Tag: อัตตา

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,755 views 0

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

ทำไมเธอไม่กินมังสวิรัติ?

…เป็นคำถามที่ยังสงสัย หรือเป็นเราเองที่กำลังหลงลืมอะไรไป?

หลายคนที่สามารถลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้ดี มักจะมีคำถามลึกๆอยู่ในใจว่า ลดเนื้อกินผักมันยากตรงไหน กินเนื้อสัตว์มันดีตรงไหน แล้วกินผักมันไม่ดีอย่างไร ในเมื่อมีข้อมูลมากมายมายืนยันว่ากินผักแล้วดี ทำไมเธอถึงยังไม่เลิกกินเนื้อสัตว์

ท่ามกลางความสงสัย เขาเหล่านั้นก็มักจะกระหน่ำโถมใส่ข้อมูลในด้านดีของมังสวิรัติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพความโหดร้ายของการฆ่าสัตว์ บทความที่ทำให้ตระหนัก ข้อมูลวิจัยและข้อมูลอ้างอิงต่างๆ ทั้งในด้านสุขภาพและด้านจิตใจ ในสมัยนี้เราก็มักจะใช้ เฟสบุ๊ค เว็บบอร์ด เว็บไซต์ ฯลฯ เป็นเครื่องมือในการให้และกระจายข้อมูลกัน แต่ยิ่งทำก็ยิ่งไม่เข้าใจและกลับยิ่งสงสัย คนบางส่วนหันมากินมังสวิรัติก็จริง แต่ทำไมคนอีกมากมายกลับไม่สนใจ ไม่ใยดี แม้ว่าเราจะเสนอข้อมูลให้เขาเหล่านั้นได้เห็นผ่านช่องทางที่เรามีเท่าไหร่แต่เขาก็ยังไม่ยินดีที่จะมากินมังสวิรัติ

ทำไม? เพราะอะไร? หรือเขาไม่เมตตาเหมือนเรา ไม่อดทนเหมือนเรา ไม่มีศีลเหมือนเรา หรือเป็นเราเองที่กำลังหลงเข้าใจอะไรบางอย่างผิดไป….

1).หรือเป็นเราเองที่เข้าใจผิด

บางครั้งเมื่อเราทำอะไรได้ง่ายจนเกินไป เราก็มักจะมองข้ามรายละเอียดหลายๆอย่างไป หลงคิดว่าทุกคนต้องเข้าใจเหมือนเรา เห็นเหมือนเรา ทำได้เหมือนเรา เราเริ่มที่จะเอาตัวเองหรือกลุ่มของตนเป็นมาตรฐานในการวัดคน จึงเริ่มก่อเกิดอัตตาทั้งในตัวเราเองและอัตตาในกลุ่มของเรา

จนกระทั่งเราหลงเข้าใจไปว่าการกินมังสวิรัตินั้นเป็นปกติของชีวิตเป็นมาตรฐานที่สังคมของเราส่วนใหญ่ทำได้ เราก็จะยิ่งสงสัยมากขึ้นไปอีกเมื่อเห็นคนมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์ และแม้เราจะพยายามบอกหรือถ่ายทอดมากเท่าไหร่ก็ยังไม่มีผล ถึงจะมีผลก็เป็นผลที่กดดันเขา บีบคั้นเขา ใช้ความดีเข้าไปอัดกระแทกจนคนกินเนื้อสัตว์หวาดผวา

ในความจริงแล้วยุคสมัยนี้เราต้องยอมรับว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นเรื่องปกติ การลดเนื้อกินผักเป็นเรื่องไม่ปกติ คนปกติเขาไม่ทำกัน ไม่มีใครอยากพรากจากความอร่อยของเนื้อสัตว์ คนจำนวนมากแม้ได้เห็นภาพสัตว์ตาย ข้อความที่ร้องขอหรือกระตุ้นจิตสำนึก จนกระทั่งได้รับข้อมูลวิจัยมากมาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะเลิกเนื้อสัตว์ได้

คนที่เลิกได้ก็เลิกได้ แต่คนที่เลิกไม่ได้ก็คือเลิกไม่ได้ และไม่คิดจะเลิกกินเนื้อสัตว์ หากเราเอาความดีความชั่วความเมตตามาวัด เราก็จะได้ผลที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง เพราะแท้จริงแล้วไม่มีใครอยากทำชั่วหรืออยากเบียดเบียนคนอื่น แต่เพราะกิเลสอันคือความอยากเสพในตัวเขา กระตุ้นให้เขาอยากกิน ให้เขาแสวงหา ให้เขาหลงวนเวียนอยู่กับเนื้อสัตว์

2). ใจเขาใจเรา

เมื่อเรามีกิเลส การจะเลิกเบียดเบียนนั้นทำได้ยาก ถึงแม้จะแค่ในขั้นลดก็ยังทำได้ยากเช่นกัน ถ้าเราลองเข้าใจในเรื่องกิเลสให้มากอีกสักนิดก็จะไม่มีคำถามว่าทำไมคนอื่นไม่หันมากินมังสวิรัติ มากินผักลดเนื้อกัน เพราะเข้าใจในเรื่องกิเลสจึงจะสามารถปล่อยวางได้ ไม่ตั้งคำถาม ไม่กดดัน ไม่บีบคั้นใครๆ

หากเรามองว่าการกินมังสวิรัติเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเราแล้วมัวแต่มองไปยังคนที่กินเนื้อแล้วรู้สึกว่าตนเองนั้นทำได้ดีกว่า เก่งกว่า เมตตากว่า เบียดเบียนน้อยกว่า ความรู้สึกเหล่านี้จะก่อตัวเป็นอัตตาทำให้เราเป็นคนยึดดีและติดดีในที่สุด

ให้เราลองพิจารณาถึงคนที่มีศีลสูงกว่า เบียดเบียนน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น พระที่ฉันอาหารมื้อเดียว ท่านก็เบียดเบียนโลกน้อยกว่าเราจริงไหม เพราะปกติเรากินตั้งสามมื้อเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลาในการกิน แต่ท่านกินมื้อเดียวก็สามารถเอาเวลาที่ไม่ได้กินมื้ออื่นมาทำประโยชน์ได้มากขึ้น เหลืออาหารให้คนอื่นมากขึ้น เพราะไม่ได้เอาอาหารมาบำเรอตัวเองจนเกินความจำเป็น

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่ากินมื้อเดียวนี่ดีที่สุดในโลกนะ และการกินมื้อเดียวนี่มีประโยชน์มากนะ ทำให้เจ็บป่วยน้อย ลำบากกายน้อย เบากายเบาใจ มีกำลัง เป็นอยู่ผาสุก (กกจูปมสูตร) เห็นไหมมีแต่ประโยชน์ทั้งนั้นเลย ก็เหมือนกับการที่เราอยากให้คนอื่นหันมากินมังสวิรัตินั่นแหละ เราก็มองว่าเป็นสิ่งดี เป็นกุศล มีประโยชน์

ทีนี้เราลองมาดูบ้างถ้ามีคนยื่นสิ่งที่มีประโยชน์กว่าการกินสามมื้อ มาเสนอให้เรากินมื้อเดียวนี้ เราจะเอาไหม? เราจะเห็นดีกับเขาไหม? เราจะทำตามเขาไหม? ถึงสิ่งนั้นจะดีแต่มันก็ทำได้ไม่ง่ายเลยใช่ไหม?

ก็เหมือนกับที่เราไปอยากให้คนอื่นเขามากินมังสวิรัติเหมือนเรานั่นแหละ ถ้าเราเริ่มเห็นแล้วว่ากิเลสมันเป็นแบบนี้ มันทำงานแบบนี้ มันดื้อด้านแบบนี้ มันจะหาเหตุผลมากมายเพื่อไม่ให้เข้าถึงสิ่งที่ดี ถึงแม้ว่าจะมีสิ่งที่มีประโยชน์มาอยู่ตรงหน้ามันก็จะไม่เอาแบบนี้

เราก็จะเข้าใจคนที่ยังติดกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ได้โดยไม่สงสัย เพราะเข้าใจว่าเรื่องกิเลสเป็นเรื่องยาก ฐานใครก็ฐานมัน เขาทำได้เท่านั้นมันถูกตามกิเลสของเขาอย่างนั้น เราทำได้ขนาดนี้เรายังไม่อยากพัฒนาไปมากกว่านี้เลย

3). เจียมตัว

เมื่อเราเข้าใจเรื่องกิเลสเราก็จะมีแนวโน้มที่อ่อนนุ่มลง ไม่ถือตัวถือตน ไม่อวดดิบอวดดี อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นมังสวิรัติที่เจียมตัว ไม่กดดันใคร ไม่บีบคั้นใคร ไม่เสนอให้ใครขุ่นใจ มีการประมาณที่ดีให้เหมาะกับจิตใจของผู้ฟัง

การอ่อนน้อมถ่อมตนนี้เองคือคุณสมบัติของผู้เมตตา เป็นผู้มีธรรมะในตนเพราะไม่มีอัตตา ไม่ยกตนข่มท่านให้ใครมัวหมอง มีแต่จิตเมตตาให้ทั้งสัตว์และคนที่ยังมีกิเลส เข้าใจว่าสัตว์นั้นก็ต้องรับกรรมของเขา และเข้าใจว่าคนนั้นก็ต้องสู้กับกิเลสไปตามฐานที่เขามี จะให้เขาทำเกินกำลังที่เขามีมันจะไม่ไหว เขาจะทรมานจนกระทั่งไม่ทำเสียเลยยังจะดีกว่า

ความทรมานจากความยึดดีถือดีนี้เองคือ อัตตกิลมถะ หรือทางโต่งในด้านอัตตา ไม่เป็นไปในทางสายกลาง หากเราเองยังมีความยึดดีถือดีจนไปทำให้ใครลำบากใจอยู่นั้นก็ไม่สามารถเรียกว่าอยู่บนทางสายกลาง แม้ว่าเราจะสามารถออกจากความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว แต่ถ้ายังมีอัตตา ยึดว่าตนทำได้ทำไมคนอื่นทำไมได้ ทำไมเขาไม่เมตตา ทำไมเขาไม่เลิกเบียดเบียน มันก็ยังสร้างความทุกข์ทรมานให้กับตนเองและผู้อื่นอยู่ดีนั่นเอง

ดังนั้นนักมังสวิรัติที่เข้าใจในเรื่องมังสวิรัติจริงๆก็จะเป็นผู้ที่เข้าใจผู้อื่น เพราะเข้าใจว่ากิเลสเป็นแบบนี้ ก็จะเจียมตัวปฏิบัติตนเองในแนวทางลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจต่อไปโดยไม่สงสัยและไม่ไปยุ่งวุ่นวายในการปฏิบัติของคนอื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

7.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ฉันผิดตรงไหน

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,298 views 0

ฉันผิดตรงไหน

ฉันผิดตรงไหน

…เมื่อความรักได้ผ่านพ้นไป ทิ้งไว้เพียงแค่คำถาม ที่ไม่รู้คำตอบ

ในบางครั้งเราอาจจะได้ยินเรื่องราวของความรักที่จบไปอย่างไม่มีเหตุผล บางคู่คบกันมาเนิ่นนานกลับต้องมาเลิกรากันด้วยเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง หรือกระทั่งบางคู่ที่ต้องเลิกกันโดยไม่รู้สาเหตุของปัญหาที่แท้จริง ทิ้งไว้เพียงความสงสัย มีแต่คำถามที่ไม่มีคำตอบ ท่ามกลางความเงียบงันนั้น เสียงในใจกลับดังก้องขึ้นมาว่า” ฉันผิดตรงไหน?

