความยินดี เต็มใจพอใจ ที่จะทำสิ่งๆนั้น เพราะเห็นว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์ เกิดประโยชน์ ทำแล้วมีความสุขความเจริญเรียกได้ว่าการพิจารณาประโยชน์ของสิ่งใดก็ตามจะทำให้เกิดความชอบ และความชอบนั้นเองคือพลัง คือแรงจูงใจ แรงผลักดันให้ทำสิ่งที่ยากอย่างมีความสุขได้

วิริยะ คือความเพียร ความพยายามที่จะทำกิจกรรมการงานนั้นอย่างอดทน ไม่ย่อท้อแม้จะต้องพบกับความยากลำบากใดๆก็ตาม แม้จะต้องประสบปัญหาก็จะพยายามที่จะทำต่อไปเรื่อยๆ

จิตตะ คือความตั้งมั่น ทุ่มโถมเอาใจใส่กิจกรรมการงานนั้นอย่างจดจ่อ มีสมาธิกับสิ่งนั้น จิตใจวนอยู่กับสิ่งนั้น ให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น ทำงานอย่างกัดไม่ปล่อย เอาใจใส่ในงานอย่างเต็มที่ มีเวลาว่างก็คิดถึงแต่งานนั้นๆ ให้ความสำคัญกับงานนั้นๆ

วิมังสา คือการพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับกิจกรรมการงานนั้น เอาแก่นสารสาระ ออกแบบปรับปรุงกระบวนการต่างๆที่ทำอยู่ วิเคราะห์วิจัยกิจกรรม หมั่นทบทวนศึกษาในเนื้อหาของการงาน

เมื่อมีการพิจารณาประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน และใช้อิทธิบาทจนเกิดแรงจูงใจ รวมทั้งเป็นไปตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ในข้อสัมมาอาชีวะ คือการประกอบอาชีพที่สุจริต อาชีพที่ดีงาม อาชีพที่ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ไม่คดโกง ไม่ล่อลวง ไม่ตลบตะแลง ไม่รับใช้คนชั่ว ไม่เป็นการพนันนำลาภที่มีไปแลกลาภที่มากกว่า ไม่พาให้หลงมัวเมา ซึ่งหากเราได้ทำการงานที่ถูกที่ควรก็จะผลักดันชีวิตเราและสังคมรอบข้างไปสู่ความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม

…อกุศล

ในทางอกุศล คือความไม่ดีไม่งาม ก็จะมีการใช้แรงจูงใจจากการพิจารณาประโยชน์ตนเป็นตัวตั้งเหมือนกัน แต่เป็นการพิจารณาโดยมีกิเลสเข้ามาร่วม เรียกง่ายๆว่ามีกิเลสเป็นแรงผลักดันและเป็นแรงจูงใจให้ทำกิจกรรมการงานนั้นๆนั่นเอง เรียกได้ว่ามีกิเลสทั้งผลักทั้งจูง ให้ตัวเราเคลื่อนไปทำการงานนั้นๆ

แม้ว่าเราจะมีแรงจูงใจที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดัน ก็จะสามารถใช้อิทธิบาทเป็นเครื่องผลักดันได้เหมือนกัน แต่จะมีทิศทางที่เจริญไปในด้านอกุศล ยิ่งทำกิจกรรมการงานที่เป็นอกุศลอย่างตั้งมั่นก็ยิ่งจะเกิดความเสื่อมจากธรรม ยิ่งสะสมกิเลสก็จะยิ่งทุกข์ ยิ่งขยันทำชั่วก็ยิ่งไปนรกไวขึ้นนั่นเอง

แรงจูงใจจากกิเลสเหล่านี้ ในคนแต่ละคนก็จะมีแรงจูงใจหรือกระทั่งเป้าหมายที่แตกต่างกันเพราะเรามีกิเลสที่แตกต่างกัน เราสามารถจำแนกแหล่งที่มาของกิเลสได้เป็น ๔ ระดับ ตั้งแต่หยาบไปจนถึงละเอียด คือ อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตาจะลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันพอประมาณดังนี้

อบายมุขคือแรงจูงใจที่พาให้หลงมัวเมาอย่างหยาบ เป็นทุกข์ โทษ ภัยอย่างเห็นได้ชัด เช่นมัวเมาในการพนัน หวย หุ้น ท่องเที่ยว ดูการละเล่น ดูละคร คอนเสิร์ต สิ่งเสพติด เหล้า เที่ยวกลางคืน เสพสิ่งบันเทิงต่างๆ ทำงานเพื่อที่จะทำให้ได้เกียจคร้านการงานในภายภาคหน้า ฯลฯ หากคนใดมีสิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจ เป็นแรงผลักดันให้ทำกิจกรรมการงาน ทำงานเพื่อจะได้เสพสิ่งเหล่านี้ ก็ถือได้ว่าติดในกิเลสในระดับที่หนาและเป็นภัยมาก