1). ผิดที่ใคร?

ท่ามกลางความสับสนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคู่ที่เลิกรากันโดยไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจรับไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์อันนี้พิศวงงงงวยเหล่านั้น จึงมักจะพยายามคิดหาคำตอบว่ามันเกิดจากอะไรด้วยเหตุผล ด้วยตรรกะ ด้วยข้อมูลที่รับรู้มา เป็นวิธีคิดที่ใช้กันโดยทั่วไป

และโดยทั่วไปคนเรามักจะไม่มองความจริงตามความเป็นจริง เมื่อใช้ความคิดที่ยังมีกิเลสปน แม้ว่าจะมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมก็จะไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ ซึ่งจะเห็นเพียงความจริงตามที่กิเลสกำหนดให้เห็นเท่านั้น จึงกลายเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ใครผิด ใครเริ่มต้นก่อน ใครทำให้รักของเราต้องเปลี่ยนไป เป็นไปในทิศทางของกิเลสของเรา

เรามีกิเลสมาก ความจริงก็จะบิดเบี้ยวมากตามไปด้วย กิเลสยังสร้างความจริงลวงขึ้นมาเสริมจากเหตุการณ์จริงได้อีก เช่นคู่รักทำอย่างหนึ่ง แต่เราไปตีความว่าเขาทำอีกอย่างหนึ่ง แล้วปั้นจินตนาการต่อฟุ้งกระจายจนความลวงเป็นความจริงขึ้นมาได้ ปั้นจิตให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้ เรียกว่า “มโนมยอัตตา” คือการปรุงแต่งจิตใจ สร้างภาพมายา ขึ้นเป็นตัวเป็นตนแล้วยึดว่าเป็นของจริง ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนสองคนคุยกันไม่รู้เรื่องเพราะเห็นความจริงไม่ตรงกัน

เมื่อมีความเห็นต่างเราก็มักจะเชื่อไปในทางที่เราคิด เราเห็น เราเข้าใจ เราเลือกเชื่อในสิ่งที่เห็นแต่มักจะมองไม่เห็นสิ่งที่เป็นจริงๆ เพราะแท้จริงแล้วมีพลังอำนาจบางอย่างที่อยู่เหนือกว่าสิ่งที่เห็นและเข้าใจนั่นคือกรรมและกิเลส

2). ผิดที่เขา?

ความผิดเกิดขึ้นจากคนอื่นอย่างชัดเจนก็อาจจะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่หากความผิดพลาดนั้นเกิดจากความเข้าใจของเราที่มองเห็นว่าเขาทำผิดนั้นก็จะเป็นเรื่องที่ยาก

เพราะหากเราไปตัดสินว่าใครผิดใครถูกด้วยความเชื่อหรือความเห็นของเราที่ยังมีกิเลสหนาอยู่นั้น ผลของการตัดสินมันก็จะผิดตามไปด้วย ซึ่งโดยมากแล้วคนจะไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำผิด ถึงจะยอมรับก็รับครึ่งเดียวแต่เวลาคนอื่นทำผิดก็เพิ่มโทษมากขึ้นกว่าความเป็นจริง มองว่าคนอื่นผิดเป็นหลัก ไม่มองพยายามมองหาสิ่งผิดในตนเอง ผลักภาระในกรรมนี้ให้คนอื่น ไม่ยอมรับกรรมนี้เป็นของตน

การมองว่าความผิดมาจากคนอื่นนั้นเป็นเพราะเรามีอัตตาและไม่เข้าใจในเรื่องกรรม ในส่วนของการมีอัตตาคือเรามักจะเชื่อว่าเราถูกเสมอ เราไม่เคยผิด คนอื่นผิด ถึงเราผิดเราก็ผิดไม่มาก คนอื่นผิดมากกว่า เราเป็นคนดี เราดีพร้อมทุกอย่างแล้ว ทำทุกอย่างดีแล้ว แต่เขาไม่ทำดีเหมือนเรา

อัตตา หรือความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนเหล่านี้ คือการยึดศักดิ์ศรี ยึดความถูกต้อง ยึดความเป็นใหญ่มาเป็นตัวตนของเราด้วย เมื่อเรามีอัตตามาก เราก็จะเชื่อมั่นมาก แต่เป็นความเชื่อมั่นที่เคลือบด้วยกิเลส เป็นกิเลสแท้ๆ ยิ่งเชื่อก็ยิ่งผิด ยิ่งยึดก็ยิ่งบาป

เมื่อไหร่ที่เราเชื่อมั่นว่าเราถูกเขาผิดมากเข้า ก็จะทำให้ความเข้าใจในเรื่องกรรมผิดเพี้ยนไปด้วย อัตตานี้เองคือตัวบังทุกอย่างไว้ และโยนความผิดให้คนอื่น ตั้งตนเป็นผู้ถูกกระทำ เอาดีเข้าตน เอาชั่วใส่คนอื่นอย่างแนบเนียน

3). ผิดที่เรา?

คนที่สามารถก้าวข้ามอัตตาได้ก็จะมีโอกาสจะกลับมามองที่ตนเอง การที่เราไม่เพ่งโทษหรือไม่โยนความผิดให้คนอื่นนั้นเป็นสิ่งที่สมควรอยู่แล้ว

ทุกอย่างนั้นมีเหตุในการเกิดและปัญหาของคู่รัก ก็ต้องมีเราเป็นส่วนร่วมในเหตุนั้นด้วยเช่นกัน แต่จะเริ่มตั้งแต่ตอนไหนแล้วสิ่งใดเป็นปัจจัยให้เกิดก็อาจจะทราบได้ยาก เพราะบางครั้งเราอาจจะไม่มีโอกาสได้ปรับความเข้าใจ ได้แลกเปลี่ยน ได้ไขปัญหาต่างๆร่วมกัน

แม้ว่าเราเองจะยอมรับความผิดพลาดทั้งหมดกลับมาที่ตัวเรา มองตัวเราว่าเป็นคนผิด มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโดยไม่โทษคนอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถหายคลางแคลงใจจากคำถามที่ว่า “ฉันผิดตรงไหน?”

แต่การยึดมั่นถือมั่นว่าเราผิดนั้นก็เป็นอัตตาอีกเช่นกัน แต่จะซับซ้อนกว่าในแบบโยนความผิดไปให้คนอื่นเขา ซึ่งคนที่ยึดมั่นถือมั่นว่าตนผิดและยินดีรับผิด ยอมอมทุกข์นั้นก็เหมือนคนที่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ยึดว่าฉันผิดจึงจะดี ยึดว่าฉันต้องรับทุกข์ทุกอย่างไว้เองจึงจะดี

การยอมรับว่าเราผิดนั้นไม่จำเป็นต้องยึดจนทรมานร่างกายและจิตใจของตัวเอง เพียงแค่ยอมรับให้เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่าเราผิดพลาดตรงไหน นิสัยใดบ้างที่ไม่ส่งผลดี สิ่งใดที่ทำลงไปแล้วเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ ก็ยอมรับผิดไปตามจริง แต่ไม่จำเป็นต้องแบกทุกข์และความผิดนั้นไว้เป็นตัวเป็นตนของเรา

เพราะการทำผิดนั้นไม่ได้หมายความว่า ชีวิตที่เหลือต้องทุกข์ระทมขมขื่น แต่การทำผิดนั้นก็หมายถึงการทำผิดครั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเอาความผิดในครั้งก่อนมากำหนดความผิดในครั้งต่อไป เพราะถ้าเรารู้สาเหตุจากความผิดพลาดจริงๆแล้วแก้ไขมันได้ ความผิดแบบเดิมก็จะไม่เกิดอีกในครั้งต่อไป

4). ผิดที่เราก็ได้นะ…

ในการยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคู่รัก มักจะไม่ได้ชัดเจนและสามารถมองออกได้ง่ายว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เริ่มต้นจากตรงไหน ปัญหาสะสมมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และด้วยความเป็นคู่รัก จึงมักจะมีการแสดงออกที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าที่คนทั่วไปแสดงออก บางครั้งอาจจะเหมือนยอมรับแต่ในใจก็ไม่ยอมรับ บางครั้งเหมือนจะไม่ยอมรับแต่จริงๆก็ยอมรับแล้วแต่ไม่กล้าบอกเพราะกลัวจะเสียฟอร์ม

การยอมรับผิดโดยการประชดประชันนั้นเป็นความซับซ้อนของกิเลส เราแสดงออกว่าเรายอมรับผิดแต่ในใจเรากลับมองว่าคนอื่นผิด แต่เราเลือกที่จะไม่พูดไปเพราะเหตุปัจจัยต่างๆที่มีผลให้เราไม่ยอมแสดงออก การประชดแบบนี้จะทำให้ปัญหายุ่งยากซับซ้อนเข้าไปอีก

หรือหลายคนที่ใช้วิธีเงียบ ปกปิดความรู้สึก ทำเสมือนว่ายอมรับผิด นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว แต่ถ้าในใจไม่ได้รู้สึกว่าความผิดพลาดเหล่านั้นเกิดจากตนเอง ยังคงเชื่อมั่นว่าตนถูกคนอื่นผิด ก็เหมือนการกดข่มปัญหาไว้ไม่ให้แสดงตัวออกมา ปล่อยให้มันสะสมรอวันระเบิดในโอกาสต่อไป

แต่ในบางครั้งที่ปัญหานั้นมีแนวโน้มที่จะลุกลาม การยอมรับผิด ยอมเป็นคนดีรับทุกอย่างไว้เอง เพื่อไม่ให้มีการกระทบกระทั่งหรือบาดหมางกันไปมากกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นกุศลอยู่บ้าง แม้ในใจจะไม่ได้ยอมรับเสียทีเดียว แต่หากทำไปเพื่อไม่ให้เหตุการณ์นั้นลุกลามบานปลายสร้างปัญหามากกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่สมควรจะยอม

5). ผิดที่กรรม?

กรรมคือสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนและยุติธรรมที่สุดในโลก เราไม่มีวันที่จะได้รับสิ่งใด เหตุการณ์ใด ความรู้สึกใด โดยที่เราไม่ได้ทำสิ่งนั้นมา สิ่งที่เราได้รับไม่ว่าจะเป็นการถูกเข้าใจผิด การทอดทิ้ง การเลิกรา ล้วนเป็นสิ่งที่เราทำมาแล้วทั้งนั้น

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลของกรรมของเรา ซึ่งผลของกรรมนี้เองเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะมาไม้ไหน เมื่อไหร่ สิ่งที่เจออาจจะเป็นสิ่งที่ทำในชาตินี้ก็ได้ ชาติก่อนก็ได้ หรือชาติก่อนๆย้อนหลังไปอีกสิบชาติ ร้อยชาติ พันชาติก็ได้ นั่นเพราะผลกรรมที่เราทำไว้ยังไม่ได้ถูกชดใช้จนหมด เราจึงต้องมาคอยชดใช้กรรมที่เราทำไว้นั่นเอง

หลายคนรู้นิยามของกรรม แต่ไม่เชื่อเรื่องกรรม ไม่ชัดเจน รู้ตามทฤษฏีว่าทุกอย่างที่ได้รับเราทำมา แต่เวลาเจอสิ่งที่ทำให้ไม่ถูกใจ ทำให้ไม่พอใจ ทำให้ขัดข้องใจหรือสงสัย ก็จะรู้สึกว่ากรรมไม่ยุติธรรม ฉันไม่ควรได้รับกรรมนี้ บ่นคนนู้นด่าคนนี้ มีแต่คนอื่นไม่ดีไปหมด ลืมมองกลับมาว่าทั้งนี่เป็นกรรมของเราเอง เราทำมาเอง ทั้งหมดเป็นผลงานของเราเองเรานี่แหละตัวแสบเลย ยิ่งได้รับกรรมที่ทำให้เจ็บปวดรวดร้าวมากเท่าไหร่ นั่นก็หมายถึงเราก็เคยทำสิ่งที่เลวร้ายมามากกว่านั้น เพราะเราจะได้รับเพียงส่วนหนึ่งที่เราทำ ไม่ใช่ทั้งหมดในทีเดียว

เช่นเดียวกับรักร้าวที่ไร้คำตอบ การเลิกราที่ไม่มีบทสรุป เราก็ทำมาเอง ในชาติใดชาติหนึ่งเราก็เคยไม่ถูกใจใครแล้วก็ทิ้งเขาเอาตัวรอดมาคนเดียวโดยไม่สนใจความรู้สึกของเขาเช่นกัน นั่นก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราไม่สามารถหาคำตอบได้เลยว่าความรักที่จืดจาง หรือกระทั่งรักที่พังทลายลงไปนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร

กรรมจะดลให้เราได้รับทุกข์อย่างที่เราเคยทำมา ให้เราอยู่กับความขุ่นข้องหมองใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ให้เราสงสัยและทุกข์ไปเรื่อยๆ จมอยู่กับทุกข์จากความไม่ปล่อยวางในเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และเราเองก็ไม่มีปัญญาที่จะรู้คำตอบที่ชัดเจนนั้นด้วย

แต่เมื่อกรรมให้ผลจนหมด จะเหมือนฟ้าเปิด เหมือนเมฆฝนหายไป เราจะสามารถเข้าใจคำตอบของเรื่องราวต่างๆได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครบอก เข้าใจกรรมและผลของกรรมได้เอง ซึ่งอาจจะมีสิ่งกระตุ้นหรือไม่มีก็ได้เช่นกัน

ซึ่งการจะทำให้ผลกรรมหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเริ่มจากการยอมรับความผิดพลาดของตัวเองด้วยใจจริงเสียก่อน ยอมรับว่าตัวเราคือส่วนหนึ่งของปัญหา และพยายามแก้ไขสิ่งไม่ดีเหล่านั้นด้วยการทำดีให้มากเท่าที่จะทำได้ เมื่อกรรมชั่วนั้นส่งผลให้เราทุกข์ ให้เราโง่ ให้เราจมอยู่กับปัญหา กรรมดีก็จะส่งผลให้เราสุข ให้เรามีปัญญา ให้เราออกจากปัญหาได้เช่นกัน ดังนั้นการทำดีจะช่วยทำให้ปัญหาได้คลี่คลายเร็วขึ้น ได้คำตอบในชีวิตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

คำตอบนั้นอาจจะไม่มีคำตอบใดๆเลยก็เป็นได้ อาจจะเป็นคำตอบสั้นๆง่ายๆว่า มันจบไปแล้วเราจะแบกไว้ทำไม ว่าแล้วจิตใจก็โปร่งโล่งสบายจากการไม่ต้องมานั่งรอคอยคำตอบที่ไม่มีวันจะได้รับ

แต่บางครั้งกรรมก็ซับซ้อนกว่าที่คิด คือสามารถทำให้เราหลงว่าบรรลุธรรมได้ หลงว่าหลุดพ้นได้ จะมีอาการเพี้ยนๆที่เป็นไปในทิศทางเพิ่มกิเลส แต่เจ้าตัวจะเข้าใจว่ามีความสุข เช่นมีความสุขกายสบายใจที่ได้โยนความผิดให้กับคนอื่นด้วยใจเป็นสุข …อาการจะขัดๆเพี้ยนๆแบบนี้ ปากก็บอกว่าเป็นสุข แต่การกระทำจะสร้างบาป มันขัดกันไปมา ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นไปเพื่อล้างกิเลส ในกรณีหมดกรรมชั่วจริงๆ คำตอบจะเป็นไปในทางกุศล เป็นไปในทางลดกิเลสอย่างเดียว

ผลของกรรมนั้นเป็นเรื่องอจินไตย เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิดคำนวณ เราไม่สามารถรู้ได้ว่าสุดท้ายกรรมจะผ่านพ้นตอนไหน อย่างไร สิ่งที่เราทำได้เพียงแค่การทำดีให้มาก และการทำดีที่มีผลมากที่สุดก็คือการดับกิเลสซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหมดนั้นเสีย

ถ้าเราชัดเจนเรื่องกรรม เราจะไม่กล่าวโทษหรือแม้แต่จะคิดโทษใครเลย จะไม่มีใครผิดเลยนอกจากเรา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเราทำมาเองทั้งนั้น เราจะยินดีรับกรรมนั้นใจที่เป็นสุข เข้าใจและยอมรับสิ่งที่ตัวเองทำมาด้วยความยินดี เพราะได้รับกรรมชั่วแล้ว กรรมนั้นก็หมดไป ชีวิตเราก็จะดีขึ้นเพราะใช้หนี้ไปอีกเรื่อง

6). ผิดที่กิเลส

ตัวการแห่งทุกข์ทั้งหมดก็คือกิเลส กิเลสไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ความอยากเหล่านั้นแท้จริงไม่ใช่ส่วนหนึ่งในชีวิตเรา แต่เพราะความโง่ ความไม่รู้ของเราจึงนำกิเลสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต รับกิเลสเข้ามาเป็นตัวเป็นตนของเรา แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าฉันคือกิเลส กิเลสคือฉัน เป็นเนื้อเดียวกันอย่างแยกไม่ออก

เมื่อเรามีกิเลส เราก็จะไปสร้างกรรมชั่วตามแต่กิเลสจะผลักดัน ยกตัวอย่างเช่น มีคนมาชอบเรา แต่เราไม่ชอบเขาเพราะเขาจนและหน้าตาไม่ดี นั่นคือเขาไม่สามารถผ่านมาตรฐานสนองกิเลสของเราได้ คู่ของเราต้องมีความสามารถในการสนองกิเลสของเรามากกว่านี้ นี่คือเรากำลังใช้กิเลสของเราในการวัดคุณค่าของคนแล้ว ซึ่งเมื่อเราทำกรรมเช่นนี้ การที่เราจะได้รับผลกรรมในแนวทางที่ว่า ถึงแม้เราจะดีแสนดีแต่เขาก็ไม่หันมาสนใจเราเลยก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

หรือ เราคบกันแฟนคนหนึ่ง ด้วยความที่เขามาจีบเรา เราก็ใช้โอกาสเอาแต่ใจ เรียกร้องสิ่งต่างๆ ซึ่งเรากำลังเพิ่มกิเลสของเราและกำลังทำให้คนอื่นทุกข์ นี่ก็เป็นกรรมชั่วที่เราทำเช่นกัน ซึ่งการที่เราจะได้รับผลกรรมในแนวทางที่ว่า ไม่ว่าเราจะสนองกิเลสของคู่รักเท่าไหร่ เขาก็ไม่เคยพอ แถมเอาแต่ใจมากขึ้นอีกด้วย ถ้าจะเกิดเรื่องแบบนี้ในชีวิต ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

เพราะเรามีกิเลสเราจึงสร้างกรรมชั่ว และเรานั่นเองก็ต้องมาคอยรับผลกรรมชั่วที่เราทำไว้ คนที่มีความเห็นความเข้าใจว่าคนเราเกิดมาชาติเดียวใช้ชีวิตให้เต็มที่ ก็จะขยันสนองกิเลส เพิ่มกิเลส ขยันทำชั่ว แล้วก็จะได้มาซึ่งผลกรรมชั่ว ซึ่งจะกลายเป็นสมบัติติดตัวของเขาต่อไปทั้งในชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป

คนที่ไม่ชัดเจนเรื่องกรรม ก็จะไม่รู้ในเรื่องกิเลส แม้จะเป็นทุกข์อยู่ก็จะไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นกิเลส ต้องจมอยู่กับความเศร้าหมองอยู่อย่างนั้น แม้จะมีคนมาบอกทางแต่ก็เหมือนมองไม่เห็น ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน กรรมมันส่งผลแบบนี้ มันบังตาแบบนี้ นี่คือผลกรรมชั่วจากการที่เรามีกิเลส มันบังได้แม้กระทั่งการเห็นทางพ้นทุกข์

ดังนั้นการที่เรามามัวถามคำถามว่าฉันผิดตรงไหน? เลิกกับฉันเพราะอะไร? เป็นการหาคำตอบที่ปลายเหตุ ถึงแม้ว่าเขาจะบอกแต่ก็อาจจะไม่ใช่ความจริง ถึงแม้จะเป็นความจริงก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าใจตามที่เขาเข้าใจ กรรมจะบังให้ทุกอย่างคลาดเคลื่อน ให้เราทุกข์ ให้เราจมอยู่กับคำถาม ที่ไม่มีวันที่จะสามารถเข้าใจและยอมรับในคำตอบนั้นได้

เราจึงควรกลับมาที่เหตุของปัญหาทั้งหมด เหตุของกรรมชั่วที่ดลบันดาลให้เราต้องพบกับความทุกข์แสนสาหัส กรรมชั่วเหล่านั้นก็มาจากกิเลส ดังนั้นการจะพาตัวเองให้พ้นจากคำถามต่างๆ ให้พ้นจากกรรมชั่วเหล่านั้นคือการทำกรรมดีขึ้นมาใหม่ โดยการทำลายเหตุแห่งกรรมชั่วอันคือกิเลสให้สิ้นซาก

– – – – – – – – – – – – – – –

30.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

วิธีพิสูจน์รักแท้

December 24, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 17,229 views 0

วิธีพิสูจน์รักแท้

วิธีพิสูจน์รักแท้

…รักนั้นแท้จริงหรือ? เป็นกุศลจริงหรือ? นำมาซึ่งความสุขจริงหรือ?