กามคุณคือแรงจูงใจที่พาให้หลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ยกตัวอย่างเช่น ตั้งใจทำงานเพื่อที่จะนำเงินไปแต่งหน้าแต่งตา แต่งตัว ศัลกรรม หรือเพื่อไปเที่ยวหาสิ่งสวยงามไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของมาเสพเพื่อสนองกิเลสในการติดรูป ทำงานหาเงินมาเพื่อซื้อน้ำหอมแพงๆเพราะหลงในกลิ่น หรือทำงานเพื่อหาของอร่อยกิน เอาเงินที่ได้มาตระเวนหาของอร่อยตามที่โลกมอมเมา คนที่ทำกิจกรรมการงานเพื่อที่จะได้เสพกามเหล่านี้ ก็ถือว่าติดในกิเลสที่หนาน้อยกว่าอบายมุข แต่ก็ยังเป็นภัยต่อตัวเองอยู่มาก

โลกธรรมคือแรงจูงใจที่หลงไปใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นสิ่งที่คนมาหลงติดกันมากที่สุด เรามักจะมีแรงจูงใจในการทำงานเพราะอยากรวย อยากมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี อยากมีคนนับหน้าถือตา อยากมีคนนิยมชมชอบ อยากเป็นที่รักเป็นที่สนใจของคนอื่น ทำเพราะอยากได้เสพสุขลวงๆจากกิเลส หลายคนขยันทำผลงาน ทำงานอย่างตั้งใจก็เพื่อที่จะได้เสพสิ่งเหล่านี้ แม้ว่าโลกจะมอมเมาว่าเป็นสิ่งดี แต่แท้ที่จริงเป็นกิเลสที่ละเอียดและร้ายกาจมาก โลกธรรมจะพาเราให้ทำอย่างที่สังคมต้องการ ถ้าสังคมว่าทำแบบนี้จะรวย จะดูดี จะมีชื่อเสียง เราก็จะไหลตามสังคมไป ไปทุกข์ไปสุขตามโลกที่หมุนวนไป เป็นไปในทางโลก เป็นปลาที่ลอยตามน้ำ ลอยไปตามกิเลส

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตน เป็นแรงจูงใจที่จะทำให้เราได้ทำการงานนั้นๆ อย่างมัวเมาในระดับละเอียดที่สุด เพราะหลงว่าเราเกิดมาเพื่อทำสิ่งนั้น หลงไปว่างานนั้นเป็นของเรา เราจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นการหลงไปในอุดมการณ์ที่มีกิเลสเป็นตัวผลักดัน และอัตตาคือตัวการร้ายที่จะเป็นแรงผลักดันทำให้เราไปยึดในคน สัตว์ สิ่งของ อยากครอบครองสิ่งเหล่านั้นมาเป็นของตน เป็นแรงจูงใจที่ละเอียดที่สุด เป็นกิเลสที่ฝังลึกแน่นในจิตใจของคน เป็นรากสุดท้ายด่านสุดท้ายของกิเลสทุกตัว

การจะบอกว่าเรามีแรงจูงใจจากกิเลสตัวใดตัวหนึ่งนั้นก็คงเป็นเรื่องยากเพราะกิเลสเป็นเรื่องซับซ้อน หากผู้วิเคราะห์ไม่เคยขุดค้นไปถึงสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ เหตุแห่งความอยาก ก็ยากที่จะพบกับตัวการที่แท้จริง และโดยทั่วไปแล้วเรามักจะมีกิเลสหลายอย่างปะปนกัน ทับซ้อนและซับซ้อนกันไปหลายรูปแบบ คนที่เสพอบายมุขก็จะมีอัตตาเป็นตัวผลักดัน คนที่เสพกามก็จะมีโลกธรรมเป็นตัวผลักดันและมีอัตตาซ้อนอยู่ลึกๆ

กิเลสทุกตัวนั้นเป็นตัวเดียวกันคือความอยากเสพ เรามีความอยากเสพนั้นเพราะเราไปหลงติดหลงยึด และเราไปหลงติดหลงยึดเพราะว่าเรามีความไม่รู้หรือที่เรียกว่าอวิชชานั่นเอง แต่กิเลสนั้นจะออกมาลีลาไหน แบบไหน มุมไหน ก็แล้วแต่ใครจะสะสมกิเลสมามากน้อยแบบไหน จะถูกมอมเมามาแบบไหน

ผู้ที่ทำกิจกรรมการงานโดยมีกิเลสเป็นแรงจูงใจนั้น จะถูกความหวังหรือความอยากของตัวเองชักจูงให้หาให้เสพไปเรื่อยๆ เมื่อได้เสพสมใจ ได้อย่างใจมากขึ้น กิเลสก็จะโตขึ้น พอกิเลสโตขึ้นก็จะมีความอยากเสพมากขึ้นไปอีก เริ่มที่จะไม่พอใจสิ่งที่เคยได้เสพมาก่อน จนต้องพยายามแสวงหาสิ่งใหม่ สร้างความหวังใหม่ สะสมกิเลสใหม่ ในวันใดวันหนึ่งก็จะหาสิ่งเสพสมใจไม่ได้ ก็จะทุกข์ร้อนใจขัดใจโกรธเคืองไม่พอใจเพิ่มกิเลสเข้าไปอีก สะสมกิเลส สะสมทุกข์ สะสมภพ สะสมชาติไปอย่างไม่จบไม่สิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์