ความต้องการที่จะมีใครสักคนเข้ามาอยู่ข้างกาย เข้ามาเป็นคู่ชีวิตนั้นเป็นความต้องการที่ยากจะต้านทานได้ แม้ว่าจะได้ยินคำบอกเล่าเรื่องจริงของความรักมามากมาย แต่เราก็มักจะเลือกเชื่อในมุมที่เราต้องการ เลือกที่จะเชื่อว่าความรักนั้นคือสิ่งที่สวยงาม เชื่อว่าความรักของเราคือความสุข คือความยั่งยืน เคียงคู่กันสร้างกุศลร่วมกันตลอดไป

การสร้างกุศลร่วมกันนั้นดูจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่ทำให้เราคิดว่าการมีคู่นั้นดี เพราะเป็นไปในแนวทางร่วมกันทำดี ร่วมกันเจริญ คงเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถต้านทานความดีความเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบทั้งหน้าตา ฐานะ นิสัยของคู่รัก เราจึงสร้างเหตุผลต่างๆนาๆขึ้นเมื่อเพื่อให้เราได้มีคู่อย่างมั่นใจ เต็มใจ ภาคภูมิใจ เพื่อให้เราได้เสพสมใจในความรัก ในความมั่งคั่ง ในความสมบูรณ์ตามแบบที่โลกเข้าใจ

…รักแท้นั้นคืออะไร?

รักนั้นคือความต้องการ คือตัณหา คือความอยาก ส่วนคำว่าแท้นั้นหมายถึง เที่ยง ไม่แปรเปลี่ยน ไม่แปรปรวน ไม่หวั่นไหว ความรักแท้ก็คือความรู้สึกต้องการที่ไม่หวั่นไหว ในเรื่องของคู่รักนั้นก็หมายถึงความรู้สึกที่มีต่อคู่ของตนอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

คนเรานั้นมีความพยายามที่จะทำสิ่งต่างๆเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีหรือร้ายก็จะพยายามไขว่คว้าให้ได้มาเสพสมใจ คนรักก็เช่นกัน เป็นหนึ่งในเรื่องที่เราต้องพยายาม ในมุมของผู้ชายก็ต้องดูแลเอาใจ เลี้ยงดู ป้อนคำหวานให้คำสัญญา ในมุมของผู้หญิงก็คล้ายๆกันแต่ก็มักจะมีเรื่องของความงามเข้ามาเกี่ยวมากหน่อย คือต้องทำตัวให้งาม ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ว่าง่ายๆก็คือต้องพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ เพื่อที่จะให้ชายสักคนมาหลงใหลได้ปลื้ม

เราจึงพยายามเร่งและบำรุงบำเรอกิเลสของอีกฝ่ายให้ตกลงปลงใจเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ ถาวร มั่นคง ซึ่งในระยะนี้หลายคนจะเรียกว่า “ช่วงโปรโมชั่น” เป็นช่วงที่แต่ละฝ่ายจะพยายามให้ว่าที่คู่รักได้เห็นภาพที่ดีที่สวยงามของตนเอง เพื่อที่จะได้อีกฝ่ายมาเสพสมใจ ชายก็เสพหญิง หญิงก็เสพชาย เสพในตัวตนของกันและกัน

ทีนี้ช่วงโปรโมชั่นนั้นจะสั้นจะยาวก็ขึ้นอยู่กับกิเลส ถ้ากิเลสมากก็จะสั้น ถ้ากิเลสน้อยก็จะยาว ยกตัวอย่างเช่นพ่อบุญทุ่ม ที่ดูแลเทคแคร์เอาใจ เลี้ยงดูทั้งกายและใจของอีกฝ่ายหมายจะให้เขาหลงรัก ลักษณะนี้ก็มักจะเป็นแบบสั้น แต่ถ้าคบกันเป็นเพื่อนช่วยเหลือกันดูแลกันไปแบบนี้ก็มักจะยาวหน่อย

แต่เมื่อปัจจัยต่างๆได้เปลี่ยนไป เช่น เปลี่ยนจากคนที่คบหาเป็นแฟน จากที่เคยมีระยะห่างก็จับมือถือแขนกอดจูบใกล้ชิด จากที่ไม่เคยมีอะไรกันก็มีอะไรกัน จากแฟนมาเป็นสามีภรรยา จากที่เคยเต่งตึงกลับหย่อนยาน จากที่เคยมีกันสองคนก็มีคนเพิ่มมาหลายคนจากที่เคยไม่มีภาระก็มีภาระ จากที่เคยสนองกิเลสกันได้ก็เริ่มจะไม่สามารถสนองกันได้จนเต็มอิ่ม

ปัจจัยเหล่านี้เองที่จะมาทดสอบความรักแท้ คนที่อ้างนักอ้างหนาว่าตนเองมีรักแท้ รักที่ตนมีเป็นของแท้ คนที่ตนเองเลือกคือเนื้อคู่ คือคนที่ฟ้าส่งมาให้ คือคนที่จะร่วมชีวิตไปจนตาย หลังจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ “ความรัก” ยังจะสามารถคง “ความแท้” ได้หรือไม่

เราจะเห็นได้ว่าความจริงมักจะเปิดเผยหลังการเปลี่ยนแปลง ว่าความรักนั้นแท้หรือไม่แท้ เอาของปลอมมาหลอกขายเป็นของแท้หรือไม่ โดยการดูจากเหตุการณ์เหล่านี้ หลายคู่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากได้กัน หลายคนเปลี่ยนไปหลังจากเป็นแฟนกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากแต่งงานกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากมีลูกด้วยกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากผ่านไปเป็นสิบยี่สิบปีก็มี

และหลายคู่เหล่านั้นทำได้แค่ประคองชีวิตคู่ต่อไปแบบที่ทั้งรักทั้งชัง หวานอมขมกลืน ใช้ชีวิตแบบน้ำท่วมปาก จะพูดว่าชีวิตดีก็พูดได้ไม่เต็มปาก แต่จะบอกทุกข์มันก็มีสุขร่วมด้วยอยู่บ้าง สุขทุกข์ปนกันไป ทุกข์มากหน่อย สุขนิดเดียว แต่ก็ยอมทนต่อไป บางคู่ทนไม่ได้ก็เลิกราหย่าร้างกันไป ทิ้งไว้เพียงคนที่อกหักผิดหวังกับความรัก รังเกียจความรัก ประณามความรัก

ทั้งหมดนั้นเกิดก็เพราะว่า “ความรักมันไม่แท้ตั้งแต่แรก” ไม่ใช่ว่าตอนแรกแท้แล้วตอนหลังมันไม่แท้ อันนี้มันเล่นคำ ของแท้จริงๆมันต้องไม่แปรเปลี่ยน ไม่เวียนกลับ ไม่เปลี่ยนจากรักเป็นเมินเฉย ไม่เปลี่ยนจากความต้องการเสพเป็นต้องการให้ออกไปจากชีวิต

การพิสูจน์ความรักแท้โดยรอการทดสอบจากกาลเวลาและกรรมนั้นช้าและเสี่ยง เพราะบางคู่กว่าจะรู้ตัวก็มีลูกเป็นเครื่องผูกมัดไปแล้ว หนีไม่ได้แล้ว ยังไงก็ต้องแบกไว้แบกทั้งลูกแบกทั้งความขมขื่นที่ได้รับ เราจึงควรศึกษาวิธีพิสูจน์รักแท้ในหัวข้อต่อไป

…การสร้างกุศลร่วมกันคืออะไร?

หลายคนที่คิดจะมีคู่ก็มักจะใช้เหตุผลเรื่องของการสร้างกุศล ร่วมบุญ สร้างความเจริญทั้งทางโลกทางธรรมไปด้วยกัน การที่คนเราจะเจริญไปพร้อมๆกับคู่รักได้นั้น ต้องมี ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาที่เสมอกัน (สมชีวิสูตร) ความเสมอกันนี้จะทำให้ได้พบเจอกันในชาติภพต่อๆไป ชาติในที่นี้ไม่ใช่แค่ชีวิตหน้า แต่เป็นชีวิตนี้ที่จะเกิดความรู้สึกต่างๆในอนาคตต่อไป

คู่รักที่ประคองคุณสมบัติสี่ข้อนี้ให้เสมอกันได้จะทำให้ชีวิตรักเป็นไปอย่างราบรื่น ได้อยู่ด้วยกันนานตราบเท่าที่ยังเสมอกัน แต่ความเสมอกันนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ความดีเท่านั้น อาจจะหมายถึงความเลวเสมอกันก็ได้ เช่นไม่มีศรัทธาในความดีเหมือนกัน ไม่ถือศีลเหมือนกัน ไม่เสียสละเหมือนกัน ไม่มีปัญญาเหมือนกัน คู่ที่เสมอกันเหล่านี้ก็สามารถร่วมภพร่วมชาติกันสร้างบาป เวร ภัยไปได้กันทุกภพทุกชาติเช่นกัน

ดังเป้าหมายของเราที่ตั้งไว้ว่าเราจะครองคู่กันเพื่อร่วมกันสร้างกุศล ร่วมบุญ สร้างความเจริญต่างๆ เราจึงไม่มีทางที่จะเลือกวิธีที่ทำให้ชีวิตตกต่ำอย่างแน่นอน เช่นเดียวกันกับคำว่าการสร้างกุศลนั้นคือการเพิ่มความดี นั่นหมายถึงเราต้องพากันทำดี เร่งทำความดีและจะไม่หยุดอยู่ที่เดิมแล้วใช้ชีวิตเสพสุขไปวันๆอย่างแน่นอน

การสร้างกุศลร่วมกันนั้นหมายถึงการยกระดับศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ไปด้วยกันกับคู่รัก ในบทนี้จะขอยกตัวอย่างในกรณีของศีลเพราะเห็นภาพได้ชัดเจน

ความเจริญของคนนั้นเริ่มต้นจากการมีศีล มีศีลก็มีธรรม มีศีลก็มีปัญญา จริงๆแล้วทั้งสี่ข้อนี้ไม่ได้แยกกันแต่เชื่อมโยงกันร้อยเรียงผูกพันกันอย่างน่ามหัศจรรย์ เมื่อหยิบยกข้อใดข้อหนึ่งมาอธิบาย ก็สามารถขยายไปถึงข้ออื่นๆได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราตั้งใจจะยกระดับการทำกุศลของชีวิตคู่ เราจึงตัดสินใจถือศีลในข้อที่ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์อื่น เราจึงเลือกที่จะกินมังสวิรัติ การเลือกที่จะถือศีลนี้ต้องมีศรัทธา และมีความเสียสละความอยากเพื่อละเว้นการเบียดเบียน รวมถึงมีปัญญาที่จะทำให้การถือศีลเป็นไปในแนวทางที่พาพ้นทุกข์ได้

เมื่อเราถือศีลดังนี้ ก็จะเป็นกุศล เป็นความดีในชีวิตเรา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคู่ของเราจะสามารถถือศีลตามได้ด้วย เช่นเรากินมังสวิรัติ แต่เขากลับยินดีในการกินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีจะเป็นมังสวิรัติ เท่านี้ศีลก็เริ่มไม่เสมอกันแล้ว เพราะศรัทธาไม่เสมอ จาคะไม่เสมอ และปัญญาไม่เสมอ จึงไม่ยินดีที่จะถือศีลร่วมกัน

เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำขององค์ประกอบทั้งสี่ข้อนี้แล้ว ก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตคู่เกิดขึ้น เหมือนเทวดากับมารอยู่ด้วยกัน วิธีที่จะทำให้กลับมาเป็นคู่กันแบบปกติมีสองทาง ทางหนึ่งคือทำให้เป็นเทวดาทั้งคู่ ทางที่สองคือกลับไปเป็นมารเหมือนกันทั้งคู่

แต่ในเมื่อเราบอกว่าเรามีคู่เพื่อทำกุศลไปร่วมกัน เพื่อความเจริญทั้งทางโลกทางธรรมไปด้วยกัน หากคำตอบของเราที่ว่าจะยอมลดศีลไปเพื่อให้ชีวิตได้เคียงคู่กันอย่างปกตินั้น ก็สามารถเป็นเหตุผลได้แล้วว่าจริงๆเราไม่ได้อยากมีคู่เพราะจะทำกุศลร่วมกันหรอก เราแค่อยากมีคู่เฉยๆและอยากมีเพื่ออะไรก็มีกิเลสมากมายมารองรับในผลนี้ ส่วนการทำกุศลนั้นก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างให้เราได้เสพคู่อย่างดูมีเหตุมีผลเท่านั้นเอง

คนที่มีปัญญาก็จะไม่รีบแต่งงาน จะดูกันไปคบกันไป เพิ่มอธิศีล คือกระทำศีลให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ดูว่าคนที่เราเรียกว่าเนื้อคู่นั้นจะตามศีลเราไหวไหม เขามีอินทรีย์พละมากพอไหม เขามั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงไหม ถ้าเรายกระดับศีลเรื่อยๆแล้วเขาตามไม่ทัน นั่นไม่ใช่เนื้อคู่ของเราอย่างแน่นอน เพราะถ้าเราสามารถถือศีล ปฏิบัติศีลยากๆได้ แต่เขาทำไม่ได้ ก็คือศีลไม่เสมอกัน ดังนั้น ศรัทธา จาคะ ปัญญา ก็จึงไม่เสมอกัน คนที่มีบุญบารมีไม่พอเหมาะกับเราก็ไม่มีทางเป็นเนื้อคู่เราได้อย่างแน่นอน

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ศีลจะเป็นสิ่งที่ทดสอบความแท้ของคน ทดสอบบุญบารมีของคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนจะสนใจทดสอบคู่ของตน ในทางกลับกันก็ยังยอมยินดีลดศีลของตนเพื่อให้ตัวเองได้มีคู่อีกด้วย เช่นบางคนกินมังสวิรัติได้ แต่เพื่อให้ได้มีสามีหรือภรรยาเป็นตัวเป็นตน ก็ยอมเลิกกินมังสวิรัติกลับไปกินเนื้อสัตว์เพราะคู่คนนั้นเขาไม่กินมังสวิรัติ ความจริงที่เกิดในโลกมันก็แบบนี้ ใครจะยอมเพิ่มศีลเพื่อคัดคนที่ตัวเองหลงออกจากชีวิตได้ เวลาคนหลงแล้วธรรมะก็ไม่เกิด กิเลสมันชั่วแบบนี้เพราะมันทำให้เราทิ้งศีลธรรม ยอมลดคุณงามความดีกลับไปชั่วเพื่อไปเสพให้สมใจตามที่กิเลสต้องการ

…ความสุขในการมีคู่คืออะไร?

การที่เราไปมีคู่นั้น ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากความหลงสุข หลงว่ามีคู่แล้วจะเป็นสุข หลงว่าชีวิตสมบูรณ์แล้วจะเป็นสุข ถ้าถามว่าความสุขของการมีคู่คืออะไรก็มักจะได้คำตอบแบบอุดมคติว่าอยู่ด้วยกัน ดูแลกัน พึ่งพากัน ฯลฯ ซึ่งจริงๆความสุขเหล่านี้มีอยู่แล้วในครอบครัว ในพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มิตรสหาย เราสามารถใช้คำเหล่านี้ได้กับคนใกล้ตัวของเราทุกคน

สิ่งเดียวที่ต่างออกไปจากสิ่งที่ได้รับจากพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มิตรสหายก็คือการสมสู่หรือเซ็กส์ (sex)…เรามักจะปิดบังความจริงไว้ใต้เหตุผลสวยหรูต่างๆให้ดูว่าความรักของตนนั้นสวยงามเลิศเลอและสูงค่า แต่สุดท้ายก็มาติดตรงเรื่องเซ็กส์ เรื่องการสมสู่ เป็นเรื่องลับๆที่ไม่มีใครเคยบอกกล่าว ว่าจริงๆแล้วฉันมีคู่และฉันแต่งงานก็เพราะอยากมีเซ็กส์นี่แหละ เรื่องเซ็กส์จึงเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำ เป็นปัญหาที่หลายคนสงสัยว่าทำไมหลายคนหลายคู่จึงทะเลาะเลิกรากัน หรือจนกระทั่งมีปัญหา ชู้ กิ๊ก เมียน้อย ฯลฯ เรื่องราวต่างๆเหล่านี้มักจะมีเรื่องเซ็กส์เป็นเบื้องหลังเสมอ

โดยปกติแล้วเรามักจะไม่ยอมรับในเรื่องเซ็กส์หรอก มันเป็นกิเลสที่เก็บไว้ลึกๆ เก็บไว้สนองกันในคู่ของตน ไม่มีใครกล้าพูดออกมาเพราะเป็นเรื่องน่าอาย แต่เราสามารถเห็นภาพสะท้อนได้จากสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น มีการผลิตยาปลุกเซ็กส์ หรือยาที่ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว หรือเมื่อมีกระแสสมุนไพรกระชับช่องคลอดหรือทำให้หน้าอกใหญ่ก็มีแต่คนตามหา ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเรื่องเพศนั้นเป็นตลาดที่มีการเจริญเติบโตอย่างลับๆแม้ว่าจะไม่เปิดเผย แต่ก็มี supply & demand มากจนสังเกตได้ถึงขนาดที่ว่าในยุคสมัยนี้มีการศัลยกรรมเพื่อให้มีหน้าอกใหญ่กลายเป็นเรื่องปกติ หรือมีดารานักน้องที่แต่งตัวโป๊ เต้นด้วยท่าเต้นที่ยั่วยวนจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่ามากเกินไปจนอุจาดตา ซึ่งเป็นเจตนาที่ชัดเจนในการกระตุ้นทางเพศ

ถ้าเราสามารถตัดเรื่องเพศ เรื่องการสมสู่ออกไปจากชีวิตคู่ได้ เราจะไม่รีบแต่งงาน เราจะไม่มีรู้สึกว่าต้องการ การกอด การจูบ หรือแม้แต่การถูกเนื้อต้องตัวกัน ไม่รีบเสียตัวให้กันและกันเพียงเพราะความใคร่อยาก เราจะคบกันไปเรื่อยๆ ดูกันไปเรื่อยๆ เพราะหวังคบกันอย่างเพื่อนชีวิต เมื่อเซ็กส์ไม่ใช่คำตอบในชีวิต การแต่งงานหรือการคบหาในลักษณะแฟนก็ไม่ใช่คำตอบในชีวิตเช่นกัน คนที่รักกันอย่างจริงใจจะไม่รีบหรือผูกมัดกันและกันด้วยการสมสู่หรือการแต่งงาน

นอกจากเรื่องการสมสู่แล้วคนทั่วไปก็ยังคบหากันด้วยผลประโยชน์ต่างๆ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ในเรื่องลาภก็คบกันเพราะเขามีเงิน เพราะเขารวย มีกำลังปรนเปรอกิเลสของเรา เราจึงมีความสุข ในเรื่องยศเพราะเขามีหน้าที่มีตำแหน่งมีอำนาจเราจึงเสพสุขด้วยผลพวงแห่งอำนาจของเขา ในเรื่องสรรเสริญเพราะเขาเป็นคนที่ได้รับความนิยม เป็นคนที่สังคมยอมรับเราจึงพลอยหลงใหลได้ปลื้มไปกับเขาด้วย ในเรื่องโลกียสุขคือเราได้เขามาปรนเปรอกิเลสต่างๆ มาดูแลเอาใจ มาบำรุงกาม มาบำเรออัตตาของเรา เราจึงเป็นสุขและหลงในสุขเหล่านั้น

มีหลายต่อหลายคู่ที่คบหากันด้วยผลประโยชน์ทางโลกเหล่านี้ ไม่ว่าอย่างไรความสุขของคนมีกิเลสก็หนีไม่พ้นอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา แม้จะมีเหตุผลมากมายที่ยอมรับได้ในทางโลกแค่ไหน ก็เป็นเพียงข้ออ้างที่สวยหรูที่ใช้กันในสังคมอุดมกิเลส เพื่อที่จะทำให้การเสพกิเลสเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เป็นเรื่องปกติ เช่น ถึงคนคนนี้จะดีแสนดีแค่ไหนแต่ถ้าจนฉันก็ไม่แต่งงานด้วยถึงแม้เขาจะเป็นคนดีแต่ถ้าเลี้ยงดูบำรุงบำเรอกิเลสฉันไม่ได้ก็ไร้ค่าและสังคมอุดมกิเลสก็จะเออออตามไปด้วย ในทางตรงกันข้ามถึงแม้คนคนนี้จะเลวทรามแค่ไหนแต่ถ้ารวยฉันก็ยอมได้ฉันพร้อมจะหาข้อดีของเขาแม้จะยากปานงมเข็มในมหาสมุทรก็จะหาและสังคมอุดมกิเลสก็จะเออออตามไปด้วย เหล่านี้เองเรียกว่าการเสพสุขทางโลกซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม มีให้เห็นกันเป็นประจำตามข่าวสารประจำวัน

ในความเจริญสูงสุดตามหลักการของพุทธ สุดท้ายคู่รักก็จะกลายเป็นเสมือนญาติคนหนึ่ง เหมือนเพื่อนคนหนึ่ง ไม่มีเซ็กส์ ไม่มีการกอดจูบลูบคลำ ไม่มีการสนองกิเลสใดๆแก่กันและกัน สรุปแล้วก็เหมือนได้ญาติเพิ่มมาคนหนึ่ง แล้วจะเอาเขามาเพิ่มทำไมในเมื่อจริงๆแล้วเราก็มีญาติพี่น้องมิตรสหายให้ดูแลมากอยู่แล้ว

คนที่อยากจะรักใคร ดูแลใครสักคนตราบชั่วชีวิตจริงๆ มีรักแท้จริงๆ เขาจะไม่ไปหาคู่ให้เสียเวลาหรอก เพราะเขามีพ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนมิตรสหายที่พร้อมจะให้เขาดูแลอยู่ตั้งมากมายแล้ว ทำไมยังต้องเอาคนที่ไม่รู้จักกันเข้ามาในชีวิตเพียงเพราะอยากเสพกิเลสบางอย่างแค่นั้นเอง

การเพิ่มใครสักคนเข้ามาในชีวิตจะทำให้เราเสียเวลาในการดูแลคนสำคัญในชีวิตไปเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เรามีแฟนเพิ่มมาหนึ่งคนก็ลดเวลาที่เราจะพูดคุยและดูแลพ่อแม่ไปส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเรามีแต่งงานมีลูกเราก็แทบจะไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่เลย นี่หรือสิ่งที่เราเรียกว่าความรัก นี่หรือคือสิ่งที่เราตอบแทนคนที่รักเรามากที่สุด กับคนที่ห่วงใยเรามาทั้งชีวิตเรายังให้ค่า ให้ความสำคัญไม่เท่าใครก็ไม่รู้ที่เข้ามาในชีวิตเรา เพียงเพราะเขามาบำเรอสุขให้เรา เพียงเพราะต้องการสมสู่ เพียงเพราะแค่อยากมีลูก จึงทำให้เราเห็นแก่ตัวเอาความสุขนั้นไว้คนเดียวแล้วทิ้งให้คนที่รักเรารอคอยอย่างเดียวดายหรือ

ความสุขในการมีคู่ของคนมีกิเลสก็จะเยอะแยะมากมายไปหมด ให้พูดกันทั้งวันก็ไม่จบ มีหลักฐานมีที่อ้างตามแต่กิเลสจะพาไป แต่ถ้าได้ลองล้างกิเลสกันดูจะพบว่ามันไม่เห็นว่าจะมีความสุขตรงไหน คบกันเป็นเพื่อนก็ได้ เป็นคู่กันไปก็มีแต่ภาระ พาชั่ว พาจน ยากนักที่จะพาให้เจริญในศีลในธรรมร่วมกัน แต่การพากันเสพกิเลสไม่ว่าจะเรื่องอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตานั้นเป็นเรื่องง่ายสุดง่าย

แต่ก็อย่างว่า ขึ้นชื่อว่าคนมีกิเลสก็คือคนที่หลงมัวเมาในสุขลวง หลงมัวเมาในเรื่องโลก ไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นกุศลอกุศลได้ ไม่สามารถแยกแยะความดีความชั่วจริงๆได้ ก็จะวนเวียนต่อไปในเรื่องคู่เพราะหลงว่าเป็นสุข มีความสุข สามารถบำเรอสุขให้ตนได้ ที่จริงแล้วมันก็กิเลสแท้ๆ กิเลสบริสุทธิ์ เป็นทุกข์แท้ๆ เพราะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เพียงแค่ได้สุขลวงมาเสพ ก็ยินยอมที่จะทุกข์ทรมานไปชั่วกัปชั่วกัลป์

– – – – – – – – – – – – – – –

24.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,619 views 0

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

สติปัฏฐาน ๔ กับการกินมังสวิรัติ

การที่เราจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุก ปราศจากธุลีละอองความอยากใดๆในจิตวิญญาณนั้นหากเราไม่ได้ศึกษาธรรมะอย่างถ่องแท้และไม่ได้เข้าถึงธรรมนั้นด้วยใจตัวเองก็คงยากที่จะพบกับความสุขแท้

สติปัฏฐานคือช่วงหนึ่งของเส้นทางสู่ความผาสุกที่เราจำเป็นต้องเดินผ่าน เป็นขั้นตอนของการตรวจจับและพิจารณาธรรมเพื่อทำลายกิเลส เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากและจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไว้ หากไม่มีกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วการทำลายกิเลสก็จะกลายเป็นเรื่องเพ้อฝันเท่านั้น

สติปัฏฐานนั้นคือกระบวนการที่ต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มจนจบ ตั้งแต่ กาย เวทนา จิต ธรรม ครบองค์ประกอบเหมือนเครื่องจักรที่ตัด พับ ต่อ ประกอบ กล่องให้สมบูรณ์เพียงแค่ใส่วัตถุดิบเข้าไป สติปัฏฐานนั้นก็เช่นกันมีการทำงานเป็นองค์รวมไม่แยกกันปฏิบัติ ต้องปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นระบบที่มีกระบวนการที่สอดคล้องกันไป

สติปัฏฐานนั้นต่างจากสติสัมปชัญญะหรือความรู้ตัวทั่วพร้อมโดยทั่วไป เพราะทำหน้าที่คนละแบบ สติปัฏฐานไม่ใช่เพื่อความรู้ตัว แต่เป็นการนำความรู้ตัวที่เกิดจากสติสัมปชัญญะเข้ามาเป็นอาหารสู่การรู้กิเลส จับกิเลส วิเคราะห์กิเลส และทำลายกิเลส ดังนั้นหากใครยังเข้าใจความต่างของสติทั้งสองอย่างไม่ได้และไม่เข้าใจการทำงานของสติปัฏฐาน ก็ยากที่จะเข้าใจธรรมะที่เกิดในตน เพราะสติปัฏฐานนี่เองคือกระบวนการที่จะทำให้เห็นธรรมะที่เกิดในตนเองอย่างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

สติปัฏฐานนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ไปรวดเดียวจนจบครบกระบวน ไม่ใช่การแยกปฏิบัติทีละตัว จำเป็นต้องเรียนรู้ทุกตัวแต่ไม่ได้หมายความว่าต้องค่อยๆเรียนรู้ไปตามลำดับทีละขั้น เพราะสติปัฏฐานไม่ใช่การฝึกวิชา ไม่ใช่ระดับชั้น จึงไม่ต้องฝึกทีละขั้นแล้วเลื่อนชั้นไปศึกษาตัวต่อไป แต่ต้องเข้าใจองค์รวมทั้งหมดเพราะธรรมแต่ละตัวนั้นทำหน้าที่ต่างกันแต่ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการชำระล้างกิเลส

สติปัฏฐาน ๔

ธรรมนี้คือทางเอกเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งการหลุดพ้นจากกิเลส ในบทความนี้ก็จะขยายและประยุกต์ให้กับผู้ฝึกกินมังสวิรัติเพื่อล้างกิเลสโดยเฉพาะ แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกิเลสตัวอื่นๆได้เช่นกัน

ในกรณีนี้จะยกตัวอย่างเพื่อผู้ที่ยังติดในรสชาติของเนื้อสัตว์ ยังหลงในเนื้อสัตว์ ยังคงมีความสุขกับการกินเนื้อสัตว์อยู่ ทั้งในกรณีที่เราตั้งใจกินมังสวิรัติและไม่ได้กินมังสวิรัติอย่างจริงจัง

1). กายในกาย

เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ เราก็จะรับรู้ได้ถึงอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เป็นอาการที่จิตวิญญาณสังเคราะห์ขึ้นมาเช่น น้ำลายไหล ตัวสั่น มือสั่น กลืนน้ำลาย น้ำย่อยไหล หายใจผิดจังหวะ อาการเหล่านี้คืออาการของความอยากที่สะท้อนให้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะนามหรือพลังงานข้างในจิตใจเปลี่ยนแปลง จึงสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปคือการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เราจึงจำเป็นต้องมีสติให้พร้อมเพื่อจับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนี้เพื่อให้เห็นใจที่เปลี่ยนไปแม้จะเป็นการสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อยก็ตาม

เมื่อเรากินเนื้อสัตว์หากเรายังมีความอยากอยู่ อาการที่เกิดกับร่างกายชัดๆเลยคือจะยังมีความอร่อย จะยังมีรสอร่อยอยู่ รสอร่อยนั้นไม่มีอยู่จริง แต่เป็นรสชาติของวิญญาณที่มีกิเลสของเราสังเคราะห์ขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอง จิตของเราปั้นรสอร่อยเหล่านั้นขึ้นมาเองให้ร่างกายของเราได้สัมผัสแล้วหลอกเราซ้อนอีกทีว่าเนื้อสัตว์อร่อย

เมื่อเราคิดถึงเนื้อสัตว์ หากเรายังมีความอยากอยู่ จะเกิดอาการกับร่างกายคือมีอาการหิวกระหายเนื้อสัตว์ โหยหวนคิดถึงเนื้อสัตว์ มีอาการน้ำย่อยหลั่ง กลืนน้ำลาย น้ำลายไหล หิว หมดแรง ออกอาการต่างๆเพื่อให้กระตุ้นให้เรากลับไปกินเนื้อ

อาการที่ยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้ คืออาการภายนอกที่สะท้อนให้เห็นภายในคือจิตใจที่เปลี่ยนแปลง เป็นลักษณะเมื่อผัสสะเข้ามากระทบกระแทกแล้วจิตใจของเราให้หวั่นไหวจนสั่งร่างกายให้หวั่นไหวตาม ผู้ที่มีสติจับอาการของร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนแปลงได้จะนำผลนี้ไปสู่ขั้นตอนต่อไป

2). เวทนาในเวทนา

เมื่อเราจับอาการของจิตใจที่เกิดจากการกระทบร่างกายได้จะพบว่าอาการที่เปลี่ยนแปลงนั้น เกิดได้สามลักษณะคือ สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ นั่นคือเกิดเวทนาอย่างไรนั่นเอง แต่เวทนาเพื่อการล้างกิเลสนั้นถูกแบ่งเป็นสองลักษณะใหญ่ๆที่ต้องเรียนรู้หากว่าเราต้องการความผาสุกอย่างยั่งยืน

เคหสิตเวทนา

หรือความมีเวทนาอย่างชาวบ้าน หมายถึงการเกิดสุข ทุกข์ เฉยๆ แบบทั่วไป ไม่ว่าชาวบ้าน นักบวช ผู้ทรงศีลก็สามารถเกิดเวทนาแบบชาวบ้านได้ เช่นเมื่อเราอยากกินเนื้อสัตว์แล้วไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เราก็จะเกิดทุกข์แบบชาวบ้านทั่วไป คือทุกข์เพราะไม่ได้กินของที่อยากกิน หรือการที่เราได้ไปกินเนื้อสัตว์แล้วเกิดสุข ก็เป็นความสุขแบบชาวบ้านทั่วไป หรือแม้กระทั่งอาการเฉยๆแม้ไม่ได้กินเนื้อสัตว์อย่างที่หลายคนเข้าใจว่าตัวเองกินมังสวิรัติได้นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นความเฉยๆแบบชาวบ้าน คือตัวเองไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีในเนื้อสัตว์ เกลียดเนื้อสัตว์แล้วไม่ไปกินก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร

ประเด็นนี้เองที่ทำให้คนกินมังสวิรัติหลายคนเข้าใจผิดว่าตนเองล้างกิเลสได้หรือบรรลุธรรม เพียงเพราะความเฉยๆ แต่ทั้งหมดนี้มันเป็นความเฉยหรืออุเบกขาแบบชาวบ้าน เหมือนกับคนที่ไม่กินผัก ถ้าไม่มีผักในมื้ออาหารก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ชาวมังสวิรัติที่ใช้การกดข่มก็เช่นกัน เมื่อทำให้ตัวเองเกิดความรู้สึกว่าเนื้อสัตว์ไม่ใช่อาหาร แม้จะไม่มีเนื้อสัตว์อยู่ในมื้ออาหาร หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์เป็นสิบยี่สิบปีก็จะไม่เกิดทุกข์อะไร เพราะรู้สึกเฉยๆกับการไม่กินเนื้อสัตว์ ทั้งหมดนี้เป็นเวทนาแบบชาวบ้าน เป็นเรื่องทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้

คนกินมังสวิรัติแบบไม่เข้าใจเรื่องล้างกิเลสหากยังมีความอยากในเนื้อสัตว์มากอยู่ เมื่อได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ก็จะเกิดทุกข์ หรือในกรณีคนที่ยึดติดในมังสวิรัติมากๆ ถ้าได้กินผักก็จะเกิดสุข ไม่ได้กินผักก็จะเกิดทุกข์ เป็นความรู้สึกสุข ทุกข์แบบทั่วไป แบบเป็นชาวบ้าน เป็นสามัญ เป็นเรื่องธรรมของโลก

เนกขัมมสิตเวทนา

คือการมีเวทนาแบบนักบวช นักบวชในที่นี้ไม่จำเป็นต้องโกนผมห่มผ้า แต่หมายถึงคนที่ใช้ศีลในการขัดเกลากิเลส บวชใจให้อยู่ในธรรม นั่นหมายถึงจะเป็นใครก็ได้ ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนา ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือเป็นนักบวชก็มีสิทธิ์ที่จะศึกษาธรรมด้วยกันทั้งนั้น อนึ่งการมีเวทนาแบบเนกขัมมะนี่เองคือทางสู่การพ้นทุกข์

การที่เราจะมีเนกขัมมสิตเวทนานั้นจะต้องเริ่มต้นจากการถือศีล การยึดอาศัยศีลมาเพื่อขัดเกลากิเลส ใช้ศีลมาเป็นเครื่องมือตรวจจับกิเลส ผู้ที่ไม่มีศีล ไม่ตั้งตบะ ไม่มีความตั้งใจที่จะลด ละ เลิกความยึดมั่นถือมั่นจะไม่มีวันเข้าถึงเนกขัมมสิตเวทนาได้เลย เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะเป็น ความสุข ทุกข์ เฉยๆในอีกมิติหนึ่งซึ่งต่างออกไปจากเคหสิตเวทนา แม้จะได้ชื่อว่าเฉยๆหรืออุเบกขาเหมือนกัน แต่สภาพภายในจิตใจนั้นก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง นี้เองคือนัยสำคัญว่าทำไมศีล สมาธิ ปัญญาต้องปฏิบัติไปพร้อมกันเป็นองค์รวม ไม่แยกกันปฏิบัติ

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นหลังจากเราถือศีลก็คือ เมื่อเราเห็นเนื้อสัตว์ มันจะทุกข์เพราะว่าต้องอดทนอดกลั้นไม่ไปกิน แม้จะมีมาวางตรงหน้าเราก็ต้องทน ซึ่งยิ่งเรามีความอยากมากเท่าไหร่ เราก็จะทุกข์มากเท่านั้น การถือศีลนี้เองจะทำให้เราเป็นทุกข์และเห็นทุกข์ไปเรื่อยๆ แต่นี่เองคือการ “เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม” เราจะใช้ความทุกข์นี้แหละในการพิจารณาหาสาเหตุแห่งทุกข์ต่อไปในขั้นตอนของจิตในจิต

ความสุขที่เกิดจากเนกขัมมสิตเวทนา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปราศจากกิเลส ในส่วนของความสุขที่เกิดขึ้นตอนทนไม่ไหวกลับไปกินเนื้อสัตว์นั้นก็เป็นเคหสิตเวทนาซึ่งจะต่างกันออกไป เนกขัมมสิตเวทนานั้นจะมีสุขแม้จะไม่ได้เสพและจะเกิดขึ้นในจังหวะของการทำลายกิเลสได้

เมื่อทำลายกิเลสได้ความสุขจะสงบลงเป็นอุเบกขา ลักษณะของเนกขัมมสิตอุเบกขาจะแตกต่างกับเคหสิตอุเบกขาอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้ จะเรียกว่าคนละโลกก็ว่าได้ โลกหนึ่งเป็นโลกียะ อีกโลกหนึ่งคือโลกุตระ เนกขัมมสิตอุเบกขาเป็นมิติของโลกุตระ ซึ่งจะเป็นความปล่อยวางจากความอยาก สงบเย็น โปร่ง โล่ง สบาย แม้ว่าจะไม่ได้กินผักก็ไม่ทุกข์ แม้จะต้องกินเนื้อก็ไม่ทุกข์ สภาพที่มองเห็นโดยทั่วไปจะคล้ายๆกับคนธรรมดา แต่จะไม่ธรรมดาตรงที่ว่าจะไม่มีความทุกข์ใดๆเกิดขึ้นในใจอีกเลย แม้จะต้องกินผักไปตลอดชีวิตก็ไม่ทุกข์ เห็นเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ เห็นคนกินเนื้อสัตว์ก็ไม่ทุกข์ มันจะไม่มีเรื่องอะไรให้ใจเป็นทุกข์หรือขุ่นมัวได้เลย นี่คือสภาวะของเนกขัมมสิตอุเบกขา

การที่เราจะถึงเป้าหมายคือเนกขัมมสิตอุเบกขาได้นั้นต้องเริ่มจากศีล ศีลนั้นคือการเพ่งเล็งเข้าไปที่ความอยากกินเนื้อสัตว์ เข้าไปที่ความติดยึดในเนื้อสัตว์ เพื่อที่เราจะได้ออกจาความอยากกินเนื้อสัตว์ด้วยปัญญา ศีลที่ควรตั้งไว้นั้นคือละเว้น “ความอยาก” ในการกินเนื้อสัตว์ นั้นหมายถึงไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้นทั้งในกาย วาจา ใจ แม้จะเล็กน้อยเพียงเสี้ยวธุลีก็ไม่ให้มีความอยากเกิดขึ้น นั่นหมายถึงการดับกิเลสคือความอยากกินเนื้อสัตว์อย่างสิ้นเกลี้ยง

…หลักการรับรู้เวทนา

การที่เราจะสามารถรับรู้เวทนาได้ชัดเจนเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองทุกอย่างตามความเป็นจริงแค่ไหน เรามีความจริงใจกับตัวเองมากเท่าไร อยากกินก็รู้สึกว่าอยากกิน เกลียดก็รู้ว่าเกลียด ยอมรับตามตรงว่ายังมีกิเลสเหลืออยู่ตามจริง มีมากก็ยอมรับว่ามาก มีน้อยก็ยอมรับว่าน้อย ไม่ใช่ว่ามีมากแล้วพยายามกดข่มบอกตัวเองไว้ว่าฉันไม่อยาก ฉันไม่อยากแบบนี้จะบรรลุธรรมช้าจนถึงไม่สามารถเข้าใจธรรมใดได้เลยเพราะหากไม่มีความจริงใจต่อตัวเองก็ยากที่จะได้เห็นหน้าตาจริงๆของกิเลส

คนกินมังสวิรัติที่ยึดดีหลายคนมักจะกดข่มความอยากไว้ ทำเป็นมองไม่เห็น ทำเหมือนไม่มี ยอมรับไม่ได้ว่าตัวเองยังอยาก รู้สึกรังเกียจหากต้องยอมรับการมีอยู่ของความอยากในตัวเอง แต่ถึงจะกดข่มด้วยความคิดเช่นนั้นก็ตาม กิเลสที่มีอยู่ก็ไม่ได้หายไปไหน ไม่ได้ลดลงหรือสลายไปแต่อย่างใด มันจะซ่อนตัวแล้วแอบไว้จนกว่าวันที่จิตใจจะกล้าค้นหามันจริงๆ หรือจนกระทั่งวันที่มันคิดว่าความอยากนั้นแข็งแกร่งพอจะทำลายความเป็นมังสวิรัติได้ วันนั้นแหละคือวันที่มันจะออกมา แม้ว่าจะกดข่มไว้เท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็จะแพ้พลังกิเลสอยู่ดี

ดังนั้นเราจึงควรรับรู้ความทุกข์ สุข เฉยๆ ตามความเป็นจริงโดยไม่เอาความคิด ความรู้ หรือตรรกะใดไปกดข่มความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้เองคือกุญแจที่จะไขประตูสู่ร่างจริงของกิเลสเพื่อให้เราได้ต่อสู้และเพียรพยายามต่อไป

3). จิตในจิต

เมื่อเราตั้งศีลและเกิดเวทนาขึ้นในใจแล้ว เช่นเราเกิดความทุกข์เพราะความอยากกินเมนูเนื้อสัตว์ที่อยู่ตรงหน้า มันเป็นเมนูที่เราเคยชอบ กลิ่นมันช่างเย้ายวนใจ สัมผัสที่เคยเคี้ยว รสที่เคยลิ้มลองมันยังอยู่ในใจ เมื่อเราไม่ได้กินสิ่งที่อยากกินเราจึงเกิดทุกข์

ในขั้นตอนของจิตในจิตคือเอาทุกข์ สุข เฉยๆนั้นมาชำแหละว่าเราเกิดเวทนานั้นเพราะกิเลสตัวไหน เราไม่สามารถทำลายกิเลสได้ด้วยการบอกว่ามันคือกิเลสแล้วตบมันทิ้งด้วยสมถะวิธี แต่ต้องแยกกิเลสออกมาเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ธรรมที่เหมาะกับกิเลสนั้นๆพิจารณาให้ถูกตัวถูกตน

ในกรณีที่ยกตัวอย่างมานั้นจะเห็นว่าเรามีกิเลสหลายตัวรวมอยู่ในความทุกข์นั้นๆ เราทุกข์เพราะเราไม่ได้เสพ แต่ต้องตั้งสติดีๆให้เห็นว่าเรายึดติดกิเลสตัวใดมากที่สุด กิเลสตัวไหนที่อันตรายที่สุด เช่นเห็นหน้าตาของเมนูเนื้อสัตว์ก็ยังเฉยๆ ได้กลิ่นก็ยังเฉยๆ แต่พอคิดถึงรสที่เคยลิ้มลองเท่านั้นแหละ สติหลุดลอยไปเลย เกิดความอยากแล้วก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะอยากกินแต่ฝืนไม่กิน ดังนั้นในกรณีนี้ตัวรสชาติและรสสัมผัสคือกิเลสที่เราควรจะแยกมาจัดการก่อนเป็นอันดับแรก

การที่เราติดรสชาติและรสสัมผัสนั้นเกิดจากกิเลสในหมวดของกามคุณ ๕ การติดรสสัมผัส เช่น ติดความเย็น ร้อน อ่อน แข็งของวัตถุที่เอาเข้าปาก ในกรณีของเนื้อสัตว์ก็จะเป็นความเหนียวนุ่มของเนื้อนั้นๆ และติดรสชาติ เช่น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม เผ็ด ฯลฯ ของเนื้อสัตว์นั้น

เมื่อเราเห็นกิเลสและค้นไปในรากของความยึดมั่นถือมั่นจนเป็นที่มั่นใจแล้วว่า ความรู้สึกนี่แหละคือกิเลสที่เราติดยึด เราก็จะนำสิ่งที่ได้มานั้นไปสังเคราะห์ต่อในกระบวนการของธรรมในธรรม

4). ธรรมในธรรม

เมื่อเราจับตัวกิเลส หรือตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์มาได้แล้ว ในกรณีที่ยกตัวอย่างก็จะเป็นการติดในรสสัมผัสและรสชาติ เราก็จะหาธรรมะที่ถูกที่ควรมาเจรจากับกิเลสเหล่านี้ ให้ตัวเราได้ยอมละหน่ายคลายจากความยึดมั่นถือมั่นจากกิเลสเหล่านี้

เช่นเราอาจจะเลือกเน้นไปในรสสัมผัสก่อนว่า ความอยากกินอยากสัมผัสเนื้อสัตว์นั้นทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษอย่างไร มีประโยชน์อะไรบ้างถ้าเราจะออกจากสิ่งนี้หรือไม่ติดในสิ่งนี้ ความติดในรสสัมผัสนี่มันก็ไม่เที่ยงใช่ไหม เรากินบ่อยๆมันก็เบื่อใช่ไหม มันไม่ได้สุขทุกครั้งที่กินใช่ไหม แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวตนของเราอีกด้วยเพราะจริงๆแม้เราจะไม่ต้องสัมผัสเนื้อนั้นๆเราก็ยังสามารถได้ความสุขจากการขบเคี้ยวสิ่งอื่นๆ (ในกรณีนี้ใช้เฉพาะต้องการเบี่ยงออกไปหาสิ่งที่เป็นภัยน้อยกว่า) เราติดรสสัมผัสเราไม่ได้ติดเนื้อสัตว์ เพียงแค่เราหาอย่างอื่นคล้ายๆกันมาแทนแล้วพิจารณาประโยชน์ไปเรื่อยๆก็จะทำให้ลดเนื้อสัตว์ได้

รวมทั้งการพิจารณาข้อมูลอื่นๆเสริมไปก็ได้เช่น เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเสริม เอาข้อมูลทางการวิจัยมาเสริม เอาอสุภะหรือภาพจำพวกสัตว์ถูกทรมานหรือสัตว์ตายมาเสริมก็จะเพิ่มพลังในการพิจารณาออกจากกิเลส เพราะตอนนี้เราจับตัวกิเลสได้คาหนังคาเขาแล้ว และมั่นใจว่าเป็นตัวนี้แน่ๆ เราก็ใช้ธรรมะนี่แหละเข้าถล่มสู้กับความยึดมั่นถือมั่นอย่างไม่ต้องยั้งมือได้เลย

ในมุมของการติดรสชาติก็ทำคล้ายๆกันจะขอยกตัวอย่างการเห็นธรรมของการติดรสชาติในกรณีหนึ่ง คือปลาหมึกปิ้งกับเห็ดออรินจิปิ้ง เราอาจจะเป็นคนที่ชอบกินปลาหมึกปิ้ง พอพิจารณากิเลสดีแล้วก็รู้ได้ว่า เราติดใจในรสชาติของปลาหมึกปิ้ง ถ้าปลาหมึกไม่ราดน้ำจิ้มก็ไม่อร่อย ปลาหมึกจะอร่อยหรือไม่อร่อยอยู่ที่ความสดและน้ำจิ้ม และร้านค้าปลาหมึกมักโฆษณาว่าน้ำจิ้มรสเด็ด ตอนนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับความติดรสของตัวเองเท่านี้

จนกระทั่งเมื่อเราได้ลองกินเห็ดออรินจิย่างจิ้มน้ำจิ้มซีฟู้ด เราจึงเริ่มไม่แน่ใจว่าเราติดรสน้ำจิ้มหรือติดรสปลาหมึกที่จิ้มน้ำจิ้ม เราจึงลองเปลี่ยนจากปลาหมึกมาเป็นเห็ดออรินจิแล้วจิ้มน้ำจิ้มรสเดิม แล้วเราก็พบว่าเรายังมีความสุขอยู่เหมือนเดิม เราจึงได้ค้นพบว่าเราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องกินปลาหมึกปิ้ง ไม่ต้องเบียดเบียนปลาหมึก แค่ใช้เห็นออรินจิปิ้งมาแทน

การเห็นธรรมในกรณีนี้คือความมั่นใจว่าเราติดน้ำจิ้มไม่ได้ติดปลาหมึก เราจึงเต็มใจที่จะเลิกกินปลาหมึกและหาเห็ดมาแทนปลาหมึกและใช้น้ำจิ้มรสเดิมโดยไม่ต้องพิจารณาธรรมอะไรให้มากมาย นี่เป็นลักษณะการวิเคราะห์จิตในจิตต่อเนื่องมาธรรมในธรรมอีกนิดหน่อยก็จบกระบวน เลิกกินปลาหมึกปิ้งได้อย่างสบายใจ เพราะรู้ชัดแจ้งในวิญญาณว่าไม่ได้ติดปลาหมึกปิ้งแต่ติดน้ำจิ้ม ก็เลยไม่ต้องไปฆ่าความอยากกินปลาหมึกปิ้ง แต่ก็ต้องกลับไปทำโจทย์ของความอยากในรสชาติของน้ำจิ้มอีกทีหนึ่ง หรือจะเก็บความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดก่อนแล้วค่อยกลับมาจัดการเรื่องการติดรสชาติก็ยังไม่สาย เพราะการกินเนื้อสัตว์นั้นบาปกว่าและหยาบกว่าการติดรสของอาหาร

ในเรื่องของความติดยึดในเนื้อสัตว์นั้นยังมีการติดได้ในกิเลสอีกหลายมิติ เช่น อบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา และในหลายลีลาของกิเลสเช่น โลภ โกรธ หลง การวิเคราะห์หรือหาสาเหตุในขั้นตอนจิตในจิตก็จะต่างกันออกไป การใช้ธรรมมาแก้ในขั้นตอนของธรรมในธรรมก็จะต่างออกไปเช่นกัน

….แต่ถึงแม้ว่าเราจะทุ่มเทสุดชีวิตสุดปัญญาก็ตาม กิเลสอาจจะไม่ได้ตายหรือสลายหายไปง่ายๆ ซึ่งการพ่ายแพ้ต่อกิเลสก็เป็นเรื่องธรรมดา ถึงเราจะเพียรอย่างเต็มที่ก็แค่อาจจะทำให้กิเลสลดกำลังหรืออ่อนแอลงไปบ้างเท่านั้น แต่เราก็จะไม่ยอมแพ้ เพียรพยายามต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ใช้สติปัฏฐานตั้งแต่กาย เวทนา จิต ธรรม นี่แหละ ตรวจจับกิเลสแล้วทำลายมันไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งกิเลสจะยอมถอยและตายไปเอง

ผู้ที่เข้าใจกระบวนการของสติปัฏฐานแล้วจะไม่กลัวการกระทบของกิเลส จะไม่ผลักไส ไม่กดข่ม ไม่ตบกิเลสให้ดับลงในทันทีเพราะรู้ดีว่าการดับด้วยสมถะวิธีนั้นไม่ยั่งยืน เป็นเพียงการกดข่มเท่านั้น แต่จะบุกตะลุยเข้าสู้กับกิเลส เจอกิเลสที่ไหนก็จับมาพิจารณาได้หมด แสวงหาผัสสะที่จะมาเป็นอาหารของตนเอง ถ้ายิ่งเก่งก็จะยิ่งกล้าในการเข้าไปรวมหมู่รวมกลุ่มกับสังคม เป็นนักมังสวิรัติที่ชำแหละและล้างกิเลสเป็น จึงต้องใช้สังคมและมิตรสหายเป็นเครื่องมือหรือเหตุการณ์ที่จะเข้ามากระทุ้งให้เห็นกิเลส ด้วยสติปัฏฐาน จับกาย ดูเวทนา วิเคราะห์จิต สังเคราะห์ธรรม ไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะเก็บสะสมความเจริญไปได้เรื่อยๆจนวันหนึ่งกิเลสหมดก็จะสามารถรู้ได้เองจากการทดสอบความอยาก หรือการทดสอบการหลุดพ้นจากกิเลสด้วยใจของตัวเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

19.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์